อธิบายเรื่อง สุธนูกลอนสวด

[๑]เรื่องสุธนูปรากฏในปัญญาสชาดก เรื่อง “สุธนุชาดก” ซึ่ง พระคันถรจนาจารย์ชาวเชียงใหม่นำเอานิยายโบราณมารจนาเป็นภาษามคธในรูปของชาดก แสดงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติต่าง ๆ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า ปัญญาสชาดกนำจะรจนาขึ้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ เรื่องราวในปัญญาสชาดกมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เรื่องสุธนูเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กวีหลายท่านนำเอาการพลัดพรากชองตัวละครเอกในเรื่องคือพระสุธนูกับนางจีรัปภามาประพันธ์เป็นโวหารเปรียบเทียบในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งกวีชาวเชียงใหม่เป็นผู้ประพันธ์ อ้างถึงเรื่องสุธนู ว่า

ปภาพิโยคสร้อย สุธนู ก็ดี
สมุทโฆษว้างพินทู แม่งม้าง
ขุนบาจากเจียนอู ษาราช
อกพี่แวนร้อนร้าง กว่าเบื้องบูรเพ ฯ

โคลงกำสรวล วรรณคดีสำคัญสมัยอยุธยาอีกเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีนิราศในชั้นหลัง อ้างถึงการพลัดพรากของตัวละครจากนิทานโบราณเรื่องต่าง ๆ ไว้ดังนี้

รามาธิราชใช้ พานร
โถกนสมุทรวายาม ย่านฟ้า
จองถนนเปล่งศิลปศร ผลาญราพ
ใครอาจมาขวางข้า ก่ายกอง ฯ
เพรงพลัดนรนารถสร้อย ษีดา
ยังคอบคืนสมสอง เศกไท้
สุธนูปภาฟอง ฟัดจาก จยรแฮ
ยังคอบคืนหว้ายได้ สู่สํสองสํ ฯ
ผยองม้ามณีกากเกื้อ ฤทธี
สองสู่สองเสวอยรํย แท่นไท้
เพรงพินธุบดีพลัด พระโฆษ
ขอนขาดสองหว้ายไสร้ จากจยร ฯ

โคลงทวาทศมาส วรรณคดีสำคัญสมัยอยุธยาอีกเรื่องหนึ่ง อ้างถึงเรื่อง “สุธนู” ว่า

ปางศิลปบรเมศรท้าว สุธนู
จากสมเด็จนุชจันทร แจ่มเหน้า
เจียรับประภาตรู เตราสวาดิ
ยังพร่ำนำน้องเข้า คอบสมร ฯ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาอิศรานุภาพ (อ้น) ได้นำเรื่องราวของพระสุธนูจากปัญญาสชาดกมาประพันธ์เป็น “สุธนูคำฉันท์” จากตัวอย่างดังกล่าวแสดงว่าเรื่องนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในสังคมไทย สืบเนื่องมานานหลายร้อยปี

เรื่องย่อ

เรื่องราวของพระสุธนูกับนางจีรัปภาตามที่ปรากฏใน “สุธนูกลอนสวด” สำนวนที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ ดำเนินเนื้อความตั้งแต่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี คราวหนึ่งพระสงฆ์สาวกประชุมสนทนากันถึงพุทธบารมีที่ทรงชนะพญามาราธิราชก่อนที่จะตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงทราบข้อสนทนานั้นด้วยทิพโสตญาณจึงเสด็จไปยังธรรมศาลาและตรัสเทศนาถึงการที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีในอดีตชาติ ว่าได้ทรงทรมานพญายักษ์ชื่อท้าวโกนดัน (ปัญญาสชาดกว่า “ฆันตารยักษ์”) ให้มีความประพฤติดีประพฤติชอบ พระสงฆ์สาวกจึงกราบทูลให้ทรงแสดงอดีตนิทาน ดังนี้

พระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในเมืองสาวัตถี (บัญญาสชาดกว่า “พาราณสี”) มีพระมเหสีชื่อเกศนี แต่มิได้มีพระโอรสธิดาที่จะสืบสันตติวงศ์ ชาวพระนครจึงพากันไปประชุมที่หน้าพระลานแสดงความประสงค์จะให้พระเจ้าพรหมทัตมีพระโอรสธิดาเพื่อปกครองบ้านเมืองสืบไป พระมเหสีเกศนีจึงทรงสมาทานศีลตั้งจิตอธิษฐานขอให้ประสูติพระราชบุตร ด้วยอำนาจของกุศลเจตนาบันดาลให้ร้อนถึงพระอินทร์ต้องอาราธนาเทวบุตร (พระโพธิสัตว์) ให้จุติลงมาอุบัติในครรภ์ของพระนาง ราตรีหนึ่งพระอินทร์ลงมากระซิบที่พระกรรณว่า เพลารุ่งเช้าจะมีเหยี่ยวตัวหนึ่งคาบผลพุทรามาตกลงเฉพาะพระพักตร์ ขอให้พระนางจงเสวยผลพุทรานั้นแล้วทิ้งเมล็ดไป พระนางเกศนีปฏิบัติตามคำของพระอินทร์ ไม่ช้าก็ทรงครรภ์และประสูติพระโอรสนามว่า “สุธนูกุมาร” ส่วนเมล็ดพุทราที่พระนางทิ้งลงไปนั้น นางลาตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใต้ถุนตำหนักมาพบจึงกินเข้าไป ไม่ช้าก็ตั้งครรภ์ตกลูกเป็นม้าอาชาไนยวันเดียวกับที่สุธนูกุมารประสูติ ม้านั้นได้นามว่า “มณีกาก” (ปัญญาสชาดกว่า “มณีกักขิอัศวราช” เกิดจากนางม้าแก่)

ครั้นสุธนูกุมารมีชันษาได้ ๑๖ ปี พระบิดาก็เตรียมการให้อภิเษกกับนางกเรณุวดีซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าอา เมื่อถึงวันกำหนดเจ้าพนักงานก็จัดม้าต้นผูกเครื่องให้เป็นม้าทรงสำหรับสุธนูกุมารแต่ไม่เป็นที่สบพระทัย ขอให้นำม้ามณีกากซึ่งอาศัยอยู่ใต้ถุนตำหนักพระมารดามาแต่งเป็นม้าทรง ขณะที่สุธนูกุมารประทับบนหลังม้ามณีกากแห่แหนไปสู่โรงพิธีนั้น ม้ามณีกากก็พาสุธนูกุมารเหาะขี้นบนอากาศและทูลว่าจะพาพระกุมารไปแสวงหานางกษัตริย์ที่งดงามยิ่งให้เป็นชายา

ม้ามณีกากพาสุธนูกุมารเหาะไปจนถึงเมืองเสตนคร ซึ่งท้าวเสตราชเป็นกษัตริย์ครอบครอง มีพระบุตรีทรงสิริโฉมงดงามยิ่งชื่อนางจีรัปภา ครั้นถึงยามราตรีม้ามณีกากก็พาสุธนูกุมารลอบเข้าไปถึงปราสาทของนางจีรัปภาขณะที่นางบรรทมหลับ สุธนูกุมารได้เห็นรูปโฉมของนางก็มีความเสน่หา เฝ้าพิศดูจนใกล้รุ่งจึงนำพวงมาลัยคล้องข้อพระหัตถ์ของนางไว้แล้วขึ้นหลังม้าเหาะกลับไป ประพฤติอยู่เช่นนั้นติดต่อกัน ๓ ราตรี

เมื่อนางจีรัปภาบรรทมตื่นก็มีความพิศวง จึงสั่งนางค่อมพี่เลี้ยงให้คอยระวังและจับตัวสุธนูกุมารไว้ได้ในราตรีที่ ๓ ทั้งสองพระองค์ต่างมีความเสน่หาต่อกัน แต่นั้นมาสุธนูกุมารก็ประทับอยู่กับนางบนปราสาท หลายวันต่อมาเหล่านางกำนัลเกรงว่าหากสุธนูกุมารพานางจีรัปภาขึ้นหลังม้าเหาะหนีไปพวกนางจะมีความผิดจึงนำความขึ้นทูลพระบิดา ท้าวเสตราชได้ทรงทราบก็กริ้วเป็นกำลังแต่เมื่อทราบว่าพระสุธนูเป็นโอรสกษัตริย์ก็ค่อยคลายความขุ่นพระทัย รับสั่งให้พระสุธนูเข้าเฝ้าแสดงความสามารถในวิชายิงธนู หากเป็นที่พอพระทัยจะจัดพิธีอภิเษกให้ มิฉะนั้นจะประหารเสีย

ท้าวเสตราชรับสั่งให้เสนาเตรียมแผ่นเหล็ก ๗ ชั้น แผ่นทองแดง ๗ ชั้น แผ่นไม้ ๗ ชั้นแต่ละชั้นหนาได้ ๗ องคุลีกำบังรูปกวางยนต์ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สุธนูกุมารแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการยิงธนูทำลายเครื่องกำบังไปต้องรูปกวางยนต์ล้มลง ท้าวเสตราชทรงพอพระทัย จึงจัดการอภิเษกสุธนูกุมารกับพระธิดาและให้ประทับอยู่ที่เมืองเสตนคร

อยู่มาสุธนูกุมารมีความระลึกถึงพระมารดาซึ่งอยู่ที่กรุงสาวัตถีจึงทูลลาท้าวเสตราชพานางจีรัปภาขึ้นหลังม้ามณีกากเหาะไป นางจีรัปภาต้องแดดลมจากการเดินทางก็มีความอิดโรยเป็นกำลัง สุธนูกุมารจึงลงแวะหยุดพักที่ศาลากลางป่า ม้ามณีกากทูลว่าศาลาดังกล่าวเป็นของพญายักษ์โกนดันสร้างไว้และได้รับพรจากพระอิศวรว่า หากใครมาพำนักท้าวโกนดันเรียกแล้วไม่ขานรับจะต้องตกเป็นอาหารของพญายักษ์ ยามราตรีขณะที่พำนักอยู่ในศาลานั้น ท้าวโกนดันก็เหาะมาเรียกถาม ทั้ง ๓ เหนื่อยอ่อนจากการเดินทางก็พากันหลับสนิทมิได้ขานตอบ ท้าวโกนดันจะเข้าไปจับมนุษย์ในศาลาแต่ม้ามณีกากเข้าขัดขวางจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น พญายักษ์ถูกม้าทำร้ายจนบาดเจ็บ พระสุธนูเกรงว่าม้ามณีกากจะเพลี่ยงพล้ำเสียที จึงร้องเตือนให้คอยระวังบังเหียน ท้าวโกนดันรู้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ สบโอกาสก็กุมบังเหียนไว้ได้แล้วก็บังคับม้ามณีกาก นำไปขังไว้ในกรงเหล็กท้ายเมือง

สุธนูกุมารกับนางจีรัปภาต่างเสียพระทัยนัก ทรงดำเนินด้วยพระบาทบุกป่าฝ่าดงไปจนถึงฝั่งน้ำ พอดีมีสำเภาลำหนึ่งแล่นผ่านมาจึงขอโดยสาร นายสำเภาอาสาจะไปส่งให้ถึงกรุงสาวัตถี ระหว่างที่อยู่กลางทะเล สำเภาต้องพายุใหญ่อับปางลง พระสุธนูกับนางจีรัปภาได้อาศัยไม้กระดานแผ่นหนึ่งเกาะลอยไปในสายน้ำ ทรงนำชายภูษาผูกพระองค์ไว้ด้วยกันหวังจะมิให้พลัดพราก แต่ผลกรรมในอดีตชาติบันดาลให้ไม้กระดานที่เกาะมานั้นแตกออกเป็น ๖ ซีก ภูษาที่ผูกอยู่ก็ขาดออก สองกษัตริย์ต้องพลัดกันไปคนละทิศ นางจีรัปภาขึ้นฝั่งใต้ในเขตเมืองอินทปัต ได้อาศัยอยู่กับสองตายายแล้วนำพระธำมรงค์ที่สวมติดพระหัตถ์ไปขายได้เงินถึง ๔ เกวียน นางให้สร้างศาลาทานแต่งโภชนาหารไว้ เลี้ยงดูผู้ยากไร้และคนเดินทาง ภายในศาลาให้ทำฉากเขียนภาพเรื่องราวของนางกับสุธนูกุมารตั้งแต่ต้นจนพลัดจากกัน และสั่งคนเฝ้าศาลาว่า หากใครดูภาพในศาลาแล้วเกิดความโศกเศร้าขอให้นำตัวไปพบนาง

ฝ่ายสุธนูกุมารถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งที่เมืองของท้าวโกนดัน แอบซ่อนอยู่ในดงกล้วยใกล้ท่านํ้า กล่าวถึงนางกเรณุวดี ธิดาพระเจ้าอาของสุธนูกุมารถูกท้าวโกนดันลักพาตัวมาให้เป็นข้ารับใช้นางอัญชวดีน้องสาวของท้าวโกนดัน ขณะที่นางกเรณุวดีพร้อมด้วยนางทั้ง ๗ ธิดาของกษัตริย์เมืองต่าง ๆ ที่ถูกท้าวโกนดันลักพาตัวมาพากันลงไปอาบนํ้า ผ่านดงกล้วย พระสุธนูเห็นนางเข้าก็จำได้จึงร้องทัก เมื่อทั้งสองได้พบกัน ต่างร่ำรักด้วยความเสน่หา สุธนูกุมารได้นางกเรณุวดีและนางกษัตริย์ทั้ง ๗ เป็นชายาแล้วนางก็พากันกลับไป นางอัญชวดีได้กลิ่นมนุษย์ที่ติดกายนาง ข้าหลวงก็คาดคั้นจนได้ความจริง ครั้นทราบว่าสุธนูกุมารมีรูปโฉมงดงาม ก็มีจิตปฏิพัทธ์ ใคร่จะได้เป็นคู่ จึงให้นางกเรณุวดีไปเชิญมาไว้ในตำหนัก สุธนูกุมารมีความคิดถึงห่วงใยนางจีรัปภายิ่งนัก จึงทำอุบายให้นางอัญชวดีทูลขอม้ามณีกากจากท้าวโกนดัน ครั้นได้สมความปรารถนาแล้ว วันหนึ่ง สุธนูกุมารก็ขึ้นม้ามณีกากเหาะจากไป

สุธนูกุมารออกติดตามหานางจีรัปภาไปจนถึงเมืองอินทปัตได้เข้าพักในศาลาทาน เมื่อเห็นเรื่องราวในภาพวาดก็เกิดความโศกเศร้า คนเฝ้าศาลาจึงนำไปพบนางจีรัปภา เมื่อสองกษัตริย์ได้พบกันแล้ว ก็ลาตายายเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี อยู่มาพระสุธนูรำลึกถึงนางกเรณุวดี และนางอัญชวดีซึ่งพระองค์ได้ให้สัตย์สัญญาว่าจะกลับไปรับในภายหลัง จึงลานางจีรัปภาขึ้นม้ามณีกากเหาะไป ครั้นถึงเมืองของท้าวโกนดันแล้ว ได้แสดงธรรมให้ท้าวโกนดันรู้จักผิดชอบชั่วดี ยึดมั่นในหลักเบญจศีลและยอมเป็นข้า จากนั้นจึงพานางกเรณุวดีกับนางอัญชวดีและนางกษัตริย์ทั้ง ๗ กลับไปยังเมืองสาวัตถี

ตอนท้ายของเรื่อง สุธนูกลอนสวด เป็นการ “ประชุมชาดก” หรือ “กลับชาติ” ว่า ท้าวโกนดันกลับชาติมาเป็นพระการเถระ (ต่างกับในปัญญาสชาดกที่ว่า ฆันตารยักษ์กลับชาติเป็นพระยามาราธิราช) ม้ามณีกากกลับชาติเป็นม้ากัณฐกะ นางจีรัปภากลับชาติเป็นพระนางพิมพา และพระสุธนูได้แก่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯลฯ

การชำระต้นฉบับ

ได้กล่าวมาแล้วว่า เรื่องพระสุธนูเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาแต่โบราณ กวีสมัยอยุธยานำมาอ้างถึงในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง การตรวจชำระเรื่อง “สุธนูกลอนลวด” ครั้งนี้ มุ่งที่จะเผยแพร่วรรณกรรมโบราณซึ่งกรมศิลปากรยังไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน เพื่อเป็นการสืบทอดมรดกวรรณกรรมของชาติไว้ให้คงอยู่สืบไป การตรวจสอบชำระได้คัดเลือกเอกสารโบราณ ต้นฉบับสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ตามรายละเอียดดังนี้

เอกสารเลขที่ ๕๖๗

หมวด วรรณคดี หมู่ กลอนสวด เรื่อง สุธนู

ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๕๖๘

หมวด วรรณคดี หมู่ กลอนสวด เรื่อง สุธนู

ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๕๖๙

หมวด วรรณคดี หมู่ กลอนสวด เรื่อง พระวิสัดชะนู เล่ม ๒

ประวัติ สมบัติเดิมของหอพระสมุดฯ

เอกสารโบราณเรื่องสุธนูกลอนสวดเท่าที่พบ แบ่งออกเป็น ๒ สำนวน ได้แก่

สำนวนที่ ๑ เอกสารเลขที่ ๕๖๗ อักขรวิธีที่ใช้เป็นแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขียนด้วยลายมือบรรจง อ่านง่าย มีเนื้อหาครบ ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ ลักษณะคำประพันธ์ถูกต้องตามบังคับฉันทลักษณ์ แต่มีคำประพันธ์บางวรรคคัดลอกตกไป การตรวจสอบชำระใช้เอกสารฉบับนี้เป็นหลัก คำประพันธ์บางส่วนที่ขาดหายไปได้แต่งซ่อมโดยมีเครื่องหมายวงเล็บกำกับไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียนผู้ศึกษา เมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องและรูปแบบคำประพันธ์ได้อย่างต่อเนื่อง

สำนวนที่ ๒ เอกสารเลขที่ ๕๖๘ และเอกสารเลขที่ ๕๖๙ เป็นเรื่องสุธนูกลอนสวดอีกสำนวนหนึ่งซึ่งต่างไปจากเอกสารเลขที่ ๕๖๗ มีเนื้อหายาวกว่าสำนวนที่พิมพ์ในหนังสือนี้ประมาณเท่าตัว อักขรวิธีที่ใช้ไม่สม่ำเสมอ ลายมือเป็นอย่างชาวบ้าน อ่านยาก คำประพันธ์แต่ละตอนมีความลักลั่นสับสน เช่น ตอนที่แต่งเป็น “สุรางคนางค์ ๒๘” ซึ่งต้องมี ๗ วรรค แต่ในเอกสารต้นฉบับปรากฏเพียง ๓- ๔ วรรคบ้าง ๔- ๖ วรรค บ้าง บางตอนสัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบทขาด ไม่ปะติดปะต่อ ทำให้มีบัญหาอย่างยิ่งในการคัดลอกชำระ หากนำมาพิมพ์จะทำให้นักเรียนที่นำไปศึกษาเกิดความสับสน

เนื้อหาเรื่องสุธนูกลอนสวดสำนวนที่ ๒ ตามเอกสารเลขที่๕๖๘ เริ่มต้นด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย มีข้อความตอนหนึ่งระบุชัดเจนว่า แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับ “อ่าน” หรือ “สวด” และขอให้ผู้อ่าน ผู้สวด ระมัดระวังรักษาหนังสือด้วย

  ๏ ลางคนเกียจคร้าน
นอนสวดนอนอ่าน หนังสือทุกใบ
ลางคนอ้าปาก น้ำหมากหยดไหล
หยดย้อยลงใน หนังสือลบเลือน
  ๏ คนพวกเหล่านี้
ตกนรกอเวจี มิพักตักเตือน
ตกลงอยู่ใน นรกเป็นเรือน
ด้วยใจของเพื่อน ชั่วช้าทรพล
  ๏ เราอตส่าห์แต่ง
หิวโหยโรยแรง แต่งไว้เป็นผล
อันเป็นประโยชน์ เทศน์โปรดผู้คน
ให้เป็นกุศล เข้าสู่นีฤๅพาน

จากนั้นดำเนินเรื่องตามปัญญาสชาดก หน้าสมุดสุดท้ายจบความลงตอนที่ สุธนูกุมารพานางจีรัปภาโดยสารสำเภาต้องพายุใหญ่กลางทะเล แต่งเป็น “ยานี” ดังนี้

๏ มืดมัวทั่วทิศา ลมฝนฟ้ามาปะกัน
บังเกิดอัศจรรย์ ฟ้าร้องสนั่นเสียงอื้ออึง
๏ ฟ้าร้องคะนองสาย ลมพระพายพัดตึงตึง
เป็นพยับพยุอึง ทั่วไตรตรึงษ์ทั้งสาคร
๏ สายฟ้าฟ้าฟาดสาย เป็นแสงพรายอยู่ขจร
เงือกงูผุดอยู่สลอน ตื่นชอกซอนขจรเจิง ฯ

เอกสารเลขที่ ๕๖๙ เป็นสำนวนเดียวกับเอกสารเลขที่ ๙๖๘ เริ่มเนื้อความตั้งแต่พระสุธนูกับนางจีรัปภาเข้าพักอาศัยในศาลาของฆันตารยักษ์ (สำนวนแรกว่าท้าวโกนดัน) ดำเนินความไปจนได้ม้ามณีกากกลับคืนแล้วพากันออกติดตามหานางจีรัปภาถึงเมืองอินทปัต เนื้อหาตอนนี้แปลกไปจากสำนวนที่ ๑ และปัญญาสชาดกคือ ท้าวอินทปัตเชิญ พระสุธนูเข้าไปในเมืองและยกพระธิดาให้เป็นบาทบริจาริกา พระสุธนูประทับอยู่ที่เมืองนั้นระยะหนึ่งก็พานางจีรัปภาเดินทางต่อไปยังกรุงพาราณสี (สำนวนที่ ๑ ว่า กรุงสาวัตถี) จบลงตอนที่ท้าวพรหมที่ตกับนาง เกศนีเตรียมการสมโภชสุธนูกุมารและนางจีรัปภา

  ๏ ดูพระโอรส
งามดังมรกต สุกใสแจ่มจันทร์
ดูนางเทวี ดังสีมะลิวัลย์
เหมือนดวงพระจันทร์ อันเปล่งรัศมี
  ๏ รูปทรงวงหน้า
ดังดวงดารา เจ้าทั้งสองศรี
งามโฉมเฉิดฉาย ...งามวิจี
งามทั้งสองศรี ดังดวงแก้วมณี
  ๏ ชมพลางทางรับขวัญลูกชาย
แล้วกลับผันผาย รับขวัญเทวี
ศรีสะใภ้นั้น .............
สองท้าวทรงธรรม์ รับขวัญสองศรี
  ๏ แล้วมีโองการ
ไปมินาน เสนามนตรี
จงเร่งจัดแจง แต่งการโลกี
บาดหมายบาญชี ตามที่พนักงาน
  ๏ .................
จำแนกแจกจ่าย ไปทั่วสถาน
บ้านนอกขอกนา ให้มาแต่งการ
สมโภช............ ...................

หน้าปลายเล่มสมุดเอกสารเลขที่ ๕๖๙ มีข้อความว่า “จบเรื่องเท่านี้ ฯ เรื่องพระสุธนูกลับชาติกระหวัดเป็นพระชินศรี นวลนางจีรปภาได้กระหวัดกลับชาติเป็นพระพิมพา เป็นมารดาเจ้าราหุล” ไม่มีเรื่องตอนสุธนูกุมารกลับไปปราบมันตารยักษ์หรือท้าวโกนดันตามที่กล่าวในปัญญาสชาดกและกลอนสวดสำนวนที่ ๑

การนำเรื่องราวที่มีอยู่แต่เดิมมาประพันธ์เป็นร้อยกรองรูปแบบต่างๆนั้น กวีผู้แต่งมักตัดหรือเพิ่มเติมเนื้อหาให้แปลกไป เรื่องสุธนูกลอนสวดทั้งสำนวนที่ ๑ และสำนวนที่ ๒ เมื่อเปรียบเทียบกับปัญญาสชาดกซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของกลอนสวดทั้ง ๒ สำนวนแล้ว จะเห็นได้ว่ารายละเอียดหลายประเด็นแตกต่างไปจากที่กล่าวในปัญญาสชาดกเช่น ตอนพระสุธนูลอบเข้าไปถึงห้องบรรทมของนางจีรัปภา ความในหนังสือปัญญาสชาดก ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๗๒ มีว่า

“ลำดับนั้น พระโพธิสัตวก็ลงจากหลังอัศวราชมโนมัย จึงเปิดบานพระทวารแต่ค่อย ๆ แล้วเสด็จเข้าไปในห้องที่บรรทมพระราชธิดา ทอดพระเนตรดูพระจีรัปภาราชบุตรี ตั้งแต่เบื้องพระศิโรตม์ตราบเท่าถึงเบื้องพระบาท มิได้อิ่มพระเนตร จึงลูบไล้พระวรกายพระราชบุตรีด้วยสุคนธชาติ แล้วสวมพวงกุสุมมาลัยในข้อพระกรและจารึกเป็นปฤศนาไว้ในเบื้องหลังนางปทุมาทาสี แล้วทาด้วยเครื่องลูบไล้อันเหลือจากทาพระวรกายพระราชบุตรีจีรัปภา แล้วยืนทอดพระเนตรพิจารณาพระราชบุตรีอยู่ ณ ที่นั้น

ขณะนั้น มณีกักขิอัศวราชจึงทูลเชิญพระโพธิสัตวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพงศ์สมมติเทพดา เชิญพระองค์เสด็จมาเถิด มัชฌิมยามล่วงไปนานแล้ว บัดนี้ถึงปัจฉิมยามจวนจะใกล้รุ่งอยู่แล้ว เชิญเสด็จกลับไปโดยเร็วพลันเถิด พระเจ้าข้า

พระโพธิสัตวได้ฟังสินธพอาชาทูลเชิญ มิใคร่จะทรงพระดำเนินออกจากปราสาทได้ ด้วยทรงอาลัยในพระราชบุตรีจีรัปภา แล้วฝืนพระทัยรีบทรงพระดำเนินมาขึ้นอัศดรสินธพชาติ ฝ่ายมณีกักขิอัศวราชมโนมัย ก็พาพระโพธิสัตวกลับมาสู่ที่พักภายนอกพระนคร ซึ่งเป็นที่หยุดพักระงับร้อนแต่เมื่อแรกมาถึงนั้น พระโพธิสัตว์คิดรำพึงถึงพระราชบุตรีจีรัปภา จึงตรัสแก่สินธพชาตินั้นว่า เราไม่สามารถจะอยู่ในที่อันปราศจากพระราชบุตรีจีรัปภาได้ ท่านจะไปหาอาหารในที่อันสบายก็จงไปเถิด แต่เมื่อถึงสมัยกึ่งราตรี พาชีจงรีบมาหาเราให้จงได้ มณีกักขิอัศวราชรับคำแล้ว ก็กลับไปหาอาหารกินอยู่ ณ ที่ใกล้คูพระนครนั้น

ครั้นรุ่งราตรีพระอาทิตย์อุทัยสว่างแจ้งแล้ว พระราชบุตรีจีรัปภาตื่นจากบรรทม ทอดพระเนตรเห็นรูปไซดักมัจฉาที่หลังนางปทุมาทาสีค่อม ทั้งเห็นเครื่องลูบไล้ของหอม อันทาอยู่ทั่วกายนางปทุมาทาสี ก็ทรงพระสรวลแล้วมีพระเสาวนีย์ตรัสถามว่า พี่ได้ของหอมเครื่องลูบไล้ที่ไหนมาทากายของพี่ นางค่อมปทุมาได้ฟังพระราชเสาวนีย์ตรัสถามจึงมีวาจาว่า โอน่าอัศจรรย์จริงๆ ของหอมเหล่านี้มาแต่ไหนหนอ แล้วแลไปเห็นเครื่องลูบไล้ของหอมที่พระกายพระราชบุตรีจีรัปภากับทั้งพวงมาลาอันสวมอยู่ที่ข้อพระกร จึงทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าก็ของหอมเครื่องลูบไล้ที่พระวรกาย กับทั้งพวงมาลาที่ข้อพระกรของพระแม่เจ้านั้น พระแม่เจ้าได้มาแต่ที่ไหนเล่า พระราชบุตรีจีรัปภาได้ฟังถาม จึงเดินเข้าไปส่องพระฉาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นบวรกายของพระองค์ อันลูบไล้ประทาไปด้วยเครื่องหอมและพวงมาลาที่สวมข้อพระวรกรอยู่นั้น ก็เกิดอัศจรรย์ใจมีความสงสัยยิ่งนัก จึงดำริในพระทัยว่า ชะรอยอมรินทราธิบดี หรือเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพดา จะมาในปราสาทที่อยู่ของเรานี้เป็นแท้ ทรงกำหนดฉะนี้แล้ว จึงตรัสแก่นางปทุมาทาสีค่อมว่า ในราตรีวันนี้เราจะพากันคอยดูให้เห็นประจักษ์แก่ตา นางทาสีปทุมาก็รับพระเสาวนีย์

ฝ่ายหน่อพระชินสีห์สุธนูโพธิสัตว ครั้นถึงกึ่งราตรีก็ทรงรำลึกถึงพาชีอัศวราช ครั้นอัศดรมาถึงก็ขึ้นทรง แล้วเสด็จเข้าไปในปราสาทพระราชบุตรี ทรงกระทำวิธีเหมือนดังนั้นในราตรีเป็นคำรบ ๒ และราตรีเป็นคำรบ ๓ ฝ่ายพระราชบุตรีจีรัปภากับนางปทุมาทาสีตั้งตาเฝ้าคอยดูก็พากันหลับไปในราตรีที่ ๒ และราตรีที่ ๓ นั้น

ครั้นถึงราตรีที่คำรบ ๔ พระราชบุตรีจีรัปภาจึงตรัสแก่นางปทุมาทาสีอีกว่า ดูกรพี่ปทุมา คืนวันนี้เราทั้งสองคนจักไม่หลับไม่นอน จะคอยจับผู้ที่เข้ามาในที่นี้ให้จงได้ ถ้าเราทั้งสองไม่อาจตื่นอยู่ได้ ยังขืนจะหลับเหมือนแต่ก่อนไซร้ เราเอาก้านอุบลมาขยี้เอาน้ำหยอดจักษุทั้งสองซ้ายขวาไว้ เมื่อกระทำดังนี้ เราทั้งสองคนก็จะหลับมิได้ จะตื่นอยู่จนรุ่งราตรี นางปทุมาทาสีจึงตอบว่า กระทำอุบายดังนี้อาจสำเร็จดั่งความปรารถนาได้ พระราชบุตรีจีรัปภากับนางปทุมาทาสีปรึกษากันฉะนี้แล้วก็กระทำเหมือนดังนั้น ก็พากันตื่นอยู่มิได้หลับ

ครั้นเวลากึ่งราตรี พระโพธิสัตวประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการ ลูบไล้พระวรกายด้วยสุคนธชาติของหอมแล้ว ทรงถือของหอมและพวงมาลาขึ้นทรงอาชาสินธพชาติ ตรงไปปราสาทพระราชบุตรีจีรัปภา ครั้นถึงจึ่งเปิดบานพระทวาร ได้ทัศนาการเห็นรัศมีกายของพระราชบุตรี อันมีแสงสว่างแผ่ไปทั่วทั้งปรางค์ปราสาท ประดุจดังว่าแสงโอภาศแห่งประทีปที่บุคคลตามไว้ฉะนั้น จึงตรัสแก่สินธพอาชาไนยว่า ดูกรมณีกักขิอัศว ราชผู้สหาย ท่านได้เห็นรัศมีกายของพระราชบุตรีจีรัปภาหรือไม่ อัศวราชอาชาไนยทูลว่าหม่อมฉันได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า

ผ่ายพระราชบุตรีจีรัปภา ได้ทัศนาการเห็นองค์พระสุธนูโพธิสัตวจึ่งกระซิบที่ใกล้หูนางปทุมาว่า เทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพดามาแล้วท่านเห็นหรือไม่ นางปทุมาทาสีก็รับพระเสาวนีย์ว่า หม่อมฉันได้เห็นแล้ว พระแม่เจ้าอย่าอื้ออึงไป ชนทั้งสองก็มีจิตต์ประกอบด้วยปีติโสมนัส เพราะเหตุที่ได้เห็นพระโพธิสัตวเสด็จมา จึ่งปิดจักษุทั้งสองด้วยชายพระภูษาที่ทรงห่ม ทำเป็นประหนึ่งว่านิทรารมย์หลับอยูมิได้รู้สมปฤดี

ผ่ายพระโพธสัตวตรัสสั่งสินธพพาชีแล้วก็เสด็จเข้าไปในปรางค์ปราสาท ทรงประทับ ณ แท่นที่ไสยาสน์ของพระราชบุตรีจีรัปภา ตรัสปราไสด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รักเจริญใจแต่ลำพังพระองค์ แล้วทรงลูบไล้ทาวรกายพระราชบุตรีจีรัปภา ด้วยเครื่องลูบไล้และของหอมเป็นต้น แล้วเอาของหอมและเครื่องทาที่เหลือนั้น ไปทากายนางปทุมาทาสี กระทำดังที่ได้ทรงกระทำมาแต่ราตรีก่อน ๆ แล้วทอดพระเนตรดูพระราชบุตรีจีรัปภามิได้พริบพระเนตร เพราะมีจิตต์สิเนหาปฏิพัทธในพระราชบุตรีจีรัปภาเป็นกำลัง

ในกาลนั้น มณีกักขิอัศวราชจึงร้องเชิญเสด็จว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพงศ์เทพดา เชิญพระองค์เสด็จออกมาเถิด เวลาจวนจะสว่างแจ้งอยู่แล้ว พระโพธิสัตวได้ทรงฟังสินธพอาชาไนยทูลเชิญ จึงค่อย ๆ เคลื่อนพระองค์ลงจากพระที่ เพื่อจะเสด็จกลับออกมาทรงสินธพอัศดร

ในขณะนั้น พระราชบุตรีจีรัปภาจึงกระซิบบอกนางปทุมาว่าพี่จงจับเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาไว้ เราทั้งสองช่วยกันจับอย่าให้หนีออกไปได้ นางปทุมาทาสีรับพระเสาวนีย์แล้ว ยังมิทันที่จะลุกขึ้นจากที่ ฝ่ายพระราชบุตรีจีรัปภาก็อุฐาการจากที่ไสยาสน์ ตรงเข้ากอดพระบาทพระโพธิสัตว ด้วยพระหัตถ์ทั้งสองให้มั่นแล้วทูลว่า พระองค์จงหยุดอยู่ก่อน ฝายนางปทุมาทาสีก็ลุกขึ้นจากที่นอนในขณะนั้นเข้าจับพระบาทพระโพธิสัตวให้มั่นแล้วทูลว่า ข้าแต่เทวดา พระองค์จงหยุดก่อน จะรีบร้อนเสด็จไปข้างไหนเล่า

พระโพธิสัตวมิรู้ที่จะคิดประการใด จึ่งตรัสตอบสินธพออกไปว่า ดูกรอาชาผู้เป็นสหาย บัดนี้เราถูกพระราชบุตรีกับหญิงคนใช้จับไว้มั่นคงมิรู้ที่จะทำประการใด สินธพอาชาไนยจึ่งทูลว่า ถ้ากระนั้นพระองค์จงอยู่ก่อนเถิด ที่จะเถิดบาปหยาบช้านั้นมิได้มี พระโพธิสัตวจึ่งตรัสว่า ถ้ากระนั้น พี่พาชีจงกลับไปแสวงหาอาหารก่อนเถิด ถ้าเราระลึกถึงท่านเมื่อใด ท่านจงมาหาเราเมื่อนั้น อาชาไนยรับคำพระโพธิสัตวแล้ว ก็กลับไปแสวงหาอาหารในที่นั้นๆ พระโพธิสัตวส่งอาชาไนยไปแล้ว ก็ทรงประทับนั่ง ณ ที่บรรทมของพระราชบุตรีจีรัปภา พระราชบุตรีจึ่งมีสุนทรวาจาเชิญให้ไสยาสน์ รำงับกระวนกระวายพระหฤทัย แล้วนั่งนวดฟั้นพระบาทพระโพธิสัตวให้ทรงบรรทม แล้วสองกษัตริย์ก็ทรงอภิรมย์ซึ่งกันและกัน

ในลำดับนั้น พระราชธิดาจีรัปภาเทวี จึ่งมีสุนทรวาจาทูลถามพระโพธิสัตวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอิศรภาพ หม่อมฉันมีความสงสัยยิ่งนัก พระองค์เป็นเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลายหรือ หรือว่าเป็นองค์อมรินทราธิราช จงโปรดบอกหม่อมฉันให้ทราบในกาลบัดนี้

พระโพธิสัตวได้ทรงฟังพระราชบุตรีจีรัปภาทูลถามดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจะบอกว่าเราเป็นพระอินทร์ หรือเป็นเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดา พระนางจีรัปภาก็คงจะเชื่อฟังทั้งสิ้น ก็แต่ว่าถ้อยคำเช่นนั้นเป็นคำของอสัตบุรุษ มิได้มีความเจริญเลย คำใดเป็นคำจริง ปราศจากมุสาวาท คำนั้นเป็นธรรมของสัตบุรุษ อาจนำมาซึ่งประโยชน์ในภายหน้า ต้องการอะไรที่เราจะกล่าวมุสาวาท เราบอกตามจริงประเสริฐกว่า พระโพธิสัตวดำริฉะนี้แล้ว เมื่อจะบอกความตามจริง จึงตรัสว่า ดูกรพระน้องผู้มิพักตรอันเจริญ พี่นี้จะได้เป็นพระยาเทวดา หรือเป็นองค์อมรินทราหามิได้ พี่นี้เป็นราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ตัวของพี่นี้ชื่อว่าสุธนูราชกุมาร พระน้องจงทราบในกาลนี้

พระราชบุตรีจีรัปภา ได้ฟังคำพระภัศดาโพธิสัตวตรัสบอกดังนั้นก็มีพระทัยโสมนัสยินดี ประดุจดังว่ามีบุคคลมารดด้วยสุคนธวารีได้ ๑๖ กละออม ในสราทกาลฤดูร้อน พระนางก็อยู่สมัครสโมสรกับพระโพธิสัตวมาช้านาน”

ความตอนดังกล่าวในสุธนูกลอนสวดสำนวนที่ ๑ กล่าวต่างออกไปว่า สุธนูกุมารเพียงแต่สวมพวงมาลัยที่ข้อพระหัตถ์ของนางจีรัปภา มิได้เขียนปริศนารูปไซดักปลาไว้ที่หลังของนางค่อมพี่เลี้ยง

๏ พระจับพวงมาลัย คล้องเข้าในพระหัตถา
พระกรแก้วลัลยา ม้ามารับพระกลับไป
๏ ค่ำค่ำพระกลับมา ชมพนิดายอดพิสมัย
แล้วคล้องพวงมาลัย มาแล้วไปสามราตรี

ความในกลอนสวดสำนวนที่ ๑ ตรงกับปัญญาสชาดกคือ นางจีรัปภากับนางค่อมพี่เลี้ยงกับพระสุธนูได้ในคืนที่ ๔ พระสุธนูได้อยู่ร่วมกับนางจีรัปภาในปราสาท อยู่มาเหล่านางสนมกำนัลเกรงความผิด จึงนำความขึ้นทูลท้าวเสตราช

  ๏ นางเลี้ยงมิ่งม้า
ให้ทอดนํ้าหญ้า อยู่บนปรางค์ศรี
บำเรอผัวรัก ด้วยความยินดี
ชวนพระสามี เข้าที่สรงเสวย
  ๏ ท้าวนางกำนัล
ร้อนโรคโศกศัลย์ ไม่มีความเสบย
เพียงชีพจากร่าง เพราะนางทรามเชย
ทำฉันใดเลย จะพ้นโพยภัย
  ๏ ครั้นจะนิ่งนาน
เกลือกพระภูบาล กับแก้วอรไท
ขึ้นหลังอาชา พากันเหาะไป
เราทั้งปวงไซร้ จะสิ้นสุดปราณ
  ๏ ท้าวนางกำนัล
คิดแล้วชวนกัน ไปกราบทูลสาร
สมเด็จบิตุเรศ ให้แจ้งเหตุการณ์
ว่ายอดเยาวมาลย์ คบชู้สู่ชาย

สุธนูกลอนสวดสำนวนที่ ๒ ดำเนินเรื่องตอนที่กล่าวมาต่างจากสำนวนที่ ๑ และปัญญาสชาดกคือ ราตรีแรกที่สุธนูกุมารลอบเข้าไปในห้องบรรทม ได้เอาแป้งหอมเขียนเป็นรูปดอกบัวไว้ที่หลังของนางจีรัปภาและเขียนรูปจระเข้ไว้ที่หลังของนางค่อมพี่เลี้ยง

ราตรีที่ ๒ สุธนูกุมารเอาดอกไม้ที่เครื่องบูชาโปรยไว้ทั่วห้องบรรทม

๏ หยิบเอาแต่แป้ง ที่นางแต่งทั้งเรียงไว้
มาควักเอาแป้งได้ เปลื้องสไบที่นางคลุม
๏ ................ ..........................
เขียนแป้งเป็นบัวตูม กลีบกลัดกลุ้มหุ้มเกสร
๏ ................ นางนอนกับเทวี
เขียนเป็นรูปกุมภีล์ ไว้ที่หลังนางค่อมนั้น
๏ จึงเอาเครี่องบูชา นางกัลยาบูชาไว้
เก็บเอาเเต่ดอกไม้ โปรยปรายไว้ทั่วองค์นาง
๏ เรี่ยรายปรายทั่วไป ล้วนดอกไม้ในห้องปรางค์
ทั่วตัวทั้งสองนาง แล้วเดินย่างกลับออกมา

ความในกลอนสวดสำนวนที่ ๒ ว่า ครั้นถึงราตรีที่ ๓ เมื่อนางค่อมพี่เลี้ยงก็จับสุธนูกุมารไว้ได้แล้ว นางจีรัปภาให้เหล่านางกำนัลควบคุมสุธนูกุมารไว้ ส่วนตัวนางรีบนำความไปทูลแก่พระบิดา

  ๏ ว่าแล้วโฉมตรู
ให้นางค่อมอยู่ รักษาโฉมฉาย
พวกนางสาวใช้ อยู่นี่มากมาย
รักษาโฉมฉาย ไว้ให้จงดี
  ๏ เราจะไปทูล
แก่พระนเรนทร์สูร บิดาชนนี
สั่งแล้วมิช้า นวลนางเทวี
ลงจากปรางค์ศรี ไปทูลมารดา
  ๏ ครั้นเถิงจึงทูล
บิดาพระคุณ จงโปรดเกศา
บัดนี้ยังมี ชายหนึ่งโสภา
องอาจเข้ามา ในปรางค์ปราสาท
  ๏ ลูกจับไว้ได้
ให้นางสาวใช้ เฝ้าอยู่เดียรดาษ
.......... จงแจ้งพระบาท
ชายนี้ประหลาด องอาจนักหนา

ความแตกต่างในรายละเอียดของเรื่องประเด็นที่นางจีรัปภานำความไปทูลพระบิดาตามที่ปรากฏในสุธนูกลอนสวดสำนวนที่ ๒ น่าจะเนื่องมาจากความคิดของกวีผู้แต่งที่มุ่งจะแสดงให้เห็นว่า นางจีรัปภาเป็นกุลสตรี อยู่ในขนบประเพณีตามค่านิยมของสังคมไทยและใช้กลอนสวดเป็นสื่อในการปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวด้วย

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์เรื่องสุธนูกลอนสวดครั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอด ส่วนผู้ที่ประสงค์จะศึกษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ โปรดดูจากสำเนาเอกสารเลขที่ ๕๖๗ ซึ่งพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกของหนังสือนี้



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ