ประวัติพระยาตรัง

พระยาตรัง หรือที่มีนามบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ว่า “พระยาตรังคภูมาภิบาล” เป็นกวีเอกผู้หนึ่งในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผลงานวรรณกรรมของท่าน โดยเฉพาะที่เป็นคำประพันธ์ประเภทโคลง อาทิ โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยและโคลงนิราศพระยาตรัง (หรือที่เรียก “โคลงนิราศถลาง”) ได้รับการยกย่องนับถือในหมู่กวีรุ่นหลังเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานวรรณกรรมของพระยาตรังจะเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้รักงานกวีนิพนธ์โดยทั่วไป แต่ด้านประวัติชีวิตของท่านนั้นกลับไม่ปรากฏเรื่องราวชัดเจนนัก ที่ทราบแน่นอนจากเนื้อความในโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยว่า ท่านเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งหยิ่งทะนงในความเป็นปราชญ์ของตนเองสูง ดังคำโคลง

๑๘๖

๏ กรุงศรีธรรมราชหม้าย เมธี พ่อฮา
แสวงอยุธยาขู คู่พร้อง
เฉลิมบาทนฤบดี โดยเสด็จ เศิกแฮ
นิราศเรื่องพ้องหน้า ณรงค์ ฯ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ประวัติพระยาตรังสั้นๆ ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถือเป็นการเผยแพร่ประวัติของพระยาตรังครั้งแรก และมีผู้อ้างอิงอยู่เสมอถึงปัจจุบัน ความว่า

“พระยาตรังคนนี้เป็นกวีมีชื่อเสียงคน ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งโคลงนิราศไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “นิราศพระยาตรัง” พวกกวีแต่ก่อนยกย่องกันเข้าไว้ในตำรา กับแต่งโคลงดั้นยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ ไว้อีกเรื่อง ๑ เมื่อเร็ว ๆ นี้พบเพลงยาวนิราศพระยาตรังแต่ง[๑] ว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง สำนวนพระยาตรังแต่งกลอนสู้แต่งโคลงไม่ได้ แต่ได้ความในเรื่องประวัติของพระยาตรังในเพลงยาวนั้น ประกอบกับที่ได้ทราบคำบอกเล่า เข้าใจว่าพระยาตรังคนนี้เป็นชาวนคร จะเป็นเชื้อแถวอย่างไรทางเจ้าพระยานครพัฒน เป็นพระญาติกับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้เป็นตำแหน่งพระยาตรังเมื่อรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นยกเมืองตรังขึ้นเป็นเมืองตรีมาขึ้นกรุงเทพฯ เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ พระยาตรังจึงไม่ถูกกับเจ้าพระยานครน้อย เมื่อพระยาตรังออกไปวางตรา พาภรรยาไปด้วย ภรรยาเป็นญาติเจ้าพระยานครน้อย พักอยู่เสียที่เมืองนคร ไม่ ออกไปเมืองตรังด้วย เข้าใจว่าพระยาตรังว่าราชการเมืองอยู่เพียงสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้วต้องกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองตรังกลับเป็นเมืองขึ้นเมืองนครต่อไป”[๒]

ต่อมามีท่านผู้รู้หลายท่านโดยเฉพาะนักวิชาการท้องถิ่นให้ความสนใจค้นคว้าประวัติชีวิตของพระยาตรังโดยละเอียดออกเผยแพร่มากยิ่งขึ้น งานค้นคว้าที่สำคัญ คือ ข้อเขียนของขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช ได้ศึกษาประวัติชีวิตของพระยาตรังทั้งจากเอกสารประวัติศาสตร์และวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ของพระยาตรัง ประมวลกับคำบอกเล่าสืบกันมาของบุคคลในท้องถิ่น สรุปได้ว่าพระยาตรังเป็นบุตรของออกพระศรีราชสงครามรามภักดี (เยาว์) ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรอุปราชจันทร์สมัยหลวงสิทธินายเวรปลัดเมืองนคร (พระปลัดหนู) ตั้งตัวเป็นเจ้า ต่อมาอุปราชจันทร์ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์ ส่วนมารดาของพระยาตรัง คือ หม่อมแจ่ม ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ด้วยเหตุนี้ พระยาตรังจึงมีความเกี่ยวพันกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทางสายมารดา[๓]

ส่วนชื่อเดิมของพระยาตรังนั้น มีผู้เสนอข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไป กล่าวคือในหนังสือตรังสาร ซึ่งพิมพ์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดตรัง พ.ศ. ๒๔๘๒ และ ว.ศิวะสริยานนท์ (พระวรเวทย์พิสิฐ) เขียนไว้ในหนังสือวรรณคดีสาร เล่มที่ ๑๐ ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗ ว่า พระยาตรังมีชื่อเดิมว่า “สีไหน” ส่วนบทความเรื่อง “พระยาตรังค์” ของศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส ในวารสารวัฒนธรรมไทย ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ อ้างว่าขุนอาเทศคดีได้สอบถามคนรุ่นเก่าที่เชื่อถือได้หลายคน กล่าวว่าพระยาตรังมีชื่อเดิมว่า “จัน” ส่วนขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ระบุไว้ในเรื่อง “ชีวประวัติและกวีนิพนธ์ของพระยาตรัง” ในหนังสือวิชชา ฉบับชีวิตไทยปักษ์ใต้ มิถุนายน-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ว่าชื่อ “ศรีจันทร์” จึงเป็นอันว่าชื่อเดิมของพระยาตรังยังไม่เป็นที่ยุติ เท่าที่ใช้กันอยู่มีต่างกันเป็น ๓ ชื่อ คือ จันทร์ (จัน) ศรีจันทร์ (สีจัน) และศรีไหน (สีไหน)[๔]

ด้านการศึกษาของพระยาตรัง ขุนอาเทศคดีเขียนไว้ในเรื่อง “ชีวประวัติและผลงานของพระยาตรัง” ว่าพระยาตรังเรียนหนังสือขอมไทย ที่วัดท่ามอญ (ปัจจุบันคือ วัดศรีทวี ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านของท่านตรงสุดทางรถไฟ ทิศใต้ของวัดดังกล่าวในปัจจุบัน แต่เมื่อได้เวลาบวชเป็นสามเณร สันนิษฐานว่าพระยาตรังคงจะบวชที่วัดหน้าพระลาน เพราะสมัยนั้นสำนักวัดหน้าพระลานมีชื่อเสียงในด้านการศึกษามาก อีกทั้งเพื่อให้ห่างไกลจากบ้านจะได้ตั้งใจเล่าเรียน ประกอบกับมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ที่วัดนี้เคยมีสามเณรน้อยรูปหนึ่งชอบแต่งโคลง และมีคนขอร้องให้ท่านช่วยแต่งโคลงกันมาก ต่อมาสามเณรรูปนี้สึกออกไปรับราชการเป็นกวีมีชื่อเสียงใหญ่โต ส่วนโคลงที่สามเณรแต่ง มีผู้จำกันมาได้ ๒ บท ดังนี้

บทที่หนึ่ง

๏ เณรนี้รูปร่างอย่าง แมงแปะ
เหมือนหนึ่งนํ้าเต้าแกะ ตั้งไว้
นอนวันฝันเห็นแพะ เลียวาน เณรนา
สุนัขเห่าหอนให้ ร่ำร้องหาขวัญ ฯ[๕]

บทที่สอง

๏ เสน่ห์เหยอย่าทำให้พี่นี้ รวนเร
มิเงินเถิดพี่จะเท ให้ม้วย
ร้อยปีพี่ไม่เห ห่างสวาท
บิณฑบาตได้กล้วย ให้น้องกินแฮ ฯ

ขุนอาเทศคดีกล่าวว่ากวีชาวนครศรีธรรมราชที่ร่วมสมัยกับพระยาตรัง เช่น นายเรือง นาใน และชูปราชญ์ ก็ไม่ได้รับราชการ ข้อสำคัญเมื่อพิจารณาถึงคำว่า “เท” ในภาษาปักษ์ใต้หมายความถึงกิริยาที่ผู้หญิงกับผู้ชายร่วมประเวณีกัน เป็นคำหยาบซึ่งไม่เคยมีกวีคนใดนำมาใช้ ถือเป็นโวหารกล้าในโคลง ทำให้เชื่อว่าสามเณรรูปนั้นน่าจะเป็น “พระยาตรัง” มากกว่าผู้อื่น เพราะกวีที่ใช้โวหารกล้ามาแล้วก็มักจะติดเป็นนิสัยเสมอ โดยเฉพาะสำนวนในนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยและนิราศถลางของพระยาตรัง ก็มีโคลงชนิดที่เรียกว่า โวหารกล้าโลดโผนคมคายอยู่หลายบท[๖]

พระยาตรังมีนิสัยเจ้าชู้ กล่าวกันว่าท่านมีภรรยาหลายคน ดังปรากฏ หลักฐานที่ท่านเขียนไว้ใน “เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง” ว่า ท่านพาภรรยาเดินทางไปด้วย ๒ คน ซึ่งจากการค้นคว้าของขุนอาเทศคดี เห็นว่า ภรรยาเอกของพระยาตรัง คือ เจ้าหญิงเกษณี[๗] ธิดาของเจ้านราสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชแทนเจ้าพระยานคร (หนู) เมื่อครั้งทรงยกทัพหลวงไปปราบปรามก๊กเมืองนครศรีธรรมราชได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ เข้าใจว่าในระหว่างที่เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนี้เอง พระยาตรังได้พบเจ้าหญิงเกษณี แล้วเกิดรักใคร่ชอบพอกัน จึงลอบส่งเพลงยาวเกี้ยวพาราสี อาทิ

“ท่านเหมือนพลอยเพชรรัตน์ชัชวาล ตัวนี้ปานปูนปัดหรือควรปอง
มาหมายแก้วจอมจุลจักรพรรดิ ให้เสื่อมสวัสดิ์รัศมีมณีหมอง

ฯ ล ฯ

จะยืนเดินดำเนินนั่งนอนที่ไหน ก็ตั้งใจจะดิ้นถวิลหวาม
จนสิ้นเพียรภาวนาพยายาม จนสิ้นความเรือนราชการตน”

จากข้อความเพลงยาวดังกล่าว เข้าใจว่าเวลานั้นพระยาตรังคงได้เข้ารับราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว แต่คงเป็นชั้นผู้น้อยอยู่จึงได้คร่ำครวญว่าตนเองต่ำต้อย ครั้นเจ้านราสุริยวงศ์ทรงทราบเรื่องก็พิโรธมาก แต่เนื่องจากบารมีของคุณปู่พระยาตรัง คือ เจ้าพระยาสุรินทราชา (อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช) และคุณตา คือ เจ้าพระยานคร (พัฒน์) คุ้มครองท่านอยู่ เจ้านราสุริยวงศ์จึงเพียงแต่สั่งให้นำตัวพระยาตรังมาคุมขังไว้จนกระทั่งเจ้านราสุริยวงศ์ทรงประชวรหนักถึงแก่พิราลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯให้ย้ายครอบครัวและเชิญพระศพเข้าไปพระราชทานเพลิงที่วัดบางยี่เรือ กรุงธนบุรี พระยาตรังจึงพ้นจากที่คุมขัง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร พระยาตรังก็ได้เข้าไปถวายตัวทำราชการโดยพักอาศัยอยู่กับพระยาภักดีภูธร (ฉิม)[๘] ผู้เป็นลุงของท่าน ต่อมาไม่นานนักเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่[๙] ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ได้ช่วยเหลือจนท่านได้รับพระราชทานเจ้าหญิงเกษณีเป็นภรรยา ดังความในโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ซึ่งพระยาตรังแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ว่า

๘๔

๏ ไปจอดทอดทัพเว้น วังทอง
ถวิลหวั่นพรั่นแปรใจ จากไท้
ออกนางรับทูลสนอง เสนอราช โปรดแม่
ชาวเพื่อนวังไจ้ไจ้ จับขวัญ ฯ

๘๕

๏ สนิทสนมวิลาศล้อม ลำเพา พี่เอย
อาบอบคันธโสรมสุง สะอ้าน
ฉลองโอษฐเร่งนงเยาว์ ยังเวศ พี่นา
นางชะแม่เถ้าค้าน คำทูล ฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในผลงานโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย มีข้อความหลายตอนที่แสดงว่าพระยาตรังน่าจะมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตรังมาก่อนหน้านั้นแล้ว อาทิ การใช้ชื่อแทนตนเองว่า “ตรัง” ซึ่งเป็นนามบรรดาศักดิ์ของท่าน และการใช้คำว่า “ออกญา” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์หมายถึงพระยา ดังตัวอย่าง

๖๖

๏ มาจ๊ามาเทิ้ญมิ่ง ไม้ตรี ตรังเอย
ถนำธึกอรบังหวน แห่งห้า
ช่วยชุบฤดีที ทันเทวศ ราเจ้า
แม้แม่มาช้าชู้ ชวดเห็น ฯ

๘๙

๏ ออกญาออกโอษฐ์อ้อน อาศัย สัตย์เอย
องค์อนันทชินบร บาปชี้
เสร็จสู่ศิวาลัย ฦๅเดช
คุณพุทธคุณเจ้าชี้ ชอบสมร ฯ

๑๕๗

๏ เหนี่ยวชงฆ์ย่างสะท้อน ถอนใจ หือแฮ
เกินกำลังหวิวหวิว หวั่นก้าว
ออกญาจะกุมได เดินต่าง ไหล่แม่
เคยพยุงน้าวเนื้อ หนุ่มถนอม ฯ

ส่วนในโคลงนิราศพระยาตรัง หรือโคลงนิราศถลาง ซึ่งเป็นผลงานที่ท่านแต่งบรรยายการศึกกับพม่าเมื่อต้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒ ท่านก็ใช้ชื่อแทนตนเองว่า “ตรัง” ในโคลงบทสุดท้าย ความว่า

๑๒๖

๏ ร้อยยี่สิบหกสิ้น แบบฉบับ โคลงแฮ
นิราศตรังไปรับ เศิกสู้
ฉลางบอกแห่งเหตุทัพ พุกามติด ฉลางนา
ควรแก่ส่ำปราชญ์ผู้ อ่านอ้างอวยผล ฯ

ดังนั้น ตามที่เคยเชื่อกันมาว่าพระยาตรังได้เป็นเจ้าเมืองตรังในสมัยรัชกาลที่ ๒ นั้น น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ความจริงพระยาตรังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลที่ ๑ แล้ว ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารสารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา (วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. ๑๑๗๓) ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ซึ่งบันทึกย้อนหลังถึงผู้รักษาเมืองตรังชื่อพระภักดีบริรักษ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า

“แต่เดิมเมืองตรังแบ่งออกเป็น ๒ เมือง คือ เมืองภูรา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก ในฐานะเป็นที่เก็บมูลค้างคาวสำหรับทำดินปืน และที่ร่อนแร่ดีบุกด้วยเมืองหนึ่ง และเมืองตรังทั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มีบริเวณกว้างขวางมากอีกเมืองหนึ่ง อาณาเขตของเมืองตรังและเมืองภูรามีดังนี้ ทิศใต้ลงไปถึงเกาะลิบง ทิศตะวันตกจดทะเลต่อแดนกับที่ปากกุแหระ แขวงเมืองนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดที่ปะเหลียน... ทั้งเมืองตรัง และเมืองภูรา แต่เดิมมามีผู้รักษาเมืองเมืองละคน ครั้นต่อมาให้พระภักดีบริรักษ์ (นายจันมีชื่อมหาดเล็ก) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรังกับเมืองภูราเข้าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองตรังภูรา”[๑๐]

พระภักดีบริรักษ์ หรือ “นายจัน” ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งมหาดเล็กเวรศักดิ์ อันเป็นเวรที่รับราชการประจำใกล้ชิดพระองค์นี้ น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกับพระยาตรัง เพราะสอดคล้องกับหลักฐานที่ขุนอาเทศคดีได้สอบถามคนรุ่นเก่าร่วมสมัยรัชกาลที่ ๔ – ๕ หลายคนว่าชื่อเดิมของพระยาตรัง คือ “จันทร์ หรือ “ศรีจันทร์” อันเป็นชื่อที่มีเค้ามูลมาจากตำแหน่งเดิมของท่าน และในฐานะที่ท่านเป็นหลานตาของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น จึงน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปดูแลเมืองตรัง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและเมืองท่าสำคัญของนครศรีธรรมราช

การดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังของพระภักดีบริรักษ์หรือพระยาตรังนั้นไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มตั้งแต่ปีใด แต่มีหลักฐานจากเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นหนังสือของผู้ว่าราชการเมืองตรังออกนามพระภักดีบริรักษ์ถึงพระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) ใน จ.ศ. ๑๑๔๙ (พ.ศ. ๒๓๓๐) และ จ.ศ. ๑๑๕๔ (พ.ศ. ๒๓๓๕) แสดงว่าอยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๑ ต่อมาพระภักดีบริรักษ์ถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้โต๊ะปังกะหวาเป็นพระยาลิบง ผู้รักษาเมืองตรัง ครั้นถึง จ.ศ. ๑๑๖๖ (พ.ศ. ๒๓๔๗) พระยาลิบงเกิดเป็นอริวิวาทกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เสียชั่วคราวในปีนั้น ซึ่งแสดงว่าพระภักดีบริรักษ์พ้นจากตำแหน่งไปก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ พอสมควร เพราะอย่างน้อยพระยาลิบงก็ต้องใช้เวลาในการสร้างพลังอำนาจเพื่อต่อสู้กับการครอบครองของนครศรีธรรมราช[๑๑]

ผู้ว่าราชการเมืองตรังต่อจากพระยาลิบงคือ หลวงฤทธิสงคราม เมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๕๔ ก็มีชื่อ หลวงอุภัยราชธานีเป็นผู้พยาบาลเมืองตรังในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นพระอุภัยราชธานีในทำเนียบกรมการเมืองตรังของเก่า พ.ศ. ๒๓๕๕ หลังจากนั้นไม่ปรากฏบทบาทชื่อเสียงของผู้ว่าราชการเมืองตรังอีก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสงครามกับพม่าในศึกถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ทางราชธานีเห็นควรมอบอำนาจการดูแลหัวเมืองภาคใต้ให้นครศรีธรรมราช เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้เข้ามาจัดการควบคุมดูแลการค้าและการทหารของเมืองตรัง จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ จึงปรากฏชื่อพระสงครามวิชิต เจ้าเมืองตรังในเหตุการณ์สลัดหวันหมาดหลีตีเมืองตรัง[๑๒] ด้วยเหตุนี้ ตามที่เชื่อกันมาว่าพระยาตรังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตรังในสมัยต้นรัชกาลพี่ ๒ จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักฐานเอกสารดังกล่าว

เมื่อพระยาตรังมาเป็นเจ้าเมืองตรังในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น เข้าใจว่าสถานที่ตั้งเมืองหรือที่ตั้งจวนเจ้าเมืองอยู่ที่บ้านโคกพลาหรือโคกพลับพลา[๑๓] ซึ่งเป็นสถานที่ไม่ไกลจากควนธานีนัก (ที่ตั้งเมืองตรังสมัยรัชกาลที่ ๒) บ้านโคกพลามีลำน้ำ “คลองเมือง” ไหลผ่าน สามารถติดต่อเชื่อมกับแม่น้ำตรังได้สะดวก ระหว่างที่พระยาตรังดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังอยู่นั้น ภรรยาของท่านขอพักอยู่กับญาติที่เมืองนครศรีธรรมราช ไม่เดินทางไปอยู่ที่เมืองตรังด้วย พระยาตรังจึงต้องไปๆ มาๆ ระหว่างเมืองตรังกับเมืองนครศรีธรรมราชอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดเหตุที่ทำให้ท่านถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการที่กรุงเทพฯ    ผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองตรังเล่ากันมาว่า เป็นเพราะภรรยาน้อยของท่านหนีไปกับชายชู้ แล้วชายชู้ได้เขียนกลอนเยาะเย้ยไว้ที่หน้าประตูว่า “ไม่ดีจริงเราไม่พานารีจร ข้ามห้วยข้ามสิงขรชะง่อนผา” เมื่อพระยาตรังมาพบก็โมโหเดือด เขียนกลอนโต้ว่า “ไม่เก่งจริงเราไม่พานารีกลับ จะเฆี่ยนพ่อเสียให้ยับลงกับหวาย” แล้วจับชายชู้มาสำเร็จโทษ ท่านจึงถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ[๑๔]

เมื่อพระยาตรังกลับเข้ากรุงเทพฯ เข้าใจว่าท่านคงรับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดังมีหลักฐานว่าท่านได้ตามเสด็จไปราชการทัพครั้งศึกถลาง ในพ.ศ. ๒๓๕๒ นอกจากนั้น พระยาตรังคงแต่งหนังสือหรือทำงานด้านอาลักษณ์ถวาย เพราะมีความสนใจทางด้านอักษรศาสตร์อยู่ก่อนแล้ว ดังปรากฏหลักฐานว่าท่านเป็นผู้แต่งโคลงซ่อมแทรก ๒ บทในวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย เพราะต้นฉบับเดิมขาดอยู่ในตอนพระเจ้าติโลกราชเกิดระแวงหมื่นด้งนครผู้เป็นอา จึงสั่งให้ไปเฝ้าที่เชียงใหม่ แล้วสั่งให้แสนฟ้าเรื่อนำไปประหารชีวิต ความว่า

๏ สั่งแสนฟ้าเรื่อให้ กุํตวว
หมื่นนครโทษอำ ผิดไว้
แสนสูตัดเอาหัว มันสยบ เสียนา
ไว้หว่างทางเหนือใต้ ต่อกัน ฯ
๏ แสนฟ้าเรื่อรยบนิ้ว นบคำ โดยนา
มัดสอกรีบไปทัน โกรธจ้าว
สินหัวสยบสับทำ ฤๅคลื่น
เพลี้ยกว่านบ้านท้าวไข้ ข่าวสยวน ฯ[๑๕]

ลิลิตยวนพ่ายนี้เป็นวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น; ได้รับการยกย่องนับถือว่าแต่งดีเป็นตำราทั้งในทางภาษาและแบบแผนราชการเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แต่งโคลงซ่อมเสริมก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในความสามารถเช่นกัน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงพระยาตรังไว้ว่า

“สังเกตสำนวนซึ่งพระยาตรังแต่งไว้ ดูเหมือนจะถนัดแต่งโคลงดั้นยิ่งกว่าบทกลอนอย่างอื่น สำนวนโคลงพระยาตรังเป็นอย่างเช่นเรียกกันว่า “โวหารกล้า” ผิดกับกวีคนอื่นๆ แลกล่าวกันว่าเป็นผู้มีสัญญากล้าเกือบจวนจะถึงวิปลาส มีเรื่องเล่ากันมาว่า พระยาตรังมีมนต์สำหรับเสกเมื่อก่อนจะลงมือแต่งกลอน ขึ้นต้นว่า “ตรังเอ๋ยตรัง เทวดานิมนต์มาเกิด” แล้วว่ากระไรต่อไปอีกข้าพเจ้าจำไม่ได้ ว่าสวดมนต์นี้ก่อนแต่งกลอนเป็นนิตย์ ความจริงเท็จอยู่แก่ผู้กล่าว เล่าตามเคยได้ยินมา แต่สำนวนโคลงที่พระยาตรังแต่ง ควรนับว่าแต่งดีจริง เพราะฉะนั้นจึงได้นับถือกันมาในหมู่กวีแต่ปางก่อน”[๑๖]

อย่างไรก็ตาม ลักษณะนิสัยของพระยาตรังที่โอ่อวดเชื่อมั่นในตนเองสูง ขนาดจะเขียนโคลงแต่ละครั้งต้องเสกตัวเองว่า “ตรังเอ๋ยตรัง เทวดานิมนต์มาเกิด” ซ้ำยังประกาศศักดาว่า “แสวงอยุธยาขู คู่พร้อง” หาคู่ปรับคู่เปรียบตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชมาจนถึงกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงย่อมต้องเป็นที่หมั่นไส้ของบรรดากวีเมืองหลวง ดังมีเรื่องเล่ากันมาว่า นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ซึ่งแต่งโคลงนิราศนรินทร์คราวเดียวกับที่พระยาตรังแต่งโคลงนิราศถลาง ว่าเป็นกวีคู่แข่งกัน และปัจจุบันมีผู้ค้นพบโคลงกระทู้ท้ายเล่มสมุดไทยซึ่งแต่งในยุครัชกาลที่ ๒ - ๓ กล่าวบริภาษพระยาตรัง ความว่า

พญา ยามความชั่วชี้ เห็นชน
ตรัง เอ่ย บ อายโกรน สักน้อย
ตั้ง ตัวดั่งถั่วโจน จับยาก
พูด ละวันพันร้อย เลือกได้คำเดียว ฯ
กะ โปกอาลักษณ์อ้าง อวดโคลง
ลา ใช่ลาเลี้ยงโรง เทียบม้า
เลี่ยม เล่ห์ลำโพงโผง พูดมาก
ทอง ใช่ทองเนื้อเก้า ที่แท้ทำเทียม ฯ[๑๗]

ต่อมาเมื่อพระยาตรังชราภาพมากแล้ว จึงกราบถวายบังคมลากลับมาอยู่บ้านที่เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงแก่อนิจกรรม อนึ่ง ชาวนครศรีธรรมราชยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเกร็ดชีวิตของพระยาตรังว่า ท่านเป็นคนชอบเล่นนกเขา ชอบรับประทานหมาก และมีนิสัยโกรธง่ายหายเร็วด้วย ส่วนด้านการครองเรือน นอกจากเจ้าหญิงเกษณีแล้ว พระยาตรังมีภรรยาอื่นอีกหลายคนทั้งที่เมืองตรังและเมืองนครศรีธรรมราช ภรรยาและบุตรของพระยาตรังทางเมืองตรังยังสืบไม่ได้ว่ามีใครบ้าง แต่ทางเมืองนครศรีธรรมราชเท่าที่พอจะสืบทราบ คือ ๑. ภรรยาชื่อเขียว มีบุตรคนหนึ่งชื่อ พิม ได้สมรสกับพระอุภัยราชธานี (ม่วง ณ นคร)[๑๘] ๒. ภรรยาชื่อคง มีบุตรคนหนึ่งชื่อ อบ ๓. ภรรยาชื่อแดง มีบุตรชื่อ นายภู่และนายหนู ๔. ภรรยาชื่อฉิม มีบุตรชื่อ เจิม[๑๙]

ด้านผลงานวรรณกรรมของพระยาตรังเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน เรียงตามลำดับการประพันธ์ ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

๑. เพลงยาวพระยาตรัง เป็นเพลงยาวรำพันรัก เข้าใจว่าแต่งเมื่อสมัยวัยหนุ่ม

๒. เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง แต่งเมื่อครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง

๓. โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย แต่งเมื่อครั้งตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปตีเมืองทวาย พ.ศ. ๒๓๓๐

๔. โคลงนิราศพระยาตรัง หรือโคลงนิราศถลาง แต่งเมื่อต้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒ คราวพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางและหัวเมืองชายทะเล

๕. โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่งทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑

๖. โคลงกวีโบราณ เป็นผลงานการรวบรวมโคลงของกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยอยุธยา ตลอดจนผลงานการแต่งโคลงกลบทและโคลงกระทู้ เทียบแบบโบราณของพระยาตรัง

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าพระยาตรังได้แต่งวรรณกรรม “มหาชาติ กัณฑ์มัทรี” ไว้อีกเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่พบต้นฉบับ

[๑] คือเรื่อง เพลงยาวมนัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง

[๒] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คำนำ”, โคลงกวีโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในงานกฐินพระราชทาน มหาอำมาตย์โท พระยาราชนกูล ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ณ วัดนางชี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า (๑)-(๓).

[๓] ขุนอาเทศคดี, “ชีวประวัติและผลงานของพระยาตรัง” อาเทศคดี (หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพขุนอาเทศคดี พ.ศ. ๒๕๒๗). หน้า ๕๗-๕๘.

[๔] อ่านรายละเอียดใน พรศักดิ์ พรหมแก้ว “พระยาตรัง” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม ๓. หนัา ๑๑๙๔-๑๑๙๕.

[๕] ขุนอาเทศคดีอธิบายศัพท์ในโคลงบทนี้ว่า แมงแปะ หมายถึงแมลงสาบ, นํ้าเต้า หมายถึงฟักทอง, เลียวาน คือเลียทวาร

[๖] ขุนอาเทศคดี. เรื่องเดิม. หน้า ๕๙.

[๗] ในโคลงนิราศพระยาตรัง หรือโคลงนิราศถลาง มีคำประพันธ์อยู่บทหนึ่งที่กล่าวถึง “เกษณี” ดังนี้

[๘] พระยาภักดีภูธรเป็นตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล กรมรักษาพระองค์ซ้าย

[๙] เจ้าจอมมารดาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓

[๑๐] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารสารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา (วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดีอน ๑๐ ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. ๑๑๗๓) อ้างจาก “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น” ใน วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง. หน้า ๖๙-๗๐.

[๑๑] “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น” เรื่องเดิม. หน้า ๗๐-๗๑

[๑๒] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๗๑

[๑๓] ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง มีพื้นที่ติดต่อกับตำบลควนธานี

[๑๔] “บุคคลสำคัญของท้องถิ่น”ใน วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง, หน้า ๒๖๒.

[๑๕] กรมศิลปากร. วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด), หน้า ๓๒๗.

[๑๖] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “คำนำ” โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า (๓).

[๑๗] บุญเตือน ศรีวรพจน์. “คันฉ่องส่องวรรณคดี” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๓๑ (๒๗ ธันวาคม - ๒ มกราคม ๒๕๔๖) หน้า ๔๙.

[๑๘] เจ้าเมืองตรังสมัยต้นรัชกาลที่ ๒

[๑๙] พรศักดิ์ พรหมแก้ว. “พระยาตรัง” เรื่องเดิม. หน้า ๑๑๙๖.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ