ตอนที่ ๙ เที่ยวเมืองพุกาม

วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม เวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เรือถึงตำบลนยองอู Nyaung U (พวกเราเรียกกันว่า “หนองอู” ตามสะดวกปาก) อันเป็นสถานีที่ขึ้นเมืองพุกาม หัวหน้าข้าราชการในท้องที่เป็นฝรั่งชาวอินเดีย (เห็นจะเป็นตำแหน่งเช่นนายอำเภอ) กับพะม่านายตำรวจอีกคน ๑ ลงมารับ พาขึ้นรถยนต์ไปส่ง ณ เรือนรับแขกของรัฐบาล ซึ่งอยู่ในเมืองพุกามโบราณห่างบ้านหนองอูไปข้างใต้ราวสัก ๑๐๐ เส้น ทางที่ไปตอนแรกออกจากหนองอูมีตึกแถวตั้งร้านขายของ ๒ ฟากถนนอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วก็เป็นหมู่บ้านอย่างมีรั้วล้อม และมีตรอกทางเดินระหว่างบ้านเช่นเดียวกับบ้านนอกในเมืองเราต่อๆ กันไปจนถึงเมืองพุกาม ซึ่งยังมีซากประตูเมืองก่ออิฐกับศาลเทพารักษ์ ๒ ข้างประตูเมืองเหลืออยู่ แต่กำแพงเมืองยังแต่พอแลเห็นเป็นแนวเนินดินไปไม่เท่าใดนัก ทางด้านตะวันตกแม่น้ำเอราวดีกัดตลิ่งเอาเมืองพังลงน้ำไปเสียแล้วมากเหมือนอย่างที่เมืองเชียงแสน ไม่มีที่สังเกตว่ารูปบริเวณเมืองพุกามเดิมจะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าประตูเมืองไปแล้วไม่ใคร่มีบ้านผู้คน มีแต่วัดร้างเต็มไปทั้งนั้น

ถึงเรือนพักได้สักประเดี๋ยวก็มีคนเอาโทรเลขมาส่งให้ นึกประหลาดใจว่าจะเป็นโทรเลขของใครส่งตามไปจนถึงเมืองพุกามด้วยเหตุใด แต่แนใจว่าคงเป็นข่าวสำคัญอันใดอันหนึ่ง เปิดซองเห็นเป็นโทรเลขของทูลกระหม่อมชาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ส่งไปจากเมืองบันดุงที่เกาะชะวา ตรัสบอกว่าสมเด็จหญิงน้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตต์ขัตติยนารี สิ้นพระชนม์ ก็พากันตกตะลึงแล้วเลยโศกเศร้าไปด้วยกันหมด แต่ไม่สามารถจะทำอย่างไร ก็ได้แต่มีโทรเลขตอบแสดงความอาลัยถวายไปยังทูลกระหม่อมชาย อาการประชวรของสมเด็จหญิงน้อยฉันก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ไปชะวาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยทูลกระหม่อมชายท่านตรัสกะซิบบอก ว่าหมอเขาว่าไม่มีทางที่จะหาย ได้แต่ระวังอย่าให้พระอาการทรุดลงรวดเร็วก็จะอยู่ช้าวันไปเท่านั้น สมเด็จหญิงน้อยเองก็ทรงทราบและมิได้ประมาท แต่เมื่อฉันไปชะวาดูยังทรงสบาย เสด็จไปไหนไปได้ แสดงพระเมตตาโปรดให้มีการเลี้ยงประทานเมื่อตรงวันเกิดของฉันครบ ๖ รอบในเวลาที่อยู่เมืองบันดุงนั้น และวันหนึ่งฉันทูลชวนให้ทรง “รำลึกชาติ” เชิญเสด็จไปเสวยขนมด้วยกันที่ร้านขายขนมในเมืองบันตุง เหมือนอย่างฉันได้เคยพาเสด็จไปแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปชะวาด้วยกัน ก็ทรงรื่นเริงบันเทิงพระหฤทัย ไม่ได้นึกเลยว่าจะได้เห็นสมเด็จหญิงน้อยเป็นครั้งที่สุดเมื่อไปชะวาครั้งนั้น พอรู้ข่าวว่าสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงพากันเข้าห้องหายไปหมด เห็นจะไปร้องไห้ อยู่ข้างนอกแต่ตัวฉันก็หวนไปคิดคำนึงถึงหนหลัง จะพรรณนาก็มิใช่เรื่องของหนังสือนี้ แต่คิดดูเห็นสมควรน้กที่สมเด็จหญิงน้อยจะทรงสร้อยพระนามกรมว่า “ขัติยนารี” ด้วยทรงพระคุณอย่างเป็นขัติยนารีแท้ทุกสถาน และได้ทรงพิสูจน์ให้ปรากฏแล้วทั้งในเวลาที่มีความสุขและเวลาได้รับความทุกข์ยาก เพราะฉะนั้นจะมีแต่คำสรรเสริญว่า “น่ารัก น่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า” เป็นอนุสรณ์อยู่กับพระนามต่อไป

ในตอนเช้าวันที่ถึงนั้นนายอำเภอพากำนันผู้ใหญ่บ้านมาหา ต่อมาอีกวันหนึ่งให้หมอฝรั่งชาวอินเดียซึ่งประจำท้องที่มาปวารณาเผื่อพวกเราใครจะเจ็บไข้ไม่สบายก็ให้เรียก นอกจากนั้นที่เรือนพักอะไรบกพร่องเขาก็หามาเพิ่มเติม ดังเช่นโคมไฟไม่สว่างเพราะไม่มีไฟฟ้า เขาก็ไปขวนขวายหาโคมเจ้าพายุให้ใช้มาจนเพียงพอ รู้สึกขอบคุณความเอื้อเฟื้อของเขามาก เรือนรับแขกที่เมืองพุกามเขาช่างเลือกที่สร้างไว้บนเนิน ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเอราวดีตอนกลางเมืองพุกามเก่า อยู่บนเรือนแลเห็นภูมิลำเนาไปได้ไกลทุกด้าน แต่เป็นที่เปลี่ยวห่างบ้านผู้คน มีแต่วัดร้างของโบราณรายอยู่รอบข้าง ใครกลัวผีก็เห็นจะไม่อยากอยู่

จะเลยพรรณนาถึงลักษณะเรือนพักของรัฐบาลในเมืองพะม่า เสียตรงนี้ด้วยทีเดียว เรือนพักเขาทำเป็น ๒ ประเภท ประเภท ๑ เรียกว่า เซอเค็ตเฮาส์Circuit House ความตรงกับว่า “เรือนมณฑล” สำหรับเป็นที่พักของข้าราชการชั้นสูงเวลาออกเดินทางตรวจราชการ รัฐบาลใช้เรือนนั้นเป็นที่รับแขกเมืองด้วย แม้พวกท่องเที่ยวถ้าเป็นคนชั้นสูงและได้รับอนุญาตพิเศษของรัฐบาลก็อยู่ได้ แต่พวกท่องเที่ยวดูเหมือนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม เรือนพักอย่างนี้มีแต่ตามเมืองสำคัญในราชการ หรือสำคัญด้วยเป็นถิ่นที่ชาวต่างประเทศไปกันมากเช่นที่เมืองพุกามนี้ ฉันได้เคยอยู่เรือนพักของรัฐบาล ๓ แห่ง คือที่เมืองมัณฑเล แห่ง ๑ เมืองพุกามแห่ง ๑ และเมืองแปรแห่ง ๑ ลักษณะคล้ายกันทั้งนั้น คือเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น มีห้องนอนอันมีห้องน้ำกำกับหลายห้องทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ห้องนั่งจะรวมกันก็ได้หรือจะปิดประตูปันเป็นหลายห้องก็ได้ แล้วแต่คนอยู่เป็นพวกเดียวหรือหลายพวกด้วยกัน แต่ห้องกินอาหารนั้นรวมห้องเดียวกันหมด ถ้าคนหลายพวกก็แยกกันเป็นหลายโต๊ะ เมื่อฉันไป รัฐบาลจัดให้อยู่ทั้งหลัง ไม่มีพวกอื่นมาปะปนทุกแห่ง ข้างหลังเรือนมีเรือนแถวสำหรับเป็นครัวไฟเป็นที่ไว้รถยนต์และห้องบ่าวอยู่ นอกจากนั้นก็เป็นที่อยู่ของพวกพนักงานรักษาสถาน บนเรือนพักมีโต๊ะเก้าอี้และของที่จำต้องใช้ครบทุกอย่าง เป็นต้นแต่เตียงนอนฟูกเบาะเมาะหมอนมุ้ง (แต่เขาบอกเมื่อก่อนไปจากเมืองร่างกุ้ง ว่าของเหล่านั้นพวกรักษาสถานไม่ใคร่หมั่นซักฟอก ควรใช้ของที่เช่าไปจากบริษัททอมัสกุ๊กดีกว่า) เครื่องใช้เช่นเครื่องล้างหน้าและถ้วยแก้วจานชามมีดซ่อมช้อนก็มีหมดทุกอย่าง ที่ในครัวก็มีเครื่องใช้ครบครัน แห่งใดไม่มีไฟฟ้าก็มีโคมน้ำมัน ไม่มีประปาก็มีบ่อน้ำใช้อยู่ในบริเวณ ถึงที่มีประปาก็มีคนตักน้ำบ่อขึ้นมาให้อาบ พวกพนักงานรักษานั้นตัวหัวหน้าพูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน และมักเป็นตัวกุ๊กประกอบอาหารด้วย ถ้าผู้ใดไปแต่ตัวจะว่าเหมาให้พนักงานรักษาสถานหาเลี้ยงดูด้วยเสร็จก็ได้ ถ้ามีกุ๊กบ๋อยของตัวไปเอง ผู้เป็นหัวหน้าก็เป็นแต่มารับใช้ดูแลให้ลูกน้องรักษาความสะอาด พวกเราเป็นแขกของรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรือนพัก จึงให้บำเหน็จรางวัลมากผิดกว่าคนเดินทางสามัญ แต่ก็คุ้มกับที่อยู่เป็นสุขสบายทุกแห่ง ไม่น่าเสียดาย

เรือนพักของรัฐบาลอีกอย่างหนึ่งนั้น เรียกว่าดักบังกะโล ฉันได้ดูหลัง ๑ ที่มีอยู่ ณ ตำบลหนองอู ดูเหมือนจะมีทุกตำบลที่สำคัญสำหรับเป็นที่พักของข้าราชการในท้องถิ่น เช่นพวกกรมการจังหวัด หรือกรมการอำเภอเมื่อเดินทางเที่ยวตรวจราชการ แม้บุคคลภายนอกเมื่อได้รับอนุญาตเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดก็พักได้ ดักบังกะโล เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวขนาดย่อม ยกพื้นสูงจากแผ่นดิน ๒ ศอก เฉลียงหน้าเป็นที่นั่ง ในประธานห้องกลางเป็นที่กินอาหาร สองข้างเป็นห้องนอนมีห้องน้ำต่อกัน เฉลียงหลังเป็นห้องจัดอาหาร เครื่องแต่งเครื่องใช้มีครบทุกอย่างทำนองเดียวกันกับเรือนรับแขก เป็นแต่เลวกว่า มีป้ายเขียนติดไว้ที่ห้องกินอาหารบอกอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ กับทั้งข้อบังคับสำหรับคนที่ไปอยู่ ข้างหลังเรือนออกไปมีเรือนแถวที่อยู่ของพนักงานรักษา ดูเหมือนผู้รักษาจะรับเหมาทำการอย่างโฮเต็ล เป็นแต่ตัวเรือนและเครื่องใช้เป็นของรัฐบาล ผู้รับเหมาไม่ต้องลงทุน เรือนพักอย่างนี้ที่เมืองชะวาก็มี เรียกว่า “ประสังคระหัน”

เมืองพุกามนอกจากเป็นที่มีของโบราณมาก ยังเป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อลือเลื่องอีกอย่าง ๑ ว่าทำของลงรักดีกว่าที่ไหนๆ ในเมืองพะม่า ใครไปเมืองพุกามก็ตั้งหน้าไปหาซื้อของลงรักด้วย เมื่อพวกกรมการมาหา ฉันถามเขาว่าจะหาซื้อเครื่องลงรักด้วยประการใดดี เขาบอกว่าเครื่องลงรักนั้นทำกันตามบ้านแห่งละเล็กละน้อย โดยปกติมีคนอื่นไปรับซื้อจากผู้ทำรวบรวมเอาไปเที่ยวขาย ส่งลงไปเมืองร่างกุ้งบ้าง เมืองอื่นบ้าง ที่เอาเที่ยวเร่ขายในเรือรับคนโดยสารขึ้นล่องหรือขายพวกท่องเที่ยวที่มาถึงเมืองพุกามก็มี เอาไปวางขายตามร้านในท้องตลาดก็มี แต่ของเช่นนั้นมักหาของดียาก เพราะคนสามัญชอบซื้อแต่ของเลวที่ราคาถูก ชาวบ้านก็มักทำแต่ของชะนิดนั้นเป็นพื้นเพราะขายคล่อง ต่อบางแห่งผู้ทำเป็นช่างจึงทำอวดฝีมือ ต้องหาตามบ้านพวกช่างจึงจะได้ของดี แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลตั้งโรงเรียนช่างรักขึ้นแห่ง ๑ อยู่ไม่ห่างที่เราพักนัก ที่โรงเรียนนั้นทำแต่ของฝีมือดี และมักทำของแปลกๆ ส่งลงไปขายฝรั่งที่เมืองร่างกุ้ง เขาแนะนำให้เราไปเลือกหาของที่โรงเรียน และเขาจะให้กำนันป่าวร้องพวกช่างที่มีของทำอย่างประณีตเอามาออกร้านขายในบริเวณโรงเรียนเวลาเมื่อพวกเราไปด้วย ฉันก็เห็นชอบตามความคิดของเขา ได้ไปที่โรงเรียนในวันหลังก็สำเร็จประโยชน์เหมือนอย่างที่เขารับไว้ ได้เห็นของลงรักที่ทำในโรงเรียนและที่กำนันไปป่าวร้องให้เอามาขายวางรายเป็นแถว ผู้หญิงขายเป็นพื้น มีของฝีมือดีที่เขาเลือกมาโดยมาก กำนันเห็นจะกำชับเจ้าของมิให้ผ่านราคาด้วย เลือกหาซื้อของที่ชอบใจได้ราคาถูกๆ ชวนให้ใจฟุ้งส้านอยากจะซื้อของฝากญาติและมิตร คิดถึงคนนั้นและคนนี้ ลงมือซื้อบ้างแล้วจึงรู้สึกตัวว่า “เงินในพก” เห็นจะไม่พอซื้อได้ตามใจประสงค์

โรงเรียนช่างร้กที่รัฐบาลตั้ง ณ เมืองพุกาม วิธีที่เขาจัดการถูกใจฉันมาก ด้วยเขาถือเป็นหลักว่าจะหัดนักเรียนให้ไปทำของลงรักขายเป็นอาชีพโดยลำพังตนในวันหน้า แต่ให้มีฝีมือและความคิดดีกว่าที่ทำกันมาแต่ก่อน ด้วยถือหลักนั้นรัฐบาลไม่สร้างโรงเรียนโรงงานให้เป็นตึกรามหรูหราอย่างไร เครื่องจักรเครื่องกลอย่างใดที่เหลือกำลังชาวเมืองจะมีได้ก็ไม่เอามาใช้ในโรงเรียน ตัวโรงเรียนใช้เครื่องไม้ปลูกแต่เป็นศาลาโถง ยกพื้นสูงสัก ๒ ศอก มีห้องสำหรับเก็บของทางด้านสะกัดห้องหนึ่ง ให้นักเรียนนั่งทำการกับพื้นในศาลานั้น ตัวครูผู้จัดการโรงเรียนเป็นข้าราชการชั้น “อู” มีศิษย์ (ดูเหมือนจะจำกัดจำนวน) สัก ๓๐ คน วิธีสอนนั้นครูเป็นผู้คิดแบบและฝึกสอนตรวจตราให้นักเรียนรู้วิธีทำการต่างๆ ในกระบวนทำเครื่องรักให้ทุกอย่าง เวลาเมื่อฉันไป เรียกนักเรียนเข้าประจำที่ให้ฉันดูวิธีสอน เห็นนักเรียนบางหมู่กำลังเขียนลายลงกับสิ่งของตามแบบที่ครูให้ บางหมู่ขุดพื้นรักตามลวดลายที่เขียนแล้ว บางคนขัดชักเงาพื้นที่ลงรัก และทำอย่างอื่นๆ อีก ของที่ทำในโรงเรียนนั้นขายเอาเงินมาอุดหนุนในค่าใช้สอย ถ้าว่าถึงของลงรักที่ทำ ณ เมืองพุกาม ของที่ชาวบ้านทำขายก็โอน้ำและแอบหมากเป็นมากกว่าอย่างอื่น เพราะใช้กันในพื้นเมืองแพร่หลาย แต่มีทั้งที่ทำอย่างประณีตและที่ทำขายราคาถูกๆ ของที่ทำสำหรับขายชาวต่างประเทศก็มักทำของที่ฝรั่งชอบใช้ เช่นหีบเขียนหนังสือ โต๊ะเล็กๆ สำหรับตั้งข้างเก้าอี้ ลงรักหลายสีขุดเป็นลายรูปภาพเรื่องต่างๆ ซึ่งช่างพะม่าถนัดมาก บางอย่างก็เป็นรักน้ำเกลี้ยง เขียนลายทองทำเป็นกระถางต้นไม้และจานจัดดอกไม้ เป็นต้น ของที่ทำตามบ้านช่างมักจะทำตามๆ กัน อาศัยโรงเรียนเป็นปัญญาคิดแบบอย่างให้แปลกออกไป เมื่อฉันไปกำลังเขาเพิ่งคิดแบบทำชามล้างมือ เครื่องโต๊ะ มีโอกับจานรอง ลงรักน้ำเกลี้ยงเขียนลายทอง (อย่างลายรดน้ำ) เป็นรูปสิงห์สัตว์ต่างๆ อย่างพะม่า ว่ากำลังขายดีเพราะทำโอได้บางจนถึงบีบบุบแล้วกลับคืนรูปได้ และกำลังคิดทำของอื่นๆ อีก เขาเอามาให้ฉันดูก็หลายอย่าง

ได้ความรู้แปลกในทางโบราณคดีเนื่องด้วยเรื่องทำของลงรักในเมืองพะม่าอย่างหนึ่ง จะกล่าวไว้ตรงนี้ด้วย ฉันได้เห็นในหนังสือพงศาวดารพะม่าฉบับหนึ่ง ว่าวิชาทำของลงรักนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย (คือว่าได้ช่างรักไทยไปเมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ นับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๓๖๗ ปีแล้ว) ถ้าจริงดังว่า ก็พึงสันนิษฐานว่าครั้งนั้นได้ไปแต่วิธีทำรัก “น้ำเกลี้ยง” กับทำ “ลายรดน้ำ” จึงมีของพะม่าทำเช่นนั้นมาแต่โบราณ แต่วิธีที่ขุดพื้นรักลงไปเป็นรูปภาพและลวดลายต่างๆ นั้น พวกช่างชาวเมืองพุกามเขาบอกฉันว่าเพิ่งได้วิธีไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อชั้นหลัง

การที่พวกเราจะเที่ยวในเมืองพุกาม ได้อาศัยอูเงวชิน ผู้รั้งกรมตรวจโบราณคดีที่รัฐบาลให้มาเป็นคนนำทาง และได้อาศัยหนังสือนำทางที่อาจารย์ตอเซียนโกแต่งไว้ด้วย ในหนังสือกล่าวว่า ที่เมืองพุกามมีวัดโบราณอยู่เรี่ยรายตลอดไปตามลำแม่น้ำเอราวดีเกือบ ๘๐๐ เส้น มีขึ้นไปข้างด้านตะวันออกทางบนบกเกือบ ๒๐๐ เส้น จำนวนวัดโบราณแม้ที่เหลืออยู่ในเวลานี้มีกว่า ๕,๐๐๐ เป็นวัดร้างแทบทั้งนั้น พวกเรามีเวลาเพียง ๓ วันพ้นวิสัยที่จะดูได้ทั่ว จึงปรึกษากันกับอูเงวชิน ตกลงกันว่าจะไปดูแต่ที่เป็นวัดสำคัญในพงศาวดารและสำคัญในการก่อสร้าง จะเริ่มเที่ยวดูตั้งแต่เวลาบ่ายวันที่ไปถึง ให้ไปว่าเหมาเช่ารถยนต์ประจำไว้ ๒ คัน ในหนังสือนำทางซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่าที่เมืองพุกามมีแต่ม้ากับเกวียนสำหรับพวกท่องเที่ยวจะใช้เป็นพาหนะ รถยนต์เห็นจะเพิ่งมีเมื่อมีชาวต่างประเทศไปเที่ยวมากขึ้นไม่ช้ามานัก ถนนใช้รถก็ยังไม่มีกี่สาย ต้องขับรถยนต์ไปตามทางเกวียนเป็นพื้น ทั้งรถยนต์และคนขับก็เหมือนกับตามหัวเมืองของเรา คือเป็นรถเก่าแก่ที่ไม่ใช้ในบ้านในเมืองแล้ว และคนขับก็ออกจะห่าม แต่ก็ยังดีกว่าไปเกวียนหรือขี่ม้าอยู่นั่นเอง เริ่มเที่ยวในวันแรกก็เกิดความลำบากขึ้นอย่าง ๑ ฉันเคยได้ยินจากผู้ที่เขาเคยเที่ยวว่าที่เมืองพุกามเข้าวัดไม่ต้องถอดเกือก สอบถามอูเงวชินแกบอกว่าถ้าเข้าวัดที่มีกรรมการพะม่ารักษา เช่นวัดพระมหาธาตุชเวสินคงและวัดอานันทวิหาร เห็นจะต้องถอดเกือก แต่ถ้าเป็นวัดร้างที่อยู่ในปกครองของกรมตรวจโบราณคดีก็ไม่ต้องถอด ครั้นไปเที่ยววันแรกเห็นอูเงวชินเดินตีนเปล่าไม่ใส่เกือก ถามแกว่าวันนี้เราจะไปแต่ที่วัดร้างไฉนจึงไม่ใส่เกือก แกตอบตามซื่อว่าตัวแกเป็นชาวเมืองพะม่า ถ้าพวกพะม่าเห็นใส่เกือกเข้าวัดก็จะพากันขัดใจ วันหน้าแกยังจะต้องมาเมืองพุกามแต่โดยลำพัง ถ้าชาวเมืองเกลียดชังเสียแล้วเกรงจะลำบาก ในการรักษาตัวให้ปลอดภ้ย แต่ส่วนพวกเรานั้นใส่เกือกก็ได้ไม่ต้องเอาอย่างแก เมื่อฟังว่าเช่นนั้นฉันก็คิดเห็นว่าถึงเราเป็นแขกเมือง พวกพะม่าก็รู้ว่าเป็นไทยถือพระพุทธศาสนา ถ้าใส่เกือกเข้าวัดที่เมืองพุกามถึงไม่มีภัยอันตรายอย่างใด พวกพะม่าก็คงพากันติเตียนว่า “เจ้าโยเดีย” เป็นอลัชชี หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะเลยเสียชื่อของไทย ฉันจึงยอมถอดเกือกด้วยกับเขา ความที่กล่าวมาตอนนี้ ฉันรวมเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดที่มีในเวลาเที่ยวเมืองพุกามมาเล่าเสียก่อน แต่นี้จะเล่าถึงเรื่องเมืองพุกามต่อไป

จะเล่าเรื่องตำนานเมืองพุกาม ต้องกล่าวถึงชาวเมืองพะม่าแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนจึงจะเข้าใจได้ชัดเจน แผ่นดินที่รวมเป็นเมืองพะม่าอยู่บัดนี้ นักปราชญ์โบราณคดีเขาว่า เดิมทีเดียวตอนใกล้ฝั่งทะเลเป็นที่อยู่ของมนุษย์จำพวกผิวดำและผมหยิก ฝรั่งเรียกว่าชาวอินโดเนเซีย Indonesia ไทยเราเรียกว่า “เงาะ” หรือ “ชาวน้ำ” แต่ตอนดอนขึ้นไปยังไม่พบร่องรอยที่จะรู้ว่ามนุษย์จำพวกใดอยู่มาแต่เดิม จนถึงราวสมัยใกล้พุทธกาลจึงมีมนุษย์จำพวกที่ฝรั่งเรียกว่ามงโคเลียน Mongolian เริ่มอพยพจากแดนดินที่เป็นประเทศจีนอยู่เดี๋ยวนี้ ลงมาตั้งภูมิลำเนาในที่ภายหลังเป็นเมืองพะม่า มนุษย์พวกมงโคเลียนที่อพยพลงมาชั้นแรกนั้นพูดภาษาเดียวกัน และมาจากแดนจีนกาคใต้โดยทางเดียวกัน แต่มาแยกกันเมื่อถึงแม่น้ำโขง พวก ๑ อพยพต่อลงไปทางลุ่มแม่น้ำโขง ไปเที่ยวตั้งภูมิลำเนาทางนั้น ภายหลังได้นามว่า “เขมร” หรือ “ขอม” (แทรกความเห็นของฉันว่า พวก ๑ อพยพลงมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มาได้นามว่า “ลาว” หรือ “ละว้า”) อีกพวก ๑ อพยพไปทางลุ่มแม่น้ำสละวิน ไปตั้งภูมิลำเนาตอนชายทะเลใกล้ปากน้ำสละวิน พวกนี้ต่อมาได้นามว่า “มอญ” ขยายอาณาเขตต์ขึ้นไปข้างเหนือจนถึงแม่น้ำสะโตงและแม่น้ำเอราวดี ภายหลังรวมกันเป็นประเทศรามัญ ตั้งเมืองสะเทิมเป็นเมืองหลวง ต่อมามีมนุษย์จำพวกมงโคเลียนอีก ๓ จำพวก พูดภาษาต่างกัน เดิมอยู่ในแดนจีนทางข้างตะวันตก (ต่อแดนธิเบต) อพยพลงมาทางลุ่มแม่น้ำเอราวดี จำพวกที่ ๑ ที่นำหน้าลงมาก่อนเรียกว่าพวก “พยุ” Pyu มาตั้งภูมิลำเนาในแดนดินที่ภายหลังตั้งเป็นเมืองพะม่า ต่อแดนมอญไปข้างเหนือ รวมกันเป็นประเทศหนึ่ง ตั้งเมืองสารเขตรเป็นเมืองหลวง (อยู่ใกล้กับเมืองแปรบัดนี้) จำพวกที่ ๒ ซึ่งอพยพตามพวกพยุลงมา (คือพวกพะม่าแต่ชั้นแรก) เรียกว่า “ม่าน” Myen จำพวกนี้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ข้างเหนือแดนของพวกพยุขึ้นไป จนต่อแดนพวกไทย (เมื่อยังอยู่เมืองนันเจา) ตั้งเมืองตะโก้งเป็นเมืองหลวง จำพวกที่ ๓ เรียกว่า “การัน” Karan ไปตั้งภูมิลำเนาทางชายทะเลอ่าวเบงคอล ต่อมาเป็นประเทศได้นามว่า “ยักไข่” Araccan ถ้าว่าฉะเพาะแผ่นดินที่เป็นเมืองพะม่าเดี๋ยวนี้ ชาวเมืองชั้นเดิมที่เป็นพวกใหญ่จึงเป็น ๓ ชาติ แบ่งอาณาเขตต์กันปกครองเป็น ๓ ภาค ภาคเหนือเป็นอาณาเขตต์พวกม่าน ภาคกลางเป็นอาณาเขตต์พวกพยุ ภาคใต้เป็นอาณาเขตต์พวกมอญ พวกอินโดเนเซียที่มาอยู่ก่อนทนพวกที่มาใหม่เบียดเบียนไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายถิ่นฐานไปเที่ยวอยู่กับพวกของตนที่มีอยู่ตามเกาะในมหาสมุทรหรือหนีขึ้นไปอาศัยอยู่บนภูเขา ยังมีพืชพันธุ์อยู่จนบัดนี้ เมื่อมีบ้านเมืองเกิดขึ้นแล้ว พวกชาวอินเดียก็ใช้เรือมาค้าขาย ด้วยอยู่ใกล้กัน เปรียบเหมือนอย่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์ จะเริ่มมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ มีในเรื่องพงศาวดารอินเดียแต่ว่าเมื่อพระเจ้าจันทรคุปค์ต้นราชวงศ์โมรีย์ (องค์อัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช) เป็นพระเจ้าราชาธิราชอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒ จน พ.ศ. ๒๔๖ ประสงค์จะบำรุงเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง ทรงแนะนำอุดหนุนให้พวกชาวอินเดียไปเที่ยวค้าขายตามต่างประเทศ จึงประมาณว่าชาวอินเดียจะเริ่มมาค้าขายที่เมืองยักไข่ เมืองสารเขตร เมืองสะเทิม (และเดินบกจากเมืองมอญมาถึงเมืองนครปฐมเมื่อยังเป็นเมืองหลวงของพวกลาว) ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๓๐ เป็นต้นมา

ลักษณะที่พวกชาวอินเดียมาค้าขายนั้น ที่แห่งใดค้าขายดีก็ตั้งเป็นสถานี ให้คนพวกของตนผลัดเปลี่ยนกันอยู่ประจำมากบ้างน้อยบ้าง ชาวอินเดียที่มาค้าขายล้วนแต่ผู้ชาย มักมาได้หญิงชาวเมืองเป็นเมียแล้วเลยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ เกิดมีเชื้อสายชาวอินเดียเป็นพลเมืองมากขึ้นโดยลำดับ ก็ชาวอินเดียได้บรรลุอารยธรรมสูงกว่าพวกชาวเมืองที่อยู่มาแต่ก่อน เมื่อมาอยู่ปะปนกันนานเข้าพวกชาวอินเดียก็ได้เป็นครูบาอาจารย์ นำวิชาความรู้กับทั้งประเพณีและศาสนาของชาวอินเดียมาประดิษฐานในประเทศเหล่านี้ ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นราชาธิราชในอินเดียเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๒๖๘ จน พ.ศ. ๓๑๑ ทรงเลื่อมใสสถาปนาพระพุทธศาสนาสำหรับประเทศ แล้วให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาถึงนานาประเทศ (ดังจะพรรณนาโดยพิสดารในตอนต่อไปข้างหน้า) พวกชาวเมืองยักไข่ เมืองพยุ และเมืองมอญ (ตลอดไปจนพวกลาวที่เมืองนครปฐม) ก็นับถือพระพุทธศาสนาแต่นั้นมา ในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนามาประดิษฐานแล้ว ดูเหมือนพวกพยุที่เมืองสารเขตรจะรุ่งเรืองอารยธรรมยิ่งกว่าพวกอื่น เพราะปรากฏว่าพวกพยุรู้จักใช้หนังสือก่อน และพวกมอญกับพะม่าเอาแบบอักษรพยุไปแก้ไขใช้เป็นหนังสือของตนเมื่อภายหลัง ศิลาจารึกโบราณที่พบในเมืองพะม่าชั้นเก่ากว่าเพื่อนก็เป็นอักษรและภาษาพยุทั้งนั้น เรื่องที่พรรณนามาถ้าว่าโดยย่อ แผ่นดินที่เป็นเมืองพะม่าเดี๋ยวนี้แบ่งเป็น ๔ อาณาเขตต์ คือประเทศ ม่าน ยักไข่ พยุ และมอญ เป็นเช่นนั้นมาหลายร้อยปีจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นต้นเรื่องตำนานเมืองพุกามที่จะกล่าวต่อไป

เรื่องพงศาวดารเมืองพุกามเป็น ๒ ภาค ภาคต้นเป็นสมัยเมื่อเป็น “เอกราช” Kingdom พระราชาธิบดีปกครอง ภาคปลายเป็นสมัยมหาประเทศ Empire มีพระเจ้าราชาธิราชปกครอง ภาคต้นมิใคร่รู้เรื่องได้ชัดเจนเหมือนภาคปลาย เริ่มความภาคต้นว่า เมื่อ พ.ศ. ๖๕๑ พวกมอญขยายอาณาเขตต์ขึ้นมาข้างเหนือ ตีได้เมืองสารเขตรอันเป็นราชธานีของพวกพยุ พระเจ้าแผ่นดินพยุถูกจับไปเป็นชะเลยหรือสิ้นพระชนม์ศูนย์ไป มีราชภาคิไนยองค์หนึ่งทรงนามว่า “สมุทฤทธิ์” Thamudarit หนีพ้นได้ พาพรรคพวกขึ้นไปข้างเหนือ ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ป่า “ปอกกัน” Paukkan (น่าจะเป็นมูลของชื่อเมืองพุกามเมื่อภายหลัง) พวกพยุและพวกอื่นที่แตกฉานเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ ณ ที่ต่างๆ ก็พากันไปรวบรวมอยู่กับเจ้าสมุทฤทธิ์มากขึ้น จนมีหมู่บ้านถึง ๑๙ ตำบล คนเหล่านั้นพร้อมใจกันยกเจ้าสมุทฤทธิ์ขึ้นเป็นพระราชาธิบดี ครองอาณาเขตต์เป็นอิสสระ จึงเกิดเมืองพุกามขึ้นด้วยประการฉะนี้ ในสมัยเดียวกันนั้นประเทศม่านทางข้างเหนือก็ถูกพวกไทยรุกแดนเข้ามาทางตะวันออก พวกม่านไม่อยากอยู่ในอำนาจไทยก็พากันอพยพลงมาตั้งภูมิลำเนาทางข้างใต้ (ตอนที่ภายหลังตังเป็นเมืองชเวโบ ที่พระเจ้าอลองพระขนานนามว่าเมืองรัตนสิงห์เมื่อภายหลัง และเมืองอังวะ) มีผู้คนมากขึ้นเป็นลำดับมา พวกม่านนั้นก็ถือพระพุทธศาสนา แต่ถือตามลัทธิมหายานซึ่งชาวอินเดียพามายังเมืองม่านโดยทางบก ต่างลัทธิกับที่พวกมอญและพวกพยุถืออย่างหินยาน เวลาเมื่อพระเจ้าสมุทฤทธิ์ครองเมืองพุกามนั้น มีเจ้าม่านในราชวงศ์ซึ่งเคยครองเมืองตะโก้งองค์ ๑ ทรงนามว่า “ปยินสอตี” Pyin Saw Ti เป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระฤๅษีคยอง Gyaung (เห็นจะเป็นเถระพระสงฆ์มหายาน) พระอาจารย์พาหนีภัยจากเมืองม่านลงมาขอพึ่งบุญพระเจ้าสมุทฤทธิ์อยู่ที่เมืองพุกามแต่ยังเยาว์ ครั้นเจ้าปยินสอตีเติบใหญ่ขึ้นเป็นคนกล้าหาญมีความสามารถในการรบพุ่งปราบปรามข้าศึกศัตรู พระเจ้าสมุทฤทธิ์จึงให้อภิเษกกับราชธิดาและต่อมาตั้งให้เป็นมหาอุปราช แต่เมื่อพระเจ้าสมุทฤทธิ์สิ้นพระชนม์ เจ้าปยินสอตีจะสนองคุณอาจารย์ เชิญให้พระยะสอคยอง (ลาสิกขา) ขึ้นครองราชสมบัติ ตัวเองคงเป็นแต่มหาอุปราชต่อมาจนอาจารย์สิ้นชีพแล้วจึงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าปยินสอดีเป็นกษัตริย์ม่านองค์แรกที่ครองเมืองพุกาม เมื่อแผ่อาณาเขตต์ขึ้นไปได้กว้างขวาง ประสงค์จะให้คนต่างชาติต่างภาษาที่เป็นพลเมืองเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด จึงให้ใช้คำ “มรัมมะ” Maramma เป็นนามสำหรับเรียกชาวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในอาณาเขตต์พุกาม เป็นมูลของคำที่เรียกว่า “พะม่า” อยู่จนบัดนี้ จึงเกิดประเทศพะม่าขึ้นเป็นคู่แข่งกับประเทศมอญตั้งแต่สมัยพระเจ้าปยินสอตีเป็นต้นมา ราชธานีของประเทศพะม่าตั้งอยู่ที่เมืองปอกกันมาสัก ๑๐๐ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองต่อกันมา ๖ พระองค์ ถึงพระเจ้าสินลิคยอง Thinli Cyaung ให้สร้างราชธานีใหม่เรียกว่า เมืองศรีพิสัย Thiyipissya ที่ตำบลมยอกสะคะ Myauksaga อยู่ข้างใต้ราชธานีเดิม มีพระเจ้าแผ่นดินครองอาณาเขตต์พะม่าอยู่ที่เมืองศรีพิสัยต่อมา ๖ พระองค์ ถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ทรงพระนามว่า “แสกแfง” Thaikdaing อันนับในจำนวนเป็นที่ ๑๒ ให้ย้ายราชธานีไปสร้างใหม่ที่ตำบลสะมะดี ขนานนามเมืองว่า “สัมปาวดี” Sampawadi ( มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองสืบกันมาอีก ๗ พระองค์ ถึงพระเจ้า “ตุนคยิต” Tungyit เมื่อพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้สิ้นพระชนม์มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งราชสมบัติไปได้แก่ “บัณฑิต” คน ๑ จะเป็นเชื้อสายราชวงศ์หรืออย่างไรไม่กล่าว ปรากฏแต่ว่าบวชเป็นพระภิกษุสึกออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เห็นจะเป็นผู้รอบรู้โหราศาสตร์และวิชาอาคมมาก เมื่อครองราชสมบัติทรงพระนามว่า”พระเจ้าสิงกราชา” Thinka yasa (ดูเหมือนจะเรียกในหนังสือแต่งทางเมืองเชียงใหม่ว่า “สิงหราชา”) เป็นผู้ที่ตั้งจุลศักราชเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ ต่อพระเจ้าสิงหราชามีพระเจ้าแผ่นดินครองอาณาเขตต์พะม่าอยู่ที่เมืองสัมปาวดีต่อมาอีก ๑๓ พระองค์ ถึง “พระเจ้าปยินพยา” Pyin Bya นับเป็นที่ ๓๓ ย้ายราชธานีจากเมืองสัมปาวดีมาสร้างเมืองพุกามที่ปรากฏอยู่บัดนี้เป็นราชธานีขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๓๙๐ (ขนานนามเมืองว่า “อริมัทบุระ” เรียกนามนั้นปรากฏอยู่ในหนังสือแต่งที่เมืองลังกา) มีพระเจ้าแผ่นดินต่อมาอีก ๗ พระองค์ ถึง “พระเจ้าโสกกะเต” Sokka Te นับเป็นที่ ๔๐ มีน้องยาเธอต่างพระชนนีองค์ ๑ ทรงนามว่า “อนุรุทธ์” พะม่าเรียกว่า “อโนรธา” Anawrather เกิดกินแหนงกันและกัน เจ้าอนุรุทธ์หนีไปตั้งซ่องสุมผู้คนตำบลโปปาที่เชิงภูเขามหาคิรี ได้รี้พลมากแล้วยกเข้ามารบชิงได้ราชสมบัติจากพระเจ้าโสกกะเต ก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ สิ้นเรื่องเมืองพุกามภาคต้นเพียงนี้

รวมปีแต่แรกพระเจ้าสมุทฤทธิ์ตั้งเมืองพุกามมาจนพระเจ้าอนุรุทธ์ได้ราชสมบัติราว ๙๓๖ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองมา ๔๑ องค์ สร้างเมืองต่างๆ เป็นราชธานีถึง ๔ เมือง คือ เมืองปอกกัน เมืองศรีพิสัย เมืองสัมปาวดี และเมืองอริมัทบุระ พวกพะม่าถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิม เวลาราชธานีตั้งอยู่ที่ไหนก็พากันสร้างเจดียสถานที่นั่น ก็เมืองราชธานีทั้ง ๔ นั้นอยู่ใกล้ๆ กันเหมือนอย่างย้ายจากตำบลหนึ่งไปตั้งอีกตำบลหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมืองพุกามจึงมีเจดียสถานมากกว่ามาก สร้างเรี่ยรายไปตามท้องที่หลายร้อยเส้น แต่เจดียสถานที่สร้างก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าอนุรุทธ์ สร้างทางคติมหายาน และเป็นวัดขนาดย่อมๆ ทั้งนั้น ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ก็มาก วัดที่ทำใหญ่โตงดงาม เป็นของสร้างแต่สมัยพระเจ้าอนุรุทธ์เป็นต้นมา และสร้างทางคดีหินยานแทบทั้งนั้น

ตำนานเมืองพุกามเมื่อเป็นมหาประเทศ เริ่มเรื่องตั้งแต่พระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินพะม่าเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ในสมัยนั้นเมืองพะม่าอยู่กลาง เมืองยักไข่อยู่ทางตะวันตก พากไทยใหญ่ถูกจีนเบียดเบียฬอพยพจากเมืองนันเจาไปตั้งภูมิลำเนาที่ตอนแผ่นดินสูงต่อแดนพะม่าทางฝ่ายตะวันออก ทางข้างใต้เป็นประเทศมอญ ต่างเป็นอิสสระแก่กัน พระเจ้าอนุรุทธ์เป็นอัจฉริยบุรุษ ทรงพระปัญญาสามารถผิดกับพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ พอเสวยราชย์ก็พยายามจัดการปกครองพระราชอาณาเขตต์ด้วยทำนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง เป็นต้นว่าให้ขุดคลองชักน้ำมาแต่ภูเขาทางตะวันออก ทำการชลประทานให้ราษฎรทำเรือกสวนไร่นาได้ผลมากขึ้น คลองเหล่านั้นยังเป็นประโยชน์อยู่จนบัดนี้ การทำนุบำรุงของพระเจ้าอนุรุทธ์ด้วยประการต่างๆ เป็นเหตุให้พลเมืองพุกามมีกำลังมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นลำดับมา นอกจากนั้นทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยแต่ก่อนมาพวกมอญกับพวกพยุถือพระพุทธศาสนาตามคติเถรวาท ที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้มาสอน อันได้นามว่าคติ “หินยาน” เมื่อภายหลัง แต่พวกพะม่าถือพระพุทธศาสนาอย่างคติ “มหายาน” ซึ่งชาวอินเดียพามายังเมืองม่านโดยทางบกดังกล่าวมาแล้ว พวกภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหายานที่มาสอนพระพุทธศาสนาแก่พะม่า เห็นจะเป็นภิกษุมหายานพวกตันตระ Tantra แต่พะม่าเรียกว่า “อรี” (มาจากคำอริยะในภาษามคธ) ลัทธิของภิกษุสงฆ์นิกายนี้เอาอถรรพเวทของพราหมณ์เข้าเจือปนกับพระพุทธศาสนา จนเลยถือว่าอาจจะกระทำให้เกิดดีและร้ายแก่มนุษย์ได้ด้วยวิทยาคมและบังคับภูตผีปิศาจ พวกพะม่าถือผีอยู่แล้วก็กลัวเกรงอิทธิฤทธิ์ของภิกษุสงฆ์พวกอรีนั้น ครั้นจำเนียรกาลนานมา พวกภิกษุอรี (น่าจะถึงชั้นที่เป็นชาวเมืองบวชโดยมาก) ก็ทะนงใจกล้าประพฤติอนาจารต่างๆ โดยเปิดเผย เช่นเสพสุราและเสพเมถุนเป็นตัน จนพวกสาธุชนพากันรังเกียจอยู่โดยมาก ครั้นถึงสมัยเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ครองเมืองพะม่า มีพระมหาเถระฝ่ายหินยานเป็นเชื้อพราหมณ์ชาวเมืองสะเทิมองค์ ๑ พะม่าเรียกว่า “ฉินระหัน” Shin Rahan (ความหมายว่าพระอรหันต์เท่านั้นเอง มิใช่ชื่อตัว) เป็นผู้รอบรู้พระธรรมวินัย ขึ้นไปยังเมืองพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๕๙๙ พระเจ้าอนุรุทธ์ได้สมาคมกับพระมหาเถระฉินระหัน ก็เกิดเลื่อมใสในคติหินยาน จึงทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์นิกายหินยานให้ตั้งเป็นหลักแหล่งขึ้นในราชธานี และตั้งพระมหาเถระฉินระหันเป็นที่สังฆนายก คนทั้งหลายที่รังเกียจความประพฤติของพวกภิกษุอริก็พากันเปลี่ยนมาเลื่อมใสพระสงฆ์นิกายหินยานมากขึ้นโดยลำดับมา ในหนังสือพงศาวดารพะม่าว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์เริ่มฟื้นพระศาสนาครั้งนั้นไม่มีพระไตรปิฎก ให้มาขอต่อประเทศมอญ แต่พระเจ้ามะนูหะไม่ยอมให้ พระเจ้าอนุรุทธ์จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองมอญ

แต่ความที่ว่าเห็นจะไม่ตรงตามเรื่องที่จริง เพราะพะม่าถือพระพุทธศาสนามาช้านานคงมีพระไตรปิฎก แต่เป็นพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตซึ่งทำสังคายนาครั้งพระเจ้ากนิษกะถือเป็นหลักพระพุทธศาสนาตามคติมหายาน ที่พระเจ้าอนุรุทธ์ไม่มีนั้น คือพระไตรปิฎกภาษามคธ ซึ่งสังคายนาครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช อันถือเป็นหลักพระพุทธศาสนาตามคติหินยาน เมื่อเปลี่ยนมาถือคติพระพุทธศาสนาอย่างหินยานก็จำเป็นต้องเปลี่ยนพระไตรปิฎกที่ถือเป็นหลักของพระศาสนาด้วย ที่พระเจ้าอนุรุทธ์ให้มาขอพระไตรปิฎกที่เมืองมอญดูก็เป็นการสมควร เพราะในเวลานั้นเมืองมอญเป็นหลักแหล่งพระพุทธศาสนาอย่างหินยาน แต่เหตุใดพระเจ้ามะนูหะจึงไม่ยอมให้ ข้อนี้ที่น่าคิดวินิจฉัยอยู่ เพราะพระไตรปิฎกที่เมืองสะเทิมคงมีหลายจบ ทั้งที่ได้มาจากอินเดียและเมืองสารเขตร ที่สร้างในเมืองนั้นเองก็คงมี แม้บริจาคให้พะม่าสักชุดหนึ่งก็ไม่สิ้นหลักพระศาสนา ถ้าจะว่า กลับได้บุญและเป็นเกียรติยศในการแผ่พระศาสนาให้แพร่หลายไปยังประเทศอื่นเสียอีก แต่ไฉนพระเจ้ามะนุหะจึงบอกปัดจนถึงต้องรบพุ่งกันโดยไม่จำเป็น ความจริงน่าจะเป็นด้วยพระเจ้าอนุรุทธ์เห็นว่ามีกำลังมากพอจะขยายราชอาณาเขตต์ให้กว้างขวางออกไป หมายจะเอาเมืองมอญเป็นอาณาเขตต์ หากจะเกี่ยวข้องด้วยเรื่องขอพระไตรปิฎกก็คงจะเป็นแต่ยกขึ้นอ้างพอเป็นเหตุ เช่นเจาะจงขอฉะบับสำหรับบ้านเมืองซึ่งพระเจ้ามะนูหะไม่สามารถจะให้ เช่นเดียวกันกับพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ให้เป็นเหตุที่จะมาตีเมืองไทยได้ จึงเกิดรบกัน

เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ตีเมืองสะเทิมนั้นมีนายทหารเอก ๔ คน คนหนึ่งชื่อ คันชิต (Kyanzittha) ภายหลังได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ ๑ ซึ่งครองเมืองพุกาม มีเรื่องประวัติแปลกกว่าเพื่อน ว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์แรกเสวยราชย์อยากได้นางกษัตริย์เป็นมเหสี ให้สืบเสาะได้ความว่าเมืองเวสาลีมีราชธิดา (พงศาวดารพะม่าว่าเมืองเวสาลีในอินเดีย แต่อาจจะเป็นเมืองเวสาลีที่มีในประเทศยักไข่อีกแห่ง ๑) ให้ไปขอเจ้าเมืองก็ยอมถวาย จึงแต่งข้าหลวงไปรับนางนั้นมาตั้งเป็นมเหสี ต่อมาไม่ช้าเกิดสงสัยว่าเมื่อมาจากเมืองเวสาลี นางนั้นมาเกิดสมัครรักใคร่เป็นชู้กันกับข้าหลวงที่กลางทาง พระเจ้าอนุรุทธ์ขัดเคืองจึงเนรเทศนางให้ไปอยู่เสีย ณ เมืองสะแคง แต่เมื่อเนรเทศนั้นนางเริ่มตั้งครรภ์ยังไม่มีใครรู้ ไปคลอดลูกเป็นชาย พระเจ้าอนุรุทธ์ตระหนักพระหฤทัยว่าเป็นราชบุตร แต่ไม่อาจจะยกย่องด้วยมีความละอาย จึงเป็นแต่ให้รับกุมารมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ครั้นเติบใหญ่ขึ้นเป็นคนแกล้วกล้าสามารถในการรบพุ่ง จึงได้เป็นตำแหน่งนายทหารเอก แต่ประวัติที่กล่าวมานี้มีข้อคัดค้านอยู่ในเรื่องที่ปรากฏต่อไปข้างหน้า จึงเห็นว่าเป็นความประดิษฐ์ขึ้นต่อภายหลังเพื่อจะให้ราชวงศ์สืบกันเป็นสายเดียว เหมือนอย่างในหนังสือพงศาวดารไทยอ้างว่าหลวงสรศักดิ์เป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชฉะนั้น

พระเจ้าอนุรุทธ์ตีได้เมืองสะเทิม เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐ ให้กวาดชาวเมือง เป็นต้นแต่พระเจ้ามะนูหะกับพวกราชวงศ์และข้าราชการ ทั้งสมณพราหมณาจารย์คฤหบดีและพวกช่างชำนาญศิลปศาสตร์ต่างๆ เอาไปเมืองพุกาม รวมจำนวนคนกว่า ๓๐,๐๐๐ และให้เก็บขนพระไตรปิฎกและเจดียวัตถุกับทั้งทรัพย์สินต่างๆ เอาไปเมืองพุกามด้วยมากกว่ามาก ทั้งให้รี้อทำลายรั้ววังป้อมปราการเมืองสะเทิมเสียหมด แล้วปันอาณาเขตต์มอญให้ปกครองแยกกันเป็นหลายหัวเมือง เมืองสะเทิมก็ต้องลดลงเป็นแต่หัวเมืองอันหนึ่งในราชอาณาเขตต์ เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ได้เมืองมอญแล้วไปตีได้เมืองยักไข่ข้างภาคเหนือต่อไปอีก พวกไทยใหญ่ที่มาตั้งเมืองอยู่ติดต่อกับแดนพะม่าทางตะวันออกพากันหวาดหวั่นก็ยอมสามิภักดเป็นเมืองขึ้นพะม่าโดยดี ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าอนุรุทธ์จึงกว้างใหญ่ไพศาล มีประเทศราชต่างชาติต่างภาษาขึ้นหลายเมือง พระเจ้าอนุรุทธ์ก็ได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช เมืองพุกามก็เจริญรุ่งเรือง มีชาวต่างประเทศไปมาค้าขายและมาพึ่งบารมีของพระเจ้าอนุรุทธ์มากขึ้นเป็นอันดับมา

ในพงศาวดารพะม่าว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ตีเมืองสะเทิมได้พระไตรปิฎกกับทั้งพระสงฆ์นิกายหินยานมายังเมืองพุกามแล้ว ให้กำจัดพวกภิกษุอรีเสียหมด ให้มีแต่พระสงฆ์นิกายหินยานอย่างเดียว ทรงตั้งพระมหาเถระฉินระหันเป็นมหาสังฆปรินายก แต่นั้นคติพระพุทธศาสนาที่นับถือกันในเมืองพะม่าก็เป็นอย่างหินยานทั่วทั้งประเทศมาจนกาลบัดนี้ แต่ข้อที่ว่านี้ไม่ยุติต้องกับลักษณะโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ ณ เมืองพุกาม ด้วยมีวัดอย่างมหายานซึ่งตั้งพระประธาน ๓ องค์ และฝาผนังเขียนรูปภาพตามคติมหายาน สร้างในสมัยราชวงศ์พระเจ้าอนุรุทธ์ปรากฏอยู่หลายแห่ง จึงสันนิษฐานว่าพระเจ้าอนุรุทธ์เห็นจะกำจัดแต่เหล่าภิกษุที่เป็นอลัชชี แต่ไม่เบียดเบียนพวกที่ประพฤติเรียบร้อย พระสงฆ์มหายานคงมีอยู่ในเมืองพุกามต่อผาเป็นนิกาย ๑ ต่างหาก แต่จะศูนย์ไปเมื่อใดไม่ปรากฏ เจดียสถานในเมืองพุกามที่เป็นของงดงามใหญ่โต ล้วนเป็นของสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชมาและสร้างตามคติหินยานทั้งนั้น คงได้พวกช่างมอญชาวเมืองสะเทิมกับทั้งช่างชาวอินเดียไปเพิ่มเติม ด้วยประเทศที่ยังถือพระพุทธศาสนาอยู่ในอินเดียกับทั้งลังกาทวีป เมื่อได้ทราบพระเกียรติคุณของพระเจ้าอนุรุทธ์ พากันมาเจริญทางไมตรีเป็นสัมพันธมิตรหลายประเทศ ในสมัยพระเจ้าอนุรุทธ์นั้นที่เมืองพุกามพระพุทธศาสนาคงเจริญรุ่งเรืองมาก มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารเมืองลังกาว่าเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุรบชนะพวกทมิฬเอาเมืองลังกาคืนได้แล้ว ปรากฏว่าพระภิกษุสงฆ์ศูนย์หมดไม่มีในลังกาทวีป ให้มาทูลขอพระสงฆ์ต่อพระเจ้าอนุรุทธ์ไปให้อุปสมบทตั้งสังฆมณฑลขึ้นอีก ด้วยถือว่าพระสงฆ์ลังกากับพระสงฆ์พะม่าสืบสมณวงศ์ลงมาจากพระมหินทรและพระโสณะพระอุตรมหาเถระ ซึ่งเชิญพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชด้วยกัน พระเจ้าอนุรุทธ์ได้ทรงจัดพระสงฆ์คณะปรกฝ่ายหินยาน ๒๐ รูป ส่งไปให้อุปสมบทชาวเมืองลังกาเมื่อ พ.ศ. ๑๖๑๔ เรื่องนี้ควรกล่าวอธิบายต่อไปอีกสักหน่อย ด้วยเดี๋ยวนี้ยังมีพระสงฆ์ในเมืองลังกาอยู่นิกาย ๑ เรียกว่า “มรัมมะวงศ์” แปลว่าวงศ์พะม่า ไทยเรามักเข้าใจกันมาแต่ก่อนว่าน่านับถือพระสงฆ์มรัมมะวงศ์ยิ่งกว่าพระสงฆ์ลังกานิกายอื่น เพราะสืบสมณวงศ์มาแต่พระสงฆ์ซึ่งพระเจ้าอนุรุทธ์ส่งไปให้อุปสมบท ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระสงฆ์วงศ์พุกาม (ซึ่งอาจจะเรียกกันในลังกาแต่โบราณว่า “มรัมมะวงศ์”) นั้นต่อมาก็ศูนย์หมด ถึง พ.ศ. ๒๒๘๒ ไม่มีพระสงฆ์ในลังกาทวีปอีกครั้ง ๑ พระเจ้ากิติศิริราชสิงหะให้มาขอคณะสงฆ์ไทยที่กรุงศรีอยุธยาไปให้อุปสมบทตั้งคณะสังฆมณฑลขึ้นใหม่ พระเจ้าบรมโกศทรงอาราธนาให้พระอุบาลีเป็นสังฆนายกนำคณะพระสงฆ์ไทยไปให้อุปสมบทแก่ชาวลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ พระภิกษุสงฆ์ในลังกาทุกวันนี้โดยมากเป็นวงศ์พระสงฆ์ไทย ใช้นามนิกายว่า “อุบาลีวงศ์” หรือ “สยามวงศ์” ก็เรียก ส่วนพระสงฆ์นิกาย “มริมมะวงศ์” ที่มีอยู่ในลังกาเดี๋ยวนี้ ปรากฏในเรื่องพงศาวดารลังกาว่าเมื่อพระอุบาลีไปให้อุปสมบทนั้น พระเจ้ากิติศิริราชสิงหะยอมให้บวชแต่ชาวลังกาที่เป็นพวกผู้ดีมีตระกูลสูง เพื่อจะป้องกันมิให้ศาสนวงศ์เสื่อมทราม ต่อมามีชาวลังกาที่อยากบวชแต่ตระกูลต่ำจะบวชในเมืองลังกาไม่ได้ จึงพากันมาขออุปสมบทในเมืองพะม่า ครั้งนั้นพระเจ้าปะดุงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพะม่า (ตรงสมัยรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) ทรงอุปการะให้ชาวลังกาพวกนั้นได้อุปสมบทตามประสงค์ที่เมืองอมรบุระ ครั้นกลับไปลังกาเข้ากับพระสงฆ์อุบาลีวงศ์ไม่ได้จึงอยู่เป็นนิกายต่างหาก (เห็นจะฟื้นเอาชื่อนิกายสงฆ์ซึ่งบวชครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์มาใช้) จึงได้นามเรียกว่า “มรัมมะวงศ์”

เรื่องเมืองพุกามในรัชชกาลพระเจ้าอนุรุทธ์ กล่าวในพงศาวดารพะม่าต่อมาว่า เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ์ได้เมืองไทยใหญ่ที่ไปตั้งต่อแดนพะม่าเป็นอาณาเขตต์แล้วยกกองทัพไปตีเมืองจีน แต่พวกนักปราชญ์โบราณคดีเขาว่าที่จริงไปตีเมืองนันเจา ซึ่งยังเป็นเมืองหลวงของพวกไทย เพราะสมัยนั้นจีนแผ่อาณาเขตต์ลงมายังไม่ถึงเมืองนันเจา แต่กำลังพะม่าไม่พอจะตีเอาเมืองนันเจาได้ พระเจ้าอนุรุทธ์จึงทำทางไมตรีเลิกสงครามกับข้าศึก ได้แต่พระบรมธาตุเชิญกลับมาสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองในแดนพะม่า อันเป็นเหตุให้ประหารชีวิตนายทหารพานทองใหญ่กับพานทองน้อยพี่น้อง ดังเล่ามาแล้วในเรื่องผีแน๊ต ต่อมาถึงตอนปลายรัชชกาลพระเจ้าอนุรุทธ์ ในพงศาวดารพะม่าว่าพวกลาวเฉียง Lao Shan ยกกองทัพจากทางเมืองเชียงใหม่ไปตีเมืองหงสาวดี (สมัยนั้นเมืองเชียงใหม่ยังไม่มี ต้องไปจากที่อื่นในเมืองไทยนี้ จะรอวินิจฉัยไว้กล่าวในที่อื่นต่อไป) พระเจ้าอนุรุทธ์ให้คันชิตเป็นแม่ทัพลงไปช่วยเมืองหงสาวดี กองทัพเมืองพุกามมีชัยชนะ เมื่อข้าศึกเลิกหนีไปหมดแล้ว พระยามอญเจ้าเมืองหงสาวดีจัดสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ กับธิดาของตนคน ๑ ชื่อนางขินอู Hkin U ถวายสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอนุรุทธ์ คันชิตคุมกองทัพกลับไปพร้อมกันกับพวกมอญที่พานางกับเครื่องราชบรรณาการไปถวาย เกิดพิศวาสบังอาจเข้าไปเกี้ยวพานแพละโลมนางขินอู ความทราบถึงพระเจ้าอนุรุทธ์ก็ทรงพระพิโรธ แต่คันชิตมีความชอบที่ได้ไปรบพุ่ง จึงเป็นแต่ดำรัสสั่งให้เนรเทศคันชิตไปเสียจากนครราชธานี ต่อมาไม่ช้าเกิดเหตุขึ้นด้วยมีควายเผือกเถื่อนตัวหนึ่งร้ายกาจ บังอาจเข้ามาเที่ยวไล่ขวิดราษฎรล้มตายถึงบ้านเรือน ผู้คนพากันหวาดหวั่นด้วยเชื่อว่าควายเผือกนั้นเป็นผีแน๊ต ขณะนั้นพระเจ้าอนุรุทธ์เสด็จไปเที่ยวประพาสป่ากำลังกลับคืนพระนคร มาทราบเหตุในระหว่างทาง ก็รีบเสด็จไปกับพวกบริพารแต่น้อยคน หมายจะไปจับควายเผือกที่อาละวาด ตามเข้าไปพบควายตัวนั้นที่ในดง ควายต่อสู้ขวิดพระเจ้าอนุรุทธ์สิ้นพระชนม์ พวกราชบริพารสู้ควายไม่ไหวก็หนีกลับมาหากำลังเพิ่มเติม แต่เมื่อไปถึงในดงค้นหาควายก็ไม่พบ พระศพพระเจ้าอนุรุทธ์ก็หายศูนย์ไปด้วย พระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชเสวยราชย์อยู่ ๓๓ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๐

ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยพงศาวดารเมืองพุกามลงอีกสักหน่อย ตามตำนานของไทยเหนือและไทยใต้กับทั้งของเขมร ยุติต้องกันว่าแดนดินที่เป็นเมืองไทยบัดนี้ตลอดไปจนเมืองเขมร เคยเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกามในสมัย ๑ ข้อนี้โบราณวัตถุก็มีประกอบอยู่ ยกตัวอย่างเซ่นวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ วัดพระยืนที่เมืองลำพูน พระพิมพ์ที่พบ ณ เมืองนครปฐม เป็นแบบอย่างอันเดียวกันกับของที่เมืองพุกามในสมัยนั้น แต่ตำนานที่กล่าวดูเหมือนจะว่าขึ้นเมืองพุกามฉะเพาะครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชพระองค์เดียว ข้อนี้ที่น่าจะสำคัญผิด ที่จริงเมืองพุกามมีอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๘๗ จน พ.ศ. ๑๘๓๐ รวมเวลา ๒๔๓ ปี มีพระเจ้าราชาธิราชเสวยราชย์ถึง ๑๒ องค์ คงขยายอาณาเขตต์ออกมาโดยลำดับในรัชชกาลหลังๆ เหตุที่เสียเมืองนครปฐมและที่ว่าเจ้าเมืองสะโตงมาตีเมืองเชียงราย เป็นเหตุให้ต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทองอพยพหนีลงมาข้างใต้ ก็คงอยู่ในตอนนี้ ครั้นอานุภาพเมืองพุกามเสื่อมลง แดนดินทางนี้ก็กลับแยกกันไปเป็นประเทศต่างๆ เข้าต้นเรื่องพงศาวดารไทยทางมณฑลพายัพ เช่นเรื่องจามเทวีวงศ์เป็นต้น

พระเจ้าสอลู Sawlu ราชโอรสของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช ได้รับรัชชทายาทเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๒ ครองเมืองพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๐ ตรัสสั่งให้หาตัวคันชิตกลับเข้าไปรับราชการอย่างแต่ก่อน แต่อยู่ได้ไม่ช้า ด้วยพระเจ้าสอลูตั้งนางขินอูลูกเจ้าเมืองมอญที่เป็นเหตุให้คันชิตต้องเนรเทศนั้นเป็นมเหสี คันชิตกลับเข้าไปรับราชการยังไม่ทอดทิ้งนางนั้น พระเจ้าสอลูจึงสั่งให้เนรเทศคันชิตเสียอีก พระเจ้าสอลูตั้งน้องยาเธออันเกิดด้วยนักสนมองค์หนึ่งชื่อว่า ยะมะกัน Yamakan ให้ไปครองหัวเมืองมอญอยู่ที่เมืองพะโค (หงสาวดี) อันตั้งเป็นเมืองหลวงแทนเมืองสะเทิม อยู่มายะมะกันเป็นขบถยกกองทัพมอญขึ้นไปหมายจะตีเมืองพุกาม พระเจ้าสอลูต้องให้หาคันชิตกลับไปเป็นแม่ทัพหน้ายกลงมารบมอญ เมื่อกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายมาปะทะกัน คันชิตพิจารณาเห็นข้าศึกได้ที่ชัยภูมิตั้งกองทัพ ทูลห้ามพระเจ้าสอลูมิให้เข้าตีค่ายมอญ ให้ทำอุบายถอยทัพให้พวกมอญออกติดตามพ้นจากที่ชัยภูมิเสียก่อนจึงค่อยรบ พระเจ้าสอลูไม่เชื่อฟังสั่งให้กองทัพเข้าระดมตีค่ายมอญ เสียทีถึงข้าศึกจับพระองค์ได้ กองทัพพะม่าก็แตกฉาน ตัวคันชิตหนีขึ้นไปทางข้างเหนือ เที่ยวรวบรวมกำลังยกกลับลงมาถึงเมืองพุกามเมื่อข้าศึกกำลังตั้งล้อมเมืองอยู่ พวกชาวเมืองพุกามขอให้ครองราชสมบัติ แต่คันชิตไม่ยอมด้วยรู้ว่าพระเจ้าสอลูยังอยู่ในมือข้าศึก จึงลอบเข้าไปแต่ตัวจนถึงพระเจ้าสอลูเชิญพระองค์ขึ้นขี่คอพาหนีมา แต่พระเจ้าสอลูเกิดระแวงว่าคันชิตจะพาเอาไปทำร้ายแก้แคันที่ถูกเนรเทศ กลับวางพระทัยว่ายะมะกันคงจะไม่ทำร้าย เพราะเคยเป็นเพื่อนเล่นร่วมนมกันมาแต่ก่อน จึงร้องขึ้น พวกมอญก็กรูกันออกมาจับ คันชิตต้องทิ้งพระเจ้าสอลูหนีมาแต่ตัว มาร่วมมือกับพวกในเมืองพุกามตีกองทัพมอญพ่ายแพ้ไป แต่เมื่อคันชิตพาพระเจ้าสอลูหนีนั้น พวกมอญเข้าใจว่าพระเจ้าสอลูพยายามจะหนี จับได้จึงให้ปลงพระชนม์เสีย เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๗ ได้ เสวยราชย์อยู่ ๗ ปี

พวกพะม่าก็พร้อมใจกันเชิญคันชิตขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. ๑๖๒๗ นั้น นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๓ ซึ่งครองเมืองพุกาม พระเจ้าคันชิตชำนิชำนาญการทำศึกสงครามมาแต่ก่อน พอเสวยราชย์ก็ปราบเมืองมอญที่เป็นขบถจนราบคาบ แล้วขยายราชอาณาเขตต์ต่อลงมาข้างใต้จนถึงเมืองตะนาวศรี ทางเมืองยักไข่ก็ขยายอาณาเขตต์ออกไป ได้ทั้งเมืองยักไข่เหนือและยักไข่ใต้ไว้ในอำนาจ ประเทศที่ไม่สามารถจะไปเอาไว้ในอำนาจได้ก็ทำทางไมตรี ทั้งประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในอินเดีย เมืองพุกามก็สมบูรณ์พูนสุขปราศจากภยันตราย พระเจ้าคันชิตจึงทำนุบำรุงบ้านเมืองตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชต่อมา ให้สร้างพระมหาธาตุชเวสินคงซึ่งพระเจ้าอนุรุทธ์เริ่มสร้างค้างไว้จนสำเร็จ (จะพรรณนาถึงพระมหาธาตุนั้นต่อไปข้างหน้า) อนึ่งเมื่อถึงรัชชกาลพระเจ้าคันชิตนี้ มีพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาทั้งพระและคฤหัสถ์ถูกพวกถือศาสนาพราหมณ์เบียดเบียฬ พากันหนีภัยมาพึ่งบารมีพระเจ้าคันชิตอยู่เมืองพุกามเป็นอันมาก นำแบบแผนพุทธเจดีย์ในอินเดียมาถวายเพิ่มเติม เป็นมูลเหตุที่จะทรงศรัทธาสร้างวัดอานันท์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๓๔ เป็นอย่างวิหารใหญ่โตและรูปร่างแปลกกว่าวัดที่เคยมีมาแต่ก่อน เลยเป็นแบบอย่างให้พระเจ้าแผ่นดินภายหลังสร้างวัดวิหารใหญ่แห่งอื่นที่ในเมืองพุกามต่อมา ใช่แต่เท่านั้น เมื่อพระเจ้าคันชิตได้ทราบประวัติพระพุทธศาสนาในอินเดียจากพวกมาพึ่งพระบารมี ทรงศรัทธาให้ไปปฏิสังขรณ์พระมหาโพธิเจดีย์ ณ เมืองพุทธคยาซึ่งหักพังชำรุดทรุดโทรมอยู่ให้คืนดี เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินพะม่าได้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์นั้นด้วย รายการเหล่านี้ส่อให้เห็นว่าเมื่อรัชชกาลพระเจ้าคันชิตพระพุทธศาสนาในเมืองพุกามคงเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก

ยังมีเรื่องในส่วนราชวงศ์ว่าเมื่อแรกพระเจ้าคันชิตได้เสวยราชย์นั้น ทรงตั้งนางอภัยทน Abeyadana ภรรยาเดิมขึ้นเป็นอัครมเหสี มีแต่ราชธิดากับนางนั้นองค์ ๑ ทรงนามว่า ชเวอันสี Shwe Einthi เจ้าทางอินเดียมาขอสู่พระเจ้าคันชิตไม่ยอมยกให้ ให้อภิเษกกับเจ้าสอยุนอันเป็นคนขาพิการแต่เป็นราชบุตรของพระเจ้าสอลู เกิดบุตรด้วยกันได้นามว่า “อลองคะสิทธุ” Alaungathithu (ในหนังสือราชาธิราชเรียกว่า อลังกจอสู) พระเจ้าคันชิตทรงยินดีสถาปนากุมารอลองคะสิทธุให้เป็นรัชชทายาทตั้งแต่แรกเกิด ประกาศแก่คนทั้งหลายให้ถือว่ากุมารนั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เองเป็นผู้รักษาราชสมบัติไว้ถวาย (ประกาศนี้ที่เป็นข้อค้านคำอ้างในเรื่องประวัติว่า พระเจ้าคันชิตเป็นราชบุตรสับของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช) แต่พอประกาศแล้วไม่ช้าราชบุตรของพระเจ้าคันชิตเองก็มาถึงราชสำนักโดยมิได้คาด ราชบุตรองค์นี้มีเรื่องประวัติว่า เมื่อพระเจ้าคันชิตถูกเนรเทศครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์นั้น ไปตกทุกข์ได้ยากถึงต้องไปอาศัยพระอยู่ในวัดที่เมืองสะแคง ไปรักใคร่ได้หลานสาวของสมภารเป็นเมีย อยู่ด้วยกันมาจนเมื่อพระเจ้าสอลูให้เรียกคันชิตกลับไปรับราชการ เวลานั้นเมียมีครรภ์ คันชิตถอดแหวนให้ไว้วง ๑ สั่งว่าถ้าลูกเป็นผู้หญิงก็ให้ขายแหวนนั้นเอาเงินให้เป็นทุนสินเมื่อแต่งงาน ถ้าเป็นผู้ชายให้มอบแหวนนั้นให้เป็นสำคัญสำหรับตัว เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะได้เที่ยวติดตามให้พบบิดา ครั้นคันชิตกลับเข้าไปรับราชการถูกเนรเทศครั้งหลังต้องลงไปอยู่เสียทางข้างใต้ ทางโน้นเมียอยู่ที่เมืองสะแคงคลอดลูกเป็นชาย เลี้ยงมาจนอายุได้ ๗ ขวบ รู้ว่าสามีมีบุญได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็พาบุตรลงมายังเมืองพุกาม พระเจ้าคันชิตก็หาให้เป็นรัชชทายาทไม่ เป็นแต่ตั้งให้เป็นเจ้ามีนามว่า “ราชกุมาร” Yazakumar ส่วนเมียคนนั้นก็ตั้งให้เป็นมเหสีทรงนามว่า ตัมพุละ Tumbula พระเจ้าคันชิตรักใคร่เจ้าราชกุมารมาก ให้เป็นอุปัฏฐากอยู่ติดพระองค์มาเป็นนิจ เจ้าราชกุมารได้ทำศิลาจารึกไว้ที่วัด “มัยเจดีย์”Myajedi หลัก ๑ (ซึ่งนับถือกันว่าเป็นจารึกสำคัญทั้งในทางพงศาวดารและในทางภาษาเพราะ) จารึกเป็นภาษามคธด้าน ๑ เป็นภาษาพะม่าด้าน ๑ ภาษามอญด้าน ๑ และภาษาพยุด้าน ๑ ความตรงกัน มีเนื้อความว่า พระเจ้าคันชิตได้เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๘ ครองเมือง “อริมัททะนะบุระ” Arimaddhanabura (คือเมืองพุกามอันใช้เป็นนามประเทศพะม่าในสมัยนั้น) ประทานบ้านส่วยแก่นางตัมพุละมเหสี ๓ ตำบล ครั้นนางสิ้นชีพเจ้าราชกุมารได้รับมรดกต่อมา เมื่อพระเจ้าคันชิตเสวยราชย์ได้ ๒๘ ปีประชวรพระอาการหนัก เจ้าราชกุมารคิดถึงพระเดชพระคุณจึงสร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นองค์ ๑ เพื่อขอผลานิสงส์ให้บรรเทาพระโรคาพาธ เมื่อสร้างสำเร็จแล้วเชิญพระพุทธรูปนั้นเข้าไปถวายพระเจ้าคันชิตทรงจบพระหัตถ์ และทูลขอบริจาคที่ดิน ๓ ตำบลนั้นให้เป็นที่กัลปนาสำหรับรักษาพระพุทธรูปต่อไป พระเจ้าคันชิตออกพระโอษฐ์อนุโมทนาว่า “สาธุ สาธุ” ต่อหน้าพระมหาสังฆปรินายกโมคคลีบุตรติสสะ (อาจจะเป็นนามของพระสังฆราชที่พะม่าเรียกว่าฉินระหัน) และพระสุเมธะ พระพรหมบาล และพระพรหมทิวะ Brahmadiw แล้วทรงหลั่งสิโนทกพระราชทานอนุญาตตามประสงค์ รู้ศักราชในจารึกนี้เป็นแน่นอน ว่าพระเจ้าคันชิตเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๗ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๕ ครองราชสมบัติอยู่ ๒๘ ปี

แต่พอพระเจ้าคันชิตสวรรคตก็เกิดเหตุขึ้นในราชธานี จะเป็นเพราะเจ้าราชกุมารหรือใครคิดชิงราชสมบัติหาปรากฏชัดไม่ ในพงศาวดารพะม่ากล่าวแต่ว่ามีผู้ร้ายกว่า ๑๐๐ คนเข้าปล้นราชวัง แต่ระงับได้ เจ้าอลองคะสิทธุก็ได้รับรัชชทายาท เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๕ เป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๔ ที่ครองเมืองพุกาม พอกิตติศัพท์เลื่องลือว่าพระเจ้าคันชิตสวรรคตและเกิดจลาจลในเมืองพุกาม ก็มีพวกประเทศราชและพระยามหานครต่างๆ ตั้งแข็งเมืองขึ้นหลายแห่ง แต่พระเจ้าอลองคะสิทธุทรงพระสติปัญญาสามารถทั้งกล้าหาญในการสงคราม เที่ยวปราบปรามศัตรูอยู่ ๓ ปีบ้านเมืองก็เรียบร้อยได้ดังแต่ก่อน และสามารถขยายราชอาณาเขตต์ต่อออกมาตลอดแดนตะนาวศรี (จนถึงไหนไม่กล่าวชัดในพงศาวดารพะม่า) เมื่อพระเจ้าอลองคะสิทธุรุ่งเรืองพระเดชานุภาพไม่มืใครกล้าเป็นข้าศึกศัตรูแล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระพุทธศาสนาตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าคันชิตต่อมา ให้สร้างวัดวิหารใหญ่อีกวัดหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๑๖๘๗ ขนานนามว่าวัด “สัพพัญญู” Thatpyinyu ให้เป็นคู่กับวัดอานันทวิหารของพระเจ้าคันชิต และครั้งนั้นที่เมืองยักไข่เกิดขบถปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินแล้วชิงเอาราชสมบัติ เจ้าอุปราชหนีมาพึ่งบารมีพระเจ้าอลองคะสิทธุ ๆ ให้กองทัพไปปราบขบถเอาบ้านเมืองคืนให้มหาอุปราชได้ ในพงศาวดารว่าเมื่อมหาอุปราชได้ครองเมืองยักไข่แล้ว อยากจะสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าอลองคะสิทธุจึงให้เจ้าเมืองยักไข่ไปปฏิสังขรณ์พระมหาโพธิเจดีย์ ณ เมืองพุทธคยา (ซึ่งทำนองจะยังค้างอยู่แต่ครั้งพระเจ้าคันชิตเริ่มปฏิสังขรณ์) เจ้าเมืองยักไข่ทำการนั้นจนสำเร็จ อนึ่งพระมหาเถระฉินระหันซึ่งเป็นมหาสังฆปรินายกมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์อยู่มาจนอายุถึง ๘๑ ปี ถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๘ พระเจ้าอลองคะสิทธุทรงตั้งพระมหาเถระ “ปันสะคู” Panthagu (คงเป็นคำภาษามคธแต่ยังคิดไม่เห็นว่าที่ถูกจะเป็นอย่างไร) เป็นที่สังฆปรินายกแทน จะปรากฏเรื่องประวัติต่อไปข้างหน้า

ในรัชชกาลพระเจ้าอลองคะสิทธุมีเวลาว่างศึกสงครามมาก พระเจ้าอลองคะสิทธุโปรดเที่ยวประพาสตามเมืองในราชอาณาเขตต์ เสด็จไปถึงไหนก็ให้สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นสำคัญ และได้เสด็จไปประพาสจนถึงต่างประเทศที่ใกล้เคียง เช่น เมืองนันเจา เมืองในอินเดีย ตลอดจนเมืองทางแหลมมะลายู สันนิษฐานว่าคงเคยเข้ามาประพาสถึงในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย เพราะในสมัยนั้นเป็นประเทศราชขึ้นเมืองพุกามอยู่ทั้งนั้น

พระเจ้าอลองคะสิทธุมีราชบุตร ๓ องค์ (องค์น้อยไม่มีเรื่อง) องค์ใหญ่ทรงนามว่า “มินฉินซอ” Minshinzaw เป็นคนก้าวร้าว พระเจ้าอลองคะสิทธุไม่โปรดอัชฌาสัย จึงให้ไปครองเมืองอยู่เสียต่างหากข้างฝ่ายเหนือ (ในมณฑลมัณฑเลบัดนี้) ลูกเธอองค์กลางซึ่งทรงนาม “นรสุ” Narathu อัชฌาสัยต้องพระราชหฤทัย จึงให้รับราชการอยู่ในราชสำนัก ทรงใช้สอยต่างพระเนตรพระกรรณ เจ้ามินฉินชอกับเจ้านรสุอยากจะเป็นรัชชทายาททั้ง ๒ องค์ แต่เผอิญพระเจ้าอลองคะสิทธุพระชันษายืน เสวยราชย์อยู่ช้านานถึง ๕๕ ปี เจ้าทั้ง ๒ ต่างก็ตั้งใจคอยจะให้สวรรคต พระเจ้าอลองคะสิทธุอยู่มาจนพระชันษาถึง ๘๑ ปีประชวรมีอาการถึงไม่ได้พระสติอยู่คราวหนึ่ง เจ้านรสุคาดว่าคงสวรรคตเห็นได้ทีก็เข้ายึดราชสมบัติเอาโดยพละการ แต่เผอิญอาการพระเจ้าอลองคะสิทธุฟื้นขึ้นถึงกลับมีพระสติ เจ้านรสุก็ตกใจ ในพงศาวดารพะม่าว่าทำอุบายเข้าไปปฏิบัติแล้วเลยเอาผ้าคลุมบรรทมอุดช่องพระนาสิกและพระโอษฐ์พระเจ้าอลองคะสิทธุจนสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐ เสวยราชย์มาได้ ๕๕ ปี

ฝ่ายเจ้ามินฉินชอทราบว่าพระราชบิดาสวรรคตและเจ้านรสุเข้ายึดเอาราชสมบัติ ก็รวบรวมกำลังยกกองทัพลงมายังเมืองพุกาม เจ้านรสุเห็นว่าจะสู้ไม่ไหวจึงขอให้พระมหาเถระปันสะคูมหาสังฆปรินายก ช่วยออกไปว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้สมัครสมานกัน แต่แรกพระมหาเถระปันสะคูไม่รับไปว่ากล่าว ด้วยนึกระแวงว่าจะไม่เป็นการสุจริต เจ้านรสุเฝ้าวิงวอนและให้ความสัตย์ปฏิญาณ ว่าถ้าเจ้าพี่ยอมดีด้วยจะออกไปรับเสด็จถึงประตูวัง และถวายราชสมบัติให้ปกครองต่อไป พระมหาเถระปันสะคูวางใจในคำปฏิญาณก็พาภิกษุสงฆ์ออกไปว่ากล่าวกับเจ้ามินฉินชอ ๆ เชื่อคำพระสงฆ์จึงเข้าไปในเมืองโดยสุภาพ เจ้านรสุก็ออกไปรับเสด็จถึงประตูวังและเชิญขึ้นเฉลิมราชมณเฑียรครองราชสมบัติตามสัญญา แต่ในค่ำวันนั้นเองให้ลอบวางยาพิษฆ่าเจ้ามินฉินชอสิ้นชีพ พระมหาเถระปันสะคูทราบก็ตกใจ เข้าไปต่อว่าเจ้านรสุ  ๆ ตอบว่าได้ไปรับเสด็จและเชิญขึ้นประทับราชมณเฑียรถวายราชสมบัติตรงตามให้สัญญาหมดทุกอย่างแล้ว พระมหาเถระขัดเคืองถึงออกอุทานว่าไม่ขออยู่ส้องเสพกับคนพาลแล้วไปอยู่เสียเมืองลังกา ในพงศาวดารพะม่านับว่าพระเจ้ามินฉินชอเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๕ ซึ่งครองเมืองพุกาม เสวยราชย์และสวรรคตใน พ.ศ. ๑๗๑๐ นั้น พระเจ้านรสุขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐ นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๖ ที่ครองเมืองพุกาม คนทั้งหลายเห็นว่าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยประพฤติทุจริตต่างๆ ก็มิใคร่มีใครนับถือ เลยเป็นเหตุให้พระเจ้านรสุระแวงว่าจะมีคนคิดร้าย สงสัยใครก็ให้ฆ่าเสีย แล้วกลับคิดสะดุ้งกลัวบาปกรรมที่ได้ทำมา ให้สร้างวัดมหาวิหารขึ้นอีกวัดหนึ่งเรียกว่าวัด “ธัมมาราม” Dammayan แต่การที่สร้างวัดนั้นก็กดขี่ผู้คนที่เกณฑ์มาทำงานให้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ เกินขนาด แม้จนช่างที่ทำการไม่ได้ถูกพระหฤทัยก็ให้ฆ่าเสีย ที่สุดกริ้วนางนักสนมคนหนึ่งสั่งให้ฆ่าเสีย บิดานักสนมคนนั้นเป็นพระยามหานคร โกรธแค้นแต่งให้คนปลอมตัวเป็นพราหมณ์เข้ามายังเมืองพุกาม ๘ คน พระเจ้านรสุส์าคัญว่าเป็นพราหมณ์จริง ให้หาไปเฝ้า พวกผู้ร้ายได้ทีก็ปลงพระชนม์เสียเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๓ พระเจ้านรสุเสวยราชย์อยู่ได้ ๓ ปี

ราชบุตรของพระเจ้านรสุ ทรงนามว่า นรสังข์ Naratheinhka ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๓ นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๗ ที่ครองเมืองพุกาม เสวยราชย์อยู่ได้ไม่ช้านาน เกิดเหตุเพราะรักใคร่นางเวฬุวดีอันเป็นชายาของเจ้านรปติสิทธุน้องยาเธอ ทำกลอุบายให้เลื่องลือว่ามีข้าศึกยกกองทัพใหญ่มารุกราชอาณาเขตต์ทางข้างเหนือ แกล้งให้น้องยาเธอองค์นั้นคุมกองทัพขึ้นไปป้องกันราชอาณาเขตต์ พอเจ้านรปติสิทธุไปห่างไกลพระนครแล้วก็ให้ไปรับนางเวฬุวดีมาตั้งเป็นมเหสี ฝ่ายเจ้านรปติสิทธุยกกองทัพไปถึงชายแดนไม่เห็นมีข้าศึกศัตรูก็ประหลาดใจ ให้ตั้งกองทัพพักอยู่ ขณะนั้นพอคนขึ้นไปบอกข่าวว่าเจ้านรสังข์ชิงเอานางเวฬุวดีไปตั้งเป็นมเหสี เจ้านรปติสิทธุก็โกรธแค้น ทำอุบายให้ปรากฏว่ายกกองทัพกลับทางบก แต่ตัวเองลอบลงเรือรีบล่องลงมาทางแม่น้ำเอราวดีกับพรรคพวก มิให้พระเจ้านรสังข์รู้ พอใกล้จะถึงเมืองพุกามก็แต่งคนสนิทให้ลอบเข้าไปปลงพระชนม์พระเจ้านรสังข์เสียเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๓ พระเจ้านรสังข์เสวยราชย์อยู่ได้เพียง ๓ ปี เรื่องตำนานเมืองพุกามเป็นสมัยรุ่งเรืองตั้งแต่พระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ มาจนสิ้นรัชชกาลพระเจ้าอลองคะสิทธุเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐ รวมระยะเวลา ๑๒๓ ปี แต่นั้นเกิดการฆ่าฟันชิงราชสมบัติติดๆ กันมา บ้านเมืองก็จับระส่ำระสายเสื่อมความรุ่งเรือง เริ่มเข้าสมัยความเสื่อมทรามของเมืองพุกามต่อมา

เจ้านรปติสิทธุ Narapatisitthu (ในจารึกกัลยาณีเรียกว่านรปติชัยสุร) กลับลงมาถึงเมืองพุกามก็ได้ครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๖ นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๘ ที่ได้ครองเมืองพุกาม ทำพิธีราชาภิเษกด้วยกันกับนางเวฬุวดี แล้วให้ไปรับพระมหาเถระปันสะคูกลับมาจากเมืองลังกา สถาปนาเป็นที่มหาสังฆปรินายกอย่างเดิม ครั้นพระมหาเถระปันสะคูถึงมรณภาพ จึงทรงตั้งพระมหาเถระอุตราชีวะเป็นมหาสังฆปรินายกต่อมา

ในรัชชกาลของพระเจ้านรปติสิทธุนี้ เริ่มเรื่องที่พระสงฆ์ลังกาวงศ์จะมาตั้งในเมืองพะม่ามอญและต่อมาถึงเมืองไทย ในเรื่องพงศาวดารลังกาว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๖ (ตรงกับสมัยพระเจ้าอลองคะสิทธุครองเมืองพุกาม) พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป เวลานั้นบ้านเมืองในเกาะลังกาตกเป็นของพวกทมิฬอยู่โดยมาก พระเจ้าปรักกรมพาหุพยายามทำสงครามเอาบ้านเมืองคืนได้ทั้งเกาะลังกาแล้วยกกองทัพข้ามไปตีเมืองทมิฬเอาไว้ในอำนาจได้ด้วย เมื่อการฝ่ายราชอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าปรักกรมพาหุทรงฟื้นพระพุทธศาสนา ให้พระสงฆ์ในลังการวมเป็นนิกายเดียวกัน และทำสังคายนา (อันไทยเรานับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๗) แต่นั้นพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปก็รุ่งเรืองขึ้น ประจวบกับเวลาที่พระพุทธศาสนาในอินเดียถูกพวกถือศาสนาฮินดูเบียดเบียฬให้เสื่อมทรามลง เมืองลังกาก็ได้รับความนับถือของประเทศอื่นที่ถือพระพุทธศาสนาอย่างคติหินยานด้วยกัน ว่าเป็นหลักพระศาสนา เมื่อพระมหาเถระปันสะคูกลับจากลังกาคงนำข่าวมาเล่าที่เมืองพุกาม ในพงศาวดารพะม่าจึงปรากฏว่าพระเจ้านรปติสิทธุตรัสให้พระมหาเถระอุตราชีวะซึ่งเป็นมหาสังฆปรินายกเป็นสมณทูตไปสืบพระศาสนาในลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๓ แต่ทางพงศาวดารลังกาว่าใน พ.ศ. ๑๗๓๓ นั้นเองกองทัพเรือเมืองลังกามาตีเมืองพะม่า ความแย้งกันอยู่ จึงเห็นว่าเรื่องที่จริงนั้น น่าจะเกิดแต่พวกลังกามาปล้นเมืองชายทะเลราชอาณาเขตต์ แต่เวลานั้นพระเจ้านรปติสิทธุไม่มีกำลังพอที่จะยกกองทัพไปตีเมืองลังกาตอบโต้ ประสงค์จะป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนั้นอีก จึงทรงอาราธนาให้พระมหาเถระอุตราชีวะเป็นสมณทูตไปว่ากล่าวโดยทางธรรม การก็สำเร็จประโยชน์ได้ดังพระประสงค์ แต่นั้นเมืองลังกากับเมืองพะม่าก็กลับเป็นไมตรีดีกันสืบมา

ในจารึกกัลยาณีว่าเมื่อพระมหาเถระอุตราชีวะไปเมืองลังกาครั้งนั้น มีเด็กมอญชาวเมืองพสิมคนหนึ่ง ซึ่งถวายตัวเป็นศิษย์แล้วบวชเป็นสามเณรได้นามว่า “ฉปัฎ” ตามไปด้วย เมื่อพระมหาเถระจะกลับเมืองพุกาม สามเณรฉปัฎขออยู่เล่าเรียนที่เมืองลังกา ครั้นอายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุในวงศ์สงฆ์ลังกา แล้วศึกษาพระธรรมวินัยตามลัทธิที่สังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุจนรอบรู้แตกฉาน เมื่อบวชครบ ๑๐ พรรษาบรรลุเถรภาพแล้ว จึงชวนเพื่อนภิกษุที่ได้เล่าเรียนรอบรู้และลุเถรภาพเช่นเดียวกันอีก ๔ รูป มีนามว่า พระ “สิวลี” ชาวลิตถิคาม (ในลังกาทวีปนั้น) รูป ๑ พระ “ตามะลินท” เป็นโอรสของพระเจ้ากรุงกัมโพช รูป ๑ พระ “อานันท” ชาวเมืองกิญจิบุรี (ที่ถูกกาญจนบุรี อยู่ในอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งภายหลังได้นามว่าเมือง “คอนชิวรัม” Gonjeevaram เดี๋ยวนี้รวมอยู่ในเขตต์เมืองมัทราษฎร์) รูป ๑ พระ “ราหุล” เป็นชาวเมืองลังกา รูป ๑ พากันโดยสารเรือมายังเมืองพสิมแล้วขึ้นไปยังเมืองพุกาม แต่เวลานั้นพระมหาเถระอุตราชีวะ ผู้เป็นอาจารย์เดิมของพระฉปัฎถึงมรณภาพเสียแล้ว พวกพระเถระ ๕ องค์ที่บวชมาจากลังกาเห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเมืองพะม่าผิดกับพระสงฆ์ลังกามากนัก จึงไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในพื้นเมือง พระสงฆ์ฝ่ายหินยานในเมืองพะม่าจึงเริ่มเกิดเป็น ๒ นิกายขึ้น พระสงฆ์ลังกาวงศ์คงจะสังวรวัตรปฏิบัติเคร่งครัดผิดกับพระสงฆ์ในพื้นเมืองสมัยนั้น เมื่อพระสงฆ์ที่มาใหม่รู้ภาษาพะม่าจนสามารถสั่งสอนชาวเมืองได้ ก็มีคนเลื่อมใสมาก แม้พระเจ้านรปติสิทธุก็ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพระสงฆ์ลังกาวงศ์และอุดหนุนให้พวกพะม่าบวชในนิกายนั้นมากขึ้นเป็นลำดับมา แต่มามีเหตุเกิดขึ้นในเหล่าพระเถระที่มาจากลังกา ๕ องค์นั้น ด้วยราหุลเถระเกิดกำหนัดอยากจะสึก พระเถระอีก ๔ องค์ทักท้วงว่าถ้าสึกที่เมืองพุกามพวกพะม่าจะเลยดูหมิ่นสิ้นนับถือพระสงฆ์ลังกาวงศ์ แนะว่าถ้าจะสึกให้หลบไปสึกในประเทศอื่นที่ห่างไกล พระราหุลเถระจึงลงเรือมายังประเทศอันหนึ่ง ในพงศาวดารพะม่าเรียกเกาะมลายะ (แต่ที่แท้นั้นคือเมืองนครศรีธรรมราช ดังจะกล่าวในวินิจฉัยต่อไปข้างหน้า) พระเจ้าแผ่นดินประเทศนั้นได้สมาคมก็เลื่อมใสในราหุลเถระ ถึงตั้งให้เป็นพระราชครู แต่นั้นก็มีพระสงฆ์ชาวลังกาตามมาอีก และมีชาวต่างประเทศทั้งพะม่า มอญ ไทย และเขมร พากันไปบวชเรียนที่เมืองลังกามากขึ้น ความนิยมนับถือคติลังกาวงศ์จึงแพร่หลายในประเทศเหล่านี้สืบมาด้วยประการฉะนี้

ตรงนี้จะนำวินิจฉัยเรื่องพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาสู่เมืองไทยแทรกลงสักหน่อย ด้วยเป็นเรื่องเนื่องกับพงศาวดารพะม่าในตอนที่กล่าวมานี้ ชื่อประเทศที่เรียกในพงศาวดารพะม่าว่า “เกาะมลายะ” นั้น ตรงกับที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Malay Peninsula แปลเป็นภาษาไทยว่า “แหลมมะลายู” เป็นแน่ แต่ตามบรรดาเมืองในแหลมมะลายูมีโบราณวัตถุสถานสร้างอย่างแบบลังกาปรากฏอยู่แต่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเมืองเดียว คือองค์พระมหาธาตุที่ยังบูชากันอยู่ทุกวันนี้ เป็นรูปทรงพระสถูปแบบลังกาชัดเจน ทั้งมีคำในศิลาจารึกของ “พ่อขุนรามคำแหง” ประกอบ ว่าพระมหาเถระชั้นสังฆราชาเจ้าคณะสงฆ์ที่เมืองสุโขทัยในสมัยนั้น ล้วนขึ้นไปจาก “เมืองนครศรีธรรมราช” นอกจากนั้นยังมีในหนังสือแต่งแต่โบราณก็หลายเรื่อง เช่นเรื่อง “สิหิงคนิทาน” ตำนานพระพุทธสิหิงค์เป็นต้น กล่าวยุติต้องกันว่าเมืองนครศรีธรรมราชเคยเป็นที่ตั้งคณะพระสงฆ์ลังกาวงศ์ และไปมาติดต่อกับเมืองลังกามาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเอาเรื่องทางเมืองไทยประสานกับพงศาวดารพะม่า เชื่อได้ว่าพระราหุลเถระ (กับพระสงฆ์ที่เป็นสานุศิษย์) เชิญพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มายังเมืองไทย และเริ่มแรกมาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๔๐ ก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัยประมาณ ๕๐ ปี เวลานั้นเมืองนครศรีธรรมราชยังมีพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองอยู่เป็นอิสสระ มาจนถึงรัชชกาลพระเจ้า (พ่อขุน) รามคำแหงมหาราช เมืองนครศรีธรรมราชจึงตกเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงสุโขทัย ในหนังสือสิหิงคนิทานกล่าวว่า พระร่วงเจ้า (คือพระเจ้ารามคำแหง) ดำรัสสั่งให้พระเจ้านครศรีธรรมราชขอพระพุทธรูปต่อพระเจ้ากรุงลังกา จึงได้พระพุทธสิหิงค์มายังประเทศสยาม และเสด็จลงไปรับพระพุทธสิหิงค์ถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองสุโขทัย

เมื่อก่อนมีพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวสยามทั้งไทย ขอม ละว้า ก็ถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่ถือตามคติมหายานอันได้มาจากกรุงศรีวิชัยในเกาะสุมาตรา มีโบราณวัตถุสถานคือพระมหาธาตุเมืองไชยาเป็นต้นซึ่งสร้างตามคติมหายาน ยังปรากฏอยู่ ณ ที่ต่างๆ ตั้งแต่เมืองยะลา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ตลอดขึ้นมาจนถึงเมืองนครปฐม เมืองลพบุรี และต่อไปทางมณฑลนครราชสิมาจนถึงกรุงกัมพูชา แม้พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชองค์เดิมก็สร้างครั้งถือลัทธิมหายาน เป็นรูปมณฑปอย่างพระมหาธาตุเมืองไชยา พระมหาธาตุองค์ที่ปรากฏอยู่บัดนี้พวกพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาให้แบบสร้างเป็นพระสถูปแบบลังกา สวมมณฑปของเดิมไว้ข้างใน เมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาตั้งสอนคติหินยาน ณ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น พวกอาหรับก็มาสั่งสอนศาสนาอิสลามแก่พวกชาวแหลมมะลายูทางตอนใต้ พากันไปเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเสียโดยมากแล้ว ยังถือพระพุทธศาสนากันอยู่แต่ข้างตอนเหนือ แต่คติมหายานที่ถือกันอยู่คงเป็นอย่างทรุดโทรมมากด้วยขาดความอุดหนุนแต่ชาวกรุงศรีวิชัยมาช้านาน เพราะชาวเมืองศรีวิชัยก็พากันไปเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเสียแล้ว เมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาตั้งสั่งสอน พวกชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงพากันเลื่อมใสคติลังกาวงศ์โดยรวดเร็ว ถึงกระนั้นความลำบากอย่างอื่นก็ยังมี ด้วยพระไตรปิฎกพวกมหายานเป็นภาษาสันสกฤต พวกพระสงฆ์ลังกาวงศ์จะต้องเปลี่ยนพระไตรปิฎกเป็นภาษามคธตามคติหินยาน การแผ่คติและคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในเมืองไทยจึงไม่รวดเร็ว ราวสัก ๑๐๐ ปีพระสงฆ์สยามจึงได้แปลงเป็นอย่างลังกาวงศ์ทั่วทั้งประเทศ และแพร่หลายตลอดไปจนในอาณาเขตต์ไทยพวกอื่นทางฝ่ายเหนือ และแพร่หลายลงไปถึงเมืองเขมร ถือคติหินยานลังกาวงศ์ทั่วกันสืบมาจนทุกวันนี้

เมื่อพระราหุลเถระมายังเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ในจารึกกัลยาณีกล่าวถึงพระเถระลังกาวงศ์ที่อยู่ในเมืองพุกาม ๔ รูป ว่าต่อมาพระฉปัฎถึงมรณภาพ อีก ๓ รูปเกิดรังเกียจกันและกันว่าประพฤติฝ่าฝืนพระวินัยบัญญัติ ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน พระสงฆ์ลังกาวงศ์ในเมืองพุกามจึงแยกกันเป็น ๓ คณะ แต่ชาวเมืองเรียกรวมกันว่าพวกนิกายใหม่ เรียกพระสงฆ์เดิมว่าพวกนิกายเก่า

จะเล่าเรื่องพงศาวดารเมืองพุกามต่อไป พระเจ้านรปติสิทธุทรงสร้างวัดอย่างมหาวิหารขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองพุกามวัด ๑ พะม่าเรียกว่าวัด “คอดอบะลิน” Gawdawbalin แปลว่า “บัลลังก์พระทันตธาตุ” (อยู่ริมแม่น้ำเอราวดี ใกล้กับเรือนรับแขกที่ฉันไปพัก) และสร้างวัดขนาดย่อมกว่านั้นเรียกว่าวัด “จุฬามณี” Sulamani อีกวัด ๑ นอกจากนั้นทรงสร้างวัดที่อื่นๆ ที่ไม่เป็นสลักสำคัญอีกหลายวัด พระเจ้านรปติสิทธุมีราชบุตร ๕ องค์ (เห็นจะเป็นแต่ลูกพระสนมด้วยกันทั้งนั้น) ประสงค์จะเลือกองค์หนึ่งเป็นรัชชทายาทโดยทำพิธีเสี่ยงทาย ให้เอาเศวตฉัตรปักกลางแจ้งแล้วให้ราชบุตรทั้ง ๕ องค์นั้นนั่งรายทิศละองค์ ทรงอธิษฐานว่าถ้าราชบุตรองค์ไหนมีบุญญาธิการสมควรจะครองแผ่นดินได้ ขอให้เกิดนิมิตต์ให้เห็นปรากฏ ขณะนั้นเศวตฉัตรโน้มไปทางราชบุตรองค์น้อยทรงนามว่าเจ้า “ชัยสังข์” Zeytheinkha จึงทรงตั้งให้เจ้าชัยสังข์เป็นที่รัชชทายาท เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์ก็ยินยอมไม่รังเกียจ พระเจ้านรปติสิทธุพระชันษา ๗๔ ปี เสวยราชย์อยู่ ๓๗ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๕๓ เจ้าชัยสังข์ได้รับรัชชทายาท นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๙ ที่ครองเมืองพุกาม แต่ในพงศาวดารพะม่าเอานามวัดที่ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ มาเรียกเป็นพระนามว่าพระเจ้า “ติโลมินโล” Htilominlo (น่าจะตรงกับคำ “ติโลกะนาถ”) และเรียกอีกพระนามหนึ่งว่าพระเจ้า “นันตองมยา” Nantaungmya ดูเหมือนจะหมายความว่า “พระเจ้าทรงธรรม” เพราะทรงพระเกียรติในการตั้งพระราชกำหนดกฎหมายด้วย พอพระเจ้าติโลมินโลเสวยราชย์ก็มอบราชการบ้านเมืองให้เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์ช่วยกันว่ากล่าวต่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าทั้ง ๔ องค์เข้าไปประชุมกันว่าราชการที่ในวังเสมอเป็นนิจ จึงเป็นมูลเหตุที่เกิดประเพณีมีที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งพะม่าเรียกว่า “หลุดดอ” สืบมา ดังได้พรรณนาในตอนว่าด้วยเมืองมัณฑเล ส่วนพระเจ้าติโลมินโลเมื่อมอบราชกิจที่ต้องว่าราชการบ้านเมืองแก่เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์แล้ว ก็ทรงขวนขวายแต่ในการบำรุงพระศาสนาและสร้างวัดวาอาราม ทรงบุรณะวัดพระทันตบัลลังก์ Gawdawbalin ซึ่งพระชนกทรงสร้างค้างอยู่จนสำเร็จวัดหนึ่ง และให้ถ่ายแบบพระมหาโพธิเจดีย์ที่เมืองพุทธคยามาสร้างในเมืองพุกามด้วย เรียกว่าวัด “มหาโพธิ” Mahabodhi วัด ๑

ตรงนี้จะแทรกอธิบายลงสักหน่อย ด้วยพระเจดีย์โบราณแบบมหาโพธิเจดีย์มีอยู่ ๓ องค์ เผอิญฉันได้เคยเห็นด้วยตาตนเองทั้งนั้น องค์เดิมอยู่ที่เมืองพุทธคยาในอินเดีย องค์ที่ ๒ พระเจ้าติโลมินโลถ่ายแบบมาสร้างที่เมืองพุกาม ดูขนาดจะเท่ากับองค์เดิม องค์ที่ ๓ อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ชาวเมืองเรียกกันว่า “วัดเจดีย์เจ็ดยอด” สร้างลดขนาดลงมาเป็นอย่างย่อม เห็นได้ว่าถ่ายแบบต่อๆ กันมา ก็ศักราชในรัชชกาลชองพระเจ้าติโลมินโลอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๗๕๓ จน พ.ศ. ๑๗๗๗ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ต้องสร้างเมื่อภายหลัง พ.ศ. ๑๗๕๓ และสร้างในสมัยเมื่อเมืองเชียงใหม่ยังเรียกชื่ออื่นและยังเป็นประเทศราชขึ้นเมืองพุกาม เพราะเมืองเชียงใหม่เดี๋ยวนี้พระเจ้ามังรายสร้างและขนานนามว่า “เชียงใหม่” ต่อเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙

วัดสำคัญที่พระเจ้าติโลมินโลสร้างที่เมืองพุกามมีอีกวัด ๑ เรียกว่าวัด “ติโลมินโล” สร้างตรงที่ทำพิธีตั้งเศวตฉัตรเสี่ยงทายอันเป็นเหตุที่จะได้ทรงรับรัชชทายาท วัดนี้นับเป็นวัดมหาวิหารซึ่งสร้างเป็นที่สุดในสมัยเมืองพุกาม อนึ่งในรัชชกาลพระเจ้าติโลมินโล พระพวกพระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรือง ถึงสามารถแต่งหนังสือภาษามคธขึ้นในเมืองพะม่าหลายคัมภีร์ ปรากฏว่าพระธรรมวิลาสผู้เป็นศิษย์ของพระอานันทเถระที่มาจากลังกาคราวแรก แปลคัมภีร์ธรรมศาสตร์จากฉะบับ (ภาษาสันสกฤต) ในเมืองมอญเป็นภาษามคธ แต่ฉะบับศูนย์ไปเสียแล้ว ความเหล่านี้ส่อให้เห็นว่าสมัยรัชชกาลพระเจ้าติโลมินโลนั้น วิชาวรรณคดีก็เจริญด้วย พระเจ้าติโลมินโลครองราชสมบัติอยู่ ๒๔ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๗

พระเจ้ากะยอชวา Kyawswa ราชบุตรได้รับรัชชทายาท นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๐ ซึ่งครองเมืองพุกาม เมื่อก่อนเสวยราชย์เห็นจะเป็นศิษย์พระมหาเถระสีหมหาอุบาลี ซึ่งได้เป็นมหาสังฆปรินายกต่อพระมหาเถระอุตราชีวะมา ทรงศึกษาทราบภาษามคธแตกฉานพาพระหฤทัยโน้มไปทางพระศาสนา เมื่อได้เสวยราชย์ว่าราชการแผ่นดินอยู่จนเจ้าอุชานะ Uzana ลูกเธอพระองค์ใหญ่เจริญพระชันษาแล้ว ก็มอบราชการบ้านเมืองให้เจ้าอุชานะบังคับบัญชา ส่วนพระองค์ทรงบำเพ็ญแต่การบำรุงพระศาสนากับแต่งหนังสือมาจนสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๓ เสวยราชย์อยู่ ๑๖ ปี

เจ้าอุชานะได้รับรัชชทายาท นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๑ ที่ครองเมืองพุกาม ในพงศาวดารพะม่าว่าพระเจ้าอุชานะโปรดแต่การกีฬากับชอบเที่ยวล่าสัตว์ มอบราชการบ้านเมืองให้มหาอำมาตย์ชื่อ “ราชสิงหกรรนต์” Yazathinkyan ว่ากล่าวต่างพระเนตรพระกรรณ การบ้านเมืองก็ตกอยู่ในอำนาจมหาอำมาตย์คนนั้น ครั้งหนึ่งพระเจ้าอุชานะไปเที่ยวโพนช้าง คล้องติดช้างเถื่อนกำลังซับมัน ชนช้างพระที่นั่งล้ม พระเจ้าอุชานะสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๗ เสวยราชย์อยู่ได้ ๔ ปี

เจ้าอุชานะมีราชบุตร ๒ องค์ ทรงนามว่า “สิงคสุ” Thingthu เป็นลูกพระมเหสิuองค์ ๑ ทรงนามว่า “นรสีหปติ” Narathihapati เป็นลูกพระสนมองค์ ๑ เจ้าสิงคสุมีสาเหตุวิวาทกับมหาอำมาตย์ราชสิงหกรรนต์มาแต่ก่อน มหาอำมาตย์คนนั้นมีอำนาจในราชการ จึงชวนข้าราชการให้พร้อมใจกันเชิญเจ้านรสีหปติขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๒ และเป็นองค์ที่สุดซึ่งครองเมืองพุกาม

พอพระเจ้านรสีหปติเสวยราชย์ รู้สึกว่ามหาอำมาตย์ราชสิงหกรรนต์เอาอำนาจไว้ในเงื้อมมือหมด ก็ให้ถอดจากตำแหน่งแล้วให้เนรเทศไปเสีย ในไม่ช้าก็เกิดขบถที่เมืองเมาะตะมะเมืองมัจฉคิรีทางตะวันตกขึ้นพร้อมกัน ผู้อื่นไม่สามารถจะปราบปรามได้ ต้องให้มหาอำมาตย์ราชสิงหกรรนต์กลับเข้าไปเป็นแม่ทัพ ก็สามารถปราบขบถราบคาบได้ทั้ง ๒ แห่ง แต่พอเสร็จสงครามแล้วเผอิญมหาอำมาตย์ราชสิงหกรรนต์ป่วยถึงแก่กรรมเสีย ไม่ทันกลับเข้าไปเมืองพุกาม พระเจ้านรสีหปติมีราชบุตร ๓ องค์ ราชบุตรองค์ใหญ่ทรงนามว่า “อุชานะ” Uzana ให้ไปครองเมืองพะสิมอันเป็นเมืองท่าอยู่ใกล้ปากน้ำเอราวดี ให้ราชบุตรองค์กลางทรงนามว่า “กะยอชวา” Kyawswa ครองเมืองทะละ (ที่เป็นเมืองร่างกุ้งบัดนี้) แต่ราชบุตรองค์น้อยอันทรงนามว่า สีหสุ Thihathu นั้น พระเจ้านรสีหปติไม่ไว้วางพระหฤทัยจึงให้อยู่ในเมืองพุกาม ตั้งแต่สิ้นมหาอำมาตย์ราชสิงหกรรนต์แล้วก็ไม่มีตัวข้าราชการซึ่งมีสติปัญญาสามารถ ถึงกระนั้นถ้าในเมืองพะม่ามีเหตุการณ์เพียงเช่นเป็นมาแต่ก่อน ราชอาณาเขตต์เมืองพุกามก็ยังจะอยู่มาได้อีก แต่เผอิญพวกชาว “มงโคล” Mongol มาได้เมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๓ ตรงในรัชชกาลนั้น พระเจ้ากุบลายข่าน Kublai Khan ตั้งราชวงศ์หงวนครองประเทศจีนแล้วขยายอาณาเขตต์ไปทางตะวันออกจนได้เมืองนันเจา ซึ่งเป็นเมืองหลวงไทยมาแต่ก่อน รวม Annex ไว้ในราชอาณาเขตต์ ให้เรียกว่ามณฑลฮุนหนำ Yunnan (อันเป็นเหตุที่พวกไทยพากันทิ้งภูมิลำเนาอพยพเพิ่มเติมลงมาในเมืองไทยนี้กับทั้งทางเมืองพะม่า ตลอดไปจนเมืองจิตเกิงเมืองอัสสัมต่อแดนอินเดีย) อุปราชจีนที่เมืองฮุนหนำให้มาทวง “ก้อง” ณ เมืองพุกาม ด้วยอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินพะม่าได้เคยส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนมาแต่ก่อน พระเจ้านรสีหปติไม่ยอม “จิ้มก้อง” อุปราชบอกไปยังเมืองหลวง พระเจ้ากุบลายข่านจึงให้ทูตมาทวงก้องอีกครั้ง ๑ ทูตที่มาครั้งนี้มาจากเมืองหลวง ถือรับสั่งมาบังคับให้เมืองพะม่ายอมเป็นประเทศราชขึ้นจีนโดยดี ทูตจีนเห็นจะมาวางโตก้าวร้าวต่างๆ ในพงศาวดารพะม่ากล่าวแต่ว่าไม่ยอมถอดเกือกในที่เฝ้า พระเจ้านรสีหปติว่าทูตจีนดูหมิ่นก็ให้จับฆ่าเสีย แล้วแต่งกองทัพไปตีเมืองกันงาย (อยู่ต่อเมืองบาโมไปข้างเหนือ) ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของพะม่าแล้วกลับใจไปขึ้นแก่จีน อุปราชฮุนหนำก็ให้กองทัพจีนยกลงมาช่วยเมืองกันงาย ตีกองทัพพะม่าแตกพ่าย พอข่าวรู้ถึงเมืองพุกาม พระเจ้านรสีหปติก็ตกพระหฤทัย คิดว่าจีนคงจะยกกองทัพลงมาตีถึงเมืองพุกาม ให้เตรียมการป้องกันพระนครเป็นโกลาหล ในพงศาวดารพะม่าว่าให้รื้อวัดเสียเป็นอันมาก เพื่อเอาอิฐและดินไปถมทำป้อมและสนามเพลาะ ถ้าเช่นนั้นสันนิษฐานว่าคงรื้อแต่วัดที่ซวดเซหักพังอยู่แล้ว วัดที่เป็นของดีงามจึงยังเหลืออยู่ทั้งนั้น แต่การตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในพระนคร เช่นเกิดมีพวกคิดขบถเป็นต้น พระเจ้านรสีหปติเห็นไม่ปลอดภัย จึงย้ายราชสำนักจากเมืองพุกามหนีลงไปยังเมืองพะสิม ข้อนี้เป็นเหตุให้คนพากันดูหมิ่นถึงเรียกกันว่า “ตะโรกปเยมิน” Tarokpyemin แปลว่า “พระเจ้าหนีจีน” The king who fled from the Chinese แต่ที่จริงครั้งนั้นกองทัพจีนมิได้ตามลงมา เพราะพวกทหารจีนเกิดระส่ำระสายด้วยทนฤดูร้อนในแดนพะม่าไม่ไหว พระเจ้ากุบลายข่านจึงให้กองทัพกลับไปเสียครั้ง ๑ ฝ่ายพระเจ้านรสีหปติเมื่อทราบว่ากองทัพจีนไม่ยกลงมาตีเมืองพุกามดังคาด ก็ย้ายราชสำนักกลับขึ้นไปจากเมืองพะสิม แต่เมื่อไปถึงเมืองแปรพบเจ้าสีหสุราชบุตรองค์น้อยที่ไม่ไว้วางพระหฤทัยนั้น คุมกำลังจากเมืองพุกามมาตั้งดักอยู่ แล้วเข้าควบคุมบังคับให้พระเจ้านรสีหปติเสวยยาพิษสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๐ เสวยราชย์ได้ ๓๖ ปี

พอพระเจ้านรสีหปติสิ้นพระชนม์ เมืองประเทศราชและเมืองพระยามหานครที่เคยอยู่ในราชอาณาเขตต์ก็พากันตั้งเป็นอิสสระ เจ้าสีหสุทำกลอุบายลงไปยังเมืองพะสิมเหมือนอย่างจะไปเชิญเจ้าอุชานะพี่ชายใหญ่ขึ้นเสวยราชย์ เวลานั้นเจ้าอุชานะประชวรอยู่ เจ้าสีหสุได้ทีก็ฆ่าเจ้าอุชานะเสีย แล้วยกกองทัพไปยังเมืองทะละ แต่เจ้ากะยอชวาพี่ชายองค์กลางรู้เท่าเตรียมจะต่อสู้ เจ้าสีหสุก็ไถลไปตีเมืองพะโคเลยไปถูกธนูข้าศึกสิ้นชีพ

อุปราชเมืองฮุนหนำรู้ว่าพระเจ้านรสีหปตีสิ้นพระชนม์ และเมืองพะม่าเป็นจลาจล เห็นได้ทีก็ยกกองทัพจีนลงมาตีได้เมืองพุกามใน พ.ศ. ๑๘๒๐ นั้น นับเวลาที่เมืองพุกามเป็นราชธานีของพระเจ้าราชาธิราชเมืองพะม่ามาได้ ๒๔๐ ปี เมื่อจีนได้ครองเมืองพุกามแล้ว เมืองขึ้นที่แยกกันเป็นอิสสระอยู่กลัวจีนจะไปตีก็มาอ่อนน้อมต่อจีน เมืองไหนมายอมขึ้นจีนก็ยอมให้เมืองนั้นคงอยู่เป็นเอกเทศโดยลำพัง ประเทศพะม่าก็แยกกันเป็นหลายอาณาเขตต์ ล้วนขึ้นต่อจีนแต่นั้นมา ในพงศาวดารพะม่าว่าพระเจ้ากุบลายข่านตั้งเจ้ากะยอชวาราชบุตรองค์กลางของพระเจ้านรสีหปติ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองทะละอยู่ก่อน เป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองพุกาม แต่แบ่งเอาที่มณฑลกอกเส Kaukse ข้างฝ่ายเหนือ ซึ่งในเวลานั้นมีพวกไทยใหญ่ลงมาตั้งทำไร่นาอยู่เป็นอันมาก ตั้งเป็นมณฑลต่างหาก ให้ไทยใหญ่ ๓ คนพี่น้องปกครอง ต่อมาพวก ๓ คนนั้นคิดกลอุบายปลงพระชนม์เจ้ากะยอชวาเสีย แล้วชวนพวกไทยใหญ่ยกกองทัพลงมาตีเมืองพุกามได้ ให้เผารั้ววังบ้านเรือนซึ่งในสมัยนั้นล้วนสร้างด้วยไม้เสียหมด เมืองพุกามก็เลยเป็นเมืองร้าง แม้ถึงสมัยเมื่อพะม่ามอญกลับตั้งเป็นอิสสระได้ดังปรากฏในเรื่องราชาธิราช เมืองพุกามก็เป็นแต่เมืองขึ้นของพะม่า หาได้กลับเป็นราชธานีอีกไม่ เรื่องพงศาวดารเมืองพุกามมีมาดังนี้ ต่อนี้ก็ไปเข้าเรื่องสมัยเมืองสะแคงเป็นราชธานีดังเล่ามาในตอนอื่นแล้ว

จะพรรณนาว่าด้วยโบราณวัตถุที่เมืองพุกามต่อไป มีความบางข้อที่ควรจะกล่าวพอให้เข้าใจเป็นเค้าเสียก่อน คือ

๑. เจดียสถานชองโบราณที่เมืองพุกาม ถ้าว่าโดยรูปทรง ผิดกันกับเจดียสถานที่พวกขอมสร้างทางเมืองเขมร ดูเหมือนจะได้แบบอย่างมาแต่ทางหนึ่งต่างหาก มิใช่ได้มาจากอินเดียและเมืองลังกาโดยตรง

๒. เจดียสถานที่เมืองพุกามล้วนสร้างด้วยก่ออิฐถือปูน ไม่ก่อด้วยศิลาสลับอิฐอย่างเจดียสถานของขอมที่เรียกว่า “ปราสาทหิน” แต่มิใช่เพราะไม่มีศิลาจะใช้ ที่จริงพื้นแผ่นดินที่เมืองพุกามข้างใต้ดินมีเทือกศิลาทรายอยู่ทั่วไป อาจจะหาศิลาทรายได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปเอามาจากภูเขาห่างไกลเหมือนอย่างที่เมืองเขมร แต่พวกชาวเมืองพุกามขุดเอาศิลาทรายขึ้นใช้เพียงทำเป็นแผ่นปูพื้นและทำขั้นบันได เขาบอกว่ามีวัดอย่างเล็กๆ ก่อด้วยศิลาทรายอยู่วัดเดียว ดูราวกับลองทำดูวัด ๑ แล้วก็ไม่ทำอีก จะเป็นด้วยเหตุใด ข้อนี้ถ้าคิดดูเพียงวัดที่บุคคลชั้นคฤหบดีสร้างก็พอเห็นเหตุ ว่าคงเป็นเพราะก่อด้วยอิฐไม่สิ้นเปลืองเหมือนกับก่อด้วยศิลา มีทุนทำได้เพียงเท่านั้น แต่ไฉนวัดที่พระราชามหากษัตริย์สร้างอย่างใหญ่โตสำหรับเฉลิมพระเกียรติจึงก่อแต่ด้วยอิฐเหมือนกัน ข้อนี้มีวินิจฉัยของพวกนักปราชญ์โบราณคดีในเมืองพะม่าว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ครองเมืองพุกามสร้างวัดด้วยเจตนาจะให้แล้วสำเร็จบริบูรณ์ทันทอดพระเนตรเห็น ถ้าสร้างด้วยศิลาจะทำให้แล้วทันพระราชประสงค์ไม่ได้ จึงให้ก่ออิฐถือปูน เขาอ้างหลักข้อนี้ด้วยที่ปรากฏในพงศาวดาร ว่าวัดใหญ่ๆ เช่นวัดอานันท์ที่พระเจ้าคันชิตสร้างเป็นต้น สร้างจนสำเร็จได้ฉลองในรัชชกาลนั้นเอง ที่สร้างค้างมาสำเร็จต่อรัชชกาลหลังมีน้อยวัด ความที่เขาว่านี้ก็ชอบกล ฉันได้เคยพิจารณาปราสาทหินทั้งที่ในเมืองเขมรและที่มีในเมืองไทยเช่นที่เมืองพิมายเป็นต้น แต่ละแห่งดูเหมือนสร้างหลายชั่วอายุคน ถึงกระนั้นก็ยังมีรอยสร้างค้างอยู่ทุกแห่ง แม้จนพระนครวัดก็มีรอยทำค้าง ไม่เคยพบปราสาทหินแห่งใดที่สร้างสำเร็จบริบูรณ์สักแห่งเดียว ตามวินิจฉัยของพวกนักปราชญ์โบราณคดีทางเมืองเขมร เขาว่าประเพณีที่พวกขอมสร้างวัดนั้น เริ่มสร้างด้วยเครื่องไม้ให้สำเร็จเป็นวัดเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเริ่มสร้างด้วยศิลาเปลี่ยนเครื่องไม้ สร้างเรื่อยมาจนชั้นลูกชั้นหลาน ตระกูลใดมีกำลังหรือว่าเป็นวัดที่มีผู้อื่นเลื่อมใสก็สร้างต่อๆ กันมาโดยลำดับจนหมดกำลังก็ค้างอยู่เพียงนั้น

๓. โบราณวัตถุสถานที่เมืองพุกาม สร้างก่อนสมัยสุโขทัยแทบทั้งนั้น ถ้านับเป็นอายุก็กว่า ๙๐๐ ปีมาแล้ว ที่ยังคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้มากมายจนนับไม่ถ้วนเพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ อย่าง ๑ เพราะเมืองพุกามตั้งอยู่ตอนกลางแผ่นดินพะม่า ที่เรียกว่า “ตอนแล้ง” Dry Zone ฝนตกน้อยน้ำไม่พอจะเลี้ยงพืชพันธุ์ต้นโพธิ์ต้นไทรให้เกาะเกิดกับอิฐปูนได้ มีแต่หญ้าฝอยขึ้นเกาะในฤดูฝน พอถึงฤดูแล้งก็แห้งหายไปหมด ของที่ก่อสร้างแต่โบราณจึงไม่หักพังเพราะต้นไม้ขึ้นเบียดเบียฬ อีกอย่าง ๑ เพราะพวกพะม่าแม้จนทุกวันนี้ ถือคติไม่รื้อแย่งเจดียวัตถุอย่างเคร่งครัด ทั้งหวงแหนมิให้ผู้อื่นทำเช่นนั้นด้วย สังเกตดูตามวัดร้างแม้ที่อยู่ห่างบ้านคน ก็ไม่เห็นแห่งใดที่มีรอยโจรลอบขุดค้นเอาทรัพย์ ชะรอยในเมืองพะม่าจะมีกฎหมายบัญญัติว่า การทำลายเจดียสถานเป็นอุกฤษฏ์โทษลงอาชญาถึงประหารชีวิต เหมือนอย่างที่มีในกฎหมายลักษณะโจรของไทยมาแต่โบราณ เป็นเครื่องกำชับให้กลัวบาปกรรมด้วย อย่างไรก็ดีข้อนี้เป็นปัจจัยให้คุณแก่การรักษาของโบราณมาก ควรนับว่าพวกพะม่าชาวเมืองพุกามช่วยกันรักษาเจดียสถานทั้งปวงด้วย

๔. วัดโบราณที่เมืองพุกามเป็นวัดร้างแทบทั้งนั้น เพราะมีวัดมากกว่ามาก จะต้องมีพระสงฆ์ตั้งหมื่นจึงจะพอรักษาวัด แต่บางวัดพระเจ้าแผ่นดินพะม่าในภายหลังทรงบุรณะปฏิสังขรณ์และราษฎรก็ช่วยกันรักษาไม่ทิ้งให้ร้าง เช่นวัดพระมหาธาตุสินคงของพระจ้าอนุรุทธ์มหาราช และวัดอานันท์ของพระเจ้าคันชิต ๒ วัดนี้ ดูเหมือนจะไม่เคยร้างเลยทีเดียว เพราะพวกพะม่านับถือมาก แม้วัดร้างที่เป็นวัดสำคัญและใหญ่โตเช่นวัดสัพพัญญู วัดทันตบัลลังก์ Gawdawbalin และวัดมหาโพธิ์เป็นต้น เมื่อเมืองพะม่าตกเป็นของอังกฤษแล้ว รัฐบาลก็จ่ายเงินให้กรมตรวจโบราณคดีทำการปฏิสังขรณ์ บางแห่งเป็นเงินมากๆ อย่างเช่นปฏิสังขรณ์วัดสัพพัญญูว่าสิ้นเงินถึงราว ๔๐,๐๐๐ รูปี เพราะฉะนั้นหลายๆ ปีจึงจะปฏิสังขรณ์ได้สักแห่ง ๑ เมื่อรัฐบาลปฏิสังขรณ์แล้ว ถ้าวัดไหนสัปบุรุษชาวเมืองจะรับรักษารัฐบาลก็ตั้งให้เป็นกรรมการรักษาวัดนั้น วัดไหนที่ไม่มีคนภเายนอกเข้ารับรักษา หรือที่ยังร้างอยู่แต่เป็นวัดสำคัญในทางโบราณคดี ก็ให้กรมตรวจโบราณคดีรักษา วิธีปฏิสังขรณ์ที่กรมตรวจโบราณคดีทำน่าสรรเสริญ ด้วยเขารักษาแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้นว่าแห่งใดลวดลายและรูปภาพของเดิมหักหายหรือลบเลือนบกพร่อง จะทำขึ้นให้บริบูรณ์เหมือนเดิมไม่ได้ ก็ให้รักษาของเดิมไว้เพียงเท่าที่มีอยู่ ที่ตรงไหนต้องทำใหม่ก็พยายามทำตามแบบเดิม นับว่าเป็นการปฏิสังขรณ์โดยทางที่ถูกทุกแห่ง

จะพรรณนาว่าด้วยเจดียวัตถุของโบราณ ถ้าไม่มีรูปฉายกำกับอยู่ข้างลำบาก แต่จะงดเสียทีเดียวก็ไม่ควร เจดียสถานของโบราณที่เมืองพุกาม ถ้าจำแนกโดยประเภทก็มีเป็น ๔ อย่าง คือ “พระสถูป” หรือที่เราเรียกกันว่าพระเจดีย์อย่าง ๑ “พุทธาวาส” ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอย่าง ๑ “หอธรรม” ที่ไว้พระไตรปิฎกอย่าง ๑ สังฆาวาสที่พระสงฆ์อาศัยอย่าง ๑ จะพรรณนาแยกเป็นอย่างๆ ต่อไป ว่าด้วยพระสถูปก่อน ด้วยทำรูปทรงหลายอย่างต่างกัน

(ก) พระสถูปอย่าง ๑ ทำองค์ระฆังสูง รูปทรงเหมือนลูกฟัก ตั้งแต่ปากระฆังลงมาถึงพื้นมีฐานเตี้ยๆ เหมือนอย่างขั้นบันไดขั้นเดียว รองยอดทำอย่างเตี้ยๆ พระสถูปทรงอย่างว่ามานี้เห็นจะถ่ายแบบมาจากพระสถูปที่เมืองสารเขตร ซึ่งจะพรรณนาในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า

(ข) พระสถูปอีกอย่าง ๑ รูปองค์ระฆังเป็นทรงบัวคว่ำ มีบัลลังก์ตั้งบนระฆัง และมียอดเป็นปล้องไฉนยาวต่อขึ้นไป ใต้ปากระฆังมีฐานกลมต่อลงมาจนถึงพื้น หรือถ้าว่าให้เข้าใจง่ายก็อย่างเดียวกับพระเจดีย์กลมที่สร้างในเมืองไทย เช่นพระมหาสถูปที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

(ค) อีกอย่าง ๑ พระสถูปรูปทรงเหมือนกับที่พรรณนาในวรรค (ข) แต่ไม่มีบัลลังก์ เอาปล้องไฉนลงมาต่อกับองค์ระฆัง อย่างนี้ไม่เห็นมีในแบบพระสถูปอินเดีย จะได้แบบมาจากไหนหรือคิดขึ้นที่เมืองพุกามไม่ทราบแน่ พระสถูปอย่างนี้ดูเหมือนไทยได้แบบไปสร้างไว้ในพวกพระเจดีย์รายรอบพระระเบียงวัดราชบุรณะในกรุงเทพฯ ก็มี

(ฆ) อีกอย่าง ๑ พระสถูปอย่างพรรณนามาในวรรค (ข) แต่ทำองค์ระฆังเป็นทรง “บาตรคว่ำ” (แต่พะม่าทำรูปบาตรเหมือนโออย่างเตี้ย) อย่างนี้มาแต่แบบพระสถูปฝ่ายมหายาน ซึ่งอ้างว่าพระพุทธองค์ได้ประทานแบบให้ทำพระสถูปด้วยเอาผ้าไตรจีวรพับซ้อนกันเป็นแบบฐาน (จึงทำฐานเป็น ๔ เหลี่ยม) เอาบาตรคว่ำวางบนผ้าไตรจีวรที่พับนั้นเป็นแบบองค์ระฆัง และเอาไม้ทานพระกรตั้งบนก้นบาตรเป็นแบบยอด

(ง) อีกอย่าง ๑ (น่าเรียกว่าปรางค์) คือจำลองแบบมาจากพระมหาโพธิเจดีย์ ณ เมืองพุทธคยา รูปเป็นปรางค์ ทำพระสถูปเป็นยอด มีที่เมืองพุกามแต่องค์เดียวเท่านั้น ต้นแบบพระปรางค์พุทธคยานี้ นักปราชญ์อังกฤษชื่อ เฟอคัสสัน Furgusson ผู้ตรวจลักษณะการก่อสร้างในอินเดียแต่โบราณ กล่าวไว้ในหนังสือที่เขาแต่งว่า ที่โพธิมณฑล ณ เมืองพุทธคยานั้น เดิมพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างแต่รั้วเขื่อนศิลารอบบริเวณกับวิหารน้อยที่บูชาริมต้นพระศรีมหาโพธิ์หลัง ๑ เป็นเช่นนั้นมาจนถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อมรเทวะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ซึ่งเสวยราชย์ครองประเทศมัลวะ เข้ารีตเลื่อมใสพระพุทธศาสนา มีความศรัทธาให้มาสร้างพระเจดีย์ใหญ่ครอบวิหารเดิม แต่เอาแบบปรางค์อย่างไสยศาสตร์มาสร้าง ตอนล่างเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป ทำพระสถูปเป็นยอดปรางค์ เฟอคัสสันว่าพุทธเจดีย์ในอินเดียเป็นรูปปรางค์แต่ที่พุทธคยาองค์เดียวเท่านั้น

(จ) มีพระเจดีย์ที่เมืองพุกามองค์ ๑ จะเรียกว่าพระสถูปหรืออะไรก็ยังแคลงใจ ด้วยทำรูปเป็นเหลี่ยมคล้ายกับโกศใส่ศพของไทยที่เรียกว่า “โกศไม้สิบสอง” ตั้งบนฐานสูง ๔ เหลี่ยม สถูปรูปทรงอย่างนี้เห็นทำไว้ต่างหาก มีองค์เดียว แต่ไปสังเกตเห็นที่พุทธาวาสแห่ง ๑ ซึ่งทำหลังคามียอดเป็นพระสถูป มีรูปโกศเหลี่ยมเช่นว่านั้น ทำเป็นเจดีย์บริวารตั้งรายตามมุมทั้ง ๔ ทิศ จึงต้องนับว่าเป็นของมีแบบ

(ฉ) ประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่เมืองพุกามไม่เห็นมีพระเจดีย์โบราณที่ทำรูปทรงอย่าง “พระเจดีย์มอญ” เช่นพระเกศธาตุและพระมุเตา คืออย่างพระเจดีย์ที่พวกมอญมาสร้างในเมืองเราสักองค์เดียว ชวนให้เห็นว่าแบบพระเจดีย์มอญจะเป็นของคิดขึ้นใหม่ภายหลังสมัยเมืองพุกามเป็นราชธานี

(ช) พระสถูปที่เมืองพุกามทำฐานที่รององค์พระสถูปต่างกันเป็น ๓ อย่าง ก. อย่าง ๑ ซึ่งน่าจะเป็นอย่างเก่าที่สุดทำแต่เป็นอย่างขั้นบันไดขั้นเดียวรองปากระฆัง ข. อีกอย่าง ๑ ซึ่งน่าจะเป็นขั้นกลาง ก่อฐานหนุนองค์พระสถูปให้อยู่สูงขึ้นไป สองอย่างที่ว่ามานี้ลานประทักษิณอยู่กับพื้นแผ่นดิน ค. อีกอย่าง ๑ ซึ่งน่าจะคิดขึ้นในเวลาเมื่อพระศาสนารุ่งเรืองไพบูลย์ ทำชั้นทักษิณชั้น ๑ หรือ ๒ ชั้น ๓ ชั้น รองฐานพระสถูปเพิ่มขึ้น แต่พระสถูปอย่างทรง “ลูกฟัก” ที่ปากระฆังลงมาถึงแผ่นดินมีฐานอย่างขั้นบันไดนั้น ดูเหมือนจะเลิกสร้างมาเสียแต่ในสมัยเมืองพุกามนั้นเอง

วัดพุทธาวาส สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทำเป็นวิหารยอดทั้งนั้น ยอดทำเป็นพระสถูปบ้าง เป็นพระสถูปแผลงไปคล้ายปรางค์อย่างอินเดียบ้าง ข้างในวิหารมีพระพุทธรูปยืนหรือนั่งบนฐานชุกชีริมฝาข้างด้านหลังองค์ ๑ ดูเป็นแบบเดียวกันทั้งนั้น ทำวิหารเดี่ยวโดยมาก มีบางวัดซึ่งสร้างตามลัทธิมหายาน ทำวิหารเรียง ๓ หลัง มีมุขกระสันต่อถึงกัน ด้วยสมมตพระพุทธรูปเป็น “ตรีกาย” ของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมกายองค์ ๑ พระสัมโภคกายองค์ ๑ และพระนิรมานกายองค์ ๑ ฝาผนังข้างในวิหารมักเขียนระบายสีเป็นรูปภาพและลวดลายอย่างงดงามมีหลายวัด ลักษณะรูปภาพและลวดลายที่เขียนมีเค้าแบบอินเดียกับแบบจีนและแบบทางเมืองชะวาคละกันชอบกล บางวัดก็ทำลวดลายและรูปภาพด้วยดินเผาหรือปั้นปูนประดับฝาผนัง ในสมัยเมื่อเมืองพุกามเป็นราชธานี เห็นจะมีวัดที่ทำประณีตน่าชมมากด้วยกัน แต่สังเกตดูวัดที่สร้างก่อนรัชชกาลพระเจ้าคันชิต (พ.ศ. ๑๖๒๗) เป็นขนาดย่อมๆ วัดที่ทำเป็นอย่างวิหารใหญ่โตเห็นจะเริ่มมีตั้งแต่รัชชกาลพระเจ้าคันชิตเป็นต้นมา ในหนังสือนำทางว่าวัดใหญ่วัด ๑ เรียกวัด “มะนูหะ” เป็นของพระเจ้ามะนูหะ เจ้าเมืองสะเทิมที่ถูกพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชจับเป็นชะเลยเอามาเลี้ยงไว้ที่เมืองพุกาม ขายธำมรงค์ได้เงินสร้างวัดนั้น พิเคราะห์ดูไม่น่าเชื่อ ถ้าอ้างว่าพระเจ้าอนุรุทธ์ตรัสสั่งให้พระเจ้ามะนูหะเป็นนายงานคุมพวกชาวเมืองสะเทิมที่ตกมาเป็นชะเลยช่วยกันสร้าง จะน่าเชื่อกว่า มีวัดประหลาดอยู่วัด ๑ ซึ่งสร้างอย่างเดียวกันกับพุทธาวาสขนาดย่อมที่กล่าวมา แม้จนมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานข้างในวิหารเช่นเดียวกัน แปลกแต่ทำซุ้มคูหารายรอบฝาผนังข้างนอก ในซุ้มมีรูปพระนารายน์ปางต่างๆ จำหลักด้วยศิลาตั้งไว้ ๙ ปาง รวมเป็น ๑๐ ทั้งพระประธานในวิหาร ซึ่งสมมตว่าเป็นรูปพระนารายน์ปางพุทธาวตาร เขาบอกว่าทั้งเมืองพุกามมีเทวสถานแห่งเดียวเท่านั้น คงเป็นเพราะมีพราหมณ์แต่สำหรับทำการพิธี (เช่นในกรุงเทพฯ นี้) ไม่เป็นคณะในการสอนศาสนาเหมือนเมืองเขมรแต่โบราณ อนึ่งวัดพุทธาวาสที่เมืองพุกามดูมีพระพุทธรูปน้อยผิดกับวัดโบราณในเมืองไทยและเมืองเขมร อาจจะเป็นเพราะเวลาเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรือง ที่เมืองพุกามชาวเมืองถือคติอย่างหินยาน นิยมการสร้างพระสถูปเป็นสำคัญ แต่ในเมืองไทยกับเมืองเขมรเวลาพระพุทธศาสนารุ่งเรือง ชาวเมืองถือคติอย่างมหายาน นิยมการสร้างพระพุทธรูปเป็นสำคัญก็เป็นได้ พระพุทธรูปเมืองพุกามที่ตั้งเป็นประธานในวิหารมักเป็นพระปั้น พระพิมพ์ดินเผามีมากกว่ามาก พระศิลาจำหลักมีแต่ขนาดย่อมๆ ที่จะทำองค์ใหญ่ถึงขนาดตั้งเป็นพระประธานหามีไม่ พระหล่อด้วยโลหะมีน้อยแทบจะนับองค์ถ้วน ในหนังสือนำทางว่ามีพระนอนขนาดใหญ่ (อย่างที่เรียกว่า “พระโต”) ๒ องค์ แต่ฉันไม่ได้เห็น พระปั้นที่ได้เห็นก็หักพังหรือเป็นรอยปฏิสังขรณ์ สังเกตไม่ได้ว่าโฉมพระพักตร์จะเป็นอย่างไรเมื่อแรกสร้าง พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่เมืองพุกามดูเป็น ๒ แบบ แบบ ๑ (มักทำเป็นพระนั่งขัดสมาธิอุ้มบาตร) ส่วนพระเศียรใหญ่ พระพักตร์กลม และองค์อ้วน ดูไม่งามต้องตา เห็นจะเป็นแบบเก่าแต่ครั้งยังถือลัทธิมหายาน ด้วยลักษณะเหมือนกันกับภาพพระพุทธรูปที่เขียนฝาผนังวิหารวัดฝ่ายมหายาน พระพุทธรูปที่งามล้วนทำตามแบบอินเดียสมัย “ปาละ” อันรุ่งเรืองเมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ทั้งนั้น ในเรื่องตำนานว่าเมื่อครั้งพระเจ้าคันชิตสร้างวัดอานันท์ ให้หาช่างชาวอินเดียมาทำพระพุทธรูป พิจารณาดูพระพุทธรูปศิลาที่ยังปรากฏอยู่ในวัดอานันท์ (ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) ก็เห็นเป็นฝีมือชาวอินเดียสมดังว่า แม้พระพิมพ์ที่เมืองพุกามก็ทำตามแบบอินเดียทั้งนั้น

หอปิฎก พะม่าเรียกว่า Bitagat Taik แต่หลักที่จะพรรณนานี้น่าจะแปลว่า “หอมณเฑียรธรรม” เพราะเป็นของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๑ สำหรับไว้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ไปได้มาครั้งเมื่อตีเมืองสะเทิม พิเคราะห์ซวดทรงส่อว่าตัวหอเดิมเห็นจะสร้างด้วยไม้ มาเปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนต่อภายหลัง รูปทรงเป็นมณฑป ๔ เหลี่ยม หลังคา ๕ ชั้นก่อรวบเป็นยอดเกี้ยว ยังบริบูรณ์อยู่ทั้งหลัง แต่เห็นจะไม่เหมือนของเดิมที่สร้างด้วยไม้ทีเดียว และพระเจ้าแผ่นดินพะม่าเห็นจะปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง ด้วยนับถือกันว่าเป็นของสำคัญอย่างยิ่งสิ่งหนึ่งในพงศาวดารเมืองพุกาม จึงไม่ปล่อยให้หักพัง

สังฆาวาสคือวัดพระสงฆ์อยู่ ของเดิมคงมีมากแต่สร้างด้วยเครื่องไม้จึงศูนย์ไปเสียหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่โบสถ์หลังหนึ่ง เรียกตามภาษาพะม่าว่า Upali Thein แปลว่า “โบสถ์อุบาลี” ว่าเป็นของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชสร้างเมื่อแรกตั้งคณะสงฆ์นิกายหินยาน คือให้พระสังฆราชฉินระหันผูกพัทธสีมาสำหรับทำสังฆกรรม เช่นให้อุปสมบทเป็นต้น ให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ จึงเอานามพระอรหันต์พุทธสาวกผู้นำสังคายนาพระวินัยมาขนานเป็นนามวัด ตัวโบสถ์ขนาดสักเท่าพระอุโบสถวัดปรินายกในกรุงเทพฯ หรือถ้าว่าอย่างสามัญก็ยาวขนาด ๕ ห้อง มีเวทีทักษิณรอบ หลังคาก่อรวบทำรูปทรงอย่างหลังคาไม้ ๒ ชั้น มีพระสถูปอยู่บนอกไก่ตรงกลางหลังคาองค์ ๑ และมีบราลีประดับทั้งที่บนอกไก่และชายคา ประตูโบสถ์ก็มีซุ้มปั้นปูนเป็นลวดลาย และฝาผนังข้างในเขียนระบายสีด้วย ดูเป็นของสร้างอย่างประณีตมาแต่เดิม และพระเจ้าแผ่นดินพะม่าในภายหลังก็ได้เคยปฏิสังขรณ์ เพราะถือว่าเป็นของสำคัญคู่กับหอมณเฑียรธรรม นอกจากโบสถ์อุบาลี ที่เมืองพุกามมีสังฆาวาสอีกชะนิดหนึ่งอยู่ในถ้ำ ฉันไม่ได้ไปดูเพราะอยู่ไกล แต่ว่าฉันเคยเห็นวัดชะนิดนี้ที่ “ถ้ำกาฬี” Kali Caves ในอินเดียมาแต่ก่อน เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์อยู่บำเพ็ญสมณธรรมทางวิปัสสนาธุระ จึงหาที่สร้างห่างบ้านเมืองให้เป็นที่สงัด แต่จะปลูกสร้างเป็นกุฏิไม้เหมือนอย่างวัดในบ้านเมืองเกรงจะไม่ปลอดภัย ผู้มีศรัทธากล้าจึงพยายามสะกัดหินตรงหน้าผาหรือแต่งถ้ำที่มีอยู่แล้ว ทำเป็นวิหารและห้องให้พระสงฆ์อยู่ในภูเขานั้น ให้พ้นภัยจากสัตว์ร้ายเป็นต้น เพราะวัดชะนิดนี้ทำได้ด้วยยาก พระมหากษัตริย์และเศรษฐีแต่โบราณจึงชอบสร้างเฉลิมความเลื่อมใสในพระศาสนา แต่ละวัดมักทำเป็นห้องใหญ่ห้อง ๑ มีพระสถูปหรือพระพุทธรูป (ซึ่งจำหลักหินในนั้นเอง) เป็นประธาน สำหรับพระสงฆ์ทำวัตรไหว้พระสวดมนต์ ทำห้องใหญ่ขนาดรองลงมาเป็นห้องฉันและห้องพักอีกห้อง ๑ ตามฝารอบห้องนี้ขุดหินเข้าไปทำเป็นห้องเล็กๆ รายตลอดไปเป็นแถว หรือทำห้องเล็กตามหน้าผาต่อไปอีกก็มี สำหรับพระสงฆ์นั่งบำเพ็ญสมณธรรมองค์ละห้อง วัดถ้ำ Cave Temple เช่นนี้มีทั้งที่ในอินเดียและในเมืองจีน ที่เมืองพุกามทำที่ภูเขาข้างหลังเมือง ว่ามีมาแต่ก่อนสมัยพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช ๆ และพระเจ้าคันชิตก็ได้ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ด้วย วัดชะนิดนี้สำหรับพระสงฆ์ฉะเพาะแต่ที่ปรารถนาจะบำเพ็ญสมณธรรมไปอยู่ชั่วคราว เช่นไปจำวัสสาเป็นต้น หาอยู่ประจำเหมือนวัดในเมืองไม่

จะพรรณนาว่าด้วยวัดใหญ่ที่เป็นวัดสำคัญในเมืองพุกามต่อไป วัดใหญ่ที่เป็นต้นแบบอย่างมี ๓ วัด คือวัดพระมหาธาตุชเวชีคน Shwezigon ที่พระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชสร้างวัด ๑ วัดอานันท์ Ananda ที่พระเจ้าคันชิตสร้างวัด ๑ กับวัดสัพพัญญู Thatbyinyu ที่พระเจ้าอลองคะสิทธุสร้างวัด ๑ วัดใหญ่อื่นๆ ดูเอาอย่างวัดใดวัดหนึ่งใน ๓ วัดนี้ไปทำทั้งนั้น เป็นแต่แก้ไขยักเยื้องไปบ้าง

วัดพระมหาธาตุ ชเวสีคน (“ชเว” แปลว่าทอง หมายความว่าปิดทองทั้งองค์ คำ “ชีคน” เป็นชื่อ) อยู่ที่ตำบลหนองอูใกล้ท่าขึ้นเมืองพุกาม ทำเป็นมหาสถูป จะสูงสักเท่าใดไม่พบในหนังสือ คะเนดูเห็นจะราวสัก ๓๐ วา แต่สร้างกับพื้นแผ่นดิน ไม่มีเนินเขาหนุน จึงไม่แลเห็นได้ไกลเหมือนพระเกศธาตุและพระมุเตา ในตำนานว่าพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชสร้างค้างอยู่ พระเจ้าคันชิตสร้างต่อมาจนสำเร็จ เมื่อแรกสร้างสำเร็จเห็นจะใหญ่ยิ่งกว่ามหาเจดีย์องค์อื่นๆ ในเมืองพะม่า เพราะสมัยนั้นพระมหาธาตุองค์อื่นๆ ยังเป็นแต่พระเจดีย์ขนาดย่อมอยู่ทั้งนั้น ทุกวันนี้ก็นับถือกันว่าพระมหาธาตุชีคนเป็นมหาเจดียสถานแห่ง ๑ ใน ๕ แห่งที่มีในเมืองพะม่า อีก ๔ แห่งนั้น คือ พระเกศธาตุที่เมืองร่างกุ้ง พระมุเตาที่เมืองหงสาวดี พระพุทธรูปมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑเล และพระมหาธาตุชเวสันดอ Shwe Sandaw (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระมหาธาตุสิงคุดร) ที่เมืองแปร แต่พระเจดีย์ที่เรียกชื่อขึ้นคำชเวนำหน้าชื่อมีมาก พระเจดีย์องค์ไหนมีคนศรัทธาปิดทองทั้งองค์ก็เรียกว่า ชเว ได้ทั้งนั้น

ลักษณะพระมหาธาตุชีคน พิจารณาดูเห็นชอบกล รูปองค์ระฆังเป็นอย่างบัวคว่ำปากผาย มีลายปั้นประดับเป็น ๓ แถว ตั้งบนฐานเขียง “ไม้ยี่สิบ” ต่อลงมามีฐานทักษิณสี่เหลี่ยมย่อเก็จอีก ๓ ชั้น มีพระเจดีย์ขนาดน้อยรูปอย่างพระมหาธาตุนั้นเป็นบริวารอยู่บนฐานทักษิณชั้นบนทั้ง ๔ มุม ยอดพระสถูปตอนต่อองค์ระฆังขึ้นไปไม่มีบัลลังก์เหมือนอย่างพระสถูปแบบอินเดีย เอา “ปล้องไฉน” ลงมาต่อกับหลังระฆังทีเดียว รูปปล้องไฉนดูคล้ายกับระบายฉัตรซ้อนลดขนาดขึ้นไป ๕ ชั้น ต่อปล้องไฉนขึ้นไปทำบัวคว่ำบัวหงาย แล้วถึง “ปลี” เป็นทรงอย่างสั้นรองฉัตรโลหะที่ปักบนยอด หรือว่าอีกอย่างหนึ่งจะว่าเหมือนยอดพระเจดีย์มอญเป็นแต่ทำส่วนผิดกันก็ว่าได้ พิเคราะห์ดูเป็นปัญหาน่าคิด ว่าพระเจ้าอนุรุทธ์ฯ สร้างไว้เพียงไหน และพระเจ้าคันชิตสร้างต่อตั้งแต่ไหนขึ้นไป ถ้าสันนิษฐานว่าพระเจ้าอนุรุทธ์ฯ สร้างค้างอยู่เพียงองค์ระฆัง พระเจ้าคันชิตสร้างต่อตอนยอด แบบยอดที่พระเจ้าคันชิตประดิษฐ์ขึ้นใหม่ก็อาจจะเป็นต้นแบบพระสถูปในเมืองพะม่าอย่างที่ไม่มีบัลลังก์ ใช่แต่เท่านั้น อาจจะเป็นต้นแบบ “พระเจดีย์มอญ” เช่นพระเกศธาตุที่ทำชั้นหลังด้วย เป็นแต่มอญมาขยายส่วนตอนยอดพระสถูปให้สูงขึ้นไป

จะแทรกวินิจฉัยว่าด้วยพระเจดีย์มอญสักหน่อย ฉันได้กล่าวมาแล้วว่ารูปทรงพระเจดีย์พะม่ากับพระเจดีย์มอญไม่เหมือนกัน พระเจดีย์พะม่าแม้ที่สร้างในภายหลัง สร้างตามอย่างพระเจดีย์ที่เมืองพุกามดังพรรณนามาแล้ว แต่ลักษณะพระเจดีย์มอญนั้น ทำฐานกว้างแล้วรัดทรงรวบเรียวขึ้นไปตั้งแต่ชั้นทักษิณจนตลอดองค์ระฆัง ไปขยายส่วนให้สูงตอนยอด (ถ้าเอาของฝรั่งมาเปรียบก็ดูคล้ายกับทรงหอไอเฟลที่เมืองปารีส) สันนิษฐานว่าพระเจดีย์มอญที่ปรากฏอยู่ที่อื่นๆ โดยมากน่าจะถ่ายแบบพระมหาธาตุในเมืองมอญ เช่น พระเกศธาตุ หรือพระมุเตา ไปทำ และแบบรูปทรงของพระมหาธาตุทั้ง ๒ องค์นั้น น่าสันนิษฐานว่าเกิดแต่ประสงค์จะสร้างพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ครอบพระเจดีย์ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่รื้อแย่งพระเจดีย์องค์เดิมอย่างหนึ่งอย่างใด (เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปฐมเจดีย์) จึงต้องทำฐานให้กว้างพอรับน้ำหนัก แล้วก่อพระเจดีย์รัดเข้าไปตั้งแต่ชั้นทักษิณและองค์ระฆัง จนสูงพ้นพระเจดีย์เดิมแล้วจึงทำยอดขยายส่วนให้สูงถึงขนาดที่เจตนาจะสร้าง ถ้าเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ดูก็งามไปอย่างหนึ่งไม่ขัดตา แต่พระเจดีย์มอญขนาดเล็ก เช่นที่ไปสร้างในเมืองไทย ถ่ายแบบของใหญ่ไปทำเป็นของเล็กจึงเสียทรง ดูเหมือนไม่มีองค์ระฆังอันเป็นหลักพระสถูป เพราะทำเล็กหลิมราวกับว่าพระเจดีย์มีแต่ฐานกับยอดเท่านั้น

จะว่าด้วยบริเวณวัดพระมหาธาตุชีคนต่อไป ลานรอบฐานทักษิณมีต้นไม้ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ใบทำด้วยโลหะปิดทองบ้างเงินบ้าง ตั้งบนฐานปูนรายรอบ มีวิหารที่บูชาและวิหารทิศ ต่อออกมาเป็นลานชาลาแล้วมีคลังกับศาลารายอยู่ริมกำแพงทุกด้าน ที่วัดนี้มีของแปลกถึงควรยกขึ้นกล่าวโดยฉะเพาะ ๒ สิ่ง สิ่ง ๑ คือพระพุทธรูปยืนสูงสัก ๕ ศอก เป็นของหล่อปิดทองตั้งเป็นประธานอยู่ในวิหารทิศวิหารละองค์ พระพุทธรูป ๒ องค์นี้เป็นแบบอินเดียสมัยปาละ งามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่ได้เห็นในเมืองพุกามทั้งนั้น อีกสิ่ง ๑ นั้นคือ “หอผีแน๊ต” มีอยู่ในอุปจารวัด เห็นจะเป็นของสร้างชั้นหลัง เป็นวิหารยาวสัก ๔ ห้อง ในนั้นตรงกลางทำฐานชุกชียาวตลอดหลัง ตั้งรูปเจ้าผีแน๊ตไว้ครบจำนวนทั้ง ๒๙ ตน (ว่าในเมืองพม่ามีที่ไว้รูปผีแน๊ตครบจำนวนแต่แห่งเดียวเท่านั้น) เป็นที่คนไปเซ่นสรวงและถึงปีมีงานลงผีมิได้ขาด พวกเราเข้าไปก็เซ่นด้วยธนบัตร ซึ่งเขามีหีบไว้ให้หยอด พิจารณาดูรูปเจ้าผีแน๊ตที่ทำไว้เห็นงามต้องตาอยู่องค์เดียว เป็นรูปขนาดเท่าคนยืน ทรงเครื่องต้นอย่างมหากษัตริย์แบบโบราณ แต่จะปั้นด้วยปูนหรือทำด้วยไม้จำหลักหรือหล่อโลหะหาทราบไม่ เพราะปิดทองทึบทั้งองค์ นึกใคร่จะเข้าไปพิจารณาดูใกล้ๆ และฉายรูปก็ขัดข้อง ด้วยรูปนั้นตั้งเป็นประธานอยู่ข้างหลัง จะต้องเดินลุยรูปเจ้าผีแน๊ตตนอื่นๆ เข้าไป เกรงใจพวกพะม่าจึงต้องงด เขาบอกว่ารูปนั้นเป็นรูปสักรเทวราช (คือพระอินทร) อันเป็นเจ้าของผีแน๊ตทั้งปวง รูปเจ้าผีแน๊ตอีก ๓๘ ตนนั้นทำขนาดย่อมคะเนสักเท่าตัวหุ่นที่เล่นมหรสพงานหลวง เห็นจะทำด้วยไม้แล้วเอาผ้าตัดทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ฝีมือทำเลวเต็มที หน้าหุ่นราวกับเด็กปั้นเล่น แลเห็นก็น่าสมเพช จึงสันนิษฐานว่ารูปโบราณองค์ที่ว่าเป็นรูปพระอินทร์นั้น ที่จริงเดิมเห็นจะสร้างเป็นรูปพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช เพื่อประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ในวัดพระมหาธาตุชีคน อย่างเดียวกับสร้างรูปพระเจ้าคันชิตไว้ที่วัดอานันท์ แต่เมืองพุกามเคยร้างอยู่นานจนหมดตัวผู้รู้ ครั้นสร้างหอเจ้าผีแน๊ตเห็นแต่มีรูปนั้นอยู่ในวัด ไม่รู้ว่ารูปใครจึงเอามาสมมตเป็นรูปพระอินทร เพราะเห็นทำทรงเครื่องทรงอย่างพระราชามหากษัตริย์ ที่จริงเป็นของดีอันควรเป็นศิริของพิพิธภัณฑสถานได้สิ่ง ๑ แต่รัฐบาลเห็นจะไม่กล้าไปแตะต้องด้วยเกรงใจพะม่า

วัดอานันท พระเจ้าคันชิตสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๖๓๔ เป็นวัดขนาดใหญ่ยิ่งกว่าวัดอื่นๆ บรรดามีที่เมืองพุกาม ตัววิหารกว้างด้านละ ๓๐ วา ๒ ศอก (๒๐๐ ฟุต) สูงแต่พื้นดินตลอดยอด ๒๕ วา ๒ ศอก ๑ คืบ (๑๖๘ ฟุต) สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดแรกในพวกวัดสร้างอย่างขนาดใหญ่โตซึ่งยังมีอีกหลายวัด เรื่องตำนานการสร้างวัดนี้ ว่าเมื่อพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาพากันหนีภัยมาพึ่งพระเจ้าคันชิต ณ เมืองพุกามดังกล่าวมาแล้ว มีพระสงฆ์มหาเถระ (พะม่าเรียกว่าพระอรหันต์) มาด้วย ๕ องค์ ล้วนทรงจริยวัตรน่าเลื่อมใส พระเจ้าคันชิตไต่ถามได้ความว่าเดิมอยู่ที่ถ้ำภูเขา “นันทมูล” ในหิมวันตประเทศ (ฝรั่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภูเขาที่เรียกกันบัดนี้ว่า “นันทาเทวี” Nanda Devi ในเทือกเขาหิมาลัย) พระอรหันต์ ๕ องค์นั้นทูลพรรณนาถึงลักษณะวัดที่ในอินเดีย พระเจ้าคันชิตชอบพระหฤทัยจึงโปรดให้สร้างวัดนี้ตามลักษณะที่พระอรหันต์พรรณนา แล้วขนานนามว่า “วัดอานันท์” ตามชื่อถ้ำที่อยู่ของอรหันต์ ๕ องค์นั้น แต่มีอธิบายอย่างอื่นอีก นัย ๑ ว่านามที่ขนานแต่เดิมนั้นว่าวัด “นันทสีขร” Nanda Tsee goon แต่ภายหลังมาเรียกกันเพี้ยนไปเป็นวัดอานันท์ อีกนัย ๑ ว่าที่จริงขนานนามว่าวัด “อนันต์” หมายความว่า (จะประดิษฐานอยู่) ไม่มีที่สิ้นสุด และยังมีอีกนัย ๑ ว่าเอานามพระอานนทพุทธอุปัฏฐากมาขนานเป็นนามวัด ฉันเห็นว่านัยที่ว่าเอานามพระอานนท์มาขนานเป็นนามวัดนั้นมีหลักอยู่ ด้วยเนื่องกับพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชเอานามพระอุบาลีผู้สังคายนาพระวินัยมาขนานเป็นนามวัด พระเจ้าคันชิตจึงเอานามพระอานนท์ผู้สังคายนาพระธรรมมาเป็นชื่อวัดนี้ให้เข้าเรื่องกัน ๒ นัยที่ว่ามาก่อนอาจเป็นความจริงก็ได้ แต่ไม่มีหลักสำหรับวินิจฉัยในเวลานี้

พวกนักปราชญ์โบราณคดีเมืองพะม่า ว่าลักษณะวัดอานันท์ (น่าเรียกว่า “วัดอานันทวิหาร”) ไม่มีที่ไหนเหมือน ถ้าหากเคยมีเหมือนกันในอินเดียก็ศูนย์ไปเสียนานแล้ว (ประหลาดอยู่ที่แผนผัง “วัดพระเมรุ” ที่เมืองนครปฐม อันเก่ากว่าคล้ายกับวัดอานันท์มาก) เวลานี้จะหาแห่งใดเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องถือว่าสร้างตามแบบอย่างซึ่งคิดขึ้นในครั้งพระเจ้าคันชิตนั้นเอง นอกจากนั้นยอมกันหมดว่าผู้คิดแบบเป็นช่างฉลาดอย่างยิ่ง ด้วยทำรูปทรงส่วนสรรพงามยิ่งนัก ไม่มีวัดใดในเมืองพุกามแม้ที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นสร้างประชันเมื่อภายหลังจะงามเสมอ พวกฝรั่งจึงนับถือกันว่าเป็น “ชิ้นเอก” ในพวกวัดโบราณที่เมืองพุกาม

ถ้าพรรณนาว่าตามลักษณะ วัดอานันทวิหารทำตามแบบพุทธาวาสที่เมืองพุกามอย่างเดียวแต่ที่ทำเป็นวิหารยอด นอกจากนั้นคิดแบบใหม่ไปเป็นอย่างอื่น แผนผังตัววิหารเป็น ๔ เหลี่ยมจตุรัส มีมุขเด็จเหมือนกันทั้ง ๔ ด้าน (ฝรั่งว่าแผนผังเหมือนอย่างไม้กางเขนแบบกรีก) ยกพื้นวิหารสูงจากแผ่นดินเพียงมีบันไดขั้นหนึ่ง หาถมที่ทำเวทีมีทางทักษิณนอกวิหารไม่ เข้าทางมุขไปถึงในประธานยกพื้นสูงขึ้นอีกชั่วขั้นบันได ๑ ถึงกลางวิหารยกพื้นขึ้นอีกขั้น ๑ เป็นพื้นหลั่นกัน ๓ ชั้น กลางวิหารก่อเป็นแกนทึบสี่เหลี่ยมขึ้นไปรับยอดวิหาร ที่แกนทึบนั้นรวงเข้าไปเป็นซุ้มคูหา ตั้งพระพุทธรูปยืนขนาด ๔ วา ๒ ศอก (๓๐ ฟุต) เป็นพระประธานด้านละองค์ทั้ง ๔ ด้าน เห็นจะเป็นคนภายหลังสมมตว่า พระกกุสันธพุทธเจ้าองค์ ๑ พระโกนาคมนพุทธเจ้าองค์ ๑ พระกัสสปพุทธเจ้าองค์ ๑ พระโคดมพุทธเจ้าองค์ ๑ ที่ฝาผนัง ๒ ข้างพระโคดมพุทธเจ้า ทำซุ้มคูหาขนาดย่อมข้างละซุ้ม ปั้นรูปพระเจ้าคันชิตตั้งไว้ในซุ้มข้างซ้าย รูปพระมหาเถระฉินระหันตั้งไว้ในซุ้มข้างขวา ตรงหน้าพระพุทธรูปออกมาเป็นห้องที่บูชามาจนถึงฝาผนังชั้นใน พ้นผนังออกมาทำเป็นทางทักษิณอยู่ในวิหารนั้น ๒ ชั้น ตามฝาผนังข้างทางทักษิณทำซุ้มคูหาเรียงรายทั้งด้านในและด้านนอก ในซุ้มตั้งพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสักศอก ๑ ช่องละองค์ ล้วนจำหลักด้วยศิลาทรายทั้งองค์พระและเรือนแก้วที่ต่อติดอยู่ข้างหลัง สังเกตดูลักษณะเป็นฝีมือช่างอินเดียทำทั้งนั้น นัยว่าจำนวนพระพุทธรูปอย่างนี้มีอยู่ในวิหารถึง ๑,๘๐๐ องค์ ทำเป็นปางต่างๆ แต่ซ้ำกันโดยมาก ตอนมุขและฝาวิหารข้างนอกก็ทำรูปภาพเรื่องชาดกต่างๆ ด้วยดินเผาประดับประกอบกับลายปั้นเป็นแถวๆ ไป หลังคาวิหารนั้นยอดทำเป็นพระสถูปองค์ระฆังอย่างปรางค์อินเดีย ต่อองค์ระฆังลงมาทำเครื่องประดับบนหลังคา แลดูข้างนอกเหมือนกับพระสถูปมีฐานและชั้นทักษิณรอง ๕ ชั้น มีทั้งพระสถูปบริวารตามมุมชั้นทักษิณ ๒ ชั้นข้างล่าง แตที่จริงเป็นเครื่องประดับหลังคาทั้งนั้น ไม่มีทางขึ้น และพื้นบนนั้นก็ทำเทสำหรับน้ำฝนไหลทุกชั้น มุขเด็จชักหลังคาต่อออกมาจากเครื่องยอดเป็นมุขโถง หลังคาก่อรวบเป็นทรงอย่างหลังคาเรือน ตอนในสูงตอนหน้าลดหลั่นลงมาเป็นมุข ๒ ชั้น ด้านสะกัดทำลายปั้นเป็นช่อฟ้าหน้าบันเหมือนกันทั้ง ๔ มุข ที่มุขหนึ่งมีรอยพระพุทธบาทตั้งอยู่ในนั้น (แต่เห็นว่าจะเป็นของเพิ่มเข้าชั้นหลัง) ความคิดแบบวิหารนี้มีดีน่าพิศวงอีกอย่าง ๑ คือทำทางส่งแสงสว่างเข้าไปในวิหาร เพราะตัววิหารทึบและมีฝาข้างในถึง ๒ ชั้น น่าจะมืด แต่เขาคิดทำช่องส่งแสงที่ชายคาและคอสองรายเป็นระยะไป กะเหมาะทุกแห่ง เป็นต้นว่าตรงที่ตั้งพระประธานซึ่งอยู่ลึกเข้าไปถึงกลางวิหาร น่าจะมืดกว่าแห่งอื่น เขาทำช่องส่งแสงสว่างฉะเพาะให้ตรงองค์พระประธาน พอเราเดินเข้าไปในมุขแลเข้าไปก็เห็นพระประธานเปล่งปลั่งไปแต่ไกล ถึงตามทางทักษิณและที่แห่งอื่นในวิหารก็ได้แสงสว่างไม่มีแห่งใดที่จะมืด เมื่อว่าถึงความคิดส่งแสงสว่าง จะต้องสรรเสริญถึงช่างไทยเมื่อครั้งสมัยกรุงสุโขทัยด้วย เพราะเขารู้จักทำเหมือนกัน มีตัวอย่างยังปรากฏที่วิหารพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก ฉันไปเห็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เวลานั้นยังไม่ได้ปฏิสังขรณ์แก้ไขวิหารให้สว่างอย่างทุกวันนี้ พอไปถึงประตูวิหารแลเข้าไปข้างในดูที่อื่นมืดหมด เห็นแต่องค์พระชินราชตระหง่านงามเหมือนลอยอยู่ในอากาศ เห็นเข้าก็จับใจเกิดเลื่อมใสในทันที เพราะเขาทำส่งแสงสว่างเข้าทางประตูใหญ่ด้านหน้าแต่ทางเดียว พระชินราชตั้งอยู่ข้างในตรงประตู และเป็นของปิดทองจึงแลเห็นก่อนสิ่งอื่นในวิหาร เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วในวิหารไม่มืดเหมือนแต่ก่อน ไปกลางวันไม่จับใจอย่างเมื่อไปครั้งแรก แต่ต่อมาฉันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ขากลับถึงเมืองพิษณุโลกเวลาราว ๒๐ นาฬิกา เขาบอกว่ารถไฟจะหยุดพักอยู่สัก ๓๐ นาฑี เห็นมีเวลาพอจึงว่าเช่ารถกะบะยนต์หลังหนึ่ง ชวนพวกพ้องไปบูชาพระชินราช ครั้งนั้นเพื่อนเที่ยวที่เป็นฝรั่งเศสและอเมริกันเขาอยากเห็นพระชินราชจึงตามไปด้วย ไปถึงวิหารเวลากลางคืน มีแต่แสงโคมในวิหารสักสองสามดวง แลเห็นองค์พระชินราชก็จับใจอีก ถึงพวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจ Impressive เหมือนพระชินราช แม้ตัวฉันเองก็รู้สึกจับใจแต่ไม่ถึงขนลุกเหมือนเมื่อครั้งแรก วัดที่สร้างต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ สังเกตดูช่างผู้คิดแบบไมสู้ถือเป็นสำคัญในเรื่องทางส่งแสงสว่างนัก ทำประตูหน้าต่างให้วิหารสว่างแล้วก็แล้วกัน บริเวณวัดอานันทวิหารภายนอกออกมาเป็นลานที่ว่างออกไปใหญ่กว้างจึงถึงกำแพงล้อมรอบวัด มีประตูยอดเป็นทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน ในลานวัดแต่เดิมก็เห็นจะมีวัตถุสถานต่างๆ สร้างเรียงรายเป็นถ่องแถวไปทั่วทุกด้าน แต่เป็นของทำด้วยไม้จึงศูนย์ไปเสียหมดแล้ว บรรดาวัดในเมืองพุกามย่อมมีกำแพงก่อล้อมรอบบริเวณทุกวัด ราษฎรยังอาศัยกำแพงและลานวัดร้างเป็นที่เลี้ยงวัวอยู่จนทุกวันนี้

ว่าตามสังเกต วัดอานันทวิหารเมื่อแรกสร้างเห็นจะงามมากทีเดียว ตอนยอดที่ทำเป็นปรางค์สถูปคงปิดทองตั้งแต่ยอดลงมาจนตลอดชั้นทักษิณ ๓ ชั้น (เดี๋ยวนี้ยังปิดทองแต่ยอดเหนือปรางค์ขึ้นไป) ต่อนั้นลงมาเดิมจะเป็นแต่โบกปูนขาวหรือจะทำอย่างไรทราบไม่ได้ ฝาวิหารข้างภายนอกโบกปูนยังมีลายปั้นเหลืออยู่ แต่ฝาข้างในเดิมเห็นจะเขียนสีเป็นรูปภาพและลวดลายต่างๆ ข้อนี้เห็นได้ด้วยโบสถ์อุบาลีและวัดเล็กๆ ที่ไม่สำคัญเขียนผนังข้างในก็มีหลายแห่ง ไม่มีใครไปดัดแปลงจึงยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ วัดอานันทวิหารเป็นของพระเจ้าราชาธิราชทรงสร้างอย่างประณีต คงเขียนฝาผนังข้างในไม่ยอมให้เลวกว่าวัดเล็กๆ ที่มีอยู่ในสมัยเดียวกัน แต่วัดอานันทวิหารเห็นจะร้างอยู่หลายร้อยปี ด้วยชั้นหลังมาเมืองพุกามกลายเป็นเมืองชายแดนพะม่า เป็นที่สมรภูมิตลอดสมัยมหายุทธสงครามเมื่อมอญกับพะม่ารบพุ่งกัน ปรากฏว่าต่อเมื่อราชวงศ์อลองพระได้เป็นราชาธิราช พระเจ้าปะดุงจึงทรงปฏิสังขรณ์วัดอานันทวิหาร (ตรงสมัยรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) เวลาเมื่อปฏิสังขรณ์เครื่องประดับของเดิมเห็นจะชำรุดทรุดโทรมอยู่มาก ปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นเป็นการหลวงหมายจะทำให้คืนดีทั้งวัด แต่วัดอยู่เมืองไกลห่างพระเนตรพระกรรณ นายงานผู้อำนวยการทำแต่ให้สำเร็จโดยสะดวก เพราะฉะนั้นจึงไม่พยายามให้เหมือนของเดิมทั่วไป ดังเช่นฝาผนังที่ลายเขียนของเดิมกะเทาะหายไปหรือลบเลือนเสียมากแล้ว ก็ให้ขูดขัดแต่งฝาให้เกลี้ยงเกลาแล้วฉาบทาปูนขาวให้สะอาดเป็นต้น วัดอานันทวิหารจึงเป็นแต่ฉาบปูนขาวทั้งข้างนอกข้างในอยู่จนบัดนี้ การปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นยังแลเห็นรำคาญตาและน่าเสียดายอยู่สิ่ง ๑ คือ พระพุทธรูปที่เป็นประธานทั้ง ๔ องค์ เวลาเมื่อปฏิสังขรณ์ของเดิมจะชำรุดทรุดโทรมอยู่อย่างไรทราบไม่ได้ แต่ที่ปฏิสังขรณ์ใหม่แก้พระพักตร์และชายผ้ากลายเป็นแบบพระพุทธรูปพะม่าชั้นหลัง เสียหลักของสำคัญในอานันทวิหารไปอย่าง ๑ ต่อมา (เห็นจะเป็นเมื่อเมืองพะม่าตกเป็นของอังกฤษแล้ว) มีผู้ปฏิสังขรณ์อีก สร้างมุขต่อมุขเดิมออกไปด้าน ๑ เป็นฝีมือสมัยใหม่เลียนแบบเดิมพอคลับคล้ายไม่ถึงน่าเกลียด แต่ดูเหมือนเดี๋ยวนี้กรมตรวจโบราณคดีจะห้ามมิให้ใครเข้าไปสร้างของใหม่ขึ้นที่ในบริเวณ เห็นมีพระสถูปสร้างขึ้นใหม่องค์หนึ่ง กับวัดสังฆาวาสวัดหนึ่ง ก็สร้างข้างนอกบริเวณทั้ง ๒ อย่าง

ที่เมืองลำพูนในมณฑลพายัพมีวัดโบราณวัดหนึ่งเรียกว่า “วัดพระยืน” อยู่นอกเมืองทางข้างทิศตะวันออก เป็นที่คนนับถือมาก และ ยังพิทักษ์รักษากันดี เจดียวัตถุที่เป็นสิ่งสำคัญในวัดนั้นเป็นมณฑปก่อทึบ ทำซุ้มคูหาตั้งพระพุทธรูปยืนทั้ง ๔ ด้าน ยอดมณฑปจะทำเป็นทรงอย่างใดฉันลืมไปนึกไม่ออกในเวลาเขียนหนังสือนี้ แต่เมื่อไปเห็นมณฑปนั้น เห็นว่ามิใช่แบบอย่างของมณฑลพายัพ น่าจะได้ไปจากที่อื่น แต่เวลานั้นฉันไม่มีหลักที่จะอาศัยลงความเห็นว่าได้ไปจากที่ไหน พอไปเห็นวัดอานันทวิหารที่เมืองพุกามก็รู้ได้ทันทีว่าวัดพระยืนที่เมืองลำพูนถ่ายแบบไปจากวัดอานันทวิหารนั่นเอง แต่ลดส่วนลงและทำเพียงในประธานของวัดอานันทวิหาร จึงดูเป็นมณฑป ว่าตามวินิจฉัยทางโบราณคดี เห็นว่าในสมัยเมืองพุกามมีอำนาจครอบครองถึงมณฑลพายัพนั้น มณฑลพายัพคงเป็นประเทศราช ซึ่งพระเจ้าราชาธิราช ณ เมืองพุกามอาจจะตั้งเจ้านายในราชวงศ์มาปกครอง อย่างเดียวกันกับพระเจ้าหงสาวดีตั้งเจ้าสารวดีลูกยาเธอมาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ จึงถ่ายแบบวัดที่เมืองพุกามมาสร้าง ทั้งวัดพระยืนที่เมืองลำพูนและวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ แต่ประหลาดอยู่ที่วัด ๒ วัดนั้นอยู่ห่างไกลกันมาก จะว่าสร้างวัดพระยืนที่ใกล้ราชธานีวัด ๑ แล้วไปสร้างวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่ในป่าอีกวัดหนึ่ง (เมืองเชียงใหม่เดี๋ยวนี้พระเจ้ามังรายสร้างต่อภายหลังมาช้านาน) ดูก็มิใช่เหตุ จึงสันนิษฐานว่าเพราะมณฑลพายัพเป็นเมืองขึ้นพุกามอยู่ถึง ๒๐๐ ปี ชั้นเดิมจะตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองลำพูน ภายหลังมาเมื่อพวกขอมมีอำนาจที่เมืองละโว้ เกรงพวกขอมจะขึ้นไปตี จึงย้ายข้ามฟากแม่น้ำพิงไปหาที่ชัยภูมิตั้งเมืองหลวงใหม่ ใกล้กับที่สร้างวัดเจดีย์เจ็ดยอดเป็นวัดอยู่ในชานเมือง เช่นเดียวกับวัดพระยืนที่เมืองลำพูน แต่ลงปลายขอมกับพะม่ามอญเป็นไมตรีกันด้วยอภิเษกนางจามเทวีกับเจ้าผู้ครองมณฑลพายัพ กลับไปตั้งเมืองหลวงอยู่ ณ เมืองลำพูนอย่างเดิม เมืองที่ใกล้วัดเจดีย์เจ็ดยอดจึงร้างมาจนพระเจ้ามังรายกลับสร้างเป็นเมืองหลวงใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เมื่อเมืองพุกามเสียแก่จีนแล้วได้ ๙ ปี

วัดสัพพัญญู Thatbyinyu พระเจ้าอลองคะสิทธุซึ่งเสวยราชย์ต่อรัชชกาลพระเจ้าคันชิต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๖๘๗ ภายหลังวัดอานันทวิหาร ๕๓ ปี พระเจ้าอลองคะสิทธุเป็นราชนัดดาของพระเจ้าอนุรุทธมหาราชทางฝ่ายพระชนก และเป็นราชนัดดาของพระเจ้าคันชิตทางฝ่ายพระชนนี จึงสร้างวัดประจำรัชชกาลเป็นอย่างใหญ่โตตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าคันชิตสร้างวัดอานันทวิหาร และเลือกที่สร้างไม่ห่างกันนัก แต่แบบที่สร้างวัดสัพพัญญู ดูเหมือนจำนงจะให้แปลกกับวัดอานันทวิหารหมดทุกอย่าง คงแต่เป็นวิหารยอดด้วยกันเท่านั้น ดังเช่นวัดอานันทวิหารทำชั้นเดียวมีมุขทั้ง ๔ ด้าน วัดสัพพัญญูทำเป็น ๕ ชั้นแต่มีมุขเดียวเป็นต้น ขนาดก็พอไล่เลี่ยกัน วัดสัพพัญญูย่อมกว่าแต่สูงกว่าวัดอานันทวิหารสักเล็กน้อย ดูตั้งใจจะทำวัดทั้ง ๒ นั้นให้เป็นคู่กัน เปรียบเหมือนอย่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบุรณะที่ในพระนครศรีอยุธยา

วิหารวัดสัพพัญญูรูปเป็น ๔ เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๓๐ วา (๑๘๐ ฟุต) สูงตลอดยอด ๓๓ วา เศษ (๒๐๑ ฟุต) ตัววิหารเป็น ๒ ตอนซ้อนกัน ตอนล่างพื้น ๒ ชั้น ชั้นต่อกับแผ่นดินเป็นที่สำหรับคฤหัสถ์พัก ชั้นที่ ๒ เป็นที่สำหรับพระสงฆ์พัก หมดตอนล่างทำหลังคาตัดเป็นทางทักษิณ ย่อเข้าไปโดยลำดับเป็น ๓ ชั้น แล้วถึงวิหารตอนบนนับเป็นชั้นที่ ๓ รูปทรงเป็นอย่างมณฑปมีมุขทางด้านหน้า ในนั้นตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักสัก ๓ ศอกบนฐานชุกชีที่ริมผนังด้านหลังเป็นพระประธานของวัด แต่เป็นพระปั้นปิดทอง ข้างหน้าพระออกมาเป็นห้องที่บูชาจนถึงประตู ต่อห้องที่ตั้งพระประธานขึ้นไปนับเป็นชั้นที่ ๔ ว่าเป็นที่ไว้พระไตรปิฎก (แต่จะทำเป็นอย่างไรฉันไม่ได้ขึ้นไปดู) พ้นนั้นขึ้นไปทำเป็นชั้นทักษิณย่อเข้าไปอีก ๓ ชั้น ถึงองค์พระสถูปทรงปรางค์ที่เป็นยอด นับเป็นชั้นที่ ๕ ว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ มีบันไดก่อเป็นทางขึ้นข้างในไปถึงกันทุกชั้น ฝีมือทำและกระบวรตกแต่งข้างในแต่เดิมจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเหลือเป็นที่สังเกตเหมือนอย่างที่วัดอานันทวิหาร แต่ข้างนอกวิหารยังมีลายปั้นปูนเป็นซุ้มจระนำตามหน้าต่างประตู และมีลวดลายตามขอบพื้นลด พิเคราะห์ดูเหมือนจะไม่สร้างอย่างประณีตบรรจงเหมือนกับวัดอานันทวิหาร แต่จะลงความเห็นเป็นอย่างแน่นอนก็ยากอยู่ เพราะวัดสัพพัญญูร้างมาช้านานกว่าวัดอานันทวิหาร กรมตรวจโบราณคดีของอังกฤษเพิ่งปฏิสังขรณ์ไม่กี่ปีมานัก เป็นแต่แก้ไขที่ชำรุดแล้วฉาบปูนขาวทั้งข้างนอกข้างใน ถึงกระนั้นก็ว่าสิ้นเงินถึง ๔๐,๐๐๐ รูปี ทุกวันนี้ก็ยังเป็นวัดร้าง กรมตรวจโบราณคดียังต้องรักษา เพราะยังไม่มีพวกสัปบุรุษรับเป็นกรรมการรักษาเหมือนเช่นวัดอานันทวิหาร

ในหนังสือนำทางอ้างตามคำที่กล่าวกันในเมืองพะม่า ว่าพระเจ้าอลองคะสิทธุได้แบบวัดในอินเดียมาสร้างวัดสัพพัญญู แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าวัดอันเป็นต้นแบบอย่างอยู่ที่ไหน แต่พิเคราะห์ดูมีทางวินิจฉัยอยู่บ้าง ด้วยแบบพุทธาวาสที่สร้างสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปมักทำเป็นชั้นเดียว วัดที่ทำเป็น ๔ ชั้น ๕ ชั้นเช่นนี้ มีตัวอย่างที่รู้กันแพร่หลายอยู่ ณ เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปแห่งหนึ่ง เรียกว่า “โลหะปราสาท” เดี๋ยวนี้ยังเหลือแต่เสาศิลาปักอยู่เป็นอันมาก แต่มีพรรณนาลักษณะเมื่อยังบริบูรณ์อยู่ในหนังสือ “มหาวงศ์” พงศาวดารลังกา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างโลหะปราสาทตามลักษณะที่พรรณนานั้นขึ้นที่วัดราชนัดดาในกรุงเทพฯ ยังปรากฏอยู่ นอกจากนั้นฉันเคยเห็นรูปภาพวัดโบราณทำเป็นหลายชั้นอย่างโลหะปราสาท มีที่เนปาลราฐในอินเดีย ต้นแบบปรางค์จีนทำเป็นห้องซ้อนๆ กันขึ้นไปหลายชั้น ที่เราเรียกกันว่า “ถะ” ก็น่าจะอยู่ในวัดชะนิดนั้น ความคิดที่สร้างดูเหมือนจะให้เป็นห้องที่สงัด สำหรับพระภิกษุคามวาสีบำเพ็ญฌานสมาบัติโดยไม่ต้องทิ้งบริษัทออกไปอยู่ตามถ้ำ ถ้าเอาแบบโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดาเทียบก็พอเห็นได้ง่าย คือให้เป็นที่สำหรับพระนั่งบำเพ็ญฌานห้องละองค์ เหมือนอย่างห้องในถ้ำที่พรรณนามาแล้ว ฉันได้เคยเห็นวัดในมณฑลอุดร มีกุฎเครื่องผูกหลังเล็กๆ รายอยู่รอบโบสถ์ เขาบอกว่าเมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาพวกทายกมักศรัทธาทำ “ตูบ” เล็กๆ เหล่านั้น พระอยู่ได้หลังละองค์ ๑ สำหรับพระที่สมาทานวิปัสสนาธุระไปอยู่จำพรรษาในตูบนั้น เห็นว่าจะเป็นประเพณีสืบมาแต่เรื่องเดียวกันทั้งนั้น แม้ที่วัดราชสิทธิก็มีกุฎอยู่รอบพระอุโบสถ “คณะกุฎ” ที่ก่อสร้างไว้ตามวัดหลวงในกรุงเทพฯ เช่นที่วัดสระเกศเป็นต้น แต่เดิมก็น่าจะเป็นที่สำหรับพระสงฆ์อยู่บำเพ็ญสมณธรรมชั่วคราว มิใช่อยู่ประจำอย่างกุฎีในคณะใหญ่ ชะรอยพระเจ้าอลองคะสิทธุจะเอาแบบวัดพวกโลหะปราสาทมาสร้างวัดสัพพัญญู แต่แก้ลักษณะที่ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาทุกสถานจึงผิดกัน ที่ว่ามานี้ตามวินิจฉัยของฉันเอง อาจจะไม่ถูกก็เป็นได้

ยังมีวัดใหญ่อีกวัดหนึ่งซึ่งกรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าได้ปฏิสังขรณ์ให้คืนดี พะม่าเรียกว่าวัด Gawdawbalin แปลว่าวัด “พระทันตบัลลังก์” พระเจ้านรปติสิทธุราชนัดดาของพระเจ้าอลองคะสิทธุสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๗ ภายหลังวัดสัพพัญญู ๓๐ ปี สังเกตเห็นได้ว่าเอาแบบอย่างวัดสัพพัญญูมาสร้าง เป็นแต่ลดขนาดให้ย่อมลงและทำพื้นเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นที่คนพัก ทำหลังคาตัดเป็นลานทักษิณ ชั้นบนเป็นมณฑปที่ตั้งพระประธาน ฝีมือที่ทำก็ทำอย่างหยาบๆ ที่นับถือกันว่าวัดพระทันตบัลลังก์เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ก็เพราะที่สร้างอยู่บนเนินริมแม่น้ำแลเห็นเป็นสง่าไปไกลกว่าวัดอานันทวิหารและวัดสัพพัญญู ซึ่งสร้างห่างไปข้างใน อีกประการ ๑ วัดนี้อยู่ใกล้ชิดกับเรือนรับแขก ไปดูได้ง่ายกว่าวัดอื่นด้วย แต่พิจารณาดูไม่เห็นมีรายการอันใดที่น่าพรรณนา

ในหนังสือนำทางเขาบอกชื่อโบราณสถานต่าง ๆ ณ เมืองพุกามที่ว่าน่าดูมีถึง ๔๒ แห่ง ฉันได้ดูสักครึ่งจำนวนนั้น เพราะพักอยู่เพียง ๓ วัน ต้องดูด้วยอาการต่าง ๆ บางแห่งก็ดูเมื่อผ่านไป บางแห่งก็หยุดดู บางแห่งก็เข้าไปดู ต่อบางแห่งเป็นที่สำคัญ จึงดูด้วยพินิจพิจารณา การที่เที่ยวดูวัดเมืองพุกามนอกจากมีเวลาน้อย ยังมีความลำบากแก่ฉันอย่างอื่นอีกด้วยต้องเดินตีนเปล่า เหยียบกรวดและก้อนอิฐหัก บางทีก็ถูกหนามตำเจ็บระบมจนเบื่อ บางทีก็มีคับขัน วันฉันไปดูวัดพระมหาธาตุชีคนอยากจะฉายรูปพระมหาธาตุให้เห็นทั้งองค์ เที่ยวเดินหาที่ฉายในลานวัดเผลอผ่าเข้าไปในดงหญ้ามีหนามติดอยู่ในนั้นจนพวกกรมตรวจโบราณคดีเขาไปช่วยถางทางเดินให้จึงออกมาได้ ต่อมาอีกวัน ๑ ไปดูพิพิธภัณฑสถานของกรมตรวจโบราณคดีที่อยู่หน้าวัดอานันทวิหาร แต่งตัวใส่เกือกถุงตีนไปอย่างปกติด้วยไม่ต้องเข้าในวัด ไปถึงเวลาเช้า ๙ นาฬิกากำลังแสงแดดเหมาะ ฉันอยากจะฉายรูปอานันทวิหารให้เห็นใกล้ๆ เดินเลียบข้างนอกกำแพงวัดเที่ยวหาที่ฉาย เผลอเข้าไปในลานพระเจดีย์ที่สร้างใหม่ๆ ใกล้กุฏิสงฆ์โดยไม่ทันสังเกต มีพระพะม่าองค์หนึ่งลงมาจากกุฏิ ตรงเข้ามาทำตาเขียวพูดว่ากะไรฉันไม่เข้าใจ จนเธอใช้ใบ้ชี้ที่เกือกของฉันแล้วโบกมือให้ออกไปเสีย ขณะนั้นฉันเห็นพระองค์นั้นเองก็เผลอใส่เกือกคีบเข้าไปในลานพระเจดีย์ด้วย ฉันจึงชี้ที่เกือกของเธอบ้าง ก็หันกลับขึ้นกุฏิ ฝ่ายข้างฉันก็กลับออกมา เป็นอันหายกัน ที่พะม่าห้ามมิให้ใครใส่เกือกเข้าวัดมีการผ่อนผันอย่างหนึ่งซึ่งฉันยังไม่ได้เล่า คือเขาไม่ห้ามใส่หมวก เราจะใส่หมวกเข้าไปถึงไหนๆ ก็ได้ พะม่าเห็นจะถือว่าหมวกเหมือนผ้าโพกหัวซึ่งพวกเขาเองก็โพกเข้าวัดเสมอ

ที่เมืองพะม่าแต่ก่อนเคยมีพิพิธภัณฑสถานใหญ่อยู่ในเมืองร่างกุ้ง แต่รัฐบาลรื้อเอาที่สร้างโรงพยาบาล ว่าจะสร้างพิพิธภัณฑสถานใหม่ในที่อื่น แต่ยังไม่ได้สร้างจนบัดนี้ ค้างมาถึง ๒๕ ปี เมื่อตั้งกรมตรวจโบราณขึ้น พวกพนักงานในกรมนั้นเที่ยวตรวจพบของโบราณไม่มีที่จะเอาไว้ รัฐบาลจึงอนุญาตให้ทำโรงขนาดย่อมๆ เป็นที่เก็บของโบราณขึ้นตามเมืองที่มีของต้องรักษาหลายแห่ง ใช้นามเรียกว่า พิพิธภัณฑสถาน Museum ถ้าเรียกว่า “คลัง” จะตรงกว่า พิพิธภัณฑสถานเล็กๆ เหล่านั้น บางแห่งก็ทำเป็นตึก บางแห่งก็เป็นเครื่องไม้ ที่เป็นแต่โรงหลังคาสังกะสีก็มี ที่เมืองพุกามนี้ทำเป็นตึกชั้นเดียวมีเฉลียงรอบ ดูเรียบร้อยกว่าตามเมืองอื่นที่ฉันได้เห็น ที่เฉลียงตั้งศิลาจารึกเรียงรายเป็นหลายแถวจนรอบ ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่รวบรวมไว้แห่งอื่น และมีเทวรูปศิลาจำหลักติดเรือนแก้วขนาดย่อมกว่าตัวคนยืน ตั้งพิงฝาไว้องค์ ๑ เป็นแบบอินเดีย พิเคราะห์ลักษณะดูเป็นรูปพระวิษณุ มีเทวรูปองค์เดียวเท่านั้น ข้างในประธานจะเรียกอย่างอื่นให้เหมาะกว่า “คลัง” ไม่ได้ เพราะจัดแต่เป็นที่เก็บของรักษาไว้ ทางด้านสะกัดตั้งตู้บานกะจกลั่นกุญแจสักสี่ห้าตู้ ไว้ของดีที่เป็นชิ้นเล็กๆ ด้านข้างๆ ทำแต่เป็นชั้นไม้ และตรงกลางห้องทำเป็นโต๊ะยาวสำหรับวางของ พวกของศิลาที่น้ำหนักมากเอาวางไว้กับพื้นข้างใต้โต๊ะ ที่ในลานบริเวณมีเรือนสำหรับพวกภารโรงอยู่ ตัวตึกพิพิธภัณฑสถานลั่นกุญแจอยู่เสมอ ใครจะดูต้องไปบอกให้ภารโรงเปิด แต่พวกเราไปเขาเตรียมรับอยู่แล้ว เมื่อประเมินดูแล้วอยากดูของสิ่งใดโดยพินิจพิจารณาหรือจะฉายรูป บอกเขา ๆ ก็ยกออกมาให้ตามเราปรารถนาทุกสิ่ง ของในพิพิธภัณฑสถานเป็นของโบราณครั้งสมัยพุกามโดยมาก ฉันเลือกพิจารณาแต่สิ่งซึ่งเห็นว่าน่าชม เช่น พระพุทธรูปศิลาบ้าง พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์บ้าง เป็นของขนาดย่อมๆ พิเคราะห์ดูลักษณะน่าจะเอามาจากอินเดียทั้งนั้น

มีของที่ฉันตั้งใจจะไปค้นเพื่อเทียบกับของโบราณที่พบในเมืองไทยอยู่ ๒ อย่าง คือ พระพิมพ์ อย่าง ๑ กับเงินตรา อย่าง ๑ ได้ความอย่างไรจะต้องกล่าวโดยพิสดารสักหน่อย พระพิมพ์แบบอินเดีย ที่พบ ณ พระปฐมเจดีย์มีที่เมืองพุกามหมดทุกอย่าง และพบหลายอย่างที่เมืองพุกามมีแปลกออกไป ข้อนี้เป็นหลักฐานในทางโบราณคดี ว่าเมืองพุกามกับเมืองนครปฐมเคยสมบูรณ์ร่วมสมัยอันเดียวกัน ตรงนี้จะเล่าแทรกเรื่องพระพิมพ์แบบ ๑ ซึ่งมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานเมืองพุกาม เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่สักเท่าแผ่นกะเบื้องเกล็ดที่มุงหลังคา ในนั้นมีพระพุทธรูป ๘ ปาง ทำตามเรื่องพุทธประวัติ ๔ ปาง คือ ปางประสูติที่เมืองกบิลพัสดุ์ ๑ ปางตรัสรู้ที่พุทธคยา ๑ ปางปฐมเทศนาที่เมืองพาราณสี ๑ ปางปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ๑ และทำตามเรื่องพุทธปาฏิหาริย์อีก ๔ ปาง คือ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่เมืองสาเกต ๑ ปางยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ๑ ปางทรมานช้างนาฬาคิรีที่เมืองราชคฤห์ ๑ และปางทรมานพระยาวานรที่เมืองโกสัมพี ๑ มีหนังสืออธิบายข้างล่างบอกว่าเป็นของพระราชินีทรงสร้าง เขาว่าพระพิมพ์แบบนี้หายากยิ่งนัก กรมตรวจโบราณคดีพบที่วัดมงคลเจดีย์ในเมืองพุกาม มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานสักสามสี่แผ่นเท่านั้น ฉันนึกอยากได้สักแผ่นหนึ่งแต่มิรู้ที่จะขอเขาอย่างไร เพราะเป็นของมีน้อย เมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งฉันพบเลขานุการใหญ่ของรัฐบาล เขาถามถึงการที่ฉันขึ้นไปเที่ยวเมืองพะม่าเหนือชอบใจอะไรบ้าง ได้ช่องฉันจึงบอกว่าชอบพระพิมพ์ที่ในพิพิธภัณฑสถานเมืองพุกามอย่าง ๑ ที่มีพระพุทธรูป ๘ ปาง แต่จะขอก็เกรงใจ ด้วยเป็นของมีน้อย พูดกันเท่านั้นแล้วก็เป็นอันสงบมา จนฉันกลับมาถึงปินังแล้ว เลขานุการจึงมีจดหมายส่งพระพิมพ์นั้นมาแผ่น ๑ ว่ารัฐบาลเมืองพะม่าให้ฉันเพื่อเป็นของที่ระลึกในการที่ไปเมืองพะม่าครั้งนี้ ได้ยินว่าต้องขออนุญาตไปยังเมืองกาลกัตตาก่อน ได้รับอนุญาตแล้วจึงส่งมา ฉันก็ตอบว่าขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

พระพิมพ์เมืองพะม่า ถึงทำหลายยุคหลายอย่างต่างๆ กันก็ดี ลักษณะย่อมอยูในคติ “หินยาน” และทำด้วยดินเผาทั้งนั้น พระพิมพ์ที่พบ ณ เมืองนครปฐมและเมืองอื่นๆ ในเมืองไทยทางข้างเหนือก็ทำเช่นเดียวกันกับพะม่า แต่ในเมืองไทยทางข้างใต้มืพระพิมพ์อีกชะนิด ๑ ซึ่งมักพบในมณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลปัตตานี ทำตามคติ “มหายาน” ชอบทำรูปพระโพธิสัตว์ และทำด้วยดินดิบไม่เผาไฟ ฉันเคยสืบหามูลเหตุที่ทำพระพิมพ์ผิดกันนั้น ได้เค้าว่าเพราะทำด้วยเจตนาต่างกัน พวกพะม่ามอญไทยทางข้างฝ่ายเหนือถือพระพุทธศาสนาอย่างคติหินยาน สร้างพระพิมพ์ด้วยเจตนาจะให้เป็นเครื่องหมายพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่จนตลอดอายุพระศาสนา ซึ่งกำหนดกันว่า ๕,๐๐๐ ปี เมื่อพุทธเจดีย์ที่สร้างไว้เหนือแผ่นดินศูนย์ไปหมดแล้ว ใครขุดพบก็จะได้พระพิมพ์เป็นเจดียวัตถุสำหรับสักการบูชาสืบอายุพระศาสนาต่อไปด้วยประการฉะนี้ แต่พวกชาวแหลมมะลายูในสมัยนั้นถือพระพุทธศาสนาอย่างคติมหายานซึ่งรับมาจากกรุงศรีวิชัยในเกาะสุมาตรา ทำพระพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระโพธิสัตว์ ยังทำกันอยู่ในประเทศธิเบตจนทุกวันนี้ เมื่อพระมหาเถระที่ผู้คนนับถือมากถึงมรณภาพลง ทำฌาปนกิจแล้วเก็บอัฐิธาตุป่นประสมดินทำเป็นพระพิมพ์เก็บไว้ตามถ้ำ เพื่อให้อานิสงส์เป็นปัจจัยให้พระมหาเถระองค์นั้นบรรลุภูมิโพธิสัตว์ในอนาคตกาล ที่ทำเป็นดินดิบเห็นจะเป็นเพราะถือว่าได้ทำฌาปนกิจสรีระครั้งหนึ่งแล้ว จะเผาอัฐิซ้ำอีกหาควรไม่ พระพิมพ์ดินดิบอย่างเช่นว่ามานี้ในเมืองพะม่าหามีไม่

เรื่องเงินตรานั้นเป็นปัญหาแก่ฉันมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองนครปฐมเป็นที่ว่าการมณฑลในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยขุดพบเงินตราของโบราณที่นั่นเนืองๆ เป็นเงินเหรียญขนาดสักเท่าเงินครึ่งบาท มีตราด้านหนึ่งเป็นรูปสังข์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปคล้ายกับมณฑปมีรูปปลาอยู่ข้างล่าง ฉันให้สืบถามดูว่าเงินอย่างนั้นพบที่ไหนอีกบ้าง ได้ความว่าพบที่เมืองอู่ทอง (คือเมืองสุพรรณภูมิ) อยู่เหนือเมืองนครปฐมขึ้นไปอีกแห่งเดียว ฉันอยากจะรู้ว่าเป็นเงินตราของเมืองนครปฐมเมื่อเป็นราชธานี หรือมาจากประเทศอื่น จึงให้ฉายรูปส่งไปถามที่พิพิธภัณฑสถานบริติชในลอนดอน ว่าเงินตราอย่างนี้เป็นของประเทศไหน ได้รับตอบมาว่าเงินตราอย่างนี้พบแต่ที่เมืองพุกามแห่งเดียว เป็นเหตุอันหนึ่งซึ่งทำให้ฉันคิดอยากไปดูของโบราณที่เมืองพุกามมาแต่นั้น ต่อมาได้เงินเหรียญตราโบราณที่ขุดพบในดงศรีมหาโพธิ์จังหวัดปราจิณบุรีมาอีกอย่าง ๑ ขนาดสักเท่าเงินบาทแต่บางกว่า ตราข้างหนึ่งเป็นรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่กลางรัศมี อีกข้างหนึ่งลายคล้ายรูปมณฑปเช่นเงินเมืองนครปฐม ฉันสันนิษฐานว่าจะเป็นเงินของพวกขอม เพราะเมื่อเราพบเงินชะนิดนี้แล้ว ไม่ช้านักฝรั่งเศสก็ขุดพบเงินอย่างเดียวกันในแผ่นดินระหว่างเมืองไซ่ง่อนกับกรุงกัมพูชา เขาถามมาว่าในเมืองไทยพบเงินเหรียญอย่างนั้นบ้างหรือไม่ เงินโบราณทั้ง ๒ อย่างที่ว่ามานั้นยังรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ ฉันไปถึงเมืองพะม่าไปแลเห็นในหนังสือแต่งเรื่องเมืองพะม่าฉบับ ๑ เขาจำลองรูปเงินโบราณต่างๆ ที่พบในเมืองพะม่าพิมพ์ไว้ในนั้น มีทั้งเงินตราอย่างที่พบ ณ เมืองนครปฐมและที่ดงศรีมหาโพธิ์ และยังมีเงินตราอย่างอื่นอีก สอบได้หลักฐานว่าเป็นเงินอินเดียทั้งนั้น คือเงินตราที่พวกชาวอินเดียเอามาใช้ในการค้าขายตามประเทศเหล่านี้ มิใช่ทำใช้ในพื้นเมืองนครปฐมหรือเมืองพุกาม

แต่โบราณประเพณีใช้เงินในการชื้อขายกำหนดราคาเงินด้วยน้ำหนัก เวลาใช้ต้องชั่งเสมอไป ตราต่างๆ ที่ตีไว้กับเงินเป็นแต่เครื่องหมายชื่อของพ่อค้าผู้ทำหรือแห่งที่ทำเงินนั้น กับบอกน้ำเงินและน้ำหนักอย่างรับประกันความบริสุทธิ์ของเงินตราที่ทำขายนั้น ใช้ประเพณีอย่างนี้ทุกประเทศทางตะวันออกตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนเมืองจีน เมื่อพวกฝรั่งชาวโยนก (กรีก) มาได้ครองอินเดียข้างฝ่ายเหนือ จึงนำวิธีทำเงินเหรียญตีตราของพระเจ้าแผ่นดินมาใช้ แต่ก็ใช้อยู่เพียงชั่วคราว ยังใช้น้ำหนักเป็นมาตราเป็นพื้น จนถึงสมัยเมื่ออังกฤษได้อินเดียจึงเอาการทำเงินตราผูกขาดเป็นของรัฐบาล และทำเหรียญ “รูปี” ใช้ต่อมา พวกพะม่ากับชาวอินเดียมีการไปมาค้าขายติดต่อกันอยู่เสมอ พะม่าจึงรับใช้เงินรูปีอังกฤษเป็นเงินตราของบ้านเมืองมาช้านาน ทางเมืองจีนเรื่องก็เป็นทำนองเดียวกัน เดิมจีนก็ใช้ราคาเงินด้วยน้ำหนัก ครั้นเมื่อยอมให้ฝรั่งมาค้าขาย พวกฝรั่งเอาเงินเหรียญตราที่ทำในประเทศเม๊กสิโคมาซื้อสินค้า พวกจีนชอบด้วยเงินเม๊กสิโคเนื้อเงินดีและน้ำหนักเท่ากันไม่ต้องชั่งให้ลำบาก ก็รับใช้เงินเหรียญเม๊กสิโคเป็นอย่างเงินของเมืองจีน เมืองไทยเราเดิมก็ใช้เงินด้วยน้ำหนัก เหมือนอย่างเงินตราขาคีมที่มีตราและอักษรไทยบอกนามเมืองก็ดี เงินมะขามป้อมขนาดใหญ่ตีตราช้างและตราอื่นๆ ก็ดี เงินลาดตีตราใช้ทางมณฑลอุดรก็ดี ว่าตามพิจารณาตัวอย่างเงินที่มีอยู่ ดูก็จะเป็นเงินที่พ่อค้าทำขายอย่างประเพณีโบราณในอินเดียและเมืองจีนดังว่ามาแล้ว จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเอาการทำเงินตรามาเป็นการหลวง และห้ามมิให้ผู้อื่นทำเงินตราขายเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่นั้นจึงมีเงินตรารูปพดด้วงขนาดหนักบาท ๑ สองสลึง สลึง ๑ และเฟื้อง ๑ เนื้อเงินและน้ำหนักเสมอกันตามจำพวก และมีตราหลวงตีเป็นสำคัญ ๒ ดวง คือตราจักรหมายว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำดวง ๑ ตรารูปอื่นเป็นสำคัญของสมัยที่ทำดวง ๑ เช่นเดียวกันทุกขนาด เรื่องตำนานการใช้เงินตราในประเทศสยามผิดกับประเทศพะม่าและประเทศจีนเป็นข้อสำคัญอย่าง ๑ มาปรากฏในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ มากขึ้น พวกฝรั่งเอาเงินเหรียญเม๊กสิโคที่ใช้กันในเมืองจีนมาซื้อสินค้า แต่ราษฎรไทยไม่ยอมรับเงินอย่างอื่นนอกจากเงินบาท พวกพ่อค้าฝรั่งต้องเอาเงินเหรียญเม๊กสิโคมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติไปซื้อสินค้า ในสมัยนั้นมีเตาสำหรับทำเงินตราที่พระคลังมหาสมบัติ ๑๐ เตา แม้ให้คนผลัดกันทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ทำได้เพียงวันละ ๒,๐๐๐ บาทเป็นอย่างมาก ไม่พอพวกพ่อค้าต้องการ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สั่งเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระษาปณ์ทำเงินตราเป็นเหรียญแทนพดด้วง และให้เลิกใช้เบี้ยหอย ใช้เหรียญทองแดงและดีบุกแทนเบี้ยต่อมา ชะรอยพระเจ้ามินดงจะทราบเรื่องสร้างโรงกระษาปณ์ทำเงินเหรียญในเมืองไทย จึงให้สั่งเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระษาปณ์ที่ในราชวังเมืองมัณฑเล ทำเงินรูปีของพะม่าบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ได้ดังพระราชประสงค์ เพราะพวกราษฎรพะม่าชอบใช้เงินรูปีของอังกฤษมาเสียช้านานทั่วทั้งประเทศแล้ว ไม่เหมือนราษฎรไทยที่ไม่ยอมใช้เงินต่างประเทศ จึงได้ใช้เงินบาทสืบมาจนบัดนี้

วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ถึงกำหนดวันกลับจากเมืองพุกาม เวลาเช้า อูเงวชินผู้ที่รัฐบาลจัดให้มานำทางขอลาเพียงที่นี่ (ชะรอยแกจะไม่สู้สันทัดโบราณคดีทางเมืองพะม่าใต้) บอกว่ารัฐบาลได้จัดคนไว้คอยนำทางที่เมืองแปรแล้ว จึงจับมือขอบใจและอำลากัน ถึงเวลา ๘ นาฬิกาเศษขึ้นรถยนต์มายังท่าลงเรือที่ตำบลหนองอู พวกกรมการที่เคยรับก็พากันมาส่ง พอเรือด่วนของบริษัทลำชื่อ “เซลอน” Ceylon มาถึงก็ลงเรือล่องจากเมืองพุกามราวเวลา ๑๑ นาฬิกา

เรื่องล่องแม่น้ำเอราวดีตั้งแต่เมืองพุกามลงมาจนถึงเมืองแปร ฉันได้เล่าในตอนที่ ๘ แล้ว ตอนหน้าจะเล่าเรื่องเที่ยวเมืองแปรต่อไป.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ