สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖

เหตุที่จะเกิดสงครามคราวนี้ เนื่องมาแต่ศึกฮ่อมาตีเมืองอังวะ ที่กล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๙ นั้น เมื่อก่อนเกิดศึกฮ่อพระเจ้าอังวะตั้งให้มังนันทมิตรผู้เปนพระเจ้าอาว์ลงมาเปนอุปราชครองเมืองเมาะตมะ บังคับบัญชาหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ครั้นฮ่อยกมาตีเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะสั่งมังนันทมิตรให้เกณฑ์มอญขึ้นไปช่วยรักษาพระนคร พวกมอญไม่เต็มใจจะช่วยพม่า จึงพากันหลบหนีเสียเปนอันมาก มังนันทมิตรได้มอญไปช่วยรักษาเมืองอังวะเพียง ๓,๐๐๐ คน ทำนองจะถูกพระเจ้าอังวะบริภาษคาดโทษทัณฑ์อย่างไรอย่างหนึ่ง ครั้นเสร็จศึกฮ่อมังนันทมิตรกลับลงมาเมืองเมาะตมะจึงให้เที่ยวจับกุมมอญที่ได้หลบหนี จะเอามาทำโทษตามอาญาศึก ที่จับมาได้บ้างให้เอาตัวใส่ตรุไว้ ว่าพอได้มากจะเอาคลอกไฟเสียด้วยกันให้หมด พวกมอญก็พากันสดุ้งสเทือนทั่วไป มีมอญพวก ๑ พร้อมใจกันประมาณ ๕,๐๐๐ คนจู่เข้าปล้นเมืองเมาะตมะได้ จับได้ทั้งตัวมังนันทมิตรให้เอาจำไว้ ครั้นข่าวที่พวกมอญเมืองเมาะตมะเปนขบถทราบไปถึงอุปราชที่รักษาเมืองหงษาวดีก็เกณฑ์กองทัพยกลงมา ครั้งนั้นพวกมอญข้างฝ่ายใต้หาได้เข้ากับพวกที่ตีเมืองเมาะตมะทั้งหมดไม่ พวกที่ตีได้เมืองเมาะตมะเห็นว่าจะต่อสู้พม่ารักษาเมืองไว้ไม่ได้ ก็อพยพครอบครัวรวมคนประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ แลคุมเอาตัวมังนันทมิตรอาว์พระเจ้าอังวะเข้ามาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จะเข้ามาขอพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนารายน์ได้ทรงทราบว่าพวกมอญจะเข้ามาสามิภักดิ์เปนอันมากก็ทรงพระโสมนัศ ดำรัสสั่งให้ขุนนางนายกองมอญเก่าคุมกองทัพพวกมอญที่เข้ามาสามิภักดิ์อยู่แต่ก่อนออกไปรับครัวมอญใหม่เข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา พวกสมิงมอญที่เปนหัวน่าของพวกครัวเอาตัวมังนันทมิตรเข้ามาถวาย แต่อยู่ได้ไม่ช้ามังนันทมิตรก็ป่วยถึงอนิจกรรม สมเด็จพระนารายน์ทรงตั้งแต่งพวกนายครัวมอญให้มียศศักดิ์ควบคุมสมัคพรรคพวกที่เข้ามาด้วยกัน แลโปรดให้พาครัวมอญที่อพยบเข้ามาครั้งนั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกปลายเขตรจังหวัดกรุง ฯ ต่อกับแดนเมืองนนทบุรีบ้าง ที่ริมวัดตองปุ แลแถวคลองคูจามในชานพระนครบ้าง.

ฝ่ายเมืองพม่า พระเจ้าอังวะได้ทราบว่าพวกมอญเมืองเมาะตมะเปนขบถ สงไสยว่าเพราะไทยให้ท้ายอุดหนุนพวกมอญเหล่านั้น จึงกะเกณฑ์กองทัพ ให้ติงกะโบเมียนหวุ่นถือพล ๑๐,๐๐๐ เปนกองน่า ให้มังสุรราชาถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพคุมพล ๒๐,๐๐๐ เปนกองหลวง ยกลงมาปราบปรามพวกมอญที่เมืองเมาะตมะ มังสุรราชายกกองทัพลงมาถึงเมืองเมาะตมะ ได้ทราบว่าพวกมอญขบถจับมังนันทมิตรอาว์พระเจ้าอังวะพาเข้ามาเมืองไทย จึงมีหนังสือมายังพระยากาญจนบุรี ว่าให้ไทยส่งมังนันทมิตรกับพวกมอญที่เปนขบถทั้งนายไพร่คืนไปให้พม่าโดยดี ถ้าไม่ส่งจะยกกองทัพตามเข้ามาแย่งเอาให้จงได้ ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกลงมาจากเมืองอังวะนั้น กิติศัพท์ทราบเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่บอกความแก่พระยาสีหราชเดโชไชย จึงมีใบบอกลงมายังกรุงศรีอยุทธยา ใบบอกพระยากาญจนบุรีกับใบบอกพระยาสีหราชเดโชไชยมายังกรุง ฯ พร้อมกัน สมเด็จพระนารายน์ได้ทรงทราบว่าพม่าจะยกกองทัพเข้ามาตามครัวมอญ จึงดำรัสสั่งให้มีท้องตราถึงพระยาสีหราชเดโชไชย ให้ยกกองทัพลงมารักษาด่านแม่ละเมา ถ้าแลพม่าไม่ยกมาทางนั้นก็ให้เลยลงมาช่วยรบพม่าทางเมืองกาญจนบุรี แล้วโปรดให้เกณฑ์กองทัพในมณฑลราชธานีมีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี ขุนเหล็ก ถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพใหญ่ พระยาวิเศษไชยชาญเปนยุกรบัตรทัพ พระยาราชบุรีเปนเกียกกาย พระยาเพ็ชรบุรีถือพล ๕,๐๐๐ เปนกองน่า ยกไปต่อสู้กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

ครั้งนั้นกองทัพพม่ายกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตมะแล้ว ทางฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจึงได้ลงมือเกณฑ์ทัพ เพราะฉนั้นพอเจ้าพระยาโกษาฯ ไปตั้งประชุมทัพที่ตำบลปรากแพรก ก็ได้ความว่าพม่ายกกองทัพล่วงด่านพระเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว กองน่าเข้ามาตั้งถึงเมืองไทรโยค กองหลวงตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง กำลังขนถ่ายเสบียงอาหารข้ามภูเขาเข้ามาวางตามระยะที่จะยกต่อเข้ามา เจ้าพระยาโกษา ฯ จึงรีบยกกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองกาญจนบุรี แล้วให้กองน่าออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ตำบลท่ากระดานแลด่านกรามช้าง ริมลำน้ำแควใหญ่ทางที่พม่าจะยกมานั้น.

ฝ่ายกองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองตาก สืบสวนได้ความว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงรีบยกลงมาทางเมืองกำแพงเพ็ชรเมืองนครสวรรค์ แล้วผ่านเมืองอุไทยธานีไปเข้าแขวงเมืองกาญจนบุรี ครั้นไปถึงเมืองศรีสวัสดิ์ข้างเหนือน้ำแควใหญ่ จึงให้ม้าใช้ไปแจ้งความแก่เจ้าพระยาโกษา ฯ ว่ากองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยยกลงมาถึงเมืองศรีสวัสดิ์แล้ว คอยฟังคำสั่งอยู่ว่าจะให้รบพุ่งอย่างไรต่อไป เจ้าพระยาโกษา ฯ จึงจัดกระบวนทัพที่จะยกไปตีค่ายพม่า กะให้กองทัพกรุง ฯ ยกไปตีค่ายพม่าที่เมืองไทรโยคข้างด้านน่า ให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยลัดทางข้ามภูเขา ไปลงที่เมืองสังขละข้างด้านหลัง ดักทางที่พม่าจะติดต่อกับทัพหลวงที่ท่าดินแดง แล้วก็ยกกองทัพขึ้นไปเมืองไทรโยค ได้รบพุ่งกับพม่าเปนสามารถ รบกันอยู่ ๓ วันพม่าได้ข่าวว่ามีกองทัพไทยยกไปทางข้างหลังอิกทาง ๑ ก็ตกใจพากันแตกหนีไปจากค่ายเมืองไทรโยค กองทัพเจ้าพระยาโกษา ฯ ไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายเปนอันมาก กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยที่ไปดักทางอยู่ก็เข้าตีซ้ำเติม พม่าแตกยับเยิน ที่จวนตัวจะหนีไปไม่พ้นยอมให้จับโดยดีก็มีมาก กองทัพไทยสมทบกันไล่ติดตามต่อไปจนถึงค่ายหลวงของพม่าที่อยู่ท่าดินแดง มังสุรราชาแม่ทัพใหญ่ขับพลออกต่อสู้ แต่รี้พลกำลังอลหม่าน ด้วยเพื่อนกันแตกทัพไปปะทะก็ไม่เปนอันที่จะต่อสู้ รบกันอยู่ครู่ ๑ พเอิญมังสุรราชาแม่ทัพถูกปืนป่วยเจ็บ กองทัพพม่าที่ท่าดินแดงก็แตกพ่ายพากันหนีไป ทิ้งช้างม้าสาตราวุธแลเสบียงอาหารเสียเปนอันมาก กองทัพไทยไล่ติดตามจนข้าศึกหนีไปพ้นเขตรแดนหมดแล้วจึงกลับมารวบรวมกัน สำรวจเชลยแลสิ่งของซึ่งได้ไว้จากข้าศึกแล้วยกกลับเข้ามากรุงศรีอยุทธยา.

  1. ๑. เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมืองประทุมธานีตั้งในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร ในคราวเมื่อพวกมอญอพยบเข้ามาในรัชกาลนั้น ต่อมาได้พบหนังสือทำเนียบหัวเมืองครั้งกรุงเก่ามีชื่อเมืองประทุมธานี จึงทราบว่าเปนเมืองตั้งมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว เห็นว่าจะตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ เนื่องแต่ครัวมอญที่เข้ามาครั้งนี้ก็อาจจะเปนได้.

  2. ๒. ตำบลปากแพรก คือที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีทุกวันนี้.

  3. ๓. คือเมืองกาญจนบุรีเก่าที่ตั้งอยู่ริมเขาชนไก่ทุ่งลาดหญ้า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ