คำอธิบายประกอบของ นายวิจิตร ยอดสุวรรณ

กั่นโลงของทางเหนือ มีตัวอย่างที่พอจะยกมาดังนี้

กั่นโลงเล็ก (โคลงสอง) จากร่ายพญาพรหมโวหาร

อกพุทโธ่โธธรรม พรหมมอยดำพ่อร้าง
ได้แก้โส้เจือกจ้าง กองไว้ตี่นอนห่าง ฯ

กั่นโลงเล็ก (โคลงสาม) จากสุภาษิตโบราณ

สะบันงายมจีไหว ใบห้อย
ปัญญาข้านี้มี บ่าน้อย
ติบ่ามีผ้าต้อย นุ่งบ่าดายหน่าฯ

กั่นโลงใหญ่ (โคลงสี่สุภาพ) เช่นเรื่องนิราศหริภุญชัย

กั่นโลงใหญ่ (โคลงสี่ดั้นโบราณ)

สะปันงายมจี๋ไหว ใบหิ้น
กันนายบ่เอาคน เทียวดิน
หื้อเอาพระยาอินทร์ เจ้าฟ้า
หื้อน้องแปลงกวยหาบ เอาถ่า ฯ

กั่นโลงใหญ่ (โคลงสี่ดั้นคติธรรม)

สะบันงายมหลามป๋าย ใบหลู้
กันว่าเจ้าหมั่นเพียร เรียนไป
ก็จักรหายสงสัย ส่องรู้
ขออย่าได้ขดคู้ ดักอยู่ บ่ดายเหน่อ

กั่นโลงใหญ่ (โคลงสี่สุภาพ) จากโคลงพระลอสอนโลก

ราชลือโลกท้าว จอมผยา
สั่งสอนในโลกา โลกนี้
ไผใคร่แถมปัญญา พิงเลียบ ดูแล
เป็นดั่งไม้ไต่ชี้ ส่องไว้เทียมใจ

สิหิงค์ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระสิงห์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวหาร เดิมชื่อวัดลีเชียง สร้างเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว พระเจ้าผายู ผู้ครองนครเชียงใหม่สร้างขึ้น ต่อมาในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเจ้าเมืองกำแพงเพชร เพื่อถวายเจ้าแสนเมืองมา พอถึงวัดลีเชียงมีเหตุให้ต้องอัญเชิญประดิษฐานเสียที่วัดลีเชียงนี้ จึงได้ชื่อเรียกวัดว่า วัดลีเชียงพระ ต่อมาเรียกวัดพระสิงห์ กระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๑๕ พระเจ้ากาวิละจึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์

พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานที่วัดนี้เป็น ๑ ใน ๓ ของพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทย เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร (คือเอาแข้งไขว้กันไว้บนตัก) พระหัตถ์เป็นท่ามารวิชัย (คือหงายพระหัตถ์ซ้ายไว้บนตัก คว่ำพระหัตถ์ขวาพักไว้ที่เข่า ปลายพระหัตถ์ชี้ลงข้างล่างอ้างธรณีเป็นพยาน) พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นขาดอยู่เหนือถัน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ไม่เสมอกัน วงพระพักตร์สั้น กลม ขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่ ไม่มีไรพระศกเป็นขอบตอนต่อกับวงพระพักตร์ พระเมาลีเป็นต่อมคล้ายดอกบัวตูม ฐานเป็นบัวหงาย มีกลีบน้อยแซมตอนข้างบนและมีเกสร เป็นลักษณะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นเก่า

นอกจากพระพุทธสิหิงค์แล้ว วัดพระสิงห์ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง คือพระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งเป็นพระปฏิมากรฝีมือช่างเชียงแสนสมัยต้น สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๐๒๐ อันเป็นปีที่พระองค์ทรงให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๘ ของโลก พระเจ้าทองทิพย์นี้องค์พระหล่อด้วยทองแดง เจือด้วยทองคำและนาก สุกปลั่งสวยงามมาก พระนาภี ฝังเพชร ประมาณ ๑ กะรัต รอบๆ ฐานฝังด้วยเพทาย ไพฑูรย์ แก้วมรกตต่างๆ โดยรอบหน้าตักกว้างประมาณ ๑ ศอกเศษ เป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ของพระเจ้าติโลกราช

ผู้อ่านน่าจะทราบถึงสมัยต่าง ๆ ของพระพุทธรูปฝีมือเชียงแสน ซึ่งปราชญ์ทางศิลปะโบราณคดีได้จำแนกพระพุทธรูปสกุลเชียงแสนตามทฤษฎีใหม่ดังนี้

๑. เชียงแสนรุ่นเริ่มแรก พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๖๐๐

๒. เชียงแสนรุ่นแรก พ.ศ. ๑๖๐๐-๑๘๐๐

๓. เชียงแสนรุ่นหลัง พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐

๔. เชียงแสนรุ่นแปลง (เชียงแสน-สุโขทัย) พ.ศ. ๑๘๐๐

๕. เชียงแสนใหม่ พ.ศ. ๒๐๐๐

ดังนั้น เชียงแสนชั้นต้น หมายถึงตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๘๐๐

ทุงยู ชื่อวัดทุงยู เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเชียงใหม่ อยู่ห่างจากวัดพระสิงห์ทางทิศตะวันออก สัก ๕๐๐ เมตร

สิริเกิด ชื่อวัดศรีเกิด เดิมชื่อวัดปิ๊ดจาราม (พิชาราม) บางแห่งกล่าวว่าเดิมชื่อวัดกิจจารามด้วย เหตุว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์โปรดให้มีพุทธกิจมากมายจึงเรียกว่า วัดกิจอาราม อันหมายถึงวัดที่มีกิจธุระมาก วัดนี้พระเจ้ากาวิละ หรือพระเจ้าบรมราชาธิบดีศรีสุริวงศ์ได้สร้างขึ้น ได้อาราธนาพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าแข้งคม ที่วัดปาตาลน้อย มาเป็นพระประธาน พระเจ้าแข้งคมนี้สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๒๐๓๐ หนัก ๓๓ แสน (๑ แสน = ๑๓๓.๕ กก.)

ผาเกียร ชื่อวัดชัยพระเกียรติ ปัจจุบันเป็นอารามหลวง ว่ากันว่าสร้างในสมัยพระเจ้ามกุฎวิสุทธิวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (แต่เห็นว่าคงจะเป็นวัดเก่าวัดเดิมมาก่อน เพราะกวีแต่งเรื่องนี้ก่อนที่จะถึงสมัยพระเจ้ามกุฏวิสุทธิวงศ์แล้วมาได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้ามกุฎฯ)

ส่วนการสร้างพระประธานในพระวิหาร พระนางจิรประภามหาเทวีได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ถวายแด่สมเด็จพระชัยราชาธิราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระประธานนี้ชื่อพระเจ้าห้าตื้อ เพราะพระพุทธรุปองค์นี้หล่อด้วยทอง ๕ ตื้อ (๑ ตื้อ เท่ากับ ๑๐ โกฏิ) ตามหลักฐานว่าสร้างในปี จ.ศ. ๙๒๐ (พ.ศ. ๒๑๐๑)

หอมังราช ปัจจุบันเรียกว่าหอมังราย เป็นหอเล็กๆ บริเวณสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่พ่อขุนมังราย กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายและเมืองเชียงใหม่เสด็จสวรรคตด้วยอสนีบาตฟาดพระองค์ในขณะที่เสด็จชมตลาดใน พ.ศ.๑๘๖๑ ปัจจุบันยังเป็นที่สักการะของบุคคลทั่วไป ทางการจังหวัดเชียงใหม่ได้ก่อกำแพงเตี้ยๆ ล้อมรอบบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์นี้

อมรกต พระแก้วมรกต ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้อัญเชิญจากเมืองนครลำปางมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๐๑๑ ตอนแรกได้จัดสร้างอารามราชกูฏ (กุฎารามหรือ วัดเจดีย์หลวง) ถวาย โดยจะสร้างปราสาทให้เป็นที่ประทับแต่ก็ถูกฟ้าผ่าทุกครั้ง จึงต้องอัญเชิญไปสถิตที่พระวิหารซุ้มขจร อยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์หลวง กระทั่งถึง พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าศรีไชยเชษฐาวงศ์มหาราชาธิราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้อัญเชิญไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต

มหาอาวาส หมายถึง วัดเจดีย์หลวง เคยเป็นที่สถิตประดิษฐานของพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต มีปูชนียสถานที่สำคัญคือ เจดีย์หลวง

เจดีย์หลวงนี้ทรงแบบรัตนมาลีของลังกาผสมเจดีย์แบบพุทธคยา สร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาหรือพระเจ้าลักขณาบุราคม กษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย พ.ศ. ๑๙๓๔ ฐานกว้างด้านละ ๗ วา สูง ๑๒ วา ต่อมา พ.ศ. ๑๙๙๗ พระเจ้าติโลกราชได้ทรงสร้างให้ใหญ่กว่าเดิม ขยายออกไปเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๒๗ วา สูง ๔๓ วา ยอดเจดีย์พังลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๘ ในสมัยพระนางมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์ลำดับที่ ๑๖ ของราชวงศ์มังราย สาเหตุที่พังเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซุ้มทางตะวันออกเคยเป็นที่สถิตประดิษฐานของพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต

อัสดารส พระอัฏฐารสก็เรียก เป็นพระประธานในพระวิหารวัดเจดีย์หลวง เป็นพระพุทธรูปยืน สูง ๑๘ ศอก ในพระวิหารยังมีสาวกยืนอยู่ทั้งทางซ้ายและทางขวา คือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พระอัสดารสนี้สร้างด้วยทองเหลืองปนทองสัมฤทธิ์ สร้างในสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน โดยพระนางติโลกะสุดา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๑๙๕๕

เจ็ดลิน ชื่อวัดร้างใกล้ๆ วัดช่างแต้ม ปัจจุบันห่างจากถนนพระปกเกล้าฯ สัก ๔๐๐ เมตร คงเหลืออยู่แต่พระประธานและเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองจะลิน

ฟ่อนสร้อย ชื่อวัดฟ่อนสร้อย แต่วัดฟ่อนสร้อยในปัจจุบันนี้ไม่ใช่วัดฟ่อนสร้อยเดิม เพราะวัดเดิมนั้นร้างไปแล้ว อยู่ห่างจากวัดฟ่อนสร้อยปัจจุบันไปทางด้านทิศใต้ ๑๐ เมตร ปัจจุบันเหลือเพียงซากเจดีย์เท่านั้น

เชียงสง ชื่อวัดเชียงสง ปัจจุบันเหลือเพียงแต่เจดีย์ อยู่ติดกับถนนราชเชียงแสน

กำแพงเมือง ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพ่อขุนมังรายเป็นต้นมา มีหลักฐานพอจะอ้างได้ว่าเมืองเชียงใหม่มีการสร้างกำแพง (ต่างสถานที่กัน) ๓ ครั้ง คือ

๑. ในสมัยพ่อขุนมังราย สร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาววัดจากศูนย์กลางด้านละ ๑,๐๐๐ วา ด้านกว้างวัดจากศูนย์กลางด้านละ ๔๐๐ วา ในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด (เดือนหกใต้) ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๖๕๘ (พ.ศ.๑๘๓๙) โดยก่อตั้งกำแพงทางด้านอีสานก่อน แล้วอ้อมไปทางทิศใต้ แล้วเวียนรอบไปทุกด้าน

๒. ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพื่อจะทำให้ต้องกับศรีของเมือง โดยจัดการถมคูรื้อปราการเวียงในสมัยพ่อขุนมังรายออก ราว จ.ศ. ๘๒๒-๘๒๔ การรื้อที่ว่านี้ อาจจะรื้อออกเฉพาะที่จะสร้างขึ้นใหม่ เช่น ทางด้านทิศตะวันตกเอียงเหนือ (ศรีภูมิ) ส่วนด้านอื่น ๆ ที่ไม่กีดขวางการก่อสร้างใหม่ก็ให้คงอยู่ เช่น ทางด้านทิศใต้อาจจะคงมีซากอยู่

๓. สมัยพระเจ้าเมืองแก้ว (สิริธรรมจักรพรรดิราช) ได้โปรดให้รื้อกำแพงเก่าออก (คงจะเป็นกำแพงที่พระเจ้าติโลกราชสร้างขึ้น) ในวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ จ.ศ. ๘๗๘ ปีชวด อัฐศก ต่อมาโปรดให้ก่อกำแพงใหม่ขึ้นในวันพฤหัสบดีเดือนหก (เดือนสี่ใต้) ขึ้น ๑๓ ค่ำ จ.ศ. ๘๘๙ เชื่อว่ากำแพงที่คงเหลือให้เห็นซากอยู่ในปัจจุบันนี้สร้างในสมัยนี้เอง กำแพงเมืองที่เห็นในปัจจุบันเป็นที่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้าออกทั้งสี่ด้าน มีชื่อเรียกประตูต่างๆ ดังนี้

- ด้านตะวันออก ชื่อ ประตูท่าแพ (บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สุริวงศ์เชียงใหม่ ในปัจจุบัน)

- ด้านเหนือ ชื่อประตูช้างเผือก (บริเวณตลาดช้างเผือกในปัจจุบัน)

- ด้านตะวันตก ชื่อ ประตูสวนดอก (บริเวณคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนดอกปัจจุบัน)

- ด้านใต้ ชื่อ ประตูเชียงใหม่ (ใกล้กับทางแยกไปอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง ฯลฯ แต่เดิมจะไปลำพูนก็ต้องผ่านประตูนี้ และกวีก็ผ่านทางนี้ด้วย)

ทั้งหมดนี้เป็นการสันนิษฐานเรื่องของกำแพงเมืองเชียงใหม่ของผู้เขียน อาจจะผิดพลาดจากข้อเท็จจริงไปแต่ก็คงจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เข้าใจระยะทางที่ผ่านของกวีในเรื่องนี้ได้บ้าง

นอกจากนั้น เชียงใหม่ยังมีกำแพงเมืองอีกชั้นหนึ่ง เริยกว่า กำแพงดิน (กำแพงเมืองชั้นนอก) ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันไปสามประการ คือ

๑. จากหนังสือศึกษาและเที่ยวในเมืองไทย ของประพัฒน์ ตรีณรงค์ โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง พ.ศ. ๒๕๐๒ กล่าวว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยเจ้าพระยาโกษาธิบดีได้สร้างขึ้นเมื่อมาตีเมืองเชียงใหม่ อยู่ห่างจากกำแพงเมืองชั้นใน ๓๐ เส้น

๒. จากป้ายนิเทศที่ปักแสดงไว้ที่บริเวณซากกำแพงของนักศึกษาวิชาโบราณคดี? มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าสร้างในสมัยพญามังราย ประมาณ พ.ศ. ๑๘๓๙

๓. จากตำนานธรรมเมืองเหนือ (ซึ่งปัจจุบันนายอินทร์ สุใจ ครูใหญ่ โรงเรียนปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีต้นฉบับที่เป็นธรรมใบลานเป็นผูกอยู่) และผู้รู้บางคนบางท่าน เช่น เจ้าอาวาสวัดช่างฆ้อง อำเภอเมืองเชียงใหม่ กล่าวทำนองเดียวกันว่า สร้างในสมัยพระเจ้าเมกุฏวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย สาเหตุสืบเนื่องมาจากเหตุที่แตกต่างวันสองประการคือ

ประการแรก กล่าวว่าเกิดจากการที่เกิดศึกครั้งแรกระหว่างไทยกรุงศรีอยุธยากับพม่าในสมัยพระไชยราชากับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ครั้นเสร็จศึก พม่าต้องการจะได้อู่ข้าวอู่น้ำและเมืองที่จะกันทัพอยุธยา จึงคิดจะเอาเชียงใหม่มาอยู่ในอำนาจ เลยทำอุบายส่งคณะทูตมายังเมืองเชียงใหม่ ด้วยเครื่องราชบรรณาการมากมาย มาทําญาติดี เช่นช่วยซ่อมค่ายคูประตูหอรบ ดังจะเห็นได้จากการช่วยซ่อมกำแพงตรงวัดจ๊อกป๊อกที่เสียหาย โดยถูกทัพไทย พระเจ้าอาทิตยวงศ์ใช้ปืนใหญ่ยิงเสียหาย ก็ช่วยกันซ่อมแซมจนเรียบร้อยเป็นที่ไว้วางใจของชาวเชียงใหม่ ในที่สุดก็ให้สร้างกำแพงดินซึ่งใช้ดินถมขึ้นเป็นกำแพงชั้นนอก โดยสร้างเป็นรูปเกือกม้าตั้งแต่แจ่งศรีภูมิ โค้งไปจนถึงแจ่งกู่เฮืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความจริงนั้นก็เพื่อจะกั้นทัพไทยนั่นเอง ส่วนทางด้านตะวันตกนั้นพม่าอ้างว่ามีดอยสุเทพขวางอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างแต่อย่างใด (เพราะเป็นทางที่พม่าจะเข้ามายังเมืองเชียงใหม่) เพราะการสร้างกำแพงที่ไม่รอบเมือง ทำให้มีลักษณะที่พิลึกกึกกือเช่นนี้ เชื่อกันว่าเป็นเหตุที่ทำให้ชะตาเมืองเชียงใหม่ขาดตั้งแต่นั้นมา ต้องเสียอิสรภาพให้แก่พม่าและไทยศรีอยุธยาต่อๆ กันมาอย่างไม่มีวันจะได้อิสรภาพ

สาเหตุอีกประการหนึ่ง ปรากฏกล่าวกันว่า พระมเหสีของพระเจ้าเมกุฏฯมีสิริโฉมสวยงามเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป กษัตริย์พม่าใคร่จักได้พร้อมกับเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงจัดส่งไส้ศึกคล้ายกับอ้ายฟ้าของพ่อขุนมังรายที่มาทำไส้ศึกต่อพญายีบา เจ้าเมืองลำพูน หรือคล้ายกับวัสการพราหมณ์ของพระเจ้าอชาตสัตรู ไส้ศึกของพม่าเข้ามาเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้พร้อมด้วยม้าขาวหัวเขียวมาถวายเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำทีว่าถูกขับไล่ไสส่งและมาราชการในสำนักเมืองเชียงใหม่จนเป็นที่วางพระราชหฤทัย มิไยที่สมณชีพราหมณ์จะทักท้วง แต่พระเจ้าเมกุฏฯ ก็มิทรงฟัง ให้อำนาจต่างๆ นานาต่อพม่าผู้นี้ จึงมีโอกาสที่จะก่อกรรมทำเข็ญและยุยงต่างๆ พร้อมนี้ก็ให้สร้างกำแพงกั้นทัพอยุธยาเป็นรูปราหูอมจันทร์ คือกำแพงดินที่ว่านี่เอง และในที่สุด พม่าก็ยกทัพมาตีเชียงใหม่ โดยเข้าทางแจ่งหัวริน

จากเรื่องการสร้างกำแพงเมืองชั้นนอกทั้งสามประการนี้ เห็นว่า ประการที่สองกับประการสุดท้ายน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและถูกต้องร่วมกัน กล่าวคือ กำแพงนี้เป็นกำแพงอิฐเดิมที่พ่อขุนมังรายสร้างขึ้น มาถึงในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่ให้รื้อกำแพงเก่าออกคงจะรื้อเฉพาะที่ต้องการสร้างใหม่แถบด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนอื่นๆ เช่น ด้านใต้ คงจะยังอยู่ ต่อมาจึงสร้างเป็นกำแพงดินก่อทับเข้าไปอีกตามรอยเดิมที่พ่อขุนมังรายสร้างไว้ เพราะว่ากำแพงดินดังกล่าวข้างในเป็นอิฐและปกคลุมทับด้วยดิน

ส่วนกำแพงของพระเจ้าติโลกราชสมัยที่กวีแต่งเรื่องนี้คงจะยังเหลือซากอยู่ แต่คงจะอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในกับชั้นนอก เพราะกวีผ่านประตูเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น ๓ ประตู คือ ประตูเชียงใหม่ ประตูศรีมหาทวาร (ของพระเจ้าติโลกราช?) และประตูเมืองชั้นนอก

อย่างไรก็ตาม ผู้รู้และผู้สนใจน่าจะพิจารณาสืบสวนหาหลักฐาน ที่แน่นอนต่อไป

กำแพง (ในบทที่ ๓๒) กำแพงที่ว่านี้คือกำแพงเมืองชั้นนอก สงสัยว่าจะสร้างขึ้นทีหลังกำแพงชั้นในสังเกตเปรียบเทียบจากซากปัจจุบัน กำแพงชั้นนี้ทำเป็นเนินดิน ไม่มีการก่อด้วยอิฐแต่อย่างใด ผิดกับกำแพงชั้นใน

กุมกาม ชื่อเมืองกุมกาม ปัจจุบันอยู่แถบตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาดังนี้

เมื่อ จ.ศ. ๖๔๔ (พ.ศ. ๑๘๒๕) พระเจ้ามังรายมหาราชได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนได้จากพญายีบา แล้วพระองค์ก็ครองเมืองลำพูนอยู่สองปี แล้วทรงมอบให้อ้ายขุนฟ้าอำมาตย์คนสนิทขึ้นครองแทน ส่วนพระองค์ยกไปสร้างเชียงใหม่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลำพูน ครองที่นั่นไอ้ ๓ ปี ที่นั่นเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝน ช้างม้าวัวควายไม่มีที่อยู่อาศัย พระองค์จึงยกมาสร้างเวียงอยู่ใหม่ใกล้แม่น้ำปิง สร้างเสร็จในปีพ.ศ. ๑๘๒๙ (จ.ศ. ๖๔๘) ให้ชื่อว่า “เวียงกุมกามภิรารมย์” (บริเวณบ้านเจดีย์เหลี่ยม บ้านช้างค้ำ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน) ชื่อ “กุมกาม” นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าหมายความถึงอะไร บางท่านก็ว่าเพราะสร้างเมืองควบ (กุม,กวม) น้ำ จึงเรียกว่ากุมกาม แต่ตามที่เข้าใจ เห็นด้วยกับบางท่านที่กล่าวว่า หมายถึงปกป้องบ้านเมือง กุมกาม (คุมคาม) คำว่า “กาม” มาจากคำว่า “คาม” ที่แปลว่า “บ้านเมือง” พ่อขุนมังรายเป็นไทยเผ่าลื้อเขิน จึงออกเสียงคาม เป็นกาม

พระองค์ทรงครองอยู่ที่นี่ได้ ๑๐ ปี จึงได้ย้ายไปสร้างเมืองเวียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ (จ.ศ. ๖๕๘)

กู่คำ วัดกู่คำ ปัจจุบันเรียกว่า วัดเจดีย์เหลี่ยม มีประวัติความเป็นมาดังนี้

เวียงกุมกามของพญามังรายนั้น พระองค์ให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน และไขน้ำปิงเข้าสู่คูเวียง และตั้งลำเวียง (ค่าย) ไว้โดยรอบ แล้วให้ขุดหนองสระไว้ใกล้กับที่ประทับ ในขณะที่ขุดนั้นพระองค์ทรงเยี่ยมพระแกล ดูคนขุดทุกวัน หนองนั้นจึงได้ชื่อว่าหนองต่าง (หน้าต่าง) จนถึงปี จ.ศ. ๖๕๐ (พ.ศ. ๑๘๓๑) ปีชวด สัมฤทธิศก พระองค์โปรดฯให้เอาดินที่ขุดออกจากหนองนี้ปั้นอิฐก่อเจดีย์กู่คำ (คือเจดีย์เหลี่ยม) ไว้ในเวียงกุมกามนั้น เพื่อให้เป็นที่สักการะของประชาชนทั้งหลาย เจดีย์นี้ฐานกว้าง ๘ วา ๑ ศอก สูง ๒๒ วา เป็นรูปเสมอกัน โดยถ่ายแบบมาจากวัดจามเทวี (วัดกู่กุด) จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นแบบศิลปกรรมของขอม มีพระพุทธรูปยืนอยู่ในโขงทั้งสี่ด้าน ด้านละ ๑๕ องค์ รวม ๖๐ องค์ กล่าวกันว่า เพื่อเป็นการเฉลิมเกียรติพระชายาทั้ง ๖๐ พระองค์? ยอดของเจดีย์แหลมขึ้นเป็นตุ่ม ไม่มีฉัตรเหมือนเจดีย์ทั่วๆ ไป คล้ายๆ กับสถูป คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เจดีย์กู่คำ หรอธาตุกู่คำ

เมืองลำพูน ในหนังสือจามเทวีวงศ์กล่าวไว้ว่า

เมืองลำพูนแต่เดิมนั้นฤาษีเป็นผู้สร้างขึ้น ชื่อฤาษีสุเทพและ สุกกตันตฤาษี สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๓ โดยใข้รอยขีดบนทรายเป็นที่ก่อกำแพง เดิมชื่อพิงคบุรี แล้วเปลี่ยนเป็น หริปุญชัย หริภุญชัย ตามลำดับ (ดู พงศาวดารเวียงใหม่ ลำปาง ลำพูน กรมศิลปากร จัดพิมพ์ ลำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๑๒) จะเห็นว่ากวีมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างดี

พระธาตุ (เริ่มแต่บทที่ ๑๐๔) พระธาตุนี้คือพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอกตั้งอยู่ท่ามกลางใจเมืองจังหวัดลำพูน มีเนี้อที่ ๒๕ ไร่ ทิศเหนือติดกับถนนอัฏฐารส ทิศใต้ติดกับถนนชัยมงคล ทิศตะวันออกติดกับถนนรองเมือง ทิศตะวันตกติดกับถนนอินทยงยศ สายลำพูน - เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาดังนี้

พระธาตุนี้สร้างในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์วงศ์รามัญ ผู้ครองนครลำพูน อันดับองค์ที่ ๓๒ ในพ.ศ. ๑๖๐๖ ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างมณฑปสำหรับบรรจุประดิษฐานพระบรมธาตุ สูง ๓ วา มีซุ้มทั้งสี่ด้าน ครอบโกศทองคำ สูง ๓ ศอก บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน

พ.ศ. ๑๗๒๒ พระเจ้าสัพพาสิทธิ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ทรงมีความเลื่อมใสในพระธาตุหริภุญชัยจึงสร้างโกศทองเสริมต่อขึ้นอีก ๑ ศอก รวมเป็น ๔ ศอก แล้วสร้างมณฑปเสริมต่อขึ้นอีก ๒ วา รวมเป็น ๕ วา

พ.ศ. ๑๘๑๙ พระเจ้ามังราย เจ้าเมืองเชียงรายได้เมืองลำพูนไว้ในอำนาจ ได้สร้างมณฑปเสริมต่อ ครอบมณฑปเดิมอีก ๑๐ วา รวมเป็น ๑๕ วา พร้อมกันนั้นได้สร้างจังโกฏก์หุ้มตั้งแต่ฐานถึงยอด

พ.ศ. ๑๙๘๖ พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้บูรณะและอุปถัมภ์การก่อสร้างพระธาตุ โดยอาราธนาพระมหาเมธังกร ให้เป็นนวกัมมาธิษฐายี ควบคุมการก่อสร้างเสริมพระบรมธาตุสูงขึ้น ๘ วา จากเดิมที่สูงอยู่แล้ว ๑๕ วา รวม ๒๓ วา ฐานยาว ๑๒ วา ๒ ศอก ฉัตร ๗ ชั้น แก้วบุษหนัก ๒๓๐ หวิ้น (เฟื้อง) ใส่ยอด สิ้นอุปกรณ์ก่อสร้างคิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งได้เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนากทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ ๑๕,๐๐๐ แผ่น นอกจากนี้ยังได้สร้าง กุฎี วิหาร โบสถ์ พระพุทธรูปทองคำ นาก เงิน อีกเป็นจำนวนมาก สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๐

พ.ศ. ๒๐๕๕ พระเมืองแก้ว (พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุอีก โดยป่าวร้องเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน รวมได้เงิน ๒๒๕,๐๐๐ บาท จ่ายซื้อทองแดงและทองคำเปลว บุองค์มหาเจดีย์ แล้วพระองค์ได้สร้างวังที่ประทับที่เมืองหริภุญชัยใหม่ด้วย

ต่อจากนั้นมาก็ตกอยู่ระหว่างศึกสงครามจึงมิได้บูรณะครั้นถึง พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น)      และเจ้าศรีบุญมาผู้น้อง ยกบริวาร ๑,๐๐๐ คน และครอบครัวจำนวนหนึ่งไปตั้งเมืองลำพูนใหม่ นับแต่นั้นมาก็มีการปฏิสังขรณ์สืบมา กระทั่งปัจจุบันได้มีการประเพณีนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี

บริเวณพระธาตุ นอกจากองค์พระธาตุแล้ว ฐานของพระธาตุ มี “สัตติบัญชร” (ระเบียงหอก) ซึ่งกวีเรียก “ระวังเวียง” เป็นรั้วล้อมฐานล่าง ๒ ชั้น สร้างขึ้นในสมัย พ.ศ. ๒๐๐๐ ซึ่งพระเจ้าเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงนำหอกมา ๕๐๐ เล่ม ล้อมไว้ครั้งหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระเจ้าอุปโย ปรากฏว่าพระราชโมลี มหาพรหมและพระสังฆราชาได้ประกาศชักชวนชาวเมืองทำสัตติบัญชรล้อมพระธาตุอีกสิ้น ๗๐๐ เล่ม จนสำเร็จบริบูรณ์

กำแพงวัดมีสองชั้น บริเวณวัดชั้นนอก และก่อกำแพงทำเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุอีกชั้นหนึ่ง

ปูชนียสถานในกำแพงชั้นใน

- วิหารหลวงหลังใหญ่ (หลังปัจจุบันสร้างใหม่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒) วิหารหลังเดิมถูกลมพัดหักพังไปแล้ว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระธาตุ

- หอระฆังใหญ่ สร้างขึ้นใหม่ ประมาณปี จ.ศ. ๑๒๒๒ เดือน ๙ เหนือ ออกสามค่ำ วันอังคาร

- หอพระไตรปิฎก (หอธรรม) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นที่บรรจุหนังสือธรรมคำเมือง เป็นฝีมือช่างโบราณ มีลวดลายเป็นสมัยขอมปนศรีวิชัย เบื้องหลังหอธรรมก่อเป็นเขาสิเนรุ ถือว่าเป็นภูเขาที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ มีรูปแกะสลักช้างเป็นตัวอยู่ด้วย (กวีก็กล่าวถึงด้วย)

- รอบพระเจดีย์แต่ละด้านมีมณฑปสถิตอยู่ทั้งสี่ด้าน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ แต่ละมุมมีฉัตรสูงอยู่ทุกมุม

- วิหารรอบเจดีย์ รอบๆ พระเจดีย์มีมากมาย ดังต่อไปนี้ โดยกล่าวตั้งแต่ทิศเหนือก่อน

๑. วิหารพระละโว้ ประจำทิศเหนือ (ปัจจุบันก่อสร้างใหม่) หลังเดิมผุผังไปหมดแล้ว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เรียกว่า พระละโว้

๒. วิหารพระพุทธ ประจำทิศใต้ (สร้างใหม่) ของเดิมผุผังไป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐ ถือปูน ขนาดใหญ่ ลงรักปิดทอง เรียกว่า พระพุทธ

๓. วิหารพระทันใจ ประจำทิศตะวันตก สร้างใหม่เหมือนกัน ของเดิมพังไปหมด เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางลีลาสมัยเชียงแสนขนาดใหญ่ หล่อด้วยโลหะ เรียกว่าพระทันใจ

๔. วิหารหลวง ประจำทิศตะวันออก (ดังกล่าวมาแล้ว)

๕. วิหารพระบาทสี่รอย ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ สร้างใหม่โดยจำลองพระพุทธบาทมาจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

๖. วิหารพระพันตน ตั้งอยู่ใกล้วิหารพระละโว้ บรรจุพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก น่าจะมีมาแต่เดิม เพราะกวีก็ได้กล่าวไว้

๗. วิหารพระกลักเกลือ หรือตนแดง อยู่ทิศเหนือของวิหารพระทันใจ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ขนาดใหญ่ ทาด้วยสีแดง

๘. วิหารพระไสยาสน์ เป็นวิหารเล็กๆตั้งอยู่ทางทิศด้านเหนือพระละโว้ประดิษฐานพระพุทธรูปนอน ก่อด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง

นอกจากนี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ ยังมีเจดีย์เรียกว่าพระสุวรรณเจดีย์ช่างฝีมือขอม เป็นรูปพระปรางค์สี่เหลี่ยม พระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้าง ภายใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม ที่นักเลงพระต้องการมาก

ปูชนียสถานในกำแพงวัดชั้นนอก

- ด้านซุ้มประตูทิศตะวันออก มีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนบนแท่น โดยยืนทั้งสี่เท้าเต็มเสมอกัน

- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (มุมอีสาน) เรียกว่าคณะเชียงยัน มีเจดีย์เชียงยันฝีมือสมัยขอมอยู่ ปัจจุบันเป็นที่จัดการศึกษาของวัด คือ โรงเรียนวัดเมธีวุฒิกร

- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (มุมอาคเนย์ เรียกว่า คณะหลวง มีวิหารพระนอนประจำอยู่ ก่อด้วยอิฐถือปูน ที่ฐานมีสิ่งที่น่าชมอยู่ก็คือ “นาคทันต์” โดยการเอาไม้สักมาแกะเป็นรูปลิงออกท่าทางต่างๆ เป็นศิลปะชั้นสูง

- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (มุมหรดี) เรียกว่า คณะสะดือเมือง เดิมเป็นใจกลางเมืองลำพูน ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสมัยเชียงแสน ขนาดกลาง ๑๐ องค์

- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (มุมพายัพ) เรียกว่าคณะอัฏฐารส มีพระพุทธรูปนั่งก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย สูง ๑๒ ศอก มีโบสถ์ภิกขุณี หน้าโบสถ์ภิกขุณีมีวิหารพระกัจจายน์อยู่

ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของพระธาตุและบริเวณพระธาตุ ซึ่งกวีได้บรรยายไว้บ้างเพื่อความเข้าใจในการศึกษาบทกวีบทต่อๆ ไป

พระเจ้าบ่อเกื้อ ความจริงน่าจะเป็น พระเจ้าบอกเกือ (กลักเกลือ) เพราะในบริเวณพระธาตุมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งชื่อ พระเจ้ากลักเกลือ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระธาตุ

พระพุทธรูปเจ้าจตุตน พระพุทธรูปวัดพระยืน ทางทิศตะวันออกของพระธาตุ อยู่ตรงข้ามแม่น้ำกวง ปัจจุบันเป็นตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีตำนานกล่าวไว้ดังนี้

วัดพระยืนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำพูน เดิมเรียกว่าวัดอารัญญิก พ.ศ. ๑๒๐๐ พระฤาษี ๒ องค์ที่สร้างนครหริภุญชัยได้ ๒ ปี ได้อัญเชิญพระนางจามเทวีจากนครละโว้มาเป็นกษัตริย์ครอบครองเป็นองค์แรก เมื่อมาครองได้ ๗ ปี เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๙ ได้สร้างวัดทางทิศตะวันออก สร้างพระวิหารและพระประธานถวายแด่พระสงฆ์ มีสังฆเถระเป็นประธาน เรียกว่า วัดอารัญญิกการาม

ปี พ.ศ. ๑๖๐๖ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์องค์ที่ ๓๒ แห่งจามเทวีวงศ์ได้หล่อองค์พระปฏิมากร ทองสัมฤทธิ์ สูง ๑๘ ศอก ประดิษฐานไว้หลังพระวิหารในวัดอารัญญิกการามนี้ และสร้างปราสาท สถูปที่ประดิษฐานพระปฏิมากรนั้นด้วย เรียกชื่อว่า วัดพุทธอาราม (วัดพระยืน)

ปี พ.ศ. ๑๙๑๒ พระเจ้ากือนา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ลำพูนได้นิมนต์พระสุมนเถระ มาจากนครสุโขทัยมาประจำที่วัดพระยืน พระสุมนเถระจึงได้ก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์เดิม (ที่พระอาทิตยราชสร้าง) อีก ๓ องค์ พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ และพระประธานด้วย

ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระคันธวงศ์เถระ (ครูบาวงศ์) ต่อมาได้เป็นพระครูศีลวิลาศ ผู้รั้งเจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ก่อสร้างเจดีย์ที่พังลงขึ้นใหม่ โดยพระปฏิมากรที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างนั้นยังคงอยู่ โดยการก่อสร้างเจดีย์สวมทับไว้ และสร้างพระพุทธรูปขึ้นอีก ๔ องค์ โดยครอบเอาพระปฏิมากรองค์เดิมเอาไว้ ฉะนั้น พระพุทธรูปทั้งใน ๔ องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยนี้ พระพุทธรูปองค์เดิมที่พระเจ้าอาทิตยราชสร้างขึ้น ประดิษฐานอยู่ในองค์เจดีย์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ