ว่าด้วยองค์พระทันตธาตุ

ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ คัดจากหนังสือซึ่ง เซอเย. เอมเมอซอนเตนเนนต์แต่งด้วยเรื่องเมืองลังกา ผู้นี้เปนคนรับราชการอังกฤษ อาจที่จะหาผู้รู้ทั้งหลายช่วยสืบสวนทั้งฝรั่งแลลังกา หนังสือที่เขาแต่งว่าด้วยเรื่องเมืองลังกา เปนที่สรรเสริญว่าดีกว่าฉบับอื่น ๆ ทั้งหมด

ดาลาดา วังสะ นั้น เขาแต่งเปนกลอนภาษาลังกา เล่าเรื่องพระทันตธาตุ ซึ่งเขาคเนกันว่าจะได้แต่งเมื่อพุทธศักราช ๘๕๓ ปี ก่อนจุลศักราช ๓๒๘ ปี แลได้แก้ไขอีกในระหว่างพุทธศักราช ๑๐๐๒ แล ๑๐๒๐ ก่อนจุลศักราช ๑๗๙ ปี แล ๑๖๑ ปี ตามชาวสิงหฬกำหนดว่าพุทธปรินิพพานก่อนคฤศตศักราช ๕๔๓ ปีต้องกันกับเรา เพราะฉนั้นหนังสือฉบับนี้คงจะได้แต่งภายหลังพุทธปรินิพพาน ๘๕๐ ปี คำแปลลงเปนภาษาบาลี เรียกว่าทาฒะวังสะ ได้ทำเมื่อพุทธศักราช ๑๗๔๓ จุลศักราช ๕๖๒ ธัมมะกิตติเถระเปนผู้แปล ในรัชกาลแห่งพระนางลิลาวดีตามข้อความที่กล่าวนั้น ว่าภิกษุผู้หนึ่งชื่อเขมะเปนสาวกแห่งพระพุทธเจ้า ได้นำพระทันตธาตุออกจากเชิงตะกอน แล้วถวายแด่พระเจ้าพรหมทัต พระเจ้ากรุงกลิงคะในพระนครทันตปุระ พระเจ้าแผ่นดินได้สร้างวิหารหุ้มด้วยทอง ประดิษฐานไว้เปนที่นมัสการมาหลายชั่วบุรุษ

ภายหลังพระทันตธาตุนั้นตกไปยังกรุงปาตลีบุตร ได้สำแดงอิทธิปาฏิหารเปนหลายประการ เมื่อทิ้งลงในหน้าเตาเพลิงก็บันดาลมีดอกบัวขึ้นมารับ ได้ทดลองประหารลงที่หน้าแผ่นเหล็กก็ปรากฎติดอยู่ในแผ่นเหล็ก ไม่มีผู้ใดจะนำออกได้ จนสุภัทรภิกษุมาเชิญออกจึงออกได้ พระเจ้าคูหสิวะ เจ้ากรุงกลิงคะจึงได้เชิญพระทันตธาตุนั้น คืนยังพระนคร ประดิษฐานไว้ในวิหารเก่า เมื่อมีกองทัพมาประชิตพระนคร พระเจ้าคูหาสิวะจะเสด็จออกทำสงคราม จึงสั่งพระราชโอรสเขย ผู้มีนามว่า ทนตกุมาร ผู้เปนสามีของนางเหมมาลาราชธิดาว่า ถ้าหากพระองค์ปราชัย สิ้นพระชนมชีพในกลางสนามยุทธ ให้เชิญพระทันตธาตุนี้ไปยังพระเจ้ากรุงสิงหฬ ครั้นเมื่อพระองค์ปราชัยสิ้นพระชนมชีพในกลางศึก พระราชโอรสเขยแลพระราชธิดาก็ปลอมพระองค์เชิญพระทันตธาตุไปด้วย เมื่อพบศัตรู นางเหมมาลาก็ซ่อนไว้ในพระเมาลี ครั้นเมื่อมาถึงกรุงตะมะลิตถิ ก็โดยสานเภตราไปยังกรุงลังกา

พระทันตธาตุถึงกรุงลังกา เปนเวลารัชกาลของพระเจ้ากฤตติสิริเมฆะวัณณะ ซึ่งประมาณว่าได้ขึ้นดำรงราชย์ในพุทธศักราช ๘๔๑ ก่อนจุลศักราช ๓๔๐ ปี สิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช ๘๖๙ ก่อนจุลศักราช ๓๑๒ ปี ทรงกระทำสักการะบูชาเปนอันดี แลป้องกันรักษาโดยกวดขัน

ในกาลนั้นเกาะลังกาได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ด้วยทมิฬปัจจามิตรมาเบียดเบียนพระเจ้าอัครโพธิ ซึ่งได้เสด็จขึ้นดำรงราชย์ในปีมีพุทธศักราช ๑๓๑๒ จุลศักราช ๑๓๑ ไม่สามารถจะปราบปรามพวกทมิฬได้ จึงได้ย้ายพระราชธานีจากกรุงอนุราธปุระ ไปตั้งอยู่ณตำบลโปลันนาระวะ พระราชธานีตั้งอยู่ในที่นั้นจนถึงปีมีพุทธศักราช ๑๘๔๖ จุลศักราช ๖๖๕ มีระหว่างที่ต้องยักย้ายอยู่สองครั้ง ในปีที่กล่าวแล้วนั้น พระเจ้าภูวเนกพาหุ ที่ ๑ ย้ายพระราชธานีไปตั้งณตำบลยาพาหุเปนโกรแล ที่ ๗ ในขณะนั้นพวกบันดยันทั้งหลายได้ลอบเข้าตีพระนครได้ เชิญพระทันตธาตุไปยังชมพูทวีป พระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๔ ได้ดำรงราชย์สนองพระองค์ จึ่งได้เสด็จไปยังกรุงมธุระ ว่ากล่าวขอคืนพระทันตธาตุกลับมายังเกาะลังกา

ในที่นี้ เตนเนนต์ ผู้แต่งหนังสือ ได้กล่าวว่า เมื่อเวลากำลังบ้านเมืองเปนจลาจลนั้น พระทันตธาตุองค์ที่แท้ ได้พาไปเที่ยวซ่อนไว้ณตำบลต่าง ๆ ในเกาะลังกาเปนหลายตำบล คือตำบลแกนดี ลัพพารคาม แลโกติมาลัย ในภายหลังที่สุด เมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๓ จุลศักราช ๙๒๒ พวกโปรตุเกศพบเข้า ได้พาไปยังเมืองคัวซึ่งเปนเมืองของโปรตุเกศอยู่ในชมพูทวีปฝ่ายทิศตวันตก แล้วมอบให้แก่ ดองคอน สแตนไตน์ เดอ บากันซา ซึ่งเปนไวศรอยผู้สำเร็จราชการฝ่ายโปรตุเกศในเขตแดนอินเดีย สังฆราชโปรตุเกศได้เผาเสียต่อหน้าไวศรอยแลขุนนางเปนอันมาก

อันตรายแห่งพระทันตธาตุซึ่งเปนที่เลื่องลือนี้ เปนเรื่องแปลกประหลาดมาก พวกโปรตุเกศได้แต่งหนังสือต่างๆ กล่าวถึงเปนข้อความมั่นคง ได้ความว่าเปนอันพระทันตธาตุองค์แรกนั้นได้สูญสิ้นไปในปีมีพุทธศักราช ๒๐๔๓ จุลศักราช ๘๖๒

เซอ เย. อี. เตนเนนต์ ได้คัดข้อความจากหนังสือพงศาวดารโปรตุเกศ ซึ่งเรียกชื่อว่า ไดโค เดอเคาโต อันเปนผู้มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นแต่ง เรื่องทำลายพระทันตธาตุอย่างไร มีเนื้อความว่า

พระเจ้ากรุงพม่า ได้ทรงทราบว่า พระทันตธาตุเปนที่นับถือทั่วไปของพุทธสาสนิกชนมีผู้ได้ไปดังนั้น จึงได้รับสั่งให้หามาติโน อาลฟองโซ เปนคนพ่อค้าโปรตุเกศ ซึ่งเปนนายกำปั่นไปค้าขายอยู่ในเมืองหงสาวดี ให้กลับไปเมืองอินเดีย ขอให้ไวศรอยยอมให้พระทันตธาตุ จะต้องการอันใดแลกเปลี่ยนก็ให้ว่า จะยอมให้ทั้งสิ้น มาติโน อาลฟองโซ ทูลแนะนำให้แต่งทูตานุทูตไปยังไวศรอย ว่ากล่าวด้วยการเรื่องนี้ แลให้มอบอำนาจที่จะให้กล่าวข้อความสัญญาอันใดต่างพระองค์แลพระองค์จะรับอนุมัติตามทุกประการ

ครั้นเมื่อ มาติโน อาลฟองโซ ได้ไปถึงยังเมืองคัวในเดือนจิตร พุทธศักราช ๒๑๐๔ จุลศักราช ๙๒๓ แจ้งความให้ไวศรอยทราบในเรื่องมีทูตไปถึง เมื่อเสร็จการต้อนรับทูตแล้ว ก็เจรจากันด้วยราชการที่ทูตไป ข้างทูตขอให้มอบพระทันตธาตุ แลจะยอมสัญญาให้อันหนึ่งอันใดตามประสงค์ แลจะเปนไมตรีกับกรุงโปรตุคอลสืบไปชั่วฟ้าแลดินด้วย ทั้งรับที่จะส่งเสบียงอาหารไปยังป้อมของโปรตุเกศที่ตั้งอยู่ณเมืองมละกา ปลายแหลมมลายูทุกเมื่อตามเวลาที่ขอให้ส่ง ทั้งมีข้ออื่น ๆ ที่รับสัญญาอีกเปนอันมาก ไวศรอยนัดว่าจะตอบโดยเร็ว ในระหว่างนั้นก็นำข้อความแจ้งแก่บันดาขุนนางฝ่ายทหารพลเรือน คนทั้งนั้นก็มีความพอใจที่จะรับ เพื่อจะได้มาปลดเปลื้องความขัดข้อง ด้วยโปรตุเกศเวลานั้นอยู่ข้างจะขัดสนทรัพย์สมบัติที่จะใช้จ่ายมาก ข้อความเปนเหมือนหนึ่งจะตกลงกันอยู่แล้ว

ความทราบถึงหูสังฆราช เรียกว่า อาชบิชอบ ดองคาสปา ก็รีบไปหาไวศรอยในทันใดนั้น ว่ากล่าวห้ามปรามมิให้ยอมให้ไถ่พระทันตธาตุ ถึงแม้ว่าจะได้ทรัพย์สมบัติอันใดซึ่งมีอยู่ทั่วโลกนี้ ด้วยเหตุว่าจะเปนที่เสื่อมเสียเกียรติยศของพระเปนเจ้า แลเปนช่องให้พวกนับถือรูปเคารพทั้งหลาย ไหว้กราบกระดูกอันนี้ ด้วยเหตุว่าความกราบไหว้เช่นนั้น ย่อมควรแก่พระเปนเจ้าพระองค์เดียว อาชบิชอบได้เขียนข้อความอธิบาย แลเทศนาบนธรรมาสน์ ต่อหน้าไวศรอยแลขุนนางทั้งปวง ต่อสู้ห้ามปรามการที่จะให้ไถ่พระทันตธาตุ เพราะฉนั้น ดองคอนสแตนไตน์ ซึ่งเปนผู้ถือสาสนามั่นคง กลัวพระเจ้าแลอยู่ในบังคับอาราม จึงหยุดยั้งเรื่องการนี้ไว้ไม่ได้ทำให้สำเร็จ เพราะเหตุว่าไม่เปนที่เห็นชอบพร้อมกัน จึงได้ให้ประชุมสังฆราชบาดหลวงหัวหน้าในสาสนา ทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน นำข้อความอันนี้ปรึกษา ด้วยเหตุว่าเงินที่จะได้ค่าไถ่พระทันตธาตุนั้นมาก เวลานี้ราชการก็ขัดสน เงินไม่มีพอจะใช้จ่าย ถ้าได้ก็จะพอใช้ราชการทุกอย่าง เมื่อปรึกษาโต้ตอบกันเปนอันมาก ก็ไม่เปนอันตกลงว่าไม่ควรจะให้พระทันตธาตุ เพราะจะเปนการอุดหนุนแก่การไหว้กราบรูปเคารพ เปนการหมิ่นประมาทแก่พระเปนเจ้า เพราะฉนั้นไม่ควรจะยอมเลย ถึงแม้ว่าประเทศนั้นหรือโลกนี้จะฉิบหายไปหมดก็ตาม อันนี้เปนความคิดของสังฆราชบาดหลวงทั้งปวง

การตกลงกันนี้ ได้จดหมายลงชื่อเปนสำคัญทั่วกัน หนังสือฉบับนี้ยังอยู่ในออฟฟิศกรมจดหมายเหตุจนทุกวันนี้ ไวศรอยจึงได้เรียกให้ชาวคลังนำพระทันตธาตุออกมาส่งให้แก่อาชบิชอบสังฆราช สังฆราชให้เอาครกมาตั้งตำด้วยมือตนเองจนเลอียดเปนผง แล้วเทลงในเบ้าสูบเผาจนเปนเท่า ทั้งเท่าพระทันตธาตุแลเท่าถ่าน เทลงในแม่น้ำต่อหน้าคนทั้งปวง ซึ่งได้ประชุมกันดูที่น้ำนั้นจากเฉลียงเรือนแลหน้าต่าง

มีผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยความคิดไวศรอยก็มาก เพราะเห็นว่าไม่เปนเครื่องที่จะป้องกันพุทธสาสนิกชนไม่ให้ทำรูปเคารพอื่นขึ้นได้อีก เมื่อจะเอากระดูกอันหนึ่งอันใดมาทำรูปให้คล้ายกับพระทันตธาตุที่สูญไปนั้น ความเคารพไหว้กราบก็จะมีได้เสมอกัน ส่วนทองซึ่งได้บอกเลิกเสียไม่รับนั้น สามารถที่จะแก้ไขความขัดสนความร้อน ความจำเปนของบ้านเมือง ไม่ควรจะละทิ้งเสีย

เพื่อจะให้เปนที่รลึกถึงเหตุการณ์แลสำแดงน้ำใจ ในข้อที่ทำตามความเห็นของบาดหลวงทั้งหลาย โดยความศรัทธาประสาทะในคฤศตสาสนา แลให้เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้า จึงได้คิดการที่จะทำต่อไปดังนี้ ให้ทำโล่ห์อันหนึ่ง มีรูปไวศรอยแลสังราชแวดล้อมไปด้วยเจ้าวัดแลบาดหลวง ซึ่งได้ไปประชุมในเวลานั้น ในท่ามกลางมีเบ้ากำลังสุมไฟ แลมีพุทธสาสนิกชนซึ่งไปยอมเสียเงิน เบื้องบนโล่ห์นั้นมีตัวอักษร ซี เปนอักษรต้นนามของ ดองคอนสแตนไตน์ซ้ำห้าครั้ง CCCCC เบื้องล่างมีห้าคำ คอนสแตนตินัส ซีลี คูบิดิเน ครูเมนาส เครมาวิต แปลความว่า คอนสแตนไตน์ซื่อตรงต่อสวรรค์ ไม่รับสมบัติทั้งหลายในพื้นแผ่นดิน

ข้อความทั้งหลายนี้ได้คัดจากหนังสือที่เตนเนนต์แต่งเรื่องเมืองลังกา เล่ม ๒ หน้า ๒๑๓ ถึง ๒๑๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ