คำอธิบาย

โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยนี้ พระยาตรังแต่งพรรณนาการเดินทางตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงแม่น้ำน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรี โดยไม่ระบุวัน เวลาที่แต่ง แต่ได้เนื้อความจากโคลงบางบทว่าเป็นศึกทวาย รวมทั้งมีพระราชโอรสและพระเจ้าหลานเธอเสด็จร่วมในกระบวนทัพด้วย ดังโคลงว่า

๓๓

๏ เสร็จเศิกสมแคล่วได้ แดนเวียง ทะแวนา
ชมอนงค์ดนู นับร้อย
สารสัตย์ไป่เอนเอียง อายโอษฐ์ อ่อนเอย
ได้จะแลกน้ำอ้อย อึกเดียว ฯ

๑๔๘

๏ ขษีดิษสุรราชยั้ง โยธา
แออัดเสนีพล เพียบเฝ้า
เถลิงอาสน์พระพลาชัย ชมหมู่ หารท่าน
เพียงพหลห้อมเจ้า จักรี ฯ

๑๕๓

๏ ดับนั้นโอรสพ้อง ภาคี- ไนยนา
ทัพละทัพเผินผุย แผ่นด้าว
คือขันธบุตรศุลี ฦาเดช
พลกุมารท้าวกว้าง กว่าไศล ฯ

จากข้อความในโคลงดังกล่าว เชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ เนื่องจากตรงกับบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า “ในปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙[๑] นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย ให้พม่าเห็นว่าไทยมีกำลังพอจะทำศึกตอบแทนได้บ้าง จึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพไว้ให้พร้อม ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า ๔ บาท ได้มหาพิชัยฤกษ์ จึงพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยาตรานาวาพยุหทัพหลวงจากกรุงเทพมหานคร โดยทางชลมารคและพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวงยกจากกรุงครั้งนั้น เป็นพล ๒๐,๐๐๐ เศษ พร้อมด้วยเรือพระราชวงศานุวงศ์ และท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นอันมาก ดำรัสให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราชเป็นกองหน้า พระยาคลังเป็นเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นยกกระบัตร สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นทัพหลัง เสด็จประทับรอนแรมไปตามทางชลมารค ถึงท่าตะกั่วแม่น้ำน้อย จึงเสด็จขึ้นประทับ ณ พระตำหนักค่ายหลวงซึ่งกองหน้า ทำไว้รับเสด็จ แล้วดำรัสให้กองหน้ากองหนุน เป็นคน ๑๐,๐๐๐ ยกล่วงหน้าไปก่อน แล้วทัพหลวงจึงเสด็จพระราชดำเนินตามไป”[๒]

ลักษณะคำประพันธ์ของโคลงนิราศเรื่องนี้ พระยาตรังแต่งเป็นโคลงดั้นบาทกุญชรและโคลงดั้นวิวิธมาลี มีร่ายเกริ่นนำ ๑ บทและร่ายแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องอีก ๒ บท การดำเนินเรื่อง เริ่มต้นด้วยบทสดุดีบ้านเมืองและกษัตริย์ แล้วกล่าวชมนาง แสดงความอาลัยที่ต้องจากนางที่รัก จากนั้นจึงพรรณนาการเดินทางจากคลองบางหลวง ผ่านวัดหงส์ วัดสังข์กระจาย ผ่านด่านโขลนทวาร หัวกระบือ คลองมหาชัย ท่าจีน ไปจนถึงแม่กลอง ผ่านเมืองสมุทร อัมพวา บางช้าง เข้าราชบุรี เจ็ดเสมียน แวะพักที่โพธารามแล้วเดินทางต่อผ่านลูกแก หวายเหนียว พระแท่นดงรัง จนถึงเมืองไทรโยค เขาซ่อนชู้ และไปจบความตอนเข้าตั้งทัพที่แม่น้ำน้อย

โคลงนิราศเรื่องนี้มีลีลาการแต่งและสำนวนโวหาร คล้ายโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ในสมัยอยุธยา ดังตัวอย่าง

สำนวนชมเมือง

๏ อยุทธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา
อำนาถบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีลอออินทร ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสรม ฯ

๏ พรายพรายพระธาตุเจ้า จยรจนนทร แจ่มแฮ
ไตรโลกยเลงคือโคม ค่ำเช้า
พิหารรเบียงบรร รุจิเรข เรืองแฮ
ทุกแห่งห้องพระเจ้า น่งงเนือง ฯ
  (โคลงกำศรวลศรีปราชญ์)

๏ อยุทธยายศยิ่งไท้ ทั้งสาม ภพฤา
องศ์อดิศรสวม สุขหล้า
บูชิตสาสนราม เรืองท- วีปแฮ
บุญพระตวงฟ้าค้า ค่าสวรรค์ ฯ

๏ เจดีย์สลับสล้างพระ พรายแสง ทองแฮ
โบสถ์สระศาลานันต์ เนื่องด้าว
ธรรมาสน์อาสน์สงฆ์แสดง สะเดาะสัตว์ ทุกข์ทั่ว
แผ่นสุธาท้าวสร้าง สัจศิล ฯ
  (โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)

สำนวนชมนาง

๑๔

๏ โฉมแม่จักฝากฟ้า เกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่านเทอกโฉมเอา สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤขัดเจ้าหล้า สู่สํสองสํ ฯ

๑๕

๏ โฉมแม่ฝากน่านน้ำ อรรณพ แลฤๅ
ยยวนาคเชยชํอก พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ จอมสวาสดิ กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้ เท่าเจ้าสงวนเอง ฯ
  (โคลงกำศรวลศรีปราชญ์)

๑๓

๏ โฉมเจ้าจะแหวกฟ้า ฝากพรหม- เมศฤๅ
เกรงจะชมฌานเมิล แม่ไว้
จะฝากอิศรกรม ไกรลาส
ไฟราคร้อนหล้าไท้ ทั่วแหนง ฯ

๑๔

๏ เลียบเล็งโลกธาตุสิ้น สรรพางค์
เจ็บฝากเจ็บแฝงฝืน ใฝ่เฝ้า
คิดทั่วทิศานาง แหนงพี่ วายเลย
โฉมแม่ฝากไว้เจ้า จึ่งคง ฯ
  (โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำนํ้าน้อย)

อย่างไรก็ตาม โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยของพระยาตรังได้รับการยกย่องว่ามีความไพเราะเพราะพริ้งไม่แพ้โคลงนิราศเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน อีกทั้งโคลงนิราศเรื่องนี้ยังให้ความรู้แก่ผู้อ่านในด้านกระบวนทัพและการบรรยายสภาพของป่าเขาลำเนาไพร ตลอดจนธรรมชาติต่างๆ ตามเส้นทางที่ผ่านอย่างน่าสนใจ รวมถึงท่านได้แทรกประวัติชีวิตของท่านไว้ตลอดเรื่อง ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้ศึกษาชีวประวัติของพระยาตรัง เช่น ท่านกล่าวไว้ในเนื้อเรื่องว่าเป็นชาวนครศรีธรรมราช (โคลงบทที่ ๑๘๖) และได้รับพระราชทานภรรยาจากพระเจ้าแผ่นดิน (โคลงบทที่ ๘๔ - ๘๕) และที่สำคัญคือท่านเรียกชื่อแทนตนเองว่า “ตรัง” (โคลงบทที่ ๖๖ และ ๑๘๑) รวมถึงใช้คำว่า “ออกญา” ซึ่งหมายถึงบรรดาศักดิ์พระยา (โคลงบทที่ ๘๙ และ ๑๕๗ ) จึงน่าจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าท่านได้เป็นเจ้าเมืองตรังมาก่อน พ.ศ. ๒๓๓๐ แล้ว

โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ในโคลงท้ายเรื่องได้ระบุไว้ว่า มีโคลงรวมทั้งสิ้น ๑๙๗ บท แต่การพิมพ์ครั้งนั้นมีโคลงอยู่เพียง ๑๘๖ บทเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการพิมพ์หนังสือ “โคลงกวีโบราณและวรรณกรรมพระยาตรัง” ในงานอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมศิลปากรจึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ปรากฏว่าได้โคลงเพิ่มขึ้นอีก ๘ บท รวมกับโคลงของเดิมเป็น ๑๙๔ บท ยังขาดอยู่อีก ๓ บท ดังนั้น เมื่อมีการจัดพิมพ์หนังสือ “วรรณกรรมพระยาตรัง” ขึ้นอีกใน พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงได้ตรวจสอบชำระกับฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดวรรณคดี หมู่โคลง (นิราศ) ชื่อเรื่องลำน้ำน้อยหรือแม่น้ำน้อย จำนวน ๔ เล่ม ดังต่อไปนี้

๑. เลขที่ ๓๖๖ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๔ มัดที่ ๔๒ ประวัติ ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นสมุดไทยดำ ตัวโคลงเขียนด้วยเส้นรงค์ ร่ายเขียนด้วยเส้นทอง ที่หน้าต้นระบุว่า “โคลงบาทกุญชร นิราศทวาย” มีเนื้อความถึงโคลงบทที่ ๑๙๐

๒. เลขที่ ๓๖๘ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๔ มัดที่ ๔๒ ประวัติ หอฯ ซื้อ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นสมุดไทยดำสภาพชำรุด ที่หน้าต้นเขียนว่า “สมุดนิราศพญาตรังไปทับทวาย จบบริบูรณ์” มีเนื้อความถึงโคลงบทที่ ๑๙๐

๓. เลขที่ ๓๖๙ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๔ มัดที่ ๔๒ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เนื้อความถึงโคลงบทที่ ๑๙๐ (ขาดโคลงบทที่ ๑๐๖ - ๑๐๙)

๔. เลขที่ ๓๗๐ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๔ มัดที่ ๔๒ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เส้นรงค์ ที่หน้าต้นระบุว่า “พระสมทโครงดั้นพญาตรังจบบริบูน” มีเนื้อความถึงโคลงบทที่ ๑๙๐

๕. เลขที่ ๓๗๑ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๓/๔ มัดที่ ๔๒ ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด เป็นสมุดไทยดำ เส้นดินสอ เนื้อความขาดโคลงบทที่๒๘ - ๓๑ และท้ายเล่มมีโคลงซึ่งไม่มีในสมุดไทยเล่มอื่นๆ อีก ๘ บท แทรกระหว่างโคลงบทที่ ๑๘๙ – ๑๙๐

ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ ได้ยึดถือต้นฉบับสมุดไทยเป็นหลัก โดย เฉพาะสมุดไทยเลขที่ ๓๖๖ และ ๓๗๐ ซึ่งถือเป็นสมุดฉบับหลวงและมีข้อความส่วนใหญ่ตรงกัน ฉะนั้น เมื่อพบว่าคำใดผิดเพี้ยนไปจากสมุดไทย ก็ได้แก้ไขให้ตรงตามฉบับสมุดไทย ยกเว้นมีบางคำที่เห็นว่าได้ความดี ก็คงรักษาไว้ตามฉบับที่พิมพ์มาแต่เดิม พร้อมทั้งปรับอักขรวิธีตัวสะกดบางคำให้ถูกต้องตามหลักภาษาปัจจุบัน ทั้งนี้ ในส่วนที่มีการแก้ไขใหม่ ก็ได้จัดทำเป็นบันทึกสอบเทียบสำนวนโคลงฉบับพิมพ์ที่ต่างจากฉบับสมุดไทยไว้ท้ายเรื่องแล้ว อนึ่ง จากการตรวจสอบสมุดไทยเลขที่ ๓๗๑ ซึ่งมีโคลงพิเศษ ไม่มีในสมุดไทยเล่มอื่น ๆ อีก ๘ บท แทรกระหว่างโคลงบทที่ ๑๘๙ - ๑๙๐ ทำให้ค้นพบโคลงเพิ่มขึ้นจากฉบับพิมพ์แต่เดิมอีก ๔ บท รวมเป็น ๑๙๘ บท เท่ากับเกินจากที่กล่าวไว้ในเนื้อเรื่องอยู่ ๑ บท ซึ่งโคลงที่เพิ่มใหม่นี้ จัดทำเชิงอรรถอธิบายไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

[๑] พ.ศ. ๒๓๓๐

[๒] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. ๒๕๓๑) หน้า ๕๐.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ