พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

วันที่ ๔ สิงหาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึงท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศวโรปการ

ด้วยจดหมายระยะทางฉบับที่ ๒ บอกแจ้งความมาเพียงวันที่ ๒๙ บัดนี้จะขอบอกรายวันระยะทางต่อไป

ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคมนั้นได้ออกเรือจากเมืองสงขลาวันที่ ๓๐ มาถึงเมืองหนองจิกเวลาเช้าโมงหนึ่ง ที่ทอดสมอไม่มีอ่าวเกาะอันใดบังลมเหมือนกันกับหัวเมืองตอนล่าง ๆ ทั้งปวง แลไม่มีสิ่งที่จะเปนสำคัญสำหรับจำแน่นอนเปนเครื่องหมายอย่างไร นอกจากอาศรัยแผนที่ ด้วยมีเขาใหญ่ลูกหนึ่งก็ดูเหมือน ๆ กับเขาทั้งปวง ไม่แปลกประหลาดอันใด เรียกชื่อว่าเขาใหญ่ พระยาหนองจิกลงมาหาในเรือ ได้ไต่ถามด้วยเรื่องเขตแดนแลการต่างๆ แจ้งว่าข้างเหนือต่อแขวงเมืองเทพา ระยะทางเดิรวันหนึ่ง ข้างตวันตกต่อเมืองจะนะ ตวันตกกึ่งใต้ต่อจะแหน ทางไปสองวันทั้งสองตำบล ตวันตกเฉียงใต้ต่อเมืองยะลาทางวันหนึ่ง ทิศใต้ต่อเมืองตานี เดิรตามชายทเลชั่วโมงหนึ่ง แขกราษฎรมีประมาณสามพันหลังเรือน คนไทยประมาณสองร้อยคน เก็บเงินต้นไม้ทองเงินแต่พวกแขก พระยาหนองจิกคนนี้ได้ว่าการบ้านเมืองลดลงเก็บแต่คนละสองเหรียญ ว่าได้อยู่ในปีละสี่พันเหรียญ เห็นผิดกันกับจำนวนเรือนมากนัก ที่เปนดังนี้ ด้วยถามถึงคนมากคนน้อย กำลังบอกการบ้านเมืองเจริญอยู่ จำนวนเรือนจึงได้มาก จำนวนเงินน้อยไปนั้นก็เพราะเปนเงินคนไทยที่ว่าสองร้อยคน เก็บเงินส่งสงขลาคนหนึ่งปีละสองเหรียญ ได้เงินปีละสี่ร้อยเหรียญ แบ่งไว้เปนค่าเก็บ ๕๐ เหรียญ ส่งปีละ ๑๕๐ เหรียญ แต่เมื่อฉันพบพระครูวิบุลยสมณวัตร แจ้งว่าพระสงฆ์มีถึง ๑๖๐ ฤๅ ๑๘๐ คนสองร้อยเท่านั้น เลี้ยงพระสงฆ์ถึงเท่านี้ทุกวัน แล้วแต่จะโปรด เห็นจะเปนครั่นคร้ามพวกสงขลามาก ด้วยตัวพระยาหนองจิกก็สงขลาอยู่เอง ได้ความเช่นนี้จึงมิรู้ที่จะบอกแน่อย่างไรได้ในเรื่องคน การทำมาหากินในเมืองนี้ มีแต่ทำนาอย่างเดียว บางปีเข้าได้ออกจากเมืองบ้าง แต่ไม่มากนัก สินค้าขาออกอาศรัยของมาแต่เมืองยะลา ที่เมืองนี้คอยแต่เก็บค่าด่าน ที่ว่าสินค้าออกนั้นก็ออกไปเมืองตานีทั้งนั้น สินค้าเข้าก็มาทางเมืองตานีนั้น ไม่มีจีนเลยสักคนเดียว เพราะไม่มีการค้าขายอันใดเช่นนี้ ตลาดก็มีแต่ร้านชำสองร้านสามร้าน ถ้าจะกินของสดหมูเปดไก่ก็ไปซื้อที่ตลาดเมืองตานี แต่ปลามีราษฎรทำอยู่มาก เปนคนเมืองกลันตันบ้าง เมืองอื่นบ้างขึ้นมาทำ ที่หาดทรายปากอ่าวทั้งสองฟากมีเรือนกว่าร้อยหลัง ลำน้ำมีหาดทรายขวางน่า เวลาน้ำลงแห้งต้องเข็นเรือประมาณสักยี่สิบวา ต่อเข้าไปข้างในลึกน้ำจืดสนิท เพราะแม่น้ำนี้ไหลมาแต่ที่ยะรมเมืองรามัน ผ่านเมืองยะลาลงมา เวลาจวน ๕ โมงเช้าขึ้นบก เขาทำพลับพลารับที่ปากน้ำ พระยาตานีมาคอยอยู่สี่วันแล้วพึ่งกลับไป พระยาหนองจิกให้ไปบอกก็ขึ้นมาพร้อมด้วยพระศรีบุรีรัฐพินิจ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ ทราบว่าศาลาการเปรียญที่วัดเมืองตานีซึ่งฉันสร้างไว้นั้นเกือบจะแล้วเสร็จ จึงคิดว่าเปนโอกาศดีพอที่จะฉลองได้ จึงปล่อยให้พวกเมืองตานีกลับไปจัดการรับที่เมืองตานี แลให้ไปนัดเมืองยิหริ่งซึ่งได้ไต่ถามดูลู่ทางเห็นพอจะไปได้อีกเมืองหนึ่ง ให้ปักกรุยร่องน้ำไว้คอยรับ แต่ตัวพระยายิหริ่งและพระโยธานุประดิษฐว่าขึ้นไปต้องคดีอยู่ในเมืองสงขลา

ได้สั่งห้ามปรามไปทั้งเมืองตานีแลเมืองยิหริ่ง ไม่ให้ต้องทำพลับพลาเพราะว่าจะขึ้นไปเที่ยวเวลาเดียวกลับ แล้วลงเรือกระเชียงเข้าไปในลำน้ำ มีบ้านเรือนราย ๆ ไปไม่ขาด เห็นปลูกแต่หมากกล้วยอ้อยแลไร่ยาสูบเปนแห่ง ๆ นอกนั้นเปนทุ่งนาตลอด ลำน้ำก็คล้าย ๆ กันกับลำน้ำเมืองตานี เปนแต่ย่อมลง ขึ้นไปประมาณครึ่งชั่วโมงเศษถึงบ้านตุยงซึ่งเจ้าเมืองอยู่ เดิมตามถนนซึ่งเปนถนนแคบ แต่งใหม่ให้ใหญ่กว้างขึ้นไปสักสามสี่เส้นถึงบ้านเจ้าเมืองอยู่ข้างถนน มีบ้านกรมการแลราษฎรเล็กน้อยห่าง ๆ เปนทางผ่านไปในท้องนาสิบสี่เส้น ถึงวัดตุยงมีพลับพลา ขนาดพลับพลายกอีกหลังหนึ่ง ปลูกอยู่ในกลางลานวัด พระอุโบสถหลังคาจากสามห้องไม่มีฝา ผูกพัทธสีมาแล้ว มีก้อนหินวางไว้เปนที่กำหนดเขต มีศาลาการเปรียญหลังคาจากหลังหนึ่ง กุฎีแฝดฝากระดานหลังหนึ่ง ฝากระแชงอ่อนซุดโซมอยู่หลายหลัง ว่าเปนวัดของพระยาหนองจิก เกลี้ยง พระเรียกว่าพระยาแก้มดำเปนผู้สร้าง เปนวัดถือน้ำพระพิพัฒสัจจา ฉันเห็นว่าดูเปนที่น่าสังเวชนัก จึ่งได้มอบเงินให้พระยาหนองจิกไว้ยี่สิบชั่ง ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นพอได้เปนที่ถือน้ำ เมื่อทำแล้วเงินขาดเท่าใดจึงให้เบิกต่อไป แลให้ชื่อวัดด้วยว่า วัดมุจลินทวาปีวิหาร พระครูเจ้าวัดอยู่ข้างเปนคนแขงแรง ที่กุฎีก็ตกแต่งวาดเขียนกาววาวสนุกอยู่ มีประหลาดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธรูปยืนในนั้นสององค์นุ่งสโหร่งทั้งคู่ เมื่อมาตามทางในเรือฝนตกพักหนึ่ง ครั้นเมื่อนั่งอยู่บนพลับพลาที่วัดฝนตกอีก จนพลับพลาคุ้มไม่ได้ ต้องไปอยู่บนกุฎีพระครู พอฝนซาออกเดิรกลับมาได้ครึ่งทางฝนตกลงมาอีกมาก จึงได้แวะเข้าดูบ้านพระยาหนองจิก เปนเรือนจากสองหลังพื้นไม้หมาก มีโรงอีกสองหลังอยู่ข้างจะเก่ากรอบแกรบเต็มที เรือนพระขลุงและพระพิไชยชลธีเมืองประจันตคิรีเขตดีกว่ามาก เปนการผิดคาดผิดหมายที่ขึ้นชื่อว่าเปนเมืองประเทศราช แลมีจำนวนเรือนถึงสามพันหลัง ไม่คิดเห็นว่าจะเปนเช่นนี้ ถ้าดูตำบลตุยงแล้วพอตีรั้งกันกับเมืองขลุงทีเดียว บ่ายสามโมงกลับลงมาเรือ ต้องเข็นบ้าง ให้ตราภัทราภรณ์พระยาหนองจิกดวงหนึ่ง กับเงิน ๔๐๐ บาทให้แจกคน ๒๐๐ คนซึ่งเกณฑ์มาใช้ แลให้รางวัลผู้ซึ่งถวายของตามสมควร รอรับฟืนอยู่จนเวลาดึก ด้วยเขาได้ตัดตระเตรียมไว้มาก เวลาค่ำเขาตั้งล้อมวงบนบก กองเพลิงแลมีกลองแขกอยู่จนดึก ได้ให้ใบอนุญาตวิสุงคามสีมาด้วยสองวัด เพราะเปนการยากลำบากที่จะเข้าไปขอถึงกรุงเทพ ฯ ของหัวเมืองเหล่านี้ยิ่งนัก

วันที่ ๓๑ ออกเรือมาแต่ ๘ ทุ่ม ๑๕ มินิต ทอดสมอน่าเมืองสาย เช้าโมงครึ่งทอดได้ใกล้ฝั่ง เปนหาดทรายยาว แลเห็นเขาโตๆ อยู่ไกลๆ ที่อยู่ใกล้สองเขา คือบุเกะสิโลบายู บุเกะบาตา ซึ่งอยู่ในตำบลบ้านสิลินองบายูที่เปนเมืองสายใหม่นี้พอเปนที่สังเกตจำได้ถนัด พระยาสายพาสีตวันกรมการและเรือแขกลงมารับ ๗๐ ลำ คนลำหนึ่ง $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๕ } \\\mbox{๑๖ }\end{array} \right\}$ คน ที่เปนลำย่อม ๆ จน $\left. \begin{array}{}\mbox{๔ } \\\mbox{๕ }\end{array} \right\}$ คนเปนที่สุด คนกว่า ๕๐๐ มีเครื่องแห่ฆ้องประจำเรือ และพิณพาทย์จีนด้วยลำหนึ่ง พระยากลันตันมาด้วยเรือยอตช์ใหญ่สองลำ ทอดอยู่ที่น่าเมือง แต่ตัวพระยากลันตัน พระยาสายรับเข้าไปให้อยู่ในลำน้ำ จัดเรือกำปั่นให้อยู่หมดลำหนึ่ง พวกเมืองกลันตันก็ลงเรือมาลอยรับอยู่พร้อมด้วยพวกเมืองสาย ได้ออกแขกเมืองอย่างครึ่งยศในเรืออุบลบุรทิศ รับพระยากลันตัน ๑ พระโยธีประดิยุทธรายามุดา ๑ พระรัษฎาธิบดีบุตร ๑ เมืองสายพระยาสาย ๑ พระรัตนมนตรี ๑ พระวิเศษวังศา ๑ พระยากลันตันแจ้งความว่า พระยาเดชานุชิตได้ลงมาถึงปากน้ำแล้วไม่สบาย (ทำนองเมาคลื่น) ต้องกลับขึ้นไปพูดจาแสดงความชื่นชมยินดีต่าง ๆ พระยาสายได้จัดสะเบียงอาหารและฟืนลงมาส่งเรือทุกลำเปนอันมาก เวลาเช้า ๕ โมงครึ่งแต่งตัวเครื่องยศขึ้นบก มีเรือแขกนำสองลำ นอกนั้นตามไปภายหลัง ตั้งแต่เรือไปจนถึงปากช่องลำน้ำประมาณครึ่งไมล์เปนหาดทรายสลับบังกัน คล้ายอย่างปากช่องเมืองตรังกานู เปนแต่ย่อมกว่าเหมือนแหลมตลุมพุกเมืองนครศรีธรรมราชกับแหลมเมืองตานี ที่คอหาดสองข้างเปนหมู่ต้นสน ต่อนั้นไปเปนสวนมะพร้าวแลเห็นไปโดยรอบ ที่ปลูกใหม่ออกมาตามหาดทรายก็มี ดูเปนเมืองที่กำลังปลูกสร้างอยู่ไม่ถอยหลัง ลำน้ำกว้างใหญ่ มีคลองเล็กน้อยแยกไปหลายทาง ล้วนแต่เปนสวนมะพร้าว และหมู่ต้นตาลและเรือนโรงที่คนอาศรัยรักษาสวน เปนระยะกันไปมิได้ขาด ที่กลางน้ำมีทรายมูลเปนเกาะ ร่องน้ำอ้อมไปตามท้องคุ้ง ท่วงทีโรงเรือนและลำแม่น้ำต้นไม้ก็คล้ายเมืองตรังกานู บางแห่งก็มีไร่ยาไร่อ้อย ที่เปนบ้านหมู่ใหญ่ก็มี คนมานั่งดูหลาย ๆ ร้อยคน เห็นจีนมีเนือง ๆ แต่ราษฎรที่มาดูผู้หญิงคุมหัวน้อยคน ไม่เหมือนเมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู ดูงาม ที่หัวคุ้งสุดถนนบ้านจีนมีตึกจีนก่อกำแพงสกัดน่าหลังหนึ่ง มีเรือค้าขายเปนเรือทเล จอดอยู่สักสิบเอ็ดสิบสองลำ เรือศีร์ษะแบนๆ รูปร่างคล้ายเรือเหนือบันทุกเพียบ ๆ สี่ห้าลำ พอแลเห็นสังเกตได้ว่าเปนเรือเหนือจอดอยู่ตามริมฝั่ง ไปประมาณสัก ๕๐ มินิตเศษถึงท่าน่าพลับพลา ฉนวนน้ำแลแต่ไกลนึกว่าเปนตะพานน้ำ น่าสุเหร่าใช้โครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว แลดูแต่ไกลเหมือนก่ออิฐถือปูน ท่วงทีเปนอย่างแขก มีปะรำตั้งแต่ตะพานขึ้นไปจนถึงพลับพลา มีร้านดาดปะรำพระสงฆ์นั่งข้างหนึ่ง ๗ รูป ข้างหนึ่ง ๖ รูป นั่งชยันโตคอยประน้ำมนต์ พระครูเจ้าคณะมานั่งอยู่ด้วย วัดที่พระครูอยู่แขกเรียกว่ากรากี แต่พระครูบอกเองว่าวัดกรักขีเปนวัดโบราณ อยู่ไกลออกไป ที่พลับพลานั้นทำเปนสี่มุข ยกพื้นกลางสูง มีพนักรอบเหมือนอย่างจะตั้งพระเจดีย์หรือฐานสุกชีพุทธปรางค์ปราสาทตั้งโต๊ะเก้าอี้เปนที่ประทับบนนั้น มุขและเฉลียงด้านหลังกั้นม่านแพรสีต่าง ๆ เปนข้างใน ที่ช่องม่านจะขึ้นไปบนยกพื้นกลางตัดผ้าปะเปนซุ้ม มีรูปช้างสามเศียรและตราเกี้ยวยอดแบนๆ มุขซ้ายขวายกพื้นไว้เปนที่เจ้านายนั่ง มุขน่าพื้นลดเสมอเฉลียง สำหรับหัวเมืองเฝ้า มีรั้วไม้ไผ่ขึงผ้าขาวเปนกำแพงรอบ ซุ้มประตูเหมือนกระบังหน้ามีจอนหู การที่ทำและที่ตกแต่งพลับพลาทั้งปวง เห็นชัดว่าเปนฝีมือแขกอยู่ข้างคล้ายสุเหร่ามากกว่าพลับพลา พวกเมืองกลันตันและเมืองสายขึ้นมาหา พระยาเดชานุชิตฝากหีบหมากทองสัมฤทธิ์เลี่ยมทอง เครื่องในนาก เปนอย่างหีบหมากแขกเช่นเลี้ยงอยู่ที่บ้าน เมื่อเวลาไปเมืองกลันตันมาให้ใบหนึ่ง กับหอกคอทองสลักสองเล่ม หอกคอทองตามธรรมเนียมและผ้าส้าโหร่งรายา ปรำปวนซึ่งเปนภรรยาพระยาเดชานุชิต มารดาพระยากลันตัน และตนกูปัตรีบุตรพระยาเดชานุชิตพี่พระยากลันตัน ซึ่งเปนภรรยาพระยาตานีคนก่อน ฝากผ้าส้าโหร่งไหมมาให้แม่กลางคนละสองผืน ผ้านั้นเนื้อหนาละเอียดเหมือนอย่างแพรฝรั่งเปนของทอในวังเมืองกลันตัน ควรนับว่าเปนฝีมืออย่างเอกได้ พระยาสายและญาติพี่น้องสีตวันกรมการก็ให้ของต่างๆ มีอาวุธเปนต้น ได้แจกของตอบแทนตามสมควร ข้างในภรรยาและญาติพี่น้องพระยาสายสวมเสื้อแพรประดับลายทองคำสลักเปนเพ็ชรโสร่งแทนลายปักเหมือนอย่างเสื้อปักดิ้นหลายคนมาต้อนรับ ได้ถามการต่าง ๆ ในเมืองสายได้ความว่า ลำน้ำนี้มีทางแยกไปได้สามทาง คือทางยี่งอไปเมื่อเก่า ซึ่งอยู่สูงขึ้นไประยะทางวันหนึ่ง พระยาสายเห็นว่าระดูแล้งน้ำแห้งเรือเดิรไม่ตลอด จึงได้เลื่อนลงมาตั้งเสียที่เมืองใหม่นี้ได้สิบแปดปีมาแล้ว แต่เมืองเก่ายังมีคนมากกว่า แม่น้ำอีกแยกหนึ่งไปที่กะลาพอ อีกแยกหนึ่งไปเมืองระแงะ ปลายคลองจดเมืองรามัน คนในเมืองได้ตรวจดูบาญชีครั้งก่อนมีห้าพันหลังเรือน แต่เดี๋ยวนี้คนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหาได้ตรวจดูไม่ จีนมีประมาณสัก $\left. \begin{array}{}\mbox{๗๐ } \\\mbox{๘๐ }\end{array} \right\}$ หลังเรือน แต่ไม่ต้องเสียอะเสค่าต้นไม้เงินทองเหมือนพวกแขก ผิดกันกับที่เมืองกลันตันเขาเก็บเสมอหน้ากัน คนในพื้นเมืองทำนาทำน้ำตาลตโนดปลูกมะพร้าว พวกจีนทำสวนมะพร้าว ปลูกเผือกปลูกมันและซื้อขายในตลาด มะพร้าวเปนสินค้าตรงเข้าไปขายกรุงเทพ ฯ น้ำตาลตโนดไปขายเมืองสิงคโปร์ เข้าไปขายเมืองกลันตันเมืองตรังกานู เรือเหนือบันทุกฝิ่นยาสูบยาแดงปลา ขึ้นไปขายถึงบ่อทองเมืองระแงะและเมืองรามัน ขาล่องบันทุกดีบุกบ้าง เข้าสารบ้าง เก็บภาษีเข้าสารร้อยคันตังเปนเงินครึ่งเหรียญ ปีหนึ่งเข้าออกอยู่ในแสนคันตัง (๒๐๐ เกวียน) คนไทยจีนแขกอยู่ปะปนกันไม่ได้แบ่งแผนกเหมือนเมืองตานี ทางเดิรตั้งแต่น่าพลับพลาไปจนถึงบ้านพระยาสาย ที่ริมเขาสิโลบายูกว่าสิบเส้น เปนทางกว้างทำไว้แต่เมื่อสร้างเมือง ตกแต่งบ้าง ข้างทางมีร้านขายผ้าอยู่สองสามร้าน มีบ้านเรือนล้อมรั้วหัน ๆ รี ๆ เกะกะไม่เปนระเบียบเรียบร้อย แต่ก็ทำนองเมืองตรังกานู ที่น่าบ้านพระยาสายทำพลับพลายกไว้หลังหนึ่ง ในที่ซึ่งถางกว้างเปนสนาม ไม่มีต้นไม้เลย รั้วบ้านกว้างประมาณสักสองเส้นเศษ ทำตึกขึ้นใหม่เปนสองหลังเคียงกันมีหลังหนึ่งชักกลางถึงกัน เปนความคิดและฝีมือจีนเปนแขกบ้างตามความปรารถนาของเจ้าของ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ที่อยู่เดี๋ยวนี้ข้างหลังตึกนั้น เปนเรือนแฝดฝาสานหลังหนึ่ง เรือนหลังเดียวล้อมสี่ห้าหลังชานแล่นถึงกันปูด้วยไม้หมาก ทำเปนมุขยื่นออกมาตรงกลาง และที่ตรงเรือนแถวที่จะเปนหอนั่งยังไม่แล้ว แต่ในบ้านนั้นไม่มีต้นไม้เลย แดดร้อนจัด ถามดูว่าทำไมจึงไม่ปลูกต้นไม้ ก็ว่าจะคอยหาต้นไม้ในกรุงเทพฯ ออกมาปลูก แล้วจัดการเลี้ยงที่เรือนเก่า ของหวานนั้นเลี้ยงเสียแต่ที่พลับพลาล่าง ใช้จานช้อนโต๊ะหนึ่งห้าสิบกว่าใบ แต่ขนมข้างล่างเปนฉาบ ๆ ข้างบนเปนชุบ ๆ คล้าย ๆ กับที่ทำกันอยู่ในกรุงเทพ ฯ ไม่สู้แปลกนัก ที่น้ำเย็นและที่น้ำชาใช้เหมือนเมืองกลันตัน มาเลี้ยงที่บ้านนี้เลี้ยงแต่ของคาวอย่างเดียว ไม่มีของหวาน สำรับเลวๆ ใช้โต๊ะทองเหลืองซ้อนกับเข้าสี่ชั้น แต่ที่ตั้งเครื่องใช้ถาดเงินเยอรมันโถฝรั่งเหมือนสำรับไทย แปลกแต่กับเข้าเปนสีเหลือง ๆ ดำ ๆ ไม่มีแดง เทือกแกงการีอย่างเหลืองเปนอาหารแขกทั้งนั้น การทำกับเข้าอยู่ข้างเปนรองเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ที่ตั้งเครื่องจัดเลี้ยงในห้องนอนของตัวเอง ซึ่งยังมีที่นอนอยู่ในที่นั้น การที่จัดรับรองทั้งปวงนั้นดูเปนที่ชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง ทำจนสุดกำลังที่จะทำได้ ภรรยาและญาติพี่น้องยกสำรับเองทั้งสิ้น เมื่อกลับมาแวะไปดูตลาดจีนซึ่งเลี้ยวไปตามลำน้ำประมาณสักห้าหกเส้น มีร้านขายผ้าและขายของมาก เมืองที่สิลินังบายูนี้ แลเห็นได้ว่าเปนเมืองใหม่ยังไม่บริบูรณ์เต็มที่ เพราะเมื่อก่อนสิบแปดปีนี้เปนป่าทีเดียว จนเดี๋ยวนี้ที่หลังเขาสองยอดที่กล่าวมาแล้วยังมีเสือมีเนื้ออยู่ พระยาสายคนนี้ไม่แต่พูดภาษาไทยได้รู้หนังสือไทยดีทีเดียว ได้ทดลองให้อ่านแล้ว เมื่อครั้งก่อนชวนให้พูดก็งกเงิ่นไป ครั้นมาครั้งนี้แต่แรกก็ไม่ใคร่จะพูด ต่อภายหลังคุ้นเคยและปลื้มมากเข้า ลงกราบทูลเปนภาษาไทยหน่องแหน่งเปนเสียงชาวนอก เพราะได้ไปเรียนหนังสือที่เมืองสงขลา อยู่ข้างจะเปนคนแขงแรง ถึงพวกสงขลาก็สรรเสริญ ว่าในทางราชการอยู่ข้างเข้าใจดีมาก แต่เปนไทยอย่างเก่าแท้ เดิมคิดว่าจะใคร่ออกเรือไปเมืองตานีเสียในเย็นวันนี้ แต่เห็นว่าต้อนรับแขงแรง และพวกกลันตันก็กระหายเฝ้าไม่ใคร่คลาศอยู่วันยังค่ำ จนบ่าย ๔ โมงจึงได้กลับลงมา พระยากลันตันยังมาลอยเรือเฝ้าอยู่ข้างเรือ ยิ้มย่องอยู่ไม่กลับไปจนจวนพลบ เห็นว่าจะบอบนัก ด้วยมาคอยอยู่ถึงสี่วันแล้ว จึงบอกให้กลับไปเรือ และอนุญาตให้กลับไปเมืองก่อนเวลาที่เรือที่นั่งออก ในเวลาค่ำที่เรือยังทอดอยู่นั้น บนบกก็ตั้งกองล้อมวงกองไฟ ตีฆ้องกันขานไป และมีกลองแขกลงเรือมาตีอยู่ห่าง ๆ จนดึกเวลา ๘ ทุ่มออกเรือจากเมืองสาย

วันที่ ๑ เดือนสิงหาคม เวลาเช้าโมงเศษทอดที่น่าเมืองตานี พระยาตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร พระศรีบุรีรัฐพินิจ พระพิพิธภักดีลงมาหา รับเปนไปรเวตในเรืออุบลบุรทิศ เปลี่ยนตราพระยาตานีเปน จ. ม. พระยาพิทักษ์เปน ม. ม. พระศรีให้ ภ. ม. พระพิพิธให้ ท. ช. เห็นว่ามาจอดอยู่ในกลางทเลแดดร้อนนักสั่งให้เขาขึ้นไปคอยรับเสียที่วัดก่อน เวลา ๔ โมงเช้าแต่งตัวเต็มยศ เพราะจะมีงารเปนการฉลองวัด ขึ้นไปชั่วโมงหนึ่ง ถึงฉนวนน่าวัดตานีบางน้ำจืด ขึ้นไปเลี้ยงพระบนตึกการเปรียญที่ทำขึ้นใหม่ พระสงฆ์ฉัน ๗ รูป หลวงจีนคณานุรักษ์จัดสำรับแลมีของตักบาตรขึ้นไปจากในเรือด้วย พระสงฆ์ฉันแล้วถวายไตรองค์ละไตร พระยาตานีจัดของไทยทานมาช่วยในการทำบุญ ผ้าขาวพับหมากพลูธูปเทียนดอกไม้ใบชาไม้ขีดไฟ เข้าสารทำเหมือนขันตักบาตรมีทัพพีมาให้ตักบาตร ดูอยู่ข้างเข้าใจอย่างทำบุญไทยมาก เวลาบ่ายสวดมนต์ พระสงฆ์ในวัดเพิ่มขึ้นอีก ถวายเงินแทนเครื่องไทยทาน พระครูพิพัฒสมณกิจ และพระสมุหวัดใหม่ องค์ละสิบสองเหรียญ พระอันดับในวัดตานีองค์ละ ๖ เหรียญ ๑๒ รูป พระอันดับวัดใหม่องค์ละ ๓ เหรียญ ๗ รูป มีงารฉลอง โนห์ราสองโรง มายงโรงหนึ่ง หนังแขกโรงหนึ่ง หนังไทย (คือหนังตลุง) โรงหนึ่ง รำกฤชวงหนึ่ง เล่นตั้งแต่เช้าจนเย็น ราษฎรมาประชุมกันกว่าสามพันคนเต็มไปทั้งลานวัด ได้ให้พระยาไชยาล่วงน่าขึ้นมาแต่วานนี้ ให้จัดซื้อขนมผลไม้แลของกินต่าง ๆ บันดามีในตลาดทั้งสิ้น จะเลี้ยงราษฎร พระยาไชยาซื้อมาได้เพียง ๑๘ เหรียญหมดตลาด ต้องว่าให้ทำ แลให้หามาขายอีกจึงได้ของมาต่อบ่าย จำหน่ายเงิน ๘๙ เหรียญหมดสิ่งของ แล้วแจกให้แก่ราษฎรเปนการครึกครื้นสนุกสนานกันมาก เวลาเย็นได้ทิ้งทานเงินเฟื้องเงินสลึง ๗ ชั่ง ปันไม่ให้ผู้หญิงผู้ชายปนกัน แย่งทานเสียงร้องกิ๊วๆ เหมือนเร่งพายเรือ กึกก้องกาหลกันยิ่งใหญ่ แล้วมีแกะชน ท่านผู้ช่วยสองคนลงไปเต้นอยู่กลางสนาม จนถึงพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร พระยาตานีเองก็อดดีดมือไม่ได้ ดูเปนการสนุกสนานครึกครื้นรื่นเริง ตั้งแต่เจ้าเมืองกรมการตลอดลงไปจนราษฎร มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ไม่ขาด พวกบุตรภรรยาเจ้าเมืองกรมการก็พากันไปนั่งน่าพลับพลาอยู่วันยังค่ำ พลับพลาที่ห้ามไม่ให้ทำก็ขืนทำจนได้ แล้วได้ติดศิลาจารึกเรื่องที่ปรารภสร้างศาลาและเพิ่มชื่อวัดว่า วัดตานีนรสโมสร หลวงจีนคณานุรักษลงทุนเลี้ยงข้าราชการแลทหารทั่วไป ได้ให้ตรา ว. ม. ดวงหนึ่งกับสิ่งของอื่น ๆ ตามสมควร คนซึ่งพระยาตานีเกณฑ์มาใช้สี่ร้อยคนก็ได้ให้เงินแจกสิบชั่ง

เวลาเย็นลงเรือขึ้นไปดูที่เตาหม้อ ทำอิฐโอ่งอ่างที่ตำบลเกาะเหนือตลาดขึ้นไปหน่อยหนึ่ง แล้วกลับลงมาขึ้นบกที่ถนนตลาด เดิรในเวลาที่ไม่ทันรู้ตัว ดูร้านตลาดขายผ้าผ่อนครึกครื้นแน่นหนาขึ้นมาก เมืองตานีเปนเมืองกำลังเจริญ เข้าเกลือบริบูรณ์ สินค้าเข้าออกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นับว่าเปนที่สองเมืองสงขลาได้ ที่ตลาดจีนข้างริมปากน้ำก็มีตึกแลโรงขึ้นอีก ตั้งแต่ตลาดจีนไปจนกระทั่งถึงตลาดแขกมีหนทางริมแม่น้ำอยู่แต่เดิมนั้น เดี๋ยวนี้หมดจดเรียบร้อยกว่าแต่ก่อน บ้านเรือนก็เกือบจะติดต่อกัน มีรั้วตลาดหลายสิบเส้น เดิรไปจนถึงที่บ้านพระยาตานี ในรั้วรเนียดชั้นนอกมีโรงงารมโหรศพแลร้านขายของ ทำนองหลังรทารุงรังเต็มไป ที่หอนั่งมีโต๊ะยาวตั้ง ตรงโต๊ะขึ้นไปติดรูปฉัน บนโต๊ะตั้งต้นไม้เงินทองสำหรับการพิธีของเขา ใหญ่สองต้นเล็กสองต้น มีเทียนใหญ่คู่หนึ่ง เทียนเล็กสองคู่จุดอยู่ตั้งสัญญาบัตรแลเครื่องยศพระยาตานีรายามุดาผู้ช่วย โต๊ะอันนี้ได้ตั้งไว้สองเดือนเศษเกือบสามเดือนมาแล้วด้วยทำการฉลองตรา พระสงฆ์ไทยสวดมนต์สามวัน สวดภาณวารด้วย แล้วทำบุญแขกอีกห้าวัน ต่อไปนั้นไปมีงารสำหรับที่เอาไปเล่นที่วัด เล่นเปรอะไปทุกวัน มีการเลี้ยงกันเล่นเบี้ยบ้าง ติดต่อกันกับแต่งงารบุตรสาว ซึ่งยกให้เปนภริยาพระศรีบุรีรัฐพินิจ การที่มาเมืองตานีครั้งนี้เห็นเปลี่ยนแปลกไปกว่าแต่ก่อนหมด พวกพี่น้องผู้หญิงแลผู้ชายซึ่งนั่งแตกกันอยู่เปนสองพวกต่างคนต่างนินทากันนั้น กลับเข้ากลมเกลียวรักใคร่กันเปนอันหนึ่งอันเดียว ด้วยพระศรีผู้ซึ่งเปนคู่แข่งขันนั้นกลับมาเปนลูกเขยเสียแล้ว พวกที่เคยนินทาอยู่แต่ก่อนกลับสรรเสริญพระยาตานี ว่าเปนคนโอบอ้อมอารีรักใคร่พระศรีมาก ภริยาพระยาตานีที่ตายก็แจกนาให้ทำกินทุกคน บ้านใหญ่ซึ่งเปนที่สำหรับเจ้าเมืองนั้นก็ไม่เข้าไปอยู่ ยอมให้พระศรีอยู่ พวกพี่น้องผู้หญิงของพระยาตานีที่ตาย ที่มีผัวแยกบ้านเรือนไปก็พากันกลับเข้ามาอยู่ในบ้านนั้นรวบรวมกันทั้งสิ้น ตัวพระยาตานีเองอยู่บ้านเดิมซึ่งเปนบ้านเล็ก การปราบปรามโจรผู้ร้ายในบ้านเมืองก็แขงแรง ราษฎรพากันนิยมนับถือมาก เมืองสงขลาซึ่งเปนผู้บังคับที่ออกระหองระแหงอยู่แต่ก่อน ก็กลับสรรเสริญยกย่องว่าเปนคนดีดูหยอดกันมาก พระยาตานีคนนี้อยู่ข้างจะเปนคนที่ควรนับว่ามีสติปัญญาแลอัธยาศัยเรียบร้อยแท้ ถึงแม้นว่าจะมีความคิดที่พอจะเดาถึงอยู่บ้างก็ซ่อนเงื่อนมิดชิดดีนัก ฉันสังเกตได้อย่างหนึ่ง ว่าแต่ก่อนเมื่อตัวพระยาตานีเปนพระศรี ในสัญญาบัตรว่าเปนผู้ช่วย แต่เรียกกันในพื้นเมืองว่ารายามุดาชื่ออยู่น่าพระพิพิธ แต่ครั้นเมื่อยื่นบาญชีชื่อทูลเบิกครั้งนี้ ชื่อพระยาพิพิธอยู่น่า พระศรีอยู่หลัง เรียกว่าผู้ช่วยทั้งสองคน ก็ยังคิดเห็นอยู่ว่าบางทีจะเปนพระสุรินทรามาตย์ไขว้เขวไปเอง แต่ครั้นเมื่อผู้หญิงไปพูดกับพวกผู้หญิงชาวเมืองนั้น เรียกพระศรีว่ารายามุดาไม่มีใครรู้จักเลย รู้แต่ว่าเปนผู้ช่วย ทั้งสัญญาบัตรครั้งนี้เรียกว่ารายามุดาด้วย เพราะฉันจะแก้การบาดหมางด้วยซ้ำไป เขามาทำกันเสียเงียบๆ ได้สบายดีไม่มีใครสดุ้งสเทือนเลย เห็นว่าความมุ่งหมายภายน่าคงยังมีอยู่ ที่แท้พระพิพิธดูมีแววมากกว่าพระศรี มีเงาแตกร้าวอยู่อีกเรื่องหนึ่ง คือตาพี่ชายที่เปนพระเปนเถรเรียกกันว่ากูหะยี คราวนี้มาหาฉันที่เมืองหนองจิก บอกว่าย้ายไปอยู่ที่นั่น ถามถึงความเดือดร้อนอันใดก็ไม่พูดเลยทั้งผัวทั้งเมีย เปนแต่ยายเมียยิ้ม ๆ อยู่บ้าง แต่คนทั้งปวงนั้นดูลืม ไม่นึกถึงตาคนนี้เลยแต่เดิมมา การคุ้นเคยของพระยาตานีกับฉันดูสนิทสนมมากขึ้น เมื่อมาครั้งก่อนพูดไทยไม่เข้าใจ แต่ไม่พูดออกมาเลยเปนอันขาด คนอื่นยังล่อได้บ้าง แต่ครั้งนี้ตกบ่ายลงพูดไทยกับฉันจ้อทีเดียว ที่ไม่พูดนั้นจะเปนด้วยรู้ศัพท์ไม่พออย่างหนึ่ง พูดไม่ชัดคือไม่ดังเชื้อช้าวเช่นชาวนอก เสียงกราวๆ ไปเช่นแขกฤๅฝรั่งพูดไทยนั้นอย่างหนึ่ง ประหม่าสะทกสะท้านนั้นอย่างหนึ่ง พอได้พูดไทยเสียก็ดูสบายใจขึ้นมาก ทำอาการกิริยาเกือบจะเปนข้าราชการไทยๆ เดิมคิดว่าจะแวะตลาดจีน แต่เวลาค่ำเสียไม่ได้แวะ กลับลงมาเรือติดเข็นอยู่จนสองทุ่มได้มาถึงเรือ

วันที่ ๒ เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ลงเรือกันเชียงพวกเมืองตานีนำทาง พระยาตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร รายามุดา ผู้ช่วย และเรือพวกเมืองตานีตามไปด้วยหลายลำ ไปในอ่าวตามฝั่งแลเห็นมีเรือนพวกหาปลารายเปนหมู่ๆ ไปเกือบจะตลอดฝั่ง มีต้นตาลเปนอันมาก เรือเล็กๆ ตกเบ็ดอยู่ตามน่าหาดเปนหมู่ๆ เปนพวกหาปลาทั้งสิ้น ไปได้ครึ่งทางเรือกรมการเมืองยิหริ่งออกมารับห้าลำ คลลำละ $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๑ } \\\mbox{๑๒ }\end{array} \right\}$ คน มีเรือค้าขายทางทเลจอดรายไปตามทางหลายลำ ปากช่องลำน้ำเปนป่าไม้โกงกางที่แหลมเลนยื่นออกมา มีนกจับขาวไปเหมือนเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ที่ทอดสมอเมืองตานีไปจนถึงปากอ่าวสองชั่วโมงเศษ ลำน้ำนั้นแรกเข้าไปคล้ายเมืองนครศรีธรรมราช แต่ครั้นเมื่อเข้าไปลึกก็กว้างขึ้น มีร้านทำปลาหลายแห่ง ต่อเข้าไปในตลิ่งสูงหน่อยหนึ่ง ไม่มีบ้านเรือนคนจนเกือบจะถึงที่ตลาด จึงได้มีบ้านหมู่หนึ่งประมาณ $\left. \begin{array}{}\mbox{๒๐ } \\\mbox{๓๐ }\end{array} \right\}$ เรือน มีต้นมะพร้าวต่อออกไปเปนท้องนา ครึ่งชั่วโมงถึงท่าเมืองยิหริ่ง เขาแต่งโรงหลังหนึ่งคล้ายโรงเลื่อยไม้เปนพลับพลาที่รับริมท่า ขึ้นนั่งรอพอพรักพร้อมกัน นิโซ๊ะบุตรพระยายิหริ่ง พาสีตวันกรมการมาคอยรับอยู่ที่นั่น แล้วออกเดิรตามหนทางที่เรียกว่าเปนถนนไม่ได้ เพราะเปนพื้นทรายปรกติทั่วไป ทรายลึกเดิรลำบาก ผ่าน่าบ้านพระยายิหริ่งเก่า มีหอนั่งเปนโรงหลังคามุงกระเบื้อง เรือนฝากระดานหลังคามุงกระเบื้องหลายหลังแต่ชำรุดทรุดโซม ต้นไม้ขึ้นรกเปนที่ร้าง ต่อนั้นไปเปนสุเหร่ามีโรงสวดย่อมๆ หลังคามุงกระเบื้องหลังหนึ่ง มีหอระฆังหอหนึ่ง ที่วัดนั้นก็อยู่ข้างจะโทรมแต่ไม่ถึงร้าง อีกฟากถนนหนึ่งถึงก็เปนบ้านเรือน มีบ้านนิโซ๊ะอยู่ต้นทาง แต่รั้วและเรือนเกือบๆ จะพังอยู่แล้วทั้งนั้น ถนนเลี้ยวไปทางริมน้ำเปนตลาดปลูกต้นประดู่กลางถนนร่ม ในใต้ต้นประดู่นั้น มีร้านเล็กๆ เรียงเปนสี่แถวหันหน้าเข้าหากัน เดิรเปนสองทางคล้ายตลาดเมืองกลันตัน แต่ขายผ้าและของกินคละปะปนกัน ประมาณสัก $\left. \begin{array}{}\mbox{๕๐ } \\\mbox{๖๐ }\end{array} \right\}$ ร้าน ดูก็มีผ้าผ่อนมาก แต่ราคาผ้าที่ซื้อขายกันแพงกว่าเมืองตานี เปนผ้าทอในเมืองยิหริ่งบ้าง ผ้าดอกมาแต่สิงคโปร์บ้าง มีหีบและกลักเหล็กวิลาศอย่างหนึ่งซึ่งเปนของทำซื้อขายในเมืองยิหริ่งเอง ได้ไต่ถามในการเมืองยิหริ่งจากนิโซ๊ะก็ทราบบ้างไม่ทราบบ้าง ดูไม่สู้เปนคนคุ้นเคยในราชการนัก ในเมืองยิหริ่งนี้เสียเปรียบเมืองสายเมืองตานีมาก ด้วยลำน้ำขึ้นไปด้วน น้ำเค็มตลอดจนปลายคลอง เรือค้าขายก็มีแต่เรือเล็กๆ บันทุกเข้าสารเกลือน้ำตาลตโหนด ซึ่งเปนของเกิดในเมืองยิหริ่งเองขึ้นล่อง น้ำตาลตโหนดเปนอย่างมีมากที่ได้ซื้อขายออกต่างเมือง บ้านเรือนที่ริมตลาดนี้ แลต่อออกไปหน่อยหนึ่งจนถึงคลองแยก เปนบ้านจีนบ้านไทยมาก จีนมีประมาณสิบห้าหลังเรือน เปนแต่คนซื้อขายไม่ได้ทำมาหากินด้วยที่แผ่นดิน เข้าออกจากเมืองยิหริ่งบ้าง เมื่อเวลากลับมาก็ได้เห็นกำลังบันทุกอยู่ ว่าอยู่ในประมาณสองหมื่นคันตังเปนอย่างน้อย คนในเมืองนี้ว่าประมาณสามพันเรือน คนไทยมีมาก วัดถึงสิบห้าวัด ตามตลาดพบคนไทยฤๅแขกที่พูดไทยได้มากกว่าเมืองอื่นๆ หมด ปลาที่กินในเมืองเปนปลาน้ำเค็มเปนพื้นปลาทูก็มี แต่ปลามีน้อยพอกินในเมืองไม่ได้จำหน่าย เดิรกลับจากตลาดแล้วตรงไปตามทางที่ขึ้นมาจากท่า หน่อยหนึ่งถึงบ้านพระยายิหริ่ง อยู่เยื้องกันกับบ้านพระโยธานุประดิษฐหน่อยหนึ่ง รั้วเปนไม้ไผ่ตีแตะลายสี่ อยู่ข้างจะซุดโทรม ประตูไม้สามช่องเปนแบบวังแขก มีรั้วชั้นเดียวก็เข้าไปถึงหอนั่ง ที่หอนั่งเปนโรงจากยกพื้นสูง แต่ดาดสีผูกม่าน ปูพรมและเสื่อเปนพลับพลา ตั้งโต๊ะเก้าอี้มีจนเตียงนอน มารดาและภรรยาพระยายิหริ่ง กับทั้งพี่สาวซึ่งเปนภรรยารายามุดาเมืองกลันตันคนก่อน ภรรยาพระโยธานุประดิษฐ ภรรยานิโซ๊ะกับญาติพี่น้องผู้หญิงออกมารับจัดกับเข้าของเลี้ยงมาเลี้ยง เปนสำรับอย่างไทยรองถาดตามธรรมเนียม แต่กับเข้านั้นเปนกับเข้าแขกเปนพื้น มีกับเข้าไทยเจือสองสามสิ่ง ของหวานเปนอย่างไทย ภรรยายิหริ่งผู้นี้เรียกกันว่าแม่บ๋า เปนลูกตนกูโนชาวเมืองตานีอยู่ในกรุงเทพฯ พูดภาษาไทยได้ จัดการรับรองอันใดก็อยู่ข้างจะเปนไทย แต่เปนเวลาที่จะรีบร้อนออกเรือ จึงได้ให้เงินเปนค่าเบี้ยเลี้ยงห้าสิบเหรียญ และให้แจกคนที่เกณฑ์ไปรับและใช้การงาร ๒๐๐ เหรียญ แล้วกลับมาลงเรือ ออกจากเมืองยิหริ่งมาถึงเรืออุบลบุรทิศเกือบบ่าย ๓ โมง พอคนพร้อมก็ออกจากเมืองตานีเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง

เวลาบ่าย ๕ โมง ๔๐ มินิต ถึงเมืองเทพา ที่ฝั่งแลเห็นมีเขาลูกหนึ่งหลังทรายยาว แลเห็นแหลมที่ต่อแดนกับบเมืองจะนะเปนภูเขาติดต่อกันเทือกยาว เวลาที่มาถึงเปนหมอกกลุ้มไปตามฝั่งเหมือนอย่างฝนตก มีลมพัดหนาวออกมาจนถึงเรือ พระยาสุนทรานุรักษ์ พระดำรงเทวะฤทธิ์เจ้าเมืองเทพา พระยาหนองจิกตามขึ้นมาหาที่ในเรือด้วย เวลาเย็นค่ำเสียแล้วจึงไม่ได้ขึ้นบก วันนี้เปนวันได้รับหนังสือเมล์ซึ่งมาด้วยเรือนฤเบนทรบุตรี จึงได้หยุดทำหนังสืออยู่จนดึก

วันที่ ๓ เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐ มินิต ลงเรือกระเชียงขึ้นไปตามลำน้ำเมืองเทพา ที่หาดทรายปากช่องมีกองฟืนมาก เพราะใช้ทั้งการที่เตรียมรับเสด็จด้วย สงขลาก็ใช้ฟืนเมืองเทพาด้วย มีเรือนโรงสองฝั่งประมาณ ๔๐ หลัง มีต้นมะพร้าวต้นตาลเล็กน้อย เปนบ้านคนทำปลา คนพวกนี้ว่าเปนแขกเมืองกลันตันมาก ต่อนั้นเข้าไปเปนป่าไม้โกงกางไม้เสม็ด ลำน้ำเข้าไปข้างในยิ่งกว้างขึ้น มีบ้านอีกหมู่หนึ่งประมาณ $\left. \begin{array}{}\mbox{๑๑ } \\\mbox{๑๒ }\end{array} \right\}$ หลังเรือนอยู่ฝั่งข้างขวา ฝั่งข้างซ้ายมีไร่ยาหลายไร่ มีคลองแยกแต่ลงเฝือกทำปลา พ้นจากนั้นขึ้นไปเลี้ยวหนึ่ง ถึงเกาะกลางแม่น้ำเปนเกาะใหญ่อยู่ อยู่ตรงน่าบ้านพระเทพา แม่น้ำตรงนั้นกว้างใหญ่ทั้งสองทาง ที่เกาะนี้เปนที่นกชันมีชุม นกชันนั้นรูปพรรณสัณฐานคล้ายนกคุ่ม แต่ขายาวสีแดงตลอดจนถึงนิ้วเท้า สีที่ฅอเปนสีน้ำตาลเจือแดง แต่สีขนปีกเหมือนนกกระทานกคุ่ม ดวงตาแดงเปนสีทับทิม นกพวกนี้สันดานเปนคั้งคาว กลางคืนตื่นขึ้นหากิน กลางวันนอน ถ้าฤดู $\left. \begin{array}{}\mbox{๖ } \\\mbox{๗ }\end{array} \right\}$ เปนเวลากำลังที่มีเนื้อ มีชุมมาก นัยว่าดักได้ถึงวันละ $\left. \begin{array}{}\mbox{๓๐๐ } \\\mbox{๔๐๐ }\end{array} \right\}$ แต่จะควรหารบ้างหรือประการใดนั้นตามใจ พระยาสุนทราเปนผู้พูดก่อน แต่มีผู้รับยืนยันว่าจริงหลายปาก วิธีที่จะดักนั้นกลางคืนไปนั่งอยู่ที่เกาะ ไม่ว่าคนมากน้อยเท่าใด ไม่เปนเหตุทำให้ตื้นเต้นหลบหนี ห้ามอย่างเดียวแต่ไม่ให้สูบบุหรี่ มีหมอที่สำหรับร้องเลียนเสียง พระยาสุนทราบอกว่าร้องแกร้กๆ แกร้กๆ ดูเสียงไม่น่านกลงเลย แต่ครั้นเมื่อได้ฟังร้องวันนี้ ดูเสียงฉ่ำเฉื่อยเยือกเย็นเปนเสียงนก เวลาร้องนั้นร้องสองคนประสานกันไป คนหนึ่งร้องเสียงนางนก ก๊อกๆๆๆๆ ฯลฯ คนหนึ่งร้องเสียงนกผู้ กิ๊ว ปรื้อ – แต่ปรื้อนั้นลมออกริมฝีปากลากยาวไป แล้วมีรื้อขึ้นมานิด ๆ ลากต่อไปอีกสองคราว จึงหมดโน๊ตครั้งหนึ่ง นัยว่าถ้าไปเรียกเช่นนี้นกพวกนี้ที่บินอยู่ในอากาศก็ลงมาถึงพื้นแผ่นดินใกล้ ๆ ตัวคนบ้าง นัยว่าถึงจับศีร์ษะคนต้องร้องล่อไว้จนสว่าง พอแสงสว่างขึ้นแล้วก็เปนบินไปไหนไม่ได้ด้วยตาฟางมืด หรือเปนเวลานอน แต่ถ้าทิ้งไว้จน ๕ โมงเศษหรือเที่ยงเปนเวลาตื่นก็ไปได้ วิธีที่จะจับนั้นเมื่อเรียกลงมาไว้ได้จนรุ่งเช้าแล้ว จึงไล่ต้อนให้เข้าไซเหมือนอย่างเช่นดักปลา ไม่ต้องยิงต้องจับอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เห็นเปนการที่น่าดูอยู่เช่นนี้ จึงให้พระยาสุนทราลงมาคอยอยู่ที่เมืองเทพา ครั้นเมื่อเวลาคืนนี้มาถึง ได้ถามพระยาสุนทรา พระยาหนองจิก พระยาเทพาซึ่งรับรองสมคำกันมาแต่เดิมนั้น แจ้งว่าในฤดูนี้ตกมาถึงเดือนเก้านกเหล่านี้น้อยไป ไม่ชุมเหมือนเดือน $\left. \begin{array}{}\mbox{๖ } \\\mbox{๗ }\end{array} \right\}$ เปนเวลาตกฟองใหม่ ๆ กำลังผอม พระยาสุนทราได้ลองไปเรียกดูสองคืน แยกเรียกหลายแห่งด้วยกัน ได้แต่เพียงแห่งละเก้านกสิบนก ไม่ตั้งร้อยดังเช่นว่า แต่คงจะมีตัวนกที่ทดลองได้ เดิมฉันคิดว่าจะขึ้นไปในเวลาค่ำ ดูเมื่อนกลง จึงได้รีบมาให้ถึงเมืองเทพาแต่วานนี้ ครั้นเมื่อทราบว่านกไม่ลงมากเหมือนอย่างเช่นว่าแต่ก่อน และไม่เกลื่อนกลุ้มถึงจับหัวดังเช่นว่า จึงให้เขาเรียกเสียเวลาเช้าวันนี้จึงขึ้นมาดู ที่ซึ่งต้อนให้นกเข้าไซนั้น เอาไม้ทำเปนคร่าวสระใบไม้เปนปีกกา เอาไซวางดักไว้ที่ปากช่อง เวลาที่จะไล่นกก็ร้องเสียงเบา ๆ เอาใบไม้ไล่ฟาด ๆ นกนั้นก็วิ่งเข้ามา ประสงค์แต่ที่จะหลบเข้าซุกรกอย่างเดียว ตะครุบจับก็ได้ง่าย ๆ เมื่อไล่ให้เข้าไซก็วิ่งไปถึงน่าไซ เห็นใบไม้ที่สระรก ๆ ก็ลอดเข้าไปอยู่ในไซ แต่ที่ต้อนวันนี้ได้ห้าตัวเท่านั้น ตะครุบจับเอาตัวหนึ่งมาพิเคราะห์ดูก็อยู่ข้างผอมจริง และง่วงงุยงายไม่สู้ดิ้นรนนัก ถ้าจับไว้ในมือนิ่ง ๆ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หลับตา ท่าทางอยู่ข้างครึมครำ นกที่พระยาสุนทราดักไว้ได้แต่ก่อนนั้นก็ได้เรียกมาไว้แล้ว ฉันคิดจะเลี้ยงเข้าไปให้ถึงกรุงเทพ ฯ เห็นว่าคงจะเลี้ยงรอดได้ด้วยดูไม่เปรียวเลย อาหารก็อย่างนกกระทาหรือลูกไก่นั้นเอง นกเช่นนี้ว่าถ้าเปนฤดูที่มีชุม ขายในท้องตลาดเมืองสงขลาตัวละไพ เราฟังดูไม่สู้น่าเชื่อ แต่ไปเอ่ยขึ้นกับคนที่สงขลาดูรู้กันซึมทราบไม่เปนการอัศจรรย์อันใด ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาน่าหมู่บ้านที่เปนเมืองเทพานั้น มีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณสัก ๓๐ หลัง ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนากว่ามาก มีวัดอยู่วัดหนึ่งเปนของเก่า แต่พระเทพาเรือง คนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสิมา ได้ให้ใบอนุญาตแลเติมท้าย ชื่อเดิมซึ่งชื่อว่าวัดเทพา ให้มี เรือง อีกคำหนึ่ง ชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินช่วยในการวัดสองชั่ง

เมืองเทพานี้อยู่ข้างเปนที่ขัดสนกันดารมาก เพราะพื้นที่ไม่ดีเอง ลำคลองเทพาปลายขึ้นไปถึงเหมืองดีบุก แขวงเมืองยะลาตวันออกเฉียงเหนือต่อเมืองจะนะ ตวันตกเฉียงเหนือต่ออำเภอจะแหนขึ้นสงขลา ตวันตกต่อเมืองไทร ตวันตกเฉียงใต้ต่อเมืองยะลา ทิศใต้ต่อเมืองหนองจิก มีคนอยู่เรี่ยรายกันไปประมาณสักพันเรือน เปนแขกมากไทยก็มีจีนมีน้อย สิ่งซึ่งเปนที่เสียของเมืองเทพานั้น คือพื้นแผ่นดินลุ่ม น้ำเหนือท่วมอยู่นานๆ น้ำทเลขึ้นถึง แผ่นดินเค็มอยู่เสมอทำนาไม่ได้ ทำได้แต่เข้าไร่ที่ใกล้ๆ เขา แต่ไม้มีมาก หวายต่างๆ แลชันก็มี แต่ไม่มีผู้ใดทำ ไม่ได้เปนสินค้าออกจากเมือง เพราะราษฎรในเมืองไม่มีเข้าพอกิน คนที่อยู่ในเมืองนี้ต้องเสียแต่ค่าเข้า ที่เรียกว่าค่าน้ำมันดิน เห็นจะเปนค่าน้ำค่าดิน แต่น้ำเสียงชาวนอก เมื่อเรียกติดกับคำอื่นน่าจะมีมะขึ้นได้ แล้วจึงกลายเปนมันไป เสียสิบลดหนึ่งหรือลดสองกับเกณฑ์ให้ตัดฟืน คนหนึ่งปีละร้อยดุ้น เฉลี่ยเกณฑ์พอให้ได้ครบห้าหมื่นดุ้น นอกนั้นไม่ต้องเกณฑ์อันใด ฉันได้ว่ากับพระยาสุนทราว่าถ้าคิดซื้อเครื่องจักรเลื่อยไม้มาตั้ง จ้างราษฎรตัดไม้พอมีทางหากิน คนเห็นจะติดมาก เขาก็เห็นด้วย แต่ยังครางออดแอดจะต้องหาหุ้นส่วนต่อไป

อนึ่งหลวงประชาภิบาลผู้ช่วยราชการเมืองยิหริ่งกับยิควน ซึ่งเปนบุตรพระยายิหริ่งแตง กับราษฎรอีกสามรายมาร้องฎีกากล่าวโทษพระยายิหริ่ง ว่ากระทำการคุมเหงตัวและราษฎรต่าง ๆ ฉันเห็นว่าควรจะยื่นเรื่องราวที่ผู้รักษาเมืองสงขลาก่อน จึงได้คืนเรื่องราวไป แต่ความเรื่องพระยายิหริ่งนี้ ว่ามีโจทมาร้องต่อพระยาวิเชียรคิรีชมถึง $\left. \begin{array}{}\mbox{๔๐ } \\\mbox{๕๐ }\end{array} \right\}$ คน ร้องที่พระยาสุนทราก็มี ได้มีใบบอกเข้าไปที่กลาโหมสั่งให้หาตัวพระยายิหริ่งมาชำระ พระยายิหริ่งบิดพลิ้วเสียไม่มา เปนช้านานจึงได้ได้ตัว ข้อความที่หานั้นหาว่าฆ่าคนไม่มีความผิดบ้าง เก็บริบทรัพย์สมบัติตามชอบใจบ้าง แต่ในเรื่องราวหลวงประชาภิบาลนั้น หลวงประชาภิบาลก็เปนหลานพระยายิหริ่ง ได้เปนผู้ให้ยืมเงินเข้าไปเสียค่ารับตำแหน่งในกรุงเทพ ฯ ถึงสามพันสามร้อยเหรียญ ยิควนนั้นก็เปนหลานและเปนบุตรเขยพระยายิหริ่ง หาว่าพระยายิหริ่งคุมเหงต่าง ๆ จึงต้องแตกร้าวกัน พระยายิหริ่งให้การรับตามที่หา แต่อ้างว่าผู้ที่ฆ่าเสียนั้นมีความผิด และที่เก็บทรัพย์สมบัติมานั้นก็มีความผิด แต่จะเรียกสำนวนคำตัดสิน ก็ว่าไม่ได้เขียนไว้สักเรื่องเดียว เดี๋ยวนี้ความก็ยังพิจารณาอยู่ แต่พระยายิหริ่งไม่เข้าใจทางความเลย บิดพลิ้วหลีกเลี่ยงไปไม่ใคร่ไปศาลจึงได้ช้าอยู่ ฉันก็ตักเตือนพระยาสุนทราให้เร่งว่ากล่าวเสียให้เห็นผิดแลชอบ ถ้ามีความผิดจริงก็ลงโทษได้ อย่าให้เปนที่ติเตียนว่าหนักหน่วงความไว้ด้วยการที่แกล้ง ให้เปนที่หวาดของเมืองแขกทั้งปวง

อนึ่งพระยาสุนทรานุรักษ์แจ้งความว่า พระยาไทรบุรีกับพระยาสุรพลพิพิธมาถึงเมืองสงขลา ไม่ทันเวลาที่ฉันอยู่ ทราบว่าพระยาสุนทรานุรักษ์มาคอยรับฉันจะแวะที่เมืองเทพา จึงได้ขอเรือมาดเก๋งที่เมืองสงขลาพายมาคืนยังรุ่ง ถึงหาดทรายน่าเมืองเทพาเวลาเช้าวันนี้ ให้คนเดิรบกขึ้นไปบอกพระยาสุนทราที่พลับพลา พระยาสุนทราได้สั่งให้ตามขึ้นไปหาฉันที่พลับพลา จึงได้คอยอยู่จนเช้า ๔ โมงเศษก็หายไป เห็นว่าจะเปนด้วยพระยาสุรพลมาเรือคนละลำยังไม่ถึงรอคอยกันอยู่ ฉันยังไม่ได้กินเข้าเช้าขึ้นไปจึงได้กลับลงมาเรือ จัดเรือกระเชียงให้ไปรับมาหาในเรืออุบลบุรทิศ พระยาสุรพลพิพิธนั้นดูชราไปมาก ผมหงอกขาว ได้ถามถึงวันที่มาเดิรทางบกอยู่ ๔ วัน พักที่สงขลาวันหนึ่งลงเรือมาวันหนึ่ง เปน ๖ วันด้วยกันแล้ว ฉันเห็นว่าเวลาจะกลับไปเมืองสงขลาต้องทวนลมกว่าจะไปถึงเมืองสงขลาก็จะช้า จึงชวนให้ลงเรือเวสาตรีจะไปส่งที่สงขลาก็ไม่ยอม ว่าจะต้องขนเข้าของเปนความลำบาก ด้วยเรือกลไฟทอดอยู่ห่างฝั่งมาก มีคลื่นลม เปนเวลามีคลื่นอยู่บ้าง จะขอไปเรือเล็กเลียบฝั่งไปเหมือนเมื่อมา ได้พูดกันถึงราชการบ้าง เรื่องการทำรังนกบ้างประมาณค่อนชั่วโมง จึงได้ให้เรือกระเชียงใหญ่ (เรือเหว) ไปส่งที่เรือ และจัดสะเบียงอาหารที่ในเรือไปส่งให้ ด้วยในเมืองเทพานี้นอกจากเข้ากับปลาแล้วไม่มีอันใด การซึ่งเขาอุส่าหข้ามแหลมมาแล้วติดตามลงมาจนถึงเมืองเทพานี้ ก็เปนความแสดงความจงรักภักดีเปนอันมากขอบใจเขาอยู่ กว่าจะขึ้นไปถึงเมืองสงขลาได้เห็นจะถึงคืนกับวันหนึ่ง บ่ายโมงเศษได้ออกเรือจากเมืองเทพา มาพบเรือเวสตาซึ่งรับหนังสือเมล์ออกมาก่อนน่าเรือนฤเบนทรบุตรี มาขัดฟืนตามทาง ทอดอยู่น่าเมืองสงขลาหยุดรับหนังสือเมล์และสิ่งของ แล้วจึงได้ออกเรือต่อมา

ในเวลานี้น้ำที่จะใช้ในเรืออยู่ข้างขัดสน จึงได้คิดจะไปแวะที่อ่าวเสด็จเกาะพงันอีกคราวหนึ่ง แลจะได้พระยาไชยาซึ่งลาไปตรวจการที่เมืองไชยาด้วยเรือแคลดิศ จะได้ทราบเวลาน้ำ ซึ่งจะข้ามกระเส็ดเข้าไปเมืองไชยาด้วย เพราะฉนั้นจะบอกกำหนดเวลาข้างน่าเปนแน่ทีเดียวยังไม่ได้

หนังสือฉันฉบับนี้มีข้อความคลุกคละปะปนกันอยู่หลายอย่าง ด้วยเวลาไม่พอที่จะแยกออกเปนฉบับ ๆ ตั้งใจว่าจะให้ทราบในที่ประชุมเสนาบดีเต็มข้อความนี้ได้ แต่เมื่อจะส่งให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทราบ ขอให้กรมหลวงเทวะวงศ์ตัดข้อความซึ่งไม่ควรจะพูดถึง เช่นว่าด้วยความคิดพระยาตานีในเรื่องรายามุดา ซึ่งเปนแต่ความคาดคะเนของฉันเองเปนต้นออกเสีย แล้วจึงบอกกล่าวให้ทราบทั่วกันแต่ข้อที่สมควร

ตัวฉันเองตั้งแต่มีหนังสือฉบับก่อนมาแล้ว ก็มีความสบายมากขึ้นและอ้วนขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เว้นแต่เมื่อขึ้นเมืองสายเมืองตานีเมืองยิหริ่ง ๓ วันติดๆ กันนี้อยู่ข้างจะเหนื่อยเกินไปหน่อยหนึ่ง เพราะต้องนั่งมาก ชักให้เมื่อยไม่เหมือนเดิร ถึงไต่ลำธารหลายร้อยเส้นเหน็ดเหนื่อยก็กลับทำให้แก้โรคภัยได้ แต่นั่งมากนั้นกลับให้โทษได้มาก แต่ก็ไม่เจ็บไข้อันใดสบายดี บันดาคนที่มาก็มีแต่ไชยันต์ขึ้นไปถูกแดดที่เมืองสายกลับมาจับไข้ ไม่ได้ขึ้นเมืองตานีและเมืองยิหริ่ง ครั้นมาถึงเมืองเทพานี้ก็ขึ้นบกได้หายเปนปรกติ นอกนั้นมีความสุขสบายอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

อนึ่งหนังสือของเธอ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บอกรับหนังสือและข่าวที่กรุงเทพ ฯ กับส่งคำร้องเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมานั้นได้รับแล้ว

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาเพ็ชราภิบาล (ทัด ณสงขลา) บุตรเจ้าพระยาสงขลา (สังข์)

  2. ๒. เปนที่พระยาสุริยสุนทร

  3. ๓. พระพิพิธภักดีคนนี้ ชื่ออับดุลกาเด เปนบุตรพระยาตานี ต่อมาเมื่อบิดาถึงอนิจกรรมได้เปนพระยาตานี แล้วมีความผิดถูกถอด

  4. ๔. เดี๋ยวนี้เปนพระยายิหริ่ง ว่าราชการเมืองสายบุรี

  5. ๕. พระดำรงเทวะฤทธิ์ ชื่อเรือง ข้าหลวงเดิมแล้วได้เลื่อนเปนพระยา

  6. ๖. คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ