พระราชประวัติสังเขป

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงนั้น เปนพระราชธิดาในพระพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณพระอัยยิกาเปี่ยม ประสูตรที่ในพระบรมมหาราชวัง ณกรุงเทพมหานคร ณวันศุกร์เดือนอ้ายแรมเจ็ดค่ำ ปีกุนเบญศก จุลศักราช ๑๒๒๕ เปนปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๐๖ คฤสตศักราช ๑๘๖๔

ครั้นเมื่อพระชนม์พรรษาครบสามวัน และเดือนหนึ่งเต็มบริบูรณ์แล้ว ได้มีการสมโภชตามอย่างธรรมเนียมพระเจ้าลูกเธอ และในการสมโภชครั้งหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม ตามที่ปรากฎในสำเนาพระราชหัดถ์เลขาดังต่อไปนี้

“ศุภมัศดุ

สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรีซึ่งประสูตรแต่เปี่ยมเปนมารดา ในวันศุกร์เดือนอ้ายแรมเจ็ดค่ำ ปีกุนเบญจศกนั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วัคบริวารนามเดิมเปนอาทิ แลอันตอักษร ขอพรคุณพระรัตนไตรยแลพรเทวดารักษาพระนครแลพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุ พรรณศุขพลปฏิภาณสารศิริสมบัติ ศรีสวัสดิ์พิพัฒมงคล ศุภผลวิบุลย์ทุกประการเทอญ

ตั้งนามมาณวันอังคารเดือนยี่แรมสิบค่ำ ปีกุนเบญจศกเปนวันที่ ๔๖๔๗ ในราชกาลประจุบันนี้” (ตรงกับวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ และมีคาถาพระราชนิพนธ์ภาษามคธ พระราชทานพระพร ทรงพระราชหัดถ์เลขาเปนอักษรอริยกะอีกต่อไปดังนี้)

“โสภาสุทฺธสิริมตี อิติ นาเมน วิสฺสุตา
โหตุ มยฺหํอยํธีตา ปิยมาย สุปุตฺติกา
สุขินี จ อโรคา จ โหตุ เสฏฺฐา ยสสฺสินี
สพฺพทาเยว นิทฺโทสา อปฺปสยฺหาว เกนจิ
อทฺทธา มหทฺธนา โภค วตี พหูหิ เอญฺชิตา
ปิตุโน มาตุยาจาปิ สพฺพทา รกฺขตํ ยสํ
สุหิตา โหตุ ภาตูนํ ภคินีนญฺจ สาธุกํ
พุทธา ทิวตฺถฺวานุภาโว สทาตํ อภิรกฺขตุ”

(มีคำแปลพระคาถานี้ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแปลเปนภาษาไทย ถวายไว้แต่ก่อนนานแล้ว ดังนี้)

“ขอธิดาของเรา ซึ่งเปนบุตรีอันดี ของเปี่ยม คนนี้ จงปรากฎโดยนามว่า โสภาสุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุข แลไม่มีโรค มีอิศริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใครๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเปนคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเปนอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้จงทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนไตรย มีพระพุทธเจ้าเปนต้นจงรักษาเธอ ทุกเมื่อเทอญ.”

พระคาถา พระราชทานพระพร ฤๅอีกนัยหนึ่งจะเรียกว่าพระบรมราชประสงค์นี้ ก็เปนที่น่าอัศจรรย์นัก ด้วยการได้เปนไป สมจริงทุกสิ่ง จนจะเรียกว่าตรงตามพระคาถานี้ทุกประการแล้ว ก็ว่าได้ไม่ผิดเพี้ยนเลย

ในปลายรัชกาลที่ ๔ นั้น ยังหาได้มีที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ดีเสมอเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งทรงชำนาญในการอักษร เคยเปนที่ศึกษาเล่าเรียนของเจ้านายชั้นหลังมานั้น ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียหมดแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนารถ จึงมีโอกาศที่จะทรงศึกษาเล่าเรียนได้น้อยนัก แต่หากว่าทรงมีพระวิริยะพระปัญญามากตั้งแต่ประสูตรมาเดิมแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตากรุณา ใช้สอยติดตามเสด็จมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงเห็นทรงฟังพระกระแสรับสั่ง และการงานในพระราชสำนักมาก อีกทั้งได้ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถามเล่าเรียน หมั่นเขียนหมั่นตริตรองตามวิสัยบัณฑิตย์ชาติ จึงได้ทรงทราบสรรพวิชาอันควรจะทราบได้ ถ้าแม้นจะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วได้

ความข้อนี้มีพยานที่จะให้เห็นปรากฎชัดได้ในลายพระราชหัดถ์ที่ทรงไว้เปนอันมาก กับทั้งในราชการบ้านเมืองอันสำคัญที่สุด ซึ่งได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในเวลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ย่อมปรากฎชัดเจนแก่คนทั้งปวงทั่วหน้ากันแล้ว ทรงพระปัญญาสามารถที่จะวินิจฉัยราชการได้ทั่วไป แม้ที่สุดในข้อสำคัญ ๆ ซึ่งเกิดมีความเห็นแตกต่างกันในระหว่างเจ้ากระทรวงทบวงการนั้น ๆ ก็ยังทรงพระราชวินิจฉัยได้แต่โดยลำพังพระองค์ ให้เปนที่พอใจกันได้ทั่วหน้า แล้วและมิให้เปนที่เสียประโยชน์ราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐานไว้ในตำแหน่งพระมเหษี มีพระอิศริยยศเปนลำดับสืบมาดังนี้ ว่าพระนางเธอ เสาวภาผ่องศรี แล้วต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เปนพระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๗ เปนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอรรคราชเทวี และใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เปนสมเด็จพระบรมราชินีนารถฯ

พระองค์ทรงมีพระราชโอรส ๗ พระองค์ พระราชธิดา ๒ พระองค์ ตกเสียไม่ปรากฎว่าเปนพระโอรสฤๅธิดาอีก ๕ พระองค์ รวมเปน ๑๔ พระองค์ มีลำดับดังนี้

ที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน ประสูตรวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ สิ้นพระชนม์วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

ที่ ๒ ตกเสียวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๒

ที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูตรวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓

ที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรธำรงค์ ประสูตรวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๔ สิ้นพระชนม์วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙

ที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูตรวันที่ ๓ มินาคม พ.ศ. ๒๔๒๕

ที่ ๖ ตกเสียวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๖

ที่ ๗ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประสูตรวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ สิ้นพระชนม์วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

ที่ ๘ ตกเสียวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๙

ที่ ๙ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าหญิง ประสูตรวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ สิ้นพระชนม์ในวันประสูตรนั้น

ที่ ๑๐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ประสูตรวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒

ที่ ๑๑ ตกเสียวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๓

ที่ ๑๒ ตกเสียวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓

ที่ ๑๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย ประสูตรวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๕

ที่ ๑๔ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขไทยธรรมราชา ประสูตรวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖

สมเด็จพระบรมราชินีนารถ ได้ทรงรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ฝ่ายในชั้นสูงสุดทุกอย่าง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว และได้ทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเจ้าฝ่ายในสืบมา

และได้ทรงรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ฝ่ายในของเมืองต่างประเทศอีกหลายเมืองด้วย

ครั้นมาในรัชกาลประจุบันนี้ ได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยเปนสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี มีความพิศดารแจ้งอยู่ในประกาศลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้นแล้ว และได้ทรงมอบพระราชธุระให้สำเร็จราชการฝ่ายในสิทธิขาดต่างพระองค์ด้วย

สมเด็จพระบรมราชินีนารถ ได้ทรงมีพระราชหฤทัยตั้งมั่นอยู่ในราชธรรมจริยา ทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติราชกิจน้อยใหญ่ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที จนเปนที่ชอบพระราชอัทธยาไศรยไว้วางพระราชหฤทัยและทรงพระเมตตากรุณาอย่างยิ่งที่สุด หาที่จะเปรียบเทียบมิได้ มีพยานดังจะได้เห็นในพระราชหัดถ์เลขา ซึ่งพิมพ์ไว้ในสมุดนี้แล้ว

และได้ทรงพระราชศรัทธานับถือมั่นคงในพระพุทธสาสนาแล้ว บำรุงพระพุทธสาสนาโดยมีการบำเพญพระราชกุศลอยู่เสมอมิได้ขาด ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ ทั้งในกรุงและหัวเมืองภายในพระราชอาณาจักร และแม้ที่สุดพระพุทธเจดีย์ฐานในเมืองต่างประเทศภายนอกพระราชอาณาจักร์ ก็ยังได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วยเหมือนกัน และนอกจากการบำเพญพระราชกุศลเปนการพิเศษตามเหตุที่มีขึ้นอย่างเช่นวันประสูตรต่างๆ เปนต้นแล้ว ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ถวายเปนนิจภัตรแก่พระสงฆ์บางองค์ และถวายเข้าสารอาหารบิณฑบาตรแด่พระสงฆ์สามเณรทั้งพระอารามอีกหลายพระอาราม และพระราชทานค่าน้ำประปา ค่าชำระปัดกวาดรักษาบางพระอารามเปนนิจเสมอมามิได้ขาด เปนการที่ใหญ่ยิ่งกว่าที่เรียกกันว่า ตักบาตรทุกวันนั้นหลายสิบเท่า พระราชกุศลเหล่านี้ย่อมเปนการที่แจ้งอยู่แก่ใจปฏิคาหกทั้งหลายแล้ว

และได้ทรงพระราชดำริห์แน่แก่พระราชหฤทัยว่า ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองย่อมอาไศรยความศึกษาเล่าเรียนอันดี จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตั้งโรงเรียน จ่ายเงินเดือนครู จ่ายค่าใช้สอยต่างๆ สำหรับกุลสัตรีที่จะได้เล่าเรียนศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทั้งวิชาต่างๆ ด้วย มีสำคัญ คือโรงเรียนราชินี โรงเรียนเสาวภา โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ ในกรุงเทพมหานคร และในหัวเมืองมีโรงเรียนวิเชียรมาตุ กับโรงเรียนสภาราชินี ในจังหวัดตรัง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนราชินีบุรณะ จังหวัดพระนครปฐม และได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จ่ายเปนค่าเล่าเรียนแก่หม่อมเจ้าหญิงชาย หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง บุตรีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และบุตรีราษฎรบางคนอีกเปนอันมากนับด้วยร้อยคนขึ้นไป

พระราชหฤทัยประกอบด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้มีพยาธิทุกข์ยากเปนอันมาก จึงบริจาคพระราชทรัพย์และทรงพระราชธุระจัดการตั้งสภาอุนาโลมแดงครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ แล้ว ภายหลังมาเปนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้นในกรุงเทพมหานคร อุทิศพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณและเฉลิมพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เปนที่สำนักที่ตั้งของสภากาชาดสยามสำหรับประเทศขึ้นเปนหลักฐานมั่นคงยิ่ง เปนประโยชน์ทั้งฝ่ายทหารพลเรือนทั่วกัน และได้ทรงเปนองค์สภานายิกาของสภากาชาดสยามสืบต่อมารวมเวลาถึง ๒๖ ปี และได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เข้าในโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในกรุงและหัวเมืองอีกด้วย และได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินให้แก่หญิงอนาถาผู้มีครรภ์ ที่ได้มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลศิริราชทุกคน ให้เปนค่าใช้สอยส่วนตัวของหญิงนั้นนั้น

อีกทั้งมีพระราชหฤทัยโอบอ้อมอารีแก่บรรดาชนทั้งปวง ทำนุบำรุงให้ได้ความร่มเย็น เปนที่พึ่งพำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ตลอดจนถึงสามัญชน ผู้ใดๆ ขาดแคลนก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทดรองให้ปันและกู้ยืมตามปราถนาไปเปนทุนรอน แม้ว่ามีสัญญาถวายดอกเบี้ยอยู่แล้วก็ดี แต่มีเปนอันมากที่มิได้ทรงรับ และบางรายได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานต้นเงินให้ ไม่ต้องคืนถวายตามสัญญารายหนึ่งถึงตั้งพันชั่งก็มี พระองค์จึงเปนสมเด็จพระมหาปิยราชินีของคนทั้งหลายในพระราชอาณาจักร์นี้

ในปลายรัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรพระโรคาพาธิ์บ้างเปนครั้งเปนคราว แต่มามีพระอาการมากขึ้นด้วยพระราชหฤทัยเศร้าโศกในการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรค์คตนั้นมิใคร่วาย จึงไม่ทรงพระสบายเหมือนแต่ก่อน ถึงแม้นว่าจะได้ทรงพระอุตสาหะรักษาพระองค์อย่างยิ่ง และมีแพทย์อย่างดีที่สุดที่จะรักษาพยาบาลได้แล้ว พระอาการก็มีแต่ทรงและทรุดพระกำลังลงทุกปี ในปีที่สุดนี้ทรงพระดำเนินแต่ลำพังพระองค์มิได้แล้วประชวรไข้จับ ซึ่งเปนที่วิตกกันมากมาหลายคราวแล้วก็กลับฟื้นได้ จนครั้งที่สุดนี้ทรงพระประชวรไข้เพียงวันเดียว แต่มีพระพิษแรงจัดพระกำลังทนไม่ได้ จึงเสด็จสวรรค์คตที่พระราชวังพญาไท ณวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ตรงกับวันจันทร์เดือนสิบแรมสิบเอ็จค่ำ ปีมแมเอกศก จุลศักราช ๑๒๘๑ เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้

เมื่อจะคิดเทียบพระชนม์พรรษาแห่งสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เรียงลำดับตามที่มากน้อยกว่ากันแล้ว ก็จะปรากฎเปนดังนี้

ที่ ๑ สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๒ ประสูตรวันที่ ๙ มินาคม พ.ศ. ๒๒๘๐ สวรรค์คตวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๙ พระชนม์พรรษา ๘๙ ปี ๒ เดือน ๑๖ วัน

ที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ประสูตรวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๐ สวรรค์คตวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ พระชนม์พรรษา ๖๙ ปีกับ ๒๘ วัน

ที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓ ประสูตรวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๓ สวรรค์คตวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนม์พรรษา ๖๖ ปี ๘ เดือน ๒๔ วัน

ที่ ๔ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินี พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ ประสูตรวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖ สวรรค์คตวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระชนม์พรรษา ๕๕ ปี ๙ เดือน ๑๙ วัน

ที่ ๕ สมเด็จพระเทพสิรินทรา บรมราชินี พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๕ ประสูตรวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๗ สวรรค์คตวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชนม์พรรษา ๒๗ ปี ๑ เดือน ๑๗ วัน รวมพระชนม์พรรษาทั้ง ๕ พระองค์เปน ๓๐๗ ปี ๑๑ เดือนกับ ๑๐ วัน ถ้าคิดเฉลี่ยถัวกันเปนประมาณว่าพระองค์ละ ๖๑ ปี ๗ เดือน ๒ วัน

ครั้นเสด็จสวรรค์คตแล้ว เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีได้ถวายบังคมสรงน้ำพระบรมศพและเชิญสู่พระโกษแล้ว เชิญพระโกษแห่ไปประดิษฐานในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตามขัติยราชประเพณี ดังเช่นมีรูปถ่ายพระบรมโกษอยู่ในสมุดนี้แล้ว และมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ๘ สำรับ สวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืนทุกยาม ๆ ละ ๒ สำรับ และเลี้ยงพระสวดเวลาเช้า ๓๒ รูป เวลาเพล ๑๖ รูปทุกวัน

ครั้นถึงวันอาทิตย์วันจันทร์ครบสัปดาหะหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพญพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณ มีพระสงฆ์ ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์เย็น และเลี้ยงพระเวลาเพล ทรงฟังพระธรรมเทศนาวันละกัณฑ์ และสดัปกรณ์รายร้อย มีกงเต๊กด้วย ทุกสัปดาหะไปจนครบ ๕๐ และร้อยวันใกล้กันกับสัปดาหะที่ ๗ แลที่ ๑๔ นั้น ทรงบำเพญพระราชกุศลเปนการใหญ่ยิ่งกว่าสัปดาหะอื่นๆ และในงานร้อยวันนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถวายพระธรรมเทศนาศราทพรตเปนการพิเศษอีกวันหนึ่ง วันนี้ราชทูตอุปทูตผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินและประธานาธิบดี นานาประเทศ ที่มีทางพระราชไมตรี ได้วางพวงมาลาเปนเครื่องสักการด้วย

ตั้งแต่ครบร้อยวันมาแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายน่าฝ่ายในผลัดเปลี่ยนกันบำเพญการกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณทุกสัปดาหะตามสมัคจนตลอดถึงงานพระเมรุ ซึ่งกำหนดว่าจะได้เชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐานในพระเมรุ ณท้องสนามหลวง จะได้ถวายพระเพลิงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วเชิญพระบรมอัฐิกลับเข้าไปประดิษฐานณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบำเพญพระราชกุศลแล้ว เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในหอพระบรมอัฐิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสืบไป

ของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ