พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศทอดที่เกาะลังกาวี

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙

ถึงที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งรักษาพระนคร

ด้วยแต่ก่อนบอกมาถึงวันที่ ๓๐ เดือนเมษายน ซึ่งมาจอดเรืออยู่ที่เมืองภูเก็จแล้ว บัดนี้จะขอบอกระยะวันต่อมา

วันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม เวลาเช้าฝนตกมาก สามโมงฝนหายจึงได้ขึ้นบก ที่เรือทอดนี้ห่างฝั่งประมาณไมล์ครึ่ง มีทุ่นกรุยปักรายทางตลอดเข้าไป ที่เขาโต๊ะแซซึ่งพระยาวิชิตสงครามทำเปนด่านมีเสาธงบอกเรือไว้ชำรุดเสียเขาซ่อมแซมขึ้นดีแล้ว พระอนุรักษ์โยธาได้ทำด่านขึ้นใหม่อีกตำบลหนึ่งที่เกาะตะเภาน้อย อยู่น่าอ่าวมีเรือนตะเกียงและเสาธงบอกเรือ ตึกชาวด่านอยู่หลังหนึ่ง ดูท่าทางเปนอ่าวที่เปนท่าเรือเคยไปมาจอดดีอยู่ มีเรือเมล์เมืองปินังมาจอดอยู่สองลำ เปนเรือมาจากห้างจีนเดิรห้าวันครั้งหนึ่ง บันทุกดีบุกออก บันทุกเฃ้าและเสบียงอาหารต่าง ๆ กลับมาเมืองภูเก็จ แต่เดิรแฃ่งกันอยู่ทั้งสองลำ ไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเวลามักจะมาถึงพร้อมๆ กัน ขึ้นที่ตะพานทำแอบมากับตะพานศิลาเก่าสำหรับท่า แต่ต้องทำยื่นออกมามาก ด้วยลำคลองนั้นน้ำตื้นขึ้นทุกที เพราะเรื่องดินล้างแร่ ตกแต่งผูกใบไม้และมีซุ้มใบไม้ที่ต้นตะพาน กรมการและพวกจีนหัวน่าแต่งตัวเต็มแบบอย่างผู้ดี มาคอยรับอยู่เปนอันมาก แขกที่รักษาด่านยิงปืนทองสลุตเรียบร้อยดี ทหารกรุงเทพฯ และโปลิศแขกสำหรับเมืองยืนคอยรับที่ตะพาน ตั้งแต่ตะพานขึ้นไปดาดปรำผ้าขาวมีระบายตลอดทาง เดิรขึ้นไปหลายเส้นจึงถึงบริเวณโรงทหารใหม่ ซึ่งยกลงมาตั้งอยู่ในเหมือง หลวงบำรุงจีนประเทศที่ขุดแร่ขึ้นแล้วอยู่ริมทเล ที่นั้นที่เปนรอยเหมืองขุดลึกลงไป เขาทำประตูกั้นปิดน้ำเพื่อจะได้ขังน้ำจืดซึ่งมาตามเชือกน้ำที่ไขมาทำเหมืองไว้เมื่อเวลาขัดสนน้ำจะได้สูบไปใช้ในการล้างแร่ มูลดินซึ่งขุดเปิดบ่อแร่ กองเปนหย่อมสูงๆ เหมือนลูกเนินเขาเล็กเขาใหญ่ ถ้าจะว่าไปในบริเวณนั้นก็คล้ายประทุมวัน เมื่อทหารมาอยู่ปลูกโรงใหญ่ขึ้นบนกองดินที่เปนเนินใหญ่ แล้วช่วยทำทางวงเวียนไปตามบ่อแร่ที่ขังน้ำ ปลูกไม้ดอกไม้ผล เปนเหมือนสวนฝรั่ง ครั้งนี้ทำพลับพลาในที่นี้ เขาก็ตกแต่งเพิ่มเติมออกไปกว้างขวางทั่วทั้งบริเวณนั้นเกือบเท่าประทุมวัน มีโรงศาลาที่นั่งเล่นหลังเล็กใหญ่ในที่ต่าง ๆ และโรงแตรแปดเหลี่ยมทำด้วยไม้จริงสองหลัง พลับพลาทำที่กองดินใหญ่ในกลางเหมืองซึ่งน้ำจืดขังรอบทำตะพานใหญ่ยาวข้าม พลับพลานั้นปลูกด้วยเสาไม้หมากเปนพื้น แต่การกั้นห้องตกแต่งเปนความคิดพระอนุรักษ์โยธาซึ่งเปนชาวกรุง ก็คมคายงดงามพิสดารกว่าพลับพลาทั้งปวง การที่ทำพลับพลาที่รับดาดปรำแต่งถนนหนทางเหล่านี้ ได้อาศรัยกำลังพวกจีนหัวน่าช่วยทำมาก พักอยู่ที่พลับพลารับพวกกรมการและพวกจีนมาหา สนทนาด้วยการต่างๆ จนเวลาบ่ายจึงไปดูเหมืองแร่ของหลวงบำรุงจีนประเทศที่ทำอยู่ติดกันกับหลังพลับพลา เมื่อนั่งอยู่บนพลับพลาก็แลเห็นทำการได้ เหมืองนี้ใหญ่โตควรจะพิศวง โดยกว้างเกือบสามเส้น ยาวกว่าสี่เส้น ใช้ตะพานที่หาบมูลดินเปิดน่าเหมืองถึงสามตะพาน ที่ขุดแร่งล้างแร่สองแห่ง ใช้จีนลูกจ้างถึงเก้าร้อยคน ที่นี่ขุดลึกลงไปกว่าที่เมืองระนองมากจึงถึงแร่ ได้ดูเวลาล้างแร่เห็นเนื้อดีบุกมากกว่าที่เมืองระนองหลายเท่า แต่เปนแร่เม็ดใหญ่ ถามได้ความว่าแร่ร้อยั่ง ได้ดีบุกถึงห้าสิบห้าชั่ง มีศิลาที่กินแร่ปนอยู่ต้องตำก่อนแล้วจึงล้างก็มี เครื่องวิดน้ำใช้สติมเอนยินอย่างโลโกโมติฟว์ ขนาดสูบแปดนิ้วหมุนสูบเซนติฟิคัลขนาดท่อแปดนิ้ว แต่วิธีตำแร่ยังใช้แรงคนตำ สู้เมืองระนองไม่ได้เฃาใช้น้ำ ลักษณะที่ทำผิดกันคนละอย่าง ที่ระนองทำอย่างละเอียดละออแต่ไม่ทำใหญ่โต ค่อยทำค่อยไปเหมือนอย่างเก็บสวนของตัวกินเอง แต่ที่ภูเก็จนี้ทำเอาแต่ประโยชน์ที่จะได้มาก ไม่สู้ถ้วนถี่และทำไม่มียับยั้ง ในบริเวณตั้งแต่ฝั่งทเลฃึ้นไปจนถึงบ้านหลวงบำรุงจีนประเทศไปตามถนนทางสามสิบเส้นเศษ แลเห็นเปนแต่เหมืองที่ฃุดแล้วตลอดไปจนสิ้นสุดตา ที่ภูเก็จนี้พวกจีนไม่สู้ร้อนรนด้วยเรื่องลูกจ้างเหมือนอย่างเมืองระนอง เปนแต่อยู่ข้างขัดสนทุน ด้วยพวกเมืองปินังไม่ใคร่จะออกทุนให้กู้ ด้วยเหมืองดีที่ใกล้ๆ ไม่ใคร่มีใหม่ขึ้น ต้องไปทำทางไกลโสหุ้ยมากมักจะขาดทุน วิธีลักษณะทำก็มีหลายอย่าง แต่จะพรรณาจะยืดยาวนัก ขึ้นรถไปตามถนนทางไปตลาดตั้งแต่พ้นที่เหมืองไปถึงบ้านหลวงบำรุงใหญ่โตมาก เปิดสายน้ำมาขังเปนคลองไว้น่าบ้านสำหรับคนอาบกิน มีต้นมะพร้าวเต็มทั้งบ้าน ถัดเข้าไปเปนบ้านใหญ่อยู่อีก คือบ้านตันเลี่ยงกีและบ้านตันเพ็กเกียด มีคลองซึ่งขุดเข้าไปใหม่สำหรับบันทุกแร่คลองหนึ่ง มีเกวียนล้อเหมือนรถใช้บันทุกเข้าสารและบันทุกดีบุกมาก มีคนสำหรับรับจ้างพวกหนึ่ง ถัดคอเวอนเมนต์ออฟฟิศเฃ้าไปเปนถนนตลาดตึกติดต่อกันทั้งสองฟากประมาณสักสามสิบเส้น ดูผู้คนแน่นหนาครึกครื้นเหมือนถนนเจริญกรุง ได้ไปรถทางตั้งแต่ท่าสักแปดสิบเส้น หมดหมู่ตึกไปก็เปนโรงและเปนสวน ตึกที่นี่ก็มีเก่าบ้างใหม่บ้างไม่สู้ซุดโซมนัก แต่ถนนนั้นโซมทีเดียว ทั้งที่ตกแต่งแล้วก็ยังโสโครกเปื้อนเปรอะ และซุดต่ำน้ำขังเปนถนนเสียใช้ไม่ได้ทีเดียว เขาเตรียมทางไว้ที่จะให้ไปเที่ยวได้หลายตำบล คือตำบลตลาดกระทู้ทางหนึ่งก็ไม่สู้ไกล แต่เวลาเย็นมากเสียแล้วทั้งฝนตกทางเปนหล่มด้วยไปไม่ได้ ทางไปท่าเรือและไปเมืองถลางถึงห้าร้อยเส้นเศษไปไม่ได้ แต่เพียงไปพอเกิดตลอดหน่อยหนึ่งเท่านี้ ขากลับก็ถูกฝนมากจะแวะวัดมงคลนิมิตก็ไม่ได้แวะ เปนแต่ว่าโบถชำรุดซุดโซมมาก เห็นว่าเปนที่ถือน้ำอยู่ จึงให้พระยาศรีสรราชไปคิดจัดการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถขึ้น กลับมาที่คอเวอนเมนต์ออฟฟิศ ดูก็อยู่ข้างซุดโซมมาก ที่หลังวังเปนที่น้ำฝนขังเจิ่งไป มีเรือนกระท่อมเล็กกระท่อมน้อยรุงรัง โรงทหารห้าแถวที่ทำไว้รับเสด็จคราวก่อน ทหารยกลงไปอยู่เสียริมทเล พวกโปลิศแฃกเข้าอยู่สองโรง หลังต่อไปก็ชำรุดเห็นหลังคาพังลงมาก็มี ปลูกตึกสำหรับนายทหารขึ้นใหม่หลังย่อมๆ พึ่งจะแล้วหลังหนึ่ง ที่พระที่นั่งซึ่งใช้เปนคอเวอนเมนต์ออฟฟิศนั้นทลายลงทุกหลัง ท้องพระโรงไม่ได้ทำขึ้น แต่หลังยาวซึ่งเปนที่เลี้ยงโต๊ะ และที่ข้าราชการอยู่ทำแล้วเสร็จได้ใช้เปนออฟฟิศอยู่หลังต่อกับพระที่นั่งเขาทำเปนสามชั้นขึ้นใหม่พึ่งจะแล้วเสร็จ พระที่นั่งหลังใหญ่ก็ทำขึ้น ยังค้างปูพื้นและถือปูน การที่ทำขึ้นใหม่หมดจดเรียบร้อยดีกว่าของเดิม บริเวณข้างล่างที่สระอาบน้ำสองสระและที่ขอบเขตเหล่านั้นก็ทำใหม่และตกแต่งเรือกสวนสอาดสอ้านดี แต่บ้านพระยาวิชิตสงครามและบ้านพระยาภูเก็จ ซึ่งอยู่ติดกับที่นั้นชำรุดซุดโซมมากทั้งสองแห่ง หมดเวลาจวนค่ำจึงได้กลับมาลงเรือ จำนวนเหมืองใหญ่ที่ทำอยู่ในเมืองภูเก็จเดี๋ยวนี้หกสิบสองตำบล เหมืองน้อยหกสิบเก้าตำบล รวม ๑๓๑ เหมือง จีนที่ทำการอยู่ ๘๙๘๔ คน จีนที่เข้าออกในเมืองว่าเปนลางปีมากลางปีน้อย เข้าง่ายออกง่ายไม่เหมือนเมืองระนอง ถ้าฝนดีน้ำดีพวกจีนก็เข้ามาก ถามจำนวนจีนเข้าออกเทียบดูสองปี ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๓๑) จีนเข้า ๗๐๖๐ คน ออก ๔๔๖๘ คน เข้ามากกว่าออก ๒๕๙๒ คน รัตนโกสินทรศก๒๒ ๑๐๘ จีนเข้า ๕๖๐๙ คน ออก ๖๘๑๘ คน ออกมากกว่าเข้า ๑๒๐๙ คน ถ้าคิดเทียบดูในสองปีนี้ก็ยังมีคนเหลือติดเมืองมาก พิเคราะห์ดูกับที่จำได้เมื่อมาสิบเก้าปีแล้วนั้น ตึกรามผู้คนแน่นหนาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ในแถวตลาดเขาตรวจได้จำนวนตึกถึง ๓๑๑ หลัง เรือน ๓๖๗ หลัง รวม ๖๗๘ หลัง คน ๒๗๖๗ คน ที่ตลาดกระทู้ตึก ๒๖ หลัง โรงร้าน ๑๑๒ หลัง รวม ๑๓๘ หลัง คน ๖๒๓ คน ตามแขวงอำเภอ ๘ ตำบล ๕๙๑ เชิงเรือน คน ๒๒๗๗ คน ไม่ได้นับคนที่ทำเหมือง เมื่อเรือแล่นมารอบเกาะไม่ได้เห็นเขาใดที่ว่างไม่ได้ทำไร่สักเขาหนึ่งเลย บันดาหัวเมืองข้างแถบตวันตกนี้ จะหาเมืองใดมีผู้คนมากเหมือนเมืองภูเก็จไม่มีแล้ว เปนเมืองที่จำจะต้องบำรุงรักษาไว้อย่าให้ซุดโซมลงได้ โปลิศที่รักษาเมืองอยู่ทุกวันนี้เปนหลายหมวดหลายกอง มีทั้งไทยทั้งจีนทั้งมลายูทั้งแขกแต่งตัวต่างๆ กัน แขกต่อแขกด้วยกันเองก็แต่งตัวไม่เหมือนกันถึงห้าพวก การฝึกหัดก็ดูไม่เรียบร้อยเหมือนเมืองระนอง บอกเพลงปืนยังเปนภาษาอังกฤษ จำนวนโปลิศที่ใช้อยู่ทั้งสิ้น ๒๓๘ คน เสียดายมีเวลาน้อยนักไม่ทันที่จะตรวจตราไต่ถามการตลอด และในเวลานี้ฝนก็ชุกลมก็จัดเปนเวลาน่ากลัวว่าจะเปลี่ยนมรสุม จึงมิอาจที่จะรออยู่ช้า ด้วยทางข้างน่ายังมาก เวลา ๒ ทุ่มครึ่งออกเรือจากเมืองภูเก็จเดิรทางนอกเกาะยาวที่เรียกปุสูปันยัง ไปจอดรออยู่ที่หัวเกาะยาวน้อย เวลา ๗ ทุ่ม

วันที่ ๒ เวลา ๑๑ ทุ่ม เลื่อนเรือเข้าไปทอดในระหว่างเกาะหมากกับเกาะสลัด พระยาบริรักษ์ภูธรลงมาคอยรับอยู่ ตาที่ว่าบอดนั้น เห็นเปนต้อฃาวอยู่ทั้งสองข้าง แต่ที่จริงยังแลเห็นเดิรไม่ต้องจูง เดิมกะเวลาว่าจะไปตะกั่วทุ่งเพียงสองชั่วโมงถึง ต่อ ๔ โมงเช้าจึ่งได้ลงเรืออุไทยราชกิจไป ฝนตกเปนคราวๆ มีลมพัดจัดตลอดทางสองชั่วโมงจึ่งได้ถึงอ่าว ตามทางที่ไปล้วนแต่เกาะเนื่องแน่นไปคล้ายช่องอ่างทอง เปนแต่ระยะห่างกว่า ตั้งแต่ระนองลงมาจนถึงภูเก็จเขาไม่ใคร่จะมีศิลา เปนแต่ดินแดงทั้งนั้น ต่อถึงระยะนี้จึ่งมีเขาปูนตามเกาะเหล่านี้มาก เปนที่นกทำรังบ้าง อากรรังนกที่เมืองไทรทำก็ตลอดขึ้นมาถึงน่าเมืองพังงา ที่ปากช่องจะเข้าคลองตะกั่วทุ่งมีเกาะย่อมๆ สองเกาะเคียงกันเรียกเกาะนมสาว ถัดเข้าไปอยู่กลางลำน้ำมีเกาะชื่อปายี้ เปนที่พวกแขกเมืองตะกั่วทุ่งอยู่ประมาณสักสิบห้าเรือน หากินด้วยทำการปาณาติบาต ที่เกาะนี้อยู่ในระหว่างลำน้ำสองแยก แยกหนึ่งไปเมืองพังงา แยกหนึ่งไปเมืองตะกั่วทุ่ง พระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดีลงมาคอยรับอยู่ เรือไฟใหญ่ต้องหยุดเพียงนี้ ลงเรือกระเชียงเรือไฟเล็กลากต่อเข้าไป ถัดเกาะปายี้เข้าไปมีเขาที่ตกถึงลำน้ำสองเขา คือเขาไม้แก้วกับเขาตักน้ำ เขาตักน้ำนั้นว่ายกเสียแต่เดือนห้ากับเดือนหกแล้วมีน้ำตกอยู่รอบเขาเสมอ ต่อเข้าไปมีเขารายาอีกเขาหนึ่งเปนเขาตกน้ำเหมือนกัน พวกแขกนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ นอกจากเขาเหล่านี้แล้วก็มี่เขาอันใดที่อยู่ใกล้น้ำ ไม่เหมือนลำน้ำเมืองพังงา ตามทางเข้าไปก็ไม่มีบ้านเรือนคนเปนแต่ไม้โกงกางตลอด ไปมีอยู่แต่ที่ด่านซึ่งเปนลำน้ำแยกไปเมืองพังงาอีกทางหนึ่ง ต้องหยุดเรือไฟตีกระเชียงขึ้นไปอีกไม่ช้าก็ถึงตะพานขึ้นเมือง ตะพานนี้ต้องทำฃ้ามที่ชายเลน ซึ่งพระบริสุทธิตัดไม้โกงกางลงไว้จะปลูกจาก ยาวประมาณสักสามเส้นเศษสี่เส้นจึ่งถึงดินดอนที่ตั้งพลับพลา ๆ นั้นทำเปนที่แรม มีเย่าเรือนและแผนที่คล้ายคลึงกันกับที่ตะกั่วป่า แต่ที่นี่ทำพิจิตร์พิสดารขึ้นไปกว่า เครื่องเฟอร์นิเชอเตียงเก้าอี้ใช้ไม้มริตคนไทยทำเกือบทั้งสิ้น เวลาที่ไปถึงนั้นบ่าย ๒ โมงแล้ว ด้วยระยะทางในคลองกินเสียอีกสองชั่วโมง แต่พอดูพลับพลาทั่วแล้วก็ออกเดิรไปเที่ยว ที่ข้างพลับพลามีโรงคลวงใหญ่สองโรง เข้าใช้เปนโรงครัว โรงคลวงนี้เปนของพระบริสุทธิเอง ด้วยเขาลงทุนเรียกจีนมาทำการเองเหมือนอย่างเมืองระนองมีลูกจ้างอยู่ร้อยเศษ มีพวกจีนทำเองบ้าง ลูกจ้างอีกประมาณสองร้อนคน แร่ดีบุกที่เมืองตะกั่วทุ่งไม่เหมือนตะกั่วป่า มักจะมีเปนห้วงเปนตอนไม่ใคร่เปนลำสายใหญ่ เหมืองหนึ่งที่เปนอย่างใหญ่ คนทำก็ไม่เกินห้าสิบคน ถัดโรงคลวงไปเปนศาลากลางอยู่น่าบ้านพระบริสุทธิ์เปนควนอันเดียวกันกับที่ตั้งพลับพลา ที่บ้านนั้นตีระเนียดไม้กระดานกว้างขวางแน่นหนา หลังประตูเปนร้านท่าสู้เจ๊กเหมือนกันข้างในบ้านกั้นเปนสองตอน มีเรือนจากอยู่นอกตอนหนึ่งอยู่ในหมู่หนึ่งเปนเรือนใหญ่ มีตึกฝาขัดแตะถือปูนใหญ่หลังหนึ่ง ตามลานบ้านก็ปราบราบเรียบและปลูกต้นไม้เปนระยะ แต่เปนที่ตั้งใหม่ต้นไม้ยังไม่โต ถ้าจะเทียบกันกับบ้านพระยาสายก็เห็นจะพอรับรองกันได้ ข้างหลังบ้านออกไปทำสวน ปลูกต้นจำปาดะ ทุเรียน มม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ตัดถนนหลายสาย ปลูกต้นไม้เปนอะเวนยู แต่ยังย่อมๆ ขนาดสองปีสามปีทั่วไปทั้งนั้น ออกจากบ้านพระบริสุทธิ์เดิรไปตามถนนใหญ่ ลงควนหน่อยหนึ่งถึงถนนตลาดกว้าง ๖ วา มีโรงตลาดเหมือนอย่างเมืองระนองหลายสิบหลังแล้ว แต่ยังไม่เต็มมีที่ว่างมากมีตึกกำลังก่อสร้างขึ้นใหม่สองหลัง ถนนตลาดนี้ก็พึ่งเกิดขึ้นใหม่ในครั้งพระบริสุทธิ์ผู้นี้ออกมาจัดการ เดิรไปสุดตลาดแล้วขึ้นรถกลับมาแยกไปโดยทางสายโทรเลข ซึ่งไปต่อแดนเมืองพังงาระยะทาง ๑๑๘ เส้น เขาทำเปนถนนรถกว้างสี่วา พูนดินได้ที่มีรางสองข้างน้ำไม่ขังถนน ในเวลานี้ฝนตกชุกอย่างยิ่งทางก็ไม่เปนหล่มโคลนมาก เปนแต่รถไปฝืดเพราะเปียกบ้างบางแห่ง และทางนั้นขึ้นสูงลงต่ำเปนลูกเนินไปทั้งนั้น ที่สูงมากก็ตัดฉายลงมาพอให้ราบรถไปได้ การที่ทำถนนนั้นเขาทำเปน เมื่อแรกคิดว่าจะไปดูสักหน่อยหนึ่งพอให้เห็นภายในแล้วจะรีบกลับ แต่ครั้นเมื่อไปตามทาง เห็นภูมิฐานบ้านเมืองงดงามและมีการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นใหม่น่าดูอยู่ จึ่งได้เลยต่อไปตามข้าทางข้างซ้ายมือนั้นแลเห็นเขาเปาะ ซึ่งเปนเทือกเขาใหญ่ แลเห็นแต่ในลำคลองขึ้นมายืนประจำไปตามข้างถนนจนตลอด ที่บนหลังเขานั้นก็เปนที่ทำไร่รายกันไป ที่พื้นล่างเปนที่ราบก็เปนนาออกมาจนถึงฃ้างถนนโดยมาก ที่เปนหมู่ไม้เล็ก ๆ ยังมิได้ตัดฟันลงทำนานั้นน้อยกว่าที่เปนนา ฟากข้างขวาไม่มีเขา แต่มีนาคั่นกับป่าไม้เล็ก มีบ้านเปนหมู่ๆ อยู่บ้าง สวนพริกไทยเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง สวนของพระบริสุทธิ์เองเปนที่กว้างใหญ่มีพริกไทยที่ได้ลงแล้วหมื่นสองพันค้าง ได้ชัดชวนพวกจีนที่มีทุนรอนให้ลงทุนทำอีกหลายแห่ง เห็นตามข้างทางกำลังปลูกอยู่โดยมาก เขาได้ประกาศว่าถ้าผู้ใดปลูกพริกไทยขาดทุน ไม่ชอบใจขายจะรับซื้อค้างละเหรียญและ ๕๐ เซ็นต์ตามที่เปนผลและยังไม่เปนผล สังเกตดูพื้นแผ่นดินริมทางก็คล้ายกับเมืองจันทบุรี จะเสียเปรียบกันก็เรื่องน้ำ ที่นี่ต้องใช้น้ำบ่อไม่มีลำธาร เห็นว่าความคิดที่ทำนุบำรุงการเพาะปลูกนี้เปนทางที่ถูกแท้ ด้วยการทำดีบุกในเมืองเหล่านี้มีแต่จะร่วงโรยน้อยลงไป เพราะเขตรแดนก็แคบ ดีบุกทำมาช้านานก็มีแต่จะหมดไปสิ้นไป ตัวอย่างที่ปลูกพริกไทยได้ประโยชน์มากเช่นเมืองตรังก็มีอยู่ เมื่อสุดทางนี้ถึงลำคลองเรียกว่าคลองวัดถ้ำ เปนลำธารตื้นๆ น้ำรินๆ ไม่กว้างนัก ที่นี่เปนพรมแดนกับเมืองพังงา ทางฟากข้างพังงาก็ตัดทางกว้างและปักเสาโทรเลขแล้ว แต่ไม่ได้ปราบราบเปนถนนต้นไม้เล็กๆ ขึ้นเต็ม เขาปลูกพลับพลายกไว้หลังหนึ่งที่ใกล้ต้นขัณฑสกรริมลำคลอง ต้นไม้นี้กำลังมีดอก เมื่อแลเห็นบนต้นคล้ายดอกประยงคุ์ สีดอกแก่เหลืองที่ดอกอ่อนเขียวเปนช่อโตๆ เมื่อเก็บลงมาเห็นดอกใหญ่ขนาดดอกรสคนธ์ตูม เมื่อบานกลีบแยะออกเปนสี่กลีบแต่กลีบไม่กาง ถัดจากพลับพลานั้นเปนทางเลี้ยวโอนไปหน่อยหนึ่ง ขึ้นที่เนินสูงไปตามลำดับ จนถึงเขตร์วัดถ้ำ มีกุฏิพระสงฆ์อยู่หมู่หนึ่ง ลานวัดกว้างมีไม้ดอกไม้ผลบางอย่าง คือลั่นทมและมะเฟืองเปนต้น รายเปนขอบคัน ปากถ้ำนั้นอยู่ต่ำเสมอพื้นดิน ข้างซ้ายเปนเพิงหน่อยหนึ่งแต่ตัน ช่องปากถ้ำกว้างจนแสงสว่างส่องได้ตลอดถ้ำ เวลาที่ไปกำลังมืดมัวฝนยังแลเห็นทางเดิรได้ สัณฐานถ้ำนั้นเหมือนเก๋งเรือสำปั้นเก๋ง ฤๅจะว่าประทุนก็ได้ ตรงลิ่วเข้าไปกว้างเกือบเสมอกันหมดตลอด เว้นแต่ที่ปากถ้ำ ในนั้นมีพระพุทธรูปยืนใหญ่อยู่ริมประตูองค์หนึ่ง ต่อเข้าไปมีพระนั่งใหญ่ๆ บ้างเล็กบ้าง มีพระปรางค์องค์หนึ่ง พระนอนใหญ่องค์หนึ่ง พระนิพพานองค์หนึ่ง ปลายถ้ำเข้าไปตรงน่าพระนอน มีศาลาสองห้องโถง ๆ ผูกพัทธสีมาเปนโบถ มีพระสงฆ์นั่งคอยรับอยู่ห้ารูปที่ใกล้พระนิพพาน มีศิลาเปนรูปใบเสมา จารึกอักษรไทยเปนขอมว่า พระพุทธศักราช ๒๔๐๑ จุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมเมียสัมฤทธิศก พระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดี มีนามบัญญัติเดิมว่า ถินฺนามํ เปนที่(พี่)ผู้ใหญ่ พระเพ็ชรคิรีศรีพิไชยสงครามปลัดผู้น้อง มีนามบัญญัติเดิมว่า ปุตฺตนาโม ต่อไปพรรณาถึงเรื่องที่ลงทุนลงรอนมาสร้างและเอาอัฐิคุณยายคุณมารดาบรรจุไว้ในพระปรางค์ ลงท้ายอธิฐานไม่เอาสวรรค์สมบัติมนุษย์สมบัติจักรพรรดิมหาศาล จะขอให้ได้ตรัสรู้เปนพระสัพพัญญุตญาณ อย่างพุทธภูมภักดีแท้ ต่อขึ้นไปข้างหลังถ้ำนั้น เปนถ้ำเวิ้งสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งแต่ช่องสว่างกว้างดูเปนรอยน้ำซึมเปนน้ำเงินไปเกือบทั้งถ้ำ ข้างซ้ายเดิรต่อเข้าไปได้อีกยาวแต่มืด ถ้าจะว่าแต่ในตัวถ้ำกันแล้ว ถ้ำนี้อยู่ข้างหมดจดเรียบร้อยกว่าที่เมืองพัทลุง เปนถ้ำสำหรับคนแก่ไปได้เหมือนกัน ราษฎรไปประชุมกันทุกปี กลับจากถ้ำมาตามทางเดิรถึงพลับพลาเวลาพลบ พักกินเข้าอาบน้ำ ฝนตกเสมอ เวลาจวนทุ่มหนึ่งจึ่งได้กลับ เพราะไม่ได้ตระเตรียมตัวมาจะค้าง ๔ ทุ่มเศษจึ่งได้ถึงเรือที่เกาะหมาก

วันที่ ๓ ขึ้นเมืองพังงาค้างอยู่บนเมืองพังงาคืนหนึ่ง

วันที่ ๔ ไปเที่ยววัดประพาศประจิมเขตร แลที่เขาหลังบ้านแลกลับลงมาเรือ

วันที่ ๕ ลงเรือเข้าไปในลำน้ำปากลาว แล้วกลับมาขึ้นที่เกาะหมาก ในสามวันนี้ฝนตกยังค่ำยังรุ่งเปนคราวๆ ลมพายุพัดจัดเห็นว่าจะเปนเวลาเปลี่ยนฤดู แต่เวลาที่มีคลื่นลมนี้ เรือจอดอยู่ในเกาะหมากบังลับ ไม่ได้ถูกคลื่นเปนแต่ถูกลมกับฝน แลเปนเวลาขึ้นอยู่บกเสียบ้าง

วันที่ ๖ ออกเรือจากเกาะหมาก ลมสงบเปนแต่ยังมีลูกกลิ้งน้อยๆ จะแวะที่กระบี่แลประกาไส ก็เห็นว่าวันเกินกำหนดในโปรแกรมมากแล้ว จึ่งได้ลงไปเกาะลันตาทีเดยว ถึงเวลาบ่ายจะขึ้นก็เปนเวลาน้ำลงทอดนอนอยู่คืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๗ เข้าในแม่น้ำเมืองตรัง แลขึ้นเมืองตรังในวันนั้น ค้างอยู่คืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๘ เวลากลางวันกลับลงมาเรือ ค้างอยู่ในลำน้ำอีกคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๙ ออกจากเมืองตรังลงมานอนที่เกาะตรูเตาแขวงเมืองไทรบุรีคืนหนึ่ง

วันที่ ๑๐ เวลาเช้าเลื่อนลงมาจอดที่อ่าวตัวเกาะลังกาวี จะได้อยู่ที่เกาะลังกาวีนี้อีกสองคืน เที่ยวที่เกาะลังกาวี เพราะการที่คิดจะไปเมืองสตูลเมืองปลิตแต่ก่อนนั้นเปนอันจะต้องเลิก ด้วยจะไปสองเมืองนั้นเรือจะต้องทอดอยู่ที่เกาะลังกาวีนี้ ลงเรือไฟเล็กไปสี่ชั่วโมง ต้องให้ถูกคราวน้ำหาไม่ก็เปนเลนตื้นออกมาเรือไฟเข้าไม่ได้ เมื่อขึ้นแล้วต้องถอยเรือไฟออกมาให้พ้นที่ตื้น ขากลับต้องให้อยู่ในคราวน้ำ หาไม่ก็เปนเลนแห้งแลต้องตีกระเชียงออกมาด้วย กลัวว่าเวลานี้จวนมรสุม ถ้าถูกลมจัดจะตีกระเชียงกลับออกมาไม่ไหว แลดูตามระยะทางนั้น ถ้าโดยจะไปสดวกดีไม่มีเหตุการณ์อันใด ก็จะต้องไปสัก ๑๒ ชั่วโมงทั้งไปทั้งมา เห็นเหลือเกินนักจึ่งได้งดเสียไม่ไป ที่เที่ยวที่นี่ก็มีหลายแห่ง จะร่นวันเข้ามาให้ถึงเมืองไทรให้เร็วขึ้นอีกก็ไม่ได้ ด้วยการข้างเมืองไทรเขายังไม่แล้ว เพราะมาเร็วเกินกำหนด วันที่ ๑๓ จึ่งจะได้ไปเมืองไทร พระยาไทรบุรีมารับอยู่ที่เกาะลังกาวีนี้ บันดาผู้ที่มาเปนสุขสบายทั้งสิ้น จะบอกรายละเอียวเช่นตอนต้นมาในเวลานี้ไม่ทัน จึ่งได้บอกความย่อมาให้ทราบก่อน

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาวิชิตสงคราม (ทัด รัตนดิลก ณภูเก็จ) พยายามทำนุบำรุงการทำเหมือง จนที่เมืองภูเก็จซึ่งเปนเมืองขึ้นของเมืองถลางอยู่แต่ก่อน เจริญรุ่งเรืองเปนเมืองใหญ่ หลวงมหาดไทยได้เปนที่พระภูเก็จ แล้วเลื่อนเปนพระยาภูเก็จแต่ในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อแก่ชราตามืด ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลื่อนเปนพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็จอยู่จนถึงอนิจกรรม

  2. ๒. พระอนุรักษ์โยธา ข้าหลวงรักษาราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง

  3. ๓. พระยาศรีสรราชภักดี (หนูเล็ก โกมารกุล ณนคร) ข้าหลวงใหญ่กำกับหัวเมืองฝ่ายตวันตก รวมทั้งเมืองภูเก็จด้วย

  4. ๔. คอเวอนเมนต์ออฟฟิศ ตั้งที่บริเวณวังซึ่งพระยาวิชิตสงครามสร้างรับเสด็จ คราวเสด็จกลับจากอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒

  5. ๕. พระยาภูเก็จโลหเกษตรานุรักษ์ (ลำดวน) บุตรพระยาวิชิตสงคราม

  6. ๖. พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ ณนคร) ผู้ว่าราชการเมืองพังงา

  7. ๗. พระบริสุทธิโลหภูมิทราธิบดี (กล่อม ณนคร) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง เปนบุตรพระยาเสนานุชิต (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า

  8. ๘. พระยาสาย เจ้าเมืองสายบุรี ในมณฑลปัตตานี

  9. ๙. พระบริสุทธิ ฯ คนนั้นชื่อถิน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ