คำนำ

วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่างหนึ่ง ที่บรรพชนของชาวอีสานได้สร้างสรรค์ไว้ด้วยภูมิปัญญา จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไปยังอนุชนรุ่นหลัง เนื่องจากวรรณกรรมส่วนใหญ่จะสอดแทรกสาระน่ารู้อันเนื่องด้วยคติธรรม คำคม ปรัชญาในการดำรงชีวิตและจารีตประเพณีที่ดีงามของสังคม ตลอดจนประวัติศาสตร์ของสังคมอีสานได้เป็นอย่างดี

ลำเรื่อง พระยาคันคากนี้ เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิง สอดแทรกความรู้ ด้านคติธรรม คำคม และจารีตประเพณีที่ดีงามต่าง ๆ เช่น ประเพณีหญิงตั้งครรภ์ต้องรักษาศีล ๕ ประเพณีแจกทาน และปรัชญาการปกครองบ้านเมืองให้รุ่งเรือง รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ความฝัน และโหราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อหาของเรื่องยังสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวิถีชีวิตเกษตรกรรมในอดีตของคนไทยในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ต้นฉบับของลำเรื่องพระยาคันคากนี้เป็นคัมภีร์ใบลาน บันทึกข้อความด้วยอักษรไทยน้อย ภาษาไทยอีสานโบราณ เนื้อหามีความยาว ๑๗๒ หน้าลาน นายสมชัยฟักสุวรรณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ได้คัดถ่ายถอดจากอักษรไทยน้อยให้เป็นอักษรไทยปัจจุบัน โดยรักษารูปคำตามเสียงอ่านเดิม แต่จัดวรรคตอนใหม่ให้ถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์ของวรรณกรรมอีสาน พร้อมทั้งถอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน และจัดทำศัพทานุกรมไว้ท้ายเล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับรูปอักษร ภาษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสภาพสังคมของชาวอีสานในอดีต

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือเรื่องพระยาคันคาก นี้ จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย และประชาชนผู้สนใจโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ