คำชี้แจง

นวนิยายของ “ดอกไม้สด” มีอยู่ด้วยกัน ๓๒ เรื่อง เป็นนวนิยายขนาดยาว ๑๒ เรื่อง และเป็นเรื่องสั้นอีก ๒๐ เรื่อง บทละครหนึ่งเรื่องกับเรื่องยาวซึ่งแต่งไม่จบคือ “วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย” นั้น ท่านผู้ประพันธ์แต่งได้เพียงตอนแรก และไม่อาจแต่งต่อไปให้จบได้ เพราะสุขภาพไม่อำนวย

หม่อมหลวงบุบผา นิมมานเหมินท์ (นามสกุลเดิม กุญชร) เจ้าของนามปากกา ดอกไม้สด ได้เริ่มงานประพันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเขียนลงในวารสารไทยเขษม และเรื่องแรกที่แต่งคือเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกโดยกองอาสากาชาด ขออนุญาตพิมพ์จำหน่ายเพื่อการกุศล และต่อมาก็ได้ตีพิมพ์อีกหลายครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ “ดอกไม้สด” ได้เขียนไว้ในคำนำฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งนั้นว่าเคยคิดอยากจะแก้ไข เพราะได้เห็นความบกพร่องหลายอย่าง แต่เมื่อตรวจดูแล้วก็เห็นว่าที่จะแก้ไขมีมาก จนถึงกับจะเป็นการเขียนใหม่หมด จะไม่มีเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” อย่างเดิมอีกต่อไป จึงไม่ได้แก้ไข นับว่าเป็นโชคดีที่ท่านผู้อ่านจะได้เห็นวิวัฒนาการในการแต่งนวนิยายของ “ดอกไม้สด” มาตามลำดับ นวนิยายเรื่องแรกที่คิดอายุก็ได้ ๔๔ ปีแล้ว

ถ้อยคำสำนวน ความคิด ความนิยม หลายอย่างได้เปลี่ยนไป เรื่องศัตรูของเจ้าหล่อน เป็นเสมือนบันทึกเหตุการณ์ในอดีตการที่ยังมีผู้นิยมอ่านมาจนทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีหลายอย่างในเรื่องนี้ ที่จะเป็นกาลปัจจุบันอยู่ตลอดไป กาลเวลาเป็นอย่างหนึ่งซึ่งใช้ยืนยันได้ว่า คุณค่าของบทประพันธ์จะยืนยงหรือไม่เพียงไร

นวนิยายเป็นแบบการประพันธ์ ซึ่งนับว่าเรารับมาจากต่างประเทศในยุครัตนโกสินทร์ ตอนที่มีการติดต่อกับประเทศในยุโรปมากขึ้น อย่างน้อยเราก็รับเอาชื่อของการประพันธ์แบบนี้ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Novel แล้วก็มีผู้แปลเป็นไทยว่า นวนิยาย เป็นนิยายแบบใหม่ต่างกับเรื่องนิยายหรือนิทานคำกลอนที่เราเคยนิยมกันมาแต่ก่อน ซึ่งเขียนเป็นคำกลอน ตัวละครเป็นคนในอดีต และส่วนมากเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ ชีวิตอยู่ในอำนาจของความลี้ลับเหนือมนุษย์ต่างๆ กฎเกณฑ์ของการเขียนที่กำหนดไว้สำหรับนักวิจารณ์พิจารณานวนิยาย ว่าจะต้องมีองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ ตัวละคร ฉาก บทสนทนา โครงเรื่อง และเนื้อหา อย่างไรก็ดี ถ้าจะมองให้ลึกลงไปแล้ว นิยายคำกลอนแต่ก่อนเก่าของเรา และนวนิยายอันขึ้นชื่อว่าได้มาแต่ฝรั่งก็มีพื้นฐานอันเดียวกัน คือ ชีวิตมนุษย์ เรื่องราวของปุถุชน ซึ่งมนุษย์ด้วยกันอยากรู้อยากเห็นหนักหนา นวนิยายจึงเป็นที่นิยมของคนไทยอย่างรวดเร็ว

“ดอกไม้สด” มีผลงานปรากฏแก่ผู้อ่านเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ อันเป็นระยะที่วงการประพันธ์ไทยกำลังสมัยใหม่ยิ่ง บทประพันธ์ของท่านจึงทันกาลเวลาสำหรับสังคมของหนุ่มสาวสมัยใหม่ในเมืองหลวงขณะนั้น และคงอยู่ตลอดมา เนื่องจากว่าดอกไม้สดเขียนนวนิยายโดยมีกฎเกณฑ์ ซึ่งท่านได้นำออกมาใช้อย่างสม่ำเสมอกันเกือบทุกเรื่อง เป็นต้นว่า ศึกษาอุปนิสัยตัวละคร (จากคนจริง) ให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วจึงสร้างเรื่องสำรวมในการแสดงความรู้สึกมัธยัสถ์ในการใช้ถ้อยคำ และผูกเรื่องราว จนแทบจะกล่าวได้ว่า ถ้าตัดคำใดและเนื้อเรื่องตอนไหนออกเสียแล้ว ถึงจะไม่ล้มทั้งเรื่อง ก็จะเสียรส ดังนั้นถึงแม้ว่าขณะนี้รสนิยมของคนรุ่นปัจจุบันจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่นวนิยายของดอกไม้สดก็ยังอาจให้ความพอใจแก่ผู้อ่านในด้านความบันเทิง ความคิด ความงดงาม และความละเมียดละไมแห่งความรู้สึกอยู่เสมอ

การที่สำนักพิมพ์ถึงสามแห่ง ขออนุญาตพิมพ์นวนิยายของดอกไม้สดพร้อมๆ กันนี้ ย่อมเป็นเครื่องวัดได้ว่า ความนิยมอ่านหนังสือของดอกไม้สดยังมีอยู่มาก เป็นที่น่ายินดีและภูมิใจที่หอสมุดแห่งชาติได้รับมรดกวรรณกรรมของดอกไม้สด ผู้ล่วงลับไปแล้ว น่าภูมิใจที่เราได้มีนักประพันธ์อย่างท่าน ผู้ซึ่งสร้างงานด้วยความประณีต มีความปรารถนาจะให้แนวทางที่ดีแก่ผู้อ่าน ทั้งเป็นผู้ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การที่หอสมุดแห่งชาติได้รับมรดกลิขสิทธิ์ในงานประพันธ์ของท่าน ก็เพราะว่าเป็นความปรารถนาอย่างหนึ่งของท่าน ในการที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม

การที่คุณสุนทรี ชมธวัช ทายาทลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมของดอกไม้สด ได้ยกลิขสิทธิ์อันจะเกิดผลประโยชน์ให้แก่หอสมุดแห่งชาตินั้น นับว่าเป็นการเสียสละที่น่าสรรเสริญ จึงขออนุโมทนาในการกุศล และขอขอบคุณ คุณสมภพ จันทรประภา ที่ได้ช่วยเหลือแนะนำให้หอสมุดแห่งชาติ ได้รับลิขสิทธิ์ไว้

ได้เขียนไว้ในคำอุทิศของหนังสือเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ซึ่งกองอาสากาชาด ขอตีพิมพ์จำหน่ายเพื่อการกุศล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าขอเชิญชวนเพื่อนพุทธศาสนิกทั้งหลาย เชิญร่วมงานเมตตากรณียกิจกับกองอาสากาชาด เชิญตั้งจิตมั่นในเมตตาอธิษฐานตามเยี่ยงอย่างแห่งบุรพชนของเรา สัตว์โลกทั้งหลายจะเป็นผู้ไม่มีเวร สัตว์โลกทั้งหลายจงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน สัตว์โลกทั้งหลายจงอย่าเป็นไข้ใจ สัตว์โลกทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์ สัตว์โลกทั้งหลายจงอยู่เป็นสุขรักษาตน สัตว์โลกทั้งหลายจงอย่าพ้นจากสมบัติอันตนได้แล้ว และขอสันติภาพ จงบังเกิดแก่สัตว์โลกทั่วพิภพเทอญ”

ขอสันติสุขจงบังเกิดแก่วิญญาณของ “ดอกไม้สด” ชั่วนิรันดร.

แม้นมาส ชวลิต

หอสมุดแห่งชาติ

๗ มีนาคม ๒๕๑๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ