ว่าด้วยแผ่นดินแลเรือกสวนไร่นาในเมืองจันทบุรี

เราได้มาอยู่ในเมืองจันทบุรีหลายวัน มีเวลาพอที่จะได้ถามการต่างๆ ในเมืองจันทบุรีได้บ้าง แต่เราจะถามคนเดียวก็กลัวไม่ตลอด แล้วจะลืมเสีย จึงได้ปันเกณฑ์ให้เปนพนักงานสำหรับสืบสวนจดจำไว้คนละส่วนละส่วน เมื่อเรามาถึงกลางทางมีเวลาจะได้เก็บเรียบเรียงไว้ให้เปนเรื่องเดียวกัน การที่ปันไปนั้น คือให้หมอสายสืบที่แผ่นดินแลเรือกสวนไร่นา พระยาภาษสืบการช่างแลการค้าขายกับสินค้า พระนายไวยสืบกระบวนสัตวซึ่งเปนกำลังใช้แลเปนอาหาร แลสัตวร้าย กับทั้งกระบวนเล่นซึ่งเปนการสนุกสำหรับเมือง เจ้าพระยาภาณุวงษ์สืบในกระบวนราชการ แลคนต่างๆ ตำแหน่งเจ้าเมืองกรมการ กับทั้งความเจ็บไข้ในเมือง.

บัดนี้จะว่าด้วยที่แผ่นดินแลไร่นาเรือกสวน ซึ่งสืบได้ความแต่พระยาจันทบุรีแลพระปลัด เขาว่าที่แผ่นดินเมืองจันทบุรี ซึ่งจะทำไร่นาเรือกสวนต่างๆ ถ้าเปนที่ดินเหลืองฤๅดินแดงฤๅดินแดงกับเหลืองปนกันแล้ว ที่นั้นจะทำไร่นาเรือกสวนสิ่งไรก็งามดีมีผลมาก ถ้าเปนที่ดินดำฤๅดินดำปนกันกับดินเหลืองแล้ว จะทำสิ่งใดก็ไม่ใคร่จะมีผลมาก นาที่ทำในเมืองจันทบุรีนี้นาฝั่งตวันตกมีประมาณ ๑๑๔๐๐ ไร่ ฝั่งตวันออกมีประมาณ ๘๗๕๐ ไร่ รวมทั้งสองฝั่งเปนนา ๒๐๑๕๐ ไร่ แต่ในทุกวันนี้ราษฎรทำนาลงมาหาข้างทเลมากขึ้นทุกปีๆ แต่ใน ๒ ปี ๓ ปีนี้นาเกิดขึ้นอีกมากนัก แต่นาที่เมืองจันทบุรีนี้อาไศรยน้ำฝน ถ้าน่าแล้งน้ำทเลไหลขึ้นไปถึงเพียงที่แยกคลองพลิ้ว บางแห่งที่เปนนาลุ่ม น้ำแม่น้ำขังก็มีบ้างแต่น้อยแห่ง น้ำขังอยู่ก็เพียงศอกหนึ่งเศษไม่มากกว่านั้น ถ้าบางทีน้ำเหนือน้อยน้ำทเลไหลขึ้นถึงเข้าในนา พอน้ำลงน้ำจืดก็ไหลมาล้างน้ำเค็มทันกันต้นเข้าไม่เสีย พริกไทยนั้นวิธีที่จะปลูกต้องขุดดินยกขึ้นเปนร่องกว้างประมาณศอกคืบ แล้วตัดเอายอดมาปลูก ต้องเอาไม้อ่อนๆทำเปนค้างร่องไว้ก่อน แล้วต้องเอาใบไม้คลุมรดน้ำเสมอทุกเวลา ถ้ามีที่ลำธารเหมือนที่เมืองจันทบุรีแลเมืองขลุงก็ได้อาไศรยไขน้ำมาจากลำธาร ไม่ต้องไปตักไกลลำบากมาก แลการที่จะไขน้ำนั้นดูทำนองก็คล้ายกันกับไขน้ำมาล้างแร่ดีบุกที่ภูเก็จ แต่ที่ไม่มีลำธารเหมือนที่เมืองแกลงนั้น ต้องขุดบ่อตักน้ำใช้ลำบากหน่อยหนึ่ง พริกไทยจึงน้อยกว่าที่จันทบุรี แลเมืองขลุง วิธีจะทำพริกไทยนั้นมีอิกหลายยย่าง คือต้องพวนดินแลมีดินเผาไปใส่ทุกปี เมื่อเวลามีดอกต้องพ่นยากันหนอน เมื่อปลูกพริกไทยไปได้ปีหนึ่งก็แตกมีผลบ้างเล็กน้อย แต่ต้องเด็ดทิ้งเสีย ปีที่สองจึงขึ้นค้างใหญ่ได้มีผลมากขึ้น แต่ยังย่อมอยู่ เขาเก็บใช้ดองกิน ยังไม่เก็บเปนพริกไทยใหญ่ ต่อถึง ๓ ปีจึงเปนบริบูรณ์เปนใช้ได้ พริกไทยนั้นมี ๓ อย่าง ๆ หนึ่งเปนพริกไทยดำ คือเก็บพริกไทยยังดิบไม่สุกมาทั้งรวง แล้วเอาไม้หัวค้อนตีจนเมล็ดพริกไทยออกจากรวง แล้วเอาตะแกรงร่อนเอาแต่เมล็ดพริกไทยผึ่งแดด สีพริกไทยนั้นดำ อิกอย่างหนึ่งเรียกว่าพริกไทยล่อน คือพริกไทยนั้นสุกแล้วเก็บเอามาแช่น้ำไว้ จนเปลือกน่ายแล้วจึงมายีเอาแต่เมล็ดพริกไทย อย่างนี้เปนพริกไทยสุกแรงมากกว่าพริกไทยดำ อิกอย่างหนึ่งเรียกว่าพริกไทยมูลนก เพราะธรรมดาผู้ที่มีไร่พริกนั้น ถ้าเห็นพริกช่อหนึ่งสุก ๒ เมล็ด ๓ เมล็ดแล้ว ก็ชิงเก็บมาทำเปนพริกไทยดำเสีย เพราะถ้าจะทิ้งไว้จนสุกนกมากินเสียมาก เมื่อเหลือจากที่เก็บต้องทิ้งไว้จนสุกแล้วมาทำเปนพริกไทยล่อน ในเวลาที่พริกไทยสุกนั้น ถึงเจ้าของจะรีบชิงเก็บแลระวังรักษาอย่างไรก็ยังไม่พ้นนก เมื่อนกพากันมากินแล้วถ่ายมูลลงไว้ในไร่ เจ้าของไร่จึงให้เด็กๆที่ไม่มีการ ไปเที่ยวเก็บพริกไทยที่เปนมูลนกนั้น เมล็ดพริกไทยก็ล่อนขาวดี ไร่หนึ่งได้เพียง ๒ ทนาน ๓ ทนาน แต่พริกนั้นแรงมากเพราะไม่ได้ถูกน้ำ สำหรับเข้ายา หมอสายว่ากำลังของพริกนี้ถ้าจะเข้ายาแรงกว่าพริกไทยดำเกือบสองเท่า พริกไทยซึ่งมียี่สิบสองอำเภอในเมืองจันทบุรี ประมาณ ๑๒ เส้นค้างเศษ เปนสินค้าใหญ่ของเมืองนี้ ไร่อ้อยในเมืองจันทบุรีนี้ ได้สืบดูมี ๒๒ อำเภอ เปนสวน ๑๘๐ ตำบล มีโรงหีบน้ำตาล ๒๐ แห่ง หลานบอกว่าเมื่อไปคอยรับอยู่ที่พลับพลาจะไปเขาพลอยแหวนนั้น ได้ลองกินอ้อยที่ไร่เหล่านั้นดู รศหวานดีเกือบจะถึงบางคูวัด จะต่ำกว่าสักนิดหน่อย น้ำตาลเปนสินค้าออกจากเมืองปีละมากๆ ต้นรงมีอยู่ตามเขาแลตามป่าจนที่เขาสระบาปก็มี ฤดูที่ทำตั้งแต่เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ เดือน ๖ จนถึงฤดูฝนต้องเลิกทำ เมื่อจะไปทำนั้นมีลัทธิถือกันต่างๆ ผู้ที่จะไปทำต้องเข้าพวกกันมากๆ แล้วหานายสมุนไปทำป่า ผู้ที่จะทำต้องเข้ากรรมแล้วแยกทางต่างคนต่างไปเปนทิศ ไม่แย่งชิงกัน ครั้นเวลาค่ำก็กลับที่ชุมนุมพร้อมกัน เวลาเช้ากินเข้าแล้วก็แยกกันไปหาอีก เมื่อทำนั้นเอามีดขอด้ามยาวสักสองศอกควั่นลำต้นเปนเกลียวลงมา แล้วเอากระบอกปาดปากเสียตอกติดไว้ที่ปลายร่อง ถ้าเปนต้นเล็กๆ ควั่นรอยเดียว ถ้าต้นใหญ่ ๒ กำ ๓ กำก็ควั่นได้สองรอย ต้นหนึ่งได้รงหนักสักสิบตำลึงบ้างน้อยกว่าบ้าง ถ้าต้นใหญ่ ๔ กำ ๕ กำ ก็ได้ถึงชั่งหนึ่ง ต้นหนึ่งทำได้ปีละสองครั้ง เขาถือกันว่าถ้ารงล้นออกจากกระบอกแล้วที่บ้านคงจะมีเหตุต่างๆ คือภรรยามีชู้ฤๅเจ็บไข้เปนต้น ยางรงนั้นเมื่อรองได้หมดแล้วก็ปลดกระบอกมาย่างไฟจนแห้ง แล้วเคาะออกมาพับกลางใช้เปนรงแห้ง ไร่ถั่วไร่ยาสูบนั้นมักจะทำด้วยกัน แต่ถั่วไม่เปนสินค้าออกนอกเมือง สำหรับแต่ทำน้ำมันใช้ในเมือง ยาสูบนั้นใช้เปนยากินยาสูบน้อย ใช้เปนยาสำหรับพ่นพริกมากๆ ไร่ครามก็ทำแต่พอใช้การในพื้นบ้านพื้นเมือง ไร่แตงอุลิดนั้นมีมาก แต่เปนแตงดีอยู่ที่บ้านหนองบัวหวานดีกว่าที่อื่น เปนสินค้าเข้าไปในกรุงเทพฯ ก็มาก ผลไม้ของสวนมีราคา หมาก มะพร้าว ทุเรียน แมงคุด มะปราง เปนมาก ผลไม้อื่นๆนั้นก็มีเหมือนๆกับที่กรุงเทพฯ แต่ไม่มากนัก ได้สืบบาญชีใน ๒๒ อำเภอ เขาว่ามีหมาก ๒๗๔๒๐ ต้น มะพร้าว ๑๒๕๐๐ ต้น ทุเรียน ๔๖๙๐ ต้น แลผลไม้ที่มีแปลกกว่าที่อื่นในเมืองนี้นั้น เราเห็นว่ากล้ายเปนอย่างดีไม่มีที่ไหนจะสู้ .หวานแหลมมากกว่ากล้ายที่อื่นๆ เขาปลูกตามบ้านมีชุมมาก ยังผลไม้ป่าก็มีมาก คือต้นลิ้นจี่ เขาเรียกกันตามแถวเหล่านี้ว่าต้นสีละมัน แลต้นพุงทลายเขาเรียกว่าต้นสำรอง เมื่อเวลาถึงฤดูแล้วราษฎรพากันไปเที่ยวตามป่า ถ้าพบเข้าแล้วไม่ได้ขึ้นเก็บเลย โค่นต้นทีเดียวถึงจะโต ๔ กำ ๕ กำก็โค่นเอาเหมือนกัน ผลพุงทลายนี้ก็เปนสินค้าออกจากเมืองจันทบุรีบ้างในเวลาที่มีดก แต่ไม่เปนสินค้ายืน เร่วกระวานนั้นมีแถบป่าสีเซ็นต่อเขตรแดนกับเมืองพระตะบอง มีคนชาติหนึ่งเรียกว่าของอยู่ในแถบป่าสีเซ็น พูดภาษาหนึ่งต่างหากแต่คล้ายๆ กันกับเขมร ชอบลูกปัดแลของทองเหลืองเหมือนอย่างเกรี่ยงเมืองกาญจนบุรี เปนกองส่วยเร่วส่วยกระวานขึ้นเมืองจันทบุรี กับไทยกับญวนบ้าง ไปเที่ยวเก็บตามเขาแลเนินที่ต่อเขตรแดนแลป่าอื่นๆ อิกก็มี คือ ป่าน้ำเขียว ป่าตะเคียนทอง แลป่าไพรขาว แต่เร่วกระวานนี้ พวกส่วยไปเก็บมาส่งครบจำนวน แล้วจึงได้ซื้อขาย มีน้อยไม่มาก อนึ่งไม้ระกำในแถบข้างนี้มีชุมมากทั่วทุกแห่งทุกหน ในระหว่างเขากับเขาต่อกันนั้นเปนไม้งามมีมาก ที่ตามชายทเลก็มี แต่กอแลลำไม่งามเหมือนที่เขา ในแดนเมืองเหล่านี้ เขาใช้ทำฝาเรือนแลหลังคาเกวียน เปนสินค้าเข้าไปกรุงเทพฯ ปีหนึ่งก็มาก เปนไม้ระกำอย่างดี เนื้อไม้ซึ่งเปนสินค้ามากในเมืองนี้มีคนทำชุม แต่คนซึ่งไปทำนั้นเปนคนไทยบ้าง คนญวนบ้าง ชองบ้าง ต้องเข้ากันเปนพวกๆ หานายสมุนไปทำป่าเหมือนกับทำรง พวกที่จะไปนั้นต้องมีต่างสำหรับบรรทุกเสบียงอาหารสวมบ่าติดตัวไปทุกคน เมื่อไปถึงป่าแล้วตั้งพักที่หนองน้ำลำธาร นายสมุนทำป่าแล้วชี้ทางให้แยกกันไปเที่ยวหาตามป่าแลขายเขา สังเกตนกที่กินไคลไม้หอมเปนสำคัญแล้วก็รู้ว่าเนื้อไม้ลงที่ต้นนั้นๆจึงเอาเครื่องมือต่างๆตัดฟัน ถ้าเห็นว่าเนื้อไม้ลงเพียงใดก็ถากฟันเอาเพียงนั้น ลางทีก็ถึงรากฦก ก็ต้องขุดลงไปจนถึง ต้องถากกระพี้นอกออกเสีย เอามาแต่พอแรง เมื่อมาถึงที่ประชุมในเวลาค่ำแล้วก็ยังไม่ได้หยุดการ ต้องถากเซาะเนื้อขาวออกเสียให้หมดไว้แต่เนื้อไม้ดำ แล้วจึงเอาใบหางสิงห์ห่อไม่ให้สีตก หาเนื้อไม้นั้นได้ตั้งแต่เวลาเดือนอ้ายจนถึงฤดูฝนเหมือนกับทำรง เมื่อถึงเวลาจะเลิกแล้ว ต้องแบ่งให้แก่นายสมุนบ้างตามสมควร แต่ในการที่หาเนื้อไม้มีเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ลางทีก็ได้มากลางทีก็ได้น้อย แต่เนื้อไม้หอมใหญ่นั้นหายาก ถึงโดยว่าจะพบท่อนใหญ่ๆ ก็เอามาไม่ใคร่จะไหว ต้องตัดเอาให้เปนท่อนเล็กๆ พอสมกับกำลังที่จะเอามาได้ เพราะทางที่ไปหานั้นกันดารนัก ไม้ป่าต่างๆ ที่ในแขวงนี้ไม่มีไม้สักเลย มีแต่ไม้อินทนิน ๑ ไม้ขนุน ๑ ไม้บุนนาก ๑ ไม้ขนุนนก ไม้จำปา ไม้ชั้นดำ ไม้โมกมัน ไม้ยางขาวยางแดง ไม้ตะแบก ไม้เหียง ไม้นางเลว ไม้ตาลหก ไม้จันแพรก ไม้ละโมก ไม้เหล่านี้มีผู้ได้ตัดฟันมาใช้เลื่อยเปนกระดานไม้กระยาเลยใช้โดยมาก แลไม้นาคบุดอิกอย่างหนึ่งนั้นเขาใช้เปนลูกประสักเรือ ว่าดีกว่าไม้แสมสารที่ใช้กันอยู่ที่อื่นๆ ไม้ที่ทำเสาเรือนนั้น ใช้ไม้ตะทิด ไม้พะวา ไม้พันจำ แลไม้เหล่านี้ทนได้ประมาณ ๑๔ ปี ๑๕ ปี ลางทีเขาว่า ๓๐ ปีก็อยู่ได้ ไม้ปะโลงนั้นมีชุมตั้งแต่เมืองแกลงถึงปากน้ำเวน ต้นโตประมาณกำหนึ่งกำกึ่ง วิธีที่จะถากเปลือกนั้น ต้องเอามีดไปควั่นลำต้นไว้เปนตอนๆ ห่างกันประมาณศอกคืบจนถึงค่าคบ แล้วเอามีดกรีดปอกเปลือกเอามาหมดแล้ว ต้นเดิมนั้นก็ตาย จึงแตกแขนงขึ้นมาอิกแล้วก็ต่อกันไปทุกปี อนึ่งเราได้พูดถึงต้นตาลไว้บ้างในข้างต้นแต่ไม่ได้กลับมาพูดอิกเลย เพราะเขาไม่ได้ใช้ทำน้ำตาล ที่นี่ใช้แต่เอาจาวแกงกิน.

ว่าด้วยการช่างการค้าขายเมืองจันทบุรี แลหัวเมืองขึ้นเมืองจันทบุรี

การค้าขายที่ในเมืองจันทบุรีซึ่งเปนสินค้าเกิดขึ้นในเมือง แลใช้อยู่ในเมือง แลจำหน่ายออกจากเมืองนั้น คือ พริกไทย ๑ เข้า ๑ กระวาน ๑ เร่ว ๑ น้ำตาลทราย ๑ พุงทลาย ๑ รง ๑ แตงอุลิด ๑ เสื่อต่างๆ ๑ กระสอบ ๑ ผ้าพื้น ๑ ผ้าห่อหมาก ๑ ผ้าอาบน้ำ ๑ เนื้อไม้ ๑ ฟืน ๑ ไม้ค้างพลู ๑ ไม้ระกำ ๑ ไม้ตะเคียน ๑ ขี้ผึ้ง ๑ เปลือกปะโลง ๑ ไม้แดง ๑ กุ้งแห้งฟัด ๑ เยื่อเคย ๑ ปลิงทเล ๑ ไต้ ๑ ยาสูบ ๑ คราม ๑ ถั่ว ๑ หวายพัศเดา ๑ ไม้กระยาเลย ๑ พริกไทยนั้นมีเปนสินค้าอยู่ ๒ อย่าง คือ พริกไทยดำพริกไทยขาว พริกไทยดำเนินพื้นสินค้าราคาซื้อขายกันในเมือง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่เปนยุติ ตามคราวถูกแพง พริกไทยดำนั้นหาบหนึ่งราคาตั้งแต่ ๘ ตำลึงขึ้นไปจนถึง ๑๘ ตำลึง ที่ในเมืองจันทบุรีแลในหัวเมืองขึ้น พริกไทยออกปีหนึ่งประมาณ ๓ หมื่นหาบเศษ พริกไทยล่อน ราคาหาบหนึ่งตั้งแต่ ๑๕ บาทขึ้นไปจนถึง ๓๐ บาท ปีหนึ่งพริกไทยล่อนออกประมาณ ๑๔๐๐ หาบเศษ เข้าที่ในเมืองจันทบุรีนั้น ต่อทำนาได้ผลเหลือใช้ในเมืองแล้วจึงได้บรรทุกเข้าไปกรุงเทพฯ แลเมืองจีน ถ้าเข้าแพงเข้าออกปีละ ๒๐๐๐ เกวียน ๓๐๐๐ เกวียนเปนอย่างมากที่สุด ราคาซื้อขายกันเกวียนละ ๒๐ บาท เปนราคาถูก ขึ้นๆ ลงๆ บ้าง ถ้าเข้าในกรุงเทพฯ แลเมืองจีนถูก ก็ไม่มีออกจากเมือง เร่วกระวานนั้นเปนของส่วยเสียโดยมาก กระวานปีหนึ่งมีประมาณ ๗๐ หาบ ซื้อขายกันที่เมืองนี้ตั้งแต่ ๑๗๐ บาทถึง ๒๐๐ บาท เร่วนั้นผู้ที่ไปหาเอามาปอกเปลือกเอาแต่เมล็ดในไว้ แล้วส่งเปนส่วย เหลือจากส่วยแล้วจึงได้ขายกันเปนราคาหาบละ ๔๐ บาท เร่วมีเข้ามาในเมืองจันทบุรีปีหนึ่ง ๕๐ หาบ ๖๐ หาบ น้ำตาลทรายในเมืองนี้ทำน้ำตาลปึกน้ำตาลแท่งมาก เปนน้ำตาลทรายก็มี ได้บรรทุกเข้าไปกรุงเทพฯ แลเมืองญวนเมืองเขมรปีหนึ่งประมาณ ๗๐๐ หาบ ๘๐๐ หาบ ราคาซื้อขายกันอยู่ที่ในเมืองนี้ น้ำตาลทรายแดงตั้งแต่ ๔ บาทขึ้นไปถึง ๖ บาท น้ำตาลทรายขาวออกปีหนึ่งประมาณ ๒๐๐ หาบ ราคาซื้อขายกันในเมืองนี้ตั้งแต่ ๘ บาทขึ้นไปถึง ๑๐ บาท พุงทลายในเมืองนี้ไม่มีเสมอไป บางปีมีผลได้เปนสินค้าประมาณ ๒๐๐ เกวียน ราคาซื้อขายกันถึงละ ๓ สลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง รงที่เมืองจันทบุรี บางปีก็ออกมาก บางปีก็ออกน้อย สุดแล้วแต่คนทำมากทำน้อย แต่ที่เข้ามาในเมืองจันทบุรีอย่างน้อยเพียง ๕๐ หาบเศษ ถ้าอย่างมากถึง ๑๐๐ หาบ แต่ส่งเปนส่วยเสียมาก เหลือส่วยจึงเปนสินค้า ซื้อขายกันหาบหนึ่ง ๖๐ บาทเปนอย่างกลาง ผลแตงอุลิดได้ออกเปนสินค้าเข้าไปจำหน่ายณกรุงเทพฯ ปีหนึ่งตั้งแต่ ๑๐๐๐๐ ผลขึ้นไป เปนแตงเนื้อแดง ราคาซื้อขายกัน ๑๐๐ ละ ๔ บาทบ้าง ๕ บาทบ้าง ยังแตงอิกอย่างหนึ่งเรียกว่าแตงหมอนเนื้อเหลือง แต่ไว้ช้าไม่ได้ ไม่เปนสินค้าออก กินกันอยู่แต่ในเมือง เสื่อต่างๆ แลกระสอบที่เมืองนี้ เสื่อเปน ๔ อย่าง ๆ ๑ ทำด้วยคล้า คือตัดเอาต้นคล้ามาจักเอาแต่ผิว ผึ่งแดดไว้ให้แห้ง แล้วจึงสานเปนเสื่อกว้างยาวไม่มีกำหนดแล้วแต่ผู้ต้องการ ที่ที่จะสานนั้นต้องเปนที่เรียบร้อยเปนพื้นกระดานไสกบเกลี้ยง แล้วจึงทำเปนพื้นกระดาน เสื่อคล้านี้ไม่เปนสินค้าซื้อขายแก่กัน เมื่อผู้ใดจะต้องการก็สั่งให้ทำ ฤๅเปนส่วยเปนของกำนันเท่านั้น คิดราคาซื้อขายกันยาว ๔ วา กว้าง ๘ ศอกเปนเงิน ๔ ตำลึง อิกอย่างหนึ่งเสื่อกกที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่าเสื่อกระจูดนั้นทำที่เมืองแกลง เปนเสื่อห้องบ้าง เสื่อลวดบ้าง เปนเสื่อสำหรับส่วยอาศนา เหลือซื้อขายกันเปนสินค้า วิธีทำนั้นต้องถอนต้นกกมาผึ่งแดดไว้ให้แห้ง เพื่อจะให้เปนนวล แห้งแล้วเก็บมัดไว้ จะสานเมื่อใดก็เอาวางบนเขียง แล้วเอาสากเช่นสากซ้อมเข้า แต่สินน่าเสียให้เสมอ กระทุ้งกกให้แบนทำได้แต่เวลาเช้าๆ ถ้าสายขึ้นแล้วกกนั้นกรอบไปทำไม่ได้ ถ้าจะสานเปนเสื่อห้องต้องทำสองเขลียงเปนผืนบ้าง สี่เขลียงเปนผืนบ้าง คิดราคาซื้อขายกันตามมากเขลียงน้อยเขลียงๆ ละ ๑ สลึง ถ้าเปนเสื่อลวดยาว ๓ วา ตามธรรมเนียม กว้างชั่วต้นกก ราคาลวดละ ๓ สลึง อย่างหนึ่ง เสื่อกกแดงนั้นมีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว วิธีทำนั้นเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่างๆ ตามที่จะให้เปนลาย สีแดงนั้นย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บางทีย้อมขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยครามแต่ใช้น้อย แล้วเอาเข้าสดึงทอเปนลายต่างๆ เปนเสื่อผืนเสื่อลวดบ้างยาวตามแต่จะต้องการ กว้างเฉภาะชั่วต้นกก เปนสินค้าออกนอกเมือง เสื่อลวดประมาณ ๓๐๐๐ ลวด ราคาลวดละ ๖ สลึง เสื่อผืนนั้นออกน้อย เปนแต่ของกำนันแลของแจก ราคาผืนหนึ่งตั้งแต่สลึงจนถึงบาท ตามแต่งามไม่งาม เสื่อดอกอ้อทำที่เมืองจันทบุรีอีกอย่างหนึ่ง คือเอาก้านดอกอ้อมาผ่าเหลาแล้วทอเปนเสื่อสีเหลืองเองไม่ต้องย้อม ไม่เปนสินค้าซื้อขาย เปนแต่ทอให้กัน แต่กระสอบนั้นสานเปนรูปไปทีเดียว เปนสินค้าขายไปในประเทศต่างๆ ตามแต่ผู้ต้องการ แต่ในเมืองนี้ใช้ใส่พริกไทยแลยาพ่นพริก จำนวนกระสอบที่ออกปีหนึ่งตั้งแต่หมื่นหนึ่งขึ้นไป ราคาซื้อขายกันร้อยละ ๘ บาทบ้าง ๙ บาทบ้าง พวกพ่อค้าชาวยุโรปที่ทำโรงสีเข้าอยู่ในกรุงเทพฯ ได้สรรเสริญว่ากระสอบฝั่งตวันออกฝั่งตวันตกดีกว่ากระสอบจีน บรรจุเข้าได้ขนาดไม่ผิดกัน แต่ราคาแพงกว่ากระสอบจีน ผ้าพื้น ผ้าห่อหมาก ผ้าอาบน้ำ แลแพรนุ่งนั้น พวกผู้หญิงทอที่เมืองจันทบุรี เมืองแกลง เมืองขลุง โดยมาก ใช้ด้ายเทศย้อมสีต่างๆ ทอเปนผ้าพื้นบ้าง ผ้าตาสมุกบ้าง แลผ้าราชวัตรบ้าง มีฝีมือดีกว่าที่กรุงเทพฯ แพรนุ่งนั้นใช้ไหมจีนไหมญวน ทอเปนผ้าไหมบ้าง ด้ายแกมไหมบ้าง เปนแพรเนื้อดี ใช้ทนกว่าแพรเมืองจีน ราคาอย่างดีผืนละ ๒๐ บาท อย่างเลว ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ด้ายแกมไหมผืนละ ๔ บาท แต่ผ้าพื้นนั้นออกจากเมืองปีหนึ่งเพียง ๒๐๐ ผืน ๓๐๐ ผืน ราคาผืนละกึ่งตำลึง แต่ใช้ในพื้นเมืองมาก ด้วยราษฎรในพื้นเมืองนุ่งผ้าพื้นทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครนุ่งผ้าลายเลย เนื้อไม้มีเปน ๓ ชนิด อย่างดีอย่างกลางอย่างเลว ราคาซื้อขายกันอย่างดีชั่งละ ๖ บาทบ้าง ๗ บาทบ้าง อย่างกลางนั้นก็ลดลงมาตามลำดับ จนถึงอย่างเลวที่สุด ราคาเพียงชั่งละกึ่งตำลึง เนื้อไม้ที่ในเมืองจันทบุรี ปีหนึ่งประมาณ ๓๐ หาบ ๔๐ หาบ ไม้ฟืนไม้ค้างพลูนั้น มีตามชายทเลนั้น แขวงเมืองแกลง เมืองขลุง แลเมืองจันทบุรี ฟืนไม้กงกางสำหรับใช้ในโรงหีบโรงจักรปีหนึ่งนับด้วยแสนดุ้น ราคาซื้อขายกันร้อยละ ๕ สลึง ราษฎรที่ขัดขวางยากจนก็อาไศรยตัดฟืนเลี้ยงชีวิตร แต่ไม้ค้างพลูนั้นตัดรุ่นไม้ปะโลง มีขนาดโตจับต้นจับหนึ่งยาว ๙ ศอก บรรทุกเรือเข้าไปจำหน่ายกรุงเทพฯ ปีหนึ่งตั้งแต่แสนดุ้นขึ้นไป ราคาขายกันร้อยละกึ่งตำลึง ไม้ระกำเข้าไปในกรุงเทพฯ มากตั้งแต่แสนลำ ราคาซื้อขายกันร้อยละ ๒ สลึง ไม้ตะเคียนที่ตัดใช้เปนมาดเรือ มีในป่าแขวงเมืองจันทบุรี เมืองแกลง เลื่อยเปนกระดานบ้าง ใช้เปนพื้นบ้านเมือง แลเข้าในกรุงเทพฯ ก็มาก แต่มาดเรือนั้นราษฎรตัดได้เพียงแต่ยาว ๕ วา ถ้ายาวกว่านั้นก็ต้องห้ามไว้ใช้ราชการ มาดเรือซึ่งซื้อขายกันในเมืองนี้ ที่เรียกว่ามาดรางหมูยาว ๔ วาลำละ ๙ บาทบ้าง ๑๐ บาทบ้าง ขี้ผึ้งในเมืองจันทบุรีมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งมีในป่าสูง อย่างหนึ่งมีในป่ากงกางชายทเล ที่ป่านี้แต่ก่อนไม่มีภาษี ผู้ใดพบก็ตีเอาเปนประโยชน์ มาในบัดนี้พระยาจันทบุรีคนนี้ ยอมให้ราษฎรผูกเปนภาษี ขี้ผึ้งออกจากเมืองจันทบุรีปีหนึ่งประมาณ ๒๐ หาบ ๓๐ หาบ ราคาซื้อขายกันที่เมืองจันทบุรีชั่งละ ๖ สลึงบ้าง ๗ สลึงบ้าง เปลือกปะโลงออกปีหนึ่งหลายพันหาบ ราคาซื้อขายกันหาบละ ๓ บาทบ้าง ๔ บาทบ้าง ไม้แดงอยู่ในป่าสูงแขวงเมืองขลุง ราษฎรตัดบรรทุกเกวียนมาขายให้ลูกค้าราคาหาบละสามสลึง ปีหนึ่งไม้แดงออกระมาณ ๑,๐๐๐ หาบเศษ กุ้งแห้งฟัดที่เกาะหนูเกาะแมวเกาะเปริด ปีหนึ่งประมาณ ๒๐ หาบ ราคาหาบละสามตำลึง เยื่อเคยดีทำใช้ในเมืองเหลือแล้วได้เปนสินค้าส่งเข้าไปกรุงเทพฯ ราคาซื้อขายกันที่เมืองจันทบุรี เยื่อเคยดีนั้นออกปีหนึ่งตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ถังลงมา ราคาถังละสามสลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง เยื่อเคยแกงนั้น ชาวเมืองนี้ไม่สู้ใช้กัน เปนแต่ทำเปนสินค้าเข้าไปกรุงเทพฯ มาก ราคาซื้อขายกันถังละสองสลึงเฟื้องบ้าง ๓ สลึงบ้าง ปีหนึ่งเยื่อเคยแกงออกตั้งแต่ ๑๐๐๐ ถังขึ้นไป ปลิงในท้องทเลมี ๓ อย่าง ราคาซื้อขายกัน ปลิงแตงโมชั่งละบาท ปลิงตัวดำราคาหาบละ ๔๕ บาท ปลิงขาวหาบละ ๓๐ บาท ปลิงออกปีหนึ่งประมาณ ๕๐ หาบ วิธีทำไต้ที่เมืองแกลงมีสองอย่าง อย่างหนึ่งทำด้วยเปลือกเสม็ด เอามาทอนให้เท่ากับลำไต้ เมื่อเห็นน้ำมันออกดีแล้ว จึงเอาใบไม้สดฟาดปากหลุมให้ไฟดับ แล้วเอาเปลือกเสม็ดอัดไว้ในหลุมพอสมควรทิ้งไว้สามคืน แล้วจึงไปคัดเอามาแบ่งออกพอลำได้ ใช้ใบกะพ้อห่อนอกมัดเข้าเปนลำอย่างนี้เรียกว่าไต้เสม็ด ไต้อีกอย่างหนึ่งนั้นเอาไม้ยางผุๆ มาถากให้เท่ากับลำไต้แล้วแช่น้ำมันยาง บางทีก็ห่อใบกะพ้อ บางทีก็ไม่ห่อ เรียกว่าไต้คบ ทนกว่าไต้เสม็ด ได้ซื้อขายกันที่เมืองจันทบุรี ราคามัดหนึ่ง ๒๐ ลำ ๑๐ มัดบาท ปีหนึ่งออกจากเมืองจันทบุรีตั้งหมื่นมัดขึ้นไป ยาสูบ คราม ถั่ว ทำพอใช้ในบ้านเมืองไม่ได้เปนสินค้า มีแต่ยาสูบออกไปเมืองญวนบ้างเล็กน้อย ปีหนึ่งประมาณ ๑๐๐ หาบเศษ ราคาหาบละสามตำลึง หวายพัศเดาตัดที่ปลายน้ำเมืองจันทบุรี เอามาผ่าสองแล้วบิดเปนเกลียวขดเข้าเปนขดขาย ๑๐๐ ขดเปนเงิน ๗ บาทบ้าง ๘ บาทบ้าง ปีหนึ่งประมาณ ๓๐๐๐๐ ขดเศษ ไม้กระยาเลยนั้นก็มีมาก ใช้อยู่แต่ในพื้นบ้านพื้นเมือง ไม่ได้เปนสินค้าขาออก สินค้าขาเข้าในเมืองจันทบุรี เปนของมาแต่กรุงเทพฯ คือ เกลือ ๑ จาก ๑ ปูนแดง ๑ ด้ายเทศ ๑ ไหมญวน ๑ ไหมจีน ๑ ไหมเขมร ๑ ผ้าขาว ๑ ผ้าลาย ๑ ผ้าแพร ๑ เครื่องทองเหลืองทองขาว ๑ ถ้วยชาม ๑ ของใช้ของกิน คือ ใบชา ๑ ยาแดง ๑ เรือโป๊ะแลเรือเสาเรือใบซึ่งมาค้าขายกันในเมืองจันทบุรีทั้งขาเข้าขาออกปีหนึ่งประมาณ ๑๐๐ ลำเศษ เรือ ๔ วา ๕ วาเข้าออกค้าขายปีหนึ่งหลายร้อยลำ แต่กำปั่นนั้นหาได้เข้ามาทุกปีไม่ บางปีก็เข้ามารับบรรทุกเข้าแลฟืนบ้างเพียง ๒ ลำ ๓ ลำ เรือสำเภาในปัจจุบันนี้สูญทีเดียว.

การช่างในเมืองจันทบุรี

มีช่างเรือช่างเกวียนแลช่างทำกระเบื้องน่าวัวแลอิฐ แลช่างอื่นๆนั้นก็คล้ายๆกันกับที่กรุงเทพฯ ช่างเรือนั้นได้ทำเรือเป็ด ๔ วา ๕ วาปีหนึ่งหลายสิบลำ แต่เรือโป๊ะเรือเสาเรือใบนั้น ต่อมีผู้สั่งจึงทำ เกวียนที่เมืองนี้ทำด้วยไม้ประดู่ เปนเกวียนที่เทียมกระบือ มีแคร่แลประทุนทำด้วยไม้ระกำมั่นคงแข็งแรงดี งามกว่าเกวียนในหัวเมืองทั้งปวง ด้วยคนในเมืองนี้พอใจประกวดประชันกัน ซื้อกันเล่มหนี่งเปนราคา ๑๐๐ บาท แต่รันแทะนั้นเมืองจันทบุรีไม่ได้เคยใช้มาแต่เดิม มีรันแทะป่าของเขมรอยู่บ้าง อยู่วันหนึ่งฤๅสองวันแล้วก็ไป ตั้งแต่พระยาจันทบุรีโตคนนี้มาเปนผู้รักษาเมือง ได้คิดทำรันแทะโถงบ้าง มีเก๋งมีประทุนบ้าง ไว้สำหรับใช้ราชการ เทียมด้วยโค หลายสิบรันแทะ แลราษฎรยังไม่มีใครจะใช้ตาม อิฐนั้นพวกไทยทำที่บ้านศีศะซ้อนริมเมืองเก่า ขนาดใหญ่กว่าอิฐที่กรุงเทพฯ แลเนื้อแน่นสนิทคล้ายอิฐที่เมืองจีน แต่ยังไม่เปนสินค้าออก ใช้กันอยู่แต่ในบ้านในเมือง พวกจีนทำกระเบื้องน่าวัวที่นาเชยก็มี แต่ยังสู้กระเบื้องเมืองสงขลาไม่ได้ อนึ่งดินนาเชยนี้เคยส่งเข้าไปใช้ราชการในกรุงเทพฯ คือปั้นบาตรแลทำการอื่นๆ บ้าง.

ว่าด้วยสัตว์ป่า แลสัตว์ของเลี้ยง

ซึ่งเปนกำลังใช้การ แลสัตวน้ำสัตวบกซึ่งเปนอาหาร แลการเล่นสนุกในเมืองจันทบุรี การที่ใช้ไถนาแลนวดเข้าต่างๆ ในกระบวนนานั้นใช้กระบือเปนพื้นเมือง กระบือต่างเมืองที่มาขายนั้นมาทางเมืองนครราชสิมา ลงเมืองปราจิณบุรี แล้วจึงมาขายที่เมืองนี้ โคนั้นก็ใช้บ้างเปนแต่โคต่างแลโคเทียมเกวียน ช้างในเมืองจันทบุรีไม่มีใช้ ใช้อยู่แต่ช้างป่าสีเซน ต่อแดนเมืองเขมรแลเมืองขลุงบรรทุกสินค้าของป่าเข้ามาขายในเมืองจันทบุรีบ้าง ช้างเถื่อนนั้นมีอยู่ในป่าไกลๆ ลางทีก็เข้ามาบ้าง แต่ชาวเมืองนี้ไม่ได้จับกุมมาใช้สอยเลย เขาถือกันว่าที่เมืองเก่านั้นช้างเหยียบไม่ได้ ถ้าเข้ามาแล้วมักจะตาย ม้าก็มีใช้ชุม เปนม้าลูกประสมในพื้นเมืองบ้าง เปนม้ามาแต่เมืองเขมรบ้าง สัตวต่างๆที่กินเนื้อสัตวเปนอาหารนั้น เสือลายพาดกลอน เสือลายตลับ เสือปลา ชมด นางเห็น เสือที่ในเมืองนี้เขาลือกันว่าชุมนัก มีอยู่ทั่วไปทุกแห่ง ที่พลิ้วที่สระบาปก็มีเสือใหญ่อยู่เสมอ พระยาจันทบุรีเขาว่ามันเข้ามาในบ้านบ้าง ในเมืองใหม่ก็เข้ามาบ่อยๆ เที่ยวขบกัดคนแทบทุกปี เมื่อปีกลายนี้ก็เข้ามาในบ้านขึ้นไปกัดคนถึงบนเรือน พระยาจันทบุรีได้ให้พรานออกยิงตามพลิ้ว แลสระบาบได้เปนหลายตัว บางทีก็ทำจั่นดักได้บ้าง ราษฎรชาวเมืองนี้เชื่อถือกลัวเสือสมิงมาก เล่าว่าที่เมืองเขมร มีอาจารย์ทำน้ำมันเสือสมิงได้ ศิษย์ได้ลักน้ำมันนั้นทาตัวเข้า กลายเปนเสือสมิงไปถึง ๓ คน พลัดเข้ามาในแขวงเมืองจันทบุรีตัวหนึ่งเปนเสือดุร้าย เที่ยวขบกัดคนตายที่พลิ้ว ๒ คน ที่ปากจั่น ๑ คน ที่ป่าสีเซ็น ๒ คน รวม ๕ คน อาจารย์เที่ยวตามได้บอกชาวบ้านว่า ศิษย์สามคนลักน้ำมันเสือสมิงทาตัวเข้า กลายเปนเสือไปทั้งสามคน บิดามารดาของศิษย์นั้นเขาจะเอาลูกเขาจึงมาเที่ยวตามหา แล้วสั่งไว้ว่าใครได้พบปะเสือนี้แล้ว ให้เอาไม้คานตี ฤๅมิฉนั้นให้เอากระลาครอบรอยเท้า เสือนั้นก็จะกลับเปนคนได้ แต่วิธีจะแก้นี้ทำได้ก็แต่เมื่อเสือนั้นยังไม่กินคน ถ้ากินคนรังควานทับเสียแล้ว ถึงจะทำวิธีที่บอกก็ไม่กลับเปนได้ เหมือนเมื่อครั้งก่อน เรามาที่สัตหีบครั้งหนึ่ง น้ำจืดในเรือหมดต้องเกณฑ์ให้ทหารขึ้นไปตักน้ำที่หนองบนบก ไกลฝั่งประมาณ ๓๐ เส้น พวกชาวบ้านบอกว่าที่นี่มีเสือสมิงมาเที่ยวอยู่ พระสงฆ์ผู้เปนอาจารย์มาติดตาม เวลากลางคืนแล้วก็ออกไปนั่งอยู่ที่ใต้ต้นตาลริมหนองน้ำนั้น คอยจะแก้ศิษย์ซึ่งเปนเสือสมิงให้กลับเปนคน ในเวลานั้นก็ยังอยู่ พวกทหารพากันกลัว กลับลงมาเล่าที่เรือจนเรารู้ เราอยากจะให้ไปตามตัวลงมาให้เห็นหน้าอาจารย์สักหน่อยหนึ่ง ก็เปนเวลาดึกเสียแล้ว ครั้นเวลาเช้าก็ไปเสียจากสัตหีบ ท่านขรัวอาจารย์นั้นปานนี้เสือมันจะเอาไปกินเสียแล้วฤๅอย่างไรก็ไม่รู้ ที่ว่ามานี้เปนแต่ฝอยตามคำที่ราษฎรเล่าฦๅกัน แต่ที่จริงนั้นเสือเมืองจันทบุรีมีมากนัก ถ้ากรุงเทพฯ ต้องการ ก็ต้องเกณฑ์มาเอาที่นี่ได้ทุกครั้ง เหมือนหนึ่งที่จะต้องการส่งไปเมืองฝรั่งเปนต้น สัตว์ที่กินผลไม้นั้น คือหมีแลลิงค่างบ่างชนี พวกพรานเที่ยวป่าได้พบหมีนั้นว่ามี ๓ อย่าง เปนหมีคนอย่างหนึ่ง หมีเสืออย่างหนึ่ง หมีสุนักข์อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าหมีคนนั้น คือรอยเท้าที่ตีนเดินคล้ายกับรอยเท้าคน หมีเสือนั้นว่าหน้าแลเท้าเหมือนอย่างเสือ หมีสุนักข์นั้นหน้าคล้ายสุนักข์แลเห่าได้คล้ายสุนักข์ พวกพรานได้ยิงเอาหนังเอาดีมาขายอยู่เนืองๆ พวกพรานสังเกตได้ว่า ถ้าจะพบหมีแล้ว ได้ยินเสียงบ่นพีมพำตามเสียงซึ่งสังเกตกันว่าหมี สัตวที่กินหญ้านั้น ช้าง, แรด, โค, กระบือ, สุกรป่า, เนื้อ, กวาง, นางเก้ง, กระต่าย, กระจง ก็มีเหมือนอย่างป่าอื่นๆ แต่กระบวนจับกระต่ายของชาวป่านี้ ไม่เหมือนเมืองอื่นที่จับด้วยข่ายขึง ชาวเมืองจันทบุรีนี้เอาใบไม้มารังเข้าเปนรั้วสูงประมาณศอกหนึ่ง ปักเปนปากชนางคล้ายกับรั้วโป๊ะที่เขาจับปลาในน้ำ ที่ก้นรังใบไม้นั้นไว้ช่องขัดแล้วไว้ เมื่อกระต่ายออกเที่ยวหากินกลางคืน ก็เราะรั้วมาเห็นช่องก็ออกตามช่อง โดนข่ายลิ้นหลุดแล้วก็ลั่นติดฅอแลเอวกระต่ายอยู่จนไปปลด อนึ่งกระจงนั้น ชาวเมืองนี้ถือกันว่าสัตว์โสโครก ถึงจะจับมาได้ก็ไม่กินเปนอาหาร แต่เลี้ยงไว้ดูเล่น แต่พระยาจันทบุรีว่ากระจงนี้ถ้าจะเลี้ยงได้ก็แต่ฤดูแล้งตลอดไปเพียงฤดูฝน ถ้าถึงฤดูฝนได้ยินเสียงฟ้าร้องกระจงนั้นก็ตาย ไม่ข้ามฤดูไปได้ ด้วยพระยาจันทบุรีเองได้ลองเลี้ยงเล่นหลายฝูงแล้ว ก็เห็นเปนเช่นกล่าวมานี้เหมือนๆกันหมด แต่เราเลี้ยงเล่นที่บางกอกก็เห็นอยู่ค้างปีได้ การจับปลาในเมืองนี้ ใช้ลากอวน ๑ ลากเบ็ด ๑ ยกยอ ๑ โพงพาง ๑ เหมือนที่อื่นๆ แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง ที่โพงพางนั้นชาวเมืองนี้เรียกว่าไซมาน เพราะใช้รั้วปักเปนปากชนาง ไว้ช่องข้างใต้น้ำช่องเดียวเฉภาะปากโพงพาง ๆ นั้นก็เหมือนกันกับโพงพางตามธรรมเนียม ปลาทเลที่ได้ชุมในปากอ่าวนี้นั้น คือ ปลาอินทรี ๑ ปลาดาบลาว ๑ ปลากุเรา ๑ ปลาจัลเม็ด ๑ แลปลาอื่นๆ แต่ปลาทูไม่มีมาถึงอ่าวนี้ ปลาจัลเม็ดนั้นตัวโตๆ กว่าในอ่าวปากน้ำเจ้าพระยา.

อนึ่งการจับปูในเมืองนี้นั้น มีแต่พวกญวนเข้ารีตส่วยกฤษณาเปนผู้ทำ แต่วิธีจับนั้นได้ว่าไว้ในเยอแนลเมื่อเราไปเห็น วัน ๑ ๒ ค่ำนั้นแล้ว เยื่อเคยทำที่ชายทเลตั้งแต่แขวงเมืองแกลงไปจนเมืองขลุง วิธีทำนั้นเอาระวะลงไส ระวะนั้นตาถี่อย่างผ้ามุ้ง ปากกว้าง ๔ ศอกบ้าง ๕ ศอกบ้าง ลงเดินไสไปตามชายฝั่ง มีเรือเล็กผูกเอวลากไปด้วยลำหนึ่ง ถ้ากุ้งเคยเข้าในระวะมากแล้วก็สลัดลงในเรือเสียคราวหนึ่ง แล้วก็ไสต่อไปอิกกว่าจะสิ้นเวลา กู้งเคยอย่างนี้เปลือกนิ่ม เปนเยื่อเคยอย่างดีไม่ต้องเหยียบต้องโขลกเคล้าเกลือก็เลอียดไปเอง แล้วเอาขึ้นไว้บนร้าน ร้านนั้นเปนเพิงมีชายคาข้างเดียวมุงด้วยจาก จึงเอาเยื่อเคยขึ้นกองแผ่ผึ่งแดดไว้บนหลังคา น้ำเคยก็ไหลตกลงชายคามีรางรับให้ไหลไปลงที่ แต่ผึ่งไว้บนหลังคานั้นประมาณ ๓ วัน ๔ วัน จึงเก็บเข้าถังเข้ายุ้งไว้ตามได้มากแลน้อย น้ำเคยนั้นเปนอย่างดี ชาวเมืองนี้เรียกว่าน้ำเคยตก ใช้กันทั่วเมือง แต่เยื่อเคยแกงนั้นทำที่อ่าวเปริดริมแหลมหญ้า วิธีทำนั้นลงอวนตาถี่ๆ เพราะกุ้งเยื่อเคยตัวเขื่องขนาดกุ้งฝอยเค็ม แล้วเกลี่ยกุ้งเคยนั้นลงในถังใหญ่ ฤๅสังเวียนทำด้วยใบจาก แล้วโรยเกลือเปนชั้นๆ สลับกับเคยคนละชั้นหมักไว้คืนหนึ่ง แล้วคนที่ทำก็สวมรองเท้าไม้ลงเหยียบย่ำให้เลอียด แล้วขึ้นร้านผึ่งไว้ให้น้ำตก เช่นเยื่อเคยอย่างดีที่ว่ามาแล้ว ปลิงทเลนั้นพวกจีนไหหลำพวกญวนหาตามอ่าวต่างๆ กระบวนที่ทำนั้นมี ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเวลากลางคืนคลื่นเงียบลมสงัด จุดไต้ถือซ่อมเที่ยวแทงในทเล อีกอย่างหนึ่งพวกจีนไหหลำลงดำในทเลเวลากลางวัน อย่างหนึ่งลากด้วยไม้อิทุบ ๆ นั้นทำด้วยไม้มีอวนเปนถุง ผูกเชือก ๔ เส้น มีก้อนศิลาถ่วงศีศะไม่ให้จมถึงดิน ลากไปตามโขดที่เปนดอนในทเลแหลมหญ้า แหลมกระบัง อ่าวระยอง เมื่อลากไปปลิงกระทบไม้อิทุบก็กระเด็นเข้าไปในอวน ลากไปจนสิ้นเขตรโขดแล้ว ก็ยกขึ้นเทลงในเรือเสียคราว ๑ แล้วลากต่อไป การที่ลากปลิงนี้ชอบเมื่อเวลาลมจัด ลากได้ทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้ปลิงมาแล้วผ่าหลังควักไส้ออกแล้วต้มจนสุก ๆ แล้วกลางวันผึ่งแดด กลางคืนย่างไฟ จนแห้งเกราะเปนใช้ได้ เมื่อเรือเราแล่นเฉียดแหลมหญ้าไปวันนั้น ก็ได้แลเห็นเขาลากปลิงอยู่แต่ไกลๆ การจับปลาน้ำจืดนั้นก็ใช้แห ใช้คัดช้อน ตกเบ็ด เหมือนที่อื่นๆ ในเมืองนี้ปลาน้ำจืดไม่สู้บริบูรณ์ การเล่นต่างๆ ลครก็มี เพลง หุ่นจีนหนังจีนก็มี แต่หนังไทยนั้นไม่มี อนึ่งราษฎรที่เกี่ยวเข้าไม่ร้องเพลงเหมือนที่กรุงเก่า เขาใช้ร้องช้าเจ้าหงษ์ แต่ทำนองแลถ้อยคำไม่เหมือนที่เขาร้องช้าเจ้าหงษ์ตามธรรมเนียม อนึ่งในการที่ว่ามาทั้งสามเรื่องนี้สืบสวนเนื้อความได้แน่บ้างไม่แน่บ้าง เพราะเวลาน้อย จะเอาเลอียดไม่ได้ ด้วยเวลากลางวันเราไปเที่ยวเสียเสมอ ได้สืบความแต่เวลากลางคืน อนึ่งลางทีความที่สืบมานั้นไม่ได้เลอียดบ้าง ก็อาไศรยเก๊าเปนคนใช้ของเรามาช้านาน อยู่ด้วยมาแต่เรายังเล็กอยู่ แล้วเราได้ใช้สอยเมื่อโตมาจนถึงบัดนี้ได้ ๑๑ ปี ๑๒ ปี เราเห็นเปนคนเรียบร้อยอยู่เข้าใจการข้างนี้ก็มาก ที่ตำแหน่งพระขลุงว่างอยู่ เราจะยอมให้ออกมาเปนที่พระขลุง

ว่าด้วยเมืองจันทบุรีแต่เดิม แลปัจจุบัน

ในเมืองจันทบุรี เปนเมืองเดิมมีชื่อปรากฎมาช้านานแต่ต้นเรื่องพระราชพงษาวดารซึ่งกล่าวความไว้โดยพิศดาร ตามที่ได้ทราบกันในกรุงเทพฯ อยู่โดยมากในปัจจุบันนี้ คือกำหนดตั้งแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา ในจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศกเปนต้นมา ในเรื่องพระราชพงษาวดารนั้นได้กล่าวถึงประเทศราชซึ่งขึ้นกรุงเทพมหานครว่ามี ๑๖ เมือง เมืองจันทบุรีนี้ก็ได้มีชื่อปรากฎในเมืองประเทศราช ๑๖ เมืองนั้นด้วย ก็แต่กล่าวไว้ว่าเปนเมืองประเทศราชนั้น แต่ก่อนจะมีเจ้าประเทศราชครอบครองอาณาเขตร ส่งดอกไม้ทองเงินขึ้นกรุงเทพฯ เหมือนกันกับประเทศราชทุกวันนี้ฤๅ ฤๅจะเปนแต่พระยาผู้ครองเมืองมีต้นไม้เงินทองเหมือนอย่างทุกวันนี้ก็ไม่ทราบ ด้วยทุกวันนี้เหมือนหนึ่งเมืองนครศรีธรรมราชแลเมืองสงขลาแลเมืองอื่นๆ ซึ่งเปนเมืองใหญ่มาแต่เดิม ก็มีต้นไม้ทองเงินอยู่จนบัดนี้ แต่ไม่ได้ยกว่าเปนเมืองประเทศราช ก็เปนเมืองขึ้นกรุงเทพฯ เหมือนเมืองทั้งปวงตามธรรมเนียม การเปนสองอย่างอยู่ดังนี้ ในพระราชพงษาวดาร ก็ไม่ได้ปรากฎชัดว่าการครอบครองบ้านเมืองนั้นอย่างไร แต่ควรรู้ว่าเมืองจันทบุรีนี้ เปนเมืองตั้งมาแต่โบราณช้านาน ฤๅบางทีจะตั้งมาแต่ก่อนศักราชในพระราชพงษาวดารก็ไม่ทราบ มีปรากฎอยู่ครั้งหนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร เสด็จยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ในจุลศักราช ๗๔๖ ปี ได้เมืองแล้วกวาดครัวลาวลงมา โปรดให้ส่งไปไว้เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองจันทบุรี เมื่อจะมาคิดเทียบดูกับคำซึ่งว่าเปนประเทศราชฤๅไม่เปนนั้น เห็นว่าถ้าเปนปประเทศราชมีเจ้าครอบครองเมืองจริง ก็คงจะไม่ต้อนคนเหล่านี้ไปไว้ ชรอยแต่เดิมเมื่อยังไม่ได้ตั้งกรุงทวาราวดีนั้น พระเจ้าแผ่นดินซึ่งครอบครองราชสมบัติฝ่ายเหนือ มีสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่งอู่ทอง ซึ่งครองกรุงเทพมหานครอยู่ก่อน ๖ ปีเปนที่สุด ฤๅถอยหลังขึ้นไป องค์ใดองค์หนึ่งคงจะได้มาปราบเมืองจันทบุรีอยู่ในอำนาจแล้ว มิได้ยอมให้เปนเจ้าต่อไป แต่เมืองนั้นยังนับติดเปนประเทศราชอยู่ เพราะเพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศ เพราะถือกันแต่ก่อนว่ากรุงพระมหานครใดมีเมืองประเทศราชขึ้นมาก ก็เปนพระเกียรติยศ ผิดกันเปนน่าหลังทีเดียวกับธรรมเนียมฝรั่ง ซึ่งเขานับอำนาจบ้านเมือง ว่าเปนอินดิเปนเดนเปนปรอเตกชันเปนกอลอนีฤๅอะไรๆ อื่นๆ ไม่เหมือนกันหมด ถ้าจะขืนเอาไปเทียบกับธรรมเนียมฝรั่งแล้วคงเลอะไปไม่ถูกหมด เพราะฉนั้นธรรมเนียมเมืองขึ้นของเราจึงเปนที่สงไสยของฝรั่งบ่อยๆ พูดกันว่าอย่างโน้นอย่างนี้ไป เพราะเหตุที่เอาไปเทียบกับธรรมเนียมฝรั่ง เมื่อธรรมเนียมไม่คล้ายคลึงกันเลย จะเอาไปเทียบกันอย่างไรได้ อนึ่งเมืองจันทบุรีนี้ มีชื่อปรากฎในพระราชพงษาวดารหลายแห่ง แต่ไม่เปนการสำคัญจะยกขึ้นพูดในเยอแนลของเรา จะต้องตัดความลงมาถึงแผ่นดินสมเด็จเอกทัศอนุรักษมนตรีราช ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชานับเปนที่ ๔ นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธเปนโทษ ต้องเนรเทศส่งไปณเกาะลังกา แล้วภายหลังพม่ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ฦๅกันว่ากรุงเสียแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธจึงได้โดยสารกำปั่นเข้ามาณเมืองมริด ในขณะนั้นเมืองมริด, ตนาว, ทวายขึ้นกรุงสยาม แต่ที่จริงนั้นกรุงยังไม่เสีย พระเจ้าแผ่นดินจึงให้รับไว้ณเมืองตนาวศรีก่อน ครั้นพม่ามาตีเมืองทวาย เมืองตนาวศรี พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ส่งกรมหมื่นเทพพิพิธมาไว้ณเมืองจันทบุรี ครั้นเมื่อกรุงเสียแล้วขึ้นไปตั้งตัวเปนเจ้าอยู่ณเมืองพิมาย ภายหลังเจ้ากรุงธนบุรีจับตัวได้สำเร็จโทษเสีย แต่เมืองจันทบุรีนี้ ควรจะนับว่าเปนเมืองสำคัญของเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยเมื่อครั้งกรุงเสียแก่พม่านั้น เจ้ากรุงธนบุรียกมาแต่เมืองกำแพงเพชร รบกับพม่ามาโดยลำดับ เดินมาตามชายทเลฝั่งตวันออกนี้ เพราะพม่ามิได้มาย่ำยีหัวเมืองในตวันออกให้ยับเยิน ครั้นจะตั้งตัวขึ้นในแขวงจังหวัดฝ่ายเหนือ ผู้คนก็ยับเยินระส่ำระสาย เสบียงอาหารก็ไม่มีจะกิน พม่าต้อนไปเสียหมด จึงได้ตั้งใจมุ่งหมายจะลงมาตั้งตัวในเมืองแถบตวันออกนี้ แล้วจะได้กลับไปก่อสร้างกรุงศรีอยุทธยาให้คงตามเดิมขึ้นได้ เมื่อยกพลทหารมานั้นมีคนก็น้อย โดยกำลังกล้าหาญสู้รบพม่าได้ไชยชนะตลอดมา ออกทางเมืองนครนายก แล้วมาเมืองปราจิณบุรี ข้ามด่านกบแจะ พม่าติดตตามมาได้สู้รบมีชัยชนะ แต่นั้นม่าก็มิได้ติดตามต่อไปอีก จึงได้ยกมาพักบ้านหัวทองหลางพานทอง บางปลาสร้อย คือ เมืองชลบุรี แล้วไปถึงบ้านนาเกลือแลนาจอมเทียน แล้วไปประทับแรมทุ่งไก่เตี้ย ๑ สัตหีบ หินโด่ง น้ำเก่า ๑ แลเมืองระยอง ๑ ประทับแรมเปนระยะไป ในขณะเมื่อมาถึงระยองนั้น ขุนรามหมื่นซ่องแลผู้อื่นซึ่งเปนกรมการในเมืองระยองคิดประทุษฐร้ายต่อเจ้ากรุงธนบุรี ได้รบกัน เจ้ากรุงธนบุรีมีไชยชำนะ จึงพักอยู่ณเมืองระยองเจ็ดแปดวัน จึงให้นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดแขนอ่อน นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรี ไปเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบุรี พระยาจันทบุรีก็ยินยอมอ่อนน้อม ได้ทำสัตย์สาบาลกัน แล้วว่าจะมารับเสด็จ ครั้นภายหลังกลับแคลงว่าเจ้ากรุงธนบุรีจะคิดร้าย จึงมิได้มา ในเมื่อขณะเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ณเมืองระยองนั้น ยังมิได้ยกไปเมืองจันทบุรี เพราะเหตุที่นายทองอยู่นกเล็กไปตั้งอยู่ณเมืองชลบุรีคอยสกัดตัดทางคนซึ่งจะไปเข้าสวามิภักดิ์ จึงต้องยกไพร่พลมาตีเมืองชลบุรีได้แล้วยกกลับไปอยู่ณเมืองระยอง ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องซึ่งเปนศัตรูของเจ้ากรุงธนบุรีนั้นแตกไปแล้วอาไศรยอยู่ณเมืองจันทบุรี ยุยงพระยาจันทบุรีมิให้อ่อนน้อมต่อเจ้ากรุงธนบุรี จึงแต่งให้พระสงฆ์ ๔ รูป มาล่อลวงเจ้ากรุงธนบุรีไปณเมืองจันทบุรีหมายจะทำร้าย แต่เจ้ากรุงธนบุรีรู้เท่า ก็ยกพลทหาร.ไปตั้งกองทัพอยู่นอกเมือง พระยาจันทบุรีก็ไม่ออกมาเฝ้า กลับให้พระสงฆ์มาเชิญเสด็จเข้าไปในเมือง เจ้ากรุงธนบุรีจึงสั่งไปว่าให้พระยาจันทบุรีส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องออกมา จึงจะสิ้นความมัวหมองต่อกัน พระยาจันทบุรีก็ไม่ส่งตัว เจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ยกเข้าตีเมืองจันทบุรี ในเมื่อเวลาจะยกเข้าไปนั้น ให้พลทหารทุบหม้อเข้าเสียหมด ยกเข้าตีในวันเดียวก็ได้ แล้วตั้งต่อเรือรบเรือไล่ซ่องสุมผู้คนทหารได้มากแล้ว จึงได้ยกเข้ามาตีพม่าที่เมืองธนบุรีแลค่ายโพธิ์สามต้นแตก จึงได้ปราบดาภิเษกเปนเจ้าแผ่นดินณกรุงธนบุรี เมืองจันทบุรีนี้ก็เปนเมืองขึ้นกรุงเทพฯ เรียบร้อยต่อมา มิได้มีเหตุการซึ่งเปนใหญ่ต่อไป ครั้นเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้ขึ้นแล้ว ราชการบ้านเมืองก็เรียบร้อยเปนปรกติ ในจุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมแมสัปตศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ออกมาสร้างเมืองที่ตำบลเนินวงครั้งหนึ่ง ครั้นจุลศักราช ๑๒๑๙ ปีมเสงนพศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประพาศที่เมืองจันทบุรีครั้งหนึ่ง ได้ทรงสร้างพระสถูปไว้ที่ธารน้ำเขาสระบาปองค์หนึ่ง เขตรแดนเมืองจันทบุรีนั้น ทิศบุรพาพรมแดนกับเมืองตราดที่ตำบลบ้านสตอ ทิศอิสานบ้านพืด ทิศอุดรบ้านวังแก้ว พรมแดนกับเมืองพระตะบอง บ้านหางแมวทิศพายัพ พรมแดนเมืองปราจิณบุรี ทิศประจิมบ้านแพ พรมแดนเมืองระยอง ทิศหรดี ทิศทักษิณ ทิศอาคเณย์ ลงทเลทั้งสามด้าน ในเมืองจันทบุรีนี้ มีเมืองขึ้นสองหัวเมือง คือเมืองขลุงเมือง ๑ เมืองแกลงเมือง ๑ ด่านจันทบุรีมี ๖ ด่าน เปนด่านบกสามตำบล ด่านน้ำสามตำบล ด่านบกนั้น ตำบลด่านโป่งแห่งหนึ่ง ด่านช่องแคบตำบลหนึ่ง เปนทางไปเมืองพระตะบองทั้งสองตำบล ด่านหางแมวนั้นเปนทางไปเมืองปราจิณบุรี มีไพร่สำหรับด่าน ๓๐ คน ด่านน้ำสองตำบลนั้น ด่านปากน้ำแหลมสิงห์ตำบล ๑ ด่านแขมหนูมารวมลำน้ำเมืองจันทบุรีตำบล ๑ มีขุนด่านหมื่นด่านไพร่สำหรับรักษา ๔๐ คนเศษ กรมการซึ่งมีตำแหน่งในเมืองจันทบุรี ได้รับสัญญาบัตรบ้างไม่ได้รับสัญญาบัตรบ้าง ที่รับสัญญาบัตรนั้น คือ พระยาวิไชยาธิบดีศรีณรงค์ฤๅไชย อภัยพิริยพาห ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี เดิมชื่อนายโต เปนบุตรพระยาอภัยพิพิธกระต่าย หลานเจ้าพระยามหาเสนาน้อย เดิมมาทำการกับบิดาเมื่อครั้งมาสร้างเมือง แล้วกได้เปนพระพิพิธภักดีนายกองส่วน เมื่อบิดากลับเข้าไปกรุงเทพฯ ก็ตามไปด้วย มาถึงแผ่นดินทูลกระหม่อมท่านทรงใช้สอย เห็นว่าเปนช่าง จึงให้มาทำศิลาในการพระพุทธรัตนสถานที่แหลมแท่นมีความชอบ จึงโปรดให้เปนพระศิลาการวิจารณ์ กับเราก็คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน เพราะได้พบเขาที่ท้องพระโรงเสมอ ครั้นภายหลังที่พระยาจันทบุรีว่าง จึงโปรดให้ออกมาเปนพระยาจันทบุรี แต่เมื่อปี— ลำดับพระจันทบุรีซึ่งเปนมาแต่ก่อนแผ่นดินตากนั้น ที่ ๑ เจ้าขรัวหวาน ราษฎรเลือกกันตั้งขึ้นเมื่อกรุงเสียคน ๑ พระยาจันทบุรีตั้งในแผ่นดินตาก ๒ คน คือ ที่ ๒ นายแก้วเปนพระยาจันทบุรีถึงแก่อนิจกรรมหนึ่ง ที่ ๓ นายซือเปนพระยาจันทบุรี จนถึงแก่อนิจกรรมหนึ่ง พระยาจันทบุรีตั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ๒ คน คือ ที่ ๔ นายสมบุญ เปนพระยาจันทบุรี ต้องถอด ที่ ๕ นายฟักเปนพระยาจันทบุรีต้องถอด ที่ ๖ นายสมบุญที่ต้องถอดนั้นกลับมาเปนพระยาจันทบุรีจนถึงอนิจกรรม พระยาจันทบุรีตั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ๓ คน คือ ที่ ๗ นายสาเปนพระยาจันทบุรีจนถึงแก่อนิจกรรม ที่ ๘ นายกล่อมเปนพระยาจันทบุรี ภายหลังต้องโทษ ที่ ๙ นายเส้งเปนพระยาจันทบุรี ภายหลังเข้าไปเปนพระยาสมบัตยาธิบาลณกรุงเทพฯ พระยาจันทบุรีตั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๕ คน คือ ที่ ๑๐ นายโถเปนพระยาจันทบุรี แล้วเลื่อนไปเปนพระยาสุนทรเสรฐี ที่ ๑๑ พระยาโชฎึกฉิมมาได้เปนพระยาจันทบุรี เลื่อนเปนพระยาสรไกร แล้วภายหลังเปนพระยาพลเทพ ที่ ๑๒ พระยาระยองฉิม เปนพระยาจันทบุรีจนถึงแก่อนิจกรรม ที่ ๑๓ พระยาชลบุรีทองอิน มาเปนพระยาจันทบุรี ภายหลังมีความผิดด้วยปล่อยให้ทูตญวนล่วงเมืองจันทบุรีเข้าไป ต้องกลับไปเปนพระยาชลบุรีตามเดิม ที่ ๑๔ พระนนทบุรีชื่อสองเมือง เปนพระยาจันทบุรี แล้วกลับเข้าไปเปนพระยาอาหารบริรักษ์ณกรุงเทพฯ ภายหลังได้เปนพระยาไกรโกษา พระยาจันทบุรีตั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ คน คือ ที่ ๑๕ หลวงสุนทรชื่อเมือง เปนพระยาจันทบุรี ครั้นชรามากแล้วโปรดให้ไปเปนพระยาอรรคราชนารถภักดีในกรมท่า ที่ ๑๖ พระยาจันทบุรีโต ซึ่งเปนผู้ว่าราชการอยู่ณบัดนี้ ที่ปลัด พระเทพสงครามปลัดชื่อเดิมชื่อแย้ม เปนบุตรพระยาจันทบุรีเมืองซึ่งเข้าไปเปนพระยาอรรคราชนารถภักดีณกรุงเทพฯ เมื่อพระยาอรรคราชยังเปนพระยาจันทบุรีอยู่นั้น นายแย้มเปนผู้ช่วยราชการเรียกว่าผู้ช่วยน้อย เพราะนายสินพี่ชายเปนที่พระกำแหงฤทธิรงค์ผู้ช่วยราชการอยู่ ครั้นพระศิลาการวิจารณ์มาเปนพระยาจันทบุรีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เปนพระเสนาราชภักดียกรบัตร มาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้จึงได้เปนพระปลัด พระเสนาราชภักดีศรีสงครามยกรบัตรเดิมชื่อนายเยื้อง เปนบุตรขุนท่องนทีพันทนายบ้านเมืองจันทบุรี เมื่อพระยาอรรคราชเปนพระยาจันทบุรีนั้น ให้ประทวนตั้งนายเยื้องเปนหลวงพรหมเสนาสัสดี แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแผ่นดินปัตยุบันนี้จึงได้เปนพระยกรบัตร เปนตำแหน่งข้าหลวงกำกับผู้ว่าราชการเมืองกรมการ แลได้เปนพนักงานว่าความจีนกับความต่างประเทศ.

ผู้ช่วยอีกนายหนึ่งไม่มีตำแหน่งราชการ แต่ได้รับราชการเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย นอกนั้นอิกก็เปนกรมการเจ้าเมืองตั้งตามตำแหน่งในเมืองด้วยหนังสือประทวน ตำแหน่งกรมการในเมืองนี้ คือ

มหาดไทย เปนตำแหน่งกำกับรับหางว่าวถือน้ำ แลเกณฑ์ราชการขุนหมื่น มีหลวงมหาดไทยนายหนึ่ง.

พนักงานบันเทาทุกขราษฎร์ สำหรับฟ้องแลรับแจ้งความร้องทุกข์ของราษฎร มีหลวงบันเทาทุกขราษฎร์นายหนึ่ง รองหลวงบันเทาทุกขราษฎร์นายหนึ่ง รวม ๑๒ นาย.

พนักงานปรับสัตย์ความของราษฎร หลวงพรหมสุภาแพ่งนายหนึ่ง ขุนศรีรองแพ่งนายหนึ่ง เปนสองนาย.

พนักงานความนครบาล แลได้บังคับอำเภอทั่วแขวงจังหวัดนั้น หลวงสวัสดิบุรีเมืองนายหนึ่ง ขุนศรีรองเมืองนายหนึ่ง รวมสองนาย.

พนักงานความมรฎก แลทำพลับพลา แลทำเนียบรับข้าหลวง แลรับเสด็จ สำหรับจัดการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา มีตำแหน่งสองคน คือ หลวงรัตนมณเฑียรวังนายหนึ่ง ขุนศรีรองวังนายหนึ่ง.

พนักงานรักษากระสุนดินดำเครื่องอาวุธสำหรับเมือง แลจ่ายของหลวงสำหรับเมือง มีสองนาย คือ หลวงรัตนนครคลังนายหนึ่ง ขุนศรีรองคลังนายหนึ่ง.

พนักงานเรียกหางเข้าค่านาแต่ราษฎร ได้บังคับกำนันทุกตำบล แลเปนผู้จ่ายเข้าฉางหลวงสำหรับเมือง ให้แก่ข้าหลวงไปมาราชการ หลวงไชยเทพนายหนึ่ง รวมสองนาย.

พนักงานทำหางว่าวศักเลข แลเปนผู้เกณฑ์ราชการตัวเลข หลวงพรหมเสนาสัสดีนายหนึ่ง มีพนักงานนั่งศาลสองคน ขุนไชยเสนานายหนึ่ง ขุนพรหมอาญานายหนึ่ง.

ที่ปฤกษาขุนศาล ๓ นาย หลวงมหาวุฒาจารย์นายหนึ่ง หลวงพิจารณานายหนึ่ง หลวงวิจารณ์อักษรนายหนึ่ง.

ขุนศาลชำระความอาญาสองนาย หลวงอินทรอาญาที่ ๑ ขุนอินทรอาญาที่ ๒

พนักงานสำหรับนำดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปกรุงเทพฯ ขุนเทพมาลานายหนึ่ง หมื่นเทพมาลานายหนึ่ง.

ผู้รักษาตราสำหรับผู้ว่าราชการเมือง ขุนอักษรเลขนายหนึ่ง.

ล่ามจีน ขุนพินิจภาษา เสมียนสำหรับศาลเปนผู้ดาษ ๔ คน.

กรมทหารปืนใหญ่ป้อมปากน้ำ พระวิเศษสงครามเปนจางวาง ได้รับสัญญาบัตร นายหนึ่ง กองด่านหลวงพลสงครามจางวาง ว่ากองด่านทุกตำบล ที่สอง ขุนพลสงครามนายหนึ่ง จางวางด่านปากน้ำ ขุนชนะสงครามนายหนึ่ง รวม ๓ นาย.

นายกองคุมเลขส่วยเลขสม

ที่มีสัญญาบัตร แลไม่มีสัญญาบัตร

พระพิพิธภักดี จางวาง กองส่วย ส่วย ๔ อย่าง รง, พริกไทย, หวายพัศเดา, ไม้แดง, เลขส่วย ๑๐๐๐ เศษ

พระวิเศษภักดีจางวาง หลวงสวัสดิภักดีผู้ช่วย กองส่วย ส่วย ๒ อย่าง รง, เสื่อคล้า, เลขส่วย ๒๐๐ เศษ

หลวงภักดีสมบัติ นายกองส่วยพริกไทย เลขส่วย ๓๐ เศษ

หลวงสุนทรบริรักษ์ นายกองเลขสมเลขส่วย เสื่อคล้า ๓๐ เศษ หวายพัศเดา ๕๐ เศษ รวม ๘๐ เศษ.

หลวงอภิบาลศุภผล นายกองคุมเลขส่วย ส่วย ๒ อย่าง กระวาน, รง เลขส่วย ๒๐๐ เศษ.

หลวงนาวาบำรุงผล นายกองส่วยพริกไทย เลขส่วย ๑๐ คนเศษ

หลวงจำนงสมบัติ นายกองส่วยหวายพัศเดา เลขส่วย ๗ คน.

หลวงเทพากร นายกองส่วยพริกไทย เลขส่วย ๔ คน

หลวงส่วยอาศนาขวา หลวงส่วยอาศนาซ้าย นายกองส่วยอาศนา เลขส่วย ๒๐๐ เศษ

หลวงสุนทรภักดี นายกองคุมเลขส่วยรง ๑๒๐ เศษ

หลวงวิเศษสมบัติ นายกองคุมเลขส่วยรง ๓๐ เศษ

หลวงประมวญราชทรัพย์จางวาง นายกองส่วยทองคำ, รง, หวายพัศเดา, เลขส่วย ๓๐๐ เศษ

ขุนศรีชุมพล ขุนสุนทรสัจจา นายกองคุมเลขสม ๘๐ เศษ

ขุนภิบาลจีนประชา นายกองคุมเลขส่วยรง ๔๐ เศษ

ขุนศรีปลัด นายกองคุมเลขสม ๔๐ เศษ

ขุนชนานิกร นายกองคุมเลขสม ๓๐ เศษ

ขุนเจริญสมบัติ นายกองคุมเลขสม ๓๐ เศษ

ขุนศรีรัตนาราม ขุนศรีธรรมการ นายกองคุมเลขโยมสงฆ์ ๖๐ เศษ

ขุนพิทักษ์นที นายกองคุมเลขสมรักษาด่านเกาะเสม็ด เลขสม ๑๐ คน

ขุนโภคาบริบูรณ์ นายกองส่วยรง เลข ๓๐ เศษ

ขุนขจรพิมล นายกองเลขส่วยรง ๑๐ เศษ ส่วยกฤษณา ๒๐ เศษ รวม ๓๐ เศษ.

ขุนวิเศษภักดี นายกองส่วยพริกไทย เลข ๔๐ เศษ.

ขุนบำรุงราชา นายกองส่วยพริกไทย เลข ๑๐ เศษ

ขุนราชรศคนธ์ ขุนพิมลกำจร นายกองเลขส่วยรง ส่วยกฤษณา เลข ๓๐๐ เศษ

ขุนศรีโยธา นายกองส่วยทองคำ เลข ๑๐ เศษ

ขุนรัตนคิรี นายกองส่วยกากกรุน เลข ๑๘ เศษ

ขุนทิพภักดี หมื่นศักดาเรืองเดช นายกองคุมเลขสม ๓๐๐ ส่วยรง ๑๐๐

ขุนจินดาภักดี หมี่นมณีวัฒนา นายกองคุมเลขส่วยรง ๒๐ เศษ

ขุนโภคาบริบูรณ์ นายกองส่วยรง เลข ๓๐ เศษ

ขุนคิรีบรรหาร หมื่นชำนาญคูหา นายกองส่วยทองคำ, ดินประสิว, เสื่อคล้า เลข ๖๐ เศษ

ขุนประกอบไพรสัณฑ์ หมื่นประกันไพรสณฑ์ นายกองส่วยรง เลข ๓๐ เศษ

ขุนเฉลิมราชทรัพย์ หมื่นประดับธนราช นายกองส่วยรง เลข ๒๐ เศษ

หมื่นพนมบริรักษ์ หมื่นพิทักษนาเวศ นายกองส่วยรง เลข ๒๐ เศษ

หมื่นภักดีวิเศษ หมื่นพิชิตจุมพล นายกองส่วยพริกไทย เลข ๑๐ เศษ

หมื่นภักดีพฤกษา นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ

หมื่นพินิจอักร นายกองส่วยรง เลข ๒๐ เศษ

หมื่นภักดีอาสา นายกองส่วยรง เลข ๒๐ เศษ

นายหนู นายกองคุมเลขส่วยไม้แดง ๑๐ เศษ ส่วยรง ๔๐ เศษ รวม ๕๐ เศษ

นายหมี นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ.

นายแฉ่ง นายกองส่วยทองคำ ส่วยกระวาน ส่วยหวายพัศเดา ส่วยรง เลข ๑๐๐ เศษ

รวม ๔๐ กอง เลขโยมสงฆ์ ๖๐ เลขสม ๗๒๐ เลขส่วย ๓๒๑๙ รวม ๓๙๙๙ คน

นายกองคุมเลขส่วยในวังน่า

หลวงวิเศษภักดีจางวาง นายกองส่วยพริกไทย ส่วยหวายพัศเดา เลข ๘๐ เศษ

หลวงเจริญสมบัติ นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๓๐ เศษ

หลวงบวรภักดี นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ

หลวงบุรุษประชาภิรมย์ นายกองส่วยกระวาน เลข ๘๐ เศษ

หลวงบำเหน็จนาเวศคิรี นายกองส่วยเรือมาด เลข ๕๐ เศษ

หลวงวิเศษนาวา นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ

หลวงวิเศษรักษาพล นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ

หลวงนิกรภักดี นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๓๐ เศษ

ขุนประมูลสมบัติ นายกองส่วยพริกไทย เลข ๓๐ เศษ

ขุนภิรมย์รักษา นายกองส่วยพริกไทย เลข ๑๐ เศษ

ขุนชำนาญคิรี นายกองส่วยพริกไทย เลข ๑๐ เศษ

ขุนภักดีจุมพล นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๒๐ เศษ

ขุนชำนาญอาศนา นายกองส่วยอาศนา เลข ๑๐ เศษ

ขุนจิตรสารพล นายกองส่วยอาศนา เลข ๓๐ เศษ

ขุนบำรุงสุธารศ นายกองส่วยถ่าน เลข ๕๐ เศษ

ขุนอาจนาวา ขุนชนาชุมพล นายกองสมกองนอก เลข ๕๐ เศษ

หมื่นบำรุงรักษา นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๑๐ เศษ

หมื่นวิเศษภักดี นายกองส่วยหวายพัศเดา เลข ๑๐ เศษ

รวม ๑๘ กอง เลขส่วย ๔๗๐ เลขสม ๕๐ รวม ๕๒๐ เศษ

เมืองจันทบุรีเลขสมกรมการ ๑๐๐๐ เศษ เลขส่วย ๓๐๐๐ เศษ รวม ๔๐๐๐ เศษ เมืองขลุงบุรีมีสมกรมการ ๒๐ เศษ เมืองแกลงมีกรมการ ๙๐ เศษ รวม ๑๐๐ เศษ รวมทั้งสิ้น ๔๑๑๐ คนเศษ จำนวนคนในเมืองจันทบุรีซึ่งจะว่าต่อไปนี้ เปนแต่ประมาณตามบาญชีสำมโนครัวเก่า จะเอาเปนแน่ไม่ได้เลย เพราะบาญชีสำมโนครัวในเมืองเรานี้ทำยากนัก ต้องเอาแต่พอเปนเค้าไว้ให้พึงรู้ว่าคนคงจะยังมากกว่านี้มาก จำนวนคนซึ่งมีนั้นดังนี้ คนพลเมืองในเมืองจันทบุรีชายหญิง ๓๖๐๐๐ เศษ ในเมืองขลุงบุรีชายหญิง ๖๐๐๐ เศษ ในเมืองแกลงชายหญิง ๗๐๐๐ เศษ รวมทั้งสิ้น ๔๙๐๐๐ เศษ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ