คำอธิบาย

โคลงนิราศวัดรวกและโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์

วรรณคดีประเภทนิราศที่หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งไว้เท่าที่พบมีอยู่ ๒ เรื่อง คือ โคลงนิราศวัดรวกและโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ พรรณนาถึงการเดินทางไปยังจังหวัดสระบุรีเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงช่วงระยะเวลาที่แต่งและจุดหมายปลายทางของนิราศ กล่าวคือ

โคลงนิราศวัดรวก หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นโคลงสี่สุภาพจำนวน ๒๕๒ บท มีร่ายสุภาพนำในตอนต้น ๑ บท เนื้อหาพรรณนาการเดินทางจากวัดรวก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี โคลงนิราศเรื่องนี้ได้มีระบุไว้ในคำนำหนังสือ “โคลงนิราสวัดรวก” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่า หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งขึ้นขณะเดินทางติดตามพระยาธรรมปรีชา(บุญ) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงญาณภิรมย์ ได้เป็นธรรมทูตอัญเชิญพุทธบรรณาการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปบูชาพระพุทธบาทสระบุรี

การเดินทางไปพระพุทธบาทในอดีตนั้น ปกติมักล่องเรือไปขึ้นบกที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วขี่ช้างหรือนั่งเกวียนไปตามเส้นทางถนนฝรั่งส่องกล้อง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ฝรั่งชาติฮอลันดาตัดถนนเส้นนี้ไปยังพระพุทธบาท โดยมีศาลาและบ่อน้ำสำหรับผู้เดินทางได้แวะพักตลอดเส้นทาง คราวที่หลวงธรรมาภิมณฑ์เดินทางไปนี้ท่านใช้เกวียนเป็นพาหนะ ออกเดินทางจากวัดรวกในตอนบ่าย ผ่านจุดพักเดินทางต่าง ๆ อาทิ ศาลาสระประโคน บางโขมด บ่อโศก ดงโอบ ศาลาเจ้าเณร หนอง คนที เขาตก สระยอ สระสามเส้น จนกระทั่งถึงพระพุทธบาทในเวลาสองยาม

นิราศเรื่องนี้ผิดแผกจากนิราศโดยทั่วไปตรงที่มิได้เริ่มพรรณนาการเดินทางตั้งแต่เคหะสถานที่กวีอาศัยอยู่ แต่กลับเริ่มต้นเรื่องเมื่อเดินทางมาถึงวัดรวกแล้ว และกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่มักจะนำชื่อสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางมาตั้งเป็นชื่อหนังสือนิราศ แต่หลวงธรรมาภิมณฑ์ใช้ชื่อสถานที่ที่เริ่มต้นพรรณนาการเดินทางเป็นชื่อนิราศ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับนิราศไปพระบาทเรื่องอื่นๆ ซึ่งมักเดินทางในเวลากลางวัน ทำให้ผู้อ่านโคลงนิราศวัดรวกได้รับอรรถรสที่ต่างไปจากเดิม ดังเช่นการพรรณนาถึงบางโขมด ซึ่งเป็นจุดพักการเดินทางใหญ่ สุนทรภู่ได้เขียนบรรยายไว้ในนิราศพระบาทว่า

ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว

นี่คือบรรยากาศของบางโขมดสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ คาดว่าความคึกคักเช่นนี้ก็ยังคงอยู่ ดังในนิราศพระบาทสำนวนนายจัด[๑] ซึ่งแต่งเมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระทุทธบาทว่า “ครั้นเลยไปใกล้ถึงแถวศาลา เห็นชาวป่านั่งรายขายข้าวหลาม” แต่น่าเสียดายที่หลวงธรรมาภิมณฑ์มาถึงบางโขมดก็มืดเสียแล้ว ณ ที่แห่งนี้จึงมีสภาพเป็น

๏ ลุบางโขมดมืดสิ้น แสงสูริย์
เกรงโขมดจักพายูร ยั่วเหล้น
เรียมตกประหม่าพูน เพิ่มเทวษ ยิ่งแฮ
จิตพี่ตึกตึกเต้น ผ่าวร้อนรนทรวง ฯ

จากนั้นคณะของหลวงธรรมาภิมณฑ์ก็ได้เดินทางเดินต่อไปตลอดคืน กระทั่งถึงพระพุทธบาทในเวลาสองยาม บทพรรณนาสภาพแวดล้อมในโคลงนิราศวัดรวกจึงมีบรรยากาศวังเวงน่ากลัว ดังเช่น

๏ สิ้นแสงสุริเยศคลุ้ม ไพรชมัว มืดแฮ
มวลเมฆขมุกขมัว หมอกชอุ้ม
โพล้เพล้พลบเรียมกลัว ใจสั่น เสียวแฮ
เจริญพระพุทธมนต์กลุ้ม กล่าวเพ้อเพื่อนตน ฯ

และ

๏ เกรงโป่งปีศาจล้อ หลอกหลอน
แสยงพยัคฆ์เสขร ขบเคี้ยว
เกรงคชวรินทร ทางป่า เปลี่ยวแฮ
เกรงจักหลงทางเลี้ยว หลากลํ้าเหลือกลัว ฯ

บรรยากาศเช่นนี้ผิดกับนิราศไปพระพุทธบาทเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมักเดินทางในเวลากลางวัน และจะพรรณนาถึงธรรมชาติที่งดงามสองข้างทาง ดังในนิราศพระบาทของนายจัดซึ่งแต่งในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันว่า

ทั่วถิ่นเขาเกดแก้วแกมกาหลง ประดู่ทรงเรณูชูสลอน
พระพายชายพัดมารอนรอน หอมขจรกลิ่นกลบกระลบไพร
คะนึงถึงขนิษฐาแม้นมาพบ จะวอนรบให้เชษฐาเก็บมาให้
จะแสนสุขเกษมศานต์สำราญใจ ที่ในไพรทางเปลี่ยวเหลียวเห็นกัน

อย่างไรก็ตามหลวงธรรมาภิมณฑ์ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเลื่อมใสของเหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มีศรัทธามั่นคงต่อพระพุทธบาทไว้ในโคลงนิราศวัดรวกว่า

๏ เล็งวลัญชบาทเบื้อง บทมาลย์
จอมดิลกโลกาจารย์ จรดนี้
ประเทิดทัศโนฬาร สามโลก เลื่องแฮ
ปรากฏวลัญชชี้ ชอบให้สัตว์เกษม ฯ
๏ ควรส่ำศาสนิกล้วน ทวยผอง
มีประสาธน์จิตสนอง นอบเกล้า
เคารพพระคุณปอง เป็นที่ ระลึกนา
ฤๅขาดทุกวันเช้า ค่ำซ้องสรรเสริญ ฯ

โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งเป็นโคลงดั้นวิวิธมาลี จำนวน ๒๐๖ บท มีร่ายดั้นนำในตอนต้น ๑ บท กล่าวถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจการศึกษาที่โรงเรียนวัดสมุหประดิษฐาราม ในเขตอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยเริ่มพรรณนาตั้งแต่ออกจากบ้านบริเวณตลาดชิงช้า ผ่านวัดบวรนิเวศแล้วมาลงเรือออกปากคลองบางลำพู เข้าแม่นํ้าเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานีตามลำดับ แล้วแยกเข้าลำนํ้าป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รอนแรมมาในเรือจนถึงวัดสมุหประดิษฐารามในคืนที่สามของการเดินทาง

ส่วนระยะเวลาที่แต่งโคลงนิราศเรื่องนี้ ซึ่งท่านระบุไว้ในโคลงท้ายเรื่องว่ากำลังรับราชการอยู่ที่กรมศึกษาธิการนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงที่ท่านกลับเข้ารับราชการที่กองตำราเรียน กรมศึกษาธิการ ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๓ - ๒๔๔๖ สอดคล้องกับระยะเวลาการตั้งโรงเรียนที่วัดดังกล่าว โดยมีสาเหตุมาจากเจ้าจอมมารดาแสงในรัชกาลที่ ๕ ธิดาของพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร) เกิดเจ็บไข้ แล้วใคร่จะทำบุญเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งกำลังวางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ให้แก่ราษฎร ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด จึงทรงแนะนำให้เจ้าจอมมารดาแสงบูรณะวัดสมุหประดิษฐารามและจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดนี้ ดังพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ความว่า

“...เมื่อนางแสงเจ็บคราวนี้ อยากจะทำบุญในถาวรวัตถุเปนจำนวนเงินเท่าอายุปีละชั่ง กรมหมื่นวชิรญาณแนะนำให้ทำโรงเรียนที่วัดสัตนารถ เพราะไม่ทราบเรื่องที่ฉันไปเรี่ยรายไว้ทางหนึ่ง เจ้าของก็ตกลง ครั้นเมื่อฉันได้ทราบ ฉันจึงได้ขอย้ายให้ไปทำที่วัดสมุหประดิษฐ์ เปนวัดปู่เขาสร้าง ซึ่งกรมหลวงวรเสรฐท่านทรงเดือดร้อนอยู่เปนอันมากว่าไม่มีผู้ใดจะมีใจสรัทธารักษาชื่อเสียงของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เมื่อฉันเอ่ยขึ้นก็เปนที่พอใจกันหมด นางแสงมีใจสรัทธาสั่งไว้อีกในเมื่อเวลาฉันลงไปเยี่ยม ขอให้ปฏิสังขรณ์เสนาศนในวัดนั้น อุทิศเงินเบี้ยหวัดซึ่งจะได้ในปีนี้ไว้เปนเงินส่วนปฏิสังขรณ์เสนาศนฤๅพระอุโบสถด้วยก็ตาม รวมเปนเงินส่วนวัดสมุหประดิษฐ์ที่เจ้าของอุทิศแล้วเวลานี้ ๗๕ ชั่ง แลสั่งไว้ต่อไปว่าถ้าหากยังไม่พอก็ให้ออกเงินอิก กรมหลวงวรเสรฐก็รับสั่งว่าถ้าขาดเท่าใด ท่านจะออกเงินช่วย เห็นว่าวัดสมุหประดิษฐ์ควรจะเปนวัดที่พร้อมเสร็จบริบูรณด้วยการปฏิสังขรณ์แลโรงเรียนได้วัดหนึ่ง ถ้ามีสมภารดีๆ ไปจัดการเล่าเรียนในถิ่นนั้นได้ ก็คงจะเปนโรงเรียนติดต่อไปได้ แลผู้ที่สร้างขึ้นคงจะอุปการตามกำลังไม่ทอดทิ้ง เสียดายแต่ห่างทางรถไฟมากอยู่หน่อยหนึ่ง ที่จะไม่ได้มีผู้ใดไปมาเห็น ... ”

การดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนที่วัดสมุหประดิษฐารามในครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้มีรับสั่งให้ต่อพื้นชาลาพระอุโบสถออกไปอีกห้องหนึ่ง กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ วา กั้นเป็นห้องสำหรับเรียนหนังสือ เข้าใจว่าเมื่อหลวงธรรมาภิมณฑ์เดินทางมาตรวจโรงเรียนนั้น คงได้มาตรวจการ ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะท่านรับราชการที่กรมศึกษาธิการถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ จึงย้ายไปทำงานที่กรมราชบัณฑิตย ส่วนโรงเรียนวัดสมุหประดิษฐ์ที่จัดตั้งขึ้นในครั้งนี้สันนิษฐานว่าคงจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เพราะมีหลักฐานว่าในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบีเอตริศภัทรายุวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแสง มีพระประสงค์จะให้มีโรงเรียนหนังสือไทยขึ้นในวัดนี้อีก พระยาพิไชยรณรงค์สงคราม เจ้าเมืองสระบุรีจึงได้จัดศาลาโรงธรรมในวัดนี้เป็นโรงเรียน และได้รับประทานนามว่า “โรงเรียนประถมสมุหประดิษฐ์”[๒]

โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์นี้ นอกจากเป็นบันทึกการเดินทางที่แสดงถึงสภาพบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในสมัยช่วงระยะเวลาที่ท่านแต่งแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงภารกิจอันหนักหน่วงของข้าราชการ ในกรมศึกษาธิการยุคแรก ที่ต้องเดินทางตระเวนไปตรวจโรงเรียนยังจังหวัดต่างๆ โดยปราศจากความสะดวกสบาย ดังโคลงที่หลวงธรรมาภิมณฑ์ พรรณนาว่า

๏ นาฬิกาเกือบเช้า ยามสาม แล้วเฮย
ดึกเงียบยากทางสัง เกตได้
รอเรือพักจอดตาม โตยฝั่ง
เห็นแต่ทิวต้นไม้ มั่วราย ฯ

และ

๏ ยามยลยามนิทรเพี้ยง เพียงฝัน เห็นแฮ
กำหนัดเสน่ห์นาง นึกเคลิ้ม
อยากเข้าขบกลอยมัน มาตก ยากนา
อร่อยเมื่อหิวเทิ้มเริ้ม รสมี ฯ

ดังนั้น โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ข้าราชการในยุคปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานพร้อมมูลได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยการอุทิศแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่ทรงมุ่งพัฒนาประเทศชาติและประชาชนให้มีความเจริญรุ่งเรือง

[๑] หอสมุดแห่งชาติ, นิราศพระบาท, หนังสือสมุดไทยหมวดวรรณคดี หมู่กลอนนิราศ เลขที่ ๗ มัดที่ ๔ ๕/๑ ตู้ ๑๑๕ น.

[๒] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ศธ.๕๑.๑/๑๕ เอกสารกระทรวงศึกษาธิการเรื่องตั้งโรงเรียนที่วัดสมุหประดิษฐ์ เมืองสระบุรี (๑๙ พฤษภาคม-๑๙ มิถุนายน ๒๔๕๑).

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ