จากสยามสมัย พ.ศ. ๒๔๙๔

เมื่อสามสี่ปีมาแล้ว เพื่อนสองคนเกิดปวดหัวพร้อมกันเลยเผลอไปสัญญากันไว้ว่า จะเขียนเรื่องด้วยข้อเท็จจริงที่เชื่อถือกันอยู่คนละครึ่ง คนแรกจึงเขียน เราลิขิต ขึ้นมาและเสนอต่อประชาชนไปแล้วในประชามิตรรายสัปดาห์ พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่เพราะคนหลังจะเขียนเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งในนามเรื่อง หลุมศพวาสิฏฐี เรื่อง เราลิขิต จึงจบลงอย่างกระชาก และทิ้งปัญหาสำคัญค้างไว้หลายข้อจนถูกตำหนิอย่างรุนแรง ร้อนถึง อแลดดิน ผู้เป็นบรรณาธิการต้องแถลงการณ์แก้ตัวต่อผู้อ่าน

แต่สี่ปีล่วงไปแล้ว เรื่อง หลุมศพวาสิฏฐี ของ “อิงอร” ก็ไม่ปรากฏออกมา แม้ผู้จะเขียน ก็เขียนเรื่องอื่น ๆ ออกเสมอ ทั้งบทละครอันประสพผลสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน ในที่สุดเพราะเสียดายข้อเท็จจริงของเรื่อง เพราะความสำนึกบางประการกับความจำเป็นอย่างอื่นอีกบ้าง ผู้เขียน เราลิขิต จึงขอข้อเท็จจริงที่ไม่ตาย แต่ถูกละเลยแล้วนั้นขึ้นมาเขียนต่อ แต่วิสัยชายมักชอบลืมและหวงของเก่าก็ได้อีกเมื่อ “อิงอร” ทิ้งสิทธิการเขียนข้อเท็จจริงของเขาแล้ว ก็ยังต้องการให้ปรากฏ ‘ชื่อเรื่อง’ นั้นต่อไปในการเขียนของหญิงหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความตั้งใจอันเข้มแข็งครั้งนั้น ฉะนั้น เราลิขิต ภาคจบจึงต้องเขียนเป็น บนหลุมศพวาสิฏฐี

ปรากฏว่าก่อนพุทธกาลหรือต้นพุทธกาลก็ดี หญิงได้ยึดถือความรักเป็นพรหมลิขิตของตน และต้องฉุดชีวิตตนลงไปสู่ความทุกข์ระทมที่เหมือนกับหลุมฝังศพอันมืดมัวมากแล้ว

เดี๋ยวนี้เป็นกึ่งพุทธกาล ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นกลียุคยิ่งขึ้น เรามีอดีต เราอยู่ในปัจจุบัน เราอาจจะมีหรือไม่มีอะไรเลยในอนาคตของเรา นอกจาก ‘กรรม’ ของเราเอง ซึ่งบังคับบัญชาอยู่เหนือสิ่งซึ่งกำลังมีกำลังเป็นอยู่ตลอดจนโชคชะตาสุดท้ายและอนาคตของมนุษย์

ถึงกระนั้น หญิงก็ยังยึดถือ ‘ความรัก’ เป็นสิ่งบังคับบัญชา ชีวิตผู้ใหญ่ยิ่งอยู่เสมอ หญิงจึงมักจะเขียนโชคชะตาตัวเองบนหลุมศพอันมืดมัวเหมือนเก่า

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ