สังสารวัฏฏ

(ภุชงคปยาตฉันท์)

กระจกต้องละอองฝน เพราะรถยนต์ทะแยงลม
พระชี้ชวนพระน้องชม ชมัยหยาดพิรุณเย็น
กำเนิดแยกชำแรกไหล คระไลร่วมลุความเห็น
ประดุจผู้ผจงเจร- ะจาอยู่ ณ ภายใน[๑]
พระพายฮือกระพือต้อง ตะวันส่องกระจกใส
อุทกหยาดประลาตไป ละอองไอก็ไปล่ปลิว
ระงมหาวสกาวเงา ละอองเบาละลิบลิ่ว
พะโยมเย็นพะยับริ้ว ละอองกลับขยับรวม[๒]
กำเนิดหมอกละลอกเมฆ พิรุณเสกประสิทธิ์สรวม
สถานฟ้านภาท่วม ทะลักหล้าฉะฉ่าฝน
ฉะนี้ภาพสภาพสา- รพัตรพาสภาพวน
ตลอดกาลตลอดหน จะหาสุขสิสุดหา[๓]
สำหรับกาลประมาณพ้น สำหรับหนก็ทั่วฟ้า
อนิจจังและสังสา- รวัฏฏสุดเสมอไหน?[๔]
ณ รถนี้พระพี่เย้า พระน้องเจ้าสำราญใจ
เพราะความรักประจักษ์ใน มนุษย์โลกนิรันดร

๑๔ กันย์. ๗๓


[๑] ......ภายใน หนุ่มสาวที่นั่งสำราญอยู่ในรถก็มีกำเนิดแยกกัน เพิ่งมาเป็นทองแผ่นเดียวกันภายหลังเพราะการสมรส ไม่แปลกอะไรกับหยาดน้ำฝนที่กระจก ซึ่งเดิมเป็นคนละหยดแล้วไหลเป็นทางมารวมเข้าเป็นหยดเดียวกัน

[๒] ......รวม ไอน้ำเบา ลอยและกระจายขึ้นเหนืออากาศซึ่งหนักกว่า อย่างลูกปี๊บหรือบัลลูนที่อัดอากาศเบาแล้วลอยขึ้น ครั้นไปถูกอากาศเย็นข้างบน ไอน้ำเหล่านี้ก็รวมกันเข้าเป็นเม็ดหนาเกิดเป็นเมฆ

[๓] ......หา เวลาที่ว่างทุกทิศทางในอากาศ ทั้งสองอย่างนี้หาเขตต์สุดมิได้ คือไม่มีที่สุด ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ลือชื่อพิสูจน์ว่า เวลาก็ไม่ใช่อื่นไปจากที่ว่าง สรรพสิ่งทั้งหลายมีที่ว่างเป็นแดนเกิด คำอธิบายนี้เราพอจะเข้าใจได้จากตัวอย่างสามัญ เช่น การนับเวลาก็คือการนับระยะที่ผ่านไปในระหว่างสองแห่งในที่ว่างนั่นเอง แต่แทนที่เราจะนับสั้นยาวใกล้ไกล เราไปนับเป็น วัน คืน เดือน ปี หรือทุ่มโมง

[๔] ......ไหน? อนิจจังคือความไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แม้พระอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้ให้ความร้อน แสงสว่าง และบังคับดาวพระเคราะห์ทุกดวง รวมทั้งพิภพของเราก็ย่อมเปลี่ยนแปลง ดังปรากฏด้วยจุดในดวงอาทิตย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทำนายความวิปริตแห่งดินฟ้าอากาศในโลก เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงแห่งจุดเหล่านั้น สังสารวัฏฏ คือ ความท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ที่ว่างอันหาเขตต์สุดมิได้ในอากาศนี้ เป็นแดนเกิดแห่งสังสารวัฏฏ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ