คำนำ

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมากไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ วรรณกรรมดังกล่าวย่อมสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งซึ่งกวีเป็นผู้บันทึก ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในแต่ละเรื่อง จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสืบค้นเรื่องราวในอดีต

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมโบราณอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ วรรณกรรมเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสารสมุดไทยซึ่งนับวันจะชำรุดสูญสลายไปตามกาลเวลา หลายเรื่องสูงด้วยคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์สมควรที่จะเผยแพร่และรักษาสืบทอดให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติสืบไป

เรื่อง พระรถคำฉันท์ นี้สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีสำนวนโวหารไพเราะ กรมศิลปากรยังไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีคุณค่าต่อการศึกษาด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นผู้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่

อนึ่ง เรื่อง พระรถเสน หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ พระรถเมรี เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กวีไทยนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมร้อยกรองหลายรูปแบบ เช่น กาพย์ขับไม้ คำกลอนและบทละครซึ่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กำลังตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์ในโอกาสต่อไป

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือ พระรถคำฉันท์นี้ จะอำนวยประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๘ เมษายน ๒๕๔๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ