ว่าด้วยละครไทยเล่นเรื่องอิเหนา

มูลเหตุที่ละครไทยเราเล่นเรื่องอิเหนานั้น มีคำเล่าแถลงสืบมาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระราชธิดาด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากุณฑลพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์นี้ มีข้าหลวงเป็นหญิงแขกมลายู เชื้อสายพวกเชลยที่ได้มาแต่เมืองปัตตานี พวกข้าหลวงแขกเล่านิทานเรื่องอิเหนาถวายให้ทรงฟัง เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ชอบพระหฤทัย จึงทรงแต่เรื่องอิเหนาเป็นบทละครขึ้นพระองค์ละเรื่อง (เพราะเหตุที่เรื่องอิเหนาเล่ากันเป็นหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว) เรียกว่า ดาหลังเรื่อง ๑ อิเหนาเรื่อง ๑ แต่เป็นเรื่องอิเหนาด้วยกัน คนจึงมักเรียกว่าอิเหนาใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาเล็กเรื่อง ๑ (เห็นจะหมายความกันในครั้งกรุงเก่า ว่าอิเหนาของพระองค์ใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาของพระองค์เล็กเรื่อง ๑ จะหาได้หมายความอย่างอื่นไม่)

เหตุใดเจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์จึงทรงแต่งเรื่องอิเหนาเป็นบทละคร ไม่แต่งเป็นหนังสือกลอนอ่าน ซึ่งมีในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก ข้อนี้เห็นเป็นเค้าเงื่อนในทางสันนิษฐานอีกอย่าง ๑ เข้าใจว่า คงเป็นเพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศชอบทอดพระเนตรละคร อาจจะเป็นสมัยซึ่งพึ่งแรกมีละครในมาไม่ช้านานนักก็จะเป็นได้ ความข้อนี้มีเนื้อความในจดหมายเหตุทางเมืองพม่าประกอบว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพม่ากับไทยเป็นไมตรีกัน พระเจ้าอังวะให้ราชทูตเข้ามาทูลขอครูช่างหล่อไปจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ให้ราชทูตไปทูลขอครูละครมาแต่เมืองพม่าดังนี้ แต่จะเป็นในรัชกาลไหนหรือเมื่อศักราชเท่าใดหาได้กล่าวไม่ ถึงกระนั้นก็ยุติกับเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้น ไทยกับพม่าเป็นไมตรีกัน พระเจ้าอังวะได้ให้ราชทูตเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ก็ได้โปรดให้พระยายมราชเป็นราชทูตไปตอบแทนถึงเมืองอังวะ คงเป็นในตอนนี้เองที่พม่าว่าได้ครูช่างหล่อไปจากไทย และไทยได้ครูละครมาจากพม่า แต่ครูละครที่ไทยขอมาจากเมืองพม่าครั้งนั้น เห็นจะเอามาสอบสวนหรือให้ฝึกหัดแต่การเล่นบางอย่าง มิใช่เอามาเป็นครูฝึกหัดละครหลวงให้เล่นอย่างละครพม่า เพราะความปรากฏในจดหมายเหตุชั้นหลังต่อมาว่า พระเจ้าอังวะยอมว่าแบบแผนละครไทยดีกว่าละครของพม่า เรื่องราวทั้งปวงชวนให้สันนิษฐานว่า การเล่นละครในเห็นจะฝึกหัดทำนุบำรุงเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ บางทีเจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการควบคุมฝึกซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย คงได้ทรงทราบจากพวกข้าหลวงว่า ละครมายงของแขกที่เมืองมลายู เขามักเล่นเรื่องอิเหนา เพราะเป็นเรื่องที่พวกชวามลายูนับถือกันมาก มีรับสั่งให้ข้าหลวงเล่าเรื่องถวาย เห็นเป็นเรื่องน่าเล่นละคร จึงลองทรงนิพนธ์เป็นบทละครไทยขึ้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทอดพระเนตรเห็นบทละครนั้น ชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ละครในเล่นเรื่องอิเหนาเรื่อง ๑ ทั้งเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่และเรื่องอิเหนาเล็ก

แต่เรื่องอิเหนา ๒ เรื่องนี้เข้าใจว่า คนพากันชอบเรื่องอิเหนาเล็กมากกว่าเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่ มาแต่ครั้งกรุงเก่า ที่เห็นความข้อนี้ เพราะหนังสือต่างๆ แม้แต่งในครั้งกรุงเก่าชอบอ้างแต่เรื่องอิเหนาเล็ก เช่นในหนังสือบุรโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาควัดท่าทราย แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กล่าวถึงละครหลวงเล่นมหรสพสมโภชพระพุทธบาทว่า

ฟายฟ้อนละครใน บริรักษ์จักรี
โรงริมคิรีมี กลลับบ่แลชาย
ล้วนสรรสกรรจ์นาง อรอ่อนลอออาย
ใครยลบ่อยากวาย จิตเพ้อมะเมอฝัน
ร้องเรื่องระเด่นได้ บุษบาตุนาหงัน
พาพักคุหาบรร พตร่วมฤดีโฉม

ดังนี้ ก็เป็นเรื่องอิเหนาเล็ก คำฉันท์เรื่องอิเหนา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งแต่ยังเป็นหลวงสรวิชิตครั้งกรุงธนบุรี เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๒๒ ซึ่งขึ้นว่า

ปางนั้นบรมวงศ์ องค์อสัญแดหวา
อุ้มองค์วนิดา กรตระกองตระการชม

เป็นต้นนั้น ก็ว่าถึงเรื่องอิเหนาเล็ก ตอนอิเหนาลักนางบุษบาเหมือนกัน แม้เพลงยาวและจิตรกรรมรูปวาดเขียนเมื่อชั้นแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ชอบอ้างและเขียนเรื่องอิเหนาเล็ก เป็นต้นว่า พระตำหนักเขียว ที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ ฝาประจันห้องก็เขียนเรื่องอิเหนาเล็ก[๑] เพราะเหตุดังนี้จึงเห็นว่า เรื่องอิเหนาเล็ก เป็นเรื่องที่ยกย่องกันว่าดีกว่าเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าตลอดมา

ผู้อ่านหนังสือนี้ ที่ยังไม่เคยเห็นบทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่าก็เห็นจะมีมากด้วยกัน เพราะฉะนั้น จะคัดบทตอนต้นเรื่องอิเหนา เป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า มาพิมพ์ไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง[๒]

บทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่า

ช้า

๏ มาจะกล่าวบทไป ถึงสุริย์วงศ์เทพไทเรืองศรี
สี่องค์ล้วนทรงธรณี ทุกบุรีตรีชวาไม่เทียมทัน
ท้าวร่วมบิตุเรศมารดา วิทยายิ่งยวดกวดขัน
อันพระเชษฐาผู้ทรงธรรม์ งามล้ำเทวัญนิรมิต
ผิวผ่องอรสุนทราโฉม ประโลมโลกเลิศล้ำละลานจิต
ดังพระนราวงศ์ทรงฤทธิ์ ทุกทิศเกรงเดชกระจายจร
เป็นฉัตรกั้นธรณินปิ่นชวา นามกรพาราบดีศร
ชื่อหยังหยังเอกระทุกนคร อุดารัดฤทธิรอนกุเรปัน[๓]
อันพระอนุชาชัยชาญ วโรฤทธิ์เปรียบปานพระสุริย์ฉัน
ขาวเหลืองเรืองรองละอองจันทร์ วิลาศล้ำเทวัญในโสฬส
พระครองกรุงดาหาธานี เอกระนัคหรีอันปรากฏ
ประกาหวันเลื่องชื่อระบือยศ ทั่วทศทิศไม่เทียมทัน
อันพระราชอนุชาที่สาม เรืองรามพริ้งเพริศเฉิดฉัน
ขาวเขียวแข่งแขพริ้งพรรณ คมสันเลิศโลกลักขณา
พระเป็นจอมจุลจักรในกาหลัง เองหยังหนึ่งหรัดกาหรา
ฤทธิรงค์ทรงเดชฦๅชา ดังพระยาสิงหราชอาจอง
อันพระหริวงศ์องค์สุดนั้น เป็นจอมจันทร์จักรภพสูงส่ง
ผิวพักตร์ผ่องเพริศเลิศทรง อรองค์แน่งน้อยละกลกัน
พระครองกรุงสิงหัดส่าหรี เมาตรีอากง ณ รังสรรค์
ทั้งสี่องค์ทรงทศทางธรรม์ เป็นหลักในเขตขัณฑ์ปัถพี
พระเดชานั้นขจรสยอนเดช พระองค์วงศ์เทเวศร์เรืองศรี
จรัสรุ่งฟุ้งเฟื่องทั้งธาตรี เป็นที่เฉลิมโลกโลกา
อันระตูทุกเมืองซึ่งเรืองฤทธิ์ ก็ให้คิดครั่นคร้ามอยู่หนักหนา
สยบสยองพองเศียรโลมา ด้วยเกรงอานุภาพเป็นพ้นคิด
ระบือถึงไหนก็ย่อท้อ ไม่หาญต้านต่อรอติด
ฤทธิรงค์ดังองค์พระอาทิตย์ เมื่อสถิตในกลางอัมพร
บ้างน้อมเกศถวายบรรณาการ ช่อสุวรรณปทุมมาลย์สลับสลอน
พระเกียรติฟุ้งเฟื่องเรืองขจร ทั้งสี่พระนครเสมอกัน

ฯ ๒๘ คำ ฯ

ยานี

๏ อันแว่นแคว้นแดนขัณฑเสมา สนุกดังเมืองฟ้าสรวงสวรรค์
อันปรางค์ปราสาททั้งสี่นั้น ล้วนสุวรรณมณีจินดา
ทั้งหางหงส์ช่อฟ้าปราลี เลิศล้วนมณีมีค่า
มรฑปเก้ายอดโอฬาร์ มีเทวาถือฉัตรประนมเรียง
อันเทพอัปสรกินริน ดีดพิณมณีประโคมเสียง
ไพเราะครื้นครั่นสนั่นเวียง เพียงนางบำเรอสหัสนัยน์
มีปรางค์ปราสาทน้อยรายรอบ ประกอบกาบสุรกาญจน์ไม่นับได้
กระหนกกระหนาบคาบคั่นเป็นชั้นไป อำไพเลิศโลกละลานตา
เพดานในไว้เดือนระยับย้อย ระย้าห้อยเพชรดีมีค่า
ตรีมุขสิงหาสน์ดาษดา ด้วยมหาเนาวรัตน์อันยิ่งยง
หน้าบันบรรเจิดเลิศนัก เฉลฉลักวิจิตรพิศวง
สุบรรณยุดนาคินทร์บรรจง หางหงส์ระยับเพียงพรรณราย
แสงแก้วประกอบกาญจน์กุดั่นดวง วิเชียรช่วงประดับเลิศเฉิดฉาย
มีพรหมสี่หน้าเรียงราย ถือปทุมถวายบังคมคัล
อันแท่นรองปราสาทกระหนกห้อย ระยับพลอยมรกตสดสีสัน
มีสิงห์อัดหยัดหย่องเรียงรัน ทั้งเก้าชั้นวิไลยรรยง
แวววับจับดวงพระสุริย์ศรี เป็นที่อาลัยใหลหลง
มุขเด็จเจ็ดชั้นบรรจง เหมหงส์ทรงมันเป็นหลั่นมา
พรหมพักตร์สิงหาสน์อาสน์โถง ท้องพระโรงแปดด้านทิศา
พระฉายใหญ่ตั้งมั่นเป็นชั้นมา อัจกลับโมรารายเวียน
ม่านทองกรองดวงแมงทับพราย เป็นนารายณ์ทรงสุบรรณนาคสามเศียร
จงกลพู่กลิ่นดูแนบเนียน สุจหนี่ปูเลี่ยนละลานตา
อันวิสูตรรูดวงบนแท่นแก้ว ยี่ภู่แผ้วหอมตลบด้วยบุหงา
พฤกษาดัดล้วนสุวรรณอลงการ์ ฤดูดอกจินดาวิลาวัณย์
ครั้นวายุพัดระบัดต้อง เสนาะก้องบรรเลงเพลงสวรรค์
พระลานรื่นวิเชียรเรียบสลับกัน เกยแก้วเกยสุวรรณเรืองราม
พระคลังทองสิบสองหลั่นตั้งซ้ายขวา ทิมดาบมุกดาแปดด้าน
ที่นั่งเย็นล้วนแก้วเก้าประการ เรือนสนมพนักงานดาษดา
อันวิมานปรเมศร์สุราฤทธิ์ ก็สถิตทั้งแปดทิศา
ทั้งโรงม้าโรงรถคชา อลงกตรจนาเป็นพ้นคิด
หางหงส์ช่อฟ้าปราลี ช้างแก้วมณีไพจิตร
สินธพชาติอาจองทรงฤทธิ์ สำหรับองค์จักรกฤษณ์อันเชี่ยวชาญ
รถแก้วบัลลังก์เป็นชั้นเชิด ประกอบเกิดนิรมิตทุกทิศาน
ทั้งโรงนาเวศอันโอฬาร รโหฐานระยับจับตา
โรงเครื่องโรงแสงไพจิตร เพ่งพิศเรียงรันทั้งซ้ายขวา
ที่นั่งโถงโรงสุวรรณอลังการ์ ศาลาใหญ่ดาษพู่ดูงาม
อันที่นั่งทรงปืนทั้งซ้ายขวา เป็นสง่าเอกเอี่ยมเหี้ยมหาญ
เกยสรงมุรธาภิเษกชาญ โรงอาลักษณ์เรียงขนานเป็นหลั่นมา
อันที่พราหมณ์ชีอันวิเศษ ได้สวดพุทธเวทคาถา
เขนยทองเรียงรันเป็นชั้นมา สำหรับองค์พระมหามุนี
อันตึกโหราพฤฒามาตย์ ราชครูเรียงรันกันตามที่
ที่นั่งลอยพรอยเพริศรูจี สำหรับที่โปรยสุวรรณทำทาน
หอกลองแก้วเจ็ดสีมณีวรรณ เป็นหลั่นเรียงอยู่กลางราชฐาน
เรือรบรายรอบประจำงาน จะคอยราญไพรีให้วายชนม์
ทุกด้านเตรียมการรายเรียง ให้พร้อมเพรียงตรวจจัดไว้สับสน
บัวสุวรรณบัวแก้วเป็นวังวน เครื่องต้นเกิดกับสำหรับเมือง
อันต้นกัลปพฤกษ์ทั้งแปดทิศ ก็เป็นสิทธิ์ระบือฦๅเลื่อง
อร่ามรายพรายพุ่งรุ่งเรือง ทั้งสี่เมืองวิไลละลานตา
อันโรงเล่นการมหรสพ ก็ถ้วนครบทุกสิ่งล้วนเลขา
สุราฤทธิ์บรรจงอลงการ์ รจนาเลิศโลกวิไลวรรณ
อันกรุงกุเรปันนคเรศ ภายนอกพระนิเวศน์เขตขัณฑ์
มีภูผาชื่อว่าหะรีกัน ที่นั้นเรืองรามอร่ามตา
อันพรรณพฤกษาผลาผล เหลือล้นบรรจงไว้หนักหนา
ทรายเขียวมรกตรจนา พร้อมพรรณปักษาเคล้าเคียง
เป็นที่สถานเทเวศร์ โนเรศร่อนร้องถวายเสียง
ทั้งสระแก้วปทุเมศรายเรียง เพียงโบกขรณีในเมืองอินทร์
มีทั้งอาศรมพระนักพรต ก็ปรากฏอยู่ในไพรสิน
น้ำพุดุดั้นสนั่นดิน กระแสสินธุ์ดังจะวิ่งเข้าชิงดวง
ล้วนแล้วด้วยแก้วเก้าประการ โอฬารประเสริฐเชิดช่วง
แสนสำราญระรื่นชื่นทรวง หอมพวงบุหงาทั้งไพรวัน

ฯ ๖๐ คำฯ

นกร่อน

๏ อันกุหนุงพระนครดาหา ชื่อวิลิศมาหราเฉิดฉัน
ระยับสีมณีแนมแกมสุวรรณ อยู่นอกเขตขัณฑ์ธานี
อันกรุงกาหลังภพไกร มีกุหนุงอำไพใสศรี
ชมพูนุทสุดประเสริฐเลิศโลกีย์ ชื่อจะมาเลงคิรีเลิศลบ
อันกรุงสิงหัดส่าหรีนั้น ชื่อกุหนุงตุหวันขจรจบ
ดังเงินยวงขาวผ่องเป็นหลักภพ ปรากฏครบทั้งสี่ธานี

ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย

๏ สนามชัยทรายทองในพารา แลลิ่วสุดตาไม่สุดที่
ราบรื่นดังหน้าเภรี เป็นที่ประลองศิลปสาตรา
ประลองรถคชสารชาญชัย ประลองอาชาไนยแกล้วกล้า
ประลองทวยหาญโยธา ซ้อมหัดอัตราให้ชำนาญ
อันฝูงทหารชาญชัย ไม่มีผู้ใดจะต่อต้าน
เข้าไหนไม่มีใครต้านทาน ลือสะเทื้อนสะท้านทุกพารา

ฯ ๖ คำ ฯ

ชมตลาด

๏ อันถนนหนทางตะพานพาด ล้วนดาดด้วยเงินยวงเลขา
ตึกร้านรวดริมรัถยา ศิลาทองเล็งแลงประดับปน
จักรวรรดิลิ่วลอยพระเวหา รจนาด้วยสุวรรณไม่หมองหม่น
ป้อมปืนยืนเยี่ยมอยู่กลางชล ล้วนถกลโคมเพชรอลงการ์
อันตึกดินรางแลงศิลาสลับ ระยาบยับสอดสีล้วนมีค่า
พรายเพริศเลิศทรงอลงการ์ ด้วยมหาเนาวรัตน์อัมพน
อันลูกค้าวาณิชทุกภาษา มาพึ่งขัณฑเสมาทุกแห่งหน
คับคั่งทั้งภูมิมณฑล ประชาชนชื่นบานสำราญใจ
บ้างเล่นฆ้องกลองลองเพลงรบ เจนจบครบการทหารใหญ่
ล้วนชำนิชำนาญการชิงชัย ตกแต่งเอาใจไม่เว้นคน
บ้างเล่นยอเง็ดและฟ้อนขับ แซ่ศัพท์พาทย์พิณทุกแห่งหน
บ้างเล่นสับประและไก่ชน ครั้นเวลาเข้าสนธยา
ดาหลังวายังแล้วชูเชิด ฉลุฉลักลายเลิศเลขา
บ้างจับโต้ตอบกันไปมา บ้างเล่นเสภามโหรี
ฝูงหญิงบรรจงเกศเกล้า ผัดผ่องพักตร์เผ้าสดศรี
นุ่งจวนชวาตานี ใส่เสื้อสอดสีจับตา
ห่มสไบบางสีต่างกัน น้ำหอมปลอมคันธบุหงา
อวลอบตลบอยู่อัตรา ทั้งรูปโฉมโสภาไม่เว้นคน
ออกเที่ยวดูงานสำราญใจ เนืองแน่นกันในแถวถนน
เป็นเหล่าเหล่าล้วนสุมทุมคน เบียดเสียดสับสนกันไปมา

ฯ ๒๐ คำ ฯ

ร่าย

๏ ฝูงชายชายตาเมียงม่าย เดินชายแวดเวียนเคียงหา
บ้างล้อเลี้ยวเกี้ยวกล่าวเจรจา บ้างเลียมลอดสอดคว้าวุ่นวาย
บ้ายดีดนิ้วผิวปากไปตามเพลง ล้วนทรงนักเลงฉุยฉาย
บ้างกุมกริชพาดนาดกราย จับชายบรรจงจรลี
ทัดอุบะทุกพรรณบุหงา ถือเช็ดหน้าบางต่างสี
อุหรับจับกลิ่นน้ำมันดี บุหรี่กลิ่นฟุ้งจรุงใจ
กลิ่นร่ำกลิ่นอบตลบกัน กลิ่นคันธรสมาเติมใส่
ทั้งกลิ่นบุหงารำไป อบอวลยวนใจนิจกาล
ทุกข์โศกโรคภัยไม่ใกล้กราย หญิงชายมีแต่เกษมศานต์
ทั้งรูปทรงส่งศรีสคราญ สมบัติพัสถานก็ครามครัน
อันทั้งสี่เมืองเรืองเดช ด้วยอสัญเทเวศร์มาสร้างสรรค์
แล้วพระองค์ก็ทรงทศธรรม์ จึงปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ทั้งกรุงไกร
อันองค์อสัญแดหวา ตามจารีตก่อนมาไม่เสียได้
มเหสีห้าองค์เป็นหลั่นไป ตั้งได้แต่สี่พารา

ฯ ๑๔ คำ ฯ

ถ้าผู้อ่านสังเกตบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ข้างตอนต้นจะเห็นได้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์เทียบความตามบทครั้งกรุงเก่าซึ่งเอามาพิมพ์ไว้นี้

เรื่องอิเหนา เดิมคงเล่นแต่ละครหลวง เห็นจะพระราชทานอนุญาตให้ละครผู้อื่นเล่นได้ต่อในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามการที่ปรากฏมา ถ้าเป็นงานใหญ่ข้างฝ่ายการมงคลแล้ว ละครหลวงมักเล่นเรื่องอิเหนา ดังพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นอุทาหรณ์ในบทละครเรื่องสังข์ทอง ตรงท้าวสามนต์กลับเข้าเมือง เมื่อพระสังข์ตีคลีชนะพระอินทร์ ว่า:

ขึ้นบทพระโรงคัลไม่ทันนั่ง ตรัสสั่งเสนาผู้ใหญ่
ลูกเขยกูตีคลีมีชัย จะเสกให้ครองกรุงในพรุ่งนี้
จงช่วยกันเร่งรัดจัดแจง ตกแต่งตั้งการภิเษกศรี
แห่แหนให้สนุกกว่าทุกที แล้วจะมีอิเหนาสักเก้าวัน
ไปปรึกษาครูละครมันก่อนเหวย ใครเคยรำดีทีขยัน
อิเหนาเรื่องมิสาอุณากรรณ จะประชันดาหลังเมื่อครั้งครวญ

ดังนี้ ในพระราชนิพนธ์ทรงอ้างถึงแบบเก่า ครั้งละครหลวงยังเล่นทั้งเรื่องอิเหนาและเรื่องดาหลัง แต่ละครหลวงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ หาปรากฏว่าเล่นเรื่องดาหลังไม่ ถ้าเล่นก็เห็นจะเป็นแต่ในรัชกาลที่ ๑ พ้นนั้นมา ปรากฏว่า เล่นแต่อิเหนาเล็กเรื่องเดียว เรื่องดาหลังจึงกลายไปเป็นแต่เรื่องสำหรับละครข้างนอกเล่น หานับเป็นเรื่องของละครในเหมือนอย่างเรื่องอิเหนาเล็กไม่

[๑] พระตำหนักเขียวที่ว่านี้ ย้ายไปปลูกไว้ในวัดอมรินทราราม เดี๋ยวนี้ยังใช้เป็นโรงเรียน ฝาที่เขียนเรื่องอิเหนายังอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕

[๒] บทละครเรื่องอิเหนาความนี้ หอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช เดิมสำคัญว่าเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ครั้นพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ทรงพระราชดำริว่าทั้งทางสำนวนและความทีพรรณนา ว่าด้วยแผนที่รั้ววังบ้านเมือง เป็นโวหารครั้งกรุงเก่า ได้ทรงชี้แจงไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์

[๓] ควรสังเกตว่า บทละครอิเหนาใช้ศัพท์ชวาปันกับภาษาไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ