สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้เปนใหญ่ กรุงศรีอยุทธยากำลังยับเยิน ด้วยถูกพระเจ้าหงษาวดีเก็บริบทรัพย์สมบัติแลกวาดผู้คนพลเมืองไปเสียแทบจะสิ้นทั้งพระนคร ไม่ช้าเจ้ากรุงกัมพูชา (ในสมัยนั้นตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองลแวก จึงเรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า “พระยาลแวก”) เห็นได้ทีก็ยกกองทัพเขมรมาซ้ำเติม หมายจะกวาดเก็บเอาทรัพย์สมบัติแลผู้คนในเมืองไทยที่ยังเหลืออยู่ไปเปนประโยชน์บ้าง ทัพเขมรยกมาหมื่นเดียวสามารถจะเข้ามาได้จนถึงชานพระนครถึง ๒ ครั้ง เพราะที่กรุงฯ ไม่มีรี้พลแลเครื่องสาตราวุธพอจะยกออกไปต่อตีข้าศึก ก็ได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ แต่ครั้นถึงรบพุ่งกันเข้าเขมรสู้ไทยไม่ได้ก็เข็ดขยาดไม่อาจเข้ามาถึงพระนครอิก แต่นั้นจึงเปนแต่มาเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองที่ห่างออกไป.

การที่เขมรพลอยเข้ามาซ้ำเติมในครั้งนั้น คิดดูก็เปนคุณในทางอ้อม เพราะเหมือนเตือนต้อนไทยที่เที่ยวแตกฉานอยู่ให้หนีไภยเข้ามารวบรวมกันที่กรุงศรีอยุทธยา ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีกำลังรี้พลมากขึ้น อิกประการ ๑ เปนโอกาศให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชคิดอ่านจัดการป้องกันพระนครให้แขงแรงขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ โดยไม่ต้องเกรงพระเจ้าหงษาวดีจะระแวงสงไสย เพราะฉนั้นจึงปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ทรงจัดการป้องกันพระนครเพิ่มเติมขึ้นเปนหลายอย่าง เปนต้นว่าทางด้านตวันออกที่ข้าศึกเคยเข้าพระนครได้นั้น ให้ขุดขยายคลองขื่อน่าคูพระนคร ตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม (คือแต่ตรงต่อปากคลองเมืองทุกวันนี้) ลงไปจนปากเข้าสาร ให้ฦกแลกว้างกว่าแต่ก่อน แลเนื่องต่อการขุดคูขื่อน่านั้น ให้สร้างกำแพงพระนครข้างด้านตวันออกขยายลงไปถึงริมน้ำให้เหมือนกับด้านอื่นด้วย แล้วให้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นอิกป้อม ๑ ที่มุมเมืองด้านตวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าป้อมมหาไชย (อยู่ตรงตลาดหัวรอทุกวันนี้)

ป้อมตามแนวกำแพงกรุงเก่า ว่ามี ๑๖ ป้อมด้วยกัน ที่เปนป้อมสำคัญมีอยู่ ๓ ป้อม คือป้อมเพ็ชรตั้งตรงลำแม่น้ำรักษาทางด้านใต้ป้อม ๑ ป้อมซัดกบ (น่าจะมีชื่ออื่น อยู่ที่โรงทหารเดี๋ยวนี้) ตั้งตรงลำแม่น้ำแควหัวตะพานรักษาทางด้านตวันตกเฉียงเหนือป้อม ๑ สองป้อมนี้มีมาแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ป้อมมหาไชยที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างตรงทางน้ำร่วมที่มุมเมืองด้านตวันออกเฉียงเหนือ.

นอกจากการก่อสร้างที่กล่าวมา คงจะได้จัดการรวบรวมไพร่พลแลช้างม้าพาหนะ แลหาเครื่องสาตราวุธมีปืนใหญ่เปนต้น มาเพิ่มเติมตามประเพณีจัดการรักษาพระนครแต่ก่อนโดยลำดับมา การรวบรวมรี้พลเห็นจะได้กำลังมากในไม่ช้า ข้อนี้เห็นได้ในการที่ขุดขยายคูแลก่อกำแพงพระนคร ซึ่งจำต้องมีคนมากจึงจะทำได้ ส่วนการหาเครื่องสาตราวุธมาจากต่างประเทศในสมัยนั้นก็ไม่ยากนัก ด้วยมีเรือต่างประเทศมาค้าขายทางทเลอยู่เสมอ ของสิ๋งใดที่ไทยต้องการ พวกพ่อค้าต่างประเทศก็หามาแลกสินค้าในเมืองไทยไปจำหน่ายที่เมืองอื่น เมืองไทยเปนเมืองที่มีสินค้าบริบูรณ์ จึงอาจจะแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ไทยต้องการได้โดยสดวก.

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีพระราชโอรสธิดากับพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ที่มีพระนามปรากฎในพงษาวดาร ๓ พระองค์ ที่ ๑ เปนราชธิดา ทรงพระนามว่าพระสุพรรณเทวี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชถวายพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองไปเปนพระมเหษีเมื่อได้ครองกรุงศรีอยุทธยา ที่ ๒ เปนพระราชโอรส คนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญว่า “พระองค์ดำ” เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชต้องอ่อนนอมต่อพระเจ้าหงษาวดีเมื่อศึกคราวก่อน ทำนองพระเจ้าหงษาวดีจะขอไปเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรม โดยอุบายที่จะเอาไปเปนตัวจำนำ จึงต้องถวายไปแต่พระชัณษาได้ ๙ ขวบ ได้ไปอยู่เมืองหงษาวดี ๖ ปี ครั้นพระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรีอยุทธยา อภิเศกสมเด็จพระมหาธรรมราชาให้ครองแฝนดิน สมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายพระสุพรรณเทวีราชธิดาไปแทน พระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระราชกุมารอยู่ช่วยราชการบ้านเมือง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงสถาปนาให้เปน “พระนเรศวร” ตำแหน่งสมเด็จพระราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราช แล้วให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงตามราชประเพณีแต่ก่อนมา พระราชโอรสพระองค์น้อยคนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญว่า “พระองค์ขาว” ทรงสถาปนาเปน “พระเอกาทศรถ” ให้เสด็จอยู่ในกรุงฯ ด้วยยังทรงพระเยาว์.

ในที่นี้จะอธิบายถึงประเพณีการปกครองหัวเมืองเหนือในสมัยนั้นแทรกลงสักน่อยหนึ่ง ให้เข้าใจว่าเหตุใดสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือ แลเข้าใจได้ตลอดไปว่า เหตุใดตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรต่อมาจึงมิได้ทรงตั้งเจ้านายไปครองหัวเมืองเหนือ จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี.

ที่เรียกว่าเมืองเหนือครั้งนั้น คือเมืองพิศณุโลก (ชื่อเดิมเรียกเมืองสองแคว) ๑ เมืองพิจิตร (ชื่อเดิมเรียกเมืองสระหลวงฤๅโอฆบุรี) ๑ เมืองศุโขไทย (ราชธานีเดิม) ๑ เมืองสวรรคโลก (เดิมชื่อเมืองชเลียง แล้วสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้นเคียงกัน)๑ เมืองพิไชย (เดิมเรียกว่าเมืองทุ่งยั้งบางโพธิ์) ๑ เมืองเพ็ชรบูรณ์ (เดิมเรียกอย่างไรสงไสยอยู่) ๑ เมืองกำแพงเพ็ชร (เดิมเรียกเมืองชากังราว ฤๅนครชุม) เมืองนครสวรรค์ (เดิมเรียกเมืองพระบาง แต่อาจจะเปนเมืองขึ้นของเมืองกำแพงเพ็ชรเหมือนกับเมืองตากก็เปนได้) ๑ รวม ๗ หัวเมืองด้วยกัน.

เมื่อครั้งราชวงศ์พระร่วงเปนใหญในสยามประเทศ เมืองศุโขไทยเปนราชธานี หัวเมืองเหนือนอกนั้นอยู่ในมณฑลราชธานีมาจนสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงัว) พระองค์ที่ ๑ ทำสงครามมีไชยชนะได้เมืองเหนือเปนประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๑๙๒๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้แยกหัวเมืองเหนือทางลำแม่น้ำปิงออกเปนอาณาเขตร ๑ ต่างหาก พระมหาธรรมราชาเจ้านครศุโขไทยจึงย้ายไปครองเมืองพิศณุโลกเปนราชธานี ยังมีพระมหาธรรมราชาสืบราชวงศ์พระร่วงครองหัวเมืองเหนือมาอิกพระองค์ ๑ ฤๅ ๒ พระองค์ ประมาณเวลาราวสัก ๑๙ ปี สิ้นเจ้าเมืองเหนือที่มีความสามารถ บ้านเมืองเปนจลาจล สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) พระองค์ที่ ๒ จึงให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แต่ยังเปนพระราเมศวรราชโอรสเปนพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองเหนือ เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๑๙๖๒ รวมหัวเมืองทั้งปวงกลับเปนมณฑลเดียวอย่างเดิม แต่นั้นมามณฑลราชธานีเดิมกับมณฑลราชธานีใหม่ (คือกรุงศรีอยุทธยา) ก็มิได้เปนอย่างต่างประเทศกันดังแต่ก่อน แต่คนทั้ง ๒ มณฑลคงจะยังรู้สึกว่าเปนต่างพวกกัน เปนพวกเมืองเหนือฝ่าย ๑ พวกเมืองใต้ฝ่าย ๑ ต่อมาอิกช้านาน

สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเปนพระมหาอุปราชครองเมืองพิศณุโลกอยู่ ๒ ปี สมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยาสวรรคต ต้องเสด็จกลับลงมาครองราชสมบัติณกรุงศรีอยุทธยา ไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดไปปกครองหัวเมืองเหนือ เปนแต่ให้ผู้ว่าราชการเมืองต่างเมืองต่างรักษาน่าที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยาอย่างหัวเมืองชั้นใน อยู่มาไม่ช้าพระยายุทธิศฐิระเจ้าเมืองสวรรคโลก (ชเลียง) ก็เปนขบถ ไปนำทัพพระเจ้าติโลกะราชเมืองเชียงใหม่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือ ได้ไปทั้งเมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย แลเมืองกำแพงเพ็ชร กองทัพน่าของพระเจ้าติโลกะราชบุกรุกลงมาจนถึงเมืองไชยนาท แต่ครั้งนั้นผู้รักษาเมืองพิศณุโลกต่อสู้ข้าศึกแขงแรงรักษาเมืองไว้ได้ จึงมิได้เสียหัวเมืองแก่ข้าศึกหมดทั้งมณฑล สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงศรีอยุทธยา ชับไล่ข้าศึกถอยหนีไปโดยลำดับจนถึงเมืองพิศณุโลก แล้วเอาเมืองพิศณุโลกเปนที่ประทับทำการสงครามกับพระเจ้าติโลกะราชต่อมาอิกหลายปี จึงได้หัวเมืองเหนือกลับคืนมาหมดทั้งมณฑล.

ในเวลาเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จขึ้นไปทำสงครามครั้งนั้น โปรดให้พระบรมราชาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่อยู่รักษาพระนครศรีอยุทธยา ครั้นเมื่อได้หัวเมืองเหนือคืนมาหมดแล้วคงจะเปนด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงพระราชดำริห์เห็นว่าหัวเมืองเหนือบ้านเมืองยับเยินด้วยการศึกสงคราม แลผู้คนยังระส่ำระสายนัก ทั้งไม่ทรงวางพระราชหฤทัย เกรงเกลือกข้าศึกจะมาบุกรุกอิก จึงประทับอยู่ที่เมืองพิศณุโลก ไม่เสด็จกลับลงมาครองกรุงศรีอยุทธยาอย่างแต่ก่อน แต่นั้นเมืองพิศณุโลกก็กลับเปนราชธานีของสยามประเทศ กรุงศรีอยุทธยาลดลงเปนเมืองพระมหาอุปราช ให้พระบรมราชาราชโอรสพระองคใหญ่ปกครองมาตลอดเวลา ๒๕ ปี จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเมื่อปี วอก พ.ศ. ๒๐๓๑) ในตอนนี้ที่ราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์กรุงศรีอยุทธยาเริ่มเกี่ยวดองเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จไปเสวยราชย์อยู่ณะเมืองพิศณุโลกครั้งนั้น เชื้อวงศ์สมเด็จพระร่วงยังมีอยู่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถไปมีพระมเหษีที่เมืองพิศณุโลกองค์ ๑ ซึ่งเข้าใจว่าเปนเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเชษฐา ทรงสถาปนาให้เปนพระมหาอุปราชเมืองพิศณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถสวรรคต พระเชษฐายอมถวายราชสมบัติแก่พระบรมราชาพระเจ้าพี่พระองค์ใหญ่ซึ่งครองกรุงศรีอยุทธยา ๆ ก็กลับเปนราชธานี เมืองพิศณุโลกจึงลดเปนเมืองพระมหาอุปราชต่อมาเหมือนตอนแรก สมเด็จพระบรมราชาธิราชครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปีสวรรคต พระเชษฐาก็ได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๒

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เปนชาวเมืองเหนือ เพราะสมภพแลทรงพระเจริญไวยอยู่ในเมืองเหนือ จนได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ปรากฎว่ามีพระราชกุมาร ๓ พระองค์ เปนพระราชโอรสเกิดแต่พระมเหษีพระองค์ ๑ ประทานนามว่า “พระอาทิตยวงศ์” เห็นจะให้หมายความว่า เปนเชื้อวงศ์สมเด็จพระร่วง “ศรีอินทราทิตย์” จึงมิได้ให้ใช้พระนามพระราเมศวรตามแบบเก่า เพราะฉนั้นเข้าใจว่าฝ่ายพระมารดาของพระอาทิตยวงศ์ก็เห็นจะเปนเชื้อสายราชวงศ์ฝ่ายเหนือเหมือนกัน พระราชกุมารอิก ๒ พระองค์นั้นเห็นจะเปนลูกพระสนม ปรากฎพระนามในภายหลังว่า พระไชยราชาพระองค์ ๑ พระเฑียรราชาพระองค์ ๑ พระไชยราชานั้นเข้าใจว่าพระชนนีเปนชาวเมืองเหนือ ด้วยในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชฝ่ายพระบิดาเปนเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง แลฝ่ายพระมารดาเปนเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชาด้วยกันดังนี้ แต่พระเฑียรราชานั้นพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไป เข้าใจว่าพระมารดาเห็นจะเปนชาวกรุงศรีอยุทธยาข้างใต้

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็เสด็จลงมาเสวยราชสมบัติณะกรุงศรีอยุทธยา เพื่อจะรักษาพระราชอาณาจักรทางข้างใต้ให้มั่นคง ต่อมาทรงสถาปนาพระอาทิตยวงศ์ราชโอรสให้เปนพระบรมราชามหาอุปราชขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกตามประเพณีแต่ก่อน ครั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต พระบรมราชาได้รับรัชทายาทจึงเสด็จลงมาเสวยราชย์ณะกรุงศรีอยุทธยา ปรากฎพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธังกูร เข้าใจว่าในระยะนี้ ที่ทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ ๒ พระองค์ที่กล่าวมานั้น เปนพระไชยราชาพระองค์ ๑ พระเฑียรราชาพระองค์ ๑ แลเข้าใจว่าให้พระไชยราชาไปครองเมืองพิศณุโลก รั้งราชการเมืองเหนือ เพราะพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสยังทรงพระเยาว์อยู่ แต่พระเฑียรราชาจะอยู่ในกรุง ฯ ฤๅจะได้ไปครองเมืองใดไม่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบได้ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธังกูรเสวยราชสมบัติอยู่ ๔ ปี ประชวรไข้ทรพิษสวรรคต ข้าราชการเชิญพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสพระชันษาเพียง ๕ ขวบขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน พระไชยราชาไม่ยอมจึงยกกำลังลงมากำจัดพระรัษฎาธิราชกุมารเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติต่อมา.

ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชไม่ทรงตั้งเจ้านายไปครองเมืองพิศณุโลก ให้แต่ผู้ว่าราชการเมืองต่างเมืองต่างปกครองขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุทธยา คงเปนเพราะทรงตั้งแต่งผู้ซึ่งได้ทรงคุ้นเคยใช้สอยมาแต่ก่อน อันเปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยได้ให้ไปครองเมือง ปรากฎชื่อพระยาพิศณุโลกได้ตามเสด็จการสงครามหลายคราว ถึงกระนั้นก็ไม่เปนการเรียบร้อย ด้วยปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ต่อมา “พระนารายน์” ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร (คือพระยารามณรงค์) เปนขบถ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ถึงแผ่นดินพระเฑียรราชา ซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ทรงสถาปนาเปนพระราเมศวร พระองค์ ๑ แต่มิได้โปรดให้ขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกตามแบบอย่างแต่ก่อน ข้อนี้ที่ทำให้แลเห็นว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะมิได้เกี่ยวดองเปนเชื้อสายทางราชวงศ์ฝ่ายเหนือ จึงไม่วางพระไทยที่จะให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปครองเมืองเหนือ แต่ก็คงทรงพระปรารภห่วงใยถึงการปกครองหัวเมืองเหนือ เกรงว่าถ้าให้เปนหัวเมืองแยกกันอยู่ จะเกิดเหตุจลาจลดังเคยเปนมาแล้วทั้ง ๒ คราว ครั้นเมื่อปูนบำเหน็จข้าราชการที่มีความชอบในการถวายราชสมบัติ ทรงพระราชดำริห์ว่าขุนพิเรนทรเทพเปนเชื้อเจ้าในราชวงศ์พระร่วง จึงยกขึ้นเปนเจ้า แลสถาปนาให้เปนที่พระมหาธรรมราชา ไปครองเมืองเหนือ เหมือนอย่างพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์พระร่วงที่เคยเปนประเทศราชมาแต่ก่อน แลพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาให้เปนพระมเหษีเพื่อจะให้ราชวงศ์เปนอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่าที่แท้เปนราโชบายในทางรัฐาภิบาล ซึ่งจะปกครองพระราชอาณาจักรให้มั่นคง มิใช่แต่เปนการปูนบำเหน็จอย่างเดียว

พระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือก็เปนการเรียบร้อยดี แต่พเอิญเกิดศึกพระเจ้าหงษาวดี อันเปนศึกใหญ่หลวงเหลือกำลัง คราวพระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ หัวเมืองเหนือไม่สู้เสียหายเท่าใดนัก ด้วยข้าศึกเปนแต่ผ่านไปทางเมืองกำแพงเพ็ชรในเวลาล่าทัพ แต่ถึงครั้งศึกพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองยกมาคราวแรก เข้าตีหัวเมืองเหนือก่อน เมืองกำแพงเพ็ชรกับเมืองศุโขไทยไม่ได้ยอมอ่อนน้อม พระเจ้าหงษาวดีตีได้จึงกวาดผู้คนไปเปนเชลยทั้ง ๒ เมือง เสียผู้คนพลเมืองไปในครั้งนั้น เห็นจะราวหนึ่งในสามส่วนของจำนวนคนในมณฑล แต่ในคราวหลังหัวเมืองเหนือไปเปนพวกข้าศึก ผู้คนเปนแต่ถูกกะเกณฑ์เข้ากองทัพ ไม่ยับเยินเหมือนกรุงศรีอยุทธยา การปกครองหัวเมืองเหนือจึงยังสำคัญ จำเปนจะต้องมีเจ้านายปกครองอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อนดังได้กล่าวมา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรความจำเปนเช่นว่าหมดไป เพราะชาวเมืองเหนือต้องอพยพลงมาอยู่เมืองใต้ ปะปนเปนอันหนึ่งอันเดียวกันมาหลายปีกับชาวใต้ ความที่เคยรู้สึกว่าเปนชาวเหนือชาวใต้ต่างพวกกันนั้นหมดไป ครั้นไทยมีไชยชนะได้เมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียงมาเปนข้าขอบขัณฑสิมาโดยรอบ ชายพระอาณาจักรยิ่งห่างออกไป หัวเมืองเหนือก็ยิ่งสนิทชิดกับราชธานี ปกครองสดวกยิ่งขึ้นทุกที จึงหมดความจำเปนที่จะต้องให้พระมหาอุปราชาขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือในชั้นหลังต่อมาด้วยประการฉนี้

ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกครั้งนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูในเวลานี้ก็น่าพิศวง ดูเหมือนกับเทพยดาเลือกสรรไปสำหรับจะให้คิดกู้เมืองไทยให้กลับเปนอิศระ เพราะพระราชประวัติแลพระอุปนิสัยของสมเด็จพระนเรศวรเหมาะแก่เหตุการณ์ไม่มีบกพร่องเลยสักอย่างเดียว เบื้องต้นแต่พระชาติประวัติก็เปนเชื้อวงศ์ทั้งสมเด็จพระร่วงแลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อิกประการ ๑ เสด็จสมภพแลทรงพระเจริญไวยในเมืองเหนือ สองข้อนี้ย่อมเปนเหตุให้เกิดความนิยมยินดีแก่ชาวเมืองเหนือโดยธรรมดา ส่วนพระองค์เล่าเพราะได้ทรงคุ้นเคยกับถิ่นฐานแลผู้คนซึ่งเสด็จไปปกครองก็ไม่มีความยากลำบากพระไทย อิกประการ ๑ สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปอยู่เมืองหงษาวดี ๖ ปี ข้อนี้เปนประโยชน์ยิ่งนัก เพราะในเวลานั้นไทยกำลังกลัวพม่าอยู่โดยมาก แต่สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปอยู่ในหมู่พม่ามอญ จนทรงทราบภาษาแลนิไสยใจฅอตลอดจนล่วงรู้ฤทธิ์เดชของพม่าว่ามีจริงเพียงใด เหมือนมีทุนสำหรับคิดอ่านการต่อสู้ได้ใกล้ความจริงยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้น ยังส่วนพระอุปนิไสยของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งอาจจะเห็นได้ในเรื่องพระราชพงษาวดารเปนแน่นอน ว่าเปนนักรบมาแต่พระกำเนิดไม่ต้องมีใครสั่งสอนชักชวนให้ทรงนิยมในการทำศึกสงคราม ด้วยเหตุเหล่านี้จึงว่าเหมือนกับเทพยดาเชิญเสด็จมาสมภพให้เหมาะแก่เวลากาลที่จะก่อกู้เมืองไทยให้พ้นจากเปนทาษของชาติอื่น.

เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปในตอนนี้ ที่จริงก็เหมือนเปนเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวร จำเดิมแต่เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก เวลานั้นพระชัณษาได้ ๑๖ ปี กิจเบื้องต้นที่ต้องทรงขวนขวายครั้งนั้น คิดดูเห็นจะเปนเรื่องหาตัวคนสำหรับทรงใช้สอยก่อนอย่างอื่น เพราะเมื่อพระเจ้าหงษาวดีตีกรุงศรีอยุทธยาได้ อ้างว่าข้าราชการที่เกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีมาก จะให้คงอยู่ไว้ใจไม่ได้ จึงให้รวบรวมข้าราชการในกรุง ฯ เอาไปเมืองหงษาวดีเสียเปนอันมาก เหลือไว้ให้อยู่กับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชไม่เท่าใด เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงจัดการปกครองบ้านเมืองจะให้เปนปรกติดังแต่ก่อน คงต้องถอนข้าราชการหัวเมืองเหนือซึ่งเคยทรงใช้สอยเอาลงมารับราชการในมณฑลราชธานีมาก ด้วยเหตุนี้เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก จำนวนข้าราชการซึ่งสำหรับเจ้าน่าที่ปกครองทางหัวเมืองเหนือคงจะบกพร่องเบาบาง จึงต้องเลือกหาข้าราชการที่สำหรับจะทรงใช้สอย เปนกิจเบื้องต้นอย่าง ๑ ซึ่งมีผลเปนข้อสำคัญในกาลภายน่ายิ่งกว่าอย่างอื่น ด้วยในขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุกำลังรุ่นเจริญไวย ทั้งได้คุ้นเคยรู้เห็นกิจการของประเทศที่นิยมกันว่าวิเศษในยุทธวิธีในสมัยนั้น จึงสามารถจะเลือกสรรฝึกหัดผู้คนล้วนที่เปนรุ่นราวคราวเดียวกันไว้ทรงใช้สอยมากขึ้นโดยลำดับมา ข้าราชการชั้นนี้ที่มาได้เปนแม่ทัพนายกองของสมเด็จพระนเรศวรเมื่อทำสงครามกู้อิศระภาพล้วนเปนคนชุดใหม่ แลฝึกหัดด้วยวิธีอย่างใหม่ทั้งสิ้น.

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกได้ไม่ช้า พระเจ้าหงษาวดีก็เกณฑ์กองทัพไทยไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปในกองทัพด้วยกัน แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวลำภูสมเด็จพระนเรศวรประชวรไข้ทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีทราบพอประจวบเวลาจวนจะเสร็จการสงคราม จึงให้กองทัพไทยเลิกกลับลงมา สมเด็จพระนเรศวรหาทันได้เริ่มรบพุ่งในครั้งนั้นไม่ ต่อมาปรากฎว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างวังใหม่คือวังจันทรเกษมทุกวันนี้ เปนที่ประทับในกรุงศรีอยุทธยา ด้วยเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนกชนนีนารถเนือง ๆ ครั้งหนึ่งเวลาเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา พระยาจีนจันตุขุนนางจีนเมืองเขมรซึ่งเข้ามาสามิภักดิ์อยู่ในกรุงฯ ได้รู้การงานทั้งปวงในพระนครแล้วลอบลงเรือสำเภาจะหนีไปทางทเล พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เรียกพวกข้าหลวงที่ตามเสด็จลงมาจากเมืองพิศณุโลกลงเรือรีบตามไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาด้วยกัน ไปทันเรือพระยาจีนจันตุที่ปากน้ำ พระยาจีนจันตุต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรเร่งเรือพระที่นั่งให้พายขึ้นไปข้างน่าเรืออื่น เสด็จออกยืนทรงปืนนกสับยิงข้าศึกเองที่น่ากันยา ไม่เลี่ยงหลีกกระสุนปืน จนข้าศึกยิงมาถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่นั้นแตกไป ฝ่ายสมเด็จพระเอกาทศรถเห็นสมเด็จพระเชษฐากล้านักเกรงจะเปนอันตราย ให้เร่งเรือลำที่ทรงเข้าบังเรือพระที่นั่ง ขณะนั้นเรือสำเภาพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นใบออกทเลได้ เรือที่ลงไปตามเปนแต่เรือยาวสู้คลื่นไม่ไหวก็ต้องเสด็จกลับคืนมากรุงศรีอยุทธยา การครั้งนี้ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เปนครั้งแรกที่สมเด็จพระนเรศวรได้รบพุ่งด้วยพระองค์เอง พอแลเห็นได้ชัดว่าสมเด็จพระนเรศวรเปนนักรบอย่างไร แลวิธีรบของสมเด็จพระนเรศวรที่เอาพระองค์ออกน่า ผิดกับแต่ก่อนอย่างไร ยังอิกประการ ๑ ซึ่งเห็นได้แต่คราวนี้ไป ว่าสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคารพรักใคร่กันเพียงไร จึงได้เปนคู่ร่วมทุกข์ศุขต่อสู้ข้าศึกด้วยกันจนตลอดการสงคราม

ต่อมาอิกคราว ๑ เปนเวลาสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาเหมือนกับคราวก่อน ได้ข่าวเข้ามาว่าเจ้ากรุงกัมพูชาให้พระทศโยธากับพระสุรินทราชาคุมกองทัพเขมรมาเที่ยวไล่กวาดผู้คนทางเมืองนครราชสิมา พอได้ทรงทราบสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงจัดขบวนช้างเร็วม้าเร็วกับพวกพลทหาร ๓,๐๐๐ รีบเสด็จไป ให้พระยาไชยบุรีกับพระศรีถมอรัตนผู้ว่าราชการเมืองท่าโรง(ซึ่งยกขึ้นเปนเมืองวิเชียรบุรีในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร) คุมทัพม้า ๕๐๐ เปนกองน่าไปก่อน ให้ไปซุ่มอยู่สองข้างทางที่กองทัพเขมรจะยกมา ฝ่ายกองทัพเขมรมาด้วยความประมาท ด้วยคาดว่าห่างพระนครคงไม่มีใครต่อสู้ ทัพเขมรกองน่าเดินถลำเข้ามาในที่ไทยซุ่มอยู่ ทหารไทยออกรุมตีไม่ทันรู้ตัวก็แตกฉาน กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันเขมรไปจนถึงทัพหลวง ฝ่ายพระทศโยธา พระสุรินทราชาเห็นทัพน่าแตกยับเยินไปไม่รู้ว่ากองทัพไทยจะใหญ่น้อยสักเพียงใด ก็รีบถอยทัพหนีกลับไปกรุงกัมพูชา เรื่องราวที่สมเด็จพระนเรศวรเริ่มรบพุ่ง แม้มีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารเพียง ๒ คราวที่กล่าวมานี้ ก็พอเห็นได้ว่าครั้งนั้นความแกล้วกล้าสามารถของสมเด็จพระนเรศวรคงเลื่องฦๅกันแพร่หลายจนปรากฎออกไปถึงกรุงหงษาวดี จึงมีเหตุการณ์เปนผลยืดยาวดังจะบรรยายต่อไป.

ถึงปีมเสง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองประชวรเปนปัจจุบันสิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๑๒ มังไชยสิงห์ราชโอรสซึ่งเปนพระมหาอุปราชาได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าหงษาวดี พม่าเรียกพระนามว่า “พระเจ้านันทบุเรง” ทรงตั้งมังกยอชวา (ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกอย่างมอญว่า มังสามเกลียด) ราชโอรสพระองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราชา แล้วให้มีตราไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ทราบว่า กรุงหงษาวดีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ เมื่อเจ้าประเทศราชทั้งปวงทราบว่าที่กรุงหงษาวดีเปลี่ยนรัชกาล ต่างก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีพระองค์ใหม่ตามประเพณีที่เปนเมืองขึ้น ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชัณษาได้ ๒๖ ปี ทูลขออาสาเสด็จไปเมืองหงษาวดีต่างพระองค์สมเด็จพระราชบิดา ด้วยประสงค์จะเสด็จไปฟังการงานในเมืองพม่ารามัญ ว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่จะเปนอย่างไรบ้าง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็ทรงบัญชาตาม.

ขณะเมื่อเจ้านายประเทศราชไปประชุมกันอยู่ที่เมืองหงษาวดีโดยมากครั้งนั้น ความปรากฎว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคัง ตั้งแขงเมืองเพิกเฉยเสียไม่มาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงขัดเคืองจะให้กองทัพไปตีเมืองคัง รับสั่งว่าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ก็ได้เคยทำศึกสงครามมามากแล้ว คราวนี้ควรจะให้เจ้านายชั้นเล็กรุ่นใหม่ไปตีเมืองคังให้เคยการทัพศึกเสียบ้าง ด้วยพระเจ้าหงษาวดีประสงค์จะให้เปนเกียรติยศแก่ราชโอรสซึ่งเปนพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ จึงให้เกณฑ์กองทัพ ๓ ทัพให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพเมืองหงษาวดีทัพ ๑ ให้พระสังกทัต คุมทัพ ๑ ให้สมเด็จพระนเรศวรคุมกองทัพไทยทัพ ๑ ยกไปตีเมืองคังทั้ง ๓ ทัพ เปนทำนองประชันฝีมือกัน แลเมืองคังนั้นตั้งอยู่บนภูเขาทางขึ้นลงคับขัน ชาวเมืองต่อสู้รักษาเมืองได้ง่าย ครั้นกองทัพยกไปถึง พระมหาอุปราชาจึงปฤกษากับพระสังกทัตแลสมเด็จพระนเรศวรว่า ทางที่จะเข้าตีเมืองคังมีทางขึ้นเขาแต่โดยเฉภาะ จะยกกำลังขึ้นไปพร้อมกันหมดก็ไม่เปนประโยชน์อันใด จะเอาไพร่พลไปล้มตายเสียเปล่า ๆ ชาวเมืองคังที่รักษาเมืองก็ไม่มากมายเท่าใดนัก กองทัพยกไปด้วยกันถึง ๓ ทัพ ผลัดเวรกันเข้าตีเมืองทัพละวันจะดีกว่า เห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็ให้ตั้งค่ายรายกันอยู่ที่เชิงเขา ครั้นถึงวันเวรพระมหาอุปราชา ยกขึ้นไปปล้นเมืองคังแต่เวลา ๔ ทุ่ม (๑๐ ล. ท.) พวกชาวเมืองต่อสู้เปนสามารถ รบกันอยู่จนรุ่งสว่างเข้าเมืองไม่ได้ ไพร่พลอิดโรยก็ต้องถอยลงมา ถึงวันเวรพระสังกทัตยกขึ้นไปตีเมืองคังก็เปนเช่นนั้นอิก ในระหว่างเวลาเวรของพระมหาอุปราชากับพระสังกทัตตีเมืองคังนั้น สมเด็จพระนเรศวรเที่ยวตรวจท้องที่ ได้ทรงทราบว่ามีทางที่จะขึ้นไปถึงเมืองคังทางด้านอื่นได้อิกทาง ๑ ครั้นถึงวันเวรสมเด็จพระนเรศวร จึงทรงจัดแบ่งทหารเปน ๒ กอง พอเวลาค่ำมืดให้กองน้อยมาซุ่มอยู่ทางด้านน่า ซึ่งพระมหาอุปราชากับพระสังกทัตเคยยกขึ้นไป ให้กองใหญ่ซุ่มอยู่ตรงทางที่พบใหม่ สงบอยู่จนดึกเวลา ๑๐ ทุ่ม (๔ ก. ท.) จึงให้กองน้อยยกขึ้นไป สั่งให้ยิงปืนโห่ร้องทำอาการดุจจะเข้าปล้นเมืองทางด้านนั้น พวกชาวเมืองสำคัญว่าข้าศึกจะยกขึ้นไปเหมือนคราวก่อน ๆ เปนเวลามืดแลไม่เห็นว่าข้าศึกมามากน้อยเท่าใด ก็พากันมารบพุ่งต้านทานทางด้านน่า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงสังเกตเห็นว่าพวกชาวเมืองมารวมรักษาทางด้านน่าเสียเปนอันมากแล้ว ก็ให้สัญญาให้กองใหญ่ยกกรูกันขึ้นไปทางด้านที่พบใหม่ พอเวลาเช้าก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวเจ้าฟ้าเมืองคังแล้ว ทั้ง ๓ ทัพก็เลิกกลับมายังเมืองหงษาวดี พระมหาอุปราชากับพระสังกทัตได้ความลอายก็เกลียดชังสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ครั้งนั้น ถึงพระเจ้าหงษาวดีก็ไม่พอพระหฤไทย แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่สมเด็จพระนเรศวรตามประเพณีที่ไปชะนะศึกกลับมา

เมื่อตีเมืองคังได้แล้ว เวลาสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จอยู่ที่เมืองหงษาวดีครั้งนั้น คงมีเหตุอย่างไรเกิดขึ้นอิก ทำนองเรื่องที่ปรากฎในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า สมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชากำลังขัดพระไทย แกล้งตรัสเสียดสีว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” สมเด็จพระนเรศวรก็ขัดเคืองแต่สกดพระไทยไว้. ตอบไปว่า “ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะชนเอาเดิมพันเลย ถึงจะชนเอาบ้านเมืองก็ชนได้” ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า คงจะมีเรื่องอย่างไรทำนองเรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงแสดงวาจาให้ปรากฎแก่พวกหงษาวดีว่าจะไม่ยอมให้ดูหมิ่นไทยเหมือนอย่างแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาแล้ว ความนั้นทราบถึงพระเจ้าหงษาวดีนันทบุIรง ทรงเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทนงองอาจนัก ถ้าไม่กำราบปราบปรามเสีย นานไปก็จะกำเริบเปนสัตรูขึ้น จึงมีรับสั่งให้นันทสูกับราชสังครำคุมพลพม่ากับไทยใหญ่ทำทางเข้ามาแต่เขตรแดน แลมาตั้งยุ้งฉางเตรียมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองกำแพงเพ็ชร เปนการเหมือนหนึ่งว่าจะยกกองทัพเข้ามาเมื่อใดให้มาได้โดยสดวก พระเจ้าหงษาวดีเห็นจะให้บอกมายังกรุงศรีอยุทธยาว่า ให้เตรียมทางเพื่อจะยกกองทัพผ่านไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ที่จริงคงประสงค์จะขู่สมเด็จพระนเรศวรมิให้คิดร้าย ฤๅมิฉนั้นก็จะคอยหาเหตุยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเสียอิก มิให้ไทยมีกำลังที่จะไปทำร้ายได้.

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จออกไปเมืองหงษาวดีครั้งนั้นได้สืบสวนการภายในทราบแน่แก่พระไทย ว่าเจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายไม่กลัวเกรงนับถือพระเจ้าหงษาวดีพระองค์ใหม่เหมือนกับพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ทั้งพวกต่างชาติต่างภาษา คือมอญ ไทยใหญ่แลพวกยะไข่ เปนต้น ซึ่งต้องจำใจอยู่ในอำนาจพม่าด้วยความเกรงกลัวพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมาแต่ก่อน ก็คิดเอาใจออกหากอยากจะหาโอกาศให้พ้นอำนาจพม่าอยู่เหมือนกันกับไทย ทรงประมาณการเห็นว่าไม่ช้านักคงจะมีเหตุทางเมืองหงษาวดียังไม่ควรจะรีบให้เกิดเหตุทางเมืองไทยในเวลาที่ยังไม่ได้ท่วงที จึงแกล้งทำไม่รู้เท่าที่พม่ามาทำทางแลตั้งยุ้งฉางที่เมืองกำแพงเพ็ชรครั้งนั้น เปนแต่ให้ตระเตรียมกำลังไว้เงียบ ๆ คอยหาช่องโอกาศอยู่.

ต่อมาไม่ช้านักเหตุก็เกิดขึ้นทางเมืองหงษาวดีดังคาด ด้วยพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองได้ทรงตั้งเจ้านายไปครองเมืองหลายองค์ที่สำคัญนั้นคือ ราชอนุชาเปนพระเจ้าตองอูองค์ ๑ เปนพระเจ้าแปรองค์ ๑ ราชบุตรเปนพระเจ้าเชียงใหม่องค์ ๑ ราชบุตรเขยเปนพระเจ้าอังวะองค์ ๑ ครองเมืองเปนประเทศราชทั้ง ๔ องค์ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองให้มังกยอชวาราชนัดดาที่เปนพระมหาอุปราชาองค์ใหม่อภิเศกกันราชนัดดาซึ่งเปนพระธิดาของพระเจ้าอังวะอยู่ด้วยกันมาแต่แผ่นดินก่อน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรง พระมหาอุปราชามีมเหษีใหม่ จึงเกิดวิวาทถึงทุบตีกันกับธิดาของพระเจ้าอังวะ นางได้ความเจ็บแค้นฟ้องไปถึงบิดาว่าถูกพระเจ้าหงษาวดีกับพระมหาอุปราชากดขี่ข่มเหง ฝ่ายพระเจ้าอังวะก็ทำนองจะมีเหตุเปนอริกับพระเจ้าหงษาวดีองค์ใหม่มาแต่ก่อนอยู่บ้างแล้ว จึงเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่เข้าเปนพรรคพวกตั้งแขงเมืองขึ้น แล้วแต่งทูตให้ไปชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ แลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้แขงเมืองต่อพระเจ้าหงษาวดีบ้าง ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะคงให้มาชักชวนสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชด้วยเหมือนกัน ฝ่ายพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู แลพระเจ้าเชียงใหม่ไม่เข้ากับพระเจ้าอังวะ ต่างจับทูตไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ แลสั่งให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แลพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ยกกองทัพไปช่วยตีเมืองอังวะด้วยทั้ง ๕ องค์ ประสงค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าองค์ใดไปช่วยตามรับสั่งก็ยังสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าหงษาวดี ถ้าองค์ใดไม่ไปช่วยก็จะถือว่าเปนพวกพระเจ้าอังวะ เอาเปนเหตุที่จะไปปราบปรามเสียด้วย ครั้งนั้นพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ต่างยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงษาวดีทันตามกำหนดนัด ส่วนกรุงศรีอยุทธยาบอกไปว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแทนพระองค์ แต่กองทัพไทยหาได้ยกไปตามเวลากำหนดไม่ เมื่อพระเจ้าหงษาวดีจะยกกองทัพหลวงไปจากเมืองหงษาวดี นึกระแวงสมเด็จพระนเรศวร ว่าบางทีจะอุบายคิดร้ายข้างหลัง จึงให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพอยู่รักษาพระนคร แลตรัสสั่งไว้ว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไป ให้คิดอ่านกำจัดเสียให้จงได้

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่ได้ทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะแขงเมืองต่อพระเจ้าหงษาวดี ก็เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องขวนขวายให้เมืองไทยเปนอิศระภาพ เพราะพระเจ้าหงษาวดีกับพระเจ้าอังวะคงจะต้องรบกัน ถ้าพระเจ้าหงษาวดีมีไชยชนะ สิ้นห่วงทางเมืองอังวะ ก็คงยกมาตีเมืองไทยตามที่ตระเตรียมการไว้ ถ้าหากว่าพระเจ้าหงษาวดีแพ้พระเจ้าอังวะ ไทยเฉยอยู่ก็จะเสียโอกาศเปล่าไม่เปนประโยชน์อันใด ครั้นพระเจ้าหงษาวดีเกณฑ์กองทัพเข้ามา ทรงพระดำริห์เห็นว่าเปนท่วงที จึงทูลอาสาสมเด็จพระราชบิดาจะยกกองทัพไป แต่แกล้งทรงจัดการตระเตรียมเสียให้ช้า ถ่วงเวลามาจนเห็นว่าพระเจ้าหงษาวดีจะยกไปจากราชธานีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากเมืองพิศณุโลก เมื่อเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีมแม พ.ศ. ๒๑๒๖ แล้วเดินกองทัพไปช้า ๆ จนเดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ จึงได้เสด็จไปถึงเมืองแครง อันเปนหัวเมืองมอญที่ต่อกับแดนไทย ความมุ่งหมายของสมเด็จพระนเรศวรที่ยกไปให้ช้าครั้งนั้น เห็นจะรอให้ใกล้ต่อเวลาที่พระเจ้าหงษาวดีจะไปแพ้ฤๅชนะศึกที่เมืององวะ ถ้าพระเจ้าหงษาวดีไปเพลี่ยงพล้ำลงทางโน้นก็จะตีเมืองหงษาวดีซ้ำทีเดียว ถ้าหากว่าพระเจ้าหงษาวดีไม่แพ้ก็จะคิดเอาแต่ครัวไทยที่ตกไปอยู่ในเมืองหงษาวดีกลับมาเปนกำลังทำการสงครามต่อไปข้างน่า ดังจะปรากฎในเรื่องราวต่อไป.

ฝ่ายข้างพระมหาอุปราชาซึ่งอยู่รักษาเมืองหงษาวดี ก็คิดเปนกลอุบายให้พระยามอญ ๒ คน ชื่อพระยาเกียรดิ์ คน ๑ พระยารามคน ๑ ซึ่งมีสมัคพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก แลทำนองจะเปนผู้ที่คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ให้เปนข้าหลวงลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง แลตรัสสั่งมาเปนความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีทางข้างน่าเมื่อใด ให้พระยาเกียรดิ์ พระยาราม คุมสมัคพรรคพวกเข้าตีกระหนาบกระบวนหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรดิ์ พระยาราม ลงมาถึงเมืองแครงมาขยายความลับแก่พรรคพวก มีพระมหาเถรคันฉ่องผู้เปนอาจารยเปนต้น ขณะนั้นพวกมอญชาวเมืองแครงที่เกลียดชังพม่า เพราะถูกพม่ากดขี่มาแต่ก่อนมีเปนอันมาก อยากจะพ้นจากอำนาจพม่าอยู่เหมือนกับพวกมอญในหัวเมืองอื่น ๆ แต่เมืองแครงอยู่ต่อแดนไทยในหนทางที่ไปมาถึงกัน ผู้คนพลเมืองคงจะได้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จผ่านไปมาอยู่แต่ก่อน เห็นจะมีคนนับถืออยู่มาก ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เมื่อพวกมอญเมืองแครง มีพระมหาเถรคันฉ่องเปนต้น ทราบว่าพระมหาอุปราชาจะล่อลวงเอาสมเด็จพระนเรศวรไปทำร้าย จึงเอาใจมาเข้าข้างสมเด็จพระนเรศวร พากันว่ากล่าวห้ามปรามพระยาเกียรดิ์ พระยารามมิให้ช่วยพม่าคิดร้าย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองแครงตั้งพลับพลาประทับอยู่ที่ริมวัดพระมหาเถรคันฉ่อง แลเสด็จไปเยี่ยมเยียนโดยได้ทรงคุ้นเคยมาแต่ก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีความสงสาร เห็นว่าเขาจะล่อลวงเอาไปทำร้าย จึงเตือนสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์ แล้วไปเกลี้ยกล่อมพระยาเกียรดิ์ พระยารามให้มาสามิภักดิ์ ทูลความจริงให้ทรงทราบแต่ต้นจนปลายทุกประการ

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริห์เห็นว่า การเปนอริกับเมืองหงษาวดีถึงเวลาที่จะต้องให้เปนการเปิดเผยแล้ว จึงมีรับสั่งให้หาแม่ทัพนายกองมาประชุมพร้อมกัน แลในที่ประชุมนี้เข้าใจว่าคงโปรดนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องกับพระสงม์มานั่งเปนประธาน แลให้เรียกพระยาเกียรดิ์ พระยาราม กับพวกมอญมาประชุมด้วย สมเด็จพระนเรศวรดำรัสเล่าเรื่องราวที่พระเจ้าหงษาวดีจะให้ล่อลวงไปทำร้ายให้ปรากฎแก่คนทั้งปวงแล้ว จึงทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วยสุวรรณพิงคาร ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุทธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงษาวดี มิได้เปนมิตรกันดังแต่ก่อนสืบไป เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิศรภาพที่เมืองแครงแล้วครั้งนั้น ดำรัสถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า แล้วเอาเมืองแครงเปนที่ตั้งประชุมทัพ ครั้นจัดกองทัพพร้อมเสร็จก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองแครงเมื่อเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ตรงไปยังเมืองหงษาวดี.

ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่รักษาพระนคร ครั้นได้ข่าวว่าพระยาเกียรดิ์ พระยาราม กลับไปเข้าเสียกับสมเด็จพระนเรศวร ก็ไม่กล้ายกกองทัพออกมาสังดักดังคิดไว้ เปนแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพข้ามแม่น้ำสโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงษาวดี ไปได้ความว่าพระเจ้ากรุงหงษาวดีไปรบพุ่งกับพระเจ้าอังวะถึงชนช้างกัน พระเจ้าหงษาวดีมีไชยชนะได้เมืองอังวะแล้ว จวนจะยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระนเรศวรไม่สมคเน เห็นว่าจะตีเมืองหงษาวดีในคราวนั้นยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาตต้อนไปแต่ก่อนให้อพยพกลับบ้านเมือง แล้วพาครอบครัวกลับมาได้ประมาณหมื่นเศษ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรทรงคุมกองทัพหลวงยกตามครัวมาข้างหลัง ครั้นพระมหาอุปราชาทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรให้เที่ยวกวาดครัวแล้วเลิกทัพกลับมา ก็จัดกองทัพให้สุรกรรมาเปนกองน่า พระมหาอุปราชาเปนกองหลวงยกติดตามสมเด็จพระนเรศวรมา กองน่ามาทันที่แม่น้ำสโตง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จข้ามฟากมาแล้ว ให้พวกครัวล่วงน่ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่น้ำสโตง สุรกรรมากองน่ามาถึงท่าข้ามฝั่งโน้นพวกกองทัพไทยเอาปืนยิง ก็ยับยั้งยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำ แลแม่น้ำสโตงนั้นกว้างใหญ่นัก แรงปืนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอก ๑ ยาว ๙ คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพน่าของข้าศึกตายอยู่กับฅอช้าง พวกรี้พลเห็นนายทัพตายก็พากันครั่นคร้าม เลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชาซึ่งตามมาข้างหลัง พระมหาอุปราชาเห็นว่าจะติดตามสมเด็จพระนเรศวรต่อไปไม่สมประสงค์ ก็เลิกทัพกลับไปกรุงหงษาวดี ส่วนสมเด็จพระนเรศวรข้ามพ้นแม่น้ำสโตงมาแล้ว ก็เดินกองทัพกลับมาได้โดยสะควก แลพระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมาตายครั้งนั้น มีนามปรากฎว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสโตง” นับในพระแสงอัษฎาวุธอันเปนเครื่องราชูประโภคสำหรับแผ่นดิน สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงเมืองแครง ทรงพระดำริห์ว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรดิ์ พระยาราม ได้มีอุปการะมาก จะใคร่ทรงยกย่องเกียรติยศให้สมควรแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา พระมหาเถรกับพระยามอญทั้ง ๒ ก็มีความยินดีพาพรรคพวกตามเสด็จเข้ามาด้วยเปนอันมาก แลเมื่อเสด็จกลับมาจากเมืองแครงครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงว่า บางทีข้าศึกจะยกกองทัพติดตามมาอิก ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำที่มาตั้งอยู่เมืองกำแพงเพ็ชรสกัดอยู่ข้างน่าจะรบพุ่งลำบาก จึงรับสั่งให้พระยาเกียรดิ์ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาข้างใต้ มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ตรงมากรุงศรีอยุทธยา ทูลเหตุการณ์ทั้งปวงให้สมเด็จพระราชบิดาทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้เปนที่พระสังฆราชา๑๐ แลให้พระยาเกียรดิ์ พระยาราม มีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทอง ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น วัดขุนแสน ใกล้วังของสมเด็จพระนเรศวรในกรุงศรีอยุทธยานั้น แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึก ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดแต่นั้นมา.

ฝ่ายข้างเมืองเหนือ ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพไปยังไม่ทันถึงเมืองแครง พวกไทยใหญ่ซึ่งพม่าเกณฑ์เข้ามาทำทางพากันหลบหนีมาทางตวันออกพวก ๑ นันทสูราชงังครำให้ไปทูลแก่สมเด็จพระนเรศวร จึงมีรับสั่งมายังผู้รักษาเมืองพิศณุโลกให้กักด่านทางไว้ อย่าให้พวกไทยใหญ่หนีไปเข้าเขตรแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ด้วยในเวลานั้นการภายนอกไทยยังไม่ขาดไมตรีกับพม่า แต่พวกไทยใหญ่ที่หนีครั้งนั้นหาได้ไปทางเมืองศรีสัตนาคนหุตไม่ หนีตรงมาขออาไศรยอยู่ในแขวงเมืองพิศณุโลก สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบจึงมีรับสั่งมาว่าให้รับพวกไทยใหญ่ไว้ นันทสูราชสังครำให้ไปขอตัวพวกไทยใหญ่ ผู้รักษาเมืองพิศณุโลกตอบว่ายังส่งให้ไม่ได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จไม่อยู่ ขอให้รอไว้จนเสด็จกลับมาก่อน ทำนองในระหว่างนั้นพวกไทยใหญ่ที่ถูกพม่าบังคับบัญชาได้ความเดือดร้อนพากันหนีมาอาไศรยอยู่ที่เมืองพิศณุโลกมากขึ้น ครั้นนันทสูราชสังครำทราบกิติศัพท์ว่าสมเด็จพระนเรศวรไปกวาดครอบครัวมาจากเมืองหงษาวดี เห็นท่วงทีเปนสัตรูผิดสังเกต จึงมีหนังสือมายังผู้รักษาเมืองพิศณุโลกว่า ให้ส่งพวกไทยใหญ่มาให้โดยเร็ว ถ้าไม่ส่งมาจะจับเอาไทยที่เมืองกำแพงเพ็ชรเปนตัวจำนำแทนพวกไทยใหญ่ พอสมเด็จพระนเรศวรกลับมาถึงกรุงศรีอยุทธยาได้ทรงทราบความอันนี้ก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิศณุโลก ให้มีหนังสือรับสั่งตอบไปยังนันทสูราชสังครำว่า ธรรมดาพระมหากษัตราธิราชผู้เปนอิศระ ถ้าไพร่หนีร้อนมาพึ่งพระบารมีแล้วก็ต้องรับไว้ ไม่มีเยี่ยงอย่างในราชประเพณีที่จะส่งคืนตัวไปให้ต้องรับทุกข์โทษภัย ครั้นมีหนังสือไปแล้วจึงทรงเกณฑ์กำลังหัวเมืองเหนือ ให้พระยาไชยบูรณ์กับขุนพระศรี๑๑ คุมทัพน่า แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปเมืองกำแพงเพ็ชร.

ฝ่ายนันทสูราชสังครำเมื่อได้รับหนังสือรับสั่งสมเด็จพระนเรศวร ก็ทราบเปนแน่ว่าไทยตั้งแขงเมืองต่อพระเจ้าหงษาวดี เห็นว่าตัวเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทย กำลังไม่พอที่จะต่อสู้ได้ ก็ให้เลิกทัพไปจากเมืองกำแพงเพ็ชร กองทัพพระยาไชยบูรณ์ ขุนพระศรี ยกไปถึงเมืองกำแพงเพ็ชรได้ความว่านันทสูราชสังครำล่าทัพกลับไปแล้วก็รีบยกติดตามไป แลครั้งนั้นตัวนายพวกไทยใหญ่ที่ยังทำการอยู่กับพม่า คือเจ้าฟ้าเมืองจี่ เจ้าฟ้าเมืองลองแจใหม่ แลเจ้าเมืองขึ้นอิกหลายคน พาพวกไทยใหญ่เข้ามาสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรเปนอันมาก ช่วยติดตามตีกองทัพพม่าด้วย พระยาไชยบูรณ์กับขุนพระศรีตามไปทันกองทัพพม่าที่ตำบลแม่ระกา นันทสูราชสังครำต่อสู้ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ถึงตัวนายทัพทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชนช้างกัน พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามไปจนสุดแดนแล้วจึงกลับคืนมา.

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองเหนือไปรบนันทสูราชสังครำครั้งนั้น พระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลน้อย ที่ไหนจะตั้งแขงเมืองต่อสู้พระเจ้าหงษาวดีได้ คิดจะเอาตัวรอดจึงไม่ยกกองทัพไปตามรับสั่ง แล้วกะเกณฑ์ไพร่พลทั้ง ๒ เมืองไปรวมกันตั้งมั่นรักษาเมืองสวรรคโลกไว กรมการคนใดที่ยังซื่อตรงต่อสมเด็จพระนเรศวรไม่เปนขบถด้วยก็จับเอาตัวจำเสียหมด ด้วยเชื่อว่าเมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการมั่นคง คงจะรักษาเมืองไว้รอท่ากองทัพเมืองหงษาวดี ฤๅเมืองเชียงใหม่ยกมาช่วยได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า พระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย เปนขบถ ก็ให้รวบรวมกองทัพซึ่งยกไปติดตามนันหสูราชสังครำครั้งนั้นพร้อมกันที่เมืองตาก แล้วยกมาทางบ้านด่านลานหอย ครั้นมาถึงเมืองศุโขไทยให้ตั้งพลับพลาประทับที่ข้างวัดศรีชุม ทรงพระดำริห์ว่าไทยยังไม่เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ยังกลัวพระเจ้าหงษาวดีมีมากนัก จึงให้ตั้งพิธีศรีสัจปานกาล ตักน้ำกระพังโพยศรีซึ่งนับถือกันว่าเปนน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งสมเด็จพระร่วงมาทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ให้นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พลถือน้ำ ทำสัตย์สัญญาว่าจะต่อสู้ข้าศึกกู้บ้านเมืองไทยให้เปนอิศรภาพให้จงได้ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองสวรรคโลกให้ตั้งล้อมเมืองไว้ มีรับสั่งให้ข้าหลวงเข้าไปร้องบอกพระยาทั้ง ๒ ว่าให้ออกมาสารภาพรับผิดเสียโดยดี จะทรงพระกรุณายกโทษให้ พระยาทั้ง ๒ ก็ไม่เชื่อฟัง กลับให้เอาตัวกรมการที่มีความซื่อสัตย์ตัดศีศะโยนออกมาให้ข้าหลวง สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลกทางด้านเหนือแลด้านตวันตกพร้อมกัน หมายจะเข้าทางประตูสามเกิดประตู (เตา) หม้อ ประตูสพานจันทร์ก็เข้าไม่ได้ ด้วยเมืองสวรรคโลกป้อมปราการล้วนทำด้วยศิลาแลงแลถมเชิงเทินทำสนามเพลาะรักษาเมืองมั่นคงนัก จึงย้ายมาตีข้างด้านใต้ ให้พระยาไชยบูรณ์ หลวงธรรมไตรโลก ขุนราชวรินทร์ ขุนอินทรเดช คุมพลเข้าปล้นเมืองทางด้านประตูดอนแหลมอิกครั้ง ๑ก็เข้าไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิดแล้วปลูกหอรบให้สูงเท่ากำแพงเมือง เอาปืนขึ้นตั้งจังกายิงพวกรักษาน่าที่จนระส่ำระสาย แล้วให้เข้าเผาประตูดอนแหลมข้างด้านใต้ทลายลง กองทัพสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตรเสียทั้ง ๒ คน แล้วให้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองทั้งเมืองสวรรคโลกแลเมืองพิไชยลงมายังเมืองพิศณุโลกจนสิ้นเชิง.

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาถึงเมืองพิศณุโลกแล้ว ให้ขุนอินทรเดชคุมกองทัพไปสืบข้อราชการถึงปลายแดนเมืองเชียงใหม่ ได้ความว่าพระเจ้าหงษาวดีให้เกณฑ์กองทัพจะยกมาตีกรุงศรีอยุทธยาในระดูแล้งปีนั้น ทรงพระดำริห์ว่าหัวเมืองเหนือยับเยินเสียมากแล้ว ด้วยผู้คนต้องระส่ำระสายมาหลายคราว ถ้ามีศึกหงษาวดีมาอย่างคราวก่อนเห็นจะต่อสู้รักษาไว้ไม่ได้ ด้วยผู้คนน้อยแลที่ยังกลัวพระเจ้าหงษาวดีมีมากนัก กรุงศรีอยุทธยาเล่ากำลังก็ยังน้อยเหมือนกัน ด้วยถูกพระเจ้าหงษาวดีกวาดต้อนเอาผู้คนชาวพระนครไปเสียเปนอันมาก ได้ผู้คนคืนมายังไม่เท่าใด การที่จะต่อสู้ศึกหงษาวดีต่อไปจำจะต้องรวมกำลังไว้แต่กรุงศรีอยุทธยา เอาเปนที่มั่นต่อสู้ข้าศึกแต่แห่งเดียว จึงจะต่อสู้ได้ถนัด ด้วยกรุงศรีอยุทธยาภูมิที่มั่นคงคับขัน แล้วก็อยู่ใกล้ทเล มีทางที่จะหาเครื่องสาตราอาวุธแลเสบียงอาหารเพิ่มเติมได้ง่าย ทรงพระดำริห์ดังนี้ จึงให้กวาดต้อนผู้คนหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุทธยา ทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราว ๑ สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาแต่ในปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น.

  1. ๑. เรื่องที่เรียกพระนามว่า พระองค์ดำแลพระองค์ขาวนี้ มีในจดหมายเหตุของฝรั่งโปตุเกศ แต่งในสมัยนั้นเอง.

  2. ๒. ในหนังสือเก่าบางเรื่องอธิบายว่า เมืองโอฆบุรี คือเมืองพิศณุโลกข้างฝั่งตวันตก เห็นว่าจะไม่ตรง ชื่อโอฆบุรีนั้นแปลมาแต่ชื่อสระหลวงเปนแน่ไม่ต้องสงไสย สระหลวงแปลว่าบึงใหญ่ หมู่บึงใหญ่อยู่ที่เมืองพิจิตร ติดต่อกับเมืองพิศณุโลกลงมาทางทิศใต้ จึงตั้งเมืองเปนด่านของกรุงศุโขไทยข้างด้านใต้ เหมือนกับเมืองพิศณุโลกเปนด่านข้างด้านตวันออก.

  3. ๓. เข้าใจว่าเมืองชเลียงอยู่ตรงพระมหาธาตุข้างใต้ เมืองศรีสัชนาลัยที่มีปรากฎอยู่ข้างเหนือ ห่างกันสัก ๓๐ เส้น ทีหลังจึงเรียกรวมกันว่าเมืองสวรรคโลก.

  4. ๔. เมืองชากังราวอยู่ฝั่งตวันตก ยังมีพระมหาธาตุ เมืองนครชุมอยู่ฝั่งตะวันออก สร้างครั้งราชวงศ์พระร่วง ชื่อที่เรียกว่าเมืองกำแพงเพ็ชรเกิดขึ้นทีหลัง.

  5. ๕. มีชื่อเรียกในศิลาจาฤกหลายแผ่น ตัวเมืองยังอยู่หลังตลาดปากน้ำโพธิ์

  6. ๖. ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกเมืองรุมเมืองคังทั้ง ๒ ชื่อ ที่จริงเมืองเดียวพม่าเรียกเมืองคัง

  7. ๗. ที่เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระสังคทัตนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนเดียวกับนัดจินหน่องโอรสของพระเจ้าตองอู ซึ่งจะปรากฎนามต่อไปข้างน่า เปนผู้เข้มแขงขึ้นในเจ้านายรุ่นเล็ก คงจะคุมกองทัพเมืองตองคูไปในคราวตีเมืองคัง

  8. ๘. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปครั้งนั้น เพราะพระเจ้าหงษาวดีลวงว่าเมืองอังวะเปนขบถ สมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าจริง จึงยกกองทัพไปหมายจะไปช่วยพระเจ้าหงษาวดี แต่ในพงษาวดารพม่ากล่าวความดังบรรยายมา ว่าเมืองอังวะเปนขบถจริง ๆ แต่สมเด็จพระนเรศวรแกล้งยกไปมิให้ทันกำหนด ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูวันเดือนที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเห็นสมจริง จึงอนุมัติตามพงษาวดารพม่า.

  9. ๙. ในพงษาวดารพม่าไม่กล่าวถึงเรื่องพระยาเกียรดิ์ พระยาราม แลว่าครั้งนี้พระมหาอุปราชาตามเข้ามาจนถึงกรุงฯ มาแพ้ไทยกลับไป ข้าพเจ้าเห็นว่าความจริงจะเปนอย่างกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร แต่ครัวที่ต้อนเข้ามาในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าครัวมอญ ข้าพเจ้าเชื่อว่าที่จริงนั้นครัวไทย เพราะจะเอามาเปนกำลังช่วยรบต่อไป.

  10. ๑๐. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ทรงตั้งให้เปนสมเด็จพระอริยวงศ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช คู่กับสมเด็จพระวันรัตน ข้อนี้สมเด็จพระมหาสมณะทรงพระดำริห์ว่าจะเปนความจริงไม่ได้ เพราะพระมหาเถรคันฉ่องพึ่งเข้ามาใหม่ ไม่รู้การงานบ้านเมืองแม้แต่ภาษาไทยก็ยังไม่รู้ จะเปนพระสังฆราชว่าการคณะสงฆ์อย่างไรได้ ที่จริงเห็นจะเปนแต่พระราชาคณะ ครั้งนั้นเรียกว่า “พระสังฆราชา” จึงทำให้ผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารเข้าใจไปว่าเปนสมเด็จพระสังฆราช.

  11. ๑๑. ชื่อสองคนนี้ เรียกตามหนังสือพระราชพงษาวดาร เข้าใจว่า พระไชยบุรีกับพระศรีถมอรัตน ที่เคยเปนนายทัพน่าครั้งรบเขมรนั้นเอง คงจะได้เปนนายทหารคู่พระไทยต่อมา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ