คำนำ

อำมาตย์เอก พระยาราชพินิจจัย (อุไทยวรรณ อมาตยกุล) นำฉันทบรรดาผู้ซึ่งเข้ากันเปนเจ้าภาพงานศพ พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ว่ามีความศรัทธาจะรับสร้างหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานปลงศพพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน แลจะสร้างเปนหนังสือ ๒ เรื่อง เปนของเจ้าภาพเข้ากันสร้างเรื่อง ๑ พระยาราชพินิจจัยสร้างเปนส่วนของตัวเองสนองคุณบิดาอิกเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยจัดเลือกเรื่องหนังสือให้พิมพ์ ส่วนเจ้าภาพนั้นแจ้งความประสงค์มาโดยเฉภาะ ว่า อยากจะใคร่ได้พิมพ์จดหมายเหตุครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาศต่างประเทศตอนแรก คือเสด็จเมืองสิงคโปร์,แลเมืองเบตาเวีย,เมืองสมารัง ที่เกาะชวา เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๓๒ พ.ศ. ๒๔๑๓ คราว ๑ เสด็จประพาศประเทศอินเดียเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๔๑๔ อิกคราว ๑ ตำนานจดหมายเหตุเสด็จประพาศทั้ง ๒ คราวนั้น ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ในคำนำสำหรับหนังสือเรื่องนั้นแล้ว

จะกล่าวในที่นี้แต่เรื่องหนังสือซึ่งพระยาราชพินิจจัยพิมพ์เปนส่วนเฉภาะตัว พระยาราชพินิจจัยขอให้ข้าพเจ้าช่วยเลือกเรื่องให้ ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบความปราถนาซึ่งมีอยู่ในกรรมการหอพระสมุดฯ อย่าง ๑ ด้วยมีหนังสือในหอพระสมุดฯ อยู่บางเรื่อง ซึ่งเปนหนังสือสำคัญไม่มีฉบับที่อื่นอิกนอกจากมีอยู่อย่างละเล่มในหอพระสมุด ฯ หนังสือพวกนี้ยกตัวอย่าง เช่น บทลครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ บทลครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ แลบทลครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรี หนังสือเหล่านี้ ถ้าต้นฉบับที่มีอยู่เปนอันตรายไปอย่างไร ก็จะสูญสมบัติของชาติไทยเหมือนไม่รักษาสมบัติไว้ให้ลูกหลาน ปล่อยให้สูญไปเสีย ด้วยเหตุนี้ กรรมการอยากจะให้ได้พิมพ์รักษาไว้ แต่ยังพิมพ์ไม่ได้ ด้วยไม่มีผู้ใดจะรับพิมพ์ในการกุศล หอพระสมุดฯ จะพิมพ์เองทุนก็ไม่พอ ถ้าจะพิมพ์หนังสือเอาบุญจริงๆ รับพิมพ์หนังสือเหล่านี้สักเรื่อง ๑ เปนไร พระยาราชพินิจจัยมีความศรัทธาเห็นชอบด้วย จึงรับพิมพ์หนังสือบทลครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑

หนังสือบทลครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เรื่องอิเหนานี้ ข้าพเจ้าเกือบจะกล้าพูดว่าบรรดาผู้ที่ได้รับแจกสมุดเล่มนี้ไม่มีใครได้เคยอ่าน ผู้ที่ไม่รู้ว่ามีบทลครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ นั้นก็จะมาก ตัวข้าพเจ้าเองแต่ก่อนมาก็ไม่เคยเห็น เคยได้ยินแต่ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่าลครกรมหลวงรักษ์รณเรศเล่นเรื่องอิเหนาแต่ไม่เล่นบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เหมือนโรงอื่นๆ ใช้บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ยืนอยู่โรงเดียว เคยได้ยินเล่ามาเช่นนี้อย่าง ๑ มาได้ยินอีกครั้ง ๑ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์เฉลิมพระชัณษา โปรดให้เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ มามีลครถวายที่วังทุกๆ ปี ทอดพระเนตรแต่เรื่องอิเหนา มีรับสั่งขึ้นว่า บทอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ก็มี บทอุณรุทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็มี เจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ อยากจะได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์มีรับสั่งให้สืบหาอยู่ช้านาน ก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ทราบมาเท่านี้ จนเมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร รวบรวมหนังสือเก่ามาได้มาก หนังสือเหล่านั้นจัดเก็บไว้ด้วยกันเปนเรื่อง ๆ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปตรวจดูพวกหนังสืออิเหนาที่ได้ไว้ ไปพบบทอิเหนาซึ่งสังเกตว่าผิดกับที่เคยได้ยินร้องลครมีอยู่ เอาหนังสือนั้นมาอ่านตรวจดู เห็นเปนสำนวน ๑ ต่างหาก ได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ทรงสงไสยว่าจะเปนสำนวนครั้งกรุงเก่า ดูเหมือนจะได้มีพระกระแสไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ ต่อมาถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าไปเปิดตู้อิเหนาเอาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านอิกครั้ง ๑ อ่านพิเคราะห์ดูโดยเลอียด เห็นสำนวนกลอนเหมือนกับบทลครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ จึงเกิดความคิดว่า นี่เองคือบทอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงหาไม่ได้ แต่นั้นจึงสั่งเจ้าพนักงานไว้ ว่าถ้าได้หนังสืออิเหนามาให้ตรวจสำนวนดูก่อนทุกเล่ม ถ้าเห็นสำนวนแปลกกับฉบับพิมพ์ให้เอาไว้พวก ๑ ต่างหาก รวบรวมมาอย่างนี้จนได้บทลครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เบ็ดเสร็จด้วยกันรวม ๗ เล่มสมุดไทย มีขาดบ้างเปนตอน ๆ แต่เห็นจะเหลือหวังใจว่าจะหาได้จนครบถ้วน พระราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาได้ทรงตรวจโดยเลอียดอิกครั้ง ๑ ปรากฏว่า พระราชนิพนธ์อิเหนารัชกาลที่ ๒ ได้ยกเอาบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ตัดไปลงหลายแห่ง อย่างเดียวกับในเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็ทรงคัดเอาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ไปลงหลายแห่ง จึงเชื่อได้ว่าเปนพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ แน่ไม่มีที่สงไสย

อนึ่งเจ้าภาพได้ส่งหัวข้อประวัติของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานมาให้ข้าพเจ้า ด้วยมีความประสงค์จะให้เก็บเนื้อความเรียบเรียงลงในคำนำนี้ พอเปนสังเวควัตถุแก่ท่านทั้งหลายผู้น้อมในวิปัสสนาญาณ แลเปนที่ระฦกถึงแก่ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้เปนญาติแลมิตรสหายของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ประวัติของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานมีเนื้อความดังนี้

ประวัติของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน

พระยาอภิรักษ์ราชธุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีจอจุลศักราช ๑๒๑๒ ในปลายรัชกาลที่ ๓ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๓

ตระกูลของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานสืบเนื่องมาแต่พระยามหาอำามาตย์ (ป้อม) ซึ่งเมื่อเปนพระสุริยภักดีมีความชอบในการศึกเวียงจันท์ครั้งรัชกาลที่ ๓ นั้น พระยามหาอำามาตย์ (ป้อม) มีบุตรทำราชการ ๔ คน คือ-

๑ พระยาธรรมสารนิติ (พลับ)

๒ พระอินทราธิบาล (สุ่น)

๓ พระยาอุไทยมนตรี (ขลิบ)

๔ นายโหมด กระสาปนกิจโกศล

๕ พระยาธรรมสารนิติ (ตาด)

๖ ธิดานั้น คือ ท้าวทรงกันดาล (วรรณ)

นายโหมด อมาตยกุล แต่งงานกับพลอย ไกรฤกษ์ ธิดาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ

๑ สำอาง ได้เปนพระปรีชากลการ แล้วเปนโทษ

๒ พระยาเพ็ชรพิไชย (เจิม)

๓ พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม)

๔ ท่านทรามสงวน ต.จ. ภรรยาพระยาอภัยรณฤทธิ (ถวิล) บุตรพระยาธรรมสารนิติ (ตาด)

นายโหมด อมาตยกุล เปนผู้หนึ่งซึ่งเอาใจใส่ศึกษาวิชาช่างกลแลวิชาธาตุอย่างฝรั่งมาแต่เมื่อเปนมหาดเล็กอยู่ในรัชกาลที่ ๓ มีเรื่องราวในจดหมายเหตุของหมอบรัดเล จดแลพิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกคาเลนดา เล่มประจำปี คฤศตศก ๑๘๗๐-๑๘๗๑ ว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น ผู้ที่เอาใจใส่ศึกษาวิชาช่างอย่างฝรั่งมี ๓ คน คือ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หํว แต่ยังเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรุมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงศึกษาในวิชาจักรกล ตั้งโรงเครื่องจักรขึ้นเปนปฐมที่มีในเมืองไทย ได้ทำเรือกลไฟที่มีเปนลำแรกในเมืองนี้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์แต่ยังเปนหลวงนายสิทธิ เปนผู้เอาใจใส่ในวิชาต่อเรือ ได้พยายามจนต่อเรือใบอย่างฝรั่งขึ้นได้ เปนเหตุให้ไทยใช้เรือกำปั่นค้าขายแทนเรือสำเภาจีนแต่นั้นมา ถึงเรือกำปั่นหลวงก็เปลี่ยนไปเปนอย่างฝรั่งแต่ครั้งนั้น

ส่วนนายโหมด อมาตยกุล นั้น เอาใจใส่ในกระบวนเครื่องจักรกล แลวิธีประสมธาตุ กำลังพาหนะน้อยกว่าท่านทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้ว พยายามโดยลำพังตนเอง จนทำเครื่องมือกลึงเกลียวแลเครื่องแช่ทองอย่างฝรั่งได้ แต่นายโหมดไม่ได้มีตำแหน่งราชการเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเกิดระแวงผิดเพราะเหตุอย่าง ๑ ซึ่งอาจจะเห็นกันว่าน่าหัวเราะในเวลานี้ คือ เอาหนังสือพระราชกำหนดกฎหมายส่งให้หมอบรัดเลพิมพ์ เกิดความต้องเก็บหนังสือนั้นหมด ด้วยถือกันในเวลานั้นว่า ทำโดยไม่ได้รับอนุญาตรัฐบาลก่อนเปนการล่วงละเมิด จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงตั้งนายโหมด อมาตยกุล เปนนายพิจิตรสรรพการหุ้มแพร แล้วต่อมาเปนที่พระวิสูตรโยธามาตย์ ครั้นเมื่อตั้งโรงกระสาปน์สิทธิการขึ้นเปนครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เปนที่พระยากระสาปนกิจโกศล เจ้ากรมโรงกระสาบน์ ด้วยเปนผู้มีชื่อเสียง ว่าชำนาญกระบวนช่างกล แลกระบวนธาตุมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ นายโหมดฝึกหัดบรรดาบุตรในวิชาเหล่านั้นมาแต่ยังเล็กด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้บรรดาบุตรของนายโหมดจึงชำนาญการช่างกลแลกระบวนธาตุ มากบ้างน้อยบ้าง แลได้รับราชการในโรงกระสาปน์เปนเดิมมาด้วยกันทุกคน

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่อเปนมหาดเล็กเปนแต่ช่วยบิดาทำราชการในโรงกระสาปน์ แลการตั้งโรงแก๊ส คือ ประทีปลม การถ่ายรูป แลทำโคมลอยอย่างฝรั่ง อันอยู่ในวิชาสำหรับสกุลนี้ในครั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงพินิจจักรภัณฑ์ ปลัดกรมโรงกระสาปน์ เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๑๒ เปนผู้ซึ่งอยู่ในชั้นหนุ่มที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดติดพระองค์ผู้หนึ่ง รับราชการเบ็ดเสร็จในการอย่างใหม่ ๆ ต่าง ๆ เช่นแต่งพระที่นั่งแลตำหนักรักษาเปนต้น ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ แลข้าราชการที่รับราชการใกล้ชิดติดพระองค์ ได้สมาคมคุ้นเคยกับพระยาอภิรักษ์ ฯ มีหลายพระองค์หลายท่าน จึงเปนมิตรสนิทสนมต่อมาจนตลอดอายุของพระยาอภิรักษ์ ฯ พระยาอภิรักษ์ ฯ ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ ในปีแรกที่สร้าง เครื่องราชอิศริยาภรณ์นั้น

เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ทรงสร้างสวนสราญรมย์ โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน แต่ยังเช่นหลวงพินิจจักรภัณฑ์ เปนผู้ดูแลการมาแต่แรกสร้าง ในปีนั้นมีเหตุ ถังที่โรงทำไฟแก๊สในพระบรมมหาราชวัง อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญทุกวันนี้ ลุกขึ้น โปรดให้ย้ายโรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่น่าวัดสุทัศน์ ตรงที่สร้างตลาดเสาชิงช้าทุกวันนี้ แลฝังท่อใช้ไฟแก๊สทั้งในพระบรมมหาราชวังแลถนนในพระนครด้วย จึงโปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเปนผู้บังคับการโรงแก๊สด้วยอิกอย่าง ๑ ได้พระราชทานเหรียญบุษปมาลาเปนบำเหน็จในวิชาช่าง เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๑๘

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ เกิดอุปัทวเหตุขึ้นในสกุล บิดาแลพี่ชายทั้งตัวพระยาอภิรักษ์ ฯ ต้องรับพระราชอาญา พระยาอภิรักษ์ ฯ เอง ถูกถอดจากยศบันดาศักดิแลตำแหน่ง ไม่ได้ทำราชการอยู่ ๑๙ ปี ในเวลาระหว่างนี้ พระยาอภิรักษ์ ฯ ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการต่าง ๆ แต่เปนผู้มีนิไสยอยู่ในทางวิชา จึงคิดตั้งบริษัทไฟฟ้าขึ้นเปนทีแรก ซึ่งภายหลังได้โอนมาเปนบริษัทไฟฟ้าสยามทุกวันนี้ ต่อมาพระยาอภิรักษ์ ฯ ตั้งโรงทำน้ำแขงขึ้นขายทำได้ประโยชน์ยืดยาวมาหลายปี

มาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระยาอภิรักษ์ฯ ในโอกาศอันใดอันหนึ่ง ทรงพระปรารภสงสาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กลับไปรับราชการเปนเจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ดังแต่ก่อน แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๔๒ ครั้นต่อมาเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต โปรดให้ไปดูการทำสวนในบริเวณพระราชวัง แล้วเปนผู้จัดการโรงทำโซดาดุสิตมาจนตลอดรัชกาล

ตั้งแต่พระยาอภิรักษ์ฯ กลับเข้าทำราชการในคราวหลัง ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓

ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ กับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๔๗

ได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๔ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๕๐

ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อทรงตั้งคณะเสือป่า พระยาอภิรักษ์ ฯ สมัคเข้าเปนเสือป่า อายุได้ ๖๒ ปีต้องอยู่ในกองนอก แต่พยายามไปทำการตามน่าที่เสือป่าเสมอ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเปนผู้หมั่น จึงพระราชทานสัญญาบัตรให้เปนนายหมู่ตรีเสือป่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่พระยาอภิรักษ์ ฯ จับมีอาการป่วยเปนโรคปัศสาวะพิการมาเสียแล้ว ร่างกายทรุดโทรมลงทุกที จะไปรับราชการตามตำแหน่งไม่ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมา พระยาอภิรักษ์ ฯ มีอาการป่วยหนักจวนจะถึงแก่กรรมหลายครั้ง ถึงตัวเองเตรียมต่อหีบศพสำรองไว้ แต่อาการทรุดลงแล้วกลับคลายขึ้น เปนอย่างนี้มาหลายคราว มาจับป่วยหนักอีกเมื่อเดือนธันวาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงให้พาไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาการโรคเหลือที่จะเยียวยาได้ พระยาอภิรักษ์ ฯ ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา ๓ ยาม วันที่ ๒๓ ธันวาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ คำนวณอายุได้ ๖๗ ปี บุตรภรรยารับศพกลับมาบ้าน ได้พระราชทานน้ำอาบศพแลหีบทองทึบรองศพเปนเกียรติยศ

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานแต่งงานหนแรกกับ อำพัน บุรณศิริ ธิดาพระยาธรรมจรันยานุกูลมนตรี มีบุตรธิดาด้วยกันคือ

๑ ประไพ ธิดา เปนภรรยาพระยาพิทักษ์ทวยหาญ ทองดำ กฤษณามระ

๒ บุตร คือพระยาราชพินิจจัย (อุไทยวรรณ)

ต่อมาพระยาอภิรักษ์ ฯ แต่งงานกับ อนงค์ อมาตยกุล ธิดาพระยาธรรมสารนิติ (ตาด) มีบุตรธิดาด้วยกันคือ

๑ วรนาฏ ธิดา

๒ นายนาวาเอก พระนรินทรรังสรรค์ (สุริเยศ)

๓ ประยงค์ ธิดา ทำราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๕

๔ ปุก ธิดา

๕ ว่าที่รองเสวกตรี เศกสม

กรรมการขออนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งบุตรภรรยาแลญาติได้บำเพ็ญในการปลงศพพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน แลขออนุโมทนากุศลซึ่งได้รับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร แลเชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ได้อ่านหนังสือนี้ จะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

กรรมการรู้สึกขอบใจพระยาราชพินิจจัยมาก ที่รับพิมพ์บทลครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ เปนอันเบาใจในส่วนรักษาเรื่องไปได้อิกเรื่อง ๑ ควรท่านทั้งหลายผู้ได้อ่านจะขอบใจพระยาราชพินิจจัยด้วย

กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๓ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ