คำอธิบาย

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นเอกสารอันมีค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อวันพุธขึ้น ๑๒ คํ่า เดือน ๕ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) เนื้อความเริ่มตั้งแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพนัญเชิง ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ และความมาจบลงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อทรงเตรียมทัพจะเสด็จไปตีอังวะ เป็นอันจบความ ในต้นฉบับสมุดไทยที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์เป็นผู้ค้นพบได้มา เข้าใจว่าคงจะมีความต่อไปอีกประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นี้ ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช จักรพันธุ์ มจ. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ครั้งนี้เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ โดยได้สอบชำระกับฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๓ และฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘พ.ศ. ๒๕๐๖ เทียบกับต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ

อนึ่ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้คงใช้วิธีเขียน วัน เดือน ปี แบบไทยคติ และได้เทียบปีพุทธศักราชกำกับไว้ทุกแห่ง พร้อมทั้งได้นำพระนิพนธ์คำนำอรรถาธิบายของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖ มาพิมพ์ไว้ด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ