กระบวนศึกตอนที่ ๑

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์ ในชั้นต้นทรงจัดวางการที่จะให้กองทัพหลวงติดต่อกับกองทัพเจ้าพระยาจักรีแลเจ้าพระยาสุรสีห์ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพิศณุโลก มีรับสั่งให้พระยาราชาเศรษฐีคุมกองทัพจีนจำนวนพล ๓,๐๐๐ ตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยระวังทางลำเลียงแลระวังข้าศึกซึ่งจะยกลงมาทางลำน้ำพิง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นทางลำน้ำแควใหญ่ ไปถึงปากพิงแขวงเมืองพิศณุโลก เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ปากพิงนั้น ด้วยเปนปากคลองลัดทางเรือไปมาในระหว่างลำน้ำแควใหญ่ที่ตั้งเมืองพิศณุโลกกับลำน้ำยมที่ตั้งเมืองศุโขไทย อยู่ใต้เมืองพิศณุโลกลงมาระยะทางพอวัน ๑ แล้วตรัสสั่งให้ข้าราชการที่เปนแม่ทัพนายกองคุมพลไปตั้งค่ายทั้ง ๒ ฟากลำน้ำ เปนระยะขึ้นไปแต่กองทัพหลวงจนถึงเมืองพิศณุโลก.

ระยะที่ ๑ ตั้งที่บางทราย พระยาราชสุภาวดีเปนนายทัพ.

ระยะที่ ๒ ตั้งที่ท่าโรง เจ้าพระยาอินทรอภัยเปนนายทัพ.

ระยะที่ ๓ ตั้งที่บ้านกระดาษ พระยาราชภักดีเปนนายทัพ.

ระยะที่ ๔ ตั้งที่วัดจุฬามณี จมื่นเสมอใจราชเปนนายทัพ.

ระยะที่ ๕ ตั้งที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิศณุโลก พระยานครสวรรค์เปนนายทัพ.

ให้จัดกองตระเวนออกตรวจตรารักษาทางไปมาถึงกันทุกระยะ แลให้มีกองปืนใหญ่ทหารเกณฑ์หัดเตรียมไว้เปนกองกลาง สำหรับจะให้ไปช่วยที่ค่ายไหน ๆ ได้ในเวลาต้องการทันท่วงที แล้วให้พระศรีไกรลาศคุมพล ๕๐๐ ทำทางริมลำน้ำสำหรับเดินกองทัพแต่ปากพิงผ่านไปตามค่ายที่ตั้งอยู่ ตลอดถึงเมืองพิศณุโลก.

พิเคราะห์ดูกำลังทั้ง ๒ ฝ่ายที่ตั้งกองทัพประทะกันอยู่ในเวลานี้ พม่าเห็นจะมีจำนวนพลมากกว่าไทยราวสามต่อสอง คือ ๓๐,๐๐๐ ต่อ ๒๐,๐๐๐ แต่ไทยมีปืนใหญ่มากกว่าพม่า ทั้งมีเรือรบแลได้ทางไปมาทางลำแม่น้ำไว้ ด้วยเหตุนี้พม่าจึงไม่กล้าลงมาตั้งสกัดทางข้างริมแม่น้ำ ด้วยกลัวไทยจะให้กองทัพเรือเอาปืนใหญ่ไปยิง แต่มีความลำบากเปนข้อสำคัญอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายด้วยเรื่องเสบียงอาหาร ฝ่ายพม่าเดิมหมายจะได้เสบียงอาหารมาจากทางเชียงใหม่ ไม่ได้สมคิด ด้วยโปสุพลาโปมะยุง่วนตีไม่ได้เมืองเชียงใหม่ อะแซหวุ่นกี้ต้องอาไศรยแต่เสบียงอาหารซึ่งจะหาได้ในเมืองไทยอันเปนข้าศึก แต่พม่าเข้ามาถึงก่อนเวลาที่ไทยตระเตรียมต่อสู้ จึงได้โอกาศเก็บเสบียงอาหารบรรดามีอยู่ในท้องที่รวบรวมไว้ได้โดยมาก ถึงกระนั้นช้าวันไปเมื่อเสบียงอาหารที่พม่ารวบรวมไว้บกพร่องลงจะหาเพิ่มเติมก็ยาก ด้วยกองทัพไทยขึ้นไปตั้งอยู่ ถ้าไม่ตีกองทัพไทยให้แตกพ่ายไปได้ ไทยก็มีช่องทางที่จะทำลายฤๅกีดกันเสบียงอาหารไม่ให้ตกไปถึงพม่า ๆ ก็จะสิ้นกำลังในที่สุด ส่วนความลำบากข้างฝ่ายไทยในเรื่องเสบียงอาหารนั้น ข้อต้นเพราะพม่าล้อมเมืองพิศณุโลกไว้ พลทหารแลครอบครัวราษฎรที่อยู่ในเมืองจะออกไปลาดหาเสบียงอาหารไม่ได้ ต้องอาไศรยแต่เสบียงอาหารที่ลำเลียงส่งขึ้นไปจากกองทัพตามทางแม่น้ำ ส่วนกองทัพหลวงนั้นก็ต้องอาไศรยเสบียงหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่กรุงเก่าขึ้นไปจนเมืองพิจิตร จัดบันทุกเรือลำเลียงส่งขึ้นไป ต้องเดินลำเลียงระยะทางห่างไกลหลายวัน จึงเปนห่วงทางลำเลียงเสบียงอาหารอยู่เสมอ เพราะถ้าข้าศึกมาตีสกัดตัดลำเลียงได้กองทัพหลวงก็จะต้องถอย กองทัพหลวงถอย เมืองพิศณุโลกก็ไม่พ้นมือข้าศึก ด้วยสิ้นเสบียงอาหาร เพราะทางได้เสียทั้ง ๒ ฝ่ายเปนดังกล่าวมานี้ ฝ่ายพม่าจำต้องคิดตีกองทัพไทยให้แตกโดยเร็วจึงจะชนะศึก แต่ฝ่ายไทยนั้นถ้าแก้ไขเมืองพิศณุโลกอย่าให้ขาดสเบียงอาหารได้แล้ว ถึงแม้จะตีกองทัพพม่าให้แตกพ่ายไปไม่ได้ เพียงแต่รอถ่วงเวลาไปให้ช้าวัน พอพม่าหมดเสบียงอาหารก็คงมีไชยชนะเมื่อปลายมือ สังเกตตามรายการรบที่ปรากฎต่อมาในหนังสือพระราชพงษาวดาร เข้าใจว่าแม่ทัพทั้ง ๒ ฝ่ายเห็นความที่กล่าวมานี้แจ่มแจ้งดีด้วยกัน เพราะฉนั้นพอกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งติดต่อกับกองทัพที่รักษาเมืองพิศณุโลก อะแซหวุ่นกี้ก็รีบลงมือรบรุกกองทัพกรุงธนบุรีทีเดียว.

รายการรบตอนนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พอไทยตั้งค่ายตามริมแม่น้ำเปนระยะขึ้นไปทั้ง ๒ ฟากดังกล่าวมาแล้ว ถึงณวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กองทัพพม่ากอง ๑ มาตั้งค่ายตรงน่าที่จมื่นเสมอใจราชที่วัดจุฬามณีข้างฝั่งตวันตก ๓ ค่าย แล้วให้กองทัพอิกกอง ๑ ยกลงมาลาดตระเวนตรวจกำลังศึกทางฝั่งตวันตก ได้รบกับไทยตั้งแต่ค่ายระยะที่ ๓ ซึ่งพระยาราชภักดีตั้งอยู่ที่บ้านกระดาษ ลงมาจนระยะที่ ๑ ซึ่งพระยาราชสุภาวดีตั้งอยู่ที่บางทราย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองเกณฑ์หัดคุมปืนใหญ่รางเกวียน ๓๐ บอกขึ้นไปช่วยพระยาราชสุภาวดีรักษาค่ายที่บางทราย พม่ารบพุ่งอยู่จนเวลาค่ำก็ถอยกลับไป.

ถึงณวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีดำรัสสั่งให้พระธรรมไตรโลก พระยารัตนพิมล พระยาชลบุรี คุมพลอยู่รักษาค่ายหลวงที่ปากน้ำพิง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่บางทรายฝั่งตวันออกไปช่วยพระยาราชสุภาวดี ในค่ำวันนั้นพม่ายกมาทางฝั่งตวันตกเข้าปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยที่ตั้งเปนระยะที่ ๒ ที่ท่าโรง รบพุ่งกันเปนสามารถ พระเจ้ากรุงธนบุรีให้กองเกณฑ์หัด ๒๐๐ คน (คุมปืนใหญ่) ขึ้นไปช่วย พม่าตีไม่ได้ค่ายก็เลิกถอยไป.

ในตอนนี้อะแซหวุ่นกี้รู้สึกว่า กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปจากข้างใต้มีกำลังมากกว่าที่คาดไว้แต่แรก ครั้นจะแบ่งกำลังที่ล้อมเมืองพิศณุโลกมาช่วยกันตีกองทัพไทยข้างใต้ ก็เกรงว่าเจ้าพระยาทั้ง ๒ จะออกระดมตีทางข้างเหนือ จึงให้งดการรบรุกกองทัพกรุงธนบุรีไว้ แล้วมีหนังสือสั่งไปยังกองทัพหนุนที่ตั้งอยู่เมืองศุโขไทย ๕,๐๐๐ ให้แยกลงมาตีตัดลำเลียงของกองทัพกรุงธนบุรี ๓,๐๐๐ จำนวนพลที่เหลืออิก ๒,๐๐๐ ให้ยกไปช่วยรบไทยทางเมืองพิศณุโลก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ