ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคต้น

วันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกา ขึ้นรถไฟออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองมัณฑเล วิธีเดินรถไฟในเมืองพะม่า “รถไปรษณีย์” Mail Train อันเป็นรถด่วนสำหรับรับคนโดยสารไปทางไกล เดินกลางคืนเหมือนอย่างรถไฟในอินเดีย เมื่อฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ รัฐบาลรับเป็นแขกเมือง ฉันเคยร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานผู้พา ว่าไปในรถไฟกลางคืนไม่ได้เห็นบ้านเห็นเมืองในระหว่างทาง ไปกลางวันไม่ได้หรือ เขาตอบว่าจะไปกลางวันก็ได้ แต่เกรงฉันจะรำคาญ ฉันขอลอง เขาจึงจัดให้เอารถที่ฉันไป ไปพ่วงกับรถไฟที่เดินกลางวันวันหนึ่ง ลองวันเดียวฉันก็เข็ด เพราะไปกลางวันพอแดดแข็งฝุ่นก็ฟุ้งสาดเข้ารถเปรอะเปื้อน ทำเอาเราขะมุกขะมอมไปทั้งตัว จนในปากก็ต้องเคี้ยวฝุ่นไปตลอดวัน ต้องกลับใจยอมไปกลางคืนอย่างแต่ก่อน เขาว่าเวลานั้นเป็นฤดูหนาวยังดีเสียอีกถ้า ถึงฤดูร้อนยังถูกไอแดดร้อนอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ในเมืองพะม่าก็เห็นจะเป็นเพราะเหตุทำนองนั้น คนโดยสารรถไฟไปทางไกลจึงชอบเดินทางกลางคืน ตัวรถที่พวกเราไปเป็นรถสะลูนหลังหนึ่งต่างหากไม่ปะปนกับคนอื่น ในรถตกแต่งเรียบร้อยสะอาดสะอ้านดี แต่กั้นห้องแปลกไปตามวิธีเดินทางในเมืองพะม่า คือมีครัวไฟกับห้องบ่าวอยู่ท้ายรถ ต่อมาถึงห้องตัวนายอยู่ได้ ๒ คนห้องหนึ่ง มีเตียงยาวหุ้มเบาะอยู่ริมฝาข้างละเตียงสำหรับใช้เป็นที่นั่งหรือที่นอนได้ทั้ง ๒ อย่าง และมีโต๊ะพับเก้าอี้ปลีกสำหรับนั่งกินอาหารด้วย ตอนกลางรถแบ่งเป็นที่ทางเดินซีกหนึ่ง กั้นเป็นห้องน้ำซีกหนึ่ง ต่อไปข้างหน้ามีห้องสำหรับตัวนายอยู่ได้ ๒ คนเหมือนอย่างที่พรรณนามาแล้วอีกห้องหนึ่ง พวกเราชั้นตัวนายไป ๕ คน เขาจัดให้เจ้าหญิงนอนเตียงประจำรถ ส่วนตัวฉันเขาเอาเตียงพับพื้นผ้าใบตั้งให้นอนขวางริมฝาข้างหัวรถ ด้วยรถไฟเมืองพะม่าไม่ทำทางเดินต่อกับรถอื่นข้างในรถเหมือนเช่นรถไฟไทยหรือรถไฟมะลายู พอรถออกพ้นสถานี บ๋อยของเราก็ขนม้วนที่นอนซึ่งเราเช่าจากบริษัททอมมัสกุ๊กมาคลี่ปู และเอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดตัวไปแขวนในห้องน้ำพร้อมเสร็จอย่างรวดเร็วไม่ต้องสั่ง เห็นได้ว่าวิธีเดินทางในเมืองพะม่าเคยกันจนเป็นแบบแผน จะกล่าวต่อไปถึงบ๋อยและกุ๊กที่เราหาได้ก็ดีหนักหนา เป็นแขกคริสตัง บ๋อยชื่อ จอน John กุ๊กชื่อ ปอล Paul พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง และเคยไปกับพวกท่องเที่ยวชำนาญทางที่เราจะไปคราวนี้ทั้ง ๒ คน ส่วนบ๋อยชำนาญการรับใช้และเลี้ยงดูตลอดจนอำนวยการขนของเวลาเดินทางไม่ต้องตักเตือน กุ๊กก็มีรสมือดีทำอะไรให้กินอร่อยเสมอ ไม่เลือกว่าในที่มีสะเบียงบริบูรณ์หรืออัตคัด พอคุ้นกันพวกเราก็ชอบทั้ง ๒ คน ฝ่ายเขาก็เห็นจะชอบพวกเรา เมื่อจะจากกันมาถึงบอกว่าถ้าเราจะไปเที่ยวอินเดียหรือทางไหนอีก เขาทั้ง ๒ เต็มใจจะไปตามด้วยความยินดี แต่รถไฟในเมืองพะม่ามีข้อเสียสำคัญอยู่อย่างหนึ่งด้วยทางไม่เรียบ เวลารถแล่นสะเทือนมาก แม้รถสะลูนที่เราไปเป็นอย่าง “โบคี” มีล้อแฝด เวลานอนก็ยังเขย่าขย้อนบางทีจนตัวลอยนอนหลับได้โดยยาก ถึงเจ้าหญิงพากันร้องทุกข์ว่าวันหน้าถ้าไม่จำเป็นขออย่าให้ไปรถไฟเมืองพะม่าเวลากลางคืนอีกเลย แม้ผู้ที่อยูในเมืองพะม่าก็มีบางคนติเตียนให้ฉันฟัง ว่ารถไฟในเมืองพะม่าเลวกว่ารถไฟประเทศอื่นทั้งนั้น บางทีจะมีเหตุในเรื่องประวัติของรถไฟเอง เดิมรถไฟสายนี้เป็นของรัฐบาล แล้วให้บริษัทรับผูกไปจัดการมาจนบัดนี้ อาจจะเป็นด้วยบริษัทไม่ลงทุนบำรุงทางให้พอแก่การ ทางจึงไม่เรียบ อย่างไรก็ดีได้ยินว่ารัฐบาลไม่พอใจในการที่บริษัททำ จะคืนเอารถไฟไปจัดการเองในไม่ช้านัก ถ้ารถไฟคืนไปอยู่ในมือรัฐบาล ก็เห็นจะแก้ไขให้พ้นเสื่อมทรามได้

รถไฟผ่านเมืองตองอูเวลาดึกเลยไม่ได้เห็นเมืองนั้น ฉันเคยคิดอยากไปเมืองตองอูอยู่แต่ก่อน ด้วยได้ยินว่ามีคลองสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขุดระบายน้ำออกจากคูเมืองเมื่อเสด็จไปตั้งล้อมจะจับพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง และคลองนั้นยังปรากฏอยู่ พะม่าเรียกว่า “คลองโยเดีย” เมื่อเตรียมตัวจะไปคราวนี้ฉันมีจดหมายไปถามพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อู อองเทียน) กรมป่าไม้ ซึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองตองอูเมื่อออกจากราชการไทยไปแล้ว ได้รับตอบมาว่าคลองโยเดียนั้นมีจริง แต่เดี๋ยวนี้ตื้นเต็มเป็นแผ่นดินเสียแล้ว ได้สืบถามพวกชาวเมืองตองอู มีแต่คนอายุตั้ง ๗๐ ปีที่ได้ทันเห็นคลองโยเดียเมื่อยังเป็นร่องรอยอยู่ ฉันได้ทราบเช่นนั้นก็ระงับความคิดที่จะไปเมืองตองอู แต่เมื่อขากลับจากเมืองพะม่าเหนือลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง เจ้าฉายเมืองเธอไปพาอาจารย์พะม่าคนหนึ่งชื่อ อู โป กยา U Po Kya ซึ่งเป็นผู้รู้โบราณคดีมาให้ฉันซักไซ้ไต่ถาม อาจารย์คนนั้นบอกว่าที่เมืองตองอูมีพระเจดีย์โยเดียของโบราณอยู่ ๒ องค์ พะม่าเรียกว่า “มยัต สอ นยินอง” แปลว่า “พระเจดีย์เจ้าพี่น้อง” แต่มารู้เมื่อเวลาล่วงโอกาสเสียแล้วก็ไม่ได้ไปดู

วันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม รถไฟแล่นเข้าเขตต์พะม่าเหนือตั้งแต่ดึก พอตื่นนอนมองดูทางช่องหน้าต่าง เห็นภูมิฐานสองข้างทางผิดไปเป็นอีกอย่างหนึ่งทีเดียว เขากล่าวไว้ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่าว่า เมืองพะม่าแผ่นดินผิดกันเป็น ๓ ภาค ภาคใต้ (ที่เคยเป็นแดนมอญ) เรียกว่า “เดลตา” Delta หมายความว่า “ที่แม่น้ำต่อทะเล” คือเดิมเป็นทะเลแล้วตื้นขึ้นจนเป็นแผ่นดิน เปรียบเหมือนท้องทุ่งแต่กรุงศรีอยุธยาลงมาตลอดกรุงเทพฯ จนถึงชายทะเล เป็นที่ราบเนื้อดินอุดม ได้ทั้งน้ำฝนน้ำท่าตามฤดูเหมาะแก่การทำนา ภาคกลาง (ที่เคยเป็นแดนพะม่า) เรียกว่า “ไดรโซน” Dry Zone แปลว่า “ตอนแห้งแล้ง” เป็นชายฝั่งทะเลแต่เดิม เปรียบเหมือนตั้งแต่บ้านพระแก้วขึ้นไปทางจังหวัดสระบุรี แต่ในเมืองพะม่าที่ตอนนี้ฝนตกน้อย มีเวลาแห้งแล้งมาก พาให้พื้นดินแห้งเกราะ ต้นไม้จึงมิใคร่ใหญ่โต แลดูภูเขาใกล้ทางรถไฟเห็นแต่หินมีพุ่มไม้เล็กๆ เกาะเรี่ยรายอยู่ทั้งนั้น ท้องที่ภาคนี้การทำไร่นาต้องอาศัยคลองชลประทาน ซึ่งขุดระบายน้ำมาแต่บนภูเขาใหญ่เป็นสำคัญ ประหลาดอยู่ที่คลองชลประทานในท้องที่ภาคนี้ปรากฏว่ามีมาแต่ครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์ครองกรุงพุกาม เกือบพันปีแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินพะม่าภายหลัง แม้ตลอดจนถึงเมื่อบ้านเมืองเป็นของอังกฤษแล้ว ก็ยังชุดคลองชลประทานที่ตำบลอื่นๆ ต่อมา เพราะราชธานีพะม่า เช่นเมืองพุกาม เมืองอังวะ และเมืองมัณฑเล ตั้งอยู่ในที่ตอนแห้งแล้งทั้งนั้น ภาคฝ่ายเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือ (อันเป็นเมืองพวกไทยใหญ่) ไปจนต่อแดนประเทศจึน พื้นที่เป็นแผ่นดินสูงอยู่บนภูเขา เปรียบเหมือนอย่างมณฑลนครราชสิมาและมณฑลพายัพ ฝนตกมากจึงเป็นแหล่งน้ำของเมืองพะม่า ทั้งที่ไหลลงมาทางแม่น้ำและคลองชลประทาน

เมื่อรถไฟใกล้จะถึงเมืองมัณฑเลผ่านเขตต์เมืองอมรบุระที่เป็นเนินหมู่หนึ่ง มีวัดเก่าสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด วัดพระพุทธรูปมหามัยมนีก็สร้างบนเนินหนึ่งในหมู่นี้ ดูไปจากทางรถไฟเห็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งแปลกหนักหนา ด้วยทำยอดสูงโดดดูราวกับตั้งเสากระโดงปักไว้บนพระเจดีย์ เห็นจะมีเช่นนี้แต่องค์เดียวในโลก น่าพิศวงว่าเพราะเหตุใดจึงสร้างอย่างนั้น คิดดูก็ไม่เห็นเหตุอื่น นอกจากจะสันนิษฐานว่าผู้สร้างคงบนบานปฏิญาณตนว่าจะสร้างพระเจดีย์ให้สูงถึงเท่านั้นๆ วา แต่เมื่อสร้างเข้าจริงไม่มีกำลังพอจะทำรูปทรงตามส่วนพระเจดีย์สามัญได้ จึงสร้างต่อขึ้นไปแต่ยอดพอให้สูงเท่าที่ปฏิญาณไว้ หรือเขาจะมีเหตุอื่นก็เป็นได้ แต่ดูเหมือนจะมีคนเลื่อมใสด้วยเห็นเปล่งปลั่งดีอยู่ รถไฟถึงสถานีเมืองมัณฑเลเวลาเที่ยงครึ่ง มิสเตอร์ คูเปอร์ ผู้บัญชาการมณฑล (อย่างสมุหเทศาภิบาล) Division Commissioner กับมิสเตอร์ วิลกี เจ้าเมืองมัณฑเล Deputy Commissioner of Mandalay มาคอยรับอยู่ พาขึ้นรถยนตไปส่งที่เรือนรับแขกของรัฐบาล อyนอยู่ริมถนนต่อคูเมืองทางด้านใต้ ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้ง ๒ คนนั้นบอกปวารณาว่าถ้าฉันมีความประสงค์จะให้เขาช่วยเหลืออย่างไร เมื่อใด ก็ขอให้บอกเขาให้ทราบ และบอกต่อไปว่า รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีเป็นพนักงานประจำนำฉันเที่ยวทั้งที่เมืองมัณฑเลและเมืองพุกาม และสั่งให้เขาบอกนักปราชญ์ฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ ดือ รอยเซลส์ ซึ่งเป็นเจ้ากรมตรวจโบราณคดีอยู่แต่ก่อนให้มาหาฉันด้วย ส่วนตัว มองซิเออร์ ดือ รอยเซลส์ ก็บอกแก่เขาว่าอยากพบฉันเหมีอฺนกัน ฉันจึงนัดให้มาหาในวันหลัง อีกประการหนึ่งเขาจะให้เจ้าพะม่าองค์หนึ่งซึ่งรู้ภาษาอังกฤษมาสำหรับให้ฉันไต่ถามขนบธรรมเนียมพะม่าด้วย อธิบายข้อหลังนี้เป็นเพราะในเมืองพะม่าถือกันว่าชาวเมืองพะม่าใต้ เช่นเมืองร่างกุ้ง มิใคร่รู้ราชประเพณีและขนบธรรมเนียมโบราณ เพราะเป็นแต่ชาวหัวเมือง ไม่เหมือนพวกชาวเมืองมัณฑเลซึ่งเป็นราชธานีมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์มาจนเมื่อ ๕๐ ปีนี้ คงเป็นด้วยเหตุที่ว่านี้ เมื่อเขารู้ว่าฉันชอบสืบถามโบราณคดี เขาจึงเลือกเจ้านายอันเคยอยู่ในราชสำนักให้มาเป็นผู้ชี้แจง ก็เป็นการดีน่าขอบใจหนักหนา และเลยเป็นเหตุให้ฉันได้รู้จักกับเจ้านายในราชวงศ์พะม่าต่อออกไปอีกหลายองค์

เมื่อผู้บัญชาการมณฑลกับเจ้าเมืองกลับไปแล้วสักครู่หนึ่ง ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีก็มาหา บอกความตามที่เขาได้รับคำสั่งให้ทราบ ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีชื่อ อู เงว ชิน U Gwe Zin เป็นมอญที่ฉันเคยอ้างเป็นตัวอย่างว่าพูดภาษามอญไม่ได้ คงเป็นเพราะเกิดหรือเข้าโรงเรียนในเมืองพะม่า ได้เรียนแต่ทางภาษาพะม่ากับภาษาอังกฤษแต่เด็ก เมื่อออกจากโรงเรียนก็เข้าทำราชการในกรมตรวจโบราณคดี ได้เป็นศิษย์ของมองซิเออร์ ดือรอยเซลส์ ศึกษาหาความรู้ในทางโบราณคดีมาโดยลำดับ จนมีความรู้และคุ้นเคยการงานในกรมนั้นยิ่งกว่าเพื่อนในเวลานื้ จึงได้เป็นผู้รั้งที่เจ้ากรมในเวลาตำแหน่งว่าง อายุดูจะไม่เกิน ๔๐ ปี มีอัธยาศัยเรียบร้อย พอคุ้นกันแล้วพวกเราเรียกแกแต่ว่า “อู” ตามสะดวกปาก อันคำพะม่าว่า “อู” นี้ดูคล้ายกับคำว่าท่านในภาษาไทย ฉันได้ยินอธิบายว่าธรรมเนียมเดิมเรียกว่า “อู” นำหน้าชื่อแต่ผู้ใหญ่ที่สูงอายุกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป ทั้งพระและคฤหัสถ์ แต่ชั้นหลังมาใช้นำหน้าชื่อผู้มีตำแหน่งในราชการด้วย แต่จะใช้โดยมีกำหนดยศข้าราชการชั้นไหน ฉันหาทราบไม่

เมื่อกะการเที่ยวเมืองมัณฑเล มีความลำบากอยู่ด้วยวัตถุสถาน ที่น่าดูมีมาก แต่เรามีเวลาอยู่เมืองมัณฑเลเพียง ๔ วัน พ้นวิสัยที่จะไปเที่ยวดูทั่วทุกแห่งได้ จึงเอา “หนังสือนำเที่ยว” เปิดปรึกษา อู เงว ชิน เลือกไปแต่ที่สำคัญอันเห็นจำเป็นจะต้องดู เริ่มเที่ยวแต่เวลาบ่ายในวันนั้น และวันหลังจะเที่ยวทั้งเช้าและบ่ายทุกวันไป

จะพรรณนาว่าด้วยเมืองมัณฑเล จำต้องเล่าเรื่องเมืองต่างๆ ที่อยู่ในหมู่เดียวกันให้ทราบเสียก่อน เพราะเป็นเมืองอันเคยเป็นราชธานีอยู่ใกล้ๆ กันอยู่ถึง ๔ เมือง คือ เมืองชัยบุระ พะม่าเรียกกันเป็นสามัญว่า “เมืองสะแคง” Sagaing ไทยเราเรียกว่า “เมืองจักกาย” เมือง ๑ เมืองรัตนบุระ เรียกกันเป็นสามัญว่า “เมืองอังวะ” เมือง ๑ เมืองอมรบุระเมือง ๑ และเมืองรัตนบุระ เรียกกันเป็นสามัญว่า “เมือง มัณฑเล” เมือง ๑ ชื่อที่เรียกกันเป็นสามัญคงเป็นชื่อเดิมของท้องที่ เช่นเดียวกัน กับ “บางกอก” เป็นชื่อเดิมของท้องที่ซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อนี้เห็นได้ที่เรียกเมืองมัณฑเลคงเป็นชื่อของภูเขาตรงนั้นมาแต่เดิม ทำเลที่ตั้งทั้ง ๔ เมืองที่ว่ามาอาจเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือเมืองสะแคงตั้งริมแม่น้ำเอราวดีทางฝั่งตะวันตกเหมือนอย่างเมืองธนบุรี เมืองอังวะตั้งทางฝั่งตะวันออกตรงกันข้ามกับเมืองสะแคงเหมือนอย่างที่พระนครฯ เมืองอมรบุระตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือเมืองอังวะขึ้นไปราวสักแค่วัดเขมาภิรตาราม เมืองมัณฑเลก็ตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือขึ้นไปอีกราวที่เมืองนนทบุรี แต่เมืองมัณฑเลตั้งห่างฝั่งแม่น้ำกว่าเพื่อน เวลามาในเรือเมื่อถึงเมืองสะแคงแลเห็นได้ทั้ง ๔ เมืองพร้อมกัน เพราะเหตุใดจึงตั้งเมืองราชธานีถึง ๔ เมืองติดต่อกันไปเช่นนั้น มีอธิบายในเรื่องพงศาวดารว่าตั้งแต่ราชวงศ์พระเจ้าอนุรุทธ์เสียเมืองพุกามแก่จีนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ เมืองพะม่าก็ยับเยินแยกกันออกไปเป็นหลายอาณาเขตต์ เป็นโอกาสให้พวกไทยทั้งไทยใหญ่ไทยน้อยไปยํ่ายีเมืองพะม่า ต่อมาในสมัยนั้นมีเจ้าไทยใหญ่องค์หนึ่ง พะม่าเรียกว่า “สอยุน” Sawyun (น่าจะมาแต่คำภาษาไทยว่า “เจ้ายวน”) ได้ครองอาณาเขตต์หนึ่ง จึงตั้งเมืองสะแคงเป็นราชธานีอยู่เพียง ๕๙ ปี เกิดเหตุด้วยเจ้านายฆ่าฟันกันขึ้นเอง เจ้าองค์ที่มีชัยชนะชื่อว่า “สะโดะมินพญา” Thado Min Bya จึงข้ามมาตั้งเมืองอังวะเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๗ เมืองอังวะแม้ต้องตกอยู่ในอำนาจศัตรูเป็นครั้งคราว ก็เคยเป็นราชธานีทั้งในสมัยเมื่อแยกกันกับมอญและสมัยเมื่อรวมเป็นอาณาเขตต์เดียวกัน เป็นเวลาเกือบ ๔๐๐ ปี นานกว่าเมืองอื่นทั้งสิ้น จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๖ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) พระเจ้าปะตุงในราชวงศ์อลองพระจึงสร้างเมืองอมรบุระขึ้นใหม่ แล้วย้ายราชธานีไปตั้ง ณ ที่นั้น แต่เมืองอมรบุระเป็นราชธานีอยู่เพียง ๗๖ ปี ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงก็สร้างเมืองมัณฑเลขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เมืองมัณฑเลเป็นราชธานีอยู่ได้เพียง ๒๘ ปี ก็เสียประเทศพะม่าแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ตำนานของราชธานีพะม่าทั้ง ๔ เมืองมีมาดังนี้ ได้ความรู้ขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง ว่าแต่ตั้งเมืองอังวะเป็นราชธานี พะม่าเรียกนามประเทศของตนว่า “กรุงอังวะ” และเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้าอังวะ” ทุกองค์ ถึงย้ายราชธานีไปตั้งที่อื่น จดหมายในราชการเช่นพระราชสาสนเป็นต้น ก็คงเรียกว่า “กรุงอังวะ” และ “พระเจ้าอังวะ” ตลอดมา ประหลาดที่เหมือนกับประเพณีไทยแต่ปางก่อน ในหนังสือราชการก็เรียกนามเมืองไทยว่า “กรุงศรีอยุธยา” และเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” สืบมาจนตลอดรัชชกาล ที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ถึงรัชชกาลที่ ๔ จึงเปลี่ยนเรียกว่า “กรุงสยาม” และ “พระเจ้ากรุงสยาม”

ลองพิจารณาหามูลเหตุที่ย้ายราชธานี ได้ความเป็นเค้าเงื่อนว่าเมืองสะแคงคับแคบ เพราะมืแม่น้ำอยู่ข้างหน้าและมีภูเขาอยู่ข้างหลัง ผู้คนพลเมืองมากขึ้นไม่มีที่จะขยายเมือง จึงย้ายราชธานีข้ามมาตั้งที่เมืองอังวะ อันเป็นที่ทำเลกว้างขวางและมีคลองทางคมนาคมกับเมืองอื่นสะดวก ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าปะตุงสามารถขยายราชอาณาเขตต์ออกไปได้มาก ถือว่าเป็นพระเจ้าราชาธิราช เห็น่ว่าตัวพระนครราชธานีที่สร้าง ณ เมือง อังวะเล็กนัก ไม่สมกับเป็นราชธานีของพระเจ้าราชาธิราชเช่นเมืองหงสาวดีแต่ปางก่อน จึงให้สร้างเมืองราชธานีใหม่ พิเคราะห์ดูแผนผังเห็นได้ว่าถ่ายแบบเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองมาสร้าง ขนานนามว่าเมืองอมรบุระ เหตุใดพระเจ้ามินดงจึงย้ายจากเมืองอมรบุระไปสร้างเมืองมัณฑเลเป็นราชธานี จะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกาในวันที่ ๒๕ นั้น ขึ้นรถยนต์ไปส่งการ์ดเยี่ยมตอบผู้บัญชาการมณฑลและเจ้าเมืองมัณฑเล แล้วให้ขับรถไปเที่ยวดูเมือง ลงไปทางข้างใต้ตามถนนสายกลางอันตั้งสำนักงานต่างๆ กับทั้งโรงเรียนและวัดวาของฝรั่ง จนสุดชานเมืองแล้วกลับย้อนขึ้นมาตามถนนอีกสายหนึ่งซึ่งเป็นทำเลการค้าขาย มืรถรางและตึกแถวทั้ง ๒ ข้างทาง เมื่อถึงบ้านอูเงวชินแวะให้ภรรยาเขาพบครู่หนึ่ง แล้วให้ขับรถ เที่ยวดูพระนครทางข้างนอกตลอดด้านไปจนถึงเชิงเขามัณฑเลอันเป็น ที่สุดซานเมืองทางข้างเหนือ หยุดรถลงเที่ยวเดินดูวัดหลวงซึ่งสร้างไว้ที่เชิงเขาจนจวนพลบจึงกลับ ขากลับคนขับรถพาผ่านมาทางข้างในพระนคร แต่ไม่ได้หยุดดูอะไรเพราะใกล้มืดอยู่แล้ว เมื่อมาถึงที่พักได้รับจดหมายภรรยาผู้บัญชาการมณฑลเชิญพวกเราเลี้ยงน้ำชาวันที่ ๒๖ และได้รับจดหมายของผู้บัญชาการมณฑลบอกมาให้ทราบในทางราชการ (เข้าใจว่าตามคำสั่งของรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้ง) ว่าจะทำพิธีศราทธพรตถวายพระเจ้ายอร์ซที่ ๕ ณ วัดเซนต์มารี วันที่ ๒๘ เวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา ได้จัดที่นั่งไว้สำหรับพวกเราแล้ว

การที่ไปเที่ยวดูเมืองมัณฑเลบ่ายวันนี้ต้องงดที่เที่ยวตามได้กะไว้แห่งหนึ่ง คือเลิกขึ้นยอดเขามัณฑเล เพราะเขานั้นสูงกว่า ๑๕๐ วา ทำทางขึ้นเป็นขั้นบันไดมีหลังคาตลอดทาง จะต้องเดินขึ้นบันไดแต่เชิงเขาหลายร้อยขั้นจึงจะถึงพระเจดีย์วิหารที่บนเขา คิดถึงอายุสังขารของฉันเห็นเหลือกำลังที่จะปีนให้ตลอดได้ ครั้นจะหาเก้าอี้นั่งให้คนหามขึ้นไป เมื่อรู้ว่าเจดียสถานต่างๆ อยู่บนยอดเขาเดี๋ยวนี้เป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้นก็เสื่อมศรัทธา จะเล่าแต่เรื่องตำนานตามที่ได้ยินมา ว่าแต่เดิมที่บนไหล่เขานั้นพระเจ้ามินดงให้สร้างวิหารมีพระพุทธรูปใหญ่กับรูปพระอานนท์แกะด้วยไม้ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปทำยืนชี้นิ้วพระหัตถ์ลงมาที่เมืองมัณฑเล สมมติเป็นปางตรัสพยากรณ์แก่พระอานนท์ แต่พระพุทธรูปกับรูปพระอานนท์และวิหารนั้นไฟไหม้เสียหมดแล้ว ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๔ รัฐบาลอินเดียได้พระบรมธาตุที่ขุดพบในคันธารราษฎร์ อันมีอักษรจารึกที่กรันตว่าเป็นของพระเจ้ากนิษกะมหาราชบรรจุไว้ในพระเจดีย์ (เมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐) ลอร์ดมินโต ไวสรอย ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์บอกให้ พระบรมธาตุนั้นแก่ประเทศพะม่า ผู้คนพลเมืองพากันยินดีแพร่หลาย มีมหาฤๅษีพะม่าเรียกว่า “ระเสคอี” Yathe Gyi ตนหนึ่งซื่อ “อู ขันตี” U Khanti ผู้ซึ่งคนนับถือมาก (ฤๅษีพะม่าเป็นอย่างไรจะมีอธิบายที่อื่นต่อไปข้างหน้า ฤๅษีตนที่ว่านี้เห็นจะนับถือกันทำนองเดียวกับพระศรีวิชัยในมณฑลพายัพ) รับเป็นหัวหน้าอำนวยการสร้างที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นบนยอดเขามัณฑเล เรี่ยไรได้เงินกว่า ๗๐๐,๐๐๐ รูปี เกินจำนวนเงินที่จำเป็นจะต้องใช้ในการสร้างพระธาตุมณเฑียร ก็ขยายความคิดสร้างวัตถุสถานต่างๆ เพิ่มเติม จนแลดูแต่ไกลเหมือนกับมีบ้านเมืองอยู่บนภูเขามัณฑเล ล้วนเป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้น

เรื่องตำนานการสร้างเมืองมัณฑเลมีอยู่ในหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือ Gazetteer of Upper Burma ที่รัฐบาลอังกฤษให้รวบรวมเรื่องพิมพ์ไว้ ว่าที่เมืองพะม่ามีหนังสือพยากรณ์ (เรียกว่า Theiksa เห็นจะตรงกับที่ไทยเราเรียก “ทักษา”) มาแต่โบราณ ในหนังสือนั้นอ้างว่ากาลครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ประทับพักอยู่ที่ยอดเขามัณฑเล มีนางยักขินีตนหนึ่งเลื่อมใสไปบูชาตามประสายักษ์ พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ (คือทรงยิ้ม) เป็นเหตุให้พระอานนท์ทูลถาม (ตามแบบตั้งต้นเรื่องพุทธพยากรณ์ต่างๆ) พระพุทธองค์จึงโปรดประทานอธิบายแก่พระอานนท์ ว่าที่ทำเลเขามัณฑเลนั้นเคยตั้งราชธานีมาแต่อดีตกาลหลายครั้ง ทั้งเมื่อในศาสนาพระพุทธกกุสันธ พระพุทธโกนาคมน์ และพระพุทธกัสสป แม้พระองค์เองเมื่อยังเสวยพระชาติเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ได้เคยมาอาศัยอยู่ที่เขามัณฑเลนั้น แล้วทรงพยากรณ์ต่อไปว่า เมื่อศาสนาของพระตถาคตล่วง ๒,๐๐๐ ปีแล้ว ก็จะมีพระมหากษัตริย์สมมตวงศ์เชื้อสายของนางยักขินีนั้นมาตั้งราชธานีที่เขามัณฑเลอีก คติที่อ้างพุทธพยากรณ์ต่างๆ เช่นกล่าวมาดูน่าจะเกิดขึ้นในเมืองลังกาก่อน แล้วจึงเอาอย่างมาแต่งขึ้นในประเทศเหล่านี้บ้าง แม้ในเมืองไทยเราก็มี ฉันเคยได้ยินผู้ใหญ่อ้างพุทธพยากรณ์แต่ยังเป็นเด็ก จำไว้ได้หน่อยหนึ่งว่า “สมมุกจะเป็นฝั่ง เกาะสีชังจะเป็นท่าเรือ” แต่เสาะหาหนังสือพุทธพยากรณ์จะใคร่อ่านทั้งเรื่องยังไม่พบ ส่วนตำนานการสร้างเมืองมัณฑเลที่เป็นเรื่องพงศาวดารนั้น ว่าเมื่อพระเจ้ามินดงยังเป็นน้องยาเธออยู่ในรัชชกาลพระเจ้าปะกันมิน (ไทยเรียก “พุกามแมง”) ทรงพระสุบินครั้งหนึ่งว่าได้ทอดพระเนตรเห็นนครใหญ่อยู่ที่เชิงเขามัณฑเล และต่อมาเมื่อเสวยราชย์แล้วทรงสุบินอีกครั้งหนึ่ง ว่าขึ้นทรงช้างเผือกและช้างนั้นพาไปถึงเชิงเขามัณฑเล เมื่อเสด็จลงจากหลังช้างมีสตรี ๒ คนชื่อ บา Ba คน ๑ ชื่อ มอ Maw คน ๑ มารับจูงพระกรเดินเคียงสองข้างพาขึ้นไปถึงยอดเขามัณฑเล ไปพบชายคน ๑ ชื่อ งะสิน Nga Sin เอาหญ้าหอมกำหนึ่งมาถวาย ทูลว่าหญ้ารอบเขามัณฑเลนั้นมีคุณนัก ถ้าเอาช้างม้าไปเลี้ยงได้กินหญ้าหอมจะเจริญกำลังมีอายุอยู่ได้ยั่งยืน ดังนี้ เผอิญเมื่อพระเจ้ามินดงได้ราชสมบัติ ทรงเลือกพระน้องนางของพระเจ้าปะกันมินเป็นอัครมเหสี และเลือกราชธิดาของพระเจ้าพะคยีดอ (ไทยเรียก “จักกายแมง”) ผู้เป็นพระปิตุลาเป็นมเหสี (คือ นาง “อเลนันดอ” Alenandaw ที่เป็นชนนีของพระนางสุปยาลัต) นางทั้งสองนั้นเกิดวันพฤหัสบดี อักษรนามเดิมร่วมวรรคเดียวกันกับนางบาและนางมอในพระสุบิน ก็เห็นสมด้วยพระสุบินนิมิตต์ ประกอบกับมีพุทธพยากรณ์ดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงเกิดพระประสงค์จะสร้างราชธานีใหม่ที่เชิงเขามัณฑเล พิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดาร เหตุอย่างอื่นที่เป็นปัจจัยให้สร้างเมืองมัณฑเลยังมีอีก แต่พะม่ามิได้ยกขึ้นอ้าง คือตั้งแต่พะม่ารบแพ้อังกฤษครั้งที่ ๒ พระเจ้าแผ่นดินพะม่าเกิดเสียพระจริตบ้าง ต้องถูกปลงจากราชบัลลังก์บ้าง ติดๆ กันถึง ๓ พระองค์ ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุให้คิดเห็นว่าเกิดอัปมงคลแก่ราชธานีเดิม แต่มูลเหตุที่สำคัญกว่าอย่างอื่นนั้นน่าจะเป็นด้วยเมื่อถึงสมัยรัชชกาลพระเจ้ามินดง เริ่มมีเรือกำปั่นไฟของฝรั่งขึ้นไปได้ถึงเมืองอังวะและอมรบุระ ก็เมืองทั้ง ๒ นั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเอราวดีทั้ง ๒ เมือง ฝรั่งอาจจะเอาปืนใหญ่ใส่เรือกำปั่นขึ้นไปยิงพระนครได้ จึงเห็นควรจะย้ายราชธานีไปตั้งให้ห่างพ้นทางปืนของศัตรู ข้อนี้น่าจะเป็นต้นเหตุ แต่พระเจ้ามินดงเกรงคนจะดูหมิ่นว่ากลัวฝรั่ง จึงเอาแต่พระสุบินนิมิตต์กับพุทธพยากรณ์ขึ้นอ้าง ตรัสสั่งให้อัครมหาเสนาบดีเชิญกระแสพระราชดำริไปปรึกษาพระมหาอุปราชและเจ้านายผู้ใหญ่กับทั้งเสนาบดีมนตรีมุขและพระราชาคณะโหรพราหมณ์ ก็เห็นชอบตามพระราชดำริโดยมาก เมื่อตกลงเป็นยุติแล้วให้ทำพิธีหา “สนิส” Sanis (เห็นจะตรงกับที่ไทยเรียกว่า “เสนียด” การทำพิธีนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือราชาธิราชหลายแห่ง แต่ไทยเรียกว่า “ชิมลาง”) คือแต่งราชบุรุษพวกละ ๔ คน ๕ คนให้สมาทานศีลเสียก่อน แล้วต่างพวกแยกกันไปในเวลากลางคืน ไปซุ่มคอยฟังคำชาวเมืองขับร้องหรือพูดจากันเองโดยปราศจากความระแวดระวังอย่างไร ให้จดถ้อยคำที่ได้ยินนั้นมาเสนอให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตพิจารณาว่าเป็นมงคลหรืออวมงคลนิมิตต์สถานใด ครั้งนั้นได้สนิสแต่ล้วนเป็นมงคลนิมิตต์ พระเจ้ามินดงจึงดำรัสสั่งให้เริ่มสร้างเมืองมัณฑเลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เมืองมัณฑเลนั้นแผนผังเอาอย่างเมืองอมรบุระมาสร้าง ตัวพระนครเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส วางแนวกำแพงให้ตรงตามทิศทั้ง ๔ ยาวด้านละ .๖๐๐ ตะ (ตะหนึ่งหย่อน ๘ ศอกไทยเศษสักนิ้วหนึ่ง) รวมทั้ง ๔ ด้านยาว ๒,๔๐๐ ตะเท่าจำนวนปีพุทธศักราชเมื่อสร้างเมือง ถ้าว่าอย่างไทยราวด้านละ ๕๙ เส้น ๑๓ วา ๓ ศอกเท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ปราการก่อด้วยอิฐไม่ถือปูน สูงตลอดยอดใบเสมา ๖ วา ตอนล่างหนา ๔ ศอกเศษ ที่ใบเสมาหนา ๒ ศอกเศษ มีเชิงเทินถมดินข้างด้านในกำแพงกว้างราว ๕ วา ทำหอรบรายบนกำแพง ๘๙ วาหลังหนึ่ง ที่มุมเมืองทำหอรบเคียงกันเป็นป้อม มีประตูเมืองด้านละ ๓ ประตู ประตูเมืองก่ออิฐถือปูนเป็นป้อมมีหลังคาทำด้วยไม้ทาดินแดง เป็นทรงปราสาท ๗ ชั้นมีมุข ๒ ข้าง หอรบก็มีหลังคาทรงปราสาททุกหอ ตรงประตูเมืองข้างนอกก่ออิฐเป็นลับแลสูงเท่ากำแพงเมือง สำหรับบังทางปืนมิให้ยิงกรอกช่องประตู ทางเข้าออกต้องเลี้ยวหลีกลับแลนั้น มีถนนรอบกำแพงข้างด้านนอก พ้นถนนถึงคูเมืองมีน้ำขัง กว้าง ๒๖ วา ลึก ๑๐ ศอก ตลอดแนวกำแพงทุกด้าน มีสะพานทางข้ามคูเมือง ๕ แห่งเข้าพระนครทางประตูกลางทุกด้าน แต่ด้านตะวันตกมีสะพานข้ามเข้าประตูใต้อีกสะพานหนึ่ง เป็นสะพาน “ประตูผี” (นครธมเมืองเขมรก็มี) ทุกสะพานกว้างราวสัก ๔ วา ก่ออิฐถมดินออกไปในคูเมืองข้างละสักส่วนหนึ่ง ปักเสาปูพื้นกะดานตรงกลางคูสักส่วนหนึ่งสำหรับรื้อเปิดเป็นทางเรือเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเลียบพระนคร ที่มุมเมืองข้างภายนอกมีศาลเทพารักษ์และว่ามีรูปยักษ์อยู่ในนั้นทั้ง ๔ มุม แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตา การฝังอาถรรพณ์เมืองมัณฑเลมีในหนังสือฝรั่งแต่งบางเรื่อง ว่าเอาคนฝังทั้งเป็น ณ ที่ต่างๆ ถึง ๕๒ คน แต่มีผู้แต่งคนหนึ่งกล่าวว่าการที่เอาคนฝังทั้งเป็นนั้นมีในตำราจริง และเคยทำกันแม้ในยุโรปเมื่อดึกดำบรรพ์ แต่พะม่าเลิกเสียแล้วช้านาน ใชโอ่งใส่น้ำมันฝังเป็นอาถรรพณ์แทน ข้างในพระนครสร้างพระราชวังตรงศูนย์กลาง วางแผนผังแนวกำแพงวังเป็นสี่เหลี่ยม และตรงตามทิศทั้ง ๔ เหมือนอย่างพระนคร และสร้างมหาปราสาทตรงศูนย์กลางวังเป็นที่สุด (ลักษณะพระราชวังจะพรรณนาในวันอื่นต่อไปข้างหน้า) มีถนนใหญ่แต่ประตูกลางตรงเข้าไปถึงพระราชวังทั้ง ๔ ด้าน ท้องที่ในพระนครข้างภายนอกพระราชวัง พิเคราะห์ตามแผนผังสมัยเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดิน ดูมีถนน (หรือทางเดิน) ตัดเป็นเส้นตรงซอยกันราวกับตาหมากรุก ได้ยินว่าที่ในบริเวณพระนคร นอกจากที่ใช้ราชการเช่นสร้างฉางข้าวและคุกเป็นต้น พระราชทานให้สร้างวังเจ้าและบ้านขุนนางกับทั้งทับกระท่อมของบ่าวไพร่ คงเป็นเพราะเหตุนั้นจึงปันที่ให้เป็นเจ้าของละแปลง ประหลาดอยู่ที่ไม่มีวัดในพระนคร แม้วัดที่สถิตของพระสังฆราชก็ให้สร้างนอกพระนครที่ริมคูเมืองทางด้านตะวันออก ถึงเจดียสถานก็ดูเหมือนมีพระเจดีย์แต่องค์หนึ่งหรือสององค์ที่ในพระนคร (น่าจะเป็นของสร้างตอนปลายรัชชกาล) เพื่อสะดวกแก่การทำพิธีสักการบูชา พวกชาวต่างประเทศให้ตั้งบ้านเรือนและตลาดยี่สานอยู่นอกพระนครทั้งนั้น อนึ่งที่ตั้งเมืองมัณฑเลเดิมเห็นจะเป็นป่าอยู่โดยมาก แผ่นดินทางฝ่ายตะวันออกเป็นที่ดอนห่างลำน้ำ แต่ทางฝ่ายตะวันตกเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูน้ำ เมื่อสร้างเมืองมัณฑเลพระเจ้ามินดงจึงให้ขุดคลองชลประทานมาจากบึงนันท Nanda Lake อันอยู่ทางข้างเหนือเขามัณฑเล ไขน้ำมายังพระนคร เรียกคลองนั้นว่า “รัตนนที” ใช้เรือได้ และได้น้ำมาลงคูเมืองแล้วไขเข้าไปใช้ในพระนคร ส่วนทางด้านตะวันตกอันเป็นที่ลุ่มต่อแม่น้ำเอราวดีนั้น ก็ให้ถมดินยกเป็นคันกันน้ำตลอดแนวเมืองมัณฑเล ให้ราษฎรตั้งบ้านเรือนและทำเรือกสวนได้ตลอดที่ทำเลนั้น ได้ยินว่าเคยเกิดเหตุเพราะคันกันน้ำที่เมืองมัณฑเลพังครั้งหนึ่ง น้ำท่วมถึงคนตาย จึงต้องคอยซ่อมแซมรักษากันกวดขันมาจนทุกวันนี้

พอลงมือสร้างเมืองมัณฑเล พระเจ้ามินดงก็ย้ายราชสำนักจากเมืองอมรบุระเสด็จไปประทับอยู่พลับพลาซึ่งสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ณ เมืองมัณฑเล พระมหาอุปราชกับทั้งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ก็ต้องตามเสด็จไปทำที่พักอยู่ชั่วคราวเหมือนกัน เพราะต้องรื้อขนปราสาทราชมณเฑียรและตำหนักรักษาบ้านเรือนของเดิมอันล้วนเป็นเครื่องไม้ ย้ายจากเมืองอมรบุระไปปลูกขึ้นใหม่ที่เมืองมัณฑเล การสร้างพระนครทำอยู่กว่าปีจึงสำเร็จได้ทำพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร แต่เมืองมัณฑเลก็ไม่เป็นมงคลได้ดังพระราชประสงค์ เพราะต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงไปประทับอยู่ ณ เมืองมัณฑเล เกิดขบถชิงราชสมบัติถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันถึง ๒ ครั้ง พระเจ้ามินดงเองก็เกือบไม่พ้นอันตราย แต่ส่วนพระองค์พระเจ้ามินดงนั้น ในพงศาวดารทั้งที่พะม่าและฝรั่งแต่ง ยกย่องว่าดีกว่าบรรดาพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์อลองพระพระองค์อื่นๆ ทั้งสิ้น พรรณนาพระคุณไว้เป็นอเนกปริยาย รวมความว่าทรงพยายามบำเพ็ญพระคุณให้บ้านเมืองเป็นสันติสุข และปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสำคัญ พระเจ้ามินดงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ประทับอยู่ที่อื่น ๔ ปี มาประทับอยู่ที่เมืองมัณฑเลแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ อีก ๒๑ ปี รวมรัชชกาล ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๑ พอจะสวรรคตก็เกิดอัปมงคลขนานใหญ่ด้วยการชิงราชสมบัติ เป็นเหตุให้เจ้านายลูกเธอถูกฆ่าฟันเสียเป็นอันมาก พระเจ้าสีป่อได้ครองราชสมบัติ บ้านเมืองก็เริ่มระส่ำระสายหนักขึ้นเป็นลำดับมา เลยเป็นช่องให้ฝรั่งเศสเข้าไปเกลี้ยกล่อม เปรียบเหมือนภาษิตที่ว่า “ผีซ้ำ” ด้วยประสงค์จะชิงเอาเมืองพะม่าจากเงื้อมมืออังกฤษไปเป็นของตน พระเจ้าสีป่อไม่รู้เท่าถึงการ ไปหลงฝักฝ่ายแก่ฝรั่งเศส อังกฤษก็ต้องตีเมืองพะม่าเป็น “ดํ้าพลอย” ในภาษิตที่กล่าวมา พระเจ้าสีป่อครองราชสมบัติได้ ๘ ปีก็เสียเมืองมัณฑเลกับทั้งประเทศพะม่าแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

เรื่องตำนานเมืองมัณฑเลเมื่อตกเป็นของอังกฤษแล้ว มีความเบื้องต้นว่าเมื่ออังกฤษตีเมืองพะม่าครั้งหลัง อันเป็นครั้งที่ ๓ และครั้งที่สุดนั้น ปรารถนาเพียงจะกำจัดพระเจ้าสีป่อกับพวกยุยงส่งเสริมเสียจากเมืองพะม่า แล้วจะบังคับพระเจ้าแผ่นดินพะม่าองค์ที่เป็นแทนให้สัญญายอมมอบอำนาจในการเกี่ยวข้องกับต่างประเทศให้แก่อังกฤษ มิได้คิดจะเลิกราชาธิปไตยเอาประเทศพะม่า Annex เป็นอาณาเขตต์ของอังกฤษ ความข้อนี้ตัว ลอร์ด ดัฟเฟอริน ผู้เป็นอุปราชอินเดียบัญชาการรบพะม่าครั้งนั้น ได้บอกฉันเองเมื่อไปรู้จักคุ้นกันในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ว่าได้คิดหาอุบายที่จะมิต้องให้เลิกราชาธิปไตยประเทศพะม่าหมดทุกทาง ต่อไม่เห็นมีทางอย่างไรแล้วจึงต้องประกาศเอาประเทศพะม่าเป็นอาณาเขตต์ของอังกฤษด้วยความจำเป็น ที่ว่านี้ก็สมตามรายการที่ปรากฏในเรื่องพงศาวดฺาร ว่ากองทัพอังกฤษที่มาตีเมืองพะม่าครั้งนั้นจำนวนทหารเพียง ๑๕,๐๐๐ คน ใช้ยุทธวิธีเอาทหารลงเรือกำปั่นเร่งรีบขึ้นไปทางแม่นาเอราวดี ได้รบกับพะม่าในกลางทางแต่เล็กน้อย กองทัพอังกฤษขึ้นไปถึงเมืองมัณฑเลเสียก่อนพะม่าเตรียมการต่อสู้พรักพร้อม พระเจ้าสีป่อก็ต้องยอม “มอบพระองค์กับทั้งราชสมบัติและราชอาณาเขตต์” แก่อังกฤษโดยไม่มีข้อไข เมื่ออังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อกับมเหสีและนางอเลนันดอ ตัวการที่ก่อยุคเข็ญส่งไปอินเดียแล้ว จึงปรากฏความขัดข้องเป็นข้อใหญ่ขึ้น ๒ ข้อ คือข้อหนี่งหาเจ้านายครองแผ่นดินแทนพระเจ้าสีป่อไม่ได้ เพราะลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงชั้นผู้ใหญ่ถูกจับปลงพระชนม์หรือประชวรสิ้นพระชนม์เสียเมื่อแรกพระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติหมด มีเหลือแต่ที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ๒ องค์ คือ เจ้าเมงกูนองค์หนึ่งก็มีมลทินชั่วร้าย ด้วยเคยพยายามจะกระทำปิตุฆาตเมื่อเป็นขบถ ทั้งในเวลานั้นก็ไปอาศัยอยู่กับฝรั่งเศสด้วย เจ้านะยองโอ๊กอีกองค์หนึ่งซึ่งหนีพ้นภัยในครั้งพระเจ้าสีป่อไปอาศัยอังกฤษอยู่ในอินเดีย ก็ได้ความว่าแต่ก่อนเคยประพฤติเป็นคนพาล พวกพะม่าเกลียดชัง นอกจาก ๒ องค์นั้นลูกเธอของพระเจ้ามินดงที่รอดชีวิตมาได้เพราะเป็นเด็กก็ยังเยาว์อยู่ทั้งนั้น จะปกครองแผ่นดินยังไม่ได้ ว่าโดยย่อเกิดขัดข้องด้วยไม่มีตัวคนที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างหนึ่ง แต่ความขัดข้องสำคัญยิ่งกว่านั้นมีอีกข้อหนึ่ง ด้วยพระเจ้าสีป่อได้ทำสัญญายอมให้ฝรั่งเศสมีสิทธิในเมืองพะม่าหลายอย่าง เช่นให้ทำทางรถไฟและตั้งธนาคารออกธนบัตรเป็นต้น แต่ล้วนเป็นปฏิปักษ์กับประโยชน์ของอังกฤษ ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าอยู่ตราบใด สิทธิที่ต่างประเทศได้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนย่อมผูกพันตกต่อถึงพระเจ้าแผ่นดินที่รับรัชชทายาท ถึงอังกฤษจะได้อำนาจในการเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ พวกต่างประเทศก็คงยอมแต่ว่ามีสำหรับภายหน้า หาย้อนขึ้นไปลบล้างสิทธิที่เขาได้รับไว้แต่ก่อนไม่ ที่จริงเห็นจะเป็นข้อนี้เอง ที่ทำให้อังกฤษต้องเลิกราชาธิปไตย แปลงประเทศพะม่าเป็นอาณาเขตต์ของอังกฤษ เพื่อจะทำลายสิทธิที่ชาวต่างประเทศได้ไว้จากราชาธิปไตยให้ศูนย์ไปเสียตามกัน การล้างสัญญาด้วยวิธีอย่างนี้ต่อมายังมีปรากฏในประเทศอื่น เช่นเมื่อญี่ปุ่นได้ประเทศเกาหลีไว้ในอำนาจ แต่เดิมก็คงให้มีพระเจ้าแผ่นดิน เป็นแต่ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราช เกิดลำบากขึ้นด้วยข้อสัญญาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเกาหลีได้ทำไว้กับฝรั่งต่างประเทศเมื่อยังเป็นอิสสระ ญี่ปุ่นจึงต้องเลิกราชาธิปไตยยุบฐานะประเทศเกาหลีลงเป็นอาณาเขตต์ประเทศญี่ปุ่น ถึงที่ประเทศอิตาลีประกาศเอาประเทศอับบิสสิเนียเป็นอาณาเขตต์ของอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คงคิดล้างหนังสือสัญญาที่เอมปเรอร์อับบิสสิเนียได้ให้สิทธิไว้แก่ต่างประเทศทำนองเดียวกัน

การที่อังกฤษเลิกราชาธิปไตยเอาประเทศพะม่าเป็นอาณาเขตต์ครั้งนั้น แม้พ้นความลำบากได้อย่างหนึ่ง ก็เกิดความลำบากอย่างอื่นเกินคาดหมาย ตามเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารว่า เมื่ออังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเล ได้ถามพวกเสนาบดีพะม่าว่าจะยอมรับราชการกับอังกฤษต่อไปหรือไม่ พวกนั้นรับ อังกฤษจึงให้สภาเสนาบดี (พะม่าเรียกว่า “หลุดดอ” Hlutdaw) คงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ให้นายพันเอกสะเลเดน อันเคยเป็นเอเย่นต์ Agent (เหมือนอย่างเป็นราชทูต) อังกฤษอยู่ที่เมืองมัณฑเล เป็นผู้ชี้ขาดแทนพระเจ้าแผ่นดินไปจนกว่าจะได้วางระเบียบการปกครองเป็นยุติ แต่เมื่ออังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลแล้ว ในค่ำวันนั้นเองก็เกิดจลาจลขึ้นในพระราชวังเพราะไม่มีใครเป็นใหญ่ในราชฐาน วันต่อๆ มาก็เริ่มเกิดจลาจลปล้นสะดมและเผาบ้านเรือนที่ในพระนครขึ้นเนืองๆ อังกฤษเห็นว่าเสนาบดีพะม่าไม่สามารถปกครองได้ พอประ กาศเอาประเทศพะม่าเป็นอาณาเขตต์ของอังกฤษแล้วก็เข้าปกครองเอง ให้แปลงนครมณฑเลเป็นป้อมให้ชื่อว่า “ป้อมดัฟเฟอริน” Fort Dufferin ตามนามอุปราชที่ให้ตีได้เมืองพะม่า เอาเป็นที่ตั้งกองทัพกับทั้งทบวงการต่างๆ ฝ่ายพลเรือน สำหรับปกครองอาณาเขตต์พะม่าเหนือ แต่เมื่อกิตติศัพท์ระบือออกไปถึงหัวเมืองว่าเสียประเทศพะม่าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ราษฎรก็พากันกำเริบเลยเกิดจลาจลแพร่หลาย กำลังกองทัพอังกฤษที่ไปตีได้ประเทศพะม่าไม่พอจะระงับจลาจล ก็ได้แต่รักษาเมืองสำคัญ เช่นเมืองมัณฑเลเป็นต้น รัฐบาลอินเดียต้องส่งทหารเพิ่มเติมมาจนถึง ๓๕,๐๐๐ คน และต้องรบพุ่งปราบปรามอยู่ถึง ๓ ปี เมืองพะม่าจึงเรียบร้อยราบคาบ

เมื่ออังกฤษแปลงนครมัณฑเลเป็นป้อมนั้น สั่งให้ย้ายวังเจ้าบ้านขุนนาง และเรือนไพร่พลเมืองออกไปปลูกสร้างข้างนอกเมืองทางฝ่ายใต้ พวกที่เคยอยู่ในวังก็หาที่ให้ไปอยู่นอกเมืองทำนองเดียวกัน แล้วปราบที่กะแผนผังตั้งโรงทหารกับทั้งสำนักงานต่างๆ ฝ่ายพลเรือนที่ในป้อม แต่ส่วนพระราชวังนั้นชั้นเดิมอังกฤษตกลงเป็นยุติว่าเมื่อสร้างสถานที่ราชการขึ้นใหม่บริบูรณ์ตามแผนผังที่กะแล้ว จะรื้อปราสาทราชมณเฑียรและพระราชวังเดิมเสียให้หมด มิให้ปรากฏอยู่เตือนตาพวกพะม่าให้หวังใจว่าจะมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าขึ้นอีก เพราะฉะนั้นในเวลาเมื่อกำลังสร้างโรงทหารและสถานที่ต่างๆ ที่ในป้อม จึงอาศัยปราสาทราชมณเฑียรและตำหนักรักษาที่ในวังเป็นที่ทำการต่างๆ เป็นต้นว่าเป็นสำนักงาน เป็นโรงสวด และเป็นสโมสรที่เล่นที่เลี้ยงดูกัน ตรงไหนมีอะไรกีดขวางก็รื้อหรือดัดแปลงไปตามอำเภอใจไม่คิดบำรุงรักษา เพราะรู้กันว่าเป็นของที่รัฐบาลจะรื้อทิ้งเสียในที่สุด เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อ ลอร์ด เคอสัน เป็นอุปราชอินเดีย มาตรวจราชการถึงเมืองพะม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เห็นว่าพะม่ามีแบบแผนศิลปศาสตร์แปลกเป็นอย่างหนึ่งต่างหากมาแต่โบราณ สมควรจะรักษาไว้อย่าให้ศูนย์เสีย เห็นไม่จำเป็นจะต้องทำลายปราสาทราชมณเฑียรให้พวกพะม่าสิ้นหวัง จึงสั่งให้เอาการต่างๆ ที่ไปอาศัยทำที่ในวังย้ายไปทำเสียที่อื่น แล้วให้บุรณะปฏิสังขรณ์ปราสาทราชมณเฑียรสถานให้คืนดีดังแต่ก่อน และให้สร้างเรือนขึ้นใหม่หมู่หนึ่งที่บนกำแพงเมืองข้างด้านเหนือ ทำเป็นปราสาทพะม่า มีเรือนปรัศว์ต่อตามยาวสองข้าง (คล้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในกรุงเทพฯ) สำหรับเป็นที่พักของเจ้าเมืองพะม่าเวลาเมื่อขึ้นไปตรวจราชการ เปลี่ยนทำนองไปให้ชาวเมืองเข้าใจว่าเจ้าเมืองพะม่ามีศักดิ์เสมอพระเจ้าแผ่นดินพะม่าแต่ปางก่อน เวลาเจ้านายอังกฤษเช่น ปรินซ์ ออฟ เวลส์ เสด็จไปเมืองพะม่า ก็จัดเรือนหมู่นั้นเป็นที่รับเสด็จ (เลดี้ สตีเฟนสัน ภรรยาเจ้าเมืองพะม่าบอกเจ้าหญิงว่าเรือนหลังนั้นอยู่ไม่สบายเลย) แต่เมื่อ ลอร์ด เคอสัน สั่งให้บุรณะปฏิสังขรณ์นั้น ราชมณเฑียรสถานตกเป็นที่ไม่มีใครสงวนมาได้ถึง ๑๕ ปี สถานที่ต่างๆ หักพังศูนย์เสียไปก็มาก ที่เหลืออยู่ซวดเซปรักหักพังจะซ่อมไม่ไหวก็มี ลอร์ด เคอสัน จึงสั่งให้ปฏิสังขรณ์แต่สิ่งสำคัญ เช่นปราสาทราชมณเฑียรเป็นต้น ให้กลับคืนเป็นอย่างเดิม แล้วให้รักษาไว้เป็นที่สำหรับมหาชนไปชมเหมือนอย่างพิพิธภัณฑ์สถานมาจนบัดนี้ (จะพรรณนาเมื่อวันไปดูราชวังต่อไปข้างหน้า) ครั้งนั้น ลอร์ด เคอสัน ได้ปฏิสังขรณ์ตลอดจนถึงประตูเมืองและป้อมให้คืนดีอย่างเดิมด้วย การที่ ลอร์ด เคอสัน ปฏิสังขรณ์มัณฑเล ควรได้รับความสรรเสริญ ถ้า ลอร์ด เคอสันมิได้ลบล้างมติเดิมของรัฐบาลอินเดีย ป่านนี้ปราสาทราชฐานและเครื่องประกอบปราการเมืองมัณฑเลก็คงศูนย์หรือกลายไปเป็นอย่างอื่นเสียหมดแล้ว อาศัยคำสั่งของ ลอร์ด เคอสัน แต่ครั้งนั้นจึงได้เกิดการรักษาของเดิมในเมืองพะม่า ว่าฉะเพาะเมืองมัณฑเล แม้จนทางเข้าประตูเมืองที่ต้องเลี้ยวหลีกลับแล แม้ลำบากแก่การใช้รถยนต์ในสมัยนี้ ก็ให้คงอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ตั้งเครื่องสัญญาและวางตำรวจประจำสำหรับบอกมิให้รถสวนกันที่ตรงนั้น ทุกวันนี้ชาวต่างประเทศไปถึงเมืองมัณฑเล แต่พอเห็นแนวกำแพงพระนครรักษาไว้เรียบร้อย และบนนั้นมีปราสาทแบบพะม่ารายอยู่เป็นระยะ และมีคูกว้างใหญ่น้ำใสสะอาดขังอยู่ข้างนอกตลอดแนวกำแพงเมือง ก็รู้สึกว่าเป็นสง่าน่าชมสมกับเคยเป็นราชธานีมาแต่ก่อน ถ้าจะเปรียบเมืองมัณฑเลกบเมืองอื่นที่ฉันได้เคยเห็นมา ดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่ยิ่งกว่าเมืองอื่น เป็นแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเหมือนอย่างเมืองมัณฑเล แม้ดินฟ้าอากาศก็คล้ายกัน แต่บ้านช่องตอนชานเมืองข้างนอกกำแพงฉันไม่มีเวลาจะเที่ยวดูให้ทั่ว จึงไม่สามารถจะพรรณนาให้ถ้วนถี่ แต่ไม่เห็นอะไรแปลกกว่าเมืองอื่น รู้แน่แต่ว่าอังกฤษทำนุบำรุงเจริญขึ้นเสมอมา แต่ไม่เจริญเหมือนอย่างเมืองร่างกุ้ง ถึงกระนั้นนอกจากเมืองร่างกุ้งแล้ว เมืองมัณฑเลก็เป็นเมืองใหญ่ยิ่งกว่าเมืองอื่นในประเทศพะม่าในเวลานี้ แต่มีเหตุอย่างหนึ่งซึ่งถ่วงความเจริญของเมืองมัณฑเล ด้วยเกิดมีเมืองใหม่ที่บนเขาข้างฝ่ายตะวันออก ห่างเมืองมัณฑเลเพียงสัก ๑,๘๔๐ เส้น (๔๖ ไมล์) ฉันไม่มีเวลาจะไปดู เป็นแต่ได้ทราบเรื่องของเมืองนั้นว่า เมื่อแรกอังกฤษได้ประเทศพะม่าเหนือเป็นอาณาเขตต์ แต่งกองทหารไปเที่ยวตรวจท้องที่ต่างๆ นายพันเอกคนหนึ่งชื่อ เม Colonel May ไปเห็นที่ราบมีอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง สูงกว่าระดับทะเลสัก ๔๕๘ วา (๓,๐๐๐ ฟุต) เป็นที่อากาศเย็นตลอดปีและมีน้ำบริบูรณ์ เมื่อรัฐบาลสร้างถนนไปเมืองไทยใหญ่ Shan States ฝ่ายเหนือ จึงให้กรุยถนนผ่านไปทางที่ราบนั้น แล้วให้ถากถางที่ตำบลนั้นตั้งสถานีที่พักสำหรับพวกฝรั่งหนีร้อนขึ้นไปอาศัยตามฤดูกาล นานมามีบ้านเรือนมากขึ้นโดยลำดับจนกลายเป็นเมือง รัฐบาลให้เรียกชื่อตามนามนายพันเอก เม ผู้ไปพบว่า “เมมะโย” May Myo (แปลว่า “เมืองเม” ด้วยคำ “มะโย” ภาษาพะม่าหมายความว่า “เมือง”) แต่ในสมัยเมื่อก่อนใช้รถยนต์ จะไปจากเมืองมัณฑเลต้องค้างทางคืนหนึ่งจึงถึงเมืองเมมะโย พอใช้รถยนต์ได้อาจจะไปจากเมืองมัณฑเลให้ถึงได้ใน ๒ ชั่วโมง เมืองเมมะโยก็เลยรุ่งเรือง ด้วยพวกฝรั่งในเมืองพะม่าแม้จนเจ้าเมืองพะม่าและข้าราชการในเมืองร่างกุ้งตลอดจนพวกที่อยู่ในเมืองมัณฑเล พากันไปสร้างที่อยู่ที่พักในฤดูร้อนมากกว่ามาก ที่สุดกองทหารซึ่งเคยตั้งอยู่ในป้อมดัฟเฟอริน (นครมัณฑเล) ก็ย้ายไปตั้งอยู่ที่เมืองเมมะโย เหตุที่ย้ายทหารนั้นชอบกล เพราะอังกฤษไม่ไว้ใจพะม่าไม่เอาเป็นทหารมาแต่ไรๆ ใช้แต่เพียงเป็นตำรวจ Police ทหารที่อังกฤษใช้เป็นกำลังรักษาเมืองพะม่ามีแต่ทหารฝรั่งกับทหารแขกชาวอินเดียฝ่ายเหนือ ภายหลังมาลองเกลี้ยกล่อมพวกกาชิน Kachin อันคล้ายกับไทยใหญ่ ตั้งภูมิลำเนาอยู่ข้างตอนต่อกับประเทศจึนหัดเป็นทหารขึ้นอีกพวกหนึ่ง คนทั้งสามพวกที่กล่าวมาทนอากาศฤดูร้อนในเมืองมัณฑเลมิใคร่ได้ เมื่อบ้านเมืองราบคาบแล้วจึงให้ย้ายกองทหารไปตั้งอยู่ที่อากาศเย็นให้เป็นสุขสบาย เมื่อย้ายกองทหารไปแล้ว ที่ในนครมัณฑเลก็เป็นที่ว่างอยู่โดยมาก รัฐบาลจึงให้แต่งที่คล้ายกับเป็นวนะ Park ผิดกับวนะแห่งอื่นที่มีกำแพงเมืองกับคลองคูบัวล้อมรอบ และมีราชวังตั้งอยู่กลาง รักษาสะอาดสะอ้านตลอดพื้นที่

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มกราคม ตอนเช้าเข้าไปดูปราสาทราชวังที่เมืองมัณฑเล

ฉันได้กล่าวมาแล้วว่าเมืองมัณฑเลสร้างตามแผนผังเมืองอมรบุระ และเมืองอมรบุระสร้างตามแผนผังเมืองหงสาวดี วินิจฉัยของพวกนักปราชญ์โบราณคดียังมีต่อไปอีก ว่าเมืองที่สร้างอย่างนี้ทำตามแบบนครราชธานีในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ มอญพะม่าหาได้คิดขึ้นใหม่ไม่ เขาอ้างคำมาโคโปโลชาวอิตาลีพรรณนานครราชธานีจีนสมัยกุบไลข่าน ตามคำพรรณนานั้นเห็นได้ว่าแผนผังราชธานีจีนก็ทำเป็นทำนองเดียวกันกับเมืองมัณฑเล และชี้ต่อไปถึงเมืองราชธานีโบราณที่ซากยังปรากฏอยู่ คือนครธมในประเทศกัมพูชาเป็นต้น ว่าแผนผังก็เป็นทำนองเดียวกันกับเมืองมัณฑเล คือแนวกำแพงเมืองเป็น ๔ เหลี่ยมจตุรัส ตั้งราชวังที่ตรงศูนย์กลางเมืองเหมือนกัน มีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งว่านครราชธานีแต่โบราณเหมือนกันหมด คือที่ถมดินขึ้นเป็นเนินชาลาแล้วสร้างปราสาทราชมณเฑียรด้วยเครื่องไม้ที่บนเนินนั้น แต่ที่อื่นๆ ปราสาทราชมณเฑียรของเดิมศูนย์ไปเสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฐานที่พูนดินปรากฏอยู่ (ในเมืองไทยเราก็มีรอยพูนดินเรียกว่า “เนินปราสาท” ปรากฏอยู่ที่วังสนามจันทร์ เมืองนครปฐม และที่วังเมืองสุโขทัย เพราะแต่โบราณปราสาทราชมณเฑียรก็สร้างด้วยไม้เหมือนกันทั้งนั้น) พระราชวังในเมืองมัณฑเลเวลานี้ของเดิมศูนย์ไปเสียมากแล้ว เพราะถูกรื้อในระหว่างเวลาเมื่ออังกฤษสิ้นอาลัยอยู่ถึง ๑๕ ปีดังกล่าวมาแล้ว แต่มีแผนผังซึ่งอังกฤษทำเมื่อแรกได้เมืองพะม่า พิมพ์ไว้ในหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือด้วยกันกับอธิบาย จะเก็บเนื้อความมาพรรณนาต่อไปนี้

พระราชวัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แนวกำแพงวังแต่เหนือไปใต้ยาวราว ๓๓๙ วา (๒,๒๒๕ ฟุต) ทางตะวันออกไปตะวันตกแคบกว่าหน่อยหนึ่งเพียงราว ๓๒๔ วา (๒,๑๒๕ ฟุต) กำแพงวังชั้นนอกปักซุงไม้สักสูง ๓ วาเศษ (๒๐ ฟุต) เป็นระเนียด เห็นจะสร้างเพิ่มขึ้นเมื่อภายหลังเจ้าเมงกูนเป็นขบถ ต่อระเนียดเข้าไปไว้เป็นที่ว่าง ทางพวกรักษาวังเดินกว้างประมาณ ๑๕ วาเศษ (๑๐๐ ฟุต) แล้วมีกำแพงก่ออิฐถือปูนอีกชั้นหนึ่งสูงราว ๘ ศอกคืบ (๑๔ ฟุต) มีประตูวังทางบกด้านละประตู ด้านเหนือมีประตูน้ำสำหรับเป็นทางเรืออีกประตูหนึ่ง ในกำแพงเข้าไปมีกำแพงแบ่งเขตต์วังเป็นชั้นนอกชั้นกลางและชั้นใน ไว้ที่เป็นลานวังชั้นนอกตลอดด้านหน้า (อย่างเดียวกับพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ นี้) สถานที่ราชการต่างๆ บรรดาที่เอาไว้ในวังอยู่ในลานชั้นนอกโดยมาก จะพรรณนาแต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ คือสองข้างประตูวังด้านหน้า (อย่างประตูวิเศษชัยศรี) มีหอสูงก่อด้วยอิฐ ๒ หอ เรียกว่า “หอพระเขี้ยวแก้ว” (ได้พรรณนามูลเหตุที่สร้างไว้ในตอนตำนานเมีองหงสาวดีแล้ว) อยู่ทางข้างขวาหอหนึ่ง หอนาฬิกา (จะกล่าวอธิบายกับสิ่งอื่นอันอยู่ในวังตอนนี้ต่อไปข้างหน้า) อยู่ทางข้างซ้ายหอหนึ่ง มีศาลาลูกขุนพะม่าเรียกว่า “หลุดดอ” Hlutdaw อยู่กลางหลังหนึ่ง ต่อไปข้างฝ่ายเหนือมีหมู่มณฑปที่ “ประดิษฐาน” พระศพพระเจ้ามินดงกับพระมเหสี ข้างฝ่ายใต้มีวัดสังฆาวาสจำลอง Model ของพระเจ้าสีป่อสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติวัดหนึ่ง นอกจากสิ่งซึ่งกล่าวมานี้ มีโรงแสงสรรพยุทธ โรงกระษาปณ์ โรงพิมพ์ โรงไปรษณีย์ ล้วนอยู่ในลานวังชั้นนอกตอนนี้ทั้งนั้น ปลูกรายกันไปตามริมกำแพง สถานต่างๆ ที่กล่าวมาบางแห่งควรจะกล่าวอธิบายไว้ในหนังสือนี้ด้วย คือ

หอนาฬิกานั้น ว่าในห้องชั้นล่างมีกะลามะพร้าวเจาะก้นลอยน้ำไว้ เมื่อกะลาจมหนหนึ่งนับเวลาเป็นนาฬิกาหนึ่ง ข้อนี้ประเพณีในเมืองไทยเราแต่โบราณก็ใช้อย่างเดียวกัน และอาจบอกต่อไปได้ว่าเอาแบบมาจากอินเดีย เพราะคำที่เรียกว่า “นาฬิกา” เป็นภาษามคธ หมายความว่า “กะลามะพร้าว” มีเป็นสำคัญอยู่ ชั้นยอดหอนาฬิกานั้นทำเป็นมณฑปโถง แขวนกลองใบหนึ่ง ฆ้องใบหนึ่ง สำหรับตีบอกเวลาแก่ชาวพระนคร แต่วิธีตีดูเหมือนผู้แต่งอภิธานจะไม่รู้ ฉันจะทะนงตัวบอกอธิบายว่ากลางวันตีฆ้องกลางคืนตีกลอง เพราะมีหลักอยู่ในคำพูดของไทยเราเรียกกำหนดเวลากลางวันว่า “โมง” ตามเสียงฆ้อง เรียกกำหนดเวลากลางคืนว่า “ทุ่ม” ตามเสียงกลอง คงเป็นเพราะแต่โบราณไทยเราก็ใช้ฆ้องกับกลองตีบอกเวลาอย่างเดียวกันกับพะม่า.

ศาลาลูกขุนที่พะม่าเรียกว่า “หลุดดอ” นั้น สร้างติดกับกำแพงวังด้านในที่ตรงหน้ามหาปราสาท เห็นจะมีประตูลับสำหรับเป็นทางเสด็จออกด้วย เพราะมีอธิบายว่าที่ในศาลาหลุดดอนั้นมีสีหาสนบัลลังก์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินประทับเป็นประธานในที่ประชุม (เมื่อ ลอร์ด เคอสัน ปฏิสังขรณ์ราชวัง ศาลาหลุดดอชำรุดซวดเซเหลือที่จะซ่อมจึงสั่งให้รื้อเสีย แต่สีหาสนบัลลังก์ในนั้นเอาไปคุมรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ณ เมืองกาลกัตตา)

เมื่อกล่าวถึงหลุดดอ ควรจะกล่าวต่อไปถึงวิธีบังคับราชการเมืองพะม่าอย่างโบราณตามอธิบายที่มีอยู่ในหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือด้วย เพราะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเล่าในที่อื่นต่อไปข้างหน้า วิธีปกครองของพะม่าอ้างเอาหนังสือ “โลกพยุหะ” Lauwka Bayuha เป็นตำรา แต่หนังสือนั้นฉันไม่เคยเห็น และไม่ทราบว่าจะได้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วหรือยัง กำหนด (ลูกขุน) หัวหน้าข้าราชการเป็น ๒ แผนก คือสำหรับราชการแผ่นดินแผนก ๑ สำหรับราชการในราชสำนักแผนก ๑ ศาลา “ลูกขุน” หลุดดอเป็นที่ประชุมพวกหัวหน้าในแผนกราชการแผ่นดิน (อังกฤษเรียกพวกนี้ว่า Ministers) ยังมีศาลาในวังชั้นกลางใกล้ราชมณเฑียรอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “พเยเดก” Bye Daik เป็นที่ประชุมพวกหัวหน้าราชการส่วนราชสำนัก (อังกฤษเรียกพวกนี้ว่า Privy Councillors) สองพวกนี้พิเคราะห์ดูจะตรงกับ “เสนาบดี” และ มนตรี” ของไทยเรา จะเรียกอย่างไทยต่อไปให้เข้าใจง่าย

เสนาบดีนั้น พะม่าเรียกว่า “วุนคยี” Wungyi (ไทยเรียกว่า “หวุ่นกี้”) มี๔ คน เป็นผู้กำกับราชการกระทรวงต่างๆ (ดูจะตรงกับตำแหน่งจตุสดมภ์ เมือง วัง คลัง นา ในทำเนียบเดิมของไทยเราเมื่อชั้นก่อนมีอัครมหาเสนาบดีมหาดไทยและกลาโหม) ถ้าประชุมกันทั้ง ๔ คนเป็นสภาสูงสุดในเมืองพะม่า รองเสนาบดีลงมามีขุนนางผู้ใหญ่ชั้น “วุน” Wun อีก ๒ คน พะม่าเรียกว่า “มยินสุคยี” Myinsugyi อธิบายว่าเป็นนายทัพม้าคน ๑ เรียก “อสีวุน” Athiwun (อะแซหวุ่นกี้ที่เป็นแม่ทัพมาตีเมืองไทยเป็นตำแหน่งนี้ แต่เพิ่มยศให้เสมอเสนาบดี) ผู้บัญชาการเกณฑ์พลคน ๑ แล้วถึงปลัดกระทรวงพะม่าเรียกว่า “วุนทอก” Wundauk เป็นผู้ช่วยเสนาบดีอีก ๔ คน รวม ๑๐ คนนี้เป็นสมาชิกปรึกษาราชการในศาลาลูกขุน แต่เสนาบดีทั้ง ๔ เป็นผู้ชี้ขาด มนตรีนั้น พะม่าเรียกว่า “อัตวินวุน” Atwinwun มี ๔ คน เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ราชการทั้งปวงต้องผ่านทางศาลาลูกขุนหมดทุกอย่าง เป็นต้นว่าตั้งพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งยศศักดิ์ หรือจะลงพระราชอาชญา และจะตรัสสั่งราชการพิเศษอย่างใดก็ดี สภาเสนาบดีเป็นเจ้าพนักงานประกาศสั่งทุกอย่าง ว่าโดยย่อสภาเสนาบดีเป็นหลักราชการของประเทศพะม่า เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จประทับเป็นประธานในที่ประชุม แต่เมื่อถึงสมัยพระเจ้ามินดง ชั้นแรกมักโปรดให้พระมหาอุปราชเป็นประธานแทนพระองค์ เมื่อไม่มีพระมหาอุปราชแล้ว โปรดให้เสนาบดีคนใดคนหนึ่งซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าเพื่อนเป็นประธาน เพราะโดยปกติทั้งเสนาบดีและมนตรีมีเวลาเข้าเฝ้าถึงพระองค์ทุกวัน เห็นไม่จำเป็นจะต้องเสด็จออกที่ศาลาลูกขุน เลยเป็นเช่นนั้นมาจนตลอดรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ

มณฑปที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้ามินดงนั้น ตามอธิบายที่ทราบจากพะม่า ว่าการปลงศพในเมืองพะม่านั้นถ้าเป็นบุคคลจำพวกอื่นฝังศพทั้งนั้น เว้นแต่ “พระ” กับ “เจ้า” จึงเผาศพ ประเพณีปลงพระศพพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อถวายพระเพลิงแล้วเอาพระอัฏฐิธาตุลอยทิ้งน้ำหมด แล้วก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ตรงที่ปลงพระศพ ต่อมาเปลี่ยนประเพณีเดิม เป็นเอาพระอัฏฐิธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างเป็นอนุสรณ์ (แล้วแต่จะสร้างพระเจดีย์ขึ้น ณ ที่ใดตามสะดวก) ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดง เมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต (ก่อนพระเจ้ามินดงสวรรคตสัก ๒ ปี) พระเจ้ามินดงทรงอาลัยมากถึงทรงขาวไว้ทุกข์มาจนตลอดพระชนมายุและไม่ทรงตั้งผู้อื่นแทน ส่วนพระศพนั้นให้สร้างมณฑปบรรจุไว้ที่ในลานวังชั้นกลางใกล้กับพระราชมณเฑียรทางด้านเหนือ และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นองค์หนึ่งสำหรับไปประทับทรงศีลที่ริมมณฑปนั้น เนื่องมาแต่งานพระศพพระอัครมเหสีนั้น พระเจ้ามินดงตรัสสั่งสำหรับพระบรมศพของพระองค์เองว่าไม่ต้องถวายพระเพลิง ให้สร้างมณฑปบรรจุพระบรมศพไว้ในพระราชวังอย่างเดียวกับพระอัฏฐิพระอัครมเหสี พระเจ้าสีป่อจึงต้องทำตาม แต่ให้สร้างมณฑปนั้นที่ลานพระราชวังชั้นนอก เห็นจะให้เป็นสง่าและสะดวกแก่มหกรรมที่ทำเป็นงานใหญ่ แต่นั้นก็เลิกประเพณีถวายเพลิงพระศพเจ้าสืบมา พวกพะม่าถือว่าการที่บรรจุพระศพไว้ในมณฑปเหมือนกันกับบรรจุพระอัฏฐิธาตุไว้ในพระเจดีย์ มิใช่ฝังพระศพ

วัดสังฆาวาสจำลองนั้น สร้างในลานพระราชวังชั้นนอกข้างฝ่ายขวาเป็นคู่กับมณฑปที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง ที่ตรงสร้างวัดจำลองนี้เดิมเป็นศาลาที่ประชุมพระสงฆ์ ครั้งพระเจ้าสีป่อเสด็จเข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร แปลที่ศาลานี้ เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงสร้างวัดจำลองไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ฝีมือทำบรรจงมาก จำหลักปิดทองล่องชาดประดับกะจกทั้งนั้น

ประตูวังรูปร่างเป็นอย่างไรไม่มีจะดูแล้ว ปรากฏแต่ว่าประตูเข้าวังชั้นกลาง (อย่างประตูพิมานชัยศรีในกรุงเทพฯ นั้น) ฝรั่งว่าทางกลางเข้าออกได้แต่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช ผู้อื่นต้องเดินทางประตูข้าง (ดูน่าสันนิษฐานว่าจะมีบานใหญ่และบานเล็กอย่างประตูพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ นั่นเอง)

ในพระราชวังชั้นกลาง ด้านหน้าตรงเนินปราสาทเป็นสนาม (อย่างตรงหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท) ว่าสำหรับมีการกีฬา Sports พิเคราะห์เข้ากับกฎมณเฑียรบาลไทย พอเข้าใจได้ว่าเป็นที่สำหรับพวก “มงครุ่มซ้ายขวากุลาตีไม้” เล่นเวลาเสด็จออกงานพิธีใหญ่ และสำหรับเล่น “สรรพกิฬา” ในเวลาอื่น ในลานด้านหน้านั้นริมกำแพงมีทิมพลรายตลอด มีโรงช้างต้นสกัดด้านหนึ่ง โรงม้าต้นสกัดด้านหนึ่ง หลังโรงช้างต้นมีกำแพงกันที่เป็นแปลงหนึ่งต่างหาก บอกอธิบายในแผนผังว่าเป็นโรงไร้ราชรถ แต่สันนิษฐานว่าคลังไว้ของหลวงต่างๆ ก็เห็นจะอยู่ในที่แปลงนี้ด้วย ทางข้างหลังโรงม้าต้นก็มีที่กันเป็นแปลงหนึ่งต่างหาก ในที่แปลงนี้สร้างมณฑปที่บรรจุพระศพพระอัครมเหสี และพระที่นั่งทรงศีลของพระเจ้ามินดง ต่อนั้นไปอีก (ฉันไม่ได้ไปดู) ในแผนผังบอกแต่ว่ามีพระเจดีย์ Pagoda แต่พิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่าราชบุตรองค์หนึ่งกับราชธิดาองค์หนึ่งของพระเจ้าสีป่อกับนางราชินีสุปยาลัตออกทรพิษสิ้นพระชนม์ในคราวเดียวกัน ๒ องค์ ให้บรรจุศพที่ในราชวัง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างมณฑปที่บรรจุตรงนั้นเอง ลานวังชั้นกลางตอนต่อไปทางด้านข้างยกพื้นเนินปราสาท มีโรงช้างเผือกอยู่ใกล้เนินปราสาททั้ง ๒ ข้าง ต่อไปข้างขวาเป็นคลังมหาสมบัติและสถานที่ประชุมมนตรี ทางข้างซ้ายในแผนผังลงแต่ว่าที่ข้าราชการอยู่ ลานวังชั้นกลางต่อไปข้างหลังเป็นสวนขวาสำหรับเสด็จประพาสข้างหนึ่ง สวนซ้ายสำหรับเป็นที่สำราญของนางในข้างหนึ่ง กว้างใหญ่ทั้ง ๒ สวนจนตลอดกำแพง สวนทั้ง ๒ แห่งนั้นเดิมมีสระน้ำลำคลองและตำหนักที่ประทับ กับทั้งสวนดอกไม้ก่อภูเขาเป็นที่เสด็จออกประพาสกับนางใน ชั้นกลางด้านหลังเป็นที่อยู่ของพนักงานรักษาวัง มีแต่ตอนกลางไม่ตลอดทั้งด้าน

ที่ฉันพรรณนาวังชั้นนอกและชั้นกลางดังกล่าวมา ต้องว่าตามอธิบายและแผนผังที่มีอยู่ในหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือ ถ้าจะให้ว่าตามตาเห็นเองเกือบไม่มีอะไรจะเล่า เพราะของรื้อศูนย์ไปเสียเกือบหมดแล้ว นอกจากปราสาทราชมณเฑียรของอื่นยังเหลืออยู่ไม่กี่สิ่ง แรกไปถึงพระราชวังแลเห็นแต่ระเนียดไม้ซุงซึ่งเคยเป็นกำแพงวังชั้นนอกมีเหลืออยู่สักหน่อยหนึ่ง พอรู้ว่าเขตต์วังของเดิมอยู่ตรงแนวระเนียดนั้น กำแพงและประตูวังก็ไม่มีอะไรเหลือ แลดูโล่งโถงไปหมด เดินต่อเข้าไปเห็นหอสูงก่อด้วยอิฐ ๒ หอ ผู้นำทางเขาบอกว่าหอพระเขี้ยวแก้วหอหนึ่ง หอนาฬิกาหอหนึ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาแผนผังไปก่อนก็รู้ไม่ได้ว่าอยู่สองข้างประตูวัง ต่อนั้นเลี้ยวไปทางข้างใต้ถึงที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง ถ้าเปรียบกับแผนผังพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ก็อยู่อย่างที่สนามหน้าศาลาลูกขุนใน ทำเป็นมณฑปก่ออิฐถือปูนปั้นลวดลายและปิดทองประดับกะจกทั้งองค์ มีกำแพงแก้วแล้วถึงรั้วไม้ล้อมรอบเป็น ๒ ชั้น ต่อออกมามีมณฑปขนาดย่อมที่บรรจุพระศพอื่นอีก ๓ หลัง หลังหนึ่งเป็นมณฑปหลังคาเครื่องไม้บรรจุพระศพอัครมเหสีของพระเจ้าสารวดี อันเป็นชนนีของพระอัครมเหสีของพระเจ้ามินดง อีกหลังหนึ่งเป็นมณฑปก่ออิฐถือปูนปั้นลวดลาย รัฐบาลอังกฤษให้สร้างบรรจุศพพระนางอเลนันดอมเหสีของพระเจ้ามินดง อันเป็นชนนีของพระราชินีสุปยาลัต อีกหลังหนึ่งก็เป็นมณฑปหลังคาเครื่องไม้ เป็นที่บรรจุศพพระชนนีของพระเจ้าสีป่อ เมื่อว่าถึงที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดงเห็นน่าชมลอร์ดเคอสันอีกครั้งหนึ่ง ที่สั่งให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ให้งามเหมือนแต่เดิม แลดูยังเป็นสง่าอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อไปถึงวัดสังฆาวาสจำลองของพระเจ้าสีป่อ ซึ่งอยู่ตรงกันกับมณฑปที่ไว้พระศพอีกฝ่ายหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว พอเห็นก็เกิดสังเวช ด้วยทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมจวนจะหักพังถึงเครื่องบนหล่นร่วงลงมาบ้างแล้ว เห็นจะเป็นด้วยรัฐบาลเห็นว่ามิใช่ของสำคัญ และการที่จะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิมจะสิ้นเปลืองมากนัก จึงทิ้งให้สิ้นอายุไปเอง อีกสักสี่ห้าปีใครไปเมืองมัณฑเลก็น่าจะไม่ได้เห็นวัดที่ว่านี้ ของเดิมที่ในลานวังยังเหลืออยู่อีกสิ่งหนึ่งคีอสวนขวา แต่เอาไว้ฉะเพาะตอนสวนดอกไม้ในบริเวณของพระที่นั่งเย็น ที่พระเจ้าสีป่อเสด็จออกรับแม่ทัพอังกฤษเมื่อจะเอาพระองค์ไปจากเมืองพะม่า ได้ยินว่าเมื่ออังกฤษจะเอาพระราชวังเป็นที่ทำราชการ ทำแผ่นโลหะจารึกบอกเรื่องติดไว้ที่พระที่นั่งเย็นนั้น แต่เดี๋ยวนี้ศูนย์ไปหมดแล้วทิ้งตัวพระที่นั่งเย็นและแผ่นจารึกนั้น ยังเหลือแต่สวนดอกไม้กับภูเขาที่ก่อปั้นเป็นเครื่องประดับ (ทำอย่างเลวไม่น่าดูเลย) สถานที่ต่างๆ ที่เป็นของเดิมในราชวังเมืองมัณฑเล นอกจากปราสาทราชมณเฑียรที่จะพรรณนาต่อไปข้างหน้า ยังเหลืออยู่แต่เพียงเท่าที่กล่าวมา

ปราสาทราชมณเฑียรที่ในราชวังเมืองมัณฑเล สร้างบนพื้นที่ซึ่งถมสูงขึ้นกว่าแผ่นดินสัก ๖ ศอก (๑๐ ฟุต) พื้นเนินนั้นข้างด้านหน้าแคบต่อเข้าไปข้างในกว้าง ตรงที่กว้างราว ๘๔ วา (๕๕๐ ฟุต) ด้านยาวเข้าไปข้างในราว ๑๕๒ วา (๑,๐๐๐ ฟุต) ก่อเขื่อนถมดินปูพื้นเป็นชาลาตรงที่สร้างท้องพระโรงหน้าตอนหนึ่ง ต่อเข้าไปถึงตอนที่สร้างมหาปราสาทกับท้องพระโรงในไม่ถมดิน ปล่อยไว้เป็น “ใต้ถุน” แลเห็นเสาปักลงถึงแผ่นดิน ข้างบนปูกะดานเหมือนอย่าง “นอกชาน” ตลอดตอน ตอนหลังตั้งแต่ “มณเฑียรแก้ว”ไปตลอดที่สร้างตำหนักนางในจนถึงท้องพระโรงหลังซึ่งอยู่สุดเนิน ถมดินก่อเขื่อนและปูพื้นเป็นชาลาอีกตอนหนึ่ง เหตุใดจึงไม่ถมดินตรงใต้มหาปราสาทกับท้องพระโรงในไว้ เว้นตอนหนึ่งดูน่าพิศวงอยู่ ข้อนี้พิเคราะห์ในเรื่องตำนานปรากฏว่ามหาปราสาทองค์นั้น เดิมพระเจ้าสารวดีพระชนกนาถของพระเจ้ามินดงซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๘๐ จน พ.ศ. ๒๓๘๙ สร้างขึ้นที่เมืองอมรบุระ พระเจ้ามินดงให้ย้ายเอามาปลูกที่เมืองมัณฑเล ชวนให้สันนิษฐานว่าจะเป็นเพราะเกรงอัปมงคลในการตัดเสามหาปราสาท จึงให้ปลูกไว้ตามเดิม ให้ถมดินแต่ตรงมณเฑียรและสถานที่สร้างใหม่ นี่ว่าโดยเดาด้วยคิดไม่เห็นเหตุอื่น ที่พื้นวังริมเขื่อนที่ด้านใต้ มีหอสูงสัณฐานกลมสร้างด้วยไม้ยอดเป็นปราสาท ทำทางขึ้นบันไดเวียนอยู่ข้างนอกหลังหนึ่ง ว่าเป็นของพระเจ้าสีป่อสร้างสำหรับขึ้นทอดพระเนตรพระนคร นอกจากนั้นมีปืนใหญ่ตั้งรายทางด้านหน้าหลายกระบอก เป็นปืนทองเหลืองฝรั่งหล่อแทบทั้งนั้น คงเป็นของได้ไปแต่ประเทศอื่นเมื่อพะม่ารบชนะ มีกะบอกหนึ่งหล่อด้วยเหล็กยาวเกือบ ๓ วา ฝีมือหยาบน่าเกลียด ว่าได้จากประเทศยักไข่ เดี๋ยวนี้เอาไปไว้ข้างด้านหลัง รอบเขตต์บนชาลาตอนที่สร้างปราสาทราชมณเฑียรนั้นปันเป็นชั้นกลาง (ที่ผู้ชายเข้าได้) เข้าไปทั้งสองข้างจนถึงมณเฑียรแก้ว (ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่) ต่อนั้นเข้าไปเป็นเขตต์วังชั้นใน (เข้าได้แต่ผู้หญิง) ไปจนถึงกำแพงด้านหลัง

พะม่าเรียกปราสาทว่า Pyathat มีกำหนดศักดิ์ต่างกันด้วยจำนวนชั้นเครื่องยอด ยอด ๗ ชั้นทำได้แต่ของหลวงและพุทธสถาน นอกจากนั้นต้องทำยอดแต่ ๕ ชั้นหรือ ๓ ชั้น ราชมณเฑียรนั้นพะม่าเรียกว่า Zaung กำหนดศักดิ์ด้วยจำนวนชั้น “คอสอง” สมมติว่าเป็นชั้นหลังคา ต่างกันเป็น ๕ ชั้นหรือ ๓ ชั้น ๒ ชั้น มีในหนังสือบางเรื่องว่าบ้านขุนนางผู้ใหญ่ที่มีความชอบได้พระราชทานอนุญาตให้ทำหลังคาเรือนซ้อนหลายชั้นเป็นบำเหน็จก็มี ฉันไปเที่ยวในเมืองพะม่าเห็นปราสาทมากกว่ามาก เพราะมีตามวัดแทบทุกวัดก็ว่าได้ ที่ตามมหาเจดียสถานแต่ละแห่งก็มีผู้ศรัทธาสร้างปราสาทถวายเป็นพุทธบูชาแทบนับไม่ถ้วน แต่บรรดาปราสาทพะม่าที่ฉันได้เห็นไม่มีแห่งอื่นจะงามเหมือนมหาปราสาทในพระราชวังเมืองมัณฑเล ทั้งซวดทรงส่วนสัดดูหาที่ติมิได้เลย แม้ขะมุกขะมอมอยู่อย่างทุกวันนี้ พอแลเห็นก็จับตาต้องหยุดยืนดู เมื่อเวลายังปิดทองผ่องใสและประดับกะจกบริบูรณ์อยู่จะงามสักปานใด อดนึกเสียดายไม่ได้ เขาบอกว่าเมื่อเมืองพะม่าตกเป็นของอังกฤษแล้ว ในปีหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดหลังคามหาปราสาทพังลงมา รัฐบาลให้กลับสร้างขึ้นอย่างเดิม แต่จะปิดทองประดับกะจกเหมือนอย่างเก่าเห็นว่าจะสิ้นเปลืองมากนัก จึงให้ทาดินแดงแทน ประดับกะจกไว้ให้เห็นเพียงตั้งแต่ปลีขึ้นไปจนถึงฉัตรยอดปราสาท ราชมณเฑียรสถานนอกจากปราสาทกล่าวได้ว่ารูปทรงอย่างเดียวกันหมด เป็นแต่ขนาดต่างกันกับชั้นหลังคา มากและน้อยผิดกัน ที่เป็นราชมณเฑียรหลังคา ๕ ชั้น สถานอื่นก็ลดลงมาโดยลำดับ เช่นท้องพระโรงทำหลังคาแต่ ๒ ชั้นเท่านั้น มีของที่น่าพิศวงอยู่บางอย่าง เป็นต้นว่าหลังคามหาปราสาทและราชมณเฑียรทั้งปวง มุงด้วยสังกะสีลูกฟูกอย่างที่เราใช้มุงหลังคาโรงแถวหรือปักเป็นรั้วบ้านทั้งนั้น ข้อนี้ฝรั่งพากันติเตียนว่าทำให้เสียสง่า แต่มีอธิบายของพะม่าว่าประเพณีเดิมหลังคามหาปราสาทและราชมณเฑียรย่อมมุงด้วยแผ่นเงินหรือแผ่นดีบุก ถึงสมัยเมืองมัณฑเลเริ่มมีสังกะสีลูกฟูกเข้าไปถึงเมืองพะม่า พระเจ้ามินดงทรงพระราชดำริว่าสังกะสีลูกฟูกก็คือดีบุกนั่นเอง แต่เบากว่าและมุงง่ายกว่าแผ่นดีบุก จึงให้เอาสังกะสีลูกฟูกมุงหลังคามหาปราสาทราชมณเฑียร แต่แลดูก็ไม่น่าเกลียด เพราะมีเครื่องไม้จำหลักลวดลายปิดทองเป็นคอสองเชิงกลอนและครอบอกไก่ใบระกาบังสังกะสีไม่รำคาญตานัก ของประหลาดอีกอย่างหนึ่งนั้นที่บนหลังคาราชมณเฑียรมีซุ้มรังไก่ สำหรับคนขึ้นไปนั่งประจำคอยเอากระสุนยิงไล่แร้งมิให้มาจับบนหลังคาราชมณเฑียร และมีบันไดไม้ไผ่ทอดประจำไว้บนหลังคาเป็นทางคนขึ้นด้วย พิเคราะห์ดูก็ชอบกล ฉันได้สังเกตเห็นแต่แรกไปถึงว่าที่เมืองพะม่ามีแร้งชุม ไปเมืองไหนก็มักเห็นฝูงแร้งบินร่อนมิใคร่เว้นแต่ละวัน ครั้นไปเห็นว่าถึงต้องทำที่ให้คนนั่งยามคอยไล่แร้งอยู่บนหลังคาราชมณเฑียร ก็ทำให้หวนรำลึกถึงความหลังครั้งฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อตอนต้นรัชชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จไปประทับที่เมืองนครปฐมเนืองๆ ที่นั่นมักมีฝูงแร้งมาบินร่อน ฉันต้องสั่งให้คนคอยระวังอย่าให้แร้งไปลงในพระราชวัง ทีหลังมานึกขึ้นได้ว่าธรรมดาแร้งชอบกินของเน่า ต่อมีซากศพสุนัขหรือโคกระบือทิ้งอยู่ที่ไหนจึงลงที่นั่น ก็ลองเปลี่ยนวิธีไล่แร้ง ด้วยสั่งว่าถ้าเห็นฝูงแร้งมาร่อนอยู่เมื่อใดก็ให้คนแยกย้ายกันเที่ยวหาซากศพ พบแล้วให้ฝังเสีย พอใช้วิธีนั้นก็ไม่มีฝูงแร้งมาร่อนอีก แต่ที่เมืองพะม่าจะเป็นด้วยเหตุใดจึงถึงต้องให้คนขึ้นนั่งยามบนหลังคาราชมณเฑียรคอยไล่แร้ง หาทราบไม่

จะพรรณนาว่าด้วยปราสาทราชมณเฑียรที่เมืองมัณฑเล นึกหาที่แห่งใดในกรุงเทพฯ เปรียบแผนผังให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นไม่เห็นมี เพราะปราสาทราชมณเฑียรพะม่าล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้ ยกพื้นสูงกว่าชาลาเพียง ๒ ศอก ไม่ใหญ่โตเป็นปึกแผ่นสง่างามเหมือนปราสาทราชมณเฑียรในกรุงเทพฯ ว่าตามตาเห็นแต่ข้างหน้าเข้าไปหาข้างใน เนินปราสาทด้านหน้ามีบันไดก่อกว้างเป็นทางขึ้น พ้นบันไดขึ้นไปมีท้องพระโรง ๓ หลัง หลังหนึ่งปลูกขวางไปทางข้างขวา อีกหลังหนึ่งปลูกขวางไปทางข้างซ้าย ด้านสะกัดมาจดท้องพระโรงหลังกลาง ซึ่งปลูกยาวเข้าไปเหมือนเป็นมุขหน้าของมหาปราสาท ท้องพระโรง ๓ หลังนั้นขนาดเดียวกัน ปลูกโถงใช้ม่านเป็นฝาเวลามีงาน หลังขวางทำหลังคา ๒ ชั้นเป็นที่ขุนนางผู้น้อยกรมต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเช่นเดียวกับทำเนียบข้าราชการไทยแต่โบราณ กรมฝ่ายขวาเฝ้าข้างหนึ่ง กรมฝ่ายซ้ายเฝ้าข้างหนึ่ง ท้องพระโรงหลังกลางหลังคา ๓ ชั้นสำหรับขุนนางผู้ใหญ่เฝ้า ท้องพระโรงทั้ง ๓ หลังนั้นข้างในยังมีคราบพอสังเกตได้ว่าเดิมลงรักปิดทองเขียนลวดลายทั้งเสาและเพดาน เสาใช้ไม้สักต้นใหญ่โตน่าพิศวง ชวนให้เห็นว่าเพราะเมืองพะม่ามีป่าไม้สักอยู่ใกล้ราชธานี หาไม้ดีได้ง่ายกว่าไทย จึงชอบสร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นเครื่องไม้ไเม่เปลี่ยนเป็นก่ออิฐเหมือนในเมืองไทย พะม่าเพิ่งมาริทำราชมณเฑียรเป็นตึกเมื่อสมัยพระเจ้าสีป่อมีสักสองสามหลัง ว่าให้ช่างฝรั่งชาวอิตาลีคิดแบบ แต่ก็เป็นตึกชั้นเดียวอย่างเล็กๆ ฝืมือทำเลวไม่สมกับชื่อช่างชาวอิตาลี ท้องพระโรงหน้าในเวลาเมื่อฉันไปดู เห็นหลังขวางข้างซ้ายหลังคาทรุดเพราะโคนเสาผุขาด ช่างของรัฐบาลกำลังดีดเสาซ่อมแซม เห็นได้ว่ามีการบำรุงรักษาอยู่มิได้ทอดทิ้ง.

พ้นท้องพระโรงเข้าไปถึงมหาปราสาท แผนผังเป็น ๔ เหลี่ยมจตุรัส ไม่มีมุข รูปภาพมหาปราสาทองค์นี้เมื่ออยู่ที่เมืองอมรบุระยังมีปรากฏอยู่ เป็นปราสาทโถงมีฝาแต่ด้านใน เมื่อพระเจ้ามินดงย้ายเอามาปลูกที่เมืองมัณฑเลก็ทำอย่างเดิม เพราะยังมีฝาตั้งเป็นลับแลใหญ่แต่พื้นขึ้นไปจนถึงชายคาปราสาท สำหรับบังฝนอยู่ข้างนอกทั้งสองข้าง น่าจะเป็นพวกอังกฤษทำฝาด้านข้างขึ้นเมื่อใช้มหาปราสาทเป็นสถานที่ทำงาน ฝามหาปราสาทด้านหลังแต่ “ครั้งบ้านเมืองดี” ฉันเคยเห็นรูประบายสี มีอยู่ในหนังสือเรื่องทูตอังกฤษไปเมืองพะม่าเล่มหนึ่ง พื้นฝาทาสีแดงเขียนลายทองมืรูปเทพนมรายเป็นชั้นๆ เหมือนอย่างดอกผ้า ที่กรอบฝาเขียนเป็นกรวยเชิง พิเคราะห์ก็คือทำให้เหมือนม่านขึงนั่นเอง จึงเห็นว่าเมื่อเป็นปราสาทโถง ด้านข้างก็คงผูกม่านสีและลายอย่างเดียวกันกับฝาด้านหลัง แต่เดี๋ยวนี้ฝาเป็นแต่ทาดินแดงทั้ง ๓ ด้าน ด้านข้างเป็นฝาทึบ ด้านในยังมีพระทวารตามเดิม ๓ ช่อง พระทวารกลางเป็นทางเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ พระทวารสองข้างเป็นทางเดินเข้าออก สีหาสนบัลลังก์นั้นทำด้วยไม้จำหลักปิดทองล่องชาดประดับกะจก เป็นแท่นไม่มีบุษบก สัณฐานถ้าบอกรูปอย่างไทยก็เป็นทรง “เชิงบาตร” (ฝรั่งว่าเหมือนนาฬิกาทราย) ฐานล่างที่ต่อพื้นเป็นหน้ากะดาน แล้วทำเป็นชั้นเล็กๆ มีกะจังประดับกะจก ลดขนาดต่อกันขึ้นไปจนถึง “สะเอว” ที่รัดกิ่ว (ไม่ทำฐานสิงห์เหมือนอย่างไทย) ตรงที่สะเอวเป็นหน้ากะดานต่อขึ้นไปก็เป็นขั้นมีกะจังรายขยายใหญ่ออกไปเป็นลำดับ จนที่สุดเป็นหน้ากะดานเหมือนข้างล่าง ต่อนั้นขึ้นไปใกล้ที่ประทับเป็นทรง “บัวหงาย” ที่หน้ากะดานทั้งข้างล่างข้างบนและตรงสะเอว ทำซุ้มคูหาเล็กๆ รายเป็นแถวทั้ง ๓ ชั้น ในคูหาตั้งรูปราชสีห์เป็นเครื่องหมายนามราชบัลลังก์ทุกช่อง บรรดาราชบัลลังก์พะม่าทำรูปสัณฐานอย่างเดียวกันทั้งนั้น ผิดกันแต่ขนาดสูงต่ำใหญ่ย่อมและรูปภาพเครื่องหมายนามราชบัลลังก์ แต่พะม่านับถือราชบัลลังก์ว่าเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศอย่างสำคัญ ทำไว้ในราชมณเฑียรสถาน ณ ที่ต่างๆ ถึง ๘ องค์ ขนานนามต่างๆ และสำหรับพระเจ้าแผ่นดินประทับบำเพ็ญพระราชกิจต่างๆ ตามตำรา บางทีไทยเราก็จะมีธรรมเนียมทำนองเดียวกันแต่โบราณ ด้วยมีเค้าเงื่อนครั้งกรุงสุโขทัยปรากฏอยูในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ว่าทรงสร้างราชบัลลังก์ศิลา ขนานนามว่า “มนังคศิลาบาตร” และบอกกิจที่ใช้ไว้ในจารึกว่าให้พระมหาเถระขึ้นนั่ง “สวดธรรมแก่อุบาสก” (คือเทศนา) ในวันพระ นอกจากวันพระ พระเจ้ารามคำแหงฯ เสด็จประทับตั้ง “ลูกเจ้าลูกขุน” ให้ “ถือบ้านถือเมือง” ที่ในเมืองพะม่าก็ยังมีราชบัลลังก์องค์หนึ่งสำหรับราชกิจเช่นนั้น จะเลยบอกบรรยายราชบัลลังก์พะม่าทั้ง ๘ ต่อไปตรงนี้ด้วยทีเดียว

๑. สีหาสนบัลลังก์ Thihathana Balin ใหญ่กว่าและสำคัญกว่าเพื่อน ทำรูปราชสีห์ประดับอยู่ในมหาปราสาท เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมเต็มยศใหญ่

๒. หังสาสนบัลลังก์ Henthathana Balin ทำรูปหงส์ประดับ อยู่ในท้องพระโรงกลาง เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกรับทูตต่างประเทศ

๓. คชาสนบัลลังก์ Gagyathana Balin ทำรูปช้างประดับ อยู่ในหอประชุมมุขมนตรี

๔. สังขาสนบัลลังก์ Thinkathana Balin ทำรูปสังข์ประดับอยู่ในราชมณเฑียร เป็นที่ประทับพระราชทานยศศักดิ์

๕. ภมราสนบัลลังก์ Bamayathana Balin ทำรูปตัวผึ้งประดับอยู่ในมหามณเฑียรแก้ว เป็นที่ประทับในการพิธีฝ่ายใน

๖. มิคาสนบัลลังก์ Migathana Balin ทำรูปกวางประดับ อยู่ที่มณเฑียรปลีกองค์หนึ่ง เป็นที่จบพระหัตถ์ถวายไทยธรรม

๗. มยุราสนบัลลังก์ Mayanyothana Balin ทำเป็นรูปนกยูงประดับ อยู่ในมณเฑียรปลีกองค์หนึ่ง เป็นที่ประทับทอดพระเนตรพระยาช้างเผือก

๘. ปทุมาสนบัลลังก์ Padommathana Balin รูปดอกบัวประดับ อยู่ในมณเฑียรท้องพระโรงหลัง เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมฝ่ายสตรี

ราชบัลลังก์ที่พรรณนามานี้ เมื่ออังกฤษเอาปราสาทราชมณเฑียรใช้เป็นที่ทำงาน เห็นกีดขวางให้ยกย้ายไปเสียที่อื่นหลายองค์ ครั้น ลอร์ด เคอลัน สั่งให้กลับบูรณะปฏิสังขรณ์ราชมณเฑียร นายงานเที่ยวค้นหาราชบัลลังก์จะเอามาตั้งที่เดิม ปรากฏว่าศูนย์หายไปเสียบ้าง เดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่ไม่ครบทั้ง ๘ ตามจำนวนเดิม แม้องค์ที่ยังอยู่ รูปสัตว์ที่ตั้งในซุ้มคูหาก็หายไปเสียเกือบหมดแล้ว

ยังมีรายการที่จะต้องพรรณนาถึงมหาปราสาทต่อไป จะว่าด้วยสีหาสนบัลลังก์เสียให้สิ้นกระบวรก่อน สีหาสนบัลลังก์นั้นสูง ๓ ศอกเศษ มีบันไดลงที่ตรงต่อกับพระทวารทั้ง ๒ ข้าง เหมือนอย่างพระที่นั่งบุษบกมาลาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย รอบราชบัลลังก์ก็ยกพื้นสูงขึ้นกว่าพื้นปราสาทลักศอกหนึ่ง มีลูกกรงที่ขอบยกพื้นทั้ง ๓ ด้าน ด้านหน้ามีช่องและขั้นบันไดทางเสด็จออกหน้าท้องพระโรง ตัวพระแท่นสีหาสนบัลลังก์แม้ไม่มีบุษบกเหมือนพระที่นั่งบุษบกมาลาของไทย แต่เขาทำซุ้มจระนำประกอบกับพระทวารทางเสด็จออกเป็นอย่างที่เราเรียกว่า “เรือนแก้ว” ให้ส่งศรีที่ประทับเป็นสง่า เรือนแก้วนั้นจำหลักลวดลายอย่างวิจิตรพิสดาร ทำเป็นซุ้มแบบพะม่า มียอดอยู่ตรงกลางและมีช่อฟ้ายื่นยาวออกไปทั้งสองข้าง ที่ยอดซุ้มกลางจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ที่ช่อฟ้า และมีรูปเทวดารายตามบราลีระหว่างยอดกับช่อฟ้าสองข้างๆ ละ ๑๖ รูป รวมเป็น ๓๓ รูปทั้งพระอินทร์ หมายความว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ปลายเสาและโคนเสาซุ้มทั้งสองข้างจำหลักเป็นรูปโลกบาลทั้ง ๔ ตอนกลางเสาจำหลักเป็นรูปนกยูงหมายความว่าพระอาทิตย์ข้างหนึ่ง รูปกะต่ายหมายความว่าพระจันทร์ข้างหนึ่ง (ฝรั่งว่าประดับรูปภาพทั้งปวงนี้เพื่อ) หมายความแสดงว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับราชบัลลังก์นั้นเป็นหลักโลก Centre of the Universe ยังมีเทวรูปติดที่บานพระทวารกลางอีกทั้งสองบาน เป็นรูปพระอินทร์บานหนึ่ง รูปพระพรหมบานหนึ่ง รูปภาพทั้งปวงนี้ถ้าจะว่าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์ก็เห็นจะได้เหมือนกัน แต่สีหาสนบัลลังก์กับทั้งเรือนแก้วนั้นเมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ๆ “ไม่สู้นัยน์ตา” ด้วยฝีมือทำไม่เกลี้ยงเกลา หุ่นรูปภาพก็เตอะตะไม่น่าชม งามแต่แลดูไกลๆ เห็นจะเป็นของสร้างพร้อมกับมหาปราสาทเมื่อครั้งรัชชกาลพระเจ้าสารวดี เพราะเห็นของที่อื่นอันช่างพะม่าสมัยพระเจ้ามินดงทำฝึมือจำหลักไม้ดีกว่านี้มาก พระทวารสองข้างก็มีซุ้มจระนำจำหลักปิดทอง แต่เป็นอย่างซุ้มสามัญไม่มียอดและไม่จำหลักวิตถารเหมือนซุ้มพระทวารกลาง

การที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ในมหาปราสาท ในอธิบายราชพิธีพะม่าว่าเสด็จออกการพิธีประจำปีละ ๓ ครั้ง คือขึ้นปีใหม่ เมื่อสงกรานต์เสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการในกรุงถือน้ำกระทำสัตย์ครั้ง ๑ เมื่อเข้าพรรษาเสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการในกรุงเฝ้าอีกครั้ง ๑ (จะเข้ากับกิจการอันใดสืบไม่ได้ความ) เมื่อออกพรรษาเสด็จออกให้เจ้านายประเทศราชและข้าราชการหัวเมืองถือน้ำกระทำสัตย์พร้อมกับเจ้านายและขุนนางในกรุงอีกครั้ง ๑ นอกจากนั้นเสด็จออกในพิธีจรที่เป็นงานใหญ่เช่นราชาภิเษกเป็นต้น เมื่อพระราชบุตรรวบพระเกศาเกล้าเป็นจุก (ตรงกับพิธีโสกันต์ แต่ไทยเราตัดพระเกศาจุกกลับกัน) และเมื่อพระราชบุตรทรงผนวชเป็นสามเณร ก็ทำพิธีในมหาปราสาท แต่พิธีทรงผนวชมีพระสงฆ์ เห็นจะทอดราชอาสน์ต่างหาก ไม่ประทับสีหาสนบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์นั้น ตั้งเศวตฉัตรชั้นเดียวรายตามฝาด้านหลัง (อย่างไทยตั้งฉัตรเครื่องสูง) ข้างละ ๔ คัน พระอัครมเหสีเสด็จออกด้วยและนั่งข้างขวาที่ประทับเป็นนิจ นั่งร่วมราชอาสน์ในธารคำนัลได้แต่พระอัครมเหสีองค์เดียว เวลาเสด็จออกนั้นเจ้านายกับเสนาบดีเฝ้าในประธานมหาปราสาท พวกองครักษ์กับมหาดเล็กอยู่เฉลียงทั้งสองข้าง ในที่เฝ้าตั้งเตียงสำหรับพระมหาอุปราชองค์เดียว นอกจากนั้นเฝ้าอยู่กับพื้น

ต่อมหาปราสาทเข้าไปมีราชมณเฑียรองค์หนึ่งกั้นฝารอบ ปลูกตามยาวเป็นอย่างมุขหลังของมหาปราสาท ที่ตรงต่อพระทวารกลางทำเป็นเกยมีบันไดขึ้นทั้งสองข้าง (ของเดิมศูนย์ไปเสียแล้ว ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เป็นของทำขึ้นแทน) เป็นทางเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ บานพระทวารกลางทำด้วยโลหะปรุปิดทอง เมื่อจะเปิดชักเลื่อนออกไปทั้งสองข้าง ที่ทำเป็นบานปรุนั้นเพราะดูจากห้องในตามช่องปรุเห็นได้ว่าข้าเฝ้าพร้อมเพรียงกันหรือยัง แต่คนอยู่ข้างนอกไม่แลเห็นข้างในเพราะเป็นที่มืดกว่า ในห้องนี้เป็นที่นางในนั่งเวลาเสด็จออกมหาปราสาท และในมณเฑียรหลังนี้ว่าเดิมที่ตรงมุมด้านหลังข้างฝ่ายซ้ายยกพื้นมีลูกกรง ในนั้นมีปราสาทน้อยหลังหนึ่งตั้งบนปลายเสา Standing on a post ไว้รูปเทพารักษ์หลักประเทศอันสิงสถิตอยู่ ณ เขามหาคิรี (ซึ่งจะพรรณนาในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า) เป็นที่ทรงสักการบูชาก่อนเสด็จออกมหาปราสาท พิเคราะห์ดูก็เป็นอย่าง “ศาลพระภูมิ” ของเรานั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ศูนย์ไปเสียแล้ว พ้นราชมณเฑียรหลังนี้เป็นหมดหมู่มหาปราสาท มีทางเดินตามขวางระหว่างมณเฑียร พะม่าเรียกว่า “สะนุ” Sanu สาย ๑ และมีที่พักสำหรับพวกรักษาองค์และมหาดเล็กรับใช้ประจำอยู่หมวดหนึ่งเป็นนิจ พ้นสะนุไปทางตะวันตกมีราชมณเฑียรปลูกตามยาวเข้าไปอีกหลังหนึ่ง เรียกว่า “เชตวัน ชอง” Zetawun Zaung (คำว่า “ชอง” แปลว่า “ราชมณเฑียร”) กั้นฝาเป็นสองห้อง ห้องทางตะวันออกเป็นท้องพระโรงกลางตั้งราชบัลลังก์หงส์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล (เมื่อทำพิธีสงฆ์) และเสด็จออกแขกเมือง (ฝรั่ง) ห้องทางฝ่ายตะวันตกยกพื้นตอนหนึ่ง เป็นที่ไว้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินกับรูปพระอัครมเหสี (เห็นจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างอุทิศถวาย) ในราชวงศ์อลองพระ พระรูปเหล่านั้นว่าทำขนาดเล็กแต่หล่อด้วยทองคำ เชิญออกประดิษฐานทรงสักการบูชาเวลาจะมีงานพิธีใหญ่เช่นถือน้ำเป็นต้นทุกครั้ง ตามอธิบายในหนังสือนำทางเช่นกล่าวมานี้ ชวนให้เข้าใจว่าราชมณเฑียรหลังนี้จะตรงกับที่เรียกว่า “หอพระ” ในกฎมณเฑียรบาลไทย เพราะขนานนามว่า “เชตวัน” และหอพระตามกฎมณเฑียรบาลก็เป็นที่เฝ้าแห่งหนึ่ง ห้องไว้พระรูปนั้นก็เปรียบได้กับหอพระเทพบิดร เดิมก็อยู่ในพระราชวังซึ่งภายหลังสร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์พระนครศรีอยุธยา ที่เมืองพะม่าเห็นจะจัดที่เสด็จออกในหอพระเป็นท้องพระโรงรับแขกเมืองเมื่อมีทูตฝรั่งขึ้นไปบ่อยๆ และในห้องพระรูปนั้นว่าเป็นที่เก็บต้นฉบับหนังสือ “มหาราชวงศ์” พงศาวดารพะม่าด้วย ที่ชาลาข้างฝ่ายซ้ายราชมณเฑียรเชตวันนี้มีหอหลังหนึ่งเรียกว่า “บเยเดก” Byedaik ตั้งราชบัลลังก์ประดับรูปช้าง เป็นที่ประทับเวลาประชุมมุขมนตรี “อัตวินวุน” Atwinwun เช่นเดียวกับประชุมเสนาบดี ณ ศาลาหลุดดอ

ต่อมณเฑียรเชตวันไปมีทางสะนุสำหรับเดินผ่านราชมณเฑียรอีกสาย ๑ แล้วถึงราชมณเฑียรอีกหลังหนึ่งซึ่งปลูกตามขวาง เรียกว่า “บองดอ ชอง” Baund daw Zaung แปลว่า “ราชมกุฎมณเฑียร” Royal Crown room กั้นฝาตามยาวกันเป็นสองห้อง ห้องฝ่ายตะวันออกเป็น “ท้องพระโรงใน” ตั้งราชบัลลังก์รูปสังข์ เป็นที่ประทับพระราชทาน (สุพรรณบัตร) ยศศักดิ์ฝ่ายหน้า เช่นตั้งพระมหาอุปราชเป็นต้น ห้องนี้โดยปกติเป็นที่เสด็จออกวันละ ๓ ครั้ง คือเวลา ๘ นาฬิกาเสด็จออกให้เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่เฝ้าพร้อมกัน (เห็นจะประภาษราชการแผ่นดิน) ครั้ง ๑ เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาเสด็จออกให้ข้าราชการในราชสำนักเฝ้า (เห็นจะทูลรายงานศาลยุติธรรมด้วยศาลหลวงในเมืองพะม่าก็คงขึ้นกระทรวงวัง อย่างเดียวกับธรรมเนียมไทยแต่โบราณ) ครั้ง ๑ เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกาเสด็จออกให้เจ้าหน้าที่เฝ้าฉะเพาะตัว (คือตรัสปรึกษาฉะเพาะผู้ชำนาญกิจการ) ครั้ง ๑ ห้องราชมณเฑียรหลังนี้ทางฝ่ายตะวันตกว่าเป็นที่ไว้เครื่องทรง (เห็นจะตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า “ห้องภูษามาลา”) และเป็นที่ทรงเครื่องเมื่อเสด็จออกงานใหญ่

ต่อราชมณเฑียรนี้มีทางสะนุอีกสาย ๑ แล้วถึงมหามณเฑียรแก้ว พะม่าเรียกว่า “หะมัน นันดอ คยี” Hman nandaw gyi เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ สูงใหญ่กว่าราชมณเฑียรหลังอื่นหมด (ดูขนาดจะเท่าๆ กับพระที่นั่งพิมานรัตยาในกรุงเทพฯ) ทำหลังคา ๕ ชั้น และฝาประดับกะจกทั้งข้างนอกข้างใน แต่สันนิษฐานว่าที่ทำเป็นมณเฑียรแก้วจะทำแปลงต่อชั้นหลัง มหามณเฑียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าแต่เดิมเห็นจะเป็นแต่ปิดทอง เพราะฉะนั้นในหนังสือราชาธิราชจึงเรียกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่า “พระเจ้ามณเฑียรทอง” แต่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นมณเฑียรแก้วเมื่อใดสืบไม่ได้ความ มีผู้บอกแต่ว่ากะจกที่ประดับอยู่เดี๋ยวนี้สั่งมาแต่เมืองเวนิส และฝรั่งชาวอิตาลีประดับเมื่อครั้งพระเจ้ามินดง พิจารณาดูก็เห็นว่าน่าจะจริงดังกล่าว ด้วยลวดลายและฝีมือประดับดูละเอียดและประณีตกว่าฝีมือพะม่า ฝาข้างในก็ใช้กะจกเงาฝรั่งบานใหญ่ๆ มีกรอบทองประดับเป็นแม่ลายหลายแห่ง แต่พิจารณาดูเห็นว่าประดับกะจกเงาหรูหราทั่วไปเช่นนี้น่ากลัวจะรำคาญตาผู้อยู่ในเวลากลางคืนเมื่อแสงไฟฉายออกจากกะจก จะเป็นเพราะเหตุนั้นดอกกระมังจึงปรากฏว่าพระเจ้ามินดงสร้าง “มณเฑียรทอง” ที่ประทับอีกหลังหนึ่งต่างหาก แล้วย้ายไปประทับอยู่ที่มณเฑียรนั้นจนตลอดพระชนมายุ และตรัสสั่งไว้ว่าเมื่อสวรรคตแล้ว ให้รื้อเอาไปปลูกเป็นสังฆาวาส เรียกกันว่า Shwe nan daw แปลว่า “วัดมณเฑียรทอง” ยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ (แต่ฉันไม่ได้ไปดู)

ในมหามณเฑียรแก้วนั้นกั้นฝาแบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนทางตะวันออกเป็นห้องใหญ่ ตั้งราชบัลลังก์รูปตัวผึ้ง มีเศวตฉัตรชั้นเดียวตั้งประจำข้างละคัน ห้องนี้สำหรับทำการพิธีฝ่ายใน เช่นตั้งพระมเหสี พิธีสมโภช (เดือน) พระราชโอรสธิดา พิธีเจาะพระกรรณราชธิดา (ตรงกับโสกันต์เจ้านายพระองค์หญิง) พิธีเษกสมรสพระเจ้าลูกเธอ และเมื่อนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พะม่าเรียกว่า “สิงคาน” Thingan มีการ “สมโภชเลี้ยงลูกขุน” พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหสีเสด็จประทับเสวยบนราชบัลลังก์รูปผึ้ง โปรดให้พระมหาอุปราชและเจ้านายกับทั้งเสนาบดีเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงด้วย ของที่เลี้ยงสงกรานต์นั้นอธิบายว่า “ข้าวเจือน้ำดอกไม้สด” ก็คือ “ข้าวแช่” อย่างของไทยนั่นเอง เป็นอันได้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ว่าการเลี้ยงข้าวแช่มีมาแต่โบราณด้วยกันหลายประเทศ ห้องมหามณเฑียรแก้วทางฝ่ายตะวันตกเป็นที่บรรทม ว่าเดิมกั้นฝาฉากเป็นห้องย่อมๆ หลายห้อง ห้องที่บรรทมว่ามี “ปราสาท” ในนั้นองค์ ๑ (จะทำเป็นตัวพระแท่นหรือจะทำครอบพระแท่นเหมือนอย่างมณฑปน้อยที่พระพุทธบาท คำอธิบายกล่าวไม่ชัด) มีเศวตฉัตรชั้นเดียวตั้งสองข้างปราสาทนั้น นอกจากห้องบรรทม (ก็เห็นจะมีห้องเสวย แต่ไม่กล่าวในอธิบาย) ว่ามีห้องบรรทมของพระภรรยาเจ้าอีก ๔ ห้อง แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่พรรณนามาศูนย์ไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝาใหญ่ที่กั้นกลางกับราชบัลลังก์รูปตัวผึ้งในห้องสำหรับทำพิธี ในห้องนี้เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคต เชิญพระศพมาประดิษฐานที่หน้าราชบัลลังก์ ทำการพิธีอยู่ ๗ วัน แล้วจึงเชิญพระศพไปบรรจุที่มณฑปดังกล่าวมาแล้วแต่หลัง ราชมณเฑียรแถวกลางที่ต่อเนื่องมาแต่มหาปราสาท หมดเพียงมหามณเฑียรแก้วนี้ ต่อไปเป็นทางเดินตามขวางตลอดชาลา มีตำหนักมเหสีเทวีสร้างรายริมทางนั้น ๔ หมู่ (จะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) ตรงนี้จะว่าด้วยราชมณเฑียรที่ยังมีอยู่บนชาลาสองข้างเสียให้สิ้นเชิงก่อน ทางชาลาข้างซ้ายริมเขื่อนเนินปราสาทตรงมหามณเฑียรแก้วออกไป มีมณเฑียรน้อยหลังหนึ่งเรียกว่า “มยอก สะมอก” Myauk Samok ตั้งราชบัลลังก์รูปนกยูง เป็นที่ประทับทอดพระเนตรช้างเผือก และมีปราสาทขนาดย่อมปักเสายื่นออกไปที่ลานวัง ยกพื้นปูกะดานเสมอกับชาลา ว่าสำหรับทรงหลั่งสิโนทกให้น้ำตกถึงแผ่นดิน แต่จะเป็นในการพิธีอันใดหาทราบไม่ ต่อเข้ามาในชาลาตอนนี้ตามแผนผังที่ฝรั่งทำชั้นหลังเป็นที่ว่าง สันนิษฐานว่ามณเฑียรทองของพระเจ้ามินดงที่รื้อไปสร้างวัด เดิมเห็นจะอยู่ตรงนี้ ทางชาลาฝ่ายขวาก็มีมณเฑียรน้อยและปราสาทสำหรับทรงหลั่งสิโนทกเหมือนอย่างข้างฝ่ายซ้าย มณเฑียรน้อยทางนี้เรียกว่า “ตอง สะมอก” Taung Samok ตั้งราชบัลลังก์รูปกวาง สำหรับประทับจบพระหัตถ์ถวายเครื่องไทยธรรมเช่นผ้าไตรพระกฐินเป็นต้น อันเอามาถวายทอดพระเนตรในมณเฑียรนี้ แล้วเสด็จไปทรงหลั่งสิโนทกในปราสาทซึ่งอยู่ติดกัน ในชาลาฝ่ายขวามีสถานสำหรับราชการต่างๆ สร้างไว้แต่ครั้งพระเจ้ามินดงหลายหลัง ทางข้างหน้ามีศาลาสำนักงานพระคลังคู่กับหอประชุมมุขมนตรีที่อยู่ข้างซ้ายหลังหนึ่ง ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อแปลงเป็นตึก เดี๋ยวนี้ใซ้เป็นพิพิธภัณฑสถาน (ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) ต่อเข้าไปมีคลังมหาสมบัติสำหรับเก็บเครื่องเพชรพลอยเงินทองของมหัคฆภัณฑ์ ต่อเข้าไปอีกถึงสถานที่ประชุมของนางใน (ทำนองพระที่นั่งนงคราญสโมสรในกรุงเทพฯ) ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อเดิมเสด็จอยู่ในมณเฑียรแก้ว แล้วเห็นจะไม่สบายจึงคิดสร้างราชมณเฑียรขึ้นใหม่ในชาลาตอนนี้ ให้ช่างฝรั่งชาวอิตาลีคิดแบบทำเป็นตึกหลังเล็กๆ หลายหลัง หลังข้างหน้าเป็นอย่างที่นั่งเย็น มีสวนดอกไม้และน้ำพุ ต่อเข้ามาเป็นห้องสมุด และมีมณเฑียรอยู่ริมเขื่อนสำหรับทอดพระเนตรละคร มีโรงละครปลูกต่อลงไปในลานวังด้วย ข้างหลังเข้ามาแก้ไขที่ประชุมนางในของเดิมเข้ากับที่ประทับ ราชมณเฑียรสร้างแต่ครั้งพระเจ้ามินดงยังมีอีกหมู่หนึ่ง เป็นท้องพระโรงหลังอยู่ริมเขื่อนที่สุดเนินข้างด้านหลังวัง มีทางเสด็จเป็นทำนองท้องฉนวนแต่มหามณเฑียรแก้วตรงไปจนถึง “ท้องพระโรงหลัง” แผนผังท้องพระโรงหลังก็เป็นอย่างเดียวกันกับท้องพระโรงหน้า ผิดกันแต่ขนาดย่อมกว่า และที่เสด็จออกทำเป็นมณเฑียรหลังเดียวกั้นสองห้องแทนมหาปราสาท กับมณเฑียรที่อยู่ข้างหลังทางท้องพระโรงหน้า ในท้องพระโรงหลังตั้งราชบัลลังก์ดอกบัว ทำเครื่องประดับแปลกกับราชบัลลังก์องค์อื่นอย่าง ๑ ที่ตรงหลังซุ้มพระทวารมีรูปฉัตรซ้อน ๗ ชั้นเหมือนฉัตรไทย เป็นแผ่นปิดทองติดฝาเหมือนเป็น “สินเทา” ของซุ้ม แห่งอื่นหามีไม่ ราชบัลลังก์นี้เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหสีเสด็จออกมหาสมาคมฝ่ายสตรี ต่อกับวันเสด็จออกมหาสมาคมฝ่ายหน้า และเป็นที่อัครมเหสีเสด็จออกรับสตรีมีบรรดาศักดิ์เป็นแขกเมืองด้วย เมื่อครั้งพระเจ้ามินดง เวลามีละครในวัง ปลูกโรงละครในสนามข้างหลังวังและประทับทอดพระเนตรละครที่ท้องพระโรงหลัง แต่ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อ กล่าวกันว่าตั้งแต่จับเจ้านายปลงพระชนม์ที่ในวัง พระเจ้าสีป่อเกรงภัยไม่เสด็จไปท้องพระโรงหลังในเวลามืดค่ำ จึงย้ายที่ทอดพระเนตรละครไปสร้างริมราชมณเฑียรที่ประทับดังกล่าวมาแล้ว และยังมีคำเล่าต่อกันไปอีก ว่าเมื่อจะให้ฆ่าเจ้านายนั้นพระเจ้าสีป่อไม่เห็นชอบด้วย แต่เป็นเวลาแรกเสวยราชย์ไม่อาจขัดพระนางอเลนันดอ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชการเวลานั้น นัยว่าพอได้ยินเสียงเจ้านายพี่น้องร้องเมื่อเอาไปประหาร พระเจ้าสีป่อก็เสียเส้นประสาท แต่นั้นมาก็หวาดเสียวไม่เป็นสุข จะเข้าที่บรรทมก็ไม่หลับเป็นปกติ เลยเสวยสุราเมรัยแก้รำคาญ และให้หาละครมาเล่นทอดพระเนตรบ่อยกว่าแต่ก่อน พอให้เพลิดเพลิน

จะพรรณนาว่าด้วยตำหนักนางในต่อไป ตำหนักล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้เป็นเรือนหมู่ละ ๒ หลังหรือ ๓ หลัง มีตั้งแต่เป็นตำหนักขนาดใหญ่ลงไปจนเป็นเรือนขนาดย่อม นัยว่ารวมราวสักร้อยหลังคาเรือน ปลูกรายเรียงกันเป็นแถวๆ ที่บนชาลาปราสาท ตั้งแต่หลังมหามณเฑียรแก้วไปจนถึง “ท้องพระโรงหลัง” ที่สุดชาลาข้างด้านหลังวัง ตำหนักที่สำคัญกว่าเพื่อนมี ๔ หมู่ปลูกเรียงกันตามขวางต่อบริเวณมหามณเฑียรแก้ว (พิเคราะห์เป็นทำนองเดียวกันกับ “ตำหนักเขียว” และ “ตำหนักแดง” ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ครั้งรัชชกาลที่ ๑) ตำหนักใหญ่หมู่อยู่ที่สุดทางข้างขวาเรียกว่า “ตำหนักใต้” เป็นที่ประทับของพระพันปีหลวง แต่เมื่อพระเจ้ามินดงเสวยราชย์พระชนนีสิ้นพระชนม์เสียก่อนแล้ว จึงทรงสถาปนาอัครมเหสีของพระเจ้าสารวดีซึ่งเป็นองค์ชนนีของพระอัครมเหสีขึ้นเป็นที่พระพันปีหลวง อยู่ที่ตำหนักนี้สืบมาตลอดพระชนมายุ ถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อให้แก้ไขเอาเข้ากระบวนกับราชมณเฑียรที่สร้างใหม่ตรงหน้าตำหนักหมู่นี้ ต่อตำหนักหมู่นั้นมาถึงตำหนักใหญ่อีกหมู่หนึ่ง เรียกว่า “ตำหนักกลาง” อยู่ตรงหลังมหามณเฑียรแก้ว เป็นที่ประทับของพระอัครมเหสี ตำหนักหมู่นี้มีเรื่องเล่ากันว่าตั้งแต่อัครมเหสีของพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์แล้วว่างมาตลอดรัชชกาล เมื่อพระเจ้าสีป่อได้วับราชสมบัติใคร่จะอภิเษกเจ้าหญิงสุปยาลัต (แปลว่า “เจ้าฟ้าองค์กลาง”) เป็น อัครมเหสี เพราะผูกสมัครรักใคร่กันอยู่แต่ก่อน แต่พระนางอเลนันดอผู้เป็นชนนีจะให้อภิเษกทั้งเจ้าหญิงสุปยาคยี (เจ้าฟ้าองค์ใหญ่) และเจ้าหญิงสุปยาลัต และให้ยกเจ้าหญิงสุปยาคยีเป็นอัครมเหสีเพราะเป็นพี่ พระเจ้าสีป่อขัดไม่ได้ก็ต้องยอม เจ้าหญิงสุปยาคยีจึงได้อยู่ตำหนักกลาง แต่เจ้าหญิงสุปยาลัตไม่ยอมเป็นน้อยกว่าเจ้าหญิงสุปยาคยี เข้าไปอยู่ในมหามณเฑียรแก้วเสียด้วยกันกับพระเจ้าสีป่อ เจ้าหญิงสุปยาคยีก็เป็นแต่ราชินีอยู่ตำหนักกลางเหมือนอย่างหุ่น ต่อมาไม่ช้าก็เกิดความด้วยถูกหาว่าทำเสน่ห์ ต้องกลับไปอยู่ด้วยกันกับพระชนนี ตำหนักกลางก็ได้แก่นางราชินีสุปยาลัตใช้เป็นที่ประสูติลูกเธอต่อมา ต่อตำหนักกลางไปถึงตำหนักเรียกว่า “ตะบินแดง” Tabindaing เป็นที่อยู่ของนางมกุฎราชกุมารี ด้วยในเมืองพะม่ามีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกหานางกษัตริย์เตรียมไว้สำหรับเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินที่รับรัชชทายาท เมื่อครั้งพระเจ้าสารวดีพระชนกของพระเจ้ามินดงทรงตั้งราชธิดาอันเกิดด้วยอัครมเหสีไว้ในตำแหน่งนั้น แต่พระเจ้าพุกามแมงซึ่งรับรัชชทายาทเป็นพระเชษฐาร่วมชนนีเดียวกัน เจ้าหญิงองค์นั้นก็คงเป็นมกุฎราชกุมารีต่อมาจนถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงจึงได้เป็นอัครมเหสี แต่ไม่มีราชโอรสราชธิดา พระเจ้ามินดงมีราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งเกิดด้วยสนมเอก ทรงนามว่าเจ้าหญิง “สะลิน” พระเจ้ามินดงทรงสังเกตเห็นลักษณะและกิริยามารยาทคล้ายคลึงกับพระชนนีของพระองค์เป็นอย่างอัศจรรย์ เชื่อว่าพระชนนีมาอุบัติก็ทรงพระเมตตามาก ถึงเลือกเจ้าหญิงสะลินตั้งให้เป็นมกุฎราชกุมารี จึงได้อยู่ตำหนักตะบินแดงนั้น แต่เจ้าหญิงสะสินรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเจ้าหญิงสุปยาลัตผูกสมัครรักใคร่กับเจ้าชายสีป่อ เพราะฉะนั้นพอพระเจ้ามินดงสวรรคต ราชสมบัติได้แก่เจ้าชายสีป่อ เจ้าหญิงสะลินก็โกนพระเกศาทรงผนวชเป็นรูปชีที่ตำหนักในทันที มิให้เป็นที่กีดขวาง ก็รอดอันตราย แต่อยู่มาได้ไม่กี่ปีก็สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงสุปยากะเล (เจ้าฟ้าองค์น้อย) น้องของราชินีสุปยาลัตจึงได้อยู่ตำหนักนั้นต่อมา ตำหนักใหญ่ต่อนั้นไปเป็นหมู่ที่สุดข้างซ้ายเรียกว่า “ตำหนักเหนือ” เป็นที่ประทับของมเหสี (รองจากอัครมเหสี) พระนางอเลนันดอได้อยู่แต่แรกสร้างมาจนกระทั่งเสียเมืองพะม่าแก่อังกฤษ ต่อตำหนักใหญ่ ๔ หมู่ไปข้างหลังเป็นตำหนักราชเทวีราชชายาและราชธิดา แล้วถึงเรือนนักสนมเป็นแถวๆ ต่อกันไป แต่ตำหนักและเรือนชานเหล่านั้นเดี๋ยวนี้รื้อเสียหมดแล้ว ยังรักษาไว้แต่ตำหนัก ๔ หมู่ที่ได้พรรณนามา พื้นชาลาตรงที่สร้างตำหนักและเรือนก็เกลี่ยลดต่ำลงเสมอลานวัง ทำเป็นสวนรอบท้องพระโรงหลัง (เมื่อใช้เป็นสโมสรสถานของฝรั่ง) เดี๋ยวนี้ท้องพระโรงหลังจึงดูเหมือนสร้างในกลางสวนแห่งหนึ่งต่างหาก ที่ยังรู้ได้ว่าตำหนักและเรือนชานนางในแต่เดิมเป็นอย่างไร เพราะรัฐบาลอังกฤษให้ทำหุ่นราชวังตอนชาลาปราสาทขึ้นไว้ให้คนดู มีทั้งปราสาทราชมณเฑียรและตำหนักรักษาจำลองเป็นอย่างขนาดเล็กๆ (เช่นเราเรียกว่า “เรือนตุ๊กตา”) ตั้งตรงตามแผนผังอย่างเช่นเป็นอยู่เมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ แล้วเอาศาลาเก่าที่ในลานวังหลังหนึ่งทำฝาลูกกรงเหล็กตั้งหุ่นนั้นไว้ ดูหุ่นเข้าใจได้ดีกว่าดูแผนผังที่พิมพ์ไว้ในหนังสือนำทาง เพราะแลเห็นรูปร่างปราสาทราชมณเฑียรทั้งตำหนัก รักษาที่ปลูกต่อเนื่องกันอย่างไรได้หมด เขาบอกว่าการสร้างหุ่นจำลองนั้นต้องใช้เงิน ๓,๐๐๐ รูปี แต่เป็นประโยชน์มาก นอกจากนั้นรัฐบาลให้เอาตึกเก่าหลังหนึ่งที่ริมราชมณเฑียรอันเคยใช้เป็นสำนักงานของพวกมนตรีมาแต่ก่อน จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานรักษาของต่างๆ ครั้งสมัยมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าไว้ให้คนดูด้วยอีกแห่งหนึ่ง แต่เห็นจะจัดต่อเมื่อพะม่าเสียบ้านเมืองเสียนานแล้ว สิ่งของที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานดูจึงน้อยกว่าที่ควรจะหาได้ เพราะรวบรวมเมื่อของกระจัดพลัดพรายหายศูนย์ไปเสียแล้วโดยมาก ถึงกระนั้นนอกจากของสัพเพเหระอันไม่จำต้องพรรณนา มีของน่าดูหลายอย่าง โดยฉะเพาะสำหรับตาไทยเช่นตัวฉัน จะพรรณนาตามประเภทต่อไป คือ

๑. รูปเครื่องแต่งตัวบุคคลชั้นต่าง ๆ ในเมืองพะม่า ทำหุ่นด้วยไม้จำหลักประสานสีขนาดสูงสัก ๑๐ นิ้ว มีตั้งแต่รูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นลงไปจนถึงรูปคฤหบดี และชาวชนชาติอื่นที่อยู่ในเมืองพะม่า

๒. เครื่องต้นของพระเจ้าแผ่นดินกับอัครมเหสี แต่งหุ่นขนาดเท่าตัวคนตั้งไว้ในตู้กะจก แต่เขียนป้ายบอกไว้ว่าเป็นของจำลอง เห็นจะจำลองจากรูปฉายพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตทรงเครื่องต้นอันมีปรากฏอยู่ พิเคราะห์เครื่องต้นดูคล้ายกับเครื่องแต่งตัวเทวดานางฟ้าที่ทำหุ่นไว้ ณ พระเกศธาตุ คือ ทรงมงกุฎ ฉลองพระองค์ และทรงพระภูษา คาดชายไหวชายแครง เป็นต้น ทำด้วยแพรปักทองเป็นลวดลาย รูปทรงดูทูมทามไม่รัดกุมเป็นสง่าราศี แต่สังเกตเห็นแปลกตาอย่างหนึ่งที่รูปเทวดาพะม่าทำใส่มงกุฎทรงเหมือนชฎาไทย แต่มงกุฎเครื่องต้นพะม่าทำเป็นทรง “ตุ้มปี่” มียอดแต่หน่อยหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะแบบชฎาเช่นทำเทวรูปเป็นของสำหรับใส่คนไว้ผมสั้นหรือมุ่นผมมวยข้างหลัง พะม่าไว้ผมจุกครอบไม่ลง จึงแก้มงกฎไปเป็นทรงตุ้มปี่ ที่ว่านี้ตามความคิดเห็นของฉัน

มีคดีประหลาดเรื่องหนึ่งซึ่งควรจะเล่าแทรกลงตรงนี้ ฉันอยากจะเห็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าตั้งแต่แรกไปถึงเมืองมัณฑเล นึกว่ารัฐบาลอังกฤษคงเก็บรักษาไว้ เมื่อไม่เห็นมีในพิพิธภัณฑสถาน ต่อมาวันหลังฉันพบเจ้าพะม่าที่รัฐบาลให้มาเป็นผู้ชี้แจงขนบธรรมเนียมเก่า ถามเธอว่าของเหล่านั้นเอาไว้ที่ไหน เธอตอบว่าศูนย์เสียหมดแล้ว แล้วเลยเล่าเรื่องต่อไปว่าเมื่ออังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลนั้น ได้ตรัสฝากเครื่องราชูปโภคและของมหัคฆภัณฑ์ทั้งปวงที่มีอยู่ในราชวังแก่นายพันเอก สะเลเดน Colonel Sladen ซึ่งรัฐบาลอังกฤษให้เป็นผู้บัญชาการบ้านเมืองในเวลานั้น ด้วยเคยคุ้นกับพระองค์มาแต่ครั้งพระเจ้ามินดง แต่นายพันเอก สะเลเดน ยักยอกเอาของเหล่านั้นไปเป็นของตนเสียหมด พระเจ้าสีป่อร้องฟ้องต่อรัฐบาลอังกฤษ ๆ ก็ให้ไต่สวน แต่การไต่สวนโยกโย้โลเลอยู่มาจนนายพันเอก สะเลเดน ถึงแก่กรรม คดีกับทั้งสิ่งของก็เลยศูนย์ไป ฉันได้ฟังก็ประหลาดใจ ด้วยได้ทราบความตามหนังสือเรื่องเมืองพะม่าซึ่งฝรั่งผู้แต่งได้สืบสวนจากผู้อยู่ ณ เมืองมัณฑเลในสมัยนั้น เล่าถึงเหตุการณ์ว่าเมื่อก่อนอังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเล ได้ถามพวกเสนาบดีพะม่าว่าจะสมัครทำการกับอังกฤษต่อไปหรือไม่ พวกเสนาบดีรับ อังกฤษจึงให้คงบังคับบัญชาการอยู่ตามตำแหน่งหน้าที่ เป็นแต่ให้ฟังบังคับบัญชานายพันเอกสะเลเดน ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อพาพระเจ้าสีป่อไปแล้วกองทัพอังกฤษยังตั้งอยู่ที่เมืองมัณฑเล แม่ทัพให้วางทหารยามคอยตรวจตราผู้คนเข้าออกทุกประตูเมืองและประตูวัง พวกเสนาบดีพะม่าร้องขอให้ผ่อนผันให้นางในใช้บ่าวไพร่ไปเที่ยวซื้อหาอาหารตามตลาดนอกวังได้เหมือนอย่างเดิม แม่ทัพอังกฤษก็สั่งทหารยามให้ปล่อยผู้หญิงเช้าออกได้โดยสะดวก ผู้หญิงจึงมิต้องถูกตรวจค้นเหมือนอย่างผู้ชาย ในวันที่พระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลนั้นเอง พอตกกลางคืนพวกชาววังก็พากันขึ้นลอบลักของมหัคฆภัณฑ์ที่อยู่ในคลังและในราชมณเฑียร แล้วให้ผู้หญิงชาวนอกวังที่เป็นสมัครพรรคพวกพาของซ่อนเร้นเอาออกไปนอกวังได้โดยสะดวก ฝรั่งยืนยันว่าพวกพะม่าเองคบคิดกันลักเครื่องราชูปโภคและของมหัคฆภัณฑ์ไปในวันนั้น ครั้นกิตติศัพท์แพร่หลายจึงใส่ความให้ร้ายนายพันเอกสะเลเดนเมื่อตัวไปจากเมืองพะม่าแล้ว พิเคราะห์ดูก็น่าจะจริงดังฝรั่งกล่าว เพราะคิดไม่เห็นว่านายพันเอกสะเลเดนจะสามารถยักยอกเอาเครื่องราชูปโภคไปได้ด้วยอุบายอย่างใด ด้วยตัวเป็นฝรั่งอยู่นอกวัง จะลอบเข้าไปลักเก็บของขนเอาไปโดยมิให้ใครรู้อย่างไรได้ ถ้าสั่งให้เก็บของขนเอาไปโดยเปิดเผย รัฐบาลอังกฤษก็คงต้องรู้ เรื่องนี้เมื่อฉันกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งพบกับเลขานุการใหญ่ของรัฐบาล เขาถามฉันถึงการที่ไปเที่ยวเมืองพะม่าเหนือ ฉันเล่าให้ฟังตลอดจนเรื่องเครื่องราชูปโภคหายตามที่ได้ยินมา เขาว่าเป็นเรื่องที่พวกพะม่ากล่าวกันมานานแล้ว พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ครั้งนั้น พระเจ้าสีป่อมีเวลาเตรียมพระองค์อยู่ถึงสามสี่วัน คงรวบรวมของมหัคฆภัณฑ์เอาไปด้วยไม่น้อย ข้อนี้มีเค้าเงื่อนด้วยเมื่อลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง พระเจ้าสีป่อประทานแหวนทับทิมเป็นบำเหน็จแก่พวกนายเรือที่พามาหลายคน ถึงกระนั้นก็คงมีของมหัคฆภัณฑ์อันไม่สามารถจะหยิบยกเอาไปได้สะดวกเหลืออยู่ที่วังมิมากก็น้อย จึงเกิดการลอบลักเมื่อวันเอาพระเจ้าสีป่อไป ตัวเขาเองมารับราชการที่เมืองพะม่าภายหลังเหตุการณ์ช้านานแล้ว แต่ทันได้พบผู้อยู่ในวังเวลานั้นซึ่งได้เห็นด้วยตาตนเองเล่าให้ฟัง ว่าในคืนวันนั้นสิ่งใดเป็นของมีค่าพอจะหยิบยกเอาไปได้ แม้ที่สุดจนพรมเจียมที่ปูในพระที่นั่งพวกที่ขึ้นลักของก็เก็บเอาไปหมด ด้วยไม่มีใครหวงแหนห้ามปราม เลขานุการใหญ่เขาเห็นว่าถ้าพระเจ้าสีป่อหรือเสนาบดีพะม่ารีบบอกให้รัฐบาลทราบเสียโดยเร็ว ก็คงจะค้นคว้าสืบสวนเอาของคืนมาได้มิมากก็น้อย แต่นิ่งเสียหลายปีจึงร้องเมื่อหาหลักฐานไม่ได้เสียแล้ว คดีจึงศูนย์ไป เขาเล่าต่อไปว่ายังมีประหลาดอีกข้อหนึ่ง ด้วยปรากฏมาแต่ก่อนว่าพระเจ้ามินดงได้ทับทิมใหญ่ไว้เม็ดหนึ่งขนาดสักเท่าไข่นกพิราบ ใหญ่กว่าทับทิมเม็ดอื่นๆ บรรดามีในโลก ทับทิมเม็ดนั้นหายไปด้วย จนทุกวันนี้กว่า ๕๐ ปีมาแล้วก็ไม่ปรากฏว่าไปตกอยู่ประเทศไหน สันนิษฐานกันว่าผู้ที่ได้ไปผ่าออกเป็นหลายเม็ด ด้วยเกรงว่าถ้าเอาออกขายทั้งเป็นเม็ดใหญ่อย่างเดิมจะถูกจับ แต่ฉันมารู้เมื่อภายหลังว่าเครื่องราชูปโภคนั้นรัฐบาลอังกฤษตามได้หลายสิ่ง เดี๋ยวนี้เอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานวิคตอเรียแอนด์อัลเบิต

๓. เครื่องแต่งตัวคามแบบ Uniform ของพะม่า (ตัวจริง) ที่ขุนนางเก่าเจ้าของมีแก่ใจให้พิพิธภัณฑสถาน ทำหุ่นเท่าตัวคนแต่งตั้งไว้ในตู้กะจก มีเครื่องแต่งตัวขุนนางต่างชั้นกับทั้งเครื่องแต่งตัวภรรยาเวลาเข้าเฝ้าเต็มยศหลายอย่าง

พิเคราะห์ดูเครื่องแต่งตัวเต็มยศขุนนางพะม่า ดูก็เป็นเค้าเดียวกันกับเครื่องแต่งตัวขุนนางไทยแต่โบราณ คือนุ่งผ้าสวมเสื้อครุยใส่ลอมพอก เพี้ยนกันแต่พะม่านุ่งลอยชาย เสื้อครุยเป็นผ้าหนามีสายรัดเอว (เหมือนเสื้อ Dressing gown ฝรั่ง) และลอมพอกตอนยอดทำรูปป่องไม่รัดแหลมเหมือนของไทย คงเป็นเพราะพะม่าไว้ผมเกล้าจุก แต่มีแปลกอย่างหนึ่งที่ขุนนางพะม่าเวลาแต่งเต็มยศถือพัดใบตาลปิดทองด้ามยาว (เหมือนอย่างที่นางพัดงานโสกันต์ถือ) เป็นเครื่องยศด้วย ภรรยาขุนนางไทยเดิมก็มีเครื่องแบบสำหรับแต่งเต็มยศ พรรณนาไว้ในกฎมณเฑียรบาลหลายอย่าง แต่ไม่ใช้มาเสียนานแล้ว จะผิดเพี้ยนกับของพะม่าอย่างไรทราบไม่ได้

๔. เครื่องยศขุนนางพะม่า (ตัวจริง) ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานก็เป็นทำนองเดียวกันกับเครื่องยศของไทย เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูและกะโถนเป็นต้น แต่เห็นจะรวมได้เพียงของสำหรับยศชั้นต่ำ เครื่องยศชั้นสูงที่เป็นเงินเป็นทองเจ้าของคงไม่ยอมให้

๕. ราชยาน (ตัวจริง) มียานมาศทาสีแดงจำหลักลายปิดทองใหญ่โตแทบเท่ายานมาศ ๓ ลำคานของไทย ว่าต้องหามถึง ๔๐ คน แปลกที่ทำที่นั่งทั้งข้างหน้าและช้างในนั่งหันหน้าหากัน (เหมือนรถแลนดอฝรั่ง) เพราะฉะนั้นในตำราราชพิธีพะม่าจึงปรากฏว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปงานใหญ่เช่นงานราชาภิเษก ทรงยานมาศมีดรุณีนั่งไปด้วย ๔ คน มีราชยานสำหรับมเหสีเทวี คีอ สีวิกา (ตัวจริง) อยู่สัก ๓ หลัง ที่นั่งอย่างเดียวกับสีวิกาไทย แต่ตรงต่อพื้นมีกะจังข้างหน้าแล้วลดลงตรงทางขึ้น ต่อไปข้างหลังกะจังสูงขึ้นเป็นกนก “เกริ่น” อยู่ข้างท้าย หลังคาทำเป็นยอดปราสาท ๗ ชั้นสำหรับอัครมเหสี และลดชั้นน้อยกว่านั้นลงมาตามลำดับยศ ดูหนักกว่าสีวิกาไทยมาก เห็นจะต้องหามตั้ง ๒๐ คน

๖. เศวตฉัตร มี (ตัวจริง) เป็น ๒ ขนาด ขนาดใหญ่สักเท่าพระกลดไทย ขนาดย่อมๆ กว่านั้นสักหน่อย ล้วนเป็นฉัตรชั้นเดียว หุ้มผ้าขาวมีระบายขลิบทอง ๓ ชั้น คันยาวเช่นพระกลดไทย กล่าวในหนังสือนำทางว่าสำหรับตั้งข้างราชบัลลังก์และสำหรับเชิญแห่เสด็จ ด้วยตามประเพณีพะม่าเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปไหนมีคนเชิญเศวตฉัตรข้างละ ๔ คันเป็นนิจ เศวตฉัตรชั้นเดียวเช่นของพะม่า ในเมืองไทยเราก็มี ทำเป็นพุทธบูชาแขวนกั้นพระประธานปรากฏอยู่หลายแห่ง จะระบุตามที่นึกได้ ดูเหมือนมีที่วัดหน้าพระเมรุกับวัดกษัตรา ณ พระนครศรีอยุธยา และที่วัดใหญ่เมืองเพ็ชรบุรี เป็นของทำแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น

จะแทรกวินิจฉัยเรื่องฉัตรสักหน่อย เพราะไทยเราเรียกฉัตรชั้นเดียวเช่นเศวตฉัตรพะม่าที่พรรณนามาว่า “กลด” ต่อทำซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นจึงเรียกว่า “ฉัตร” มูลของคำว่า “ฉัตร” เป็นภาษาสันสกฤต ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ว่า “ร่ม” ไม่เกี่ยวกับต้องมีกี่ชั้น ที่เรียกว่า “เศวตฉัตร” ก็หมายความเพียงว่า “ร่มสีขาว” คำนี้พวกไทยชาวลานช้างเขาใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินของเขาว่า “พระเจ้าร่มขาว” มาแต่โบราณ การที่ใช้ฉัตรสีขาวใช้ได้แต่เจ้าแผ่นดิน (ความส่อต่อไปว่าฉัตรเครื่องยศของผู้ที่มิได้เป็นเจ้าแผ่นดินต้องใช้สีอื่น) เป็นประเพณีมีมาในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มีอธิบายเป็นเช่นนั้น ประเทศทางตะวันออกเหล่านี้ได้แบบมาจากอินเดียด้วยกันทั้งนั้น เป็นแต่มาดัดแปลงรูปฉัตรและแก้ไขขนบธรรมเนียมใช้ฉัตรต่างๆ กันไป พิเคราะห์ดูรูปฉัตรเดิมเห็นว่าจะเป็นชั้นเดียว (คือร่มคันยาวมีคนอื่นถือกั้น) ที่ทำฉัตรซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นน่าจะเป็นของสำหรับตั้งประจำที่และคิดทำขึ้นภายหลัง ถึงกระนั้นก็มีมาช้านานเหมือนกัน รูปฉัตรของโบราณในอินเดียตามที่จำหลักศิลาประกอบกับรูปภาพ ทำเป็นฉัตรชั้นเดียวทั้งนั้น ฉัตรซ้อน ๓ ชั้นมีตัวอย่างทำปักเป็นยอดพระเจดีย์สาญจิของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทำเป็นรูปฉัตรชั้นเดียว ๓ คันปักต่อๆ กันขึ้นไป แลเห็นคันฉัตรทั้ง ๓ ชั้น ฉัตรของไทยในกฎมณเฑียรบาลว่ามี ๖ อย่าง คือฉัตรชั้นเดียว ฉัตร ๒ ชั้น ฉัตร ๓ ชั้น ฉัตร ๕ ชั้น ฉัตร ๗ ชั้น ฉัตร ๙ ชั้น (ฉัตร ๔ ชั้น ๖ ชั้น ๘ ชั้นหามีไม่) พิเคราะห์ตามอธิบายนั้น สันนิษฐานว่าฉัตรสำหรับให้คนถือกั้นเวลาเดินทาง เดิมเห็นจะทำรูปเป็นฉัตรชั้นเดียวทั้งนั้น เพราะจะต้องให้เบา แต่ไทยเรียกว่า “พระกลด” ใช้เครื่องหมายศักดิ์ต่างกันที่ระบาย พระกลดพระเจ้าแผ่นดินทำระบาย ๓ ชั้น พระกลดเจ้านายทำระบาย ๒ ชั้น สัปทน (คือฉัตร) ขุนนางทำระบายชั้นเดียว ฉัตรจำพวกพระกลดนับว่าระบาย ๓ ชั้นเป็นอย่างสูงสุด เศวตฉัตรพะม่าจึงทำเป็นอย่างเช่นกล่าวมาแล้ว ต่อฉัตรสำหรับเอาไว้กับที่จึงทำเป็นฉัตรซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น ไทยเรียกว่า ฉัตร” แต่พวกนี้ ยังมีฉัตรที่มาแก้ไขเป็นอย่างอื่นกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลอีกหลายอย่าง ล้วนเป็นเครื่องยศทั้งนั้น พึงสังเกตอย่างหนึ่ง แม้ในกฎมณเฑียรบาลก็เรียกว่า “ฉัตร” แต่ที่ตั้งอยู่ประจำที่ ถ้าทำสำหรับถือเดินทางถึงรูปเหมือนฉัตรก็เรียกชื่ออย่างอื่น เช่นเรียกว่า อภิรุม ชุมสาย กรรชิง กลิ้งกลด ร่ม ก็ฉัตรนั่นเอง

การที่ใช้ฉัตรเป็นเครื่องยศ ดูประหลาดที่ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ แทบทุกประเทศที่เคยใช้ฉัตรมาแต่โบราณ จะยกตัวอย่างดังในอินเดียเดี๋ยวนี้ แก้รูปฉัตรไปคล้ายกับร่มปีกค้างคาวขนาดใหญ่ ปักทอง ดูเหมือนจะมีกำหนดกั้นฉัตรแต่เจ้าครองเมือง อังกฤษที่มาปกครองอินเดียก็มารับใช้ฉัตรเป็นเครื่องยศด้วย พึงเห็นได้ดังเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเสด็จมาอินเดีย เสด็จไปไหนๆ มีคนเชิญฉัตรกั้น แม้ทรงรถอย่างฝรั่งก็มีคนนั่งกั้นฉัตรไปข้างท้ายรถ ไวสรอยผู้สำเร็จราชการอินเดีย เมื่อไปไหนโดยยศศักดิ์ก็มีคนกั้นฉัตรเหมือนเช่นนั้น เมืองชะวามะลายูและเขมรญวนก็ยังใช้ฉัตรเป็นเครื่องยศ สัปทนจีนก็คือฉัตรนั่นเอง เดี๋ยวนี้ยังใช้แต่แห่เจ้า ที่เมืองพะม่าเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ก็มีฉัตร (รูปเป็นร่มคันยาว) กั้นเป็นเครื่องยศมาจนกระทั่งเสียบ้านเมือง กล่าวไว้ในหนังสือฝรั่งแต่งว่า แม้ชาวต่างประเทศที่เป็นตัวหัวหน้าเช่นกงซุล ก็ได้พระราชทานฉัตร Umbrellar เครื่องยศ เวลาไปไหนให้คนถือกั้นไปเสมอ เพราะราษฎรเห็นฉัตรย่อมยำเกรงไม่กีดขวาง เป็นความสะดวกแก่การไปมา ฝรั่งจึงชอบ ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนที่เมืองชะวาจะใช้ฉัตรเครื่องยศอย่างวิตถารยิ่งกว่าที่อื่นๆ หมด พวกขุนนางฮอลันดาที่ไปปกครองก็รับใช้ฉัตรเป็นเครื่องยศด้วยเหมือนกัน

ดูปราสาทราชมณเฑียรกับเครื่องยศของพะม่า ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งพิศวง ด้วยขนบธรรมเนียมในราชสำนักพะม่า ดูคล้ายกันกับขนบธรรมเนียมไทยแต่โบราณมาก พะม่ากับไทยได้แบบวัฒนธรรมมาจากอินเดียด้วยกันแต่ดึกดำบรรพ์ก็จริง แต่ข้อนั้นจะทำให้เหมือนกันได้เพียงโครงการ ส่วนรายการที่มาเพิ่มขึ้นหรือมาแก้ไขในเมืองไทยกับเมืองพะม่า จะเผอิญเหมือนกันด้วยต่างคิดไปโดนกันเข้า ยากที่จะเป็นได้ มิใครก็ใครคงเอาอย่างกันจึงจะเหมือนกัน พิจารณาดูตามเรื่องพงศาวดาร ปรากฏว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ไปตีได้นครธมราชธานีเขมร ได้พวกเขมรที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเข้ามาไว้ในพระนครศรีอยุธยามาก พวกนั้นนำแบบแผนประเพณีในเมืองเขมรเข้ามา แล้วไทยรับเอามาใช้โดยมาก ด้วยเห็นว่าเมืองเขมรเคยเป็นมหาประเทศมาช้านาน ฉันใดก็ดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าเอาข้าราชการไทยไปเมืองหงสาวดีด้วยมาก และต่อมาถึงครั้งพระเจ้ามังระครองกรุงอังวะ พะม่าตีได้พระนครศรีอยุธยาก็กวาดต้อนเอาไทยทุกชั้นบรรดาศักดิ์ไปเป็นอันมากอีกครั้งหนึ่ง น่าจะได้ขนบธรรมเนียมไทยไปใน ๒ ยุคนี้ เลือกเอาไปเพิ่มใช้เป็นขนบธรรมเนียมพะม่า จึงละม้ายคล้ายคลึงกันนัก แม้จนทุกวันนี้พะม่าก็ยังนับถือแบบอย่างต่างๆ ของไทยอยู่แพร่หลาย เรียกกันว่า “แบบโยเดีย” ปรากฏแก่ฉันเองในเวลาเที่ยวอยู่ในเมืองพะม่าหลายอย่าง

วันนี้เที่ยวดูอยู่ในพระราชวังกว่า ๓ ชั่วโมงจนเลยเที่ยงจึงกลับที่พัก ถึงเวลาบ่าย ๑๖.๓๐ นาฬิกา ไปกินเลี้ยงน้ำชาที่จวนผู้บัญชาการมณฑลมัณฑเลตามได้รับเชิญไว้ เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วยังไม่ค่ำมืด จึงขึ้นรถไปเที่ยวดูวัดหลวงที่เชิงเขามัณฑเลอีกครั้งหนึ่ง จะพรรณนาว่าด้วยวัดในตอนหน้าต่อไป.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ