สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗

เรื่องสงครามคราวนี้หนังสือพระราชพงษาวดาร กับพงษาวดารพม่ายุติต้องกันแต่ว่าไทยกับพม่าได้รบกัน แต่ส่วนพลความแตกต่างกันไปหมด ในพงษาวดารพม่าว่าไทยยกไปตีเมืองเมาะตมะแลเมืองทวาย เสียทีแพ้พม่าต้องเลิกทัพกลับมา ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าไทยยกกองทัพขึ้นไปตีถึงราชธานีของพม่าได้ล้อมเมืองอังวะไว้ แต่ขัดเสบียงอาหารจึงต้องเลิกทัพกลับมา พิเคราะห์ความตามหลักฐานที่มีอยู่ จะว่าความจริงจะเปนอย่างข้างไหน ก็ตัดสินยาก หลักฐานที่น่าจะสมจริงอย่างข้างพม่าว่ามีอยู่ที่แผนที่ ด้วยเมืองอังวะอยู่ไกลขึ้นไปข้างเหนือมาก ถ้าไทยจะยกกองทัพขึ้นไปจะต้องได้หัวเมืองมอญไว้เปนกำลังทั้งหมด แล้วยังจะต้องตีเมืองแปร เมืองตองอู แลหัวเมืองใหญ่น้อยต่อขึ้นไปอิกหลายเมืองจึงจะถึงเมืองอังวะ (เมื่ออังกฤษตีเมืองพม่าครั้งแรก ในปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ต้องรบพุ่งกว่า ๒ ปี จึงยกกองทัพขึ้นไปได้ถึงเมืองอังวะ) ครั้งสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญไว้เปนกำลังโดยมากแล้ว ก็ตีเพียงเมืองหงษาวดี ครั้นจะเสด็จไปตีเมืองอังวะยังเห็นว่าเดินกองทัพไปทางเมืองเชียงใหม่สดวกกว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์เปนแต่มอญเมืองเมาะตมะเปนขบถต่อพม่า แล้วพากันหนีมาพึ่งไทย หัวเมืองมอญยังคงเปนของพม่า หาได้มาขึ้นไทยอย่างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรไม่ พิเคราะห์ความตามหลักฐานที่กล่าวมานี้ ดูใช่วิไสยที่กองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ในครั้งนั้น แต่รายการสงครามครั้งนี้ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารก็ถ้วนถี่หนักหนา จะว่าไม่มีมูลว่าไม่ได้ ซ้ำในพงษาวดารรามัญก็มีเรื่องราวยุติต้องตรงกับหนังสือพระราชพงษาวดารหมด ผิดกันแต่ว่าตีเมืองภุกาม อันอยู่ใต้เมืองอังวะลงมา หาได้ขึ้นไปถึงเมืองอังวะไม่ ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตามรายการที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร แลยอมเชื่อตามพงษาวดารรามัญว่าไทยได้ขึ้นไปตีเพียงเมืองภุกาม.

เหตุที่ไทยไปตีเมืองพม่าคราวนี้ เพราะพม่าบังอาจยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาตีเมืองไทยก่อน จึงไปตีเมืองพม่าตอบแทนบ้าง แต่เมื่อพิเคราะห์ดู เห็นว่าถึงไม่มีเหตุที่พม่ามาบุกรุกก่อน บางทีไทยก็อาจจะไปตีเมืองพม่าเหมือนกัน ด้วยครั้งนั้นมีโอกาศเกิดขึ้นหลายสถาน เปนต้นแต่ไทยได้รบชนะพม่าที่เมืองเชียงใหม่แลที่เมืองไทรโยค ประมาณฝีมือพม่าได้แล้วประการ ๑ ไทยมีแม่ทัพนายกองที่สามารถในการสงครามขึ้นใหม่หลายคน คือเจ้าพระยาโกษา ขุนเหล็ก แลพระยาสีหราชเดโชไชย เปนต้น ทั้งไพร่พลก็กำลังร่าเริงในการศึกนั้นประการ ๑ ไทยได้มอญเข้ามาสามิภักดิ์เปนอันมาก พวกมอญคงสื่อสารไปมาถึงกัน รับรองว่าถ้ากองทัพไทยยกกองไปตีเมืองพม่าเมื่อใด มอญที่ยังอยู่ทางโน้นจะพากันมาเข้ากับไทย เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร ประการ ๑ ในเมืองพม่าบ้านเมืองก็ไม่เปนปรกติ ด้วยถูกฮ่อลงมาย่ำยีหัวเมืองข้างฝ่ายเหนือยับเยินอยู่ทั้งนั้น ในเมืองอังวะเองก็เกิดขบถปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน ผู้คนข้างฝ่ายพม่ายังกำลังรวนเรระส่ำระสายด้วยอิกประการ ๑ ด้วยเหตุทั้งปวงนี้สมเด็จพระนารายน์จึงให้กองทัพออกไปตีเมืองพม่า.

กองทัพไทยยกไปตีเมืองพม่าครั้งนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารหาปรากฎว่ายกไปปีใดไม่ ในพงษาวดารรามัญว่าปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ ก็ไปพ้องกับปีตีเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าจึงลงศักราชว่าไทยไปตีเมืองพม่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗ โดยเห็นยุติตามเหตุการณ์ เพราะรบกับพม่าที่เมืองเชียงใหม่เมื่อปีขาล รบพม่าที่เมืองไทรโยคเมื่อปีเถาะ รบคราวนี้จึงต้องเปนปีมโรง.

กองทัพไทยที่ยกไปตีเมืองพม่าครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า จำนวนพลประมาณ ๖๐,๐๐๐ ยกไปเปน ๓ ทาง คือพระยารามเดโชคุมกองทัพเมืองเชียงใหม่ไปทางเมืองผาปูนทาง ๑ พระยากำแพงเพ็ชรคุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกไปทางด่านแม่ละเมาทาง ๑ เจ้าพระยาโกษา ขุนเหล็ก ถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพใหญ่ พระยาสีหราชเดโชไชยเปนนายทัพน่า พระยาวิชิตภักดีเปนยุกรบัตรทัพ พระยาสุรินทรภักดีเปนเกียกกาย พระยาสุรสงครามเปนกองหลัง ยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทาง ๑ แลเกณฑ์กองมอญเก่าให้พระยาเกียรดิ์ แลสมิงพระรามยกไปติดเมืองทวาย กันมิให้ทวายตีโอบหลังกองทัพเจ้าพระยาโกษาฯ อิกทาง ๑ กองทัพทั้งปวงยกไปประชุมกันที่เมืองเมาะตมะ ครั้นกองทัพพร้อมกันแล้วเจ้าพระยาโกษา ฯ จึงยกออกจากเมืองเมาะตมะ ตีเมืองรายทางเปนลำดับไป กองทัพไทยยกไปคราวนี้ พวกมอญพากันมาเข้ากับไทยเสียเปนอันมาก มอญที่พม่าคุมไว้ได้ก็ไม่เต็มใจต่อสู้ไทย เพราะฉนั้นกองทัพไทยจึงตีหัวเมืองรายทางได้โดยง่าย เมื่อได้เมืองจิตตองเมืองสิเรียม เมืองร่างกุ้งแล้ว เจ้าพระยาโกษา ฯ ให้รวบรวมเรือในพื้นเมืองจัดกองทัพเรือขึ้นอิกทัพ ๑ ยกกองทัพบกทัพเรือพร้อมกันขึ้นไปตีเมืองหงษาวดีแลเมืองแปรได้เปนอันดับไป.

ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบว่าไทยตีได้หัวเมืองมอญด้วยพวกมอญไม่เปนใจต่อสู้ กองทัพไทยได้หัวเมืองรายทางขึ้นไปหลายเมือง จึงให้กองทัพพม่าลงมาตั้งรักษาเมืองภุกามคอยต่อสู้ไทยอยู่ที่นั่น ให้มังจาเลราชบุตร ซึ่งได้เปนเจ้าเมืองจาเล ถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพ ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปถึง มังจาเลให้กองทัพพม่ายกมาตี ได้รบกันกลางแปลงหลายครั้ง พม่าสู้ไทยไม่ได้ต้องถอยหนีไปทุกที ด้วยพระยาสีหราชเดโชไชยนายทัพน่านั้นเข็มแขงในการศึกนัก มังจาเลเห็นว่าไพร่พลล้มตาย ด้วยไทยยังมีกำลังมากนัก จึงเปนแต่ให้รักษาค่ายซึ่งตั้งรายรอบเมืองมั่นไว้ มิได้ยกออกรบกลางแปลงดังแต่ก่อน กองทัพไทยขึ้นไปถึงพร้อมกันก็ให้ล้อมเมืองภุกามไว้

ฝ่ายพระยาสีหราชเดโชไชยเห็นว่าพม่าไม่ออกรบกลางแปลง ก็คุมพลเข้าปล้นค่ายพม่า ฆ่าฟันพม่าล้มตายแลจับเปนมาได้เนือง ๆ มังจาเลจึงให้ทำกลอุบายซุ่มทหารไว้ข้างหลังค่าย ครั้นพระยาสีหราชเดโชไชยยกไปปล้นค่ายอิก พวกพม่าที่รักษาค่ายต่อสู้บ้างเล็กน้อยแล้วแกล้งทำทิ้งค่ายหนี พระยาสีหราชเดโชไชยไม่รู้เท่าว่าเปนกลอุบาย คุมพลไล่ถลำล่วงเข้าไปในค่าย พม่าล้อมจับได้เกือบหมดทั้งกอง แต่พระยาสีหราชเดโชไชยนั้นพม่าจับเอาไปแล้วหนีกลับมาได้

เจ้าพระยาโกษา ฯ ตั้งล้อมเมืองภุกามอยู่จนเข้าปีมเสง พ.ศ. ๒๒๐๘ ตีเมืองไม่ได้ เสบียงอาหารก็อัตคัดเข้าทุกที เห็นจะถึงระดูฝนคิดจะเลิกทัพกลับมา เกรงพม่าจะยกกองทัพติดตาม จึงคิดอุบายมีหนังสือเข้าไปยังมังจาเล ว่ากองทัพไทยได้มาตั้งล้อมเมืองภุกามอยู่ก็นานแล้ว พม่าก็หาออกมารบไม่ เดี๋ยวนี้เสบียงอาหารก็อัตคัด ไพร่พลอดอยากด้วยกันทั้งไทยแลพม่า เจ้าพระยาโกษาฯ จะใคร่เลิกทัพกลับไปก็เกรงพระราชอาญา ด้วยว่าหาได้รบพุ่งให้เต็มฝีมือก่อนไม่ ขอให้แม่ทัพพม่าจัดกองทัพออกมารบให้ปรากฎฝีมือเสียสักหน่อย จะได้เลิกสงครามกัน ฝ่ายพม่าเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกษา ฯ จะทำกลอุบายในกระบวนยุทธก็นิ่งเสียหาออกมารบไม่ เจ้าพระยาโกษาเห็นพม่าครั่นคร้ามสมคเนจึงให้ผ่อนครัวแลคนเจ็บป่วยส่งลงมาก่อน แล้วคืนวันหนึ่งให้ถอยกองทัพออกไปตั้งซุ่มอยู่ข้างหลังเมือง ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนให้ทหารที่เหลืออยู่ในค่ายยิงปืนไฟอย่างปืนสัญญา แล้วเผาเชื้อเพลิงซึ่งกองรายไว้หลังค่ายให้แสงไฟสว่างขึ้น พวกพม่าข้างในเมืองภุกามสำคัญว่าไทยถอยทัพก็ยกกรูกันออกมาเข้าค่ายไทย ประสงคจะตามจับผู้คนแลเก็บทรัพย์สิ่งของที่อยู่ข้างหลัง ขณะนั้นกองทัพไทยที่ซุ่มอยู่ก็ออกระดมตีพวกพม่าฆ่าฟันล้มตายเสียเปนอันมาก ที่เหลืออยู่ก็พากันหนีกลับเข้าเมือง กองทัพไทยไล่ติดตามไปจนถึงกำแพงเมืองแล้วก็กลับมาอยู่ในค่ายอย่างเดิม รุ่งขึ้นเจ้าพระยาโกษา ฯ จึงมีหนังสือเข้าไปเยาะพม่าว่าไม่รู้กลอุบายการสงคราม พากันออกมาล้มตายเสียเปนอันมาก แต่ก็ได้รบพุ่งสมความปราถนาของไทยแล้ว จะขอลาเลิกทัพกลับไป ขอให้พม่าอยู่ให้เปนศุขเถิด ครั้นมีหนังสือเข้าไปแล้ว พอเพลาค่ำในวันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาโกษา ฯ ก็เลิกทัพกลับมา ฝ่ายพม่าข้างในเมืองเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกษา ฯ คงทำอุบายอย่างไรอิก ก็ไม่ยกออกติดตาม ปล่อยให้กองทัพถอยกลับมาได้โดยสดวก.

  1. ๑. กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า “พระยาสีหราชเดโชไชยทิปคนนี้ มีวิชาหายตัวได้ชั่วอึดใจหนึ่ง” มีผู้ศึกษาโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่าเห็นจะเปนลาวฤๅแขกด้วยชื่อว่า “ยทิปะ” มิใช่ชื่อไทย ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะชื่อทิปเท่านั้น ตัว ย ที่อยู่ข้างน่า เห็นจะเปนอักษรท้ายคำ “ไชย” ซึ่งเขียนตก “ไช” ไปเสีย.

  2. ๒. พงษาวดารพม่าว่า (รบกันที่เมืองเมาะตมะ) พม่าจับทหารไทยได้กอง ๑ แลให้ประหารชีวิตรนายทัพไทยที่จับได้นั้นเสียคน ๑ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พอเจ้าพระยาโกษา ฯ ทราบว่าพม่าจับพระยาสีหราชเดโชไชยได้ก็ให้ม้าใช้รีบมาบอกยังกรุง ฯ สมเด็จพระนารายน์ทรงทราบก็ตกพระไทย จึงให้ไปนิมนต์พระพิมลธรรมเข้ามาให้จับยามดู พระพิมลธรรมถวายพระพรว่าจะกลับคืนมาได้ หาเปนอันตรายไม่ ขณะพระพิมลธรรมยังเฝ้าอยู่นั้นม้าใช้คนที่ ๒ ก็มาถึง ทูลว่าพระยาสีหราชเดโชไชยหนีกลับมาได้แล้ว.

  3. ๓. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่ามังจาเลตายในที่รบ แต่พงษาวดารรามัญไม่ปรากฎว่าตาย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ