คำนำ

พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) มาแจ้งความประสงค์แก่กรมศิลปากรว่า ใคร่จะได้หนังสือเรื่องหนึ่งไปตีพิมพ์สำหรับแจก ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เพื่ออุทิศกุศลถวายสนองพระคุณ และปรารภว่าถ้าได้เรื่องเกี่ยวกับจีนด้วยก็ยิ่งดี กรมศิลปากรจึงได้เลือกสุภาษิตขงจู๊ ซึ่งพระอมรโมลี สถิตณวัดราชบุรณ แปลไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ เรื่องหนึ่ง กับเรื่องนางเคงเกียงสอนบุตร ซึ่งในบานแพนกจดไว้ว่า “เป็นของพระยาศรีสุนทรโวหารคัดไว้” อีกเรื่องหนึ่งให้ตีพิมพ์ ด้วยเห็นว่าหนังสือสองเรื่องนี้ เป็นเรื่องขนาดเล็ก สมควรจะพิมพ์รวมกันได้ และในต้นฉะบับสุภาษิตขงจู๊ ยังมีเรื่องคนร้อยจำพวกจดไว้ข้างท้ายอีกเรื่องหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสุภาษิตขงจู๊ แต่ถ้าจะทิ้งเสียก็เสียดาย จึงได้คัดมารวมพิมพ์ไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อรักษาสำนวนและความคิดของเก่า

อนึ่งเรื่องสุภาษิตขงจู๊ฉะบับที่ตีพิมพ์นี้ กรมศิลปากรมุ่งหมายจะรักษาต้นฉะบับหนังสือของเก่าไว้ไม่ให้สูญเท่านั้น ส่วนข้อความจะตรงกับต้นฉะบับภาษาจีนที่แปลมาเพียงไร ท่านผู้อ่านที่รู้ภาษาจีน อาจตรวจดูได้ในหนังสือ ซี้จือ หมวด ลุ่นงื้อ

การพิมพ์สุภาษิตขงจู๊ครั้งนี้ กรมศิลปากรเห็นควรเล่าประวัติของท่านไว้ณที่นี้สักเล็กน้อย เท่าที่จะมีโอกาศค้นหามาเล่าได้ คือ

ขงจู๊เกิดเมื่อก่อน พ.ศ. ๘ ปี และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๖๕ ตำบลที่เกิดเป็นหมู่บ้านน้อยแห่งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซัวตัง (ชานตุง) ในประเทศจีน แต่ในสมัยขงจู๊เรียกว่า เมืองล่อ ในยุคก่อนขงจู๊เกิด ย้อนขึ้นไปจนสมัยดึกดำบรรพ์ พงศาวดารจีนกล่าวว่ามีกษัตริย์อยู่ ๓ องค์ ที่ทรงปกครองอาณาประชาราษฏรได้รับความร่มเย็นเป็นศานติสุข คือ เงี้ยวเต้ ซุ่นเต้ และอู๊เต้ อู๊เต้นั้นเมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ ได้รับหน้าที่เป็นแม่กองออกไปกำกับการทดน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้นํ้าไหลล้นท่วมแผ่นดิน ให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร อู๊เต้ได้ตั้งความเพียรกำกับการทดน้ำนี้ ถึง ๘ ปีจึงสำเร็จ ระหว่างนั้นอู๊แต้เคยเดินผ่านหน้าบ้านของตนถึง ๓ ครั้ง แต่เพื่อรักษาหน้าที่อย่างเคร่งครัด อู๊เต้ไม่เคยแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านแม้แต่ครั้งเดียว อู๊เต้เป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์แฮ่ ซึ่งใพงศาวดารจีนนับเป็นราชวงศ์แรก เพราะกษัตริย์แต่ก่อนๆ นั้นไม่มีการสืบสันตติวงศ์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นผู้ใดมีความสามารถที่จะปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นสุขได้แล้ว ก็ทรงเลือกผู้นั้นเป็นทายาทสืบกษัตริย์ต่อจากพระองค์ หาได้ทรงเลือกโอรสหรือเจ้านายในราชวงศ์องค์ใดขึ้นเป็นทายาทไม่ เพิ่งจะมีการสืบสันตติวงศ์เป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอู๊เต้ (เรื่องตอนนี้มีแจ้งอยู่ในหนังสือไคเภกตอนปลาย)

ต่อมากษัตริย์ในราชวงศ์แฮ่องค์หลังๆ ประพฤติพระองค์เหลวไหล ทำให้ประชาราษฎรเสื่อมความเคารพนับถือลงเป็นลำดับ ในที่สุดองค์สุดท้ายเลยเสียแผ่นดินแก่ขุนนางชื่อถ่าง ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์เสียง นับเป็นราชวงศ์ที่ ๒ ในพงศาวดารจีน กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ก็เช่นเดียวกันกับราชวงศ์แฮ่ คือ กษัตริย์องค์หลังๆ มีลักษณะโลเลเลอะเทอะ จนถึงองค์สุดท้ายคือติวอ๋องเป็นกษัตริย์ที่ทารุณร้ายกาจมาก แต่ที่ติวอ๋องยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ได้ต่อมา ราษฎรไม่ทำการกระด้างกระเดื่องขึ้น ก็ด้วยปรีชาญาณของจิวก๋งอำมาตย์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้นามว่าพระเจ้าบุนอ๋อง ท่านผู้นี้มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองประเทศไว้ได้ตั้งสองในสามส่วน ที่บุนอ๋องยังไม่ถอดถอนพระเจ้าติวอ๋องออกเสียจากราชสมบัติ ก็เพราะเห็นว่าอาณาประชาราษฎร์ยังไม่พร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น พงศาวดารจีนกล่าวว่า ในอาณาเขตที่บุนอ๋องมีอำนาจปกครองโดยสิทธิ์ขาดนั้น ประชาชนได้รับความร่มเย็นเป็นสุขสมบูรณ์ซึ่ง “ชาวนาเสียภาษีอากรเป็นพิกัดอัตรา เก้าชักหนึ่ง ลูกหลานข้าราชการก็ได้รับบำเหน็จบำนาญ ใครผ่านด่านและตลาดก็ไม่ต้องเสียค่าอากรขนอนตลาด เพียงแต่ถูกเจ้าหน้าที่ซักถามบ้างเท่านั้น บ่อและทำนบกั้นสัตว์น้ำ ใครจะจับจะทำก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร ใครทำผิดคิดร้าย ความผิดก็ไม่พัวพันไปถึงลูกหลานว่านเครือ ชายม่ายหญิงม่ายที่ครองตัวเป็นโสดจนแก่เฒ่า คนโสดที่อยู่จนแก่เฒ่าไม่มีลูกเต้า เด็กที่กำพร้าพ่อ คนสี่จำพวกนี้นับว่าเป็นมนุษย์อนาถา ก็ไม่เดือดร้อนถึงร้องไห้ ทั้งนี้เพราะบุนอ๋องปกครองดั่งพ่อปกครองลูก ปกแผ่คุณบารมีเป็นที่ร่มเย็นไปทั่ว” มีเรื่องเล่าไว้ในที่หนึ่งถึงเจ้าผู้ครองแคว้นองค์หนึ่งในสมัยหลัง ไล่ที่ราษฎรเพื่อทำเป็นป่าหวงห้ามสำหรับล่าสัตว์ส่วนตัว เจ้าผู้ครองนครองค์นั้นถามเม่งจื๊อซึ่งถือตนว่าเป็นศิษย์ของขงจู๊ในสมัยหลังว่า ทำไมราษฎรจึงร้องทุกข์ถึงเรื่องป่าสำหรับล่าสัตว์ของพระองค์นัก ว่ากินที่ใหญ่โตมาก ซึ่งถ้าจะเทียบกับป่าล่าสัตว์ของพระเจ้าบุนอ๋อง อันเป็นมหากษัตริย์ที่ราษฎรนิยมนับถือว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่กษัตริย์ทั้งหลายแล้ว ป่าล่าสัตว์ของเจ้าผู้ครองนคร ยังเล็กกว่าของพระเจ้าบุนอ๋องเป็นอันมาก ความข้อนี้เม่งจื๊อแก้ว่า ป่าล่าสัตว์ของพระเจ้าบุนอ๋องมีอาณาเขตกว้างยาวได้ ๗๐ ลี้ ใครจะเข้าไปตัดหญ้าหาฟืนจับม้า และไก่ฟ้าก็ทำได้ พระเจ้าบุนอ๋องทรงใช้ป่าล่าสัตว์นั้นร่วมกับราษฎร เช่นนี้ราษฎรจะไม่คิดเห็นว่าเป็นอาณาเขตที่เล็กดอกหรือ เม่งจื๊อกล่าวต่อไปว่า “เมื่อข้าพเจ้ามาถึงพรมแดนป่าล่าสัตว์ของพระองค์ ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าเข้า จนกว่าข้าพเจ้าจะได้สอบถามดูว่า มีอะไรบ้างที่ในนั้นซึ่งเป็นที่หวงห้ามเป็นพิเศษ และข้าพเจ้าได้ยินว่าภายในประตูแห่งที่ลุ่มนั้น เป็นที่ล่าสัตว์มีอาณาเขตต์กว้างยาวได้ ๔๐ ลี้ ซึ่งถ้าใครบังอาจฆ่าเนื้อหรือแม่กวางสักตัวหนึ่ง ก็มีโทษเท่ากับฆ่าคน เพราะฉะนั้น อาณาเขตต์ ๔๐ ลี้นี้ จึงเป็นดั่งหลุมพรางอยู่กลางเนื้อที่ ดั่งนี้ก็จะไม่ให้ราษฎรคิดว่ากว้างใหญ่ดอกหรือ?”

เมื่อบุนอ๋องสิ้นชีพ บูอ๋องผู้เป็นโอรสเห็นว่าถ้าปล่อยให้บ้านเมืองตกอยู่กับพระเจ้าติวอ๋อง ก็จะหาความสงบเป็นสุขไม่ได้ จึงได้คิดกำจัดพระเจ้าติวอ๋องเสีย ได้ทำสงครามกับพระเจ้าติวอ๋องขับเคี่ยวกันมาช้านาน จนพระเจ้าติวอ๋องแพ้เสียพระชนม์ชีพ บูอ๋องได้เถลิงราชสมบัติผลัดเปลี่ยนราชวงศ์กษัตริย์เป็นราชวงศ์จิว (เรื่องตอนนี้อยู่ในหนังสือห้องสิน ซึ่งเล่าเรื่องรบกันอย่างพิลึกพิลั่นล้วนแล้วไปด้วยเซียนผู้วิเศษและใช้ของวิเศษกันทั้งนั้น)

ในสมัยราชวงศ์จิวนี้เองที่ขงจู๊เกิด และเป็นสมัยที่กษัตริย์ราชวงศ์จิวเสื่อมเดชานุภาพ เพราะอำนาจในบ้านเมืองตกไปอยู่แก่เจ้าผู้ครองนครน้อยใหญ่ ซึ่งยอมอ่อนน้อมขึ้นอยู่ในกษัตริย์ราชวงศ์จิวเพียงในนามเท่านั้น กษัตริย์ราชวงศ์จิวไม่มีอำนาจวาสนาที่จะไปบังคับบัญชาว่ากล่าวได้ เพราะเจ้านครเหล่านี้มีอำนาจเป็นอิสระทุกอย่างและต่างก๊กก็แข่งดี มีการแยกก๊กแยกพวก เกิดรบราฆ่าฟันกันไม่หยุดหย่อน ผลัดกันมีอำนาจราษฎรได้รับความลำบากยากแค้น ผู้ปกครองก๊กต่างๆ เหล่านี้ มีทายาทสืบต่อกันมา โดยมากก็มีลักษณะอย่างกษัตริย์ในราชวงศ์จิว กล่าวคือบางองค์ก็เป็นผู้อ่อนแอ อำนาจในงานการเมืองตกไปอยู่ในมืออำมาตย์เสียหมด ยกตัวอย่างเมืองล่อ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของขงจู๊ เจ้าเมืองล่อไม่มีอำนาจอะไรเพราะอำนาจนั้นตกไปอยู่กับขุนนาง ๓ นาย ส่วนก๊กอื่นก็ไม่ดีไปกว่าเมืองล่อ เรื่องตอนนี้อยู่ในเรื่องเลียดก๊ก อันเป็นเรื่องแตกก๊กแตกเหล่าก่อความยุ่งยากเพราะด้วยเหตุดั่งข้างต้นนี้ ก๊กต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้นว่ามีถึง ๑๗๐๐ กว่าก๊ก แต่เมื่อรบกันไปรบกันมา ในที่สุดก็เหลืออยู่แค่ ๓ ก๊กใหญ่ ฝรั่งเรียกพงศาวดารจีนยุคนี้ว่า สมัยลัทธิพิวดัล เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับของฝรั่งในสมัยชื่อเดียวกันนี้ ลัทธิพิวดัลเกิดจากการแบ่งอาณาเขตให้ไปปกครองกันเป็นอิสระจะมีอาณาเขตต์ใหญ่หรือเล็ก ก็แล้วแต่การกำหนดชั้นของผู้ครองนครเป็นทำนองเมืองเอกโทตรีจัตวา ว่าฉะเพาะของจีน คงปรากฏว่าประเทศจีนในสมัยโน้น การปกครองตกแก่ตระกูลหรือโคตร์ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Tribe เป็นก๊กๆ ไป แล้วก๊กเหล่านี้ ยอมมาขึ้นอยู่กับก๊กกลางในทางส่วนรวม ส่วนการปกครองท้องถิ่น แต่ละก๊กก็ยังเป็นอิสระเหมือนดั่งแต่ก่อน มาในสมัยราชวงศ์จิว จัดแบ่งขุนนางออกเป็น ๕ ชั้น คือ กง, โห, แป๊ะ, จื้อและหนำ ขุนนางเหล่านี้มีสิทธิ์ปกครองดินแดนมีอาณาเขตต์กว้างเล็กต่างๆ กันตามชั้นลดหลั่นกันลงมา เป็นทำนองศักดินา เช่น ชั้นกง และโห ได้อาณาเขตต์ตั้งแต่ ๑๐๐ ลี้จตุรัสขึ้นไป ชั้นแป๊ะได้ ๗๐ ลี้ ชั้นจื๊อและหนำได้ ๕๐ ลี้ ก๊กใดมีอาณาเขตต์น้อยกว่า ๕๐ ลี้ ไม่มีผู้แทนโดยตรงมาประจำยังราชสำนักกลาง แต่จำเป็นต้องส่งส่วยบรรณาการมาทางก๊กชั้นหนึ่ง

ความเป็นไปของบ้านเมืองสมัยขงจู๊เกิด เป็นไปโดยย่อดั่งเล่ามานี้ บิดาของขงจู๊เป็นขุนนางนายทหารชื่อ ซกเหลียงยิด ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เสียงถ่าง ขงจู๊แต่งงานเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี และปรากฎว่ามีบุตรชาย ๑ คน บุตรหญิง ๑ คน เมื่อขงจู๊แต่งงานแล้วไม่ช้าก็เข้ารับราชการเป็นพนักงานกำกับยุ้งฉางเมืองล่อ แล้วต่อมาได้เป็นพนักงานดูแลนา เมื่อ พ.ศ. ๑๖ มารดาของขงจู๊ถึงแก่กรรม ขงจู๊จึงลาพักราชการเพื่อไว้ทุกข์ตามจารีตประเพณี ครั้นสิ้นกำหนดไว้ทุกข์แล้วก็ไม่ได้กลับเข้ามารับราชการอีก คงใช้เวลาไปในทางการศึกษาและสั่งสอนประชาชน จนมีชื่อเสียงลือชา มีผู้มาเป็นศิษย์เป็นอันมาก ถึง พ.ศ. ๒๖ เมืองล่อถึงคราวได้รับความยุ่งยาก ขงจู๊จึงย้ายไปอยู่เสียที่เมืองเจ๊ แต่อยู่ได้ไม่นานก็กลับมาเมืองล่ออีก และตั้งตัวเป็นคณาจารย์สั่งสอนประชาชนอยู่เป็นเวลา ๑๕ ปี ระหว่างเวลาตอนนี้ บ้านเมืองของจีนทั่วไป ตกอยู่ในสมัยมืดมัว มีแต่การรบราฆ่าฟัน ผู้ที่รักความสงบก็หลีกหนีไปหาความวิเวก ที่ไม่หนีเอาแต่ตัวรอดก็คิดค้นคว้าพิจารณาหาเหตุที่ทำให้เกิดความปั่นปวนเป็นไปเช่นนี้ เพื่อหาหนทางจะให้ถึงความสงบ สมัยนั้นมีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงอยู่หลายท่าน เช่นเหลาจื๊อ ซึ่งเป็นผู้ก่อกำเนิดลัทธิเต๋า ท่านผู้นี้เห็นว่าความไม่ประกอบกรรม คือการงานหรือไม่ทำอะไรเสียเลยนั่นแหละ เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะถึงความสงบสุข บั๊กจื๊อคณาจารย์รุ่นหลังผู้หนึ่งเห็นว่าความสงบสุขนั้นอยู่ที่แผ่ความรักมีเมตตาจิตต์ทั่วไป กล่าวคือพึงรักคนอื่นเสมอด้วยรักตน และพึงรักบิดามารดาของผู้อื่นเสมอด้วยของตน ส่วนขงจู๊นั้นเห็นว่า ความไม่ประกอบกรรม หรือไม่ทำอะไรเสียเลย ไม่เป็นหนทางช่วยโลกได้ ที่จะหายาแก้โรคของบ้านเมือง จะต้องค้นหาสมุฏฐานให้ทราบเสียก่อน จะค้นพบก็ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ ดั่งนี้ขงจู๊จึงตั้งหน้าศึกษาเรื่องราวของเก่าภายหลัง ต่อมาเมื่อมีอายุแล้วได้แต่งหนังสือไว้เรื่องหนึ่งชื่อว่า ชุนชิว (ฝรั่งเรียกว่า Spring and Autumn เป็นเรื่องราวกล่าวถึงความเป็นไปของเมืองล่อสมัยตั้งแต่ ก่อน พ.ศ. ๗๙ ถึง พ.ศ. ๕๙ หนังสือเรื่องนี้นับถือกันว่ามีค่ายิ่งนักและเป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์มาก เพราะแสดงเรื่องความเป็นไปของประเทศจีน ในสมัยเมื่อสองพันปีกว่าที่ล่วงมานี้) แล้วพยายามสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในทางสัมมาปฏิบัติเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี ในสมัยเงี้ยวเต้และซุ่นเต้และที่จะบรรลุถึงได้ ก็โดยยึดถือแล้วปฏิบัติตามหลักของบุนอ๋องและบูอ๋อง เพราะกษัตริย์สองพระองค์นี้ เป็นผู้ที่ได้ฟื้นฟูฐานะของประเทศ ในสมัยที่ตกต่ำครั้งรัชกาลติวอ๋อง ที่จะไปพะวงหลงถึงคติอุดมซึ่งเป็นแต่นึกและฝันไว้ แล้วก็หลีกโลกไปเสีย ไม่เป็นทางช่วยฟื้นฟูประเทศได้เลย ด้วยคติอย่างนี้ ที่ขงจู๊ได้เที่ยวสั่งสอนไปในนครต่างๆ

ประวัติขงจู๊ตอนต่อไปขอยกไว้ เพราะมีแจ้งอยู่ในหนังสือเลียดก๊ก (เล่ม ๔ และ ๕) นั้นแล้ว ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงว่า นครต่างๆ ที่ขงจู๊เที่ยวไปสั่งสอนนั้น ประชาชนกำลังตกอยู่ในห้วงของความมืด ศีลธรรมกำลังตกอยู่ในระดับต่ำ นครต่อนครก็มีการหลอกลวงกันหาสัตย์ธรรมมิได้ เจ้านครโดยมากก็มักต้องเสียชีวิตไปเพราะถูกกระทำปิตุฆาต และถ้าผู้ใดได้ช่องเป็นผู้ครองนครขึ้นก็พยายามหาทางกำจัดญาติพี่น้องเสีย เมื่อเห็นว่าจะเป็นที่กีดขวาง นครที่กำลังมากกว่าก็พาลหาเหตุรบกับนครที่มีกำลังน้อยกว่า บ้านเมืองตกอยู่ในลักษณะระส่ำระสายไม่มีขื่อไม่มีแปเช่นนี้ ขงจู๊จึงเห็นว่า ทางที่จะแก้ไขก็มีอยู่แต่ในทางศีลธรรมเท่านั้น

ศีลธรรมที่ขงจู๊นำมาสั่งสอนประชาชนครั้งนั้น ได้เลือกเฟ้นเอาคำสอนเก่าๆ ที่ท่านเห็นว่าเป็นของบริสุทธิ์แท้มาสั่งสอน เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติได้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและให้มีสติปัญญาความคิดเป็นข้อปฏิบัติที่บุคคลทุกคนควรกระทำเป็นกิจประจำวัน ส่วนเรื่องนอกเหนือไปกว่านี้ เช่นเรื่องผีสางเทวดา ขงจู๊หลีกไม่พูดถึง มีผู้ถามขงจู๊ว่าจะควรปฏิบัติต่อผู้ที่ตายไปเป็นผีแล้วด้วยอย่างไร ขงจู๊ตอบว่าเมื่อเราละเลยหน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อผู้เป็น แล้วเราจะปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ตายได้อย่างไร มีศิษย์ผู้หนึ่งถามต่อไปถึงเรื่องความตาย ขงจู๊ตอบว่า “เมื่อเราไม่รู้ถึงความเป็นจะไปรู้ถึงความตายได้อย่างไร” ขงจู๊ถือว่ามีอำนาจอย่างหนึ่งซึ่งมองเห็นไม่ได้รู้ไม่ได้เป็นผู้บงการชีวิตของสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ ขงจู๊กล่าวว่า “ความมีชีวิตและความตายนั้น ย่อมมีกำหนดไว้ ความมั่งคั่งสมบูรณ์และเกียรติคุณตกอยู่ในหัตถ์สวรรค์ (เป็นผู้อำนวย)” ในบรรดาบุญกุศลทั้งหลาย ที่ขงจู๊สอนไว้ให้บุคคลพึงปฏิบัติที่ถือว่าสำคัญยิ่ง คือมีความสุภาพเรียบร้อยเคารพในจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมา และความเป็นผู้รู้จักคุณบิดามารดร ฝรั่งว่าที่จีนสืบประเทศชาติมาได้นานตั้งสองพันกว่าปี ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในสมัยโบราณที่มีอายุอยู่ได้ไม่ถาวร ก็เพราะหลักแห่งความรู้จักคุณบิดามารดานี้เองที่ทำให้มีความมั่นคงของชาติรวมกันอยู่ได้ และความเป็นผู้รู้คุณท่านนี้ ไม่หมายแต่เพียงการปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งบุตรย่อมมีต่อบิดามารดาเท่านั้น ยังจะต้องมีความซื่อตรงต่อการบังคับบัญชาของประเทศชาติด้วย “ลูกผู้ชายที่ขาดความกล้าหาญในการศึกสงครามก็ไมใช่เป็นผู้มีกตัญญูต่อบิดามารดา (เจียนจิ๊นบ่อย้งฮุยเห่าเอี๊ย)” คำสั่งสอนดั่งนี้ที่เห็นกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผูกใจชาติจีนให้คงเป็นชาติจีนไว้ได้ แต่ในกาลต่อมา ได้มีคณาจารย์รุ่นหลัง มีจูฮีเป็นต้น ได้เพิ่มเติมขยายคำสั่งสอนของขงจู๊ โดยมีอรรถกถาแก้ขึ้นไว้ กระทำให้คำสั่งสอนของขงจู๊ ซึ่งฝรั่งเปรียบเสมือนท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งงดงาม มีเมฆก้อนดำเข้าไปปะปนฉะนั้น

ว่าถึงสุภาษิตขงจู๊ที่ตีพิมพ์อยู่ในเล่มนี้ นัยว่าไม่ใช่ขงจู๊เป็นผู้แต่ง นักปราชญ์จีนเชื่อว่าศิษย์ของขงจู๊เป็นผู้เขียนจดไว้ หลักฐานประกอบการสันนิษฐานในเรื่องนี้มีอย่างไรขอยกไว้

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลธรรมวิทยาทาน ซึ่งพระโสภณอักษรกิจได้บำเพ็ญและอุทิศผลถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงศาติศรมหิป ขอกุศลธรรมอันนี้จงอำนวยอิฐคุณมนุญผล สัมฤทธิแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ตามฐานนิยม สมดังมโนปณิธานทุกประการเทอญ.

กรมศิลปากร

๑๔ ธันวาคม ๒๔๗๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ