ฝ่ายสมิงชีพรายซึ่งได้กินเมืองทะละนั้นถึงแก่ความตาย เมืองทะละนั้นพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกพระราชทานให้แก่มะยีกำกอง แลมะละคอนผู้เปนน้องสมิงเลิกพร้านั้น พระเจ้าช้างเผือกพระราชทานให้กินเมืองหลากแหลก เปนสมิงสามปราบ ได้ถือความสัตย์กินโลหิตในฝ่าพระบาทพระเจ้าช้างเผือกไปตั้งอยู่เมืองหลากแหลก มะสามผู้เปนน้องสมิงชีพราย ซึ่งพระเจ้าช้างเผือกให้เปนสมิงสามแหลกไปกินเมืองตักคลานั้น รู้ข่าวว่าสมิงมังโรบุตร์พระตะบะตาย ให้ชาวเมืองนครเพนแลเมืองเมาะตะมะโกนผมสิ้น จึงจัดแจงทหารสามร้อยคนให้โกนผมดังชาวเมืองเมาะตะมะแลเมืองนครเพน แล้วสมิงสามแหลกขี่ช้างนำมาตัวหนึ่งชื่อ พรายปราบ คุมทหารสามร้อยยกไปถึงเมืองวานในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้า ชาวเมืองเปิดประตู ก็ปลอมเข้าไปได้ในเมืองวาน ไล่ฆ่าฟันผู้คนชาวเมืองแตกกระจัดพรัดพรายสิ้น นายส่วยบ้านซึ่งสมิงพระตะบะตั้งไว้ให้รักษาเมืองวาน สมิงสามแหลกจับตัวได้ฆ่าเสีย สมิงสามแหลกก็ตั้งอยู่ณเมืองวาน แล้วมีหนังสือบอกมาถึงพระเจ้าช้างเผือก ๆ ได้ทราบว่า สมิงสามแหลกตีเมืองวานได้ ก็ทรงพระโสมนัศยินดีพระทัยนัก จึงพระราชทานสิ่งของเครื่องสำหรับบรรดาศักดิ์ไปให้แก่สมิงสามแหลก ๆ ได้กินเมืองสานแต่วันนั้นมา พระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกจึงโปรดให้อายทนายสู่นั้น ไปกินเมืองตักคลาแทนสมิงสามแหลก

ขณะเมื่อพระเจ้าช้างเผือกยังเสด็จอยู่ณเมืองเมาะตะมะนั้น ยีกองสินผู้เปนหลานนางจันทะมังคะละตาย พระเจ้าช้างเผือกเอานางมุเตียวซึ่งพระราชทานให้มังลังกาผู้เปนยีกองสิน ซึ่งถึงอาสัญกรรมคืนมาเลี้ยงเปนพระสนมเอก ให้ชื่อ นางศิริมายามีพระราชบุตร์ด้วยพระเจ้าช้างเผือกองค์หนึ่ง ลิ้นนั้นเปนรอยจักร์ จึงให้ชื่อมังสุระมณีจักร์ นางศิริมายาผู้เปนพระราชมารดาถึงแก่สวรรคาลัย แต่มังสุระมณีจักร์กุมารยังเยาว์อยู่ พระเจ้าช้างเผือกจึงให้มหาเทวีผู้เปนพระเจ้าพี่นางเธอ เอามังสุระมณีจักร์กุมารไปเลี้ยงไว้ ครั้นมังสุระมณีจักร์ทรงพระเจริญใหญ่ขึ้นมา พระเจ้าช้างเผือกจึงให้ชื่อพระยาน้อย อยู่มาพระมหาเทวีพาขึ้นไปบนพระราชเรือนหลวง ครั้นพระเจ้าช้างเผือกทอดพระเนตร์เห็นแล้ว จึงตรัสแก่พระสนมซึ่งอยู่งานว่า อ้ายพระยาน้อยนี้มันเปนบุตร์ของกูก็จริง แต่ว่ารูปร่างมันหาเหมือนกูไม่ ผมก็หยิกน่องทู่ตาพอง ลักษณะคนสามหาวหยาบช้าใจฉกรรจ์ แต่พระเจ้าช้างเผือกตรัสประภาศฉนี้เปนเนือง ๆ

ฝ่ายนางมุชีพพระสนมเอกซึ่งชื่อว่าศรีราชาเทวีนั้น มีพระราชบุตร์ด้วยพระเจ้าช้างเผือกองค์หนึ่งชื่อพ่อขุนเมือง รูปร่างงามพระเจ้าช้างเผือกชอบพระทัย มีความเสน่หารักใครมากนัก ฝ่ายนางมุถ่อพระสนมเอก ซึ่งพระเจ้าช้างเผือกให้ชื่อ นางมหาจันท์เทวีนั้น มีพระราชบุตรีด้วยพระเจ้าช้างเผือกองค์หนึ่งชื่อตะละแม่ท้าว แลนางอำเตียวพระสนมมีพระราชบุตรีด้วยพระเจ้าช้างเผือกองค์หนึ่ง ชื่อ ตะละแม่ศรี ๆ นี้ พระเจ้าช้างเผือกถวายขึ้นไปแก่พระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อครั้งพระตะบะแข็งเมืองนั้น พระเจ้าเชียงใหม่มิได้เอาพระทัยนำพา ตะละแม่ศรีมีพระทัยเดือดร้อนเปนนิจรู้ข่าวลงมาถึงพระเจ้าช้างเผือก ๆ ก็ทรงพระวิตกถึงพระราชธิดา มีพระทัยเดือดร้อนนัก จึงทรงพระดำริห์ว่า พระราชธิดาของเราถวายไปแก่พระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ แลมาได้ความเดือดร้อนทั้งนี้ ก็เพราะสมิงเลิกพร้าแลพระตะบะคิดมิชอบ จำจะระงับความโกรธสมิงเลิกพร้าพระตะบะเสีย เอาใจดีต่อกันทั้งสองจึงจะคลายความเดือดร้อนทั้งนี้ ทรงพระราชดำริห์แล้ว พระเจ้าช้างเผือกจึงให้มีหนังสือไปถึงพระตะบะแลสมิงเลิกพร้าว่า แต่ก่อนเมืองเมาะตะมะเปนราชธานีใหญ่ พระเจ้าฟ้ารั่วผู้เปนสมเด็จพระอัยยกาธิราชแห่งเรา ได้เสวยราชสมบัติเปนพระเจ้าช้างเผือกสืบกันมาถึงเจ็ดพระองค์แล้ว จะได้ยินว่าพระราชบุตรพระราชนัดดาตกไปเปนข้าท้าวพระยาเมืองใดหามิได้ แลบัดนี้ ตัวท่านทั้งสอง ผู้เปนข้าหลวงเดิมมาแต่ครั้งสมเด็จพระราชบิดาเราคิดมิชอบ จึงต้องถวายพระราชธิดาเราไปให้แก่พระมหาราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ บัดนี้อายุเราก็ชราแม้นถึงแก่สวรรคาลัยแล้ว ลูกเราอันเปนเชื้อวงศ์พระเจ้าช้างเผือก แลเปนเจ้าท่านทั้งหลายไปเปนข้าท่านผู้อื่นได้ทุกข์ยากอยู่ฉนี้ ท้าวพระยามหากษัตริย์ผู้มีปัญญาทั้งปวงซึ่งได้รู้ จะติเตียนท่านทั้งสองฤๅ ๆ จะยกยอสรรเสริญท่าน ภายหน้าไปท่านทั้งสองจะคิดประการใดให้บอกมา พระตะบะแลสมิงเลิกพร้า ครั้นได้ฟังพระราชโองการพระเจ้าช้างเผือกให้ไปนั้นแจ้งทุกประการแล้ว จึงมีหนังสือตอบมาถึงพระเจ้าช้างเผือกว่า ข้าพระพุทธเจ้าเลิกพร้า พระตะบะ ทั้งสองนี้ ขอกราบถวายบังคมมาในฝ่าพระบาทยุคลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ด้วยข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ เปนข้าพระพุทธเจ้าอยู่หัว ๆ ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงข้าพเจ้ามาจนได้เปนดี มีอิสริยยศสมบัติด้วยเดชเดชานุภาพพระเจ้าอยู่หัว ทุกวันนี้ข้าพเจ้าทั้งสองมีความกตัญญูต่อใต้ฝ่าพระบาท คิดจะฉลองพระเดชพระคุณอยู่เนือง ๆ แลบัดนี้มีผู้เอาความมิดีมากล่าวยุยงลงโทษข้าพเจ้า พระผู้เปนเจ้าก็มิได้เอาคดีประภาศแก่ข้าพเจ้าให้เห็นคุณแลโทษประการใด ข้าพเจ้าทั้งสองกลัวจึงคิดกันแข็งเมืองไว้ฉนี้ เพื่อจะรักษาชีวิตข้าพเจ้า ๆ มิได้คิดที่จะชิงราชสมบัติในพระองค์เลย อนึ่งเมืองเมาะตะมะแลเมืองมองมะละที่ข้าพเจ้าทั้งสองอยู่นี้ ครั้นพระเจ้าอยู่หัวมิได้ให้มากระทำให้เดือดร้อนแก่ข้าพเจ้าทั้งสองแล้ว สัตรูข้าพเจ้าทั้งสองก็จะเปนสัตรูของพระองค์ สัตรูของพระองค์ก็จะเปนสัตรูข้าพเจ้าทั้งสองดุจหนึ่งแต่ก่อนมา ข้าพเจ้าทั้งสองจะขอกินน้ำพระพิพัฒน์สัตยา คงเปนข้าฝ่าพระบาทดุจหนึ่งแต่ก่อน แล้วพระราชบุตรีซึ่งตกไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั้น ตกพนักงานข้าพเจ้าทั้งสองจะขอคืนเอามาถวายจงได้

พระเจ้าช้างเผือกครั้นได้ฟังสมิงพระตะบะแลสมิงเลิกพร้าว่าดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไปให้แก่สมิงพระตะบะแลสมิงเลิกพร้าแล้ว ก็มิได้กระทำการยุทธนารบพุ่งกันสืบไปเลย ครั้นอยู่มาพระตะบะให้แต่งเครื่องราชบรรณาการ ทองคำหนักสามชั่ง ช้างพลายสี่ช้าง สมิงเลิกพร้าให้จัดทองคำหนักสามชั่ง ช้างพลายสี่ช้าง พระเจ้าช้างเผือกให้แต่งกำมะหยี่ สักกะหลาด ผ้าเขียนกาษาแลผ้าตรางยกเปนตัวนาค แล้วให้เสวกคุมเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวายแก่พระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้าสมิงเลิกพร้า สมิงพระตะบะ ขอกราบบังคมมายังฝ่าพระบาทสมเด็จพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ให้ทรงทราบ เดิมเปนกรรมเข้าดลใจแห่งข้าพเจ้า ให้เชื่อฟังถ้อยคำคนยุยง จึงได้รบพุ่งผิดกันกับพระเจ้าช้างเผือกผู้เปนเจ้าของข้าพเจ้าทั้งสอง จนพระเจ้าช้างเผือกวิโยคพลัดพรากจากราชธานี ต้องถวายพระราชธิดามาพระนครเชียงใหม่นั้น ก็เพราะข้าพเจ้าทั้งสอง แลบัดนี้ข้าพเจ้าทั้งสองคิดเห็นคุณแลโทษแล้ว ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือก ก็มิได้มีพระทัยพิโรธแก่ข้าพเจ้าทั้งสองแล้ว แลแผ่นดินเมืองพะโคเมืองเมาะตะมะก็เปนฉันท์ข้ากับเจ้ากันปกติดุจหนึ่งแต่ก่อนแล้ว แลทุกวันนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองวิตกอยู่ด้วยตะละแม่ศรี ซึ่งเปนพระลูกเจ้าของข้าพเจ้าทั้งสองนั้นต้องพลัดพรากจากพระนครเพราะข้าพเจ้าทั้งสอง มิทุกข์ก็เหมือนทุกข์ มิยากก็เหมือนยาก ข้าพเจ้าทั้งสองขอรับพระราชทานตะละแม่ศรีพระราชธิดาคืนไปถวายพระเจ้าช้างเผือก จะได้พร้อมด้วยพระญาติวงศ์ทั้งปวง แลเมืองพะโคกับเมืองเชียงใหม่ทางพระราชไมตรีก็จะภิญโญภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป ครั้นพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ได้ฟังในลักษณะอักษร ซึ่งสมิงพระตะบะแลสมิงเลิกพร้าให้มานั้น จึงตรัสแก่เสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงว่า ซึ่งสมิงพระตะบะแลสมิงเลิกพร้าว่ามาทั้งนี้ ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีทั้งปวงจึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาประภาศตรัสปรึกษาด้วยเนื้อความข้อนี้ พระคุณหาที่สุดมิได้ สุดสติปัญญาข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจะกราบทูล ซึ่งจะโปรดมิโปรดนั้น แล้วแต่พระองค์จะทรงพระดำริห์ตามพระราชประเพณี

ฝ่ายพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ได้ทรงฟังเสนาบดีทูลดังนั้น จึงตรัสว่า ซึ่งพระเจ้าช้างเผือกนั้นก็มิได้เปนเมืองขึ้นแก่เรา แลสละอาลัยถวายพระราชธิดามานั้น เหตุด้วยสมิงเลิกพร้าแลสมิงพระตะบะเจ้ากับข้าพิโรธแก่กัน บัดนี้ข้ากับเจ้าทั้งสองฝ่ายเขาดีด้วยกันแล้ว ๆ สมิงทั้งสองให้มีหนังสือมาขอ ครั้นจะมิให้ไปบัดนี้เล่าก็จะเสียทางพระราชไมตรีด้วยนางผู้เดียว ประการหนึ่งพระราชธิดาพระเจ้าช้างเผือกเล่า ก็มิได้เปนที่เจริญอัชฌาศัยแห่งเรานัก ควรจะให้พระราชธิดาพระเจ้าช้างเผือกคืนไป ตามสมิงเลิกพร้าสมิงพระตะบะให้มีหนังสือมาขอจึงจะควร พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้รับเครื่องราชบรรณาการไว้แล้ว ก็ส่งตะละแม่ศรีลงมากับเสนาบดียังเมืองพะโค ขณะนั้นพระเจ้าช้างเผือกจึงยกสมิงสามปราบน้องสมิงเลิกพร้าออกจากเมืองหลากแหลก โปรดให้ไปกินเมืองกริบ ให้เจ้าหานเกิดกินเมืองหลากแหลกแทนสมิงสามปราบ

ฝ่ายพระยาน้อยซึ่งมหาเทวีเอามาเลี้ยงไว้ ครั้นจำเริญวัยขึ้นมาก็มีใจฉกรรจ์นัก พระเจ้าช้างเผือกเห็นดังนั้นก็ว่าแก่มหาเทวีว่าทุกวันนี้ถ้าหาบุญข้าไม่ พระยาน้อยนี้ลักษณะผมหยิกตาพองน่องทู่ ข้าเห็นใจมันฉกรรจ์นัก เผื่อแลพระยาน้อยจะได้ราชสมบัติเปนเจ้าแผ่นดินนั้น ท่านผู้เปนพี่ข้ากับนางนักสนม สมณพราหมณาจาริย์อาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็จะได้ความเดือดร้อนนัก แลจะมีผู้ใดรักใคร่พระยาน้อยนั้นหามิได้ เพราะใจนั้นจะปราศจากศรัทธาในพระสาสนา ฝ่ายพ่อขุนเมืองรูปก็งาม เจรจาก็เพราะเปนมัทธุรสวาจาอ่อนหวาน มีใจประกอบไปด้วยความกรุณา แม้นข้าหาบุญไม่ จงให้พ่อขวัญเมืองผู้เดียวนี้ครองราชสมบัติเถิด สมณพราหมณาจาริย์อาณาประชาราษฎรทั้งปวงจะได้อาศัยอยู่เย็นเปนสุข ท่านผู้พี่ก็จะได้เปนสุขดุจหนึ่งปัญจะมหานทีเปนที่อาศัยแห่งสัตว์ ความทั้งนี้พระเจ้าช้างเผือกได้ตรัสแก่มหาเทวีเนือง ๆ

อยู่มาพระยาน้อยกับตะละแม่ท้าว อันเปนพระราชบุตรีพระเจ้าช้างเผือก แต่ว่าต่างมารดากับพระยาน้อย ได้ร่วมรักสมัครสังวาศด้วยกัน แล้วเกรงพระราชอาญาพากันหนีไปยังเมืองตะเกิง ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกให้ตามไปทันจับตัวได้ตำบลเมาะญัด ก็พามาถวายพระเจ้าช้างเผือก ๆ ก็ให้จำไว้ทั้งสองคน อยู่มาพระมหาเทวีขอโทษพระยาน้อยกับตะละแม่ท้าวแก่พระเจ้าช้างเผือก ๆ ก็โปรดให้พระมหาเทวี สั่งให้พระยาน้อยกับตะละแม่ท้าวพ้นโทษอยู่ด้วยกัน พระราชทานผู้คนให้แต่พอใช้สรอย พระเจ้าช้างเผือกมิได้นำพาพระราชทานส่วยสาอากรให้แต่พอกิน

แลเมื่อพระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ส่งตะละแม่ศรีมายังเมืองพะโคนั้น อยู่มา สมิงมราหู ผู้เปนบุตรไชยสุระ ๆ คนนี้เปนผัวพระมหาเทวี พระเจ้าช้างเผือกให้เปนแม่ทัพยกไปรบพระตะบะณเมืองเมาะตะมะถูกเกาทัณฑ์ตายนั้น จึงให้โมะผู้พี่ เอาทองร้อยชั่งไปหาสมิงมาสมิตร์มำมะรา เปนคนสนิทของพระเจ้าช้างเผือกว่า ให้ช่วยกราบทูลขอตะละแม่ศรีให้แก่สมิงมราหู สมิงมาสมิตร์มำมรา ก็รับเอาทองร้อยชั่งเข้าไปถวายแก่พระเจ้าช้างเผือก กราบทูลขอตะละแม่ศรีพระราชธิดา ให้แก่สมิงมราหู พระเจ้าช้างเผือกครั้นได้ทรงฟังสมิงมาสมิตรมำมราทูลดังนั้นก็เห็นชอบด้วย เมื่อพระเจ้าช้างเผือกจะโปรดให้ตะละแม่ศรีแก่สมิงมราหูนั้น จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า ตะละแม่ศรีบุตรีเรา ครั้งนี้ข้าไทขบถต่อเรา ๆ จึงเอาลูกเราไปให้แก่พระมหาราชเจ้าเชียงใหม่ ลูกเราก็ได้ความยาก เหตุว่าบุญลูกเรามีจึงได้กลับมาถึงเรา บัดนี้เราคิดว่าจะยกตะละแม่ศรีให้บุตรผู้ซึ่งมีบิดามารดานั้น เกลือกจะทำย่ำยีข่มเหงลูกเรา ๆ คนนี้มีความชอบอยู่ อนึ่งสมิงมะราหูคนนี้เปนลูกไชยสุระ ๆ ผู้บิดาได้อาสาเราถึงขนาด รบพุ่งก็ตายกับคอช้างแลมีคุณต่อเรา สมิงมราหูนี้พ่อแม่หาไม่ เปนลูกกำพร้าอยู่กับฝ่าตีนเรา เห็นว่าจะกลัวเกรงเราหนัก สมิงมราหูนี้เราจะให้อยู่กับตะละแม่ศรี ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีกราบทูลพระกรุณาว่าเห็นด้วย พระเจ้าช้างเผือกจึงให้ปลูกตำหนักใหญ่หลังหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องใช้สรอยเสร็จ แล้วให้หาฤกษ์ ครั้นได้ฤกษ์ดีแล้ว กระทำวิวาหะมงคลสมิงมราหูกับตะละแม่ศรี มีมหรสพถ้วนเจ็ดวันแล้ว พระเจ้าช้างเผือกก็หลั่งน้ำให้แก่สมิงมราหู

ครั้นทำการวิวาหะเสร็จแล้ว พระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จไปนมัสการพระสารีริกบรมธาตุ อันชื่อว่ายักกะอะศุกณเมืองตะเกิง พระสารีริกบรมธาตุก็สำแดงพระยะมกปาฏิหาริย์ ช่อพรรนรังษีมีเปนคู่ ๆ ถึงเจ็ดวัน พระเจ้าช้างเผือกกับพระมหาเทวี มุขมนตรีทั้งปวงนั้น ครั้นเห็นพระสารีริกบรมธาตุทำปาฏิหาริย์ก็โสมนัสยินดี กระทำสักการบูชา มีการมหรสพใหญ่หลวง บูชาพระบรมธาตุเปนอันมาก

ขณะนั้น มีหนังสือมาแต่เมืองพะโคว่า สมิงสามปราบกินเมืองกริบเปนขบถ พระเจ้าช้างเผือกได้ทรงทราบแล้วก็เสด็จลงมาเมืองพะโค พระมหาเทวีแลพระยาน้อยกับสมิงมราหูอยู่ในเมืองตะเกิง ครั้นพระเจ้าช้างเผือกเสด็จมาถึงเมืองพะโคแล้ว ก็ให้หาท้าวพระยาเสนามนตรีทั้งปวงมาประชุมกัน ปรึกษาว่าเราจะยกไปเอง จึงสมิงทะโยกคะราชกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปเองนั้นมิชอบ ลูกหลวงหลานหลวงทั้งปวงนั้นก็ยังมีอยู่ ชอบแต่งให้มุขมนตรีผู้น้อยผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาเปนแม่ทัพยกไป แล้วแต่งลูกหลวงหลานหลวงให้กำกับไปด้วย เหตุว่าสมิงสามปราบกินเมืองกริบเปนผู้น้อย อันพระองค์จะเสด็จไปเองนั้นมิควร ครั้นสมิงทะโยกคะราชทูลดังนั้น พระเจ้าช้างเผือกก็ทรงเห็นด้วย จึงให้หาพระมหาเทวีพระยาน้อยสมิงมะราหู มายังเมืองพะโค ก็แต่งสมิงมราหูเปนแม่ทัพ คุมพลโยธาทหารช้างม้าทั้งปวง จะให้ไปจับเอาตัวสมิงสามปราบ กองทัพยังมิทันจะยกไป พอมีหนังสือบอกมาว่าสมิงสามปราบฟ้าผ่าตายแล้ว

พระเจ้าช้างเผือกได้ฟังดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสแก่เสนาบดีมุขมนตรีทั้งปวงว่า ตัวเราเปนกษัตริย์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริตโดยพระราชวัตตานุวัตร์ แลน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของเรานี้ดุจมีจิตร์วิญญาณ ด้วยเทพยดารักษาพระพุทธสาสนาอภิบาลรักษาเรา ถ้าผู้ใดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้ว มิได้ซื่อตรงประทุษฐร้ายต่อเรา ก็ถึงแก่ความฉิบหายดุจอ้ายมะละคอน ด้วยเทพยดาอาเพดใช่ฤดูฝนๆตกฟ้าผ่าตาย ท่านทั้งหลายเห็นด้วยแล้วหรือ อ้ายมะละคอนนี้จะขอรบด้วยสมิงเลิกพร้าผู้พี่นั้น แล้วมันขอไปกินเมืองหลากแหลก แลกินน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเรา ๆ ก็แทงโลหิตในเท้าให้กินต่างน้ำพิพัฒน์สัตยา แล้วก็ให้ชื่อเปนสมิงสามปราบให้ไปกินเมืองหลากแหลก เมื่อแลตั้งสวามิภักดิ์ต่อเราโดยสุจริตแล้วก็เจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ สมบัติบริบูรณ์ขึ้นภายหน้า แลเมืองหลากแหลกกับเมืองมองมะละใกล้กัน สมิงเลิกพร้ากับอ้ายมะละคอนไซร้ เปนพี่ร้องร่วมอุทรเดียวกัน เกลือกภายหน้าไปมันจะคิดเปนอันเดียวกันเล่า ก็จะทำให้ยากแก่ลูกหลานเรา ๆ สงสัยอยู่ดังนี้ เราจึงยกมันออกจากเมืองหลากแหลกให้ไปกินเมืองกริบ แลมันมิได้คิดถึงน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแห่งเราผู้เปนกษัตราธิราช เราก็ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมเที่ยงดุจเขาพระสิเนรุราช เราก็มิได้ทำอันตรายแก่อ้ายมะละคอน ๆ ก็เปนอันตรายไปเอง

ครั้นอยู่มา พระเจ้าช้างเผือกให้สร้างสระใหญ่สระหนึ่งอยู่ในเมือง แล้วก็ให้พระอัครมเหษี พระราชบุตร พระราชบุตรี พระราชนัดดาแลพระราชวงษานุวงษ์ทั้งปวงไปกระทำการกุศลแล้ว ก็เล่นน้ำในสระนั้น

ขณะเมื่อพระเจ้าช้างเผือกเสด็จไปเล่นน้ำในสระนั้น ฝ่ายพระมหาเทวีกับสมิงมราหูลงเล่นน้ำด้วยกัน พระมหาเทวีนั้นใส่ใจรักใคร่สมิงมราหู จึงเด็ดเอาดอกบัวซ่อนเหน็บพระอุระไว้ แล้วทรงห่มพระภูษาทับไว้ เห็นคนทั้งปวงเมินไป ก็หยิบดอกบัวที่พระอุระทิ้งเอาสมิงมราหู ๆ เห็นดังนั้นก็นิ่งไว้ในใจ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกสรงน้ำแล้วก็เสด็จมาพระราชวัง

อยู่มา พระมหาเทวีแต่งหมากดิบควักไส้ในเสีย แล้วก็เอาปูนใส่ในหมากนั้น ฝานหน้าหมากปิดไว้ก็ใส่พานทองคำจำหลักเปนรูปราชสีห์ส่งให้สมิงมะราหู ๆ กินหมากนั้นปูนก็ไหม้ปาก พระมหาเทวีก็ทรงพระสรวล เสนามุขมนตรีทั้งปวงรู้เหตุนั้นแล้วก็เจรจาด้วยกันว่า พระมหาเทวีทำดังนี้มิชอบ คนทั้งปวงก็สอนทารกให้ขับว่า ปะดอยดุงเจิงทาสา แยกแสกกองมอกเตือนเทิง ๆ ลิคะมาระสะมิตะปลอมฉำระปะวะละมะงอม สมิงมราหูเตาะมอยนายกะเตาะปอนสมิดอนมอนทิน เด็กทั้งหลายขับดังนี้ แปลเปนคำไทยว่า ในเมืองตะเกิงพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าผุดขึ้น สมิงมราหูพระมหาเทวีหลานเขยกับป้าเมียจะใคร่ลอบรักกัน สมิงมราหูและมหาเทวีพี่พระเจ้าช้างเผือกจะร่วมเขนยกัน ส่วนสมิงมราหูกับพระยาน้อยเปนพี่เขยน้องเมียกันรักกันหนัก อยู่มาตะละแม่ท้าวภรรยาพระยาน้อยมีครรภ์ ประสูตร์พระราชบุตรเปนพระราชกุมาร แลทำข่ายทองรองรับให้พระราชกุมารตกลงในข่ายทอง ครั้นสรงน้ำชำระแล้ว สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกก็รับพระราชกุมารนั้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงพระโสมนัสยินดีหนัก แล้วตรัสว่าหลานเรานี้ จะให้ชื่อพ่อลาวแก่นท้าว ครั้นพระองค์ให้ชื่อพระเจ้าหลานแล้วก็ตรัสแก่มุขมนตรีทั้งปวงว่า เมื่อขณะพระพี่เราตะละจันทะมังคะละสมภพในปราสาทก็ทำข่ายทองรองรับ ขณะสมภพนั้นพอมีจันทรุปราคา สมเด็จพระราชบิดาจึงถามโหราราชปะโรหิตทั้งหลายว่า จะให้นามพระลูกเราเปนประการใดดี โหรราชปะโรหิตทั้งปวงจึงกราบทูลว่า พระราชบุตรีอันสมภพในข่ายทองพอมีจันทรุปราคาดังนี้ ขอให้พระนามชื่อว่าตะละจันทะมังคะละ จึงพระราชบิดาเราให้ชื่อจันทะมังคะละเพราะเหตุดังนี้ พี่เราพระมหาเทวีเล่า ขณะเมื่อสมภพนั้นก็เปนอัศจรรย์ ด้วยสมบัติพระราชบิดาสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์เจ็ดหลังแล้วในวันเดียว แล้วมีผู้นำเอาผลมะเดื่อใหญ่ประมาณสามกำมาถวาย แลผลมะเดื่อนั้นภาษารามัญเรียกว่าวิ อาศัยตัววิอักษรกับกุฎี จึงถวายพระนามชื่อว่าวิหารเทวี ครั้นอยู่มาเราผู้เปนอนุชาได้ปราบดาภิเศก คนทั้งปวงจึงเรียกพระเจ้าพี่เรานั้นว่าพระมหาเทวี เหตุว่าเปนพระเจ้าพี่นางเธอ ส่วนตัวเราพระราชบิดาให้นามชื่อพระยาอู่ บัดนี้หลานเราได้สมภพในวันเสาร เราให้ชื่อหลานเราว่าพ่อลาวแก่นท้าว เพราะเหตุดังนี้

อยู่มาสมิงมราหูแลพระมหาเทวีร่วมรักกัน ชาวเมืองพะโคก็รู้สิ้นจึงสอนทารกให้ขับว่า มินเทืองฉุดกองเทืองเตินกะนายพราวพะยุสะ มิก่อจิมตะรุณ พลายเตาะพะบายตะละเทวีเชือง ชาวเมืองพะโคทั้งปวงก็สอนทารกให้ขับตอบกันว่า นกสตือไซร้ขึ้นไข่ไว้ในต้นไม้อันคาอันซุ่ง อันสตรีแก่จะใคร่ได้สามีหนุ่ม ถันยุคลนั้นไซร้ยานลงถึงรั้งผ้า

ฝ่ายพระมหาเทวี ครั้นได้เปนชู้กันกับสมิงมราหูแล้ว ก็คิดจะเอาราชสมบัติให้แก่สมิงมราหู ๆ กับพระยาน้อยถ้อยทีก็ไปมาหาเล่นด้วยกันเนือง ๆ

อยู่มาในเวลาวันหนึ่ง สมิงมราหูแลพระยาน้อยเล่นสกากันณตำหนักพระมหาเทวี สมิงมราหูแพ้แก่พระยาน้อย สมิงมราหูก็โกรธตีลูกสกานั้นให้กระจายสิ้นทั้งกระดาน พระยาน้อยเห็นสมิงมราหูทำดังนั้น ก็ขัดพระทัยมิได้ว่าสิ่งใดก็ลุกกลับไปตำหนัก

ครั้นพระมหาเทวีรู้ จึงว่าแก่สมิงมราหูว่า การเราคิดไว้เปนความลับใหญ่หลวงหนักจะมิให้แพร่งพราย เหตุไฉนจึงมาด่วนทำเกินเลยต่อพระยาน้อยให้เขาขัดใจดังนี้ผิดหนักหนา ที่ไหนพระยาน้อยจะไว้วางใจเล่า แลการที่คิดไว้ก็จะแพร่งพรายไป เจ้าจงไปขอสมัครสมาพระยาน้อยเสีย อย่าให้มีความสงสัยต่อไป แล้วจงพาพระยาน้อยมาเรือนเรา ๆ จะคิดอุบายให้เจ้ากับพระยาน้อยทำสัตย์กินเลือดอกกัน พระยาน้อยจึงจะวางใจไม่มีความสงสัย แต่เมื่อที่เจ้าจะกินเลือดอกพระยาน้อยนั้นหน่วงไว้ให้ช้า จึงแกล้งพัดให้เทียนดับแล้ว เจ้าจงเทโลหิตในจอกนั้นเสีย เราจะเอาน้ำขมิ้นกับปูนกลั่นใส่จอกแล้ว จึงค่อยกินให้พระยาน้อยเห็น

ขณะเมื่อคิดกันนั้นรู้แต่มหาเทวีกับสมิงมราหู กับตะละแม่ศรีสามคนด้วยกัน แล้วสมิงมราหูก็ไปหาพระยาน้อยณเรือน จึงว่าแก่พระยาน้อยว่า ตัวข้าพเจ้านี้เปนข้าพระองค์เล่นสกาข้าพเจ้าได้โกรธนั้นมิชอบความผิดใหญ่หลวงนัก ภายหน้าไปเห็นจะจำไว้กับพระทัย จงได้กรุณาอย่าถือโทษข้าพเจ้าเลย พระยาน้อยจึงตอบว่าซึ่งพี่ทำดังนั้นเปนแต่การเล่น ข้าหาโกรธไม่อย่าวิตกเลย สมิงมราหูจึงตอบว่า ซึ่งพระองค์อดโทษข้าพเจ้านั้นดีหนักหนา อยู่ตวันเย็นหน่อยหนึ่ง สมิงมราหูชวนพระยาน้อยทรงเสลี่ยงเดียวกันมาณตำหนักสมิงมราหู ๆ กับพระยาน้อยพูดจาดีด้วยกันแล้ว พระมหาเทวีจึงเพโทบายว่ากับพระยาน้อยกับสมิงมราหูว่า ทุกวันนี้พระเจ้าช้างเผือกก็ชราแล้ว ฝ่ายป้านี้วิตกหนักหนา สืบไปภายหน้าเกลือกข้าไทยทั้งสองฝ่ายมันจะยุยงก็จะมีความแคลงแหนงกัน เจ้าทั้งสองจงมีสัตย์ไว้ต่อกัน ป้าจะได้ฝากผีด้วย

ฝ่ายพระยาน้อยสมิงมราหูรับคำพระมหาเทวีแล้ว สมิงมราหูให้ยกเครื่องโภชนากระยาหารสุราบาลออกมา ชวนพระยาน้อยเสวยด้วยกัน แล้วสมิงมราหูจึงว่าแก่พระยาน้อยว่า ถ้าสมเด็จพระบิดาสวรรคตแล้ว พระองค์ก็จะได้ครองราชสมบัติเปนเอกราช แล้วข้าพเจ้าจะขอพึ่งพระองค์ให้มีความสุขสืบไป พระยาน้อยจึงตอบสมิงมราหูว่า ราชสมบัตินี้พระราชบิดาปลงพระทัยไว้กับพ่อขวัญเมือง พี่ว่าดังนี้หาควรไม่ แต่นี้ไปพี่อย่าเจรจาเช่นนี้ สมิงมราหูจึงตอบว่า ถึงมาตรว่าสมบัติจะได้แก่พ่อขวัญเมืองก็ดี พระองค์ก็เปนสายโลหิตเดียวเหมือนกัน ตัวข้าพเจ้านี้เปนแต่ไม้กาฝากจะได้พึ่งบุญพระองค์สืบไป

ฝ่ายพระยาน้อยได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่ แล้วสมิงมราหูกับพระยาน้อยถ้อยทีทำความสัตย์ต่อกัน สมิงมราหูเอามีดสับเอาเลือดอกปนสุราใส่จอกส่งให้พระยาน้อย ๆ ก็รับเสวยเข้าไป ฝ่ายพระยาน้อยก็สับเอาเลือดอกปนสุรา แล้วใส่จอกส่งให้แก่สมิงมราหู ๆ ครั้นรับเอาแล้ว สมิงมราหูแสร้งใส่กลว่าร้อน ก็เอาพัดๆ ให้เทียนดับ ครั้นเทียนดับแล้วก็เทสุราบาลน้ำสบถนั้นเสีย ตะละแม่ศรีก็ยื่นจอกน้ำขมิ้นกับปูนซึ่งปนไว้กับสุรานั้น ใส่ปลอมออกมาให้แก่สมิงมราหู ๆ จึงให้จุดเทียนมาแล้ว สมิงมราหูกินสุราปนขมิ้นกับปูนต่อหน้าพระยาน้อย ซึ่งสมิงมราหูทำเล่ห์กลทั้งนี้ พระยาน้อยมิได้รู้ ข้าพระยาน้อยคนหนึ่งชื่ออ้ายท้าวกุล รู้ว่าสมิงมราหูแต่งเล่ห์กล มิได้ซื่อตรงต่อพระยาน้อยเจ้าของตน ก็สกิดพระบาทพระยาน้อยสองครั้งสามครั้ง พระยาน้อยคิดว่าชรอยจะมีเหตุสักสิ่ง อ้ายท้าวกุลจึงสกิดเท้าเราทั้งนี้ พระยาน้อยจึงว่าแก่สมิงมราหูว่า มืดหนักแล้วข้าจะลาพี่ไปก่อน พระยาน้อยก็ลุกจากตำหนักสมิงมราหูขึ้นเสลี่ยงไปยังตำหนัก

ครั้นไปถึงตำหนักแล้วก็ถามอ้ายท้าวกุลว่า เอ็งสกิดเท้าเราเมื่อกี้นั้นด้วยเหตุประการใด อ้ายท้าวกุลจึงทูลพระยาน้อยว่า ข้าพเจ้าสกิดพระบาทนั้น ด้วยเหตุว่าสมิงมราหูทำสัตย์กับพระองค์มิได้ซื่อตรง ส่วนว่าเลือดสมิงมราหูพระองค์เสวย ส่วนพระโลหิตในอุระพระองค์ สมิงมราหูมิได้เสวยแสร้งเพทุบายเปนร้อน แล้วเอาพัดมาพัดให้เทียนดับ ก็เทสุราปนโลหิตเสีย ตะละแม่ศรีจึงส่งสุราปนขมิ้นกับปูนยื่นให้สมิงมราหูกิน สมิงมราหูจะได้กินน้ำสุราปนโลหิตในพระอุระพระองค์หามิได้ สมิงมราหูทำดังนี้ข้าพเจ้าเห็น ข้าพเจ้าจึงสกิดพระบาทพระองค์ พระยาน้อยครั้นได้ฟังอ้ายท้าวกุลว่าดังนั้นก็เห็นจริงด้วย ก็ทรงพระโกรธ แล้วจึงว่าพี่เราป้าเราทั้งสอง ภายหน้าไปจะให้เราได้เห็นความทุกข์ความยากอย่าแคล้วแก่ตาเราเลย อันตัวอ้ายสมิงมราหูนี้ เดชบารมีเราไปภายหน้าได้เปนใหญ่แล้ว จะสับเสียมิให้กากลืนแค้นคอ แต่เองเปนคนซื่อสัตย์ต่อเจ้าได้บอกเหตุร้ายดีให้แก่เราดังนี้เราขอบใจนัก อนึ่งตัวเรานี้ก็เปนลูกหลานพระเจ้าช้างเผือกมาถึงแปดพระองค์จริงแล้วไซร้ ขอจงเทพยดาอารักษ์ทั้งหลายช่วยเราให้ได้ดุจหนึ่งปรารถนาเถิด

ฝ่ายตะละแม่ท้าว ได้ยินพระยาน้อยแลอ้ายท้าวกุลเจรจาด้วยกันดังนั้น ตะละแม่ท้าวจึงถามพระยาน้อยว่า พระองค์เจรจากับอ้ายท้าวกุลนั้นด้วยเหตุอันใด พระยาน้อยจึงบอกเหตุการณ์ซึ่งสมิงมราหูกับตะละแม่ศรีทำเล่ห์กลทั้งปวงให้ตะละแม่ท้าวฟังทุกประการ ตะละแม่ท้าวได้ฟังก็หัวเราะว่า พระเจ้าป้าของพระองค์จะได้ผัวหนุ่ม พระองค์ไม่ได้ยินดีหรือ ความคิดของพระเจ้าป้านั้น จะใคร่ฆ่าพระองค์กับข้าพเจ้าแลพ่อลาวแก่นท้าวเสีย แล้วจะให้สมิงมราหูเปนกษัตริย์ ข้าพเจ้าได้ยินเนื้อความดังนี้เปนนิจทุกวันมิได้ขาด แลความดังนี้จริงหรือมิจริง ข้าพเจ้ามิได้ทราบ ครั้นข้าพเจ้าจะบอกแก่พระองค์เล่าเห็นเปนข้าพเจ้ายุยงให้สมเด็จพระเจ้าป้ากับพระองค์มีความรังเกียจแก่กัน เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมิได้บอกแก่พระองค์ ครั้นพระยาน้อยได้ฟังตะละแม่ท้าวว่าดังนั้น ก็ทรงพระโทมนัสน้ำพระเนตรตกจากคลองพระเนตร ครั้นรุ่งเช้า พระยาน้อยจึงให้หาแม่นมชื่อมุอายลาว เข้ามา ครั้นแม่นมมาถึงแล้ว จึงถามว่าเหตุการณ์สิ่งใด พระองค์จึงให้ข้าพเจ้ามา พระยาน้อยจึงว่าข้ามิได้กินนมแม่มานานมาแล้ว แลบัดนี้ข้าอยากนมแม่ ข้าจะใคร่ได้กินนมจึงให้หาแม่มา พระยาน้อยก็เอาผ้าที่ห่มนั้นวางลงเหนือตักแม่นมแล้ว ก็เอนพระองค์บรรธมลงที่ตักแม่นมนั้น แม่นมพิศดูพระพักตร์พระยาน้อยแล้ว ก็ร้องไห้น้ำตาไหลลงถูกพระอุระพระยาน้อย ๆ จึงตรัสถามว่า ด้วยเหตุประการใดแม่จึงร้องไห้ดังนี้ แม่นมจึงทูลว่าข้าพเจ้าเลี้ยงพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์อยู่จนใหญ่ถึงเพียงนี้แล้ว คิดว่าจะได้พึ่งพระบารมีสืบไป บัดนี้ข้าพเจ้าได้ยินพระเจ้าป้าของพระองค์คิดความใหญ่หลวงนัก ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจจงรักภักดีต่อพระองค์นั้น เห็นว่าจะเสียแรงรัก ข้าพเจ้าจึงร้องไห้เพราะเหตุดังนี้

พระยาน้อยได้ฟังคำแม่นมว่าดังนั้นก็ตรัสว่า อันแม่นมรักข้า ๆ ก็คิดรักแม่ดุจเดียว จึงให้หาแม่มาทั้งนี้หวังจะให้แจ้ง มุอายลาวจึงบอกความซึ่งพระมหาเทวีแลสมิงมราหูทำชู้ แล้วคิดอ่านกันให้พระยาน้อยแจ้งทุกประการแล้ว จึงว่าพระองค์เร่งรำพึงจงหนัก ครั้นแล้วมุอายลาวก็ลาไป ตั้งแต่วันนั้นมาพระยาน้อยก็หาไว้ใจไม่ ครั้นอยู่มาสมิงมราหูจะไปเที่ยวเล่นทุ่ง มาชวนพระยาน้อย ๆ บอกว่าข้าไม่สบายพี่จะไปก็ไปเถิด ถ้าพี่ไปได้ฝักบัวเง่าบัวเอามาฝากข้าบ้าง สมิงมราหูชวนพระยาน้อยไม่ไปแล้ว สมิงมราหูก็กลับมาบ้าน

อยู่มาสมิงมราหูมาชวนพระยาน้อยไปไหว้พระ พระยาน้อยว่าไปก่อนเถิด วันอื่นข้าจึงจะไป ตะละแม่ท้าวจึงบอกแก่พระยาน้อยว่า สมิงมราหูชวนไปทั้งนี้ คิดจะทำร้ายพระองค์ดอกอย่าไว้พระทัย พระยาน้อยบอกว่าข้ารู้แล้ว

ครั้นอยู่มา สมิงมราหูมาชวนพระยาน้อยไปไล่เนื้ออีกครั้งหนึ่ง พระยาน้อยว่าช้างม้าไม่มีจะขอยืมช้างพี่ขี่ไปสักตัวหนึ่ง สมิงมราหูก็ให้เอาช้างพังหางด้วนมาให้แก่พระยาน้อยตัวหนึ่ง ตะละแม่ท้าวจึงว่า สมิงมราหูสิจะคิดทำร้ายพระองค์อยู่ ทำไมจึงจะไปด้วยเขาเล่า พระยาน้อยจึงว่าแก่ตะละแม่ท้าวว่า สมิงมราหูได้มาชวนหลายหนแล้ว จะมิไปก็ไม่ควรจำจะไปด้วย แต่ว่าข้าไปถึงกลางทางแล้ว จึงให้คนไปบอกข้าว่าลูกเจ็บข้าจะกลับมา พระยาน้อยกับสมิงมราหูก็พากันไป

ครั้นไปถึงประตูเมือง พระยาน้อยเห็นช้างกันพิรุมของสมิงอายพะดาย พระยาน้อยจึงว่าแก่มะกะตะนายช้างว่า กูจะเอาช้างตัวนี้ไปหน่อยหนึ่ง มะกะตะนายช้างจึงทูลว่า ข้าพเจ้ากลัวสมิงอายพะตายลุงของพระองค์อยู่ พระยาน้อยจึงใช้พ่อมอญไปหาสมิงอายพะดาย ขอยืมช้างพลายกันพิรุมไปไล่เนื้อหน่อยหนึ่ง สมิงอายพะดายก็ยอมให้ พระยาน้อยก็เทียมช้างพังนั้นเข้าริมพลายกันพิรุมแล้วก็ขี่ช้างพลายกันพิรุมไป แลสมิงมราหูขี่ช้างพลายเดินไปก่อน พระยาน้อยขี่ช้างพลายกันพิรุมตามไป ครั้นถึงกลางทางอ้ายท้าวกุลไปบอกว่า พ่อลาวแก่นท้าวมีอันป่วยหนัก ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปก่อน พระยาน้อยจึงบอกแก่สมิงมราหูแล้วก็กลับเข้าไปเมือง แต่สมิงมราหูนั้นไป ครั้นกลับเข้ามาสมิงมราหูไปถามข่าวว่า พ่อลาวแก่นท้าวป่วยเปนประการใด พระยาน้อยบอกว่าหายแล้ว

ครั้นอยู่มาประมาณสามวัน พระมหาเทวีแลสมิงมราหูคิดการใหญ่หลวงขึ้น ชาวเมืองทั้งปวงพูดจากัน กิตติศัพท์แจ้งไปถึงพระยาน้อย ๆ ก็สะดุ้งพระทัย จึงให้หาพ่อมอญเข้าไปปรึกษากันว่า บัดนี้เขาคิดการใหญ่หลวงขึ้นแล้ว ผู้คนเราก็น้อยจะคิดทำการไม่ถนัด จำเราจะออกไปเล่นตีคลีณวัดพระมุเตาเนือง ๆ จะได้ซ่องสุมผู้คนคิดทำการต่อไป ครั้นคิดกันแล้วก็ออกไปณวัดเล่นตีคลีอยู่เนือง ๆ

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระยาน้อยไปณวัดนั่งดูคนตีคลีอยู่ จึงเหลือบเห็นตาปะขาวคนหนึ่ง เดินมาที่ลานพระมุเตา พระยาน้อยเห็นประหลาดจึงเดินเข้าไปหา ถามว่าท่านมาแต่ที่ใด ตาปะขาวผู้นั้นบอกว่า มาแต่ทิศตวันตกอยู่ป่าโครธาราม มาบัดนี้ปรารถนาจะใคร่พบลูกพระเจ้าช้างเผือกหน่อยหนึ่ง พระยาน้อยจึงถามว่า ท่านจะสนทนาด้วยกิจอันใด ตาปะขาวผู้นั้นจึงบอกว่า ข้าพเจ้าหวังจะบอกเนื้อความลูกพระเจ้าช้างเผือกให้ทราบ ถ้าลูกพระเจ้าช้างเผือกจะปรารถนาเอาราชสมบัติในเมืองพะโคแล้ว ก็ให้รักษาปัญจางคิกศีล แล้วจงไปข้างทิศตวันตก จะได้พบกัลยาณมิตรเปนบุรุษอกุดุมภีผู้หนึ่งอยู่ณบ้านพะลาคา เปนข้าพระเกษธาตุอยู่ณเมืองตะเกิง ผู้นั้นมีปัญญาสุขุมภาพจะได้เปนครูท้าวพระยารู้จบไตรเพท แลบุรุษผู้นั้นเกิดในวันอังคาร บัดนี้อายุได้สิบหกปีแล้ว ผู้นั้นจะกล่าวปริศนาสามบท ถ้าบพิตรแก้ปฤษณาสามบทได้ ผู้นั้นก็จะได้เปนคู่คิดกับพระองค์จะได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวง จะได้ยกย่องพระพุทธสาสนาให้ถาวรสืบไป ว่าดังนั้นแล้ว ก็อันตรธานหายไปในที่เฉพาะพระเนตรพระยาน้อย แลเมื่อตาปะขาวหายไปในทันใดนั้นแผ่นดินไหว แลมังโยทยาคนหนึ่ง มังตะราวคนหนึ่งอยู่ด้วยพระยาน้อย ๆ จึงว่าซึ่งตาปะขาวหายไป เกิดมหัสจรรย์แผ่นดินไหวดังนี้ ชรอยเทพยดามาบอกเหตุแก่เรา ๆ จะกลับเข้าไปในเมืองพะโค แต่งเครื่องบูชา พระยาน้อยก็กลับเข้ามาเมือง จึงแต่งเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าที่หนึ่ง บูชาเทพยดาที่หนึ่ง แล้วจึงให้หามะสอดมา ใช้ให้มะสอดไปดูข้าพระณเมืองตะเกิง ซึ่งอยู่ณบ้านพะลาคา จะพูดจาเปนปริศนาประการใดบ้าง ถ้าพบผู้นั้นแล้ว ให้จำตัวไว้ให้แน่ แล้วจดหมายเอาปริศนานั้นมา มะสอดรับคำพระยาน้อยแล้วก็ลามาบ้าน แลมะสอดอยู่บ้านมะสร้อยใกล้กันกับบ้านพะลาคาทางครึ่งวัน มะสอดก็ไปฟังปริศนาตามพระยาน้อยสั่งนั้น

ครั้นมะสอดมาถึงบ้านพะลาคา เห็นมะอะนันนายบ้านกับมะทะยันตะโกง ชนไก่กันอยู่ใต้ต้นไทรแทบคันสระริมทางเดิน มะสอดเข้าหยุดอยู่ พอพระสามเณรพุทธาญาณผู้มีปัญญาเดินมา มะอะนันนายบ้านเห็นจึงถามว่าเจ้าสามเณรจะไปไหน สามเณรพุทธาญาณจึงบอกว่า ท่านสมภารใช้ข้าไปดูโยมป่วย นายบ้านจึงว่าแก่สามเณรว่า ข้าจะไปเยือนด้วยยังไม่เปล่า ถ้าเจ้าเณรไปแล้วกลับมาบอกอาการแก่ข้าด้วย สามเณรพุทธญาณไปดูโยมแล้วกลับมา มะอะนันนายบ้านเห็นจึงถามว่า โรคโยมนั้นเปนประการใด สามเณรบอกเปนปริศนาว่า จะเปนราหูก็ใช่ จะเปนตัวคะก็ใช่ ครั้นถามว่าแน่ลงข้างไหนก็กลัวจะเปนเท็จ เหมือนโยมไถนามาถึงคันนา แล้วก็กลับมาสอยผลพุดซาอ่อนลากข้าง แลโรคโยมป่วยนั้นก็เปนเหมือนรูปบอกดังนี้ คนทั้งปวงได้ฟังสามเณรว่าไม่เข้าใจก็หัวเราะเยาะเล่น

ฝ่ายมะอะนันนายบ้านจึงว่าแก่คนทั้งปวงว่า สามเณรองค์นี้มีปัญญาเรียนคัมภีร์จบไตรเพท หาผู้ใดจะเสมอไม่อย่าประมาท ครั้นมะสอดได้ฟังสามเณรว่า เปนปริศนาลึกลับประหลาดหนัก คนทั้งปวงหารู้ไม่ มะสอดก็จำตัวสามเณรไว้ แล้วจดหมายเอาปริศนากลับมาทูลพระยาน้อย ๆ จึงพาเอาตัวมะสอดออกไปณพระมุเตา จึงนมัสการพระมุเตาแล้วอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้เปนใหญ่ครอบครองอาณาประชาราษฎรในเมืองพะโคแล้วไซร้ เดชะคุณพระศรีรัตนไตรเจ้า ขอให้เทพยดาทั้งปวงดลใจข้าพเจ้าให้แก้ปริศนานี้ออกเถิด พระยาน้อยก็ดำริห์แจ้งในอรรถปริศนาซึ่งสามเณรพุทธญาณว่ามานั้น ซึ่งว่าจะเปนอักษรคะก็ใช่ จะว่าราหูก็ใช่ สามเณรว่าดังนี้เปนอรรถปริศนา เห็นจะได้แก่ตัวเลขแปด ด้วยตัวเลขแปดข้างรามัญนั้นเปนรูปอักษรคะ สามเณรจึงว่าจะเปนคะก็ใช่ จะเปนราหูก็ใช่ ข้อซึ่งสามเณรว่าจะว่าเปนแน่ก็กลัวจะเปนเท็จนั้น ด้วยอาการโยมสามเณรซึ่งป่วยนั้น จะกำหนดเปนแน่ยังไม่ได้ จึงเปรียบตัวเลขตัวอักษรคะ ซึ่งว่าไถนามาถึงคันนาแล้วกลับวัวมานั้น ฝ่ายรามัญขับวัวว่าอะแซ้ ข้อซึ่งว่าสอยพุดซาอ่อนลากข้างนั้น ได้แก่ตัวอะรามัญลากข้าง พระยาน้อยจึงเอาตัวอักษรสามตัวประสมกันเข้าเปนอแซ้ว่า แลอธิบายว่าโยมสามเณรจะตายมิวันนี้ก็พรุ่งนี้ พระยาน้อยจึงให้มะสอดไปดูโยมสามเณร ๆ ก็ตายในวันนั้น ต้องปริศนาที่พระยาน้อยแก้ มะสอดก็กลับมาทูลแก่พระยาน้อย ๆ ก็นิ่งไว้แต่ในพระทัย

ครั้นอยู่มาสามเณรพุทธญาณนั้นมารดาเปนหม้าย เปนหนี้มะง้าวรอดนายบ้านอยู่เปนดีบุกเจ็ดสิบชั่ง สามเณรนั้นมีพี่ชายคนหนึ่งฟังคำเมียหนีมารดาไป หาอยู่เลี้ยงมารดาไม่

ฝ่ายมะง้าวรอดจึงให้เกาะเอามารดาสามเณรไว้ใช้เปนทาสแทนดีบุก แลสามเณรคิดกตัญญูต่อมารดาว่า มารดาไปเปนข้ามะง้าวรอดอยู่ ก็มีความรำคาญใจ สามเณรจึงเอาความไปแจ้งแก่พระสังฆราชผู้เปนอาจารย์ว่า มารดาข้าพเจ้าเปนข้ามะง้าวรอด ๆ เอาตัวไปไว้ใช้ ข้าพเจ้าจะขอสึกออกไปให้มะง้าวรอดใช้แทนมารดา พระสังฆราชจึงว่าแก่สามเณรว่า เจ้าเณรมีปัญญารู้จบไตรเพทข้าเอ็นดูหนัก ครั้นจะห้ามเจ้าเณรไว้ทรัพย์สิ่งของก็ไม่มีจะให้เจ้าเณร ๆ จะไปแทนคุณมารดาก็ไปเถิด สามเณรก็ลาพระสังฆราชสึกออกแล้ว เขาก็เรียกว่ามังกันจี ไปรับใช้แทนมารดา

ครั้นอยู่มา มะง้าวรอดให้มังกันจีคุมเด็กไปเลี้ยงโคณทุ่งนา ขณะนั้น พระยาน้อยให้มะสอดมาฟังปริศนาอีกครั้งหนึ่ง ครั้นมะสอดลงมาถึงที่สามเณรอยู่นั้นไม่พบสามเณร มะสอดสืบรู้ว่า สามเณรสึกออกไปเปนทาษใช้แทนมารดาอยู่ด้วยมะง้าวรอด มะสอดจึงตามไปพบมังกันจีเลี้ยงโคอยู่กับหมู่เด็กบนต้นไทร มะสอดก็นั่งคอยดูอยู่ที่นั้น พอบุตรมะง้าวรอดมาถามมังกันจีว่า โคหายไปได้แล้วหรือ มังกันจีจึงบอกเปนปริศนาว่า ข้าขึ้นไปบนต้นไม้ไม่เห็นจึงได้เห็น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่เห็น บุตรมะง้าวรอดได้ฟังมังกันจีว่าดังนั้น หารู้ในปริศนาไม่ก็สงสัยอยู่

ฝ่ายมะสอดได้ฟังมังกันจีว่าเปนปริศนา ก็จดหมายเอาปริศนานั้นมาทูลพระยาน้อยว่า สามเณรพุทธญาณซึ่งบวชอยู่ว่าปริศนาครั้งก่อนนั้น บัดนี้สึกออกจากเณรไปเลี้ยงโคว่าปริศนาอีกบทหนึ่ง มะสอดจึงเอาปริศนามังกันจีทูลพระยาน้อย ๆ ได้ฟังปริศนามังกันจีแล้ว ก็แก้ปริศนามังกันจีว่า ขึ้นต้นไม้ไม่เห็นจึงได้เห็นนั้น ชรอยต้นไม้นั้นเปนโพรงมีอสรพิศม์อยู่ เมื่อขึ้นไปไม่เห็นงูจึงเห็นโค ปริศนาซึ่งว่าไม่เห็น แลซึ่งว่าถ้าเห็นแล้วก็ไม่เห็นนั้น เมื่อแรกมังกันจีจะขึ้นไปดูโคบนต้นไม้นั้น ถ้าเห็นงูก่อนแล้วก็ไม่เห็นโค จึงได้กล่าวเปนปริศนาว่า ถ้าเห็นแล้วไม่ได้เห็น พระยาน้อยแก้ปริศนาแล้ว จึงอธิษฐานแต่ในพระทัยว่า ถ้าจะได้เปนกษัตริย์สืบไป ปริศนามังกันจีซึ่งว่านี้ขอให้แก้ถูกเถิด พระยาน้อยจึงให้มะสอดไปดูที่ต้นไม้นั้น มะสอดก็เห็นงูเห่าในโพรง จึงกลับมาทูลพระยาน้อย ๆ มีความยินดีนัก

ครั้นอยู่มามารดามังกันจีคิดถึงมังกันจีว่า ลูกเราคนนี้มีกตัญญูไปตกทุกข์ได้ยากเพราะเราช้านานแล้ว มารดามังกันจีจึงไปหาพระมหาเถรผู้เปนพี่ชายณวัดเกลาะนิพพาน แล้วอ้อนวอนว่ามังกันจีไปเปนทาสใช้แทนข้าพเจ้ามาก็ช้านานแล้ว ขอให้พระคุณช่วยกรุณาไปถ่ายเอามังกันจีมาไว้บวชเรียนเถิด พระมหาเถรได้แจ้งแล้วก็มีจิตต์กรุณาสงสาร จึงบอกกล่าวเรี่ยไรสัปรุษได้ดีบุกหนักเจ็ดสิบชั่ง ให้มารดามังกันจีไปถ่ายเอามังกันจีมา มารดามังกันจีจึงเอาดีบุกเจ็ดสิบชั่งนั้นไปให้มะง้าวรอดแล้ว พาเอามังกันจีมายังพระมหาเถร ๆ ก็บวชมังกันจีเปนสามเณรอยู่วัดเกลาะนิพพาน

ฝ่ายพระยาน้อย จึงให้มะสอดลงมาฟังปริศนามังกันจีอีกครั้งหนึ่ง มะสอดมาถึงบ้านมะง้าวรอดไม่พบมังกันจีสืบรู้ว่า มังกันจีไปบวชอยู่ณวัดเกลาะนิพพาน ก็ตามมังกันจีไปยังอาราม

ขณะนั้น พระมหาสมมิตร์ลงมากวาดวัดที่ลานพระอุโบสถ พอสามเณรพุทธญาณได้ลูกเป็ดหงษ์ตัวหนึ่งห่อสบงเดินมา พระมหาสมมิตร์เห็นสามเณรห่อสบงเดินมา ก็ถามว่าเจ้าเณรห่ออะไรมานั้น สามเณรบอกเปนปริศนาว่า ซึ่งข้าพเจ้าห่อมานี้ พม่าเรียกว่าแดง รามัญเรียกว่าโกล์ คนทั้งปวงซึ่งนั่งอยู่นั้นได้ยินสามเณรว่าดังนั้น ก็ติเตียนสามเณรว่า พระมหาสมมิตร์เปนผู้ใหญ่ เจ้าเณรไม่บอกออกให้แจ้ง เจ้าเณรว่ากล่าวเปนคำตลกคนองไปดังนี้ไม่สมควร พระมหาสมมิตร์ก็นิ่งอยู่

ฝ่ายมะสอดซึ่งมาฟังปริศนานั้น ก็จดหมายเอาถ้อยคำกราบทูลพระยาน้อย ๆ ได้ฟังก็แก้ปริศนาของพระสามเณรซึ่งมะสอดจดหมายมาในปริศนาว่าแดงนั้น แปลออกเปนคำไทยว่าหงษ์ รามัญเรียกว่า โกล์ แปลออกเปนไทยว่าลูก สามเณรได้ลูกเป็ดหงษ์ห่อมา แลปริศนาสามเณรสามบทนี้เปนกัลยาณนิมิตมั่นคง แล้วเทพยดาก็บอกเราแต่ก่อน เราก็แก้ปริศนาสามบทได้ เราคงจะได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศเปนแท้ แล้วเจ้าเณรว่าปริศนาสามบทนั้น มะสอดจะเห็นควรประการใด มะสอดจึงทูลว่า เจ้าเณรองค์นี้กอปรด้วยปัญญาวิชาไตรเพท แต่เปนคนทุคคตะมารดาเปนหนี้เขาอยู่ ครั้นพระยาน้อยได้ฟังก็ยินดีในพระสามเณรยิ่งนัก

อยู่มาวันหนึ่ง เวลาเช้า พระยาน้อยสั่งให้มะสอดกับมหาดเล็กสี่คน ให้จัดเอาผ้าเหลืองไตรหนึ่ง ผ้าขาวห้าตรา ผ้าแดงห้าตรา ของทั้งนี้ให้เอาไปถวายสมภารลุงเจ้าเณรพุทธญาณ แล้วให้จัดผ้าพรรณนุ่งห่มเครื่องใช้สรอย กับเงินตราห้าชั่งให้แก่มารดาสามเณร แล้วจงบอกแก่สมภารแลมารดาสามเณรว่า เราจะขอสามเณรพุทธญาณมาไว้ มะสอดกับมหาดเล็กสี่คนรับเอาเงินตราห้าชั่งกับสิ่งของทั้งปวงแล้ว กราบถวายบังคมลาออกมากับคนถือของยี่สิบเจ็ดคน มาถึงวัดเกลาะนิพพานไปหาสมภาร นมัสการแล้วถวายสิ่งของทั้งปวงซึ่งพระราชทานมานั้น แล้วแจ้งเนื้อความตามรับสั่งทุกประการ สมภารได้ฟังก็มีความยินดีนัก ว่าอายุอาตมาภาพถึงหกสิบแปดปีแล้ว บวชมาในพระพุทธสาสนาได้สี่สิบเจ็ดพรรษา รูปขออุทิศส่วนกุศลถวายไปแก่ลูกพระเจ้าช้างเผือกเถิด ถ้ารูปยังหนุ่มอยู่ก็จะสึกออกไปทำราชการอยู่ด้วยพระราชบุตรพระเจ้าช้างเผือก ทุกวันนี้ก็แก่เฒ่าไปแล้ว กำลังก็น้อยจะทำราชการไปนั้นมิได้ แล้วสมภารจึงให้คนไปเรียกมารดาเจ้าสามเณรมา สมภารจึงให้เอาเงินห้าชั่งกับผ้าพรรณนุ่งห่ม อันเปนส่วนพระราชทานมารดาเจ้าสามเณรนั้นส่งให้แล้วบอกว่า สิ่งของทั้งนี้พระราชโอรสพระเจ้าช้างเผือกให้เอามาพระราชทาน พระองค์มีพระทัยปราถนาจะขอเอาเจ้าสามเณรพุทธญาณไปไว้ มารดาเจ้าสามเณรได้รับพระราชทานแล้ว ก็มีความโสมนัสยินดีนัก แล้วว่าแก่สามเณรพุทธญาณว่า พระราชบุตรมีรับสั่งมาจะขอเจ้าสามเณรไปไว้ เจ้าเณรจะคิดประการใด สามเณรพุทธญาณจึงว่า ตัวข้าพเจ้านี้อยู่ในแผ่นดินของท่านก็เปนข้าแผ่นดิน ซึ่งพระลูกเจ้าทรงเมตตาโปรดพระราชทานสิ่งของทั้งนี้มาเปนส่วนของขรัวลุง แลส่วนของมารดา หวังจะใคร่ได้ตัวข้าพเจ้า ๆ หรือจะไม่สมัคร์เล่า มาตร์แม้นพระองค์ไม่ทรงพระเมตตาโปรดพระราชทานเข้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย จะเอาไปใช้เปล่า ๆ ก็จะขัดได้หรือ จำจะต้องไปควรที่ข้าพเจ้าจะภักดี ตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณจึงจะชอบ

มารดาได้ฟังสามเณรว่าดังนั้น ก็ร้องไห้กอดสามเณรเข้าแล้วก็พิไรรำพรรณให้ความสั่งสอนต่าง ๆ ส่วนสมภารจึงสรรเสริญถึงความรู้ของสามเณรพุทธญาณให้มารดาสามเณรแลมะสอดฟัง คือสามเณรได้เล่าเรียนทั้งพระสูตร พระอภิธรรม พระคัมภีร์โหรศาสตร์ แลไชยภูมิ พิไชยสงคราม กลอุบายพิไชยสงคราม เรียนได้แต่อายุสิบสี่ปี อันความรู้ของสามเณรนั้นหาผู้ใดจะเสมอมิได้ แต่ทว่ายังเปนเด็กหนุ่มอยู่ อาตมาภาพขอฝากแก่ท่านด้วยเถิด ถ้าผิดพลั้งในราชกิจประการใด ท่านจงเมตตาช่วยตักเตือนว่ากล่าวด้วย แล้วจึงเรียนสามเณรเข้ามาตักเตือนว่ากล่าวในวิชาซึ่งได้ร่ำเรียนมานั้น คืออุบายสี่ประการ วิชาห้าประการ คุณแปดประการ วุฒิเจ็ดประการ ธรรมเหล่านี้ควรแก่พระราชบุตรกษัตราธิราชนั้น ให้สามเณรสั่งสอนให้กระทำแล ตัวท่านผู้จะเปนข้าพระราชบุตรนั้น ให้รู้ซึ่งโทษแปดประการ คุณเจ็ดประการ วุฒิหกประการ คติสามประการ ซื่อหกประการ มุสาเก้าประการ แลอุบายสี่ประการนั้น สามัญญอุบาย คือรู้ทั่วไปในราชกิจการงานสงครามหนึ่ง นิกะอุบาย คือรู้ประกอบฤกษ์พานาทีที่จะได้แลเสีย แพ้แลชนะ รู้ทั้งราชวัตร์ตามคัมภีร์ราชษาทึก รู้ทั้งคหปติวัตร์ ตามคัมภีร์สิงคาโลวาทหนึ่ง เล่ห์อุบาย คือรู้ในเล่ห์เขาคดก็คดตาม เขาซื่อก็ซื่อตาม แลฉลาดตามโวหารต่าง ๆ หนึ่ง ธนอุบาย คือรู้อุบายในที่จะขวนขวายถ่ายเทหาทรัพย์หนึ่ง เปนสี่ประการด้วยกัน แลวิชาห้าประการนั้น โยคเสฐา คือรู้ในสาระพัดช่างทั้งปวงหนึ่ง วินิฉัยเสฐา คือรู้ในธรรมศาสตร์ราชาศาสตร์ ตัดสินข้อคดีของราษฎรหนึ่ง เหตุเสฐา คือรู้นิมิตรทั้งปวง แลเหตุการณ์บ้านเมืองจะร้ายแลดีหนึ่ง โบราณเสฐา คือรู้จักภูมิประเทศว่าที่นี่เปนมงคล แลมิได้เปนมงคลตามโบราณสืบมาหนึ่ง หัตถีอัศศะเสฐา คือรู้ศิลปศาสตร์ช้างม้าทั้งปวงหนึ่ง เปนวิชาห้าประการ แลคุณแปดประการนั้น สัจจังคือ กล่าวถ้อยคำเปนสัตย์เที่ยง ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้งสี่ มิได้ลำเอียงเข้าด้วยญาติแลมิตร์ของตนหนึ่ง อวิโรธะนัง คือมิได้เบียดเบียฬบุคคลผู้อื่นหนึ่ง สิเนหะทัสสะนา คือเห็นบุคคลผู้อื่นให้มีจิตต์เมตตารักใคร่หนึ่ง สุรยุทธัง คือเมื่อเข้าสู้สงครามนั้นให้องอาจอย่าได้หวาดไหวคร้ามกลัวปัจจามิตรหนึ่ง สีละวา ให้ประกอบไปด้วยศีลมารยาทเปนอันดีหนึ่ง อะโรคยา ให้รู้คัมภีร์บำบัดโรคหนึ่ง จาโคปะนะ คือบริจาคทรัพย์มิได้อาลัย แล้วจะกลับคืนเอาต่อภายหลังหนึ่ง นิสัมมะการี คือจะทำการสิ่งใดให้ดำริห์ด้วยปัญญาก่อนจึงกระทำหนึ่ง คุณแปดประการดังนี้

แลวุฒิเจ็ดประการนั้น คือให้ประพฤติอิริยาบถดังพระอินทร์อันบริบูรณ์ไปด้วยเบญจกามคุณ แลอิสสริยศองอาจในการอันเปนใหญ่หนึ่ง ให้ประพฤติอิริยาบถดังพระพรหม คือเมื่อกาลจะรักสาอุโบสถแลพรหมจรรย์นั้น ให้พึงเว้นจากเบญจกามคุณดุจพรหมอันสำรวมญาณบริสุทธิ์หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระอาทิตย์ คือประพฤติราชอาณาจักร์เปนอันเสมอ มิได้เลือกหน้าตามผิดแลชอบ ดุจดังพระอาทิตย์อันส่องแสงเสมอไปมิได้เว้นหนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระจันทร์ คือประกอบไปด้วยเมตตาแก่สมณชีพราหมณ์เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งปวง ให้อยู่เย็นเปนสุขทั่วไปดุจรัศมีพระจันทร์หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระพาย คือประกอบไปด้วยความกรุณาแก่ข้าราชการน้อยใหญ่โดยถานานุกรม ดุจหนึ่งพระพายพัดตามฤดูหนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระยายมราช คือให้สำแดงราชานุภาพแก่ผู้ล่วงพระราชบัญญัติโดยโทษให้พิลึกพึงกลัว ดุจดังพระยายมราชอันเหลือบพระเนตร์ดูผู้กระทำผิดให้พินาสไปหนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระมหาสมุทร คือ จะลงพระราชอาญาแก่ผู้ล่วงพระราชอาณาจักร์นั้น ให้กระทำด้วยอุเบกขาหาความพยาบาทมิได้ ดุจดังพระมหาสมุทรมิได้ยินดีแก่กลิ่นอันหอม แลมิได้ยินร้ายแก่กลิ่นอันลามกหนึ่ง ศิริวุฒิเจ็ดประการดังนี้ เปนพระราชวัตร์สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านี้

แลองค์แห่งปรินายกนั้น คือให้รู้จักโทษแปดประการ พะยะสินี คือเปนนักเลงผู้หญิงแลเล่นเบี้ยกินเหล้า เปนที่จะให้ฉิบหายแห่งทรัพย์หนึ่ง จัดตะโจรี คือ มีจิตต์เปนโจร มักฉกชิงซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหนึ่ง อสันตุฏฐี คือมิได้อดกลั้นความสุขแลความทุกข์อันมาถึงตัวแลหวาดไหวหนึ่ง อะติมัญญะติ คือมักดูหมิ่นผู้เฒ่าผู้แก่ แลมิได้เคารพแก่สมณพราหมณาจาริย์หนึ่ง สันตาอะปิยา คือมิได้สมาคมซึ่งนักปราชญ์ แลรักใคร่ซึ่งคนพาลหนึ่ง นิทธาสินี คือมีปรกติมักน้อย นั่งก็หลับยืนก็หลับ มิใคร่ตื่นหนึ่ง ภาสะสินี คือพอใจสนทนาในที่ประชุมคนทั้งหลายหนึ่ง อะนุฏฐาตา คือปราศจากความเพียร เอาเกียจคร้านเปนอารมณ์หนึ่ง องค์แห่งโทษแปดประการดังนี้ บุคคลผู้เปนราชเสวกพึงเว้นเสียอย่าให้มีในสันดาน

คุณเจ็ดประการ กุละสัมปันนัง คือคนแห่งราชเสวกนั้นประกอบไปด้วยตระกูลเปนอันดี สุระสัมปันนัง คือมีปัญญามากกล้าหาญหนึ่ง ตะทิฎฐัง คือรู้เห็นได้สดับตรับฟังมากหนึ่ง วัณณัง คือประกอบไปด้วยรูปร่างวรรณสัณฐานอันงาน หนึ่ง สิเนหะทัสสะนา คือบุคคลผู้อื่นเห็นเปนที่รักใคร่หนึ่ง ทันตะเนตติ คือขึ้นใจในคัมภีร์ราชศาสตร์หนึ่ง โยโคตะระ คือประกอบด้วยความเพียรอันยิ่งหนึ่ง คุณเจ็ดประการดังนี้

แลวุฒิหกประการนั้น คือประพฤติดังพระยาราชสีหประการหนึ่ง ประพฤติดังนกยางประการหนึ่ง ประพฤติดังกาประการหนึ่ง ประพฤติดังไก่ประการหนึ่ง ประพฤติดังเหยี่ยวประการหนึ่ง ประพฤติดังโคอุศุภราชประการหนึ่ง องค์แห่งวุฒิหกประการดังนี้ อันว่ากิริยาแห่งราชสีห์นั้น องอาจในหมู่สัตว์จตุบาททวิบาท แลมีปริมณฑลขนที่ขาวก็ขาวถ้วน ที่แดงก็แดงล้วน มิได้เจือปนกัน แลอุปมาประดุจใด ให้เสวกามาตย์ราชปรินายกผู้จะเข้าสู่สงครามนั้น องอาจมีกตัญญูเปนแดน แทนพระคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า แล้วให้มีเมตตาแก่ข้าราชกิจผู้น้อย แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ให้ปราศจากอคติธรรมทั้งสี่ประการ คือ ฉันทา,โทสา, พยา, โมหาคติ อย่าให้เจือปนอยู่ในสันดานได้ แลนกยางนั้นกระทำมายากิริยาเงื่องงุน มีอุบายแต่จะล่อลวงฝูงปลาให้ไว้ใจ แล้วก็ล้วงจิกเอากินเปนอาหาร แลมีประดุจใจ ผู้เปนเสวกามาตย์ราชปรินายกก็พึงให้เรียนรู้ซึ่งกลอุบาย ล่อลวงปัจจามิตร์ให้หลงด้วยกลมารยา เอาชัยชนะถวายพระมหากษัตริย์เจ้า ผู้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ได้ ก็จะเจริญด้วยยศศักดิ์สมบัติประดุจนั้น อันว่าถ้ากาแลปะอาหารสิ่งใด ๆ เข้าแล้ว บห่อนจะนิ่งบริโภคแต่ตัว ย่อมร้องประกาศเพื่อนพันธมิตร์ญาติแห่งตนให้รู้ก่อนจึงบริโภค แลมีอุปมาประดุจใด ผู้เปนเสวกามาตย์ราชปรินายกจะตามเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ใด ๆ อย่าได้ประมาท หมั่นระวังราชสัตรูหมู่อันตรายโดยรอบคอบอย่าให้มีมาได้ อนึ่ง ถ้าจะได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคใด ๆ ก็พึงมีจิตเมตตาแผ่ไปแก่เพื่อนราชการแลญาติพันธมิตร์ อย่าได้คิดโลภมัจฉิริยบริโภคแต่ตนผู้เดียว กระทำดุจกิริยาแห่งกานั้น อันว่ากิริยาแห่งไก่นั้น ครั้นถึงยามที่ตนจะขันก็ขันประจำยามแลมีประดุจใด ผู้เปนราชเสวกามาตย์นั้น อย่าพึงลืมสติในที่จะระลึกถึงพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ แล้วอย่าลืมระลึกในการกุศลอันจะเปนมงคลแก่อาตมา ดุจกิริยาแห่งไก่นั้น อันว่าเหยี่ยวนั้น มีกิริยาอันหมายมั่นเปนธรรมดาสืบ ๆ กันมา ถ้าจะจับสัตว์ชาติสกุณใด ๆ แล้วเล็งแลด้วยจักษุหมายให้แม่นแล้วก็โฉบลงมาด้วยกำลังรวดเร็วจับไว้มั่นคั้นไว้ตาย จึงมิได้เปนอันตรายแก่ตนแลมีอุปมาประดุจใด อันว่าราชเสวกามาตย์นั้น ถ้าจะพิพากษาตราสินเนื้อความแห่งผู้กระทำชอบแลผิด จะพิดทูลกล่าวโทษข้าราชการน้อยผู้ใด พึงตริตรองด้วยวิจารณาปรีชาให้ถ่องแท้ แลหมายมั่นด้วยอันใดแลได้เห็นจริงจึงว่ากล่าว ภยันตรายจึงจะไม่มีแก่ตนดุจเหยี่ยวนั้น อันว่ากิริยาแห่งโคอุศุภราชนั้น ไปหาอาหารในสถานที่ใดแล้วย่อมกลับมา มิได้ละถิ่นถานแห่งตนที่เคยอาศัยนั้นเสีย แลมีประดุจใด เสวกามาตย์ผู้จะเปนปรินายก จะปรึกษากิจราชการอันใด อย่าได้ละพระราชสาส์นแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าเสียจงทุกประการ

แลคดสามประการนั้น คือมีประสงค์จะปลงชีวิตกัน จึงกล่าวกลอันคด ประการหนึ่ง คือจะกระทำยุทธสงครามแก่กัน จึงกล่าวคำคด ประการหนึ่ง คือตนจะถึงซึ่งความฉิบหาย จึงอุบายกล่าวกลอันคดแก้ตัวประการหนึ่ง กลคดสามประการดังนี้

แลซื่อหกประการนั้น กตัญญูคือรู้จักคุณท่านหนึ่ง กตเวที คือสนองคุณท่านหนึ่ง ทัฬหะวะตี คือมั่นในความสัตย์หนึ่ง ปะระทุกขาหะสะนัง คือเห็นความยากของผู้อื่นแล้วอดกลั้นมิได้ มีความปราณีเหมือนหนึ่งทุกข์ของตัวหนึ่ง กัลยาณะมิตตัง คือตั้งตัวไว้ในที่เปนกัลยาณมิตร์หนึ่ง มิตตะสังคะหัง คือมีปรกติสงเคราะห์แก่มิตร์หนึ่ง ซื่อหกประการดังนี้

มุสาเก้าประการนั้น มุตตะมายา คือจะให้พ้นภัยจึงมุสาหนึ่ง ชีวิตะมายา คือจะเอาชีวิตรอดจึงมุสาหนึ่ง มนุสสะหิงสา คือจะปลดเปลื้องความยากของมนุษย์จึงมุสาหนึ่ง ไชยะสิโน จะเอาชัยชนะแก่ท่านจึงมุสาหนึ่ง ยะสะวาจา เขาบอกความลับแก่ตัวแล้วมีผู้มาถามต้องอำไว้จึงมุสาหนึ่ง มะมะละหิยา จะแก้ไขทุกข์ของตัวเราจึงมุสาหนึ่ง ลัพพันรุโน เพื่อจะพรางภรรยาจึงมุสาหนึ่ง อะลิกะวะจะนัง เอาถ้อยคำไม่จริงมาบอกแก่ผู้ถามเพื่อจะอำความของตัวจึงมุสาหนึ่ง กุสะสัพพะภาคี มีเจตนาจะยังโลกทั้งปวง ให้ตั้งอยู่ในการกุศลจึงมุสาหนึ่ง มุสาเก้าประการดังนี้ อันความซึ่งเราให้โอวาททั้งนี้ เจ้าผู้หลานจงจำไว้อย่าได้ประมาทลืมหลง สามเณรพุทธญาณได้ฟังพระมหาเถรสมมิตร์ให้โอวาทดังนั้นก็กราบลงแทบบาทพระมหาเถร รับซึ่งความสั่งสอนใส่เศียรเกล้าแล้วก็นมัสการลามากับด้วยมะสอด

เมื่อสามเณรมายังมิทันถึง ใกล้รุ่งคืนวันนั้น พระยาน้อยทรงสุบินนิมิตฝันว่า มีบุรุษผู้หนึ่งนำเอาดวงแก้วมณีอันวิเศษมาแต่ประจิมทิศ มาวางลงในฝ่าพระหัตถ์ พระองค์ก็รับเก็บไว้ ครั้นตื่นขึ้นจึงทรงดำริห์ทำนายนิมิตของพระองค์เองว่า บุรุษซึ่งนำเอาดวงแก้วมณีมาใส่ให้ในฝ่ามือนั้น เห็นจะได้แก่มะสอด อันดวงแก้วมณีอันวิเศษนั้น เห็นจะได้แก่สามเณร ชรอยมะสอดจะพาพระสามเณรพุทธญาณมาถึงในวันพรุ่งนี้เปนมั่นคง พระยาน้อยทรงดำริห์ทำนายความฝันแล้ว ก็คำนึงคอยท่ามะสอดอยู่

ครั้นเวลาบ่ายมะสอดกับมหาดเล็กสี่คน ก็พาเอาสามเณรพุทธญาณเข้าไปถวายพระยาน้อย ๆ ทอดพระเนตร์เห็นก็มีความยินดี จึงนิมนต์พระสามเณรให้นั่งในที่อันควร แล้วยอพระหัตถ์ถวายนมัสการ พระองค์ก็พิเคราะห์ดูซึ่งลักษณะพระสามเณรก็เห็นลักษณะปรากฎมีในกายก็ทราบว่า เปนนักปราชญ์มีปัญญารู้ในไตรเพทจริง พระราชบุตรก็ตรัสสนทนากับพระสามเณรไปจนเวลาเย็น จึงแสร้งสั่งให้วิเศษแต่งโภชนาหารมาให้สามเณรฉัน วิเศษแต่งโภชนาหารเสร็จแล้ว ก็ยกมาถวายแก่พระสามเณร ๆ ก็นิ่งยิ่มอยู่ พระยาน้อยจึงให้เอาผ้าสัตตะขันธ์ไตรหนึ่ง กับผ้าคฤหัสสำรับหนึ่งมาถวายพระสามเณร ๆ ก็รับเอาผ้าคฤหัสแล้ว จึงถวายพระพรว่าอาตมาภาพมาถึงพระองค์แล้ว จะขอสึกทำราชการสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิต มิได้คิดแก่ความยากความลำบากเลย ครั้นแล้วสามเณรกับมะสอดก็พากันไปลาพระพุทธรูปแลพระสงฆ์ที่อาราม สึกออกมาอยู่ด้วยพระราชบุตร

ขณะนั้นตะละแม่ท้าวเห็นสามเณรสึกออกมาแล้ว ก็ทรงพระสรวลเปนทีเยาะ พระยาน้อยจึงห้ามว่า พระน้องอย่าหัวเราะเยาะเย้ย มังกันจีนี้มีปัญญารู้หลักนัก เรารักกว่ามังเทวมอญพี่เลี้ยงเราอีก ตะละแม่ท้าวได้ยินพระยาน้อยห้ามดังนั้น จึงเอาธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้กับผ้าขาวพับหนึ่ง ขันทองคำใบหนึ่ง มาให้มังกันจีแล้วขอสมาว่าอย่าให้มีโทษ มังกันจีก็ถวายบังคมรับสมาตะละแม่ท้าว แล้วจึงรับเอาสิ่งของทั้งนั้น

ฝ่ายพระยาน้อยก็เอาปริศนา ซึ่งพระองค์ทรงแก้นั้น ออกมาสอบถามมังกันจีตามมีมาแต่หนหลัง มังกันจีก็ทูลว่าปริศนาของข้าพเจ้าซึ่งพระองค์แก้นั้นถูกทุกประการ พระยาน้อยกับมังกันจีก็มีความยินดีรักใคร่กันนัก คิดการกันจะเอาราชสมบัติให้ได้

ครั้นอยู่มาพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกทรงพระประชวรหนัก พระเจ้าช้างเผือกจึงตรัสสั่งแก่สมิงชีพรายให้จัดแจงการรำผี สมิงชีพรายรับพระราชโองการ แล้วจึงสั่งให้ปลูกโรงใหญ่ลงณที่ควรแห่งหนึ่งในพระราชวัง ครั้นถึงวันกระทำการ สมิงชีพรายแลขุนนางน้อยใหญ่ก็มาพร้อมกันที่โรงใหญ่ แล้วก็ทำการรำผี

ฝ่ายพระยาน้อยกับสมิงมราหูแลพระมหาเทวี ก็มาพร้อมกันที่โรงรำผีนั้น พระมหาเทวีจึงกระซิบบอกแก่สมิงมราหูว่า ตัวปรารถนาจะใคร่เปนใหญ่แล้ว เสี้ยนหนามมีอยู่ เหตุไฉนไม่ลิดตัดเสียเล่า ยังจะเปนใหญ่ได้อยู่ฤๅ สมิงมราหูได้ฟังพระมหาเทวีว่าดังนั้น ก็ออกมากระซิบสั่งทหารอันร่วมใจว่า การที่เราคิดไว้ก็ได้ทีอยู่แล้ว ท่านจงไปเอาดาบมายืนซุ่มอยู่ที่ริมประตูพระราชวัง ถ้าเวลากลางคืนเสร็จการแล้ว พระยาน้อยก็จะกลับไปวัง ท่านจงฆ่าเสียให้จงได้ ทหารก็ไปตามสมิงราหูสั่ง

ขณะนั้นนางเม้ยซุนเครือหนึ่ง นางเม้ยสดุ้งมอดหนึ่ง สองคนนี้เปนบุตรสาวสมิงชีพรายมารำผี พระยาน้อยเห็นเม้ยซุนเครือเม้ยสดุ้งมอดสองคนรูปงามรำผีงามดีก็ชอบพระทัย จึงให้ผ้านุ่งสองผืน ผ้าห่มสองผืน แหวนสองวง มาส่งให้สมิงชีพรายผู้พ่อ ให้แก่เม้ยซุนเครือเม้ยสดุ้งมอด สมิงชีพรายรับเอาสิ่งของไว้แล้ว ก็รู้ว่าพระยาน้อยชอบพระทัยลูกสาวของตัว ขณะเมื่อรำผีอยู่นั้น พระมหาเทวีกับสมิงมราหูคิดอ่านกันจะทำร้ายพระยาน้อย เสนาบดีทั้งปวงก็รู้สิ้น แลเมื่อรำผีอยู่นั้นเลี้ยงดูกันวุ่นวายอยู่ สมิงมราหูเสพสุราเมาแล้วจึงเหยียดเท้ามาข้างพระยาน้อย ยีกำกองเห็นสมิงมราหูทำหยาบช้าดังนั้น จึงทูลพระยาน้อยว่า พระองค์ช่างนิ่งเสียได้ให้คนดูถูก พระน้อยได้ยินยีกำกองว่า ก็โกรธทุ่มเถียงขึ้นกับสมิงมราหู สมิงชีพรายจึงทูลพระมหาเทวีว่า มารำผีกระทำการของพระเจ้าช้างเผือกพระเจ้าอยู่หัว พระญาติวงศ์มาวิวาทกันวุ่นว่ายดังนี้ ข้าพเจ้าเปนผู้ใหญ่ก็พลอยได้ความผิด เหตุไฉนพระแม่อยู่หัวเจ้า จึงไม่ตรัสห้ามปรามบ้าง พระมหาเทวีนั้นเข้าด้วยสมิงมราหู ก็ว่าพ้อตัดสมิงชีพราย ๆ ก็ถอยออกมา พอเวลาพลบค่ำ บ่าวสมิงชีพรายวิ่งมาบอกสมิงชีพรายว่า เห็นทหารสมิงมราหูถือดาบมายืนอยู่ริมประตู ข้าพเจ้าพบเข้าก็วิ่งหนีไป

ฝ่ายพระมหาเทวีก็พาสมิงมราหูกลับไปวัง ครั้นพระยาน้อยจะกลับไปวังบ้างสมิงชีพรายจึงห้ามไว้ ครั้นผู้คนไปสิ้นแล้ว สมิงชีพรายจึงเชิญพระยาน้อยไปบ้านเรือนสมิงชีพราย แล้วจึงทูลว่า สมิงมราหูให้คนถือดาบมาคอยอยู่จะทำร้ายพระองค์ บ่าวข้าพเจ้าเห็นมาบอกข้าพเจ้า ๆ จึงห้ามพระองค์ไว้ หวังจะทูลพระองค์ให้แจ้ง ทุกวันนี้ข้าพเจ้ารักพระองค์นัก ข้าพเจ้าเปนผู้ใหญ่อยู่ในพระเจ้าช้างเผือก การสิ่งใดข้าพเจ้าได้รู้เห็น ก็ช่วยตักเตือนสติพระองค์บ้าง ขอพระองค์เร่งคิดเถิด พระยาน้อยจึงตอบว่าขอบใจลุงท่านนัก ซึ่งช่วยเตือนให้สติข้าทั้งนี้ ข้าขอรับเอาซึ่งถ้อยคำ แต่เวลานี้มืดค่ำแล้วข้าจะลาลุงท่านไปก่อน ว่าแล้วพระยาน้อยก็เสด็จกลับไปวัง สมิงชีพรายก็ให้คนตามไปส่ง

ครั้นเวลารุ่งเช้ายีกำกอง จัดแจงเอาสิ่งของขึ้นไปถวายพระเจ้าช้างเผือก ๆ เห็นยีกำกองเอาสิ่งของมาถวาย จึงตรัสถามยีกำกองว่ามาทำไม ยีกำกองกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบถวายบังคมลาพระองค์ไปเมืองทะละ ยีกำกองก้มหน้าลงแล้วก็น้ำตาตก พระเจ้าช้างเผือกเห็นยีกำกองร้องไห้ จึงตรัสถามยีกำกองว่า เปนไรจึงร้องไห้ ยีกำกองกราบทูลว่า แต่ก่อนข้าพระพุทธเจ้าเคยนมัสการพระมุเตา ถ้าหาบุญพระองค์ไม่แล้ว อันที่จะให้ข้าพระพุทธเจ้านมัสการ ขุยดินแทนองค์พระมุเตานั้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไหว้แล้ว พระเจ้าช้างเผือกประชวรหนักได้ทรงฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่มิได้ตรัสประการใด ยีกำกองก็กราบถวายบังคมลาออกมา

ฝ่ายพระมหาเทวีได้ทราบว่า ยีกำกองมาทูลแก่พระเจ้าช้างเผือกเปนคำเปรียบปรายดังนั้น พระมหาเทวีสมิงมราหูตะละแม่ศรีก็คิดอ่านกันจัดแจงสิ่งของมาสมัครสมานเอาพระทัยพระยาน้อยณวังพระยาน้อย ครั้นพระมหาเทวีสมิงมราหูตะละแม่ศรี มาถึงตำหนักพระยาน้อย ๆ กับตะละแม่ท้าวรู้ ก็ลงมาต้อนรับเชิญขึ้นไปบนตำหนัก พระมหาเทวีจึงตรัสแก่พระยาน้อยว่า วานนี้สมิงมราหูเสพสุราเมาเหลือกำลังหาทันพิจารณาไม่ เหยียดเท้าไปใกล้หลาน ป้าเห็นผิดอยู่ดูมิบังควร ป้าจึงพามาขอสมาหลานเสีย หลานอย่าได้ถือโทษผูกจิตต์เจ็บแค้นแก่สมิงมราหูเลย พระยาน้อยจึงตอบว่า เวลาวานนี้เปนเวลากลางคืนต่างเสพสุราเมาด้วยกัน ซึ่งก้ำเกินหน่อยหนึ่งจะถืออะไรกัน ต้องให้มาสมาข้าพเจ้าทำไมเล่า พระมหาเทวีจึงตรัสว่า ถ้าหลานไม่รับสมาแล้ว สมิงมราหูก็จะน้อยใจ หลานจงรับสมาเสียหน่อยหนึ่งเถิด พระยาน้อยขัดพระมหาเทวีมิได้ จึงรับสมาแก่สมิงมราหู ครั้นขอษมากันเสร็จแล้ว พระมหาเทวีก็อุ้มเอาพ่อลาวแก่นท้าวบุตรพระยาน้อยขึ้นเชยชม จึงบอกว่าป้าจะลาไปก่อนแล้ว แต่จะขอพ่อลาวแก่นท้าวไปเชยชมสักวันหนึ่ง แล้วจึงจะให้มา ส่วนพระยาน้อยแลตะละแม่ท้าวก็ยอมอนุญาตให้ไป แต่ให้นางพี่เลี้ยงแลนางนมตามไปด้วยจะได้คอยดูแล เพราะไม่วางพระทัยทีเดียว ซึ่งพระมหาเทวีทำดังนี้ หวังจะมิให้พระยาน้อยแลตะละแม่ท้าวมีความสงสัย จะให้เห็นว่า พระมหาเทวียังเมตตารักใคร่เหลนหลานอยู่ ฝ่ายสมิงมราหูแลตะละแม่ศรีก็ลาพระยาน้อยกลับมาวัง พร้อมกันกับด้วยพระมหาเทวี

ขณะเมื่อยีกำกองจะไปเมืองทะละนั้น จึงมาหาพระยาน้อย ทูลว่า พระองค์ค่อยอยู่จงดีเถิด ข้าพเจ้าจะบังคมลาไปก่อนแล้ว ทุกวันนี้ข้าพเจ้าคิดถึงพระองค์นักอยู่ แต่ทว่ามิรู้ที่จะทำประการใด ข้าพเจ้าเห็นพระมหาเทวีพระเจ้าป้าของพระองค์ กับสมิงมราหูนั้นผิดอยู่ เห็นจะคิดทำร้ายแก่พระองค์เปนมั่นคง อย่าได้วางพระทัย เร่งทรงพระดำริห์เถิด ถ้ากระไรพระองค์คิดอ่านผ่อนผันไปให้ถึงเมืองตะเกิงได้แล้ว ข้าพเจ้าจะรับเปนภาระธุระให้สำเร็จการของพระองค์จงได้ พระยาน้อยได้ฟังยีกำกองว่าดังนั้นก็เห็นว่า ยีกำกองรักใคร่โดยสุจริตจึงได้ช่วยตักเตือน จึงตอบว่า ขอบใจพี่แล้ว ถ้าขัดขวางไปเบื้องหน้าจึงจะบอกไปถึงพี่ให้ทราบ เชิญพี่ไปเถิด ยีกำกองก็ลาพระยาน้อยไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ