พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๐

คืนที่ ๑๘๔

ในระหว่างทางจากปารีสมาลูเซิน

วันพฤหัศบดีที่ ๒๖ กันยายน ร.ศก ๑๒๖

หญิงน้อย

เช้าวันนี้ไม่ได้ไปไหน กินเข้าที่โฮเตลแลอ่านหนังสือเขียนหนังสือ รู้สึกว่าหนังสือมากเหลือกำลังที่จะทำคนเดียวได้ เพราะยังไม่สบายดี จึงได้ให้โทรเลขไปบอกให้สิทธิ์ไปคอยที่เมืองลูเซิน อันที่จริงเมื่อแยกย้ายเหลืออยู่ด้วยกันแต่น้อยคนมันก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยว ไม่มีใครจะพูดด้วย บริพัตรต้องไปทำงานเสียบ้าง ดุ๊กก็ต้องไปทำงานเสียบ้าง เลยนั่งซึมอยู่คนเดียวรำคาญ คิดถึงลูกเหลือสติกำลัง เพราะอย่างไรๆ ก็ได้นั่งบดฝนพูดกันอยู่เสมอ ไม่มีเวลาที่ต้องซึม เจ็บฤๅดีก็คงจะนั่งอยู่ด้วยได้ ทำงานก็นั่งอยู่ด้วยได้ ไม่เดือดร้อนทุรนทุรายที่จะไปข้างไหนไม่เหมือนผู้ชาย มันออกจะต้องแยกกันเปนเจ้าคุณมีท่ามีธุระของตัวไปตามกัน

เวลาค่ำวันนี้เปนวันที่สุดในปารีส ยังขาดที่ซึ่งปรารภว่าจะไปลองกินเข้าอยู่แห่งหนึ่ง คือที่กาเฟอังเกลส์ ซึ่งเปนที่สำหรับกิงเอดเวอดไปเสวยเวลามาปารีส เขาว่าแพงอย่างยิ่ง แต่มันอยู่ในระยะทางที่จะไปรถไฟ จึงได้ไปกินที่นั่น ที่กาเฟนี้มีที่สำหรับกินเข้าข้างล่างตามธรรมดา แต่ไม่ใคร่มีคนก็จะเปนด้วยแพงนั้นเอง แต่ที่ไปกินนั้นกินในห้องไปรเวตชั้นบนเขาชักม่านปิดป้องเปนที่กำบัง การตกแต่งห้องหับอยู่ข้างจะน่าเอนดูมาก ห้องแคบๆ เพดานเตี้ย มีตู้กระจกยาวอย่างฝาประจันห้อง ตั้งเครื่องเงินเครื่องแก้วที่ใช้สอย เหมือนอย่างตำหนักเจ้านายในวัง แต่มันหมดจดสอาดเกลี้ยงเปนมันไปทั้งนั้น อาหารตั้งต้นซุปปอดโอเฟอ ต้มดีอย่างยิ่งแต่เขาไม่ปรุงผักลงในนั้น มีบรรจุชามเงินมาต่างหาก จะใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ ที่ ๒ นั้นเข้ากับแกงไก่ ไม่ใช่อย่างแกงการี แต่เข้าหุงดี เปนตัวสุกตลอด แลดูมีน้ำมันหน่อยๆ หนึ่ง ไม่ใช่เข้าผัด คล้ายเข้ามัน ดุ๊กชอบเหลือเกิน จนถึงร้องว่าเราหุงเข้ามันกินเองก็สู้ไม่ได้ ได้ปฤกษากันตรวจตราดู วิธีหุงเห็นจะหุงอย่างเข้ามัน มีรศเกลือในนั้นด้วย แต่ที่เปนมันเห็นจะเปนน้ำมันเนยเจือลงในน้ำ เปนเข้ามัน แต่ไม่เลี่ยน ชอบกลอยู่น่าลอง ที่ ๓ นั้นนกแลผักสลัด ผักสลัดนั้นแห่งใดจะมามีดีเท่าเมืองฝรั่งเศสเปนไม่มีแล้ว สดกรอบแลหวาน กับเข้า ๓ สิ่งเท่านั้น ของหวาน ลูกปิชเชื่อมแลผลไม้ กับเข้าทำดีจริง

อุปทูตสวิสตามมาหาจรูญที่นี่ แจ้งว่าได้รับคำสั่งจากเปรสิเดนต์สวิสเฟเดอเรชัน แสดงความยินดีที่พ่อจะไปลูเซิน ได้สั่งให้จัดการพิทักษ์รักษา แลขอให้สืบดูว่า ถ้าจะเชิญไปดินเนอที่เมืองเบอนสักเวลาหนึ่งจะไปฤๅไม่ พ่อให้ไปตอบรับ เพราะรู้สึกว่าวันที่อิตาลีมากอยู่ไม่สู้สบายนัก ผู้คนละเล้าละลุม อยากจะเชือนอยู่แล้ว จึงเลยขยายวันอยู่ลูเซินออกไปอิกรับเชิญไปเมืองเบอน แลอยากจะขยับเลื่อนวันในอิตาลีให้น้อยเข้า ครั้นกะวันมีวันเหลือเกือบจะพอไถลไปเมืองดราดแลเมืองจันบุรีได้ จึงได้คิดตัดอิยิปต์เข้าไป อิกตอนหนึ่งก็ได้พอดี ความประสงค์เช่นนี้ เพื่อจะตัดเวลาที่อยู่เปล่าๆ รำคาญใจให้น้อยลง ทั้งจะได้ไปเมืองตราดให้พบกับราษฎรทันใจด้วย ได้ตอบโทรเลขชาวเมืองตราดที่มีมาเมื่อรับเมือง ว่าจะไปเยี่ยม ถ้าได้ไปเสียในเวลากลับนี้ดูราษฎรจะเปนที่ยินดีว่าพ่อรักใคร่เอื้อเฟื้อเมืองแถบนั้นไม่ได้ไปมาสิบสามสิบสี่ปีแล้ว แลไม่เคยได้รับเสมาแจกเหมือนเมืองอื่นเลย ถ้าได้ไปแจกเสมา ๒ เมืองนั้นก่อนจะเปนที่พอใจเปนอันมาก แต่กลัวจะลำบากแก่กรมดำรง จึงได้ร่างโทรเลขเสร็จจะไปส่งที่ลูเซิน แลให้โทรเลขถามเรือเขา จะเลื่อนกำหนดเข้ามาได้ฤๅไม่ เวลา ๔ ทุ่มไปที่รถไฟ

รถไฟออกเวลา ๔ ทุ่มเศษ มาตามทางวันนี้ร้อนแลไม่ใคร่ง่วง ทั้งปวดขาข้างหนึ่ง เลยนอนอ่านหนังสือแลดิ้นไปดิ้นมา จนออกจะสว่างๆ จึงได้หลับ

ห้องในโฮเต็ลที่ประทับ ณเมืองลูเซอน

ห้องในโฮเต็ลที่ประทับ ณเมืองลูเซอน

คืนที่ ๑๘๕

เมืองลูเซิน

วันศุกร ที่ ๒๗ กันยายน

เวลาเช้า ๓ โมง รถถึงสเตชั่นเมืองลูเซิน สิทธิ์แลนายใจ ซึ่งได้ตั้งเปนขุนพิรัชพิศดารมาคอยรับ ไปที่แกรนด์โฮเตลนะซิองนัล ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทเลสาบ ซึ่งเรียกชื่อว่า ฟอร์แกนตอน คือ ๔ มณฑล เพราะทเลสาบนี้ใหญ่ยาว มีเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งถึงสี่มณฑล กินกลางวันแล้วนอนกลางวัน ตื่นขึ้นกินน้ำชาแล้วจึงไปเที่ยวรถ ที่โฮเตลนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งทเลสาบ มีถนนน่าโฮเตลสายหนึ่ง นอกถนนออกไปมีต้นไม้ปลูก ๒ แถวตัดยอดให้เสมอกัน ปล่อยกิ่งให้ประกันร่มชิดเปนเพดานฉนวนตลอดของเขางามดีมาก เปนของที่แล้วสำเร็จด้วย ไม่ใช่กำลังทำอยู่ นอกฉนวนออกไปมีชานริมฝั่งน้ำ แล้วมีแพลอยสำหรับลงเรือจ้างไปเที่ยวในทเลสาบ ภูมิประเทศที่แลดูจากโฮเตลเปนภูเขาสูง ยอดแหลมรายรอบขอบทเลสาบ ดูซับซ้อนกันงามมาก เมืองลูเซินที่อยู่พื้นดินนั้นอยู่ข้างขวามือ แต่ตามเขาด้านหลังมีวิลลาต่างๆ ปลูกซับซ้อนขึ้นไป ได้ขึ้นรถไปเที่ยวแต่เฉภาะเมืองที่อยู่พื้นดินมีตึกเก่าๆ มาก ที่ปลูกเกะกะซับซ้อนแลรูปแปลกๆ งามดี ถนนแคบๆ ร้านขายของก็เปนธรรมดา ยกไว้แต่ของสำหรับประเทศสวิตเซอแลนด์ต่างๆ คือ นาฬิกา เครื่องไม้สลัก เรือนสวิสเล็กๆ ซึ่งเปนของเคยมีในบางกอกมากแล้วทั้งนั้น ไม่มีอะไรแปลกประหลาด ได้แวะซื้อสิ่งละเล็กน้อย พอเปนที่รฦกว่าได้มาเท่านั้น แล้วกลับมาลงที่ท่าเรือ ได้เห็นเรือโมเตอลำหนึ่งแล่นเร็วเหลือเกิน เรียกว่าเตเลีย เครื่องจักรอย่างโตๆ แขงแรง คนที่แล่นเรือนั้นคนเดียวเท่านั้น ไปหมุนเครื่องให้เดินแล้วมาเปิดจักรแลถือท้าย แล่นเหมือนนกบินไปในน้ำ ในบางกอกไม่มีละที่เรือจะเรวเท่านี้ ได้ลองลงในเรือนั้นแล่นไปประเดี๋ยวเดียวถึงไหนๆ ลงอยู่ในเรือนั้นรู้สึกว่าไปในรถโมเตอคาร์ ไม่รู้สึกว่าไปในเรือไฟตามธรรมดาเหมือนเรือโมเตออื่นๆ ได้ตั้งใจไว้แต่ในบางกอกแล้ว ว่าถ้าไม่พบเรือโมเตอที่พ้นจากโทษสามประการแล้วจะยังไม่ซื้อเลย โทษสามประการนั้นคือ (๑) เวลาเรือแล่นตัวสท้านเปนเข้าเจ้า (๒) แล่นเร็วน้ำเข้าหัวเรือ (๓) แล่นช้ารู้สึกเท่ากับไปเรือไฟ โทษเหล่านี้ไม่อยากมีเรือให้เปลืองเงิน แต่มาพบเรือเช่นนี้ พ้นจากโทษสามประการ จึงได้คิดว่าจะซื้อ แต่รูปร่างเรือนั้นแปลกอยู่ หน้าเชิดมาก รูปข้างท้ายคล้ายโลงเจ๊ก รู้ว่าเปนเรือท่าด้วยไม้ฉำฉาสามปีคงจะผุ แต่น่าจะเอารูปเรือเข้าไป เมื่อจวนผุจึงทำไม้สักเปลี่ยน ถ้าเปนเรือไม้สักคงจะช้าลงสักหน่อยด้วยน้ำหนักมากกว่า ให้อ้ายฟ้อนลงไปพิจารณาดูก็ตกลงว่าใช้ได้ เครื่องโมเตอเปนเครื่องร้านปองฮาด์อย่างง่ายๆ ไม่อ้อนแอ้นแลกระจุกกระจิกเช่นลำหรูของเรา เวลาจวนพลบกลับขึ้นมาโฮเตลอยู่จนกินเข้าแล้วไม่ได้ไปแห่งใด

ตึกที่ประชุมรัฐบาลเมืองเบอน

ตึกที่ประชุมรัฐบาลเมืองเบอน

คืนที่ ๑๘๖

วันเสาร์ที่ ๒๘ กันยายน

เมื่อคืนนี้ยังไม่สบายติดต่อมาจากแต่ก่อน ซ้ำเปนหวัดด้วยเรื่องลงเรือโมเตอไม่ได้ใส่เสื้อชั้นนอก ไอไปนอนไม่ใคร่จะหลับ วันนี้กินกลางวันแล้ว บ่ายโมงเศษไปขึ้นรถไฟไปเมืองเบอนตามคำเชิญของเปรสิเดนต์สวิสเฟเดอเรชัน เมืองเบอนนี้พ่อได้ไปครั้งก่อนเปนอย่างราชการครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ไปเปนการไปรเวต ที่จริงต้องย้อนทางขึ้นไป เพราะเหตุที่เมืองลูเซินนี้เปนตอนกลางของสวิตเซอแลนด์ เมืองเบอนค่อนจะขึ้นไปข้างเหนือนิดหนึ่ง เปนเมืองหลวงของสวิตเซอแลนด์ ประเทศนี้เข้าใจอย่างไทยๆ ไม่ได้ เช่นเรียกว่ามณฑลในรายงานพระยาศรี ฤๅที่พ่อเรียกลงไว้ในชื่อทเลสาบสี่มณฑล เปนเรียกขอไปทีโดยไม่มีคำไทยจะใช้ แต่ความจริงมณฑลๆ หนึ่งมีอำนาจในตัวเองใช้กฎหมายต่างกัน ไม่เหมือนมณฑลที่เมืองไทย ซึ่งใช้แบบกรุงเทพฯ อย่างเดียว มณฑลในประเทศนี้เขาเรียกว่าแกนตอน มี ๒๒ แกนตอน กฎหมายต่างๆ ต้องกันบ้าง ไม่ต้องกันบ้าง ต่างเมืองต่างมีที่ประชุม ซึ่งราษฎรเลือกเปนหัวน่าแลที่ปฤกษา บังคับการสิทธิ์ขาดในมณฑลของตัวๆ ตามลำพัง แต่มณฑลเหล่านี้มีกำลังน้อย เพราะมีเขตรแดนเล็ก ผู้คนน้อย ไม่อาจจะตั้งตัวอยู่แต่ลำพังไม่ให้ศัตรูมาเบียดเบียนได้ จึงต้องเข้ากันเปนพวกใหญ่ รวมการงานบางอย่างซึ่งควรจะรวมเข้าทำให้เปนแบบเดียวกัน เช่นการทหาร, การรถไฟ, โทรเลข, ไปรสนีย์, บำรุงการเพาะปลูก, การต่างประเทศ, เปนต้น ตั้งที่ประชุมขึ้นเปนกลาง ในที่ประชุมกลางนี้แบ่งเปนสองพวก คือแกนตอนหนึ่ง เลือกผู้ไปประชุมได้ ๒ คน รวม ๒๒ มณฑล เปน ๔๔ คนเปนที่ประชุมหนึ่งน่าที่อย่างเซเนต อิกพวกหนึ่งนั้นเลือกตามจำนวนราษฎร มีผู้มาประชุมร้อยเศษ ที่ประชุมสองพวกนี้ ปฤกษาการงานซึ่งเปนธุระร่วมกันทำกฎหมายซึ่งจะใช้ทั่วไป ที่ประชุมของมณฑลมีอำนาจที่จะทำกฎหมายเฉภาะแกนตอนของตัวได้เองจริงอยู่ แต่ต้องไม่ขัดขวางกับที่ประชุมใหญ่ทั้งสองนี้ มีที่ประชุมผู้ซึ่งทำการในน่าที่เปนรัฐบาลของประเทศอย่างที่ประชุมเสนาบดี อิกที่ประชุมหนึ่ง มีหัวน่าฤๅประธาน แลที่สองมีที่ปฤกษาทำการในน่าที่เสนาบดีอิก ๕ รวมเปน ๗ ผู้ซึ่งอยู่ในที่ประชุม ๗ คนนี้ เปนผู้ต้องเลือกเหมือนกัน ที่ปฤกษาเลือก ๓ ปีครั้งหนึ่ง แต่ผู้เปนประธานเลือกเปลี่ยนทุกปี แต่ไม่เลือกเอาคนอื่น เลือกเอาใน ๗ คนนั้น ผู้ที่ถูกเลือกเปนประธานทำการในน่าที่เสนาบดีว่าการต่างประเทศ เมื่อทำการไปตลอดปีแล้ววนลงมาเปนเสนาบดีฤๅที่ปฤกษานั้นได้อิก เมื่อถึงกำหนดเลือกใหม่ จะเลือกให้เปนประธานอิกก็ได้ แต่ต้องให้มีปีคั่น ไม่ให้เปนประธานตลอดไป ๒ ปีติดกัน เพราะฉนั้นผู้ซึ่งเปนประธานเก่ายังคงเปนเสนาบดีอยู่ได้นานๆ อย่างเช่นมิสเตอดอยเชอ ซึ่งเปนประธาน เมื่อพ่อมาคราวก่อน ๑๐ ปีมาแล้วนั้น เดี๋ยวนี้ยังเปนที่ปฤกษา ว่าการฝ่ายการเพาะปลูก แต่ทำการในตำแหน่งรัฐบาลมาถึง ๒๕ ปีแล้ว ได้เปนประธานถึง ๓ ครั้งเปรสิเดนต์มุลเลอร์คนนี้ เปนทหาร เปนเสนาบดีว่าการทหารมาก่อนเคยถูกเลือกเปนเปรสิเดนต์ ๒ ครั้ง เข้าครั้งนี้แล้ว ได้อยู่ในตำแหน่งมาถึง ๑๒ ปี เพราะฉนั้นวิธีเลือกเปรสิเดนต์เช่นนี้ ได้คนที่ชำนาญราชการแล้วเสมอ ผิดกันกับเมืองฝรั่งเศสแลอเมริกาที่มาเปนเปรสิเดนต์ กว่าจะอยู่ตัวก็หลายปี พออยู่ตัวดีแล้วก็พอหมดกำหนด เมื่อสิ้นกำหนดแล้วจะไปทำการอื่นที่เปนตำแหน่งเลวกว่าก็ไม่ได้ เลยขึ้นคานเงียบไป ประเทศนี้ ถ้าได้เลือกเปนพวกใน ๗ คน แล้วก็เลือกซ้ำคงตัวไปจนกว่าจะตายฤๅทำการไม่ได้ จึงเลือกเติมใหม่ให้ครบ ๗ คน เปลี่ยนทอยกันคงมีคนเก่าเสมอ วิธีปกครองเช่นนี้เรียกว่าเฟเดอราล คือเมืองหลายๆ เมืองเข้ากัน คล้ายอเมริกา เว้นแต่ง่ายกว่า ผิดกันกับฝรั่งเศสมาก ฝรั่งเศสการปกครองเปนเหมือนเมืองเจ้า เว้นแต่ไม่มีเจ้า ตั้งผู้เปนประธานๆ ทำน่าที่คล้ายเจ้าแผ่นดิน ส่วนประธานาธิบดีในประเทศนี้ ความยกย่องเคารพนบนอบกันไม่ใคร่มี ในรัฐบาล ๗ คนนั้นออกจะเสมอๆ กัน ผู้เปนประธานเปนน่าที่เซนชื่อ แต่การงานนั้นบังคับบัญชาด้วยกัน ดูคล้ายกับไดเรกเตอกัมปนี มากกว่าอย่างอื่น ถ้าหากว่าจะไปเที่ยวต้องผลัดเปลี่ยนกันไป ต่อนั่งในที่ประชุม ๔ คนขึ้นไป จึงจะบังคับการงานได้ เพราะฉนั้นจะทำอะไรต้องประชุมกันเปนนิจ ไม่สั่งการไปได้แต่เฉภาะตัวคนเดียว ที่ซึ่งรัฐบาลเฟเดอเรชันตั้งอยู่นั้นที่เมืองเบอน แต่ไม่ใช่เปนเจ้าเมืองเบอน เมืองเบอนเปนแกนตอนฤๅมณฑลอันหนึ่ง มีที่ประชุมของเขาต่างหาก รัฐบาลเฟเดอเรชันไม่เกี่ยวข้องแก่การในเมือง ทำแต่การที่เปนเรื่องทั่วไป การปกครองเมืองสวิตเซอแลนด์เปนเช่นนี้จึงไม่สู้เปลืองมาก แลเข้ากันเปนกำลังต่อสู้ประเทศใหญ่ๆ ได้ แต่ความจริงนั้น ถึงว่าจะดีวิเศษเท่าใด ถ้าไม่ได้อาไศรยภูมิประเทศของสวิตเซอแลนด์ซึ่งเต็มไปด้วยเขา ยากที่ศัตรูภายนอกจะเข้ามาทำอันตราย เมื่อภายในเมืองจัดการป้องกันโดยแขงแรงถูกต้อง กำลังน้อยอาจจะสู้กำลังมากได้ เพราะเหตุฉนั้นสวิตเซอแลนด์จึงคงเปนประเทศเอกราชอยู่ได้ในระหว่างประเทศใหญ่ๆ แวดล้อมอยู่โดยรอบ

ทางที่ไปวันนี้เปนเขาไปทั้งนั้นก็จริง แต่ต่างกันกับประเทศนอรเวมาก ที่ประเทศนอรเวเปนเขาที่ปรากฎว่ายังคงอยู่ตามธรรมดา เปนแต่มีหนทางฤๅปลูกป่าไม้เพิ่มเติม ส่วนที่นี่จะแลไปทิศานุทิศใดไม่มีที่จะเห็นได้ว่าเปนของเปนเองเลย ยกไว้เสียแต่ยอดเขาซึ่งมีสโนหุ้มอยู่ ที่มีสล้างไปยิ่งกว่าเขาสามร้อยยอดเปนอันมาก ตอนข้างล่างเปนที่ตกแต่งเรียบไปหมดทุกแห่งรู้สึกเปนที่คนทำเล่นมากกว่าเปนเอง มีต้นไม้ผลมากกำลังมีผลที่สำหรับจะเก็บได้ในฤดูหนาว ระยะทาง ๒ ชั่วโมงเศษจึงถึงเมืองเบอน เปรสิเดนต์แลสิเกรตารีมารับที่สเตชั่น พาขึ้นไปส่งที่โฮเตลเบอร์นะฮอฟ ซึ่งพ่อเคยไปพักแต่ก่อน โฮเตลนี้ใกล้กันกับบุนสราธ คือที่ว่าการรัฐบาล มีแปลกตาขึ้นต่อจากบุนสราธไปเปนหลังคาโดมสูง ซึ่งได้ความว่าเปนสถานที่ประชุมกลางสองพวกที่ได้สร้างขึ้นใหม่ภายหลังพ่อมาคราวก่อน หลังโฮเตลนี้มีชาลาที่แลเห็นได้ไกลตลอดเมืองแลภูเขา นับว่าเปนที่ดูงามแห่งหนึ่ง อากาศเย็นพอสบาย เงียบแลได้ยินเสียงกระดึงที่ผูกคอโคทุกตัวในประเทศนี้ดังดิ่งๆ อยู่ในที่ไกล ดูวังเวงมาก เมื่อเปรสิเดนต์มาส่งแล้วกลับไปที่บุนสราธ กำหนดอิก ๑๕ มินิตพ่อจะไปเยี่ยมที่บุนสราธ

เปนประเพณีของเมืองที่ปกครองโดยวิธีโบราณเช่นนี้ เหมือนเมืองแฮมเบิคเปนต้น ต้องตั้งพิธีออกแขกเมืองอย่างกร่อยๆ คือ พอไปถึงแล้ว มีสิเกรตารีมารับ แลมีเจ้าน่าที่ยืนรับต่อๆ กันขึ้นไปจนกระทั่งถึงห้องที่ประชุม เปรสิเดนต์แลเสนาบดีออกมารับเข้าไปในห้อง ซึ่งตั้งเก้าอี้ไว้เปนวง แล้วก็นั่งสนทนากันอย่างธรรมดานั่นเอง พอสมควรแก่เวลาแล้วกลับมาที่โฮเตล อิก ๑๐ มินิตเปรสิเดนต์แลเสนาบดีทั้งปวงต้องมาเฝ้าเยี่ยมตอบอิกครั้งหนึ่ง เปนเสร็จการพิธี คราวนี้เลยไปเที่ยวตามธรรมดา พ่อขึ้นรถกับเปรสิเดนต์แลสิเกรตารีเหตุด้วยเปรสิเดนต์พูดอังกฤษไม่ได้ สิเกรตารีนั้นพูดอังกฤษดี ไปถนนตอนเมืองเก่า ซึ่งมีน้ำพุรายกันไปอย่างแถวท่อตลอด ตึก ๒ ข้างก็มีเครื่องหมายอย่างเก่าๆ ซึ่งเกี่ยวแก่พงษาวดาร จนถึงประตูเมืองซึ่งใช้เปนหอนาฬิกา เมืองเบอนนี้มีกำแพงถึง ๒ ชั้น แต่ได้รื้อลงหมดเหลือไว้แต่ประตู แล้วจึงเลี้ยวไปทางถนนใหม่ ว่าตามจริงถนนใหม่จืดเต็มที ถึงว่าถนนกว้างขวางตึกรามงามๆ มันก็เหมือนกันกับที่ไหนๆ ดูทีเดียวจำไม่ได้ ประเดี๋ยวเอาเมืองโน้นมาปนเมืองนี้ สู้ถนนอย่างเก่าๆ ไม่ได้ ถ้าถนนเก่าแล้วเห็นตึกเข้าหลังหนึ่งฤๅน้ำพุเข้าอันหนึ่ง เลยจำได้ไม่รู้จักลืม เพราะมันแปลกๆ กันมาก ด้วยแต่ก่อนการไปมาถึงกันไม่สดวกเหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ไปมาง่ายถ่ายอย่างกันได้ มันจึงเหมือนกันไปหมดเหม็นเบื่อ พ้นนั้นออกไปเปนหนทางขึ้นเขาลงเขาซึ่งแลเห็นเมืองเบอนได้ตลอดทั้งเมือง รูปของเมืองเบอนซึ่งควรจะเปนที่สังเกตก็คือวัด ซึ่งเรียกคะทีดรัลอันไม่สู้ใหญ่นัก อย่างหนึ่ง กับที่ประชุมกลางสำหรับทำกฎหมาย แลเห็นเปนยอดของหลังคาทั้งปวงที่แลไปจากบนเขาเห็นติดกันไปหมด เมื่อลงไปถึงที่ต่ำหน่อยเปนตลาดซึ่งเปนที่บ่อเลี้ยงหมีอยู่ที่นั่น หมีนั่นเปนชื่อของเมืองเบอน จึงได้เลี้ยงไว้เปนสัตวประจำเมือง ของเล่นเปนกลางสำหรับคนพลเมืองทั่วไป มีเรือนก่อด้วยศิลาติดเข้าไปกับข้างเขา ขุดเปนบ่อกว้างใหญ่ กรุด้วยศิลาแลปูศิลา กั้นเปน ๒ ห้อง มีท่อน้ำที่ไหลรินอยู่เสมอลงไปในสระ เปนที่สำหรับหมีกินแลอาบ หมีในนั้นมีประจำอยู่ ๕ ตัว ๖ ตัว ห้องละสองสามตัว เขาให้กินผักกาดเหลืองแคบเบช แต่ที่แท้ไม่ว่าอะไร ผักต่างๆ ขนมปังนมวัว ตลอดจนเนื้อ แต่เนื้อนั้นว่ากินเข้าไปมักจะดุ ถึงมีร้านคนไปตั้งคอยขายผักที่สำหรับให้หมีกินอยู่ที่นั่น ถ้าเปนเวลาที่คนมาเที่ยวเช่นนี้ ใครไปใครก็ซื้อให้กินอิ่มบริบูรณ์เกินไปจนออกจะขี้เกียจ ถ้าน่าหนาวได้แต่อาหารที่เปนส่วนสำหรับเลี้ยงธรรมดา เปนเวลาอยู่ข้างจะขยัน วิชานั้นนั่งยกมือไหว้นอนหงาย มีต้นสนอยู่ในนั้นข้างละต้น เมื่อคราวก่อนเคยเห็นเขาไล่ให้ขึ้น แต่คราวนี้ถามว่าทำไมไม่ขึ้นต้นไม้ ได้ความว่าออกจะนางนอง ขาขึ้นปีนขึ้นไปได้ แต่ขาลงๆ ไม่ได้ ขึ้นไปค้างอยู่บนต้นไม้ต้องเอะอะกันเปนหลายครั้ง เลยเข็ดไม่อาจไล่ให้ขึ้นอิก เพราะความจริงมันไม่ได้ปราถนาจะขึ้นต้นไม้ ถ้าจะขึ้นขึ้นด้วยต้องการรางวัลฤๅกลัวเท่านั้น

ออกจากหมีขึ้นเขาไปอิกลูกหนึ่ง แล้วเลี้ยวขึ้นเขาชันไปอิกลูกหนึ่งเพื่อจะดูแม่น้ำซึ่งไหลวงรอบเขา แลเห็นเปนแม่น้ำอยู่สองข้างหนทางด้วยสายน้ำนั้นคดมาก เล็กแลไหลเชี่ยว กลับมาที่โฮเตลเวลาค่ำ

ครั้นทุ่ม ๑ เลี้ยงอาหารเย็นที่โฮเตลนั้นเอง แต่เปนโต๊ะของรัฐบาล นั่ง ๑๒ คนด้วยกัน พวกเรา ๔ คือ พ่อ บริพัตร จรูญ สิทธิ์ นอกนั้นเปรสิเดนต์แลเสนาบดีกับสิเกรตารี อาหารที่เลี้ยงดีมาก นึกว่าจะไม่มีสปีช ลงดื่มให้กันแล้ว เปรสิเดนต์ลากคำสปีชออกมาจากกระเป๋าลุกขึ้นสปีช แต่ประดักประเดิดเต็มที ข้างเขาพูดเยอรมัน ข้างเราพูดอังกฤษ แต่ขอบใจสิเกรตารี เปนผู้แปลทั้งสองข้าง การเลี้ยงวันนี้อยู่ข้างจะเปนที่รื่นเริงพอใจด้วยกันมาก เพราะเหตุที่ได้เคยพบกัน รู้จักกัน ๑๐ ปีมาแล้วมาพบกันอิก แลอัชฌาไศรยพวกรัฐบาลเหล่านี้เปนคนที่ใจดีแลไม่ได้ถือตัวเลย ง่ายๆ ทั้งนั้น ไม่ต้องระวังอะไร พอกินแล้วก็ลากัน เปรสิเดนต์ แลไวสเปรสิเดนต์กับสิเกรตารีมาส่งที่สเตชั่น รถออกเวลา ๒ ทุ่ม อากาศอยู่ข้างจะหนาว เขาใช้ไอร้อนในรถ มาถึงลูเซินเวลาจวน ๕ ทุ่ม ข้างนี้แต่งไฟ ที่สพานฉนวนมีหลังคาข้ามแม่น้ำเปนสพานโบราณแลหอคอยที่หยั่งน้ำ ที่โฮเตลก็แต่งไฟเปนรูปตึกทั้งหลัง

วันนี้ได้รับข่าวแกรนด์ดุ๊กออฟบาเดนสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๓ โมงเช้า ได้คิดไว้แต่เดิมว่าจะให้บริพัตรขึ้นไปช่วยงานฝังศพเห็นจะยังทัน

คืนที่ ๑๘๗

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน

เวลาเที่ยงแล้ว ลงเรือโมเตอร์ลอนช์ลำใหญ่เก๋งหรู เครื่องเปนเมอเซเดสกระจุกกระจิกดูประดักประเดิดกว่าลำที่กล่าวแล้วนั้นเปนอันมาก คนที่เดินเรือดูไม่ได้อยู่ศุข ต้องแก้โน่นแก้นี้ ลงปลายต้องวางหางเสือเสียปล่อยให้แล่นไปเอง วิ่งไปมองข้างท้ายเรือแล้วกลับมาที่เครื่องใหม่ ชุลมุนหลายทอด ถึงกำลังที่ดีอยู่ก็เดินไม่ไปถึงไหน ออกไปยังไม่ทันถึงกึ่งกลางทเลสาบวงใน ลิ่มที่จักรหลุดต้องแล่นกลับ กลับเข้ามาได้ด้วยความกระเทือนมากกว่าด้วยใบจักร เลึยเวลาเปนนาน ตกลงต้องลงเรือเล็กลำที่ลงแต่ก่อน กำหนดระยะทางว่าชั่วโมงหนึ่ง แต่ที่แท้ไป ๒๐ มินิตเศษเท่านั้น ช่างเรวถึงอกถึงใจจริงๆ การที่ไปนี้ไม่คิดจะไปให้เปนการใหญ่โตมาก เพราะมันออกจะสิ้นๆ สนุกเบื่อ ไปแต่พอฆ่าเวลาที่อยู่เปล่าๆ ถ้าจะไปให้สนุกจะต้องไปเขาเรกี ซึ่งอยู่ข้างท้ายมือสูงกว่า ๕๐๐๐ ฟิต ฤๅไปปิลาตุสซึ่งอยู่ข้างขวามือ ซึ่งสูงขึ้นไปอิก เราไปตรงกลางเรียกว่าเบอรเคนสต๊อก ซึ่งสูงเพียง ๒๐๐๐ ฟิต แต่เขานี้คล้ายๆ เปนเกาะตั้งอยู่ในระหว่างกลางมีทเลสาบเกือบจะรอบ รดับน้ำทเลสาบนี้สูงกว่ารดับน้ำทเลมาก ถ้าจะเทียบว่าเชิงเขาเสมอระดับน้ำทเล รดับน้ำทเลสาบนี้เกือบจะตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างยอดเขาแลเชิงเขา ระดับน้ำในทเลสาบต่างๆ เหล่านี้สูงแลต่ำกว่ากันได้มากๆ น้ำในทเลสาบใสเหมือนน้ำทเล แลดูลงไปได้ลึกเห็นพื้นข้างล่าง ต่างกันกับทเลใหญ่อย่างเดียวแต่เพียงน้ำจืดแลน้ำเค็ม ผลแห่งการที่ขึ้นไปยอดเขาเหล่านี้ก็คล้ายๆ กัน คือแลไปได้ไกลเห็นหมู่เขาต่างๆ แลเห็นทเลสาบ ยิ่งสูงมากก็ยิ่งแลเห็นไปไกลมาก ยิ่งขึ้นไปยอดไม่มีเขาบังก็แลเห็นได้รอบตัว อาจแลเห็นได้ไกลออกไปอิก ทางที่ขึ้นนั้นมีทางสำหรับคนปีนขึ้นทั่วทุกเขา เพราะเปนที่ซึ่งเขาเที่ยวกันมาหลายร้อยปี แต่ครั้นภายหลัง เมื่อเกิดมีรถไฟขึ้นเขาสูงแล้วก็มีเสียแทบทุกยอด การที่จะขึ้นลงภูเขาเหล่านี้จึงไม่เปนความลำบากอันใด ไม่เปนการใหญ่อย่างแต่ก่อน การป่ายปีนขึ้นเขายังนับถือกันว่าเปนเครื่องเจริญกำลังแลสนุกสนานกันมาก แต่ถึงว่าสรรเสริญอยู่เช่นนั้น ลงปลายก็ต้องรับว่าการขึ้นด้วยรถไฟไม่เหน็ดเหนื่อยนั้นดีอยู่นั่นเอง คนที่จะดันเดินขึ้นเขาก็ไม่เท่าไรน้อยลงทุกที เพราะอ้ายการขึ้นเช่นนั้นมันย่างกายเหลือเกินจริงๆ ขึ้นยังค่ำลงยังค่ำ อิกประการหนึ่งเขาเหล่านี้ไม่ได้มีน้ำตกน้ำพุอย่างเช่นนอรเว น้ำที่จะใช้กินกันบนยอดเขาต้องขุดบ่อลึกสูบขึ้นมา นี่รอดตัวที่อากาศหนาว ถ้าร้อนอย่างบ้านเรา เขาไม่มีน้ำเช่นนี้ก็ขึ้นไม่ไหว แต่ที่นี่มันไม่มีเหตุที่จะต้องพูดถึงน้ำ เพราะเหตุที่เขาถึงจะสูงเท่าสูงอย่างไร คงมีโฮเตล เรสเตอรองต์ขึ้นไปตั้งหลังโตๆ อยู่แล้วทั้งนั้น ไม่แต่อยากกินน้ำจะหาได้โดยง่าย กินอาหารก็ได้เสียด้วย อยู่นอนค้างเท่าไรๆ ก็ได้ด้วย มีถนนมีสวนมีป่า มีรถขี่ได้บนยอดเขามันหมดความลำบากเสียทุกอย่าง ลงรอยกับที่กล่าวว่าไม่มีแห่งใดซึ่งจะเปนป่าเปลี่ยว รอยคนไปจับแก้ไขตกแต่งเสียหมดทุกหนทุกแห่ง สารพัดจะสดวกดายง่ายดี ไม่ผิดอะไรกับพื้นแผ่นดินราบ คุณประโยชน์ของที่สูงเช่นนี้ก็คือแลเห็นในที่ไกล แลอากาศใสอ่อนกว่าในพื้นดินที่ต่ำๆ แต่การที่จะแลเห็นในที่ไกลไม่ใช่เห็นได้เสมอทุกเมื่อ มักมีเมฆหมอกควันหุ้มยอดเขา หายเสียทั้งหมู่โตๆ ก็หายได้ ต่อฤกษ์งามยามดีจึงจะแลเห็นใสตลอดไปได้ไกลๆ การที่จะหาฤกษ์ดู จะไม่ใช่ง่ายนัก น่าจะต้องคอยมากกว่าที่จะทายล่วงน่า เหมือนอย่างวันนี้แดดจัดเหมือนแดดบางกอก เพียงแต่ร้อนน้อยกว่า แจ่มแจ้งอย่างนี้แล้ว ยังมีหมอกเที่ยวไล่ปกคลุมอะไรๆ ได้ ภูเขาเลากาหายไปเสียในหมอกเปนอันมาก เมืองที่อยู่ใกล้ๆ ก็ขุ่นมัวแลไม่เห็นถนัด ข้อที่น่าดูจริงๆ นั้นคือควรจะเห็นได้ว่า มนุษย์เราฤๅสิ่งซึ่งทำขึ้น มันเล็กกว่าของจริงที่เปนเองมากเหลือเกิน เรือที่เราไปแลดูมันช่างนิดเดียว เรือขนาดเดียวกันแล่นอยู่ในกลางทเล แลดูเหมือนอย่างกับอ้ายตัวแมลงขายาวๆ ที่เดินในน้ำ เรือจ้างจักรข้างลำโตๆ แลดูเปนเรือเหล็กวิลาศที่เด็กเล่นน่าเอนดูจริงๆ บ้านเรือนตึกรามอะไรแลดูมันกลายเปนตุ๊กตาไปหมด สูง ๒๐๐๐ ฟิตเศษ เท่านั้นยังเห็นได้ถึงเช่นนี้ ถ้าสูงขึ้นไปอิกจะเห็นอย่างไร ที่ท่ามีเรสเตอรองต์แลร้านขายของ รถนั้นก็ไม่ผิดอะไรกันกับที่ได้เล่าแต่ก่อนคือขึ้นด้วยแรงถ่วงกันเอง รถข้างหนึ่งขึ้น รถข้างหนึ่งลงหลีกกันที่กลางย่าน ข้างบนมีโฮเตลใหญ่ๆ สามหลังแลยังมีเล็กๆ น้อยๆ รายออกไปอิกหลายหลัง โฮเตลใหญ่ ๓ หลังนิ้ ปิดเสียแล้ว ๒ หลัง ยังเปิดริบหรี่อยู่อิกหลัง ๑ เพราะสิ้นฤดูคนมาเที่ยว เพราะฤดูเขามาเที่ยวกันนั้น เดือนมิถุนายน กรกฏาคม สิงหาคม นี่ก็จวนปิดหมดทีเดียวแล้ว เหลือแต่คนเลวๆ ร่องๆ แร่งๆ ขึ้นไปเที่ยวอยู่บ้าง กินเข้ากลางวันที่โฮเตลนั้น ไม่สู้จะมีอะไรนัก แล้วเดินไปเที่ยวตามหนทางที่เลียบไปตามข้างเขา บรรจบถึงที่สเตชั่นรถไฟขึ้นมาหยุดแล้วจึงเลี้ยวเลียบยอดเขายอดหนึ่งไป สำหรับจะไปยอดนอกซึ่งเปนยอดสูงแหลม เขาทำระทาเหล็กตั้งขึ้นไป แล้วมีลิฟต์สำหรับขึ้นไปดูให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่ายอดเขา ทางเดินนั้นก็ไม่ลำบากยากเย็นอะไร ค่อยๆ นูนๆ ขึ้นไปทีละนิดละนิดไม่ไกลเท่าไร แต่พ่อเชื่อเสียว่าขึ้นได้ ไม่สู้จะออกสนุกอะไร เดินกลับมาดูทางไปรเวตอิกหน่อยหนึ่ง ความจริงนั้นพึ่งอ่านหนังสือเรื่องที่เกี่ยวแก่ตำบลนี้ใหม่ๆ ก็อยากจะดูให้มันประกอบเรื่องที่อ่าน นายโฮเตลรับจัดการหารถ ซึ่งออกจะประดักประเดิดอยู่บ้าง เพราะเปนเวลาเขาเลิก ขึ้นรถไปตามถนนข้างหลังเขา จนถึงโฮเตลอิกหลังหนึ่งใหญ่ ลงทเลสาบอิกด้านหนึ่ง เปนที่สำหรับแลดูเขาซึ่งหมอกคลุมอยู่นั้น เมื่อไม่มีเขาจะดูเลยไม่มีอะไรดู กลับมาลงตามรถไฟ ถึงล่างแล้วแวะซื้อของที่รฦก ราคาไม่กี่อัฐแล้วลงเรือกลับมาโฮเตล วันนี้มีแต่งไฟอิก มากกว่าวานนี้ สเตชั่นรถไฟแลอะไรๆ แดงครึ่ดไปทั้งนั้น การแต่งไฟนี้สำหรับตำบลซึ่งมีคนประชุมมาเที่ยว เช่นแสดงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มีกำหนดวนจุดสำหรับที่จะล่อให้หมู่คนที่มาประชุมรื่นเริง มิสเตอดอเรลลี พ่อดอเรลลีที่รับราชการเรามาหา ได้เคยรู้จักมาแต่ก่อน เมื่อครั้งไปหาโป๊ปเลียวที่ ๑๓ เขาเปนสัปรุษ มีตำแหน่งราชการในวะติกัน

วันนี้ได้รับโทรเลขแกรนด์ดุ๊กออฟบาเดนคนใหม่ บอกข่าวแกรนด์ดุ๊กพระบิดาสิ้นพระชนม์ ได้ตอบแลคอยฟังกำหนดฝังศพ มีความเสียใจที่ได้ข่าวกรมจรัส[๒๒๙]ตาย รับโทรเลขที่ปารีส ผเอินที่ชื่อนั้นผิด อ่านไม่ได้ความว่ากะไร เดาว่ากรมหลวงวรเสรฐ มีความเสียใจเปนอันมาก เพราะเหตุที่ได้รักษาชลอมาได้เท่าใด จนถึงเวลาจวนจะกลับไปถึงแล้ว มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน เลยตอบพุ่งเข้าไปให้ถามข่าวลูกหญิง ๒ คน[๒๓๐] แลกรมหลวงวชิรญาณกับประวิตร[๒๓๑] ครั้นมาถึงนี่จึงได้โทรเลขตอบ ว่าไม่ใช่กรมหลวงวรเสรฐ กลายเปนกรมจรัสซึ่งไม่ได้คาดเห็นเลย เปนที่อนาถใจเปนอันมาก ลูกพระปิ่นเกล้าจะจวนหมดเสียจริงๆ แล้ว ดูน่าใจหาย หมดเรวเหลือเกิน

คืนที่ ๑๘๘

วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน

กินเช้าแล้ว เวลา ๔ โมงเศษไปขึ้นรถไฟที่สเตชั่นมีดอเรลลี ลูกกลับจากเมืองเฮกมาหาแล้วขึ้นรถไฟมาด้วยพ่อมาส่งที่สเตชั่น ทางรถไฟวันนี้เปนทางเซนต์โกธาร์ด ซึ่งมีที่ดูมากทั้งประหลาดแลงดงาม จึงได้มากลางวัน มีเวลาที่เลียบทเลสาบมาโดยมาก ทเลสาบเหล่านี้งดงามด้วยบ้านเรือนตั้งรายไปทั่วทุกแห่ง แลมีภูเขาสูงๆ จดจนถึงฝั่งทเล เมื่อว่าตามลักษณก็คล้ายกันกับนอรเว แต่เปนอย่างเช่นว่าแล้ว คือนอรเวยังคงเปนอยู่ตามธรรมดา ที่นี่เปนของตกแต่งไปทั้งนั้น ไม่มีแห่งใดที่จะเปลี่ยวสักแห่งเดียว ข้อที่แปลกกันมาก คือที่นอรเวเห็นว่าภูเขาพังทลายลงมาด้วยแรงน้ำทั้งนั้น มีศิลาก้อนโตๆ ตกตั้งทิ้งอยู่ในน้ำแลบนบก มีเขาทลายลงมาครึ่งเขาค่อนเขา มีน้ำพุตกทรามไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ที่นี่จะหาก้อนศิลาตกให้เปนก้อนใหญ่สักก้อนเดียวก็ไม่มี มีแต่ก้อนเล็กก้อนน้อยก็ห่างๆ รายๆ น้ำตกก็ตกเสียไม่ได้ ประสาว่ามีน้ำแข็งอยู่บนยอดเขาก็ตกไปเช่นนั้นเอง น้ำแข็งก็บางในตาแลสูง ไม่ตั้งใจดูก็ออกจะไม่เห็นได้ การที่จะเที่ยวไปมาแห่งหนึ่งแห่งใดมันสารพัดจะง่ายดาย ไม่ต้องมีความพยายามแลเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรแต่สักอย่างเดียว นอกจากจะขืนไปขึ้นเขาอย่างเก่า ต้นไม้ที่เปนป่าก็น้อย เปนไร่หญ้าแลต้นผลไม้ไปเสียทั้งนั้น ต้นผลไม้มาก จะว่าอะไรนอกจากว่าเปนป่าแต่งเขาแต่งไม่ได้เลย เมื่อไปเห็นที่เปลี่ยวเช่นนอรเวมาแล้ว มาดูที่ประเทศนี้ออกจะจืดๆ เหมือนๆ กันไปหมด ไม่ทำให้ใจเต้นชเง้อชแง้ สิ่งที่ชเง้อชแง้อยู่ก็แต่เรื่องทางรถไฟ ซึ่งเขาทำเปนการวิชาอย่างวิเศษในทางที่จะขึ้นเขาแลลงเขาเข้าปล่องข้ามสพาน ดูประหนึ่งว่ารถไฟเดินซ้อนกันบนลิ้นชั้วเวียนลงมา รถที่สวนกันไปสวนกันมา ก็เห็นกันได้จนตลอดสายตา แต่เข้าปล่องลอดใต้เขากว่า ๖๐ ปล่อง ปล่องที่ยาวที่สุดคือ เซนต์โกธาร์ดปล่องเดียวยาวถึง ๓๕๐ เส้น ทางนี้ไกลกว่าซิมปลองซึ่งได้ไปเมื่อขาขึ้น แลงามกว่ากันด้วย

เมื่อวานซืนนี้กล่าวถึงเรื่องเมืองสวิตเซอแลนด์ ขาดไปเรื่องหนึ่งคือสวิตซ์นั้นไม่มีภาษา เปนคนชาติเยอรมันบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง อิตาเลียนบ้าง รวมกันเข้าเปนชาติ เพราะฉนั้นภาษาจึงต้องใช้ทั้ง ๓ ภาษา กฎหมายฤๅข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดต้องเขียน ๓ ภาษา ในที่ประชุมปฤกษาราชการ ก็ให้เปนภาษาราชการได้ทั้ง ๓ ภาษา ผู้ที่เปนเมมเบอจำจะต้องรู้ภาษาทั้ง ๓ ฤๅอย่างน้อยก็ ๒ ผู้ที่จะพูดนั้นตามแต่จะถนัดภาษาใด รัฐบาลใน ๗ คนนั้นจะเปนชาติหนึ่งชาติใดก็ได้ ไม่มีกฎหมายห้ามปราม แต่เปนประเพณีจำจะต้องมีเยอรมัน ๕ คน ฝรั่งเศสแลอิตาเลียน ๒ คน เพราะชาวสวิตเซอแลนด์เปนเยอรมันโดยมาก ต่อลงมาแต่เขตรแดนเยอรมัน ฝ่ายฝรั่งเศสก็อยู่ต่อเขตรแดนฝรั่งเศส ฝ่ายอิตาเลียนก็อยู่ต่อเขตรแดนอิตาลี ทางที่มาวันนี้ตอนบนเปนเยอรมัน ตอนล่างเปนอิตาเลียน คนพลเมืองเปนอิตาเลียนจริงๆ จะสังเกตไม่ได้ว่าผิดกันอย่างไร บ้านเรือนตอนข้างบนยังเปนอย่างสวิตซ์บ้าง ตอนล่างเปนอิตาเลียนทีเดียว จะรู้ได้ก็แต่ว่าเขตรแดนต่อกันเพียงไหนก็แบ่งชาติกันเพียงนั้น แต่สาสนาเปนโรมันคาทอลิกเปนพื้น จึงเปนอันร่วมสาสนาเดียวกันทั้ง ๓ ชาติ เมืองเปนของสวิตเซอแลนด์ลงมาจดพรมแดนกับอิตาลีที่ตำบลเกียสโซ ซึ่งเปนสเตชั่นที่มาหยุดวันนี้ ห่างจากทเลสาบโกโมทาง ๒ ไมล์เศษ แต่เขตรแดนที่ปันกันอ้อมขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ไปปันทเลสาบลุคาโนเปนคนละครึ่ง

วันนี้เปนวันโชคไม่ดี ตั้งแต่เช้ามาก็เปนหมอกควันมืดครึ้มไปไม่แลเห็นภูเขา เลวยิ่งกว่าเมื่อวานนี้ ครึ้มเช่นนั้นจนตลอดทั้งวัน ลงตอนบ่ายซํ้าฝนตกด้วย แต่รถที่มาเขาจัดพ่วงห้อยท้าย นั่งแลดูวิ้วได้สบายเว้นแต่ไม่แลเห็นไกล กินเข้ากลางวันในรถ ไม่ใช่รถกินเข้า จัดตั้งขึ้นเฉยๆ เอาคนในโฮเตลมาเลี้ยง กำหนดเดิมว่าจะมาถึงบ่าย ๕ โมง แต่ไม่ถึงได้จนย่ำคํ่า ถึงเกียสโซเข้าแล้วฝนยิ่งตกใหญ่ลงมา ขึ้นรถโมเตอร์คาร์มาทั้งกำลังฝน อยู่ข้างจะถูกสาดมาตามทางเปนบ้านคนตลอด มีวิลลามีสวนที่งามๆ หลายแห่ง ช้าอยู่จึงได้ถึงโฮเตลเรียกชื่อว่า วิลลาเดสต์ คำที่เรียกว่าตำบลโกโมนั้นเรียกตามชื่อของทเลกว้าง แต่ตำบลนี้ฤๅเมืองนี้เขาเรียกว่า เซอรนอบบิโอ เลือกที่ได้เหมาะดี คือตั้งแต่เกียสโซมาเปนถนนริมทเล มาถึงตอนนี้เปนแหลมยื่นออกไป ถนนตัดลึกเข้าไปข้างใน ไม่โอนออกมาริมน้ำ เพราะฉนั้นโฮเตลจึงได้ได้ถนนข้างหนึ่ง ฝั่งทเลข้างหนึ่งมีเขาอยู่ตรงข้ามฟาก ท่วงทีจะงาม มีชาลายื่นออกไปจากโฮเตลชั้นบนจนถึงริมน้ำ ท่าทางจะแลดูอะไรดีเว้นแต่ออกไม่ได้ ฝนตกเปนอย่างฝนบางกอกเสียงกราวอยู่เสมอ เหมือนฉลองพระชนม์พรรษา จนดึกจึงได้หาย ไม่หนาวเท่าไร ตอนหัวค่ำปิดน่าต่างเข้าร้อนด้วยซํ้าไป เรื่องคนดูเริ่มที่จะแน่นเสียตั้งแต่สเตชั่น ดูออกจะว่าได้ไว้ฟังบ้าง ไม่เหมือนกันกับในเมืองซึ่งอาจจะเบียดเอาโปลิศหกล้มหกลุกได้ ครั้นมาถึงที่โฮเตล คนก็เต็มแน่นไปทั้งนั้น ไม่ใช่แต่คนมาดู คนอยู่ที่โฮเตลนี้ก็มาก เพราะเปนฤดูกาลที่เขามาเที่ยวเลื่อนหนีหนาวกันลงมาทุกชั้น ม้าฬ่อสำหรับกินเข้ามันช่างโด่งดังเสียจริงๆ ตีถึงสามครั้ง เวลากินเข้าแล้วเขาเล่นดนตรี เปิดประตูออกเสียงดังเห่อลั่นเหมือนดังดูงานมโหรศพมากๆ ห้องที่อยู่ก็สบายพอใช้แต่แคบ เตียงนอนแล้วใหญ่โตเสียจริงๆ น่ากลัวผ้าห่มนอนคลุมไม่มิด อาหารก็ดีพอใช้ได้ มีผลไม้มาก มีผลไม้อย่างหนึ่งข้างในเหมือนพุดทรา แต่ไม่มีเมล็ด ข้างนอกมีเปลือกหุ้มพองๆ เหมือนกระเช้าสีดา ใครเห็นเข้าไม่รู้จักสักคนเดียว แต่ทำไมพ่อจึงรู้จัก จำได้ว่าได้เคยเห็นแลเคยกิน ถามว่ารศชาตอย่างไรก็บอกได้ว่ารศเปรี้ยว นึกอยู่เปนนานว่าได้เคยเห็นที่ไหน จึงนึกออกได้ว่าเคยเห็นที่อินเดีย พร้อมกันกับพุดทรารูปรี ตั้งแต่เห็นมาได้ ๓๖ ปีนี่แล้ว ไม่ได้เห็นอิกเลย เรียกว่าอะไรก็จำไม่ได้ ให้ไปถามเจ้าของโฮเตล ได้ความไถลไปว่าพรรณมาแต่เมืองยี่ปุ่น เรียกว่า กินกินเชรี แต่เปนของปลูกในเมืองนี้ ซึ่งได้กินที่อินเดียนั้นเห็นจะไม่ใช่ของมาแต่ยี่ปุ่นเห็นจะไปจากอิตาลี เพราะได้กินพร้อมกันกับลูกองุ่นที่รูปรีเปนงาข้าง เปนลูกองุ่นอิตาลีเหมือนกัน พรรณคงจะมานานแล้ว เปนอย่างเดียวกันกับส้มที่ได้พรรณมาแต่เมืองจีน แล้วเรียกชื่อว่าแมนเดอรินนั้น

คืนที่ ๑๘๙

วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม

วันนี้ค่อยรู้สึกปลื้มใจหน่อยที่ได้รับโทรเลขเรื่องเรือซักเซน ว่าเปนอันตกลงยอมที่จะไปรับปอตเสด วันที่ ๒๑ ถึงปินังอย่างช้าเพียงวันที่ ๗ พอมีวันข้างทเลตวันออกมากขึ้น อิกอย่างหนึ่งจวนจะครบ ๖ วิกตามกำหนดเดิมที่หมอจะให้หยุด อาหารดูค่อยกินได้ขึ้น เรื่องส่งเมล์จอแจประดักประเดิดอยู่บ้าง พรุ่งนี้เปนวันที่จะเดินทาง จะไปถึงโรมต่อวันศุกรกลัวว่าจะพลาด จึงคิดจะรีบส่งเสียที่นี่ในวันนี้ แล้วแต่ความพยายามจะพอได้เพียงใด เวลานี้รับเปนสัตย์ว่าออกจะท้อถอย เปนมาหลายวันแล้ว

เวลากินเข้ากลางวันแล้ว ลงเรือโมเตอร์ที่น่าโฮเตล เรือลำนี้มีเก๋งนั่งจุได้ ๖ คน เขาทำเก๋งไม้กรอบกระจกบางเบาดี แต่รูปเรือเปนอย่างเรือที่มีในบางกอกแล่นเร็วไม่ได้ พอแล่นเร็วเข้าก็น้ำเข้าเรือ แรกเรานั่งกันที่น่าเรือ พอเรือออกเดินเร็วเข้า ทนไม่ไหวต้องเข้าเก๋ง ตกลงเปนเก้าอี้น่าเรืออยู่เปล่าๆ แล่นช้ากว่าลำลูเซิน เรือลำนั้นรูปดีนักฟันคลื่นแตกกระจาย แต่ไม่ได้กระเดนเข้ามาในเรือได้เลย วันนี้ได้แคตลอกมาดู ราคาเครื่อง ๖๐๐ ปอนด์ ลำเรือต่างหาก

ทเลสาบโกโมนี้ น่าจะกล่าวได้ว่ามีบ้านเรือนรายรอบตลอดห่างบ้างชิดบ้าง ถนนตัดขึ้นไปบนข้างเขาสองชั้นบ้าง สามชั้นบ้าง เขาทั้งปวงรูปงามมากอยู่ดูพากภูมมีต้นไม้หนาเต็มไปทุกลูก ทเลสาบเช่นนี้เปนลักษณเดียวกันกับสระอโนดาตฤๅสระฉัททันต์ตามที่พรรณาในหนังสือน่าจะเรียกว่าสระ ที่ขังน้ำใหญ่ๆ อย่างนี้เปนได้สามอย่าง อย่างหนึ่งเปนที่ลุ่มใหญ่ในระหว่างแม่น้ำเช่นทเลสาบเมืองเขมร มีน้ำตกลงมาแต่ข้างเหนือแลไหลลงทเลข้างใต้ อิกอย่างหนึ่งเดิมเปนทเล แต่เกิดหาดกระเส็ตผุดขึ้นบังเสียโดยรอบ เหลือแต่ช่องน้ำเข้าออกจากทเลทางเดียว อย่างเช่นทเลสาบเมืองสงขลาแลพัทลุง สองอย่างนี้เราเคยเรียกกันว่าทเลสาบ แต่ส่วนที่มีเขาล้อมรอบทุกด้านไม่มีลำคลอง ซึ่งจะชักน้ำให้ไหลไปในที่อื่น มีแต่ซึมไปตามพื้นแผ่นดินฤๅไปตามไอร้อน ส่วนน้ำที่เพิ่มเติมนั้นเปนน้ำแขงฤๅน้ำเหลวก็ตาม อยู่บนยอดเขาที่สูง เมื่อละลายไหลตกลงมาเปนลำรางน้ำพุเพิ่มเติมห้วงน้ำอันใหญ่ในระหว่างเขา เช่นนี้เราไม่เคยเรียกว่าอะไร เพราะเราเคยเห็นแต่ที่เปนห้วงน้ำอยู่ในที่ดินล้อมรอบเช่นนี้เรียกว่าหนอง แต่ธรรมดาหนองมักจะให้เข้าใจว่าไม่สู้ใหญ่ แลน้ำก็ไม่สู้ลึก นี่มันใหญ่น้ำก็ลึกเปนทเล น่าจะเรียกว่าทเล ฝรั่งเขาก็เรียกว่าทเล แต่ช่างให้นึกเห็นเหมือนกับคำที่พรรณาถึงอโนดาตแลฉัททันต์ ซึ่งเขาเรียกว่าสระ ตามส่วนสระนั้นโตกว่านี่เสียอิก ถ้าพูดกับนักเรียนบาฬีเห็นจะพอใช้ได้ มีคนเรียกอยู่คนหนึ่งติดปาก คือพระยาชลยุทธเรียกสระเสมอ แต่แกก็ไม่อินแลแกก็ไม่ใช่ไทย ถ้าฟังตามธรรมดามันแลเห็นเปนสี่เหลี่ยมรี ฤๅสี่เหลี่ยมจตุรัศลงเขื่อน จึงจะควรเรียกว่าสระ จะวินิจฉัยอย่างไรก็ตามแต่จะวินิจฉัย ที่ว่านี้เพื่อจะให้เข้าใจว่าไม่ใช่ทเลสาบอย่างที่เราเคยเข้าใจ

บ้านริมทเลสาบเหล่านี้ น่าบ้านลงเขื่อนศิลามีคอกก่อด้วยศิลาบ้าง ชั้นต่ำของเรือนบ้าง เปนที่สำหรับเก็บเรือเพื่อจะป้องกันอันตรายคืออาจจะมีพยุใหญ่ได้ หลังเขื่อนนั้นเปนชาลาน่าเรือน ปลูกต้นไม้มีอัฒจันท์ฤๅบันไดขึ้นลง ลักษณบ้านริมแม่น้ำริมคลองเมืองเรา หมู่บ้านเหล่านี้มีเรือนเก่าๆ ซึ่งอ้างจนถึงแต่ครั้งโรมันก็มี แต่เวลาที่ไปไม่เหมาะเลย ไปไม่ได้เท่าไรก็ฝนตก มืดมัวจนถึงไม่แลเห็นเขาก็มี ฝนตกก็ตกเอาจริงๆ ตกอย่างเฉลิมพระชนม์พรรษา เปนฝนเมืองไทยถึงฝรั่งต้องกั้นร่ม แต่เพราะเหตุที่ได้ไปแล้วก็ต้องดื้อไป ประมาณสักชั่วโมงครึ่งถึงทเลซึ่งเปน ๓ แยก เรียกว่าตำบล คะเดนับเบีย มีโฮเตลสว่างอารมณ์กล่าวคือเบลวู ขื่งเปนชื่อจำเปนจะต้องมีทุกเมืองตั้งอยู่ที่นั่น หยุดกินน้ำชา ต้องกั้นร่มขึ้นไป วุ่นวายใหญ่ โฮเตลนั้นลักษณเดียวกันกับที่เซอรนบบิโอ ไม่ผิดอะไรกันเลยละ คือแบ่งในประธานเปนเฉลียงด้านหลังกว้าง เหลือไว้เปนห้องไม่สู้ใหญ่ มีชาลาด้านริมน้ำ มีสวนต้นไม้รายๆ มีพวกอังกฤษมาเที่ยวอยู่หลายคู่ แต่เขาจะไปข้างไหนกันเสียบ้างไม่ทราบ เพราะมาอยู่มาเช่นนี้กลางวันไปเที่ยว กลางคืนจึงกลับมานอนเปนที่เงียบสงัดสบายดี มีวิลลาโบราณอยู่ในที่ใกล้ๆ ที่สำหรับไปดูกัน แต่จะเดินก็ฝนตก ขากลับจอดเรือเข้าไปแล้ว เห็นฝนหนาเม็ดนัก แลเปนเวลาที่มันหายทเยอทยานอยากเที่ยวเลยกลับ แต่กระนั้นกลับมาถึงยังมืดแล้ว ฝนมาหยุดเอาเมื่อกลับมาถึงโฮเตล คนในโฮเตลนี้เห็นจะหลายร้อย แต่เปนคนต่างประเทศ มีอังกฤษมาก เวลาขึ้นลงต้องเดินผ่านคนหมู่ใหญ่ทุกเวลา แต่กิริยาเขาเรียบร้อยดีทั้งนั้น ไม่เถลือกถลนลนลาน

เวลากำหนดกลับตกลงดังนี้ พรุ่งนี้ออกเวลาบ่ายไปกินเข้าเย็นที่มิลานช์ แล้วไปรถไฟกลางคืนวันที่ ๓ เวลา ๓ โมงเช้าถึงเมืองโรม วันที่ ๕ ฤๅที่ ๖ ออกจากโรมไปเนเปอล วันที่ ๗ เวลาค่ำไปลงเรือพม่าซึ่งอิสต์เอเซียติกกัมปนีเขาสั่งให้คอยรับ จะได้ออกเรือต่อ ๒ ยามให้ไปถึงเมสสินา วันที่ ๘ เวลาเที่ยงซึ่งเปนเวลากำหนดจะพบกับกิงออฟอิตาลี เมื่อเสร็จการที่ควรจะอยู่เท่าใดแล้ว จะออกเรือไปขึ้นที่ปาเลอโมซึ่งอยู่หัวเกาะซิซิลีข้างเหนือ จะควรอยู่ช้าเร็วเท่าใดผ่อนผันในเวลานั้น แล้วกลับโดยทางรถไฟซึ่งผ่านมาในกลางเกาะ แวะซาระคุส ฤๅจะมีที่อื่นอิก ในที่สุดมาอยู่ เตาร์มีนา ซึ่งว่าเปนเมืองงามแลมีที่เที่ยว คงจะกลับลงเรือพม่า เปนกำหนดแน่ในวันที่ ๑๔ วันที่ ๑๕ ฤๅที่ ๑๖ ด้วยเที่ยวที่มอลตา แล้วออกไปให้ถึงเมืองปอตเสดในวันที่ ๒๑ เรือซักเซนจะไปคอยอยู่ที่ปอตเสด ถ่ายลำขึ้นเรือซักเซน แล้วออกมาไม่แวะตำบลใดจนถึงวันที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน ถึงเมืองโกลัมโบ เขากำหนดจะหยุด ๑๒ ชั่วโมง ออกจากโกลัมโบ จะมาถึงปินังในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันที่ ๗ ไปนี้ได้ยอมมอบให้กรมดำรงกะโปรแกรม เพราะถึงเขตรแดนเราแล้ว แต่พ่อมีความปรารถนาจะข้ามฟากไปเข้าในพระราชอาณาเขตรฝั่งตวันออกให้ได้โดยเร็ว เวลาพอเท่าใดก็เท่านั้น ข้อสำคัญนั้นจะไปเยี่ยมราษฎรเมืองตราด เพราะพ่อได้บอกไปว่า จะไปเยี่ยมให้ถึงเมืองตราด เพื่อจะให้เปนที่ยินดีด้วยกันทั้งตัวพ่อแลราษฎรที่ได้กลับมาพบเห็นกันอิก แล้วจะแวะเมืองจันทบุรีซึ่งไม่ได้เห็นนานแล้วด้วย แต่ที่อื่นๆ นั้นแล้วแต่เวลาจะมี

พ่อได้หยุดบ่นมาเสียช้านานแล้ว ถึงเรื่องที่คิดถึงลูก ฤๅคิดถึงบ้านเมืองอย่างใด เพราะยิ่งบ่นก็ยิ่งทำให้ใจไม่สบาย แต่หนังสือเที่ยวนี้บางทีจะเปนฉบับหลังที่สุด ซึ่งพ่อจะส่งจากยุโรป เวลากำหนดที่จะถึงก็ใกล้เห็นหลังอยู่แล้ว จึงขอบ่นเสียให้สะใจ เมื่อมาครั้งก่อนมีการงานซึ่งต้องคิดต้องทำไม่สำเร็จได้ง่าย ใจฅอผูกพันอยู่เสียด้วยการงาน ไม่สู้รู้สึกช้าฤๅเดือดร้อนเท่าใด มาคราวนี้มีเวลาว่างได้หยุดพักมาก กลับเปนเครื่องเดือดร้อนรำคาญ รู้สึกว่าไม่มีอะไรจะทำ เหนื่อยหน่ายในการอยู่เปล่า ยิ่งยากที่ผู้ใดจะเชื่อเมื่อไม่เปนคนที่เคยทนทานความหนักมาแล้ว แลต้องมาอยู่เปล่ารู้สึกตัวว่าไม่มีประโยชน์ เช่นพ่อเคยรู้สึก เขาจะคิดว่าปราถนาหาความศุข คิดถึงลูกถึงเมียไปอย่างเดียว แกล้งเอาว่างเปล่าขึ้นยกแก้หน้า ความจริงอันนี้คงมีผู้ที่เคยทำงาน ซึ่งจะรู้สึกน้ำใจพ่อได้บ้าง เว้นแต่จะน้อยตัวเปนธรรมดา แลใช่จะปฏิเสธว่าไม่ได้คิดถึงลูกเมียบ้านเรือนเลยนั้นก็ไม่ใช่ แต่พ่อรู้สึกตัวว่าได้รับความหนักทั้ง ๒ อย่างมาประดัง จึงทำให้เบื่อๆ ไม่สู้ชื่นชมยินดีต่ออะไรนัก รู้สึกว่าคว้างเคว้งไม่มีอะไรจะทำอยู่เปนนิจ เมื่อเวลาเที่ยวไปมาเหน็ดเหนื่อยดูยังชั่วกว่าอยู่ที่เดียว จะว่าทำงานก็ออกจะได้มากกว่าเวลาหยุดอยู่นิ่งๆ เวลาอยู่นิ่งๆ เบื่อใจ ทำงานก็ไม่เปนแก่นสาร มันจับๆ วางๆ ไปแต่เวลาไปในเรือดูจะเดือดร้อนน้อยกว่าอยู่บนบก สังเกตดูเหมือนเมื่อแรกมาฤๅไปนอรเว มันเปลี่ยนทุกวัน ใจฅอไม่สู้กะไร เพราะมีเครื่องผูกพันว่าวันนี้จะถึงนั่นพรุ่งนี้จะถึงโน่น แลข้อซึ่งได้อากาศทเลนี่เปนสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากว่า ว่าถึงการรักษาไข้ พ่อเชื่อว่าพ่อได้รับผลจากอยู่ในทเล ๒ เดือน คือมาแต่บางกอกเดือนหนึ่ง ที่นอรเวเดือนหนึ่งมากกว่าอย่างอื่นหมด จึงไม่มีความท้อถอยในการที่จะเดินทางกลับไปในทเลนั้นเลย

ถ้าจะได้ส่งหนังสืออิกจะได้ส่งที่ใดก็ยังไม่แน่ เพราะจะไปเตร็จเตร่อยู่ข้างฝั่งตวันออกอิกถึง ๗ วัน แต่อย่างไรๆ หนังสือคงจะเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ก่อนพ่อ เพราะเหตุที่พ่อยังจะไปแวะเมืองตราดแลจันทบุรี เพราะฉนั้น หนังสือที่จะกำเข้าไปส่งด้วยมือ คงจะไม่เปนปึกโตเท่าใด

จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



[๒๒๙] กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ

[๒๓๐] พระเจ้าลูกเธอ พระองค์หญิง ๒ พระองค์นั้น คือพระองค์เจ้าภัทรายุวดี กับพระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ

[๒๓๑] คือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม เวลานั้นดำรงพระยศเปนกรมหมื่นปราจิณกิติบดี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ