ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย

ขึ้นตอนนี้จะรวมเรื่องเที่ยวดูวัดที่เมืองมัณฑเลมาเล่าเสียก่อน การเที่ยวดูวัดมีความลำบากแก่ฉันอยู่สักหน่อย ด้วยกำหนดพักอยู่เมืองมัณฑเลเพียง ๔ วัน ไม่มีเวลาพอจะไปเที่ยวดูแม้วัดใหญ่ๆ ได้ทั่วทุกแห่ง ไหนจะระอาข้อที่ต้องแต่งเป็นอุบาสก เห็นว่าวัดที่เมืองมัณฑเลก็เป็นวัดสร้างใหม่ทั้งนั้น จึงตกลงเลือกไปดูแต่ที่เป็นวัดสำคัญ ภรรยาผู้บัญชาการมณฑลมัณฑเลบอกให้ทราบอย่างหนึ่ง ว่าถ้าเป็นสังฆาวาส ใส่เกือกเข้าไปเที่ยวดูในอุปจารวัด พระก็ไม่ห้าม อย่าขึ้นไปบนกุฏิวิหารก็แล้วกัน ก็เป็นอันบรรเทาความลำบากได้บ้าง

เมื่อสร้างเมืองมัณทเล ที่พระเจ้ามินดงมิให้สร้างวัดในพระนครนั้น เห็นจะเป็นเพราะมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดหลวงรายตามเชิงเขามัณฑเล ให้งามสง่ากว่าสร้างที่ในเมืองอันบ้านเรือนล้อมบังอยู่โดยรอบ มีวัดหลวงที่เริ่มสร้างมาแต่แรกตั้งเมืองมัณฑเล ๔ วัด คือ

๑. วัด “กยอก ตอ คยี” Kyauk taw gyi (แปลความว่ากะไรไม่ทราบ) เดิมดูเหมือนพระเจ้ามินดงทรงเจตนาจะสร้างให้เป็นวัดหลักพระนคร (ทำนองอย่างวัดมหาธาตุฯ ของไทย) ให้ถ่ายแผนผังวัดอานันทมหาวิหาร ณ เมืองพุกามมาสร้าง และมีรับสั่งให้เสาะหาศิลาขาวแท่งใหญ่ที่สุดซึ่งสามารถชะลอได้ มาจำหลักเป็นพระประธาน ศิลาทั้งแท่งมิให้มีที่ไหนใหญ่เสมอ และให้ทำรูปพระอริยสาวก ๘๐ องค์ด้วยศิลาขาวตั้งเป็นบริวาร (คล้ายกับที่ในโบสถ์วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ) ด้วย แต่เมื่อเกิดเหตุเจ้าเมงกูนเป็นขบถ (ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า) พระเจ้ามินดงท้อพระราชหฤทัยให้แก้แผนผังลดขนาดวัดย่อมลง แต่คงให้สร้างพระประธานศิลาทั้งแท่งขนาดหน้าตัก ๓ วาเศษ (๒๐ ฟุต) กับรูปพระอริยสาวก ๘๐ องค์ตามพระราชดำริเดิม สร้างอยู่ ๑๐ ปีจึงแล้ว ถวายพระนามพระพุทธรูปใหญ่องค์นั้นว่า “พระมหาสากยมารชิน” Maha Thekya Marazein แต่พระวิหารค้างอยู่จนถึงรัชชกาลหลัง เจ้าฟ้าไทยใหญ่องค์หนึ่งคิดถึงพระเดชพระคุณพระเจ้ามินดงรับสร้างต่อมาจึงสำเร็จ แต่ฉันไม่ได้เข้าไปในวัดนี้เพราะไมได้แต่งตัวเป็นอุบาสก และได้เห็นรูปฉายพระศิลาองค์ใหญ่นั้น ดูลักษณะเหมือนอย่างพระพุทธรูปพะม่าสามัญ ไม่งามต้องตา จึงเป็นแต่เดินผ่านหน้าวัดไป

๒. วัด “สุธรรม” สร้างด้วยไม้ปันเป็น ๓ ส่วนเรียกชื่อต่างกัน ส่วนที่ ๑ เป็นศาลาโถงใหญ่โต (สักเท่าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่เป็นพิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ) ทำฝีมืออย่างประณีต จำหลักปิดทองล่องชาดทั้งภายในและภายนอกตลอดจนหลังคา เรียกว่า “สุธรรมศาลา” Thudama Zayat เป็นที่สำหรับประชุมมหาเถรสมาคมในกิจการพระศาสนา เช่น ชำระพระไตรปิฎก สอบพระปริยัติธรรม และปรึกษาบัญชาการสังฆมณฑล เป็นต้น ถ้าเป็นการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ก็เสด็จไปประทับในศาลานี้ด้วย ส่วนที่ ๒ เป็นศาลาใหญ่อีกหลังหนึ่งปลูกต่อไปข้างหลัง ย่อมกว่าและไม่ทำอย่างประณีตเหมือนสุธรรมศาลา ศาลาหลังนี้เรียกว่า “ปัตถานศาลา” Patan Zayat เป็นที่สวดมนต์ทำวัตรของพระสงฆ์ที่มาประชม ส่วนที่ ๓ สร้างเป็นอย่างสังฆาวาสอยู่ข้างหลังต่อเข้าไปอีก เรียกว่า “วัดสุธรรม” Thudama Kyaung สำหรับเป็นที่พระสงฆ์ซึ่งมาประชุมฉันอาหารและผ่อนพัก

จะเลยกล่าวอธิบายถึงลักษณะการสอบพระปริยัติธรรมของพะม่าลงไว้ตรงนี้ด้วยทีเดียว ประเพณีการศึกษาของพะม่าก็เหมือนกับของไทยแต่โบราณ คือผู้ปกครองย่อมส่งเด็กชายไปเป็นลูกศิษย์วัดให้พระสอนอักขรสมัยแต่ยังเล็ก พอรุ่นหนุ่มให้บวชเป็นสามเณร โดยมากบวชอยู่ไม่ช้าก็ลาสิกขากลับไปทำมาหากิน สามเณรที่บวชอยู่นานก็เรียนพระไตรปิฎก แล้วเข้าสอบความรู้ในที่ประชุมพระมหาเถระ มีประเพณี “ไล่หนังสือ” เป็นการหลวงเหมือนของไทย ลงมือสอบแต่เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำไปจนเข้าวัสสาทุกปี กำหนดความรู้เป็น ๔ ประโยคเหมือนอย่างพระมอญ แต่ผิดกันชอบกล ด้วยมอญสอบความรู้พระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ พะม่าสอบความรู้พระปรมัตถปิฎกเป็นสำคัญ ใช้หนังสือคัมภีร์ที่ระบุนามต่อไปนี้เป็นหลักสูตรสำหรับสอบ คือ

๑. เวยฺยากรณ กจฺจายน

๒. อภิธมฺมตฺถสงฺคหปาลิ

๓. ธาตุกถา

๔. มาติกา

๕. ยมก

๖. อภิธมฺมตฺถสงฺคห

๗. ฉนฺท

๘. สุโพธาลงฺการ

๙. ปฏฺาน กุสลฎีกา

๑๐. อภิธานปฺปทีปิกา

พระเจ้ามินดงเอาเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงการสอบความรู้พระภิกษุสามเณรมาก เสด็จออกไปทรงฟังแปลหนังสือทุกปี และพระราชทานบำเหน็จผู้ที่สอบได้ด้วยประการต่างๆ คือ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง และปลดญาติโยมพระภิกษุสามเณรที่สอบความรู้ได้ให้พ้นราชการไปเป็นโยมสงฆ์เป็นจำนวนต่างกันตามที่สอบความรู้ได้ชั้นประโยคสูงและต่ำ ถ้าได้ประโยคชั้นต่ำก็ปลดแต่บิดา ถ้าชั้นกลางปลดถึงพี่น้อง ถ้าได้ประโยคชั้นสูงก็ปลดจนถึงลุงและอาด้วย เมื่อพะม่าเสียบ้านเมืองแก่อังกฤษแล้ว เลิกการสอบความรู้พระภิกษุสามเณรอยู่สัก ๖ ปี พระสงฆ์กับพวกสัปบุรุษพะม่าพากันร้องขอต่อรัฐบาลอังกฤษ จึงให้กลับมีขึ้นอีกเหมือนหนหลัง แต่เปลี่ยนวิธีบำเหน็จเป็นให้ (เงินตรา) ปัจจัยมูลแก่ภิกษุสามเณรผู้สอบไล่ได้ โดยอัตรา ๕๐ รูปีเป็นชั้นต่ำ และเพิ่มอัตราขึ้นไปโดยลำดับจนถึง ๑๕๐ รูปีเป็นชั้นสูง การสอบพระปริยัติธรรมยังมีอยู่จนทุกวันนี้

๓. วัด Maha Lauka Mayazein ชื่อนี้จะตรงกับ “มหาโลกมารชิน” หรืออย่างไรสงสัยอยู่ แต่ชื่อที่เรียกกันเป็นสามัญนั้นว่า “วัดพระกุศล” Kathe daw เหตุที่สร้างวัดนี้เกิดด้วยพระเจ้ามินดงทรงปรารถนาจะทำสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นพระเกียรตยศ พอเสวยราชย์ก็ประชุมสงฆ์กับนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตรัสขอแรงให้ช่วยกันตรวจชำระหนังสือพระไตรปิฎก แล้วให้จารึกลงแผ่นศิลาทรายรวม ๗๒๙ แผ่น และสร้างวัดราชกุศลนี้ขึ้นเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึกพระไตรปิฎก ให้จำลองรูปพระมหาธาตุสินคงของพระเจ้าอนุรุทธ์ที่เมืองพุกามมาสร้างเป็นประธานที่กลางวัด แล้วก่อมณฑปขนาดน้อยเป็นที่ตั้งศิลาจารึกกว่า ๔๐๐ หลัง เรียงรายกันเป็นแถวๆ เต็มตลอดบริเวณวัด ดูจากนอกกำแพงเห็นได้ถนัด ฉันจึงไม่ได้เข้าไปข้างในวัด

๔. วัด “อตุมฉิ” Atumashi (จะหมายความว่ากะไรไม่ทราบ) ฝรั่งแปลว่า Incomparable Monastery หมายความว่าวัดสังฆาวาสอันไม่มีเปรียบ ถือกันว่าเป็นวัดสำคัญของเมืองมัณฑเลวัดหนึ่ง น่าเสียดายที่ไฟไหม้เสียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ จึงได้แต่พรรณนาตามที่เขากล่าวไว้ในหนังสือนำทาง ว่าวัดนี้พระเจ้ามินดงทรงคิดแบบให้แปลกกับวัดอื่นๆ ทำเป็นมหาวิหารสัณฐานสี่เหลี่ยมรี แลดูข้างนอกเหมือนกับตึกหลังคาตัด ๕ ชั้น แต่ที่จริงชั้นเดียว เป็นแต่ทำหลังคาลดขนาดต่อกันขึ้นไปสูงกว่า ๑๕ วา (๑๐๐ ฟุต) มหาวิหารนั้นสร้างด้วยโครงไม้เอาอิฐกรึงพอกถือปูนปั้นลวดลาย ข้างในจำหลักลวดลายปิดทองล่องชาดประดับกะจกอย่างประณีต แม้จนพื้นวิหารก็ลงรักปิดทอง จึงไม่มีวัดอื่นเหมือน พระประธานนั้นว่าให้เอาแพรพระภูษา (สันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นพระภูษาของพระเจ้าแผ่นดินที่รวบรวมรักษามาตั้งแต่รัชชกาลก่อนๆ อุทิศอย่าง “ปล่อยพระพุทธบาท”) ประสมปูนปั้นหุ่นเท่าพระองค์พระพุทธเจ้าลงรักปิดทอง ตั้งบนฐานทำเหมือนอย่างสีหาสนบัลลังก์ และทรงอุทิศถวายเพ็ชรเม็ดใหญ่ที่มังมหานรธาส่งมาถวายพระเจ้าปะดุงจากเมืองยักไข่ ประดับเป็นพระอุณาโลม (เพ็ชรเม็ดนี้เห็นได้ในรูปฉาย แต่มาหายไปในเวลาเกิดจลาจลเมื่อเสียเมืองพะม่าแก่อังกฤษ) ในวิหารนั้นให้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกของหลวงทั้ง ๔ ฉะบับ ล้วนใส่หีบไม้จำหลักลายปิดทองล่องชาด และโปรดให้พระราชาคณะองค์หนึ่งซึ่งรอบรู้พระไตรปิฎกไม่มีใครเสมอ มีนามว่า “พระปะกันสะยะดอ” มาอยู่ครองวัดนี้

๕. วัดสันตมุนี เหตุที่สร้างวัดนี้เกิดแต่การเมืองผิดกับวัดอื่นๆ ด้วยเมื่อพระเจ้ามินดงทรงสร้างวัดทั้ง ๔ ที่พรรณนามา โปรดให้ปลูกพลับพลาที่ประทับกับทั้งตำหนักนางในเป็นบริเวณอันหนึ่งอยูใกล้กับหมู่วัดที่สร้างนั้น เสด็จออกไปประทับแรมทรงอำนวยการสร้างวัดครั้งละหลายๆ วันเนืองๆ ในเวลาเช่นนั้นโปรดให้พระอนุชาซึ่งเป็นมหาอุปราชว่าราชการแทนพระองค์อยู่ที่ในพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าเมงกูนกับเจ้าเมงกูนแดง ลูกยาเธอของพระเจ้ามินดง คิดขบถในเวลาพระเจ้ามินดงเสด็จออกไปประทับแรมอยู่ที่พลับพลา เจ้า ๒ องค์นั้นคุมสมัครพรรคพวกกรูกันเข้าไปในราชวัง เวลาพระมหาอุปราชว่าราชการอยู่ที่ศาลา “หลุด ดอ” จับพระมหาอุปราชกับเจ้านายอีก ๓ องค์ปลงพระชนม์เสียด้วยกันกับข้าราชการผู้ใหญ่อีกหลายคน แล้วพาพรรคพวกออกไปยังพลับพลาหมายจะปลงพระชนม์พระเจ้ามินดงชิงเอาราชสมบัติ แต่มีคนในวังวิ่งไปทูลให้รู้พระองค์ทัน พระเจ้ามินดงหนีได้จึงไม่เป็นอันตราย เมื่อปราบพวกขบถหนีไปจากพระนครแล้ว พระเจ้ามินดงตรัสสั่งให้เชิญศพพระมหาอุปราชไปไว้ ณ พลับพลาที่พระองค์เคยประทับ ศพลูกยาเธออีก ๓ องค์ซึ่งถูกพวกขบถจับปลงพระชนม์ก็ให้เอาไปไว้ที่ตำหนักจอมมารดาของเจ้านายนั้นๆ ที่ในบริเวณพลับพลา แล้วทรงอุทิศที่พลับพลาให้สร้างเป็นวัดตลอดทั้งบริเวณ มีพระสถูปจำลองรูปอย่างพระมหาธาตุสินคงเมืองพุกามมาสร้างตรงกลางวัด และมีพระวิหารหลวง เชิญพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งซึ่งพระเจ้าปะตุงหล่อด้วยเหล็กมาจากเมืองอมรบุระ ประดิษฐานเป็นประธาน ในลานวัดรอบเจดียสถานให้สร้างมณฑปบรรจุพระศพมหาอุปราชกับพระศพเจ้านายกับทั้งข้าราชการที่ถูกพวกขบถฆ่า เรียงกันไปในวัดนั้น (สังเกตดูเห็นมีมณฑปอีกหลายหลัง น่าจะใช้เป็นที่บรรจุพระศพเจ้านายต่อมาด้วย) เรียกนามวัดนี้ว่า “วัดสันตมุนี” Sandamani ตามนามพระพุทธรูปที่เป็นประธาน ตั้งแต่เกิดขบถครั้งนั้นแล้ว พระเจ้ามินดงก็มิได้เสด็จออกไปประทับแรมนอกพระนครอีกจนตลอดรัชชกาล

ต่อมาพระเจ้ามินดงทรงสร้างวัดที่เชิงเขามัณฑเลอีกวัดหนึ่ง แต่เป็นวัดสังฆาวาสที่พระสงฆ์อยู่ วัดนั้นจะมีนามหลวงขนานว่ากระไรไม่ปรากฏอยู่ เรียกกันแต่ว่า “วัดสะลิน” Salin Monastery เพราะเป็นวัดของเจ้าหญิงสะลินราชธิดา ซึ่งทรงสถาปนาเป็นมกฎราชกุมารี ในหนังสือนำทางชมว่าฝีมือจำหลักไม้ไม่มีวัดอื่นจะงามเสมอเหมือน วัดสะลินจึงเป็นที่สำหรับดูอีกวัดหนึ่ง แต่เมื่อฉันไปดูกลับเกิดอนาถใจด้วยเห็นทอดทิ้งให้ปรักหักพัง จนถึงเครื่องบนหล่นหลุดลงมาห้อยอยู่ก็มี แม้เครื่องประดับที่ยังคงอยู่เช่นรูปภาพและลายจำหลักก็ร่อยหรอเหลือแต่ร่าง เพราะเป็นของทำด้วยไม้ทิ้งตากแดดกรำฝนมาช้านาน พิจารณาดูวัดสะลิน เปรียบเหมือนดูนางงามเมื่อร่างกายเที่ยวแห้งหัวหงอกฟันหักแล้ว ต้องคะเนนึกประกอบกับตาว่าแต่ก่อนตรงไหนจะงามเป็นอย่างไร ถ้าว่าด้วยรูปและแผนผังก็ไม่แปลกประหลาด ด้วยวัดสังฆาวาสของพะม่าทำรูปและแผนผังอย่างเดียวกันหมด ไม่เลือกว่าวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ ผิดกินแต่ขนาดกับทรวดทรงและฝีมือทำ บรรดาวัดสังฆาวาสย่อมสร้างด้วยไม้ การตกแต่งก็อยู่ที่จำหลักกับเขียนลายลงรักปิดทองล่องชาดและประดับกะจก วัดสะลินนี้พิเคราะห์เมื่อแรกสร้างก็เห็นจะงามดังว่า เพราะสร้างในสมัยพระเจ้ามินดงทรงบำรุงการก่อสร้าง กำลังช่างฝีมือเฟื่องฟู แต่เมื่อพิจารณาไปก็เห็นมีข้อที่ควรติว่าแต่งเสียจนเกินดี มีลวดลายและจำหลักเฝือไปไม่เลือกว่าแห่งใด ตั้งแต่หลังคาลงมาจนใต้ถุน จะยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นที่พะนักนอกชานกุฏิสงฆ์ ซึ่งวัดอื่นเขาทำเป็นแต่ไม้ทับหลัง ที่วัดสะลินนี้ทำหุ่นรูปเทวดานางฟ้าปักรายบนไม้ทับหลังตลอดรอบนอกชานดังนี้เป็นต้น แต่ข้างในจะเป็นอย่างไรฉันไม่ได้เข้าไปดู แต่นึกว่าแม้เมื่อแรกสร้างใหม่ พระที่ “ถูก” นิมนต์ไปอยู่วัดทำหรูหราอย่างนี้ ก็เห็นจะไม่สู้มีความสุขสบายนัก ยังมีอีกวัดหนึ่งซึ่งฉันไปดูต่อวันหลัง แต่จะเอามาพรรณนาเสียด้วยที่ตรงนี้ เพราะมีเรื่องเนื่องกับวัดสะลินเปรียบเหมือนเป็นวัดคู่แข่งกัน วัดนั้นอยู่ทางฝ่ายใต้เมืองมัณฑเล เรียกนามในภาษาอังกฤษว่า Queen’s Monastery ถ้าแปลเข้าแบบไทยก็ว่า “วัดนางพระยา” เป็นของราชินีสุปยาลัตสร้างเมื่อเวลามีบุญเต็มเปี่ยม จำนงจะให้งามยิ่งกว่าวัดสะลิน ด้วยขยายขนาดให้ใหญ่โตขึ้น และสิ่งอันใดที่ชมกันว่างามในวัดสะลินก็ให้มีที่วัดนางพระยา และคิดทำให้งามยิ่งขึ้นกว่าที่ทำไว้ในวัดสะลินทุกอย่าง แต่เมื่อไปเห็นก็เกิดอนาถใจอีก เพราะวัดนางพระยาก็ถูกทอดทิ้งให้ปรักหักพังอยู่เหมือนกัน เป็นแต่ยังไม่ชำรุดทรุดโทรม มากเหมือนวัดสะลิน พวกฝรั่งที่เขาได้เห็นเมื่อยังดี กล่าวไว้ว่าวัดสะลินนั้นลวดลายทำอย่างแบบพะม่าสนิท แต่วัดนางพระยานายช่างประสงค์จะให้งามกว่าวัดสะลิน คิดยักเยื้องเอาลายฝรั่งเข้าเจือปนไม่เป็นแบบพะม่าสนิทแท้ทีเดียว ฝรั่งอีกคนหนึ่งแต่งหนังสือเรื่องเมืองพะม่ากล่าวถึงวัดนางพระยาว่าเมื่อแรกไปแลเห็นแต่ข้างนอกตกตะลึง เพราะรูปทรงของวัด (อย่างพะม่า) แปลกตามาก ทั้งเครื่องประดับก็ดูเป็นแสงแก้วสีทองผ่องอร่ามไปทั้งวัด แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ นัยน์ตาลาย ไม่รู้ว่าจะดูอะไร เพราะจำหลักปิดทองยิบไปเสียหมด ที่ว่านี้ก็น่าจะจริง แต่อย่างไรก็ตามคิดดูเวลานี้น่าสังเวช ใครจะปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีก็เห็นจะเหลือกำลัง เพราะเป็นเครื่องไม้ถึงอายุผุพังเสียมากแล้ว ปฏิสังขรณ์ก็เหมือนกับสร้างใหม่ เมื่อไม่มีราชินีสุปยาลัตแล้วก็มีแต่จะหักพังไปจนเลยสาบศูนย์ อีกสัก ๑๐ ปีใครไปเมืองพะม่าก็เห็นจะไม่ได้ดูทั้งวัดสะลินและวัดนางพระยาที่กล่าวมา

จะพรรณนาลักษณะวัดสังฆาวาสของพะม่าเนื่องไปในตอนนี้ด้วยทีเดียว วัดสังฆาวาสพะม่าผิดกับวัดของไทยเราเป็นข้อสำคัญที่สร้างต่างหากจากวัดเจดียสถาน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือสร้างวัดสังฆาวาสแต่เป็นที่สำหรับพระสงฆ์อยู่เพียงวัดละสัก ๔ องค์พอครบคณะสงฆ์ เพราะฉะนั้นแต่ละวัดจึงทำสถานที่นับว่าเป็นหลักของสังฆาวาสทั้ง ๔ อย่างเรียงต่อเนื่องบนชานอันเดียวกันที่กลางวัด ยกพื้นสูงจากแผ่นดินสัก ๖ ศอก มีนอกชานและพะนักรอบ เปิดช่องบันไดก่ออิฐถือปูนเป็นทางขึ้นทั้ง ๔ ด้าน สถานต่างๆ บนนั้น ที่ ๑ เป็นปราสาทสี่เหลี่ยมจตุรัสกั้นฝารอบสำหรับตั้งพระพุทธรูปอยู่ที่สุดชานด้านหนึ่ง สถานที่ ๒ ต่อปราสาทมาเป็นที่สำหรับสอนหนังสือ บางวัดทำเป็นมุขกระสัน บางวัดทำเป็นหลังหนึ่งต่างหาก สถานที่ ๓ เป็นกุฏิพระสงฆ์อยู่ สร้างใหญ่โตและประดับประดายิ่งกว่าเพื่อน ข้างในกุฏิกั้นฝาสะกัดแบ่งเป็น ๒ ห้องใหญ่ ห้องหนึ่งเป็นที่อยู่ของสมภาร ห้องนี้ที่ในประธานกับเฉลียงด้านหนึ่งเปิดโล่งเป็นห้องนั่งและเป็นที่รับแขกของสมภาร กั้นฝาฉากเอาเฉลียงอีกด้านหนึ่งเป็นห้องสำหรับสมภารจำวัตรเรียกว่าห้อง “คันธกุฎี” อีกห้องหนึ่งในกุฏิใหญ่นั้น ในประธานแบ่งเป็นห้องนั่งของพระลูกวัดกับเป็นที่เก็บของ ที่เฉลียงกั้นเป็นห้องอยู่ของพระลูกวัดห้องหนึ่ง เป็นห้องสำหรับลูกศิษย์วัดอยู่ห้องหนึ่ง สถานที่ ๔ ปลูกเป็นหลังหนึ่งต่างหากและมักปลูกขวางที่บนชาน เป็นที่อยู่ของสามเณร เพราะมีบุตรหลานในสกุลต่างๆ ที่บำรุงวัดมักมาบวชเป็นสามเณรอยู่ชั่วคราว มีสามเณรมากบ้างน้อยบ้างเป็นนิจ นอกชานรอบสถานต่างๆ ที่กล่าวมาเป็น “ที่จงกรม” ที่พื้นดินในลานวัดนั้นปราบเป็นที่ราบปลูกต้นไม้ราย มีบ่อน้ำและศาลาสำหรับสัปบุรุษพักเหมือนอย่างวัดไทย มีสิ่งซึ่งได้อ่านในหนังสือแต่ไม่ได้เห็น เขาว่าเว็จกุฏิของพระนั้นทำมีลูกล้อ เมื่อขุดหลุมแล้วเลื่อนเว็จกุฏิไปตั้งที่ตรงปากหลุม พอหลุมเต็มจะกลบ ก็ย้ายไปขุดหลุมตรงที่อื่น แล้วลากเลื่อนเว็จกุฏิตามไป ที่เขาพรรณนาดังนี้ก็เห็นจะเป็นความจริง บรรดาวัดย่อมก่อกำแพงล้อมรอบเขตต์ทั้งนั้น สังเกตดูตั้งแต่กำแพงวัดเข้าไปจนกะทั่งถึงสถานที่สำคัญสำหรับวัดดังได้กล่าวมา ไม่เห็นพระเอาใจใส่ทำการซ่อมแซมรักษาอย่างไรเลย ยกตัวอย่างดังเช่น ที่วัดสะลิน หลังคาชำรุดจนถึงช่อฟ้าหลุดลงมาห้อยอยู่ พระที่ในวัดนั้นก็ไม่ทำอะไร ปล่อยให้ห้อยอยู่อย่างนั้น ไม่นึกเสียเลยว่าอาจจะหล่นลงมาถูกคนบาดเจ็บล้มตายได้ ดูเหมือนจะถือว่าการปฏิสังขรณ์เป็นหน้าที่ของทายก พระเป็นแต่ถึงเวลาก็กวาดลานวัดให้เตียนเท่านั้น การบำรุงรักษาวัดพระสงฆ์ไทยเอื้อเฟื้อดีกว่าพระพะม่ามาก ที่ว่านี้ว่าตามได้เห็น ณ เมืองมัณฑเล จะเหมาว่าเป็นทั่วไปทั้งประเทศพะม่าก็เกรงบาป

วันจันทร์ที่ ๒๗ มกราคม ไปดูวัดยักไข่ Araccan Temple ที่เมืองอมรบุระ อันประดิษฐานพระพุทธรูป “มหามัยมุนี” ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นศรีเมืองพะม่า พระพุทธรูปองค์นี้มีเรื่องตำนานยืดยาวกล่าวว่า พระเจ้าจันทสุริย เจ้าแผ่นดินยักไข่เมื่อยังเป็นอิสสระ หล่อที่เมืองธรรมวดีราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๖๘๙ แล้วสร้างวัดประดิษฐานไว้บนภูเขาชื่อว่าศีลคิรี Thilagyeri เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักสัก ๕ ศอกคืบ (๙ ฟุต) เห็นจะเท่าๆ กับพระศาสดาที่วัดบวรนิเวศ ตามเรื่องตำนานกล่าวว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์มาแต่แรกสร้าง เพราะเมื่อจะสร้างนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมา (เข้าพระสุบิน) ประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริย ว่าให้พระพุทธรูปองค์นี้เชิดชูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองเหมือนอย่างเป็นพระอนุชาของพระพุทธองค์ อีกประการหนึ่งว่าหุ่นพระมหามัยมุนีนั้นหล่อเป็น ๓ ท่อน เมื่อหล่อแล้วเอาประสานกันเนื้อทองต่อติดสนิทดีไม่มีร่องรอยเป็นอัศจรรย์ ก็เห็นกันว่าเป็นด้วยพรของพระพุทธเจ้าที่ประทานนั้น ยังมีเรื่องเล่ากันวิตถารหนักขึ้นไปอีก ว่าสมัยหนึ่งในพุทธกาล พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเมืองยักไข่ (อย่างเดียวกันกับเสด็จมาพยากรณ์ที่เมืองมัณฑเล และเสด็จมาเหยียบรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตในเมืองเรา) พระเจ้ายักไข่ได้ทรงฟังพระธรรมเทศนา เกิดเลื่อมใส เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับไปจึงทูลขอหล่อพระรูปไว้บูชาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอนุญาต แล้วประสาทพรให้พระพุทธรูปนั้นสามารถเทศนาได้เหมือนกับพระองค์ จนเมื่อพระศาสนาประดิษฐานมั่นคงแล้วจึงให้สิ้นฤทธิ์พรที่ประทาน เรื่องทูลเหตุจะมีความจริงเป็นอย่างไรก็ตาม มีหลักฐานในพงศาวดารว่า พระพุทธรูปมหามัยมุนีนี้นับถือกันทั้งในประเทศยักไข่ตลอดจนประเทศพะม่ามอญ ว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นศรีเมืองมากว่า ๑,๐๐๐ ปี พระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่มีอานุภาพมากถึงสามารถไปตีได้เมืองยักไข่ นับแต่พระเจ้าอนุรุทธ์มหาราชเป็นต้น ได้พยายามจะเชิญพระมหามัยมุนีเอามาเป็นศรีพระนครทุกพระองค์ บางครั้งถึงให้เราะรอยต่อออกเป็นหลายท่อนแล้ว แต่เผอิญเกิดเหตุขัดข้อง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดสามารถจะเอาพระมหามัยมุนีมาจากเมืองยักไข่ได้ จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ (ปีที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์) พระเจ้าปะดุงในราชวงศ์อลองพระตีได้เมืองยักไข่ ตรัสสั่งพระมหาอุปราชผู้เป็นแม่ทัพให้เชิญพระมหามัยมุนีมาเมืองพะม่าให้จงได้ ด้วยประสงค์จะให้ปรากฏพระเกียรติยศว่ามีอานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้ามหาราชแต่ปางก่อน (ประหลาดอยู่ที่เชิญพระพุทธรูปมาได้ แต่ไม่ได้อานุภาพเช่นประสงค์ เพราะเมื่อตีเมืองยักไข่ได้แล้ว มาตีเมืองไทยในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ มาพ่ายแพ้ไทยไปทั้ง ๒ ครั้ง) ลักษณะที่เชิญพระมหามัยมุนีมาจากเมืองยักไข่นั้น ว่าให้เราะรอยต่อออกเป็นสามท่อน เอาลงเรือมาทางทะเลจนถึงท่าที่จะเดินบกมาเมืองพะม่า แล้วเอาขึ้นบรรทุกตะเฆ่ลากต่อมา สิ่งของเครื่องพุทธบูชาอันเคยอยู่ในวัดพระมหามัยมุนี เช่นรูปภาพทองสัมฤทธิ์ของโบราณเป็นต้นก็ขนเอามาด้วย ให้เกณฑ์คนทำทางชะลอลากข้ามภูเขามาทางช่องตองคุป Taungup Pass จนถึงแม่น้ำเอราวดีที่เมืองปะดอง แล้วเอาลงเรือแห่แหนมายังราชธานี มีมหกรรมฉลองเป็นการใหญ่โต พระเจ้าปะดุงให้สร้างวัดขึ้นใหม่เป็นที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี ทุกวันนี้เรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดยักไข่” อยู่บนเนินภายนอกเมืองอมรบุระทางฝ่ายตะวันออก ต้ววัดเดิมก่อมณฑปน้อยเป็นที่ตั้งองค์พระอยู่ข้างใน มีวิหารใหญ่หลังคาปราสาทสร้างด้วยไม้ครอบข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง ต่อออกมาทำชาลามีศาลารายและกำแพงล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ เหมือนมหาเจดียสถานที่สำคัญแห่งอื่นเช่นพระเกศธาตุและพระมุเตาเป็นต้น พระมหามัยมุนีจึงสถิตเป็นศรีเมืองพะม่าแต่นั้นมา มีผู้คนทั้งในประเทศพะม่าและประเทศอื่นที่ถือพระพุทธศาสนาพากันไปบูชาเป็นอันมากเนืองนิจ แต่มาถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ก่อนจะเสียเมืองพะม่า เกิดเหตุไฟไหม้วัดยักไข่หมดทั้งวัด พระเจ้าสีป่อให้สร้างแต่มณฑปชั้นในพอตั้งพระมหามัยมุนีอย่างเดิมแล้ว ยังไม่ทันสร้างปราสาทและบริเวณวัดขึ้นใหม่ก็เสียบ้านเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พวกพะม่าจึงพากันเห็นว่าที่ไฟไหม้วัดยักไข่ครั้งนั้น เป็นลางสังหรณ์เหตุที่จะเสียบ้านเมือง แต่พระมหามัยมุนียังมีคนนับถือมากอยู่อย่างแต่ก่อน พวกสัปบุรุษจึงบอกบุญชวนมหาชนให้ช่วยกันสร้างวัดยักไข่ต่อมา เห็นจะเรี่ยไรได้เงินมากจึงสามารถสร้างวัดด้วยก่ออิฐถือปูนทำให้ใหญ่โตมั่นคงกว่าแต่ก่อน ปรากฏว่าพวกสัปบุรุษให้ช่างชาวอิตาลีคิดแบบ แล้วขออนุญาตต่อรัฐบาลอังกฤษก็ยอมให้สร้างตามประสงค์ วัดยักไข่เวลานี้จึงนับว่าแปลกกับวัดอื่นโดยนัยหนึ่ง ด้วยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุด แต่ตัววัดเป็นของใหม่ที่สุดในพวกมหาเจดียสถานเมืองพะม่า

เมื่อฉันไปดูวัดยักไข่ พอถึงหน้าวัดก็เห็นได้ว่าช่างฝรั่งคิดแบบ แม้ตั้งใจจะให้เป็นอย่างพะม่าแต่ก็ซ่อนวิสัยฝรั่งไม่ได้สนิท พึงสังเกตได้เช่นรูปทรงปราสาทหลังคาวิหารเป็นต้น และยังมีที่อื่นอีก แต่จะติว่าช่างฝรั่งทำให้เลวลงกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ ด้วยเขาแก้ไขดีขึ้นโดยทางสถาปนิกศาสตร์ก็มีหลายอย่าง เช่นก่อวิหารด้วยอิฐปูนให้มั่นคงด้วยไม่ต้องเพิ่มน้ำหนักเป็นต้น แม้จนบันไดและร้านขายของสองข้างทางขึ้น ก็ทำเรียบร้อยสว่างไสวดีกว่าทางขึ้นพระเกศธาตุมาก ตัววิหารนั้นพิเคราะห์ตามแผนผังเขาก็แก้ไขดีขึ้น ด้วยไม่ทำมณฑปเล็กชั้นในอย่างแต่ก่อน ก่อเป็นมณฑปใหญ่ยอดปราสาทแต่หลังเดียว ทำฐานชุกชีรูปร่างอย่างราชบัลลังก์สูงสัก ๓ ศอกเศษ ตั้งพระมหามัยมุนีไว้กลางมณฑป ปล่อยแสงสว่างเข้าไปให้แลเห็นองค์พระได้ถนัดทั้งทางประตูด้านหน้าและทางหน้าต่างสองข้างวิหาร วิหารนั้นตอนยอดปราสาทปั้นลายลงรักปิดทองประดับกะจก แลเห็นเป็นแก้วทองเถือกไปแต่ไกล แต่ต่ำลงมาประดับกะจกปิดทองแต่ฝาในห้องที่ตั้งพระพุทธรูป ฝาข้างนอกเป็นแต่โบกปูนขาวปั้นลายประดับซุ้มจระนำและมีเฉลียงหลังคาตัดรอบ ต่อเฉลียงมีมุขเป็นที่พักสัปบุรุษออกมาจนถึงบันไดทั้ง ๔ ด้าน รอบวิหารเป็นลานปูกะเบื้องตลอดจนถึงกำแพงบริเวณ และมีศาลารายในลานนั้นหลายหลัง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ฉันไม่ได้สังเกตเห็นเอง แต่เมื่อกลับมาแล้วจึงอ่านพบพรรณนาไว้ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่าฉบับหนึ่ง ว่าลายปั้นประดับวิหารพระมหามัยมุนีเช่นที่ซุ้มจระนำเป็นต้น ใช้ไม้จำหลักตอกตะปูตรึงกับฝาแล้วปั้นแกะทาปูนให้แลเห็นเหมือนกับเป็นลายปั้น คิดดูก็น่าจะจริง ด้วยช่างพะม่าสันทัดการจำหลักไม้มากกว่าปั้นปูน เมื่อสร้างวิหารจะหาช่างปั้นฝีมือดีไม่ได้ จึงใช้จำหลักไม้ทำเป็นลายปั้นดังว่านั้น

ว่าถึงองค์พระพุทธรูปมหามัยมุนี ฉันอยากเห็นมานานแล้วด้วยได้ยินเลื่องลือกันว่างามน่าชม และเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดในเมืองพะม่า กล่าวกันว่าเมื่อพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๘ เมื่อยังเป็นปรินซ์ออฟเวลส์เสด็จไปเมืองพะม่าก็ถึงยอมถอดฉลองพระบาทขึ้นไปทอดพระเนตร แต่จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบแน่ เมื่อฉันไปถึงพอกราบไหว้ถวายสักการบูชาแล้วนั่งพิจารณาดูองค์พระมหามัยมุนีก็เกิดประหลาดใจ ด้วยเห็นขัดชักเงาเป็นทองสัมฤทธิ์แต่ที่ดวงพระพักตร์ นอกจากนั้นเอาปูนหรืออะไรพอกแล้วปิดทองคำเปลว ดูขรุขระเป็นริ้วๆ เหมือนอย่างที่เราเรียกว่า “หนังไก่ย่น” ไปทั่วทั้งองค์ ดูน่าพิศวง เพราะธรรมดาพระพุทธรูปในเมืองพะม่าถ้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมขัดชักเงาทั้งพระองค์เว้นแต่ที่ตรงพระศก ถ้าทำด้วยศิลาก็ชักเงาทั้งพระองค์เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นพระปั้นขนาดย่อมก็ปิดทองคำเปลวทั้งพระองค์ ขนาดใหญ่ก็ประสานสี ที่จะขัดชักเงาแต่ฉะเพาะดวงพระพักตร์เหมือนอย่างพระมหามัยมุนีหามีที่อื่นอีกไม่ แต่ปรากฏในจดหมายเหตุของทูตอังกฤษที่ไปเมืองพะม่าเมื่อราชธานียังอยู่ ณ เมืองอมรบุระ ได้ไปดูพระมหามัยมุนี ก็ว่าขัดชักเงาแต่ที่ดวงพระพักตร์อยู่ในสมัยนั้นแล้ว เมื่อเกิดพิศวงขึ้นพิจารณาดูต่อไปก็ยิ่งประหลาดใจ ด้วยพิเคราะห์รูปทรงเช่นพระกรดูเป็นปั้นหลายแห่ง เข้าไปพิจารณาใกล้ๆ พอแลเห็นพระหัตถ์ขวาเกือบจะร้อง “เอ๊ะ” ออกมา ด้วยรูปพระหัตถ์นั้นเหมือนกับมือแป นิ้วหงิกงอผิดกับพระหัตถ์พระพุทธรูปทีเดียว ฉันไม่เชื่อนัยน์ตาตัวเอง เรียกเจ้าหญิงเข้าไปดูด้วย ก็เห็นเช่นเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปมหามัยมุนีเห็นจะชำรุดมาแต่โบราณ การบุรณะต้องปั้นแทนเนื้อทองของเดิมที่หักหายหลายแห่งจึงเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เมื่อตรวจดูในเรื่องพงศาวดารก็พอคิดเห็นเหตุที่ชำรุด ด้วยปรากฏว่าเคยถูกเราะออกเป็นท่อนๆ เพื่อประสงค์จะย้ายเอาไปประเทศอื่น ข้อนี้ส่อว่าเวลาเจ้าของเดิมได้เมืองยักไข่คืนคงเอากลับเข้าติดต่อกันอีก การที่ต่อของใหญ่มิใช่ง่ายนัก พระมหามัยมุนีคงเริ่มบุบสลายด้วยต้องติดต่อซ่อมแซมแต่ยังอยู่เมืองยักไข่แล้ว แต่เจ้าของย่อมปกปิดเช่นเดียวกับพะม่าปกปิดในเวลานี้ เมื่อพระเจ้าปะดุงสั่งให้เชิญมาเมืองพะม่าก็คงไม่ทรงทราบว่าบุบสลาย การที่เราะองค์พระออกเป็นสามท่อนเอาลงเรือแล้วเอาขึ้นใส่ตะเฆ่ลากข้ามภูเขามาเมืองพะม่า ก็น่าจะกะทบกระเทือนให้ชำรุดยิ่งขึ้นอีก เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานจึงต้องพอกปูนประกอบตรงที่ชำรุดและให้ลงรักปิดทองเสียทั้งองค์ แต่เกรงคนจะสงสัยว่ามิใช่พระมหามัยมุนี จึงให้ขัดชักเงาแต่ที่ดวงพระพักตร์ให้เห็นว่าเป็นพระหล่อ แต่มามีเหตุที่รู้ได้แน่นอนนั้นเมื่อไฟไหม้วัดยักไข่ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ปรากฏว่าทองคำเปลวที่ปิดพระมหามัยมุนีละลายไหลลงมา เก็บเนื้อทองคำได้หนักถึง ๗๐๐ บาท (ในหนังสือว่า 7๐๐ Ticals) ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าไฟไหม้ครั้งนั้นแม้องค์พระพุทธรูปก็คงจะละลายมิมากก็น้อย เมื่อเอากลับขึ้นตั้งในครั้งหลังจึงต้องบุรณะมาก ที่พระหัตถ์วิปลาสก็คงเป็นเพราะพระหัตถ์เดิมถูกไฟไหม้แต่ไม่ถึงละลายศูนย์ไป จึงเอากลับเข้าต่อตามรูปที่เป็นอยู่เมื่อถูกไฟไหม้แล้ว เวลาฉันนั่งอยู่ในวิหารเห็นมีคนขึ้นบูชาและปิดทองพระมหามัยมุนีไม่ขาดสาย บางคนก็มาชวนให้ฉันปิดทองแต่ฉันเฉยเสีย เพราะในใจจริงอยากขุดทองดูว่าพระมหามัยมุนีที่หล่อแต่เดิมจะเหลืออยู่สักเท่าใด ยิ่งกว่าอยากปิดทองบังให้หนายิ่งขึ้น

ที่ในวัดยักไข่มีของที่ควรพรรณนาอีกสองอย่างอย่างหนึ่งคือ ศิลาจารึกของพระเจ้าปะดุงเรื่องที่กัลปนา พะม่าเรียกว่า Wuttagan (เห็นจะเรียกเพี้ยนมาแต่คำภูตคามภาษามคธ) เรื่องตำนานของศิลาจารึกพวกนี้ว่าตั้งแต่โบราณมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสร้างวัดย่อมถวายคนเป็นข้าพระ และกำหนดเขตต์ที่กัลปนาอุทิศเงินผลประโยชน์แผ่นดินซึ่งเก็บจากที่ดินแห่งนั้นถวายสำหรับบำรุงรักษาวัดนั้น ให้ทำศิลาจารึกพระราชกฤษฎีกาปักไว้ที่วัดเป็นสำคัญ (ประเพณีอันนี้ในเมืองไทยเราแต่โบราณก็มีเหมือนกัน) ครั้นจำเนียรกาลนานมามีวัดมากขึ้น เงินผลประโยชน์ที่เคยได้จ่ายใช้ราชการแผ่นดินก็ลดน้อยลง เพราะต้องจ่ายเงินกัลปนาเพิ่มขึ้นเสมอ จนเกิดลำบากเมื่อในรัชชกาลพระเจ้าปะดุง (พ.ศ. ๒๓๒๕ จน พ.ศ. ๒๓๖๒) จึงทรงพระราชดำริแก้ไข ให้ถอนศิลาจารึกกัลปนาของเดิมเสียทั้งหมด แล้วตั้งพระราชกฤษฎีกากัลปนาขึ้นใหม่ ให้จารึกแผ่นศิลาอีกชุดหนึ่งเลือกพระราชทานกัลปนาแต่บางวัด และให้ได้จำนวนเงินแต่พอสมควร ศิลาจารึกชุดนี้ให้เก็บรักษาไว้ที่วัดยักไข่ พวกกรมตรวจโบราณคดีเพิ่งพบศิลาจารึกเดิมทิ้งเป็นพะเนินเทินทึกอยู่ที่วัดอื่นอีกแห่งหนึ่ง กำลังคิดจะรวบรวมเอามาตรวจตราหาความรู้เรื่องโบราณคดี คงจะเป็นประโยชน์มิมากก็น้อย

ชองน่าดูอย่างยิ่งมีอีกอย่างหนึ่งในวัดยักไข่นี้ คือรูปภาพของโบราณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นรูปพระอิศวรยืนสูงสัก ๓ ศอก ๒ รูป รูปช้างเอราวัณสูงสัก ๒ ศอกเศษรูป ๑ กับรูปสิงห์ ๓ รูป (แต่หัวเดิมหายหมดแล้ว ช่างพะม่าหล่อหัวใหม่ ไม่รู้จักแบบหัวสิงห์เขมร ทำหัวกลายเป็นสิงห์พะม่าไป) รวมทั้งสิ้นเป็น ๖ รูปด้วยกัน ตั้งไว้กลางแจ้งที่บนแท่นริมกำแพงในบริเวณวัด รูปภาพสัมฤทธิ์เหล่านี้ พวกพะม่าโดยมากรู้กันแต่ว่าเอามาจากเมืองยักไข่พร้อมกับพระพุทธรูปมหามัยมุนี แต่ที่จริงมีเรื่องประวัติในทางโบราณคดีเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเราด้วย นักปราชญ์ในเมืองพะม่ารู้เพียงแต่ว่าเดิมเป็นของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปจากพระนครศรีอยุธยา เรื่องก่อนนั้นขึ้นไปหามีใครรู้ไม่ ฉันไปคราวนี้ตั้งใจไปดูและเตรียมหาหลักฐานในเรื่องประวัติไปด้วย พอแลเห็นก็แน่ใจว่าที่คิดคาดไปนั้นถูกต้อง ด้วยลักษณะรูปภาพเป็นแบบเขมรทั้งนั้น เรื่องตำนานจึงเชื่อได้ว่ามีมาดังกล่าวต่อไปนี้ รูปภาพเหล่านี้เดิมเป็นของพวกขอมสร้างไว้ที่เมืองเขมร สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ไปตีได้นครธมเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๖ ให้ขนรูปภาพเหล่านี้มายังพระนครศรีอยุธยา (ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร) และอยู่ในพระนครศรีอยุธยาต่อมา ๑๔๖ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้พระนครศรีอยุธยา ให้ขนเอารูปภาพเหล่านี้ไปยังเมืองหงสาวดี ไปอยู่ในเมืองมอญ ๓๐ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๑๔๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี เดิมพระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่ยอมเข้าด้วยกับสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้วกลับใจสมคบกันทำกลอุบาย พระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู พวกยักไข่เผาเมืองหงสาวดีเสียก่อนสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปถึง สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้แต่เมืองหงสาวดีเปล่า ทรงขัดเคืองก็ตามไปล้อมเมืองตองอู แต่ไปหมดสะเบียงอาหารก็ต้องกลับ เมื่อกองทัพไทยกลับแล้วพวกยักไข่จึงเก็บเอารูปทองสัมฤทธิ์เหล่านี้ไปยังเมืองยักไข่ เอาไปตั้งเป็นเครื่องพุทธบูชาไว้ในวัดพระ “มหามัยมุนี” รูปเหล่านี้ไปอยู่ที่เมืองยักไข่ ๑๘๐ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปะดุงพะม่าตีได้เมืองยักไข่ ให้เชิญพระมหามัยมุนีมาเมืองอมรบุระ จึงให้ขนรูปทองสัมฤทธิ์เหล่านี้เอามาตั้งเป็นเครื่องพุทธบูชาพระมหามัยมุนีเหมือนอย่างเดิม รูปทองสัมฤทธิ์เขมรจึงอยู่ในเมืองพะม่าสืบมาจนกาลบัดนี้ นับเวลาได้อีก ๑๕๑ ปี

ในหนังสือพงศาวดารพะม่าว่า รูปภาพทองสัมฤทธิ์ที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปจากเมืองไทยมีจำนวน ๓๐ รูป คงไปแตกหักด้วยขนย้ายมาหลายหนจนเป็นอันตรายหายศูนย์เสียเกือบหมด เมื่อไฟไหม้วัดยักไข่จึงเหลือแต่ ๖ รูป และยังดีแต่รูปช้างเอราวัณรูปเดียว นอกจากนั้นชำรุดมากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น

ดูวัดยักไข่เสร็จแล้วยังมีเวลาก่อนกินกลางวันอยู่กว่าชั่วโมง จึงเลยไปดูราชธานีเก่าในเช้าวันนี้ ไปถึงเมืองอมรบุระก่อน ขับรถผ่านไปในเมืองดูเป็นเมืองร้างอย่างเช่นพระนครศรีอยุธยา บ้านเรือนราษฎรที่ยังมีอยู่ก็เป็นอย่างบ้านป่า แต่มีพระเจดีย์ใหญ่ๆ อยู่หลายองค์ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฏฐิธาตุของพระเจ้าปะดุงผู้สร้างเมืองอมรบุระเป็นต้น สังเกตพระสถูปเจดีย์ที่ในเมืองหลวงทำตามแบบพระเจดีย์เมืองพุกาม (คือยอดสั้น) อันควรเรียกว่า “พระเจดีย์พะม่า” ทั้งนั้น ที่จะทำรูปอย่าง “พระเจดีย์มอญ” (ยอดยาว) เหมือนเช่นรูปพระเกศธาตุดูหามีไม่ พื้นที่เมืองอมรบุระดูเหมือนจะดอนอยู่เพียงในเมือง พอออกนอกเมืองไปไม่เท่าใดก็ถึงที่ลุ่ม เป็นคลองเขินใช้เรือได้แต่ในฤดูน้ำบ้าง เป็นบึงและลำลาบน้ำขังอยู่จนในฤดูแล้งบ้าง ขับรถไปประเดี๋ยวเดียวก็เข้าเขตต์เมืองอังวะ พิเคราะห์ดูพื้นที่ดูเหมือนดินจะอุดมกว่าเมืองอมรบุระ ด้วยเห็นต้นไม้ใหญ่เป็นเรือกสวนมีมาก แต่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูน้ำทำนองเดียวกัน หยุดดูตัวเมืองอังวะแต่ไกลๆ เห็นเจดีย์องค์หนึ่งกับวิหารหลังหนึ่ง เขาว่าเป็นของพระอัครมเหสีพระเจ้าอังวะองค์หนึ่งสร้างไว้ แต่เซซวนจวนจะพังอยู่แล้ว ในหนังสือนำทางว่าที่เมืองอังวะเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่น่าดูเสียแล้ว แต่ในเวลานี้เมืองอังวะฟื้นขึ้นบ้าง เพราะรัฐบาลสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเอราวดีที่เมืองอังวะ ให้ชื่อว่า “สะพานอังวะ” มีทั้งทางสำหรับรถไฟรถยนต์ล้อเกวียนและคนเดินข้าม เชื่อมเมืองอังวะให้ติดต่อกับเมืองสะแคง แต่เมื่อรถยนต์ข้ามต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งขาไปและขามา ดูเหมือนจะให้ข้ามได้เปล่าแต่คนเดิน เชิงสะพานอังวะทางฝั่งตะวันตกลงที่เมืองสะแคง สังเกตดูมีบ้านเรือนและวัดวาหนาแน่นกว่าที่เมืองอังวะและเมืองอมรบุระ เห็นจะเป็นเพราะเป็นที่รับผู้คนและสินค้าข้ามฟากอยู่แต่ก่อน ผู้นำทางเขาบอกว่ามี “พระโต” อยู่ที่เมืองสะแคงองค์หนึ่งน่าดู ฉันแต่งตัวเป็นอุบาสกอยู่แล้ว เมื่อขับรถเที่ยวดูเมืองแล้วจึงไปแวะที่วัดพระโต (พะม่าเรียกชื่อว่ากระไร ฉันเผลอไปหาได้ถามไม่) เป็นพระปางมารวิชัยทรงเครื่องขนาดเห็นจะเท่าๆ กับพระโตที่วัดกัลยาณมิตร แต่ทำฝีมือหมดจดพอดูได้ ออกจากวัดพระโตรีบกลับมาเมืองมัณฑเล ด้วยได้เชิญศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ นักปราชญ์ฝรั่งเศสที่เคยเป็นเจ้ากรมตรวจโบราณคดีแต่ก่อน ให้มากินกลางวันด้วยกันในวันนี้

การไปเที่ยวดูราชธานีเก่าวันนี้ เมื่อกลับมาถึงเมืองปินัง มารู้สึกว่าเสียทีไปเสียอย่างหนึ่ง ด้วยได้เคยทราบแต่ในรัชชกาลที่ ๕ ว่าเขาพบที่บรรจุพระบรมอัฏฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม (คือ พระเจ้าอุทุมพร หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ขุนหลวงหาวัด”) ซึ่งไปสวรรคตในเมืองพะม่า ฉันเชื่อใจว่าที่บรรจุพระบรมอัฏฐินั้นคงเป็นพระเจดีย์มีจารึกและสร้างไว้ที่เมืองอังวะ เพราะเมืองอังวะเป็นราชธานีอยู่ในเวลาที่พะม่ากวาดไทยไปครั้งเสียพระนครศรีอยุธยา ฉันไปครั้งนี้หมายจะพยายามไปบูชาพระเจดีย์องค์นั้นด้วย ได้สืบถามตั้งแต่ที่เมืองร่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑเลก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์เช่นนั้น ทั้งพวกกรมตรวจโบราณคดีก็ยืนยันว่าที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเป็นแน่ ฉันก็เลยทอดธุระ ครั้นกลับมาถึงเมืองปินังมีกิจไปเปิดหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จึงได้ความว่าพะม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งนั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองจักกาย (คือ เมืองสะแคง) ชุนหลวงหาวัดคงไปสวรรคตและบรรจุพระบรมอัฏฐิไว้ที่เมืองสะแคง ในเมืองนั้นพระเจดีย์ยังมีมาก ถ้าฉันรู้เสียก่อน เมื่อไปถึงเมืองสะแคง ถามหาเจดีย์ “โยเดีย” ก็น่าจะพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฏฐิขุนหลวงหาวัดสมประสงค์ แต่มารู้เมื่อสิ้นโอกาสเสียแล้วก็จนใจ

พอจวนเวลา ๑๓ นาฬิกา ศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ก็มาถึง พอพบกันแกบอกว่ารู้จักฉันมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เพราะแกเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคม ได้อ่านหนังสือที่ฉันแต่งพิมพ์ไว้ในหนังสือของสมาคมนั้นหลายเรื่อง อยากเห็นตัวมานานแล้ว ฝ่ายฉันก็ตอบขอบคุณแกด้วยได้อาศัยหนังสือนำทางเที่ยวเมืองพะม่าที่แกแต่งไว้หลายเรื่อง แล้วสนทนาในเวลากินกลางวันด้วยกันถึงเรื่องโบราณคดีต่างๆ โดยฉะเพาะเรื่องเมืองพุกามซึ่งแกชำนาญมาก แกว่าอยากไปกับฉันจะได้พาดูเอง แต่เผอิญภรรยากำลังยังเจ็บหนัก แกต้องดูแลการรักษาพยาบาลและปรึกษาหมออยู่ทุกวันจึงเป็นอันจนใจ แกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเมมะโย ระยะทางห่างเมืองมัณฑเลกว่า ๔๐ ไมล์ วันนี้ลงมาหาฉันโดยฉะเพาะ แล้วจะต้องรีบกลับไปเมืองเมมะโยในบ่ายวันนั้นเอง ด้วยเป็นห่วงภรรยา เมื่อสนทนากันถึงเรื่องเมืองพุกาม ฉันถามแกว่าจะหาพระพิมพ์สมัยเมืองพุกามเอาไปเปรียบกับพระพิมพ์ในเมืองไทยได้หรือไม่ แกหัวเราะแล้วตอบว่าถ้าไปหาแต่โดยลำพังเห็นจะยาก แต่แกพอจะช่วยให้สำเร็จตามประสงค์ได้ ด้วยในสมัยเมื่อแกเป็นเจ้ากรมตรวจโบราณคดีเที่ยวตรวจเมืองโบราณนานมาแล้ว พบพระพิมพ์ที่เมืองพุกามและเมืองสารเขตต์ (เมืองแปรเก่า) มากกว่ามาก แกเลือกเอาที่แปลกกันส่งตัวอย่างไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานพอแก่การแล้ว พระพิมพ์ยังเหลืออยู่เป็นพะเนินเทินทึกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะทิ้งเสียก็เสียดาย จึงรวบรวมเอาลงฝังซ่อนไว้ที่ในวัดแห่งหนึ่ง ณ เมืองสารเขตต์ มีผู้รู้แห่งที่ฝังแต่ตัวแกกับภารโรงผู้รักษาพิพิธภัณฑสถานในวัดนั้น แกจะเขียนจดหมายไปถึงภารโรงให้พาฉันไปขุดเลือกเอาตามประสงค์ ด้วยมิใช่ของที่รัฐบาลหวงแหน จะเลือกเอาสักเท่าใดก็ได้ ก็มีความยินดีที่ได้พบศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ อีกสถานหนึ่ง

เวลาบ่ายวัน (จันทร์ที่ ๒๗ มกราคม) นี้ ไปที่สำนักงานกรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department เพื่อจะเลือกซื้อรูปฉายของโบราณต่างๆ ในเมืองพะม่าที่เขามีขาย ออกจากนั้นไปดูวัดสะลินและวัดสังฆราช วัดสะลินได้พรรณนามาแล้ว จะพรรณนาแต่ ๒ แห่งต่อไป

สำนักงานกรมตรวจโบราณคดีพะม่านั้น ตั้งอยู่ที่ตึกรัฐบาลเช่าแห่งหนึ่ง ดูข้างนอกก็ไม่เป็นสง่าราศี เข้าไปข้างในก็เห็นจัดแต่เป็นอย่างอาศัยชั่วคราว ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยการตรวจโบราณคดีในเมืองพะม่าแต่ก่อนมาดูเหมือนจะอาศัยแต่ตัวบุคคลที่เป็นเจ้ากรมเป็นสำคัญ ได้ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง (แต่มิใช่เป็นชาติอังกฤษ) เป็นเจ้ากรมต่อกันมาถึง ๓ คน คือ ดอกเตอร์ ฟอร์ชามเมอร์ Dr. Forchammer คนหนึ่ง ศาสตราจารย์ ตอ เซียน โก Prof. Taw Sian Ko (จีน) คนหนึ่ง แล้วถึงศาสตราจารย์ ชาส ดือ รอยเสลล์ Prof. Chas Duroiselle (ฝรั่งเศส) อีกคนหนึ่ง เมื่อศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ อายุถึงกำหนดออกรับเบี้ยบำนาญแล้ว ทำนองจะหาคนอื่นซึ่งทรงคุณวุฒิเหมือนอย่างผู้ที่เป็นเจ้ากรมมาแต่ก่อนไม่ได้ จึงโอนกรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าไปเป็นสาขาของกรมตรวจโบราณคดีอินเดีย ตั้งพะม่าคนหนึ่งให้เป็นเจ้ากรมอยู่ ๓ ปี แล้วออกจากตำแหน่งไป จึงให้ อูเงวชิน ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมก่อนฉันไปไม่ช้านัก แต่เมื่อฉันกลับมาถึงปินังแล้ว ได้รับจดหมายของศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ ฉะบับหนึ่ง ส่งรูปฉายที่ฉันไปว่าซื้อมา ว่าเป็นของรัฐบาลให้มิต้องซื้อ และบอกว่าเดี๋ยวนี้รัฐบาลขอให้แกกลับเข้าทำงานเป็นเจ้ากรมตรวจโบราณคดีอีกปีหนึ่ง คงเนื่องมาจากการแยกเมืองพะม่าออกจากอินเดีย หวังใจว่ากรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าจะกลับรุ่งเรืองขึ้น

วัดสังฆราชนั้น อยู่ตรงประตูเมืองมัณฑเลทางด้านตะวันออก เป็นวัดสังฆาวาส พระเจ้ามินดงทรงสร้างพร้อมกับเมืองมัณฑเล แต่เป็นวัดใหญ่โตกว่าวัดสังฆาวาสแห่งอื่นและทำกำแพงวัดเป็น ๒ ขึ้น ในระหว่างกำแพงชั้นนอกกับชั้นในมีกุฏิปลีกรายเป็นระยะไป คงเป็นเพราะแต่เดิมเจ้านายและพวกลูกผู้ดีบวชอยู่กับพระสังฆราชโดยมาก ถึงเดี๋ยวนี้จำนวนพระสงฆ์ก็มีมาก แต่เขาว่าเป็นเพราะวัดมีน้อยลง ด้วยวัดเก่าถูกไฟไหม้และปรักหักพังไปเสียมาก วัดมีขึ้นใหม่ไม่เท่าจำนวนที่ศูนย์ไป พระสงฆ์จึงต้องไปรวมอยู่วัดเดียวกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

พิเคราะห์ตำหนักของพระสังฆราช แผนผังก็เหมือนอย่างวัดสังฆาวาสอื่นที่พรรณนามาแล้ว เป็นแต่ทำใหญ่โต ฝีมือทำก็ไม่สู้ประณีต เพราะรื้อเอาของเดิมที่เมืองอมรบุระมาใช้โดยมาก เห็นแปลกอย่างหนึ่งที่ในวัดนี้มีโบสถ์อยู่ริมกำแพงใน แต่พิจารณาไปก็เห็นได้ว่าเป็นของทำขึ้นใหม่อย่างว่า “เมื่อเร็วๆ นี้” เป็นแต่โรงเสาไม้ ๓ หรือ ๔ ห้อง หลังคามุงสังกะสีลูกฟูก ไม่มีฝาและไม่มีเครื่องตกแต่งอย่างใด แม้จนชุกชีที่ตั้งพระพุทธรูปก็ไม่เห็นมี ถ้าไม่มีหลักสีมาหินปักอยู่รอบโรงนั้น ใครเห็นก็คงนึกว่าโรงสำหรับเก็บไม้หรือไว้ปูน จึงเข้าใจว่าเห็นจะสร้างโบสถ์นันขึ้นเมื่อพระสังฆราชแก่ชรา (เวลานี้อายุถึง ๙๐ ปี) ไม่สามารถไปให้อุปสมบทห่างไกลได้เหมือนแต่ก่อน โบสถ์ของหลวงก็คงมีที่เมืองมัณฑเล แต่อยู่ที่ไหนฉันไม่ทราบ

ถ้าหากจะมีใครสงสัย ว่าเพราะเหตุใดฉันไปถึงวัดแล้วจึงไม่พยายามที่จะรู้จักกับพระสังฆราช เหมือนอย่างชอบพบพระเมื่อไปเมืองเขมรและเมืองลังกา ขอชี้แจงข้อนี้ว่าเมืองเขมรพระเถระผู้ใหญ่พูดภาษาไทยได้โดยมาก พระเถระที่เมืองลังกาก็มักพูดภาษาอังกฤษได้ สนทนากันได้ตัวต่อตัวไม่ลำบาก แต่ที่เมืองพะม่าฉันสืบถามได้ความว่า ไม่มีพระเถระที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยได้ สนทนากันจะต้องมีล่าม ไต่ถามอะไรไม่ได้สะดวกเหมือนพูดกันเอง จึงเกิดท้อด้วยเหตุนี้ ถึงกระนั้นก็มิได้ทอดทิ้งที่จะหาความรู้เรื่องสังฆมณฑลในเมืองพะม่า ได้อาศัยอ่านหนังสือบ้าง ไต่ถามอาจารย์ อู โปกยา ที่เจ้าฉายเมืองพามาให้รู้จักบ้าง ได้เรื่องราวดังจะพรรณนาต่อไปนี้

ในเมืองพะม่านั้น พะม่าเรียกพระภิกษุสงฆ์ว่า “ระหัน” Yahan (มาแต่ “อรหันต์” อย่างเดียวกับที่ไทยเราเรียกว่า “พระ”) แต่มีคำเรียกต่างกันตามสมณศักดิ์อีกอย่างหนึ่ง จะยกตัวอย่างตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไปหาชั้นสูง คือ

พระภิกษุบวชใหม่ยังไม่ถึงเป็นเถรภูมิ เรียกว่า “อุปสิน” Upasin (มาแต่คำ “อุปสัมบัน”)

พระภิกษุที่ถึงเถรภูมิหรือเป็นสมภารเจ้าวัด เรียกว่า “ปงคยี” (คยีแปลว่าใหญ่ แต่คำปงจะหมายความว่าอย่างไรหาทราบไม่)

พระภิกษุที่เป็นมหาเถระ (สามัญ) เรียกว่า “สะยะ” Saya (มาแต่คำ “อาจารย์”)

พระมหาเถระที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสัญญาบัตร เรียกว่า “สะยะดอ” Saya daw แต่มักเรียกกันโดยย่อว่า “สะดอ” Sadaw (ชั้นนี้เห็นจะเทียบเท่า “พระครู” ของไทย) สัญญาบัตรนั้นว่าจารึกราชทินนามลงในแผ่นเหล็กและมีด้ามสำหรับถือ

พระมหาเถระชั้นสูง (เทียบเท่า “พระราชาคณะ”) เรียกว่า “ตะเสต สะยะดอ” Tasiet Sayadaw พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานตราตำแหน่ง (แกะด้วยเหล็ก) เพิ่มสัญญาบัตรอีกอย่างหนึ่ง

พระสังฆราช พะม่าเรียกว่า “สาสนะ แบง” Thatthana Baing สมณทูตพะม่าที่มารับพระบรมธาตุเมื่อรัชชกาลที่ ๕ มาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สาสนะนัย” เป็นสมณศักดิ์สูงสุด มีแต่องค์เดียว

พระสังฆราชเมืองพะม่ามีอำนาจบังคับบัญชาการอันเป็นส่วนพระธรรมวินัยได้สิทธิ์ขาด และมีกรม “มหาดาน” Mahadan (ทำนองกรมธรรมการของไทย) เป็นพนักงานกระทำการตามคำสั่งของพระสังฆราชด้วย คำชี้ขาดของพระสังฆราชในทางพระธรรมวินัยนั้น แม้พระเจ้าแผ่นดินจะทรงโต้แย้งขัดขวางก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีขึ้นอย่างหนึ่ง พอพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ขึ้นเสวยราชย์ ก็ทรงตั้งพระมหาเถระผู้เป็นอาจารย์ของพระองค์เองมาแต่ก่อนเป็นที่สังฆราช หรือว่าอีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใดก็เปลี่ยนพระสังฆราชด้วย การฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรจึงได้ปรองดองกันตลอดมา ครั้นเสียเมืองพะม่าแล้ว เมื่อรัฐบาลอังกฤษวางระเบียบการปกครองเมืองพะม่าเป็นอย่างเมืองขึ้น ถือว่าไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการศาสนา จึงยุบกรมธรรมการเสียด้วยกันกับกระทรวงทบวงการต่างๆ อย่างเดิมของพะม่า และต่อมาเมื่อพระสังฆราชถึงมรณภาพก็ไม่ตั้งสังฆราชขึ้นใหม่ การไล่หนังสือก็เลยงดมาด้วย ในเวลาว่างพระสังฆราชอยู่นั้น เกิดรวนเรในสงฆมณฑลเพราะเหตุที่ไม่มีหัวหน้าบัญชาการ พวกพระราชาคณะกับขุนนางพะม่าที่ยังมีตัวอยู่จึงทำเรื่องราวเข้าชื่อกันร้องทุกข์ต่อรัฐบาลอังกฤษ เมื่อ ลอร์ด เคอสัน เป็นไวสรอยมาตรวจการเมืองพะม่าดังกล่าวมาแล้ว จึงให้กลับมีสังฆราชและกรมธรรมการกับทั้งมีการไล่หนังสือขึ้นอีก เป็นแต่แก้ไขการบางอย่างให้เข้ากับวิธีปกครองของอังกฤษคือ ๑. ในการเลือกพระสังฆราช ให้มีกรรมการพระมหาเถระกับหัวหน้าอุบาสกประชุมกันเป็นพนักงานเลือก และรัฐบาลประกาศตั้งพระสังฆราชในพระนามของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ๒. ในคดีที่เกี่ยวกับพระวินัย กรมธรรมการไม่มีอำนาจบังคับเหมือนแต่ก่อน แต่ให้ศาลบ้านเมืองบังคับตามคำชี้ขาดของพระสังฆราช ถ้าหากไม่ฝ่าฝืนกฎหมายฝ่ายอาณาจักร ๓. ให้กลับมีการไล่หนังสือเหมือนแต่เดิม แต่เปลี่ยนวิธีให้รางวัลเป็นให้เงินตราแทนอุปการะอย่างอื่นที่พระเจ้าแผ่นดินเคยพระราชทาน

ลักษณะปกครองคณะสงฆ์นั้น ประเพณีเดิมพระสังฆราชเป็นผู้บัญชาการสังฆมณฑลทั่วไป ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงทรงจัดให้มีมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษาของพระสังฆราชด้วย การปกครองในท้องที่มีเจ้าคณะปกครองเป็น ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ พะม่าเรียกว่า “คายชก” (เห็นจะตรงกับ “เจ้าคณะจังหวัด”) ชั้นที่ ๒ เรียกว่า “คายโอ๊ก” (เจ้าคณะแขวง) ชั้นที่ ๓ เรียกว่า “คายดอก” (เจ้าคณะหมวด) ฟังบังคับบัญชากันขึ้นไปโดยลำดับ การตั้งเจ้าคณะนั้น อธิการวัดประชุมกันเลือกเจ้าคณะหมวด เจ้าคณะหมวดประชุมกันเลือกเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะแขวงประชุมกันเลือกเจ้าคณะจังหวัด พระสังฆราชเป็นผู้ตั้ง แต่ระเบียบการที่ว่ามานี้ใช้ได้เพียงในอาณาเขตต์เมืองพะม่าเหนือเหมือนอย่างครั้งมืพระเจ้าแผ่นดิน แต่จะบังคับลงไปถึงอาณาเขตต์พะม่าใต้ที่อังกฤษปกครองไม่ได้ ถึงกระนั้นประเพณีสงฆ์ในอาณาเขตต์พะม่าเหนือทำอย่างไร พระสงฆ์ในอาณาเขตต์พะม่าใต้ก็พอใจกระทำตามด้วยความสมัคร

นิกายสงฆ์พะม่า พิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดาร พระสงฆ์ในเมืองพะม่ามักแยกกันเป็นหลายนิกายมาแต่โบราณ ดังปรากฏในจารึกกัลยาณีที่พรรณนามาแล้วในตอนว่าด้วยเมืองหงสาวดี พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงพยายามรวมเป็นนิกายเดียวกันมาหลายครั้ง ก็ไม่รวมอยู่ได้ยืดยาว เมื่อถึงสมัยราชวงศ์อลองพระครองเมืองพะม่านับแต่ พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นต้นมา พระสงฆ์พะม่าแยกกันอยู่เป็น ๒ นิกาย เรียกว่า “โตนะ” นิกายหนึ่ง เรียกว่า “โยนะ” นิกายหนึ่ง ถือวัตรปฏิบัติผิดกันที่พวกโตนะไม่สู้เคร่งครัดนัก เช่นห่มคลุมแต่เมื่อเข้าไปในบ้าน ถ้าเดินไปตามถนนหนทางเป็นแต่ห่มดองเป็นต้น แต่พระสงฆ์นิกายนี้คงเป็นนิกายเก่าเป็นจำนวนมาก (ดูเป็นทำนองเดียวกันกับที่เราเรียกว่า “มหานิกาย”) ฝ่ายโยนะนิกายนั้นเห็นจะตั้งขึ้นใหม่ (ทำนองพระสงฆ์ “ธรรมยุต”) ถือความประพฤติพระวินัยเคร่งครัดเป็นสำคัญ มีจำนวนพระสงฆ์อยู่ไม่ค่อยมาก พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนทรงเลื่อมใสพระสงฆ์นิกายไหน นิกายนั้นก็เฟื่องฟูขึ้นเป็นคราวๆ ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงมีพระราชประสงค์จะสมานพระสงฆ์ ๒ นิกายให้กลมเกลียวกัน จึงให้ตั้งมหาเถรสมาคม มีพระมหาเถระทั้ง ๒ นิกายอยู่ในสมาคมนั้นด้วยกัน และสร้างสุธรรมศาลาขึ้นเป็นที่สำหรับประชุมดังกล่าวมาในที่อื่นแล้ว ต่อมาในกาลครั้งหนึ่ง เกิดกรณีด้วยปรากฏว่ามีภิกษุประพฤติอนาจารชุกชุมขึ้นกว่าแต่ก่อน โปรดให้มหาเถรสมาคมปรึกษากันตั้งข้อบังคับระงับอนาจาร พวกมหาเถระที่ถือคติโยนะนิกายมีพระอกโปสะยะดอเป็นหัวหน้า เห็นว่าควรตั้งข้อบังคับให้พระภิกษุสงฆ์ประพฤติพระวินัยให้เคร่งครัดตามพุทธบัญญัติ เป็นต้นว่าห้ามมิให้เป็นหมอดู ห้ามมิให้แปรธาตุ ห้ามมิให้รับเงิน ห้ามมิให้ซื้อขาย ห้ามมิให้ใส่เกือกในอุปจารวัด และห้ามมิให้กินหมากเวลานอกเพลเป็นต้น แต่พระมหาเถระทางฝ่ายโตนะนิกายเห็นว่าจะเป็นการกวดขันเกินไป ควรให้วัตรปฏิบัติคงเป็นไปอย่างเดิม ปราบปรามแต่ฉะเพาะพวกภิกษุที่ประพฤติอนาจาร พระสังฆราชเป็นภิกษุโตนะนิกายบัญชาตามพวกข้างมาก พระอกโปสะยะดอท้อใจก็ย้ายไปอยู่วัดในเมืองสะแคง แล้วประพฤติวัตรปฏิบัติตามที่เห็นชอบด้วยกันกับพระสงฆ์สานุศิษย์ แต่ยังร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์พวกพระสังฆราชอยู่อย่างเดิม พระเจ้ามินดงเห็นว่าเป็นแต่ประพฤติวัตรปฏิบัติผิดกัน มิได้ตั้งเป็นนิกายต่างหาก และพระอกโปสะยะดอเป็นผู้มีความรู้ผู้คนนับถือมาก ก็ไม่ขัดขวาง ครั้นพระอกโปสะยะดอถึงมรณภาพ มีพระเถระที่เป็นหัวหน้าในพวกศิษย์ ๒ องค์ องค์หนึ่งมีนามว่า ชเวคยิน สะยะดอ Shwegyin Sayadaw ได้เป็นใหญ่ในคณะสงฆ์นั้นที่เมืองสะแคง อีกองค์หนึ่งมีนามว่า อิงคะ สะยะดอ Inga Sayadaw นำลัทธินั้นลงมาตั้งคณะในอาณาเขตต์พะม่าใต้ จึงเริ่มเกิดมีพระสงฆ์เป็น ๓ นิกาย (เห็นจะเกิดเมื่อรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ) คือพวกนิกายเก่าของพระสังฆราชได้นามว่า “สุธรรมนิกาย” ตามชื่อที่ประชุมเถรสมาคมนิกาย ๑ พวกพระสงฆ์ที่ถือลัทธิของพระอกโปสะยะดอส่วนที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตต์พะม่าเหนือ และยังยอมร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์สุธรรมนิกาย ได้นามว่านิกาย “ชเวคยิน” Shwegyin ตามนามหัวหน้า (แต่สมณทูตที่มาเมืองไทยเมื่อรัชชกาลที่ ๕ เรียกโดยภาษามคธว่า “สุวรรณวิรัติ” นิกาย ๑ แต่พระอิงคะ สะยะดอ ที่นำลัทธิของพระอกโปสะยะดอ ลงมาตั้งคณะขึ้นในเขตต์พะม่าใต้ ไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกับพระสงฆ์สุธรรมนิกาย จึงกลายเป็นนิกายขึ้นต่างหาก ได้นามว่า “ทวาร” Dwaya (สมณทูตเรียกว่า “มหาคณี” อีกนิกาย ๑ ต่อมามีภิกษุในทวารนิกายพวกหนึ่งรับลัทธิวันวาสีในลังกาทวีปมาประพฤติ ถือสันโดษเที่ยวอยู่ตามป่าตามภูเขาและในถ้ำไม่อยู่ประจำในบ้านเมืองและไม่ทำสังฆกรรมร่วมกับพวกอื่น จึงเกิดเป็นนิกายขึ้นต่างหาก ได้นามว่านิกาย “เหง็ตตวิน” Hngeit Twin (สมณทูตเรียกว่า “จุลคณี”) พระสงฆ์พะม่าจึงเป็น ๔ นิกาย อีกนัยหนึ่งนับแต่เป็น ๒ นิกาย พวกนิกายเดิมได้นามว่า “มหาคัณฐี” พวกนิกายต่างๆ อันเกิดแต่ลัทธิของพระอกโปสะยะดอได้นามว่า “จุลคัณฐี” มาจนบัดนี้

ว่าถึงสังฆมณฑลตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ใครๆ ก็บอกว่าเสื่อมทรามลงมาก เขาว่าแม้พระมหาเถระที่รอบรู้พระธรรมวินัยและสังวรวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสยังมีอยู่ไม่ศูนย์ก็จริง แต่ภิกษุสงฆ์โดยมากฉะเพาะพวกภิกษุหนุ่มมักประพฤติกันแต่ตามอำเภอใจ เพราะไม่มีที่ยำเกรง ที่เมืองร่างกุ้งยังไม่สู้กระไร เป็นแต่มักประพฤติตามอย่างคฤหัสถ์ที่เป็นสาธุชน เช่นชอบไปดูหนังฉายเป็นต้น แต่ที่เมืองมัณฑเลร้ายกว่านั้น นัยว่าถึงมีภิกษุซึ่งเวลากลางวันเป็นพระ กลางคืนเป็นคฤหัสถ์ คำที่ว่านี้จะมีความจริงเพียงใดก็ตาม เมื่อคิดดูก็พอเห็นเหตุได้ เพราะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นพุทธศาสนูปถัมภกหนุนหลัง มีตัวอย่างเช่นที่เมืองลังกา พอไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน สงฆมณฑลก็ทรุดโทรม ที่เมืองพะม่านี้รัฐบาลอังกฤษเอาเป็นธุระอุดหนุนอยู่หลายอย่าง เช่นกลับให้มีสังฆราชเป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว ถึงกระนั้นพระสังฆราชก็ยังบังคับบัญชาการไม่สิทธิ์ขาดได้ดังแต่ก่อน ด้วยพวกพระสงฆ์นิกายอื่นอ้างว่าต่างนิกายกัน ไม่ยอมกระทำตามบังคับบัญชา รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าเป็นแต่แตกต่างกันด้วยวัตรปฏิบัติก็ไม่เข้าเกี่ยวข้อง การปกครองจึงไปตกอยู่แก่พระเถระผู้เป็นชีต้นอาจารย์ ต่างปกครองสานุศิษย์ของตนเป็นแห่งๆ ไป คณาจารย์องค์ใดอ่อน ภิกษุสานุศิษย์ก็คะนองโดยธรรมดาดังนี้ ได้ยินว่าเมื่อตอนเมืองพะม่าเป็นของอังกฤษแล้วมีผู้คิดชักชวนพระสงฆ์ต่างนิกายให้รวมกันเป็นสมาคมเรียกว่า “สังฆสามัคคี” มีพระเข้าด้วยมาก พวกนี้ที่มักโต้แย้งคำสังฆราช และบางทีจะเป็นพระสงฆ์พวกนี้เองที่เข้ารับเทศนาห้ามปรามราษฎรเมื่อเวลาเกิดขบถครั้งหลังสงบลงได้

เรื่องพระสงฆ์เมืองพะม่า ยังมีที่จะเล่าตามเห็นด้วยตาตนเองต่อไปอีก เมื่อวันไปถึงเมืองร่างกุ้ง ตอนบ่ายฉันขึ้นรถเที่ยวดูเมือง เห็นพระพะม่าเดินตามถนนครองผ้าไม่เป็นปริมณฑล คือไม่ห่มคลุมหรือห่มดองอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแต่เอาจีวรพาดบ่า องค์ไหนจะพาดอย่างไรก็ทำตามพอใจ ดูแปลกตาเหมือนชวนมิให้เกิดความเลื่อมใส ต่อมาวันหลังฉันขึ้นรถไปตอนเช้าราว ๙ นาฬิกา เห็นพระภิกษุสามเณรพะม่าห่มคลุมเรียบร้อยอุ้มบาตรเดินตามกันเป็นแถว ก็รู้ว่าเที่ยวบิณฑบาต ถ้าไม่ทราบเหตุมาแต่ก่อนก็จะประหลาดใจว่าไฉนจึงออกรับบิณฑบาตจนสายถึงปานนั้น แต่ฉันเคยได้ยินว่าที่เมืองลังกาพระออกรับบิณฑบาตเวลาน้องเพลเหมือนกัน อธิบายว่าถ้าออกบิณฑบาตแต่เช้า เสมือนไปขอแบ่งเอาอาหารที่เขาจะบริโภคมาฉัน จึงไปบิณฑบาตต่อเวลาชาวบ้านกินข้าวเช้าเสร็จแล้ว เอาแต่อาหารที่เป็นเดนเขาบริโภคมาฉัน ที่ว่านี้ก็ชอบกล พะม่าคงรับประเพณีบิณฑบาตมาจากลังกา ในเช้าวันนั้นเอง เมื่อฉันไปดูร้านช่างจำหลักพระพุทธรูป เห็นพระองค์หนึ่งเข้าไปรับบาตรอยู่ที่ร้านเคียงกัน จึงคอยดูว่าพะม่าจะตักบาตรอย่างไร เห็นพระเข้าไปถึงก็ไปนั่งเก้าอี้ที่เขาตั้งไว้รับแขกตรงหน้าร้าน เอาบาตรวางไว้บนตัก สักประเดี๋ยวผู้ชายเจ้าของร้านก็ออกมา มีชามอ่างใส่ข้าวสุกกับทัพพีถือมาด้วย พระก็นั่งอยู่อย่างเดิมเป็นแต่เปิดฝาบาตร เจ้าของร้านเอาทัพพีขอดก้นชามอ่างตักข้าวสุกออกใส่บาตรสักสองสามครั้งจึงเสร็จ ก็เข้าใจว่าข้าวสุกที่ใส่บาตรนั้นเป็นของเดนจริง โดยปกติเมื่อชาวบ้านกินอาหารเช้าในครัวเรือนคงคดข้าวสุกใส่ให้พูนชามอ่าง แบ่งเอากินกันแล้วเหลือติดก้นชามไว้สำหรับใส่บาตร ประเพณีในมณฑลพายัพยังต่างไปอีกอย่างหนึ่ง พระที่ไปรับบิณฑบาตมีกังสดาลถือไปด้วย เมื่อไปถึงหน้าบ้านตีกังสดาล คนในบ้านได้ยินเสียงก็ออกมาตักบาตร พระรับบาตรแล้วต้องสวดอนุโมทนา “ยถาสพฺพี” ทุกแห่ง ไป จะเป็นวิธีไทยหรือได้ไปจากที่อื่นหาทราบไม่ การพบปะพระพะม่ามีเรื่องออกจะขบขันที่เมืองมัณฑเลเมื่อวันไปดูวัดนางพระยา พอเข้าในลานวัดพวกเราก็เที่ยวเดินดูไปด้วยกันเป็นหมู่ แต่หญิงพิลัยเป็นพนักงานฉายรูปต้องหยุดยืนฉายรูปล้าหลังอยู่คนเดียว ถูกพระพะม่าวัดนางพระยาลงมายืนห้อมล้อมดูจนรำคาญ มิรู้ที่จะทำอย่างไร พูดก็ไม่เข้าใจกันได้ เธอจึงคิดอุบายทำกิริยาเป็นฝรั่งยื่นมือไปเหมือนหนึ่งว่าจะจับมือพระ “กูดบ๋าย” พระพวกนั้นพากันสั่นหัวแล้วเลยเลี่ยงกลับขึ้นกุฏิ ฟังหญิงพิลัยมาเล่ากลั้นหัวเราะไม่ได้

เมื่อฉันไปเที่ยวเมืองพุกามได้เห็นเขาแห่บวชนาค และเมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งได้สมาคมกับข้าราชการพะม่าคนหนึ่ง เขาเอาสมุดรูปต่างๆ ที่เขาสะสมไว้มาให้ดู มีรูปฉายการพิธีเมื่อตัวเขาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เห็นแปลกจึงขอฉายจำลองมา แล้วมาค้นหาอธิบายในหนังสือเรื่องเมืองพะม่า ทั้งได้ความตามอธิบายของสมณทูตพะม่าบอกสมเด็จพระวันรัตน (จ่าย) วัดเบญจมบพิตร ว่าวิธีบรรพชาอุปสมบทพะม่ากับไทยเหมือนกันโดยมาก เพราะฉะนั้นจะพรรณนาในหนังสือนี้แต่ที่ผิดกัน

๑. พะม่ายังแห่นาคเหมือนไทยเราแห่กันแต่ก่อน ลักษณะการแห่บวชนาคนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าเจตนาจะให้เป็นทำนองเดียวกับแสดงตำนาน Pageant เรื่อง “มหาภิเนษกรมณ์” จึงให้เจ้านาคขี่ม้าเหมือนอย่างพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุไปทรงผนวช สมมตพวกญาติโยมที่ห้อมแห่ไปเป็นเทวดาที่ห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ และหาพวกจำอวดนำกระบวรสมมตว่าเป็นพระยามารที่คอยขัดขวาง แต่ประหลาดอยู่ในเมืองเราแห่เช่นนั้นแต่บวชนาคราษฎร ถ้าเป็นนาคหลวงเช่นเจ้านายทรงผนวช ไม่แห่หรือแห่ก็แห่เป็นกระบวนพยุหยาตรา นาคเจ้านายทรงยานมาศและเสลี่ยง เคยได้ยินว่าบางทีทรงคอช้างก็มี แต่ที่จะทรงม้าเหมือนอย่างนาคราษฎรหามีไม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง นาคหลวงแห่แต่เพื่อให้คนอนุโมทนา ไม่ทำเป็นแสดงตำนาน พิเคราะห์ชวนให้สงสัยว่าแห่นาคราษฎรไทยจะได้แบบมาจากพะม่าดอกกะมัง เค้าเงื่อนมีอยู่ที่แห่บวชนาคของราษฎรดูจะต้องมีพวกตีกลองยาวอย่างพะม่าที่เราเรียกกันว่า “เถิดเทิง” นำกระบวนเป็นนิจ และเมื่อแห่ไปถึงวัด พวกกลองยาวเล่นจำอวดกั้นกางอย่างเป็นพระยามารห้ามเอารางวัลเสียก่อน แล้วจึงให้เจ้านาคเข้าโบสถ์ เป็นประเพณีมาอย่างนี้

๒. วิธีบรรพชา ทำเป็นงาน ๒ วันเหมือนกันทั้งไทยและพะม่า แต่ลักษณะการที่ทำผิดกันชอบกล ประเพณีไทยวันแรกเวลาบ่ายให้เจ้านาคปลงผมแล้วแต่งตัวเต็มประดาอย่างคฤหัสถ์นั่งที่หน้าบายศรี มีผู้ใหญ่สวดบูชาพระรัตนตรัย และให้โอวาทสั่งสอนเจ้านาคให้เลื่อมใสในการบรรพชาแล้วเวียนเทียนทำขวัญ ครั้นวันหลังเวลาเพลแล้วแห่เจ้านาคไปวัดและบรรพชาที่ในโบสถ์ ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุ บรรพชาแล้วก็ทำพิธีอุปสมบทติดกันไปทีเดียว ประเพณีพะม่าวันแรกแห่เจ้านาคแต่ตอนเช้า เจ้านาคแต่งเต็มประดาแต่ยังเกล้าผมอย่างคฤหัสถ์ แห่แล้วพาไปยังโรงพิธีอันมักทำที่บ้าน (เช่นปรากฏว่าทำพิธีเจ้านายทรงผนวชที่ในมหาปราสาทดังกล่าวมาแล้ว) นิมนต์พระสงฆ์ (ราว ๕ รูป) มานั่งเป็นประธาน เจ้านาคเข้าไปขอบรรพชาในตอนนี้ พระสังฆนายกไต่ถามข้อความที่จำเป็นแก่การบวช เช่นว่าบิดามารดาอนุญาตแล้วหรือ มีบริกขารพร้อมแล้วหรือเป็นต้น เมื่อไม่มีข้อขัดข้องแล้ว พระสังฆนายกจึงแสดงคุณพระรัตนตรัยและบอกสิกขาบทกับทั้งวัตรปฏิบัติที่สามเณรจะต้องประพฤติให้เจ้านาครู้ แล้วอนุญาตให้บรรพชาตามประสงค์ เป็นเสร็จพิธีตอนเช้าเพียงนี้ พิธีอีกส่วนหนึ่งจะทำในตอนบ่ายวันนั้นเอง หรือทำในวันหลังต่อมาก็ได้ คือให้เจ้านาคปลงผมอาบน้ำชำระกายและเปลื้องเครื่องอาภรณ์ทั้งสิ้น นำผ้าไตรและเครื่องบริกขารเข้าไปยังพระอุปัชฌาย์ (พิธีตอนนี้พิเคราะห์ดูเห็นจะทำที่กุฏิสงฆ์ในสังฆาวาส) เจ้านาคส่งไตรถวายอุปัชฌาย์ (เห็นจะสวด “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณ ฯ” ตอนนี้) พระอุปัชฌาย์เอากาสาวพัสตร์ (ของไทยเราใช้อังสะ) คลุมให้ เจ้านาคออกไปครองผ้าแล้วกลับเข้าไปขอศีล รับศีลแล้วก็เป็นเสร็จพิธี การที่พวกพะม่าบวช บวชแต่บรรพชาเป็นสามเณรเป็นพื้น ต่อบางคนจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยปกติถ้าใครใคร่จะเป็นพระภิกษุ บวชเป็นสามเณรแล้วก็เล่าเรียนอยู่เลยไปจนอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่จะบรรพชาและอุปสมบทในคราวเดียวกันเหมือนกับผู้ที่ให้รูปฉายแก่ฉันนั้น นานๆ จึงจะมีสักครั้งหนึ่ง

๓. วิธีอุปสมบทนั้นพะม่าผิดกับไทยในการ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเพราะวัดสังฆาวาสพะม่าไม่มีโบสถ์ ต้องไปทำพิธีอุปสมบทกรรมในโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งพระพะม่าสวดกรรมวาจาด้วยอ่านหนังสือ ไม่สวดปากเปล่าเหมือนพระไทย เพราะเหตุใดคิดดูก็พอเห็นได้ ด้วยการอุปสมบท (เช่นบอกไว้ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้าธรรมเจดีย์) ว่าต้องพร้อมด้วยสมบัติ ๕ อย่าง

๑. สีมาสมบัติ คืออุปสมบทในเขตต์สีมา

๒. ปริสสมบัติ คืออุปสมบทในคณะสงฆ์

๓. วัตถุสมบัติ คือมีบาตรและจีวรบริบูรณ์

๔. ญัตติสมบัติ คือพระสงฆ์ยอมให้อุปสมบท

๕. อนุสาวนาสมบัติ คือรู้ความที่กล่าวในการทำพิธี ก็คำที่ใช้ในการอุปสมบทเป็นภาษามคธ จึงเกิดเกรงจะสวดพลาดพลั้งด้วยอักขรวิบัติให้ความผิดไป แต่พะม่ากับไทยป้องกันผิดกัน พะม่าใช้อ่านหนังสือกันอักขรวิบัติ ไทยให้สวดพร้อมกัน ๒ องค์เรียกว่า “คู่สวด” ก็เพื่อกันพลั้งพลาดด้วยอักขรวิบัติเหมือนกัน

นอกจากพระภิกษุสามเณร ในเมืองพะม่ายังมีนักบวชอีก ๓ อย่าง เรียกว่า Yethe (ฤๅษี) อย่าง ๑ เรียกว่า โปสุดอ Pothudaw อย่าง ๑ เมสิละ Methila อย่าง ๑ มีอธิบายต่างกันดังนี้

๑. ฤๅษีนั้นมีเป็น ๒ ชะนิด ชะนิดหนึ่งเรียกกันแต่ว่าฤๅษีโกน หัวนุ่งห่มกาสาวพัสตร์ และเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจารเหมือนอย่างพระภิกษุ (ดูจะตรงกับที่ไทยเราเรียก “เถน”) เป็นแต่สังวรสิกขาน้อยบทกว่าพระภิกษุและกราบไหว้พระภิกษุ สิกขาของฤๅษีจะเป็นอย่างไรไม่ได้พรรณนาไว้ในอธิบาย กล่าวแต่ว่ารับเงินและทำไร่ได้ แต่มักอาศัยถ้ำหรือวัดร้างเป็นที่พัก และเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เป็นปกติ ฤๅษีอีกชะนิดหนึ่งเรียกว่า ดอชะ Daucha ก็ครองผ้ากาสาและภิกขาจารเหมือนกับฤๅษี ผิดกันแต่ไว้ผมยาว โพกหัวเป็นชฎา มีพระพุทธรูปไว้ในนั้น (รูปคล้ายกับชฎาหัวโขนฤๅษี) กับมักชอบเป็นหมอดูและทำเครื่องราง

๒. โปสุดอนั้น (เห็นจะตรงกับ “ปะขาว” ของไทย) โกนหัวนุ่งขาวห่มขาว อาศัยภิกขาจารเลี้ยงชีพ รักษาศีล ๘ เป็นนิจ มักเที่ยวอาศัยอยู่ตามศาลา Zayat ในวัด

๓. เมสิละ เป็นหญิง (รูปชี) สมาทานศีลเหมือนกันกับปะขาว โกนหัวนุ่งผ้ากาสา แต่มีเสื้อใส่ชั้นใน มักอยู่รวมกันเป็นแห่งๆ และรับสอนหนังสือเด็กด้วย

วันอังคารที่ ๒๘ มกราคม วันนี้เวลา ๑๑ นาฬิกาจะต้องไปช่วยงานพิธีศราทธพรตที่ทำถวายพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ เช้าขึ้นจึงเป็นแต่ไปเที่ยวฉายรูปสักประเดี๋ยวแล้วกลับที่พัก ก็พอเหมาะดี ด้วยหม่อมเจ้า “เตตตินปยู” Tait Tin Pyu (พวกเราเรียกกันต่อมาตามสะดวกปากว่า “เจ้าผิว”) ซึ่งเจ้าเมืองมัณฑเลรับว่าจะให้มาเป็นผู้ชี้แจงธรรมเนียมเก่า มาหาเช้าวันนี้ เธอไม่อยู่ต้องไปเที่ยวตามตัวกันจึงมาช้าวันไป เธอบอกว่าพอได้รับคำสั่งก็มาหาแต่เมื่อบ่ายวานนี้ แต่ฉันไม่อยู่จึงมิได้พบ มีเวลาได้นั่งพูดกันกว่าชั่วโมง เธอเล่าเรื่องประวัติของเธอให้ฟังน่าสงสาร ว่าเธอเป็นลูกพระองค์เจ้าเมฆระราชบุตรของพระเจ้ามินดง (องค์ที่พาพระราชบิดาหนีพวกขบถมาจากพลับพลาได้) เมื่อพระเจ้ามินดงใกล้จะสวรรคตเธอถูกเขาจับด้วยกันกับเสด็จพ่อและพี่น้อง เขาเอาเสด็จพ่อไปขังไว้แห่งหนึ่งต่างหากที่ในวัง แต่ตัวเธอเวลานั้นอายุเพียง ๕ ขวบเขาให้ไปอยู่ที่ตำหนักคุณย่า แต่เขาควบคุมที่ตำหนักกวดขัน มีคนชักดาบถืออยู่ที่ประตู ขู่ว่าถ้าใครออกมาจะฟันเสียให้ตาย ก็พากันกลัวตัวงออยู่แต่ในตำหนักนั้น แล้วเขามาจับคุณย่าไปเพราะเคยเป็นอริกับพระนางอเลนันดอมาแต่ก่อน พอพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้วเขาก็ฆ่าเสียทั้งเสด็จพ่อและคุณย่า แต่ตัวเธอนั้นพระเจ้าสีป่อตรัสขอชีวิตไว้ด้วยกันกับเจ้านายที่ยังเป็นเด็กจึงรอดมาได้ เธอว่าพระเจ้าสีป่อนั้นไม่ได้เป็นอันธพาลอย่างฝรั่งว่า ถึงราชินีสุปยาลัตก็ร้ายแต่ในเรื่องหึงหวง นอกจากนั้นก็ใจดี แต่เวลานั้นพระเจ้าสีป่อพระชันษาเพียง ๒๐ ราชินีสุปยาลัตก็เพียง ๑๘ ปี ทั้งเพิ่งแรกเสวยราชย์ ไม่สามารถจะขัดพวกผู้ใหญ่ในราชการได้ พระนางอเลนันดอนั่นแหละเป็นตัวการในเรื่องที่ฆ่าเจ้านาย ตัวเธอรอดมาได้ในคราวนั้นแล้วต่อมาเมื่อพะม่าจะเกิดรบกับอังกฤษก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่ง เอาไปขังไว้ในวังด้วยกันกับเจ้านายผู้ชายที่ยังเหลืออยู่ เพราะเขาไม่ไว้ใจเจ้านายเกรงจะเป็นขบถ ต้องถูกขังอยู่จนเสียบ้านเมืองแล้วอังกฤษปล่อยจึงหลุดออกมาได้ แต่ก็ยังไม่สิ้นเคราะห์กรรม ด้วยต่อมาเมื่อเกิดจลาจลขึ้นในปีหลัง อังกฤษสงสัยว่ามีเจ้านายไปส่งเสริมพวกผู้ร้าย จึงสั่งให้กวาดเจ้านายไปเสียจากเมืองมัณฑเล เจ้านายผู้หญิงให้ไปอยู่เมืองร่างกุ้ง แต่เจ้านายผู้ชายส่งไปไว้อินเดียหมด เวลานั้นตัวเธออายุได้ ๑๓ ปี และมีเจ้านายอีกหลายองค์ที่กำลังรุ่นหนุ่ม รัฐบาลอังกฤษให้ส่งไปเข้าโรงเรียนในอินเดีย ตัวเธอเองเรียนอยู่ที่เมืองอะมะดะบัดหลายปี จนเมืองพะม่าเรียบร้อยราบคาบแล้วเขาจึงอนุญาตให้กลับบ้านเมือง เมื่อแรกมาถึงเขาถามว่าจะพอใจรับราชการกับอังกฤษหรือไม่ เธอก็ยอมสมัครด้วยยากจนไม่มีทางอื่นที่จะหาเลี้ยงชีพ ก็ได้รับราชการอยู่ในรัฐบาลอังกฤษมาจนอายุถึงกำหนดปลดชราจึงออกรับเบี้ยบำนาญ แต่รัฐบาลยังขอแรงให้เป็นพนักงานสื่อสาส์นในการที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายพะม่าอยู่บ้าง เวลานี้อายุเธอได้ ๖๒ ปี เมื่อเล่าประวัติของเธอให้ฟังแล้วเห็นจะอยากรู้ว่าตัวฉันเป็นเจ้านายชั้นไหนในเมืองไทย จะถามตรงๆ ก็เกรงใจ จึงใช้อุบายถามว่าเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า พระเจ้ามินดงได้แต่งทูตเข้าไปเมืองไทยครั้งหนึ่งจริงหรืออย่างไร ฉันตอบว่าเป็นความจริง ทูตพะม่าเคยเข้าไป (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙) ในสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันทรงครองราชสมบัติ เธอได้ฟังเท่านั้นก็พอใจ ออกปากแสดงความเคารพมาทันทีว่าขอให้ฉันนึกว่าเธอเป็นหลานเถิด ฉันถามถึงราชบุตรและราชธิดาของพระเจ้ามินดงว่ายังเหลืออยู่สักกี่พระองค์ด้วยกัน เธอบอกว่าพระองค์ชายยังเหลืออยู่องค์เดียว แต่พระองค์หญิงยังเหลืออยู่ ๓ องค์ อยู่ที่เมืองมัณฑเล แต่พระองค์ชายกับพระองค์หญิงองค์หนึ่งซึ่งเป็นชายา ถ้าฉันให้มาหาก็เห็นจะยินดีทั้ง ๒ องค์ ฉันตอบว่าถ้าฉันได้พบก็จะยินดีเหมือนกัน เธอว่าจะไปทูลให้ทราบ ฉันจึงนัดให้มาเสวยเวลาค่ำกับฉันในวันนั้นทั้งตัวเธอเองด้วย เจ้าผิวถามต่อไปถึงความประสงค์ของฉันที่จะให้เธอทำอย่างไรบ้าง ฉันตอบว่าอยากจะเห็นรูปต่างๆ ที่ฉายเมื่อสมัยยังมีพระเจ้าแผ่นดิน เธอรับจะไปหามาให้ดู พูดกันอยู่จวนเวลางานพิธีศราทธพรต เธอจึงลาไป (ถึงตอนบ่ายเจ้าผิวกลับมาบอกว่าเจ้านายลูกเธอของพระเจ้ามินดงยินดีจะมาหาตามกำหนดเวลาทั้ง ๒ พระองค์)

เวลา ๑๐ นาฬิกาเศษ ไปช่วยงานพิธีศราทธพรตที่วัดเซ็นต์มารี เป็นวัดนิกายอังกฤษอยู่ไม่ห่างที่พักนัก การที่ไปงานพิธีนี้มีความลำบากแก่เราอยู่บ้าง ด้วยเป็นงานเต็มยศของเขา พวกข้าราชการเขาแต่งเครื่องแบบติดอิสริยาภรณ์ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พวกเรามีแต่เครื่องแต่งตัวสำหรับเดินทาง จึงต้องบอกขออภัยไว้ก่อน เขาก็เห็นอกตอบมาว่าจะใช้เครื่องแต่งตัวอย่างไรก็ได้ ฉันจึงเลือกเสื้อที่สีคล้ายใกล้กับดำเอาแถบแพรดำพันแขนไว้ทุกข์ ส่วนเจ้าหญิงก็หาซื้อแถบแพรดำมาติดเครื่องแต่งตัวพอเป็นเครื่องหมายไว้ทุกข์แล้วไปด้วยกันทั้งหมด วัดที่ทำพิธีนั้นโรงสวดย่อมขนาดประมาณสักเท่าโบสถ์วัดนิเวศนธรรมประวัติที่เกาะบางปะอิน เขาจัดให้พวกเรานั่งเก้าอี้แถวหน้าอันเป็นที่นั่งของผู้บัญชาการมณฑลโดยปกติ ผู้บัญชาการมณฑลถอยลงไปนั่งแถวหลังถัดลงไป มีคนไปมากจนที่ไม่พอนั่งในโรงสวด ถึงต้องยืนหลามออกไปจนข้างนอก แต่มิใคร่เห็นมีพะม่า จะเป็นด้วยพะม่ายังถือคติว่าไม่ควรจะเข้าไปช่วยเหลือลัทธิศาสนาอื่นหรืออย่างไรหาทราบไม่

สังเกตดูเครื่องแต่งตัวของฝรั่งที่ไปในงานนั้น ที่เป็นข้าราชการแต่งเครื่องแบบเต็มยศขาวหรือสีกากีทุกคน ที่มิได้เป็นข้าราชการน้อยคนที่จะแต่งตัวตามแบบงานพิธีกลางวัน เช่นใส่เสื้อฟร๊อกโค๊ตหรือมอร์นิ่งโค๊ต ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างปกติเป็นแต่เอาผ้าดำพันแขนไว้ทุกข์ เครื่องแต่งตัวผู้หญิงก็มีน้อยคนที่จะแต่งดำไว้ทุกข์ทั้งชุด เป็นแต่แก้ไขเครื่องแต่งตัวพอเป็นกิริยาไว้ทุกข์โดยมาก เครื่องแต่งตัวของพวกเราที่แต่งไปวันนั้นจึงไม่แปลกตาเหมือนอย่างวิตกอยู่แต่ก่อน ได้ยินว่าที่เมืองร่างกุ้งก็เป็นทำนองเดียวกัน เพราะในเมืองพะม่านานๆ จะมีพิธีรีตองที่เป็นงานใหญ่สักครั้งหนึ่ง จึงมิใคร่มีใครทำเครื่องแต่งตัวสำหรับใส่ไปในงานเช่นนั้นไว้ พวกกงซุลต่างประเทศต้องตัดเสื้อใหม่สำหรับใส่ไปงานพิธีศราทธพรตครั้งนี้ก็มี ส่วนพนักงานทำการพิธีนั้น มีพวกร้องเพลงสวด Choir กับคนดีดหีบเพลงลม Organ เตรียมอยู่ในโรงสวด พอได้เวลาก็มีคนถือไม้กางเขนคันยาวกับบริวารแห่นำพระเดินเป็นกระบวนออกมาจากห้องข้างโรงสวด มารวมกันอยู่บนยกพื้นตอนหน้าฐานชุกชี Altar แล้วเริ่มยืนสวดประสานเสียงเข้ากับหีบเพลงลม ที่ตรงหน้าเก้าอี้คนไปช่วยงานก็มีสมุดคำสวดวางไว้ทุกแถว และมีป้ายติดฝาบอกไว้ให้เห็นว่าจะเลือกสวดบทนั้นๆ เป็นลำดับกันตามที่เลขในสมุด เมื่อตั้งต้นสวดผู้ที่ไปช่วยงานก็ช่วยสวดตามไปด้วยสวดบทต่างๆ ไปพักหนึ่งแล้วพระอธิการก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เทศน์จบแล้วก็สวดพร้อมกันต่อไปอีกพักหนึ่ง เมื่อหมดกระบวรสวดแล้วแตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน Last Post ข้างหน้าโบสถ์ พวกที่ไปในงานยืนนิ่งนึกอนุสรณ์อยู่ตลอดเวลา ๒ นาฑีหมดทุกคน เป็นเสร็จพิธีส่วนศราทธพรต แล้วพร้อมกันร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ God Save the King ถวายพรแก่พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๘ เป็นที่สุด จบเพลงกระบวนพระก็กลับเข้าห้องเป็นเสร็จงาน รวมเวลาที่ทำพิธีสัก ๔๕ นาฑี ฉันเขียนพรรณนาตอนนี้นึกถึงหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) แกแต่งรายงานเล่าถึงการพิธีต่างๆ ที่ได้ไปเห็น ณ เมืองลอนดอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ พรรณนาดีไม่มีตัวสู้ ถ้าหม่อมราโชทัยพรรณนางานศราทธพรตที่ว่ามาจะน่าอ่านดีกว่าฉันแต่งมาก

ถึงตอนบ่ายผู้บัญชาการมณฑลกับภรรยามาส่ง ณ ที่พัก ด้วยฉันจะออกจากเมืองมัณฑเลพรุ่งนี้ เมื่อเขากลับไปแล้วฉันเขียนจดหมายขอบคุณรัฐบาลและแสดงความพอใจในการรับรองที่เมืองมัณฑเลเข้าผนึกกับการ์ดลา พอเวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกาขึ้นรถไปส่งจดหมายนั้นที่จวนผู้บัญชาการมณฑล แล้วไปส่งการ์ดลาที่บ้านเจ้าเมือง ออกจากนั้นไปดูวัดนางพระยา (ซึ่งได้พรรณนามาแล้ว) อยู่ริมถนนที่จะลงไปท่าเรือ เล่ากันว่าวัดนางพระยานั้น ราชินีสุปยาลัตสร้างพอเสร็จยังไม่ทันฉลองก็เสียบ้านเมือง เมื่ออังกฤษพาพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตไปลงเรือต้องผ่านวัดไป ราชินีสุปยาลัตอุตส่าห์หลั่งสิโนทกถวายวัดเป็นพุทธบูชาในเวลาเมื่อผ่านไปนั้น อีกนัยหนึ่งว่าเมื่อผ่านวัดน้ำพระเนตรไหลราวกับหลั่งสิโนทก จะอย่างไรก็ตามพอคิดเห็นได้ว่าเมื่อผ่านวัดคงเกิดโทมนัสอาลัย “ใจแทบขาด” น่าสงสาร ยังมีกรณีที่น่าสงสารในวันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ที่ได้เห็นเองเขาเขียนเล่าไว้ ว่าเมื่ออังกฤษพาพระเจ้าสีป่อลงจากพระราชมณเฑียรดำเนินมา พอถึงประตูวังตรัสขอหยุดสักประเดี๋ยว หันพระองค์ไปยืนนิ่งทอดพระเนตรดูปราสาทราชมณเฑียรสักครู่หนึ่ง แล้วหันกลับไปบอกว่า “ไปเถิด” มิได้แสดงอาการโศกศัลย์รันทดอย่างใดให้ปรากฏ พิเคราะห์เข้ากับบททศกรรฐ์สั่งเมืองในเรื่องรามเกียรติ์ว่า

“ครั้นออกมานอกทวารวัง                   เหลียวหลังดูนิเวศน์ของยักษา

เสมอเหมือนเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า             อสุราเพ่งพิศคิดอาลัย

โอ้เสียดายปรางค์มาศปราสาทศรี          ตั้งแต่นี้มิได้มาอาศัย

สงสารเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน              จะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจจาบัลย์”

แต่น่าชมขัตติยมานะของพระเจ้าสีป่อที่มิได้แสดงกิริยาอาลัยให้ผู้อื่นดูหมิ่นได้ ออกจากวัดนางพระยาให้ขับรถเลยไปดูท่าเรือ อยู่ห่างเมืองมัณฑเลกว่า ๑๐๐ เส้น สองข้างทางตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นที่อยู่ของพวกจีน มีบ้านเรือนและโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้ขนาดย่อมๆ รายกันไป เห็นคันกั้นน้ำที่พระเจ้ามินดงสร้างไว้ ก่อด้วยก้อนศิลาอย่างมั่นคงถึง ๒ ชั้น พอแลเห็นท่าเรือก็เข้าใจว่าเหตุใดผู้บัญชาการมณฑลกับภรรยาจึงได้มาส่งเพียงที่พัก เพราะทางที่จะลงไปถึงเรืออยู่ข้างลำบาก เมื่อไปถึงที่สุดทางรถยนต์แล้วจะต้องลงเดินไต่ตลิ่งลงไปหลายวา แล้วยังต้องลุยฝุ่นข้ามหาดไปอีกตอนหนึ่งจึงจะถึงที่ท่าเรือจอด ดูท่าเรือแล้วกลับมาถึงที่พักพอใกล้ค่ำ

พอเวลาล่วง ๑๙ นาฬิกา ราชบุตรกับราชธิดาของพระเจ้ามินดงกับเจ้าผิวก็มาถึง ฉันแต่งตัวนุ่งผ้าอย่างไทยรับ ฝ่ายข้างเธอก็แต่งพระองค์อย่างเจ้าพะม่ามาหาพอเหมาะกัน พระองค์ชายทรงนามตามชื่อเมืองส่วยของเธอว่า “ปยินมานะ” Pyinmana (พวกเราเรียกกันตามสะดวกปากว่า “พระองคปิ่น”) ชนมายุ ได้ ๖๔ ปี เจ้าผิวเล่าเรื่องประวัติให้ฟังแต่ตอนเช้า ว่าเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตนั้นพระชันษาได้ ๗ ขวบ ถูกจับด้วยกันกับเจ้าผิวทั้ง ๒ ครั้งและรอดมาได้อย่างเดียวกัน แล้วถูกส่งไปอินเดียด้วยกัน แต่เขาส่งพระองค์ปิ่นไปเข้าโรงเรียนของกรมป่าไม้ที่เมืองดาระดูน ได้กลับมาบ้านเมืองพร้อมกัน แต่พระองค์ปิ่นไม่สมัครทำราชการ เพราะเป็นพระองค์เจ้าได้เงินเลี้ยงชีพพอใช้สอย จึงอยู่เป็นอิสสระมาจนบัดนี้ เมื่อฉันกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งได้ถามเลขานุการของรัฐบาล ว่ารัฐบาลเลี้ยงดูเจ้าพะม่าอย่างไร เขาบอกว่าเจ้านายชั้นลูกเธอพระเจ้าแผ่นดินได้เงินเลี้ยงชีพ (รวมทั้งเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าบ้าน) องค์หนึ่งในระหว่างเดือนละ ๑,๒๐๐ จน ๑๕๐๐ รูปี หม่อมเจ้าองค์ละ ๑๕๐ รูปี แต่พวกหม่อมเจ้าที่ไม่ทำการงานมักยากจนด้วยไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ ได้เงินเท่าใดก็ใช้สุรุ่ยสุร่ายเสียหมด พระองค์หญิงนั้นทรงนามว่า “ตะรังงา” Htayanga (เราเรียกกันว่า “พระองค์หญิงดารา”) ชนมายุได้ ๖๒ ปี สังเกตดูทั้ง ๒ องค์รูปโฉมและกิริยามารยาทสมควรเป็นเจ้าเป็นนาย ไม่น่ารังเกียจ แต่การสนทนากันออกจะลำบาก ด้วยพระองค์หญิงดาราตรัสได้แต่ภาษาพะม่า ฉันต้องวานเจ้าผิวเป็นล่าม พระองค์ปิ่นกับเจ้าผิวพูดภาษาอังกฤษได้ก็เผอิญกรรณตึงทั้ง ๒ องค์ ซ้ำฉันเองก็หูตึงด้วย สนทนาตะโกนกันก้อง คนอื่นที่อยู่ด้วยคงเห็นขันหากเกรงใจจึงต้องกลั้นหัวเราะ การเลี้ยงเจ้านายพะม่าวันนั้นกุ๊กปอลคงเห็นเป็นการสำคัญ ทำเครื่องเลี้ยงอย่างสิ้นฝีมือไม่ขายหน้า เรื่องสนทนากันในเวลาเลี้ยงจะเล่าแต่ที่แปลก พระองค์หญิงดาราตรัสบอกว่าเธอเป็นเชื้อไทย ด้วยสกุลจอมมารดาของเธอเป็นไทย ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าต้นสกุลเป็นเจ้าชาย (ถูกกวาด) ไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังเยาว์ ถ้าเช่นนั้นคิดตามเวลาพระองค์หญิงดาราก็คงเป็นชั้น ๔ หรือชั้น ๕ ต่อมาจากต้นสกุล ฉันถามเธอถึงข้างในพระราชวัง ว่าตามแผนผังเห็นปลูกตำหนักรักษาใกล้ชิดติดๆ กันไปเต็มบริเวณ พวกชาววังอยู่ไม่ยัดเยียดกันหรือ เธอตอบว่าอยู่ในวังสบายดีไม่มีลำบากอย่างไร มีถนนหนทาง ระหว่างตำหนักและมีที่ไปเที่ยวเล่นเป็นสุขสบาย ฟังเธอว่านึกขึ้นถึงเวลาฉันเองอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อยังเด็ก ก็เห็นใหญ่โตสนุกสนานราวกับเป็นเมืองอันหนึ่ง ต่อเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเข้าไปในวังจึงเห็นว่าคับแคบ แต่เจ้านายพระองค์หญิงและผู้หญิงชาววังอยู่ในวังกันเป็นนิจดูก็สบายดี ทางเมืองพะม่าก็จะเป็นทำนองเดียวกัน พระองค์ปิ่นเธอทราบจากเจ้าผิวแล้วว่าฉันเป็นเจ้านายชั้นไหน ทำนองจะอยากรู้ต่อไปว่าเธอกับฉันใครจะเป็น “อาวุโส” ถามถึงอายุฉัน เมื่อฉันบอกว่า ๗๔ ปี เธอสะดุ้งออกโอษฐ์ดัง “อือ” แล้วหันไปบอกพระองค์หญิงดารา บางทีจะเห็นว่าแก่ถึงเพียงนั้นแล้วยังซุกซนไปเที่ยวเตร่ถึงเมืองไกล ประหลาดอยู่ที่เธอเอาพระทัยใส่ด้วยเรื่องเมืองไทยมาก ตรัส (เหมือนกับพวกพะม่าที่เป็นชั้นผู้ดีชอบพูด) ว่าพะม่าพากันชมไทยอยู่เสมอที่สามารถทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและรักษาอิสสรภาพมาได้ แล้วตรัสต่อไปว่าแต่ก่อนมาไทยจะเอาแบบอย่างอะไรของพะม่าไปใช้บ้างเธอก็ไม่ทราบ แต่ถึงเอาไปก็ไม่มากเท่าที่พะม่าเอาแบบอย่างของไทยมาใช้ เป็นต้นว่าเครื่องดนตรี กระบวรฟ้อนรำ การเล่นตลอดจนลวดลายกระบวรช่าง พะม่าเอาแบบของไทยไปใช้มาก อะไรเรียกว่า “แบบโยเดีย” แล้วดูเป็นนิยมกันว่าดีทั้งนั้น ฉันสังเกตในเวลาสนทนากันดูเธอไม่ชอบให้พูดเรื่องเหตุการณ์เมืองพะม่าเมื่อชั้นหลัง ยกตัวอย่างดังมีหนังสือแต่งเรื่องเมืองพะม่าเมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ เพิ่งพิมพ์ใหม่เรื่องหนึ่ง เรียกว่า “แลคเคอ เลดี้” Lacquer Lady (ถ้าแปลตรงตามศัพท์ว่า “นารีลงรัก”) กำลังคนชอบอ่านกันที่เมืองร่างกุ้ง แต่ฉันยังไม่ได้ซื้อ ไปพูดขึ้นถึงเรื่องหนังสือนั้น เธอห้ามว่าไม่ควรจะซื้อให้เปลืองเงิน เพราะแต่งเอาแต่ความเท็จโพนทะนาใส่ร้ายราชวงศ์พะม่าทั้งเรื่อง เจ้าผิวก็ช่วยห้ามปราม คิดดูก็น่าชมเจ้านายสองสามองค์นี้ ถึงตกยากแล้วก็ยังพยายามรักษาเกียรติยศของบรรพบุรุษ ก็แต่ฝ่ายเราเป็นคนภายนอกปรารถนาหาแต่ความรู้ จะฟังห้ามไม่ได้อยู่เอง เมื่อเลี้ยงกันแล้วออกไปนั่งดูรูปต่างๆ ที่เธอเอามาให้ดู เจ้าผิวได้รูปฉายพระเจ้าสีป่อกับราชินิสุปยาลัตทรงเครื่องต้นมาให้ฉันรูปหนึ่ง สมุดรูปที่เอามาให้ดูนั้นเห็นจะเป็นของพระองค์หญิงดาราด้วยเป็นรูปนางในทั้งนั้น เธอเป็นผู้ชี้บอกให้ทราบว่าเป็นรูปใครต่อใคร มีตั้งแต่รูปพระนางอเลนันดอ รูปเจ้านายราชธิดาและเจ้าจอมของพระเจ้ามินดง ตลอดจนรูปผู้หญิงลูกฝรั่งที่เข้าไปถวายตัวเป็นนางกำนัลของราชินีสุปยาลัต แต่งตัวเป็นพะม่าหน้าเป็นฝรั่งพอสังเกตได้ ฉันเอารูปฉายตัวฉัน (มีแต่รูปเก่าๆ ฉายมากว่า ๖ ปี) มาถวายให้เธอเลือกเอาไว้เป็นที่ระลึก องค์อื่นเลือกเอารูปที่แต่งตัวเต็มยศ แต่พระองค์ปิ่นเอารูปมาถือเทียบกับตัวฉันทุกอย่าง จะเลือกเอาที่เหมือนเป็นสำคัญ ไปชอบรูปที่ฉาย ณ เมืองลอนดอน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่จริงก็เป็นรูปฉายทีหลังเพื่อนด้วย ดูรูปและสนทนากันอยู่จนเลย ๒๐ นาฬิกาเธอจึงลาไป ฉันบอกว่าเมื่อไปลงเรือจะไปแวะเยี่ยมตอบที่วัง และนัดเจ้าผิวให้มาแต่เช้าเพื่อจะไปดูราชมณเฑียรด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง จะให้เธอพาดูลายจำหลักที่พะม่าเรียกว่า “แบบโยเดีย” ให้เห็นว่าเป็นอย่างไรด้วย

วันพุธที่ ๒๙ มกราคม เวลาเช้า เจ้าผิวพา (หม่อมราชวงศ์) หลานมาหาอีกคนหนึ่ง ยังเป็นหนุ่มพูดภาษาอังกฤษคล่อง ฉันถามเจ้าผิวว่าตามประเพณีพะม่าราชวงศ์มียศเป็นเจ้าลงมากี่ชั้น เธอบอกว่า ๓ ชั้น (คือนับหม่อมราชวงศ์เป็นเจ้าด้วย) ดูก็น่าจะเหมือนกับประเพณีไทยแต่โบราณ เพราะหม่อมราชนิกูล เช่นหม่อมเทวาธิราช หม่อมราโชทัย ในกฎหมาย (ทำเนียบศักดินา) เรียกว่า “เจ้า” ทั้งนั้น แต่ดูเหมือนจะต้องทรงตั้ง เหมือนกับเป็น “หม่อมเจ้าตั้ง” พอเวลา ๘ นาฬิกาเศษก็ขึ้นรถออกจากที่พักเข้าไปที่พระราชวัง เที่ยวเดินดูปราสาทราชมณเฑียรกับเจ้าผิวอีกครั้งหนึ่ง เธอบ่นเรื่อยไปว่าปราสาทราชมณเฑียรแต่เดิมเป็นของทำโดยประณีตบรรจง ทัพสัมภาระเช่นไม้ที่เอามาใช้ก็เลือกสรรแต่ที่ดี เป็นต้นว่าไม้ปูพื้นแต่ละหลังล้วนเป็นกะดานหน้าใหญ่เท่ากันหมด ที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแต่ซ่อมแซมรักษาพอให้คงเป็นรูปร่างอย่างเดิมเท่านั้น เธอพาขึ้นไปชี้ลายจำหลักอย่างที่เรียกว่า “แบบโยเดีย” ให้ดู คือ (ลายไม้เครือ) ที่ชอบจำหลักเป็นสาหร่ายตามขอบพระทวารเป็นต้น ว่ายังมีอย่างอื่นอีก แต่ดูเธอก็ไม่จะชำนาญการช่างนักจึงไม่ได้ค้นหาต่อไป ออกจากพระราชวังไปยังวังพระองค์ปิ่น อยู่นอกเมืองทางฝ่ายตะวันตก เป็นอย่างบ้านคฤหบดีมีรั้วล้อมรอบ ตรงกลางสร้างตำหนักไม้สองชั้นแบบเรือนฝรั่งขนาดพออยู่ได้สบาย มีสวนดอกไม้รอบตำหนัก ต่อออกไปริมรั้วมีเรือนแถวของพวกข้าไทยอยู่ในลานวัง เธอเตรียมรับอย่างเต็มประดา เรียกลูกหลานทั้งชายหญิงมารับด้วยหลายองค์ จัดที่ประชุมกันในห้องรับแขก มีของว่างเลี้ยงด้วย พบกันเป็นครั้งที่ ๒ ดูสนิทสนมยิ่งขึ้น เธอถามฉันว่าเคยมีดาบพะม่าแล้วหรือยัง ฉันตอบว่ายังไม่เคยมี เธอขึ้นไปบนตำหนักเอาดาบลงมาให้ฉันเล่มหนึ่ง อวดว่าดาบเล่มนั้นคมนัก แม้เอาเส้นผมห้อยฟันเส้นผมก็ขาด ขอให้รับมาเป็นที่ระลึก ฉันขอบพระทัยรับด้วยความยินดี แล้วเธอไปเลือกเก็บดอกไม้ที่ในสวนมาให้เจ้าหญิง ก่อนจะลามาฉันชวนฉายรูปหมู่ และขอฉายรูปตำหนักมาเป็นที่ระลึกด้วย

ออกจากวังพระองค์ปิ่นตรงไปท่าเรือ ไปแลเห็นเมื่อเวลาเรือจวนจะออก ดูทางที่จะลงเรือยิ่งลำบากกว่าคาดไว้แต่ก่อนอีก ด้วยมีเกวียนบรรทุกสินค้ามากีดขวางอยู่เกะกะ ทั้งมีผู้คนพวกมารับส่งสินค้าและพวกกรรมกรที่คอยรับจ้างแบกหามและหาบขนพลุกพล่านชุลมุนไปทั่วทุกหนทุกแห่งตั้งแต่ที่จอดรถลงไปจนตลอดหาด ต้องเดินระวังหลีกเลี่ยงลงไป ถึงชายหาดแล้วยังต้องไต่สะพานกะดานทอดสองแผ่นลงในเรือชำสำหรับรับสินค้า เดินผ่านพ้นเรือนั้นไปจึงถึงกำปั่นไฟลำชื่อ “อัสสัม” Assam ที่พวกเราจะมา เจ้าผิวกับเจ้าหลานมีแก่ใจลงมาส่งถึงเรือแล้วจึงลากลับไป พอเวลาเที่ยงวันก็ออกเรือแล่นล่องแม่น้ำเอราวดีลงมาจากเมืองมัณฑเล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ