ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท

เรื่องอนิรุทธ ปรากฏว่ารู้จักกันดีมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และที่ขึ้นชื่อลือชา ปรากฏเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญก็คือ “อนิรุทธคำฉันท์” ของศรีปราชญ์ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื้อเรื่องตลอดจนชื่อคนและสถานที่ในอนิรุทธคำฉันท์ มักกล่าวถึงถูกต้องตรงกันกับที่ปรากฏในคัมภีร์วิษณุปุราณะ ดังข้อความตอนหนึ่งมีว่า

 “อุษา ธิดาของพาณะ ได้เห็นพระแม่เจ้าบารพตีกำลังสำเริงกรีฑาอยู่กับพระคัมพุ ผู้พระมหาสวามี ก็ดลใจให้นางปรารถนาเพื่อสังสันทน์เช่นนั้นบ้าง พระแม่เจ้าเคารีผู้ทรงโฉม ซึ่งทรงทราบวาระน้ำจิตของปวงประชาสัตว์ จึงตรัสแก่อุษาว่า “อย่าเสียใจ เธอจะมีสามี” อุษารำพึงแก่ตนเองว่า “แล้วเมื่อไหร่จะมี? ผู้ใดหนอจะมาเป็นสามีของเรา” พระแม่เจ้าบารพตีจึงตรัสต่อไปว่า “ผู้ใดปรากฏแก่เจ้าในความฝัน ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำ แห่งเดือนไพศาข เขาผู้นั้นแหละจะเป็นสามีของเจ้า” เหตุนี้ ครั้นถึงวันตามที่พระแม่เจ้าทรงพยากรณ์ไว้ หนุ่มน้อยผู้หนึ่งก็ปรากฏโฉมขึ้นในสุบินนิมิตของนางอุษา ซึ่งเธอรักใคร่ใฝ่ฝัน ครั้นเธอตื่นขึ้น ภายในสุบินนิมิตก็อันตรธานไป ไม่เห็นหนุ่มน้อยผู้นั้น เธอจึงเศร้าโศกเสียใจไม่สามารถระงับ (ความเศร้าโศก) ไว้ได้ พร่ำบ่นถึง ใคร่จะไปได้อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ (ที่เธอเห็นในความฝัน) นั้น อุษา มีเพื่อนหญิงคนหนึ่ง ชื่อว่า จิตรเลขา ธิดาของกุมภาณฑ์ ผู้เป็นเสนาบดีของพาณะ จิตรเลขาถามอุษาว่า “หล่อนบ่นถึงใคร ?” เธอได้สติรู้สึกตัว ก็มีความละอาย จึงนิ่งเสีย อย่างไรก็ดี เมื่อนางจิตรเลขาเฝ้าปลอบโยนให้เชื่อใจแล้วซักถามอยู่เป็นเวลานาน อุษาก็เล่าเรื่องซึ่งได้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และเล่าคำซึ่งพระแม่เจ้า (บารพตี) ทรงพยากรณ์ไว้ให้จิตรเลขาฟัง ครั้นแล้วเธอก็วิงวอนเพื่อนของเธอให้ช่วยหาวิธีได้อยู่ร่วมกับบุคคลที่เธอได้เห็นในความฝันแต่ไม่ทราบว่าเป็นใครนั้น จิตรเลขาใคร่รู้  (ว่าเป็นใคร) จึงวาดรูปของบรรดาสุระ (เทวดา) ผู้มีมหิทธิฤทธิ์, วาดรูปของพวกแทตย์, คนธรรพ์และมวลมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ยิ่งใหญ่ แล้วนำมาให้ดู อุษาก็ปัดรูปเทวดา, คนธรรพ์, นาค (อุรคะ) และอสูรเหล่านั้นทิ้งเสีย เลือกไว้แต่รูปมนุษย์ และบรรดารูปมนุษย์นั้นก็เลือกดูแต่รูปของวีรบุรุษแห่งเชื้อชาติอันธกะและวฤษณี ครั้นเธอได้เห็นรูปพระกฤษณ์และพระราม (ซึ่งละม้ายคล้ายหนุ่มน้อยที่ปรากฏในความฝัน) ก็รู้สึกละอาย พอมาถึงรูปพระปรัทยุมน์ เธอก็ชะม้ายชายตาเมินไป แต่พอเธอได้เห็นรูปโอรสของพระปรัทยุมน์ ดวงตาทั้งสองของเธอก็เบิกกว้าง ความขวยเขินสะเทิ้นใจหายไปหมด ร้องบอกแก่จิตรเลขาว่า “คนนี้ คนนี้” สหายของเธอจึงเข้าโยคะ แล้วสั่งอุษาให้ยิ้มแย้มแจ่มใสดีใจได้ แล้วจิตรเลขาก็เหาะไปยังกรุงทวารกา......นำเอาพระอนิรุทธมา (ยังปราสาทของนางอุษาในโศณิตปุระ) ด้วยอำนาจโยคะของนาง”

นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์ วิษณุปุราณะ

จิตรเลขา ในคัมภีร์วิษณุปุราณะ ตามที่นำมาเล่าไว้ข้างต้นนั้น ในอนิรุทธคำฉันท์ เรียกไว้ว่า พิจิตรเลขา แต่ในบทละคอนเรื่องอุณรุท เรียกชื่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า ศุภลักษณ์ และว่าศุภลักษณ์เป็นชื่อของนางพระพี่เลี้ยงคนหนึ่ง ในพระพี่เลี้ยงทั้งห้า ของนางอุษา นางเอกในกลอนบทละคอนเรื่องอุณรุท

ตำนานบทละคอนเรื่อง “อุณรุท”

ละคอนเรื่องอุณรุท มีปรากฏเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ คู่กันมากับบทละคอนเรื่องรามเกียรติ์และอิเหนา มีคำกลอนกล่าวอ้างไว้ท้ายเรื่องอุณรุทว่า

“อันพระราชนิพนธ์อุณรุท สมมุติไม่มีแก่นสาร
ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ สำหรับการเฉลิมพระนคร
ให้รำร้องครื้นเครงบันเลงเล่น เป็นที่แสนสุขสโมสร
แก่หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร ก็ถาวรเสร็จสิ้นบริบูรณ์”

เรื่องอนิรุทธที่นำมาแต่งเป็นบทสำหรับเล่นละคอนดังกล่าวนี้ดำเนินเรื่องแผกเพี้ยนไปจากอนิรุทธคำฉันท์ แม้จนชื่อว่าอนิรุทธก็เพี้ยนไปเป็นอุณรุท เนื้อเรื่องที่ต่างออกไป ก็เห็นจะมุ่งแต่งขึ้นให้เหมาะแก่การเล่นละคอนตามที่นิยมกัน และที่ในบทพระราชนิพนธ์ซึ่งนำมาไว้ข้างต้นว่า “ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ” แสดงว่าบทละคอนเรื่องอุณรุทเคยมีมาก่อนรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนไปถึงไหน เข้าใจว่า กลอนบทละคอนเรื่องอุณรุทคงจะเกิดขึ้นภายหลังจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมา เห็นจะตกในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือถ้ากล่าวให้แคบเข้าก็ราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีกล่าวใน “บุณโณวาทคำฉันท์” ของพระมหานาค วัดท่าทราย คราวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จประพาสและสมโภชพระพุทธบาท เข้าใจว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๓ มีว่า

“ละคอนก็ฟ้อนร้อง สุรศัพทขับขาน
ฉับฉ่ำที่ดำนาน อนิรุทธกินรี”

ที่กล่าวว่า “อนิรุทธกินรี” ในคำฉันท์นี้ ก็เพราะในเรื่องที่เป็นกลอนบทละคอนนั้น มีกล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า พระอนิรุทธเสด็จประพาสไพรไปพบพวกนางกินนร ก็ทรงพิสวาท จึงทรงไล่ต้อนพวกนางกินนร แต่ก็ยังเรียกว่า “อนิรุทธ” ไม่เรียก “อุณรุท” เหมือนในบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

ใน “เพลงยาวความเก่า” (ประชุมเพลงยาว ภาคที่ ๗) มีกล่าวถึงการฝึกหัดเล่นละคอนเรื่องอุณรุท ไว้ว่า

“มาร่ำเร่อให้เป็นที่ ศรีสุดา
ทั้งอุตส่าห์เบือนบิดจริตงาม
ไปฝึกฝนกันที่ต้นลำใยเก่า
ข้างลำเนาสรรเพชญ์ปราสาทสนาม”

ข้อนี้ส่องความว่า ไปฝึกหัดละคอนเป็นตัวนางศรีสุดา ซึ่งเป็นนางรองในบทละคอนเรื่องอุณรุท กันที่ต้นลำใย ในบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่กรุงเก่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และอีกแห่งหนึ่ง ปรากฏเป็นตำนานการละคอนว่า ในสมัยกรุงธนบุรี มีตัวละคอนผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนางเอกละคอนหลวงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้มาเป็นครูละคอนครั้งกรุงธนบุรี มีชื่อว่า “จัน” ในเพลงยาวความเก่าเรียกไว้ว่า “จันอุษา” ซึ่งคงจะหมายความว่าหญิงชื่อจันคนนี้ เคยแสดงละคอนเป็นตัวนางอุษา นางเอกในเรื่องอุณรุท และแสดงดีมีชื่อเสียง จนคนทั้งหลายขนานนามในตัวละคอนเป็นสร้อยติดชื่อตัวมาด้วย เช่นเดียวกับที่เรียก “แย้มอิเหนา” “อิ่มย่าหรัน” “ทองใบทศกรรฐ์” และ “ทองดีพระราม” เป็นต้น ซึ่งมีประเพณีนิยมเรียกกันมาจนในชั้นหลังนี้

ในสมัยกรุงธนบุรี ไม่พบหลักฐานว่าได้มีการแต่งบทละคอนเรื่องอุณรุท และหากจะมีการแสดงละคอนเรื่องนี้กันบ้างในรัชกาลนั้น ก็คงจะใช้บทครั้งกรุงเก่าเท่าที่เหลือมาและหากันได้ในเวลานั้น ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ราวต้นรัชกาลที่ ๑ กล่าวกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรือบัดนี้) ได้โปรดให้ฝึกหัดละคอนผู้หญิงขึ้นในพระราชวังชุดหนึ่ง ใช้บทละคอนเรื่องอุณรุท ครั้งกรุงเก่า แต่เอามาตัดให้เหมาะแก่การแสดงละคอนในครั้งนั้น (บทที่ตัดนั้นยังมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือ ๑๕ เล่มสมุดไทย แต่ต้นฉบับที่มีอยู่ไม่ครบ) ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงกริ้ว จนต้องเลิก เพราะมีกฎห้ามไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มิให้เอกชน นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน มีหรือฝึกหัดละคอนผู้หญิงไว้ในสำนัก เมื่อครั้งมีงานสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลที่ ๑ ก็ปรากฏว่ามีเล่นละคอนเรื่องอุณรุทสมโภชด้วย แต่คงเรียกอนิรุท เช่นที่กล่าวว่า

มะโหรศพทุกสิ่งเหล้น ฉลองพุทธ พิมพ์พ่อ
เล็งละคอนอนิรุท รุ่นร้อย
พิลาสพิไลยสุด จักร่ำ รำนา
แต่งแง่งามอ่อนช้อย เฉิดชี้โฉมสวรรค์ ฯ[๑]

บางทีการเล่นละคอนเรื่องอุณรุท ในคราวสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนั้น คงจะเป็น คณะละคอนของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ก็เป็นได้ และคงจะเล่นตามบทครั้งกรุงเก่า เพราะฉบับกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่ได้แต่งขึ้น ต่อล่วงมาอีก ๓ ปีจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องอุณรุทขึ้น มีกล่าวไว้ในบานแพนกว่า “ศุภมัศดุ ตยุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมะแมนพศก เจตรมาส สัตตมกาฬปักขดิถีพุธวารบริจเฉทะ (กาล) กำหนด สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว อันเสด็จถาวรสวัสดิ์ปราบดาภิรมย์ที่นั่งอำรินทราภิเศกพิมาน ทรงพระราชนิพนธ์รจนาเรื่องอุณรุทเสร็จ แต่ ณ วัน ๔ ๑ คํ่า ปีมะแม นพศก[๒] คิดรายวันได้ ๕ เดือน กับ ๑๐ วันบริบูรณ์ ทฤฆายุศมสวัสดิ์”

แต่บานแพนกนี้ ไพล่ไปปรากฏอยู่ในฉบับที่เป็นสำนวนความทรงตัดของสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร เข้าใจว่าอาลักษณ์จะเขียนสับสนกันในเวลาใดเวลาหนึ่ง มีข้อควรสังเกตที่ว่า “เจตรมาส สัตตมกาฬปักขดิถีพุธวาร” ซึ่งแปลว่าเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ วันพุธนั้น สอบในปฏิทินเป็นวันจันทร์ และนับแต่เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ มาถึงวันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ไม่ใช่ ๕ เดือน กับ ๑๐ วัน ที่ถูกเป็น ๗ เดือนกับ ๑๐ วันพอดี ทั้งนี้ทางที่จะตกลงได้จึงมีแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ คือปีที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๑ นั้นได้มีบทละคอนเรื่องอุณรุทเกิดขึ้นสำนวนหนึ่ง คือสำนวนที่เรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ ๑๘ เล่มสมุดไทย เคยมีผู้นำออกตีพิมพ์จำหน่ายแล้ว เท่าที่เคยพบฉบับตีพิมพ์ ปรากฎว่าตั้งแต่เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๘ สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า ๑ ถึงหน้า ๒๕๒ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นายเทพ ที่แพตรงหน้าสกูลสุนันทาลัยเมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๑๒ สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า ๒๕๓ ถึงหน้า ๓๗๖ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิท บางคอแหลม เมื่อ จ.ศ. ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗) และตั้งแต่เล่ม ๑๓ ถึงเล่ม ๑๘ สมุดไทย หรือ ตั้งแต่หน้า ๓๗๗ ถึงหน้า ๕๒๒ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นายเทพ แสดงว่าได้ตีพิมพ์มาแล้ว ๒ ครั้ง

เมื่อเทียบกับบทละคอนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ด้วยกัน เช่น อิเหนา และรามเกียรติ์แล้ว นับว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องอุณรุทแต่งขึ้นก่อนกว่าเรื่องอื่น สำนวนโวหารการร้อยกรองก็สังเกตเห็นได้ว่า มีกลิ่นอายบทกลอนสมัยกรุงศรีอยุธยา ติดมาเป็นอันมาก ตลอดจนราชประเพณี เช่น บทกล่อมช้าลูกหลวงและอื่น ๆ สมควรที่ผู้ใฝ่ใจราชประเพณีและวรรณคดีของชาติ จะหาอ่านหาศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

เนื้อเรื่องย่อ ๆ ตามพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องอุณรุท ในรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ว่า ท้าวกรุงพาล (คือ พาณะ) ครองกรุงรัตนา (คือ โศณิตบุระ) มีมหิทฤทธิ์เป็นที่เกรงขามของมวลมนุษย์และทวยเทพ ชอบประพฤติตนเป็นพาล เที่ยวสมสู่นางฟ้านางสวรรค์เมียเทวดาเสียทุกๆองค์ ทวยเทพได้รับความเดือดร้อนมาก ท้าวกรุงพาลเกิดความฮึกเหิมใจ วันหนึ่งนึกใคร่จะไปลอบลักสมสู่พระนางสุจิตรา มเหสีเอกองค์หนึ่งของพระอินทร์ จึงขึ้นไปบนดาวดึงส์ แปลงกายเป็นตุ๊ดตู่แอบอยู่ข้างประตูวิมาน วันนั้นท้าวสหัสนัยน์มีเทวประสงค์จะเสด็จประพาสสวนจิตรลดาวัน ก่อนเสด็จไปก็ไม่ทรงไว้พระทัยอยู่แล้ว เมื่อออกจากห้องทิพพิมาน จึงทรงร่ายมนตร์ผูกทวารไว้เสีย ท้าวกรุงพาลซึ่งแปลงตัวเป็นตุ๊ดตู่อยู่ ก็จนปัญญา เข้าไปหานางสุจิตราภายในวิมานไม่ได้ แต่จำมนตร์บทนั้นได้ขึ้นปากขึ้นใจ ครั้นพระอินทร์เสด็จกลับมาก็ทรงร่ายเวทเปิดทวารเสด็จเข้าไป ท้าวกรุงพาลจึงจำมนตร์ได้ทั้งผูกทั้งแก้ แล้วคืนกลับนครของตน

ต่อมา พระอินทร์เสด็จประพาสสวนนันทนวัน วันนั้นกรุงพาลก็ขึ้นมาเยี่ยมกรายดูบนชั้นดาวดึงส์อีก พอรู้ว่าองค์จอมเทพเสด็จประพาสอุทยาน เธอก็แปลงรูปเป็นพระอินทร์ แล้วร่ายเวทเปิดประตูวิมานเข้าไปหานางสุจิตรา นางสุจิตราสำคัญว่าพระอินทร์ผู้เป็นพระสวามีเสด็จมา ก็ถลาเข้าต้อนรับด้วยความพิสวาท และครั้งนี้แหละเป็นครั้งที่พระอินทร์ซึ่งเป็นครั้งที่พระอินทร์จะต้องเป็นไปอย่างบทพระราชนิพนธ์ที่กล่าวไว้เป็นความรู้สึกของพระอินทร์ว่า

“เสียเมียดั่งเสียชีวิต น้อยจิตต์ปิ้มเลือดตาไหล”

เนื่องด้วยเหตุดังกล่าวนี้ นางสุจิตราจึงลาพระอินทร์จุติลงมาเกิดในดอกบัวในสระโบกขรณีใกล้อาศรมของพระฤาษีทุทาวาส (ทุรวาส?) ภายหลังกรุงพาลมาขอไปเลี้ยงไว้เป็นธิดาในนครของตน ปรากฏว่ารักใคร่โปรดปรานมาก

ร่วมสมัยเดียวกันกับกรุงพาลนั้น ณ กรุงณรงกา (หรือที่ถูกเป็น ทวารกา หรือ ทวารดี แปลว่า “เมืองมีประตู” มีเมืองชื่อนี้ตั้งอยู่ในแคว้นคุชราษฎร์) พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระกฤษณ์ครองกรุงณรงกา มีโอรสองค์หนึ่งนามว่า “ไกรสุท” ซึ่งตรงกันกับพระปรัทยุมน์ ในวิษณุปุราณะ (บางทีจะเพี้ยนมาจาก “กฤษณสุต” แปลว่า “ลูกพระกฤษณ์”) ภายหลังพระกฤษณ์มอบให้ไกรสุท หรือ ปรัทยุมน์ ครองทวารกาแทน ปรัทยุมน์มีโอรสหลายองค์ แต่องค์หนึ่ง คือ อนิรุทธ หรือที่เรียกเพี้ยนไปในบทพระราชนิพนธ์ว่า “อุณรุท” อุณรุทได้แต่งงานกับนางศรีสุดา ราชธิดาของอุทุมราช ณ กรุงโรมราช

วันหนึ่งอุณรุทกับพระชายาชื่อศรีสุดานั้นเสด็จประพาสป่า ไปพบกวางทอง พระชายาอยากได้ ขอให้พระสามีช่วยตามจับ อุณรุทก็ทรงขับไล่กวางทองออกไปจนพลัดพลนิกายและพระชายา มาถึงต้นไทรแห่งหนึ่ง รู้สึกเหนื่อยอ่อนก็เข้าพักอาศัย ฝ่ายพวกพลซึ่งมีพระพี่เลี้ยงทั้งสี่กำกับอยู่ ก็สั่งให้แบ่งพลออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่งให้เชิญพระชายากลับเข้าเมือง ฝ่ายพระพี่เลี้ยงและพลนิกายอีกส่วนหนึ่งก็ออกติดตามไปทันอุณรุทที่ต้นไทร อุณรุทจึงให้พระพี่เลี้ยงบวงสรวงสังเวยพระไทรขอพักอาศัยในราตรีกาลนั้น เทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ ณ ต้นไทรจึงสนองการบวงสรวงสังเวยของอุณรุท สะกดพลนิกายให้หลับหมด แล้วจึงอุ้มพาอุณรุทไปยังปราสาทของนางอุษา ณ กรุงรัตนา หรือ โศณิตปุระ

บทประพันธ์หรือเหตุการณ์ตอนนี้ เรียกกันว่า “พระไทรอุ้มสม” กวีมักชอบนำมาแต่งอ้างถึงในหนังสือเพลงยาว และกลอนนิราศต่าง ๆ บ่อย ๆ เช่นในโคลงนิราศกรุงเก่าของหลวงจักรปราณี (ฤกษ์) ยังกล่าวไว้บทหนึ่งตอนถึงบางไทร ว่า

บางไทรไทรเทพไท้ สิงสถิตย์ นี้ฤๅ
โอบองค์พระอนุรุทธฤทธิ์ ร่อนฟ้า
วางสมอุษานิทร ถนอมแนบ นางเอย
วานพระถ่อมถนอมข้า คู่ค้างคืนสม ฯ

เมื่อพระไทรเทพเจ้า วางพระอุณรุทลงบนแท่นเคียงข้างนางอุษา แล้วก็มาคิดว่า ถ้าให้ทั้งสององค์สนทนาปราศรัยกันได้ ก็จะไต่ถามนามและวงศ์แล้วจะเกิดภัยมาก จึงร่ายเวทมนตร์ผูกโอษฐ์เสียทั้งสองคนมิให้สนทนากันได้ ปลุกให้สององค์ตื่นบรรทม แล้วพระไทรก็กลับวิมาน ขอกล่าวลัดความข้ามไปว่า พอใกล้จะรุ่งแจ้ง อุณรุทกับอุษากำลังนอนหลับอยู่เคียงกันบนพระแท่นบรรทม พระไทรเทพเจ้าก็มาพาอุณรุทกลับไปยังที่พักใต้ต้นไทรตามเดิม

คราวนี้ ทางฝ่ายอุณรุทตื่นขึ้นไม่เห็นอุษาก็คลั่งไคล้ไหลหลง พวกพระพี่เลี้ยงทั้ง ๔ จึงช่วยกันพากลับเข้าเมือง ฝ่ายอุษาก็เช่นเดียวกัน ตื่นขึ้นไม่เห็นอุณรุทก็หลงไหลคลั่งไคล้ นางพระพี่เลี้ยงทั้ง ๕ ช่วยกันแก้ไขไม่สำเร็จ นางศุภลักษณ์หรืออีกชื่อหนึ่งว่า จิตรเลขาดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น เป็นนางพระพี่เลี้ยงที่เฉลียวฉลาดสามารถคนหนึ่ง ประกอบทั้งเป็นผู้มีศิลปในทางวาดรูปสมชื่อ จึงรับอาสานางอุษาเที่ยวไปทุกสวรรค์ชั้นฟ้า เที่ยววาดรูปเทวดามาให้นางอุษาดู ว่าเป็นคนเดียวกับผู้ที่มาร่วมแท่นบรรจฐรณ์หรือไม่ แล้วไปเที่ยววาดรูปมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งในมนุษยโลกมาให้นางอุษาตรวจดูอีก

ตอนที่นางศุภลักษณ์ เที่ยวไปวาดรูปเทวดาในสวรรค์ชั้นฟ้านั้น เมื่อเข้าไปในหมู่เทวดาพวกไหน กำลังจับระบำรำฟ้อน ในทางนาฏศิลป ก็แสดงระบำรำฟ้อนไปกับเขาด้วย เคยมีระบำแบบหลวง เรียกว่า “ศุภลักษณ์วาดรูป” แต่มีบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ให้ราชเสวกในกรมมหรศพเล่นถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นโคลง พระราชนิพนธ์บทเริ่มว่า

๏ จักแถลงระเบียบเหล้น ระบำ
ตามแบบหลวงท่านกำ หนดไว้
ศุภลักษณ์วาดรูปจำ จดเทพ
เพื่ออุษาหน่อไท้ สืบรู้คู่สมร ฯ

แต่มีบทระบำสำหรับขับร้องของเก่า ซึ่งคุณหญิงเทศ นัฎกานุรักษ์ เคยร้องให้ข้าพเจ้าจดจำไว้เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นคำกลอนบทละคร เคยนำไปสอบกับบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระอุณรุทในรัชกาลที่ ๑ เห็นได้ว่า ตัดมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องนั้น แต่เอามาปรับสัมผัสในทางกลอนและเชื่อมความเสียใหม่ ยังทราบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ปรับบท

บทระบำตอนศุภลักษณ์วาดรูป

- ร้อง “ย่องหงิด” -

เมื่อนั้น ฝ่ายฝูงเทพไทถ้วนหน้า
ขยับย่างนวยนาดเข้ามา ใกล้ฝูงนางฟ้ายุพาพาน
แล้วซัดสองกรอ่อนชด ทำท่าพระรถโยนสาร
เรียงรอคลอเคล้าเยาวมาล ประโลมลานทอดสนิทไปในที
นางสวรรค์กันกรป้องปัด บิดสบัดเบี่ยงบ่ายชายหนี
เทพบุตรรำท่าม้าตีคลี ท่วงทีเวียนตามอันดับไป ฯ

- ร้อง “เชิดฉิ่ง” -

ระเห็จเหินดำเนินพระเวหน วิมานบนบาดาลต่ำใต้
วาดรูปอินทราสุราไลย เทพไทครุฑาวาสุกรี
วาดรูปพระพายอันเรืองฤทธิ์ พระอาทิตย์ผู้รุ่งรัศมี
พระเพลิงเริงแรงฤทธี ทั้งพระมาตลีอันศักดา
รูปท้าวโลกบาลอันชาญชิด ซึ่งประจำทั้งสี่ทิศา
รูปท้าวเวศุกรรณมหึมา ได้ด้วยฤทธาอสุรี
เสร็จแล้วก็กลับระเห็จจร มาโดยอัมพรวิถี
เร่งรีบเร็วมาในราตรี หมายมุ่งบูรีรัตนา ฯ

- เชิด –

ครั้นนางศุภลักษณ์ไปเที่ยววาดรูปเหล่านี้มาให้นางอุษา ก็ไม่ตรงกับผู้ที่นางมุ่งหมาย นางจึงไม่วายเศร้าโศก ภายหลังศุภลักษณ์ไปวาดเอารูปพระอุณรุทมาให้ นางก็ดีใจขอร้องให้ศุภลักษณ์ช่วยเหลือ นางศุภลักษณ์จึงเหาะไปอุ้มเอาพระอุณรุทมายังปราสาทของนางอุษา ตอนนี้เรียกกันว่า “ศุภลักษณ์อุ้มสม” มีบทขับร้อง พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปรับไว้

บทร้องระบำตอน “ศุภลักษณ์วาดรูป” และตอน “ศุภลักษณ์อุ้มสม” ตามที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องตอนต้นของบทละคอนดึกดำบรรพ์เรื่องพระอุณรุท พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกรมศิลปากรเคยจัดฝึกซ้อมและนำออกแสดงมาแล้ว ณ โรงละคอนกรมศิลปากร เมื่อระหว่างวันที่ ๓๐ มีนาคม ถึงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑.

[๑] โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ของ พระชำนิโวหาร หน้า ๒๑

[๒] ตรงกับกันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ