๑๖๒. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ในวันลอยผะอบนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงประชวรมาช้านานประมาณ ๕ ปี ครั้นถึงวันอาทิตย์เดือน ๒ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๓ นาฬิกากับ ๓ บาท เสด็จสู่สวรรคต พระชนมายุนับเรียงปีได้ ๕๘ พรรษา อยู่ในอุปราชาภิเศกสมบัติ ๑๕ พระพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปสรงน้ำ แล้วเจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระบรมศพสถิตในพระโกศทองคำ แห่มาประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แล้วโปรดฯ ให้หมายประกาศให้ข้าในกรม ให้โกนศีร์ษะแต่ฝ่ายเดียว มิให้ทั่วไปทั้งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร ๑๖ พระราชบุตรี ๑๔ พระองค์ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังเยาว์ ๓๓ พระองค์ รวม ๖๓ พระองค์[๑] เมื่อพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ได้สร้างแต่พระอารามน้อยที่บ้านสีทา และทำพลับพลาที่ประทับอย่างลาวไว้แห่ง ๑ พระองค์โปรดแคนไปเที่ยวทรงตามเมืองพนัศนิคมบ้าง ลาวบ้านสำประทวนเมืองนครไชยศรีบ้าง บ้านสีทาแขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและทรงแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็นพระองค์แล้วก็สำคัญว่าลาว

และเมื่อปีระกาตรีศกนั้น มีผู้มากระซิบกราบทูลว่า กลีบมารดาพระองค์เจ้าซึ่งเป็นนายเครื่องทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯ ให้พระยาพิไชยบุรินทรา พระยามณเฑียรบาล ตระลาการในพระบวรราชวังชำระ การครั้งนั้นตระลาการเห็นว่าพระอัธยาศัยไม่สู้กริ้วนัก ก็ชำระแต่พอเป็นราชการ ก็ไม่ได้ความจริง จึงโปรดให้กลีบมารดาออกเสียจากที่นายเครื่อง ให้พระยาราชโยธาเข้ามากำกับเป็นนายเครื่อง เครื่องนั้นโปรดฯ ให้พวกพ่อครัวผู้ชายทำ ครั้นภายหลังทรงพระประชวรไม่สบายเสวยพระกระยาหารไม่ได้ ก็ตรัสชักนำไปด้วยจะให้กลีบมารดาเข้ามาทำเครื่องใหม่ พระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ หลวงเพ็ชรชลาลัย จมื่นศรีบริรักษ์ จ่าการประกอบกิจ ท้าวพิพัฒนโภชา แย้ม ผู้ช่วย ขำภรรยาพระพรหมธิบาล (เสม) จึงเข้าชื่อกันทำเรื่องราวรับประกันกลีบมารดาว่า ถ้าเป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดแน่แท้แล้วหรือกลับทำใหม่อีก ก็ให้เอาโทษผู้นายประกันถึงสิ้นชีวิตด้วย ขอให้กลีบมารดาเข้ามารับทำเครื่องใหม่จะได้เสวยพระกระยาหารได้ ได้ทรงทราบทัณฑ์บนแล้วก็โปรดให้กลีบมารดาเข้ามาทำเครื่องดังเก่า ครั้นมาถึงเดือน ๑ ปีฉลูสัปตศก ทรงพระประชวรมากไป กลีบมารดาทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์เห็นเป็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว

ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ[๒] ปีฉลู สัปตศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวรครั้งนี้มีความสงสัยกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวังเป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาล พระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระ ก็ได้ความว่าทำเสน่ห์ยาแฝดจริง อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสมเป็นครู จึงให้ลูกขุนปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษว่า กลีบมารดามีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาคิดทรยศ อนึ่งอ้ายช้าง อ้ายโสม อ้ายขนานแดงผู้เป็นครู น้อย แย้ม ขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติและรู้เห็นด้วยรวม ๘ คน ให้ริบราชบาตรลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วให้ไปประหารชีวิตเสีย พระยาพิไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ เป็นแต่ผู้นายประกันทำตามพระอัธยาศัยไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากที่ลงพระราชอาญาจำส่งไปคุก อ้ายจันชุม อียา อีสุข อีอ่วม อีสุด อีป้อมก้อน อียิ้มแก้ว อีหนู ไม่ได้เป็นบ่าวทาสมารับอาสาให้กลีบมารดาใช้และรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วส่งไปจำไว้ณคุก และคนที่เป็นแต่ปลายเหตุก็ให้ส่งไปโรงสีบ้าง เป็นคนระบาดบ้าง ครั้นลูกขุนปรึกษาโทษแล้วก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริสงสัยแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง จึงทรงพระราชหัตถเลขาให้เนรเทศกลีบมารดา ๑ แย้ม ๑ ขำ ๑ ไปอยู่เสียเมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง หมอ ให้ส่งไปจำไว้ณคุก จ่าการประกอบกิจกับน้อยนั้น โปรดฯ ให้ยกโทษเสียปล่อยไป พระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ จมื่นศรีบริรักษ์ ก็โปรดฯ ให้พ้นจากเวรจำมิได้ตั้งขึ้นรับราชการอีก คนที่นอกไปจากโทษถึงตายอีกนั้นก็ให้ทำโทษตามคำลูกขุนปรึกษา



[๑] รายพระนามพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือราชสกุลวงศ์ มี ๕๘ พระองค์ ฯ

[๒] วันที่ ๑๘ ธันวาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ