คำนำ

เรื่องอนิรุทธคำฉันท์นี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า

“หนังสือ อนิรุทธคำฉันท์ นับถือกันมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าสูงทางวรรณคดีและกล่าวกันว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง เช่น ที่มีผู้แต่งคำโคลงบอกไว้ในสมุดไทยเล่มหนึ่ง ดังได้นำมาพิมพ์ลงไว้ต่อท้ายคำฉันท์ในสมุดเล่มนี้ (หน้า ๙๒) ตามหลักฐานที่สอบสวนได้ในระยะนี้ ปรากฏว่า ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดี และมีตัวอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทรงครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙ ถึง ๒๒๓๑ ด้วยปรากฏความปราชญ์เปรื่องในเชิงกวีของศรีปราชญ์ตั้งแต่อายุยังเยาว์วัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีพระราชดำรัสให้พระโหราธิบดีผู้บิดานำศรีปราชญ์เข้าเฝ้าถวายตัวและโปรดให้รับราชการใกล้ชิดพระองค์ เมื่อราวต้นรัชกาลนั้น ศรีปราชญ์เป็นผู้มีปฏิภาณในการกวี และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงเป็นขัตติยกวีที่โปรดการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ จึงโปรดปรานศรีปราชญ์และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ตลอดมา แต่ตอนปลายรัชกาล ศรีปราชญ์ต้องรับโทษและโปรดให้เนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปมีอันเป็นต้องถูกประหารชีวิตลงที่นั่น สันนิษฐานว่า ก่อนหรือราวปี พ.ศ. ๒๒๒๖ ซึ่งขณะที่สิ้นชีวิตนั้น ศรีปราชญ์คงจะมีอายุระหว่าง ๓๐-๓๕ ปี มีประวัติพิสดารดังได้พิมพ์ไว้ในนังสือ “ประวัติและโครงกำศรวลศรีปราชญ์” เป็นอีกเล่มหนึ่งนั้นแล้ว เข้าใจว่า ศรีปราชญ์คงจะแต่งอนิรุทธคำฉันท์นี้ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยความประสงค์ที่จะใช้ในการเล่นหนัง (ใหญ่) มีบอกไว้ในตอนท้าย (หน้า ๙๑) ว่า

“ด้วยเดชะบุญญา ธิการาอันสมพงศ์
ผูกฉันท์สนององค์ คุณท่านอันสุนทร”

มีคำกล่าวกันสืบมาว่า ศรีปราชญ์แต่งคำฉันท์เรื่องนี้โดยไม่แต่งคำนมัสการไว้ข้างต้น เป็นการไม่ประพฤติตามประเพณี แต่งบทกลอนเป็นเรื่องยาว ซึ่งกวีอื่น ๆ ปฏิบัติกันเป็นแบบแผนมาแต่ก่อน แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่าศรีปราชญ์คงจะแต่คำนมัสการไว้เหมือนกัน หากแต่เมื่อคัดสืบ ๆ กัน มา ผู้คัดลอกในชั้นหลังคงจะไม่ได้คัดเอาคำนมัสการข้างต้นติดมาด้วย ฉบับที่พบกันในชั้นหลังนี้จึงขาดคำนมัสการไป แต่ถ้าท่านผู้อ่านเคยทราบเรื่องราวในพระราชพงศาวดารตอนก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติและตอนแรกครองราชย์จะเห็นได้ว่า ได้มีการช่วงชิงอำนาจและเกิดความไม่สงบขึ้นในระยะนั้นตลอดมา แรกเริ่มด้วยพระศรีสุธรรมราชาร่วมกับสมเด็จพระนารายณ์ยึดราชสมบัติจากเจ้าฟ้าไชย แล้วพระศรีสุธรรมราชาเกิดแตกร้าวกับสมเด็จพระนารายณ์ จนในที่สุดพระศรีสุธรรมราชาพ่ายแพ้ไป และสมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทั้งในตอนต้นรัชกาลก็แสดงถึงความแตกร้าวภายใน เช่น มีเรื่องระหองระแหงกับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์พระราชอนุชา เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ศรีปราชญ์คงจะรู้เรื่องดี เมื่อแต่ง “อนิรุทธคำฉันท์” นี้ จึงเริ่มคำประพันธ์สดุดีเปรียบเทียบแฝงความหมายไว้อย่างฉลาดด้วยกาพย์ฉบังเพียง ๒ บทว่า

๏ ปางพระจักรีแปรเปน กฤษณราชรอนเข็ญ
อรินทรเสี้ยนสยบนา
๏ เสด็จแสดงเนาในเมืองเทวา รพดีสมญา
คือวิษณุโลกบปาน ฯ

ถ้าจะแปลความหมายของกาพย์ข้างบนนี้พอเป็นเค้าก็น่าจะได้ความว่า “เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์อวตารมาเป็นพระกฤษณะ ทรงปราบยุคเข็ญจนอริราชศัตรูราบคาบหมดสิ้นเสี้ยนหนามในแผ่นดินแล้ว ก็เสด็จขึ้นเสวยราชย์ในพระนครชื่อทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งเปรียบด้วยโลกสวรรค์ขององค์พระพิษณุเป็นเจ้าก็ไม่ปาน” เรื่องก็จะเข้ากันได้ดีกับเหตุการณ์ในระยะเริ่มแรกรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และกาพย์ ๒ บทนี้จะถือเป็นคำนมัสการที่ศรีปราชญ์ได้แต่งสดุดีเพื่อขอความคุ้มครองจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระบรมเดชานุภาพไพศาลได้หรือไม่ ขอฝากไว้เป็นข้อวินิจฉัยของท่านผู้รู้สืบไป”

หนังสือเรื่องอนิรุทธคำฉันท์นี้ ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในงานปลงศพสนองคุณบิดา ของคุณหญิงโบราณราชธานินทร์ เมื่อ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ ต่อมาในการพิมพ์ครั้งที่สาม กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในงานสัปดาห์แห่งวรรณคดี ประจำปี ๒๕๐๓ และเพื่อให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ขึ้น จึงได้ทำเชิงอรรถและนำเรื่อง “ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท” ของนายธนิต อยู่โพธิ์ พร้อมกับบันทึกสอบเทียบอนิรุทธคำฉันท์ฉบับพิมพ์กับฉบับสมุดไทย ๙ เล่ม ของ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญมาพิมพ์รวมไว้ด้วย การพิมพ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ และได้พิมพ์ตามต้นฉบับพิมพ์ครั้งที่สามทุกประการ

กรมศิลปากรหวังว่า อนิรุทธคำฉันท์นี้คงจะเป็นประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจในวรรณคดีทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

๒๕ เมษายน ๒๕๒๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ