วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ เวลาเช้า พอหญิงพิลัยกับชายใหม่ลาไปขึ้นรถไฟได้สักประเดี๋ยว พนักงานไปรษณีย์ก็เชิญลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๒ มาส่ง ถ้าหม่อมฉันได้อ่านลายพระหัตถ์ก่อนเวลาหญิงพิลัยไป ก็จะสั่งให้ไปแวะซื้อซองบุหรี่ยี่ปุ่นที่ต้องพระประสงค์อีก ๔ ใบนำไปถวายได้ในวันนั้น แต่เผอิญมันคลาดกันไป จะต้องคอยหาใครกลับเข้าไปทางหาดใหญ่จึงจะได้ฝากเข้าไปถวาย ได้เห็นทรงพรรณนาบ้านสุคนธหงส์ในลายพระหัตถ์ เล่นเอานึกอยากกลับเข้าไปอยู่ด้วยกันอีก หม่อมฉันเชื่อว่าหญิงพิลัยคงจะไปรื่นรมย์เหมือนกัน เพียงรู้ว่าท่านเสด็จย้ายมาประทับที่หาดใหญ่ เธอก็ยินดีเสียแล้วว่าพอถึงสถานีก็จะเดินดุ่มไปเฝ้าได้ถึงพระองค์ เพราะรู้ตำบลหนทางที่หาดใหญ่เจนใจอยู่แล้ว

เรื่องชื่อเรียกตำบลต่าง ๆ เมื่อหม่อมฉันจดหมายตั้งปัญหาถวายไปฉะบับก่อนแล้ว มาพิจารณาดูเอง นึกถึงเค้าเงื่อนแต่หนหลังได้เรื่อง ๑ เมื่อหม่อมฉันไปตรวจราชการมณฑลเพ็ชรบูรณ์ในรัชชกาลที่ ๕ ขากลับได้ล่องเรือทางลำน้ำสักมาจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ ๑๒ วันจึงถึงเมืองสระบุรี ทางน้ำสักที่ล่องมานั้นเปลี่ยวไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือน ถามชื่อตำบลที่ผ่านลงมา ผู้ชำนาญทางที่นำหม่อมฉันลงมาบอกว่าไม่มีชื่อเพราะยังไม่มีใครตั้งหลายแห่ง อาศัยเค้าเงื่อนที่ทูลนี้เห็นว่าชื่อที่เรียกท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ตำบลขึ้นไปจนถึงเมืองล้วนเปนของมนุษย์บัญญัติ มนุษย์ชาติใดภาษาใดไปถึงก่อนก็ใช้คำภาษาของตนบัญญัติชื่อท้องที่ พวกอื่นมาทีหลังก็เรียกตาม เพราะฉะนั้นชื่อท้องที่แม้อยู่ในแถวเดียวกันเช่นแหลมมลายูนี้ บางแห่งชื่อจึงเปนภาษาหนึ่ง บางแห่งชื่อจึงเปนภาษาอื่น ยกเปนอุทาหรณ์ดังเช่นชื่อที่เรียกว่า “สิงหปุระ” ก็ดี “ตรังกนะ” ก็ดี “ปัตนะ” ก็ดี พวกชาวอินเดียคงให้ชื่อนั้น ๆ ตามชื่อเมืองในอินเดีย ชื่ออันเปนคำภาษาอื่นที่เราแปลไม่ออกคงเปนคำพวกมีลักขูที่อยู่ตามเกาะเกียนในมหาสมุทร์ให้บ้าง พวกชะวาและมลายูให้บ้างแล้วเรียกตามกันมา และบางทีมาแก้ไขให้เข้ากับภาษาของตน เช่น เมืองตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่งเปนต้น ที่ทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์ว่าทางหน้าในมีชื่อภาษาเขมรอยู่มากนั้น เปนปัญหาสำคัญอันหนึ่งทีเดียว เพราะไม่ใช่แต่ชื่อท้องที่เท่านั้น การบังคับข้างทางแหลมมลายูนี้ทั้งไทยและมลายูใช้คำภาษาเขมรทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมีสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้พบสำเนาพระราชกฤษฎีกาครั้งกรุงศรีอยุธยา สักราชเพียงแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ว่าถึงพระราชทานที่กัลปนาวัดในแขวงเมืองพัทลุง ใช้ภาษาและอักษรเขมรเก่า ต้นฉะบับอยู่ที่ในหอพระสมุดวชิรญาณ พวกฝรั่งที่ศึกษาภาษาเขมรเช่นศาสตราจารย์เซเดส์พากันพิศวงมาก ว่าเหตุใดจึงใช้ภาษาเขมรลงมาข้างฝ่ายใต้และใช้อยู่ใกล้ปัจจุบันถึงเพียงนั้น ปัญหานี้ยังไม่มีผู้ใดวิสัชนาให้เห็นเหตุเปนแน่นอน ใจหม่อมฉันนึกว่าบางทีจะเกิดแต่ต้อนเขมรเชลยลงมาอยู่ทางหัวเมืองเหล่านี้ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง เหมือนอย่างเคยต้อนเชลยพวกลื้อลงมาเปนชาวลคร จึงมีพวกเขมรลงมาอยู่ทางแหลมมลายูมาก จนภาษาเขมรแพร่หลายและใช้หนังสือเขมรในหมู่คนเหล่านั้น ที่ทูลนี้เปนแต่นึกยังไม่ได้สอบสวน

เรื่องออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) ยี่ปุ่นที่ตรัสถามมาในลายพระหัตถ์นั้น หม่อมฉันทราบอยู่ แต่เปนวิสัชนายาวสักหน่อย หม่อมฉันจะเอาไว้ทูลในจดหมายฉะบับหลังต่อไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ