ความเห็นของข้าพเจ้าเอง

ในเรื่องเมืองลังกาที่ได้เกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี้ พิเคราะห์เห็นว่าจะเปนเวลาแผ่นดินของพระมหาปิฎกธร ซึ่งรับพระนามภายหลังว่า พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ มีเกี่ยวข้องกับเมืองลังกาเปนอันมาก เมื่อเทียบดูศักราชก็พลาดกันไปเล็กน้อย ในหนังสือราชาธิราช ลงจุลศักราชไว้ว่า เมื่อมหาปิฎกธรถวัลยราชจุลศักราช ๙๔๙ ปี เปนภายหลังพระเจ้าลังกาส่งนางที่อ้างว่าเปนราชธิดามานั้น ๒๑ ปี ถ้าจะเชื่อว่าศักราชในหนังสือราชาธิราชแน่ เวลานั้นก็คงจะเปนเวลาที่ว่างไม่มีเจ้าแผ่นดิน เพราะเวลานั้นเจ้าแผ่นดินหงสาวดีเปนสตรี ตกขึ้นไปอยู่กรุงอังวะถึง ๒๒ ปี เห็นว่าไม่ควรที่จะเชื่อถือศักราชในหนังสือราชาธิราช ด้วยลงเลอะเทอะ ควรจะสอบได้ว่า ไม่แน่หลายแห่ง ถ้าตกลงใจว่าเหตุการณ์อันกล่าวแล้วข้างต้นได้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์แล้ว ก็มีเรื่องราวที่พึ่งจะสอบกันได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ดูเหมือนจะดำรงราชย์ล่วงไปไม่ช้านัก คงจะเปนเพราะเหตุที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกมาก เห็นหนังสือต่าง ๆ ซึ่งชาวลังกาแต่ง พรรณาเรื่องราวเมืองลังกาวิเศษต่าง ๆ มีมหาวงศ์ แลทีปวงศ์เปนต้น จึงได้แต่งให้พระสงฆ์แลช่าง มีพระพุทธโฆษาจารย์เปนประธาน ไปถ่ายอย่างปราสาทแลพระพุทธบาทวิหารต่าง ๆ แต่หาปรากฎว่าได้ไปปีใดชัดเจนไม่ แลเหมือนกันกับเมืองเรา ที่ไม่ได้รู้ชัดเจนมาแต่ก่อนว่า ราชวงศ์เมืองลังกา ภายหลังที่กล่าวแล้วในหนังสือมหาวงศ์นั้นเปนอย่างไร รู้แต่ว่าเจ้าแผ่นดินยังมีอยู่ ฝรั่งมีอำนาจเกี่ยวข้องในบ้านเมือง แต่จะมีอาการเกี่ยวข้องกันอย่างใดก็ไม่ทราบความชัด ด้วยเหตุหลายประการ เพราะระยะทางไกลไปมายาก เพราะไม่รู้ภาษา เพราะไม่พอใจไต่ถาม ด้วยความปราถนาที่จะเกี่ยวข้องกับลังกา ย่อมมีความประสงค์อย่างเดียวแต่ที่จะสืบข่าวคราวพระพุทธสาสนา ค้นหาหนังสือซึ่งยังไม่มีบริบูรณ์มาเปนเครื่องเทียบทานหนังสือที่มีอยู่ จดหมายเหตุแห่งผู้ไปลังกา ย่อมเดินตามแนวหนังสือมหาวงศ์อันกล่าวล้วนแล้วแต่ด้วยเรื่องสาสนา ในจดหมายเหตุทั้งหลายที่เราได้เห็นย่อมกล่าวถึงเรื่องสากัจฉา คือโต้ตอบกันในเรื่องทางธรรมบ้าง ทางวินัยบ้าง เปนการอวดความรู้ภาษามคธหรือบาลี ซึ่งเปนภาษาตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย อวดความรู้ที่ได้อ่านหนังสือมาก โดยแก้ปัญหาขัดข้องต่าง ๆ ให้ต้องตามธรรมวินัย ถ้าจะเปนการสนทนาเล่าบอกกันก็เปนแต่สาสนปวัติ ความเปนไปของพระสาสนาที่เปนอยู่ในเมืองแห่งตนแลตน ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยความมุ่งหมายในทางราชการหรือทางค้าขายเลยทีเดียว ข้าพเจ้าได้พบผู้มีชื่อเสียงซึ่งได้ออกไปเมืองลังกา เช่นพระยาสุธรรมไมตรี (ห้อง) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) แลผู้น้อยอื่น ๆ อีก ได้ฟังเล่าบอกเรื่องราวก็ไม่มีอย่างอื่น นอกจากเรื่องสาสนา ถ้าเราจะถามถึงการบ้านเมืองอย่างใด ก็เล่าได้แต่เพียงการอยู่การกินแลการเดิรทาง ในทางราชการหรือการค้าขายแล้ว ไม่สามารถจะบอกอันใดได้เลย ข้าพเจ้าจึงสันนิฐานว่า เวลาที่มอญคบกับลังกาในตอนนี้คงไม่ผิดอันใดกับเรานัก

ทูตรามัญออกไปลังกาคราวแรกตามที่ได้กล่าวมานี้ ถ้าคิดระยะดู ก็ต้องเปนเวลาที่ย้ายจากเมืองอนุราธมาแล้ว ข้อที่ไปถ่ายอย่างต่าง ๆ เช่นที่กล่าวไว้นั้นเปนที่น่าสงสัยเปนอันมาก เพราะในที่อื่น ๆ นอกจากอนุราธปุระแล้ว หายากที่จะมีสิ่งใดในเมืองลังกาอันควรจะถ่ายอย่าง

ต่อมามีในจดหมายเหตุพงศาวดารรามัญนั้นว่า พระเจ้าหงสาวดีได้รับพระราชสาส์นจากพระนครต่าง ๆ ถามเชื้อวงศ์ เพื่อจะส่งธิดาไปถวาย พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นตอบ อุปมายกพระพุทธวงศ์ขึ้นเปนข้อเปรียบ ไม่แจ้งวงศ์ของพระองค์ แต่ตามหนังสือนั้นกล่าวว่า บันดาเมืองทั้งปวงพอใจในสำนวนหนังสือของพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าเชียงใหม่เปนคนแรกที่ได้ส่งธิดาไปถวาย ตามข้อความนั้น เหมือนหนึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ก็ดี ธิดาก็ดี เชื่อว่าพระเจ้าหงสาวดีองค์นี้จะได้เปนพระพุทธเจ้า อยากจะใคร่เปนพ่อตาแลเปนเมียพระพุทธเจ้า เมืองอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงก็ได้ส่งราชสาส์นไปถามปัญหาตอบแก้ปัญหา ส่งเครื่องบรรณาการกันทุกเมือง

การซึ่งเกี่ยวกับเมืองลังกาที่กล่าวอีก ก็เรื่องถามปฤศนา นัยว่าเปนพระเจ้ากรุงลังกาแต่งเรือสำเภาส่งมาให้ถามปฤศนา นับว่าเปนครั้งที่ ๒ ที่เรือลังกาได้มาถึงเมืองหงสาวดี ครั้งแรกนั้นคือมาแต่ครั้งพระยาอู่เจ้าช้างเผือก เพราะเหตุที่เกียรติยศอันได้รับทูตลังกานี้มีช้านานครั้งหนึ่งดังนี้ จึงเปนที่ยินดีของพระเจ้าหงสาวดียิ่งนัก จัดการต้อนรับยิ่งกว่ารับทูตประเทศอื่น แต่ไม่ได้กล่าวถึงนางราชธิดา แลพระทันตธาตุที่ได้รับ ที่สุดจนทูตชั้นหลังที่มาจากเมืองแกนดี ก็ไม่ได้กล่าวถึง ชะรอยจะเปนด้วยเรื่องกระดากใจ เพราะมีเหตุปรากฎกลับกลายไป เปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เพราะจดหมายเหตุในเมืองพม่ารามัญเหล่านี้ จะเอาเปนแน่แท้อย่างไรไม่ได้ ถ้าสิ่งใดที่เปนการเสียแล้วก็ไม่จดหรือแก้เสียอย่างอื่น เช่นเมื่ออังกฤษมาตีเมืองพม่าคราวแรกเขาจดหมายว่า อังกฤษมาตีปล้นพระนคร พวกทหารออกสู้รบก็ไม่ได้ไชยชนะ เจ้าแผ่นดินแผลงธนูลูกทองคำออกไป ข้าศึกจึงได้ปลาศนาการไปทั้งสิ้น

ในตอนซึ่งว่าเกี่ยวข้องด้วยเมืองจีน ก็ได้มีในหนังสือพงศาวดารรามัญ ที่แปลเปนภาษาเราหลายตอน แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะมิใช่ตอนมหาปิฎกธรนี้ คงจะเปนตอนพระเจ้าราชาธิราช มีความเสียดายที่มิได้มีฉบับอังกฤษมาซึ่งมีศักราชแน่นอนกว่า แลเปนเรื่องพงศาวดารแท้ เก็บรวมทั้งพงศาวดารมอญแลพม่าอาสัม เรื่องราชาธิราชแปลเปนไทยนี้ ตรงกับชื่อที่เรียก คือ ต้องการจะกล่าวถึงพระเจ้าราชาธิราชองค์เดียว คือเนื้อความก็พระเจ้าราชาธิราชเปนนายโรงแห่งเรื่องหนังสือนี้ ที่กล่าวถึงผู้อื่นเปนแต่เรื่องประกอบเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ตามอาการกิริยาข้างพระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์แล้ว เปนผู้สมควรที่จะต้องถูกลังกาหลอกเช่นนั้นแท้ทีเดียว

ข้อความทั้งนี้ เก็บมาจากหนังสือราชาธิราชตั้งแต่หน้า ๔๙๔ ถึงหน้า ๕๔๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ