วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๗๖

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒๕ เดือนก่อน ได้รับประทานแล้ว ขอทูลสนองข้อความตามลายพระหัดถ์ต่อไปนี้

ในเรื่องค่าหนังสือเดินทาง กำหนดวันในหนังสือเดินทางและวิธีกราบถวายบังคมลาอะไรเหล่านั้น อันทรงพระปรารภสำหรับพระญาติจะออกมาเยี่ยมเยียน เกล้ากระหม่อมเห็นว่า ถ้าจะมาโดยความผูกพันอยู่ด้วยแรงน้ำใจก็จะคิดถึงเรื่องเงินไม่ได้ ถ้าคิดถึงเรื่องเงินก็ไม่ควรออกมาเฝ้า การกราบถวายบังคมลานั้น หม่อมเจ้าวรรณเธอก็เปนเจ้าใหญ่ในกรุงสยามอยู่เวลานี้ เธอว่ากะไรก็ควรที่จะเชื่อได้กระมัง แต่พระราชกำหนดเรื่องเจ้านายทูลลามีอยู่ เกล้ากระหม่อมได้เคยถวายมาก่อนแล้ว แต่เปนการนานมาแล้ว ลางทีจะทรงหลงลืมไปได้ในลางข้อ จึงได้ถวายมาในครั้งนี้อีก พระราชกำหนดอันนี้ยังมิได้ตรัสสั่งให้ยกเลิกเพิกถอน ก็เปนการจำเปนที่เกล้ากระหม่อมจะต้องรักษาโดยกวดขัน ถ้าใครลาลัดแลงนอกทางที่พระราชกำหนดบัญญัติไว้ เกล้ากระหม่อมจะไม่อนุญาตเลย ถ้าใครไม่พอใจจะทำไปด้วยเชื่อใครอื่นหรือเชื่อตัวเอง เขาก็รับผิดชอบไปด้วยตัวเอง

เรื่องงานเผาศพทหาร ได้เล่าถวายมาในหนังสือคราวก่อนเห็นจะพอแล้ว ทีนี้จะวินิจฉัยถวายในเรื่องชะนิดที่เผา เปนทางวรรณคดี

“เมรุ” เห็นจะได้ชื่อมาแต่ปลูกปราสาทอันสูงใหญ่ในท่ามกลางปลูกปราสาทน้อยขึ้นตามมุมทุกทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกันปักราชวัตล้อมเปนชั้นๆ มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริพันธุ์ล้อม จึงเรียกว่าพระเมรุ ทีหลังทำย่อลงแม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็คงเรียกว่าเมรุ

“โรงธึม” คิดว่าคำ “ธึม” นั้นจะเปน “ทิม” เรานี่เอง คำที่ลงนฤคหิตไม่มีมูลอย่างนี้มีมาก เช่น อธิก อธึก แก้วผลิก แก้วผลึก เปนต้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศวินิจฉัยว่าเปนเสียงเขมร ท่านมีพระเขมรอยู่ด้วยมาก ท่านว่า โรงพิมพ์ เขาออกเสียงว่า โรงพึมพ์ เปนความจริงดังนั้น เช่นน้ำ คำเขมรเขียน ทิก เขาอ่านว่า ตึก แต่มีข้อสงสัยอยู่หน่อย คำว่า ทิม เราเข้าใจกันเปนว่าโรงแถวห้องแถว แต่เมื่อไตร่ตรองดูก็เห็นหาใช่ไม่ เพราะมีคำใช้อยู่ว่า ทิมแถว ถ้า ทิม เปนเรือนแถวแล้ว ทำไมจะต้องเติมคำว่า แถว เข้าไปอีก ทิม ไม่จำต้องเปนเรือนยาว แต่ไม่ใช่เรือนยอดแหลมเปนแน่ ที่เผาซึ่งหลังคาไม่เปนยอดแหลมจึงเรียกว่า “โรงธึม” คือ โรงทิม

“ปะรำ” เปนหลังคาตัด ไม่มีปัญหา ที่เผาศพทหารเปนหลังคาตัด ต้องเรียกว่า ปะรำ

พระองค์หญิงประเวศเสด็จมาปินัง ตามที่ตรัสเล่ารู้สึกว่าจะสนุกดี พาหนะมีอะไรบ้างเธอใช้ทุกอย่าง

กระแสรับสั่งเรื่องปลาแห้ง ได้บอกแก่แม่โตแล้ว แกดีใจ คิดจะหาปลาแห้งที่ดีสะสมไว้ส่งมาถวายในวันหน้าอีก ตามที่ตรัสเล่าว่าชาวเกาะปินังไม่ชอบกินปลาน้ำจืดนั้น ทำให้นึกไปถึงชาวเมืองชล เมื่อคราวโกนจุกสิงห์โตมีพี่ป้าน้าอาเข้ามามาก ชาวเมืองชลเขาชำนาญทำห่อหมก ทำดีมากทีเดียว แต่จะให้ทำก็ร้องคัดค้านว่าปลาน้ำจืดทำไม่ได้ ก็น่าขัน ควรหรือปฏิเสธเรี่ยวแรงไปถึงเช่นนั้นได้

ตรัสเล่าถึงเรื่องข้าหลวงไปตลาด เกล้ากระหม่อมเข้าใจดีทีเดียวว่าไม่ขัดข้อง เพราะได้แก่ตัวมาหลายครั้งแล้ว ทีแรกไปเที่ยวเมืองพะม่า เที่ยวหาซื้อของที่พึงใจ แต่แรกก็วานพวกแขกที่เขาพูดพะม่าได้ไปช่วยเปนล่าม ทีหลังไปบ่อยเข้านึกเกรงใจเขา เลยเล่นเพลงใช้ใบ้ แล้วก็คอยจับจำเอาคำเขา เช่นเราจะซื้อโอเงินฉลัก แต่ที่เขาวางขายใบมันใหญ่ไป เราต้องการใบเล็ก ๆ ทำมือให้เขาดู เขาหันไปบอกกันว่า “แง ๆ” เราก็รู้ทันทีว่าแงแปลว่า เล็ก เลยอยากรู้คำว่าใหญ่ทำมือให้เขาเขาก็บอกกันว่า “ถึกๆ” เลยได้ความเข้าใจ ว่าโคถึกและลูกแงนั้นเปนภาษาพะม่า อีกคราวหนึ่งปรึกษากับกรมหลวงสรรพสิทธิคิดจะมีหีบเครื่องมือไว้สำหรับเอาไปตามเสด็จหัวเมือง เพราะระวางตามเสด็จมักตรัสใช้ให้ทำอะไรบ่อย ๆ ต้องวิ่งหาเครื่องมือแทบเลือดตากระเด็น ได้มาก็ไม่ค่อยเหมาะกับงานที่โปรดให้ทำ พอดีนายตอรีลูกสมุลห้างเบนสันเข้ามาหางานไปใส่ห้าง จึงคิดจะสั่งนายตอรีให้ไปทำมาให้ คิดกับกรมหลวงสรรพสิทธิจะเอาอะไรบ้างจดลงตั้งสองหน้ากระดาษ แล้วก็นัดนายตอรีมาหา นัดเอาตาแหมาเปนล่าม แต่มีความเสียใจ ตาแหใช้ไม่ได้เลย เพราะเครื่องมือต่างๆ นั้นเปนทางเทฆนิคของการช่างทั้งนั้น สิ่วน่อง สิ่วเล็บมือ ตะไบสามเหลี่ยม ตะไบกล้อ เขาเรียกอะไรตาแหไม่รู้ทั้งนั้น เกล้ากระหม่อมฉุนเลยไล่แกไปเสีย ทีนี้ก็ส่งภาษากับนายตอรี พูดตุ๊ยๆ ไปบ้าง เขียนให้ดูบ้าง เข้าใจกันดี ทำเข้ามาให้สำเร็จเรียบร้อย อีกคราวหนึ่งตาแฟโรช่างเขียนเข้ามาเขียนพระที่นั่งอัมพร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสสั่งให้แกเขียนอะไรแกไม่เข้าใจ เพราะแกพูดภาษาอังกฤษได้สองสามคำเท่านั้น เลยกริ้ว เกล้ากระหม่อมก็พยายามชี้แจงให้แกเข้าใจพระราชประสงค์ โดยวิธีใช้ภาษาไทยบ้าง อังกฤษบ้าง ขีดเขียนบ้าง สำเร็จไปได้ดี เลยต้องรับหน้าที่เปนล่ามตาแฟโรไปจนแล้ว

ตรัสใช้คำว่า “ตลาดยี่สาน” ขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบ ว่าเกล้ากระหม่อมเคยคิดจับคำหลังว่าเปนอะไร ลางคนก็พูดว่า”ตลาด - ตสาน” ผเอิญอ่านหนังสือเขมรไปพบเข้า เขาเรียกตลาดว่า “ปสาน” ก็ต้องร้องอ้อด้วยความแน่ใจว่าคือ “ตลาด - ปสาน” เปนทับศัพท์ไทยกับเขมร ที่ปินังเขาใช้ภาษามลายูกัน ตามร้านขายหนังสือจะหาดิกชนารี มลายู - อังกฤษ ได้หรือไม่

อยู่ปีนังเปนโอกาสเหมาะจริง ที่ได้เห็นเรือวิเศษพิสดารต่าง ๆ ตามที่ตรัสเล่าถึง เรือเอมเปรส ออฟ บริเตน ๔๐,๐๐๐ ตัน ทั้งได้ดูรูปที่ประทานไป มันใหญ่พิลึกพิลือดูจะน่าสนุก ตรัสเล่าถึงที่ตรัสตอบหญิงพูนอดหัวเราะไม่ได้ แม่โตอีกคนหนึ่งเห็นจะไม่แพ้หญิงพูน จะยิ่งไปกว่าอีกกระมัง เมื่อไปสงขลาเที่ยวที่แล้วมา เจ้านายท่านเล่าว่าคลื่นไม่มีสักนิดหนึ่งแต่แกนอนตลอดทาง ขากลับกลับทางรถไฟยินดีปรีดาว่าจะไม่ต้องเมาคลื่น แต่ที่ไหนได้ เมารถไฟนอนตลอดทางจนถึงกรุงเทพ ฯ

ได้เห็นใบแจ้งความของเจ้าจอมมารดาอ่อน ว่าเก็บพระอัฏฐิเช้าวันที่ ๕ เย็นสวดมนต์ฉลอง เช้าวันที่ ๖ เลี้ยงพระแล้วเปนเสร็จการ เกล้ากระหม่อมจึงบอกไปถึงหญิงจง ว่าต่อแต่วันที่ ๖ ไปจะทำการของชายดิศได้ แต่เห็นควรแยกการเปนสองคราว คือไปขอเสียคราวหนึ่งก่อน เมื่อท่านตกลงให้แล้ว จึงนัดวันมั่นไปทำการมั่นกันอีกคราวหนึ่ง ถ้าต้องการให้มีฤกษก็ให้หาฤกษมา

เมื่อวานนี้ไปหาพระพินิจที่หอพระสมุด เตือนเรื่องอันได้ไปขอไว้จะพิมพ์หนังสือแจกงานศพหม่อมเจ้าเปล่ง พบพราหมณ์ศาสตรี เลยถามคำ Thai Pusam ว่าแปลว่ากะไร ได้อภิปรายอย่างดีว่า ไตปฺปูศม เปนภาษาทมิฬ ไตป ว่า เดือน ปูศม ภาษาสํสกฤตว่า ปุษย คือเดือนญี่ ถูกเผงอย่างที่เกล้ากระหม่อมเดาไว้ อธิบายว่าเปนเดือนที่ทำการบูชาเทวดา พวกไหนจะบูชาเทวดาองค์ไหน ด้วยวิธีประการใดก็ตามแต่ปรารถนา มีกำหนดแต่ว่าควรทำในบุษยมาส อย่างเราไหว้ครูเดือน ๖ กันฉะนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

หญิงจงพาชายดิศมาหา เห็นหน้าตาชุ่มชื่น ดีกว่าเมื่อวันที่เธอกลับมาจากปินังเปนอันมาก ว่าค่อยสบายขึ้น ดีใจ

<น>

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประสูติ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๐๐ สิ้นพระชนม์ ๓ เมษายน ๒๔๖๕ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ชุมพล”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ