โคลงนิราศหริภุญชัย

(ฉบับเชียงใหม่)

กัชชํกรแต่งตั้ง สิรสา
นบพระธรรมสังฆา ผ่านเผ้า
สนำสลูเบิกนามมา ขอมเรียก รักเอ่
ไทยตำบลเมิงเป้า ปล่านไว้วิวรณ์อรรถ

(ฉบับหอสมุดฯ)

กชกรต่างแต่ตั้ง ศิรษา
นบพุทธธรรมสาวกา แผ่นเผ้า
สนำสลูเบิกนามมา ขอมเรียก รักแฮ
ไทด่ำบลเมิงเป้า ผ่านไว้วิวรณ์

กชกร-มือต่างดอกบัว กระพุ่มมือ สิรสา-ศีรษะ ผ่านเผ้า-พระเจ้าแผ่นดิน สนำสลู-ปีฉลู สนำ คือ ฉนำ-ปี เบิก-นำมา ไทด่ำบล-ไทยตำบล-หนไทย คือ วิธีนับปีแบบไทยเดิม รอบละ ๖๐ ปี เช่น เมิงเป้า ตรงกับปีฉลู นพศก คือ พ.ศ. ๒๐๖๐ หรือจุลศักราช ๘๗๙ ไจ้ (ชวด) เป๊า (ฉลู) ยี (ขาล) เม้า (เถาะ) สี (มะโรง) ไส้ (มะเส็ง) ซง้า (มะเมีย) เม็ด (มะแม) สัน (วอก) เล้า (ระกา) เสด (จอ) ไก๊ (กุน) และท้ายศก เมื่อเทียบกับจุลศักราชแล้ว เอกศก หรือเลขท้ายปีจุลศักราชเป็น ๑ ตรงกับ กัด ๒-กด ๓-รวง ๔-เต่า ๕-กา ๖-กาบ ๗-ดับ ๘-ระวาย ๙-เมิง ๐-เบิก ปล่าน ป ควบกับ ร เป็น ผ ฉบับหอสมุดฯ จึงเป็นผ่าน แปลว่า ทำ หรือแต่ง เช่น แปงป่านไว้สอนปชา ชู่ผู้-จากวิทูรสอนหลาน แปง-แปลง-ทำ สร้าง ชู่ผู้-ทุกคน โคลงที่ ๑๘๐ ในโคลงนิราศหริภุญชัย ว่า ปุนขะสดป่านแปงทูล ทิพอาช ญาเอ่ แปลว่า น่ากำสรด (จึง) แต่งเรื่องนี้ถวายนาง ปล่านไว้ ห. และ ร. ว่าเป็น หว่านไหว้ วิวรณ์-การแสดง อรรถ-ข้อความ

พนมมือขึ้นเหนือหัวไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระเจ้าแผ่นดิน ปีนี้ปีฉลู นำชื่อมาจากพวกขอม แบบไทยเรียกปีเมิงเป้า แต่งไว้เพื่อแสดงถ้อยคำอันเพราะพริ้ง

(ฉบับเชียงใหม่)

อัสสยุชมาสค้อย สิบเอ็ด มิดเอ่
เม็งแม่นภุมโมเนศ เนศบ้าง
จักสลายกาพย์กลอนเขบ็จ สาโรช รักเอ่
ปางพี่รามรสร้าง จากเจ้าเจียนสงาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

อาสยุชมาสด้วย สิบเอ็ด
เม็งแม่นภูโมเม็ด เนตรบ้าง
จักสลายกาพย์กลอนเขบ็จ สาโรช รักแฮ
ปางพิรามรสร้าง จากเจ้าเจียนสลาย

อัสสยุชมาส-อัศวยุช เดือนสิบเอ็ด ค้อย-คล้อย มิด-มืด เม็ง-มอญ แม่น-ถูก ตรงกับ ภุมโม-วันอังคาร เม็ด-ชื่อวันหนไทย นับเป็นรอบ รอบละ ๖๐ วัน ชื่อซ้ำกับปี เช่น มีปีเมิงเป้า ก็มีวันเมิงเป้า ดูคำ ไทยด่ำบล ในบทที่ ๑ บ้าง-แหว่ง เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่า วันเดือนบ้างแปดวัน ได้แก่วันแรม ๘ ค่ำ เนตรบ้าง หมายถึงพระจันทร์แรม สลาย-แต่ง เขบ็จ-ขบวน สาโรช-สารโอชะ ข้อความอันไพเราะ ราม (ไทใหญ่) -ร้าง เช่น นาฮาม-นาร้าง เจียน - จาก โบราณใช้ จากเจียน คู่กันเสมอ บางท่านแปลว่าจากไปนาน โดยถือว่าเจียนมาจากจิร คือ นาน แต่จากทวาทศมาส บทที่ ๔๒ วันเจียนสุดาพินท ภักเตรษ จะเห็นได้ว่า เจียน ตรงกับคำว่า จาก สงาย-ฉงาย-ไกล

เดือนสิบเอ็ดล่วงไปสิบเอ็ดค่ำเดือนมืดพระจันทร์แรม มอญเรียกว่า วันอังคาร จะบรรยายเป็นกาพย์กลอนอันไพเราะยามเมื่อพี่เริศร้างนางไปห่างไกล

(ฉบับเชียงใหม่)

ศุภสารริร่ำถ้อย คราวคราน
หริภุญช์เชษฐ์ชินฐาน ธาตุตั้ง
สารพัดเขตรจักราพาล ฟังตำ บลเนอ
ยามม่อนมัวรสยั้ง จุ่งตั้งสดับสาร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ศุภสารเรียงร่ำถ้อย คราวคราน
หริภุญชัยเชษฐ์สถาน ธาตุตั้ง
สารพัดเขตขาพาล พังด่ำ บลเทอญ
ยามม่อนมั่วรสยั้ง จุ่งตั้งสดับสาร

ศุภสาร-ถ้อยคำอันไพเราะ ริร่ำ-พรรณนา คราน-เคลื่อนไป หริภุญชัย-ลำพูน เชษฐ์-พระพุทธเจ้า ธาตุ-พระเจดีย์ (ถิ่นพายัพ) จักราพาล-ปริมณฑล จักรวาล ฉบับหอสมุดฯ เป็นขาพาล เพราะจักราอ่านเป็น จักขา ต่อมา จัก หล่นหายไป ม่อน-ตัวฉัน เช่น ตัวม่อนน้อยจักกล่าวคำไข มัวรส-มึนเมารสรัก ยั้ง-หยุด

ข่าวสารอันเสนาะเรียบเรียงขึ้นเมื่อเดินทางไปเมืองลำพูนอันเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์พระพุทธเจ้า ผ่านเขตแดนหลายบ้าน เมื่อพี่มึนเมารสรัก จงตั้งใจฟังข่าวสารเถิด

(ฉบับเชียงใหม่)

สงสารสุดแต่ฟ้า อินทร์สงน
นิราศสัตตชน กว่าได้
จักริร่ำยุบล บำราศ นุชนี
เป็นกันโลงหื้อให้ โลกแจ้งใจคะนิง

(ฉบับหอสมุดฯ)

สงสารทุกข์แต่งตั้ง อื่นฉงน
นิราศสัตวชน กล่าวได้
จักริร่ำยุบล บำราศ นุชนี
เป็นคะโลงหื้อให้ โลกแจ้งใจคะนึง

สงสาร-การเวียนว่ายตายเกิด สงน-ฉงน ไกล (ดูบทที่ ๑๔๖) สัต-ดี งาม กว่า-ไป ยุบล-ข้อความ เรื่องราว กันโลง-คะโลง-โคลง หื้อ-ให้ คะนิง-คะนึง

การเวียนว่ายตายเกิด (ความปรวนแปร) เป็นไปตามแต่ฟ้าและพระอินทร์จะบัญชา (?) จึงทำให้ต้องจากผู้ที่ดีงามไปไกลได้ จะเขียนเรื่องจากน้องเป็นโคลงเพื่อให้โลกรู้ถึงความคิดในใจ

(ฉบับเชียงใหม่)

ดวงเดียวดูยิ่งฟ้า อัปสร
เป็นปิ่นกามจร จิ่มเจ้า
บุญบาแต่ปางก่อน ทักตำ นวายฤา
แสนชาติยังยั้งเฝ้า จิ่งรู้ลุคะนิง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ดวงเดียวดูยิ่งฟ้า อัปศร
เป็นปิ่นกามาวจร เจื่องเจ้า
บุญบาปแต่ปางก่อน ทักทำ นายนี
แสนชาติยังยั้งเฝ้า จึ่งล้วนลุคะนึง

ดวง-เป็นลักษณนามโบราณ ในไตรภูมิพระร่วงใช้กับ ขนมต้ม แหวน ไข่ ดอกบัว ดอกไม้ พิณ ทวาทศมาสใช้ ดวงเดียว แทนผู้หญิง คือ นางเดียว เช่นเดียวกับบทนี้ อัปสร-นางฟ้า กามาวจร-โลกแห่งกามมี ๖ จิ่ม-ด้วย เจื่องเจ้า-เชื้อเจ้า เช่น โอรสเชื่องเจ้า องค์เชื่องชั้น จอมเมืองเชื่องไท้-จากเรื่องปลาตะเพียนทอง บา แปลว่า ชายหนุ่ม แต่ในที่นี้ บุญบา ตัดมาจาก บุญบารมี ห. และ ร. บุญบาแต่ปังกร (พระพุทธเจ้าทิปังกร) ตำนวาย-ทำนาย ชี้บ่ง ยั้ง-หยุด ลุน-หลัง เช่น ภายลูนปูนหลัง-ศิลาจารึกสุโขทัย

นางเดียวสวยยิ่งกว่านางฟ้า เป็นยอดในโลกแห่งกาม เป็นเชื้อกษัตริย์ บุญบารมีที่สะสมไว้แต่ชาติก่อนๆตั้งแสนชาติยังรออยู่จนมาทันกันหรือ จึงได้สมกับที่คิดไว้ในภายหลังนี้

(ฉบับเชียงใหม่)

ดวงเดียวอาสาศเสี้ยง ภัทรกัป
ทั้งสี่สรรเพ็ชญ์ลับ ล่วงแล้ว
อาไรยมิทันรับ วรศาส นาเอ่
จงจิ่งลุน้องแก้ว ก่อนเจ้าตุสิดา

(ฉบับหอสมุดฯ)

ดวงเดียวอาสาศเสี้ยง ภัทรกัป
ทั้งสี่สรรเพ็ชญ์ลับ ล่วงแล้ว
อาไรยมีทันผับ วรศาส นาแฮ
เจียนจุ่งละน้องแก้ว ก่อนแล้วดุสิดา

ดวงเดียว-องค์เดียว หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เหลืออีกองค์เดียวในภัทรกัปนี้ (ดูบทที่ ๕ ประกอบ) อาสาศ-น่าจะเป็นอ้าศาสน์ ถ้าเป็น อาสาทน แปลว่า บรรลุถึง ภัทรกัป-กัปที่มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เช่น กัปปัจจุบันนี้ สรรเพ็ชญ์-หมายถึงพระพุทธเจ้า อาไรย-หมายถึง พระศรีอาริยเมตไตรย สันสกฤตใช้ อาเรยย แผลงเป็น อาไรย ได้ บทที่ ๑๕๓ ใช้ว่า ยังพระอะไรยนาน ลงโลก นี้นอ รับ-คงเป็นคำเดิมในโคลง แต่ทางใต้มาแก้เป็น ผับ ภายหลัง เพราะเห็นว่าสัมผัสซ้ำกับบรรทัดบน ซึ่งแต่เดิมยอมให้ใช้คำซ้ำได้ เช่นตัวอย่างบทที่ ๑๖๐ ผับ-ทั่ว ถ้วนเหมือนในบทที่ ๑๑๔ จงจิ่งลุ-จึงตั้งใจให้ถึง เจียน-จาก ดุสิดา-นางสวรรค์ชั้นดุสิต

พระพุทธเจ้าทรงล่วงลับไปแล้วสี่พระองค์ ยังเหลืออีกองค์เดียวก็จะสิ้นศาสนาในภัทรกัปนี้ พระศรีอาริย์ยังไม่ทันรับช่วงศาสนา พี่จึงตั้งใจให้พบนางซึ่งงามประดุจนางสวรรค์ชั้นดุสิตเสียก่อน (เมื่อถึงสมัยพระศรีอาริย์แล้วจึงจะมุ่งไปนิพพานต่อไป)

(ฉบับเชียงใหม่)

ดวงเดียวดีซ่อนไว้ วางวักษณ์
เขาะขอดหทัยรัก ร่อน้อง
หทยังพี่ยังฝัก ฝังที่ ทิพเอ่
หนแห่งอวรโพ้นข้อง ขอดพรี้พัตตมาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ดวงเดียวดีซ่อนไว้ หว่างวรรค
เขาะขอดหทัยลักษณ์ หล่อน้อง
หทยังมียังฝัก ฝังพี่ ทิพเอย
เห็นแห่งอวรโน้นข้อง ขอดผี้พัทมาร

ดวงเดียว-นางเดียว (ดูบทที่ ๕) ดี-สมควร วักษณ์-ทรวงอก เขาะขอด-ทุ่มเทให้หมด ขอด-ทั้งหมด ขูดจนเกลี้ยง ร่อ-บางฉบับเป็น ล่อ ฬ่อ แปลว่า ด้วย กับ ใกล้ หทยัง-หทัย ฝัก-ฝักใฝ่ ทิพ-ชื่อนางศรีทิพ หนแห่ง-แห่งหน ทาง อวร- หมายถึง ตัวนาง โพ้น-โน้น ข้อง-คล้อง ผูก ขอด-ทุ่มเท พรี้-พี้ นี้ บางฉบับเป็นพื้น ร. ว่าเป็น พี้ ล. ว่าเป็น พื้น พัตตมาน-บางฉบับเป็น ปัตตมาร น่าจะเป็น พัทธ์มาน-ผูกพันใจ ร. ว่าเป็น พัทมาลย

นางเดียวสมควรซ่อนไว้หว่างอก ทุ่มเทหัวใจรักอยู่ใกล้น้อง ใจพี่ยังฝักใฝ่ฝังใจอยู่กับศรีทิพ ผูกพันใจคล้องอยู่กับนางที่อยู่ห่างไกลโน้น และผูกอยู่ทางนี้

(ฉบับเชียงใหม่)

ปุณณมีวรมาสมื้อ ผลคุณ
ขงเขตนพบุร ยกย้าย
เดินถวิลแห่งหริภุญ ชัยเชษฐ์ ชิดเอ่
นบธาตุพระเจ้าผ้าย แผ่นค้อมคุงทเล

(ฉบับหอสมุดฯ)

บุญญะมีมาสมื้อ ผลคุณ
ขงเขตในนพบุร โยกย้าย
เดินถวิลแห่งหริภุญ ชัยเชษฐ์ ชิดแฮ
นบธาตุพระเจ้าผ้าย แผ่นค้อมคุงชเล

ปุณณมี-วันเพ็ญ มื้อ-วัน (อีสาน) คราว ผลคุณ-เดือนสี่ เป็นวันเดินทางแล้วกลับมาแต่งโคลงในเดือน ๑๑ ขงเขต-บริเวณ ปริมณฑล เขตแดน เช่น ขงเขตวัด-บริเวณวัด นพบุร-เชียงใหม่ มีชื่อเต็มว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ยกย้าย-กวีทางเหนือนิยมใช้กันเสมอว่า ยกย่างย้ายเทียวเดิน ค้อม-อ้อม คุง-ถึง เช่น คุงฟ้าคุงดิน ชเล-ทะเล น้ำ

วันเพ็ญเดือนสี่ พี่เดินทางจากเมืองเชียงใหม่มุ่งไปสู่ลำพูน เพื่อจะไหว้พระเจดีย์พระพุทธเจ้าตามทางซึ่งโค้งจนถึงแม่น้ำ

(ฉบับเชียงใหม่)

ชลไพรผงแผ่นพื้น บนบด
ภายลุ่มปานจักรกรด เกลือกขว้ำ
พาชีตำเรยรถ ชอนเชือก ชักเอ่
ขุงน่านเรือร้อยลํ้า ไขว่ขว้างขวางนที

(ฉบับหอสมุดฯ)

ชลไพรผงแผ่นพื้น บนบด
พายลุ่มปานจักรกรด เขือกขว้ำ
พาชีดำเรียรถ จรเชือก ชักแฮ
ขงน่านเรือร้อยล้ำ ไขว่ขว้างขวางนที

ไพร -ริม ชลไพร-ริมน้ำ ส. ว่าน่าจะเป็น ชนไป คนไป บด-มืด บังแสง ภายลุ่ม-ภายใต้ เขือก-โกลาหล วุ่นวาย (อีสาน) อาจตรงกับเกลือก เกรงว่า ดำเรีย-ตำเรย-ดำไร คือช้าง ในหนังสือสดุดีสมเด็จพระนารายณ์ว่า ใช้ควาญตำเรียไปคล้องช้าง รถ-เกวียน ชอน-เทียม ผูกเข้ากับ เช่น ม้าชอนรถ (ออกเสียงว่า ม้าจอนรถ) ร. เป็น รถ จรเชือก ชักเอ่ ขุง-ขง-อาณาเขต น่านน้ำ (ดูบทที่ ๕๓ ด้วย) ร้อยล้ำ-กว่าร้อย ส. ว่าเป็น ลอยล้ำ ขว้าง-ขวาง ห. ว่าเป็น คว้าง

ริมน้ำขุ่นจนมองไม่ทะลุลงไป แต่ข้างล่างน้ำเชี่ยวดังจักรกรด วุ่นวายจนจะพลิกคว่ำ ช้างม้าผูกเชือกติดกับเกวียนดึงไป น่านน้ำมีเรือกว่าร้อยลำขวักไขว่ขวางแม่น้ำ

๑๐

(ฉบับเชียงใหม่)

นบพระวรเชษฐช้อย ศรีสิงห์
สาเทพแปงเบงจาจริง จิ่งผ้าย
เชิญวานเทพดลถลิง ถลากระหม่อม บารา
เทาดำเนินเยื้อนย้าย พร่ำพร้อมเดินเดียว

(ฉบับหอสมุดฯ)

นบวรเชษฐ์สร้อย สิหิงค์
ลาเทพเบญจาจริง จึ่งผ้าย
เชิญวานเทพดลถลิง ถลากระหม่อม เรียมเฮย
เทาดำเนินเยื้อนย้าย พร่ำพร้อมเดินเดียว

เชษฐ์-หมายถึงพระพุทธเจ้า ช้อย- ส. ว่ามาจาก สร้อย แปลว่างาม ศรีสิงห์-พระพุทธสิหิงค์ ทางภาคเหนือเรียกว่าพระสิงห์ สา-ไหว้ ตัดจากสาธุ แปง-กระทำ เบงจา-เบญจา ตัดจากเบญจางคประดิษฐ์ ในนิราศพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรฯ ใช้ว่า พอถึงที่อุโบสถน้อม เบญจางค์ ดล-ถึง ถลิงถลา-รีบด่วน ตราตรึง บา-ชายหนุ่ม เทา-เดิน เยื้อนย้าย-เยื้องกรายเป็นขบวน พร่ำพร้อมเดินเดียว-ทั้งสิ้นคนเดียว

ไหว้พระพุทธสิหิงค์ (ซึ่งอยู่ที่วัดพระสิงห์) กระทำเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงเดินทางไป เชิญเทพช่วยส่งข่าวถึงนางซึ่งตราตรึงกระหม่อมของพี่ด้วย (คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปล ถลิงถลา ว่า ปกป้อง) พี่เดินไปรวมทั้งสิ้นคนเดียว เชิญวานเทพดล- ล. ว่าเป็น วานดลเจตใจ

๑๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาเถิงปราสาทสร้อย สิงห์สอง
โอนอำรุงทิพทอง ที่อ้าง
เบญจาจำเนียรปอง ปดตำ งนรา
จำจากแล้วแล้งร้าง ชาตินั้นฤาดี

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาถึงปราสาทสร้อย สิงห์สอง
โอนต่ำลงทิพทอง ที่อ้าง
เบญจาจำเนียรปอง ปดต่ำ งนรา
จากจ่ำเลวแล้วร้าง ราศนั้นฤาดี

อำรุง-บำรุง ทิพ-ชื่อนาง เบญจา-ศีลห้า (ดูบทที่ ๑๒๙ ด้วย) ปด-ปลด ตำงน-ทำงน คือ ห่วงใย หนัก ชาตินั้น-เยี่ยงนั้น

ลาทั้งปราสาทและสิงห์คู่ (ที่ประตูวัด) ขอให้โอนบุญที่กระทำไปบำรุงนางศรีทิพด้วย ปฏิบัติศีลห้ามาเนิ่นนาน เพื่อจะปลดความทุกข์ที่ห่วงใย การที่จำต้องเริศร้างจากกันอย่างนี้หรือจะดี

๑๒

(ฉบับเชียงใหม่)

ทุงยูศรีเกิดใกล้ ปราเกียร
สามสี่อาวาเจียน จิ่มไหว้
กุศลพี่ทำเพียร นพราช เดียวเอ่
มิใช่จงห้องใต้ แต่พื้นรสาดล

(ฉบับหอสมุดฯ)

ธรยูคีรีเกิดใกล้ ผาเกียร
สามสี่อาวาสเจียน จิ่มไหว้
กุศลพี่ทำเพียร พบราช เดียวเอย
มิใช่จงหวังได้ แต่พื้นรสดล

ทุงยู-ชื่อวัด ตรงกับ ห. ศรีเกิด-ชื่อวัด ในสมุดไทยบางเล่มก็เป็น ทุงยู ศรีเกิด เหมือนกัน ปราเกียร-ปร ออกเสียงเป็น ผ จึงเป็นผาเกียร ติดวัดสองวัด ข้างต้นมีวัดชัยพระเกียรติ ซึ่งชาวบ้านเรียก ปราเกี๋ยน อาจตรงกับวัดนี้ หรือมิฉะนั้นก็อาจแปลได้ว่า ปราการ คือกำแพง อาวา-อาวาส เจียน-จาก จิ่ม-บ้าง ด้วย ราช-แสดงว่านางศรีทิพมีเชื้อเจ้า จง-ประสงค์จงใจ พื้น-ชั้น รสาดล-ชั้นบาดาล

จากมาถึงวัดทุงยู วัดศรีเกิด และวัดชัยพระเกียรติ จึงไหว้วัดทั้งสามสี่วัดนี้ พี่พากเพียรทำกุศล เพื่อให้ได้พบน้องคนเดียวเท่านั้น ไม่ประสงค์ที่จะไปเกิดในโลกหรือสวรรค์อื่นใด

๑๓

(ฉบับเชียงใหม่)

กุฏารามรอดด้าน หลวงเหลียว
ถวายกระพุ่มทางเทียว หว่านไหว้
ทำบุญเพื่อผลเยียว พลัดแม่ นาแม่
เถิงถาบอุปแปนได้ แต่ซ้ำปรารถนา

(ฉบับหอสมุดฯ)

กุฏารามรวดด้าน หลังเหลียว
ถวายกระพูมมือเทียว หว่านไหว้
ทำบุญเพื่อผลเยียว ผัสแม่ นาแม่
ถึงถาบอุปแปนได้ แต่ซ้ำปรารถนา

กุฏาราม-เรือนมียอด เช่น ปราสาท ในที่นี้เป็นชื่อเดิมของวัดเจดีย์หลวงซึ่งมีเจดีย์สูงตระหง่านเห็นไปได้ทั่วเมืองเชียงใหม่ รอด-ถึง หลวง-ใหญ่ เทียว-เดิน หว่านไหว้-เป็นคำใช้คู่กัน เยียว-เยียวยา รักษา เถิง-ถึง ถาบ-ตราบ ร. ว่าเป็น ถับ อุปแปน-อูปแป้น เป็นชื่อวัดร้างไปกว่าร้อยปีแล้ว

ถึงวัดใหญ่ชื่อกุฏาราม (วัดเจดีย์หลวง) เดินไปไหว้ไป ทำบุญครั้งนี้เพื่อหวังผลที่จะแก้ไขที่ต้องพลัดพรากจากนาง จนกระทั่งถึงวัดอูปแป้นก็ได้แต่ตั้งความปรารถนาอีกครั้งหนึ่ง

๑๔

(ฉบับเชียงใหม่)

เห็นหอมังราชเจ้า สูงศักดิ์
ยังบ่ลืมอารักษ์ ราชไหว้
อังเชิญช่วยพิทักษ์ เทียมที่ คะนึงรา
ยามม่อนมัวแกมใกล้ ร่วมเร้าไชยบาล

(ฉบับหอสมุดฯ)

เห็นหอมังราชเจ้า สูงศักดิ์
ยังบลืออารักษ์ ราชไหว้
อังเชิญช่วยพิทักษ์ เทียมพี่ คะนึงนา
ยามม่อนมัวเกลียดใกล้ ร่วมเร้าชัยบาน

หอมังราช-หอของพระเจ้ามังราย (พงศาวดารโยนก เรียกผิดเป็นเม็งรายไป) อยู่สี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ เดี๋ยวนี้มีแต่ต้นโพธิ์ ยังบลืออารักษ์-ยังปกปักรักษาอยู่หรือไม่ อังเชิญ-อัญเชิญ ม่อน-ฉัน แกม-ส. ว่าเป็น เกลือกกลั้ว แกมใกล้-ห. เป็น เกลียใกล้ ชัยบาน-เครื่องดื่มในการมีชัย

เห็นหอมังราชของพระเจ้ามังรายผู้มีศักดิ์สูง ยังไม่ลืมไหว้เทวดาอารักษ์ ขอเชิญให้ช่วยปกป้องดังที่คิดไว้ เมื่อฉันได้ใกล้นางก็จะได้ถวายเครื่องดื่มฉลองชัย

๑๕

(ฉบับเชียงใหม่)

อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ
เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า
เทียนทุงทีปจักถวาย เป็นส่วน บุญเอ่
จูงจ่องเมือเมืองฟ้า เสพสร้างสุราลัย

(ฉบับหอสมุดฯ)

อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ
เชิญส่งศรีทิพนาย หนี่งร้า
เทียนทุงพี่จักถวาย เป็นส่วน บุญแฮ
จูงจ่องเมื้อเมืองฟ้า เสพสร้างสุราลัย

ศรีทิพนาย-หมายถึง นางศรีทิพ ห. เป็น ทิพนงคราย นาย-ทางพายัพใช้เรียกสตรีได้ ภาษาไทยปัจจุบันก็มีใช้ เช่น คุณนาย ทุง-ธง มีความกว้างสอบลงมายาวกว่าธง ทีป-ประทีป จ่อง-เกาะหลัง เมือ-ไป เสพสร้าง-ห. และ ร. ว่าเป็น เสพซร้อง สุราลัย-สวรรค์

ขออาราธนาพระเจ้ามังรายซึ่งเป็นเทพารักษ์ให้ช่วยส่งนางศรีทิพมาให้คนหนึ่ง พี่จะถวายเทียนและธงทำบุญ และจูงกันไปสู่เมืองฟ้าเสวยสุขในสวรรค์ (ส. แปลว่า จูงมังรายไปสู่เมืองฟ้า ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า)

๑๖

(ฉบับเชียงใหม่)

มหาอาวาสสร้อย ศรีสถาน
ชินรูปองค์อุฬาร เลิศหล้า
อมรกตค่าควรปาน บุรีนึ่ง นุชเอ่
ถวายประนมน้อมหน้า เพื่อน้องนาริรมย์

(ฉบับหอสมุดฯ)

มหาอาวาสสร้อย สี่สถาน
ชินรูปองค์อุปปาน เลิศหล้า
อมรกฎค่าควรปาน บูรหนึ่ง
ถวายพระนามน้อมหน้า เพื่อไท้นารีรมย์

มหาอาวาส- ส. ว่าหมายถึงวัดเจดีย์หลวง ศรีสถาน-ตรงกับ ห. ชินะ- ผู้ชนะ หมายถึงพระพุทธเจ้า อุฬาร-โอฬาร ทางภาคพายัพ รูปร่างคล้าย ในบางยุค อมรกต-พระแก้วมรกต นึ่ง-หนึ่ง ไท้-ผู้เป็นใหญ่

อาวาสใหญ่เป็นสถานที่อันเป็นมงคล มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อันเป็นเยี่ยมในโลก พระแก้วมรกตมีค่าเทียบกับเมืองหนึ่ง ถวายสักการะเพื่อให้น้องมีความสุข

๑๗

(ฉบับเชียงใหม่)

อัสดารสแรกสร้าง สูงประมาณ
เทียมแทกตนทรมาน เมื่อเนิ้น
เหมือนพระโพธิไญยญาณ ยังโลก นี้นอ
ยลตำเนินพรี้เทิ้น เทื่อนี้นมัสการ

(ฉบับหอสมุดฯ)

อัษฎารสแรกสร้าง สูงประทาน
เทียมแทบตนทรมาน เมื่อเนิ้น
เหมือนพระวรโพธิญาณ ยังโลก นี้นอ
ปดดำเนินนี้เทิ้น เทื่อนี้มัสการ

อัสดารส-พระอัฏฐารส พระยืนเป็นพระประธานแห่งวัดเจดีย์หลวงในปัจจุบันนี้ เทียมแทก-(สูง) เท่า แทก-เท่า วัด ตนทรมาน-หมายถึงพระพุทธองค์ ซึ่งทรงทรมานท่องเที่ยวสั่งสอนพระธรรมเมื่อทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อเนิ้น-ครั้งกระนั้น ไญยญาณ-ญาณที่ควรรู้ ยัง-อยู่ ปด-โปรด? พรี้-พี้ นี้ เทิ้น-เทอญ เทื่อ-ครั้ง

พระอัฏฐารสเพิ่งสร้างใหม่ๆ สูงประมาณเท่าพระพุทธองค์ เมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่ดูคล้ายกับว่าพระพุทธองค์ยังดำรงอยู่ในโลกนี้ ขอให้เห็นทรงพระราชดำเนินมาทางนี้เถิด จะได้ถวายสักการะในครั้งนี้

๑๘

(ฉบับเชียงใหม่)

สององค์อมเรศเอื้อม อุตรา
ยักษราชถือขัคคา ฝ่ายใต้
เรียมวานว่าหาหา เทวราช รักเอ่
เสียส่ำพรองเกียใกล้ ค่อยค้ำชูชาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

สององค์อมเรศเอื้อม อุตรา
ยักขราชถือขรรคา ฝ่ายใต้
เรียมวานเทพวรา รักษ์ราษฎร์ มวลแฮ
เสียงส่ำเพียงเกลี่ยใกล้ ช่วยค้ำชูเรียม

อมเรศ-อมร เทวดา เอื้อม-เรียง เทียม ใกล้ อุตรา-อุดร ทิศเหนือ ยักขราช ท้าวกุเวร ผู้พิทักษ์ทิศเหนือ รูปเทวดาคู่เดิมพังไปหมดแล้ว ที่อยู่ในปัจจุบันสร้างสมัยเจ้ากาวิละ ขัคคา-พระขรรค์ หาหา-เป็นคำเรียกร้องหรืออัญเชิญ (เช่นเดียวกับ ดูกร) มีใช้ในปัญญาสชาดก ส่ำ-หมู่ ตรงกับ ห. พรอง-พร่อง พ่อง คือ บ้าง เกลี่ยใกล้-แกลใกล้

มีเทวดาสององค์คือท้าวกุเวรอยู่ทิศเหนือ และองค์ถือพระขรรค์อยู่ทิศใต้ พี่เรียกร้องให้เทวดาช่วยค้ำชูพี่ด้วย

๑๙

(ฉบับเชียงใหม่)

นบพระเสฏฐีแสร้งสร้างเสฐ ฐาถลิง รอดเอ่
บหุ่งเห็นทิพยิง ยิ่งผ้าย
เททรวงกันแสงสวิง เมาราช รักเอ่
เสนบาทอกช้ำช้าย ช่างแต้มเถิงถวิล

(ฉบับหอสมุดฯ)

นบเชษฐ์แซงซ่างไซร้ ถลาถลิง รอดแฮ
บหุ่งเห็นทิพยิง ยิ่งผ้าย
เททรวงกรรแสงสวิง มัวราช นักเอย
เสน่ห์บาดอกซ้ำร้าย ร่างแต้มถึงถวิล

เชษฐ์-พระพุทธรูป แสร้งสร้าง-ตั้งใจสร้าง เสฐฐา-ชื่อวัดร้าง แซงซ่างไซร้-ผู้สื่อข่าว? มหาชาติคำหลวงกัณฑ์ชูชกใช้ว่า กูนี้เป็นบาแดงแทรงไซ้ สารส่งให้มาทูล ข่าวแล ถลาถลิง-โดยด่วน (ดูบทที่ ๑๐) รอด-ถึง บหุ่งเห็น-ไม่เห็นถนัด (อีสาน) ส.ว่า บ่ห่อนเห็น ทิพ-นางศรีทิพ ยิง-หญิง ผ้าย-ไป เท-รื้อ (ถิ่นพายัพ) สวิง- สวิงสวาย เมา(รัก)-หลงรัก เสนบาท-เท้าแดง ล. เป็น แสนบาด ซ้ำร้าย- ยิ่งร้าย ช่างแต้ม-ชื่อวัด แปลว่า วัดที่นายช่างชำนาญทางวาดรูปสร้างไว้ ร่างแต้ม-เขียนจดหมาย แต่ตอนนี้เช้ามืดและกำลังเดินทาง ผู้ดัดแปลงเป็นโคลงภาคกลางคงไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้

ไหว้พระพุทธรูปขอให้ส่งข่าวสารถึงนางโดยด่วน มองไม่เห็นน้องหญิงศรีทิพ ยิ่งรีบเดินไปเปิดใจให้เห็น และร้องไห้ด้วยความหลงรักเจ้านาง ความรักบาดอกร้ายยิ่งนัก ถึงวัดช่างแต้มทำให้คิดถึงนาง

๒๐

(ฉบับเชียงใหม่)

เจ็ดลินลุแล้วเล่า ศาลา เลิศเอ่
คองคู่สายเสนหา แห่งหั้น
วรลักษณ์เลิศรสา สวรรค์เทพ ทิพเอ่
สาแผ่นผืนใดดั้น พี่ด้นหาอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลลินลุแล้วเล่า ศาลา เลิศแฮ
ครองคู่สายเสน่หา แห่งหั้น
วรลักษณ์เลิศสวรรคา เทพทิพ เรียมเอย
สามแผ่นผืนใดดั้น พี่ด้นหาอวร

เจ็ดลิน-ชื่อวัดร้างอยู่ใกล้วัดช่างแต้ม ต้นฉบับเขียน ๗ ลิน ผู้ดัดแปลงอ่านเลข ๗ เป็น ล ไป จึงเป็น ลลิน ลุ-ถึง คอง-ระลึกถึง คอย แห่งหั้น-ที่นั้น เลิศรสา-ล. ว่าเป็น เลิศรักษา สา-แม้หาก สามแผ่นผืน-สามโลก ดั้น-ใช้คู่กับด้น

ถึงวัดเจ็ดลินมีศาลาอันดีเยี่ยม นึกถึงนางอันเป็นที่รักอยู่ที่นั่น นางศรีทิพผู้มีลักษณะดีเลิศของพี่หากไปอยู่โลกไหน พี่ก็จะดั้นด้นค้นหานางไป (แปลตามต้นฉบับเชียงใหม่)

๒๑

(ฉบับเชียงใหม่)

มรรคาทวารต่อตั้ง อาราม นึ่งแม่
เป็นปิ่นบุรีนาม ฟ่อนสร้อย
ดวงเดียวนึ่งนิดสนาม สนิทเช่น ชินเอ่
ปลอมแปลกนุชเนื้อน้อย เลิศผู้ผิดองค์

(ฉบับหอสมุดฯ)

มรรคาทวารทอดตั้ง อาราม หนึ่งแม่
เป็นปิ่นบูรีนาม ฟ่อนสร้อย
ดวงเดียวหนึ่งนิศยาม สนิทเชฐ์ ชิดแฮ
ปอมแปกนุชเนื้อน้อย เลิศผู้ผิดองค์

ปิ่น-เป็นเครื่องเชิดดูหน้าตา ดวงเดียว-องค์เดียว (ดูบทที่ ๕) นิดสนาม-ส. ว่า ตั้งอยู่ ชินเชฐ์-หมายถึง พระพุทธเจ้า ปลอมแปลก-เข้ามาปนอยู่

ตามทางเดินมีอารามหนึ่งตั้งอยู่ต่อกับประตู ชื่ออารามฟ่อนสร้อย เป็นเครื่องประดับเมืองชั้นยอด มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งทำให้น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า ภาพนางเข้ามาปนอยู่ด้วย งามวิเศษกว่าผู้อื่น

๒๒

(ฉบับเชียงใหม่)

จากเจียนฉ้อฟ้าโลก ลงดิน แดฤา
มุขมาศนาสายิน ยิ่งแต้ม
ยามยลพี่ชุนถวิล ถวายอำ รุงเอ่
ไขโอษฐ์อินทร์ฟ้าแย้ม พี่แย้มยังทวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

จากเจียรช่อฟ้าลาศ ลงดิน แด่ฤา
มุขมาศนาสายิน ยิ่งแต้ม
ยามยลพี่จนถวิล ถวายอำ รุงเอย
ไขโอฐดินฟ้าแย้ม พี่แย้มยังทรง

เจียน-ใช้คู่กับ จาก จากเจียน-จาก ฉ้อฟ้า-หกฟ้า บทที่ ๑๐๐ ใช้ หกสวรรค์สี่ธรณี ห. เป็น ลาศ แต่ดูฉบับสมุดไทย ส่วนมากก็เป็น โลก มุขมาศ- ส่วนของอารามที่ยื่นออกมาทำด้วยทอง นาสา- ตัวไม้เบื้องบนประตู ยิน-จะงอย หงอน แกะเป็นรูปครุท ยิ่งแต้ม-ยิ่งกว่าวาด ชุน-เดิน อำรุง-บำรุง ไขโอษฐ์- อ้าปาก (ดูบทที่ ๑๔๔) ทวง-ทรวง ห. ว่าเป็น ทวง

อารามฟ่อนสร้อยนี้จากสวรรค์ชั้นหกลงมาสู่ดินหรือ มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นทอง ตัวไม้เบื้องบนประตูแกะเป็นรูปครุฑ เมื่อพี่ได้เห็นก็เดินไป คิดที่จะบำรุงรักษาไป เห็นรูปเทวดาอ้าปากแย้มสรวลก็ทำให้พี่พลอยสบายใจด้วย

๒๓

(ฉบับเชียงใหม่)

จงใจปราสาทสร้อย สวัสดา
บุญจึ่งจักขูณา รอดเรื้อง
เชียงสงพี่สงหา เยาวยอด ยิงเอ่
ชอมช่อตาทุกเบื้อง บ่ได้ยลพะงา

(ฉบับหอสมุดฯ)

จงไปปราสาทฉ้อ อัษฎา
บุญจึ่งลักกุนา รอดเรื้อง
เชียงส่งพี่ส่งหา เยาวยอด ยิ่งแฮ
ซอมชอกตาทุกเบื้อง บ่ได้ดลพงา

จง-ตั้งใจ ฉ้อ-ฉ หก สวัสดา หมายถึง ศาสดา คือพระพุทธเจ้า จิ่ง-จึ่ง ขูณา-กรุณา เชียงส่ง-ชื่อวัด สง-ประสงค์ ห. เป็น เชียงสงพี่สงหา ชอมช่อ-ซ่อมซ่อ แสดงอาการหดห่อไม่ผึ่งผาย คุณโสม พัตรสันดร ว่าทางอีสานแปลว่า ตั้งตาคอยดู ฉบับหอสมุดฯ คัดผิดเป็น ซอมชอก แต่ในสมุดไทยทั้ง ๔ เล่ม เป็น ชอมช่อ เบื้อง-ข้าง เป็นลักษณนามของตา

ตั้งใจมั่นขอให้ปราสาทช่วย ถ้ามีบุญก็คงจะกรุณาให้บรรลุถึงความรุ่งเรือง ถึงวัดเชียงสง พี่ประสงค์พี่จะพบยอดหญิง ให้หดหู่เพราะตาทั้งสองข้างมิได้เห็นนางเลย

๒๔

(ฉบับเชียงใหม่)

ลุเถิงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
เอียงอาศประการสอง เขื่อนขั้ง
เหราเฟือดฟัดฟอง คือคร่าย งามเอ่
หอเลิศเลอต้ายตั้ง ข่ามข้าเสิกแสลง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
เวียงวาสปราการสอง เขื่อนขั้ง
เหราเฟือดฟัดฟอง คือค่าย งามเอย
หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าศึกแสลง

หม้า-เป็นคำวิเศษณ์ประกอบคำว่า ใหม่ ใหญ่ ยักษ์ พจนานุกรมลาวว่า งาม สูง เวียง-เมือง วาส-บ้าน ที่อยู่ ฉบับเชียงใหม่ใช้ อาศ ซึ่งควรเป็น อาจ แปลว่า กำแพง ปราการ-กำแพง ขั้ง-กั้ง กั้น เหรา- สัตว์จำพวกจระเข้ บทมโหรีโบราณมีว่า “บิดานั้นนาคา มารดานั้นเป็นมังกร มีตีนทั้งสี่ หน้ามีทั้งครีบทั้งหงอน เป็นทั้งนาคทั้งมังกร เรียกชื่อว่าเหราเอย” เฟือด-ฟาด คำที่ไทจ้วงใช้สระเอือ ตรงกับคำที่ภาคกลางใช้สระอาและคำที่ไทจ้วงใช้สระอา ตรงกับคำที่ภาคกลางใช้สระเอือ มีเป็นจำนวนมาก ฟอง-ลูกคลื่น (ไทขาว) คือ-คูรอบกำแพงเมืองมีไว้กันข้าศึก ค่าย-ฉบับสมุดไทยเป็น ข่าย ทั้ง ๔ ฉบับ (ดูบทที่ ๑๐๑ ด้วย) ส. ว่าเป็น คลาคล่ำ ต้าย-เสาเขื่อน ข่าม-คงกระพันชาตรี ไทเหนือว่าคงทน เสิก-ศึก แสลง-แสยง

ถึงประตูเมืองชื่อประตูเชียงใหม่ มีเมืองบ้านเรือนและกำแพงเขื่อนกั้นสองชั้นจระเข้ฟาดหางอยู่ในคูเมือง หอคอยเหนือเสาเขื่อนคงทนและทำให้ข้าศึกกลัว

๒๕

(ฉบับเชียงใหม่)

มเหสักข์สาธยไท้ ทิพทวาร ท่านเอ่
เชิญช่วยปลดอันผาน เจตชู้
บ่เห็นที่รักคราน ใจเช่น ฉันนี
เมือข่าวไขน้องรู้ ร่วมเบื้องบาถนอม

(ฉบับหอสมุดฯ)

มเหศักขสาดไท้ ทิพทวาร ท่านเอย
เชิญช่วยโปรดอันผ่าน เจตชู้
บ่เห็นพี่รักคราน ใจเช่น ชันนี้
เมือข่าวไขน้องรู้ ร่วมเบื้องยาถนอม

มเหสักข์-มเห+อีศ+อาขยา แปลว่า ที่กล่าวกันว่าเป็นเจ้าใหญ่ สาธย-เทวดา ปลดอันผาน-ปลดซึ่งทุกข์ ห. และ ร. ว่าเป็น ปกอันพาล ชู้-คนรัก คู่รัก คราน- รำคาญ เบื่อใจ? เช่น-ทางพายัพใช้ว่า คะเช่น ออกเสียง คะเจ้น แปลว่ามากเหลือเกิน เมือ-กลับไป ข่าวไข-แจ้งข่าว บา-ชายหนุ่ม หมายถึงตัวผู้แต่ง

ขอเชิญเทวดาผู้เป็นเจ้าใหญ่สิงสถิตอยู่ ณ ประตูนี้ ช่วยเปลื้องความทุกข์ของใจพี่ ไม่เห็นน้องรักทำให้จิตใจเดือดร้อนเหลือเกิน ขอได้กลับไปแจ้งข่าวให้น้องรู้จะได้มาอยู่ร่วมให้พี่ทะนุถนอม

๒๖

(ฉบับเชียงใหม่)

หวังเห็นชม่อยหน้า บุญหนา
วานเทพสมสนองรา รีบร้า
เททรวงปั่นปวงบา อกบ่า บินเอ่
ปลดตำงนไว้ข้า ข่าวน้องนำสนอง

(ฉบับหอสมุดฯ)

หวังเห็นชม่อยหน้า บุญหนา
วานเทพสมสนองรา รีบร้า
เททวนปั่นปองบา อกบ่า บินแฮ
ปดต่ำงนไว้ข้า ข่าวน้องนำสนอง

โคลงบทนี้เป็นกลบทชื่อ สายไหม ทุกบรรทัดมีคำซ้ำกัน แต่มีคำอื่นคั่นกลาง เช่น หน้ากับหนา รากับร้า บากับบ่า และน้องกับ(ส)นอง

ชะม่อย-งามอย่างชดช้อย บุญหนา คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า ผู้หญิง เช่น โอ้แม่บุญหนา แม่บุญเหลือ สมสนองรา-ล. เป็น สมสองรา และ ห. เป็น ส่งสนองรา รา-เราทั้งสอง หน่อยเถิด เททรวง-เปิดอกเปิดใจ ตรงกับ ห. บา- ชายหนุ่มหมายถึงผู้แต่ง บ่า-หว่า คือว้าเหว่ คำอีสานแปลว่า เศร้า สลด ตำงน-ห่วงใย หนัก

หวังได้เห็นหน้านาง ขอวานเทวดาช่วยให้เราอยู่ร่วมกันโดยเร็วด้วยเถิด เปิดใจให้เห็นว่าอกใจพี่ว้าเหว่ ช่วยเปลื้องความทุกข์โดยนำข่าวนางมาให้พี่ด้วย

๒๗

(ฉบับเชียงใหม่)

บุรีทวารต่อตั้ง สมสถาน
นามชื่อศรีมหาทวาร รอดเรื้อง
ทนทุกข์ทินานาน บ่น่อย ทรวงเอ่
ขวัญขอดยังข้อนเบื้อง บ่ายห้อยหนอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

บุรีทวารต่อตั้ง สมสถาน
นามชื่อศรีมหาทวาร รวดเรื้อง
ทนทุกข์ทิวานาน บ่น่อย ทวงเอย
ขวัญขาดยังข้อนเบื้อง บาปห้อยเห็นอวร

ศรีมหาทวาร-ชื่อประตูเมือง ทินา-ทิน วัน น่อย-น้อย ในที่บังคับให้ใช้คำมีไม้เอก บาทที่สี่ ฉบับเชียงใหม่อีกฉบับหนึ่งว่า ขวัญขาดยังข้องเบื้อง บาทห้อยหนอวร-ขวัญขาดไปแต่ยังไปคล้องอยู่ที่เท้านาง ข้อง-สะดุด คล้อง ห. และ ร. เป็น ขวั้น ข้อน-ค่อนไปข้าง บ่าย-เกยกัน ทับกัน

ต่อไปมีประตูเมืองชื่อศรีมหาทวารตั้งอยู่ ทนทุกข์อยู่นานวันมิใช่น้อย ขวัญทั้งสิ้นส่วนใหญ่ไปอยู่กับนาง

๒๘

(ฉบับเชียงใหม่)

พันงอมงามเงื่อนใกล้ สุสาน
เรียมบังคมชินมาร เจื่องเจ้า
หุรังสิ่งสินบาน บ่ใคร่ รักเอ่
ก็ใช่จงจักเฝ้า เทพท้าวเองอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

พันง้อมงามเงื้อนใกล้ สุสาร
เรียมบังคมชิตมาร เจื่องเจ้า
ทุรังสิ้นศิลบาล บ่ใคร่ รักเอย
ก็ใช่จงจักเฝ้า เทพท้าวเองอวร

พันง้อม-ชื่อวัดซึ่งร้างไปนานแล้ว เงื่อน ใช้คู่กับ งาม ชินมาร-ผู้ชนะมาร คือพระพุทธเจ้า เจื่องเจ้า-เชื้อเจ้า ถิ่นอีสานว่ายอดเยี่ยม จอม หุรัง-หุรํ-หุรัม-เบื้องหน้า ภพหน้า บาน-เครื่องดื่ม คงหมายถึง ของกิน เอง-พระองค์เอง (ดูบทที่ ๑๒๘ ด้วย)

ถึงวัดพันง้อมซึ่งสวยงามตั้งอยู่ใกล้กับป่าช้า พี่ไหว้พระพุทธไม่หวังได้ทรัพย์สมบัติเครื่องบริโภคในภพหน้า นอกจากจะตั้งปณิธานขอพบกับนาง

๒๙

(ฉบับเชียงใหม่)

ลุเถิงเถียงเส่าสร้อย ศรีเสถียร
อัสตำเรียรถเกวียน คลื่นเคล้า
ไทเห็นจุฬาเจียน ฉันแม่ มาเอ่
ยลใช่ชีพิตเจ้า ที่ห้อยหฤทัย

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลุถึงเถียงเส่าสร้อย ศรีเสถียร
อัศว์ด่ำเรียรถเกวียน คืดเกล้า
ไทเห็นอุพาเจียน จันแม่ มาแฮ
ยลใช่ชีพิตเข้า พี่ห้อยหฤทัย

เถียง-โรงนา เถียงเส่า-ชื่อวัดร้าง เส่า-หอบ ศรีเสถียร-มีสิริดำรงอยู่อย่างมั่นคง อัส-ม้า ตำเรีย-ช้าง รถ-ในที่นี้ คือ เกวียน คลื่นเคล้า-ต่อเนื่อง เป็นสายดุจลูกคลื่น ไท-หฤทัย ตัดเป็น หทัย ในที่สุดเหลือแต่ไท เช่น หนังสือปลาตะเพียนทอง ใช้ ดวงไธร้อนอ้าว ค่าวพญาพรหมใช้ ระนึก ในไท สมุทรโฆษคำฉันท์ใช้ ราชไทยลูกตน (ดูบทที่ ๗๓ ด้วย) จุฬา - หมายถึง หญิง ล. ว่าเป็น อุฏฐา เจียน - จาก ฉัน-เช่นเดียวกับ ห้อยหฤทัย ไทขาว-แปล ห้อยใจ ว่าติดตรึงใจ

มาถึงวัดเถียงเส่า ช้างม้าเกวียนเต็มไปหมด ใจคิดเห็นเสมือนนางมาหา เพ่งดูแล้วไม่ใช่นางที่ติดตรึงใจพี่

๓๐

(ฉบับเชียงใหม่)

เรียงนั่นอาวาสแก้ว กุฎีคำ
ทุกข์ตำงนเรียมจำ เจตไหว้
เทพาที่ทักทำ พุทธศาส นาเอ่
จำเจตนงน้องไท้ รีบร้าดลเดิน

(ฉบับหอสมุดฯ)

เรียงนันอาวาสแก้ว กุฏิคำ
ทุกทำงนเรียมจำ เจตไหว้
เทพาพิทักษ์ทำ พุทธศาส นาเอย
จำเจตนงค์น้องไว้ รีบร้างคนเดิน

กุฎีคำ-ชื่อวัด ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดธาตุคำ ตำงน (ทำงน) - ห่วงใย หนัก จำเจต-กำหนดใจ คนเดิน-สมุดไทย ๓ ฉบับ เป็น ดลเดิน-เดินถึง

ต่อจากนั้นเป็นวัดกุฎีคำ ความทุกข์หนักทำให้พี่ตั้งใจไหว้เทวดาที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ จิตใจตั้งมั่นอยู่ที่น้อง แล้วรีบเดินทางต่อไป

๓๑

(ฉบับเชียงใหม่)

อารามเรืองรุ่งหั้น เงางาม
เป็นปิ่นบุรีนาม น่างรั้ว
บ่หันนาฏนงราม รไทยสวาสดิ์ สยบเอ่
ทังชื่นชีพิตกั้ว โลกนี้นานนิพาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

อารามเรียงรุ่นหั้น เงางาม
เป็นปิ่นบุรีนาม น่างรั้ว
บเห็นนาฏนงราม บวรสวาท สยบเอย
ทังขื่อชีพิตกั้ว โลกนี้นามนิพาน

หั้น-นั้น เงา-ไทอาหมว่าสว่าง เช่นเดียวกับขัดเป็นเงา น่างรั้ว-ชื่อวัดต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดยางกวง พงศาวดารโยนกว่า พญามังรายไปประทับหาที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ มีพรานเอาอวน (หน่าง) มาล้อมเป็นรั้วรอบค่ายที่ประทับ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า รั้วหน่าง รไทย-หฤทัย ใจ (ดูคำ ไท บทที่ ๒๙) ชื่น-ฉบับหอสมุด เป็น ขื่อ เช่นเดียวกับบทที่ ๖๑ และ ๙๙ กั้ว-กลั้ว ผสม กวน นานนิพาน ร. ว่าเป็น นฤพาน

ต่อไปเป็นวัดอันรุ่งเรืองสว่างงามเป็นยอดแห่งเมือง ชื่อวัดน่างรั้ว ไม่เห็นนางทำให้จิตใจห่อเหี่ยว จนกว่าจะได้ใกล้ชิดกับนาง เพราะว่าโลกนี้กว่าจะถึงนิพพานยังอีกนานนัก

๓๒

(ฉบับเชียงใหม่)

ทวารทองขืมเขื่อนข้า เสิกแสลง
รุธิราชรังรีแปง ใหม่หม้า
เจียนเถิงพี่ยังแยง หาแม่ นะเม่
บ่จวบโฉมสร้อยฟ้า ไต่เต้าตามเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ทวารทองเขิ่มเขื่อนขั้ง ศึกแสลง
รุตราชรังสีแปง หม่ายหม้า
จักถึงพี่ยังแยง หาแม่ นาแม่
บ่จวบโฉมสร้อยฟ้า ไต่เต้าตามเรียม

ขืม-เขิ่ม-ยึดมั่นคง (ไทขาว) บางฉบับเป็น คือ-คู (ดูบทที่ ๑๐๑ ด้วย) ขั้ง-กั้ง กั้น เสิก-ศึก แสลง-แสยง รุตราช-ร. ว่าเป็น รุดราช รัง รี แปง ทั้ง ๓ คำแปลว่า สร้าง รี มีใช้ในจารึกหลักที่ ๑๔ รีสพัง เป็นน้ำอาบน้ำกิน สร้างบ่อน้ำอาบและน้ำกิน หม้า-งาม (ดูบทที่ ๒๔) เจียน-จาก แยง-มอง

ถึงประตูเมืองชั้นที่สอง (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง) มั่นคง มีเขื่อนกั้นทำให้ข้าศึกกลัว ซึ่งรุธิราช (ส. ว่า กษัตริย์พม่าองค์ใดองค์หนึ่ง) สร้างขึ้นใหม่ๆ จากมาถึงนี่พี่ยังมองหานางอยู่ ไม่ประจวบกับเวลาที่นางจะเดินตามพี่มา

๓๓

(ฉบับเชียงใหม่)

คราวนี้พ้นบั้งบาด บุรี นาแม่
รถราชพันรังสี ส่องหล้า
ไกวกงแกว่งเกวียนจี วางเมฆ มาเอ่
เชิญช่วยดับทุกข์ข้า ที่ร้างแรมสมร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ด่าวนี้พ้นบั้งบาด บุรี นาแม่
รถราชพันรังสี ส่องหล้า
ไกวกงแกว่งเกวียนจี วางเมฆ มาแฮ
เชิญช่วยดับทุกข์ข้า ที่ร้างรามสมร

บั้ง-ตอน ระยะ พันรังสี-ผู้มีแสงพันหนึ่งคือพระอาทิตย์ สมัยโบราณถือว่า พระอาทิตย์เสด็จมาบนเกวียน (ดูสมุทรโฆษคำฉันท์) กง-ขอบล้อเกวียน จี-ไช วาง-หว่าง (ดูบทที่ ๗ ด้วย) ราม-ร้าง (ดูบทที่ ๒)

คราวนี้พ้นเขตเมืองมาแล้ว พระอาทิตย์ชักรถไชแสงทะลุระหว่างเมฆลงมาพื้นโลก ขอเชิญพระอาทิตยช่วยดับทุกข์ให้พี่ซึ่งต้องร้างจากนางมา

๓๔

(ฉบับเชียงใหม่)

รถทองเทียมแทกเอื้อม อุสุภา
มิอาจจักคณนา เน่งได้
หางยูงยื่นวาดา เพยเพิก งามเอ่
กลางช่อปักหื้อให้ ก่อมเกี้ยวเวฬี

(ฉบับหอสมุดฯ)

รถทองเทียมแทบเอื้อม อุสภา
มิอาจจักคณนา เนกได้
หางยูงเยื่อนอาภา เพยเพิก งามเอย
ลางช่อปักหื้อให้ กล่อมเกี้ยวเวถี

แทก-เท่า วัด เอื้อม-เทียม อุสุภา-อุสภา-วัวผู้ เน่ง-นิ่ง แน่ แน่ว มหาชาติคำหลวงใช้ว่า “ทางนี้ปัดไปเน่ง” และบทที่ ๘๗ ว่า “ภานุเน่งบรรพต รังเลื่อม มาเอ่” สองแห่งนี้น่าจะแปลว่าตรงแน่ว ในบทที่ ๓๔ นี้ ควรแปลว่า (ให้) ตรงพอดี วาดา-วาตะ ลม เพย-พัด รำเพย เพิก-ถลกออก ช่อปัก-ธงปัก ห. และ ร. เป็น ธวัชปัด เวฬี-หางนกยูง ผูกติดกับไม้ไผ่ อ่านผิดเป็น เวพรี และ เวถี เพราะ ฬ คล้าย พร และ ตร มาก ตร ออกเสียงเป็น ถ ตามหลักการอ่าน (ดูบทที่ ๓๙ และ ๙๕ ด้วย)

รถเทียมด้วยวัวตัวผู้มีมากจนไม่อาจนับจำนวนให้แน่นอนลงไปได้ หางนกยูงยื่นขึ้นไปถูกลมโบกพลิ้วไปมาสวยงามมาก กลางธงปักหางนกยูงให้รัดรอบไม้ไผ่

๓๕

(ฉบับเชียงใหม่)

พลิพัทโคลนคู่ห้อย เดงดัง
พัดใหม่ไหมทอทัง แอกอ้อม
หงส์ทองทอดคานคัง กับโทก เทียมเอ่
เรือนระวังแวดล้อม แสว่เส้นสาณี

(ฉบับหอสมุดฯ)

พริพัดโคมคู่ห้อย ดึงดัง
หัดใหม่ไหมขาวทัง แอกอ้อม
หงส์ทองทอดคลานคลัง กับโทก เทียมเยอ
เรือนร่วงวางวัดส้อม แส่วเส้นสานี

พลิพัท-โคผู้ โคลน-น่าจะเป็น คล-คอ ในบทที่ ๓๕ ก. มีคำว่า โคลนคาน ทางเหนือเรียก แอก ว่า คานคอ เดงดัง-กระดึง ผูกคอวัว พัด-บางฉบับ ใช้ พัศ น่าจะเป็น พัสตร์-ผ้า คัง-ผูกติดแน่น โทก-ทูบ บางถิ่นเรียกว่า ทวก เกวียนที่ทำวิจิตรพิสดารนั้น แอกงอนขึ้นทั้งสองข้างและปลายทูบ (ที่พาดกับแอกนั้น) งอนขึ้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเกวียนและแกะเป็นรูปต่างๆ ในที่นี้แกะเป็นหงส์ หางยูงหุ้มโทกคือหุ้มปลายทูบซึ่งงอนขึ้นนั่นเอง เรือน-ส่วนของเกวียนตอนที่มีลูกกรงไม้สลักเป็นซี่ๆ ล้อมทั้งสี่ด้าน แสว่-สลักไม้ ทางเหนือเรียกสลักหรือกลอนว่า แซ่ แสว่-สอย ปัก ร้อย สาณี-ไหม ม่าน ฉาก มู่ลี่

โคตัวผู้ที่เทียมเกวียนทั้งคู่มีกระดึงผูกที่คอ เชือกแอกผูกคอวัวทำด้วยไหม ทูบแกะเป็นรูปหงส์ทอดอยู่บนแอก เรือนเกวียนมีลูกกรงสลักเป็นซี่ๆ ล้อมรอบเป็นฉากบังอยู่

๓๕ ก.

(ฉบับเชียงใหม่)

ชาวเกวียนกวนเครื่องหย้อง หลายจะบับ
มีทังผะตืนฝาหับ แถบป้อง
โคลนคานคู่ประดับ หงส์รูป งามเอ่
โทกส่งสูงหน้าหย้อง ห่อหุ้มหางยูง

๓๕ ข.

ชุมชายฝูงหนุ่มหน้า ถุงเถิง
นุ่งผ้าเทียะถลุยเชิง ท่อนแต้ม
กนทนสอดตุมเถิง บิดเบี่ยง งามเอ่
ไหลเหลือบแลยว้ายแย้ม ผ่อผู้เทียวมัคคา

โคลง ๒ บทนี้เติมเข้ามาภายหลัง แต่มีประโยชน์ช่วยอธิบายบทที่ ๓๔ กับบทที่ ๑๓๓

กวน-ส. ว่าเป็น หา เลือกสรร หย้อง-งาม แต่ง เช่นคนขี้หย่อง-คนชอบแต่งตัว ภาคกลางเหลืออยู่ในคำว่าทองหยอง จะบับ-ฉบับ ผะตีน-ประทุน หับ-ปิด โคลนคาน-คลคาน-แอก โทก-ทูบ ชุม-หมู่ ถุงเถิง-อ. ว่ากรุ้มกริ่ม เทียะ-ส. ว่ากรีดกราย ถลุยเชิง-มีผู้สันนิษฐานว่า ปล่อยชาย การแต่งตัวจะเป็นแบบไหนนึกภาพไม่ออก ทีจะตรงกับกลอนที่ว่า “เห็นมอญแต่งตัวเดินมากลางทาง ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น เป็นแยบยลเมื่อยกขยับย่าง เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง” ท่อนแต้ม-เขียนรูปเป็นบางส่วน กนทน-ตุ้มหู สมัยก่อนผู้ชายนิยมใส่ตุ้มหูด้วย สมัยนี้ชาวชนบทยังใส่กันอยู่ แต่นิยมใส่เพียงข้างเดียว ตุม-ปล่อยทิ้ง ส. ว่า กลม รี เกลี้ยง บางฉบับเป็น สุบ-สวม ไหลเหลือบ-แลไปมา เลื่อนไหลไป ยว้ายแย้ม-ยิ้มแย้ม ผ่อ-มอง เทียวมัคคา-เดินตามทาง โคลง ๒ บทนี้ไม่มีในฉบับหอสมุด

๓๖

(ฉบับเชียงใหม่)

จากเจียนชม่อยเนื้อ นพมาน
ชรลิ่วแลนงคราญ เคร่าถ้า
เต็มเล็งอื่นใครปาน หฤทเยศ ได้เม่
เจียมบ่รู้เนื้อฟ้า มีผู้ไผยล

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาเจียนชม่อยเนื้อ ทิพมาลย์
ชลิ่วแลนงคราญ คร่าวถ้า
เต็มเลงอื่นใครปาน หัทเยศ เดแม่
เจียรบรู่เนื้อผ้า มิผู้ใครยล

เจียน-จาก ชม่อย-งามอย่างชดช้อย ชรลิ่ว-ลิ่ว ไปไกล เคร่า-รอ คอย ถ้า-คอยท่า บังคับโท มักจะเรียกกันว่าโทโทษ เพราะควรจะเขียนว่า ท่า แต่ฉันทลักษณ์บังคับให้ใช้คำที่มีไม้โท แต่แท้จริงคำดั้งเดิมเขียนว่า ถ้า ไม่ใช่ ท่า สอบดูได้จากสำเนียงภาษาถิ่น ที่ออกเสียง ถ้า ไม่ตรงกับ ท่า แต่ปัจจุบันภาคกลางมาเขียนผิดไปเอง เต็ม-แม้ว่า เท่าว่า เจียม-ถิ่นอีสาน แปลว่า ตั้งแต่ และ เจียมปรางค์ เป็นสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ คุณสงวน รอดบุญ เสนอว่า เจียม ในที่นี้คงจะเป็นสรรพนามหมายถึงผู้แต่งโคลงนั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วย (ดูบทที่ ๖๖, ๗๒, ๑๕๖ ด้วย) ไผ-ใคร

จากนางมาเฝ้าคอยมองหานางมาแต่ระยะไกล ๆ มองหญิงอื่นใครจะเทียบเท่าดวงใจของพี่ได้ พี่ไม่รู้ว่ามีใครกำลังเฝ้ามองน้องอยู่

๓๗

(ฉบับเชียงใหม่)

อุยยานหลายหลากสร้าง สวนสนิท
ชลั่งลายเลือนติด ลูกล้อม
จุกจันจำลองกวิด เกว๋นมาก มีเอ่
หนักหน่วยเนืองเนืองค้อม กิ่งค้อมปถพี

(ฉบับหอสมุดฯ)

อุทยานท่านถากสร้อย สวนสนิท
ชล่ำลายเลยติด ลูกล้อม
จุกจ้นจ่ำลองขวิด เกวนมาก มีแฮ
หนักหน่วงเนืองเนื่องค้อม กิ่งก้านปัฐพี

อุยยาน-อุทยาน ชลั่ง-สล้าง ชลั่งลาย-ชลั่งชลาย ส. ว่าสะพรั่ง บริบูรณ์ ห. และ ร. เป็น ช่อล่ำลาย เลือน-ติด (ไทขาว) ล้อม? เลือนกับล้อม ใช้คู่กันหลายแห่ง (ดูคำอธิบายบทที่ ๑๐๑) ควรแปลว่า เรียง (อีสาน-เลียน) ส. ว่า ทอด (กิ่ง) ไป จุกจัน-ชื่อต้นไม้ ส้มจุก ลูกจัน จำลอง-ชื่อต้นไม้ กวิด-มะขวิด เกว๋น-มะเกว๋น คือตะขบป่า ห. เป็น แขวน หน่วย-ลูกไม้ ห. และ ร. ว่าเป็นน่อม เนืองเนือง-ถ้า เนิ้ง แปลว่า ตกท้องช้าง เช่นต้นไม้เอน ตอนกลางน้อมลง แต่ตอนปลายชูขึ้น เรียกว่า ต้นไม้เนิ้ง หรือเนืองเนืองจะแปลว่ามากมาย เช่นในคำ เนื่องคลื่น ติดต่อเนื่องกันเหมือนคลื่นวิ่งมา กิ่งก้าน ห. และ ร. ว่าเป็น กิ่งก้ม

อุทยานสร้างเป็นสวนมากมาย มีลูกติดล้อมต้นแลสล้างไป มีทั้งส้มจุก ลูกจัน มะขวิด ตะขบป่า ผลไม้มากมายหนักจนกิ่งโค้งลงสู่ดิน

๓๘

(ฉบับเชียงใหม่)

จำปาบุญแบ่งสร้อย สบานงา
เหลืองหล่นเต็มฉายา ยิ่งเคล้า
ปุนเด็ดกีบกับสลา สลายเกศ อวรเอ่
สีเสียดแสนช้ำเล้า เปลี่ยนป้อนปันสลา

(ฉบับหอสมุดฯ)

จำปาบุนแบ่งสร้อย สบารงา
เหลืองหล่นเต็มฉายา คู่เค้า
ปุนเด็ดกีบกับสา ลายแลก อวรแฮ
สีเสียดเสนซ้ำหล้า เปลี่ยนป้อนปันฉลา

สร้อย-ดอกไม้ สบานงา-กระดังงา ฉายา-เงาคือร่มไม้ คู่เค้า อ่านแบบพายัพเป็น กู้เก๊า แปลว่าทุกต้น ปุน-น่า กีบ-กลีบ กับสลา-กับหมาก ตรงกับ ห. และ ร. ลายแลก-ห. และ ร. เป็น หลายแหลก สลายเกศ-คงหมายถึงแซมผม แต่งผม เสน-แดง เล้า-เล่า ร. ว่าเป็น เหล้า สลา-หมาก

มีดอกจำปาและกระดังงาสีเหลืองหล่นอยู่เต็มร่มไม้ทุกต้น น่าจะเด็ดกลีบกินกับหมาก และเหน็บผมนาง สีเสียดแดงแก่ และเปลี่ยนกันป้อนหมาก (รักกันมากถึงกับคายหมากให้อีกคนหนึ่งกินโดยไม่เสียดาย)

๓๙

(ฉบับเชียงใหม่)

มาเทอะจักยื่นไม้ มาลถวาย
แถวถ่องเวฬีสลาย เกศเกล้า
เหมือนนางกินรีทวาย ทัดเมื่อ รำนัน
หลายหลากหลายเล่นเร้า ร่วมชู้ชมผกา

(ฉบับหอสมุดฯ)

มาเทินจักยื่นไม้ มาลถวาย
แถวท่องเวถีสาย เกศเกล้า
เหมือนนางกิรีถวาย ทัดเมื่อ รมย์นา
หลายหลากหลายเล่ห์เร้า ร่วมชู้ชมผกา

มาเทอะ-มาเถิด เวฬี-ไม้ไผ่ ล. เป็นเวณี (ดูคำอธิบายบทที่ ๓๔) คำนี้ คุณธนิต อยู่โพธิ์ เคยสันนิษฐานว่าคงเป็น เวณี อาจเป็นไปได้ เวฬี ตัว ฬ เป็นตัวที่อ่านสับสนกับตัว พ ได้ง่าย และเข้าใจว่า เวณี แผลงเป็น เวฬี ได้ เวณิ-ผมที่ถักปล่อยไว้ กินรีทวาย-ตรงกับ ร. แต่ ห. ว่าเป็น กิริทาย ทวายทัด-ทายทัด ชู้-คนรัก คู่รัก ผกา- ดอกไม้

มาเถิดจะยื่นดอกไม้ถวายให้สำหรับแซมผมตรงที่ถักไว้เหมือนเมื่อนางกินรีทัดดอกไม้ตอนฟ้อนรำ มีดอกไม้มากมายหลายอย่าง จะร่วมกับคู่รักชมดอกไม้กัน

๔๐

(ฉบับเชียงใหม่)

กวาวกวิวอโศกสร้อย สมสุก
อวรอ่อนแกมใบทุก กิ่งก้าน
บ่เห็นนิรมรุก ขาร่ม ยั้งเอ่
เห็นดอกดวงไม้ม้าน เยียะม้านอกเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

กวาวกวิวอโศกสร้อย สุมสุก
อวนอ่อนแกมใบทุก กิ่งก้าน
บ่เห็นนิรมรุกข์ ยังร่ม ยังแฮ
เห็นดอกดวงไม้ม้าน ยิ่งม้านอกเรียม

กวาวกวิว-ทองกวาว ทองกวิว ฉบับเชียงใหม่เป็น กวาวกวิด ก็มี สมสุก-สุมสุก-ส้มสุก ตรงกับ อโศก นี่เอง ยั้ง-หยุดพัก ยังร่ม ยังแฮ-มีร่มอยู่แล ดวง-ดอก (ดูบทที่ ๕ ประกอบ) ม้าน-เหี่ยว เยียะ-ทำ

เห็นทองกวาว ทองกวิว อโศก และส้มสุก มีภาพนางไปแซมอยู่เต็มทุกกิ่งก้าน ไม่เห็นมีที่น่ารื่นรมย์เป็นร่มไม้ให้หยุดพักเลย เห็นดอกไม้เหี่ยวทำให้อกพี่แห้ง

๔๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ภาสุยสดส่งลิ้น เชยเชย
ลำงาดงอนเสลยเสลย สว่างร้อน
อกบาบ่เหยเหย หายเหย ทุกข์นี
ยังกำเดาทุกข์ข้อน ขอดขวั้นขวัญสลาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

พระสูรส่งสัตว์สิ้น เชยเชย
ลำง่างอนเสลยเสลย สว่างร้อน
อกบาบ่เหยเหย หายเหื่อ ทิพเอย
ยังค่ำเคาทุกข์ข้อน ขอดข้อนขวัญสลาย

โคลงบทนี้เป็นกลบท ชื่อ กรพระนารายณ์

ภา-แสง สุย-พระสูร-พระอาทิตย์ ร. เป็น พาสุรส่งสัดสิ้น สด-ทะลุออก พรวดพราดออกมา ส่ง-ส่อง ลิ้น-น่าจะเป็น สิ้น ส. ว่า ช่อง หลืบ ลำงาด-ตรงกับ ร. เวลาเย็น สว่าง-สร่าง บา-ชายหนุ่ม เหย-ระเหย หายเหย-หายเหื่อ-บางฉบับเป็น สักเทื่อ-หายสักที ค่ำเคา-คงคัดผิด ฉบับสมุดไทย ๓ ฉบับ เป็น กำเดา-ร้อน ข้อน-ส่วนมาก หนัก ขอด-ทั้งหมด ขูดจนเกลี้ยง สลาย-แตก ทำลาย

แสงอาทิตย์ส่องทะลุมาร้อน ตกเย็นยังมีวันสร่างความร้อนลง อกพี่ไม่เคยหายทุกข์ร้อนสักครั้ง ยังทุกข์ร้อนหนัก ทำให้ขั้วของขวัญทำลายลงสิ้นเชิง

๔๒

(ฉบับเชียงใหม่)

ยลใครยังร่วมชู้ ชมเมีย
ทานกิ่นกับดวงเพีย เพื่อนพ้อง
เองเดียวทุราเสีย สายเจต นี้นอ
ตายบ่ตายนี้ข้อง ขาดแล้วยังใย

(ฉบับหอสมุดฯ)

ยลใครยังร่วมชู้ ชมเมีย ม่อนแฮ
ถวายกลิ่นกับดวงเพีย เพื่อนน้อง
เองเดียวทุราเสีย สายเจต นี้นอ
ตายบ่ตายนี้ข้อง ขาดแล้วยังใย

ม่อน-ฉัน ที่ถูกควรเป็น ม่วน-สนุก ดวง-ดอก (ดูบทที่ ๕ ประกอบ) เพีย-ถ้าเพียะ แปลว่า เทียบกัน อวด ถ้า พเยีย อย่างใน ร. แปลว่า พวงดอกไม้ เองเดียว-คนเดียว ทุรา-ไกล ลำบาก เสีย-ทิ้ง ข้อง-สะดุด คล้องอยู่

มองดูใครๆก็อยู่คู่กับคู่รักหรือภรรยา มีความสนุกสนาน ดมกลิ่นและเก็บดอกไม้เปรียบเทียบกันกับเพื่อน แต่พี่คนเดียวทิ้งสายใจมาเสียไกล ตายก็ไม่ตายเสียรู้แล้วรู้รอดไป นี่ขาดแล้วยังเหลือใยคล้องอยู่

๔๓

(ฉบับเชียงใหม่)

รถทองยังยิ่งร้อย เรียงกง
เวหาสเห็นธุลีลง ลุ่มเต้า
อกเรียมเปื่อนเป็นผง ยวนย่อย ยุบเอ่
ชรลิ่วเล็งแล้งเจ้า จิ่มชู้ชาทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

รถทองยังยื่นร้อย เรียงกง
เวหาสเห็นธุลีลง ลุ่มเท้า
อกเรียมบิ่นเป็นผง ยับย่อย ยุบเอย
ชลิ่วเลวแลงเจ้า จิ่มชู้ชาทอง

กง-วงล้อของเกวียน ลุ่มเต้า-ลงไปข้างล่าง ลงไปมากมาย เปื่อน-พจนานุกรมว่า กระสับกระส่าย แต่ในที่นี้แปลว่า ละเอียด (ลาว-เปียน พายัพ-เปี๋ยน) ยวน-ส. ว่า อ่อน ละเอียด ชรลิ่ว-ไกลลิบ แล้ง-ไม่มี จิ่ม-พร้อมด้วย ใกล้ ชู้-คนรัก คู่รัก

เกวียนแล่นไปเป็นแถวกว่าร้อยคัน มองเห็นฝุ่นแต่ท้องฟ้าลงมาถึงข้างล่าง อกพี่เปื่อยเป็นผงละเอียด เพ่งดูนางแต่ไกลไม่พบนาง อกพี่ชาไปกับคู่รัก

๔๔

(ฉบับเชียงใหม่)

รำนึกหน้าน้องนาฏ นงราม
เจียนจากเถิงกุมกาม ก่อนแก้ว
บ่เห็นพะงางาม เทาทะง่อง ดูเอ่
เสียงส่ำกงอือแอ้ว ใช่อั้นอวรทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

รำนึกหน้าน้องนาฏ นงราม
เจียนจากถึงกุมกาม ก่อนแก้ว
บเห็นพงางาม เทาทะง่อง ถูเอย
แสนล่ำกงื้อแอ้ว ใช่อั้นอรทอง

รำนึก-ระลึก เจียน-จาก กุมกาม-ชื่อเมือง (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง) เทาทะง่อง-ควรจะเป็น ได้แต่จ้อง เท่า-ได้แต่ ทะง่อง-ตระง่อง-จ้อง ส่ำ-หมู่ อือแอ้ว-เสียงเกวียนดังออดแอด อั้น-นั้น ใช่อั้น-ใช่กระนั้น ในที่นี้แปลว่า มิใช่

ยังนึกถึงหน้านาง พี่จากมาถึงเวียงกุมกามก่อนนาง ไม่เห็นเธอได้แต่คอยจ้องดู ได้ยินแต่เสียงเกวียนดังออดแอด ไม่ใช่(เสียง)นาง

๔๕

(ฉบับเชียงใหม่)

อารามรมเยศเมิ้น มังราย
นามกู่คำหลวงหลาย เช่นท้าว
หกสิบสยมภูยาย ยังรอด งามเอ่
แปลงคู่นุชน้องน้าว นาฏโอ้โรทา

(ฉบับหอสมุดฯ)

อารามรมเยศเมิ้น มังราย
นามคู่คำหลวงหลาย เช่นท้าว
หกสิบเสียมผู้ยาย ยังรอด รามแฮ
แปงคู่นุชน้องเหน้า นาทโอ้โรทา

เมิ้น-ถ้า เมิน-นาน ถ้า เมิล-ดู มังราย-ชื่อพญามังราย (เรียกผิดเป็นพญาเม็งรายตามพระยาประชากิจกรจักร) กู่-ที่บรรจุอัฐิ เจดีย์ กู่คำ-เจดีย์ทอง (ชื่อวัด) บัดนี้เปลี่ยนเป็นวัดเจดีย์เหลี่ยม หลวง-ใหญ่ หลายเช่นท้าว-หลายชั่วกษัตริย์ สยมภู-เกิดด้วยตนเอง ในที่นี้หมายถึงพระพุทธรูป ยาย-เรียงราย ยังรอด-มีอยู่ตลอด แปงคู่-บางฉบับเป็น แปงกู่ คือสร้างเจดีย์ โรทา-โรท ร้องไห้ ถ้าเป็น โอโรทา แปลว่า นางสนม ห้องพระมเหสี

วัดอันน่ารื่นรมย์ของพญามังราย ชื่อกู่คำหลวง สร้างไว้นานหลายชั่วกษัตริย์แล้ว มีพระพุทธรูปหกสิบองค์เรียงรายอยู่ตลอด ดูงาม สร้างเจดีย์ไว้กระดูกนางสนมของท่าน (ดูเรื่องประกอบใน “อธิบายความเบื้องต้น” ในเล่มนี้)

๔๖

(ฉบับเชียงใหม่)

ชินพิมพิงเจตสร้าง สมาธิ อยู่เอ่
โอนอำรุงเรียมริ ร่ำไหว้
ขอพรอาจอาทิ เทียมที่ คะนึงรา
สองเสศถวายหื้อได้ แด่จ้อนชิดสิเนห์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ชีนพิมพ์เพิ้งเจตสร้าง สมาธี อยู่แฮ
โอ้อำรุงเรียมรี ร่ำไหว้
ขอพรอาดอาที เทียมพี่ คะนึงรา
สองเสร็จถวายให้ได้ แด่ซ้อนสิเน่หา

ชินพิม ชีนพิมพ์-พระพุทธรูป พิงเจต-เป็นที่พักพิงของใจ เพิ้งเจต-เพิงใจ พึงใจ อำรุง-บำรุง อาด-งาม (อีสาน) ใหญ่ (ล้านนา) อาทิ-ข้อต้น จ้อน-ทำให้สั้นเข้า สิเนห์-เสน่หา

พระพุทธรูปซึ่งพอใจสร้างเป็นปางสมาธิ พี่ไหว้ขอพร ประการต้นให้เป็นดังที่พี่คิด ขอให้สำเร็จ ให้ทั้งสองได้อยู่ร่วมกันด้วยความรัก

๔๗

(ฉบับเชียงใหม่)

ธาดามังราชเจ้า จุพาลักษณ์
สาส่วนเป็นอารักษ์ ใฝ่เฝ้า
อังเชิญส่งสารอัคร ชาเยศ มารา
เป็นดังฤาร้างเจ้า จากข้าใครโลม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ธาดามังราชเจ้า จุพาลักษณ์
สาส่วนเป็นอารักษ์ ใฝ่เฝ้า
อังเชิญส่งสารอัคร ชาเยศ มารา
เป็นดังฤาร้างเจ้า จากข้าใครโลม

ธาดา-ผู้สร้าง มังราช-มัง (ราย) ราช จุพาลักษณ์-อาจเป็น จุฬาลักษณ์ หมายถึงมเหสีของพญามังราย สา-ไหว้ อังเชิญ-อัญเชิญ มารา-มาเถิด ดังฤา-เหตุใด โลม-ปลอบโยน โลมเล้า

ไหว้มเหสีของพญามังราย ซึ่งเป็นเทพารักษ์ปกปักรักษาอยู่ ขออัญเชิญให้ส่งข่าวภรรยามาให้ด้วย เหตุใดต้องจากเจ้ามา พี่ไม่อยู่ใครจะปลอบโยนหรือโลมเล้าน้อง

๔๘

(ฉบับเชียงใหม่)

ดังฤาร้างแก้วก่อน กรรมสัง
รอยแม่งสาริรัง ราชรื้อ
บพิตรพระเมืองมัง รายราช รักเอ่
เชิญทำนวายนั้นหื้อ ค่อยแก้กรรมเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ดั่งฤาร้างแก้วก่อน คำสัง
รอยแม่งสารีรัง นิราศรื้อ
บพิตรพระเมืองมัง รายราช รักษ์เอย
เชิญต่ำนวายนั้นหื้อ ค่อยแก้คำสนอง

ดังฤา-เหตุใด สัง-อะไร รอย-ชะรอย แม่ง-พราก รื้อ (ดูบทที่ ๑๗๖) สารีรัง-สรีระหรือสาริกธาตุ รังนกขุนทอง? (ดูบทที่ ๖๒) ราชรื้อ-ฉบับเชียงใหม่เป็น นิราศรื้อ ก็มี ต่ำนวาย-ทำนาย คุณสงวน รอดบุญ ว่าคำเขมร แปลว่า ชี้ บ่ง

เหตุใดจึงพรากจากนางมา ได้ทำกรรมอะไรไว้ครั้งก่อน ชะรอยจะรื้อพระธาตุ (หรือพรากนกจากรัง) ขอเชิญพญามังรายช่วยชี้ให้เห็นและแก้บาปกรรมพี่ให้หายด้วย

๔๙

(ฉบับเชียงใหม่)

อรรณพพระขวางขั้นขอบ พิงเพิง รอดเอ่
ผืนแผ่นสุยลงเลิง ลวดยั้ง
คองเห็นที่รักเทิง ใจเช่น ครานี
ยลอื่นสันเสี้ยนตั้ง ตอกไว้วักษณ์เรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

อรรณพขวางขั้นขอบ พิงเพิง รอดเอย
ผืนแผ่นลุยลงเลิง ลวดยั้ง
คองเห็นพี่รักเทิง ใจเช่น ครานี
ยลอื่นใส่เศียรตั้ง ต่อไว้วรรคเรียม

ท่านมหาหมื่นอธิบายว่า เดิมแม่น้ำปิงไหลไปทางวัดพระนอนบ้านพิง หนองผึ้ง ต่อมาขุดคลองลัด แต่น้ำก็ยังไม่ไหลไปทางเดิม จึงต้องสร้างพระนอนขึ้นกั้นน้ำ ตั้งแต่นั้นน้ำก็ไหลไปตามคลองลัด

พิง-แม่น้ำปิง รอด-ตลอด ถึง สุย-พระอาทิตย์ หยิมๆ (ฝนตก) เลิง-เตร่ นาน คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ ยกตัวอย่างว่า คนเลิง-คนไปนานๆ ส. ว่า สมํ่าเสมอ ลวดยั้ง-เลย หยุด คอง-คอย เทิง-เติง-เมา เช่น-คะเจ้น-มากเหลือเกิน สัน-ฉัน เช่นเดียวกับ ตั้ง-ทิ่ม วักษณ์-ทรวงอก

พระนอนขวางตลอดแม่น้ำปิง พระอาทิตย์ส่องพื้นดินนานนักแล้ว (หรือฝนตกพรำๆ เป็นเวลานาน)? เลยหยุดพัก คอยมองดูนาง วุ่นวายใจเหลือเกิน มองเห็นหญิงอื่นเหมือนกับมีเสี้ยนตอกเข้าไปในอก

๕๐

(ฉบับเชียงใหม่)

นทีหันแห้งไป่ พอเรือ
เกวียนกว่าชุมชนเฝือ วิ่งหว้าย
สารถีสั่นสายเยือ ยังเชือก ชักเอ่
ดัดด่วนคุงคํ้าท้าย ทืบพ้นปานเลิม

(ฉบับหอสมุดฯ)

นทีหันแห้งไป่ พอเรือ
เกวียนกว่าชุมชนเฝือ ว่งหว้าย
สารถีสั่นสายเยือ ยังเชือก ชักแฮ
ดักค่วนคุงค่าท้าย ถีบพ้นปาระเลือม

หัน-น่าจะเป็นหั้น-ที่นั้น เกวียนกว่า และ วิ่งหว้าย เป็นสำนวนกลอนทางเหนือใช้คำเป็นคู่ๆ เฝือ-เหลือ มาก สายเยือ คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า สายผูกวัว ดัก-ดิ่งลงไป (อีสาน) คุง-ถึง ถีบ-เร่งรีบ (อีสาน) พ้น-เกิน เลิม-ปลาไม่มีเกล็ดอยู่ในแม่น้ำโขง ตัวโตมาก ขนาดหนัก ๒๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป

แม่น้ำที่นั่นแห้ง ไม่พอให้เรือแล่นไปได้ เกวียนและฝูงคนมากหลายวิ่งและว่ายอยู่ในน้ำ สารถีชักเชือกกระตุก พอเกวียนตกหล่มดิ่งลงไปก็รีบลงช่วยดันข้างท้าย รวดเร็วประหนึ่งปลาเลิม

๕๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ม่อนยังยั้งหั้นร่ม เรียงรึกข์
วานเทพทังไพรพฤกษ์ น่าน้อง
โภคินทั่วทังทึก แถวน่าน นี้แม่
เชิญส่งสารพรี้พร้อม ข่าวข้าขอยิน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ม่อนยังยั้งหั้นร่ม เรียงรึก
วานเทพทั้งไพรพฤกษ์ น่าน้อง
โพคินทั่วทังทึก แถวน่าน นี้แม่
เชิญส่งสารพื้นพ้อง ข่าวข้าขอยิน

ม่อน-ฉัน ยัง-อยู่ ยั้ง-หยุด หั้น-ที่นั่น รึกข์-ต้นไม้ พฤกษ์-ต้นไม้ โภคิน-งู ทึก-น้ำ น่าน-เขตน้ำ พรี้-พี้ ที่นี่ พ้อง-น่าจะเป็น ผ้อง-บ้าง

พี่หยุดพักอยู่ใต้ร่มไม้ วานเทวดาในป่าและงูทั่วในแม่น้ำแถวนี้ช่วยส่งข่าวมาที่นี่บ้าง พี่ขอฟังข่าวบ้าง

๕๒

(ฉบับเชียงใหม่)

วานไม้เมือข่าวน้อง ขอไข
เหลืองหล่นตกบางใบ กิ่งก้าน
บ่เห็นนิรมใจ เจียนจาก ทรวงเอ่
เห็นโบกใบไม้ม้าน เยียะม้านมโนเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

วานไม้เมื่อข่าวม้อง ขอไข
เหลือหล่นบกบางใบ กิ่งก้าน
บ่เห็นภิรมย์ใจ เจียนจาก ห้องเฮย
เห็นโบกใบไม้ม้าน เยี่ยงม้านมโนเรียม

เมือ-ไป กลับ ไข-บอก บก-โบราณใช้คู่กับ บาง เช่น มหาชาติคำหลวง หน้า ๑๑๗ “ดยรถ (ท่าน้ำ) ประไพ บบก บูรโณทก บบาง” ตรงกับ บก ในคำ บกพร่อง เจียน-จาก โบกใบไม้ เป็น โบดใบไม้ ก็มี เยียะ-ทำ

หมายเหตุ

ฉบับเชียงใหม่ หมายเลขบทที่ ๕๑ และ ๕๒ สลับกับฉบับหอสมุด

วานต้นไม้กลับไปบอกข่าวให้น้องทราบ ใบไม้เหลืองหล่นเกือบไม่มีติดกิ่งไม่เห็นนาง จิตใจหลุดออกจากทรวง เห็นใบไม้เหี่ยว ทำให้ใจพี่เหี่ยวไปด้วย

๕๓

(ฉบับเชียงใหม่)

วานน้ำขุงน่านน้ำ เขินขุน คอบเอ่
อกทะเลวังวุน เล่าแล้ง
อังเกินทังอาดุร แดเดือด ทรวงเอ่
เห็นหาดหนหั้นแห้ง เยียะแห้งแถมถนอม

(ฉบับหอสมุดฯ)

น่านน้ำขลุงน่านน้ำ เขินขุน
อกชเลยังวุน เล่าแล้ง
อังเดิรหากอาดุร แดเดือด รสแฮ
เห็นหาดหนหั้นแห้ง เยี่ยงแห้งแถวถนอม

ขุง-อาณาเขต น่านน้ำ (ดูบทที่ ๙) เขินขุน-ตื้นขึ้นเป็นขุนเขาหรือเกาะ คอบ-กลับคืนไป วัง-ที่น้ำลึกไหลวนมักเป็นที่อยู่ของจระเข้ วังวุน-วังวน อังเกิน-ถ้า อั่งเกิน-คับแค้นเหลือเกิน อาดุร-ทนทุกข์ เดือด-เดือดร้อน โกรธ หั้น-นั้น เยียะ-ทำ แถม-เพิ่ม แถมถนอม-ส. ว่าเป็นทวีคูณ

วานน้ำ ลำน้ำ และเกาะแก่งกลับไป (บอกข่าวนาง) ท้องน้ำและวังวนยังแห้งไปเล่า คับแค้นเหลือเกินทั้งทุกข์ทนและเดือดร้อนในใจ เห็นหาด ณ ที่นั้นแห้ง ทำให้อกพี่แห้งเพิ่มขึ้น

๕๔

(ฉบับเชียงใหม่)

พระไทรเจ้าไม้มุ่ง เมียงดู แดรา
ปลดที่ทนทุกข์ทู เจตแจ้ง
อังเกินมิไขขู ณาพี่ เพานอ
วาเยสยังไล้แล้ง ลวดแล้งอกเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

พระไทรเจ้าไม้มุ่ง เมืองคู่ แดรา
ปดที่ทนทุกข์ทู เรศแจ้ง
จักกินมิได้กู ระนาพี่ เทานอ
วาเยศยังไล่แล้ง ลอดแล้งอกเรียม

ปด-ปลด ทูเจต-ทุกข์ใจ ทู แปลว่า ทุกข์ เดือดร้อน เจต-ใจ อังเกิน ถ้า อั่งเกิน- คับแค้น เหลือเกิน (ดูบทที่ ๕๓) ไข-แก้ ขูณา-กูระนา-กรุณา เพา-เพลา เบาบาง วาเยส-ลม ไล้-ลูบไล้ พัดผ่าน ลวด-เลย

ขอให้เทวดารักษาต้นไทรมองดูบ้างเถิด ขอช่วยปลดเปลื้องความทุกข์เดือดร้อนใจด้วย คับแค้นเหลือเกิน ไม่เปิดปากกรุณาพี่บ้างเลย ลมที่พัดมาผ่านผิวเนื้อยังแล้ง เลยทำให้อกพี่แล้งไปด้วย

๕๕

(ฉบับเชียงใหม่)

คณารถเร้นร่ม เต็มไพร พีแม่
ปานขอดชมพูไพ น่าน้อง
ยลคืนชั่วพิสัย ตาเล่า ยังเอ่
ลเลื่อนเป็นถ้อยถ้อง เผ่าย้ายยินประเหียล

(ฉบับหอสมุดฯ)

คณารถเร้นร่ม เต็มไพร พี่แม่
ปานค่อยชมพูไพ น่านน้อง
ยลคืนชั่วพิสัย ตาเล่า ยังแฮ
ละเลิ่นเป็นถ้อยถ้อง เผ่าย้ายยินประเหียน

เร้นร่ม-แอบร่มไม้ ไพรพี-ป่าดงพงพี ขอด-ทั้งหมด ขูดจนเกลี้ยง ชมพู-หมายถึง ชมพูทวีป ไพ-ไป (พายัพ) น่าน้อง-นะน้อง ยลคืน-มองกลับ ชั่วพิสัยตา-ชั่วสุดสายตา ลเลื่อน-ละเลิ่น-ละเลือน เลือน แปลว่า ล้อม หรือเรียง (ดูบทที่ ๓๗) เคลื่อนตามกันไป ถ้อย-ถ้อง-แถวถ่อง ยิน-รู้สึก ประเหียล- ประหนึ่งคล้าย

มีเกวียนแอบตามร่มไม้เต็มป่าไปหมด เหมือนกับเกวียนทั่วทั้งชมพูทวีปไปรวมกันฉะนั้น มองไปข้างหลังชั่วสุดสายตาเคลื่อนตามกันไปเป็นแถวๆดูประหนึ่งพวกอพยพเคลื่อนย้ายมา

๕๖

(ฉบับเชียงใหม่)

ชุมชนชมชื่นเหล้น ธารา
สาวบ่าวปลงสนามปรา โมทย์ยว้าย
สาอวรอ่อนวนิดา โดยพี่ มานัน
จักจ่องจูงน้องผ้าย อาบอ้อยชมชล

(ฉบับหอสมุดฯ)

ชุมชนชมชื่นเหล้น ธารา
สาวบ่าวลงสนามปา โมชย้าย
สาอวรอรวนิดา โดยพี่ มานี
จักจ่องจูงน้องผ้าย อาบอ้อยชมชล

เหล้น-เล่น (โทโทษ) คำไทเดิมจะเป็น เหล้น ดู (บทที่ ๓๖) บ่าว-ชายหนุ่ม ปลง-ลง สนาม-ส. ว่า สนทนา ศูนย์กลาง ยว้าย-ใช้คู่กับ แย้ม แปลว่า ยิ้มแย้ม สา-แม้ หาก โดย-ตาม จ่อง-จูง เกาะหลัง ผ้าย-ไป อาบอ้อย-อาบ

ฝูงคนสนุกสนานเล่นน้ำกัน หนุ่มสาวลงประชุมกันยิ้มแย้มยินดี ถ้าน้องตามพี่มาก็จะจูงน้องไปอาบน้ำและชมน้ำกัน

๕๗

(ฉบับเชียงใหม่)

เพลาสวยสะอาดเท้า เทิงเสวียง
เหมือนเมื่อพี่ชุนเมียง มุ่งเหยี้ยม
พลับทองตำนงเอียง องค์อ่อน งามเอ่
แอวอวดปานแสร้งเสี้ยม แต่ฟ้าสลาเหลา

(ฉบับหอสมุดฯ)

เผ่าสลวยสะอาดเท้า เทิงเสลียง
เหมือนเมื่อพี่ชนูเมียง มุ่งเหยี้ยม
พัตรทองทํ่านงเอียง องค์อ่อน งามแฮ
บังอาจปานแสร้งเสี้ยม แต่ฟ้าสลายเหลา

เพลา- ขา เท้า-ตราบเท่า จนกระทั่ง เทิง-เติง-ถึง ชุน-ไป เหยี้ยม-ดู เช่น ปล่องเยี่ยม-หน้าต่าง พลับ-มะพลับ ในที่นี้หมายถึง ถัน (ดูบทที่ ๑๓๑) แอว- เอว อาด-งาม (อีสาน) ใหญ่ (ล้านนา) บางฉบับเป็น แอวอ่อน แสร้ง-ตั้งใจ (โบราณ) สลา-แต่ง งาม (ดูบทที่ ๑๓๗) ร. เป็น สล่า คือ นายช่าง สลาย-แต่ง? (ดูบทที่ ๒)

คุณสงวน รอดบุญ อธิบายคัพท์ ๒ คำต่อไปนี้ เสวียง-บ่า เขมร ใช้ ผ้าเสวียง-ผ้าสไบเฉียง ตำนง-ตั้งอยู่ (เขมร) ชุน-คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ ว่ามาจาก ซุ่น-เฝ้า แต่ฉบับหอสมุดฯ คงคัดผิด เพราะสมุดไทยเป็น เสวียง และ ชุน ทั้ง ๔ ฉบับ

เท้าหมู่สาวเหล่านั้นสวยสะอาดขึ้นไปจนถึงบ่า เหมือนที่พี่ไปแอบมองดูหน้าอกน้องซึ่งตั้งอยู่ดูงาม เอวงามดังตั้งใจเหลาแต่ง ทำมาจากสวรรค์

๕๘

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระประเทศข้าง ขุงระมิง มิ่งเอ่
เปียวเปล่งสุยรถยิง ยิ่งร้อน
ทยิดาแด่เรียมถลิง ถลากระหม่อม เรียมเอ่
มาด่วนดับทุกข์ข้อน ข่าวเหยี้ยมยาทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาพระประเทศขว้าง ขุงลมิง มิ่งแฮ
เปี่ยวเป่งสุรินทยิง ยิ่งร้อย
พนิดาแต่ถริง ตากระหม่อม เรียมเฮย
มาด่วนดับทุกข์ข้อย ข่าวเยี้ยมยังทอง

ขว้าง-กว้าง ขุง-อาณาเขต น่านน้ำ ระมิง-แม่น้ำระมิง มีชื่อปรากฏในพงศาวดารโยนก ปัจจุบันคือแม่น้ำปิง เปียว-เปลว เปล่ง-อยู่ในที่กลางแจ้ง ส่งแสง สุยรถ-รถพระอาทิตย์ สุรินท-สุรินทร์ พระอาทิตย์ ทยิดา-เป็นที่รัก คู่รัก ถลิงถลา-รีบเร็ว ตราตรึง (ดูบทที่ ๑๐) เหยี้ยม-เยี่ยม โทโทษ ยา-รักษา ทอง-ฉบับสมุดไทย ๓ ฉบับเป็น ทวง-ทรวง

ลาภูมิประเทศข้างแม่น้ำปิง พระอาทิตย์ส่งแสงเป็นเปลวยิ่งรู้สึกร้อน ขอให้รีบมาดับทุกข์ ส่งข่าวมารักษาความร้อนใจให้หาย

๕๙

(ฉบับเชียงใหม่)

แม่เมือห้องฟ้าฟาก แถถี พู้นฤา
ฤาบ่ดลปถพี พี่พ้อม
ขุนเขาอุ่มมาสรี เทแม่ เอาฤา
จำพี่เลวแล้งหม่อม หมาดหม้อมอาลัย

(ฉบับหอสมุดฯ)

แม่เมือห้องฟากฟ้า ใดที่ พู้นฤา
ฤาบดลปัฐพี พี่ฟ้อน
ขุนเขาอุมาศรี ไทแม่ เอาฤา
จำพี่งอนแล้วม้อน มาดม้อนอาลัย

พู้น-โน้น ดล-ถึง พ้อม-พร้อม ขุนเขา-เจ้าแห่งภูเขา คือ พระศิวะ อุ่ม-เอามือคลุม อุ้ม? อุมาศรี-พระอุมา ไท-ผู้เป็นใหญ่ เลวแล้ง-แล้งมาก หมาด-ภาวะอึดอัด จะเปียกก็ไม่เปียก จะแห้งก็ไม่แห้ง หม้อม-ใช้คู่กับหม่น เช่น “มีพระทัยหม่นหม้อม

แม่ไปสู่สวรรค์ใดไกลโพ้นหรือ จึงไม่มาถึงโลกนี้พร้อมกับพี่ ขุนเขาอุ้มมารศรีไปหรือ เป็นเหตุให้พี่อกแห้ง หม่นหมองเป็นห่วง

๖๐

(ฉบับเชียงใหม่)

ทิพยาสวมอาจอุ้ม เอาอวร อ่อนฤา
ฤามิมาสมสงวน เพื่อนข้อย
บ่เห็นสำบุญบวร บัวริเยศ เมินเอ่
ชอมช่อตาแห้มห้อย หากแล้งเลงดาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

ทิพญาโจมหอบอุ้ม เอาอวร อ่อนฤา
ฤาบมาสมสงวน เพื่อนค้อย
บ่เห็นส่ำบุญปวน บรเมศ เมินแฮ
ซอมซ่อตาแห่งห้อย หากแล้งเลงดาย

ทิพญา-ตัดมาจากทิพญาธร ซึ่งตรงกับพิทยาธร สม-ร่วม เพื่อนข้อย-เป็นเพื่อนข้า สำบุญ-สมบุญ ปวน-ปวร-บวร บัวริเยศ-ปริย ที่รัก เมิน-นาน ชอมช่อ-ซอมซ่อ-ตั้งตาคอยดู (ดูบทที่ ๒๓) แห้ม-แห้ง เกรียม เช่น หน้าแห้มแก้มไหม้ ปิ้งปลาให้แห้ม (ดูบทที่ ๑๔๕) เลงดาย-มองดูเปล่า

พิทยาธรจู่โจมมาหอบอุ้มเอานางไปหรือ จึงไม่มาร่วมเป็นเพื่อนพี่ ไม่ได้เห็นนางที่รักเป็นเวลานาน ให้หดหู่ตาไหม้เกรียมห้อยลงมาเพราะเพ่งมองไปเปล่าประโยชน์

๖๑

(ฉบับเชียงใหม่)

กวาวทองทังช่อช้อย สิมพลี
เหลืองหล่นเต็มปถพี แผ่นหล้า
ยลบนหมู่ปักษี แสวงเสพ ชมเอ่
ตายชื่นลางแล้วกล้า มิได้เชยชม

(ฉบับหอสมุดฯ)

กวาวทองทังช่อช้อย สิมพลี
หลายหล่นเต็มปัฐพี แผ่นหล้า
ยลบนหมู่ปักษี แสวงเสพ ชุมเอย
ตายชื่อลางแล้วกล้า มิได้เชยชม

กวาวทอง-ต้นทองกวาว ทัง-ทั้ง สิมพลี-ต้นงิ้ว ชุม-หมู่ ชื่น-สิ้น เช่น มหาชาติคำหลวง ใช้ กว่าชื่น-ไปสิ้น ลาง-ส. ว่า หล้าง-ชะรอยว่า คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า เอาออกหมด เช่น ลางน้ำบ่อ กล้า-ก๊า กระมัง

ทองกวาวทั้งช่อและงิ้วหล่นอยู่เหลืองเต็มแผ่นดิน มองขึ้นไปเห็นหมู่นกแสวงหาคู่กันอยู่ ชะรอยว่าน้องจะตายไปสิ้นแล้วกระมัง พี่จึงไม่ได้เชยชมเหมือนฝูงนกทั้งหลาย

๖๒

(ฉบับเชียงใหม่)

สาริการักร่ำถ้อง เถิงแล แม่ฤา
ฤาเศียรเสียงซอแซ ซ่ำซ้ำ
ชิงดวงดอกจอแจ เถียงถ่อง กันเอ่
รอยร่างเสวยรสน้ำ ดอกนั้นน่านิรม

(ฉบับหอสมุดฯ)

สาลีรักร่ำถ้อย ถึงแล แลแม่
ฤาริตเสียงซอแซ ซ่ำซ้ำ
ชิงดวงดอกจอแจ เถียงถ่อง กันนา
ร้อยร่างเสวยรสน้ำ ดอกนั้นนารีรมย์

สาริกา-นกขุนทอง บางฉบับเป็น สาริ ถ้า สาลิกา-นกประเภทนกเอี้ยง อนึ่ง ทางภาคเหนือเรียกนกขุนทองว่า นกเอี้ยงคำ ถ้อง-ชัด ถูกต้อง แล-นกแก้ว นกแขกเต้า ฤาริต-บางฉบับเป็น ฤาเสี่ยง รือรื่อ ก็มี ร.เป็น ฤริก คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า เสียงนกร้อง ดวง-ดอก เป็นลักษณนาม (ดูบทที่ ๕) ปัจจุบันยังใช้ว่า ดวงดอกไม้ ถ่อง-ถ้อง-ประชัน รสน้ำดอก-รสน้ำหวานของดอกไม้ ร. เป็น ดอกนั้นนานสม

นกขุนทองพูดกับนกแก้วได้เสียงชัด เสียงดังจอแจติดๆ กัน ต่างก็ชิงดอกไม้กัน เถียงกันเสียงจอแจ นกนับร้อยกินน้ำหวานของดอกไม้น่าบันเทิงใจ

๖๓

(ฉบับเชียงใหม่)

สายาเผียวไผ่ส้ง เหลือหลาย
สุยส่องยังรุยราย ร่มช้า
ฟังบนโบกสลายสลาย เสียงลวาด ลมเอ่
ปุนพี่ยังยั้งถ้า ถ่องถ้าเถิงนิรม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ฉายาเพยียไผ่ผุ้ง เหลืองหลาย
สูรส่องยังรายราย ร่มช้า
ฟังบนโบกสลายสลาย เสียงสวาสดิ์ ลมแฮ
ปุนพี่ยังยั้งถ้า ถ่อมถ้าถึงนิรมย์

สายา-ฉายา-ร่มเงา เผียว-ตรงกับ ห. บางท่านว่า ไผ่ชนิดหนึ่ง ส้ง-ไผ่ชนิดหนึ่ง เพยีย-พเยีย พวงดอกไม้ แต่สมุดไทยเป็น เผียว ก็มี เหลือหลาย-ฉบับเชียงใหม่เป็น เหลืองหลาย ก็มี เหลือหลาย-มากมาย สุย-สูร-พระอาทิตย์ รุยราย-วับๆ แวมๆ สลายสลาย-ส. ว่าเสียงลมพัดไผ่เสียดสีกัน ลวาด-พัด ผ่านไป ปุน-น่าจะ ยังยั้งถ้า-อยู่รอคอย ถ่อมถ้า-ใช้คู่กัน (ดูบทที่ ๑๖๓)

โคลงบทนี้เป็นกลบทแบบหนึ่ง บาทสองถึงสี่ใช้คำซ้ำทุกบาท

ร่มเงาของต้นไผ่มีมากมาย (หรือเหลืองมากมาย) พระอาทิตย์ส่องวับๆ แวมๆ เสียงใบโบกอยู่เบื้องบนเมื่อลมพัดผ่านไป พี่น่าจะอยู่รอคอยให้น้องมาถึงให้เกิดความบันเทิงใจ

๖๔

(ฉบับเชียงใหม่)

เทียวเทิงทวารท่อหั้น หลองแหลง
ขัวเขื่อนเขาปกแปง ไต่เต้า
ทิพโสกพี่ยังแยง หาชู่ ยามเอ่
มาม่วนเรียงรสเข้า ขอกนี้เรียงเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

จรทิตเทิงต่อหั้น ลองแหลง
ข้อเขื่อนเข้าปูกแปง ไต่เต้า
ทิพโสภิตยังแยง หาสู่ ยามเอย
มาม่อนเรียงรสเข้า ถ่านี้เรียงเรียม

เทียวเทิง-ร. เป็น จรทึก-เดินถึง บางฉบับเป็น สรีเศียรเถิงท่อหั้น ท่อ-ทางระบายน้ำ หั้น-นั้น หลอง-อาจเป็น ล้อง ที่ลุ่มใหญ่ หลองแหลง- คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า โคลน? ส. ว่าประปราย อ. ว่า แหลง เป็นชื่อวัด ขัว-สะพาน ปกแปง-ปูกแปง-ปลูกแปลง-สร้าง ทิพโสกพี่-เป็น ทิพอาสิงรา ทิพโสตพี่ ก็มี แยง-มุ่งมอง ชู่-ทุก ม่วน-สนุก ม่อน-ฉัน เรียง-เคียง ขอก-ขอบ ริม

เดินมาถึงประตูทางระบายที่เป็นโคลน (หรือที่ลุ่มใหญ่) เขาสร้างสะพานและเขื่อนให้เดินไป พี่ยังมองหาศรีทิพอยู่ทุกเวลา มาร่วมสนุกลิ้มรสข้าวเคียงกับพี่ทางด้านนี้

๖๕

(ฉบับเชียงใหม่)

อารามยังยิ่งร้อย เรียงหลัง
สองตราบมัคคาพัง ค่นค้าน
รอยเดิมแต่ยามยัง งามเงื่อน รักเอ่
เป็นที่พระเจ้าจ้าน เสพสร้างอิริยา

(ฉบับหอสมุดฯ)

อารามยังยิ่งร้อย เรียงหลัง
สองตาบมักคาฝัง ค่นค้าน
รอยเดิมแต่ยามยัง งามเงื่อน รักเอย
เป็นที่พระเจ้าจ้าน เสพสร้างวิริยา

ตาบ-ตราบ-ฟาก มัคคา-มรรคา ค่นค้าน-พัง ถล่มทลาย มหาชาติคำหลวง หน้า ๓๓๘ ใช้ว่า “คือจะค่นค้านไพรสะเทือน” รอย-ชะรอย เงื่อน ใช้คู่กับงาม พระเจ้า-พระพุทธเจ้า จ้าน-นัก มาก อิริยา-ตัดมาจาก อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน วิริยา-เพียร

มีอารามอยู่กว่าร้อยหลังเรียงกันอยู่สองข้างทางล้วนแต่พังลงมา ชะรอยแต่แรกเมื่อยังงดงามอยู่ จะเป็นที่พระสงฆ์จำนวนมากพำนักอยู่เพื่อสร้างความเพียร

๖๖

(ฉบับเชียงใหม่)

เจียมเจียนทเยศร้อน ดวงแด แดเหย
พิษกำเดาผวนแผ พรากชู้
ภานุอว่ายยานแปร เกวียนกว่า บนเอ่
แถมกำเดาข้าผู้ เร่งร้อนรนทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

มัจฉะยาเยศร้อย ดวงแด แดเลย
พิษกำเดาปวนแปล พรากชู้
พานุชว่ายยามแปร เกวียนกว่า ป่นเอย
แถมกํ่าเดาข้าผู้ เร่นร้อนรนทรวง

เจียม-นับตั้งแต่ ผู้กล่าวถึงหรือแทนผู้แต่ง (ดูบทที่ ๓๖, ๗๒ และ ๑๕๖) เจียน-จาก ทเยศ-ใจ (ดู ไท บทที่ ๒๙) ฉบับเชียงใหม่เป็น โสลรชยาเยศร้อน ก็มี กำเดา-ร้อน ผวนแผ-ปรวนแปร ภานุ-พระอาทิตย์ อว่าย-บ่ายหน้า แปร-หัน เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ว่า “สารถีแปรแก้วเกวียนทอง”

พี่จากดวงใจมาทำให้ร้อนใจนัก พิษร้อนจากการพรากจากชู้ พระอาทิตย์ชักรถหันไปบนท้องฟ้า ช่วยเพิ่มความร้อนให้กับพี่ซึ่งร้อนรนอยู่ในอกอยู่แล้ว

๖๗

(ฉบับเชียงใหม่)

ลุเถิงยางหนุ่มหน้า หนักทรวง อยู่แล
คึดคอบเถิงทิพดวง ดอกฟ้า
รอยดลรสาสรวง สวรรคเทพ โพ้นฤา
ฤาบ่ยังเยื้อนข้า ข่าวเหยี้ยมยาทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลุถึงยางหนุ่มหน้า หนักทรวง อยู่แฮ
คิดถ่องถึงทิพดวง ดอกฟ้า
รอยต้นรุนรสรวง สวนเทพ พูนฤา
ฤาบยลเยื้อนข้า ข่าวเหยี้ยมยังทวง

ยางหนุ่ม-ชื่อวัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกองทราย ท่านมหาหมื่นค้นอยู่หลายปี จึงได้พบศิลาจารึกหักทิ้งอยู่แจ้งไว้ คึดคอบ-คิดกลับ บางฉบับเป็น คึดถ่อม ดวง-ลักษณนามของดอกไม้ (ดูบทที่ ๖๒) ดล-ถึง พูน-นู้น โน้น ยัง-อยู่ เยื้อน-เยือน เหยี้ยม-เยี่ยม ยา-รักษา

มาถึงวัดยางหนุ่มรู้สึกหนักอกอยู่ หวนคิดถึงศรีทิพเจ้าดอกฟ้า ชะรอยจะไปลิ้มรสสวรรค์ของเทวดาอยู่โน่นกระมังจึงไม่อยู่พบ พี่จะได้ส่งข่าวมาเยี่ยมเพื่อรักษาใจของพี่

๖๘

(ฉบับเชียงใหม่)

เนสาทแผ่นผ้าย เผาไพร พีแม่
พระพริบเสียงฟองไฟ เฝ่าฟุ้ง
อกพฤกษ์พนาลัย สาเจต มวลเอ่
รุกข์เทพดาดินดุ้ง เดือดดุ้งอกเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

เนสาทผาดเผ่นผ้าย เผาไพ พี่แฮ
พระพรืบเสียงฟองไฟ เฝ่าฟุ้ง
อกพฤกษ์พนาลัย สายเจ๊ด ม่อนแฮ
รักเทพดาดินดุ้ง เดือดดุ้งอกเรียม

เนสาท-พรานป่า ผาดเผ่นผ้าย-ไปอย่างรวดเร็ว ผ้าย-ไป ไพรพี- ป่าดงพงพี พระพริบ-พริบๆ เสียงไฟไหม้ เฝ่า-ขี้เถ้า (ไทขาว) พฤกษ์-ต้นไม้ สาเจต-ร. ว่าเป็น สลายเจต ม่อน-ฉัน รุกข์-ต้นไม้ เดือด-เดือดร้อน ดุ้ง-สะดุ้ง

พรานป่ารีบเร่งไปเผาป่า เสียงไฟไหม้ขี้เถ้าฟุ้ง สายใจของพี่เอ๋ย ต้นไม้ ป่ารุกขเทวดา และพื้นดินสะดุ้ง ทำให้อกพี่สะเทือนและร้อนไปด้วย

๖๙

(ฉบับเชียงใหม่)

สิมพลีวันแว่นผ้ง ผายผกา กลีบเอ่
เพลิงพุ่งเพียงสาขา ล่าวล้อม
ติณณํแฝกเฝือคา คมบาด บางเอ่
แขมขวากเลาอ้ออ้อม คู่อ้อมอกเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

สิมพลีวันแว่นผ้ง ผาผกา ดิฐแฮ
เพลิงพุ่งเพียงสาขา ล่าล้อม
ติณังแฝกเฝือคา คมบาด งามแฮ
แขมขวากเลาอ้ออ้อม ดุจอ้อมอกเรียม

สิมพลีวัน-ป่างิ้ว แว่น-แวน-มาก ผ้ง-ตัดจาก กำผ้ง แปลว่า กำลัง งาม (อีสาน) (ดูบทที่ ๙๗) ผกา-ดอกไม้ สาขา-กิ่ง ก้าน ล่าว-เร่า ติณณํ-หญ้า แฝก-คา-ชื่อหญ้า เฝือ-รกยุ่ง เหลือ ใบไม้ (ปักษ์ใต้) คมบาง-หญ้าชนิดหนึ่งใบมีคม แขม-เลา-ไม้คล้ายอ้อ อ้อม-ล้อม

ป่างิ้วกำลังงามมาก ดอกกำลังบาน ไฟลุกขึ้นถึงกิ่งทำให้ร้อนรอบข้าง หญ้าแฝกคารกยุ่ง ใบบางมีคมบาดได้ แขม ขวาก เลา และอ้อล้อมรอบดุจจะล้อมรอบอกพี่อยู่

๗๐

(ฉบับเชียงใหม่)

พฤกษาสางต้นงอก เงยเงาะ
เขียวกลีบคุยคลี่เคราะ พริบไหม้
ปุนขะสดสวาทเรียมเราะ อกพี่ เพานอ
นิราศยังร้อนไร้ เร่งร้อนไพรพนม

(ฉบับหอสมุดฯ)

พฤกษาส่างต้นงอก เงยโงะ
เขียงเคิบคุยพันโพละ พลิบไม้
บุญบสกลร่างรวมโระ อกพี่ เพานอ
นิราศเลียงร่อนไร้ เร่งร้อนไฟลน

พฤกษา-ต้นไม้ สาง-ทำให้หายยุ่ง แยกออก ร. เป็นลาง โงะ-ไม่ตรง งอ (ลาว) งอก คุย-ควี่-คลี่? ขนของต้นไม้ โพละ-โพ้-แตก ปุน-น่า ขะสด-กำสรด โระ-ออกเสียงโฮะ-รวม เพา-เพลา เบาบาง

ต้นไม้แยกต้นงอกขึ้นไม่ตรง กลีบเขียวคลี่แตกออกไฟไหม้ทันที อกพี่ทับถมด้วยความรักน่ากำสรด การจากนางมาร้อนใจอยู่แล้ว ยังเพิ่มความร้อนเพราะไฟไหม้ป่า

๗๑

(ฉบับเชียงใหม่)

อกพฤกษ์ไพรโรจร้อน ฤทธิเพลิง
ก็เหตุเห็นเรียมเคริง เคร่าถ้า
สงสารรดีเชิง เจียนจาก ทุกข์หนอ
อกนทีหั้นแห้ง หากแห้งอกเรียม

บทที่ ๗๑ นี้สัมผัสบาทสองและสี่ไม่มี และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ฉบับหอสมุดฯ จึงไม่นำมาลงไว้

พฤกษ์-ต้นไม้ โรจ-สว่าง ถ้าเป็น โรท แปลว่าร้องไห้ คุณวิจิตร ยอดสุวรรณว่า ไพรโรจ-ไพโรธ-พิโรธ เคริง-เคิง-ติดอยู่ ข้อง หรือมิฉะนั้นอาจจะมาจาก เคือง ไทขาวว่า วิตก กังวล เคร่าถ้า-คอยท่า รดี-รติ ฤดี- ความรัก เจียน-จาก หั้น-นั้น

ต้นไม้และป่าสว่างร้อนด้วยอำนาจไฟ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่ได้เห็นพี่กังวล รอคอยนางอยู่ สงสารความรักซึ่งต้องจากกัน น้ำ ณ ที่นั้นแห้ง อกของพี่ก็แห้ง

๗๒

(ฉบับเชียงใหม่)

พระทิพรสช้อยชู้ชอบ นิรมเรียม ราชเอ่
เจ็บจำงือทรวงเจียม จากเจ้า
จ้กเอาอื่นใดเทียม ต่างอ่อน องค์ชา
ทุกข์ที่ยามร้อนเร้า ถ่อมถ้าถนอมอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ททิพรสซอยซอบนี้ รมเรียม ราศเอย
เจบจ่ำงือทวงเจียม จากเจ้า
จักเอาอันใดเทียม ตามอ่อน อวรฮา
ทุกข์พี่ยาร้อนเร้า ถ่อมถ้าถนอมอวร

นิรม-สนุก จำงือ-ชำงือ ทุกข์ เจ็บ เจียม-นับตั้งแต่ ผู้อ้างถึงคือผู้แต่ง ต่าง-แทน ชา-ดีนะ เช่น จะทำอย่างไรดีชา ถ่อมถ้า-คอย

รสทิพแห่งนางทำให้พี่เป็นสุข จากนางทำให้อกพี่เจ็บเป็นทุกข์ จะหาหญิงอื่นที่ไหนมาแทนให้เสมอนางได้นะ ทุกข์เมี่อเวลาร้อนรุม เพราะคอยที่จะได้ทะนุถนอมนาง

๗๓

(ฉบับเชียงใหม่)

ลุเถิงพิงเก่าหั้น หัวฝาย
เกวียนก่อนชุมยังยาย ยอบยั้ง
พนิกพนมหลาย เหลือร่ม รุกข์เอ่
ไทว่าโฉมเจ้าจั้ง จอดจั้งหาอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลุถึงพิงเก่าหั้น หัวฝาย
เกียนก่อนชุมยงยาย ยอบยั้ง
พนิกพนมลาย เหลือร่ม รุกข์แฮ
ไทว่าสมเจ้าจั้ง จวบหั้นหาอวร

พิงเก่า-แม่น้ำปิงทางเดิม หั้น-นั้น หัวฝาย-หัวเขื่อนที่กั้นน้ำ ชื่อวัด เกวียนก่อนชุม-เกวียนที่ไปก่อน ชุม-หมู่ ยาย-เรียงราย ยั้ง-หยุดพัก พนิก- คุณสงวน รอดบุญ ว่าคำเขมร แปลว่า เป็นชั้นๆ ทิวแถว พนม-เขา หลายเหลือร่มรุกข์-มีมากกว่าร่มไม้ ไท-หฤทัย (ดูบทที่ ๒๙) จั้ง-ยั้ง จอดจั้ง-หยุดพัก จวบหั้น-จนถึงที่นั่น

มาถึงแม่น้ำปิงทางเดิม ณ หัวเขื่อนที่กันน้ำ เกวียนที่เดินทางมาก่อนยังเรียงรายหยุดพัก ภูเขาเป็นชั้นๆ มีมากกว่าร่มไม้ ใจคิดว่านางหยุดพักอยู่จึงจอดพัก (หรือจนถึงที่นั่นยัง) ค้นหานาง

๗๔

(ฉบับเชียงใหม่)

พระพลัดชู้ช้อยอ่ำ เห็นหัน
อักเขบสรรามอัน ตอบต้อง
พาลีลวดมรสัน เดียวพี่ นี้เอ่
ใดด่วนต่างเนื้อน้อง นาฏได้ฝูงมโน

(ฉบับหอสมุดฯ)

พพัดชูซ่อนอ้ำ เห็นหัน
อักเขบสวนราอัน ตอบต้อง
พาลีเลิกพันสัน โกยพี่ นาแม่
ใดด่วนต่างเนื้อน้อง นาฏได้ฟุ้งมโน

พระพลัด-พลัดพลัด อ่ำ-ไม่ (ภาษาไทใหญ่) หัน-เห็น อักเขบ-อักเสบ ราม-พระราม ลวดมร-เลยตาย สัน-ฉัน ต่าง-แทน

พี่พลัดพรากไม่ได้เห็นนาง พาลีด้วยพิษศรพระรามที่ยิงถูกเลยตายเช่นเดียวกับพี่นี้ จะรีบหาสิ่งใดมาแทนน้องเพื่อให้ใจคึกคะนองขึ้น

๗๕

(ฉบับเชียงใหม่)

นาวาในน่านน้ำ นทีธาร
หัวห่อกำพนพาน ดอกไม้
ฝกฝกช่อเชยปาน เรือน่าน นี้แม่
นำชินํน้อมไหว้ หว่านหว้ายคงคา

(ฉบับหอสมุดฯ)

นาวาในน่านน้ำ นทีทวาร
หัวดาษกำพลธาร ดอกไม้
ฟกฟกช่อเชยปาน เรือนาถ เมินเอย
นำชินังน้อมไหว้ หว่ายหว้ายคงคา

กำพน-กัมพล-ผ้าขนสัตว์ ส. ว่า ผ้าสีแดง พาน-ส. ว่าพัน เกาะเกี่ยว ฟกฟก-ฟ้งฟ้ง-ฟุ้งฟุ้ง? ชินัง -ชิน พระพุทธ บางฉบับเป็น ชื่อนาม, ชื่อนาง ก็มี หว่านหว้าย-ว่าย

เรือในท้องน้ำหัวเรือมีผ้าพันดอกไม้ไว้ ช่อดอกไม้ส่งกลิ่นฟุ้งดังหนึ่งเรือของน้อง น้อมไหว้พระพุทธในขณะที่เรือแล่นไปในแม่น้ำ

๗๖

(ฉบับเชียงใหม่)

แสวแสวฟายฟากฟุ้ง สินธุ์สาย
สนุกสนั่นนาวาหลาย หลากเหล้น
อันเรียมกันแสงฟาย ฟองเนตร นุชเอ่
ยลเยื่องใดจักเล้น หล่อหื้อหายทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

แสลวแสลวพายฟากฟุ้ง สินธุ์สาย
แสนสนุกนานาหลาย หลากเหล้น
ศัลเรียมกรรแสงฟาย ฟองเนตร นุชเอย
ยลเยื่องใดจักเล้น ล่อให้หายทรวง

แสวแสว-เฉี่ยว โฉบ ส.ว่า เสียงไม้พายกระทบน้ำ ฟาย-พาย เหล้น-เล่น อันเรียม ร. เป็น สันเรียม-เช่นเดียวกับพี่ ฟายฟองเนตร-เอามือเช็ดน้ำตา เยื่อง- เยี่ยง อย่าง เล้น-เร้น หลบ หล่อ-ใกล้ (ลาว)

พายโฉบน้ำฟุ้งกระจายสนุกสนาน เรือจำนวนมากมาย พี่ร้องไห้และเช็ดน้ำตา ทำอย่างไรจึงจะหลบไปอยู่ใกล้ให้หายทุกข์ใจ

๗๗

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระเถิงกาดต้น ไรเรือง
ชนคณานองเนือง นั่งพร้อม
ในดงดุจดูเมือง เทพโลก พู้นเอ่
ริกข์ร่มทุกเคล้าค้อม ยอบยั้งเนานอน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลุดาษถึงดาษต้น รายเริง
ชมคณานองเนิง นั่งพร้อม
ในดั่งดุจเมืองเทิง เทพโลก พู้นแฮ
ริมร่มทุกค่าค้อม ย่อมยั้งเยานอน

ลาพระ-ส.ว่า จากพระ บางฉบับเป็น ราไป เถิงกาด-ถึงตลาด ต้นไร- ต้นไทร หรือไทรกร่าง ริกข-ต้นไม้ เคล้า-เก๊า-เค้า - ต้น ค่า-คบไม้ ค้อม-น้อมลง ยอบยั้ง-หยุดพัก

จากพระไปถึงตลาดต้นไทร หมู่คนนั่งอยู่พร้อมหน้ามากมาย ป่าดงดูประดุจเมืองสวรรค์โน้น ร่มไม้ทุกต้นน้อมลง หยุดพักนอน

๗๘

(ฉบับเชียงใหม่)

จอมนุชเนื้ออ่อนอ้อน อรพิน เช่นแม่
อห่อยสเสินยิน ยิ่งล้ำ
อัปสรบำเรินอินทร์ อัคคเทพ ทิพเอ่
อกอาบอมฤตขว้ำ เขือกร้อนรนสิเนห์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ยอมนุชเนื้ออ่อนอ้อน เชยชิน นาแม่
อ่อยห่อยสรรเสริญยิน ยิ่งล้ำ
อัปศรบำเรออินทร์ อัครเทพ ทิพเอย
อกอ่าวอำพลิกขว้ำ เขือกร้อนรนเสน่ห์

อรพิน-ดอกบัว อห่อย-อร่อย น่าชื่นชม ทางอีสานแปลว่า ผุดผ่อง ไม่มีตำหนิ (อ่อยห่อย) สเสิน-สรรเสริญ ยิน-รู้สึก บำเริน-บำเรอ เขือก-เกลือก อีสานแปลว่า โกลาหล วุ่นวาย อาจตัดมาจาก ขำเขือก-ฟุ้งซ่าน สิเนห์- เสน่หา

จอมนางเนื้ออ่อนผุดผ่อง รู้สึกน่าชมมาก ดุจนางฟ้าบำเรอพระอินทร์ ศรีทิพเอ๋ย อกพี่คว่ำ ฟุ้งซ่านด้วยร้อนรัก

๗๙

(ฉบับเชียงใหม่)

เกสนาจันแจ่มก้าน กลำพัก
ฝนขว่ายองค์ออนอัคค นุชเนื้อ
นยนาลูบโลมมยัก เชียรเช่น งามเอ่
ยลยิ่งขวานฟ้าเงื้อ เงือดข้าขวัญทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

เกษณาจันทน์แจ่มก้าน กระลำพัก
ฝนขว่ายองค์อรอัคร นุชเนื้อ
มะยักน่าลูบโลมมะยัก เชียรเช่น งามเอย
ยลยิ่งขวานฟ้าเงื้อ เงือดข้าขวัญสลาย

เกสนา-ไม้กฤษณา จัน-ไม้จันทน์ กลำพัก-กระลำพัก ไม้หอมทำยา ฝนขว่าย-เป็น ฝนถวาย ก็มี ขว่าย เท่ากับ ถวาย โลม-ลูบ ขน มยัก-ส.ว่า มลัก คือ มอง ดู เห็น เชียร-ว่องไว เช่น-มาก เงือด-งด ขวัญทรวง-ล. ว่า ขวัญทลาย สลาย-แตก ทำลาย

กฤษณาจันทน์และกระลำพักฝนถวายนางผู้เป็นยอด ใข้ยาทาขนตาให้งามมากมองดูยิ่งกว่าเงื้อขวานฟ้าแล้วงดไว้ให้ขวัญพี่แตกทำลาย

๘๐

(ฉบับเชียงใหม่)

อัสดงดาค่ำแล้ว รอนรอน
สุยส่องเกวียนซอนซอน คลาดคล้อย
ปักษีส่งเสียงวอน วอนเจต รักเอ่
โอยอิ่นดูชู้ช้อย มิได้สุดาดล

(ฉบับหอสมุดฯ)

อัสดงค์ดาค่ำแล้ว รอนรอน
สูรส่องเกวียนซอนซอน คลาศคล้อย
ปักษีส่งเสียงวอน วอนเจต รักเอย
โอ้เอนดูชูสร้อย มิได้สุดาดล

โคลงนี้เป็นกลบท ชื่อ กรนารายณ์

อัสดง-ตกไป พระอาทิตย์ตก ดา-จวน รอนรอน-ส. ว่า ต่ำลงทีละน้อย สุย-สูร-พระอาทิตย์ ซอน-เบียดเสียด ซอกซอน วอน-กังวาน อิ่นดู-สงสาร ดล-ถึง

ตะวันตกดินจวนค่ำแล้ว พระอาทิตย์ส่องรอนรอน เกวียนเคลื่อนเบียดเสียดกันไป นกส่งเสียงกังวานจับใจ น่าสงสารคู่รักมิได้พบนาง

๘๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ยินเสียงโมเรศร้อง งุมงุม
คิดคอบเถิงทิพจุม แจ่มหน้า
ปักษีส่ำแสนชุม ชมมิ่ง เมียเอ่
หลอพี่แรมเร้นถ้า ถ่อมชู้ชายฉงน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ยินเสียงโนเรศร้อง งุมงุม
คิดถ่อมถึงทิพจุม แจ่มหน้า
ปักษีส่ำแสนชุม ชมมิ่ง เมียเอย
หลอพี่แรมเร้นถ้า ถ่อมชู้ชายฉงน

โมเรศ-นกยูง ใน ๗ ฉบับเป็น โนเรศ เสีย ๒ ฉบับ งุมงุม-เสียงนกร้องระงมระงม คอบ-กลับคืน จุม-ดอกไม้ยังไม่ทันบาน (ภาษาลาว) ส่ำ-หมู่ ชุม-ชุมนุม หมู่ หลอ-เหลือ ถ้าถ่อม-ท่า คอย ถ่อม-คอยดู ฉงน-ไกล ใช้คู่กับ ฉงาย

ได้ยินเสียงนกยูงร้องระงม ทำให้คิดถึงศรีทิพผู้เหมือนดอกไม้งาม เห็นฝูงนกล้วนแต่สุขอยู่กับคู่ เหลือแต่พี่ซึ่งร้างแรมมาไกล ยังคอยน้องอยู่

๘๒

(ฉบับเชียงใหม่)

สารีรักร่ำถ้อง โกกี
ยะเยือกเสียงไยยิน ซ่ำซ้ำ
เททรวงเดือดแดภินท ภิชชแรก ทวงเอ่
เจ็บจำงือคืดคล้ำ ครอบเนื้อนพคุณ

(ฉบับหอสมุดฯ)

สาริรักร่ำถ้อย โกกิล
ยะเยือกเสียงโยยิน เยื่อซ้ำ
เททรวงเดือดเดพิน พิศเรก ไปแฮ
เจ็บจำงือคลืดคล้ำ คลอบเนื้อนพคุณ

สารี-นกขุนทอง ถ้อง-ชัด โกกิล-นกดุเหว่า ไย-เรไร ไทเหนือว่า จักจั่น ภินท-แตก ทำลาย พิศเรก ภิชชแรก ฉบับ ส. เป็น พิษแซรก-พิษแทรก ทวง-ทรวง จำงือ-วิตก ทุกข์ คืด-กึ๊ด-คิด ครอบ-คอบ-กลับ นพคุณ-ทองเนื้อเก้า หมายถึง นาง

นกขุนทองท่องคำแสดงความรักได้ชัดเจน นกดุเหว่าส่งเสียงเยือกเย็นและเสียงเรไรอีกด้วย เปิดอกเดือดร้อนใจแตกทำลายไป เจ็บและทุกข์ร้อนคิดค้ำชูให้ดีขึ้น โดยกลับคืนไปหานาง

๘๓

(ฉบับเชียงใหม่)

นกเป้าจับป่าเป้า เรรน
ขวาแขกเขาบินบน ร่ำร้อง
เรียมวานโผดเผือดล โดยพี่ พลันรา
บินบอกนุชเนื้อน้อง พร่องเทื้อทิชาดล

(ฉบับหอสมุดฯ)

นกเป้าจับเปล่าเป้า เรรน
ขวานแขกเทบินบน ร่ำร้อง
เรียมวานโผดแผดล โดยพี่ พลันรา
บินบอกนุชเนื้อน้อง พร่องเพื้อทิชาดล

นกเป้า-นกเปล้า ป่าเป้า-ป่าเปล้า แขก-ชื่อนกชนิดหนึ่ง ไปเยี่ยม โผด-โปรด เผือ-เราทั้งสอง แผ-แปร-หัน ผัน ดล-ถึง พร่อง-บ้าง เทื้อ-เถิด ทิช-นก

นกเปล้าจับป่าต้นเปล้าวุ่นวาย นกขวาน นกแขกเต้า และนกเขาบินอยู่บนท้องฟ้าส่งเสียงร้อง พี่วานนกให้นางตามพี่มาทันที ไปบอกน้องให้หน่อยเถิดนกเอ๋ย

๘๔

(ฉบับเชียงใหม่)

ราตรีเทียนทีปแจ้ง เจาะงาม
มัวม่วนนนตรีตาม ติ่งทร้อ
อุดสากั่นโลงยาม ชักชอบ ชื่นเอ่
บุญพี่บ่เปืองป้อ เปล่าซ้ำเซาทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ราตรีเทียนทีปแจ้ง เจาะงาม
มัวม่อนนนตรีตาม ติ่งถ้อ
อุตส่าห์กั่นโลงนาม ชักชอบ ชื่นเอย
บุญพี่พอเปลื้องปล้อ ปล่าซ้ำเซาทวง

เจา-จุด ม่วน-สนุก นนตรี-ดนตรี พระยาอนุมานราชธนกรุณาอธิบายว่า อักษร ไทยบางหมู่ออกเสียงเป็น ก็มี เช่น ดอน เป็น โนน ติ่ง-เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง พิณ ซึง มหาเวสสันดรฉบับเชียงใหม่ กล่าวถึง “ดีดติ่งต้องและกลองตลิ๋งปิ๋งตุ๋มป้าง” ทร้อ - ซอล้อ เช่น “ทังตลิ๋งปิ๋งปี่ห้อ ทังทร้อและแกนกอย” ทร พายัพ ออกเสียงเป็น ฉบับหอสมุดฯจึงเป็น ติ่งถ้อ ไป ทร้อ รูปร่างคล้ายซออู้ ใช้ไม้แผ่นบางๆ ปิด แทนที่จะใช้หนังและติดด้วยชัน วางสายลวดทองเหลืองแบบสายไวโอลิน มี ๒ สาย สมัยนี้เพิ่มเป็น ๓ สายก็มี อุดสา และ บารส เป็นชื่อนางและพระในชาดก (ดูบทที่ ๑๑๙) กั่นโลง-โคลง บ่เปือง-บ่เปลือง-ไม่มาก เช่น พงศาวดารล้านช้างว่า “สร้างบ้านบ่เปือง สร้างเมืองบ่กว้าง” ป้อ-พูนพอกพูน เซา-หยุดพัก

กลางคืนมีเทียนและประทีปจุดสว่างงาม หลงสนุกไปกับดนตรี เครื่องดีดติ่งและซอทร้อ โคลงกล่าวถึงอุดสาชักสนุกสนานไปด้วย แต่บุญพี่สะสมไว้ไม่พอ กลับเหงาหงอยใจเพิ่มขึ้น

๘๕

(ฉบับเชียงใหม่)

สนธยายามเยียะแล้ง ลมถวิล
หนาวอ่อนอรพิน พรากข้าง
อรชรชอบยามยิน อุรุเล่า ไปเอ่
ขามเขือกเขรงน้องร้าง เรียกขวั้นขวัญมา

(ฉบับหอสมุดฯ)

สนธยายามเยี่ยแล้ง ลมถวิล
หนาวอ่อนอรยุพิน พรากข้าง
อรชรชอบยามยิน อุดเล่า ไปเอย
ขามเขือดเขงน้องร้าง เรียกขวัญขวัญมา

สนธยา-เวลาพลบค่ำ เยียะ-ทำ แล้ง-ถ้า แลง แปลว่า เย็น อรพิน- ดอกบัว หมายถึง นาง อุรุ-กว้างมาก เลิศ บางฉบับเป็น อุลุ คิดว่ามีเรื่อง อูลูกับนางอั้ว แต่สอบดูแล้วที่ถูกเป็นท้าวขูลูกับนางอั้ว อุด-อาจตัดมาจากอุตสาหะ ขาม-เกรง เขือก-เกลือก เกรงว่า ถ้า ขำเขือก แปลว่า โกลาหล เขรง-เกรง กร ออกเสียงเป็น ข ขวั้นขวัญ-มิ่งขวัญ

ยามพลบค่ำ ทำให้คิดถึงลมที่ขาดไป แต่กลับรู้สึกหนาว เพราะน้องพรากไปจากพี่ เธอชอบเรื่องอุลุ พี่ได้ยินก็เล่าไปให้ฟัง เกรงว่าน้องจะแรมร้างกันไป จึงเรียกขวัญให้กลับมา

หรืออาจแปลอีกแบบหนึ่งว่า พลบค่ำเวลาตอนเย็น คิดถึงลมทำให้รู้สึกหนาวเพราะน้องจากพี่ไป

๘๖

(ฉบับเชียงใหม่)

ปานนี้นักนิ่นเนื้อ สมสมร
อภโอกเอาองค์อร อ่อนเหล้น
หนาวหนาวลวาดลมชอน ใจพี่ มาเอ่
เปี่ยนเปล่านุชน้องเร้น ร่ำถ้อยเถิงอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ปานนี้นักนิ่มเนื้อ สมสมร
จักโอบเอวองค์อร อ่อนเหล้น
หนาวลมล่วงอรชร ใจพี่ มาเอย
เปี่ยนเปล่านุชน้องเร้น ร่ำถ้อนถึงอวร

ปานนี้-ป่านนี้ สม-ร่วม อภโอก-เป็น อภโอด ก็มี โอบอก? ล. เป็น อั้บอก คือ มอบอก ลวาด-พัดผ่าน เปี่ยนเปล่า-เปลี่ยวเปล่า ถ้อย-ร. เป็น ถ้อง-แจ้ง ถี่ถ้วน (อีสาน)

เวลาเช่นนี้พี่เคยอยู่ร่วมกับแม่เนื้อนิ่ม พี่จะโอบเอวน้องเล่น หนาวลมที่พัดผ่านมา จูงดวงใจของพี่มาด้วย เปลี่ยวเปล่าที่น้องไม่ปรากฏตัว พร่ำพูดถึงน้องอยู่ตลอดเวลา

๘๗

(ฉบับเชียงใหม่)

รุ่งแลแล้วเช้า ชอนรถ
ชมชื่นเต็มไพรพรต เล่าผ้าย
ภานุเน่งบรรพต รังเลื่อม มาเอ่
เกวียนก่อนชุมยกย้าย คั่งแค้นคลองถนน

(ฉบับหอสมุดฯ)

รุ่งแลแล้วเช้าชอบ ชวนรส
ชมตื่นเต็มไพคด เล่าผ้าย
พานุชเน่งบรรพต รังเรื่อ มาแฮ
เกวียนก่อนนุชยังย้าย คั่งแคร้คลองถนน

ชอนรถ-เทียมรถ บาทสองฉบับเชียงใหม่เป็น ชนคืนเต็มไพรคต เล่าผ้าย ก็มี ภานุ-พระอาทิตย์ เน่ง-ตรงแน่ว (ดูบทที่ ๓๔) เกวียนก่อนชุม- เกวียนหมู่ที่ไปก่อน หรือจะแปลเพียงว่า หมู่เกวียน ยกย้าย-สำนวนทางเหนือ (ดูบทที่ ๘) คั่ง-อัดแอ ค้างอยู่ แค้น-ติด เช่น กินข้าวแค้นคอ คลอง-ปัจจุบันทางเหนือเรียกถนน ว่า กอง มาจากคำว่า คลอง นั่นเอง

รุ่งเช้าแล้วควรที่จะเทียมรถ ฝูงคนตื่นเต็มป่าเดินทางไปแล้ว พระอาทิตย์ส่องตรงภูเขา ทำให้เกิดแสงเลื่อม ๆ หมู่เกวียนเคลื่อนย้ายติดแน่นเต็มถนน

๘๘

(ฉบับเชียงใหม่)

สันยาลำนึ่งนั้น ปุนเล็ง
มีรูปไทยทังเม็ง ม่านเยี้ยว
ถือลาดาบกับเกง สกันแกว่น คมเอ่
เชิงชาติฟันเกี้ยวเกล้า แกว่นสู้สงคราม

(ฉบับหอสมุดฯ)

สุญารามหนึ่งหั้น บุญเลง
ที่รูปไททังเมง ม่านเงี้ยว
ถือลาดาบกับเกง สกรรจ์แก่น คนแฮ
ช้างฉวาดพันเกล้าเกลี้ยว แกว่นสู้สงคราม

สุญาราม-อารามที่ว่างเปล่าไม่มีคน วัดร้างแห่งหนึ่ง ปุน-น่า เลง-เล็ง ดู เม็ง-มอญ ม่าน-พม่า เยี้ยว-เงี้ยว-ไทใหญ่ ลา-โล่ ดาบ เกง-ระวัง ว่องไว ส. ว่า โล่ บางฉบับว่า กวัดเกวง เกวง-แกว่ง สกัน-สกรรจ์-ฉกรรจ์ แกว่น-แก่น กล้า เชิง-ท่า ชาติ-ชนิด ร. เป็น ทงฉวาด เกล้าเกี้ยว-เป็นชื่อท่ารำดาบท่าหนึ่ง

อารามที่ว่างเปล่าหลังหนึ่งนั้นน่าจะชม มีรูปไทย มอญ พม่า และไทใหญ่ มือถือโล่และดาบ ท่าทางคล่องแคล่ว เข้มแข็ง เก่งกล้า ออกท่ารำดาบท่าเกล้าเกี้ยว หาญสู้รบ

๘๙

(ฉบับเชียงใหม่)

ส้มสูกผ้งแผ่ผ้าย ผายงาม
แดงดาดเต็มอาราม ร่มหล้า
ปุนสนุกพระไพรสนาม สนิทเช่น ชิดเอ่
ฤามิมาพร้อมข้า ขุ่งชู้ชมผกา

(ฉบับหอสมุดฯ)

ส้มสูกซรอยผ่งแผ้ ผายงาม
แดงดาดเต็มอาราม หร่ามหน้า
ปูนสนุกพ้นไพรสนาม สนิทเช่น รักเอย
ฤาบ่มาพร้อมข้า บุ่งชู้ชมผกา

ส้มสูก-ส้มสุก ต้นอโศก ผ้ง-กำลัง และประเทศลาวแปลว่า งาม ขาว สะอาด (ดูบทที่ ๖๙ และ ๙๗) ผาย-ขยาย หร่าม-อร่าม ปุน-น่า เช่น-มาก นัก ฤามิมา- ไยไม่มา ขุ่ง-คิดคำนึง (ไทขืน)

ต้นโศกกำลังแผ่ออกไปบานงาม แดงเต็มอารามทั่วไป ทำให้เกิดร่มน่าสนุกในป่า เป็นที่ประชุมใกล้ชิดกันมาก ไยน้องไม่มาพร้อมพี่ คำนึงถึงนางชมดอกไม้

๙๐

(ฉบับเชียงใหม่)

บงซางเผียวไผ่ค้อม ไกวกวัด
อืออืดนูเนือคลัด คล่าร้อง
สาอวรอ่อนเทียวทัด เทียมพี่ มานัน
ยินสำเนียงนี้ถ้อง เที่ยงถ้องถามเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

บงช้างเผียวไผ่ค้อม ไกวกวัด
อืออืดนูเนื้อคัด คล่าร้อง
สาอ่อนอรเทียวทัด เทียมพี่ เพาเอย
ยินสำเนียงนี้ถ้อง เที่ยงถ้องถามเรียม

บง-ไม้ไผ่ชนิดหนึ่งไม่มีหนาม ปล้องยาวใช้จักตอก ซาง-คุณสงวน รอดบุญ ว่า ไม้ปล้องลำใหญ่เหมือนไผ่บ้านไม่มีหนาม ใช้ทำคันหน้าไม้ แต่คุณโสม พัตรสันดร ว่า เป็นไผ่ต้นเล็ก ใช้ทำลูกแคน เผียว-มีผู้พูดว่าเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ค้อม-น้อมลง อืออืด-เสียงไม้ขัดสีกัน นูเนือ-ย้าย ย่าง ลีลา งาม (ภาษาลาว) ในที่นี้ โอนเอน? (ดูบทที่ ๑๓๒ ด้วย) คัด-แน่น คล่า-ค่า ง่าไม้ สา-ถ้า หาก เทียวทัด-มาตรงกัน มาประจวบกัน เทียม-เคียง ถ้อง-ชัด ถี่ถ้วน (ภาษาลาว) เที่ยง-แน่แท้

ไม้บง ไม้ซาง ไม้เผียว และไม้ไผ่ น้อมลงกวัดแกว่งไปมา เสียงดังอืออืด โอนเอนไปมา ถ้าน้องเดินเคียงมากับพี่ได้ยินเสียงนี้ถนัด ก็จะต้องซักถามพี่โดยละเอียดอย่างแน่นอน

๙๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ระนึกหน้าน้องดุจ เห็นหัน
ยินแต่ตาจักฝัน ก็ใช่หน้า
รอยดลแด่ใจขวัญ ศรีคิ่น มาฤา
ศรีแม่มาน้อมหน้า พ่าวพ้อมระเหหน

(ฉบับหอสมุดฯ)

รลึกเห็นหน้าน้องดุจ เห็นหัน นาแม่
ยินแต่ตาจักฝัน ใช่หน้า
รอยตนแต่ใจขวัญ แขวนขื่น มาฤา
ศรีแม่มาน้องหน้า คว่าค้อมกระหายหน

ระนึก-ระลึก หัน-เห็น ยิน-รู้สึก รอย-ชะรอย ดล-บันดาล คิ่น-รักใคร่ สุดที่รัก เช่น เมียคิ่นเทียมใจ คว่าค้อม (อีสาน) คว่า-เสาะหา ค้นคว้า ล. เป็น กว่าค้อม ค้อม-เมื่อ

ยามนึกถึงหน้าน้องดูก็เหมือนจะเห็นชัด รู้สึกเห็นที่ดวงตาจะว่าฝันไปก็ไม่ใช่นะ ชะรอยใจของน้องรักจะบันดาลให้พี่มองเห็นน้อง เมื่อเวลาเร่ร่อนมาพี่แสวงหาจนมองเห็นหน้าน้องมาปรากฏอยู่

๙๒

(ฉบับเชียงใหม่)

อันรักร้อยฟ้าฟาก ภุดล
คืออยู่กลางทรวงหน แห่งข้า
บ่รักเสกสันขน ในแว่น วักษณ์เอ่
ฤาห่อนยลแย้มหน้า นาถเห้ยวัลภี

(ฉบับหอสมุดฯ)

อันรักร้อยฟ้าฟาก ภูวดล ก็ดี
คืออยู่กลางทวงหน แห่งข้า
บรักเสกสันขน ในเว่น วักขเอย
ฤาห่อนยลแย้มหน้า นาฏเอ้ยวัลพา

ภูวดล-พื้นแผ่นดิน คือ-เช่นเดียวกับ ทวง-ทรวง เสกสัน-เฉกฉัน วักษณ์-ทรวง อก ยล-ดู วัลภี-เมีย

รักกันแม้อยู่ห่างร้อยฟากฟ้าแผ่นดิน ก็เหมือนอยู่ในทรวงอกของพี่ แต่ถ้าไม่รักแล้วก็เปรียบเหมือนขนหน้าอก ไม่มีวันได้โผล่ออกมาพบหน้ากันดอกน้องที่รักเอ๋ย

๙๓

(ฉบับเชียงใหม่)

มณีแก้วกล้าเกิด กลางตา ก็ดี
ยังมิยลเห็นนา นาฏน้อง
อันอวรชื่อทุรา ยินโยชน์ สันนิ
ยินยิ่งยังซองห้อง ห่อไว้วักษณ์เรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

มณีแก้วกล้าเกิด กลางตา ก็ดี
ยังมิเห็นยลนา น่าน้อง
อันอวรซึ่งทุรา ยินโยชน์
ยินยิ่งชวนชิดห้อง ห่อไว้วักเรียม

นา-นะ ชื่อ-ซือ-แม้ ทุรา-ยาก ลำบาก ในที่นี้น่าจะตรงกับ โทระ แปลว่า ไกล สันนิ-ฉันนี้ เช่นนี้ ซองห้อง-เป็น ซวงห้อง ก็มี หมายถึง ทรวงอก วักษณ์-ทรวงอก

เพชรพลอยหากจะเกิดขึ้นกลางดวงตาของพี่ พี่ก็ยังจะมองไม่เห็นนะน้อง ส่วนน้องนางแม้หากจะไกลกันตั้งโยชน์เช่นนี้ ก็รู้สึกว่าอยู่ที่ทรวงอก มีทรวงอกห่อหุ้มไว้

๙๔

(ฉบับเชียงใหม่)

ลุเถิงศาลาเทศหั้น บริสุทธิ์ สว่างเอ่
ชุมเทียวไทชินบุตร ยอบยั้ง
ภานุแกว่งกงอุด อุมโอด มาเอ่
เรียมตำเนินนี้จั้ง จอดแจ้งจักดล

(ฉบับหอสมุดฯ)

ถึงศาลาเทพหั้น บริสุทธิ์ สว่างแฮ
ชุมเที่ยวไทชินบุตร ย่อมยั้ง
พานุชแกว่งกงอุด โอนอาต มาเอย
เรียมดำเนินนิจจั้ง จอดเจ้าจักดล

เทศ-คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ เสนอว่าควรจะเป็น เทศน์ หั้น-นั้น ชุม-หมู่ เทียวไท-เจ้าไทย พระสงฆ์ ชินบุตร-พระสงฆ์ ยอบยั้ง-หยุดพัก ภานุ-พระอาทิตย์ อุด-อูด (ลาว)-ร้อน อุมโอด-เสียงเกวียนพระอาทิตย์? ส. ว่า อบอ้าว จั้ง-หยุด จอด-ถึง จนกระทั่ง ดล-ถึง

มาถึงศาลาสำหรับพระเทศน์ซึ่งบริสุทธิ์และสว่าง หมู่พระภิกษุหยุดพักกัน พระอาทิตย์ชักรถมาร้อนอ้าว พี่มาถึงนี่ก็หยุดรอจนกระทั่งน้องจะมาถึง (ฉบับเชียงใหม่ รอจนแจ้ง ซึ่งผิดความจริง)

๙๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ศาลาลินหล่อหั้น หดชล ก็ดี
ชักเชือกเวฬีบน บ่อแร้ว
พระทิพเทพดาดล สักสวาด เรียมเอ่
สังมิมาน้องแก้ว พี่ชี้ชวนดู

(ฉบับหอสมุดฯ)

ศาลาลินห่อหั้น หักชล ก็ดี
ชักเชือกเวถีบน บ่อแห้ว
พงศ์เทพเทพาตน สักสาด เรียมเอย
สามิมาน้องแก้ว พี่ชี้ชวนดู

ลิน-รางน้ำ ไหลเอื่อยๆ หล่อ-ร่องน้ำที่ตกจากชายคา (อีสาน) ปรี่เข้าไป (พายัพ) ร. เป็น ต่อ หดชล-รดน้ำ เวฟี-ไม้ไผ่ (เวฬุ) (ดูบทที่ ๓๔ และ ๓๙) ฬ สับสนกับ พร บ่อแร้ว-ออกเสียง บ่อแฮ้ว โพงตักน้ำ ทางเหนือมีแร้ว ๓ ชนิด คือ แร้วดักนก แร้วผูกสัตว์ให้กินหญ้าได้วงกว้างอาศัยลำไม้ไผ่ตั้งอยู่บนเสา ไม้ไผ่กระดกขึ้นลงได้และหมุนได้รอบเสา เมื่อสัตว์ไปไกลเสา จะดึงปลายไม้ไผ่ลงมา ใช้เชือกผูกแต่ไม่ต้องยาวนัก และแร้วสำหรับผ่อนแรงตักน้ำในบ่อ โดยอาศัยไม้ไผ่กระดกขึ้นลงเหนือเสาเช่นกัน ดล-บันดาล ตน-องค์ สักสวาด-สักสาด-ใหญ่ยิ่ง เทียบกับบทที่ ๒๕ น่าจะตัดจาก มเหสักข์สาธย มหาเวสสันดร กัณฑ์มหาราช ฉบับเชียงใหม่ ใช้ว่า “ท้าวบรมสักสวาด บรมนาทเจ้าสญชัย” สังมิมา-ทำไมไม่มา ถ้าหากมา (เทียบไทอาหม สังบ่-ถ้าหาก)

ถึงศาลาซึ่งมีรางน้ำไหลรินรดน้ำลง ชักเชือกที่ผูกติดไม้ไผ่บนโพง ตักน้ำจากบ่อน้ำ เทพดาองค์ใหญ่ยิ่งของพี่ทำไมไม่ให้น้องมาพร้อมกัน พี่จะได้ชี้ให้ดูสิ่งเหล่านี้

๙๖

(ฉบับเชียงใหม่)

คราวนิรมร่มเสี้ยง ไพรแพระ ออกเอ่
สุริยส่องพื้นพลานและ ล่าวร้อน
ฝูงเทียวเท่าเทาะแทะ คองร่ม รุกข์เอ่
โอยอิ่นดูเนื้ออ้อน อ่อนไอ้ดลเดิน

(ฉบับหอสมุดฯ)

คราวนี้รมร่มเสี้ยง ไพรแพระ ออกแฮ
สายเสี่ยงผินพลานและ ล่าวร้อน
ฝูงเทียวเท่าทอแทะ ครองร่ม รักแฮ
โอ้เอนดูเนื้ออ้อน อ่อนไอ้ดลเดิน

นิรม-สนุก สบาย บางฉบับเป็น นี้รุกข์ ก็มี เสี้ยง-สิ้น ไพรแพระ-ป่าโปร่ง พลาน-ผืนแผ่นดินโล่ง ตรงกับ พระลาน ล่าว-เร่า เทียว-เดินไป เท่า-ได้แต่ เทาะแทะ-เตาะแตะ คอง-คอยหา อิ่นดู-สงสาร(พายพ) อ่อน ผู้หญิงอิดโรย ดล-ถึง

คราวนี้ความสบายเพราะมีร่มไม้หมดสิ้นไป ออกไปสู่ป่าโปร่ง พระอาทิตย์ส่องพื้นดินรุ่มร้อนจัด หมู่คนที่เดินไปเดินเตาะๆแตะๆ คอยมองหาร่มไม้ น่าสงสารผู้หญิงซึ่งอิดโรย แต่ก็ต้องเดินให้ถึง

๙๗

(ฉบับเชียงใหม่)

ธุลีทังท่งผ้ง ผงปลิว
ยินส่ำสุดตาลิว ลิ่วโพ้น
ดวงแดหอดหนหิว หาคิ่น รักเอ่
ยลปุรีน้องโน้น เน่งซ้ำสุดพิสัย

(ฉบับหอสมุดฯ) ไม่มีบทนี้

ทังท่ง-ทั้งทุ่ง ผ้ง-กำลัง (ดูบทที่ ๖๙) ส่ำ-หมู่ สุดตาลิว-ไกลจนสุดสายตา ตาลิว-ตาหรี่ ตาที่มองไกล ลิ่วโพ้น-ไกลลิ่วโน้น หอด-เหนื่อย อดอยาก (ไทขาว) ขาดข้าวน้ำ หอดหิว-คิดถึงมาก คิ่น-ของรัก หมายถึง เมียรัก ปุรี-บุรี เน่ง-ตรงแน่ว (ดูบทที่ ๓๔) สุดพิสัย-สุดเขต หมายถึง สุดสายตา

ฝุ่นกำลังปลิวไปทั้งทุ่ง ได้ยินเสียงฝูงคนไปสุดสายตาไกลโพ้น จิตใจเหนื่อยกระหายที่จะไปหานางยอดรัก มองไปทางเมืองที่น้องอยู่ตรงแน่วไปสุดสายตา

๙๘

(ฉบับเชียงใหม่)

คราวนี้ร้อนร้ายร่ม ราวหา ยากเอ่
จักจอดถึงนัครา ร่มหล้า
เจียนฉงายอ่วงอาภา พรัดราช รสเอ่
เจ็บจำงือหม้ายหม้า แม่ซ้ำแถมถนอม

(ฉบับหอสมุดฯ)

คราวนี้รอนร้านร่ม ราวหา ยากเอย
จักจอดถึงนัครา ร่มหร้า
มัชยาขว่ายอาพา ผัสราค รสเอย
เจ็บจ่ำงือหม้ายหม้า แม่ช้ำแถมถนอม

ร้อนร้าย-ร้อนเหลือเกิน จอด-ถึง เจียนฉงาย-จากไกล อ่วง-ห่วง ฉบับเชียงใหม่อีกฉบับเป็น “เจียนฉงายเสี่ยงอาภา พันราช รถเอ่” และ “เจียนอว่ายอว่ายอาภา พัณณราช รถเอ่อาภา-แสง รูปโฉม จำงือ-ทุกข์วิตก หม้าย-ไร้คู่ หม้า-งาม สูง (ลาว) (ดูคำอธิบายบทที่ ๒๔) แถม-เพิ่ม แถมถนอม- ส. ว่า ทวีคูณ

คราวนี้ร้อนเหลือเกิน หาร่มไม้ได้ยาก จวนจะถึงเมืองอันร่มเย็น จากมาไกลห่วงรูปโฉมที่ต้องพลัดนางมา เจ็บและทุกข์เพราะไร้คู่ เจ็บเป็นทวีคูณ

๙๙

(ฉบับเชียงใหม่)

สงสารเจ็บจากชู้ แวนขะสด
ใดด่วนมาแทนทด แทกได้
มรดีกว่าอันอด อภโสก ทุกข์นี
ตายชื่อลางแล้วให้ สว่างเสี้ยงใจเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

สงสารเจ็บจากชู้ แวนขสด
ใดด่วนมาแทนทด แทกได้
มวนดีกว่าอันอด อบโศก ทุกข์นี
ดายชีลางแล้วให้ สว่างเสี้ยงใจเรียม

ชู้-คนรัก ที่รัก แวน-มาก เช่น มหาชาติคำหลวง หน้า ๑๒๙ “ไปแวนนาน จรล่ำ” และหน้า ๓๓๒ “เหิมอาหารอันนานา เอากระยาแวนมากขะสด-กำสรด แทก-วัด เท่า อด-ทน อภโสก-ส.ว่า โศกทั้งสองทุกข์เท่าฟ้า ชื่อ-แม้ ฉบับหนึ่งเป็น ตายชื่น-ตายสิ้น ลาง-ชรอยว่าเอาออกหมด (ดูบทที่ ๖๑) สว่าง-สร่าง เสี้ยง-ทั้งสิ้น

ความเจ็บช้ำที่จากคนรักทำให้เกิดความกำสรดยิ่ง จะหาใครมาแทนน้องให้เทียบเท่ากันได้โดยพลัน ตายเสียยังดีกว่าอยู่ทนทุกข์โศก ตายเสียทำให้ใจพี่สร่างทุกข์ไปจนสิ้น

๑๐๐

(ฉบับเชียงใหม่)

สารสุดเท่าน้อง นุชศรี
ใครมิเจียนฉงายมี มิรู้
หกสวรรค์สี่ธรณี ฤาแทก เทียมชา
ตายกว่าลางแล้วสู้ สู่ก้ำโดยนิพพาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

สงสารสุดเท่าน้อง นุชศรี
ใครมิเจียรสลายมี มี่รู้
หกสวรรค์สี่ธรณี ฤาแทบ เทียมเอย
ตายกว่าลางแล้วสู้ สู่ก้ำดวงนิพาน

สงสาร-ล. ว่า โลกมนุษย์ เท่า-แต่ เจียนฉงาย-จากไกล สลาย-แตก ทำลาย แทก-วัด เท่า ชา-นะ (ดูบทที่ ๗๒) กว่า-ไป (ไทใหญ่) ลาง-ชรอยว่าเอาออกหมด (ดูบทที่ ๖๑) สู้-พอใจ (พายัพ) ก้ำ-ทิศ ทาง ดวง-ลักษณนาม (ดูคำอธิบายบทที่ ๕ และ ๖๒) ล. เป็น สู่ค้ำดล

บาทต้นแปลไม่ออกดูคล้ายกับบาทต้นของบทที่ ๔ สงสารสุดแต่น้องนาง ถ้าใครไม่เคยจากไกลก็คงไม่ทราบ ทั้งหกฟ้าสี่ทวีปจะหาใครเทียบเทียมนางได้นะ ตายเสียก็น่าพอใจจะได้เดินทางไปสู่นิพพาน

๑๐๑

(ฉบับเชียงใหม่)

บุรีรมเยศแล้ว เลือนถมอ
คือข่ายบัวบนกอ กีบตั้ง
สี่มุขเมฆมุงหอ เลอเลิศ งามเอ่
ทวารเขื่อนขื่มแข็งขั้ง ข่ามข้าเสิกแสลง

(ฉบับหอสมุดฯ)

บุรีรมเยศแล้ว เลินถมอ
คือข่ายบนบัวกอ กีบตั้ง
สี่มุขเมฆมุ่งหอ เลยเลิศ งามแฮ
ทวารเขื่อนขืนแข่งขั้ง ข่ามข้าศึกแสลง

เลือน-เรียง (อีสาน-เลียน) ติด (ไทขาว) น่าจะแปลว่า ล้อม ในลิลิตยวนพ่ายบทที่ ๑๗๐ “มีกำแพงแลงเลือน ต่อต้าย” แลง-ดินกลายเป็นหิน ต้าย-เสาเขื่อน (บทที่ ๒๑๖) “พังพลายในนอกล้อม เลือนไพร เพรียกแฮ” และ (บทที่ ๒๓๒) “พลเป็นกงข่ายล้อม เลือนดิน ดาษแฮ” ส. ว่า ทอดไป ถมอ-หิน คือ-คูเมือง เท่ากับ กีบ-กลีบ สี่มุข-จตุรมุข หอคอยสร้างเป็นจตุรมุข เมฆ-ชาวแพร่แปลว่ากำแพงเมือง คุณสงวน รอดบุญ ยกตัวอย่างประโยคที่ใช้ในประเทศลาวหลายประโยค เช่น มีเมกตั้งสล้าย ขื่ม-ขืม-ยึดมั่นคง(ไทขาว)ฉบับหนึ่งเป็น เขิง-ขึง ขั้ง-กั้น ข่าม-คงกระพันชาตรี ไทเหนือว่า คงทน เสิก-ศึก แสลง-แสยง

ถึงเมืองอันน่าสนุกซึ่งมีหินล้อมรอบเมืองเสมือนดอกบัวอยู่บนกอมีกลีบ ตั้งกำแพงเมืองมีหอคอยสร้างเป็นจตุรมุขมองดูงามลํ้า ประตูมีเขื่อนกั้นมั่นคงแข็งแรงคงทน ทำให้ข้าศึกกลัว

๑๐๒

(ฉบับเชียงใหม่)

ฤษีสักสาดสร้าง ด้วยเดิม
ยังก่อนมังรายเลิม ราชท้าว
สังขาขีดเขียนเติม ตามรูป รอยเอ่
กวมก่อทุกด้านด้าว หากแล้วด้วยฤทธี

(ฉบับหอสมุดฯ)

ฤษีศักดิ์ศาสตร์สร้าง เดียวเดิม
ยังก่อนมังรายเริม ราชท้าว
สังขารคิดเขียนเติม ตามรูป รอยเอย
กอบก่อทุกด้านด้าว หากแล้วด้วยฤทธิ์

ฉบับหอสมุดฯ สับลำดับโคลงบทที่ ๑๐๒ และ ๑๐๓ กันเสีย สักสาด-ใหญ่ยิ่ง (ดูคำอธิบายบทที่ ๙๕) ยัง-มี เลิม-เดิม เริม-เริ่ม? สังขา-คิด หอยสังข์ กวม-ครอบ

ครั้งแรกฤาษีผู้ใหญ่ยิ่งเป็นผู้สร้าง มีมาก่อนสมัยพระเจ้ามังราย ฤาษีท่านคิดขีดเขียนตามรอยสังข์ และโดยอิทธิฤทธิ์ก่อสร้างครอบ (ตามเส้น) สำเร็จทุกด้าน (ตามตำรับจามเทวีวงศ์ เมืองลำพูนสร้างโดยฤาษีใช้ไม้เท้าขีดตามหอยสังข์ แล้วเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นตามรูปรอยนั้น)

๑๐๓

(ฉบับเชียงใหม่)

ฤษีสักสาดไท้ ชฎาธาร ท่านเอ่
ทังแปดสมาจาร เสพสร้าง
อัมพรวิ่งเวทยาน ยังเมฆ ไปรา
ปลดที่อันร้อนร้าง รีบหื้อสมสมร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ฤาษีสรัพศาสตร์ไท้ ชฎาธาร ท่านแฮ
ทั้งแปดสำมัชฌาญ เสพสร้าง
อัมพรวิ่งวงทะยาน ยังเมฆ ไปแฮ
ปดที่ออนอันร้าง รีบหื้อสมสมร

สักสาด-ใหญ่ยิ่ง (ดูคำอธิบายบทที่ ๙๕) ไท้-ผู้เป็นใหญ่ ชฎาธาร-ผู้ทรงไว้ซึ่งผมเกล้าเป็นมวยสูงขึ้น สมาจาร-การปฏิบัติ การกระทำ บางฉบับเป็น สัมมาจารย์ สามรรถญาณ สามรรถฌาณ ถ้าจะให้ถูกเรื่องที่สุด ฤาษีมีสมาบัติแปดประการ น่าจะใช้ สมาบัติญาณ เวทยาน-ยานอันเกิดด้วยเวท ยัง-ไปสู่ สม-ร่วม

ฤาษีผู้ยิ่งใหญ่อันทรงไว้ซึ่งผมเกล้าเป็นมวย ทรงไว้ซึ่งการปฏิบัติแปดประการ วิ่งขึ้นบนอากาศสู่เมฆโดยใช้ยานอันเกิดด้วยเวทมนตร์ ขอช่วยเปลื้องความทุกข์ร้อนที่จากกัน รีบให้พี่คืนไปอยู่ร่วมกับนาง

๑๐๔

(ฉบับเชียงใหม่)

ยลเห็นพระธาตุเจ้า จอมจักร
เป็นปิ่นอุพารักษ์ เลิศหล้า
ทวายกรอำรุงรักษ์ แปงเจต งามเอ่
ปราสาทใสแสงซ้ำ เพื่อน้องนารีรมย์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ยลเห็นพระธาตุเจ้า จอมจักร
เป็นปิ่นอุพารักษ์ เลิศลํ้า
ทายกรอำรุงรักษ์ รมเจด งามเอย
ปราสาทใส่แสงซ้ำ เมื่อน้องนารีรม

อุพารักษ์-เป็น จุฬาลักษณ์ อุปปารักษ์ ก็มี (ดูคำ อุฬาร ในบทที่ ๑๖) ทวาย ทาย คือ ยก แปงเจต-ทำใจ

มองเห็นพระธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นยอดของจักรพรรดิ เป็นยอดจุฬาลักษณ์ ยกมือถวายเคารพตั้งจิตใจให้งาม เคารพทั้งปราสาทอันเรืองสว่าง เพื่อผลให้ได้มีความสุขกับน้อง

๑๐๕

(ฉบับเชียงใหม่)

บรรทวายทวารต่อเท้า เถิงขง
อเนกนองปานตง แผ่นค้อม
บริเวณส่ำแสนองค์ จักเน่ง นองเอ่
ทั้งสี่สมด้านล้อม ลวดเสี้ยงสุดสถาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ประทายทวารต่อท้าว ถึงขง
อเนกน้องป่าป่ง เหนกช้า
บริเวณส่ำแสนองค์ อกแน่ง น้องเอย
ทั้งสี่สมควรข้า ลอบเสี้ยงศุภสาร

บรรทวาย-ประทาย-ค่าย ป้อม ต่อ-จนกระทั่ง เท้า-ตราบเท่า จนกระทั่ง ขง-ประตูโค้ง ตง-ไม้เครื่องเรือนทับบนรอด ตงแผ่นค้อม- อ. ว่า แผ่นดินอ่อนยวบยาบ ค้อม-งอ โค้ง ส่ำ-หมู่ เน่งนอง เป็น เน่งนอน ก็มี เน่ง-นิ่ง ตรงแน่ว สม-เหมาะ ควร ส. ว่า เสมอ ลวดเสี้ยง-เลย หมดสิ้น ศุภสาร-ถ้อยคำอันไพเราะ ร. ว่า สพสาร คือ แก่นทั่ว

ประตูป้อมต่อออกไปจนถึงประตูโค้ง มีตงมากมายเป็นแผ่นโค้ง รอบบริเวณมีผู้คนนับแสนคับคั่ง (หรือนอน) ล้อมทั้งสี่ด้านตลอดจนเต็มทั้งสถานที่

๑๐๖

(ฉบับเชียงใหม่)

มหาชินธาตุเจ้า เจดีย์
เหมือนแท่งทิพสิงคี คู่เพี้ยง
ฉัตรคำคาดมณี ควรค่า เมืองเอ่
เปียวเป่งดินฟ้าเสี้ยง สว่างเท้าอัมพเร

(ฉบับหอสมุดฯ)

มหาชินธาตุเจ้า เจดีย์
เหมือนแท่งคำสิงคี คู่เพี้ยง
สัตว์คำคาดมณี ควรค่า เมืองแฮ
เปลวเปล่งดินฟ้าเสี้ยง สว่างท้าวอัมพรา

ชิน-ผู้ชนะ คือ พระพุทธเจ้า ชินธาตุ-พระเจดีย์ คำ-ทอง สิงคี-ทอง สิ่งที่สีเหลืองเหมือนขมิ้น เพี้ยง-เพียง คาด-ประดับ เปียว-เปลว เปล่ง-อยู่ในที่กลางแจ้ง ส่องแสง (เทียบกับบทที่ ๕๘) เท้า-ตราบเท่า จนกระทั่งถึง อัมพเร-ท้องฟ้า

เจดีย์พระมหาธาตุของพระพุทธเจ้าเหมือนแท่งทองคำ มีฉัตรทองคำประดับด้วยมณีอันมีค่าเสมอกับเมืองๆ หนึ่ง ส่องสว่างตลอดทั้งโลกและสวรรค์ขึ้นไปถึงท้องฟ้า

๑๐๗

(ฉบับเชียงใหม่)

เจดีย์พระชินธาตุเจ้า ศรีสถาน
โสภิตพะงาปาน เกศเกล้า
ทศมนมิมีปาน พอคู่ ครบเอ่
ฤาเลิศไตรทิพเท้า เท่าเว้นจุดาศรี

(ฉบับหอสมุดฯ)

เจดีย์ชินธาตุเจ้า ศรีสถาน
ขามโสพิศพงาปราณ เกศเกล้า
ทัศมนมิพอปาน พอคู่ คมเอย
ฤาเลิศใต้ทิพเท้า เท่าเว้นอุบพาศรี

ชินธาตุ-พระเจดีย์ พะงา-งาม เกศเกล้า-ส. ว่า พระเกษเกล้า จุฬามณี ทศมน-ทศมณฑล สิบแคว้น ห. ว่า พักยน ไตรทิพ-สวรรค์ชั้นสาม เท้า-ตราบเท่าจนกระทั่ง เท่าเว้น-เว้นแต่ จุดาศรี-จุฑาศรี-จุฬามณี พระเจดีย์อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เจดีย์พระธาตุของพระพุทธเจ้างามเสมอศีรษะ ทั่วสิบแคว้นหามาเป็นคู่ไม่ได้เลย ดีเยี่ยมร่ำลือไปถึงสวรรค์ ยกเว้นแต่พระเจดีย์จุฬามณี

๑๐๘

(ฉบับเชียงใหม่)

มหาชินธาตุเจ้า จอมจักร
จอมจักรโลกทศลักษณ์ เลิศหล้า
เลิศหล้ามีใครทัก เทียมแทก ได้เอ่
เทียมแทกวางไว้ฟ้า ฟากด้าวดาวดึงส์

(ฉบับหอสมุดฯ)

มหาชินธาตุเจ้า จอมจักร
เป็นปิ่นทศลักษณ์ เลิศหล้า
เลงแลมิใครทัก เทียมแทก ใดเลย
เทาดิวางหว้ายฟ้า ฟากด้าวดาวดึงส์

ฉบับเชียงใหม่เป็นกลบทชื่อว่า กลบทเก็บบาท (ดูคำอธิบายบทที่ ๑๗๘)

ชินธาตุ - พระเจดีย์ ทศลักษณ์ (เกษตร) - ล้าน(นา)

พระธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นจอมจักรพรรดิ มีลักษณะสิบประการอันดีเยี่ยมในโลก จะมีใครมาเทียบเท่าได้เหมาะสม จะวางให้ลอยอยู่บนฟากฟ้าชั้นดาวดึงส์

๑๐๙

(ฉบับเชียงใหม่)

ระวังเวียงแวดชั้น สมสอง สว่างเอ่
ทุกแจ่งเฉลิมฉัตรทอง แทบเอื้อม
พระหารสี่หลังยอง ยังเงื่อน งามเอ่
เทียมระวังซ้อนเซื้อม สี่ด้านเถิงตรู

(ฉบับหอสมุดฯ)

ระวังเวียงแวดขั้น สมสอง สว่างแฮ
ทุกแล่งเฉลิมฉัตรทอง เทพเอื้อน
พิหารสี่หลังยอง ยังเงื่อน งามเอย
เทียมลวังช่วนเชื้อน สี่ด้านถึงถลู

ระวังเวียง-เข้าใจว่า หมายถึง รั้วล้อมพระเจดีย์ บางฉบับเป็น ระวังทง แวด-ล้อม แจ่ง-มุ เฉลิม-เสริม ทอง-ทองเหลือง ทองแดง แทบเอื้อม-เอื้อมเกือบถึง? ส. ว่า แทบ คือ ปิด(ทอง) ยอง-วางบน ยัง-อยู่ เงื่อน ใช้คู่กับงาม ระวัง-เรียง เซื้อม-ซ้อน ตรู อ่านออกเสียงเป็น ถู แปลว่า งาม ส. ว่าชิดกัน

รั้วล้อมพระเจดีย์สองชั้นสว่างไสว ทุกมุมมีฉัตรทองแต่งไว้เกือบจะเอื้อมถึง พิหารตั้งอยู่สี่หลังดูงาม เรียงซ้อนเป็นคู่กันอยู่ดูงามทั้งสี่ด้าน

๑๑๐

(ฉบับเชียงใหม่)

บริเวณละเลื่อนล้อม บริษัท
สาวบ่าวยิงชายคัด คั่งแค้น
รัตตินทิวาวัด วันค่ำ คืนเอ่
บ่ห่างสักเม็ดแม้น เมื่อใกล้วิภาดา

(ฉบับหอสมุดฯ)

บริเวณละเลื่อนล้อม ปาณสัตว์
สาวบ่าวหญิงชายคัด คั่งแคร้
รัตตินทิวาวัด อันค่ำ คืนเอย
บ่ห่างสักเมดแม้ เมื่อใกล้วิภาดา

ละเลื่อน-เลือนเลือน ล้อม เรียง (ดูคำอธิบายบทที่ ๑๐๑) เคลื่อนตามกันไป บริษัท-หมู่คนแวดล้อม ยิง-หญิง คัด-แน่น เช่น คัดจมูก คั่ง-อัดแอ แค้น-ติด เช่น กินข้าวแค้นคอ รัตติน-ราตรี ทิวา-กลางวัน วัด-น่าจะเป็นวัตร ซึ่งแปลว่า ความประพฤติ การจำศีล วันค่ำ-วันยังค่ำ เม็ด-น้อยนิด เช่น ไปหาบ่ได้สักเหม็ด แม้น-แม้ วิภาดา-วิภาต เวลาเช้าตรู่

มีผู้คนตามกันไปทั่วบริเวณ ทั้งหญิงและชายแออัดแน่นเต็มไปหมดตลอดวันตลอดคืน ไม่ว่างคนเลยแม้เมื่อเวลาใกล้รุ่ง

๑๑๑

(ฉบับเชียงใหม่)

พระทิพตนแจ่มจ้อน หฤทัย พี่เฮย
บริเยศหาหนใด มิได้
ปานนี้นิรมใจ คองพี่ พู้นฤา
แปงเจตเนื้อน้องไท้ ค่อยตั้งอนุโม

(ฉบับหอสมุดฯ)

พะทีปตนแจ่มจ้อน หทัย พี่แฮ
บริเยศหาหนใด บ่ได้
ปารนีร่มคลาไคล คองพี่ พูนแฮ
แปงเจดเนื้อน้องให้ ช่วยตั้งอนุโม

จ้อน-สั้น-น้อย บริเยศ-คนรัก นิรม-ความสนุก หมายถึง นาง คอง-คอยหา พู้น-พูน-โน้น แปงเจต-ทำใจ ไท้-ผู้เป็นใหญ่ อนุโม-ตัดจาก อนุโมทนา

นางศรีทิพน้องน้อยที่งามเปรียบเหมือนดวงใจของพี่ พี่หาน้องที่ไหนก็ไม่พบ ป่านนี้น้องจะคอยพี่อยู่ทางโน้นกระมัง ทำใจให้ตั้งมั่นแล้วอนุโมทนาให้แก่น้อง

๑๑๒

(ฉบับเชียงใหม่)

สสีใสสว่างพื้น บัวระวัน
แสงส่องมณฑลพลัน เพริศแพร้ว
สสาส่องเห็นหัน ยังเพื่อน เพาเอ่
โอยอ่ำยลน้องแก้ว กว่านั้นนานเห็น

(ฉบับหอสมุดฯ)

ศศิใสส่องฟ้า วรบัน
แสลงส่องมนดนดัน เพริดแพร้ว
สะสาส่องเห็นหัน ยังเพื่อน แพรวเฮย
โอ้ว่ายลน้องแก้ว กว่านั้นนานเห็น

สสี-พระจันทร์ บัน-หน้าจั่ว บัวระวัน บัวระมวล-บริบูรณ์ มณฑล-วง ขอบเขต บางฉบับเป็น มนดก สสา-กระต่าย หัน-เห็น ยัง-อยู่ มี เพื่อน-มีเสน่ห์ งาม (ไทอาหม) เพา-งาม อํ่า -ไม่ (ไทใหญ่) กว่า-ไป (ไทใหญ่)

พระจันทร์ส่องสว่างทั่วพื้นแผ่นดินไปหมด แสงส่องบริเวณมองดูสวยยิ่ง มองยังเห็นกระต่ายเป็นเพื่อนอยู่ โอ้ไม่ได้เห็นหน้าน้อง จากไปอีกนานกว่าจะพบกัน

๑๑๓

(ฉบับเชียงใหม่)

นิสาสาวบ่าวพร้อม สมสนุก สนันเอ่
เมียงม่ายเผือผันทุก แห่งหั้น
สาอวรอ่อนมาสุข เกษมเช่น รักเอ่
หลอแต่เรียมร้างกั้น กลิ่นแก้วสาไลย

(ฉบับหอสมุดฯ)

นิสาสาวบ่พร้อม สมสนุก นั้นแฮ
เมียงม่ายเผือผันทุก แห่งห้อง
สาอวรออกมาสุข เริมเช่น รักเอย
แพงเจดวางไว้น้อง นาฏไท้ทิพารม

บาท ๔ ของฉบับหอสมุดฯ สับกับบาท ๔ ของบทต่อไป

นิสา-กลางคืน บ่าว-ชายหนุ่ม สม-ร่วม เมียงม่าย-ชำเลือง กรีดกรายไปมา เผือผัน-เฝือฝั้น เฝือ-แฝง พัวพัน ผัน-ฟั่น แนบสนิท แนบนอน หั้น-นั้น สา-ถ้า เช่น-มาก หลอ-เหลือ กั้น-กลั้น อดอยาก สาไลย-สาลย มีความอาลัย ไท้-ผู้เป็นใหญ่ ทิพารม-หมายถึงนางที่รัก

ตอนกลางคืนหนุ่มสาวร่วมสนุกสนานกันพร้อมหน้า กรีดกรายแนบคู่กันทุกหนทุกแห่ง ถ้าน้องมาด้วยก็จะเป็นสุขยิ่ง นี่เหลือแต่พี่จากมาขาดกลิ่นนาง ให้อาลัยมาก

๑๑๔

(ฉบับเชียงใหม่)

นับมิผับแผ่นพื้น วนิดา
งามต่างงามภูษา หยั่นหย้อง
จักเทียมแทกสิเนหา ยินยาก ยินเอ่
แพงเจตวางไว้น้อง นาฏไท้ทิพารม

(ฉบับหอสมุดฯ)

นับมือผับแผ่นพร้อม พนิดา
งามต่างงามภูษา ย่องหยั่น
จักเทียมแทรกเสน่หา หายาก ยิ่งเอย
หลอแต่ร่างเรียมดั้น กลิ่นแก้วสาลัย

บาท ๔ ฉบับหอสมุดฯ สับกับบาท ๔ บทก่อนนี้ เพราะคัดผิด แปลแล้วไม่ได้ความดีเท่าของฉบับเชียงใหม่

นับมิผับ-ห. เป็น นับปือผับ ผับ-ทั่ว ถ้วน มหาชาติคำหลวง หน้า ๓๓๓ ใช้ “เต็มตรวจ ตราบมิผับหย้อง-ประดับ แต่งตัว แทก-เท่า ยิน-รู้สึก แพงเจต- ใจรัก ใจหวง ถ้าแปงเจต-ทำใจ ไท้-ผู้เป็นใหญ่ ทิพารม-หมายถึงนางที่รัก สาลัย-สาลย มีความอาลัย

ผืนดินเต็มไปด้วยนางงามนับไม่ถ้วน ต่างคนต่างแต่งตัวด้วยเสื้อผ้างดงาม แต่จะหาใครเทียบเท่าน้องรู้สึกยากยิ่ง ใจรักมอบไว้ให้น้อง

๑๑๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ทุงเทียนทังทีปตั้ง ปูชา
ปีคู่ทักขิณา หว่านไหว้
เป็นผลเพื่อภริยา ยังคิ่น รักเอ่
ถวายอนงค์น้องได้ แด่แล้แลสิเนห์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ทุงทองทังทีปตั้ง บูชา
ปีคู่ทักขิณา หว่านไหว้
เป็นผลเผื่อกิริยา ยังขึ่น รักเอย
ถวายอนงค์น้องได้ แด่แล้วเสน่หา

ทุง-ธง ทัง-ทั้ง ทีป-ประทีบ ปีคู่-คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ ว่า เกิดปีระกา ปีคู่เป็นไก่ เป็นต้น ส. ว่า คู่อายุ เท่าอายุ ห. เป็น บ่คู่ ทักขิณา-ไทยธรรม ถวายพระ ล. เป็น ทักขิณสา หว่านไหว้-ไหว้ กิริยา-ตัดจาก กิริยาบุญ คือ การทำบุญ คิ่น- รัก (ดูบทที่ ๙๑) สิเนห์-เสน่หา

ใช้ธงเทียนและประทีบเป็นเครื่องบูชา ไทยธรรมถวายพระให้แก่สัตว์จำนวนเท่ากับอายุ (ดูข้างบน) ขอให้บังเกิดผลแก่นางซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ถวายให้แก่นางและให้ได้ร่วมเสน่หา

๑๑๖

(ฉบับเชียงใหม่)

พันตาถลิงเกศเกล้า เถิงถวาย
เป็นสักขีเรียมหมาย เหมียดหมั้น
วางเภาโภชน์ทังสวาย เสียรุ่ง ก็ดีเอ่
ก็เหตุนุชน้องนั้น คอบชู้เจียนฉงาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

กระษัตราติงเกศเกล้า ก่อถวาย
เป็นสากษีเรียมหมาย เหมือดหมั้น
วางเพาโพดทังสวาย เสียรุ่ง ก็ดี
ก่อเหตุนุชน้องกั้น คอบชู้เจียนสลาย

พันตา-พระอินทร์ ถลิง-ใช้คู่กับถลาเสมอ (เช่นบทที่ ๑๙) แปลว่า รวดเร็ว ตราตรึง บางฉบับเป็น ถือ ก็มี เถิงถวาย-ห. และ ร. เป็น กรถวาย สักขี-พยาน เหมียด-เก็บงำไว้ หมายเหมียดหมั้น-จดไว้เป็นหลักฐาน วาง-ละ อด เพา -เภา-เพรา อาหารเย็น สวาย-มะม่วง คอบ คืนกลับ ห. เป็น กอบ ชู้-คนรัก คู่รัก เจียนฉงาย-จากไกล สลาย-แตก ทำลาย

รีบน้อมเกล้าถวายพระอินทร์ ขอให้เป็นพยานว่ามีความตั้งใจมุ่งมั่นอดอาหารเย็นและผลไม้จนถึงรุ่งเช้า ก็เพราะเหตุด้วยน้องที่พี่จากมาไกล จะได้กลับคืนถวายไปหานาง

๑๑๗

(ฉบับเชียงใหม่)

สุพรรณมาลย์มิ่งไม้ ถวายทูล ก็ดี
เรียมถั่งถวายพื้นภูญช์ เรียกรู้
ปราสัยพุทธังกูร กวมโลก มีเอ่
อุเทศเทิงชู้ช้อย ช่วยคํ้าบารมี

(ฉบับหอสมุดฯ)

สุพรมมาลมิงไม้ ทวายทุม ก็ดี
ท่านทังถวายพินพุม เรียกรู้
ปราไสยพุทธังกุม กวมโลก นี้เอย
วุเทศทังช่วยชู้ ช่วยค้ำบารมี

สุพรรณมาลย์-ดอกไม้ทอง ถั่ง-รีบเร่ง หลั่งไหล ภูญช์-อาหาร ปราสัย-แสดงการอ่อนน้อม พุทธังกูร-ผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต กวม-ครอบ อุเทศ-การชี้แจง การแสดง การสวด เทิง-ถึง ชู้-คนรัก คู่รัก

พี่ถวายดอกไม้และรีบถวายอาหาร เคารพพระพุทธเจ้าซึ่งปกปักรักษาโลกนี้ ขอให้ช่วยหนุนบารมีถึงนางด้วย

๑๑๘

(ฉบับเชียงใหม่)

รัชนีเพิงพุ่งแจ้ง จวนตะวัน
แสงส่องรังสีจันทร์ แจ่มฟ้า
ราตรีมีดุจดูวัน รวีแว่น ยังเอ่
สนุกสนั่นปานด้าวหล้า หล่อหล้มเมทนี

(ฉบับหอสมุดฯ)

รัชนีเพิ่งพุ่งแจ้ง จวนตะวัน
แสงส่องรังสีจันท์ แจ่มฟ้า
สามินีดุจดูวัน รวีแว่น ยังเอย
สนุกสนานด่าวหล้า หล่อหล้มเมทนี

รัชนี-กลางคืน รัชนีเพิง-น่าจะเป็นรัชนีเพลิง หมายถึง พระจันทร์ ราตรีมี-เป็น ทามินี สามินี กรามินี-หญิงทั่วไป และ รถีรมี ซึ่งคงอ่าน ราตรี เป็น ราถี ตามหลักการอ่าน ราตรี น่าจะถูกกว่า ล. เสนอเป็นกลามี -เสี้ยวที่ ๑๖ ของพระจันทร์ เมทนี-แผ่นดิน

พระจันทร์ขึ้นสว่างเกือบเหมือนพระอาทิตย์ แสงสว่างท้องฟ้าเป็นเวลากลางคืนอยู่ แต่ดูเหมือนกลางวัน คล้ายมีพระอาทิตย์อยู่ สนุกสนานดังกับพื้นแผ่นดินจะถล่มทลายลง

๑๑๙

(ฉบับเชียงใหม่)

อุดสาเสียงสว่างสร้อย รัชนี
กลอนกั่นโลงทันที อ่านอ้อย
บารสเรียกมาลี เบงบาท ทุมเอ่
ตรีโจกทูทุกถ้อย เถี่ยงถ้องถามชัย

(ฉบับหอสมุดฯ)

อุดสาเสียงสว่างสร้อย รัชนี
กรกั่นโลงทันที อ่านอ้อย
บารดเรียกมาลี เบงบาต ทุมเอย
ตรีโจกทูทุกถ้อย เถี่ยงถ้อยถามชัย

อุดสา บารส ชื่อนางและพระในชาดกเรื่องหนึ่ง เสียงสว่าง ร. ว่า แสงส่อง กั่นโลง-โคลง ทันที-ล. เป็น ทัณฑี อ้อย ใช้คู่กับ อ่าน เบงบาท-โคลงห้า ทางพายัพและอีสานใช้ แทน เสมอ เช่น เป็ง-เพ็ญ ตรีโจก-เป็น ตรีโลก ก็มี ตรี-โคลงสาม โจก-โคลงสี่ ทู-โคลงสอง เถี่ยง-ประกวด ถ้อง-แถว

คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ เสนอว่า ทันที-จัตวาทันฑี เบงบาท-มณฑกคติ และ ตรีโจก-ตรีพิธพรรณ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็เห็นว่า มาลี-ก็ควรตรงกับวิวิธมาลี ส. ว่า ระเบียบ (การแต่งโคลง)

กลางคืนได้ยินเรื่องอุดสา-บารส แต่งโคลงขึ้นทันที แล้วอ่านบรรยายความทุกข์ทุกอย่างประกวดกันเป็นแถว ถามกันว่าใครชนะ (หรือมิฉะนั้นก็ต้องแปลว่า แต่งโคลงห้า สี่ สาม และสอง)

๑๒๐

(ฉบับเชียงใหม่)

อินดูน้องน้อยพราก เรียมไกล เช่นเม่
พอยเพื่อนฤาอวรไส ยาสน์โพ้น
บ่มาเผ่นปราสัย สงวนหมู่ ชุมนอ
เปี่ยนเปล่านุชน้องโน้น นาฏเอ้ยใครทยา

(ฉบับหอสมุดฯ)

เอนดูน้องน้อยพราก เรียมไกล เซ่นนอ
พอยเพื่อนฤาอวรไส ยาศโพ้น
บ่มาแผ่นปราไสย สงวนหมู่ ชุมนอ
เปี่ยนเปล่าอกน้องโน้น นาฏเอ้ยไคทยา

อินดู-สงสาร เช่น-มาก เม่-แม่ พอย-พลัดพราก ไร้คู่ โดดเดี่ยว เช่น อยู่ตนเดียวพอย (ดูบทที่ ๑๔๓) ห. เป็น ผัว ไสยาสน์-นอน เผ่น-เป็นแม่ แผ่ ก็มี สงวน-ส. ว่าสนุก ชุม-หมู่ เปี่ยวเปล่า-เปลี่ยนเปล่า ใครทยา-ร. ว่าเป็น ใดทยา ทยา-เอาใจใส่ กรุณา

สงสารน้องต้องพรากกันไกลจากพี่เหลือเกิน น้องจะพลัดกับเพื่อนหรือหลับอยู่ทางโน้น จึงไม่มาสนทนากับพวกพ้อง น้องเปลี่ยวเปล่าอยู่ไกลจะมีใครเอาใจใส่บ้าง

๑๒๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ชินพิมเพาโพธเพี้ยง พอพัน
สองฝ่ายหนเหนือสัน ฝ่ายใต้
ลาชาแผ่ผายผัน ผลเผื่อ อวรเอ่
ผลเผื่อเถิงเจ้าได้ แด่เท้อะทิโพชา

(ฉบับหอสมุดฯ)

ชินพิมเพาโพธเพียง พอกัน
สองฝ่ายหนเหนือสัน ฝ่ายใต้
ลาชาแผ่นผายผัน ผลเผื่อ อวรเอย
ผลเผื่อถึงเจ้าได้ แด่เทิ้นทิโพชา

ชินพิม-พระพุทธรูป เพาโพธ-เพาโพธิ-พระพุทธเจ้าพระองค์สุดท้าย (เขมร) เพี้ยง-เพียง พอพัน-ถึงพัน สัน-ฉัน-เช่นเดียวกับ ลาช้า-ข้าวตอก ผายผัน- โปรยปราย ผล-หมายถึง ผลบุญ เท้อะ-เทิ้น-เถิด ทิโพชา-ทิพ+โอชา

พระพุทธรูปงามมีถึงพันองค์ อยู่ทั้งทางทิศเหนือและใต้ โปรยข้าวตอกให้นางได้บุญด้วย ผลบุญขอให้ถึงนางเถิด

๑๒๒

(ฉบับเชียงใหม่)

พระหารยาวยิ่งกว้าง พิสดาร
พุทธรูปองค์อุฬาร เลิศหล้า
ยืนยังเหยียบพิมาน มณียอด โยงเอ่
สังมิมาพร้อมข้า แต่ตั้งปณิธา

(ฉบับหอสมุดฯ)

พิหารยาวยิ่งกว้าง พิสดาร
พุทธรูปองค์อุปพาน เลิศหล้า
ยืนยังเยี่ยมพิมาน รมณิยอด โยงเอย
สังมิมาพร้อมข้า แต่งตั้งปณิธาน

พระหาร-พิหาร พิสดาร-กว้างขวาง อุฬาร-อุปพาน-ล. ว่าเป็น อุฏฐาน ที่ถูกคือ อุฬาร (ดูคำอธิบายที่ ๑๖) ยัง-อยู่ สังมิ-ทำไมไม่ ถ้าหาก (ดูบทที่ ๙๕) ปณิธาน-ตั้งความปรารถนา

วิหารยาวกว้างขวางยิ่ง มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นยอดเยี่ยมในโลกยืนอยู่ดังเหยียบอยู่บนวิมาน มีพลอยแดงอยู่ที่ยอด ทำไมน้องไม่มาพร้อมพี่ (หรือถ้าหากมาพร้อมพี่) จะได้ตั้งความปรารถนาร่วมกัน

๑๒๓

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาชังเทียนทีปแม้น มาลา ก็ดี
เป็นส่วนศรีวนิดา เกิ่งก้ำ
ทุงเทียนแทกกายา ยังคิ่น ก็ดีเอ่
เป็นส่วนนุชน้องลํ้า เลิศข้าขอเวน

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาชาเทียนทีปแม้น มาลา ก็ดี
เป็นส่วนศรีวนิดา กึ่งก้ำ
ทุงทองแทกคายา ยังขึ่น ก็ดี
เป็นส่วนบุญน้องล้ำ เลิศข้าขอเวร

ลาชัง-ลาชา-ข้าวตอก ทีป-ประทีบ เกิ่ง-กึ่ง ก้ำ-ฝ่าย ทุง-ธง แทก-เท่า คิ่น-ที่รัก เวน-มอบให้

ข้าวตอก เทียน ประทีป และดอกไม้ที่ถวาย ถือเป็นส่วนของฝ่ายน้องครึ่งหนึ่ง ธงและเทียนสูงเท่าตัวนางก็ถือเป็นส่วนของน้อง ซึ่งพี่ขอมอบบุญให้

๑๒๔

(ฉบับเชียงใหม่)

ขีณาทังแปดเก้า สัพพัญญู
แปงพุ่นสาลีปู แผ่นผ้า
เคนพระชู่องค์ขู ณาพี่ รับรา
เป็นสักขีน้องหม้า แม่ได้โดยเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ขีณาทังแปดเก้า สัพพัญ
แปงพุ่งสาลีปู แผ่นผ้า
เคนพระชุองค์กู นาพี่ รับรา
เป็นสากขีน้องหม้า แม่ได้โดยเรียม

ขีณา-ตัดมาจาก ขีณาสพ เท่ากับ พระอรหันต์ สัพพัญญู-พระพุทธเจ้า ผู้รู้ทั่ว แปงพุ่น-ทำเป็นส่วนๆ คือแบ่งข้าวเป็นส่วนๆ ตามจำนวนพระ สาลี-ข้าว เคน-ตัดมาจากประเคน ชู่-ทุก ขูณา-กรุณา สักขี-พยานรู้เห็นด้วยตาตนเอง หม้า-งาม (ลาว) (ดูบทที่ ๒๔)

มีพระอรหันต์อยู่แปดองค์ เก้าทั้งพระพุทธเจ้า แบ่งข้าวเป็นส่วนๆ แล้วปูผ้า ประเคนพระทุกองค์ ขอให้กรุณาพี่ช่วยรับของถวาย และเป็นพยานให้น้องได้รับผลบุญจากพี่

๑๒๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ธาราไหลหล่อหื้อ เป็นสัจ
ก็เหตุเขรงอันพลัด พรากช้ำ
ปัจจุบันเผื่อผลตัด สองจาก เรียมเนอ
พิโยคนุชนี้ล้ำ เลิศผู้ไผประเหียล

(ฉบับหอสมุดฯ)

ธาราไหลหล่อหื้อ เป็นสัตย์ ก็ดี
ก่อเท่าเบิงอันพัด พรากซ้ำ
ปัจจุณเผือผลตัด สองจาก เจียนรา
พิโยคนุชนี้ล้ำ เลิศผู้ใดปะเหียน

ก่อเท่าเบิง-ก่อเท่าเปิง - ห. ว่าเป็น ต่อเท่าเปิง ร. เป็น ก็เท่าเปลือง-ก็เพียงแต่เปลื้อง เขรง-เกรง ปัจจุบัน-ในชาตินี้ เจียน-จาก (ดูบทที่ ๒) พิโยค-พลัดพราก ไผประเหียล-ใครเทียม

หลั่งน้ำตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยเหตุเกรงว่าจะพลัดพรากกันอีก ผลเพื่อให้ตัดการจากกันเสียทันที การจากครั้งนี้จากนางผู้ดีเยี่ยมจะหาใครเทียมได้

๑๒๖

(ฉบับเชียงใหม่)

นักขัตฤกษ์ทั้งเก้าเรียก รับผล
เยียวถูกถือลัคณาหน แห่งน้อง
มารับราชกุศล สนองโชค ชัยรา
ตัวบาปหลอนได้ต้อง คอบหื้ออิฏฐาผล

(ฉบับหอสมุดฯ)

นักษัตรทั้งเก้าเรียก รับผล
อย่าถูกลักขณาหน แห่งน้อง
รับราชกุศล สนองโชค ชัยรา
ตัวบาปหลอนใดต้อง ค่อยหื้อนักถาผล

นักษัตรทั้งเก้า-ดาวนพเคราะห์ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ราหู เกตุ เยียว-หากว่า ลัคณา-ตามทางโหราศาสตร์ ลัคนาคือ เครื่องหมายแทนเวลาเกิด ถ้าดาวพระเคราะห์ตัวร้ายเช่นกาลกิณีมาถูกจะเดือดร้อน หลอน-หาก แม้ว่า บังเอิญ ต้อง-ถูก คอบ-กลับ อิฏฐาผล-ผลเป็นที่พอใจ ห. และ ร. ว่าเป็น สถาผล

พี่เรียกให้ดาวนพเคราะห์ทั้งเก้ามารับของถวาย หากมาทับลัคนาของน้อง ขอให้มารับกุศลผลบุญและให้โชคชัยสนองตอบมา หากดาวตัวที่ให้ร้ายมาถูกลัคนา ก็ขอให้กลับได้ผลเป็นที่พอใจ

๑๒๗

(ฉบับเชียงใหม่)

อินทร์พรหมครุฑนาคน้ำ นำสนอง
จักแบ่งกุศลสอง ส่วนได้
ศรีคุตต์ค่อยปูนปอง หมายเหมียด บุญรา
บักชื่อนุชน้องได้ แด่ข้าอัคคชา

(ฉบับหอสมุดฯ)

อินทร์พรหมครุฑนาคน้ำ นำสนอง แดรา
จักแบ่งกุศลสอง ส่วนให้
ทวีคูณค่อยปูนปอง หมายเมียด บุญรา
บัดชื่นนุชน้องได้ แด่ด้วยอัคชา

ศรีคุตต์-เทวดาผู้ทำหน้าที่จดบัญชีความดีความชอบของมนุษย์ เข้าใจว่าตรงกับ จิตรคุปต์ ร. เป็น ทือคุณ ปูน-ให้รางวัล เหมียด-เก็บงำ บักชื่อ -สลักชื่อ บันทึก อัคคชา-ตัดมาจาก อัคคชายา -เมีย

ขอให้พระอินทร์ พระพรหม ครุฑ และนาค นำน้องมาให้ พี่จะแบ่งกุศลให้สองส่วน ขอให้เทวดาผู้จดบัญชีความดีของมนุษย์ช่วยจดบุญนี้ไว้ ขอให้สลักชื่อน้องผู้เป็นอัคคชายาของพี่

๑๒๘

(ฉบับเชียงใหม่)

วันเพ็งสมเสพสร้าง อุโบสถ
เพียญชน์โภชน์สุราอด ค่อยกั้น
ยังแชงเพื่อศิลสด ใสสว่าง งามเอ่
ก็ใช่จงฟ้าชั้น นาฏน้องเองอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

วันเพ็ญศีลเสพสร้าง อุโบสถ
เพียญชน์โภชน์สุราอด ค่อยกลั้น
ยังแชงเพื่อสีลสรด ใสว่าง งามเอย
ก่อใช่จงฟากชั้น หน้าน้องเองออน

เพ็ง-เพ็ญ สม-ร่วม สมเสพ-ส.ว่า ความประพฤติปฏิบัติ อุโบสถ-อุโบสถศีล (ศีลแปด) เพียญชน์-พยัญชนะ-กับข้าว โภชน์-อาหาร ข้าว กั้น-กลั้น-อด เช่น กั้นข้าวกั้นน้ำสามวันตาย แซง-รักษา ระวัง เช่น หื้อจิ้(ตระหนี่)หื้อแจง ใช่จง -มิใช่ประสงค์ หน้า-ห. เป็น น่า เอง-ลำพังตน เฉพาะตน

วันเพ็ญรักษาศีลอุโบสถ คือศีลแปด เว้นข้าวปลาอาหารและสุรา อยู่รักษาศีลเพื่อให้ศีลบริสุทธิ์ ทั้งนี้มิใช่จะประสงค์ไปสวรรค์ชั้นใด ประสงค์จะอยู่กับน้องคนเดียว

๑๒๙

(ฉบับเชียงใหม่)

สาลีวางรุ่งแจ้ง จำอัฐ
แปงเจตแชงปฏิบัติ บ่เศร้า
เบงจาจำนองวัตร วันค่ำ ก็ดีเอ่
สระชีพวางไว้เข้า เหตุอั้นอิฏฐารมณ์

(ฉบับหอสมุดฯ)

สาลีวางรุ่งแจ้ง จำอรรถ
แปลงเจดเชงปฏิบัติ บ่เศร้า
เบงจะจำเนียนวัด วันค่ำ ก็ดี
สระชีพวางไว้เข้า เขตน้องอิษฐารมณ์

สาลี-ข้าว วาง-สละ จำ-กำหนดไว้ในใจ อัฐ-หมายถึง ศีลแปด แปงเจต-ทำใจ แชง-รักษา (ดูบทที่ ๑๒๘) เบงจา-ศีลห้า จำนอง-ผูก จำเนียร-นาน วัตร-การจำศีล วันค่ำ-วันยังค่ำ สระ-ชำระ สละ ห. และ ร. ว่าเป็น สละ เขตน้อง-ห. เป็น เจตรน้อง อิฏฐารมณ์-ความรู้สึกอันน่าพึงพอใจ

งดอาหารตอนรุ่งเช้าตั้งใจรักษาศีลแปด (ในวันพระ) รักษาศีลห้า (วันอื่นๆ) ตลอดวัน ชำระจิตใจเพื่อให้ได้สิ่งอันน่าพึงพอใจ

๑๓๐

(ฉบับเชียงใหม่)

จึงเสลยยอริยาตรฟ้อน เฟือนฟัด
แวววาดหางยูงกวัด แกว่งเต้น
เงินทองระบำทัด ทอมทอด งามเอ่
ตามพวกคันธัพเหล้น หลากแล้หลายระบำ

(ฉบับหอสมุดฯ)

จึงเสลือยยุระยาตรฟ้อม เฟือนฟัด
แวววาดหางยูงกวัด แกว่งเต้น
เงินทองละบำทัด ทุมทอด งามเอย
ตามพวกคันธัพเหล้น หากแล้วหลายระบำ

เสลย-เฉลย เล่า แสดง ฟ้อม ห. ว่าเป็น ฟ้อน ๒ ฉบับ เฟือนฟัด- โบกไปมา ส. ว่า โน้มไปมา ทุมทอด-ทอดทิ้ง ทอดแขนทอดขา คันธัพ-คนธรรพ์ หลากแล้-มากแท้ ประหลาดแท้ ห. ว่าเป็น หลากแล้ว ล. และ ส. ว่าเป็น หลากเหล้น มากแท้ ประหลาดแท้ ระบำ-ทำนอง ท่ารำ (พายัพ) ระบำ ละบำ- ส. ว่า หมายถึงช่างฟ้อน

จึงเล่าถึงการฟ้อนรำ ซึ่งช่างฟ้อนถือหางนกยูงโบกไปมาและเต้น ใช้เงินและทอง (ซึ่งเป็นแผ่นม้วนให้กลม) ทัดหู ทอดแขนขาสวยงามตามแบบคนธรรพ์ แสดงการฟ้อนรำหลายแบบหลายท่าด้วยกัน

๑๓๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ภมุกคิ้วค้อมก่ง โกทัน
แอวอ่อนกำพลพัน รวบรั้ง
กทลีลดาวัลลิ์ ลมเพิก เพียงเอ่
เพิงแพ่งพลับเต้าตั้ง ผ่องผ้ายขจร

(ฉบับหอสมุดฯ)

ภมุกคิ้วค้อมก่ง เกาทัณฑ์
เอวอ่อนกำพลพัน รวบรั้ง
กัทลีลดาวัลย์ ลมเพิก เพียงเฮย
เพิงแพ่งพลับเต้าตั้ง เต่งตั้งผายขจร

ภมุก-คิ้ว ค้อม-โค้ง โกทัน-เกาทัณฑ์ แอว-เอว กำพล-ผ้าคาดเอว ผ้าที่พระและเณรคาดเอวและอก ทางเหนือเรียก ผ้ากำพล ส. ว่า ผ้าสีแดง กทลี-ต้นกล้วย ลดาวัลย์-ชื่อไม้เถาดอกหอม เพิก-เปิด เพียง-ประหนึ่ง เสมอ ราบเรียบ เพิง-น่าจะ พึง แพ่ง-งาม ห. และ ร. ว่าเป็น เพ่ง พลับเต้า-ปทุมถัน

คิ้ว (พวกช่างฟ้อน) โค้งเหมือนคันธนูที่โก่งไว้ เอวอ่อนมีผ้ารัดไว้ มองดูประหนึ่งต้นกล้วยหรือไม้เถาที่ลมพัดลู่ไปมา น่าพึงใจในปทุมถันอันงามเต่งตั้งอยู่ดูสล้าง

๑๓๒

(ฉบับเชียงใหม่)

เกี๋ยงคำเกล้าเกี้ยวแกว่ง กรกวาย
นูเนือกในทรวงสลาย ขาดขว้ำ
ปุนเด็ดแด่ขวัญถวาย ชีเวศ วันเอ่
หฤทเยศในเนื้อน้ำ ชุ่มเส้นสารีรัง

(ฉบับหอสมุดฯ)

เชียงคำเกลาเกลี้ยงแกว่ง กลอนกาย
นูเนื่องในทองสลาย ขาดขว้ำ
ปูนเด็จแต่ขวันถวาย ชีเวก เวนเอย
หัทเยศในเนื้อน้ำ ชุ่มแส้นสริรัง

เกี๋ยงคำ-ดอกลำเจียก กรกวาย-ไกวแขน บางฉบับเป็น กรกราย นูเนือก-นูเนื่อ-ย่าง ลีลา งาม (ลาว) โอนเอน? (ดูบทที่ ๙๐) ห. และ ร. เป็น นูเนือ สลาย-แตก ทำลายเป็น สาย ก็มี ปุน-น่า เนื้อน้ำ-เหงื่อ สารีรัง-สรีระ-ร่างกาย เส้นสารีรัง-เส้นขน

ดอกลำเจียกทัดผมแกว่งแขน โอนตัวไปมา เห็นแล้วใจแทบขาดคว่ำ น่าจะเด็ดถวายให้น้อง เหงื่อชุ่มเส้นขน (หมายถึงช่างฟ้อน)

๑๓๓

(ฉบับเชียงใหม่)

บางบทถุยท่อนติ้ว เชิญชิน เช่นเม่
ยอบาทฉุยฉายยิน งืดด้วย
รอยเรียนแด่เดิมกิน นรีราช ชฤา
บุญค่อยชูชักส้วย สู่สู้สมสนอง

(ฉบับหอสมุดฯ)

บางบทตูท่อนดิ้ว เชียชิน เช่นแม่
ยอบาทสุยสุยยิน งึดด้วย
รอยเรียบแต่เดิมกิน นรีราช ฤาแม่
บุญค่อยชูชักส้วย สู่สู้สมสนอง

ถุย-ปล่อย? (ดูบทที่ ๓๕) ข. ส. ว่า เดินแซะเท้า ห. และ ร. ว่าเป็น ดู ติ้ว-หิ้ว ยก เชิญชิน-ชำนาญในลวดลาย เป็น เชิงชิน ก็มี เช่น-มาก เม่-แม่ ยอ-ยก ยินงืด-รู้สึกประหลาด รอย-ชะรอย ชฤา-เช่นนั้นหรือ ส้วย-ช่วย สู่-อยู่ร่วมกัน สู้-ยอม ยินดี สม-ร่วม

บางตอนปล่อยผ้าที่หิ้วไว้? ยกเท้าไปข้างหลังและรำไปมาได้นานจนน่าประหลาด ชะรอยจะเลียนแบบจากนางกินรีมากระมัง ขอให้บุญได้ช่วยค้ำชูให้ได้ไปอยู่ร่วมกับน้อง

๑๓๔

(ฉบับเชียงใหม่)

นักคุนแคนคู่ฆ้อง สระไน
ไพโอฐสลายสลับไส ดอกสร้อย
บางครู่บาทบทไป เพลงร่ำ รักเอ่
เสลยเยียะยลหน้าช้อย ชอบด้วยคองระบำ

(ฉบับหอสมุดฯ)

นักคุนแคนคู่ค้อง สละไนย
ไพโอฐสลายสลับไส ดอกสร้อย
บางตูบาทบทไป แพงร่ำ รักเอย
เสลยเยอยลหน้าช้อย ชอบด้วยโดยระบำ

นักคุน-นักดนตรี ศิลปิน ในไตรภูมิพระร่วงมีว่า “บ้างเต้น บ้างรำ บ้างฟ้อน บ้างระบำ บรรฤาเพลงดุริยดนตรี บ้างดีดบ้างสี บ้างตีบ้างเป่า บ้างขับสัพพสำเนียงเสียงหมู่นักคุนจุนกันไปเดียรดาษ ฟื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาล มโหระทึกกึกก้องทำนุกดี” และหน้า ๘๑ “ลางคนตีกลองตีพาทย์ฆ้องกรับสัพพทุกสิ่ง ลางจำพวกดีดพิณ และสีซอพุงตอ แลกันฉิ่งริงรำ จับระบำรำเต้น เล่นสารพนักคุณทั้งหลายสรรพดุริยดนตรีอยู่ครื้นเครง” แคน-เครื่องดนตรีชนิดเครื่องเป่าของอีสาน สระไน-ปี่ไฉน ไพ-ไป สลาย-เทียบกับบทที่ ๒ น่าจะแปลว่า แต่ง สลายสลับ-ส. ว่า หลายชั้น หลายเชิง บางครู่ ห. และ ร. ว่าเป็นบางดู แพง-บางฉบับเป็น แปง-ทำ เสลย- บอกเล่า แสดง เยียะ-ทำ คอง-คลอง-ทาง ประเพณี ระบำ-ทำนอง ท่ารำ

นักดนตรีบรรเลงแคนคู่ ฆ้องและปี่ไฉน สลับด้วยเสียงร้องจากปากเป็นดอกสร้อย บางขณะบรรเลงเป็นเพลงรำพันความรัก แสดงหน้าตาชดช้อย ถูกตามแบบฉบับของท่ารำ

๑๓๕

(ฉบับเชียงใหม่)

สายหนังก็ไต่เต้น เหยาะแหยะ
บางบาทเยียะเทาะแทะ ทอดเท้า
ถอยหลังเล่าเคาะแคะ ชลางแล่น ไปเอ่
สองฝ่ายก็เต้นเต้า ฟิกพ้นปานเลิม

(ฉบับหอสมุดฯ)

สายนังเคาะไต่เต้น เยาะแยะ
บางบาทเยอเทาะแทะ ทอดเท้า
ถอยหลังเลาเกาะแกะ ชลางแล่น ไปเอย
สองฝ่ายเคาะเต้นเต้า ฝีกพ้นปาระเลิม

สายหนัง-สมัยก่อนการไต่ลวดใช้สายหนังแทนลวด ก็ไต่-ร. ว่าเป็น ตึงต่าย บางบาท-บางบท เยียะ-ทำ เทาะแทะ-เตาะแตะ เคาะแคะ-เต้นอย่างเร็ว ส. ว่า เดินทำท่าเหมือนจะตก ชลาง-ตะขาบ (ไทใหญ่) แล่น-วิ่ง สองฝ่ายก็-ร. เป็น สาวฝ่ายฟ้อน ฟิก-ฝึก-หลีก เลิม-ชื่อปลา ตัวโตแต่ว่ายเร็วมาก (ดูบทที่ ๕๐)

คนไต่สายหนังเต้นเหยาะแหยะ บางตอนก็ทำทอดน่องเดินเตาะๆแตะๆ แล้ววิ่งถอยหลังไปเหมือนตะขาบวิ่ง (เท้าพัลวัน) ทั้งสองคนเต้นไปหลีกกันไปอย่างรวดเร็วประหนึ่งปลาเลิม

๑๓๖

(ฉบับเชียงใหม่)

เสนีไดดาบขึ้น สูงสุด
สมสอดยืนยั้งหยุด ห่มห้อย
รอยเรียนสาตรศิลปอุต ดมเร่ง เร็วฤา
ปุนงืดนาน้องน้อย นาฏเห้ยเรียมเห็น

(ฉบับหอสมุดฯ)

เสนีไต่ดาบขึ้น สูงสุด
สมสอดยืนยังยุด ห่มห้อย
รอยเรียนสาดสิปป์อุด ดมเร่ง เรียวฤา
ปุนงืดหน้าน้อยน้อย นาฏเอ้ยเรียมเห็น

เสนี-ทหาร ได-บันได สมสอด-ส. ว่า เกี้ยวรัด ผูกพัน ยั้ง-หยุด ยัง-อยู่ สาตร-อาวุธ สิปป์-ศิลปะ ปุนงืด-น่าอัศจรรย์ใจ เห้ย-เหย เอย

ทหารไต่บันไดดาบขึ้นไปจนสูงสุดแล้วหยุดยืนห่มตัว ชะรอยจะเรียนศิลปะทางอาวุธอย่างสูงสุด น่าอัศจรรย์ใจจริงนะน้องเอ๋ยที่พี่ได้เห็นครั้งนี้

๑๓๗

(ฉบับเชียงใหม่)

เท่าเรียมร้างจากเจ้า เจียนพะงา
อกอ่วงอาดูรดา โมดม้วย
เต็มเลงอื่นใดฉลา เฉลิมเกศ มกุฎเอ่
แพงเจตในน้องถ้วย พี่ถ้วยเถิงอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

เทาเรียมร้างเจ้าจาก เจียรพงา งามเอย
อกอั่งอาดูรดา หมดม้อย
เตมเลงอื่นใครสลา เฉลิมเกศ กุฎเอย
แพงเจตในน้องถ้อย พี่ถ้อยถึงอวร

เท่า-เพียงแต่ เจียน-จาก อ่วง-ห่วง อั่ง-คั่ง (อีสาน) ดา-เกือบ โมด-มอด ห. ว่าเป็น มุด เต็ม-ถึงแม้ ฉลา-สลา แต่ง งาม (ดูบทที่ ๕๗) แพงเจต-ทำใจ ถ้วย-ส. ว่า ถ่วย ถอนหายใจ พี่ถ้วยเถิงอวร-ร. ว่าเป็น ถ่อมถ้าถึงอวร เถิง-ถึง

เพียงแต่ที่พี่จากน้องมา ท่าให้ใจเป็นห่วงเป็นทุกข์แทบจะสิ้นชีวิต ถึงแม้จะมองผู้อื่นแต่งงดงาม จะหาใครเหมือนน้องได้ ถอนหายใจนึกถึงน้อง

๑๓๘

(ฉบับเชียงใหม่)

อํ่าเห็นหน้าน้องนาฏ เห็นเงา
ดับโสกเสียบรรเทา ที่ร้อน
บ่ลุบ่หลอนเอา องค์อื่น เทียมเอ่
เองอาดขวัญซ้อนเซื้อม แว่นแก้ววนิดา

(ฉบับหอสมุดฯ)

อำเห็นหน้าน้องเท่า เห็นเงา ก็ดี
ดับโศกทุกข์บันเทา ที่ร้อน
มิลุมิลวนเอา องค์อื่น เทียมแฮ
ฝังอาตม์ขวัญขวัญข้อน แว่นแก้ววนิดา

อ่ำ-ไม่ (ไทใหญ่) เท่า-เพียงแต่ บ่ลุ-ไม่สำเร็จสมประสงค์ บ่หลอน-ไม่หวัง (ไทขาว) ห. เป็น มิลอน เอง-เฉพาะตน ล. ว่าเป็น อ่วง อาด-งาม (อีสาน) ใหญ่ (ล้านนา) ขวัญซ้อนเซื้อม ห. เป็น ข่อนข่อนซ้อน ซ้อน-อยู่คู่กัน แว่นแก้ว-กระจก หมายถึง ผู้หญิง

ไม่เห็นหน้าน้องเพียงแต่ได้เห็นเงาก็ดี ยังดับโศกให้สร่างทุกข์ร้อนได้ ถึงไม่สมปรารถนาก็ไม่หวังเอาหญิงอื่นมาเป็นคู่ ขออยู่เป็นคู่เฉพาะน้องซึ่งงามลํ้า

๑๓๙

(ฉบับเชียงใหม่)

ตนไกลจิตเจตใช้ เมือไช
เฝือฝากนุชนงวัย แว่นไว้
เททรวงอ่วงอกใน ปานไน่ นุชเอ่
ตายบ่ตายนี้ไหม้ หมาดหม้าเวทนา

(ฉบับหอสมุดฯ)

ตนไกลจิตเจตใช้ เมือชัย
เผือกฝากทิพนงค์ไว แว่นไว้
เททวงออกอกใน ปานไน่ นุชแฮ
ตายบตายนี้ไม้ มาศไม้เวทนา

โคลงบทนี้เป็นกลบทชื่อ สายไหม (ดูคำอธิบายบทที่ ๒๖)

เมือไช-กลับไปเยี่ยม ทางเหนือใช้ ไปใจหา เฝือ-เกี่ยวพัน แฝง เผือ-ฉัน เฝือ นงวัย-นงค์ไว หมายถึง นาง แว่น-กระจก หมายถึง นาง เททรวง-เปิดอกเปิดใจ อ่วง-ห่วง ไน่-เปื่อย ยุ่ย ละลาย หม้า-ที่ถูกควรเป็น หน้า เพราะบาท ๔ วรรคท้ายคำสองควรสัมผัสกับคำที่ ๔ (ดูตัวอย่างบทที่ ๒๖)

ตัวพี่ไกลน้องแต่ใช้ใจกลับไปเยี่ยม และเอาไปฝากเกี่ยวพันอยู่กับน้อง ทุ่มเทจิตใจเป็นห่วงจนอกประหนึ่งจะละลายลง จะตายก็ไม่ตายเสีย นี่อกไหม้แห้งหมาดน่าเวทนา

๑๔๐

(ฉบับเชียงใหม่)

ทุรานุชน้องนาฏ เววน
นึกเยี่ยงใดจักทน ที่ร้าง
จึงไปแอ่วเดินยล ยังรูป มวลเอ่
ก็เท่านุชน้องอ้าง แอ่วหื้อคลายเสบย

(ฉบับหอสมุดฯ)

ทุรารสน้องนาฏ เววล
นึกเยี่ยงใดจักทน พี่ร้าง
จึงไปเดี่ยวเดินยล ยังรูป อวรเอย
เอนกนุชน้องว้าง แว่วหื้อหายเสบย

ทุรา-ไกล เววน-คุณโสม พัตรสันดร ว่า วุ่นวาย ปั่นป่วน (อีสาน) เทียบดูกับตัวอย่าง “ท่านพราหมณ์ เสียดายของตน ก็เววลร้องไห้น้ำตาตกบ่ขาด” นึกเยี่ยงใด-คิดอย่างไร แอ่ว-เที่ยว มวล-บางฉบับเป็น ม่วน-สนุก เท่า-เพียงแต่ ว้างแว่ว- ห. ว่าเป็น อ้างแอ่ว อ้าง-ถือเอา

จากน้องมาไกลทำให้ใจปั่นป่วน คิดทำอย่างใดจึงจะทนความทุกข์ที่จากกันมาได้ จึงไปเดินดูรูปก็เพียงแต่จะคิด ถือเอาแทนตัวน้องให้คลายทุกข์สบายใจขึ้น (ดูเทียบกับบาท ๔ บทที่ ๑๔๑)

๑๔๑

(ฉบับเชียงใหม่)

นาภีสมสวดสร้าง กระจาย
ปูอาสน์อิงเขนยหลาย ลูกซ้อน
เทียนทุงพี่ถือถวาย เคนคู่ องค์เอ่
ก็เท่าทิพเจ้าจ้อน เอกอ้างปณิธา

(ฉบับหอสมุดฯ)

นาภีสมสอดสร้าง มหากระจาย
ปูอาสนอิงทะเพิมหลาย ลูกช้อน
เทียนทุงทิพถือถวาย เคนคู่ อวรเอย
พอเท่าทีปเจ้าซ้อน เอกอ้างปณิธาน์

โคลงบทที่ ๑๔๑, ๑๔๒ และ ๑๔๓ ของฉบับเชียงใหม่สับที่ เมื่อเทียบกับฉบับหอสมุดฯ เป็นบทที่ ๑๔๒, ๑๔๓ และ ๑๔๑ ตามลำดับ

นาภี-ท้อง สวด-นูน มหากระจาย-พระสังขะจาย ทุงทิพ-ห. เป็น ทุ่งทีป และ ร. เป็น ตุงเทียนทีป เคน-ประเคน คู่องค์-ทุกองค์ คู่อวร-คู่ให้นางด้วย เท่า-เพียงแต่ จ้อน-น้อย อ้าง-ถือเอา

พระสังขะจายสร้างไว้มีท้องนูนขึ้น มีเครื่องปูลาดสำหรับนั่งและมีหมอนอิงซ้อนกันหลายลูก พี่ถือเทียน ธง และประทีปถวายเป็นคู่แทนน้องด้วย ทั้งนี้ก็เพียงแต่จะตั้งความปรารถนาเพียงอย่างเดียวที่จะถือเอาเจ้าศรีทิพเท่านั้น

๑๔๒

(ฉบับเชียงใหม่)

นบพระไสยาสน์เยื้อน ปฏิมา
วงแวดฝูงขีณา ใฝ่เฝ้า
พระพุทธเปลี่ยนอิริยา ขูโนส บารา
เทียนคู่เคนพระเจ้า จุ่งได้ปัจจุบัน

(ฉบับหอสมุดฯ)

นปพระไสยาศเยื้อน ปฏิมา
วงแวดฝูงขีณา ใฝ่เฝ้า
พระพุทธเปลี่ยนอิริยา กุโนด บ้างรา
เทียนคู่เคนพระเจ้า จุงได้ปัจจุบัน

เยื้อน-เยือน ส. ว่ายาวต่อๆ ไป หมายถึงนอนยาวคือพระนอน ปฏิมา- พระพุทธรูป แวด-ล้อม ขีณา-ขีณาสพ คือ พระอรหันต์ อิริยา-อิริยาบถ มีสี่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ขูโนส-กรุณา มีใช้ทั้ง เอ็นดูขูณา และ เอ็นดูขูโนส บา-ชายหนุ่ม เคน-ประเคน

ไหว้พระนอน ชมพระพุทธรูปซึ่งมีฝูงพระอรหันต์ล้อมเฝ้าอยู่เป็นวง พระพุทธเปลี่ยนอิริยาบถ (ทั้งสี่) กรุณาพี่บ้าง ประเคนพระพุทธรูปด้วยเทียนคู่ ปรารถนาให้สำเร็จในขณะนี้ (คือให้ได้พบนาง)

๑๔๓

(ฉบับเชียงใหม่)

มนดกเจ้าบ่ เกื้อกอย กว่าเอ่
สูงใหญ่หย้องเองพอย เพื่อนหน้า
เทียนทุงคู่คบสอย วอยแว่น เวนเอ่
ผลเผื่อเร็วอย่าช้า ชาตินี้เนอมุนี

(ฉบับหอสมุดฯ)

มณฑปพระเจ้าบ่ เกือกวย กว่าเฮย
สูงใหญ่ย่องเองพวย เพื่อนหน้า
เทียนทุงคู่คบสวย อวยแว่น วักเอย
ผลเผื่อเราอย่างช้า ชาตินี้เนอมุณี

บ่เกื้อ-ล. เป็นบอกเกลือ ร. เป็นบวดเกือ กอย-ดู (พายัพ) คุณสงวน รอดบุญ ว่า ประสงค์ เอาใจใส่ (ลาว) คุณโสม พัตรสันดร ว่า ปรารถนา (อีสาน) หย้อง -ประดับ เองพอย-พลัดพราก โดดเดี่ยว (ดูบทที่ ๑๒๐) ล. เป็น องค์พอย เพื่อนหน้า-ร. เป็น เบื่อนหน้า ทุง-ธง สอยวอย-งาม (ลาว) แว่น-กระจก หมายถึง นาง มุนี-พระสงฆ์ ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้า

มณฑปของพระพุทธเจ้าไม่เกื้อหนุนช่วยดูแลเลย คงตั้งอยู่ดูสูงใหญ่มีเครื่องประดับ แต่อยู่โดดเดี่ยวไร้เพื่อน พี่ถวายเทียนธงคู่กับคบเพลิงมอบส่วนบุญให้แก่นาง ขอให้สำเร็จผลโดยเร็วในชาตินี้เถิดนะ ข้าแต่พระพุทธเจ้า (บทนี้คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ ว่า หมายถึงพระเจ้าบ่อเกลือหรือพระกลักเกลือ มีคำอธิบายอยู่ท้ายเล่มนี้)

๑๔๔

(ฉบับเชียงใหม่)

มิคราชเยี่ยมยื้อเหยียบ ยังยืน ก็ดี
ไขปากปานจักกืนลืน คาบเคี้ยว
คชสารชื่อจักลืน ลงลวด รักเอ่
เมียงม่ายสองเบื้องเบี้ยว เบ่นสู้สบายยวย

(ฉบับหอสมุดฯ)

มิคาเยี่ยมยี้เหยียบ ยังยืน ก็ดี
ไขปากปานจักกลืน คาบเคี้ยว
คชสารคู่จักลืน ลงรวด รักเอย
เมียงม่ายสองเบี่ยงเบี้ยว เป่นสู้สบายยวย

มิคราช-ราชสีห์ ในที่นี้คือ สิงโต เยี่ยม-โผล่หน้าดู ยื้อ-เขย่งตัวขึ้น ยังยืน-ยืนอยู่ ไขปาก-เปิดปาก กืนลืน-ลืน-กลืน ชื่อ-ซือ-แม้ว่า ลวด-เลย เมียงม่าย-ชม้อยตา สองเบื้อง-(ตา) สองข้าง เบ่น-เบน ผินหน้า ยวย-ถ้า ยวาย-ก้าวย่างไป (พายัพ) ถ้า ย้วย-เดินตามกันช้าๆ (ลาวและอีสาน)

สิงโตเขย่งตัวขึ้นโผล่หน้ายืนอยู่ อ้าปากดุจคาบเคี้ยวและกลืนแม้แต่ช้าง (หรือช้างสองตัวพร้อมกัน) ลงไปได้โดยง่าย ชำเลืองสองตาเบนสู้ เดินตามกันไปอย่างสบาย

๑๔๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ยังมีพอคู่คล้อม ชายา
สองฝ่ายหนมัคคา ม่ายแย้ม
อันเรียมเท่าอาทวา วอนเวท นาเอ่
ไกลกลิ่นพลัดชู้แห้ม หากแห้มระเหระหน

๑๔๖

(ฉบับเชียงใหม่)

จักไปพระพุทธรูปเจ้า จตุตน
ยืนอยู่ปราจีนหน แห่งโน้น
อันเรียมทุราฉงน ฉงายเช่น รักเอ่
ขอโผดผายหื้อพ้น เพื่อแก้กรรมเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ยังมีพระคู่ล้อม จัตุตน
ยืนยันอยู่ประจิมหน แห่งโน้น
เพราะเรียมทุกข์ฉงน ฉงายเสน่ห์ รักเอย
ขอโผดผายให้โพ้น เพื่อแก้กรรมเรียม

ฉบับหอสมุดคัดตกเอาบทที่ ๑๔๕ และ ๑๔๖ รวมเป็นบทเดียวกัน และผิดความ เพราะวัดพระยืนอยู่ทางทิศตะวันออก

พอคู่-ครบคู่ คล้อม-ค้อม-อ่อน งาม (คาว) มัคคา-ทาง ม่าย-ชม้อยตา เท่า-ได้แต่ อาทวา-เปล่าเปลี่ยว ระทมทุกข์ (อีสาน) มีในวรรณคดีหลายเล่ม แต่ไม่มีคำแปลในพจนานุกรม แห้ม-แห้งเกรียม (ดูคำอธิบายบทที่ ๖๐)

มีอยู่ครบคู่ทั้งเมียงาม อยู่สองข้างทางทำชม้อยตา ส่วนพี่ได้แต่เปล่าเปลี่ยว ร่ำขอให้สงสาร พี่ไกลกลิ่นพลัดน้องอกแห้งซัดเซไป

จตุตน-สี่องค์ ปราจีน-ทิศตะวันออก ประจิม-ทิศตะวันตก ทุรา-ไกล ฉงนฉงาย-ไกล เช่น-มาก โผดผาย-โปรด หื้อ-ให้

วัดพระยืนอยู่ทางทิศตะวันออก เดิมมีพระยืนอยู่องค์เดียว ต่อมาพระมหาสุมนเถระมาปฏิสังขรณ์สร้างเพิ่มเป็น ๔ พระองค์แทนพระพุทธเจ้าซึ่งล่วงลับไปแล้วในภัทรกัลป์นี้ (ดูบทที่ ๑๕๑, ๑๕๒ ด้วย)

จะไปยังพระพุทธรูปยืนทั้งสี่พระองค์ทางทิศตะวันออกโน้น เพราะพี่จากมาไกลแสนไกล ขอให้โปรดช่วยให้พ้นทุกข์ ช่วยแก้กรรมของพี่ด้วย

๑๔๗

(ฉบับเชียงใหม่)

ธานีเต้าตั้งกาด ลีเลิง
เต็มแต่บุพพัณห์เถิง ค่ำสลุ้ม
หวังเห็นที่เทียมเทิง ใจเช่น นาเม่
ยลเยื่องใดจักคุ้ม กว่าน้องใครมี

(ฉบับหอสมุดฯ)

ธรณีเต้าตั้งกาศ ลีเลิง
เต็มแต่บุพพัณห์เถิง ค่ำสลุ้ม
หวงเห็นที่เทียนเทิง ใจเช่น นาแม่
ยลเยื่องใดจักกุ้ม กว่านั้นนานเห็น

เต้า-ชุมนุม (อีสานและลาว) กาดลี-ตลาด เลิง-เวลาต่อเนื่องกัน (ลาว) นาน ส. ว่า สมํ่าเสมอ เต็มแต่-ตั้งแต่ บุพพัณห์-เวลาเช้า สลุ้ม-สลัว แสงมัว พลบค่ำ เถิง-เทิง-เมา ถึง เช่น-มาก เยื่องใด-อย่างไร คุ้ม-พอ สม

ในตัวเมืองมีผู้มาชุมนุมตั้งตลาดเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำ หวังเห็นนางซึ่งเป็นคู่ ใจมัวเมายิ่งนัก มองอย่างไรจะให้ได้ใครพอสมอย่างน้องที่ไหนจะหาได้

๑๔๘

(ฉบับเชียงใหม่)

นัครารมเยศย้อม สากล
แฝงฝั่งฤษีตน แต่งตั้ง
ฤาเลิงทั่วทศมณ ฑลทวีป เรานี
เมืองมิ่งพระเจ้าจั้ง แจ่มเจ้าจามเท

(ฉบับหอสมุดฯ)

นัครารมเยศย้อม สากล
แฟงฟั่นฤษีตน แต่งตั้ง
ลือเลิงทั่วทศมณ ฑลทวีป เรานี้
เมืองมิ่งพระเจ้าจั้ง เจี่ยมจ้อนจามเท

แฝงฝั่ง-อาศัยอยู่บนฝั่ง ตน-องค์ ลือเลิง-เลื่องลือมานาน ทศมณฑล- สิบแคว้น พระเจ้า-พระพุทธเจ้า จั้ง-หยุดพัก เจียมจ้อน-ห. เป็นเจื่องจ้อน จ้อน-น้อย จามเท-ตัดมาจากจามเทวี พระนางเสด็จจากลพบุรีมาครองลำพูนเป็นพระองค์แรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๕

ถึงนครอันสนุกสนานอยู่ทั่วไป บนฝั่งน้ำอันฤาษีสร้างขึ้นเลื่องลือมานานจนทั่วสิบผืนแผ่นดิน เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงมาพัก (ฉันสมอ) และเป็นเมืองที่พระนางจามเทวีเคยครองอยู่

๑๔๙

(ฉบับเชียงใหม่)

เมืองพิงเพียงร้างลุ่ม รอยเสมียน
สาวบ่าวชุมชนเดียร ดาษไหว้
บ่เห็นนิรมเจียน ปักเปื่อน ทรวงเอ่
ปักเปื่อนอกช้ำช้าย ชวดได้ดลมุนี

(ฉบับหอสมุดฯ)

ละมิงพิงเพี้ยงม่าง ลุเกียร
สาวบ่าวชุมชนเดียร ระดาษไหว้
บเห็นนิรมเปียน ปัดเปื่อน ทวงแฮ
ปัดเปื่อนอกซ้ำไซร้ ชวดได้ดลมุณี

บาทแรกบางฉบับเป็น เมืองพิงนาวเพียมสร้าง ลูบเฉนียน และ เมืองพิงนาวเทียมร้างลุ่ม รอยเจียน ลุเจียร

ละมิง-ระมิง-พิง-แม่น้ำปิง เพียง-ประหนึ่ง ม่าง-ห.เป็น หม่าง รอยเสมียน-รอยเขียน? คงหมายถึงรอยไม้เท้าที่ฤาษีขีดตอนสร้างเมือง เจียน-จาก เปื่อน-ทุรนทุราย (ดูบทที่ ๔๓ ด้วย) ช้าย-เอียง ความหมายเดียวกับ ชาย ใน ตะวันชาย ชวด-อด ดล-ถึง มุนี-ในที่นี้คือ ฤาษี

เมืองบนแม่น้ำปิง หมายถึงลำพูน ตอนล่างของรอย (ไม้เท้า) ขีด เกือบจะร้างไป ขณะนี้มีหนุ่มสาวและฝูงชนว่ายน้ำเต็มไปหมด ไม่เห็นนางซึ่งจากกัน ทำให้อกเหมือนถูกศรปักทุรนทุราย อกช้ำและโย้ไป ไม่ได้พบฤาษี (ที่สร้างเมือง)

๑๕๐

(ฉบับเชียงใหม่)

อํ่าเห็นหน้าน้องเท่า เห็นหัน
เปี่ยนเปล่าอารามอัน หากแห้ง
พระพุทธเปี่ยนชมสัน เดียวพี่ นี้แม่
ไกลกลิ่นรสข้าวแล้ง เยียะแล้งอกเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

อำเห็นหน้าน้องเท่า เห็นหัน
ปองเหล่าอารมสรร พ่างแห้ง
พระพุทธเปลี่ยวดูฉัน เดียวพี่ นี้แม่
ไกลกลิ่นรสเข้าแล้ง เยียแล้งอกเรียม

อํ่า-ไม่ (ไทใหญ่) เท่า-แต่ว่า หัน-เห็น เปี่ยนเปล่า-เปลี่ยวเปล่า สัน-ฉัน เช่นเดียว เยียะ-ทำ

ไม่เห็นหน้าน้องแต่เห็นพระอารามอยู่เปลี่ยว พระพุทธรูปอยู่เปลี่ยวไม่มีคนชม ก็เช่นเดียวกับพี่นี้ พระพุทธแห้งแล้งขาดเครื่องสักการะบูชา ทำให้อกพี่แห้งแล้งไปด้วย

๑๕๑

(ฉบับเชียงใหม่)

เถิงพระพุทธรูปอั้น ยืนยัง
กวมก่อเป็นขงทัง สี่ด้าน
ทำบุญเบิกบุญปัง พบแม่ นะแม่
ขูโนสพระเจ้าจ้าน ค่อยแก้กรรมเรียม

(ฉบับหอสมุดฯ)

ถึงพุทธรูปอั้น ยืนยัง
ก่อมก้อเป็นขลงทัง สี่ด้าน
ทำบุญเผื่อบุญบัง พบแม่ นะแม่
กุโนชพระเจ้าจ้าน ค่อยแก้กรรมสนอง

อั้น-นั้น ยัง-อยู่ กวม-ครอบ ขง-ประตูโค้ง เบิก-นำมา ปัง-ตอบ เช่น “ฝูงเคราะห์โรคอย่างปัง ถูกต้อง” และ “เขาจ๋าหยาบกล้าจ่มฟ้อง อย่าปั๋งตอบถ้อยเนอนาย” ขูโนส-กรุณา จ้าน-นัก มาก (ดูบทที่ ๖๕)

ถึงพระพุทธรูปยืนอยู่ที่นั่น ก่อครอบเป็นประตูโค้งทั้งสี่ด้าน ทำบุญขอให้บุญตอบสนองให้ได้พบกับน้อง ขอให้พระพุทธรูปกรุณาให้มาก ช่วยแก้กรรมให้พี่ด้วย

๑๕๒

(ฉบับเชียงใหม่)

กกุสนธ์แซ่งสร้าง หนึ่งโกนา
องค์หนึ่งพระกัสสปา เจื่องเจ้า
โคดมจิ่งเจียนคลา วางศาส นาเอ่
เชิญเสวยรสเข้า ม่อนน้อมทูลถวาย

(ฉบับหอสมุดฯ)

กุกุสนธแซ่งสร้าง โกนา
องค์หนึ่งพระกัสปา เจื่องเจ้า
โคดมจึ่งจรคลา ว่างศาส นาเอย
เชิญเสวยรสเข้า ม่วนน้อมทูลถวาย

แซ่ง-แสร้ง-ตั้งใจ เจื่องเจ้า-เชื้อเจ้า (ดูบทที่ ๕) เจียน-จาก ว่างศาสนา-ห. และ ร. ว่าเป็น วางศาสนา เข้า-ข้าว ม่วนน้อม-ห. ว่า ม่วนน้อน ม่อน-ฉัน

พระกกุสนธ์ซึ่งสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และ พระโคตมะจึงจากไปแต่ได้ตั้งศาสนาไว้ เชิญทั้งสี่พระองค์เสวยข้าวที่ข้าน้อยน้อมเกล้าทูลถวาย

๑๕๓

(ฉบับเชียงใหม่)

สี่องค์นี้พ้นพ่วง สงสาร
นิโรธรสนิพพาน โมดมล้าง
ยังพระอาไรยนาน ลงโลก นี้หนอ
จักบอกบทข้อยค้าง แด่หื้อนานนิพพาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

สี่องค์นิพ้นฟ้อง สงสาร
นิโรธรสนิพาน โมข์ม้าง
ยังพระอะไรนาน ลงโลก นี้นอ
จักบอกบทคล้อยคล้าง แต่หื้อนำนิพาน

พ่วง-ในที่นี้น่าจะเป็นพะวง ล. ว่าเป็น พ่วงหว้าย ฟ้อง-ห. เป็น พ่วง สงสาร-การเวียนว่ายตายเกิด นิโรธ-ดับสูญ นิพพาน โมด-มอด ตาย ห. ว่าเป็น โมค โมข์-การรอดพ้น นิพพาน ม้าง-มล้าง-ทำลาย ทำให้หมดไป พระอาไรย-พระอะไร-พระศรีอาริย์ (ดูบทที่ ๖) จักบอกบท-จะดลบันดาลให้เป็นไป ข้อย-ข้า นาน-บางฉบับเป็น นาง นาม ก็มี

พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์นี้พ้นพะวงสงสารนิพพานสิ้นไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่พระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งยังอีกนานกว่าจะจุติลงมาในโลกนี้ จะได้มาบันดาลให้พี่ไปสู่นิพพาน

๑๕๔

(ฉบับเชียงใหม่)

นานนักชระลิ่วแล้ง สาลี
ภันโภชน์นานนับปี อ่านปั้น
ปูชารูปรอยมี ผลมาก นักเอ่
ก็เท่าลุแก้วหมั้น แม่เอ้ยยาไสน

(ฉบับหอสมุดฯ)

นานนักชลิ่วแล้ง สาลี
เพียญชน์เรียมนับปี อ่านปั้น
บูชารูปรอยมี ผลมาก นักเอย
ก็เที่ยงลุแก้วหมั้น แม่เอ้ยยาไสลย

ชระลิ่ว-ชลิ่ว-ไกลนัก ในที่นี้หมายถึง มาก แล้งสาลี-ขาดข้าว ภัน-ถ้าภัณฑ์ แปลว่าสิ่งของ เพียญชน์-พยัญชนะ-กับข้าว (ดูบทที่ ๑๒๘) โภชน์-อาหาร อ่าน-นับ รูปรอย-ร. เป็น รูปอเรย คือ รูปพระศรีอาริย์ เที่ยง-แท้ แน่นอน ลุ-ถึง หมั้น-แม่นแท้ ยาไสน-ยาไฉน-อย่างสงสัย

ขาดข้าวเครื่องบูชามานานนักหนาแล้ว พี่ถวายสิ่งของและอาหารถ้วนตามปีเกิด? บูชาพระพุทธรูป มีผลบุญมากก็มุ่งจะพบกับน้องอย่างแน่แท้ ไม่ต้องสงสัยเลย

๑๕๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ชินพิมพิโมขม้าง เมือนิพพาน
มีหมู่เป็นบริวาร แวดล้อม
ปุนขะสดเดือดแดดาล ด้วยรูป พระนัน
ชลเนตรนองน้ำหน้า พร่องผ้งบดยา

(ฉบับหอสมุดฯ)

ชีนพิมพ์พิโมกข์ม้าง นิรพาณ ก็ดี
มีหมู่บริวาร แวดล้อม
เป็นกษัตริย์เดือดแดดาล โกรูป รักนา
ชลเนตรนองน้ำพร้อม พร่องหน้าบทยา

ชินพิม-พระพุทธรูป พิโมกข์-พ้น เปลื้อง ชื่อพระนิพพาน ม้าง-ทำลาย ในที่นี้เท่ากับดับขันธ์ เมือ-ไป แวด-ล้อมรอบ ปุน-น่า ขะสด-กำสรด เป็นกษัตริย์-ห. ว่าเป็น ปุนสลด เดือดแดดาล-เกิดเดือดร้อนใจ โกรูป-ห. เป็น โดยรูป น้ำหน้า-ล. ว่าเป็น หน้าหม้อม พร่อง-บ้าง ผ้ง-กำลัง

ถึงพระพุทธรูปปางจะดับขันธ์ปรินิพพาน มีพระอรหันต์แวดล้อมอยู่เป็นบริวารน่าสลดใจ และเดือดร้อนตามรูปของพระเหล่านั้น (พวกบริวาร) น้ำตาไหลนองหน้า บ้างก็กำลังบดยาถวาย

๑๕๖

(ฉบับเชียงใหม่)

บางองค์มุขหมาดหม้อม เหมือนเรียม ราชเอ่
สังเวชในใจเจียม จิ่มไห้
บ่เห็นที่รักเทียม ใจเล่า แลแม่
แถมอ่วงอกข้าไหม้ หมาดม้องนิราราม

(ฉบับหอสมุดฯ)

บางองค์มุขมาตย์ม้วน เหมือนเรียม ราศเอย
สังเวชในใจเจียม จิ่มหน้า
บเห็นที่รักเทียม ใจเล่า แลแม่
แถมอั่งอกใหม่หม้า มาศน้องนิราราม

หมาด-เกือบแห้ง หม้อม-หม่นหมอง บางฉบับเป็น หน้า ก็มี ม้วน-ห. เป็น หม้อม เจียม สรรพนาม แทนผู้แต่ง (ดูบทที่ ๓๖) จิ่มไห้-ร้องไห้ด้วย อ่วง-ห่วง อั่ง-คั่ง แน่น นิราราม-ไม่มีความรื่นรมย์

(บริวาร) บางองค์หน้าแห้งและหม่นหมองเหมือนพี่ที่รู้สึกสลดใจ จึงร้องไห้ไปด้วย ยิ่งไม่เห็นน้องที่รักเท่าดวงใจอีกเล่า ยิ่งรู้สึกกังวล อกร้อนแห้งไม่มีความสุข

๑๕๗

(ฉบับเชียงใหม่)

พระพุทธสามสี่ห้า หกองค์
สุยส่องไสสรีลง ร่ามร้อน
เรียมเห็นเวทนาปลง ใจชื่น ชมเอ่
เทียนธูปทูลเจ้าจ้อน จุ่งห้ามโพยภัย

(ฉบับหอสมุดฯ)

พระพุทธสามสี่ห้า หกองค์
สูรส่องไสสีรงค์ หร่ามร้อน
เรียมเห็นเวทนาปลง ใจชื่น ชมเอย
เทียนธูปทูลเจ้าจ้อน จุ่งห้ามโพยภัย

สุย-สูร-พระอาทิตย์ สรี-ความสว่างสุกใส รงค์-สี ร่าม-อร่าม รุ่งโรจน์ เทียนธูป-ล. เป็น ทุงทีป จ้อน-น้อย

มีพระพุทธรูปอยู่ห้าหกองค์ ถูกพระอาทิตย์ส่องร้อนมาก พี่เห็นเข้ารู้สึกสงสาร ปลงใจให้แช่มชื่นขึ้น ถวายเทียนและธูปให้พระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ขอให้ป้องภันภัยอันตรายด้วย

๑๕๘

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระโลเกศเกล้า เจะปลอน
ถวายส่วนศรีองค์ออน อ่อนได้
สายัณห์เยี่ยยืนวอน ใจพี่ มาเอ่
ถึงธาตุพระเจ้าไหว้ จึ่งตั้งสติเป็น

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาพระโลเกศเกล้า แบกปลอน
ถวายส่วนศรีองค์อร อ่อนได้
ฉายันเยี่ยยืนวอน ใจพี่ มาเอย
ถึงธาตุพระเจ้าไหว้ จึ่งตั้งสติเป็น

พระโลเกศ-พระจอมโลก ในที่นี้คือพระพุทธรูป เจะ-ถ้าเป็น เจาะ-จบของเมื่อถวายทาน ปลอน-ถ้าเป็น ป่อน-ยื่น ส่งให้ แบกปลอน-ห. ว่าเป็น แยกปลอน ร. ว่าเป็น แจกปอน ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า แบกพร ฉบับหนึ่งว่า เผือกพอน แปลว่า ขาว เคยเห็นในประกาศแช่งน้ำ กินสาลี เปลือกปล้อน ซึ่งหมายถึงข้าวที่ออกรวงเป็นข้าวสารไม่มีเปลือกหุ้มเลย เยี่ย-ทำ แต่ที่ใช้ในกำสรวลศรีปราชญ์น่าจะแปลว่า แล้วจึง หรือ แลจึง ยืนวอน-ล. และ ร. เป็น ยินวอน

ลาพระพุทธรูปขาว จบของส่งถวายเป็นส่วนบุญให้น้อง ตกเย็นแล้วยังยืนขอให้ดวงใจของพี่มา ต่อเมื่อกลับมาไหว้พระธาตุหริภุญชัยแล้วจึงตั้งสติได้

๑๕๙

(ฉบับเชียงใหม่)

อัสดงดาค่ำเข้า รัชนี
จันทร์แจ่มโสธิการวี วาดฟ้า
โอรสราชภูมี มาอำ รุงเอ่
นางนาฏยลแย้มหน้า คั่งแค้นปุริพาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

อัสดงค์ดาค่ำเข้า รัชนี
จันทร์แจ่มสัทกระวี วาดฟ้า
เอารสราชภูมี มาอํ่า รุงเอย
นางนาฏยลแย้มหน้า คั่งแค้นปณิธาน

อัสดง-พระอาทิตย์ตก ดา-จวน ค่ำเข้า-ร. ว่าเป็น ค่ำแล้ว รัชนี-กลางคืน โสธิการ-บางฉบับเป็น โสธกา ก็มี ในบทที่ ๑๖๕ ฉบับหอสมุดฯ โชตการ ฉบับเชียงใหม่ใช้ สทธการ เทียบกันแล้ว โสธิการ น่าจะเป็น โชติการ นี่เอง วีวาด-แกว่งกวาด ในความว่าส่องทั่วไป เอารสราชภูมี-กษัตริย์องค์ที่เป็นโอรสหมายถึง พระเมืองแก้ว (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง) คั่งแค้น-แน่น (ดูคำอธิบายบทที่ ๘๗) ปุริพาน-บริวาร อีกฉบับเป็น บูรพา

พระอาทิตย์ตกจวนค่ำเข้าเวลากลางคืนแล้ว พระจันทร์สว่างโชติช่วงขี้นวาดไปบนฟ้า กษัตริย์องค์ที่เป็นโอรสมาถวายบำรุง เห็นนางสนมเป็นบริวารแน่นไปหมด (หรือนางสนมเต็มทางด้านทิศตะวันออก)

๑๖๐

(ฉบับเชียงใหม่)

ธิบาธิเบศร์เแก้ว กัลยา ก็มา
ปกป่าวชุมวนิดา แห่ห้อม
คือจันทร์อำรุงดา ราล่อง งามเอ่
สนมนาฏเลือนเลือนล้อม เนกหน้าเต็มพลาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

นิบาทธิเบศแก้ว กัลยา ก็ยา
ปลงป่าวชุมวะนิดา แห่ห้อม
ศรีสรรพอำรุงพา รารุ่ง งามเอย
สนมนาฏเลื่อนเลื่อนล้อม เนตรหน้าเต็มพลาน

ธิบาธิเบศร์-กษัตริย์ (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง) ก็ยา-. และ ร. เป็น ก็มา ปก-ประกาศ ชุม-หมู่ วนิดา-หญิงสาว อำรุง-บำรุง พารา-ห. เป็น ดารา เลือน-ล้อม เรียง (ดูคำอธิบายบทที่ ๑๐๑) เนก-มาก บางฉบับเป็น เน่ง เลง ก็มี พลาน-พระลาน (ดูบทที่ ๙๖)

พระราชมารดาก็มาพร้อมด้วยหมู่นางสนมแห่ห้อมล้อม ประหนึ่งดวงจันทร์ซึ่งทะนุบำรุงหมู่ดาวงามนัก นางสนมแวดล้อมมากหน้าหลายตาเต็มพระลานไปหมด

๑๖๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ธาดาอห่อยเนื้อ นพมาล
ไรถงาศจันทร์เฉลิมปาน แต่งแต้ม
นานาสาตรพันพาน เพิงแพ่ง งามเอ่
ยังยิ่งนางฟ้าแย้ม ย่างย้ายลดาวัลย์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ธาดาอห่อยเนื้อ ทิพมาล
ไทงาศสันเฉลิมปาน แต่งแต้ม
อานาศาสตร์พันพาน เพิงแพ่ง งามเอย
ยลยิ่งนางฟ้าแย้ม ย่างย้ายลดาวัลย์

ธาดา-ผู้สร้าง ในที่นี้หมายถึงพระนาง อห่อย-อ่อยห่อย น่าชื่นชม (อีสาน) งาม ไม่มีมลทิน ไรถงาศจันทร์-คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า ปิ่นเกี้ยวผมรูปจันทร์ครึ่งซีก เฉลิม-เสริม แต่งแต้ม-บรรจงวาด สาตร-สาฏ-ผ้า พาน-พัน เพิง-เหมาะสม พึงใจ แพ่ง-งาม

พระนางผู้งามไร้มลทิน เนื้อดุจดอกไม้ทิพย์ ปักปิ่นเกี้ยวผมรูปจันทร์ครึ่งซีก ดุจบรรจงวาด มีผ้าพันปทุมงามยิ่งกว่านางฟ้ายิ้มแย้ม เวลาเดินเหมีอนเถาวัลย์อ่อนช้อย

๑๖๒

(ฉบับเชียงใหม่)

พี่ชุนชมเชื่อมย้อน ยามยล
ธเสียกกวมกณฑล เพริศแพร้ว
เพณีเนตรเนียนยล มกุฎเกศ งามเอ่
ปุนจ่อมชีพิตแก้ว เอกน้องขอเวน

(ฉบับหอสมุดฯ)

พี่ชุมชนชื่นย้วน ยามยล
ทะเจียกกรอมกุณฑล เพริดแพร้ว
เพณีเนตรเสนียนมณ มกุฎเกศ นางเอย
บุญจ่อมชีพิตแก้ว แก่น้องขอเวน

ชุนชมเชื่อม-ล. ว่าเป็น ชมชื่นงว้าย ห. เป็น ชุมชื่นชุ่ง ร. ว่าเป็น ชมชื่นชุ่ง ชุน-เดิน ย้อน-สำนวนเชียงใหม่เอาความว่า ด้วยเหตุ ทะเจียก-กรรเจียก-หู ดอกไม้ทัด (เขมร-ตรฺเจฺยก) ล. ว่าเป็น กะเจียก กวม-ครอบ กรอม-คลุม กุณฑล-ตุ้มหู กำไล เพณี-มวยผม เนียน-แนบสนิท ปุน-น่า จ่อม-หย่อนลงไป

พี่เดินดูสนุกสนานเพราะได้เห็นตุ้มหูสวมหูดูงดงาม มวยผมรับกับดวงตาและมงกุฎงาม พี่ขอมอบบุญให้แก่น้องผู้เดียว

๑๖๓

(ฉบับเชียงใหม่)

เล็งลักษณ์มีคล้ายคล่ำ ควรแยง
คือเทพนิรมิตแปลง แปลกฟ้า
ภูษาส่ำองค์แสง โสภิศ งามเอ่
ยลนาฏต่างน้องถ้า ถ่อมไว้ยลอวร

(ฉบับหอสมุดฯ)

เลงลักษณ์มิใคร่คร้ำ ครวญแยง
คือเทพนิรมิตรแปลง แปลกฟ้า
ภูษาสำอางแสง โสภิศ งามแฮ
ยลนาฏต่างน้องถ้า ถ่อมไว้ยลอวร

เล็ง-มอง ลักษณ์-ลักษณะ มีคล้าย-ร. เป็น มิก้าย-ไม่เบื่อ ห. ว่าเป็น มีคร้ายคร่ำ คล่ำ-มาก แยง-ดู คือ-ประหนึ่ง แปลง-สร้าง ส่ำองค์-ทุกองค์ แสง-สี ต่าง-แทน ถ้า-ท่า คอย ถ่อม-ไว้คู่กับ ถ้า ควร แปลว่า คอย อวร-หมายถึงตัวนาง

มองดูหลายคนมีลักษณะคล้ายน้องซึ่งควรจะมอง ดูประหนึ่งเทวดามาเนรมิตสร้างขึ้นไว้ผิดตากว่าผู้อื่น เครื่องแต่งตัวของแต่ละคนมีสีสดงดงาม ชมนางเหล่านี้แทนน้อง รอไว้ได้ชมนางต่อไป

๑๖๔

(ฉบับเชียงใหม่)

นับยลยามจากน้อง นงพะงา
สายสืบชีพิตมา รอดแล้
เต็มงามเท่าภูษา ชูช่วย ดายเอ่
องค์ต่อองค์น้องแท้ แทกได้ฤาประเหียล

(ฉบับหอสมุดฯ)

นับยลยามจากน้อง นงพะงา นี้แม่
สายสืบชีพิตมา รอดแล้
เต็มงามต่างภูษา ชูช่วย ตายเอย
องค์ต่อองค์น้องแท้ แทกไดฤาประเหียน

นงพะงา-นางงาม เต็ม-ถึงแม้ เท่า-แต่ ดาย-เปล่า หรอก แทก-วัด เท่า ประเหียล-ประเหล-ประหนึ่ง

นับแต่จากน้องมา ได้เห็นหญิงอื่นพอให้ประทังชีวิตรอดอยู่ได้ ถึงแม้จะงาม แต่ก็เป็นด้วยมีเสื้อผ้าช่วยประดับดอก ถ้าจะเทียบกันตัวต่อตัวกับน้องจะเทียบได้หรือ

๑๖๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ผกาเพลิงพุ่งแจ้ง สทธการ
ศรีเศียรเทศทังทวยหาร ใหม่ห้อ
ครนครันแบ่งบัวบาน ใบนิโครธ พรั่งเอ่
มิใช่บุญน้องน้อ มิได้ดลดู

(ฉบับหอสมุดฯ)

ปกาเพลิงพลุ่งแจ้ง โชตการ
ละลิดเทศทังทวยหาร ไม่ห้อ
คระครั้นแบ่งบัวบาน นิโลก ครั้งเอย
หมิใช่บุญน้องน้อ มิได้ดลดู

ผกาเพลิง-ดอกไม้ไฟ โชตการ-สว่าง ศรี-ต้นโพธิ์ ละลิดเทศ-เป็น สลิดเทศ-ดอกขจร ก็มี ทวยหาร-ท้ายห่าน ดอกมหาหงส์ ห้อ-ด้วย เช่น ปากฮ่อ-พูดด้วย ครนครัน-เสียงดังลั่น ร. เป็น ตะวัน นิโครธ-ไทร ดล-ถึง

ดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นสว่างเป็นดอกขจร ดอกมหาหงส์ บัวบาน และใบไทร พรั่งพร้อม ไม่ใช่บุญของน้องจึงมิได้มาเห็น

๑๖๖

(ฉบับเชียงใหม่)

เพียะเพียะเพลิงพลุ่งขึ้น สูงสุด ส่งเอ่
ใสส่องเสียนงนุช นาฏหน้อ
บ่มาเสพสนุก ยามม่วน สันนี
ปุนชีพลางแล้วหย้อ หย่ามน้องฤาสถิต

(ฉบับหอสมุดฯ)

เพียเพลิงพอพุ่งขึ้น สูงสุด สว่างแฮ
ใสส่องเสียนงนุช นาฏน้อ
บ่มาเสพสหยุต ย่ามม่วน สันนี
ปูนชีพวางแล้วย้อ ย่ามน้องรสดล

เพียะเพียะ-เสียงไฟไหม้ ร. ว่าเป็น พเยีย-พวงดอกไม้ เพลิง-ดอกไม้ไฟ ส่ง-ส่อง เสีย-ในที่นี้แปลว่า เสียดาย หรือเสียท่า สห-ร่วมกัน ห. ว่าเป็น สมยุต-ถ้า ยุช-คู่ ม่วน-สนุก สันนี-ฉันนี้-เช่นนี้ ปุน-น่าจะ ลาง-(ดูบทที่ ๖๑) หย้อ-ย่อ คุณวิจิตร ยอดสุวรรณ แปลว่า ชม คุณโสม พัตรสันดร แปลว่า ย้อนคืน หย่าม- คุณวิจิตร แปลว่า ติดใจ คุณโสม แปลว่า เคยตัว อยากอีก คือ ย่ามใจ นั่นเอง รสดล-ห. ว่าเป็น รสอร ดล-ถึง

เสียงดังเพียะๆ ไฟพุ่งขึ้นสูงสุดส่องสว่าง เสียท่าที่น้องไม่มาร่วมอยู่กับพี่ยามสนุกเช่นนี้ (บาทสุดท้ายแปลไม่ได้)

๑๖๗

(ฉบับเชียงใหม่)

นบพระเถิงใกล้รุ่ง วิภาดา
นิดนั่งบ่ไสยา ต่อแจ้ง
ทำบุญแม่นมหา ปางใหญ่ ครานี
ก็เพื่อนุชน้องแสร้ง เสกสร้างอติเร

(ฉบับหอสมุดฯ)

นบพระถึงรุ่งใกล้ วิภาดา
นึกนั่งบไสยา ต่อแจ้ง
ทำบุญแม่นมหา ปรางค์ใหญ่ ครานี
ก็เพื่อนุชน้องแสร้ง เสร็จสร้างอติเร

เถิง-ถึง วิภาดา-เช้าตรู่ นิดนั่ง-สำนวนกลอนทางเชียงใหม่ คงแปลว่า นั่ง หรือนั่งอยู่ ไสยา-หลับ ต่อแจ้ง-จนสว่าง แม่น-ถูก ตรง ปาง-ครั้ง แสร้ง-ตั้งใจ อติเร-ตัดมาจากอดิเรก-ใหญ่ยิ่ง

ไหว้พระจนถึงเวลาใกล้เช้าตรู่ นั่งอยู่ไม่ยอมนอนจนสว่าง ทำบุญกุศลครั้งใหญ่นี้ก็เพราะน้อง พี่ตั้งใจสร้างบุญพิเศษยิ่งใหญ่

๑๖๘

(ฉบับเชียงใหม่)

บุณณมีเมี้ยนมื้อชอบ จักลา แลแม่
โอนอำรุงปณิธา สั่งซ้ำ
ทักขิณทังธารา เป็นฝั่ง ครานี
นางนาฏรองรับน้ำ นอบนิ้วโมทนา

(ฉบับหอสมุดฯ)

บุรณมีแม่นมื้อชอบ จักลา แลแม่
โอนอำรุงปณิธา สั่งซ้ำ
ทักขิณหลั่งธารา เป็นฝั่ง ครานี
นางนาฏรองรับน้ำ นอบนิ้วโมทนา

บุณณมี-วันเพ็ญ เมี้ยน-หมด แม่น-ตรงกับ มื้อ-วัน (อีสาน) อำรุง-ทะนุบำรุง ปณิธา-ปณิธาน-ตั้งความปรารถนา ทักขิณ-ทักษิณา-ทาน เพื่อผลอันเจริญ ทัง-ล. เป็น ถั่ง ฝั่ง-บางฉบับเป็น ฟั่ง-รีบ โมทนา-การบันเทิงใจ การพลอยยินดี

สิ้นวันเพ็ญแล้วควรที่จะลากลับ ขอตั้งความปรารถนาอีกครั้งหนึ่ง มอบบุญให้น้อง ทำทานและกรวดน้ำเป็นหลักเป็นฐานครั้งนี้ นางสนมรองรับน้ำที่กรวดนี้ (หรือจะหมายถึงแม่ธรณี) และพนมมือพลอยยินดีด้วย

๑๖๙

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระชินธาตุเจ้า ชินอัฐิ
ถวายคิลาเพียญชน์ภัตร หว่านไหว้
บ่จงจักรพรรดิ์ พันเทื่อ ทีเอ่
บัดเดี่ยวขอหื้อได้ แด่น้องวิวาห์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาพระชินธาตุเจ้า จอมอัฐิ
ถวายคิลาเพียญชน์ภัตร หว่านไหว้
ประจงจอดจักรวัติ ผลเผื่อ ทิพเอย
บัดเดี่ยวขอหื้อให้ แห่งห้องวิวาหา

ชิน-ผู้ชนะ หมายถึง พระพุทธเจ้า ชินธาตุ-พระเจดีย์ อัฐิ-กระดูก คิลา-ลาวใช้คู่กับหมากเมี่ยง คงตัดมาจาก คิลานปัจจัย-ของสำหรับผู้ป่วยคือ ยาแก้โรค หมากพลู บุหรี่ เพียญชน์-พยัญชนะ กับข้าว ภัตร-อาหาร หว่านไหว้-ไหว้ ประจง-ห. ว่าเป็น บ่จง จอด-ถึง พันเทื่อ-พันครั้ง บัดเดี่ยว-ประเดี่ยว หื้อ-ให้

ลาพระธาตุซึ่งบรรจุอัฐิพระพุทธเจ้า ถวายหมาก พลู บุหรี่ อาหาร แล้วสักการะ ไม่ปรารถนาจักรพรรดิสมบัติ (ดู ไตรภูมิพระร่วง) หวังผลให้ได้แต่งงานกับน้องประเดี๋ยวนี้

๑๗๐

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระวรเชษฐ์ช้อย ชินองค์
เป็นปิ่นปุรีขง เขตกว้าง
บ่คิดกริ่งประสงค์ สังอื่น ใดเอ่
สักชาติอย่ารู้ร้าง จากเจ้าสุดสิเนห์

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาพระชินเชฐสร้อย ชินวงศ์
เป็นปิ่นบูรีขง เขตกว้าง
บคิดกริ่งประสงค์ สัตว์อื่น ใดเลย
สักชาติอย่าเร้นร้าง ร่วมชู้นิพานเดียว

ฉบับหอสมุดฯ บทที่ ๑๗๐ และ ๑๗๑ สับที่กัน

วรเชษฐ์-ชินเชฐ-พระพุทธเจ้า ขงเขต-อาณาเขต (ดูบทที่ ๘) กริ่ง-แคลงใจ สัง-อะไร สักชาติ-แม้แต่ชาติเดียว สิเนห์-เสน่หา

ลาพระพุทธรูปอันยอดเยี่ยมของนครและอาณาเขตกว้างไกล ไม่ปรารถนาจะได้สิ่งใด ขอเพียงอย่าให้พลัดพรากจากนางสักชาติเดียว ให้ได้ร่วมกับน้องและนิพพานพร้อมกัน

๑๗๑

(ฉบับเชียงใหม่)

ลาพระวรเชษฐ์ช้อย ชินธาตุ์
เทียนทีปทังมาลา หว่านไหว้
บ่จงจอดพันตา ทิพเท่า อวรเอ่
ก็ใช่จงจักใช้ บาทเบื้องบูรเพ

(ฉบับหอสมุดฯ)

ลาพระวรเชฐสร้อย ชินธาตุ์
เทียนทีปทังมาลา หว่านไหว้
ประจงจอดพันตา ทิพเท่า อวรเอย
ก็เท่าจงจักใช้ บาทเบื้องบูรเพ

ชินธาตุ์-พระเจดีย์ ทีป-ประทีป หว่านไหว้-ไหว้ ประจง-ห. เป็น บ่จง จอด-ถึง พันตา-พระอินทร์ เท่า-เพียงแต่ จง-ตั้งใจ บาท-ห. และ ร. ว่าเป็น บาป

ลาพระธาตุพระพุทธเจ้า ถวายเทียน ประทีป และดอกไม้สักการะ ไม่ปรารถนาอินทรสมบัติเพียงแต่ปรารถนาน้อง ตั้งใจจะใช้บาปที่ทำมาแต่ครั้งก่อน (จารึกหลัก ๔ สุโขทัยว่า ไม่ปรารถนาจักรพรรดิสมบัติอินทรสมบัติ)

๑๗๒

(ฉบับเชียงใหม่)

บรเมมายแม่งม้าง ภาวดี
ขงเขตไพรสิมพลี แม่งม้าง
เบงจาเกศโมฬี สุดแว่น วางเอ่
อันพี่บ่เร้นล้าง กลิ่นแก้ววนิดา

(ฉบับหอสมุดฯ)

บรเมมายแม่งม้าง ภาวดี
ขงเขตไพรสิมพลี แม่งม้าง
เบงจางค์เกศโมภี สุดแว่น วางเอย
อันพี่บ่เร้นล้าง กลิ่นแก้ววนิดา

บรเม-เป็น บรเมล บอระเมีย ก็มี เป็นชื่อตัวพระคู่กับนางภาวดี แต่ยังไม่พบว่ามาจากเรื่องใด มาย-คลาย ถอน แม่งม้าง-เริดร้าง เบงจา-เบญจางคประดิษฐ์ (ดูคำอธิบายบทที่ ๑๐) แว่น-กระจก แต่ใช้คู่กับ วักษณ์ แปลว่า ทรวงอก บ่อยๆ ล้าง –ในที่นี้คือ ร้าง

บรเมพรากจากนางภาวดี ในบริเวณป่างิ้วเริดร้างกัน ถวายเบญจางคประดิษฐ์ ทั้งศีรษะ ผม และทรวงอก เพื่อที่พี่จะได้ไม่ร้างจากนาง

๑๗๓

(ฉบับเชียงใหม่)

ขุนเขานิราศแก้ว กุมภการ
ไตรชาติเจียนยุวมาลย์ แม่ไว้
ยังลุลุ่มบาดาล พลิราช วันนัน
สามิลุแก้วใกล้ ชาตินี้ลุนยัง

(ฉบับหอสมุดฯ)

ขุนเทนิราศแก้ว กุมการ
ไต่ชาติเจียนยุวมาลย์ แม่ไว้
ยังลุล่มบาดาล พลิราช วันนา
สามิลุแก้วใกล้ ชาตินี้ลุนยัง

ขุนเขา ขุนเท-เป็นชื่อตัวพระในชาดก ห. ว่าเป็น ขุนเขา ร. ว่าเป็น ขุนเทิน กุมภการ-กุมการ-เป็นชื่อตัวนางจากชาดก ไต่ชาติ-สืบชาติ เจียน-จาก ยุวมาลย์-เยาวมาลย์ ลุ-ถึง ลุ่ม-ล่าง สา-หาก ลุน-หลัง เช่นศิลาจารึกสุโขทัยใช้ ภายลูนปูนหลัง

ขุนเขานิราศร้างนางกุมภการ จากนางไปถึงสามชาติยังได้พบที่เมืองบาดาล ซึ่งอยู่เบื้องล่าง แม้หากไม่บรรลุผลสำเร็จ อยู่ใกล้กับน้องชาตินี้ก็ยังมีหวังในอนาคตอยู่

๑๗๔

(ฉบับเชียงใหม่)

กังรีนิราศร้าง รถเสน
หวานหว่านในดินเดน ด่านน้ำ
นางยักษ์ผูกพันเวร มรโมด วันนัน
อันพี่พลัดน้องซ้ำ เร่งร้ายระเหระหน

(ฉบับหอสมุดฯ)

กังขาลินีราศร้าง รถเสน
วานหวั่นในดินเดน ด่านน้ำ
นางยักษ์ผูกพันเวร มวนโมฐ วันนา
อันพี่พัดน้องซ้ำ เร่งร้อนระเหหน

กังรี-นางเมรี รถเสน-พระรถ เดน-ใช้คู่กับ ดิน เป็น ดินเดน และคู่กับแดน เป็น แดนเดน ก็มี ดินเดน-ไทขาว แปลว่า เขตแดน โมด-มอด ตาย (ดูบทที่ ๑๓๗) วันนา-ห. ว่าเป็น วันนั้น ระเหระหน-ระแหหน-ซัดเซไป

นางเมรีพลัดพรากจากพระรถ (บาทสองไม่ทราบว่าแปลว่าอย่างไร หรือจะเกี่ยวกับพระรถ หว่านของวิเศษให้เกิดเป็นภูเขากีดขวางการติดตามของนางเมรี) นางยักษ์จองเวรแล้วตายไปในวันนั้น ที่พี่พลัดจากน้องยิ่งทุกข์ร้อนซัดเซไป

๑๗๕

(ฉบับเชียงใหม่)

ปัพภาพิโยคสร้อย สุธนู ก็ดี
สมุทรโฆษร้างพินทู แม่งม้าง
ขุนบาจากเจียนอู ษาราช ก็ดีเอ่
อกพี่แวนเร้นร้าง กว่าเบื้องบูรเพ

(ฉบับหอสมุดฯ)

ปะภาพิโยคสร้อย สุทธนู ก็ดี
สมุทโฆษว้างพินทู แม่งม้าง
ขุนบาจากเจียนอู ษาราช
อกพี่แวนร้อนร้าง กว่าเบื้องบูรเพ

ในปัญญาสชาดกมีเรื่องพระโพธิสัตว์ต้องพรากจากคู่อยู่หลายเรื่อง เช่น พระสุธนู กับ จีรัปภา หรือ จีรประภา สมุทรโฆษกับพินธุมดี ปาจิตรกับอรพิมพ์ แต่ในทวาทศมาสทำไมกลายเป็นอรพินธ์ไปก็ไม่ทราบ ขุนบากับอูษาราช จะตรงกับอนิรุทธ์กับนางอุษาหรือไม่ก็ไม่ทราบ

ว้าง-ห. เป็น ร้าง แม่งม้าง-พลัดพราก เจียน-จาก แวน-มาก (ดูคำอธิบายบทที่ ๙๙) บูรเพ-บูรพา ก่อน

นางจีรประภาพลัดพรากจากพระสุธนูก็ดี หรือสมุทรโฆษพลัดพรากจากนางพินธุมดี หรือขุนบาจากนางอูษาไปก็ดี อกพี่ซึ่งพรากน้องไปทุกข์ร้อนยิ่งกว่าคู่ทั้งหลายแต่ปางก่อน

๑๗๖

(ฉบับเชียงใหม่)

กุสราชนิราศร้าง ภาวดี
ยังลาภลุนงศรี ร่วมห้อง
สาอินทร์มิปราณี ยังยาก ครานัน
จักแม่งรามรสน้อง นาฏไว้ทุเรราม

(ฉบับหอสมุดฯ)

กุศรานิราศร้าง ภาวดี ก็ดี
ยังลาภลุนงค์ศรี ร่วมห้อง
สาอื่นบปราณี ยังยาก ครานา
จักแม่งรามรสน้อง นาฏไท้ทุเรราง

กุสสราชกับประภาวดีเป็นเรื่องในนิบาตชาดก ใจความว่าพระกุสสราชรูปร่างขี้เหร่จนพระมเหสีหนีไป พระอินทร์ลงมาช่วยจึงกลับมาอยู่ด้วยกัน

สา-ถ้าหาก แม่ง-พราก ราม-ร้าง (ดูคำอธิบายบทที่ ๒) ทุเร-ไกล

กุสสราชพลัดพรากจากนางประภาวดี ก็ยังมีลาภได้สำเร็จกลับมาอยู่ร่วมห้องกับนาง ถ้าหากพระอินทร์ไม่ปราณี (พี่) ก็ยังจะยาก จะพลัดพรากจากน้องไปห่างไกลกัน

๑๗๗

(ฉบับเชียงใหม่)

รามาธิราชร้าง รสสีดา เดียวแม่
พระก็เอานงพะงา แม่ผ้าย
ยังลุสำบุญตรา ถูเจต เดียวแม่
เสิกส่วนยังได้ส้าย เพื่อผู้หนุมาน

(ฉบับหอสมุดฯ)

รามานิราศร้าง สีดา เดียวแม่
พระก็เอานงพงา เผ่นผ้าย
ยังรู้ส่ำบุณตา ดูเจต เดียวเอย
สืกสวนยังได้ส้าย เพื่อผู้หนุมาน

พระ-ส. ว่า พราม หมายถึง ทศกัณฐ์แปลงเป็นพราหมณ์ นงพะงา- นางงาม ผ้าย-ไป ยังรู้-ห. ว่าเป็น ยังสู่ สำบุญ-สมบุญ ตรา-ร. ว่าเป็นบาถู-ตรู ออกเสียง ตร เป็น ถ แบบพายัพ เสิก-ศึก ส้าย-ใช้ หรือตรงกับภาษาอีสานว่า ส่าย แปลว่า ชำระให้สิ้น เช่น ส่ายศึก เพื่อ-เพราะ

พระรามพลัดพรากจากนางสีดา ทศกัณฐ์ก็พานางสีดาท่องเที่ยวไป ยังบรรลุผลเต็มที่สมดังใจ ส่วนศึกก็ได้อาศัยหนุมานชำระให้สิ้นไป

๑๗๘

(ฉบับเชียงใหม่)

จากเจียนเนื้อเกลี้ยงกลิ่น องค์ออน
องค์อ่อนรามรสสมร พรากขวั้น
พรากขวั้นเดือดแดมร อกม่อน เมาเอ่
อกม่อนเมาบาบั้น บิ่นบ้าในทรวง

(ฉบับหอสมุดฯ)

จากเจียนเนื้อเกลี้ยงกลิ่น องค์อร
องค์อรสมสมรนอน พรากขวั้ญ
พรากขวั้ญเดือดแดดอน อกม่อน มรแฮ
อกม่อนมรบาบั้น บิ่นบ้าในทรวง

โคลงบทนี้เป็นกลบทชื่อว่า เก็บบาท นำสองคำท้ายวรรคแต่ละบรรทัดไปเป็นสองคำต้นของบรรทัดถัดไป

เจียน-จาก อ่อน-หมายถึง ตัวนาง ราม-ร้าง (ดูคำอธิบายบทที่ ๒) เดือด-เดือดร้อน มร-ตาย ม่อน-ฉัน เมา (รัก)-หลงรัก บา-พี่ ชายหนุ่ม ในที่นี้น่าจะเป็น บ้า มากกว่า

จากนางซึ่งมีเนื้อเกลี้ยงเกลากลิ่นหอม ต้องพรากจากรสนางมาเหมือนขวัญถูกพรากไป ขวัญพรากไปเดือดร้อนทำให้หัวอกมัวเมา หัวอกมัวเมาเป็นบ้าอยู่ภายใน

๑๗๙

(ฉบับเชียงใหม่)

พระเมรุนวยเนื้อครอบ เรียมทุกข์
เหมือนเมื่อทำกิตติยุค ชวดช้าย
เจ็ดเขาคันแลงลุก แดเดือด ตางเอ่
ถมออาสน์อินทร์คล่อมคล้าย คอบเข้าถูถนอม

(ฉบับหอสมุดฯ)

พระเม้านอระเนิ้งคอบ เรียมทุกข์ เทือนี
เหมือนเมื่อทำกิตติยุค ชวดช้า
เจดเขาคระเลงลุก แดเดือด ต่างเอย
ถมออาสน์คล้ายคล้า คอบข้าฤาถนอม

พระเมรุ-เขาพระสุเมรุ นวย-น้อมลง สมุทรโฆษ ใช้ “คิดคิ้วคำนวณนวย คือธนูอันก่งยง” และ “นวยยอดทอดกิ่ง” มหาชาติคำหลวงใช้ “อันว่าไม้มีผลค่าค้อมก็น้อมนวยทวยทอดมาเอง” ตรงกับ โลกนิติ “ไม้ค้อมมีลูกน้อม นวยงาม” เนิ้ง-เอน ตกท้องช้าง (ดูคำอธิบายบทที่ ๓๗) คำว่า เนืองๆ เทือนี-เทื่อนี้-ครั้งนี้ กิตติยุค-กฤตยุค-ยุคทอง ชวดช้าย-ตรงกับ ซวดซ้าย (อีสาน) ซวด-เอียงไป ซ้าย-เอน โย้ คันแลง-คระแลง-เอียง โคลง ห. เป็น คระแลง เดือดตาง-เดือดร้อนแทน ถมอ-หิน อาสน์คล้ายคล้า-ห. ว่าเป็น อาดอื่นคล้ายคล้า คอบ-ครอบ เพราะ ถู-ตรู งาม

ทีแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความทุกข์ของผู้แต่งเหมือนเขาพระสุเมรุมาทับเช่นเดียวกับพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นเต่า (กัจฉปาวตาร) ในกฤตยุค ภูเขาเจ็ดเทือกอันอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เช่น อิสินธร ยุคนธร ฯลฯ พากันเดือดร้อนแทน (พี่รู้สึกเหมือนที่นั่งพระอินทร์มาทับอยู่บนหน้าอก) แต่เมื่อข้าพเจ้าเปิดดูเรื่องนารายณ์สิบปางแล้วความยังไม่ตรงดีนัก คือภูเขาที่ใช้กวนน้ำทิพย์ชื่อภูเขามันทร ซึ่งอยู่ใกล้เขาพระสุเมรุ แต่เรื่องปางนี้สับสนกับปางมัตสยาวตาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเขาพระสุเมรุอยู่ ผู้แต่งอาจจะเทียบกับปางนี้ อย่างที่ข้าพเจ้านึกสันนิษฐานไว้ในตอนแรกก็เป็นได้

๑๘๐

(ฉบับเชียงใหม่)

คราวครานเถิงถาบห้อง หริภูญช์
ริร่ำสองอาดูร นิราศร้าง
ปุนขะสดป่านแปงทูล ทิพอาช ญาเอ่
ถวายแด่นุชน้องอ้าง อ่านเหล้นหายฉงน

(ฉบับหอสมุดฯ)

คราวครานถึงถาบห้อง หริภุญ ชัยเฮย
หริร่ำสองอาดุล ราศร้าง
ปูนกษัตริย์ปานเปลาทุน ทิพอา ชาเอย
ถวายแก่นุชน้องอ้าง อ่านเหล้นหายฉงน

ร. ว่าเป็นบทที่ ๑๗๗ ส่วนบทที่ ๑๗๘-๑๘๑ ไม่มีที่ฉบับเชียงใหม่ และฉบับหอสมุดฯ

คราน-เคลื่อนไป เถิงถาบ-ถึงตราบ ถึงด้าน หริภูญช์-หริภุญชัย-ลำพูน หริร่ำ-ห. เป็นริร่ำ ปุน-น่า ขะสด-กำสรด ป่านแปง-สร้าง ทำ (ดูคำอธิบายบทที่ ๑) ปานเปลา-ห. เป็น เปล่าปลาน ทิพ-ชื่อนางศรีทิพ อาชญา-ในที่นี้แสดงความเป็นเจ้านาย ฉงน-ใช้คู่กับ ฉงาย แปลว่า ไกล

คราวเดินทางไปถึงเมืองลำพูน รำพันถึงสองคนทุกข์ร้อนเพราะพลัดพรากจากกันน่าเศร้าโศก แต่งขึ้นทูลถวายนางศรีทิพผู้ทรงอาชญา ถวายเพื่อให้น้องอ่านเล่น หายความรู้สึกที่ไกลกัน

๑๘๑

(ฉบับเชียงใหม่)

คราวครานริร่ำเมิ้น เมินนาน
หริภุญชัยถิ่นฐาน ธาตุตั้ง
ร้อยแปดสิบเป็นประมาณ บทบาท มีเอ่
เป็นตำนานเรื้อรั้ง แต่งตั้งปุนสงวน (จบแล้วแล)

(ฉบับหอสมุดฯ)

มรรคาเพรงพรากเหมิ้น เมินนาน เน่งแฮ
หริภุญชัยเชฐสถาน ธาตุตั้ง
ร้อยเจ็ดสิบแปดประมาณ บทบาท มีเอย
เป็นตำนานเรื้อรั้ง แต่งตั้งเป็นสาร

ร. ว่าเป็นบทที่ ๑๘๒

คราน-เคลื่อนไป เพรง-ก่อน เมิ้น-เหมิ้น-เมิน-นาน ปุน-น่า

การรำพันถึงเวลาที่เดินทางไปนานแสนนานมาแล้ว สู่เมืองลำพูนซึ่งเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์มีประมาณ ๑๘๐ บท เป็นตำนานเก่าแก่น่าที่จะรักษาไว้

(ฉบับหอสมุดฯ)

เปลี่ยนแปลงร่างรื้อยาก โคลงลาว นี้แฮ
พจนพากย์แผกกลฉาว ช่างได้
ดำริตริตรองสาว สืบเยี่ยง ดูเอย
จัดพอจุแรงให้ บาทเบื้องคุณเฉลิม

แผก - แปลก แผกกล-ห. เป็น แผกกัน ร. เป็น แผกกับ

ต้นฉบับที่อยู่กับพระยาราชสัมภารากรหมายเหตุไว้ว่า บทนี้เห็นจะเป็นฝีปากท่านหลวงบรม เป็นเจ้าของฉบับอยู่ในกรมมหาดไทย ฝ่ายกรมพระราชวังบวร

ผู้คัดต้นฉบับทางเหนือปรากฏชื่ออยู่ดังนี้ ฉบับหนึ่ง อภิชัย อีกฉบับหนึ่ง สุรินทร์

(ข)

อา สอรเรียมม่อนตั้ง เขียนขัด
ภิ โรธเดิมตามทัด ย่าเค้า
ชัย ชนะหากเป็นสัจ ขอมุ่ง มุงเอ่
เขียน ขีดลายก้อมเศร้า ไป่สู้สนามเคย

อาสอร-อาสูร-เอ็นดู สงสาร ม่อน- ฉัน ขัด-ขัดเกลา ภิโรธ-พิโรธ ทัด-ตั๊ด-ตรงกัน ย่าเค้า-ต้นฉบับเดิม ลายก้อม-ลายกรอม-ลายขอม-ลายมือ เศร้า- ในที่นี้หมายความว่า เลว สนาน-ชำนาญ

น่าสงสารที่พี่เริ่มขัดเกลาโคลง โมโหที่พยายามให้ตรงกับของเดิมตามต้นฉบับเดิม ขอตั้งสัตยาธิษฐานขอให้มีชัยชนะ ลายมือที่เขียนเลวมาก เพราะไม่ค่อยชำนาญ ไม่คุ้นเคยกับการเขียน

(ค)

สุรินทร์เขียนขีดด้วย อัตตา
ยังค่าวคราวมัคคา เจตจ้อน
หริภุญช์เขตลานนา ไทยเทศ เราเอ่
คำซ่อนซอนลี้ซ้อน เลียบเทิ้นพิจารณ์

ค่าว – คำร้อยกรองชนิดหนึ่ง ภาษาไทยขาว แปลว่า ความคิดคำนึง

สุรินทร์เขียนค่าวนี้ด้วยตนเอง แจ้งทางเดินไปยังหริภุญชัยเขตล้านนาถิ่นไทยเรานี้ คำซ่อนคมซอกซอน หลบลี้ ซับซ้อน จงพิจารณาดูให้รอบ ๆ เถิด

เจ้าของโคลงบท (ค) คิดไว้ในปี จ.ศ. ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ปีเบิกเส็ด ขึ้นสิบค่ำ ยามกองงาย คือ กลองเช้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ