ตอนที่ ๑ เรื่องเมืองทวายสามิภักดิ์

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองทวายเมื่อปีมะแมที่กล่าวมาแล้ว ถึงไม่ได้เมืองทวายในครั้งนั้นก็ดี มีผลเปนข้อสำคัญ เพราะเหตุที่ปรากฎทั่วไปในแผ่นดินพม่าว่า ไทยกลับมีกำลังเข้มแขงถึงเข้าไปบุกรุกรบเมืองพม่า ต่อมาไม่ช้าเมืองทวายเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทก็มาสามิภักดิ์ขอเปนข้าขึ้นต่อเมืองไทยเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔.

เรื่องราวที่เมืองทวายเมืองตะนาวศรีเมืองมฤทมาสามิภักดิ์ครั้งนั้น ในพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารเนื้อความยุติต้องกันตลอดเรื่อง เปนแต่พลความขาดเหลือผิดกันเล็กน้อย ในจดหมายเหตุของนายพันตรี ไมเคล ไซม์ ปรากฎเรื่องเบื้องต้นว่า เดิมพระเจ้าปดุงตั้งอะแซหวุ่นกี้ผู้ที่มาตีเมืองพิศณุโลก เปนผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตมะ ว่ากล่าวหัวเมืองมอญตลอดลงมาจนเมืองทวายเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤท ต่อมาพระเจ้าปดุงตั้งพม่าคน ๑ ชื่อมังจันจา เปนบุตรของสดุแมงกองขุนนางในเมืองอมระบุระให้เปนที่เนมะโยกยอดิน ลงมาเปนผู้ว่าราชการเมืองทวาย ขึ้นอยู่ในอะแซหวุ่นกี้ มังจันจาเห็นจะเปนคนฉลาดเฉลียว ลงมาอยู่เมืองทวายมีผู้คนนับถือมาก แลทำนองอะแซหวุ่นกี้จะไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงให้ว่ากล่าวลงมาจนเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทด้วย ครั้นอะแซหวุ่นกี้ตายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ มังจันจาเข้าใจว่าตัวจะได้เปนที่อุปราชหัวเมืองปักษใต้แทนอะแซหวุ่นกี้ แต่หาได้เปนสมดังปราถนาไม่ ด้วยพระเจ้าปดุงตั้งมังจะเลสู ลงมาเปนอุปราชสำเร็จราชการแทนอะแซหวุ่นกี้เมื่อเดือน ๑๑ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔ มังจันจาก็มีความโทมนัสน้อยใจ ก็กระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ในอำนาจอุปราชคนใหม่ อุปราชจะเร่งเรียกส่วยสัดพัฒนากรอันใดมังจันจาก็ไม่ยอมส่ง อ้างว่ายังเก็บไม่ได้ด้วยราษฎรยังขัดสนนัก จะเรียกเร่งเกรงจะได้ความเดือดร้อน อุปราชเห็นจะบอกกล่าวโทษมังจันจาขึ้นไป แลพระเจ้าปดุงคงมีรับสั่งให้ส่งมังจันจาขึ้นไปไต่สวนยังเมืองอมระบุระ ความจึงปรากฎว่าผู้สำเร็จราชการให้มะรุวอนโบคุมพลพม่า ๓๐๐ ลงมาเปนเจ้าเมืองทวายแทนมังจันจา ๆ รู้ความก็ให้ปลัดเมืองซึ่งเปนสมัคพรรคพวกของตนคุมกำลัง ๕๐๐ ออกไปคอยรับอยู่กลางทาง ห่างเมืองสัก ๒๐๐ เส้น พอมะรุวอนโบมาถึงที่นั่นก็ช่วยกันจับฆ่าเสียหมดทั้งนายไพร่ แล้วมังจันจาจึงไปชวนเจ้าเมืองตะนาวศรีเจ้าเมืองมฤทพร้อมใจกันมาขอเปนข้าขอบขันธสีมาขึ้นกรุงสยามทั้ง ๓ เมือง.

ในเวลานั้นไทยที่พม่ากวาดต้อนเปนเชลยไปเมื่อครั้งตีกรุงเก่าได้ ยังตกอยู่ที่เมืองทวายหลายคน ที่สำคัญคือพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าหญิง (อันมีพระนามกรมปรากฎต่อมาว่า เจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดา) ซึ่งเปนพระธิดาของพระเจ้ารามณรงค์ผู้เปนพระเชษฐาธิบดี ทรงผนวชเปนรูปชีอยู่ในเมืองทวาย พระยาทวายทราบความจึงเชิญเสด็จไปทำนุบำรุงไว้ แล้วให้แต่งอักษรสาส์นจาฤกในแผ่นสุพรรณบัตร กับทั้งมีศุภอักษรชี้แจงความถึงเสนาบดีไทย แลให้จัดเครื่องราชบรรณาการตามแบบแผนประเพณีการสามิภักดิ์ของเภทพม่า คือต้นไม้ทองเงินแลนางทวายอันมีสกุลสูง เปนนางเอก ๑ นางโท ๒ พร้อมด้วยสาวใช้ข้าคนอิก ๕๗ รวมเปน ๖๐ คนเปนของถวาย แล้วแต่งให้กรมการผู้ใหญ่ในเมืองทวายแลเมืองตะนาวศรีเมืองมฤทรวมกัน ๓ คน เปนทูตเชิญลายพระหัตถ์ของพระเจ้าหลานเธอ กับทั้งสุพรรณบัตรแลศุภอักษรถึงเสนาบดี แลคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทางกาญจนบุรีกับพระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระมหาแทนเปนพระภิกษุไทยแต่ครั้งกรุงเก่าอยู่ในจำนวนนั้นด้วยรูป ๑ ให้มาเปนพยานความสัตย์สุจริตของพระยาทวาย.

ทูตทวายมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔ ความในหนังสือที่มีมาว่า พระยาทวายได้ทำราชการถวายพระเจ้าอังวะมาแต่ชั้นปู่แลบิดา หาได้มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เหตุเพราะพระเจ้าปดุงไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม ให้มังจะเลสูลงมาเปนอุปราชที่เมืองเมาะตมะเมื่อเดือน ๑๑ ปีกุญ แล้วให้ลงมาเอาเงินแก่เมืองทวายเมืองมฤทแลเมืองตะนาวศรีเนืองๆ เปนเงินถึงสองร้อยสามร้อยชั่ง ราษฎรชาวเมืองได้ความเดือดร้อน แล้วมิหนำซ้ำแต่งให้มะรุวอนโบ คุมกำลัง ๓๐๐ ลงมาเปนเจ้าเมืองทวาย จะให้ถอดพระยาทวายเสีย พระยาทวายให้ปลัดคุมกำลัง ๕๐๐ ยกไป พบมะรุวอนโบกลางทาง เกิดรบพุ่งกันฆ่าฟันมะรุวอนโบกับพวกไพร่ตายหมดทั้งสิ้น พระเจ้าปดุงจะให้ยกกองทัพลงมาตีเมืองทวาย พระยาทวายไม่มีที่พึ่งจึงพร้อมใจกับพระยาตะนาวศรีพระยามฤททั้ง ๓ เมืองขอเปนข้าขอบขันธเสมากรุงเทพพระมหานครดังแต่ก่อน ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้ แลต่อไปภายน่าพระยาทวายจะรับอาสาตีเอาเมืองเมาะตมะ เมืองร่างกุ้ง เมืองสะโตงแลเมืองพสิม มาถวายให้จงได้.

การที่เมืองทวายเมืองตะนาวศรีเมืองมฤทมาสามิภักดิ์ดังนี้ ก็เปนอันสมพระราชประสงค์ซึ่งทรงพระราชดำริห์มาแต่ก่อน จึงโปรดให้รับทูตเข้าเฝ้าที่น่ามุขเด็จพระมหาปราสาท แล้วให้เสนาบดีมีศุภอักษรตอบรับเมืองทวายเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทตามราชประเพณี ครั้นทูตทวายกราบถวายบังคมลากลับไปแล้ว ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๓๕ จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองเปนจำนวนพล ๕,๐๐๐ ให้พระยายมราชเปนแม่ทัพยกออกไปช่วยรักษาเมืองทวาย แลให้เชิญพานทองเครื่องยศไปพระราชทานพระยาทวายด้วย เมื่อกองทัพพระยายมราชยกไปแล้ว ในปลายปีชวดนั้นก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยกระบวนเรือพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรฯ ไปยังเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลับพลาที่ประทับทางลำน้ำน้อย (จะเปนที่เมืองไทรโยค ฤๅตำบลใดหาปรากฎไม่) คอยทรงฟังข้อราชการที่จะเกิดขึ้นทางเมืองทวายอยู่ณที่นั้น.

ฝ่ายพระยายมราชยกกองทัพไปถึงเมืองทวาย พระยาทวายก็ให้กรมการออกมาต้อนรับแลส่งเสบียงอาหารให้กองทัพ แต่ตัวพระยาทวายเองไม่ออกมาหาพระยายมราช ตามประเพณีผู้ว่าราชการหัวเมืองจะต้องออกมาหาเสนาบดีผู้เปนแม่ทัพ ถึงต้องต่อว่าชี้แจงแบบธรรมเนียมให้ทราบ พระยาทวายจึงได้ออกมาเคารพต่อพระยายมราชตามประเพณี พระยายมราชให้พระราชรองเมืองคุมพลเข้าไปตั้งอยู่ในกำแพงเมืองทวายกอง ๑ ส่วนกองทัพระยายมราชนั้นตั้งค่ายอยู่ข้างนอกเมือง แล้วให้จัดส่งเจ้าฟ้าหลานเธอกับพวกไทยที่ตกค้างอยู่ที่เมืองทวาย มีพระราชาพิมลกรมภูษามาลาครั้งกรุงเก่าเปนต้น เข้ามายังค่ายหลวงที่แม่น้ำน้อย แลมีใบบอกรายงานทั้งปวงเข้ามากราบบังคมทูลทุกประการ.

ในเรื่องความที่ปรากฎว่าพระยาทวายไม่ออกมาหาพระยายมราชเปนข้อสำคัญซึ่งควรจะสังเกตอยู่อย่าง ๑ ด้วยการที่เมืองทวายมาสามิภักดิ์ต่อไทยครั้งนั้น มูลเหตุเกิดขึ้นด้วยตัวพระยาทวาย เพราะพม่าจะถอดเสียจากเจ้าเมืองจึงเอาใจออกหากจากพม่า เมื่อมาขอขึ้นต่อไทย ทำนองพระยาทวายจะมั่นหมายมักใหญ่ฝ่ายสูง ให้ไทยยกขึ้นเปนประเทศราช จึงได้แต่งทูตถือสุพรรณบัตรมาอย่างราชทูตจำทูลพระราชสาส์น ครั้นได้ทราบว่าพระราชทานบำเหน็จเพียงอย่างพระยามหานครตามธรรมเนียมในกฎมณเทียรบาล มิได้ยกขึ้นเปนเจ้า คงเปนด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงไม่ออกมาหาพระยายมราช เปนการแสดงความไม่พอใจให้ปรากฎเปนครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงทราบความตามใบบอกของพระยายมราช เห็นจะทรงแคลงพระราชหฤไทยในท่วงทีกิริยาของพระยาทวาย ครั้นทรงรับพระเจ้าหลานเธอส่งมายังกรุงเทพฯ แล้ว จึงมีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกไปทอดพระเนตรภูมิลำเนาบ้านเมืองแลตรวจตราเหตุการณ์ที่เมืองทวาย กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกไปถึงเมืองทวายทรงพิจารณาการทั้งปวงแล้ว ให้พระยายมราชบอกมากราบบังคมทูล ฯ ว่า เมืองทวายนั้นพิเคราะห์ดูไชยภูมิไทยเสียเปรียบพม่ามากนัก ถ้าพม่ายกมาตี ถึงไทยจะรักษาเมืองไว้ได้ในคราวนี้ ต่อไปภายน่าก็เห็นจะรักษาไว้ไม่ได้ ทั้งพิเคราะห์ดูกิริยาอาการของพระยาทวาย ท่วงทีก็ยังกระด้างกระเดื่องไม่น่าไว้ใจ จะขอพระราชทานทำลายเมืองทวายแลกวาดต้อนผู้คนพลเมืองเข้ามาเสียให้หมด อย่าให้เปนกำลังของพม่าต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงทราบความก็ทรงขัดเคือง ด้วยมีพระราชประสงค์จะเอาเมืองทวายเปนที่มั่นสำหรับตีเมืองพม่าต่อไป จึงมีรับสั่งให้ตอบไปว่า พม่ายกมาตีกรุง (เก่า) กวาดต้อนครอบครัวชาวกรุงแลพี่น้องขึ้นไปไว้ที่เมืองทวายเมืองเดียวดอกฤๅ (จึงคิดจะทำลายแต่เมืองทวายเท่านั้น) เมืองอังวะแลเมืองอื่นๆ ไทยชาวกรุงไม่มีฤๅ ไม่ช่วยเจ็บแค้นขึ้งโกรธบ้างเลย ได้เมืองทวายจะได้เอาไว้เปนเมืองพักผู้คนไว้เสบียงอาหารเปนกำลังทำศึกต่อไป มีรับสั่งห้ามไปมิให้รื้อทำลายเมืองทวายแลกวาดครอบครัวเข้ามา ให้รักษาเมืองระวังเหตุการณ์ให้มั่นคงจงดี แต่หนังสือรับสั่งที่ว่ามานี้ออกไปถึงไม่ทันที่จะป้องกันเหตุการณ์ ด้วยเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ ดำรัสสั่งให้บอกขอกวาดครอบครัวแลทำลายเมืองทวายเข้ามาแล้ว ทางโน้นพวกขุนนางที่ไปตามเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เข้าใจว่าคงจะมีท้องตราอนุญาตตามพระราชดำริห์ของกรมพระราชวังบวร ฯ ต่างก็ขวนขวายหาครอบครัวทวายหมายจะเอามาใช้สรอยเปนอาณาประโยชน์ของตน ถึงมีพวกที่ล่วงน่าพาครัวทวายเข้ามาจนถึงลำน้ำน้อย ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้ข้าหลวงออกเที่ยวติดตามจับกุมเอาตัวพวกขุนนางเหล่านั้นมาลงพระราชอาญา แล้วให้ปล่อยครัวทวายกลับคืนไป แต่ทางข้างเมืองทวายพวกพลเมืองเกิดสดุ้งสเทือนกันเสียแล้ว ขณะนั้นมีไทยคน ๑ ชื่อ ตามา ถูกพม่ากวาดเปนเชลยไปจากกรุงเก่า ทำนองจะไปมีบุตรภรรยาอยู่ในเมืองทวาย ตามาเปนคนคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์แต่เมื่อครั้งกรุงเก่า มากราบทูลความลับแก่กรมพระราชวังบวรฯ ว่า พระยาทวายได้ข่าวว่าพระเจ้าปดุงจะเอาสดุแมงกองผู้บิดาประหารชีวิตร พระยาทวายเสียใจคิดรวนเรหาสามิภักดิ์แน่นอนเหมือนแต่ก่อนไม่ แลทราบว่าพระยาทวายให้ปลัดต่ายกับมังนุน้องชายคุมไพร่เข้ามาตรวจตราทางที่ไทยจะไปมา ว่าพม่ายกกองทัพลงมาเมื่อใดจะให้ล้มไม้ทับทางเสีย แล้วจะยกเข้าปล้นกองทัพไทยที่รักษาเมืองทวาย กรมพระราชวังบวรฯ จึงตรัสสั่งให้ส่งตัวตามาเข้ามายังค่ายหลวงที่ลำน้ำน้อย ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงทราบความตามที่ตามากราบบังคมทูลฯ แลทรงทราบว่าเวลานั้นปลัดต่ายกับมังนุเข้ามาจนถึงในแดนไทยแล้ว จึงดำรัสให้ข้าหลวงไปจับมาได้หมดทั้งนายไพร่ ให้ถามปลัดต่ายกับมังนุ ให้การว่ามาเที่ยวเล่นแล้วก็เลยเข้ามาในแดนไทย ทรงพระราชดำริห์เห็นเปนข้อพิรุธ จึงให้เอาตัวคุมไว้ทั้งพวก แล้วมีรับสั่งไปยังกรมพระราชวังบวร ฯ ว่าจะไว้ใจพระยาทวายต่อไปไม่ได้ ให้ส่งตัวมังจันจาพระยาทวายกับกรมการที่เปนพรรคพวกเข้ามาเสีย จะทรงชุบเลี้ยงให้ทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ทางโน้นให้ตั้งกรมการผู้ใหญ่ ผู้ที่เปนบิดานางทวายที่เข้ามาอยู่ในกรุงฯ เปนพระยาว่าราชการเมืองทวายต่อไป กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดการตามกระแสรับสั่งเสร็จแล้วก็เสด็จกลับมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงเสด็จยกกองทัพหลวงกลับมายังพระนคร พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรฯ เพื่อจะได้ทรงตระเตรียมการที่จะตีเมืองพม่าต่อไป แลครอบครัวพระยาทวายที่ส่งเข้ามาครั้งนั้น พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลคอกกระบือ จึงได้เรียกว่าบ้านทวาย อยู่ใกล้วัดยานนาวาทุกวันนี้.

ฝ่ายข้างเมืองพม่า พระเจ้าปดุงได้ทราบว่ามังจันจาเจ้าเมืองทวายเปนขบถ เอาเมืองทวายแลเมืองตะนาวศรีเมืองมฤทมาขึ้นแก่ไทย ก็ให้หวุ่นยีมหาเสฐวาเสคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกลงมาปราบปรามเมืองทวาย หวุ่นยีมหาเสฐวาเสยกลงมาถึงเมืองเมาะตมะในปีชวด ทราบความว่ากองทัพไทยออกไปตั้งอยู่ที่เมืองทวายก็ครั่นคร้ามไม่กล้ายกลงมา จึงตั้งพักอยู่ที่เมืองเมาะตมะ แล้วมีใบบอกขึ้นไปยังเมืองอมระบุระ ว่ามีกองทัพไทยเปนทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองทวาย กำลังที่คุมลงมาเกรงจะไม่พอปราบปรามได้ ขอกำลังเพิ่มเติมลงมาอิก พระเจ้าปดุงได้ทรงทราบความตามใบบอกของหวุ่นยีมหาเสฐวาเส ทำนองจะนึกระแวงว่าบางทีไทยจะยกจู่ขึ้นไปตีเมืองเมาะตมะ จึงมีรับสั่งให้เนมะโยสิงคยาคุมกำลังลงมาช่วยรักษาเมืองเมาะตมะก่อน แล้วให้มหาอุปราชาราชโอรสเปนแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์เกณฑ์คนเข้ากองทัพใหญ่ สำหรับที่จะยกมาตีเอาเมืองทวายคืน พระมหาอุปราชาก็มาตั้งเกณฑ์ทัพอยู่ที่เมืองจักกาย อันอยู่ใต้เมืองอมระบุระหน่อยหนึ่ง ตั้งแต่ในระดูฝนปีชวด ให้กะเกณฑ์คนในหัวเมืองพม่าเข้ากองทัพได้ ๒๐,๐๐๐ พอสิ้นระดูฝนพระมหาอุปราชาจึงให้อะแซหวุ่นกี้คนใหม่เปนปลัดทัพ ให้มหาไชยสุระขุนนางผู้ใหญ่ในพระมหาอุปราชา (เปนยุกรบัตร) ให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระ (เปนเกียกกาย) คุมกองทัพเดินบกยกลงมายังเมืองร่างกุ้ง ส่วนพระมหาอุปราชานั้น ทำนองเมื่อในระดูฝนจะบังคับสั่งให้บิดาของมังจันจาเจ้าเมืองทวายว่ากล่าวกับบุตรให้กลับใจไปเข้ากับพม่า ครั้นเห็นไม่เปนผล เมื่อก่อนพระมหาอุปราชาจะยกกองทัพลงมาข้างใต้ จึงให้เอาบิดามารดาของมังจันจาประหารชีวิตรเสีย แล้วจึงลงเรือตามกองทัพลงมายังเมืองร่างกุ้ง มาถึงเมื่อเดือน ๖ ปีฉลู.

ฝ่ายหวุ่นยีมหาเสฐวาเสกับเนมะโยสิงคยา ซึ่งคุมกองทัพพม่ารักษาเมืองเมาะตมะอยู่นั้น ครั้นรู้ว่าพระเจ้าปดุงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่ลงมาตั้งอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ก็พากันมีความวิตก ปฤกษากันว่าเราคุมกองทัพมาตั้งอยู่เปล่าๆ ช้านาน ถ้าพระมหาอุปราชาจะไต่ถามว่าได้ไปทำอะไรกับไทยให้เปนบำเหน็จมือมั่งฤๅไม่ ไม่มีอะไรจะทูลได้ก็ระแวงจะผิด จึงช่วยกันรวบรวมคนเข้ากองทัพ ให้เจ้าเมืองมักยีดงคุมลงมาตีเมืองทวายเมื่อในเดือน ๖ ปีฉลูนั้น กองทัพพม่ายกลงมาพบกองทัพมอญของเจ้าพระยามหาโยธา (พระยาเจ่ง) สมทบกับกองทัพทวายของพระยาทวายซึ่งเปนบิดานางที่ส่งเข้ามาถวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลสิกกะเนต ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีกลับไปเมืองเมาะตมะ ไปบอกรายงานว่า ที่เมืองทวายมีกองทัพไทยตั้งอยู่หลายทัพ คือกองทัพพระยายมราชมีจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ ตั้งอยู่ในชานเมืองทัพ ๑ กองทัพพระยาพิศณุโลกมีจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ตั้งอยู่ทางทิศตวันออกทัพ ๑ กองทัพมอญกับทวายสมทบกันตั้งอยู่ที่ตำบลสิกกะเนตอิกทัพ ๑ เจ้าเมืองมักยีดงได้รบพุ่งกับทัพมอญแลทวาย ข้าศึกมากกว่าเหลือกำลังจึงต้องถอยหนีไป หวุ่นยีมหาเสฐวาเสกับเมนะโยสิงคยามิรู้ที่จะทำประการใด ก็ต้องทูลเหตุการณ์ทั้งนั้นไปยังพระมหาอุปราชา ๆ ได้ทรงทราบว่ากองทัพพม่ายกมาเสียทีแตกหนีไทยไปก็ขัดเคือง มีรับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองทั้งปวงทำโทษตามอาญาศึก แล้วจะยกลงมาตีเมืองทวายในระดูฝนนั้น พวกแม่ทัพนายกองพากันทูลห้ามปรามว่า กองทัพไทยที่ตั้งอยู่เมืองทวายเปนทัพกระษัตริย์รี้พลมากมายนัก กำลังกองทัพที่มีอยู่เห็นจะเอาไชยชนะไม่ได้ ขอให้กะเกณฑ์ผู้คนในหัวเมืองทางข้างใต้เพิ่มเติมเข้ากระบวนทัพเสียก่อนจึงค่อยยกลงมา พระมหาอุปราชาเห็นชอบด้วย จึงตั้งพักอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ให้กะเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพอยู่จนตลอดระดูฝนปีฉลูนั้น.

  1. ๑. ในพงศาวดารพม่าเรียก มินหะลาสิสุ

  2. ๒. ประเพณีแต่ก่อน เวลาเจ้านายเสด็จไปราชการ ถ้าจะมีใบบอกเข้ามากรุง ฯ ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จเปนผู้บอก เพราะต้องบอกมายังลูกขุนณศาลาก่อน กระแสรับสั่งที่มีถึงเจ้านายที่เสด็จไปราชการ เจ้ากระทรวงก็มีตราถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จให้กราบทูล ประเพณีนี้เพิ่งมาเลิกเมื่อในรัชกาลที่ ๕.

  3. ๓. ที่จริงเมื่อเดือน ๖ ปีฉลูกองทัพไทยมีที่เมืองทวายไม่มากนัก กำลังเตรียมทัพอยู่ทางกรุงเทพ ฯ จำนวนพลที่พม่ากล่าวก็ดี ที่ว่าเปนทัพกระษัตริย์ในตอนนี้ก็ดี เห็นจะฟังตามเสียงเล่าลือ เกิดแต่ที่กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปเมื่อปลายปีชวด.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ