สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙

สงครามครั้งนี้เปนการรู้ล่วงหน้านาน เหมือนคราวพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองขอช้างเผือก เพราะกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาตั้งทำนาแต่ปีระกาดังกล่าวมาแล้ว ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงก็ยกกองทัพหลวงมา เวลานั้นไทยทิ้งหัวเมืองเหนือให้แก่ข้าศึก พระเจ้าหงษาวดีจึงให้กองทัพทั้งปวงเข้ามาประชุมกันที่เมืองกำแพงเพ็ชร เปนจำนวนพลเบ็ดเสร็จ ๒๕๐,๐๐๐ ให้จัดเปนทัพกษัตริย์ ๓ ทัพ คือทัพพระเจ้าหงษาวดีทัพ ๑ ทัพพระมหาอุปราชาทัพ ๑ ทัพพระเจ้าตองอูทัพ ๑ แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้นพระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองว่ามาแพ้ไทย จึงให้เปนแต่พนักงานสำหรับขนเสบียงอาหาร ครั้นจัดพร้อมแล้วก็เดินทัพลงมา เมื่อถึงเมืองนครสวรรค์ให้กองทัพพระมหาอุปราชายกแยกมาทางเมืองลพบุรี เมืองสระบุรี แล้วมาบรรจบทัพหลวงที่พระนครศรีอยุทธยา ส่วนกองทัพพระเจ้าตองอูให้ยกลงมาทางริมแม่น้ำฝั่งตวันออก กองทัพพระเจ้าหงษาวดีนั้นยกลงมาทางฝั่งตวันตก ทั้ง ๒ ทัพนี้ลงมาถึงพระนครศรีอยุทธยาเมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ตั้งค่ายรายกันอยู่ข้างทิศเหนือกับทิศตวันออกแต่ ๒ ด้าน ด้วยเปนทางที่จะเข้าตีพระนครได้สดวกกว่าด้านอื่น กองทัพพระเจ้าหงษาวดีอยู่ด้านเหนือ ตั้งค่ายหลวงที่ขนอนปากคู ให้กองมังมอดราชบุตรกับพระยาพระรามตั้งที่ตำบลมะขามหย่อง ให้กองพระยานครตั้งที่ตำบลพุทธเลา ให้กองนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง กองทัพพระเจ้าตองอูให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตวันออก ครั้นกองทัพพระมหาอุปราชามาถึงให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตวันออก ต่อกองทัพพระเจ้าตองอูลงมาทางบางตะนาวข้างใต้.

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาได้มีเวลาเตรียมรักษาพระนครหลายเดือน เพราะรู้ตัวก่อนดังกล่าวมาแล้ว การตระเตรียมครั้งนี้มีรายการปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายอย่าง คือ

(๑) ตั้งแต่เข้าระดูฝน ให้เกณฑ์คนออกตั้งทำนาทั่วทุกทำเลนาในจังหวัดกรุง ฯ แลให้ทหารกองอาสาออกไปคอยตรวจตราป้องกันมิให้พวกข้าศึกมาทำร้ายได้ เมื่อได้ข่าวว่าข้าศึกยกกองทัพใหญ่ลงมา เวลานั้นเข้ากำลังออกรวง ก็ให้รีบเกี่ยวเก็บขนเอาเข้ามาในกรุง ฯ ที่จะเอามาไม่ได้ทันก็ให้ทำลายเสีย มิให้ได้ไปเปนประโยชน์แก่ข้าศึก.

(๒) ให้ระดมคนทั้งในจังหวัดกรุง ฯ แลหัวเมืองขึ้นชั้นในเข้ามาประจำรักษาพระนครเหมือนทุกคราว แต่คราวนี้เอาความรู้การที่เคยปรากฎว่า เมื่อต้อนคนเข้าพระนครแต่ก่อนมา ผู้คนที่อยู่แขวงห่างไกลมักเที่ยวหลบหลีกซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง ไม่ได้ตัวมาเสียเปนอันมากทุกคราว คราวนี้จึงเลือกพวกทหารที่ชำนาญป่าตั้งเปนนายกองอาสา ให้แยกย้ายกันไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนที่กระจัดพลัดพรายรวมเข้าเปนกองโจร คอยเที่ยวตีตัดลำเลียงข้าศึกทำลายเสีย อย่าให้ส่งเสบียงอาหารแลเครื่องยุทธภัณฑ์มาถึงกันได้สดวก.

(๓) การที่ตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกนั้น ระวังรักษาแต่ที่พระนครกับทางที่จะไปมาข้างใต้ให้ใช้เรือใหญ่ไปมาทางทเลได้สดวก ส่วนทางข้างเหนือตั้งแต่เมืองวิเศษไชยชาญขึ้นไป ปล่อยให้ข้าศึกทำตามชอบใจ ไม่คิดรักษาให้เปลืองผู้คนทีเดียว แต่ในชานพระนครนั้นเตรียมทั้งปืนใหญ่แลกระบวนทัพบกทัพเรือไว้คอยป้องกันเปนสามารถ มิให้ข้าศึกเข้ามาตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในกรุง ฯ ได้.

ขณะเมื่อกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกลงมาถึงกรุง ฯ เมื่อต้นเดือนยี่นั้น เข้าในท้องนาทุ่งหันตราข้างนอกกรุงด้านตวันออกยังเกี่ยวไม่เสร็จ เห็นกองทัพข้าศึกมาใกล้ จึงโปรดให้เจ้าพระยากำแพงเพ็ชร ซึ่งได้ว่าที่สมุหพระกลาโหมคุมกองทัพออกไปตั้งป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวเข้า พอพระมหาอุปราชายกกองทัพมาถึง ให้กองทัพม้ามาตีกองทัพเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรแตกพ่ายเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ด้วยรบกันมาในชั้นนี้ไทยยังไม่เคยแตกพ่ายข้าศึกเลย เจ้าพระยากำแพงเพ็ชรไปทำเสียการ จะให้ไพร่พลกลับเกรงกลัวข้าศึกเสีย จึงมีรับสั่งให้รีบจัดกองทัพ แล้วสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จลงทรงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันยกออกไปในทันที ได้รบพุ่งกับข้าศึกที่ทุ่งชายเคืองเปนสามารถ สมเด็จพระเอกาทศรถถูกกระสุนปืนฉลองพระองค์ขาดตลอดพระกร แต่หาต้องพระองค์ไม่ รบกันอยู่จนเวลาพลบค่ำ ข้าศึกถอยไปจากค่ายเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรที่ตีได้นั้นแล้ว จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตรเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร แต่สมเด็จพระราชบิดาดำรัสขอชีวิตรไว้ จึงเปนแต่ให้ถอดออกจากตำแหน่ง มิให้ว่าการกลาโหมต่อไป พวกข้าราชการทั้งปวงก็พากันเกรงพระราชอาญา ตั้งหน้ารบพุ่งทั่วกันแต่นั้นมา.

ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ให้กองทัพเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งก็เข้าไม่ได้ ด้วยไทยต่อสู้แขงแรงกว่าครั้งก่อน ๆ พม่ายกเข้ามาคราวใดไทยก็ตีเอากลับต้องถอยคืนไปค่ายที่เดิมทุกคราว แต่พระเจ้าหงษาวดีตีพระนครอยู่กว่าเดือนก็ไม่ประชิดเข้ามาได้ ในระหว่างนั้นพวกกองโจรซึ่งสมเด็จพระนเรศวรให้ไปรวบรวมคนจัดขึ้นตามหัวเมือง มีหลายหมวดหลายกอง พากันเที่ยวตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึก ส่งมาถึงกันไม่ได้สดวก ก็เกิดอัตคัดแล้วเลยมีความไข้เจ็บเกิดขึ้นในกองทัพที่ตั้งล้อมพระนคร พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าเกิดความไข้เจ็บในกองทัพข้าศึก เห็นได้ทีก็ให้ออกตีปล้นค่ายข้าศึกทั้งกลางวันกลางคืนมิให้อยู่เปนปรกติได้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีรายการ เฉภาะแต่คราวที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปรบเองหลายคราว คือ

เมื่อเดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลา ๑๑ ทุ่ม (๕ ก. ท.) เสด็จออกปล้นค่ายพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา (ทำนองกำลังข้าศึกกองนี้จะอ่อนกว่ากองอื่น) ข้าศึกแตกหนี ได้ค่ายพระยานคร (ให้เผาค่ายข้าศึกเสีย) แล้วเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร.

เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลากลางคืนเสด็จออกไปปล้นค่ายทัพน่าของพระเจ้าหงษาวดี ข้าศึกไม่รู้ตัวแตกพ่ายได้ค่ายนั้นแล้วไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงษาวดี สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงจากม้าพระที่นั่งทรงคาบพระแสงดาบนำทหารขึ้นปีนระเนียด จะเข้าค่ายพระเจ้าหงษาวดี ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ ขณะนั้นพอข้าศึกกรูกันมามากก็เสด็จกลับคืนเข้าพระนคร พระแสงดาบซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงในวันนั้น จึงปรากฎนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

การที่สมเด็จพระนเรศวรไปปล้นค่ายพระเจ้าหงษาวดีครั้งนี้มีเนื้อความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีทราบ ตรัสแก่เสนาบดีว่า ซึ่งพระนเรศวรออกมาทำการเปนอย่างพลทหารดังนี้ เหมือนกับเอาพิมเสนมาแลกเกลือ นี่พระราชบิดาจะรู้ฤๅไม่ เสนาบดีกราบทูลว่า พระราชบิดาเห็นจะไม่ทรงทราบ ถ้าทราบก็คงไม่ยอมให้มาทำอย่างนั้น พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า พระนเรศวรนี้ทำศึกอาจหาญนัก ถ้าออกมาอิกถึงจะเสียทหารสักเท่าใดก็ตาม จะแลกเอาตัวพระนเรศวรให้จงได้ จึงให้ลักไวทำมู ซึ่งเปนนายทหารมีฝีมือ เลือกทหาร ๑๐,๐๐๐ ไปรักษาค่ายกองน่า รับสั่งกำชับไปว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอิก ให้คิดอ่านจับเปนให้จงได้

ครั้นถึงเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่ทุ่งลุมพลี หมายจะเข้าปล้นค่ายพระเจ้าหงษาวดีอิก แลครั้งนี้ทำนองลักไวทำมู ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้คอยจับสมเด็จพระนเรศวร จะได้คอยสอดแนมรู้ว่าเสด็จออกไปอิก จึงให้ทหารทศคุมพลกอง ๑ ยกมารบ สมเด็จพระนเรศวรเห็นข้าศึกน้อยก็เสด็จเข้ารบพุ่งแต่ด้วยลำพังกระบวนม้า พวกพม่าสู้พลางหนีพลางล่อให้ไล่ไปจนถึงที่ลักไวทำมูคุมกองทหารซุ่มอยู่ ก็กรูกันออกห้อมล้อม สมเด็จพระนเรศวรทรงต่อสู้ข้าศึกเปนสามารถ ลักไวทำมูขับม้าเข้ามาจะจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมูตาย ทหารทศเข้ามาแก้ลักไวทำมู ทรงฟันด้วยพระแสงดาบตายอิกคน ๑ แต่พวกพม่าเห็นไทยน้อยตัวก็ห้อมล้อมไว้ รบสู้กันอยู่กว่าชั่วโมง พวกกองทัพไทยจึงตามไปทัน เข้าแก้ไขสมเด็จพระนเรศวรออกจากที่ล้อมกลับคืนมาพระนครได้.

ถึงเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยกระบวนเรือไปตีทัพพระมหาอุปราชา ซึ่งตั้งอยู่ณะขนอนบางตะนาวแตกพ่ายถอยลงไปตั้งอยู่ที่บางกระดาน.

พระเจ้าหงษาวดีตั้งล้อมกรุง ฯ มาแต่เดือนยี่ ปีจอ จนเดือน ๖ ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๓๐ ถึง ๕ เดือน ตีไม่ได้กรุงศรีอยุทธยา เห็นไพร่พลป่วยเจ็บล้มตายร่อยหรอลงทุกทีก็ท้อพระไทย ดำรัสปฤกษานายทัพนายกองทั้งปวง เสนาบดีผู้ใหญ่จึงทูลว่า กรุงศรีอยุทธยานี้ภูมิ์ฐานมั่นคงนัก จะตีเอาโดยเร็วนั้นไม่ได้ บัดนี้ก็เข้าระดูฝน จะตั้งทำการต่อไปไพร่พลก็จะลำบากยิ่งขึ้นทุกที ควรจะถอยทัพกลับไปทำนุบำรุงรี้พลเสียสักคราว ๑ ต่อระดูแล้งน่าจึงค่อยยกมาตีใหม่ ถึงพระนเรศวรกล้าหาญในการศึก รี้พลก็มีน้อย รบขับเคี่ยวกันไปหลายคราวเข้าก็คงหมดกำลังที่จะต่อสู้ พระเจ้าหงษาวดีเห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้เตรียมถอยทัพ ให้กองทัพพระมหาอุปราชาซึ่งลงมาตั้งอยู่ที่สุดแนวข้างใต้ถอยกลับไปก่อน ให้กองทัพพระเจ้าตองอูยกกลับเปนกองหลัง.

ถึงเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพเรือลงไปที่บางกระดาน หมายจะตีกองทัพพระมหาอุปราชาอิก เห็นพระมหาอุปราชากำลังถอยทัพกลับไป ได้รบพุ่งแต่กับกองหลังของพระมหาอุปราชา ก็ทรงทราบว่าพระเจ้าหงษาวดีจะถอยทัพ จึงเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร รีบทรงจัดกองทัพยกไปตั้งที่วัดเดช เมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ให้เอาปืนขนาดใหญ่ลงในเรือสำเภาขันฉ้อตามขึ้นไปหลายลำ พอเตรียมพร้อมเสร็จ ถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ ก็ให้เอาปืนใหญ่ระดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงษาวดี ถูกผู้คนช้างม้าล้มตาย พระเจ้าหงษาวดีทนอยู่ไม่ได้ก็ต้องรีบถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งอยู่ที่ป่าโมก เมื่อกองทัพหงษาวดีถอยกลับไปครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้กองทัพบกยกติดตามตีข้าศึกไปจนทเลมหาราชทาง ๑ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จโดยกระบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงษาวดีขึ้นไปจนถึงป่าโมกอิกทาง ๑ แต่ข้าศึกมากกว่ามากนักตีไม่แตกฉานไปได้ก็เสด็จกลับคืนมายังพระนคร ทางโน้นพระเจ้าหงษาวดีก็ให้เลิกทัพกลับไปบ้านเมือง.

เรื่องสงครามต่อครั้งนี้ไปหนังสือพงษาวดารเถียงกันอยู่ ในพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารรามัญว่า พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงยกมาตีกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปลายปีกุญ พ.ศ. ๒๑๓๐ อิกครั้ง ๑ ตั้งล้อมอยู่ตีไม่ได้พระนคร ต้องเลิกทัพกลับไปเหมือนครั้งก่อน แต่พงษาวดารพม่าว่าพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงมาตีกรุงศรีอยุทธยาแต่ครั้งที่กล่าวมาแล้วครั้งเดียวเท่านั้น ฝ่ายพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารรามัญที่ว่ายกมา ก็ไม่มีรายการรบพุ่งอย่างใดให้เห็นเปนหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตามพงษาวดารพม่า ว่าพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงยกมาตีกรุงศรีอยุทธยาแต่ในสงครามครั้งที่ ๘ ตอนนี้ครั้งเดียว.

  1. ๑. หนังสือบางฉบับว่า วัดช่องลม อยู่ริมน้ำตรงภูเขาทอง.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ