หมายเหตุท้ายเรื่อง

เวียงกุมกามและแม่น้ำปิง

เวียงกุมกามสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย (พงศาวดารโยนกเรียกผิดเป็น เม็งราย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงใหม่ ราวกิโลเมตรที่ ๔-๕ ตามทางไปลำพูน มีวัดซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ๒ วัด คือ วัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) และวัดการโถม (วัดช้างคํ้า) ท่านมหาหมื่นได้อธิบายว่าวัดการโถมสร้างด้วยนายช่าง (การ) ชื่อโถม แต่พงศาวดารโยนกอ่านผิดเป็นกาดโถมไป ปัจจุบันนี้เรียกว่าตำบลหนองหอย ตัวเมืองรกร้างไปจนเกือบไม่มีผู้รู้ว่าเคยเป็นเวียงกุมกามมาแต่ก่อน ส่วนวัดเจดีย์เหลี่ยมซึ่งกล่าวไว้ในคำปรารภแล้วนั้น คุณธนิต อยู่โพธิ์ มีความเห็นว่าสร้างเป็นกู่ที่ไว้กระดูกมเหสีพญามังราย และเมื่อข้าพเจ้าได้ไปชมกู่ที่วัดจามเทวี ซึ่งบรรจุกระดูกพระนางจามเทวีแล้วก็เห็นได้ว่า กู่วัดเจดีย์เหลี่ยมถ่ายแบบไปจากกู่วัดจามเทวีนี้เอง

เดิมกระแสน้ำพัดอ้อมเวียงกุมกามไป รวมตัวเมืองไว้ฟากเดียวกับเชียงใหม่ ดังปรากฏในพงศาวดารโยนกหลายตอนว่าแม่น้ำปิงผ่านไปทางทิศตะวันออกและพญามังรายขุดคูจากตำบลรั้วหน่าง ชักปีกกากันเมืองเชียงใหม่และกุมกาม (สันนิษฐานว่าเป็นแนวคูเวียงชั้นที่สองปัจจุบันนี้) ส่วนด้านตะวันออกอาศัยลำน้ำปิงกันทั้งเมืองเชียงใหม่และกุมกาม เดี๋ยวนี้แม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินไปหลายกิโลเมตรจึงตัดเวียงกุมกามไปอยู่ฟากตะวันออก เหลือแต่เชียงใหม่อยู่ทางฟากตะวันตก ไปตรวจสถานที่เวียงกุมกามยังเห็นแนวลำน้ำบางตอนและมีกรวดทรายทั่วไปหมด

ประตูเมืองชั้นที่สอง

เพื่อสอบว่านิราศนี้แต่งขึ้นในสมัยไหนแน่ ข้าพเจ้าพยายามสอบค้นว่ากำแพงเมืองชั้นที่สองสร้างขึ้นสมัยใด ท่านมหาหมื่นกรุณาแจ้งว่า เคยพบว่าสร้างในสมัยบุเรงนองมาตีเชียงใหม่ ส่วนคุณครู ชุ่ม ณ บางช้าง อธิบายว่าครั้งโกษาปานไปตีเชียงใหม่ สอบดูตรงกับพงศาวดารพระราชหัตถเลขา ท่านหมูอธิบายว่าสร้างสมัยพระภุกามมาทำลายศรีเมืองเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราช สร้างเป็นรูปราหูอมจันทร์ เพื่อข่มชาตาเมือง สรุปแล้วเป็นอันสิ้นปัญญาค้นคว้า แต่อย่างไรก็ดี การที่พญามังรายขุดคูจากตำบลรั้วหน่างนั้น เป็นอันเชื่อได้ว่ามีแนวป้องกันเป็นชั้นที่สองอยู่แล้ว และคงมีประตูเมืองที่นั่นด้วย ส่วนคำว่ารุธราชซึ่งเป็นผู้สร้างประตูนั้น คุณธนิต อยู่โพธิ์ ได้สันนิษฐานว่า คงเป็นพระเจ้าอนุรุธกษัตริย์พม่าผู้มาปราบเมืองเชียงใหม่ คนโบราณมักชอบเหมาเอาว่าพระเจ้าอนุรุธไปเที่ยวสร้างสถานที่ต่างๆ

โอรสราชภูมี

ในสมัยพระพุทธสิหิงค์อยู่เมืองเชียงใหม่นั้น ไม่มีปีฉลูใดที่อาจจะมีโอรสพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดไปไหว้พระธาตุได้ แต่เมื่อตอนอื่นบ่งให้เป็นปี พ.ศ. ๒๐๖๐ เช่นนี้ จึงพยายามสอบค้นดูได้ความว่าสมัยนั้นพระเมืองแก้วชื่อเดิม รัตราช ขึ้นเสวยราชย์ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี พระราชมารดาจึงต้องครองราชสมบัติด้วยเป็นสองพระองค์ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า พ.ศ. ๒๐๔๓ “สมเด็จบพิตรมหาราชเจ้า เจ้าเมืองพิงค์เชียงใหม่และพระราชมารดาเทวีเจ้ามีศรัทธา..ฯลฯ...ศรีสุพรรณารามเป็นวัดสมเด็จมหาราชเจ้า เจ้าแผ่นดินสองพระองค์แล” เช่นนี้ จึงพออนุโลมได้ว่า โอรสราชภูมีหมายถึงกษัตริย์องค์ที่เป็นโอรสธิบาธิเบศร์แก้วกัลยา หมายถึง พระราชมารดา

ประเสริฐ ณ นคร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ