พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑

พลับพลาที่ประทับแรมเมืองชุมพร

วันที่ ๑๙ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙

ถึงที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งอยู่รักษาพระนคร

ด้วยตั้งแต่ฉันได้ออกจากกรุงเทพฯ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ ลงมาถึงเมืองสมุทปราการ เวลาบ่าย ๒ โมง หยุดบูชาพระสมุทเจดีย์แล้ว ออกไปทอดคอยน้ำอยู่ในไลต์เฮาส์ จนเวลา ๒ ยามเศษจึงได้ข้ามสันดอน เวลาที่เรือทอดอยู่นั้นลมพัดกล้ามีรลอกดูเหมือนหนึ่งว่าข้างนอกจะมีคลื่น แต่ครั้นเมื่อเรือออกมาก็ไม่มีคลื่น ด้วยเปนเวลาลมสงบแล้ว ในวันที่ ๑๗ เดิรเรือตลอดทั้งกลางวันกลางคืนก็ไม่มีคลื่นลมเลย วันที่ ๑๘ เวลาย่ำรุ่งถึงเมืองชุมพร กรมหมื่นดำรงราชานุภาพซึ่งขึ้นไปตรวจทางตลอดจนเมืองระนองกลับมา ลงไปหาในเรือแจ้งว่าระยะทางที่จะเดิรบกตั้งแต่เมืองชุมพรไปถึงเมืองกระ ได้วางระยะพลับพลา $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๙๐ } \\\mbox{๒๘๐ }\end{array} \right\}$ เส้น ตั้งแต่บ้านถ้ำสนุกถึงท่าแพะเปนพลับพลาประทับร้อน $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๖๕ } \\\mbox{๑๖๒ }\end{array} \right\}$ เส้น แล้วไปประทับแรมที่ท่าไม้ลาย ๑๖๓ เส้น รวมระยะทางในวันแรกนี้ $\left. \begin{array}{}\mbox{๖๑๘} \\\mbox{๕๗๕ }\end{array} \right\}$ เส้น ตั้งแต่ท่าไม้ลายไปถึงท่าสารพรมแดนเมืองชุมพรเมืองกระ เปนที่หยุดพักกินเข้าเช้าทาง $\left. \begin{array}{}\mbox{๙๘ } \\\mbox{๑๒๕ }\end{array} \right\}$ เส้น ตั้งแต่ท่าสารไปถึงปกอินทนิล เปนที่ประทับร้อน ๑๓๖ เส้น ตั้งแต่ปกอินทนิลไปถึงโรงโปลิศปากจั่น $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๙๙ } \\\mbox{๒๐๙ }\end{array} \right\}$ เส้น ไปพลับพลาแรมอีก ๓๘ เส้น ระยะทางวันหลังนี้ ๕๐๘ เส้น รวมระยะทางตั้งแต่ท่าตะเภาถึงปากจั่นเปนทาง ๑๐๘๓ เส้น คนที่เขาเดิรกันวันเดียว แต่เห็นว่าเปนทางลำบากต้องขึ้นเขา ๓๑ แห่ง ข้ามธาร ๕๓ แห่ง ลุยธาร ๒๑ แห่ง จึงได้ผ่อนระยะเปนสองวัน การที่จะเดิรเปนความลำบากก็จริง แต่ซีนะรีงามไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือน การรับรองที่เมืองระนองว่าจัดไว้แขงแรงอย่างยิ่ง กรมหมื่นดำรงได้เลยไปดูเมืองมลิวันฝ่ายอังกฤษ ซึ่งหมายว่าถ้าเปนที่ควรดูจะได้ไปดู แต่ครั้นเมื่อได้ไปเห็นแล้วกลับกลายเปนอย่างอื่น ได้คัดถ้อยคำของกรมหมื่นดำรงส่งมาให้อ่านเล่นขัน ๆ ด้วยแล้วได้จ้างเรือบันทุกสิ่งของล่วงน่าขึ้นไปแต่เวลาเช้า เวลาบ่าย ๒ โมงฉันจึงได้ขึ้นบก เปนเวลาน้ำพึ่งจะลง เรือสติมลันซ์ลากขึ้นไปได้ตลอดจนถึงท่าตะเภา ในลำน้ำเปนที่น้ำลึกบ้างตื้นบ้างเปนแห่ง ๆ เรือไปติดที่หัวหาดแห่งหนึ่งเปนที่หลัก ๒๕๐ เส้น นอกนั้นก็ไปสดวกจนถึงท้ายบ้านท่าตะเภา จึงต้องปล่อยเรือไฟตีกระเชียงขึ้นสัก ๑๕ มินิตก็ถึงพลับพลา ทางในลำน้ำประมาณสักสามชั่วโมงมีเศษเล็กน้อย ไม่ไกลกว่าขึ้นไปบางยี่โรเมืองหลังสวนมากนัก ลำน้ำไม่เหมือนเมืองหลังสวน ตลิ่งน้ำไม่สู้เชี่ยว สองฝั่งตั้งแต่พ้นปากคลองบางยางขึ้นไปเปนท้องทุ่งโดยมาก มีเรือนราษฎรรายขึ้นไปห่าง ๆ มีสวนหมากมพร้าวแลไร่เปนแห่ง ๆ อยู่ข้างโรเรกว่าเมืองหลังสวนมาก ที่ท่าตะเภาซึ่งเปนเมืองนั้นอยู่ข้างฝั่งเหนือ มีเรือนโรงอยู่ที่ริมน้ำ ประมาณสักร้อยหลัง พลับพลาตั้งอยู่ฝั่งใต้ริมชายทุ่ง เปนที่แจ้ง ได้ทำเปนสามหลัง ท้องพระโรงสามห้องหลังหนึ่ง พลับพลาข้างในห้าห้องเฉลียงรอบรีหลังหนึ่งขวางหลังหนึ่ง ข้างน่ามีเรือนเจ้านายหลังหนึ่งเรือข้าราชการหลังหนึ่ง รั้วค่ายใช้ไม้ไผ่ลำ พื้นข้างน่าปลูกหญ้าเปนหย่อมๆ ข้างในตัดทางวนเวียนไปในพื้นหญ้าเปนสวนปลูกต้นไม้เล็กๆ ตามแต่จะหาได้ มีกรงสัตว์แลแคร่หลังคาที่นั่งเล่นพอสมควรเปนที่สบาย เวลาค่ำวันนี้นอนที่พลับพลา ที่นี่เวลากลางคือนหนาวต้องห่มผ้า เวลากลางวันก็ไม่สู้ร้อนมากนัก

วันที่ ๑๙ เปนวันพักจ่ายช้างตระเตรียมการที่จะเดิรทาง ช้างที่จะเปนพาหนะมาถึงพร้อมกันแล้ว คือช้างเมืองชุมพรประทิวท่าแซะ ๗๐ ช้าง ช้างเมืองไชยา ๒๐ เมืองระนอง ๕๐ เมืองหลังสวน ๙ เมืองนครศรีธรรมราช ๓๐ เปนพอใช้ไม่ขัดขวางอันใด

พระยามหามนตรีป่วยมาจากกรุงเทพ ฯ แต่วันที่ ๑๐ เดือนเมษายน ตัวเองเข้าใจว่ามาทเลเคยหาย แต่ครั้นมาตามทางกินอาหารไม่ได้ จับมากไป เวลาเช้าวันนี้อาการค่อยคลายขึ้น ครั้นจะพาไปด้วยก็เหนว่าจะต้องเดิรบก จะถูกแดดแลกระเทือนมากจึงได้ส่งให้กลับเข้าไปกรุงเทพฯ แต่บันดาเจ้านายข้าราชการแลไพร่พลซึ่งมาทำการอยู่ก่อนแลที่มาในกระบวร ไม่มีผู้ใดป่วยไข้อันใด คนทำงารปวดศีร์ษะตัวร้อนบ้างสองสามคนก็หายด้วยยาคินินในวันเดียวนั้น นับว่าเปนเวลาสบายตั้งแต่เมืองชุมพรตลอดออกไปจนเมืองกระเมืองระนอง

สยามินทร์

  1. ๑. ที่เลขระยะทางเปน ๒ แปลง จำนวนข้างบนเจ้าเมืองกรมการสำรวจไว้ จำนวนข้างล่างสอบใหม่เมื่อไปตรวจการ

  2. ๒. เมื่อจะรวมฉบับที่พิมพ์ครั้งนี้ คำกราบทูลของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพค้นไม่พบ

  3. ๓. พระยามหามนตรี (เวก ยมาภัย) ภายหลังได้เปนพระยาอภัยรณฤทธิ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ