วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๕ สิงหาคม แต่วันศุกร์อีกเหมือนสัปดาหะก่อน

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) กรมราชการกับกรมเจ้านายผิดกันเป็นข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่กรมราชการมีชื่อกรม เช่นว่ากรมสรรพากร กับชื่อเจ้ากรมว่า หลวงอินทรมนตรี แต่กรมเจ้านายไม่มีชื่อกรม เช่นว่ากรมหลวงโยธาทิพย์ ถ้าเรียกตามแบบก็จะต้องเรียกว่า “กรมเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ” แต่คนไม่อาจจะเรียกเช่นนั้น จึงเอาชื่อเจ้ากรมขึ้นเรียก ชื่อเจ้ากรมก็กลายเป็นชื่อกรม ต่อมาภายหลังก็เลยกลายเป็นพระนามเจ้านายผู้เป็นเจ้าของกรมต่อไปอีก ดูมูลเกิดแต่กระบวนคนภายนอกเรียกทั้งนั้น

๒) นาคหลวงที่บวชในคณะปรกรวมพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายนั้น ถ้าบวชเป็นธรรมยุติย่อมไปสวดญัตติซ้ำในคณะปรกธรรมยุติ ในค่ำวันนั้นทุกองค์ แต่ก่อนบางองค์ที่ประสงค์ความไพบูลย์ในการอุปสมบทยังไปสวดญัตติทำนองมอญซ้ำที่โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาสก็มี ได้ยินว่าเมื่อสมเด็จพระมหาสมณะทรงผนวชก็ได้ทำเช่นนั้น และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) เป็นผู้ชำนาญสวดกรรมวาจาทำนองมอญด้วย

อันที่จริงถ้าว่าตามภาษาของเรา ชั้นแรกเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชแปลงนั้น ก็คือแปลง “เป็นสีดอ” เหมือนอย่างเราเรียกพวกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบูรณะนั่นเอง จะเลยทูลเล่าแทรกถึงเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ถวายด้วย เดิมท่านก็ห่มคลุมอย่างพระมหานิกายมาจนเป็นที่พระธรรมวโรดม เมื่อหม่อมฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ เคยชอบกันกับท่านมาแต่ก่อน ท่านปรารภแก่หม่อมฉันว่าตัวท่านได้บวชแปลงเป็นมอญมาแต่ก่อน อยากจะห่มแหวกอย่างมอญแต่เกรงจะมีความผิดจึงห่มคลุมอยู่อย่างเดิม หม่อมฉันนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดมีพระราชหัตถ์เลขาถึงท่านว่าในการสังวรพระธรรมวินัย ถ้าเลื่อมใสอย่างไหนก็ประพฤติได้ไม่ทรงรังเกียจ แต่นั้นท่านก็ห่มแหวก พวกพระสัทธิงวิหาริกของท่านก็ห่มแหวกตามมีจำนวนมากขึ้นจนจับตาคนจึงเรียกกันว่า “พระสีดอ” หมายความว่าไม่ใช่ธรรมยุติและมหานิกายทั้ง ๒ อย่าง

จะเลยเล่าต่อไปถึงเรื่องพระมหานิกายห่มแหวกกันในชั้นหลัง เกิดแต่สมเด็จพระมหาสมณะตรัสชวน สมเด็จพระวันรัตน (ฑิต) กับสมเด็จพระวันรัตน (จ่าย) ยอมทำตามพระประสงค์ พระวัดมหาธาตุ วัดเบญจมบพิตร และวัดอนงค์ ห่มแหวกก่อน แล้วสมเด็จพระมหาสมณะตรัสชวน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) วัดระฆัง เมื่อยังเป็นที่พระพิมลธรรม กับสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เดี๋ยวนี้ เมื่อยังเป็นที่พระพรหมมุนี ท่านทั้ง ๒ นั้นไม่ยอม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นิ่งอยู่ไม่ทูลว่ากระไร แต่สมเด็จพระสังฆราชทูลตอบว่า ตัวท่านก็ชอบแบบแผนอย่างพระสงฆ์ธรรมยุติ ถ้าหากว่าเป็นคฤหัสถ์จะบวชก็คงบวชเป็นพระธรรมยุติ แต่ได้บวชเป็นมหานิกายมาเสียแต่เดิม ถ้าเปลี่ยนไปห่มแหวกก็เหมือนเห็นว่าลัทธิของอุปัชฌาย์อาจารย์ผิดในการห่มผ้า แต่ตัวท่านยังไม่เห็นว่าผิดก็มิรู้ที่จะเปลี่ยนไปห่มผ้าเป็นอย่างอื่นให้ผิดแบบของอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ สมเด็จพระมหาสมณะก็ไม่ตรัสชวนพระมหานิกายให้ห่มแหวกต่อไป

หม่อมฉันพิจารณาตามเรื่องประวัติเห็นว่า พระธรรมยุติเป็นสีดอมาจนเมื่อทูลกระหม่อมเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ ทรงวางระเบียบวัตรปฏิบัติของพระธรรมยุติเป็นยุติแล้ว พระธรรมยุติจึงเป็นนิกายหนึ่งต่างหาก ร่วมสมัยกับที่ทรงใช้นามธรรมยุติในสมณสาส์น เพราะวัตรปฏิบัติเปนแบบหนึ่งต่างหากจากพระมอญที่เป็นครูเดิมแล้ว

๓) เรื่องเขียนฝาผนังวัดนั้น หม่อมฉันคิดเห็นยังมีสาขาคดีที่จะทูลต่อไป จะทูลย้อนสัตย์ก่อนว่า ไตรภูมิโลกสัณฐานนั้น เป็นเรื่องที่เก็บความมาจากพระบาลี จึงนับเข้าในทางพระศาสนา รูปภาพวัดยมก็เขียนกระบวนเสด็จพยุหยาตรากฐินนับเนื่องในพระศาสนาเหมือนกัน สาขาคดีที่จะทูลนั้น คือช่างเชียนแต่ก่อนมีแต่ ๒ จำพวก คือช่างหลวงจำพวก ๑ พระช่างเขียนจำพวก ๑ ช่างหลวงสำหรับราชการ พระช่างเขียนน่าจะถือกันว่าสำหรับการกุศล เช่นเขียนผนังวัดและเขียนตู้ใส่พระธรรมเป็นต้น อ้างการกุศลคุ้มละเมิดสิกขาบทที่ห้ามมิให้พระภิกษุประกอบจิตกรรม อีกข้อ ๑ อยากจะว่าพิเคราะห์ตามตัวอย่างที่พึงรู้ได้ ว่าการเขียนผนังนอกจากวัด เขียนแทนที่ผูกม่านทั้งนั้น

๔) รูปต่างๆ ที่หม่อมฉันทูลไปว่าเห็นในหนังสือพิมพ์นั้น หม่อมฉันก็ไม่ได้เอาใจใส่ว่าหนังสือพิมพ์อะไร ต่อเมื่อจะร่างจดหมายนี้ถามลูกจึงได้ความว่าหนังสือพิมพ์ไทยใหม่

๕) ชื่อลูกจ่าอัศวราชนั้น ที่ถูกเป็นดังนี้

๑. อาทิก่อน แม่กลีบเรณู

๒. เมธะแปลว่ารู้ นายเมธปฏิมา

๓. กวีปรีชา ปิยบุตรที่สาม

๔. ฉวีผิวงาม บุตรแม่พริ้มแรกเกิด

๕. วราประเสริฐ ที่สองงามสม

๖. กำดัดทรามชม กัลยาณ์ลำยอง

๗. สาโรชบัวทอง พิศภักตร์ประภัย

๘. สุมณฑสุมาลัย เยาวลักษณนารี

๙. ปรมแปลว่ามี ปรมังลาภา

๑๐. ลิขิตเลขา บุตรีพัลลภ

๑๑. สุพรรณวรนพ คุณสริรา

ชื่อลูกจ่าอัศวราชหม่อมฉันนึกสงสัยว่า จะตั้งสร้อยกันต่อภายหลัง เดิมก็จะให้ชื่อแต่ว่า กลีบ เมธ กวี เป็นต้น ต่อมานึกสนุกจึงผูกกลอนขึ้น ข้อนี้มีเค้าที่สร้อยชื่อลูกคนแรกที่ว่า “อาทิก่อน แม่กลีบเรณู” ส่อให้เห็นชัดว่าเดิมชื่อแต่ว่า “กลีบ” ตั้งสร้อยขึ้นต่อเมื่อมีน้องแล้วจึงใช้คำว่า อาทิก่อน

ชื่อคุณม่วง ชูโต นั้น สำหรับชอบเล่ากันมาแต่ก่อนก็ว่าบ้าเท่านั้น คำที่เป็นชื่อจริงก็คงมีแต่ “ฉิม” เรียกเมื่อยังเล็ก กับ “ม่วง” ซึ่งมาให้เมื่อเติบขึ้น พวกที่ชื่อ “ตึ๋งส่วน” และ “ปิ่นปักธรณี” หม่อมฉันนึกเค้าไม่ออก

ชื่อลูกพระยาศรีสรราช (วัน บุนนาค) นั้น ที่ถูกว่า-

พงษ์ สุริยัน

พันธ์ สุริยา

พรอย พรรณราย

พราย พรรณา

พุ่ม มะลิร่วง

พวง มะลิลา

พิณ เทพเฉลิม

เพิ่ม เสนหา

พี ยศมูล

พูน สมบัติมา

หม่อมฉันออกชอบ อยากชมว่าช่างคิดและคิดอยู่ในวงอันสมควรคงมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคุณหญิงชื่อเป็นอักษร พ พิณเป็นต้น จึงประสงค์จะให้ชื่อลูกขึ้นด้วยอักษร พ พิณหมดทุกคน เลือกคำพยางค์เดียวอันเรียกและเข้าใจง่าย ตั้งเป็นชื่อยุติเพียงเท่านั้นสำหรับคนทั้งหลายเรียก สร้อยเป็นแต่สำหรับให้รู้ลำดับในครัวเรือน และจำชื่อได้หมดทุกคนด้วยสัมผัส คำสัมผัสความก็เข้ากับชื่อสนิทดี ทั้งไม่ยาวเกินประมาณ จึงน่าชม

ยังมีกลอนเพลงยาวพระนามพระเจ้าลูกเธอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ อีกบท ๑ ว่า-

  อรุโณทัยอภัยทัตฉัตรไกรสร
สุริวงษ์สุริยาดารากร ศะศิธรคันธรสวาสุกรี
สุทัศน์อุบลมณฑา ดวงสุดาดวงจักรมณีศรี
ธิดากุณฑลฉิมพลี กระษัตริย์จงกลสุภาธร

พระนามตามเพลงยาวนี้ ประหลาดอยู่ที่ไม่ตรงลำดับและขาดพระนามพระเจ้าลูกเธอ แม้ที่เป็นรุ่นใหญ่ก็ไม่มีในเพลงยาวนี้หลายพระองค์ ถ้าหากเป็นพระราชนิพนธ์ฯ ก็จะต้องเข้าใจว่าทรงเลือกพระนามแต่พระองค์ที่โปรดมาเข้าในเพลงยาว ก็ไม่มีเค้าเงื่อนว่าจะเป็นเช่นนั้น ดูน่าจะเป็นเพลงยาวเจ้านายหรือใครแต่งเล่นเมื่อภายหลังรัชกาลที่ ๑ และแต่งค้างเพียงเท่านั้น มิใช่เป็นตำรับตำราอย่างมักเข้าใจกัน

๖) มูลเหตุที่มีพัดแฉกพระราชาคณะปักบนเตียงพระสวดนั้น หม่อมฉันจับเค้าได้ในตำราพิธีตรุษเมืองนครศรีธรรมราช พรรณนาว่ามี “เตียงหนังสือ” อยู่ต่อกับเตียงพระสวดอีกเตียง ๑ โยงสายมงคลสูตรถึงกัน ก็คิดเข้าใจได้ว่าเดิมพระที่สวดบนเตียงสวดๆ ปากเปล่า พระราชาคณะนั่งปรกนั่งบนเตียงหนังสือ อ่านหนังสือสอบทานคำสวด พัดแฉกเป็นของพระราชาคณะที่นั่งปรก เวลาอ่านหนังสือคงตั้งหรือผูกพัดแฉกติดไว้กับตู้หนังสือ เมื่อย้ายที่มานั่งปรกบนเตียงพระสวด ก็เอาตู้หนังสือกับพัดแฉกมาตั้งขึ้นเตียงพระสวด ครั้นให้พระสวดๆ ด้วยอ่านหนังสือ ก็ไม่จำต้องมีผู้อ่านทาน จึงเปลี่ยนการนั่งปรกเป็นภาวนา มีพระราชาคณะฝ่ายสมถะนั่งเตียงต่างหาก บนเตียงสวดไม่มีพระราชาคณะนั่งปรก แต่เจ้าพนักงานไม่ถอนพัดแฉกออก ก็เลยติดเป็นธรรมเนียมมีพัดแฉกอยู่กับตู้หนังสือต่อมาจนบัดนี้

๗) หญิงจงให้นำของกินที่คุณโตฝากมาให้มาส่งต่อหม่อมฉันแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกแก่เธอด้วยว่าหม่อมฉันขอบใจมาก

ทูลบรรเลง

๘) สัปดาหะนี้จะคัดเรื่องในตำราขี่ช้างมาทูลบรรเลงอีกบท ๑ ว่าด้วยวิธีขี่ช้างที่ไม่ข้ามน้ำ ในตำราว่า-

ว่าด้วยลักษณะขี่ช้างที่ไม่ข้ามน้ำ

กลขี่ช้างมิข้ามน้ำจะให้ข้ามน้ำนั้น ให้ผู้ขี่ช้างนั้นพึงรู้จักลักษณะช้างก่อน และช้างบางตัวเคยข้ามแม่น้ำแคบ ครั้นเห็นแม่น้ำกว้างมิข้าม ช้างลางตัวเคยข้ามแม่น้ำตาย ครั้นเห็นแม่น้ำเชี่ยวก็มิข้าม ช้างลางตัวเป็นช้างดอนไม่เคยเห็นแม่น้ำ ครั้นมาเห็นแม่น้ำก็กลัวจึงมิข้าม ช้างลางตัวเมื่อเป็นเถื่อนอยู่นั้นแม่น้ำกว้างก็ข้าม แม่น้ำเชี่ยวก็ข้าม ครั้นว่าเป็นช้างบ้านคนเอาข้ามไปถึงฝั่งแล้ว ย่อมจะฟันทิ่มแทงจึงขยาดระอามิข้ามก็มี อันลักษณะช้างเป็นดังกล่าวมานี้ยากที่ผู้จะหยั่งรู้ และกล่าวไว้ทั้งนี้ตามลักษณะช้างซึ่งมีมา ซึ่งผู้ศึกษาร่ำเรียนไปข้างหน้านั้น ถ้าพบท่านผู้รู้จะได้ไถ่ถามสืบไป ตามลักษณะช้างย่อมเป็นดังนี้ ถ้ารู้แล้วก็ให้แก้ไขดังนี้ ถ้าช้างอันเคยข้ามแม่น้ำอันแคบ ครั้นเห็นแม่น้ำกว้างมิข้ามนั้น ให้เอาเรือ ๔ ลำ ๕ ลำก็ดี ไปทอดสมอปักหลักไว้ตรงท่าข้ามนั้น ให้ไกลตลิ่งออกไปประมาณ ๔ วา ๕ วา คะเนพอสุดเท้าช้าง แล้วทำบังตาช้างจงดี แล้วจึงเอาเรือสองลำมาผูกคานเข้า แต่ลำนี้ไปถึงลำโน้น คะเนแต่ ๕ ศอก ๖ ศอก ให้ผูกแต่ข้างหน้าเรือ ข้างท้ายเรือนั้นอย่าผูกเลย จงเอาเชือกหนังมาตีเป็นสามเกลียว แล้วจึงเอาสอดอกช้างนั้นเข้าแล้วทำห่วงไว้ จึงเอาท้ายเรือนั้นเข้าไว้ต่อตลิ่ง ข้างเหนือน้ำลำหนึ่ง ท้ายน้ำลำหนึ่ง ที่ท่าช้างจะลงนั้น แล้วจึงเอาช้างพลายช้างพังก็ดีห้าช้างหกช้างลงไปยืนอยู่ ที่ริมเรือนั้นก่อน แล้วจึงเอาช้างนั้นลงไปทีหลัง แล้วทำดุจหนึ่งว่าจะลงน้ำแลลูบหน้าลูบตา แล้วให้ตั้งหน้าออกไปที่เรืออันทอดสมอปักหลักอยู่นั้น คะเนว่าตัวหนึ่งสองชั่วตัวจะหยั่งมิถึงดิน แล้วจึงเอาคานสอดเข้าแล้ว ให้คนบนตลิ่งทิ่มแทงให้ตกใจ ช้างนั้นก็จะหลบออกไปสุดเท้า แล้วก็ให้ค้ำเรือออกไป ครั้นเท้าไม่ถึงดินแล้วก็จะว่ายไป แลค้ำเรือถ่อพายหนักไป เท้าไม่ถึงดินช้างนั้นก็ว่ายข้ามไปแล อันว่าช้างดอนมิเคยข้ามก็ดี เห็นน้ำเชี่ยวมิข้ามก็ดี ให้เอาเรือ ๔ ลำ ๕ ลำก็ได้ เอาไปทอดสมอปักหลักไว้เหนือน้ำที่ท่าช้างจะข้ามนั้น ให้น้ำวนอยู่แล้วทำบังตาช้างจงดี แล้วก็ให้ทำดุจช้างมิข้ามแม่น้ำกว้างนั้น กลจะขี่ช้างซึ่งมิข้ามน้ำนั้น ถ้ามิรู้ถึงลักษณะช้างตามซึ่งกล่าวมานี้ประการหนึ่ง ประการหนึ่งเป็นทุ่งท่าป่าดงกันดารจะแก้ไขช้างให้ข้ามน้ำดุจกล่าวมานี้ขัดสน ท่านให้แก้ไขเป็นยากัลเม็ด ขึ้นต้นไม้ให้ช่วยแรงคาถาประกอบกันก็ได้ราชการสืบมาอยู่ และว่าช้างมิข้ามแม่น้ำนั้น ถ้าให้ข้ามท่านี้มิข้ามให้ย้ายท่าไปข้ามท่าอื่น ถ้าและมิข้ามจึงให้เอายอดน้ำนอง จิ้งโจ้ สอึกโทน ผักบุ้ง ก็ได้ เอาที่ยอดอันชี้ไปข้างฟากข้างโน้น ให้เอาหมากสามคำไปพลีเอาจึงว่า “ครูบาธิยายเจ้าเหยช้างมิข้ามน้ำ ข้าขอเชิญครูบาธิยายไปช่วยให้ช้างข้ามน้ำไปจงง่ายเถิด” (ดังนี้) แล้วจึงกลั้นใจเด็ดเอายานั้นมา อย่าเหลียวหลังและเหลียวไปซ้ายไปขวาตั้งหน้ามาทีเดียว ครั้นมาถึงช้างแล้วจึงมนต์ยานั้นว่า “โอมณะรายนภูตากะริศยาภูมีนาครังสหะบดี นะระเทวะดาจะคงคา จะสาครอุทกภูดลณะระวะระเทวะตาทวะมุตติยา เทวาจะสมุตหิมะวันตะยะ” แล้วจึงกลั้นใจยี่กับฝ่ามือ แล้วเอาสีตาช้างข้างขวาสามที ข้างซ้ายสามทีแล้วจึงขี่ลงไป ครั้นลงไปถึงน้ำแล้วเอากากยาที่เหลืออยู่นั้นทูนศีรษะแล้ววางลงไว้ที่ศีรษะช้างนั้น แล้วประนมมือขึ้นว่ามนต์นี้ “โอมพุทธกันตังมาระยังยังกันตังสวาหะ” แล้วหยิยเอายาขึ้นทูนศีรษะแล้วว่าครูบาธิยายช่วยข้าพเจ้าด้วย แล้วเอากากยานั้นซัดออกไปกลางน้ำตรงหน้าช้างนั้น แล้วขับช้างตามออกไปเถิด ช้างนั้นข้ามน้ำไปแล กลขี่ช้างมิข้ามน้ำกล่าวไว้ดังนี้”

ตำราข้างบนนี้จับใจหม่อมฉันตรงที่แก้ไขด้วย “ยากัลเม็ด” อันที่จริงก็เอายาทาตาให้สายตาช้างนั้นเห็นไม่ชัด อย่างเคยได้ยินท่านตรัสปรารภกับกรมพระจันทบุรีว่า “นั่นงัวหรือ” นั่นเอง จึงออกขัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ