แห่เปะระเหะระ

พระเจ้าแผ่นดินในลังกาชั้นหลัง ๆ ลงมา ย่อมเปนเชื้อสายแห่งหรือเปนฮินดู่โดยมาก เพราะฉนั้นในเมืองแกนดีจึงได้มีเทวสถานอย่างฮินดู่เปนอันมาก เปนธรรมเนียมที่ต้องแห่พระเปนเจ้าของฮินดู่ทุกปี ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับพระพุทธสาสนา ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๘ พระเจ้ากรุงลังกาได้เชิญพระสงฆ์กรุงสยาม ออกไปให้อุปสมบทชำระพระพุทธสาสนา ให้พระสงฆ์ประพฤติอยู่ในศิลบริสุทธิ์อย่างสูงเสร็จแล้ว พระอุบาลีเถระเจ้าได้ยินเสียงอื้ออึงตระเตรียมการที่จะแห่พระเปนเจ้าฝ่ายฮินดูดังนั้น จึงได้ถวายพระพรแก่พระเจ้าแผ่นดินในเวลาเย็นวันนั้นว่า ควรที่จะเชิญพระสถูปขึ้นประดิษฐานเหนือช้างพระที่นั่งแห่ไปหน้าพระเปนเจ้าทั้งหลาย เพื่อให้การบูชาทั้งหลายนี้เปนพุทธบูชา แต่พระสงฆ์ทั้งปวงหาได้เข้ากระบวรแห่หรือช่วยจัดการอันใดไม่ นอกจากให้ยืมช้างวัดแลพระเจดีย์ ซึ่งทำประหนึ่งว่าทรงพระทันตธาตุ แต่หาได้มีพระทันตธาตุในนั้นไม่ กับทั้งมณฑปเงินก้าไหล่ทอง ซึ่งเปนที่ประดิษฐานพระเจดีย์

กระบวรแห่นี้ได้แห่เปนเวลากลางคืนสว่างไปด้วยแสงไต้ ประโคมสังข์แตรฆ้องกลองปี่ แลมีคนโลดเล่นเต้นรำไปในกระบวร ช้างที่ทรงพระเจดีย์นั้น ปกคลุมไปด้วยผ้าสักหลาดแดงติดขลิบทอง ที่ผ้าคลุมหน้าใต้โขมดลงมาปักไหมทองเปนพระพุทธรูปนั่ง มีเครื่องสูง บังสูรย์ จามร ทำด้วยแพรสีต่าง ๆ แต่รูปร่างไม่เหมือนเครื่องแห่ของเรา เหมือนตาลิปัตรวินัยธร วินัยธรรมหัวเมือง หรือสมุห์ใบฎีกาบ้างต่าง ๆ เมื่อข้าพเจ้าไปเขาก็จัดการแห่นี้ขึ้นให้ดูเปนการพิเศษ แลแห่ผ่านมาหน้าที่อยู่ แต่ข้าพเจ้าหาได้ออกไปดูไม่ ซึ่งกล่าวถึงได้ดังนี้ เพราะเขาจัดมาเรียงรายตามทางพร้อมทั้งเครื่องประโคมต่าง ๆ ตลอดสองข้างทาง ในเวลาที่จะขึ้นไปบนวิหารพระเขี้ยวแก้วนั้นด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ