ตอนที่ ๗ วินิจฉัยเคราะห์กรรมเมืองพะม่า

ตามความที่พรรณนามาในตอนเที่ยวเมืองมัณฑเล มีอ้างถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชชกาลพระเจ้ามินดงและรัชชกาลพระเจ้าสีป่อแต่เป็นเล่าความหลายแห่ง ฉันได้บอกไว้ว่าจะรวมเรื่องเล่าต่างหาก จะเล่าตรงนี้ต่อกับเรื่องมัณฑเล แต่มิใช่จะเล่าเรื่องพงศาวดารพะม่าซ้ำกับที่ฉันได้เขียนไว้ในหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๒ และหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพะม่า จะว่าแต่ด้วยวินิจฉัยเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีอันหนึ่ง แต่เผอิญมีผลกลายไปเป็นปัจจัยให้ร้ายแก่เมืองพะม่าเมื่อภายหลัง จนถึงเสียบ้านเมืองเป็นที่สุด เหมือนอย่างพวกคริสตังเขาว่า “เพราะพระเป็นเจ้าบันดาล” หรือเรียกตามคติของไทยก็ว่า “เพราะเคราะห์กรรม” อย่างน่าพิศวง

มูลเหตุแห่งความหายนะของประเทศพะม่า เกิดแต่พระเจ้าพะคยีดอทำสงครามแพ้อังกฤษ (ครั้งที่ ๑) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ (สมัยรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์) ต้องเสียหัวเมืองมอญทางใต้ปากน้ำสาละวินตลอดเมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี กับทั้งเมืองยักไข่และเมืองอัสสัมทางต่อแดนอินเดีย ไปเป็นของอังกฤษ นอกจากนั้นยังต้องรับเสียเงินค่าชดใช้ในการสงครามแก่อังกฤษถึง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปี พระเจ้าพะคยีดอต้องเก็บเงินจากราษฎรในราชอาณาเขตต์ที่ยังเหลืออยู่เพิ่มขึ้นด้วยประการต่างๆ เพื่อจะเอาไปใช้หนี้อังกฤษ เป็นเหตุให้ราษฎรเดือดร้อนเริ่มระส่ำระสายเสื่อมความภักดีมาแต่สมัยนั้นแล้ว ต่อมาถึงสมัยพระเจ้าพุกามครองเมืองพะม่า เป็นรัชชกาลที่ ๘ ในราชวงศ์อลองพระ พะม่าเกิดรบกับอังกฤษอีก (เป็นครั้งที่ ๒) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ รบกันครั้งนี้ พออังกฤษตีได้หัวเมืองมอญฝ่ายเหนือขึ้นไปถึงเมืองแปรและเมืองหงสาวดี ที่เมืองอมรบุระราชธานีก็เกิดเหตุ ด้วยสงสัยว่าน้องยาเธอ ๒ องค์ทรงนามว่า “เจ้ามินดง” องค์ ๑ กับ “เจ้ากะนอง” องค์ ๑ ซึ่งร่วมจอมมารดาเดียวกันจะเป็นขบถ เจ้า ๒ องค์ นั้นรู้ทันก็พากันหนีออกจากเมืองอมรบุระไปรวบรวมกำลังตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองชเวโบ (คือเมืองรัตนสิงห์ ซึ่งพระเจ้าอลองพระสร้างเป็นราชธานี) พระเจ้าพุกามให้กองทัพไปปราบหลายครั้งก็กลับพ่ายแพ้มา ผู้คนเห็นเป็นบุญบารมืของเจ้า ๒ องค์นั้นก็พากันสมัครเป็นรี้พลมากขึ้น เมื่อเจ้ามินดงเห็นว่ามีกำลังพอจะตีเมืองอมรบุระได้ แต่งสายให้ไปสืบเจตนาของอังกฤษ ได้ความว่าถ้าพะม่ายอมเป็นไมตรีจะไม่ขึ้นไปตีถึงราชธานี เจ้ามินดงก็ให้เจ้ากะนองอนุชาเป็นแม่ทัพยกลงมาตีเมืองอมรบุระ เผอิญมาประจวบเวลาพวกกองทัพพะม่าที่ล่าหนีอังกฤษขึ้นไปถึงหลายกอง พวกนั้นพากันไปเข้ากับเจ้ากะนองก็ตีได้เมืองอมรบุระโดยง่าย เจ้ามินดงจึงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพะม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ (ตรงกับปีที่ ๒ ในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์)

เมื่อพระเจ้ามินดงได้ราชสมบัตินั้น สังห้ามมิให้ทำร้ายพระเจ้าพุกาม ให้สร้างวังถวายเป็นที่ประทับ นับถือเป็นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ต่อมา (จนถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อจึงได้สิ้นพระชนม์) ส่วนพวกขุนนางกับทั้งรี้พลนายไพร่ที่ได้รบพุ่งต่อสู้ เมื่อกลับใจอ่อนน้อมก็พระราชทานอภัยไม่เอาโทษ คนทั้งหลายเห็นพระเจ้ามินดงทรงปราศจากอาฆาตผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ราชสมบัติด้วยรบชนะมาแต่ก่อน ก็พากันนิยมยอมสวามิภักดิ์ การฉุกเฉินในราชธานีก็สงบลงได้ในทันที ทางภายนอกพระเจ้ามินดงก็แต่งทูตให้ไปเจรจาขอหย่าทัพกลับเป็นไมตรีกับอังกฤษ อังกฤษได้หัวเมืองมอญฝ่ายเหนือไว้ในมือหมดแล้วก็ยอมเลิกสงคราม แต่นั้นประเทศพะม่าจึงแยกเป็น ๒ อาณาเขตต์ อาณาเขตต์ข้างฝ่ายใต้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เรียกนามว่า “พะม่าใต้” อาณาเขตต์ข้างฝ่ายเหนือพระเจ้าแผ่นดินพะม่าคงปกครองอยู่ตามเดิม เรียกนามว่า “พะม่าเหนือ”แต่ตามประเพณีพะม่ามิได้เรียกบ้านเมืองของตนว่า “ประเทศพะม่า” ใช้นามประเทศว่า “กรุงอังวะ” พระนามพระเจ้าแผ่นดินพะม่า ก็เรียกแต่ว่า “พระเจ้าอังวะ” มาแต่โบราณ ดูประหลาดที่เหมือนกับ ประเพณีไทยเราเรียกนามประเทศว่า “กรุงศรีอยุธยา, และใช้พระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” มาแต่โบราณอย่างเดียวกัน จนถึงรัชชกาลที่ ๔ ไทยจึงได้เปลี่ยนเรียกว่า “ประเทศสยาม” และใช้พระนามพระเจ้าแผ่นดินฉะเพาะพระองค์ เรื่องราวที่กล่าวมานี้ เป็นอย่างคำนำวินิจฉัยที่จะพรรณนาต่อไปข้างหน้า

เมื่อพระเจ้ามินดงขึ้นเสวยราชย์ ทรงสถาปนาเจ้า (ฟ้า) หญิงเสกขรเทวี น้องนางร่วมพระชนนีกับพระเจ้าพุกาม เป็นอัครมเหสี และสถาปนาเจ้า (ฟ้า) หญิงราชธิดาของพระเจ้าพะคยีดอ (คือพระนางอเลนันดอ) เป็นมเหสี ทรงตั้งเจ้ากะนองราชอนุชา ซึ่งเป็นผู้บัญชาการรบพุ่งได้ราชสมบัติถวาย เป็นพระมหาอุปราช ทั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ เพราะไว้วางพระราชหฤทัย ข้างฝ่ายพระมหาอุปราชก็จงรักภักดี มิได้รังเกียจกันในระหว่าง ๒ พระองค์นั้น การเหล่านี้ล้วนเกิดด้วยเจตนาดี แต่กลับมีผลร้ายเมื่อภายหลัง เริ่มด้วยพวกลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงคิดเห็นว่าถ้าสิ้นพระเจ้ามินดงเมื่อใด พระมหาอุปราชก็จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย “วังหลวง” คงสิ้นวาสนา ด้วยอำนาจและการสืบสันตติวงศ์จะไปตกอยู่ใน “พวกวังหน้า” เพราะมีความรังเกียจเช่นนั้น พวกเจ้านายลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงจึงไม่ชอบพระมหาอุปราชโดยมาก อยู่มาถึง พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าเมงกูนลูกเธอชั้นใหญ่ของพระเจ้ามินดงองค์หนึ่ง ถูกฟ้องหาว่าประพฤติชั่วร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง พระมหาอุปราชจะพิจารณาคดีนั้น เจ้าเมงกูนรู้ตัวว่าคงต้องถูกลงโทษหนัก จึงปรารถนาจะกำจัดพระมหาอุปราชเพื่อป้องกันภัยของตนเอง แต่เห็นว่าถ้าทำร้ายพระมหาอุปราช พระเจ้ามินดงคงลงโทษถึงสิ้นชีวิต ก็เลยคิดจะกำจัดพระเจ้ามินดงชิงเอาราชสมบัติเสียด้วยทีเดียว วันหนึ่งเวลาพระมหาอุปราชกำลังนั่งว่าราชการอยู่ ณ ศาลาหลุดดอ เจ้าเมงกูนทำกลอุบายให้เจ้าเมงกูนแดงน้องชายวิ่งเข้าไปในวังเหมือนอย่างหนีภัย และเจ้าเมงกูนกับพรรคพวกถือดาบวิ่งไล่ตามเข้าไปเหมือนอย่างจะทำร้ายเจ้าเมงกูนแดง เมื่อเจ้าเมงกูนแดงวิ่งเข้าไปถึงหน้าศาลาหลุดดอร้องว่า “ช่วยด้วย” “ช่วยด้วย” พระมหาอุปราชกับเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ที่อยู่ในศาลาหลุดดอสำคัญว่าเจ้า ๒ องค์นั้นวิวาทกัน ก็พากันลงมาจากศาลาหลุดดอหมายจะห้ามปราม เจ้าเมงกูนกับพรรคพวกได้ทีก็ฟันพระมหาอุปราชและเจ้านายอีก ๓ องค์ กับทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ที่ออกมาด้วยกันสิ้นชีพหมด แล้วพากันกรูออกไปยังพลับพลาเชิงเขามัณฑเลที่พระเจ้ามินดงประทับแรมอยู่ในเวลานั้น แต่ขณะเมื่อแรกเกิดเหตุที่ในวังมีพวกชาววังวิ่งไปทูลพระเจ้ามินดงให้รู้พระองค์ทัน เวลานั้นพระองค์เมฆระลูกเธอ (บิดาเจ้าผิว) อยู่กับพระเจ้ามินดง เชิญเสด็จออกจากพลับพลาทางประตูด้านหลัง แล้วเชิญเสด็จขึ้นขี่หลังข้าเฝ้าพาลัดทางเข้าไปในวังได้ พวกขบถออกไปถึงพลับพลาเที่ยวค้นหาพระเจ้ามินดงไม่พบ รู้ว่าหนีเข้าวังได้ก็พากันกลับไปยังราชวัง แต่เวลานั้นเจ้าเมฆระให้ปิดประตูวังและเรียกพวกรักษาพระองค์คอยต่อสู้อยู่แล้ว พวกขบถเข้าพังประตูวังชั้นกลาง (อย่างประตูพิมานชัยศรีในกรุงเทพฯ) พวกเจ้าเมฆระขึ้นประจำอยู่บนชาลาหน้ามหาปราสาทเอาปืนยิงกราดไว้ พวกขบถก็ไม่สามารถจะพังประตูวังเข้าไปได้ ในเวลากำลังรบกันอยู่นั้นลูกพระมหาอุปราชคุมพวกพลวังหน้ามาถึง พวกขบถเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ที่ตรงนั้น ก็พากันถอยไปรวมกันอยู่ในบริเวณสวนซ้าย อันเป็นที่สำหรับนางในประพาส ต่อสู้พวกข้าหลวงอยู่จนกลางคืน พวกขบถเห็นเหลือกำลัง พอเช้าตรู่ก็พากันหนีลงไปยังท่าน้ำชิงเอาเรือกำปั่นไฟของหลวงได้ลำหนึ่ง แล่นลงไปขอพึ่งอังกฤษที่เมืองพะม่าใต้ แต่แรกอังกฤษถือว่าเป็นผู้หนีภัยในการเมืองก็รับไว้ เจ้าเมงกูนแดงเป็นไข้ตายที่เมืองร่างกุ้ง เหลือแต่เจ้าเมงกูนยังพยายามจะตีเมืองพะม่าเหนือ รัฐบาลอังกฤษรู้ก็ให้ส่งเจ้าเมงกูนเอาไปคุมไว้ในอินเดีย

เมื่อพระมหาอุปราชถูกพวกขบถปลงพระชนม์แล้ว ปัญหาว่าใครจะเป็นรัชชทายาทก็เกิดขึ้น ถ้าหากพระเจ้ามินดงมีเจ้าฟ้าลูกยาเธอก็จะไม่ลำบากอย่างใด แต่เผอิญพระอัครมเหสีเป็นหมันไม่มีราชโอรสธิดา พระนางอเลนันดอมเหสีรองลงมาก็มีแต่ราชธิดา หามีเจ้าฟ้าชายที่จะเป็นรัชชทายาทไม่ มีแต่พระองค์เจ้าลูกยาเธอเกิดด้วยนักสนม แต่มีถึง ๓๐ องค์ล้วนมีสิทธิเสมอกัน จึงเกิดลำบากในการที่จะตั้งรัชชทายาท เรื่องนี้มีจดหมายเหตุอังกฤษว่าเมื่อนายร้อยเอกสะเลเดน (ซึ่งภายหลังได้เป็นนายพันเอก และเป็นเซอร์ เอดวาร์ด สะเลเดน) เป็นทูต (Agent) อังกฤษอยู่ที่เมืองมัณฑเล เป็นคนสนิทชิดชอบกับพระเจ้ามินดง ได้เคยทูลตักเตือนว่าลูกเธอมีมากด้วยกัน ควรจะทรงตั้งองค์ใดองค์หนึ่งเป็นมหาอุปราชเสียให้ปรากฏ มิฉะนั้นหากสิ้นพระองค์ลงจะเกิดเหตุด้วยชิงราชสมบัติกัน พระเจ้ามินดงตรัสตอบว่าเป็นการยากอยู่ เพราะตั้งคนไหนเป็นมหาอุปราช ก็คงถูกพี่น้องคิดกำจัดไม่รอดอยู่ได้ ตั้งใครก็เหมือนวางบทประหารชีวิตคนนั้น จึงยังมิรู้ที่จะทำอย่างไร ความส่อให้เห็นว่าพระเจ้ามินดงท้อพระราชหฤทัยมาแต่ครั้งเจ้าเมงกูนเป็นขบถ สิ้นหวังว่าสายโลหิตจะกีดกันมิให้ฆ่าฟันกันเองได้ แต่มีเค้าเงื่อน (ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า) ว่าพระเจ้ามินดงได้หมายลูกเธอที่จะเป็นรัชชทายาทไว้ ๓ องค์ คือ เจ้าตอนเช ซึ่งเป็นลูกยาเธอพระองค์ใหญ่และเป็นลูกเขยพระมหาอุปราชด้วยองค์ ๑ เจ้า เมฆระ (บิดาเจ้าผิว) ซึ่งเป็นคนกล้าหาญและมีความชอบเมื่อครั้งปราบขบถองค์ ๑ เจ้านยองยานซึ่งเป็นนักเรียนมีความรู้มากและอัชฌาสัยสุภาพถูกพระราชหฤทัยองค์ ๑ แต่ยังขัดข้องด้วยเหตุดังตรัสแก่นายร้อยเอกสะเลเดน จึงรอหาโอกาสที่จะตั้งองค์ใดองค์หนึ่งได้โดยเรียบร้อย ตำแหน่งรัชชทายาทก็เลยว่างอยู่ กลายเป็นปัจจัยให้ร้ายแก่เมืองพะม่าอีกอย่าง ๑

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ (ก่อนพระเจ้ามินดงสวรรคต ๒ ปี) พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ เหตุอันนี้ก็เป็นปัจจัยให้ร้ายต่อไปถึงบ้านเมืองด้วยอีกอย่าง ๑ เพราะประเพณีในราชสำนักเมืองพะม่า ภรรยาข้าราชการย่อมเข้าเฝ้าแหนพระอัครมเหสีเหมือนสามีเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน มีโอกาสที่ภรรยาข้าราชการจะทูลกิจสุขทุกข์ของตนตลอดไปจนถึงของสามีให้พระอัครมเหสีทรงทราบ พระอัครมเหสีมักนำความทูลแถลงแก่พระเจ้าแผ่นดินให้เป็นคุณความดีแก่คนเหล่านั้นได้ การที่ทูลพระอัครมเหสีจึงเป็นทางอันหนึ่ง ซึ่งพวกข้าราชการจะขอพระราชานุเคราะห์ ก็พระนางเสกขรเทวีอัครมเหสีนั้นพระอัธยาศัยโอบอ้อมอารีเป็นที่นับถือของคนทั้งหลายทั่วไป ผิดกันกับพระนางอเลนันดอมเหสีรอง ซึ่งทรงคุณฉะเพาะภักดีในอุปัฏฐากพระเจ้ามินดง แต่มีนิสัยก้าวร้าวร้ายกาจไม่มีนางในใครชอบ กล่าวกันว่าพระนางอเลนันดอได้อุปนิสัยมาแต่มารดา ซึ่งเดิมเป็นคนนั่งร้านขายของอยู่ในตลาด พระเจ้าพะคยีดอได้ไปเป็นนางห้ามแต่เมื่อยังเป็นหลานเธอ แล้วเลยรักใคร่ลุ่มหลงถึงตั้งให้เป็นอัครมเหสีเมื่อได้เสวยราชย์ นางนั้นมีบุญขึ้นก็ทำยุ่งต่างๆ เมื่อตอนปลายรัชชกาล จนพระเจ้าพะคยีดอต้องถูกปลงจากราชสมบัติ และยังกล่าวกันต่อไปอีกว่าที่ราชินีสุปยาลัตร้ายกาจนั้น ก็เพราะได้อุปนิสสัยสืบไปจากพระนางอเลนันดอ และยังประหลาดต่อมาที่มีราชธิดาองค์หนึ่งของราชินีสุปยาลัต เมื่อเสียเมืองพะม่าแล้วได้สามีเป็นเนติบัณฑิตอยู่ ณ เมืองเมาะลำเลิง Moulmein เพิ่งสิ้นชีพเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ว่ามีอุปนิสสัยก้าวร้าวร้ายกาจทำนองเดียวกัน ดูราวกับรับอุปนิสสัยสืบกันมาถึง ๔ ชั่วคน น่าพิศวง

เมื่ออัครมเหสีสิ้นพระชนม์แล้ว เกิดกิตติศัพท์ว่าพระนางอเลนันดอจะได้เลื่อนขึ้นเป็นที่อัครมเหสี พวกนางในก็พากันหวาดหวั่น ใครมีโอกาสก็กระซิบทูลร้องทุกข์ต่อพระเจ้ามินดง ว่าถ้าพระนางอเลนันดอได้เป็นอัครมเหสีเห็นจะทนไม่ไหวถึงต้องทูลลาออก พระเจ้ามินดงก็นิ่งอยู่ ในไม่ช้าพระนางอเลนันดอก็ทูลขอเป็นตำแหน่งอัครมเหสี ด้วยอ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าเหมือนกันกับอัครมเหสีที่สิ้นพระชนม์ แต่พระเจ้ามินดงตรัสตอบว่าเมื่ออัครมเหสีจะสิ้นพระชนม์นั้น ทูลขอมิให้ตั้งอัครมเหสีอีก ได้ตรัสรับไว้ จึงเป็นแต่เพิ่มยศพระนางอเลนันดอให้เป็นนางพระยาช้างพังเผือก และพระราชทานเศวตฉัตร (ชั้นเดียว) ให้กั้น พระนางอเลนันดอไม่ได้เป็นอัครมเหสีสมประสงค์ เมื่อทราบว่ามีพวกนางใน (คือจอมมารดาของเจ้าเมฆระที่เป็นย่าของเจ้าผิวเป็นต้น) ได้ทูลทัดทาน ก็หมายหน้าอาฆาตคนเหล่านั้นมา ที่พระอัครมเหสีทูลห้ามพระเจ้ามินดงมิให้ตั้งอัครมเหสีใหม่ ก็เห็นจะเป็นด้วยรังเกียจอุปนิสสัยของพระนางอเลนันดอ เกรงว่าจะทำให้เกิดขุ่นเข็ญขึ้นในราชฐาน แต่ที่จริงก็ไม่ป้องกันความลำบากได้ เพราะพระนางอเลนันดอเป็นมเหสีรองอยู่แล้ว เมื่อไม่มีองค์อัครมเหสี พระนางอเลนันดอเป็นมเหสีก็ได้เป็นใหญ่ฝ่ายในอยู่นั่นเอง เป็นแต่ไม่มีฐานะที่จะเสด็จออกรับภรรยาข้าราชการเฝ้าเหมือนองค์อัครมเหสี ถึงกระนั้นพวกข้าราชการเคยได้ประโยชน์ด้วยให้ภรรยาเพ็ดทูลพระอัครมเหสีมาแต่ก่อน ก็หันไปประจบประแจงพระนางอเลนันดอขอให้ช่วยสงเคราะห์ แม้พวกเสนาบดีในหลุดดอที่เป็นหัวหน้าข้าราชการก็พากันยำเกรง เมื่อพระนางอเลนันดอมีอำนาจขึ้นในระหว่าง ๒ ปีนั้น อาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องสืบสันตติวงศ์แต่ในสมัยนี้ ด้วยรู้อยู่ว่าพวกนางในที่เกลียดชังมีมาก ถ้าหากลูกเธอของจอมมารดาคนใดที่เป็นอริกันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็คงจะเบียดเบียนให้เดือดร้อนมิรู้ว่าจะสักเพียงใด จึงแสวงหาพรรคพวกร่วมคิดการป้องกันตัว ได้ขุนนางชั้นมนตรี Atwinwun คนหนึ่งชื่อ “แตงดา” Taingda เป็นที่ปรึกษามาแต่สมัยนั้น พระนางอเลนันดอจะรู้ตั้งแต่เมื่อใด ว่าเจ้าหญิงสุปยาลัตธิดารักใคร่ติดพันกันอยู่กับเจ้าชายสีป่อ ข้อนี้ไม่ปรากฏ แต่เป็นกรณีสำคัญอันหนึ่ง เจ้าชายสีป่อเป็นลูกยาเธอชั้นผู้น้อย ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะเป็นรัชชทายาทและไม่มีคุณวิเศษอย่างอื่น นอกจากไล่หนังสือได้เป็นเปรียญเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ซ้ำจอมมารดาซึ่งเป็นธิดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองสีป่อก็ถูกกริ้วต้องเป็นโทษ ไม่มีใครเป็นผู้สนับสนุน เมื่อพระนางอเลนันดอทราบว่าเจ้าชายสีป่อรักใคร่กันกับธิดา ก็เห็นช่องที่จะป้องกันภัยได้ ด้วยคิดอ่านให้เจ้าชายสีป่อได้ราชสมบัติ ธิดาได้เป็นมเหสีตัวก็คงได้เป็นใหญ่อยู่ในวังต่อไป แต่ซ่อนความคิดนั้นไว้ แสดงกิริยาให้ปรากฏแต่ว่าไม่เอาใจใส่ในเรื่องสืบสันตติวงศ์ เพราะตัวมีแต่ธิดา พระเจ้ามินดงก็ไม่ทรงระแวงสงสัย กรณีที่กล่าวมานี้ก็น่าพิศวง ถ้าหากเจ้าชายสีป่อมิได้ลอบรักกับเจ้าหญิงสุปยาลัต เหตุการณ์ภายหลังก็อาจจะเป็นอย่างอื่น บางทีจะไม่ถึงเสียเมืองพะม่าก็เป็นได้

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ (ตรงสมัยรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์) พระเจ้ามินดงพระชันษาได้ ๖๔ ปี ประชวรเป็นบิดเมื่อเดือนสิงหาคม เสด็จออกว่าราชการไม่ได้หลายวัน เกิดลือกันว่าพระเจ้ามินดงสวรรคต แต่พวกชาววังปกปิดความไว้มิให้ใครรู้ คนก็ตื่นตกใจกันไปทั่วพระนคร พระเจ้ามินดงทรงทราบก็ให้พยุงพระองค์เสด็จออกท้องพระโรง ให้ข้าราชการเฝ้าเห็นพระองค์ เพื่อระงับความตื่นเต้นของชาวพระนคร แต่นั้นพระอาการก็ทรุดลงโดยลำดับ ถึงเดือนกันยายนผู้รักษาพยาบาลเห็นชัดว่าจะไม่คืนดีได้ พระนางอเลนันดอจึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน บอกพระอาการของพระเจ้ามินดงให้ทราบ สันนิษฐานว่าแล้วคงปรึกษากันต่อไปว่าจะทำอย่างไรดีที่อย่าให้พวกลูกยาเธอชิงราชสมบัติกัน ก็เห็นว่าควรจะเอาเจ้านายผู้ชายเข้าไปคุมขังไว้เสียที่ในวัง จึงใช้อุบายให้คนไปทูลลูกยาเธอเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ว่าพระเจ้ามินดงประชวรหนัก ตรัสสั่งให้หาลูกยาเธอเข้าไปเฝ้า ขณะนั้นจอมมารดาของเจ้านยองยานกับเจ้านยองโอ๊กรู้ระแคะระคายว่าเป็นกลอุบาย ให้คนรีบไปทูลลูกทั้ง ๒ องค์ ว่าอาจจะมีภัยอันตรายอย่าให้เข้าไป เจ้า ๒ องค์นั้นก็เลยหนีไปอาศัยซ่อนอยูในสถานทูตอังกฤษ แต่เจ้านายองค์อื่นพากันเข้าไปในวังตามรับสั่งก็ถูกจับ แต่เห็นจะยังจับไม่ได้หมดทุกองค์ในวันที่ ๑๒ นั้น จึงปรากฏในจดหมายเหตุว่าต่อวันที่ ๑๔ จึงสั่งให้เอาเจ้านายไปจำขังรวมกันไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในเขตต์ราชวังชั้นนอก ในตอนนี้เจ้าชายสีป่อก็ถูกจับและถูกจำด้วยกันกับเจ้านายพี่น้ององค์อื่นๆ จึงมีวินิจฉัยอีกอย่าง ๑ ว่าบางทีพระนางอเลนันดอจะเพิ่งรู้เรื่องเจ้าหญิงสุปยาลัตรักใคร่กับเจ้าชายสีป่อในตอนนี้ เพราะเจ้าหญิงสุปยาลัตทูลสารภาพเพื่อป้องกันภัยเจ้าชายสีป่อก็เป็นได้ แต่การที่จับและจำเจ้าชายสีป่อ อาจจะเป็นกลอุบายของพระนางอเลนันดอเพื่อป้องกันภัย เพราะในเวลานั้นเจ้านายองค์อื่นๆ ยังมิได้อยูในเงื้อมมือ รู้เข้าเกรงจะทำร้ายเจ้าชายสีป่อก็เป็นได้เหมือนกัน

เมื่อแรกจับเจ้านายนั้น พวกจอมมารดาเห็นจะเข้าใจกันว่าพระเจ้ามินดงตรัสสั่งให้จับก็รอฟังอยู่ พอรู้แน่ว่าพระนางอเลนันดอเป็นผู้สั่งให้จับ พวกจอมมารดาก็พากันฝ่าที่ห้ามเข้าไปในห้องประชวรเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ไปร้องไห้ทูลพระเจ้ามินดงให้ทรงทราบ พระเจ้ามินดงตกพระหฤทัยจนสามารถลุกขึ้นประทับได้ ตรัสเรียกอาลักษณ์เข้าไปให้เขียนพระราชโองการ สั่งให้ปล่อยเจ้านายลูกยาเธอเข้าไปเฝ้าหมดทุกองค์ พระนางอเลนันดอกับพวกเสนาบดีไม่อาจขัดพระราชโองการ ก็ต้องถอดเครื่องเวรจำปล่อยให้เจ้านายเข้าไปเฝ้าตามรับสั่ง เมื่อพระเจ้ามินดงได้ทอดพระเนตรเห็นลูกเธอทุกองค์แล้ว ตรัสสั่งให้เจ้าเมฆระอยู่ฟังแทนเจ้านายพี่น้อง และดำรัสให้อาลักษณ์เขียนพระราชโองการอีกฉบับหนึ่ง ทรงตั้งให้เจ้าตอนเชเป็นผู้สำเร็จราชการ Regent ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ (เปรียบเหมือนอย่างมณฑลพายัพ) ให้เจ้าเมฆระเป็นผู้สำเร็จราชการครองหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ (เปรียบอย่างมณฑลจันทบุรี) และให้เจ้านยองอานเป็นผู้สำเร็จราชการครองหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเฉียงใต้ (เปรียบอย่างมณฑลนครศรีธรรมราช) ให้มีอำนาจเป็นอิสสระทั้ง ๓ องค์ เจ้านายที่เป็นชั้นผู้น้อยรองลงมาใครจะสมัครอยู่กับเจ้าพี่องค์ไหนใน ๓ องค์นั้นก็ให้ไปอยู่ด้วยกัน แล้วตรัสสั่งพวกลูกเธอว่าเมื่อไปลาจอมมารดากับเจ้าพี่องค์หญิงแล้ว ให้พากันรีบออกจากเมืองมัณฑเลไปในวันนั้น พระราชทานเรือกำปั่นไฟของหลวงให้เป็นพาหนะพวกละลำ และตรัสกำชับในที่สุดว่าเมื่อออกไปครองเมืองแล้วถึงใครจะอ้างรับสั่งเรียกหา ถ้าไม่เห็นลายพระราชหัตถ์เป็นสำคัญก็อย่าให้กลับเข้ามาในราชธานีเป็นอันขาด ก็ในเวลานั้นพระนางอเลนันดอพยาบาลอยู่ ได้ยินกระแสรับสั่งของพระเจ้ามินดงอย่างนั้นก็ตกใจ แต่จะได้ปรึกษาพวกเสนาบดีก่อน หรือจะคิดอ่านแต่กับขุนนางคนสนิทไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเมื่อลูกยาเธอเฝ้าแล้ว พากันไปหาจอมมารดาและเจ้าพี่เจ้าน้องที่สวนซ้าย ในเวลากำลังรํ่าลากันอยู่นั้นมีพวกทหารกรูกันเข้าไปจับเจ้านายผู้ชายเอาไปจำขังอย่างเดิมทั้งหมด เว้นแต่เจ้าชายสีป่อนั้นหาจับไม่ และครั้งนี้พระนางอเลนันดอไม่ประมาทเหมือนหนหลัง ให้ทหารไปเที่ยวคุมนางในตามตำหนักมิให้ใครขึ้นไปทูลร้องทุกข์ได้อีก ที่ในราชมณเฑียรก็มิให้มีใครอื่นนอกจากพวกของตนเข้าไปใกล้ที่ประทับพระเจ้ามินดง แล้วพระนางอเลนันดอไปปรึกษาเสนาบดีถึงพระราชโองการที่ตั้งให้เจ้า ๓ องค์ไปครองหัวเมือง ก็เห็นพร้อมกันว่าถ้าปล่อยให้ไปก็เสมือน “ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงนา” พระเจ้ามินดงสวรรคตลงเมื่อใด ก็คงเกิดแย่งชิงราชสมบัติถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันเป็นศึกกลางเมือง จึงให้ปิดพระราชโองการนั้นซ่อนเสีย ฝ่ายพระเจ้ามินดงสำคัญว่าพวกลูกยาเธอพ้นภัยได้แล้วก็สิ้นพระวิตก เล่ากันว่าในวันต่อมาออกพระโอษฐ์ปรารภว่า “ป่านนี้พวกลูกจะไปถึงไหนหนอ” ล่วงมาอีกสองสามวันตรัสปรารภอีกว่า “ป่านนี้เห็นจะถึงบ้านเมืองแล้ว” ก็ไม่มีใครกล้าทูลความจริงให้ทรงทราบ ตรงนี้น่าคิดวิจารณ์ว่าพระเจ้ามินดงทรงดำริราโชบายอย่างใด จึงให้ลูกเธอไปปกครองเมืองเป็นอิสสระแก่กัน ๓ ก๊กเช่นนั้น พิเคราะห์ดูจะเป็นได้ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ประสงค์จะแยกให้อยู่เสียห่างไกลกันเพื่อจะให้รบพุ่งกันยากขึ้น ถ้าหากพระองค์สวรรคต ผู้คนในราชธานีนับถือองค์ไหนมากกว่าเพื่อน พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่องค์นั้นก็จะได้กำลังป้องกันพระองค์ อีก ๒ องค์ก็จะได้ครองเมืองอย่างเป็นประเทศราช ไม่จำเป็นจะต้องแย่งชิงราชสมบัติกัน มิฉะนั้นอีกอย่าง ๑ พระเจ้ามินดงยังเชื่อพระหฤทัยว่าจะหายประชวร ให้ลูกเธอแยกกันไปอยู่ตามหัวเมืองพอให้พ้นภัย เมื่อหายประชวรแล้วจึงจะคิดตั้งมหาอุปราชก็จะเป็นได้ เมื่อจับเจ้านายหนหลังแล้วสามสี่วันพระนางอเลนันดอแนะนำให้เสนาบดีทำฎีกาเข้าชื่อกันทูลขอให้ทรงตั้งเจ้าชายสีป่อเป็นพระมหาอุปราช แล้วรับฎีกานั้นเข้าไปถวาย พระเจ้ามินดงก็นิ่งเสียไม่ตรัสสั่งประการใด แต่เวลานั้นพระเจ้ามินดงประชวรพระอาการเพียบอยู่แล้ว พระนางอเลนันดอจึงกล้าอ้างรับสั่งบอกเสนาบดีว่าพระเจ้ามินดงทรงเห็นชอบด้วย ก็ประกาศตั้งเจ้าชายสีป่อเป็นพระมหาอุปราชก่อนพระเจ้ามินดงสวรรคตสัก ๗ วัน แต่รู้กันเพียงในราชฐานเท่านั้น

ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พระเจ้ามินดงก็สวรรคต ทำพิธีอยู่ ๗ วัน แล้วเชิญพระบรมศพแห่ไปบรรจุมณฑปที่สร้างขึ้นใหม่ มีกระบวรแห่พระเจ้าสีป่อทรงยานมาศตามกระบวรแห่พระบรมศพไป คนทั้งหลายเห็นพระองค์จึงรู้ว่าพระเจ้าสีป่อได้รับรัชชทายาท เมื่อเสร็จการบรรจุพระบรมศพแล้ว พระนางอเลนันดอก็ให้ทำพิธีอภิเษกสมรสพระเจ้าสีป่อกับเจ้าหญิงสุปยาคยีและเจ้าหญิงสุปยาลัตดังเล่ามาแล้วในตอนพรรณนาว่าด้วยราชมณเฑียรสถาน แต่การราชาภิเษกนั้น พิเคราะห์ตามจดหมายเหตุดูเหมือนจะทำพิธี “เฉลิมพระราชมณเฑียร” แทน คงเป็นเพราะเจ้าหญิงสุปยาลัตไม่ยอมให้เจ้าหญิงสุปยาคยีขึ้นนั่งร่วมราชอาสน์ในเวลาเสด็จออกมหาสมาคมอย่างพระอัครมเหสี ทั้งยังเป็นเวลาฉุกเฉินไม่กล้าเรียกพวกประเทศราชและผู้ว่าราชการหัวเมืองเข้าไปยังราชธานี รออยู่ถึง ๔ ปีจึงได้ทำพิธีราชาภิเษกและเลียบพระนครเต็มตำรา เมื่อคิดวินิจฉัยฉะเพาะส่วนพระองค์พระเจ้าสีป่อ เดิมก็มิได้อยู่ในฐานะและมิได้ขวนขวายหมายจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ผูกสมัครรักใคร่เจ้าหญิงสุปยาลัตก็ประสงค์เพียงจะได้ไปเป็นพระชายา เผอิญเคราะห์กรรมจูงขึ้นไปให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ข้อนี้ดูก็น่าพิศวงเหมือนกัน

เมื่อแรกพระเจ้าสีป่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองก็สงบอยู่ ด้วยคนทั้งหลายสำคัญว่าพระเจ้ามินดงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน เป็นแต่ประหลาดใจกันว่าเหตุไฉนจึงไม่ทรงตั้งลูกเธอที่เจริญพระชันษาและทรงคุณวุฒิยิ่งกว่าเจ้าชายสีป่อเป็นรัชชทายาท ส่วนพระเจ้าสีป่อเองก็ยังไม่สามารถจะบังคับบัญชาราชการ ด้วยมิได้เตรียมพระองค์ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจในราชการจึงตกอยู่ที่พระนางอเลนันดอ พอเสร็จงานบรมศพก็สั่งให้จับพวกนางในที่ผูกพยาบาทไว้เอาไปจำขังทั้งหมด แต่ในชั้นนี้ยังมิได้คิดจะฆ่าฟัน ด้วยปรากฏว่าให้สร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ในวัง สำหรับจะขังเจ้านายองค์ชายและนางในที่ถูกจับไว้ในเรือนจำนั้น แต่เมื่อความจริงรู้กันแพร่หลายออกไปถึงนอกวังว่าพระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติด้วยกลอุบายของพระนางอเลนันดอ และพระนางอเลนันดอให้จับเจ้านายกับทั้งนางในจำขังไว้มาก ก็เกิดหวาดหวั่นกันไปทั่วทั้งพระนคร กรณีที่ปรากฏภายหลังชวนให้สันนิษฐานว่าทูต Agent อังกฤษเห็นจะได้ว่ากล่าวกับเสนาบดีพะม่าตั้งแต่แรกจับเจ้านายเข้าไปขัง แต่ฝ่ายพะม่าคงแก้ว่าถ้าไม่จับเอาไปคุมไว้เสีย เกรงจะเกิดรบพุ่งชิงราชสมบัติกัน ทูตอังกฤษเห็นจริงก็นิ่งอยู่ ก็เจ้านายลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงนั้น แต่ละองค์โดยฉะเพาะที่เป็นชั้นผู้ใหญ่มีผู้คนเป็นบริวารมาก เมื่อพวกบริวารรู้ว่าเขาลวงจับเอาเจ้านายของตัวไปก็เป็นธรรมดาที่พากันโกรธแค้น คิดจะแก้ไขเอาเจ้านายของตนออกจากที่คุมขัง จึงมีความลำบากเกิดขึ้นเป็นปัญหาว่าจะควรทำอย่างไรให้ปลอดภัยในการที่จับเจ้านายไว้ ในหนังสือบางเรื่องว่าพระนางอเลนันดอกับพระเจ้าสีป่อปรึกษาเสนาบดีทั้งหมด บางเรื่องว่าปรึกษาแต่เสนาบดีที่เป็นตัวสำคัญ เสนาบดีคนอื่นมิได้รู้ แต่ทำนองจะเห็นพ้องกันว่าถ้าปล่อยเจ้านายออกไปก็คงไปคิดขบถ ถ้าขังไว้พวกบริวารก็คงคิดขบถ เมื่อปรึกษาหาทางป้องกัน พระนางอเลนันดอกับมนตรีแตงดาเห็นว่าจำต้องตัดต้นเหตุด้วยฆ่าเจ้านายเหล่านั้นเสียตามเยี่ยงอย่างที่พะม่าเคยทำกันแต่โบราณ พระเจ้าสีป่อกับเสนาบดีคนอื่นไม่เห็นชอบด้วย แต่ไม่สามารถจะหาอุบายอย่างอื่นได้ก็ต้องยอมอนุมัติ ขอชีวิตไว้แต่เจ้านายที่ยังเป็นเด็ก ไม่มีใครคิดเห็นว่าวิธีตัดต้นเหตุที่เคยใช้กว่าร้อยปีมาแล้วจะให้ร้ายแก่บ้านเมืองในสมัยเมื่อฝรั่งต่างประเทศมามีอำนาจแทรกแซงอยู่ จึงให้ฆ่าเจ้านายกับทั้งนางในที่เป็นอริกับพระนางอเลนันดอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (พ.ศ. ๒๔๒๓) ฆ่าอย่างทารุณเหมือนเช่นว่า “ตัดหนามไม่ไว้หน่อ” เจ้าชายองค์ใดถูกฆ่า จอมมารดาและลูกกับทั้งเจ้าน้ององค์หญิงของเจ้าชายองค์นั้นก็ถูกฆ่าด้วย แม้จนขุนนางที่เป็นญาติสนิททางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียเหมือนกัน จำนวนเจ้านายกับญาติวงศ์ที่ถูกฆ่าครั้งนั้น รวมกันถึงราว ๘๐ คน ว่าฆ่าอยู่ ๓ วันจึงหมด เพราะซ่อนฆ่าที่ในวังแต่เวลากลางคืนหวังจะมิให้พวกชาวเมืองรู้ แต่จอมมารดากับเจ้าน้องหญิง ๒ องค์ของเจ้านยองยานเจ้านยองโอ๊กที่หนีไปได้นั้น ให้เอาไว้เป็นตัวจำนำยังไม่ฆ่า เลยถูกจำขังต่อมาถึง ๗ ปี จนเสียเมืองพะม่า อังกฤษสั่งให้ปล่อยจึงพ้นเวรจำ

การที่ฆ่าเจ้านายครั้งนั้น พอข่าวรั่วออกมาถึงข้างนอก คนทั้งหลายก็ตกใจทั่วไปทั้งพะม่าชาวเมืองและชาวต่างประเทศ มิสเตอรชอทูตอังกฤษแต่พอรู้แน่ว่าจะฆ่าเจ้านาย ก็รีบเขียนหนังสือห้ามปรามไปยังเสนาบดีพะม่า และบอกไปในหนังสือนั้นว่าถ้าไม่ปรารถนาจะให้เจ้านายองค์ใดอยู่ในเมืองพะม่า อังกฤษก็จะยอมรับเอาไปไว้เสียอินเดีย ขอแต่อย่าให้ฆ่าฟัน ถ้าห้ามไม่ฟังอังกฤษกับพะม่าก็คงขาดไมตรีกัน เผอิญหนังสือทูตอังกฤษมีไปในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เมื่อทางโน้นฆ่ากันเสียเสร็จแล้วแต่วันที่ ๑๗ จึงช่วยชีวิตเจ้านายไว้ไม่ได้ ฝ่ายเสนาบดีพะม่าได้รับจดหมายทูตอังกฤษเมื่อเวลาล่วงเลยเสียแล้ว ก็ได้แต่ตอบว่าเมืองพะม่ามีพระมหากษัตริย์ปกครองเป็นอิสสระ ถือว่าบ้านเมืองเป็นสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคล เมื่อบ้านเมืองจะเกิดจลาจลก็จำต้องระงับตามประเพณี เพื่อจะรักษาบ้านเมืองและพระศาสนาให้พ้นภัย ขออย่าให้กะทบกะเทือนไปถึงทางไมตรี ทูตอังกฤษก็ได้แต่บอกไปยังรัฐบาลของตน ว่าพระเจ้าสีป่อจะทำให้บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญเป็นแท้ ครั้งนั้นมีผู้เห็นกันมากว่าควรจะเอาพระเจ้าสีป่อออกเสียจากราชสมบัติ และให้เจ้านยองยานซึ่งหนีไปได้และอังกฤษส่งไปไว้อินเดียนั้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินตามที่พระเจ้ามินดงทรงหมายไว้ บ้านเมืองจึงจะกลับเรียบร้อยได้อย่างเดิม อังกฤษเจ้าเมืองพะม่าใต้ก็เห็นเช่นนั้น แต่เมื่อบอกไปยังอินเดีย ไปประจวบเวลาอังกฤษกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับประเทศอัฟฆานิสถานทางฝ่ายเหนือ ไม่อยากจะให้เกิดรบพุ่งกับพะม่าอีกทางหนึ่งในขณะเดียวกัน จึงอนุญาตเพียงให้ “ลดธง” ถอนทูตมาเสียจากเมืองมัณฑเลเมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ แต่เผอิญในปีต่อมาทางกรุงลอนดอนเปลี่ยนรัฐบาล พวกลิเบอรัลซึ่งมีวิสัยรังเกียจการรบพุ่งได้เป็นใหญ่ และซ้ำต้องฝืนใจทำสงครามทางอาฟริกาใต้และอียิปต์ อังกฤษจึงระงับความคิดที่จะรุกรานเมืองพะม่าอยู่หลายปี

ในเมืองพะม่าเอง ตั้งแต่ฆ่าเจ้านายแล้วพระนางอเลนันดอก็เกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ว่ามีคนโกรธแค้นมากเกรงจะเกิดขบถ จึงแนะนำพระเจ้าสีป่อให้ตั้งมนตรีแตงดา ซึ่งเคยเป็นคู่คิดกันมาแต่ก่อน ขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี Wungyi ฝ่ายทหาร และให้เป็นผู้บัญชาการรักษาพระนครด้วย แต่พระนางอเลนันดอเองก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ไม่นานเท่าใด พอราชินีสุปยาลัตคุ้นกับพระเจ้าสีป่อสนิทแล้ว ก็เอากิจการฝ่ายในราชฐานไปบังคับบัญชาเสียเอง ใช่แต่เท่านั้นยังเอื้อมไปเกี่ยวข้องถึงกิจการฝ่ายหน้า ด้วยอาจจะว่ากล่าวให้พระเจ้าสีป่อทำตามถ้อยคำได้ เมื่อแตงดาหวุ่นคยีเห็นราชินีสุปยาลัตมีอำนาจขึ้น ก็หันเข้าประจบประแจงจนได้เป็นที่ปรึกษาหารือของราชินีสุปยาลัต เหมือนเช่นเคยเป็นที่ปรึกษาของพระนางอเลนันดอมาแต่ก่อน ราชการบ้านเมืองก็สิทธิ์ขาดอยู่ในคนทั้ง ๓ คือ พระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตและแตงดาหวุ่นคยี เลยเป็นเหตุให้เสนาบดีคนอื่นพากันท้อถอย การปกครองบ้านเมืองก็ผันแปรเสื่อมทรามลงจนเห็นปรากฏแก่คนทั้งหลาย

จึงมีคนจำพวกหนึ่งเป็นข้าราชการก็มี มิได้เป็นข้าราชการก็มี คบคิดกันกับพวกชาวเมืองพะม่าใต้ให้ไปเชิญเจ้านยองยานมาปราบยุคเข็ญ คนเหล่านั้นรับจะเป็นกำลังรบเอาราชสมบัติถวาย พะม่าผู้เล่าเรื่องให้ฉันฟังยืนยันว่าครั้งนั้นอังกฤษก็รู้เห็นเป็นใจด้วย แตในหนังสือที่อังกฤษแต่งไม่รับและไม่ปฏิเสธทั้ง ๒ สถาน จะอย่างไรก็ตาม ความปรากฏว่าเจ้านยองยานกับเจ้านยองโอ๊กอนุชาหนีมาได้จากอินเดียอย่างง่ายดาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ แต่เผอิญเจ้านยองยานมาประชวรสิ้นชีพเสียที่เมืองพะม่าใต้ เหลือแต่เจ้านยองโอ๊กออกเป็นหัวหน้าพวกขบถ ตีเมืองชายแดนพะม่าเหนือขึ้นไปได้ไม่เท่าใด พอพวกพะม่ารู้ว่ามิใช่เจ้านยองยานก็ไม่พอใจช่วย เพราะเจ้านยองโอ๊กเคยเป็นคนกักขฬะไม่มีใครนับถือมาแต่ก่อน เจ้านยองโอ๊กทำการไม่สำเร็จก็ต้องกลับไปอินเดีย เรื่องนี้ถ้าจะว่าเป็นเพราะเคราะห์กรรมของเมืองพะม่าก็ได้อีกอย่าง ๑ ถ้าเจ้านยองยานไม่สิ้นชีพเสียก็อาจได้เมืองพะม่า แม้อังกฤษจะมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่แรก ก็คงเข้าอุดหนุนในชั้นหลังเมื่อเห็นผู้คนพลเมืองพะม่าเข้าด้วยมาก ถ้าเจ้านยองยานได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมืองพะม่าก็เห็นจะยังไม่เสีย

กรณีที่เกิดขบถครั้งเจ้านยองยานนั้น เป็นปัจจัยให้แตงดาหวุ่นคยีสั่งให้สืบสวนเอาตัวผู้รู้เห็นเป็นใจในการขบถ จับขุนนางทั้งที่ในกรุงและตามหัวเมืองมาใส่คุกไว้กว่า ๑๐๐ คน การขบถก็สงบไปได้คราวหนึ่ง แต่ถึงปีหลังก็มีพวกพะม่าคิดขบถอีก คราวนี้หมายจะไปเชิญเจ้าเมงกูนซึ่งหนีไปอยู่อินเดียแต่รัชชกาลพระเจ้ามินดงมาเป็นหัวหน้าตีเมืองพะม่า กิตติศัพท์ทราบถึงแตงดาหวุ่นคยี ว่าพวกขุนนางที่ถูกขังคอยจะแหกคุกออกมาช่วยเจ้าเมงกูน พอได้ข่าวว่าเจ้าเมงกูนหนีจากแดนอังกฤษมาอาศัยฝรั่งเศสอยู่ ณ เมืองจันทนคร (อยู่ข้างใต้เมืองกาลกัตตา) อันเป็นเมืองท่าที่จะลงเรือมาเมืองพะม่าได้ แตงดาหวุ่นคยีก็คิดกลอุบายทำให้ปรากฏว่านักโทษแหกคุกให้เอาไฟเผาคุกคลอกนักโทษในนั้น ใครหนีไฟออกมาได้ก็ฟันเสีย จำนวนคนที่ถูกฆ่าครั้งนี้รวมทั้งผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นพวกขบถและที่เป็นนักโทษสามัญตายกว่า ๒๐๐ คน ก็เกิดสยดสยองสิ้นความเชื่อถือรัฐบาลไปทั่วอาณาเขตต์พะม่า ด้วยเห็นว่าพระเจ้าสีป่อปกครองบ้านเมืองไม่ได้เป็นแน่แล้ว แต่นั้นก็เริ่มเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ผู้ร้ายบางพวกมีจำนวนตั้งร้อยตั้งพันเที่ยวปล้นสะดมจนถึงที่ใกล้ๆ ราชธานี พวกหัวเมืองไทยใหญ่ก็พากันแข็งเมืองขึ้นหลายแห่ง ที่สุดพวกจีนลงมายึดเมืองบาโม (บ้านหม้อ) ที่ต่อแดนพะม่า ก็ไม่สามารถจะยกกองทัพไปขับไล่ เพราะต้องปราบปรามโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองชั้นใน และต้องระวังรักษาในพระนครมิให้เกิดขบถ แม้พระเจ้าสีป่อก็ไม่กล้าเสด็จออกนอกพระราชวัง (เขาว่าที่สร้างหอสูงขึ้นที่ริมราชมณเฑียร สำหรับเสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระนคร ก็เพราะเหตุนั้น)

เมื่อบ้านเมืองระส่ำระสายดังกล่าวมา ก็เลยเป็นปัจจัยให้เงินผลประโยชน์แผ่นดินได้ตกต่ำลงจนไม่พอจ่ายใช้ราชการ ในหนังสือฝรั่งแต่งยังอ้างเหตุอีกอย่างหนึ่ง ว่าเพราะราชินีสุปยาลัตมีอัธยาศัยสุรุ่ยสุร่าย ชอบซื้อของแปลกๆ ไม่รู้จักเสียดายเงิน แต่แรกพระเจ้าสีป่อเสวยราชย์พวกเสนาบดีคิดตั้งวิธีทำงบประมาณ จำกัดเงินพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้สอย ราชินีสุปยาลัตทูลพระเจ้าสีป่อให้ถอดเสนาบดีกระทรวงคลังเสีย แต่นั้นก็เรียกเงินใช้ได้ตามชอบใจ เลยเป็นช่องให้พวกชาวต่างประเทศสั่งของจากยุโรปมาขายเอากำไร เงินหลวงจึงได้สิ้นเปลืองไปด้วยเหตุนี้อีกอย่าง ๑ เมื่อเงินในพระคลังไม่พอจ่ายให้คิดออกสลากกินแบ่ง (อังกฤษ เรียกว่า “ลอตตะรี่” Lottery) ที่ในเมืองมัณฑเล ก็ได้กำไรไม่พอต้องการ จึงให้แตงดาหวุ่นคยีคิดหาเงินผลประโยชน์แผ่นดินด้วยประการอย่างอื่นอีก แตงดาหวุ่นคยีไปตรวจเห็นจำนวนเงินที่ควรได้จากป่าไม้สัก ซึ่งอนุญาตให้บริษัทบอมเบเบอม่าอังกฤษทำคั่งค้าง และไม่ได้ตามพิกัดเพราะบริษัทเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ จึงให้ตรวจบัญชีคิดจำนวนเงินตามซึ่งเห็นควรจะได้จากบริษัทบอมเบเบอม่า แล้วเรียกเอาเงินถึง ๒,๓๐๐,๐๐๐ รูปี บริษัทร้องทุกข์ต่อเจ้าเมืองพะม่าใต้ เจ้าเมืองพะม่าใต้ขอให้ทั้งสองฝ่ายพร้อมกันตรวจบัญชี ถ้าเห็นผิดกันอย่างไรก็ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสิน ฝ่ายพะม่าไม่ยอมและเข้าขัดขวางมิให้บริษัทบอมเบเบอม่าทำป่าไม้ รัฐบาลอังกฤษจึงยกเรื่องที่พะม่าทำแก่บริษัทบอมเบเบอม่าขึ้นอ้างเป็นเหตุที่เข้ารุกรานเมืองพะม่า แต่เหตุที่จริงนั้นเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว เกิดแต่สมัยนั้นประจวบเวลาพวก “คณะหาเมืองขึ้น” Colonial Party ในประเทศฝรั่งเศสมีอำนาจขึ้น คิดจะเอาแผ่นดินในระหว่างอินเดียกับเมืองจีน Indo-China (คือประเทศพะม่า ไทย ญวน ตังเกี๋ย กับทั้งแหลมมะลายู) เป็นอาณาเขตต์ของฝรั่งเศส เหมือนอย่างเช่นอินเดียเป็นอาณาเขตต์ของอังกฤษ เริ่มทำตามความคิดด้วยตีเมืองตังเกี๋ยก่อน ก็ฝรั่งเศสได้มีทางไมตรีกับพะม่ามาแต่ครั้งพระเจ้ามินดงแล้ว ถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อเมื่อมีเหตุต่างๆ ทำให้พะม่าเกิดขุ่นหมองกับอังกฤษ เห็นได้ทีก็ตั้งคนสำคัญในคณะหาเมืองขึ้นมาเป็นกงซุลฝรั่งเศส เวลานั้นรัฐบาลอังกฤษถอนทูตเสียแล้ว ไม่มีทูตผู้แทนรัฐบาลอังกฤษกีดขวางอยู่ ณ เมืองมัณฑเล ก็นับว่าเป็นเคราะห์กรรมได้อีกอย่าง ๑ กงซุลฝรั่งเศสได้ทีก็เข้าประจบประแจงเกลี้ยกล่อมพะม่า ด้วยรับจะชักชวนมหาประเทศในยุโรปให้ช่วยกันกีดขวางมิให้อังกฤษทำร้ายเมืองพะม่า หรือถ้าพะม่าจะต้องรบกับอังกฤษ ฝรั่งเศสก็จะให้กองทัพกับทั้งส่งเครื่องศัสตราวุธมาช่วยพะม่าโดยทางบกจากเมืองตังเกี๋ย ก็เวลานั้นรัฐบาลพะม่ากำลังลำบากอยู่ทั้งภายในบ้านเมืองและหวาดว่าอังกฤษจะมารุกราน พระเจ้าสีป่อให้เสนาบดีปรึกษากัน ฝ่ายหนึ่งมีกินหวุ่นแมงคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้ามินดงเป็นต้น ไม่เชื่อว่าฝรั่งเศสจะช่วยได้ดังว่า เห็นควรจะรักษาทางไมตรีดีไว้กับอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่งมีแตงดาหวุ่นคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารเป็นต้น เชื่อว่าถ้าฝรั่งเศสช่วยพะม่าอังกฤษคงจะไม่กล้ารุกราน พระเจ้าสีป่อกับราชีนีสุปยาลัตเห็นชอบด้วยกับความคิดแตงดาหวุ่นคยี ก็เกิดการสมาคมกับฝรั่งเศสสนิทสนม นัยว่าถึงกงซุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตในที่รโหฐานได้เนืองนิจ เป็นปัจจัยให้ฝรั่งเศสได้รับสิทธิต่างๆ ในเมืองพะม่า คือทำทางรถไฟและตั้งธนาคารออกธนบัตรเป็นต้น เผอิญเวลานั้นทางประเทศอังกฤษ พวกคณะลิเบอรัลต้องออกและพวกคณะคอนเซอวะติฟกลับเข้าเป็นรัฐบาล เห็นว่าถ้าเฉยอยู่อังกฤษกับฝรั่งเศสก็จะต้องรบกันด้วยเรื่องเมืองพะม่า จำต้องตัดต้นเหตุด้วยเอาเมืองพะม่าเป็นของอังกฤษเสีย จึงอนุญาตให้รัฐบาลอินเดียตีเมืองพะม่า (ครั้งที่ ๓) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ดังเล่ามาแล้วในเรื่องตำนานเมืองมัณฑเล

ถ้าว่าถึงตัวการที่ทำให้เสียเมืองพะม่านับว่ามี ๔ คน คือ พระเจ้าสีป่อ ราชินีสุปยาลัต พระนางอเลนันดอ และแตงดาหวุ่นคยี ก็ต้องรับทุกข์โทษเป็นผลกรรมทุกคน พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศไปอยู่ ณ เมืองรัตนคิรีในอินเดีย ๓๐ ปี จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ราชินีสุปยาลัตก็ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองรัตนคิรีจนพระสวามีสิ้นพระชนม์แล้วจึงได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่เมืองร่างกุ้งจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระนางอเลนันดอแต่แรกก็ถูกเนรเทศไปอยู่อินเดีย แต่กล่าวกันว่าไปเกิดวิวาทกับราชินีสุปยาลัต ถูกส่งกลับมาคุมไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ ส่วนแตงดาหวุ่นคยีนั้นก็ถูกเนรเทศไปคุมขังไว้ที่เมืองคัตตัก Cattak ในอินเดีย จนเมื่อเจ็บจวนจะตายรัฐบาลจึงปล่อยให้กลับมาตายที่บ้านเดิม ในเมืองมัณฑเล ใน ๔ คนนั้นพิจารณาตามเรื่องที่ปรากฏ ดูน่าสงสารแต่พระเจ้าสีป่อ เพราะอดีตกรรมนำให้ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยมิได้อยู่ในฐานะหรือมีความประสงค์ เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ไม่ได้ทำบาปกรรมอันใดโดยลำพังพระองค์ ถูกแต่คนอื่นเขาข่มขืนให้ทำก็ทำไปด้วยความขลาดเขลา ก็แต่ความขลาดเขลาเป็นอุปนิสัยมนุษย์อันมีมาในตัวเองโดยธรรมดา ที่มาต้องรับทุกขโทษภัยอย่างร้ายแรง ทั้งเสียพระเกียรติยศปรากฏอยู่ในพงศาวดารเกินกว่าความผิด ดูน่าสงสารยิ่งคนอื่นทั้งนั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ