สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องพงษาวดารเวลาว่างสงคราม

ตั้งแต่ไทยไปตีเมืองพม่าเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ที่กล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๒๑ แล้ว ต่อมาไทยกับพม่าก็ไม่ได้รบพุ่งกันช้านาน จนราชวงศ์อลองพญาได้เปนใหญ่ในประเทศพม่าๆ กับไทยจึงเกิดสงครามกันขึ้นอิกเปนยุคใหญ่ ในระยะเวลา ๙๕ ปีที่ไทยกับพม่าหยุดรบกันนั้น เฉย ๆ กันอยู่บ้าง บางเวลาถึงเปนไมตรีกันก็มีบ้าง เพราะ ทั้ง ๒ ประเทศมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จะกล่าวเรื่องพงษาวดารบ้านเมืองในตอนนี้ไว้พอให้เห็นเนื้อความ เมื่ออ่านถึงเรื่องสงครามที่เกิดขึ้นคราวหลัง จะได้เข้าใจเหตุผลได้แจ่มแจ้งดี.

จะว่าด้วยเหตุการณ์ในเมืองไทยตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ก่อน ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ถึงไม่มีการศึกสงครามใหญ่หลวงเหมือนอย่างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรก็ดี เหตุสำคัญซึ่งอาจจะมีผลร้ายแรงแก่บ้านเมืองเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงพระปรีชาสามารถในรัฐาภิปาลโนบายเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายน์แล้ว ก็จะปกครองบ้านเมืองไว้ได้โดยยาก ด้วยเหตุนี้ทั้งไทยแลชาวต่างประเทศแต่ก่อนมา จึงยกย่องสมเด็จพระนารายน์ว่าเปนมหาราชพระองค์ ๑.

เรื่องราวเหตุการณ์ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ จำเดิมแต่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็ต้องรบพุ่งกับพระเจ้าอาว์ถึงเปนศึกกลางเมือง แม้ชนะสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาแล้ว เมื่อแรกสมเด็จพระนารายน์เสวยราชย์พวกศัตรูยังมีอยู่มาก จึงเปนเหตุให้เกิดกินแหนงกัน แม้จนเจ้านายในพระราชวงศ์ ต้องชำระสะสางกำจัดศัตรูภายในเปลี่ยนตัวข้าราชการเก่าเสียเปนอันมาก พอปราบปรามราชศัตรูภายในราบคาบก็เกิดรบพุ่งกับพม่า ดังพรรณามาในเรื่องสงครามทั้ง ๓ ครั้งที่กล่าวมาแล้ว แต่การทำสงครามทั้ง ๓ ครั้งนั้น เปนเหตุให้ปรากฎความสามารถของข้าราชการชั้นใหม่ ได้คนดีมีขึ้นหลายคน คือ เจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็ก แลพระเพทราชาข้าหลวงเดิม อันเปนลูกพระนมทั้ง ๒ นี้เปนต้น นอกออกไปก็ยังมีอิก เช่นพระยาสีหราชเดโชไชย พระยาสุรสงคราม แลพระยารามเดโชเปนต้น เปนไทยบ้าง เปนเชื้อสายคนต่างประเทศถือสาสนาอื่นบ้าง ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ข้าราชการที่เปนคนต่างชาติต่างสาสนาจึงมีมาก เพราะเหตุที่ข้าราชการเก่าร่อยหรอ ต้องหาคนใหม่เข้ารับราชการแทน ตั้งแต่รบกับพม่าเปนเดิมมา พอเสร็จเรื่องรบกับพม่าก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นทางข้างฝรั่งเปนปัจจัยในพงษาวดารมาจนตลอดรัชกาลสมเด็จพระนารายน์.

เรื่องราวเหตุการณ์ที่ไทยเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างชาติครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ มีปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของฝรั่งเปนพื้น ข้าพเจ้าจะลองเก็บเนื้อความมาแสดงในตอนนี้พอให้รู้เรื่อง เพราะไม่มีในหนังสือพระราชพงษาวดาร แต่เกรงอยู่ว่าจะเรียบเรียงให้สั้นนักไม่ได้ ถ้าท่านผู้อ่านเบื่อก็ขอให้พลิกข้ามไปเสีย.

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ การที่ไทยสมาคมค้าขายกับต่างประเทศเจริญถึงที่สุด ซึ่งได้เคยมีในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี ชาวต่างประเทศทั้งจีนจามแขกฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็มากกว่าครั้งไหน ๆ ที่เคยปรากฎมาแต่ก่อน ฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยในครั้งนั้น ที่เปนพวกใหญ่มี ๔ ชาติ คือ โปตุเกศชาติ ๑ ฮอลันดาชาติ ๑ อังกฤษชาติ ๑ ฝรั่งเศสชาติ ๑ พวกโปตุเกศเข้ามาค้าขายถึงเมืองไทยแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๐๖๑ พวกฮอลันดาเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ราวเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๑๔๑ พวกอังกฤษเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ราวเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๕๕ แต่พวกฝรั่งเศสเข้ามาต่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ราวเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕.

เรื่องตำนานการที่ฝรั่งต่างชาติมาประเทศทางตวันออกนี้ ได้แสดงไว้ในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๖ ตอนหนึ่งแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงเรื่องที่ฝรั่งเศสออกมาประเทศทางตวันออกให้ต่อกันไป.

มีเรื่องราวปรากฎว่าตั้งแต่รัฐบาลฝรั่งเศสทราบว่าฝรั่งชาติอื่นออกมาค้าขายทางประเทศตวันออกได้กำไรรวยกันมาก ก็อยากจะให้พวกฝรั่งเศสออกมาบ้าง ได้ชักชวนพวกพ่อค้าให้ตั้งบริษัทขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ มา ก็ไม่สามารถจะมาค้าขายทางตวันออกได้ เพราะพวกพ่อค้าฝรั่งเศสไม่มีความพยายามกล้าเหมือนกับพวกพ่อค้าฮอลันดาแลอังกฤษ มาจนถึงแผ่นดินพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ (ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์) เสนาบดีชื่อ โคลแบต์ จึงคิดอ่านตั้งบริษัทฝรั่งเศสให้มาค้าขายถึงประเทศหางตวันออกได้ แต่บริษัทฝรั่งเศสยังต้องเที่ยวตรวจตราหาถิ่นฐานที่ตั้งประกอบการค้าขายอยู่อิกหลายปี บริษัทฝรั่งเศสจึงได้มาค้าขายถึงเมืองไทยต่อตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๒๒๓ ในเวลาสมเด็จพระนารายน์มีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุย ๑๔ อยู่แล้วเปนหลายปี.

เหตุที่ไทยจะเปนไมตรีกับฝรั่งเศสนั้น เพราะพวกบาดหลวงฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสอนสาสนาคฤศตัง แล้วจึงทูลชักชวนให้พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มาเปนไมตรีกับสมเด็จพระนารายน์ เพื่อจะให้อุดหนุนในการแผ่สาสนาคฤศตังเปนข้อสำคัญ เพราะฉนั้นเรื่องราวที่ไทยเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสจึงผิดกับฝรั่งชาติอื่น ควรจะกล่าวให้พิศดารสักน่อย.

เรื่องตำนานการที่บาดหลวงฝรั่งเศสจะมาเมืองไทยเปนทีแรกนั้น เปนเหตุด้วยโป๊ปเคลมองต์ที่ ๙ เห็นสาสนาคฤศตังทางประเทศตวันออกเศร้าหมองเสื่อมทราม เพราะโปตุเกศเสื่อมอำนาจลงไม่มีใครค้ำชูสาสนาดังแต่ก่อน มาในตอนนี้พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีอานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ ที่ถือลัทธิโรมันคโธลิคด้วยกัน จนโป๊ปได้ยกย่องพระเกียรติยศเปนอรรคสาสนูปถัมภกแล้ว โป๊ปจึงทูลขอให้พระเจ้าหลุยช่วยทรงกู้สาสนาคฤศตังให้รุ่งเรืองทางประเทศตวันออกดังแต่ก่อน ฝ่ายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ นั้นก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาในสาสนามาก แลทรงอุปถัมภ์บำรุงพวกบาดหลวงคณะเยซูอิต อันเปนพวกแผ่สาสนาอยู่แล้ว จึงทรงรับธุระโป๊ปแล้วเลือกสรรบาดหลวงฝรั่งเศสที่มีปรีชาฉลาด ๓ รูป ซึ่งสมัครับอาสาจะออกมากู้สาสนาทางประเทศตวันออก โป๊ปตั้งให้มียศเปนบิฉอบ เบริตรูป ๑ บิฉอบเฮลิโอโปลิสรูป ๑ บิฉอบเมเตโลโปลิสรูป ๑ พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ให้จัดส่งมากับพวกบาดหลวงแลคฤหัสถ์เปนบริวารอิกหลายคน แต่จะเปนจำนวนมากน้อยเท่าใดหาปรากฎไม่ ให้ออกมาตรวจดูว่าจะควรจัดการกู้สาสนาทางประเทศตวันออกอย่างไร หาได้เจาะจงให้ตรงมาเมืองไทยแต่แห่งเดียวไม่ พวกบาดหลวงฝรั่งเศสเดินบกมาทางประเทศเปอเซียจนประเทศอินเดีย เที่ยวตรวจตรามาหลายปี บิฉอบเมเตโลโปลิสมาถึงมรณภาพเสียกลางทางรูป ๑ ที่เหลืออยู่อิก ๒ รูปกับบริวารเที่ยวตรวจตรามาถึงกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ เปนปีที่ ๖ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ บิฉอบฝรั่งเศสพิจารณาเห็นว่า เมืองไทยสมควรเปนที่อาไศรยตั้งทำการแผ่สาสนาให้แพร่หลายดีกว่าประเทศอื่นๆ เพราะรัฐบาลไทยไม่เกียจกันการถือสาสนาต่างๆ เหมือนกับเมืองแขกอิสลามแลเมืองจีนเมืองยี่ปุ่นนั้นประการ ๑ เพราะชนต่างชาติชาวประเทศตวันออกมีมาอาไศรยอยู่ในเมืองไทยแทบทุกชาติ อาจจะเกลี้ยกล่อมคนต่างชาติเหล่านั้นให้เข้ารีดแล้วให้นำสาสนาไปยังบ้านเมืองของตนก่อน แล้วพวกบาดหลวงจะได้ตามไปสั่งสอนให้แพร่หลายต่อไป คิดเห็นพร้อมกันดังนี้จึงทำรายงานให้ศิษย์ถือกลับไปทูลโป๊ปแลพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้วบิฉอบกับบาดหลวงฝรั่งเศสก็อาไศรยอยู่กับพวกคฤศตังที่ในกรุงศรีอยุทธยา ตั้งต้นเรียนภาษาไทยแลประพฤติการสงเคราะห์แก่คนทั้งหลายด้วยประการต่างๆ เช่นช่วยรักษาพยาบาลไข้เจ็บเปนต้น มิได้เลือกหน้าว่าเปนคนอยู่นอกฤๅอยู่ในสาสนาของตน ประสงค์จะให้คนทั้งหลายชอบพอให้กว้างขวางจะได้เกิดความนิยม แต่ในชั้นนี้พวกบาดหลวงฝรั่งเศสยังหาได้เข้าเฝ้าแหนสมเด็จพระนารายน์ไม่ เรื่องราวอันเปนมูลเหตุที่พวกบาดหลวงฝรั่งเศสแรกจะมาตั้งในเมืองไทย มีเนื้อดวามดังแสดงมาฉนี้.

ทีนี้จะต้องกล่าวถึงลักษณที่ไทยคบค้าสมาคมกับแขกฝรั่งต่างชาติตั้งแต่เดิมมาแทรกลงสักน่อยก่อน อัธยาไศรยไทยผิดกับชาวประเทศอื่นทางตวันออกนี้ ที่ไม่เกลียดฝรั่งเหมือนอย่างอัธยาไศรยจีนฤๅยี่ปุ่นฤๅแขกชวาในมลายูในสมัยนั้น แลอิกประการ ๑ พระพุทธสาสนาไม่สั่งสอนให้เบียดเบียนสาสนาอื่น พวกแขกฝรั่งต่างประเทศที่เข้ามาจะถือสาสนาอย่างไร ไทยก็ปล่อยให้ถือตามชอบใจไม่กีดกันห้ามปราม เพราะฉนั้นเหตุที่พวกฝรั่งมักเกิดวิวาทบาดเทลาะกับประเทศอื่น เพราะเจ้าของเมืองรังแกเกลียดชังชนต่างชาติด้วยเรื่องสาสนาจึงไม่มีในเมืองไทย ชาวต่างประเทศชาติใดเข้ามาค้าขาย ไทยก็ถือว่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทำนุบำรุงเสมอหน้ากัน คือพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนแลทำมาหากินตามอัธยาไศรย ตั้งให้ผู้ที่เปนหัวน่าในชนชาตินั้นเองเปนนายอำเภอ มียศเปนหมื่นเปนขุน สำหรับดูแลว่ากล่าวกัน แลนำกิจศุขทุกข์ของพวกตนขึ้นร้องเรียนต่อรัฐบาล พวกใดที่ประกอบการค้าขาย ก็ให้ขึ้นอยู่ในกรมท่า มีขุนนางเชื้อชาติชนพวกนั้นเปนผู้ใหญ่ ดังเช่นพระโชฎึกเปนหัวน่าจีน แลพระจุฬาเปนหัวน่าแขกเปนต้น ชาวต่างประเทศบางพวกที่สมัครับราชการเปนทหาร ดังเช่นพวกมอญพวกยี่ปุ่นพวกโปตุเกศ แลแขกเทศแขกจามแขกมลายู ก็โปรดให้เปนทหารอาสาขึ้นอยู่ในกลาโหม มีสังกัดปกครองกันเปนหมวดเปนเหล่า แลทรงตั้งเชื้อสายของชนชาตินั้นๆ ให้เปนมุลนายบังคับบัญชา บางพวกที่เปนคนของบริษัทผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาค้าขายไม่อยู่ประจำ เช่นพวกฮอลันดาแลอังกฤษ ก็โปรดให้จัดที่หลวงให้ตั้งห้าง สร้างโรงสินค้าให้เช่า แลตั้งผู้เปนหัวน่าให้มียศเปนหมื่นเปนขุนตำแหน่งนายอำเภอของชนชาตินั้น ๆ สังกัดขึ้นอยู่ในกรมท่า ประเพณีเหล่านี้มีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมฤๅบางทีจะก่อนนั้น

ส่วนการค้าขายนั้น พวกชาวต่างประเทศเดินเรือบรรทุกสิ่งของสินค้าเมืองอื่น ๆ เข้ามาขายในเมืองไทย แล้วรับซื้อสิ่งของสินค้าในเมืองไทยบรรทุกไปขายตามเมืองต่างประเทศ เรือเมืองไทยที่ไปมาค้าขายอย่างนี้ก็มีมาก กรุงศรีอยุทธยาเปนท่าสำหรับค้าขายทางเมืองชวามลายู ตลอดจนเมืองจีนเมืองยี่ปุ่นฝ่าย ๑ เมืองมฤทเปนท่าสำหรับค้าขายทางเมืองอินเดีย ตลอดจนเมืองเปอเซียแลเมืองอะหรับฝ่าย ๑ ส่วนอากรที่รัฐบาลเก็บจากพวกพ่อค้าเดิมเก็บแต่ภาษีปากเรือ คือบรรดาเรือที่ไปมาค้าขายกับต่างประเทศลำไหนปากกว้างเท่าใด คิดพิกัดเก็บเงินภาษีเปนอัตราตามขนาดปากเรือว่าวาละเท่านั้นๆ ทุกเที่ยวไปมา เก็บภาษีอย่างนี้เหมือนกันทั่วไปทั้งเรือไทยแลจีนจามแขกฝรั่ง อิกอย่าง ๑ รัฐบาลได้ผลประโยชน์จากกำไรในการซื้อขายสินค้าเองด้วย การที่รัฐบาลค้าขายในชั้นแรกจะเปนอย่างไรยังไม่ได้ความชัด เข้าใจว่าจะเปนด้วยเมื่อแรกชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย จะไมใคร่มีใครซื้อขายด้วย แลจะทวงหนี้สินยาก จึงพอใจค้าขายกับรัฐบาลซึ่งเปนเจ้าของเมือง บางทีจะเปนมาแต่ก่อนฝรั่งมาค้าขายแล้ว ครั้นฝรั่งมาค้าขายในชั้นแรกจึงพอใจให้รัฐบาลรับเหมาซื้อสินค้าจากฝรั่งไปจำหน่ายเปนรายย่อยในพื้นเมือง แลให้รัฐบาลรับซื้อสินค้าในพื้นเมืองมารวบรวมไว้ขายให้ฝรั่ง ประเพณีอันนี้เห็นจะมีขึ้นตามประเทศในอินเดียก่อน แล้วจึงเอาอย่างมาในเมืองนี้ การที่รัฐบาลค้าขายดังกล่าวมานี้ เปนการเกี่ยวข้องต้องจ่ายแลรับเงินหลวง จึงให้เปนน่าที่ของพระยาโกษาธิบดีเจ้ากระทรวงพระคลังแต่เดิมมา โกษาธิบดีจึงเปนเจ้าพนักงานการเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเริ่มด้วยพวกที่มาค้าขาย จนกลายมาเปนกระทรวงต่างประเทศในชั้นหลังด้วยประการฉนี้.

คราวนี้จะว่าด้วยเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศต่อไป คือเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงจัดวิธีการค้าขายกับชาวต่างประเทศเปลี่ยนใหม่ ให้ประกาศกำหนดสินค้าบางอย่าง เช่นดีบุก งาช้าง หนังสัตว์ ไม้หอม ไม้ฝาง เปนต้น อันเปนของหายาก ว่าเปนสินค้าของหลวง ห้ามมิให้ผู้อื่นขายส่งไปต่างประเทศ ใครหาได้ต้องมาขายให้รัฐบาลซื้อตามอัตราราคาที่ตั้งไว้ แล้วเอาเก็บไว้ในพระคลังสินค้า เมื่อพ่อค้าคนใดประสงค์จะใคร่ได้สินค้าเหล่านั้นไปจำหน่าย ต้องมาซื้อไปจากเจ้าพนักงาน แลยังมีสินค้าอิกอย่าง ๑ คือ เข้าเปลือก เข้าสาร ห้ามไม่ให้บรรทุกออกนอกพระราชอาณาเขตรทีเดียว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตของรัฐบาลจึงบรรทุกไปได้ แต่สิ่งสินค้านอกจากที่กำหนดไว้ ใครจะซื้อขายก็ได้ไม่ห้ามปราม ไม่ต้องให้พวกชาวต่างประเทศมาซื้อขายแต่ที่รัฐบาลแห่งเดียวเหมือนแต่ก่อน

การที่จัดใหม่ดังว่ามานี้ บางทีจะเกิดแต่ประสงค์จะไม่ให้คนเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดไม้แลขุดแร่โลหะอันมีค่าให้หมดสิ้นเสียโดยเร็วก็จะเปนได้ แต่พวกฝรั่งไม่ชอบ ว่ารัฐบาลกำหนดสิ่งสินค้าที่เปนของดีมีราคาเปนสินค้าต้องห้ามเสียเกือบหมด พวกพ่อค้าจะต้องการสิ่งใดต้องมาวิงวอนขอซื้อจากรัฐบาล ถ้าหากว่าแย่งกันซื้อหลายราย ใครจะได้ก็แล้วแต่ความปรานีของรัฐบาล ๆ มีอำนาจเหนือพวกพ่อค้ามากขึ้น พวกพ่อค้าฝรั่งจึงรังเกียจ แต่อำนาจรัฐบาลข้อนี้ก็เปนประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่น้อย เพราะเปนเครื่องผูกพันพวกพ่อค้าไว้ให้เรียบร้อย แลต่างพวกต่างต้องพยายามทำความพอใจให้แก่รัฐบาล ดังเช่นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จะปราบปรามเมืองปัตตานีที่เปนขบถ ก็อาจจะเกณฑ์พวกฮอลันดาให้เอาเรือกำปั่นรบมาช่วยได้ แลโดยปรกติสินค้าต่างประเทศที่พวกพ่อค้าต่างชาติพาเข้ามา ถ้ารัฐบาลจะต้องประสงค์สิ่งใด ก็หาซื้อได้ก่อนตามราคาที่รัฐบาลพอใจจะให้ บางทีถึงพ่อค้าขาดทุนก็มี แต่พวกพ่อค้าต่างประเทศก็ต้องจำทน เพราะประโยชน์ที่ได้ด้วยอำนาจของรัฐบาลไทยสงเคราะห์มีมากกว่ามาก เปนต้นว่าการค้าขายกับประเทศยี่ปุ่นในสมัยนั้น ตั้งแต่รัฐบาลยี่ปุ่นขัดเคืองฝรั่ง (โปตุเกศ) ว่าไปเกลี้ยกล่อมให้คนเข้ารีดสาสนาคฤศตัง เลยห้ามไม่ให้ฝรั่งเข้าไปค้าขายในเมืองยี่ปุ่น ฝรั่งก็ต้องมาอาไศรยเรือไทยไปขายซื้อสินค้าของฝรั่งที่เมืองยี่ปุ่น ดังนี้เปนตัวอย่างๆ ๑ แต่บางทีถูกเวลาการค้าขายอัตคัด รัฐบาลไทยกวดขันนัก พวกพ่อค้าฝรั่งทนไม่ไหวก็เลิกห้างไปเสียคราว ๑ ฝ่ายรัฐบาลขาดผลประโยชน์ก็ต้องผ่อนผันให้พวกฝรั่งมาค้าขายอิก เปนดังนี้มาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง.

มาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ กรมพระคลังสินค้าจัดการเพิ่มเติมขึ้นอิกอย่าง ๑ คือให้ต่อเรือกำปั่นขึ้นหลายลำ ประสงค์จะบรรทุกสินค้าของหลวงไปขายเองถึงเมืองจีนเมืองยี่ปุ่น ในเวลานี้ฮอลันดาได้ครอบงำเกาะชวา มีอำนาจในท้องทเลจีนยิ่งกว่าชาติอื่น ส่วนอังกฤษได้ที่มั่นทางเมืองสุรัตแลมัทราฐในอินเดีย มีอำนาจขึ้นทางท้องทเลอินเดียอิกทาง ๑ อนึ่งพวกฮอลันดาได้พยายามไปแสดงแก่ยี่ปุ่นว่า มิได้ถือสาสนา (โรมันคโธลิก) อย่างพวกโปตุเกศ ยี่ปุ่นเลยเข้าใจไปว่าฮอลันดามิได้ถือสาสนาคฤศตังก็อนุญาตให้ไปค้าขายถึงเมืองยี่ปุ่นได้แต่เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครั้นพวกฮอลันดาทราบว่ารัฐบาลไทยจะเอาสินค้าไปขายแข่งก็ไม่พอใจ เห็นว่าตัวมีกำลังมากแลไม่ต้องอาไศรยไทยดังแต่ก่อนแล้ว ก็ไม่วิงวอนว่ากล่าวโดยดี พอไทยติดรบกับพม่าเมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗ เห็นเปนโอกาศ ฮอลันดาก็หาเหตุตั้งวิวาท ให้เรือรบเที่ยวทำลายเรือของพระคลังสินค้าที่ไปมาค้าขายทางเมืองจีนเสียบ้าง จับเอาไปเสียบ้าง แล้วให้กองทัพเรือมาปิดปากน้ำเจ้าพระยา มิให้เรือไทยเข้าออก ผ่ายข้างไทยไม่ทันรู้ตัว ด้วยไม่ได้คาดว่าฮอลันดาจะอาจประพฤติร้ายแรงถึงเช่นนั้น เห็นเสียทีก็รีบปรองดองทำสัญญาตกลงกับฮอลันดา คือฝ่ายไทยยอมให้ฮอลันดาซื้อหนังสัตว์แทนพระคลังสินค้าอย่าง ๑ รับสัญญาว่าจะไม่จ้างจีนลงเปนลูกเรือหลวงที่ไปค้าขายทางเมืองจีนเมืองยี่ปุ่นอย่าง ๑ ฝ่ายฮอลันดายอมคืนเรือหลวงที่ได้จับไปไว้ แลยอมใช้ราคาเรือที่ได้ทำลายเสียอย่าง ๑ รับว่าจะส่งหนังให้รัฐบาลพอใช้ในราชการอย่าง ๑ การที่วิวาทก็เปนเลิกแล้วแก่กัน

แต่ความประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณของสมเด็จพระนารายน์ในครั้งนั้น ว่าจะไว้ใจต่อไปว่าฝรั่งจะไม่มารบพุ่งย่ำยีเมืองไทยไม่ได้แล้ว จึงทรงเปลี่ยนทางรัฐาภิปาลโนบายแต่นั้นมา เริ่มด้วยคิดตระเตรียมป้องกันพระนคร สำหรับจะต่อสู้ข้าศึกซึ่งจะมาทางทเล ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า กรุงศรีอยุทธยาอยู่ใกล้ทเลนัก ข้าศึกอาจจะเอาเรือกำปั่นรบเข้ามาถึงได้ จึงให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเปนราชธานีอิกแห่ง ๑ สำหรับจะไว้เปนที่ตั้งต่อสู้ข้าศึกซึ่งจะมาทางทเล แลจะสร้างป้อมปราการที่เมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี ให้เปนที่กีดกันข้าศึกในระยะทางที่จะขึ้นมาถึงกรุง ฯ ด้วย.

ในขณะนั้นพวกบาดหลวงฝรั่งเศสเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาได้ ๓ ปี ฝรั่งเศสไม่เข้ากับฮอลันดาเพราะถือลัทธสาสนาต่างกัน เมื่อพวกบาดหลวงทราบว่าสมเด็จพระนารายน์ทรงปราถนาจะสร้างป้อมปราการเตรียมต่อสู้พวกฮอลันดา ก็เห็นเปนช่องโอกาศจะเข้ากับไทยให้สนิทได้ เวลานั้นมีพวกบาดหลวงฝรั่งเศสที่มากับบิฉอบคน ๑ ชื่อโทมาส์ เปนผู้ได้เคยเรียนรู้วิชาสร้างป้อมปราการ บิฉอบจึงให้บาดหลวงโทมาส์ไปหาเจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็ก รับอาสาช่วยราชการที่จะทรงสร้างป้อมปราการที่เมืองลพบุรี บาดหลวงคนนั้นเปนคนมีความรู้ คิดแบบแผนถวายต้องพระราชหฤไทย จึงได้เข้ารับราชการตั้งแต่แรกสร้างเมืองลพบุรี เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๒๐๘ บาดหลวงโทมาส์จะได้ทำแบบอย่างสร้างสิ่งใดบ้างหาทราบหมดไม่ ปรากฎแต่ว่าสมเด็จพระนารายน์พระราชทานบ้านเรือนให้อยู่ในพระนคร แลโปรดให้สร้างโรงสวดพระราชทานบาดหลวงโทมาส์ในบ้านนั้นด้วย บิฉอบเห็นสมเด็จพระนารายน์ทรงพระเมตตาบาดหลวงโทมาส์แลไม่รังเกียจสาสนาคฤศตัง จึงคิดว่าถ้าหากโป๊ปแลพระเจ้าหลุยทรงฝากฝังพวกบาดหลวงฝรั่งเศส เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษแลฮอลันดาได้มีพระราชสาส์นมาฝากฝังพวกพ่อค้า การแผ่สาสนาคงจะสดวกขึ้นอิกมาก บิฉอบเบิตซึ่งเปนหัวน่าจึงให้บิฉอบเฮลิโอโปลิศซึ่งเปนที่ ๒ กลับไปยุโรป ในปีมเสง พ.ศ. ๒๒๐๘ นั้น ต่อมาคงเปนด้วยบาดหลวงโทมาส์ชักโยงพวกบาดหลวงเข้าไปช่วยราชการอย่างอื่นอิก จึงปรากฎว่าสมเด็จพระนารายน์โปรดให้บิฉอบเบริต ผู้เปนหัวน่าพวกบาดหลวงเข้าเฝ้าเปนครั้งแรก เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๒๐๙ แลพระราชทานที่ให้สร้างวัดสร้างที่พักของพวกบาดหลวงฝรั่งเศส เหมือนอย่างสมเด็จพระไชยราชาธิราชเคยพระราชทานพวกโปตุเกศมาแต่ก่อน.

บิฉอบเฮลิโอโปลิสไปถึงยุโรป ในเวลาเมื่อโป๊ปได้รับรายงานฉบับแรกของบิฉอบแล้ว เห็นชอบด้วยในการที่จะอาไศรยเมืองไทย เปนที่อำนวยการกู้สาสนาทางประเทศตวันออก จึงออกอาชญาตั้งให้บิฉอบเบริตเปนตำแหน่งสังฆราชคฤศตังในเมืองไทย แลบรรดาประเทศที่ใกล้เคียงทั้งปวง อันมิได้อยู่ในอำนาจปกครองของรัฐบาลสเปญแลโปตุเกศ ส่วนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ก็ให้ส่งพวกฝรั่งเศสที่เปนช่างบ้าง ที่ชำนาญวิชาอื่นบ้าง มาช่วยพวกบาดหลวงอิกหลายคน แต่ตัวบิฉอบเดลิโอโปลิศยังอยู่ในยุโรปจนปีฉลู พ.ศ. ๒๒๑๖ จึงกลับมา เชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ กับทั้งสมณสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการของโป๊ปเข้ามาให้สังฆราชถวายสมเด็จพระนารายน์ จึงโปรดให้สังฆราชเบริตกับบิฉอบเฮลิโอโปลิสเข้าเฝ้าอย่างราชทูตจำทูลพระราชสาส์น แต่ความในพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลสมณสาส์นของโป๊ปที่มีมาครั้งนั้น จะว่าอย่างไรยังหาพบสำเนาไม่ สันนิษฐานว่า คงจะยกย่องพระเกียรติยศในข้อที่ไม่ทรงรังเกียจสาสนาอื่นนั้นประการ ๑ ขอฝากพวกฝรั่งเศสทั้งพวกบาดหลวงที่มาสอนสาสนา แลพวกพ่อค้าที่มาค้าขาย ให้ทรงช่วยทำนุบำรุงประการ ๑ แสดงประสงค์จะเปนสัมพันธมิตร รับจะช่วยพระราชธุระในบรรดาการทั้งปวง ซึ่งสมเด็จพระนารายน์จะต้องพระราชประสงค์นั้นประการ ๑ จึงเปนเหตุให้สมเด็จพระนารายน์ทรงยินดีที่จะได้มีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เพราะทรงทราบอยู่ว่าพระเจ้าหลุยมีอานุภาพมาก ฮอลันดาแลอังกฤษมีความยำเกรงทั้งสองพวก อิกประการ ๑ มีพระราชประสงค์อยู่ที่จะให้ไทยได้เล่าเรียนรู้วิชาของฝรั่ง ซึ่งจะเอามาใช้ให้เปนประโยชน์แก่บ้านเมือง พวกฝรั่งเศสที่มากับบาดหลวงก็ได้มาช่วยทำการให้เปนประโยชน์อยู่บ้างแล้ว ต่อไปจะได้หาผู้ที่จะเปนครูฝึกหัดวิชาต่างๆ ที่วิเศษขึ้นไป มีวิชาทหารเปนต้นได้จากพระเจ้าหลุย ด้วยเหตุนี้เมื่อสังฆราชเชิญพระราชสาส์นแลสมณสาส์นมาถวายครั้งนั้น สมเด็จพระนารายน์มีพระราชประสงค์จะพระราชบานบำเหน็รจทูตานุทูตให้ถูกพระหฤไทยของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลพระหฤไทยของโป๊ป จึงทรงรับจะสร้างวัดอันเปนที่สถิตย์ของสังฆราชคฤศตังพระราชทาน การอันนี้ถ้าว่าโดยราชประเพณีไทยก็ไม่เปนการแปลกปลาดอันใด ด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เคยสร้างวัดพระราชทานพวกแขกมาแต่ก่อนก็มี แต่พวกสังฆราชบาดหลวงคิดโดยใจของตนเห็นเปนอัศจรรย์ เพราะไม่เคยปรากฎว่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่ถือสาสนาอื่นได้เคยสร้างวัดคฤศตังพระราชทานมาแต่ก่อน พวกสังฆราชบาดหลวงจึงเกิดความเข้าใจว่า สมเด็จพระนารายน์คงจะทรงเลื่อมใสในสาสนาคฤศตังอยู่บ้าง ถ้าคิดอ่านอย่างไรให้ดี เห็นจะเชิญเสด็จให้เข้ารีดได้สักเวลา ๑ เปนแน่ ถ้าได้สมเด็จพระนารายน์เข้ารีดแล้ว ราษฎรเมืองไทยก็คงพากันเข้ารีดตามเสด็จหมดทั้งบ้านทั้งเมือง จะเปนปาฏิหารอันใหญ่หลวงที่พวกตนมาทำให้เกิดขึ้นอย่าง ๑ เมื่อคิดเช่นนี้ พวกสังฆราชบาดหลวงก็ยิ่งพยายามที่จะทำให้สมเด็จพระนารายน์พอพระราชหฤไทยในการงานทั้งปวง แลเรียกหาพวกฝรั่งเศสมาถวายให้ทรงใช้สอยราชการ ได้มาทำการอันเปนประโยชน์เกิดขึ้นหลายอย่าง เข่นตั้งโรงเรียนสอนภาษาแลวิชาศิลปสาตรของฝรั่ง แลตั้งโรงพยาบาลเปนต้น ส่วนสถานที่ต่างๆ ที่ช่างฝรั่งให้แบบอย่างสร้างขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ก็มีมาก ที่ยังปรากฎอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา เช่นพระที่นั่งพิไสยศัลลักษณ {หอสูงที่ในวังจันทรเกษม) ถังประปาในพระราชวังหลวงเปนต้น ที่เมืองลพบุรี มีป้อมปราการแลพระราชวังตลอดจนประปา ที่เมืองธนบุรี มีป้อมวิไชยประสิทธิ แลเข้าใจว่ายังมีตามหัวเมืองอื่นต่อไปอิก คือ ป้อมปราการเมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ ป้อมปราการเมืองนครราชสิมา (เมืองเดิมอยู่ใกล้ตำบลสูงเนินเปน ๒ เมือง เรียกว่าเมืองโคราคบุระ คนเรียกว่าเมืองโคราดฤๅเมืองเก่าเมือง ๑ เมืองสิมาเมือง ๑ ย้ายมาสร้างเปนเมืองใหม่จึงเอาซื่อเดิมมาปรุงเรียกว่า เมืองนครราชสิมา แต่คนยังคงเรียกว่าเมืองโคราด) แห่ง ๑ ป้อมปราการเมืองเพ็ชรบูรณ์แห่ง ๑ ที่รื้อเสียแล้วเข้าใจว่าเมืองพิศณุโลกแห่ง ๑ เมืองจันทบุรีแห่ง ๑ แลได้ยินว่าเมืองตะนาวศรีอิกแห่ง ๑ แต่จะสร้างแห่งไหนก่อนหลังกันอย่างไรหาทราบไม่ เรื่องราวในตอนที่กล่าวมานี้เปนตอนก่อนวิชเยนทรเข้ามารับราชการ เพราะตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุฝรั่ง วิชเยนทรพึ่งเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อพวกสังฆราชบาดหลวงฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งอยู่แล้วถึง ๑๓ ปี แลสมเด็จพระนารายน์ก็ได้มีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ อยู่แล้ว วิชเยนทรหาได้เปนผู้ชักโยงไทยให้เปนไมตรีกับฝรั่งเศสไม่.

เรื่องราวประวัติของวิชเยนทรนั้น ว่าเปนชาวเมืองในประเทศครีก เกิดเมื่อราวคฤศตศก ๑๖๕๐ ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๑๙๓ นามสกุลชื่อว่า เยรากี แปลว่าเหยี่ยวนกเขาตามภาษาครีก บิดามารดาเปนผู้ดีตกยาก วิชเยนทรเห็นว่าบิดามารดาต้องหาเลี้ยงได้ความลำบากนัก คิดจะหาเลี้ยงตัวเองจึงหนีไปรับจ้างเปนลูกเรืออังกฤษตั้งแต่อายุได้ ๑๖ ปี ทำนองจะมิให้บิดามารดารู้ร่องรอย จึงเปลี่ยนเรียกชื่อตัวเสียว่า ฟอลคอน อันเปนภาษาอังกฤษ หมายความว่าเหยี่ยวนกเขาเหมือนกัน วิชเยนทรได้ไปอยู่เมืองอังกฤษสักสองสามปี แล้วรับจ้างลงเรือกำปั่นของพ่อค้าอังกฤษคน ๑ ชื่อ ยอช ไฮวต์ ออกมาค้าขายทางประเทศตวันออก มาถึงเมืองไทยเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๑๘ เปนปีที่ ๑๙ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ เวลานั้นอายุวิชเยนทรได้ราว ๒๕ ปี ยอช ไฮวต์ เห็นวิชเยนทรเปนคนฉลาดเฉลียว จึงให้อยู่ซื้อสินค้าที่กรุงศรีอยุทธยา ต่อมายอชไฮวต์จะไปค้าขายที่เมืองอื่น วิชเยนทรไม่ปราถนาจะไปด้วย เพราะได้เล่าเรียนรู้ภาษาไทย แลได้สมาคมคุ้นเคยกับพวกพ่อค้าที่ในกรุงมากแล้ว จึงออกจากการงานของยอชไฮวต์มาเข้าหุ้นส่วนกับพวกแขกเทศเดินเรือค้าขายทางอินเดีย ครั้งหนึ่งเรือวิชเยนทรไปถูกพายุถึงอับปางทางทเลอินเดีย เมื่อวิชเยนทรขึ้นฝั่งได้ไปพบราชทูตไทยที่กลับจากประเทศเปอเซีย เรือมาถูกพายุแตกที่ตรงนั้นเหมือนกัน วิชเยนทรมีเงินติดตัวอยู่บ้าง จึงรับอาสาพาราชทูตไทยกลับมาถึงกรุงศรีอยุทธยา เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กเห็นวิชเยนทรภักดีต่อราชการมีความชอบ จึงให้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระคลังสินค้า แต่แรกได้ทำการในน่าที่สมุห์บาญชี วิชเยนทรเคยค้าขายเข้าใจเล่ห์กลของพวกพ่อค้า ไม่ช้าก็ทำความชอบให้ปรากฎ มีเรื่องราวกล่าวว่าครั้ง ๑ พวกพ่อค้าแขกเทศมาทวงเงินซึ่งอ้างว่าเกี่ยวค้างอยู่พระคลังสินค้าเปนอันมาก เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กให้วิชเยนทรสอบบาญชีกับพวกแขก วิชเยนทรสอบกลับได้หลักฐานว่าที่จริงพวกพ่อค้าแขกเปนหนี้พระคลังสินค้าอยู่เปนอันมาก กลับได้เงินหลวงมาเข้าพระคลัง เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กก็ไว้วางใจวิชเยนทรยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน กราบทูลยกย่องต่อสมเด็จพระนารายน์ จึงทรงตั้งเปนหลวงวิชเยนทร มีตำแหน่งราชการในกรมพระคลังสินค้า

วิชเยนทรฉลาดเฉลียวทำการงานของพระคลังสินค้าไม่เสียเปรียบพวกพ่อค้า แลรู้จักผ่อนผันการงานที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งโดยรู้จักนิไสยใจฅอของฝรั่ง ไม่ช้านานเท่าใดพวกฝรั่งต่างชาติก็พากันชอบพอ พาให้การงานในพระคลังสินค้าเรียบร้อยเจริญขึ้น จึงเปนเหตุให้ได้เลื่อนยศขึ้นเปนพระวิชเยนทร ตำแหน่งทำนองกรมท่าฝรั่ง อย่างพระโชฎึกเปนกรมท่าจีนฉนั้น

ในสมัยนั้นข้าราชการที่มีกำลังพาหนะ เปนต้นแต่เจ้าพระยาโกษาฯ ลงมา ทำการค้าขายด้วยโดยมาก พระโชฎึกแลพระจุฬาที่เปนหัวน่ากรมท่าซ้ายขวา ก็เปนพ่อค้าใหญ่ในพวกจีนแลแขกด้วยในตัว วิชเยนทรเข้ารับราชการก็ทำการค้าขายมาด้วยแต่แรก ครั้นมีวาศนาขึ้นการค้าขายก็ยิ่งใหญ่ขึ้นโดยลำดับ เพราะพวกอังกฤษแลฮอลันดาช่วยเกื้อหนุนด้วยประการต่าง ๆ จนวิชเยนทรมีกำลังตั้งตัวได้ แต่รับราชการอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กตลอดมา เรื่องประวัติของวิชเยนทรตอนต้นได้ความดังกล่าวมานี้.

จะว่าด้วยเรื่องพงษาวดารต่อไป ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๒๒๓ บริษัทฝรั่งเศสเข้ามาตั้งค้าขายในกรุงศรีอยุทธยาเปนทีแรก สมเด็จพระนารายน์ก็ทรงยินดี พระราชทานอุปการะทำนุบำรุงด้วยประการต่าง ๆ เพราะว่ามีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ อยู่แล้ว แลได้ทรงปรารภอยู่แต่ก่อนว่า จะแต่งทูตให้เชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยแลโป๊ปณกรุงโรม แต่ยังขัดข้องอยู่ด้วยเรื่องเรือที่จะไป ครั้นบริษัทฝรั่งเศสมาอาสาจะรับทูตไป จึงโปรดให้ทูตานุทูตไปเมืองฝรั่งเศสเปนครั้งแรก เมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๒๒๔ แต่ทูตที่ไปคราวนี้เรือแตกกลางทางเลยสูญหายไปหมด หาได้ไปถึงเมืองฝรั่งเศสไม่.

ถึงปีกุญ พ.ศ. ๒๒๒๖ เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กถึงอสัญกรรม เหตุอันนี้เปนขอสำคัญแก่เรื่องพงษาวดารในตอนต่อมาเปนอันมาก ด้วยเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กเปนคู่พระราชหฤไทยของสมเด็จพระนารายน์ ทรงใช้สอยต่างพระเนตรพระกรรณในราชการสำคัญตั้งแต่ทำศึกสงครามกับพม่า ตลอดมาจนในการที่จะคบหาสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่ง เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กก็เปนมุขมนตรีในที่ปฤกษา แลเปนต้นรับสั่งอำนวยการตามพระราโชบายทั้งสิ้น ก็การที่ไทยเริ่มสมาคมกับฝรั่งเศส ด้วยพวกสังฆราชบาดหลวงเข้ามาเปนผู้สื่อสารชักโยงครั้งนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยในฝ่ายข้างไทยมีมาก เพราะไม่คิดเห็นประโยชน์ทางรัฐาภิปาลโนบายฦกซึ้งถึงพระปรีชาญาณของสมเด็จพระนารายน์ ก็พากันสงไสยว่าที่พวกสังฆราชบาดหลวงมาสามิภักดิเปนแต่กลอุบายจะให้ไทยละทิ้งพระพุทธสาสนาไปเข้ารีดเปนคฤศตัง ซึ่งที่แท้ก็เปนความจริงอยู่ส่วน ๑ จึงรังเกียจการที่ไทยไปสมาคมกับฝรั่งเศส แต่เพราะคนทั้งหลายมีความสามิภักดิในสมเด็จพระนารายน์ แลวางใจในเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กว่ามีสติปัญญาแลเปนคนซื่อตรง ก็ไม่มีใครคิดอ่านวุ่นวายไปอย่างไร ครั้นเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กถึงอสัญกรรม ข้าราชการไทยที่สมเด็จพระนารายน์ทรงไว้วางพระราชหฤไทย รองเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กลงมา คือ พระเพทราชา ๆ เปนแต่นายทหาร ไม่สันทัดแลไม่ชอบการเกี่ยวข้องกับฝรั่ง ข้าราชการที่มีสติปัญญาสันทัดทางการงานต่างประเทศ มีแต่วิชเยนทรคนเดียว ในจดหมายเหตุฝรั่งครั้งนั้นว่าสมเด็จพระนารายน์จะทรงตั้งวิชเยนทรเปนที่โกษาธิบดี แต่วิชเยนทรทูลขอตัวเสีย ด้วยเกรงข้าราชการจะพากันฤษยามากนัก จึงทรงตั้งขุนนางเชื้อแขกคน ๑ เปนที่โกษาธิบดี แต่จะเปนพระยาฤๅเจ้าพระยาหาปรากฎไม่ เพราะฝรั่งเรียกแต่ “พระคลัง” แต่ว่าการทำการงานไม่ได้อย่างเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็ก เพราะฉนั้นราชการที่เกี่ยวกับต่างประเทศจึงมาตกอยู่ในน่าที่วิชเยนทร เห็นจะได้เลื่อนขึ้นเปนพระยาในตอนนี้ แต่วิชเยนทรเปนฝรั่งคนทั้งหลายไม่เชื่อถือไว้วางใจเหมือนอย่างเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็ก แลยังมีเหตุให้รังเกียจอิกอย่าง ๑ ด้วยเดิมวิชเยนทรถือสาสนาลัทธิโปรเตสตันต์ บาดหลวงฝรั่งเศสเกลี้ยกล่อมเอาเข้ารีดลัทธิโรมันคโธลิคได้เมื่อก่อนนี้สักปี ๑ จึงเข้าใจกันโดยมากว่าวิชเยนทรเปนพรรคพวกของบาดหลวง ด้วยเหตุเหล่านี้ ตั้งแต่เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กถึงอสัญกรรม ข้าราชการจึงตั้งต้นแตกกันเปน ๒ พวก คือพวกวิชเยนทรเปนพวกชอบฝรั่งเศส พวกพระเพทราชาเปนพวกชังฝรั่งเศส แต่ยังไม่ถึงเกิดเปนอริกัน เพราะมีความยำเกรงสมเด็จพระนารายน์อยู่.

ฝ่ายวิชเยนทรตั้งแต่ได้เปนหัวน่าในราชการต่างประเทศ ก็ตั้งใจพยายามที่จะให้บังเกิดประโยชน์แก่เมืองไทยด้วยการที่คบหาสมาคมกับต่างประเทศ ให้สมพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายน์ คือคิดจะให้ไทยเปนสัมพันธมิตรสนิทกับฝรั่งเศส กีดกันมิให้ฮอลันดาแลอังกฤษคิดร้ายได้นั้นอย่าง ๑ คิดจะบำรุงการค้าขายของไทยให้เจริญโภคทรัพย์เปนกำลังบ้านเมืองด้วยอย่าง ๑ การทั้ง ๒ อย่างนี้ ที่ปรากฎว่าได้จัดทำในชั้นวิชเยนทรเปนหัวน่าในราชการต่างประเทศเปนประการใด จะอธิบายต่อไปทีละอย่าง จะว่าด้วยเรื่องสมาคมกับฝรั่งเศสก่อน.

เมื่อเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กยังมีชีวิตรอยู่ สมเด็จพระนารายน์ได้โปรดให้ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๒๒๔ ดังกล่าวมาแล้ว ทูตหายไปกว่าปี ทางกรุงศรีอยุทธยายังไม่ทราบแน่ว่าทูตจะไปเปนอันตรายฤๅอย่างไร สมเด็จพระนารายน์ทรงพระวิตก จึงโปรดให้จัดข้าราชการ ๒ คน ตามไปสืบข่าวทูตที่ไปคราวก่อน วิชเยนทรเปนผู้จัดการครั้งนี้ จึงไปหาสังฆราชคฤศตังขอบาดหลวงไปเปนล่าม ๒ รูป ความคิดของวิชเยนทรอยากจะให้พระเจ้าหลุยแต่งราชทูตพิเศษต่างพระองค์เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ตามแบบอย่างประเทศใหญ่ในยุโรปแต่งทูตไปยังประเทศที่มีเกียรติยศเสมอกัน เพราะทูตฝรั่งที่เคยเข้ามาแต่ก่อน มักเปนแต่พ่อค้าเชิญพระราชสาส์นมา หาได้เปนราชทูตตรงมาจากราชสำนักจริงๆ ไม่ วิชเยนทรคงไปพูดจาชี้แจงให้สังฆราชช่วยเพ็ดทูลขอร้องออกไปด้วย แลคงจะอ้างว่าถ้าพระเจ้าหลุยให้ราชทูตเข้ามายกย่องพระเกียรติยศสมเด็จพระนารายน์อย่างนั้นแล้ว การที่จะแผ่สาสนาคฤศตังก็จะสดวกขึ้นอิกมาก สังฆราชเห็นชอบด้วย จึงบอกชี้แจงความไปให้ทูลพระเจ้าหลุยด้วยอิกทาง ๑ ทูตไทยครั้งที่ ๒ ไปเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๒๒๖ เมื่อไปถึงเมืองฝรั่งเศสรัฐบาลก็ต้อนรับเปนอันดี แต่เปนทูตถือศุภอักษรเสนาบดีไปสืบข่าวทูตที่ไปคราวก่อน ไม่ได้เชิญพระราชสาส์นไปถวาย พระเจ้าหลุยจึงเปนแต่ให้เฝ้าที่พระราชวังเวอซายในเวลาเสด็จออกประพาศผ่านไป เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน คฤศตศก ๑๖๘๔. หาได้เสด็จออกรับเปนการเต็มยศไม่.

เมื่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระนารายน์ได้ทรงแต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี แต่เรือแตก ทูตเปนอันตรายเสียหมด ก็ทรงพระดำริห์เห็นว่าควรจะแต่งราชทูตให้เข้ามาสนองทางพระราชไมตรีให้ต้องตามราชประเพณี เพราะแต่ก่อนเปนแต่ให้สังฆราชบาดหลวงเปนผู้เชิญพระราชสาส์น ไม่เหมือนกับที่สมเด็จพระนารายน์ได้ทรงแต่งทูตไป แลครั้งนั้นจะเปนด้วยสังฆราชฝรั่งเศสทูลชี้แจงไปจากเมืองไทยว่ากระไร ฤๅเปนเพราะพวกบาดหลวงเยซูอิตที่เมืองฝรั่งเศสจะทูลอธิบายต่อไปประการใดหาปรากฎไม่ พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เข้าพระไทยว่า สมเด็จพระนารายน์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในสาสนาคฤศตังอยู่แล้ว เปนแต่ยังกีดด้วยเกรงความครหาจึงยังไม่เข้ารีด ถ้าพระเจ้าหลุยให้ราชทูตเชิญกระแสรับสั่งเข้ามาทูลเชื้อเชิญให้เปนพระเกียรติยศแล้ว คงจะไม่ขัดพระอัธยาไศรยเปนแน่ เมื่อพระเจ้าหลุยทรงแต่งให้เชวะเลียเดอโชมอง เปนเอกอรรคราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรี จึงดำรัสสั่งให้มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายน์เข้ารีตคฤศตัง แลแต่งให้บาดหลวงซึ่งสำหรับจะเปนราชครูผู้ถวายศีลสมเด็จพระนารายน์ให้มากับราชทูตด้วยทีเดียว โดยเชื่อพระไทยตามกิติศัพท์ที่ได้ทรงทราบนั้น ราชทูตฝรั่งเศสมาด้วยเรือรบ ๒ ลำ รับทูตไทยที่ไปคราวที่ ๒ กลับมาส่งด้วย มาถึงเมืองไทยในปีฉลู พ.ศ. ๒๒๒๘ วิชเยนทรลงไปรับราชทูตฝรั่งเศส ทราบว่าพระเจ้าหลุยให้ราชทูตมาเชิญสมเด็จพระนารายน์เข้ารีดก็ตกใจ บอกชี้แจงแก่ทูตว่าสมเด็จพระนารายน์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธสาสนามั่นคง เห็นจะไม่ยอมถือสาสนาอื่น ไม่ควรจะทูลเชื้อเชิญให้เกิดหมองหมางในทางพระราชไมตรีที่ทูตเข้ามา ราชทูตฝรั่งเศสก็ไม่ฟัง ว่าเปนข้อรับสั่งของพระเจ้าหลุย แม้ความในพระราชสาส์นที่เชิญมาเปนเรื่องชักชวนให้ทรงเลื่อมใสในสาสนา ราชทูตไม่สามารถจะงดเสียได้ วิชเยนทรก็มิรู้ที่จะทำประการใด ความทราบถึงสมเด็จพระนารายน์ ครั้นทรงรับรองราชทูตให้เปนเกียรติยศแล้ว จึงทรงพระราชดำริห์ผ่อนผันโดยพระปรีชาญาณ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอนุญาต แล้วแต่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินคนใด ใครจะมีใจศรัทธาถือสาสนาคฤศตังก็ไม่ห้ามปราม จะทรงทำนุบำรุงเหมือนแต่ก่อนด้วยประการทั้งปวง แต่ส่วนพระองค์เมื่อราชทูตฝรั่งเศสให้วิชเยนทรกราบทูลวิงวอน มีรับสั่งให้ราชทูตนำความไปทูลพระเจ้าหลุยว่า ทรงแจ้งพระหฤไทยอยู่แล้วว่า เพราะพระเจ้าหลุยทรงรักใคร่จะให้สนิทเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงอยากให้ร่วมสาสนากัน แต่การถือสาสนาไม่ได้อยู่ในอำนาจมนุษย์ที่เลือกเอาเองได้ เพราะต้องแล้วแต่ศรัทธาที่จะเกิดขึ้นในใจเปนใหญ่ ที่พระเจ้าหลุยทรงชักชวนมานั้นก็ไม่ขัดขวาง จะตั้งพระหฤไทยไว้เปนกลาง ถ้าหากว่าพระเปนเจ้าบนสวรรค์บันดาลให้ความศรัทธาเกิดขึ้นในพระไทยเมื่อใดก็จะยอมเข้ารีดแต่นั้นไป ราชทูตก็มิรู้ที่จะโต้ตอบอย่างไรต่อไป.๑๐

ครั้นเมื่อราชทูตฝรั่งเศสจะกลับไป สมเด็จพระนารายน์ทรงพระราชดำริห์ว่า ราชทูตไทยที่ไปจำทูลพระราชสาส์นยังหาได้ไปถึงพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไม่ จึงทรงจัดราชทูตอิกชุด ๑ ให้พระวิสูตรสุนทร (คือ โกษาปาน) น้องเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กเปนราชทูตไปกับฝรั่งเศสในปลายปีฉลูนั้น.

การที่ไทยได้สมาคมกับฝรั่งเศส จนมีราชทูตเข้ามาจากพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ คราวนี้ เปนประโยชน์แก่ไทยหลายอย่าง คือ ที่ได้พวกฝรั่งเศสซึ่งมีวิชาความรู้มาช่วยราชการนั้นเปนต้น ในคราวที่ทูตมานี้ ก็ปรากฎว่าสมเด็จพระนารายน์รับสั่งขอข้าราชการที่มากับทูตไว้ ๒ คน คนหนึ่งเปนนายทหาร ชื่อ เชวะเลียเดอฟอแบง อยู่เปนครูฝึกหัดทหารอย่างยุโรป แล้วทรงตั้งเปนออกพระศักดิสงคราม อิกคนหนึ่ง ชื่อ เดอลามา เปนนายช่าง แต่ข้อที่เปนประโยชน์อย่างสำคัญนั้น คือที่เปนเหตุให้อังกฤษแลฮอลันดาหายโหดร้ายหันมาเปนทางไมตรีดีกับไทย หวังจะสนิทสนมอย่างฝรั่งเศสบ้าง ด้วยเหตุนี้ วิชเยนทรจึงเปนคนสำคัญขึ้น เห็นจะได้เปนเจ้าพระยาในตอนนี้.

ส่วนการค้าขายที่วิชเยนทรคิดจัดขึ้นตั้งแต่ได้ว่าการต่างประเทศนั้น ประสงค์จะให้มีเรือไทยไปค้าขายถึงนานาประเทศให้ได้กำไรเหมือนกับที่ฝรั่งมาค้าขายเมืองนี้บ้าง วิชเยนทรคุ้นเคยกับอังกฤษยิ่งกว่าพวกอื่น เพราะได้เคยอยู่กับอังกฤษรู้นิไสยใจฅอกันมาแต่ก่อน จึงคิดอ่านสร้างเรือกำปั่นหลวงเพิ่มเติมขึ้น แล้วชักชวนพวกอังกฤษให้มารับเดินเรือของหลวง ครั้งนั้นพวกอังกฤษที่ทำการของบริษัทได้ผลประโยชน์น้อยไม่พอใจมีอยู่เปนอันมาก จะออกมาทำมาค้าขายโดยลำพังตนเอง บริษัทก็คอยรังแกไม่ให้ค้าขายแข่ง วิชเยนทรรู้การอันนี้ จึงเกลี้ยกล่อมพวกอังกฤษโดยยอมอนุญาตให้เอาสินค้าของตนไปในเรือหลวงได้ด้วย ก็มีคนอังกฤษออกจากบริษัทมาสมัครับราชการเปนอันมาก มีจำนวนกว่า ๕๐ คน ต่อมาซ้ำผู้จัดการของบริษัทอังกฤษที่ในกรุงฯ ชื่อริชาดเบอนาบีคน ๑ แซมยวลไฮวต์คน ๑ เกิดวิวาทกับบริษัท ออกมาสมัครับราชการ เห็นจะเปน ๒ คนนี้มาขยายความให้ปรากฎว่า อังกฤษอยากได้เมืองมฤทไปเปนท่าค้าขายของบริษัทอังกฤษ โดยอ้างว่าเพราะไทยไม่ทำนุบำรุงการค้าขายให้เจริญตามสมควร วิชเยนทรจึงทูลขอให้จัดตั้งเมืองมฤทเปนสถานีที่ค้าขายของหลวง แลสร้างป้อมประจำท่าเหมือนสถานีที่ฝรั่งตั้งที่อื่น แล้วทูลขอให้ริชาดเบอนาบีเปนที่ออกพระเจ้าเมืองมฤท แลตั้งแซมยวลไฮวต์ เปนเจ้าท่าไปจัดการค้าขายของรัฐบาลที่เมืองมฤท ที่ไทยจัดการค้าขายดังกล่าวมานี้บริษัทอังกฤษย่อมไม่พอใจ เพราะประมูลแย่งเอาคนของบริษัทมาให้ทำการค้าขายแข่งบริษัท แต่ไม่อาจจะขัดขวางอย่างไรได้ เพราะรัฐบาลอังกฤษยังคิดจะผูกพันเปนไมตรีกับไทยอยู่๑๑ แต่มามีเหตุเกิดขึ้นด้วยพวกอังกฤษที่เปนนายเรือกำปั่นไทย ชื่อกับตันโคต เปนคนสำคัญในพวกนี้คน ๑ เอาแบบอย่างความประพฤติของบริษัทมาทำบ้าง เปนต้นว่าถ้าพบปะเรือเมืองพม่าไปค้าขายทางอินเดีย ก็จับเปนเชลยเสีย โดยอ้างว่าพม่าเปนข้าศึกกับไทย จนเรือเมืองพม่าไม่ใคร่กล้าไปค้าขายทางอินเดีย อิกคราว ๑ ไปค้าขายที่เมืองคอละคอนดา ซึ่งยังเปนอิศระอยู่ใกล้เมืองมัทราฐ ไปเกิดวิวาทขึ้นโดยเจ้าของเมืองไม่ยอมใช้หนี้สิน ก็เอาปืนยิงด่านแล้วจับเอาเรือเมืองคอละคอนดามาเปนเชลย เจ้าเมืองคอละคอนดาไปต่อว่าบริษัทว่า รัฐบาลอังกฤษเปนไมตรีกันอยู่ เหตุไฉนจึงปล่อยให้คนอังกฤษมาทำร้าย บริษัทจึงบอกออกไปยังรัฐบาลอังกฤษ ชี้แจงกล่าวโทษวิชเยนทรว่าเปนพวกฝรั่งเศส แลคิดอ่านเกลี้ยกล่อมเอาคนอังกฤษไปตั้งซ่อง เพื่อแสวงหากำไรเปนผลประโยชนของตน หาใช่เปนความคิดของไทยไม่ รัฐบาลอังกฤษขัดเคือง จึงอนุญาตให้เรียกคนอังกฤษที่มาทำราชการอยู่กับไทยกลับไปให้หมด บริษัทได้ทีก็แต่งเรือรบออกเที่ยวจับเรือกำปั่นไทยที่ไปค้าขายอยู่ทางอินเดีย แล้วให้เรือรบ ๓ ลำมาที่เมืองมฤท เอาประกาศของรัฐบาลอังกฤษมาอ่านบอกพวกอังกฤษที่ทำราชการไทย เวลานั้นมีอยู่ในกรุง ๒๕ คน อยู่ที่เมืองมฤท ๒๕ คน บังคับให้ออกจากราชการให้หมด แล้วส่งหนังสืออัลติเมตัม ให้พระยาตะนาวศรีส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา เปนหนังสือกราบทูลสมเด็จพระนารายน์กล่าวโทษวิชเยนทรว่าทำการแกล้งบริษัทต่างๆ จนสูญเสียทรัพย์ไปถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ ขอให้ใช้ทรัพย์นั้นภายในกำหนด ๒ เดือน ถ้าหาไม่จะต้องทำตามอำเภอใจ

ในระหว่างเวลาพระยาตะนาวศรีส่งหนังสืออัลติเมตัมของบริษัทอังกฤษเข้ามายังกรุง ฯ ทางโน้นพวกอังกฤษที่มาอยู่เมืองไทยพากันกลัวรัฐบาลก็กลับไปเข้ากับอังกฤษ เชื้อเชิญพวกนายเรือรบขึ้นพักอยู่ที่เมืองมฤท ฝ่ายกับตันเวลด์เตน นายเรือรบอังกฤษคิดว่าป้อมไทยมีอยู่ที่เมืองมฤท ถ้าเกิดรบกันขึ้นกับไทยจะต้องตีป้อมเปนการลำบาก เมื่อพวกอังกฤษได้รับให้อยู่ขึ้นอยู่บนเมืองแล้วควรจะทำให้เปนประโยชน์สำหรับการข้างน่าเสียด้วยทีเดียว จึงให้ทหารลงมือรื้อป้อมเมืองมฤท แลแย่งเอาเรือกำปั่นรบของไทยที่อยู่น่าเมืองไปเสียด้วยลำ ๑ พระยาตะนาวศรีเห็นอังกฤษก่อการสงครามขึ้นก่อน ก็ยกกองทัพลงมาจากเมืองตะนาวศรี เข้าปล้นเมืองมฤทที่พวกอังกฤษตั้งอยู่ในกลางคืนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๘๗ (ราวในเดือน ๘ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๓๗) พวกอังกฤษกำลังประมาทไม่ได้เตรียมระวังตัว ถูกฆ่าฟันตายเสียเปนอันมาก ริชาดเบอนาบีก็ตายในที่รบ ไทยกลับเอาป้อมคืนได้ แลแย่งเรือรบอังกฤษไว้ได้ลำ ๑ กับตันเวลด์เตนกับพวกอังกฤษที่เหลือตายลงเรือหนีไปได้ ๒ ลำ พอข่าวทราบเข้ามาถึงกรุงฯ สมเด็จพระนารายน์ก็ให้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเปนสงครามกับบริษัทอังกฤษ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๖๘๗ (ราวในเดือน ๙ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๓๐) อังกฤษกับไทยจึงเลยเปนข้าศึกกันมาตลอดรัชกาลสมเด็จพระนารายน์.

พอถึงเดือน ๑๐ ปีเถาะนั้น มองสิเออ เดอลาลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสก็พาโกษาปานกลับมาส่งถึงกรุง ฯ ทูตไทยคราวโกษาปานไปเมืองฝรั่งเศสครั้งนั้น เลื่องฦๅในยุโรปมาก เพราะเปนทีแรกที่ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินประเทศทางตวันออกแต่งราชทูตไปยังราชสำนักพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยจึงทรงรับรองยกย่องเกียรติยศเปนอย่างสูง ถึงให้ตีเหรียญแลเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้าไว้เปนที่ระฦก แต่ทูตไทยที่ไปคราวนั้นจะได้รับกระแสรับสั่งให้ไปจัดการงานอย่างใดกับฝรั่งเศสบ้างหาปรากฎไม่ ถึงที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ให้ราชทูตเข้ามาอิกครั้ง ๑ คราวมาส่งโกษาปาน ก็ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่ามาทำไม เปนแต่ปรากฎว่าพระเจ้าหลุยทรงจัดทหารฝรั่งเศสมีจำนวน ๑,๔๐๐ คน นายพลชื่อ เดส์ฟาช เปนผู้บังคับบัญชา ให้มารับราชการของสมเด็จพระนารายน์ แลปรากฎในจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เมื่อทหารเหล่านั้นมาถึง ทูตฝรั่งเศสจะพามาขึ้นที่กรุงศรีอยุทธยา รัฐบาลไทยหายอมไม่ ให้ขึ้นที่เมืองธนบุรี แล้วแบ่งส่งไปรักษาป้อมที่เมืองมฤท ๒ กองร้อย นอกจากนั้นให้อยู่ประจำรักษาเมืองธนบุรี จึงได้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นทางฝั่งตวันออก (ตรงที่ตั้งโรงเรียนราชินีทุกวันนี้) อิกป้อม ๑.

การที่พระเจ้าหลุยส่งทหารฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทยคราวนั้น เปนต้นเหตุร้ายที่จะเกิดในเมืองไทย ด้วยทำให้คนระแวงสงไสยคิดเห็นกันไปต่าง ๆ เพราะทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสแล้วกว่าปี ไทยจึงเกิดวิวาทกับอังกฤษขึ้นทางนี้ จะเข้าใจว่าทหารฝรั่งเศสมาช่วยไทยรบกับอังกฤษครั้งนั้นไม่ได้ จึงสงไสยกันไปว่าเพราะวิชเยนทรเห็นศัตรูมีมาก จะคิดอ่านเอากำลังฝรั่งเศสมาไว้ป้องกันตัว แลสงไสยพระเจ้าหลุยที่ให้ทหารฝรั่งเศสมาว่าเพราะคิดจะให้มายึดเอาเมืองไทยไว้ในอำนาจ แต่เมื่อพิจารณาดูในเวลานี้เห็นว่าจำนวนทหารที่มาน้อยนัก ไม่พอจะยึดเอาบ้านเมืองได้ เหตุที่จริงที่พระเจ้าหลุยส่งทหารฝรั่งเศสมาครั้งนั้น เห็นจะเปนด้วยสมเด็จพระนารายน์ต้องพระประสงค์จะจัดทหารไทยตามแบบอย่างยุโรป สำหรับรักษาป้อมปราการที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ได้นายทหารฝรั่งเศสไว้เปนครูฝึกหัดคน ๑ ไม่พอ ราชทูตฝรั่งเศสที่มาคราวแรกเห็นจะทูลรับรองไปว่า จะไปทูลขอให้พระเจ้าหลุยทรงจัดครูทหารมาถวายอิกให้พอ ครั้นทูตฝรั่งเศสกลับไปไม่ช้านัก พวกแขกมักกะสันเปนขบถขึ้นในกรุง ฯ เกือบจะแย่งป้อมวิไชยประสิทธิซึ่งเชวะเลีย เดอฟอแบง นายทหารฝรั่งเศสอยู่รักษาเอาไปได้ พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทราบข่าวอันนี้ จะส่งแต่ครูทหารมา เกรงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอิกจะเสียเกียรติยศฝรั่งเศส แลประสงค์จะให้สมเด็จพระนารายน์ทรงเลื่อมใสใช้สอยทหารฝรั่งเศสรักษาพระองค์๑๓ ด้วยอิกอย่าง ๑ จะได้เปนกำลังแลราสีของฝรั่งเศสในวันน่าต่อไป จึงส่งทหารมาถวายทั้งกรม เห็นจะไม่ใช่ได้คิดร้ายแรงไปกว่านี้ แต่บางทีพวกบาดหลวงเยซูอิตจะสนับสนุนโดยเห็นว่าจะเปนกำลังป้องกันการแผ่สาสนาด้วยก็เปนได้ แต่สมเด็จพระนารายน์คงไม่ได้ดำรัสขอ แลไม่พอพระราชหฤไทยที่พระเจ้าหลุยส่งทหารฝรั่งเศสมาถวายนั้นเปนแน่ แต่อย่างไรก็ดี ทหารฝรั่งเศสมาคราวนั้นมาถึงพอเหมาะแก่เหตุการณ์ที่ไทยเกิดรบกับบริษัทอังกฤษ ที่ไม่ปรากฎว่าอังกฤษมาบุกรุกที่เมืองมฤทฤๅที่ใดอิก บางทีจะเปนเพราะที่ไทยได้ทหารฝรั่งเศสมาช่วยก็เปนได้.

มองสิเออ เดอลาลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสอยู่ในเมืองไทย ๓ เดือน พอถึงเดือนอ้ายก็ทูลลากลับไป สมเด็จพระนารายน์ทรงตั้งพระวิสูตรสุนทรปาน เปนพระยาโกษาธิบดี แล้วทรงแต่งทูตานุทูตให้ไปกับราชทูตฝรั่งเศสคราวนี้อิกครั้ง ๑ ให้ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลไปเฝ้าโป๊ปที่กรุงโรมด้วย แต่จะมีข้อราชการอย่างใดที่ให้ไปหาปรากฎไม่ บางทีจะเกี่ยวข้องแก่การให้ไปบอกคืนทหารฝรั่งเศสซึ่งพระเจ้าหลุยส่งมาก็จะเปนได้ ปรากฎแต่ว่าพาเด็กไทยไปฝากเล่าเรียนวิชาที่เมืองฝรั่งเศสหลายคน ส่วนกองทหารฝรั่งเศสนั้นคงให้รักษาป้อมที่เมืองธนบุรีแลเมืองมฤทต่อมา เปนแต่โปรดให้นายทหารผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปฝึกหัดทหารไทยที่เมืองลพบุรี แต่หาให้กองทหารฝรั่งเศสขึ้นไปไม่.

ราชทูตฝรั่งเศสกลับไปได้ ๕ เดือน ทางนี้สมเด็จพระนารายน์ก็ประชวรเมื่อเดือน ๖ ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๓๑ แล้วเลยเกิดจลาจลขึ้นในเมืองไทย มูลเหตุที่จะเกิดจลาจลครั้งนั้น เพราะสมเด็จพระนารายน์ไม่มีพระราชโอรสที่จะรับรัชทายาท มีแต่เจ้าฟ้าราชธิดา ซึ่งทรงตั้งเปนกรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ น้องเธอมี ๓ พระองค์ คือเจ้าฟ้าหญิง ทรงตั้งเปนกรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าชาย ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าอภัยทศ๑๔พระองค์ ๑ อิกพระองค์ ๑ เปนพระองค์น้อย หาปรากฎพระนามไม่ แต่น้องยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ไม่ถูกพระอัธยาไศรยสมเด็จพระนารายน์ จึงเลยแสดงว่าประชวรอยู่แต่กับวัง หาได้ไปมาเฝ้าแหนไม่ สมเด็จพระนารายน์ทรงเลี้ยงเจ้าราชนิกูลองค์ ๑ ทรงตั้งเปนที่พระปีย์เปนผู้อยู่ปฏิบัติแลตามเสด็จใกล้ชิดติดพระองค์อยู่เปนนิจ ทรงพระเมตตาเหมือนอย่างเปนพระราชบุตร๑๕ สมเด็จพระนารายน์หาได้ทรงแสดงให้ปรากฎว่า จะทรงประดิษฐานเจ้านายพระองค์ใดให้เปนรัชทายาทไม่ มีจดหมายเหตุของฝรั่งว่า วิชเยนทรได้เคยกราบทูลขอให้ทรงตั้งสมเด็จพระราชธิดาไว้ในที่รัชทายาท แต่สมเด็จพระนารายน์ดำรัสว่า จะให้ผู้หญิงครอบบ้านครองเมืองผิดโบราณราชประเพณี แล้วหาได้ตรัสต่อไปประการใดไม่ วิชเยนทรเห็นสมเด็จพระนารายน์ทรงยกย่องพระปีย์ไว้ในที่ราชบุตรบุญธรรม จึงเข้าใจว่าถ้าถึงเวลาจะทรงมอบเวนราชสมบัติ คงจะมอบพระราชทานแก่พระปีย์ ด้วยคาดการอย่างว่ามานี้ จึงคิดอ่านกับพวกบาดหลวงเยซูอิตฝรั่งเศส ซึ่งรับอาสาเปนครูสอนวิชาต่าง ๆ พากเพียรเกลี้ยกล่อมพระปีย์ให้เปนพรรคพวกข้างฝรั่ง นัยว่าจนถึงเลื่อมใสศรัทธาในสาสนาคฤศตังด้วย ความที่กล่าวมานี้หามีปรากฎในจดหมายเหตุข้างฝ่ายไทยไม่ แต่มีหลักฐานที่ควรเชื่อได้เปนแน่อย่างหนึ่ง ว่าเมื่อตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายน์นั้น พวกข้าราชการพากันระแวงว่าวิชเยนทรจะคิดร้าย จึงไปเข้าเปนพวกพระเพทราชาโดยมาก จนกิติศัพท์ทราบถึงราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาคราวหลัง ได้จดลงไว้ในจดหมายเหตุว่า “มีเสียงพูดกันเปนความลับในพวกไทยว่า ถ้าหากพระเพทราชาฤๅหลวงสรศักดิซึ่งเปนลูกของพระเพทราชา อยู่ไปจนสมเด็จพระนารายน์สวรรคต บางทีอาจจะได้ราชสมบัติ ดังนี้.

ครั้นสมเด็จพระนารายน์ประชวร พอพวกข้าราชการเห็นว่าจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้า ความหวาดหวั่นด้วยเรื่องรัชทายาทก็เกิดขึ้นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายวิชเยนทรหวาดว่าถ้าพระเพทราชาได้เปนใหญ่ก็คงจะทำร้ายพวกข้างฝรั่ง ฝ่ายข้างพระเพทราชาก็หวาดว่าวิชเยนทรจะเอาทหารฝรั่งเศสขึ้นมาจับกุมกดขี่ให้ข้าราชการทั้งปวงยอมให้พระปีย์ขึ้นครองราชสมบัติ ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างเห็นว่าจะต้องริบทำการอย่างใดอย่างหนึ่งป้องกันอันตราย จะนิ่งอยู่ไม่ได้ พระเพทราชามีพรรคพวกมากกว่าแลอยู่ใกล้กว่า จึงได้โอกาศทำก่อนวิชเยนทร๑๖

แต่การที่พระเพทราชาทำในชั้นต้น เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเหตุผล เห็นว่าความสมจริงอย่างที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าพระเพทราชาประสงค์เพียงจะกำจัดวิชเยนทรกับผู้ที่เปนพรรคพวกฝรั่ง แล้วจะถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งเปนสมเด็จพระอนุชา หาได้ประสงค์จะชิงราชสมบัติเองไม่ แต่หากหลวงสรศักดิแกล้งเสือกไสให้การดำเนินเกินประสงค์ไป พระเพทราชาจึงต้องจำชิงราชสมบัติไปตามเลย ปลาดอยู่อย่าง ๑ ที่จดหมายเหตุของฝรั่งครั้งนั้นก็มีมากมายหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดที่ผู้แต่งจะได้รู้วี่แววว่าหลวงสรศักดิเปนราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายน์ ดังว่าในหนังสือพระราชพงษาวดาร กล่าวแต่ว่าเปนบุตรพระเพทราชาทุก ๆ ฉบับ ข้อนี้ทำให้เห็นว่าที่อ้างว่าหลวงสรศักดิเปนราชโอรสของสมเด็จพระนารายน์ จะเปนเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชกาลภายหลังต่อมาเมื่อจวนจะเสียกรุง หลวงสรศักดิเองหาได้ตั้งตัวเปนราชโอรสลับดังกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่.

เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดจลาจล ตามที่ปรากฎในจดหมายเหตุฝรั่ง เนื้อเรื่องก็ยุติต้องกับหนังสือพระราชพงษาวดาร เปนแต่มีราชการพิศดารออกไปว่า เมื่อเดือน ๖ ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายน์ทรงพระประชวร ประทับอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในพระราชวังเมืองลพบุรี พอพระเพทราชาเห็นว่าพระอาการหนักจะไม่คืนดีได้เปนแน่แล้ว ก็สั่งให้ตั้งกองล้อมวงรักษาพระราชวังให้กวดขัน (ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม) พระเพทราชาเข้าไปบัญชาการอยู่ในพระราชวัง แล้วให้ไปเรียกวิชเยนทรกับนายทหารฝรั่งเศสซึ่งขึ้นไปอยู่ที่เมืองลพบุรีในเวลานั้นเข้าไปบอกว่า สมเด็จพระนารายน์ทรงพระประชวร เดี๋ยวนี้มีกิติศัพท์ว่ามีผู้จะคิดขบถชิงราชสมบัติ กำลังจะสืบสาวเอาตัวผู้คิดร้าย จะต้องให้เอาตัววิชเยนทรกับนายทหารเหล่านั้นคุมไว้ก่อน แล้วจึงสั่งให้เอาตัวไปกักขังไว้ทั้งหมด ต่อมาอิกวัน ๑ พระเพทราชาให้เอาพระปีย์มาพิจารณา ทำนองพระปีย์จะรับว่าวิชเยนทรได้พูดว่าจะให้เปนรัชทายาท ในวันนั้นจึงสั่งให้เอาพระปีย์ไปประหารชีวิตรเสีย แล้วเอาตัววิชเยนทรมาชำระอยู่ ๓ วัน พิพากษาว่าวิชเยนทรคิดขบถจะชิงราชสมบัติให้พระปีย์ ด้วยประสงค์จะเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แล้วจะคิดการมักใหญ่ใฝ่สูงต่อไป ให้เอาวิชเยนทรไปประหารชีวิตรเสียที่ทเลชุบศร (เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน) วิชเยนทรเปนเจ้าพระยาอยู่ได้สัก ๓ ปี เมื่อตายอายุราว ๔๐ ปี การที่พระเพทราชาชำระพระปีย์แลวิชเยนทรนั้นไม่ได้กราบทูลสมเด็จพระนารายน์ ครั้นทรงทราบว่าประหารชีวิตรพระปีย์ สมเด็จพระนารายน์ก็ทรงโทมนัศน้อยพระไทยเปนกำลัง แต่ประชวรอยู่ในที่พระบรรธมไม่สามารถจะทำอย่างไรได้ ได้แต่ทรงแช่งสาปพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ แต่ว่าพระวาจาที่ทรงแช่งสาปนั้นมีผลต่อไปเปนอันมากดังจะปรากฎต่อไปภายน่า.

ฝ่ายพระเพทราชาเมื่อประหารชีวิตรพระปีย์แลวิชเยนทรแล้ว จึงให้ลงมาเชิญเสด็จน้องยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งอยู่ณกรุงศรีอยุทธยา เจ้าฟ้าอภัยทศได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระนารายน์ประชวรหนัก แลพระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์กับวิชเยนทรเสียแล้วก็สำคัญว่าจะถวายราชสมบัติ จึงชวนน้องยาเธออิกองค์ ๑ เสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรี พระเพทราชามารับรองแลจัดที่ประทับถวายเปนอันดี แต่ต่อมาอิก ๒ วันหลวงสรศักดิ์ให้ปลงพระชนม์เสียทั้ง ๒ พระองค์๑๗ แต่นี้ไปพระเพทราชาก็ตั้งหน้ากำจัดฝรั่งเศส พวกฮอลันดาก็เข้าช่วยคิดอ่านด้วย เพราะไม่ถูกกับฝรั่งเศสมาแต่ก่อน ปรากฎว่าพระเพทราชาให้พระยาโกษาปานลงมายังเมืองธนบุรี บอกนายพลเดส์ฟาชฝรั่งเศสว่ามีรับสั่งให้หาขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ในขณะนั้นเดส์ฟาชยังหาทราบว่าเกิดเหตุอย่างใดไม่ จึงพานายทหารติดตัวไปบ้างขึ้นไปกับโกษาปาน ครั้นไปถึงกรุงเห็นตระเตรียมป้อมคูเครื่องสาตราวุธผิดปลาด แคลงใจจะกลับลงมา พวกข้าหลวงไทยหายอมไม่ ก็พากันขึ้นไปถึงเมืองลพบุรี พระเพทราชาบอกว่าเดี๋ยวนี้กองทัพไทยที่ยกไปทางเมืองลาวบอกขอกำลังเพิ่มเติม สมเด็จพระนารายน์ทรงพระประชวรอยู่ มีรับสั่งว่าเปนการศึกสำคัญ จะให้ทหารฝรั่งเศสที่อยู่เมืองธนบุรีแลเมืองมฤทรีบไปช่วยจะได้ฤๅไม่ได้ เดส์ฟาชตอบว่าทหารทั้งปวงนี้ พระเจ้าหลุยมีรับสั่งให้มารับราชการอยู่ในสมเด็จพระนารายน์ เมื่อจะโปรดให้ไปรบพุ่งทางไหนก็จะต้องไปตามรับสั่ง พระเพทราชาจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้เดส์ฟาชเขียนหนังสือสั่งไปยังนายทหารทั้งที่เมืองธนแลเมืองมฤทให้รีบยกไปตามรับสั่ง เดส์ฟาชขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีได้ทราบเรื่องที่เกิดเหตุ จึงตอบว่าที่จะเขียนหนังสือสั่งไปยังนายทหารฝรั่งเศสที่เมืองมฤทนั้นก็ควรแล้ว แต่ทหารที่อยู่เมืองธนเปนที่ใกล้ ถ้าเดส์ฟาชไม่ลงไปสั่งเอง พวกทหารจะเกิดสงไสยเกรงจะไม่ยอมไป พระเพทราชาจึงให้เดส์ฟาชเขียนหนังสือถึงนายทหารที่เมืองมฤท เดส์ฟาชจะเขียนหนังสือบอกว่ามีเหตุร้ายให้รู้ตรงๆ ไม่ได้ จึงแกล้งเขียนใช้ศัพท์แสงให้ผิดสำนวนจดหมายไปมาอย่างสามัญ ประสงค์จะให้นายทหารฝรั่งเศสที่เมืองมฤทคิดเห็นผิดสังเกตเอาเอง แล้วมอบหนังสือให้พระเพทราชา ๆ จึงยึดเอาบุตรชายของเดส์ฟาชซึ่งเปนนายทหารไว้เปนตัวจำนำ แล้วปล่อยให้เดส์ฟาชกลับลงมาเมืองธน เดส์ฟาชกลับลงมาถึงเมืองธนก็ให้ทหารฝรั่งเศสอุดชนวนปืนใหญ่ที่ป้อมวิไชยประสิทธิเสียทั้งหมด แล้วให้ขนเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ที่ยังใช้การได้ ย้ายมาป้อมใหญ่ข้างฝั่งตวันออก ด้วยทหารฝรั่งเศสตั้งแต่มาอยู่ในเมืองไทยเจ็บป่วยล้มตายเสียเปนอันมาก ที่ยังไปเดินเรือกำปั่นหลวงอยู่ก็มีบ้าง เหลือทหารอยู่เพียงสัก ๓๐๐ คนไม่พอจะรักษาทั้ง ๒ ป้อม จึงมารวมกันคอยต่อสู้รักษาตัวที่ป้อมใหม่แต่แห่งเดียว ครั้นพระเพทราชาได้ทราบว่าทหารฝรั่งเศสเข้าป้อมเตรียมจะต่อสู้ที่เมืองธน ก็ให้จับสังฆราชบาดหลวงแลพวกฝรั่งเศสทั้งปวงไปขังไว้เปนตัวจำนำทั้งหมด พวกเชื้อสายโปตุเกศที่ถือสาสนาลัทธิโรมันคโธลิค ก็ให้รวบรวมต้อนไปคุมไว้ที่เกาะแห่ง ๑ แล้วให้กองทัพยกลงมาตั้งล้อมป้อมที่เมืองธนไว้ แลให้ตั้งค่ายรายปืนที่เมืองสมุทปราการแลเมืองพระประแดงดักทางเรือกำปั่นมิให้ขึ้นมาช่วยทหารฝรั่งเศสได้ ขณะนั้นเดส์ฟาชให้นายทหารลงเรือไปบอกนายทหารฝรั่งเศสซึ่งคุมเรือกำปั่นหลวงมาทางทเล ไทยก็จับได้ทั้ง ๒ ลำ.

ในเวลากำลังรบกับฝรั่งเศสอยู่ดังกล่าวมานี้ สมเด็จพระนารายน์สวรรคตที่เมืองลพบุรี เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๓๑ (ตรงกับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๘๘) เสวยราชสมบัติมาได้ ๓๒ ปี ว่าพระชัณษา ๕๙ ปี เวลานั้นหมดสิ้นเจ้านายที่จะเปนรัชทายาท ข้าราชการทั้งปวงก็จำต้องเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ ครั้นจัดการเชิญพระบรมศพลงมายังกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ก็รบพุ่งกับฝรั่งเศสต่อมา ฝรั่งเศสต้องล้อมอยู่ในป้อม ๒ เดือนสิ้นเสบียงอาหาร จึงให้มาขอเลิกรบกับนายทัพไทย ว่าไม่ได้คิดจะทำร้ายเมืองไทย ปราถนาแต่จะกลับไปบ้านเมืองเท่านั้น สมเด็จพระเพทราชาจึงให้บิฉอบเมเตโลโปลิสที่เปนสังฆราชไปพูดจากับนายพลเดส์ฟาชเปนอันตกลงกัน ฝ่ายไทยคืนเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่ยึดไว้ ให้บรรทุกทหารฝรั่งเศสกลับไปบ้านเมือง แต่ยึดตัวสังฆราชบาดหลวงกับพวกพ่อค้าฝรั่งเศสไว้เปนตัวจำนำ จนกว่าราชทูตไทยที่ไปอยู่ในเมืองฝรั่งเศสกลับมาถึงจึงจะปล่อยไป ทหารฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ที่เมืองมฤท ๖๐ คนก็ปล่อยไปอย่างเดียวกัน ครั้งนั้นนอกจากทหารฝรั่งเศสที่ตายในเวลารบพุ่งกัน แลบาดหลวงเยซูอิต ๓ คนซึ่งไปบวชเปนพระไทยโดยประสงค์จะลักเพศปลอมสอนสาสนาคฤศตัง อย่างเคยปลอมเปนพราหมณ์ในอินเดียนั้นแล้ว ไทยหาได้ฆ่าฟันฝรั่งเศสคนใดให้ล้มตายไม่ เมื่อกำจัดทหารฝรั่งเศสไปแล้ว จึงให้รื้อทำลายป้อมใหญ่ที่เมืองธนบุรีข้างฝั่งตวันออกเสีย แต่นั้นมาที่ในกรุง ฯ ก็มีฝรั่งแต่ฮอลันดาค้าขายต่อมอิกช้านาน ส่วนฝรั่งเศสนั้นปรากฎว่าทูตไทยที่ไปคราวที่ ๔ ได้เฝ้าโป๊บอินโนซองต์ที่ ๑๑ ที่กรุงโรม แลเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่เมืองฝรั่งเศส แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสให้มาส่งที่เมืองมฤท ด้วยฝรั่งเศสยังประสงค์จะเปนไมตรีกับไทยต่อไป ส่วนอังกฤษนั้น เมื่อทราบว่าไทยประหารชีวิตรวิชเยนทรเสียแล้วก็เลิกวิวาท หันมาจะค้าขายกับไทยดังแต่ก่อน ก็เปนเสร็จสิ้นเรื่องวิวาทกับฝรั่งด้วยประการฉนี้.

พอเสร็จเรื่องฝรั่ง สมเด็จพระเพทราชาราชาภิเศกแล้ว กิติศัพท์เรื่องที่สมเด็จพระนารายน์ทรงแช่งสาปเมื่อเวลาประชวรแพร่หลาย ก็มีผู้โกรธแค้นสมเด็จพระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราช ว่าเปนขบถต่อสมเด็จพระนารายน์ พระยายมราชซึ่งสมเด็จพระนารายน์โปรดให้ไปสำเร็จราชการเมืองนครราชสิมา แลพระยารามเดโช ซึ่งโปรดให้ไปสำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ต่างตั้งแขงเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเพทราชาทั้ง ๒ เมือง ต้องรบพุ่งปราบปรามกันอยู่หลายปีจึงราบคาบ แล้วมีมอญคน ๑ ชื่อธรรมเถียร ปลอมตัวเปนเจ้าฟ้าอภัยทศน้องยาเธอของสมเด็จพระนารายน์ จะเข้ามาชิงราชสมบัติ ก็มีคนเชื่อถือไปเข้าด้วยเปนอันมาก จนยกกองทัพเข้ามาได้ถึงชานพระนคร แต่มาพ่ายแพ้ ทีหลังเลยเกิดเหตุสงไสยข้าราชการ ถึงประหารชีวิตรนายจบคชประสิทธ ซึ่งได้เปนกรมพระราชวังหลัง แลเจ้าพระยาสุรสงครามเสียทั้ง ๒ คน วุ่นวายอยู่ช้านานบ้านเมืองจึงเรียบร้อยเปนปรกติ.

สมเด็จพระเพทราชาครองแผ่นดินอยู่ได้ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๒๔๖ พระมหาอุปราช คือสมเด็จพระเจ้าเสือได้ราชสมบัติ มีสมเด็จพระราชโอรส ๒ พระองค์ ทรงตั้งเจ้าฟ้าเพ็ชรพระองค์ใหญ่ให้เปนพระมหาอุปราช ตั้งเจ้าฟ้าพรพระองค์น้อยเปนพระบัณฑูรน้อย สมเด็จพระเจ้าเสือเสวยราชย์อยู่ได้ ๗ ปี สวรรคตเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๕๑ พระมหาอุปราช คือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระได้ราชสมบัติ ทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยราชอนุชาเปนพระมหาอุปราช เรื่องพงษาวดารไทยตอนที่กล่าวมานี้ ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพม่า นอกจากที่ปรากฎว่าไทยได้จับลูกค้าเมืองพม่าทางอ่าวบางกล่าครั้ง ๑ ก็เปนเหตุเกี่ยวข้องกับอังกฤษ ดังอธิบายมาแล้ว เรื่องพงษาวดารไทยต่อนี้ไปจะจับเกี่ยวข้องกับพม่าอิก จึงจะตัดเรื่องไปอธิบายในตอนน่า.

ส่วนพงษาวดารพม่าในระยะนี้ คือในระหว่างตั้งแต่ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๑๕ จนปีชวด พ.ศ. ๒๒๗๐ ก็ไม่มีเรื่องราวแปลกปลาดที่จะต้องกล่าวยืดยาวนัก พระเจ้าอังวะมหาปวรธรรมราชาโลกาธิบดี คือพระเจ้าแปรที่แย่งราชสมบัติได้เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๑๕ มังนรวรราชบุตรได้ราชสมบัติราชาภิเศกทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุรสุธรรมราชา เสวยราชอยู่ปี ๑ ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะองค์นี้ไม่มีราชบุตร ข้าราชการจึงยกเชื้อพระวงศ์องค์ ๑ มีนามว่า มังเรกยอดินขึ้นครองราชสมบัติ ราชาภิเศกทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริปวรมหาธรรมราชา ในแผ่นดินนี้ที่เจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กไปตีเมืองพม่า พระเจ้าอังวะองค์นี้อยู่มาจนแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่าเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๒๓๘ มีขุนนางไทยคน ๑ ชื่อสละวุต พาพรรคพวกสัก ๑๐๐ คนไปสามิภักดิอยู่กับพระเจ้าอังวะ เห็นจะเปนพวกที่หนีไปจากเมืองนครราชสิมา ฤๅมิฉนั้นก็พวกอ้ายธรรมเถียรที่เปนขบถหนีไปนั้นเอง พระเจ้าอังวะศิริปวรมหาธรรมราชาสิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๔๑ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ราชโอรสซึ่งเปนพระมหาอุปราชาได้ราชสมบัติ ราชาภิเศกทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริมหาสีรสุรสุธรรมราชา ในพงษาวดารพม่าว่าในแผ่นดินนี้ได้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองไทยเมื่อปีเถาะพ.ศ. ๒๒๔๒ แต่จะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ยกมาไม่ แลว่าเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๒๔๖ มีไทยอพยพไปจากกรุงศรีอยุทธยาไปพึ่งพระเจ้าอังวะพวก ๑ ต่อมาอิกปี ๑ มีไทยอพยพไปอิกพวก ๑ ระยะนี้ต่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ บางทีจะเปนพวกที่อยู่ในเจ้าฟ้าพระขวัญราชโอรสสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือปลงพระชนม์เสียนั้นก็จะเปนได้ พระเจ้าอังวะ ศิริมหาสีหสุรสุธรรมราชาสิ้นพระชนม์เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๒๕๗ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ราชโอรสที่เปนพระมหาอุปราชาได้ราชสมบัติ ราชาภิเศกทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริปวรมหาธรรมราชาธิบดี ในแผ่นดินนี้เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๒๗๐ เมืองเชียงใหม่เปนขบถ พม่าปราบปรามไม่ลง เมืองเชียงใหม่จึงกลับเปนอิศระต่อมา จะยุติเรื่องพงษาวดารพม่าไว้เพียงนี้ตอน ๑ ไปตั้งเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับเมืองไทยในตอนน่าต่อไป.

  1. ๑. ข้าพเจ้าเคยถามสังฆราชเวว่า ที่เรียกพวกนักบวชฝรั่งว่า “บาดหลวง” นั้น ทราบฤๅไม่ว่าหมายความว่าอย่างไร สังฆราชบอกว่า เคยได้ยินว่าเดิมเรียกว่า “บาหลวง” หมายความว่าเปนพระที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ ข้าพเจ้านึกว่าถ้าเช่นนั้น เดิมเห็นจะเรียกแต่บิฉอบว่าบาหลวง หมายความเพียงว่าเปนผู้ใหญ่ในพวกนักบวช จะมาเข้าใจความไปเปนอย่างอื่นต่อชั้นหลัง.

  2. ๒. การที่จัดใหม่นี้ สงไสยว่าจะเอาแบบอย่างมาแต่เมืองเปอเซียฤๅอินเดีย เหมือนกับที่ตั้งกรมท่า.

  3. ๓. ข้อนี้ เพราะฮอลันดาเห็นว่าไทยที่สันทัดเดินเรือทเลมีน้อย ถ้าไม่ใช้จีน เรือไทยก็ไม่ไปได้สักกี่ลำนัก มิใช่ไทยต้องเลิกเรือไปเมืองจีน.

  4. ๔. สัญญานี้เข้าใจว่า ใช้อยู่ไม่กี่ปี เลิกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์นั้นเองเพราะฮอลันดาขาดทุน ฤๅเพราะเกิดรบกับอังกฤษอย่างใดอย่าง ๑ นี้ เลิกห้างไปจากกรุงศรีอยุทธยาเสียคราว ๑ แล้วจึงมาขออนุญาตตั้งห้างอิก ในจดหมายเหตุฮอลันดาว่าต้องมาทำสัญญาใหม่ แต่ยังหาพบสำเนาไม่.

  5. ๕. คือที่วัดเซนต์โยเสพ อยู่ข้างเหนือวัดพุทไธสวรรย์ ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

  6. ๖. ที่เรียกชื่อว่าป้อมวิไชยประสิทธิ เข้าใจว่าพึ่งมาเรียกเมื่อเปนป้อมมุมวังครั้งกรุงธนบุรี.

  7. ๗. ในสมัยนั้น กรมท่าเปนแต่กรมขึ้นกระทรวงการคลัง กรมท่าขวาเปนฝ่ายแขก กรมท่าซ้ายเปนฝ่ายจีน กรมท่ากลางเมื่อแรกตั้งจะเปนฝ่ายฝรั่งกระมัง.

  8. ๘. ในตอนนี้ บิฉอบเบริตที่เปนสังฆราชแรกนั้นมรณภาพ โป๊ปได้ตั้งให้บิฉอบเมเตโลโปลิศ (รูปที่ตั้งมาใหม่) เปนสังฆราชแทน.

  9. ๙. เมื่อคราวพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เปนราชทูตไปเมืองอังกฤษในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร ขากลับแวะเมืองฝรั่งเศสจะเฝ้าเอมปเรอนโปเลียนที่ ๓ ก็ให้เฝ้าเวลาเสด็จประพาศเหมือนกัน คงถ่ายแบบมาแต่คราวที่กล่าวนี้.

  10. ๑๐. คำราชทูตฝรั่งเศสกราบทูล แลคำตอบของสมเด็จพระนารายน์ ที่แต่งไว้ในภาษาอังกฤษดีนักหนา มีอยู่ในหนังสือเรื่องเมืองไทยสมัยนั้นหลายเรื่อง ที่เอามากล่าวในที่นี้เพียงใจความสั้น ๆ.

  11. ๑๑. เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเชมส์ที่ ๒ ได้เสวยราชย์เปนพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ถึงมีพระราชหัดถเลขามาบอกข่าวแก่วิชเยนทร มีสำเนาปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของอังกฤษ.

  12. ๑๒. สำเนาประกาศแปลเปนภาษาอังกฤษ มีอยู่ในจดหมายเหตุอังกฤษ ซึ่งหอพระสมุด ฯ พิมพ์ เล่ม ๔ น่า ๑๘๓.

  13. ๑๓. มีในจดหมายเหตุฝรั่งว่า สมเด็จพระนารายน์มีทหารม้ารักษาพระองค์เปนแขกเทศกรม ๑ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสก็มีทหารรักษาพระองค์เปนชาวสวิสทั้งกรมมีแบบแผนอยู่.

  14. ๑๔. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าฟ้าอภัยทศเปนราชโอรสสมเด็จพระนารายน์ แต่ในจดหมายเหตุครั้งนั้น ว่าเปนน้องยาเธอทุกฉบับ.

  15. ๑๕. ในริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราเพ็ชรพวง สมเด็จพระนารายน์เสด็จขึ้นพระบาท มีกระบวนพระปีย์ตามเสด็จอยู่ต่อพระราชยานปรากฎในริ้วนั้น.

  16. ๑๖. นายททารฝรั่งเศส ๑ ซึ่งอยู่เมืองไทยในเวลานั้น กล่าวไว้ในจดหมายเหตุว่า วิชเยนทรนั้นถึงเปนขุนนางผู้ใหญ่ก็จริง แต่สมเด็จพระนารายน์ไม่ได้ทรงใช้สอยสนิทสนมเหมือนพระเพทราชา ต่อมีราชการจึงรับสั่งให้หาเข้าไปเฝ้า ส่วนพระเพทราชานั้นประจำอยู่ในพระราชวัง เข้าออกนอกในได้เสมอ.

  17. ๑๗. การที่ปลงพระชนม์น้องยาเธอ ๒ พระองค์ หลวงสรศักดิ์ประสงค์จะให้พระเพทราชาจำต้องชิงราชสมบัติ เพราะหมดเจ้านายที่จะรับรัชทายาท.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ