คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๒)

หนังสือที่เรียกชื่อว่า “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” เรื่องนี้ถ้าใครไม่เคยอ่าน ได้ยินแต่ชื่อเรื่องน่าจะเข้าใจว่า เปนแต่หนังสืออย่างสามัญอะไรเรื่อง ๑ แต่ที่จริงเปนหนังสือดีอย่างที่สุดซึ่งผู้เอาใจใส่ในโบราณคดี แลในทางความรู้ราชการเก่า จะเปนราชการทหารหรือราชการพลเรือนไม่ว่า ถ้าได้อ่านแล้วจะมีความเห็นเปนอย่างเดียวกันทุกคน ว่าเปนหนังสือน่าอ่านนับเปนอย่างเอกได้เรื่อง ๑

ต้นฉบับหนังสือเรื่องนี้เขียนไว้ในสมุดดำ ๑๕ เล่ม เดิมเปนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือที่เรียกอิกนาม ๑ ว่า สมเด็จองค์น้อย เก็บเข้าตู้ซ่อนเร้นเปนมรดกตกต่อมาจนถึงเจ้าคุณคลี่ธิดาของท่าน หนังสือเรื่องนี้ก็มิได้ปรากฎแก่ผู้ใด จนเจ้าคุณคลี่ถึงอสัญกรรม เมื่อมีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ. ๒๔๔๘ พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้รับมรดกเจ้าคุณคลี่ ตรวจมรดกไปพบหนังสือเรื่องนี้ กับต้นท้องตราในครั้งเดียวกัน เห็นว่าเปนหนังสือเก่าอันเกี่ยวด้วยราชการ จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทอดพระเนตรตลอดแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าเปนหนังสือเรื่องสำคัญในทางโบราณคดี คือทำให้ผู้อ่านแลเห็นวิธีราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดีกว่าหนังสือเรื่องอื่นๆ แลทำให้ปรากฎว่าความทรงจำของข้าราชการแต่ก่อนเขาดีเพียงใด เมื่อทรงแล้วพระราชทานต้นฉบับมาให้ข้าพเจ้าอ่าน แลได้มีรับสั่งให้สืบสวน ว่าผู้ใดที่เปนหลวงอุดมสมบัติผู้แต่งจดหมายนี้ มีผู้สืบได้ความว่าหลวงอุดมสมบัติคนนี้ ชื่อ (จัน) เปนบิดาของลูกจันทน์ ผู้เปนภรรยาพระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน ทัศนะพยัคฆ์) มีอายุอยู่มาจนในรัชกาลที่ ๔ แลได้รูปถ่ายหลวงอุดมสมบัติเข้าไปถวายด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉายรูปถ่ายนั้นเปนขนาดใหญ่ เข้ากรอบติดไว้ในตำหนักราชฤทธิรุ่งโรจน์ที่สวนดุสิต โดยพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความสามารถของหลวงอุดมสมบัติให้ปรากฎ

ส่วนต้นจดหมายหลวงอุดมสมบัตินั้น เมื่อข้าพเจ้าอ่านแล้วเห็นเปนหนังสือสำคัญ ซึ่งควรจะพิมพ์รักษาไว้ไม่ให้สูญ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้พิมพ์ขึ้นเปนครั้งแรก เมื่อปีมเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๒๖๘ พ.ศ. ๒๔๔๙ แต่การพิมพ์ครั้งนั้นข้าพเจ้าเกรงไปว่า จดหมายหลวงอุดมสมบัติเรื่องนี้จะไม่สู้มีผู้พอใจอ่านมากนัก เพื่อจะสงวนทุนทรัพย์ของหอพระสมุดวชิรญาณ จึงให้พิมพ์ครั้งแรกเพียง ๒๐๐ ฉบับ แต่การมิได้เปนดังคาด พอมีผู้ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ ก็เกิดเลื่องฦๅว่าเปนหนังสือดี มีผู้ต้องการกันมาก ถึงกับมีพระภิกษุมาหาซื้อ พิมพ์แล้วได้เพียงเดือนเศษ หนังสือเรื่องนี้ก็ไม่พอจำหน่าย ข้าพเจ้าจึงคิดจะให้พิมพ์ครั้งที่ ๒ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชดำริห์ว่า หนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัตินี้ ถ้าจะพิมพ์ใหม่ควรจะเล่าเรื่องมูลเหตุแลมีคำอธิบายส่วนตัวบุคคล ซึ่งปรากฎนามในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ ให้เปนประโยชน์ทางความรู้แก่ผู้อ่านยิ่งขึ้นกว่าฉบับที่พิมพ์ครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าหาหนังสือเรื่องต่างๆ สำหรับที่จะสอบสวนทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงตั้งพระราชหฤไทยจะทรงพระราชนิพนธ์เอง ข้าพเจ้าได้รวบรวมหนังสือต่างๆ มีพงษาวดารเมืองแขกเปนต้น ทูลเกล้าฯ ถวาย แลเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จะได้เริ่มทรงพระราชนิพนธ์ไว้บ้างแล้ว แต่หากติดพระราชธุระอย่างอื่นๆ เสีย การนั้นจึงค้างอยู่จนตลอดรัชกาล ได้มีผู้มาตักเตือนกรรมการหอพระสมุดฯ เนืองๆ ขอให้พิมพ์จดหมายหลวงอุดมสมบัติขึ้นอีก ข้าพเจ้ามาคิดเห็นว่า ถ้าจะพิมพ์ใหม่ควรจะทำให้ต้องตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ข้าพเจ้าจึงพยายามเรียบเรียงเล่าเรื่องมูลเหตุที่หลวงอุดมสมบัติ จะเขียนจดหมายเหล่านี้ไว้ข้างต้น แต่ข้าพเจ้ารู้สึกความขัดข้องด้วยเรื่องที่จะทำคำอธิบายส่วนตัวบุคคลที่ปรากฎชื่อในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ด้วยความรู้ข้าพเจ้าน้อยนัก แลไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ด้วย แต่ด้วยเปนพระราชดำริห์มีอยู่ ก็ต้องจำทำเพียงเท่าความรู้ของข้าพเจ้า คงจะบกพร่องมาก หวังใจว่าท่านผู้อ่านจะให้อไภยโทษในความบกพร่อง ทั้งที่เล่าเรื่องมูลเหตุ แลที่อธิบายถึงตัวบุคคล

ข้าพเจ้าขอโอกาศตักเตือนท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้สักน่อย ด้วยธรรมดาคนเราความคิดเห็นย่อมต่างๆ กัน บางทีจะมีบางคนเมื่ออ่านหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติเรื่องนี้แล้ว จะคิดเห็นว่าขนบธรรมเนียมราชการเมืองไทยในครั้งรัชกาลที่ ๓ ไม่เป็นศิริวิไลย หรือว่าเร่อร่าน่ายิ้มเยาะ ถ้าความเห็นเช่นนี้มีแก่ท่านผู้ใดไซ้ ขอท่านผู้นั้นอย่าลืม ว่าเวลาช้านานเกือบ ๘๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นไม่ว่าเมืองไทยหรือเมืองอื่นๆ ความนิยมแลขนบธรรมเนียมบ้านเมืองไม่เหมือนทุกวันนี้ด้วยกันทั้งนั้น ถึงวิธีการงานแลความคิดอ่านของท่านผู้เปนบพการีของเราจะเปนอย่างไรก็ตาม ท่านทำด้วยความจงรักต่อชาติแลบ้านเอง เจตนาของท่านไม่เลวกว่าชั้นเราในปัจจุบันนี้ ว่าโดยส่วนผลก็มีพยานอันจะคิดค้านมิได้ ที่ท่านสามารถจะแก้ไขความลำบากอันบังเกิดขึ้นแก่ราชการบ้านเมืองในครั้งนั้นให้เรียบร้อย เปนปรกติสืบเนื่องตลอดมาจนถึงชั้นชาวเราผู้ที่อ่านหนังสือเรื่องนี้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้อ่านโดยมาก คงจะอ่านด้วยตั้งใจหาคติอันเปนคุณแลประโยชน์ ถ้าเช่นนั้น คติที่จะพึงได้แก่ผู้อ่านหนังสือเรื่องนี้มีอยู่เปนอันมาก แม้จะยกมากล่าวในที่นี้แต่ข้อเดียว ใครเคยได้ยินสุภาสิตโบราณซึ่งกล่าวถึงความลำบาก ยกหัวอกแม่เจ้าเรือน สมภารเจ้าวัด แลพระมหากระษัตริย์ขึ้นอ้างไว้เปนตัวอย่าง ผู้นั้นจะแลเห็นได้ในหนังสือเรื่องนี้ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงปกครองสยามราชอาณาจักรนี้ ต้องทรงรับภาระทุกข์ยากลำบากพระราชหฤไทย สมดังคำโบราณกล่าวทุกๆ พระองค์มา ไม่ได้ประสบแต่พระบรมศุขอย่างเดียว อิกประการ ๑ จะแลเห็นได้ในหนังสือเรื่องนี้ว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้การงานเปนไปในฝ่ายข้างดีงามเพียงใด ความขัดข้องโดยธรรมดาเหตุย่อมมีอยู่เปนอันมาก การงานที่จะสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์นั้นไม่สู้ง่ายนัก ผู้อ่านหนังสือเรื่องนี้ เมื่อได้ทราบการงานครั้งรัชกาลที่ ๓ ว่าเปนอย่างไร ข้อ ๑ ควรจะบังเกิดความยินดี โดยความรู้สึกว่าเมืองไทยของเรานี้ ได้ดำเนินมาในทางข้างเจริญกว่าแต่ก่อนไม่ใช่น้อย ข้อ ๒ ควรเห็นอกรัฐบาลบ้าง ว่าการปกครองบ้านเมืองไม่สู้ง่ายนัก ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงคติที่จะพึงได้จากการอ่านหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติไว้ในคำนำเพียงเท่านี้ก่อน ด้วยผู้ที่อ่านคำนำยังไม่ได้อ่านตัวจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ เมื่อถึงตอนข้างท้ายข้าพเจ้าจะกล่าวความต่อไปอิกตอน ๑ โดยฉันแสดงความแก่ผู้ที่ได้อ่านรู้เรื่องในจดหมายหลวงอุดมสมบัติแล้วด้วยกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ