ตอนที่ ๒

เมื่อเจ้าเมืองเกาะหมากแลครอเฟิดได้รับคำสั่งให้มาชักชวนไทยไปช่วยรบพม่าครั้งนั้นแล้วทำอย่างไร จะต้องกล่าวเสียก่อน เพราะเปนปัจจัยไปถึงความดำริห์ของไทยในเรื่องรบพม่าคราวนี้เปนข้อสำคัญอย่าง ๑ จะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ทางเกาะหมากย่อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อยหนึ่ง.

เมื่อก่อนจะเกิดสงครามในระหว่างอังกฤษกับพม่าไม่ช้านัก พระเจ้าอังวะให้ทูตคุมเครื่องยศลงมาประทานเจ้าพระยาไทรที่เกาะหมาก เจ้าเมืองเกาะหมากได้เห็นศุภอักษรเสนาบดีพม่ามีมาถึงเจ้าพระยาไทรจึงทราบความว่าเมื่อต้นปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ เจ้าพระยาไทรลอบแต่งคนขึ้นไปขอกองทัพพม่ามาช่วยตีเอาเมืองไทรคืน บอกพม่าไปว่า พระยาปลิศ พระยาแปะระ พระยาสลางงอ พระยาปัตตานี ก็จะมาช่วยรบ แล้วจะพากันไปขึ้นพม่าทั้ง ๕ เมือง พระเจ้าจักกายแมงจึงประทานเครื่องยศลงมา ๕ สำรับ เปนของตอบแทนที่มีความสามิภักดิ์ อังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากได้ทราบความก็ขัดเคืองเจ้าพระยาไทร แต่คิดเห็นเปนโอกาศดีที่จะเอาเปนเหตุว่ากล่าวกับไทยให้คืนเมืองไทร เจ้าเมืองเกาะหมากจึงมีหนังสือลับมาถึงเจ้าพระยานครฯ ว่าเดี๋ยวนี้ได้ทราบความเปนแน่ว่า เจ้าพระยาไทรไปขอกองทัพพม่าลงมาตีเมืองไทร พวกเจ้าเมืองมลายูเมืองที่ใกล้เคียงก็ว่าจะมาช่วยเจ้าพระยาไทรเปนหลายเมือง แต่อังกฤษเปนกลาง ไม่อยากจะให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น จะรับว่ากล่าวกับเจ้าพระยาไทร ขอให้เจ้าพระยานครฯ ลงไปที่เมืองไทรโดยเร็ว จะได้ช่วยกันคิดอ่านป้องกันมิให้เกิดเหตุขึ้นได้ เจ้าพระยานครฯ ให้ขุนอักษรซึ่งเปนคนสนิท เคยใช้ไปพูดจากับอังกฤษมาแต่ก่อน ถือจดหมายไปยังเกาะหมากเมื่อเดือน ๔ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ ในจดหมายนั้นว่า ถึงพม่าจะทำอย่างไร ๆ ก็ไม่กลัว ที่เจ้าเมืองเกาะหมากจะใคร่ปฤกษากับเจ้าพระยานคร ฯ นั้น เจ้าพระยานคร ฯ ยังลงไปเมืองไทรไม่ได้ ด้วยผู้คนยังทำนาไม่เสร็จ จึงให้ขุนอักษรถือหนังสือมายังเจ้าเมืองเกาะหมากฟังดูความประสงค์ให้ทราบก่อน เจ้าเมืองเกาะหมากจึงเรียกเจ้าพระยาไทรให้มาพบกับขุนอักษร แล้วร่างเปนคำเปรึยบเทียบให้เจ้าพระยานครฯ เนื้อความในคำเปรียบเทียบของเจ้าเมืองเกาะหมากนั้น ว่าให้ไทยยอมคืนเมืองไทรให้เจ้าพระยาไทรปกครอง แลปล่อยชเลยที่ได้มาจากเมืองไทรคืนไปให้หมด แล้วรับว่าจะไม่รบกวนกะเกณฑ์การใด ๆ แก่เมืองไทรอิกต่อไป ต้นไม้เงินทองก็ไม่ต้องส่งเข้ามาถวายดังแต่ก่อน ฝ่ายข้างเจ้าพระยาไทรนั้นให้เสียเงินส่วยส่งกรุงเทพฯ แทนต้นไม้ทองเปนแลการกะเกณฑ์ต่างๆ เปนจำนวนเงินปีละ ๒,๐๐๐ เหรียญทุกปีไป ให้เจ้าพระยานครฯ รับสัญญาว่าจะคิดอ่านให้กรุงเทพฯ ยอมตามคำเปรียบเทียบนี้ เจ้าเมืองเกาะหมากก็จะยอมสัญญาเปนประกันให้เจ้าพระยาไทรส่งเงินส่วยมิให้ขาดได้ ขุนอักษรยังไม่ทันกลับมา เจ้าเมืองเกาะหมากได้ข่าวว่าอังกฤษเกิดวิวาทขาดทางไมตรีกับพม่า จึงสั่งให้ขุนอักษรมาบอกข่าวนั้นแก่เจ้าพระยานคร ฯ ให้เข้าใจว่าเปนโอกาศดีนักหนาที่จะรีบตกลงกันเสียด้วยเรื่องเมืองไทร.

เมื่อเจ้าพระยานครฯ ได้เห็นคำเปรียบเทียบของเจ้าเมืองเกาะหมากที่กล่าวมา จะคิดเห็นอย่างไรนั้นไม่จำต้องพยากรณ์ น่าพิศวงแต่ว่า เหตุใดเจ้าเมืองเกาะหมากจึงเข้าใจว่ามีท่าทางที่ไทยจะยอมตามคำเปรียบเทียบเท่านั้น.

พอขุนอักษรกลับมาถึงเมืองนครฯ แล้วไม่ช้า เจ้าเมืองเกาะหมากก็ได้รับคำสั่งจากเจ้าเมืองบังกล่าในเดือน ๕ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ให้ชักชวนไทยไปช่วยรบพม่า เจ้าเมืองเกาะหมากจึงมีหนังสือถึงเจ้าพระยานครฯ บอกข่าวว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่าเปนแน่แล้ว เดี๋ยวนี้พม่าก็เปนสัตรูของไทยแลอังกฤษด้วยกัน ขอให้เจ้าพระยานคร ฯ รีบรวบรวมเรือลำเลียงส่งไปช่วยกองทัพอังกฤษเถิด แลข้างท้ายหนังสือแถมเตือนมาว่า ขอให้ตกลงเรื่องเมืองไทรที่เปรียบเทียบให้มานั้นด้วย หนังสือฉบับนี้เจ้าเมืองเกาะหมากให้นายร้อยโทโลซึ่งเปนผู้ได้เรียนรู้ภาษาไทยถือมา ด้วยประสงค์จะให้เปนผู้มาชี้แจงเกลี้ยกล่อมไทยให้ช่วยอังกฤษรบพม่า เพราะคำสั่งเจ้าเมืองบังกล่ามีอยู่ว่า ไม่ให้สัญญากับไทยว่าอังกฤษจะให้อะไรตอบแทนเปนแน่นอนดังกล่าวมาแล้ว.

นายร้อยโทโลมาขึ้นที่เมืองตรัง ให้บอกมายังเจ้าพระยานครฯ ว่าเจ้าเมืองเกาะหมากให้มาหาด้วยข้อราชการสำคัญ จะขอเข้ามาหาที่เมืองนครฯ เจ้าพระยานครฯ ไม่ยอมให้เข้ามา สั่งไปว่าให้นายร้อยโทโลคอยอยู่ที่เมืองตรัง เจ้าพระยานครฯ จะออกไปพบ ครั้นถึงกำหนดเจ้าพระยานครฯ มีจดหมายไปว่าป่วย ออกไปไม่ได้ ให้บุตรไปแทนตัว บุตรผู้ไปแทนนั้นได้รับคำสั่งไปแต่ให้รับหนังสือเจ้าเมืองเกาะหมาก กับให้ฟังถ้อยคำของนายร้อยโทโลไปบอกเจ้าพระยานคร ฯ จะพูดจาตกลงด้วยข้อราชการอย่างใดไม่ได้ นายร้อยโทโลรอคอยอยู่ที่เมืองตรังกว่าเดือนก็ไม่ได้พบเจ้าพระยานครฯ จึงเขียนหนังสือถึงเสนาบดีในกรุงเทพฯ มอบให้เมืองนครฯ ส่งเข้ามาฉบับ ๑ แล้วนายร้อยโทโลก็กลับไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่เจ้าพระยานครฯ ไม่ยอมพบนายร้อยโทโลคราวนั้น เพราะเห็นว่าคงมารบกวนเรื่องเมืองไทร เจ้าพระยานครฯ อยากจะทราบแต่เรื่องเมืองพม่าจึงให้บุตรไปฟัง เมื่อทราบแล้วคงเห็นเปนราชการสำคัญ รีบมีใบบอกหาฤๅเข้ามากรุงเทพฯ จึงมิได้ตอบอังกฤษทางโน้น.

ฝ่ายครอเฟิดอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ เมื่อได้รับคำสั่งเจ้าเมืองบังกล่าให้ชักชวนไทยไปช่วยรบพม่า แลกำชับไม่ให้สัญญากับไทยมั่นคงว่าอังกฤษจะให้อะไรตอบแทนดังกล่าวมาแล้ว ครอเฟิดจึงมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง เมื่อเดือน ๖ ปีวอก ความในหนังสือว่าเดี๋ยวนี้อังกฤษเกิดรบกับพม่าแล้ว พม่าก็เปนสัตรูของไทยเหมือนกัน เข้าใจว่าไทยคงจะรบพม่าด้วย เพราะฉนั้นจึงได้สั่งอนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษเอาเครื่องสาตราวุธเข้าไปจำหน่ายในกรุงเทพฯ ช่วยกำลังไทย ถ้าแลไทยยังจะต้องการเครื่องสาตราวุธฤๅสิ่งไร สำหรับที่จะทำสงครามกับพม่าอยู่อิกบ้าง ก็ขอให้บอกไปให้ทราบ อังกฤษจะช่วยเปนธุระจัดหาให้ตามประสงค์ทุกอย่าง.

หนังสือครอเฟิดเห็นจะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กับใบบอกเจ้าพระยานคร ฯ เมื่อเดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ เปนอันได้ความจากอังกฤษบอกมาทั้ง ๒ ทาง ว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่า แต่เจ้าเมืองเกาะหมากอ้างเอาเปนเหตุเร่งจะให้ไทยคืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร จึงทำให้เกิดความสงไสยว่าจะเปนกลอุบายของอังกฤษ บอกมาให้ไทยรบกับพม่าด้วยมีความประสงค์อย่างอื่น ควรจะต้องสืบสวนให้แน่นอนเสียก่อน ก็แลลักษณะสืบสวนหตุการณ์ทางเมืองพม่าในเวลานั้น ยังคงใช้วิธีแต่งกองทหารยกจู่เข้าไปจับคนในแดนพม่ามาสอบถามเอาความรู้ เหมือนอย่างเมื่อทำสงครามกับพม่ามาแต่ก่อน จึงให้กองอาทมาทไปจับคนในแดนพม่ามาถาม พม่าที่จับได้มาเปนชาวเมืองดอนตอนปลายแดน ให้การว่าไม่เคยได้ยินว่าพม่าจะรบกับอังกฤษ ได้ความจากพม่าดังนี้ ที่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่เชื่อคำที่อังกฤษบอกมา.

เจ้าพระยาพระคลังจึงมีหนังสือตอบครอเฟิด เมื่อณวันศุกร เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ว่าได้รับหนังสือซึ่งครอเฟิดบอกมาว่า พม่าหลอกลวงอังกฤษแล้วรุกรานเขตรแดน อังกฤษจึงต้องรบพม่าเจ้าเมืองบังกล่าได้ให้กองทัพมาตีเมืองร่างกุ้ง เมืองเมาะตมะ เมืองทวาย แลเมืองมฤท แลว่าครอเฟิดได้สั่งพ่อค้าอังกฤษให้นำเครื่องสาตราวุธเข้ามาจำหน่ายตามที่ไทยต้องการทุก ๆ อย่างนั้น ทราบความทุกประการแล้ว แต่ก่อนครอเฟิดก็ได้บอกมาครั้ง ๑ ว่าพม่าแต่งทูตไปเมืองญวน ประสงค์จะชักชวนให้ญวนมารบไทย ได้คัดสำเนาพระราชสาส์นซึ่งพระเจ้าอังวะมีถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามส่งมาให้ทราบด้วย ซึ่งครอเฟิดเห็นแก่ราชการบอกมาให้ทราบความทั้งปวงนี้ เปนการสมควรขอบใจยิ่งนัก กองอาทมาทออกไปตระเวนด่านจับได้พม่ามาถาม ก็ให้การสมกับข้อความที่ครอเฟิดบอกมา ว่าพม่าแต่งทูตไปเมืองญวนจริง แต่ไม่ทราบว่าญวนจะยอมรับเครื่องบรรณาการเปนไมตรีกับพม่าฤๅไม่ จึงได้นำข้อความในหนังสือของครอเฟิดแต่ที่ควรจะกราบทูลฯ ขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบแล้ว มีพระราชโองการดำรัสว่าขอบใจเจ้าเมืองบังกล่าที่สั่งให้พ่อค้าอังกฤษเอาเครื่องสาตราวุธเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ โดยเห็นแก่ไมตรีนั้น.

แต่ข้อที่ครอเฟิดบอกมาว่าอังกฤษรบกับพม่านั้น พวกกองอาทมาทที่ไปตระเวรด่านจับได้พม่ามาถาม พม่าว่าหาได้ยินว่าพม่าเกิดรบพุ่งกับอังกฤษไม่ ประการ ๑ ทูตพม่ากลับมาจากเมืองญวน ครอเฟิดก็รับรองเปนไมตรีดีอยู่กับทูตพม่า แลได้ความว่าเรือเมืองพม่าก็ยังไปมาค้าขายอยู่ที่เกาะหมาก จะว่าอังกฤษเปนสัตรูกับพม่าอย่างไร เพราะฉนั้นจึงได้นำความข้อที่บอกมาว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่าขึ้นกราบทูลพระกรุณา

ความตอนนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งกล่าวว่า ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อได้ทราบว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่าเปนแน่แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยก็โปรดให้เตรียมกองทัพ แลมีท้องตราสั่งให้ระวังตรวจตราน่าด่านตลอดชายแดนที่ต่อกับพม่า แต่ยังมิทันที่จะได้ตกลงเปนยุติว่าไทยจะทำอย่างไรในการสงครามคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยก็ประชวร แล้วเสด็จสวรรคตเมื่อณวันพุฒ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงพระราชดำริห์การสงครามต่อมา ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารตรงนี้เห็นจะเคลื่อนคลาด ด้วยหนังสือเจ้าพระยาพระคลังตอบครอเฟิดฉบับที่กล่าวมา ลงวันก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยสวรรคตเพียง ๕ วัน บอกชัดว่ายังไม่เชื่อว่าอังกฤษรบกับพม่า ใช่แต่เท่านั้น หนังสือเจ้าพระยาพระคลังฉบับนี้ค้างอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๓ เดือน จึงได้ส่งไปกับเรือกำปั่นหลวงต่อเมื่อเดือน ๑๑ (ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า) เห็นได้ว่าพอทำหนังสือแล้วก็ประจวบเหตุเปลี่ยนรัชกาล หนังสือค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงเข้าใจว่าที่จริงเมื่อในรัชกาลที่ ๒ นั้นยังไม่เชื่อว่าอังกฤษรบกับพม่า มาเชื่อเปนแน่ต่อในรัชกาลที่ ๓

  1. ๑. บุตรเจ้าพระยานครฯ ที่แต่งไปแทนตัวครั้งนั้น เข้าใจว่าพระเสนหามนตรี น้อยเมือง เปนบุตรคนใหญ่ ที่ได้เปนเจ้าพระยามหาศิริธรรม เมื่อในรัชกาลที่ ๔

  2. ๒. เจ้าพระยาพระคลัง คิศ บุนนาค ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ฯ

  3. ๓. พิเคราะห์ดูตามความในหนังสือเจ้าพระยาพระคลังฉบับนี้ เข้าใจว่าทูตพม่าเห็นจะกลับจากเมืองญวนในเดือน ๔ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ เวลานั้นเรือกำปั่นหลวงลงไปค้าขายอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ทูตพม่าไปจากเมืองสิงคโปร์ไม่ช้าครอเฟิดก็ได้รับคำสั่งจากเจ้าเมืองบังกล่า จึงเขียนหนังสือฝากเรือกำปั่นหลวงลำนั้นเข้ามา ถามคำให้การนายเรือกำปั่นสอบ จึงได้ความเรื่องทูตพม่ากลับ แลว่าเรือพม่ายังลงมาค้าขายอยู่ที่เกาะหมาก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ