๑๙

พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องกับพระเจ้าราชาธิราช ขาดจากสงครามกันทีเดียว สมณชีพราหมณ์ประชาราษฎร อยู่เย็นเปนสุขมาได้สามปี สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชสำราญพระกมลหฤทัย เสด็จไปประพาสป่าโพนข้าง ณตำบลป่าโมราคะเต พระองค์เสด็จทรงพลายสิงหนารายน์ผูกเครื่องทองเปนพระที่นั่ง พร้อมด้วยช้างโคตรแล่นโจมทัพดั้งกันคํ้าค่ายล้อมวังพังคาระวางเพรียว ช้างชนะงาทั้งปวงตามลำดับใหญ่น้อยโดยขนาด พบข้างฝูงใหญ่แห่งหนึ่งเปนอันมาก จึงตรัสสั่งให้ขุนช้างวางชนะงา เข้าโจมฝูงใหญ่ไล่คํ้าแตกกระจายออก หมอช้างทั้งปวงก็ชิงช่วงกันคล้อง ถูกช้างเถื่อนพังทลายเปนอันมาก ขณะนั้นช้างพลายเถื่อนตัวหนึ่งสูงประมาณห้าศอกเศษ มีงางอนขึ้นข้างขวาบังคลองงามยิ่งนัก วิ่งผ่านหน้าช้างพระที่นั่งมา สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ขับพระคชาธารพลายสิงหนารายน์ ไล่ช้างเถื่อนทันเข้าแล้ว ทรงคล้องด้วยบาศซัดลงทีเดียว ต้องเท้าช้างเถื่อน ๆ ก็วิ่งไปด้วยกำลังมิทันจะเบาะผลักกองเชือกตกลง ควานแก้ท้ายช้างพระที่นั่งมิทันยกต้นเชือก กระทบต้องพระเพลาเข้า ขุนข้างหมื่นช้างขี่ช้างชนะงาเข้าช่วยจับช้างนั้นไว้ได้

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระประชวร แล้วเสด็จกลับเข้ายังกรุงหงษาวดี ทรงพระประชวรหนักลง อยู่เจ็ดวันพระโรคกำเริบหนักขึ้นมา แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็มิคลาย พระองค์เข้าพระทัยว่าจะไม่รอดแล้ว จึงสั่งให้หาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเข้ามาประชุมพร้อมยังที่เฝ้า จึงตรัสว่าเราเจ็บครั้งนี้ให้ร้อนในทรวงอกแลหัวใจนัก ราวกับต้องพิษเพลิงเห็นจะถึงกาลวันนี้เปนมั่นคง เราจะลาท่านทั้งปวงก่อนแล้ว แต่เปนห่วงอยู่กับด้วยบุตรทั้งสองพี่น้อง บัดนี้พระยาเกียรบุตรชายผู้ใหญ่เราแลราชามนูก็หาอยู่ไม่ จะให้ไปตามมาก็มิทัน ถ้าเราหาบุญไม่แล้ว ท่านทั้งปวงจงคิดถึงเราที่ได้ปลูกเลี้ยงมาแต่ก่อน จงช่วยประคับประคองลูกชายผู้ใหญ่เรา ให้ได้ครองราชสมบัติสืบวงศ์ไปเถิด แล้วเราสั่งไว้ถึงราชามนูด้วย ให้ช่วยเอาใจใส่ลูกเรา แลคิดถึงเราให้จงหนัก แล้วตรัสสอนพระยารามราชบุตรผู้น้อยว่า บิดาสิ้นบุญแล้วจงเคารพรักพี่นับถือเหมือนบิดา จง ประนอมพร้อมใจอย่าผิดแผกกัน ถ้ามีศึกสงครามมาพี่น้องทั้งสองจะได้ช่วยกันต้านทานรักษาบ้านเมือง แล้วกลับตรัสสั่งขุนนางทั้งปวงอีกว่า การสิ่งใดซึ่งเรากระทำค้างไว้ยังไม่สำเร็จนั้น จงช่วยกล่าวเตือนบุตรเราให้กระทำสืบต่อไปเถิด อนึ่งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ซึ่งทำผิดในราชการแต่ก่อน เราได้ให้ลงราชทัณฑ์เฆี่ยนตี หรือด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบช้านั้น เราขออภัยอย่าถือผิดจงอดโทษให้แก่เราเถิด พอตรัสสั่งเสร็จแล้ว พระโรคกำเริบแรงขึ้นมาก็เสด็จสวรรคต

แต่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชยังเป็นพระยาน้อยราชบุตรอยู่จนได้เสวยราชสมบัติพระชนมายุได้ยี่สิบปี ปราบรามัญประเทศเมืองขึ้นอยู่สามปี ทำสงครามด้วยพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องอยู่ได้หกปี กระทำสัตย์กันแล้ว ว่างศึกอยู่ยี่สิบสองปี กลับทำสงครามด้วยมังรายกะยอฉะวาอีกสามปี แต่ล่วงย่างเข้าเรือนปีที่สี่ กับพระเจ้ามณเฑียรทองอีกสองปี ขาดศึกกันลงสามปี รวมเปนพระชนมายุได้ห้าสิบเก้าปี ก็พอเสด็จสวรรคต จุลศักราชได้ ๗๙๐ ปี

ฝ่ายเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อยทั้งปวง ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชสวรรคตแล้ว ก็มีความเศร้าโศกคิดถึงพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงโปรดปลูกเลี้ยงมาแต่หลังนั้นเปนอันมาก จึงชวนกันโสรจสรงพระศพ อัญเชิญลงสู่พระโกษฐทองประดับเนาวรัตน์ แต่งเครื่องสการพระศพ เปนอันงามตามอย่างธรรมเนียมแล้ว ขุนนางทั้งปวงล้วนปกติพร้อมใจหามีใครแก่งแย่งไม่ ปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่า จะอัญเชิญพระราชบุตรผู้ใหญ่ขึ้นครองราชสมบัติ เสนาบดีผู้ใหญ่จึงให้จัดขบวนพยุหทัพช้าง ประกอบด้วยพลทหารเปนอันมาก สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง ให้ขุนนางมีชื่อหลายนาย ยกออกไปเชิญเสด็จพระยาเกียรราชบุตร ซึ่งไปครองเมืองมองมละอยู่นั้นกลับเข้ามายังเมืองหลวง

ขุนนางทั้งปวงยกไปถึงเมืองมองมละแล้ว ก็ชวนกันเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระยาเกียรราชบุตร กราบทูลโดยมูลเหตุซึ่งสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ตรัสมอบราชสมบัติแก่พระราชบุตร แลเสนาบดีผู้ใหญ่ให้มาเชิญเสด็จนั้นทุกประการ แล้วแจ้งความแก่ราชามะนูตามพระราชโองการตรัสสั่งไว้ด้วย

พระยาเกียรราชบุตรได้ทราบว่า สมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตแล้วก็สลดพระทัยยิ่งนัก ราชามะนูก็เศร้าโศกคิดถึงพระเดชพระคุณเปนอันมาก พระยาเกียรราชบุตรจึงตรัสปรึกษาด้วยราชามะนูว่า ถ้ากระนั้นเราจำจะรีบไป จะได้ถวายบังคมคำนับพระศพ ราชามะนูก็เห็นชอบด้วย พระยาเกียรก็แต่งให้ขุนนางกรมการซึ่งต่างพระทัยอยู่รักษาเมืองแล้ว ก็พาราชามะนูกับขุนนางข้าหลวงเดิมแลพลทหารที่สนิททั้งปวงมา เสด็จขึ้นทรงพระคชาธาร พร้อมด้วยรี้พลทหารเปนอันมาก ขุนนางทั้งปวงซึ่งไปรับนั้นก็จัดพลคชพยุหตั้งขบวนแห่แหน เชิญเสด็จพระยาเกียรราชบุตรมายังกรุงหงษาวดี

เสนาบดีข้าราชการซึ่งอยู่ในเมืองนั้น ก็แต่งกายรับตามอย่างธรรมเนียม เชิญพระยาเกียรราชบุตรเสด็จเข้าประทับณพระที่นั่งสัณฐาคาร พระยาเกียรราชบุตรก็ตรัสปราศรัยถามถึงความเมืองด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยพอควรแล้ว จึงตรัสชวนราชามะนูเสด็จขึ้นยังพระราชมณเฑียรไหว้พระบรมศพ ส่วนพนักงานก็เชิญพานเครื่องสการเข้าถวาย พระยาเกียรราชบุตรรับเครื่องสการ กราบถวายบังคมคำนับพระศพสมเด็จพระราชบิดา ทรงพระกรรแสงรํ่ารัก ตรัสรำพรรณขอขมาโทษต่าง ๆ เสร็จแล้วจงสั่งให้หาราชปโรหิตเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยมาพร้อมกันด้วย ราชามะนูก็ปรึกษาโดยราชกิจการแผ่นดินพร้อมกันว่า จะอัญเชิญพระยาเกียรราชบุตร ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดา โดยโบราณราชประเพณี แล้วราชามะนูก็ถวายพระฤกษ์ ซึ่งจะตั้งการพระราชพิธีราชาภิเศกนั้น จึงให้ตั้งพระมหามณฑป แล้วไปด้วยไม้มะเดื่อ ทำที่พระสหัสสะธาราเสร็จแล้ว ครั้นได้พิไชยฤกษ์อันเปนศุภมงคล ก็อัญเชิญพระยาเกียรราชบุตรเสด็จขึ้น สรงพระสหัสสะธาราในมหามณฑปเสร็จแล้ว ก็เสด็จขึ้นทรงนั่งบนพระที่นั่งอุทุมพรภัทรบิฐ เหนือหนังพยัคฆ์อัจฉาอาสน์แลปูลาศสีหอันจารึกด้วยชาดหรคุณ ในแผ่นสุวรรณใต้เสวตรฉัตรแล้ว พราหมณ์พฤฒามาตย์ก็ให้เป่าสังข์ทักษิณาวัฎ ลั่นฆ้องชัยแลกลองอินทเภรี แตรสังข์ดุริยางค์ดนตรีขึ้นพร้อมกัน

ฝ่ายพระสงฆ์ราชาคณะก็เจริญพระปริตถวายไชยมงคล ชีพ่อพราหมณ์ก็ถวายอาเศียรภาษ แลนํ้ากลดน้ำสังข์ตามไสยเวท เจ้าพนักงานก็ถวายเครื่องเบ็ญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า แลอัษฎาวุธวิเศษแล้ว จึงถวายพระนามพระยาเกียรราชบุตร ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราช

ดำรงราชสมบัติในกรุงหงษาวดีสืบไป ศักราชเจ็ดร้อยเก้าสิบปี พระเจ้า สุโทธรรมราชาธิราชได้ครองราชสมบัติ จึงตรัสสั่งให้เสนาบดีแต่งการซึ่งจะถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชบิดาบนพระราชมณเฑียร มิได้ให้ทำพระเมรุมาศเหมือนอย่างแต่ก่อน เสนาบดีรับสั่งแล้วก็ออกมาเร่งให้จัดการกระทำสุวรรณเบญจาห้าชั้น บนพระราชมณฑิราไลยประดับด้วยเนาวรัตน์เปนอันงาม แลสรรพสิ่งของเครื่องบูชาถวายพระบรมศพเปนมโหฬารยิ่งนัก

ครั้นกระทำการทั้งปวงเสร็จแล้ว พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชก็ให้จัด ขบวนแห่แหน เชิญพระศพขึ้นยังสุวรรณเบญจาที่ตั้ง แล้วให้มีการมโหรสพ สมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน มีพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรม เปรียญ อันดับสัตตะปกรณ์ถวายไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์เปนมหันตาติเรก ทรงจำแนกพระราชทรัพย์ แลให้โปรยผลกัลปพฤกษ์แก่ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก ครั้นถึงคำรบเจ็ดวันแล้ว พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชก็พร้อมด้วย พระญาติวงศาเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน กับทั้งพระสงฆ์ดำรงถานานุศักดิ์เปนอันมาก เสด็จไปถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชบิดาเสร็จแล้ว ก็ให้แจงพระรูปเก็บพระอัฐิใส่ในพระโกษฐ์ทองประดับพลอยล้วนแต่เนาวรัตน์ ให้ก่อพระเจดีย์สูงสิบวา บรรจุพระอัฐิไว้ริมพระมุเตาใหญ่ แล้วให้เชิญพระมหามงกุฎมาทำเปนเสวตรฉัตรกั้นยอดพระเจดีย์ ฉลองพระบาทประดับพลอยนั้น ให้เชิญไปบูชาไว้ณพระธาตุปรางค์ ฉลองพระองค์ประดับพลอยนั้น ให้เชิญไปบูชาไว้ณพระมุเตา เสวตรฉัตรนั้นให้นำไปบูชาพระธาตุณเมืองตะเกิง พานพระศรีประดับพลอยนั้น ให้เชิญไปบูชาพระธาตุตะเกิงเมืองเสี่ยง พระภูษาทรงนั้นให้เชิญไปบูชาไว้ ณ พระขมิ พระสุพรรณศรีนั้น ให้เชิญไปบูชาพระซรอยกระบาง พระเขนยนั้นให้เชิญไปบูชาพระปะตาน ครั้นจัดการเสร็จแล้วก็ให้สมโภชพระเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระอัฐิอีกเจ็ดวันเจ็ดคืน กรุงหงษาวดีครั้งนั้นก็เปนสุข ขาดศึกหาอันตรายมิได้

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องครั้นแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชสวรรคตแล้ว ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไรระลึกถึงการสงคราม ซึ่งทำด้วยพระเจ้าราชาธิราชต่างๆ พระอัครมเหษีเห็นดังนั้น จึงทูลถามว่าพระองค์ทรงกรรแสงด้วยเหตุใด พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ตรัสบอกว่า เราแจ้งว่าพระเจ้าราชาธิราชซึ่งเปนข้าศึกได้ทำสงครามกันมานั้น บัดนี้พระองค์ทิวงคตเสียแล้วเราจึงเสียดายร้องไห้คิดถึงฉะนี้ พระอัครมเหษีจึงทูลว่า พระเจ้าราชาธิราชเปนข้าศึกกับพระองค์ คู่เคี่ยวทำสงครามกันมามิได้ขาด บัดนี้สวรรคตเสียแล้ว ชอบแต่พระองค์จะดีพระทัยอีก เหตุไฉนจึงทรงพระกรรแสงฉะนี้เล่า พระเจ้ามณเฑียรทองจึงตรัสว่า ธรรมดาชาติกษัตริย์จะมีเกียรติยศแลการเล่นสบาย ก็เพราะได้ทำสงครามชมเล่นเปนขวัญตา ด้วยได้เห็นทแกล้วทหารฟ้อนรำอาวุธต่างๆ สู้กันในสงคราม ได้ตรึกตรองแก้ไขกันโดยขบวนกลศึกลึกตื้น ตามอุบายปัญญาซึ่งจะเอาชนะ จึงได้มีเดชานุภาพแจ้งไปแก่กษัตริย์ ในนาๆนุประเทศทั้งปวงเปนอันมาก พระเชษฐาธิราชก็มิได้อยู่รักษาอาณาจักร์ ทิ้งเสียหนีเราไปดังนี้ คิดดูก็มิเที่ยงเปนธรรมสังเวชในอารมณ์ยิ่ง ด้วยขาดเกียรติยศจากกันไป ถึงตัวเราก็มีชนมายุสังขารชราแล้ว เห็นจะมิพ้นอำนาจพระยามัจจุราชเหมือนกัน พระเจ้ามณเฑียรทองทรงพระดำริห์เห็นธรรมสังเวชดังนั้นก็อ่อนพระทัยลง จึงมิได้ดำริห์สงคราม ซึ่งจะยกลงมาทำแก่กรุงหงษาวดีสืบไปอีก

ฝ่ายพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชได้ดำรงราชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้พระยารามผู้เปนอนุชาธิราช เสด็จไปอยู่ณเมืองเมาะตะมะ พระราชทานเสวตรฉัตรแลเครื่องราชูปโภคทั้งปวงเปนอันมาก แล้วโปรดให้ราชามะนูเลื่อนขึ้นเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ พระราชทานนามแลสัญญาบัตร์ว่า สมิงมหาทัชชะ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก แต่สมิงมหาทัชชะบำรุงกษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติได้ถึงสองพระองค์ ครั้นพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชเสวยราชสมบัติได้ปีหนึ่ง สมิงมหาทัชชะก็ป่วยลง พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชก็ให้แพทย์โอสถสัมพันธแพทย์ไปพยาบาลโรคนั้นก็ไม่คลาย สมิงมหาทัชชะรู้ตัวว่าจะไม่รอดแล้ว ก็ให้โอวาทความสั่งสอนแก่บุตรภรรยามีประการต่างๆ อยู่มินานก็ถึงอนิจกรรม พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชได้แจ้งแล้ว ก็ทรงพระกรรแสงรํ่ารักพรรณนาถึงความหลัง ซึ่งบำรุงสมเด็จพระราชบิดาแลพระองค์มาต่างๆ แล้วจึงตรัสสั่งให้ทำเมรุแต่งการซึ่งจะ ปลงศพสมิงมหาทัชชะ โดยถานานุศักดิ์เสร็จแล้วก็ให้ชักศพไปสู่เมรุ ให้มีงานมหรสพเจ็ดวันเจ็ดคืน ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะเปนอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จไปพระราชทานเพลิงเสร็จแล้ว จึงให้เก็บอัฐิใส่ในผะอบทองประดับพลอยไปบันจุไว้ณพระมุเตา

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จทิวงคตแล้วได้สองปี ก็ทรงพระประชวรลง แพทย์ทั้งปวงพยาบาลพระโรคก็มิคลาย อยู่มาได้ประมาณสิบห้าวันก็สวรรคต ลำดับนั้นเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตทั้งปวงปรึกษาพร้อมกัน ก็อัญเชิญมังศรีสูพระราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติ แล้วแต่งการราชาภิเศกถวายพระนามว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีสืบขัติยราชวงศ์สืบไป ครั้งนั้นกรุงรัตนบุระอังวะก็อยู่เย็นเปนสุขหาภัยอันตรายมิได้

ฝ่ายสมิงพระรามซึ่งรักษาเมืองวานอยู่นั้น ขี่ม้ามาเฝ้าพระเจ้าสุโทธรรมราชาชิราชณกรุงหงษาวดีเนืองๆ เมื่อมานั้นแต่เวลาเช้ากลับไปถึงเมืองเวลาเย็นเปนอัตราด้วยกำลังม้าอันรวดเร็ว อยู่มาวันหนึ่งเกิดโจรที่บ้านมะอิภาย ชาวบ้านทั้งปวงช่วยกันจับโจรได้แล้ว ผ่าอกเสียบไว้ที่นอกบ้านใกล้ทางเดินในวัด หวังจะให้คนทั้งปวงเห็นเปนอย่าง สมิงพระรามมาเฝ้าแล้วกลับไปเมืองเวลาจวนเย็น ไปถึงตำบลที่เสียบโจรไว้นั้น ปีศาจโจรร้ายกำเริบจึงหลอนเรึยกว่า เจ้าสมิงพระรามเอยขอขี่ม้าด้วย สมิงพระรามคิดขัดใจว่า ใครหนอมาเรียกชื่อเราดังนี้ จึงขับม้าเข้าไปดูเห็นศพโจรซึ่งเสียบไว้นั้น รู้ว่าปีศาจหลอกก็โกรธจึงร้องตวาดว่า เขาฆ่าผ่าอกมึงตายแล้วยังไม่ไปเกิดหรือจึงหลอกกูได้ กูจะช่วยตัดหัวมึงเสียให้พ้นทุกข์ สมิงพระรามก็ชักดาบออกตัดศีร์ษะศพโจรได้แล้วก็ผูกข้างม้าควบไป ศีร์ษะนั้นก็แกว่งไปแกว่งมากระทบน่องเข้าก็กัดเอาสมิงพระราม ๆ จะทำประการใดๆ ผีนั้นก็มิวาง สมิงพระรามโกรธนัก จึงเอาสันดาบต่อยศีร์ษะผีแตกตกลง แต่ฟันผีสองซี่สามซี่หลุดติดน่องอยู่จะดึงถอนเท่าใดก็มิออก สมิงพระรามไปถึงเมืองวานแล้ว ก็ให้หมอปีศาจหมอโอสถมาแก้ไขรักษาก็มิหาย อยู่ได้สามวันก็ถึงอนิจกรรม พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชได้ทราบว่า สมิงพระรามถึงแก่กรรมแล้ว ก็ทรงพระโทมนัสยิ่งนัก จึงตรัสว่าเราได้พระเนตรพระพาหาเปนทรัพย์มรดกของสมเด็จพระราชบิดาไว้ ก็พากันหนีเราล่วงๆ ไปเกือบสิ้นแล้ว ครั้นคลายพระทุกข์ลงจึงตรัสสั่งให้จัดของไทยทาน แลเครื่องประดับศพอย่างดีต่างๆ ให้ขุนนางคุมไปณเมืองวาน

ขณะนั้นพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราช ทรงประชวรพระโรคสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสด็จไปมิได้ โปรดพระราชทานพระเพลิงไป ให้ปลงศพสมิงพระรามตามถานานุศักดิ์ แล้วให้เก็บเอาอัฏฐิใส่ในผะอบทองประดับพลอยก่อเจดีย์บรรจุไว้ณเมืองวาน

ครั้นอยู่มาพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราช เสวยราชสมบัติได้ห้าปี พระ อนุชาธิราชซึ่งเสด็จไปอยู่เมืองเมาะตะมะนั้น ทรงประชวรได้ยี่สิบวันก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชได้แจ้งแล้วก็ทรงพระกรรแสงรํ่ารักต่างๆ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปณเมืองเมาะตะมะ ตรัสสั่งให้ทำพระเมรุแลแต่งการประดับทั้งปวงให้วิจิตร์มหฬาร เสมอพระบรมศพสมเด็จพระราชบิดา เสร็จแล้วก็ให้มีการมหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะเปนอันมาก ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ก็ให้เก็บพระอัฏฐิใส่ในพระโกษฐ์ทองประดับด้วยมหาเนาวรัตน์ก่อพระเจดีย์สูงสิบวา บรรจุไว้ณเมืองเมาะตะมะ แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระอัฏฐิธาตุอีกเจ็ดวันเจ็ดคืน ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะ แลทิ้งต้นกัลปพฤกษ์ให้ทานแก่ยาจกวรรณิพกทั้งปวงเปนอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมายังกรุงหงษาวดี พระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราชเสวยราชสมบัติได้สิบสามปีก็สวรรคต จุลศักราช ๘๐๓ ปี พระราชบุตรพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราช ได้ครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพะโร เสวยราชสมบัติได้ยี่สิบห้าปีก็สวรรคต

ลุศักราช ๘๒๘ ปี ลำดับนั้นพระราชบุตรพระเจ้าพะโรได้ดำรงราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าการัตตะฎี ลางทีรามัญทั้งปวงเรียกพระนามพระเจ้าสการัฐ ๆ เสวยราชสมบัติได้สิบห้าปีก็สวรรคต ศักราช ๘๔๓ ปี พระราชบุตรพระเจ้าสการัฐได้ครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าเกียรติ์ พระนามต้องกันกับพระนามเดิมของพระเจ้าสุโทธรรมราชาธิราช อันเปนพระบรมมหาอัยกาธิบดินทร์ พระเจ้าเกียรติ์เสวยราชสมบัติได้สิบปีก็สวรรคต

ศักราช ๘๕๓ ปี ลำดับนั้นพระราชบุตรพระเจ้าเกียรติ์ทรงพระนามว่า พระเจ้าล้าว ดำรงราชสมบัติได้ยี่สิบปีก็สวรรคต ศักราช ๘๗๓ ปี ลำดับนั้นพระราชบุตรพระเจ้าล้าว ทรงพระนามว่าพระเจ้ามังจิโล ดำรงราชสมบัติได้สิบเก้าปีก็สวรรคต ลุศักราช ๘๙๒ ปี พระเจ้ามังจิโลไม่มีพระราชบุตรมีแต่พระราชธิดา ทรงพระนามว่าตะละเจ้าท้าว ครั้นพระราชบิตาสวรรคตแล้ว เสนาบดีจึงอัญเชิญตะละเจ้าท้าวขึ้นครองราชสมบัติในกรุงหงษาวดี ถวายพระนามว่าตะละเจ้าท้าวขัติยราชินี ลางทีรามัญทั้งปวงก็เรียกพระนามว่า ตะละนางพระยาท้าว ลำดับกษัตริย์ซึ่งได้เสวยราชสมบัติสืบมา ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจนถึงตะละเจ้าท้าวนี้แปดพระองค์

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังศรี เสวยราชสมบัติในกรุงอังวะได้ยี่สิบห้าปีก็สวรรคต ลุศักราช ๘๑๗ ปี ลำดับนั้นเสนาบดีทั้งปวงจึงอัญเชิญพระราชนัดดาพระเจ้าฝรั่งมังศรี ซึ่งเปนบุตรสมิงพระรามนั้น ขึ้นครองราชสมบัติถวายพระนามว่าพระเจ้ารามราชวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์นี้มีพระกฤษฎาภินิหารบุญญาภิสมภารเปนอันมาก ขณะเมื่อได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้สามสิบพรรษา ดำรงราชสมบัติได้สี่สิบหกปี พระชนมายุเจ็ดสิบหกปีก็สวรรคต ศักราช ๘๖๓ พระราชบุตรพระเจ้ารามวงศ์ทรงพระนามว่าแมงศรีจุเร ได้เสวยราชสมบัติยี่สิบสามปีก็สวรรคต ศักราช ๘๘๖ ปี ลำดับนั้นเสนาบดีจึงอัญเชิญพระราชบุตรพระเจ้าแมงศรีจุเรขึ้นเสวยราชสมบัติ ถวายพระนามว่าพระเจ้าแมงเรฉะวากี ลำดับกษัตริย์ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงอังวะ แต่พระเจ้าฝรั่งมังศรีต่อมา จนถึงพระเจ้ามังเรฉะวากีเปนสี่พระองค์ จึงพร้อมกันกับตะละเจ้าท้าวนางกษัตริย์

ฝ่ายตะละเจ้าท้าวนางกษัตริย์ ซึ่งครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงหงษาวดีนั้น เคยเสด็จไปนมัสการพระเกษธาตุณเมืองตะเกิงทุกปีมิได้ขาด เมื่อแรกได้ราชสมบัติภายในห้าขวบนั้น เสด็จเปนพยุหยาตราใหญ่พร้อมไปด้วยพลพยุหเสนา ทัพหัวเมืองทั้งปวงเปนอันมาก นอกกว่านั้นเสด็จเปนปรกติหาได้ตั้งขบวนพยุหไม่

ขณะนั้นมีสามเณรองค์หนึ่งบวชอยู่วัดศรีปรางค์ อายุได้ยี่สิบปี มีสติปัญญาสามารถขึ้นไปเรียนหนังสือณเมืองพุกาม ห้าขวบก็ได้จบพระไตรปิฎกขึ้นใจ แล้วกลับลงมาอยู่ที่วัดศรีปรางค์ณกรุงหงษาวดี เที่ยวเทสนาใท้คนทั้งปวงฟังไพเราะยิ่งนัก ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็ชวนกันสรรเสริญชมสติปัญญาสามเณรว่า รู้พระไตรปิฎกลึกซึ้งแลเสียงเพราะ สำแดงธรรมน่าฟังด้วย กิตติศัพท์ลือเข้าไปในพระราชวัง พระนางเจ้าแผ่นดินได้ทราบดังนั้น ก็ทรงพระประสาทโสมนัส จึงมีพระเสาวนีตรัสสั่งให้นิมนต์สามเณรนั้น เข้ามาถวายพระธรรมเทสนาเนืองๆ มิได้ขาด พระนางเจ้าแผ่นดินกิทรงพระราชศรัทธามีพระทัยเสน่หาในสามเณรนั้นเปรียบประดุจพระราชบุตร์เกิดแต่พระอุทร แล้วปวารณาพระองค์เปนราชมาตุปัฎฐายิกา ครั้นสามเณรมีชนมายุได้ยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว พระนางเจ้าแผ่นดินก็ถวายเครื่องสมณบริกขาร ให้จัดการอุปสมบทสามเณรนั้นเปนพระภิกษุ พระ อุปัชฌายให้ฉายาชื่อว่าพระมหาปิฎกธร ปรากฎในพระพุทสาสนา

อยู่มาวันหนึ่งพระมหาปิฎกธร ลงไปสรงน้ำผลัดผ้าอันตะระวาสกกองไว้ ขณะนั้นบังเกิดนิมิตเปนลมพายุใหญ่พัดหอบเอาผ้าอันตะระวาสกซึ่งกองไว้ ปลิวไปบนอากาศตกลงคลุมยอดปรางค์ปราสาท ซึ่งพระนางเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ ผ้านุ่งห่มของกิกษุสามเณรนั้น เรึยกโดยมคธภาษาว่า ผ้าอันตะระวาสก คำไทยว่าผ้าสบง พระมหาปิฎกธรเห็นดังนั้นแล้วก็รำพึงว่า เหตุนี้เปนศุภนิมิตอัศจรรย์ นานไปภายหน้าเห็นเราจะมีวาสนา คิดแล้วก็นิ่งไว้

อยู่มาพระเจ้าแมงเรฉะวากี ผู้ครองกรุงรัตนบุระอังวะได้ทราบว่าตะละเจ้าท้าวพระนางเจ้าแผ่นดินหงษาวดีนั้น เสด็จมานมัสการพระเกษธาตุณเมืองตะเกิงเปนปรกติ หาเปนพยุหบาทตราใหญ่มาไม่ จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า บัดนี้เมืองหงษาวดีถอยกำลังแล้วพระเจ้าแผ่นดินเปนสัตรี ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งจะมีปัญญาแลทแกล้วทหารมีฝีมือนั้นหามิได้ พระนางเจ้าแผ่นดินเล่า จะเสด็จไปณที่ไกลพระนคร ก็มิได้เสด็จโดยขบวนพยุหบาทตราประมาทพระองค์อยู่ เราคิดจะแต่งกองทัพลงไปซุ่มคอยจับนางกษัตริย์มาเปนมเหษีเสียให้ได้ ก็เห็นเราจะได้เมืองหงษาวดีโดยง่าย มิต้องรบพุ่งให้ลำบากเลย ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย พระเจ้าแมงเรฉะวากีจึงให้จัดทัพม้าสองทัพ เลือกล้วนทแกล้วทหารมีฝีมือเข้มแข็ง ให้มังนันทะสูเปนแม่ทัพยกลงมา ตรัสสั่งให้ซุ่มทัพ คอยอยู่จับนางกษัตริย์ให้ได้ ครั้นได้ศุภฤกษ์มังนันทะสูกับนายทัพนายกองทั้งปวงก็ถวายบังคมลา ยกทัพม้าลงมา ครั้นใกล้เมืองตะเกิงก็แยกย้ายกันออกซุ่มทัพอยู่ชายป่านอกเมือง แล้วแต่งทหารกองคอยเหตุไว้

ฝ่ายตะละนางพระยาท้าวมิทันรู้พระองค์ ก็เสด็จมาหวังจะนมัสการพระเกษธาตุ ตามเคยทุกปีนั้น ครั้นเสด็จมาใกล้เมืองตะเกิงตรงกองทัพพม่าซุ่มอยู่นั้น ทหารกองคอยเหตุเห็นแล้วก็รีบไปแจ้งแก่มังนันทะสู ๆ แจ้งก็เร่งยกทัพม้าออกมาสกัดตีขบวนแห่ตะละนางพระยาท้าวที่ยกมานั้น ก็ได้ต้านทานสู้รบกันเปนสามารถ พม่าฆ่ามอญล้มตายเปนอันมาก เพราะเหตุหานายทัพนายกองผู้ใหญ่ที่เคยชำนาญการสงครามมิได้จึงแตกแก่พม่า มังนันทะสูก็จับได้ช้างพระที่นั่ง กับพระองค์นางกษัตริย์ พาไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงพระราชทานรางวัลแก่มังนันทะสู แลนายทัพนายกองทั้งปวงเปนอันมาก แล้วก็ตั้งตะละเจ้าท้าวไว้เปนพระอัครมเหษีเอก โปรดขนานพระนามว่าแสจาโป พระเจ้าอังวะมีพระทัย เสน่หายิ่งนัก

ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงหงษาวดี รู้ว่าพระเจ้าอังวะแต่งกองทัพให้ลอบลงมาตี ได้พระนางเจ้าแผ่นดินไปแล้วดังนั้น ครั้นจะแต่งกองทัพไปติดตามเล่าก็ไม่ทันท่วงที จึงปรึกษากันโดยราชการแผ่นดิน พนักงานผู้ใดก็ให้บัญชาว่ากล่าวกันตามพนักงานปกครองแผ่นดินไว้ ราษฎรทั้งปวงก็อยู่เย็นเปนสุขหาอันตรายมิได้

เมื่อตะละนางพระยาท้าวได้ครองราชสมบัตินั้น มีพระชนมายุได้ยี่สิบปี เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงหงษาวดีได้แปดปี จึงได้ตกไปเปนพระอัครมเหษีพระเจ้าแมงเรฉะวากี อยู่ณกรุงอังวะนั้นยี่สิบสองปีเปนพระชนมายุ ๕๐ ปี ครั้นอยู่มาพระเจ้าอังวะคลายความเสน่หาลง แสจาโปพระอัครมเหษีก็มีพระทัยขัดเคืองนัก ทรงพระดำริห์การซึ่งจะหนีกลับมายังกรุงหงษาวดีเนืองๆ มิได้ขาด แต่ยังหาผู้จะช่วยชักนำมิได้

ฝ่ายพระมหาปิฎกธรภิกษุ ตั้งแต่ได้รู้ว่าพระเจ้าอังวะแต่งกองทัพให้มาจับพระนางเจ้าแผ่นดินผู้มีพระคุณแก่ตัวไปแล้ว ก็ไม่สบายใจเลย มีความวิตกอยู่ทุกวันทุกเวลา คิดจะติดตามไปให้พบพระนางเจ้าแผ่นดินจงได้ จึงตามขึ้นไปด้วยกับนิสสิตคฤหัสถ์สี่คนอันเปนที่ร่วมคิดไว้ใจ ครั้นถึงกรุงอังวะก็พากันเข้าไปอาศัยอยู่ณอาวาสแห่งหนึ่งเปนพระอารามหลวง เที่ยวเทสนาโปรดคนทั้งปวงไพเราะยิ่งนัก าวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็มีความเลื่อมใสศรัทธาชวนกันนำลาภสการมาถวายเปนอันมาก กิตติศัพท์แจ้งเข้าไปถึงพระเจ้าอังวะ ๆ ก็มีพระทัยยินดี จึงมีรับสั่งให้ขุนนางสังฆการีย์ มานิมนต์เข้าไปแสดงธรรมเทสนาในพระราชวัง พระมหาปิฎกธรก็เข้าไปถวายพระธรรมเทสนา พระเจ้าอังวะได้ทรงสดับพระสัทธรรมอันไพเราะ ก็ มีพระประสาทโสมนัสยิ่งนัก มีพระประสงค์จะทรงฟังพระสัทธรรมในคำภีร์ใดผูกใด นิทานใดบทใดนั้น พระมหาปิฎกธรก็สำแดงถวายได้สิ้นมิได้ขัดข้องเลย ด้วยมีสติปัญญาหลักแหลมลึกซึ้งชำนาญในพระไตรปิฎก พระเจ้าอังวะก็ทรงโปรดชอบพระทัย จึงให้อาราธนาพระมหาปิฎกธร มาถวายพระธรรมเทสนาในพระราชวังเปนนิจมิได้ขาด แสจาโปพระอัครมเหษีได้แจ้งแล้วก็ดีพระทัยทรงพระดำริห์ว่า พระมหาปิฎกธรบุตรเราเห็นจะขึ้นมาติดตามก็พอสมคะเนที่เราคิดไว้ ว่าจะหนีกลับไปเมืองหงษาวดี พระนางจึงแสร้งทำกลอุบายประชวรพระโรค เสด็จอยู่แต่ในห้องพระตำหนักมิให้ผู้อื่นเห็น มีแต่หญิงสาวใช้ที่สนิทร่วมพระทัย จึงสั่งให้คนกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ได้ทรงทราบแล้ว ก็โปรดให้แพทย์โอสถทั้งปวงมารักษา พระโรคนั้นก็มิคลาย พระนางแสจาโปจึงให้คนกราบทูลอีกว่า โรคหนักเสวยอาหารมิได้ จะขอให้นิมนต์พระมหาปิฎกธรเข้ามาแสดงธรรมเทสนาให้ฟังในตำหนัก แต่พอจะได้หน่วงจิตต์ลงสู่กระแสพระสัทธรรม

พระเจ้าอังวะได้แจ้งดังนั้น ก็มิได้มีพระทัยสงสัย หมายว่าพระอัครมเหษีทรงพระประชวรหนักจริง จึงตรัสว่าโรคนางป่วยหนักอยู่ ความตายจะมาถึงเมื่อใดก็มิได้รู้ ซึ่งนางจะใคร่ฟังพระธรรมเทสนา อาศัยคุณพระรัตนะทั้งสามเปนที่พึ่งนั้นก็ชอบแล้ว เพราะจะได้กันภัยอันตรายแลเจริญอายุด้วย จึงตรัสสั่งให้นิมนต์พระมหาปิฎกธรภิกษุเข้ามาแสดงธรรมให้พระอัครมเหษีฟัง

พระมหาปิฎกธรก็เข้ามาถวายพระธรรมเทสนา ณตำหนักพระนางแสจาโป ๆ ได้ทรงฟังแล้วก็มีพระทัยยินดี ครั้นจบพระธรรมเทสนาแล้ว พระนางแสจาโปจึงขับหญิงทั้งปวงให้ออกไปห่างแล้ว ก็ตรัสสนทนาความด้วยพระมหาปิฎกธรเปนภาษารามัญ หวังมิให้คนทั้งปวงสงสัย ว่าโยมคิดจะใคร่หนีกลับไปเมืองหงษาวดี พระคุณเจ้ายังจะช่วยคิดอ่านพาโยมกลับไปให้ถึงเมืองหงษาวดี จะได้หรือประการใด พระมหาปิฎกธรก็รับว่า อาตมาภาพจะขอรับอาสาพาไปให้ถึงจงได้ ตะละนางพระยาท้าวได้ทรงฟังก็มีพระทัยยินดีนัก จึงให้สัตย์ปฏิญาณแก่กันทั้งสองฝ่าย ว่าตั้งแต่วันนี้ไปจะเปนมารดาแลบุตรต่อกันจนสิ้นชีวิต ครั้นให้ปฏิญาณต่อกันแล้ว พระมหาปิฎกธรภิกษุก็ถวายพระพรลากลับออกมาที่อยู่จึงดำริห์ว่านางกษัตริย์นี้ พระเจ้าอังวะตีทัพได้มาแล้ว แลตั้งให้เปนพระอัครมเหษีก็เรียกว่าธชาหตา ต้องในสิกขาบทว่าเปนทาสรบศึกได้ ครั้นจะลักพาไปบัดนี้ ก็จะเปนครุกรรมใหญ่หลวงขาดจากสิกขาบทหาควรไม่ ครั้นจะสึกออกเปนคฤหัสถ์เล่า จะเข้าไปในพระราชวังนั้นก็ยากเห็นจะคิดการมิตลอด จำจะลาเพศสึกเปนคฤหัสถ์เสียก่อน แล้วจึงจะบวชเปนสามเณร ถึงจะนุ่งสบงจีวรถือเพศอย่างภิกษุก็หาเปนลักเพศสงฆ์ไม่ เพราะเรามิได้ปฏิญาณตนเปนภิกษุ ตั้งจิตต์แต่เพียงจะให้คุ้มภัยอันตรายครั้งหนึ่ง อันลักษณะคนลักเพศสงฆ์นั้น ต่อทำเพศตั้งตัวว่าเปนภิกษุ แล้วเข้าอยู่ร่วมสังวาสด้วยพระสงฆ์หวังจะให้คนทั้งปวงนับถือ แลได้ลาภสการของทายก จึงจะเปนโทษลักเพศสงฆ์

พระมหาปิฎกธรดำริห์แล้ว จึงประจุจากภิกษุ แล้วก็บวชเปนสามเณร จึงตรึกตรองต่อไปว่า ซึ่งเราจะพานางกษัตริย์หนีไปนั้นจะไปทางบกเห็นจะมิสะดวก จำจะไปทางน้ำจึงจะดี จะได้ป้องกันหลบหลีกข้าศึกแลถึงโดยเร็วด้วย ตรึกตรองแล้วจึงสั่งให้นิสสิตคฤหัสถ์สี่คน ให้เอาไม้ไผ่มาสานเข้าเปนเรือลำหนึ่งแต่พอจุได้หกคน ให้ตอกหมันชันยาแน่นหนาดีแล้ว ก็บรรทุกเสบียงอาหารไว้พร้อม เรือนั้นมีประทุนยกขึ้นได้พับลงได้ แล้วสั่งให้เอาเรือนั้นเก็บซ่อนไว้ในที่สมควร

สามเณรมหาปิฎกธร จึงคิดประกอบโอสถขนานหนึ่งเอาผลสลอดมาบดปนด้วยน้ำครั่ง แลแซกสิ่งของอื่นบ้างเล็กน้อย ครั้นกระทำโอสถห่อผนึกดีแล้ว ก็เข้าไปในพระราชวัง จึงถวายพระพรแจ้งความลับแก่พระนางกษัตริย์ว่า การซึ่งคิดไว้นั้นสำเร็จทุกประการแล้ว ยังคอยอยู่ให้ได้ช่องซึ่งจะหนีไปเท่านั้น แต่จะไปโดยปรกตินั้นมิได้ อาตมาภาพคิดอุบายจะขอให้เสวยโอสถเสียสักหนก่อน ให้อาการปรากฎแก่แพทย์ทั้งปวงว่า พระโรคเพียบหนัก แล้วอาตมาภาพจึงจะเข้ามาอยู่ช่วยติดการ

พระนางแสจาโปได้ทรงฟังก็มีพระทัยยินดี จึงรับเอาโอสถนั้นไว้เสวย ครั้นเสวยแล้วก็ลงพระบังคน พระอุจจาระเปนสีดังโลหิตให้ปรากฎแก่แพทย์ทั้งปวง ๆ เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึงนำอาการขึ้นกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า บัดนี้พระอัครมเหษีทรงพระประชวรหนักลง แล้วเห็นพระอาการจะมิฟื้น จะขอพระราชทานให้พระมหาปิฎกธรเข้ามาอยู่ในพระราชวัง จะได้ถวายพระธรรมเทสนาบำรุงพระสติให้ปลงลงสู่กระแสพระไตรลักษณ์ ประการหนึ่งถ้าจะสิ้นพระชนมายุโดยกำหนดแล้ว จะได้สำแดงพระพุทธคุณ นำจิตต์วิญญาณให้ดำเนินไปสู่สุคติภูมิ พระเจ้าอังวะได้ทรงฟังดังนั้น ก็มิได้ทรงพระสงสัย จึงตรัสสั่งให้นิมนต์พระมหาปิฎกธร เข้ามาไว้ตามนางปรารถนาเถิด

มหาปิฎกธรสามเณรก็เข้ามาอยู่ในพระราชวังกับนางกษัตริย์ จึงคิดการที่จะหนีไปนั้น มหาปิฎกธรสามเณร จึงบวชนิสสิตสี่คนให้เปนสามเณรแล้ว ก็พาเข้าออกในพระราชวังได้ เวลาคํ่าวันหนึ่งจึงให้ยกหีบใหญ่ใบหนึ่งเข้าไปในตำหนัก ให้แต่งบรรจฐรณ์เครื่องลาดแล้ว ก็เชิญนางกษัตริย์เสด็จลงประทมอยู่ในหีบ แล้วให้เอาผ้ากาสาวพัตร์ปิดทับพระองค์ลงเปนหลายชั้น ให้สามเณรสี่องค์หามตามพระมหาปิฎกธรออกมา ครั้นถึงพระทวารพระราชวังประตูจึงถามสามเณรว่าหามหีบสิ่งใดมา สามเณรทั้งสี่องค์บอกว่าหีบใส่ผ้ากาสาวพัตร์ พระนางแสจาโปถวายพระมหาปิฎกธร นายประตูเปิดฝาหีบขึ้นดูก็เห็นผ้ากาสาวพัตร์ปกอยู่ข้างบน หาสังเกตไม่ก็เปิดประตูให้ไป

ครั้นพระมหาปิฎกธรพานางกษัตริย์ออกมา พ้นประตูเมืองมาถึงที่ซ่อนเรือไว้นั้น ก็ชวนกันยกเรือลงนํ้าหนีล่องมา ครั้นรุ่งขึ้นชาวที่แลนางสนมกรมวังทั้งปวง ไม่เห็นพระนางอัครมเหษีก็ตกใจ ถามใครก็มิได้แจ้ง พากันเที่ยวสืบได้ข่าวแล้ว จึงนำเนื้อความขึ้นกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า บัดนี้พระอัครมเหษีกับพระมหาปิฎกธรหายไป

พระเจ้าอังวะได้ทรงฟังก็ตกพระทัย แจ้งว่าพระอัครมเหษีกับมหาปิฎกธรพากันหนีไปแล้ว จึงสั่งให้จัดทัพบกทัพเรือ ยกไปติดตาม เมื่อมหาปิฎกธรสามเณรพานางกษัตริย์หนีมานั้น ครั้นใกล้ด่านขนอนเข้าแล้ว ก็ยกเรือขึ้นหามไปทางบก ครั้นพ้นด่านขนอนแล้วก็เร่งรีบมา รุ่งขึ้นเวลาเช้ายกเรือขึ้นซุ่มนอนเสีย เวลาคํ่ายกเรือลงเร่งรีบมา จนล่วงเข้าแดนกรุงหงษาวดีได้

ฝ่ายกองทัพเรือทัพบก ยกติดตามมามิได้รู้เห็นร่องรอย ตามมาจนสุดแดนก็ไม่พบ พากันกลับไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ จึงตรัสว่านางมิเต็มใจอยู่ด้วยเราแล้ว จึงหนีกลับไปเมืองเขาก็ตามใจนางเถิด ฝ่ายมหาปิฎกธรพานางกษัตริย์มาถึงกรุงหงษาวดีจึงบอกข่าวส่งเข้าไป เสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยได้แจ้งว่า พระนางเจ้าแผ่นดินหนีกลับมาได้แล้วก็ดีใจยิ่งนัก จึงชวนกันออกไปรับเสด็จ แต่งเปนพยุหบาทตราขบวนแห่อย่างใหญ่โดยขนาด อัญเชิญเสด็จเข้าสู่กรุงหงษาวดี

เสนาข้าราชการใหญ่น้อยทั้งปวง ก็มาเฝ้ากราบถวายบังคม กราบทูลถามถึงพระทุกข์แลความสำราญ แล้วขอพระราชทานโทษซึ่งละให้พระนางเจ้าแผ่นดิน ตกไปแก่ข้าศึกมิได้ติดตามรบพุ่ง แลทูลราชกิจความเมืองทุกประการ ตะละนางพระยาท้าวก็มีพระเสาวนีตรัสแถลงพระทุกข์สุข แล้วก็พระราชทานอภัย มิให้มีโทษแก่ขุนนางทั้งปวง

เมื่อตะละนางพระยาท้าวเสด็จกลับมาได้นั้น จุลศักราช ๙๔๘ ปี จึงตรัสสั่งให้มีงานมหรสพ สมโภชพระองคถ้วนสิบห้าวัน พระนางเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระราชศรัทธา ตั้งแต่ถวายไทยทานแก่พระภิกษุสามเณร แลยาจกวรรณิพกทุกวันมิได้ขาด มหาปิฎกธรก็เข้าไปอุปสมบทเปนภิกษุภาพในพระพุทธสาสนา พระนางเจ้าแผ่นดินก็ให้ปลูกกุฎีห้าหลังถวายณวัดมุเตา ฝากุฎีนั้นให้ปิดทอง เขียนรูปภาพต่างๆ อันวิจิตร์ แล้วนิมนต์พระมหาปิฎกธรขึ้นอยู่กุฎี ซึ่งแต่งไว้นั้นเปนสุขภาพยิ่งนัก พระมหาปิฎกธรตั้งแต่บอกพระไตรปิฎกแก่พระภิกษุวันละร้อยรูปมิได้ขาด

อยู่มาวันหนึ่งบังเกิดนิมิตมีแร้งสองตัว บินมาแต่ทิศอิสาน ทำประทักษิณสามรอบแล้ว บินเข้ามาตรงหน้าต่างหมอบอยู่ใต้กุฎีดรงหน้าพระมหาปิฎกธรข้างทิศอิสาณ พระมหาปิฎกธรเห็นดังนั้นจึงให้นิสสิตไปซื้อเนื้อมาให้แร้งกิน ครั้นแร้งกินแล้วจึงร้องเปนภาษาบาลีว่า ติปิฎะกะธะระสวาธัมหักเคมุหุเตวะ พระมหาปิฎกธรได้ยินแร้งร้องดังนั้นก็รู้ว่าตัวจะได้เปนกษัตริย์มั่นคง

อยู่มาวันหนึ่งพระนางเจ้าแผ่นดินทรงระลึกขึ้นว่า พระมหาปิฎกธรบุตรเรานี้ เมื่อเราตกยากไปอยู่ณเมืองอังวะ ไร้ญาติวงศาอนาถาหาผู้จะได้ช่วยทุกข์ร้อนมิได้ มีแต่พระมหาปิฎกธรพาเรามา จึงได้กลับมาถึงเมืองหงษาวดี บุตรเรามิได้กลัวตายเสียดายชีวิต มีพระคุณแก่เราเปนอันมาก เรายังหาได้สนองคุณไม่ ตัวเราเล่าก็เปนสตรีจะครองสมบัติไปก็หาเกียรติยศไม่ ท้าวพระยาสามนตราชหมู่ปัจจามิตร์ก็จะดูหมิ่นหามีใครยำเกรงไม่ จนเราตกไปเมืองอังวะครั้งหนึ่งแล้ว จะมาต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ จะยกให้แก่พระมหาปิฎกธรลูกเราเสียเถิด พระมหาปิฎกธรลูกเรานี้มีปัญญาลึกซึ้งหลักแหลมนัก ควรจะดำรงราชสมบัติครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรแทนตัวเราสืบไปได้

ครั้นพระนางเจ้าแผ่นดินทรงพระดำริห์ดังนั้นแล้ว ก็ให้ชุมนุมเสนาบดี ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันณท้องพระโรง จึงมีพระเสาวนีตรัสว่า เราทุกวันนี้ก็มีชนมายุชราอยู่แล้ว ๆ ก็เปนกษัตรีจะหวงราชสมบัตินั้นหาควรไม่ เราคิดว่าจะให้พระมหาปิฎกธรบุตรเราซึ่งมีคุณพาเราหนีมาได้นั้น ครองราชสมบัติแทนตัวเราสืบไป เสนาบดีทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีทั้งปวงได้ฟังพระเสาวนีตรัสดังนั้นต่างคนยังมิเห็นด้วยจึงกราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชครองราชสมบัติเปนใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวงสืบๆ กันมา ได้ถึงแปดชั่วกษัตริย์ทั้งพระองค์นี้แล้ว ข้าพเจ้าทั้งปวงก็ตั้งใจสุจริตช่วยกันรักษาราชสมบัติไว้ โดยความสัตย์สวามิภักดิ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในราชอาณาจักร์ ก็อยู่เย็นเปนสุขพร้อมมูลกันสืบมา ซึ่งพระองค์จะละราชสมบัติเสีย ให้พระมหาปิฎกชรผู้หาเขึ้อวงศ์มิได้ เปนแต่พระราชบุตรเลี้ยงครองราชสมบัติแทนพระองค์นั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยแลหัวเมืองทั้งปวง ก็จะถือทิฏฐิมานะกำเริบขึ้นเปนอันมาก เห็นจะมิพร้อมมูลกัน แผ่นดินก็จะเกิด จลาจลขึ้น ขอได้ทรงดำริห์ดูจงควรก่อน

พระนางเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า ซึ่งท่านบำรุงภักดีต่อเรานั้นเปนไฉนจึงให้พม่ายกกองทัพมาจับเราไปได้ แล้วชวนกันนิ่งเสียมิได้คิดอ่านแก้ไขช่วยเราเล่า เสนาบดีทั้งปวงจึงทูลว่า ซึ่งข้าพเจ้าทั้งปวงประมาทมิได้ตรวจตราระวังระไว ให้พม่ายกกองทัพล่วงแดนเข้ามาพาพระองค์ไปได้นั้น โทษข้าพเจ้าทั้งปวงถึงสิ้นชีวิตแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าทั้งปวงมิได้คิดอ่านตามรบพุ่งนั้น ด้วยเกรงว่าพระองค์ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึกเกลือกอันตรายจะถึงพระองค์ จึงมิอาจจะติดตามไปช่วยกัน รักษาแต่แผ่นดินไว้มิให้แปรปรวนไปได้

พระนางเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟังเสนาบดีทูลดังนั้นก็มิได้ตรัสประการใด ตรัสสั่งให้หับพระแกลเสียแล้วก็เสด็จขึ้น จึงทรงพระดำริห์ว่า เราจะคิดทรมาน เสนาบดีทั้งปวงให้เสียทิฏฐิมานะจงได้ เวลาวันหนึ่งพระนางเจ้าแผ่นดิน จึงตรัสสั่งนางข้างในให้ไปบอกแก่ขุนนางว่า ราชการตำแหน่งช่างให้ไปตัดไม้เสาสพาน ซึ่งคนทั้งปวงเดินข้ามไปมาทุกวันนั้น มาทำเปนรูปพระพุทธปฏิมากรพระองค์หนึ่ง ขุนนางผู้แจ้งในรับสั่งแล้วก็ให้นายช่างไปตัดเสาสะพานมาสร้างเปนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สลักเปนลวดลายทรงเครื่องประดับเปนอันงามแล้ว จึงให้นางข้างในกราบทูลว่า พระพุทธปฏิมากรสำเร็จแล้ว

พระนางเจ้าแผ่นดินได้แจ้งก็ดีพระทัย จึงตรัสตั้งให้แต่งเครื่องสการบูชา แลราชวัตรฉัตรธงปักสองข้างมรรคา ประดับด้วยต้นกล้วยต้นอ้อย แลต้นไม้มีดอกมีผล แต่งตั้งให้ตระการตาสองแถวสถลมารค ตั้งแต่บ้านขุนนางที่สร้างพระเรียดมาทุกหน้าบ้านจนถึงพระราชวัง แลดูเปนอันงามครึกครื้นยิ่งนัก ครั้นการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึงสั่งให้จัดขบวนแห่ ผู้ชายพวกหนึ่ง ผู้หญิงพวกหนึ่ง หญิงนั้นให้จัดเปนสามเหล่า เลือกที่สาวฉกรรจ์มีรูปเปนอันงามหนึ่ง ที่เด็กดรุณพึ่งเจริญแรกรุ่นนั้นหมู่หนึ่ง ปานกลางเฒ่าแก่นั้นหมู่หนึ่ง ให้แต่งตัวสะอาดโอ่โถงมีเครื่องประดับนุ่งห่มสีต่างๆ กัน ให้ถือธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้ พวงมาลัยแลสุคนธ์เครื่องหอม ประกอบ ด้วยเครื่องประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางค์ดนดรึโดยขนาด จึงให้ตั้งขบวนแห่แหนอัญเชิญพระพุทธรูปเข้ามาไว้ ณ ท้องพระโรง ตั้งบนราชบัลลังก์อันงามโดยสมควร แล้วจึงตรัสสั่งให้ประชุมเสนาบดีพฤฒามาตย์ ราชปโรหิตาจารย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้ามาเฝ้า ณ ท้องพระโรงพร้อมกันแล้ว พระนางเจ้าแผ่นดินก็เสด็จออกยังหน้าพระบัญชร จึงตรัสถามเสนาบดีทั้งปวงว่า เรากระทำกุศลครั้งนี้ ท่านทั้งปวงมีจิตต์ศรัทธายินดีด้วยเราหรือประการใด เสนาบดีทั้งปวงก็ทูลว่า ข้าพเจ้าเหล่านี้มีศรัทธายินดีด้วยพระองค์นัก พระนางเจ้าแผ่นดินจึงตรัสถามว่า ท่านทั้งปวงมีจิตต์ยินดีนมัสการพระพุทธรูป ซึ่งเราสร้างขึ้นไว้นี้ ท่านรู้หรือไม่ว่าเราให้ทำด้วยไม้สิ่งใด เสนาบดีก็ทูลว่า ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่าพระองคํให้ทำด้วยไม้เสาสพาน จึงมีพระเสาวนีตรัสซักถามว่า เมื่อพระพุทธรูปทำด้วยไม้เสาสพานคนเดินข้ามไปมาทุกวันมิได้ขาด ท่านรู้อยู่แล้วเปนไฉนนมัสการเล่า เสนาบดีทั้งปวงก็ทูลว่า ถึงจะเอาไม้ที่ต่ำช้าเปนประการใดๆ มาทำเปนรูปพระพุทธเจ้าแล้ว ทีควรที่คนทั้งปวงจะนมัสการได้สิ้น ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติห้าม เพราะประสงค์แต่ดวงจิตต์ที่เลื่อมใสสิ่งเดียว พระนางเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า พระมหาปิฎกธรบุตรเราเปรียบประดุจไม้เสาสพาน เมื่อเราจะยกให้เปนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธกัณฑ์แลเสวตรฉัตรเปนเพศกษัตริย์แล้ว ดังฤๅจะไหว้มิได้เล่า ธรรมดาบุคคลจะเปนพระมหากษัตริย์นั้น แม้นมิได้มีบุญญาภิสมภารอันแก่กล้าสร้างมาแต่ก่อนแล้ว ก็หาเปนกษัตริย์ได้ไม่ ย่อมจะมีอันตรายแก่ชีวิตต่างๆ เสียแต่ในท่ามกลางยังมิได้ราชสมบัตินั้น ถ้ามีบุญญาภิสมภารได้สร้างมาเปนอันมาก ควรจะได้ราชสมบัติแล้วถึงใครจะฆ่าเสียก็มิตาย จำได้ราชสมบัติเปนมั่นคง เมื่อเราตก ไปอยู่ณกรุงอังวะนั้น รอดกลับมาถึงกรุงหงษาวดีได้ก็เพราะพระมหาปิฎกธรลูกเรา แม้นหาวาสนาไม่ก็จะตายเสียด้วยฝีมือทหารพม่า ไหนจะรอดกลับมาได้ ท่านทั้งปวงจงตรึกตรองให้เห็นจริงเถิด เสนาบดีบรรดาเฝ้าอยู่พร้อมกันได้ฟังดังนั้น ก็ชวนกันสรรเสริญพระนางเจ้าแผ่นดินว่าทรงพระสติปัญญาสามารถยิ่งนัก จึงปรึกษาพร้อมกันกราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเห็นสมควรแล้ว

พระนางเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟังก็มีพระทัยโสมนัสนัก จึงตรัสสั่งให้นิมนต์พระมหาปิฎกธร ลาออกจากเพศสมณแล้ว ให้แห่อัญเชิญเข้ามายังพระราชวัง แต่งการราชาภิเศกพระมหาปิฎกธรขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ดำรงราชสมบัติในกรุงหงษาวดี แต่หาได้ถวายพระนามอันวิเศษไม่ ขุนนางแลราษฎรทั้งปวงก็เรียกพระนามว่า พระเจ้าหงษาวดีบ้าง พระเจ้ามหาปิฎกธรตามพระนามเดิม แต่เปนพระภิกษุอยู่นั้นบ้าง เมื่อพระมหาปิฎกธรได้เสวยราชสมบัตินั้นจุลศักราช ๙๔๙ ปี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ