คำอธิบาย

โคลงทวาทศมาส เป็นโคลงโบราณ นับถือเป็นตำรากันมาแต่ก่อนเรื่องหนึ่ง ด้วยกวีผู้แต่งได้ริเริ่มประพันธ์วรรณคดีโคลงดั้นทำนองนิราศพรรณนาถึงความอาลัยรักที่ต้องจากนาง โดยการใช้ฤดูกาลต่าง ๆ ใน ๑๒ เดือน เป็นพื้นฐาน (“ทวา-ทศมาส” แปลตามศัพท์ว่า “๑๒ เดือน”) กระบวนสำนวนโวหาร โดยเฉพาะกระบวนการพรรณนาแสดงความอาลัยรักของเรื่องนี้ นับว่าสูงในทางกวีรส ซึ่งกวีในสมัยต่อมามักนิยมแต่งตามกันมาก แต่อย่างไรก็ดี โคลงทวาทศมาสนี้ ยังมีข้อถกเถียงไม่เป็นที่ยุติถึงเรื่องผู้แต่งและสมัยที่แต่ง ซึ่งมีความคิดแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ บ้างก็ว่า พระเยาวราชเป็นผู้ทรงพระนิพนธ์ โดยมี ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช และขุนสารประเสริฐ เป็นผู้ช่วยแก้เกลาสำนวน บ้างก็ว่า ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช และขุนสารประเสริฐ เป็นผู้ช่วยกันนิพนธ์ เพื่อถวายสมเด็จพระยุพราช ส่วนสมัยที่แต่งนั้น อาจจะเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

วรรณคดีเรื่องนี้ พิมพ์ครั้งแรกในงานบำเพ็ญกุศลครบศตมาห พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ห้า ได้ทำการตรวจสอบชำระต้นฉบับพิมพ์กับต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๙ ฉบับ คือ สมุดไทยเลขที่ ๑ ซื้อจาก ม.ล.แดง สุประดิษฐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เลขที่ ๒ หอสมุดฯ ซื้อวันที่ ๘/๔/๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) เลขที่ ๓ พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถี) วัดโมลีโลกยาราม ให้หอสมุดฯ ๒๐/๗/๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) เลขที่ ๔ หอสมุดฯ ซื้อ ศก. ๑๓๑ เลขที่ ๕ หลวงแกล้งกาญจนเขตร (ม.ร.ว.คอย) ถวายหอสมุดฯ พ.ศ. ๒๔๗๑ เลขที่ ๗ สมบัติเดิมของหอสมุดฯ เลขที่ ๘ นายรอดให้ พ.ศ. ๒๔๗๓ เลขที่ ๘/๑ ทายาทหลวงดรุณกิจวิทูรให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เลขที่ ๘/๒ สมบัติเดิมของหอสมุดฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสมุดไทยดำอักษรเส้นรง เว้นแต่เลขที่ ๗ เป็นสมุดไทยดำอักษรเส้นดินสอ และเลขที่ ๘ เป็นสมุดไทยขาวอักษรเส้นหมึก ส่วนเนื้อความนั้น มีสมุดไทยเพียง ๓ เล่ม ที่มีความครบสมบูรณ์ คือ สมุดไทยเลขที่ ๑, ๓ และ ๕ ส่วนเล่มอื่น ๆ โคลงบางบทจะขาดหายไปทั้งบท หรือบางโคลงจะมีคำไม่ครบถ้วน

จากการตรวจสอบนี้ พบว่าโคลงทวาทศมาสทั้งฉบับพิมพ์ และฉบับสมุดไทย แต่ละฉบับนั้นมีข้อความที่คลาดเคลื่อนและอักขรวิธีที่ลักลั่นกันอยู่มาก จึงได้พยายามแก้ไขตรวจสอบชำระต้นฉบับใหม่ โดยยึดคำที่ตรงกันเป็นส่วนมาก ทั้งเป็นคำที่มีความหมายเข้ากับเนื้อหาในโคลงแต่ละบทและถูกต้องตามฉันทลักษณ์เป็นหลัก คำที่ต่างไปจากนี้ได้ทำเชิงอรรถไว้ ส่วนในด้านอักขรวิธีที่ยังลักลั่นกันอยู่นั้น ก็ได้แก้ไขให้เป็นแบบเดียวกันโดยพยายามรักษาอักขรวิธีให้ใกล้เคียงต้นฉบับสมุดไทยมากที่สุด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ