เรื่องตีเมืองเชียงตุงครั้งปีชวด

กองทัพที่ยกไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ จำนวนพลปรากฎในรายเกณฑ์ กองทัพกรมหลวงวงศาฯ คนในกรุงเทพฯ ทั้งฝ่ายวังหลวงแลวังน่ารวม ๒,๑๕๑ คน คนหัวเมืองชั้นใน ๘ เมือง คือ เมืองพิศณุโลก ๑ เมืองศุโขไทย ๑ เมืองพิไชย ๑ เมืองพิจิตร ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ เมืองเพ็ชรบูรณ์ ๑ เมืองวิเชียร ๑ เมืองหล่มศักดิ์ ๑ รวม ๒,๔๐๒ คน รวมคนในกองทัพกรมหลวงวงศาฯ เกณฑ์ขึ้นไปแต่ข้างใต้ ๔,๕๕๓ คนทั้งนายไพร่ มีช้าง ๒๔๕ ช้าง โคต่าง ๑๕๗ ตัว กองทัพเจ้าพระยายมราชเกณฑ์คนในกรุงทั้งวังหลวงวังน่า ๙๒๖ คน คนหัวเมือง ๗ เมือง คือ เมืองสระบุรี ๑ เมืองไชยนาท ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ เมืองกำแพงเพ็ชร ๑ เมืองตาก ๑ เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองเถิน ๑ เปนคน ๑,๐๐๙ คน รวมคนในกองทัพเจ้าพระยายมราชเกณฑ์ขึ้นไปจากข้างใต้ทั้งสิ้น ๑,๙๓๕ คน มีช้าง ๑๔๕ ช้าง รวมเบ็ดเสร็จทั้ง ๒ ทัพ จำนวนคนที่เกณฑ์ไปจากข้างใต้รวม ๖,๔๘๘ คน ช้าง ๓๔๙ ช้าง โคต่าง ๑๕๘ ตัว จำนวนเครื่องสาตราวุธที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ ปืนใหญ่อย่างสัมมาทิษฐิ กระสุน ๓ นิ้ว ๑ กระเบียด ๕ กระบอก ปืนขนาดกลางรวม ๑๙๑ กระบอก ปืนเล็กอย่างคาบศิลา ๔๐๐ กระบอก กับกระสุนดินดำพร้อม จำนวนคนเกณฑ์ในมณฑลภาคพายัพทุกหัวเมืองอิก ๒๐,๐๐๐ กองลำเลียงเกณฑ์คนเมืองหลวงพระบาง ๓,๐๐๐ จำนวนพลที่เกณฑ์เข้ากองทัพไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีชวด รวมเบ็จเสร็จทั้งสิ้นประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน กำหนดประชุมทัพพร้อมกันที่เมืองเชียงแสน.

เจ้าพระยายมราชยกกองทัพน่าออกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ยกไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร์เมืองตากแลเมืองเชียงใหม่ กองทัพกรมหลวงวงศาฯ ยกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ ภายหลังกองทัพเจ้าพระยายมราชยกไป ๒๐ วัน เสด็จไปทางเมืองพิศณุโลก เมืองอุตรดิฐ เมืองน่าน แลเมืองเชียงของ.

กองทัพกรมหลวงวงศาฯ เสด็จโดยกระบวนเรือขึ้นไปถึงเมืองอุตรดิฐเมื่อณวันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๑๐ ค่ำ ต้องพักรอผู้คนพาหนะอยู่ที่นั่นเดือนหนึ่ง จึงได้ยกต่อไป รวมเวลาเดินทัพกรมหลวงวงศาฯ แต่กรุงเทพฯ ๓ เดือนจึงเสด็จไปถึงเมืองเชียงแสนเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ส่วนกองทัพเจ้าพระยายมราชนั้น เมื่อจะขึ้นเดินบกที่เมืองตากจะต้องพักรออยู่เท่าใดหาปรากฎไม่ ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ รวมเวลาแต่ออกจากกรุงเทพฯ ไปได้ ๒ เดือนกับ ๒ วัน เจ้าพระยายมราชต้องไปรอเร่งรี้พลแลเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองเชียงใหม่อิกเดือน ๑ กับ ๗ วัน จนถึงวันพฤหัศบดีเดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ จึงได้ยกขึ้นไปจากเมืองเชียงใหม่ ขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสนเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ภายหลังกรมหลวงวงศา ฯ เสด็จไปถึง ๓ วัน.

กองทัพขึ้นไปประชุมกันที่เมืองเชียงแสนครั้งนั้น เสบียงอาหารเกณฑ์เข้าสารส่งขึ้นไปจากเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ใช้ลำเลียงด้วยช้างแลโคต่าง มีจำนวนเข้าสารที่ได้สำรวจในเดือน ๔ เวลาเมื่อกองทัพขึ้นไปพร้อมกันนั้น

เข้าเมืองเชียงใหม่ส่งแล้ว ๖,๕๐๐ ถัง ยังค้าง ๓,๕๐๐ ถัง

เข้าเมืองเชียงรายส่งแล้ว ๓,๐๐๐ ถัง

เข้าเมืองนครลำปางส่งแล้ว ๖,๐๐๐ ถัง ยังค้าง ๖,๐๐๐ ถัง

เข้าเมืองลำพูนส่งแล้ว ๔,๒๐๐ ถัง ยังค้าง ๘๐๐ ถัง

รวมเข้าส่งแล้ว ๑๙,๗๐๐ ถัง ยังค้าง ๑๐,๓๐๐ ถัง

เมื่อกองทัพประชุมพร้อมกันที่เมืองเชียงแสนแล้ว นับว่าเปนสำเร็จการเบื้องต้นชั้นหนึ่ง แต่นี้ถึงชั้นที่จะตีเมืองเชียงตุงต่อไป ปรากฎว่ากรมหลวงวงศา ฯ มีรับสั่งให้เจ้าพระยายมราชยกล่วงน่าไปกับกองทัพเมืองเชียงใหม่เมืองนครลำปาง แลเมืองลำพูน เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ให้เดินเข้าแดนเมืองเชียงตุงทางเมืองพยาก ไปถึงเมืองพยากเมื่อแรม ๘ ค่ำหามีผู้ใดต่อสู้ไม่ เจ้าพระยายมราชจึงให้กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกไปเมืองเชียงตุงทางด่านผาช้างทาง ๑ ให้กองทัพเมืองลำพูนยกไปทางเมืองล้งทาง ๑ ให้กองทัพเมืองนครลำปางกับเมืองแพร่สมทบกันยกไปทางเมืองยองอิกทาง ๑ แล้วเจ้าพระยายมราชก็ยกตามไปทางด่านผาช้าง ฝ่ายกองทัพกรมหลวงวงศา ฯ เมื่อเจ้าพระยายมราชยกไปแล้วได้ ๑๓ วัน ถึงวันพฤหัศบดี เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองเชียงแสนขึ้นไปเมืองเชียงตุงทางเมืองพยากแลด่านผาช้าง ทางเดียวกับที่กองทัพเจ้าพระยายมราชยกขึ้นไปนั้น.

ทีนี้จะต้องไปกล่าวถึงฝ่ายเมืองเชียงตุง ตามข้อความที่ปรากฎในจดหมายเหตุพอรู้เรื่องราวได้บ้าง ในเวลาที่กองทัพไทยขึ้นไปประชุมกันอยู่ที่เมืองเชียงแสนนั้น รู้ถึงเมืองเชียงตุงแลเหล่าเมืองไทยใหญ่ที่ใกล้เคียง ว่าไทยจะยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในระดูแล้งนั้นเปนแน่ เวลานั้นพม่ากำลังทำสงครามจวนจะแพ้อังกฤษ ในราชวงศ์พม่าพระเจ้าภูกามแมงก็เกิดแตกกับมินดงแมงราชอนุชา มินดงแมงให้มาเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่หมายจะเอาเปนพรรคพวก แต่เจ้าฟ้าไทยใหญ่ยังคลางแคลงมิรู้ว่าเมืองพม่าจะเปนอย่างไรแน่ ก็พากันเฉย ๆ อยู่ ไม่เข้าข้างราชวงศ์องค์ไหน ส่วนเจ้าเมืองเชียงตุงนั้นเดิมได้ปรารภจะมาสามิภักดิ์ต่อไทยเสียโดยดี แต่ขัดข้องอยู่ด้วยได้ถวายบุตรคน ๑ กับธิดาคน ๑ ไปทำราชการอยู่ในเมืองอมระบุระ เกรงพระเจ้าแผ่นดินพม่าจะฆ่าบุตรธิดาเสีย อิกประการหนึ่งพวกเจ้าเมืองไทยใหญ่ลื้อเขินทั้งปวงนี้มักเปนญาติวงศ์ฤๅเกี่ยวดองกับเมืองที่ใกล้ชิดติดต่อกัน จะทำการสำคัญอันใดมักปฤกษาหาฤๅกัน แลเวลานั้นเมืองอื่นยังยำเกรงพม่าอยู่โดยมาก เจ้าเมืองเชียงตุงจึงไม่อาจมาสามิภักดิ์ต่อไทยด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ขณะนั้นเจ้าฟ้าเมืองนายเปนเมืองขึ้นสำคัญเมืองหนึ่งในพวกไทยใหญ่ เปนญาติกับเจ้าเมืองเชียงตุงทราบว่ากองทัพไทยจะยกขึ้นไป ก็ให้มาบอกเจ้าเมืองเชียงตุง ว่าถ้ากำลังไม่พอจะรักษาเมืองเชียงตุง จะให้กองทัพเมืองนายยกมาช่วย เจ้าเมืองเชียงตุงตอบห้ามไปว่าอย่ายกมาเลย ด้วยเสบียงอาหารมีน้อยจะพากันอัตคัด จะลองต่อสู้รักษาเมืองโดยลำพังไปก่อน ถ้าเห็นเหลือกำลังจึงจะบอกไปขอกองทัพเมืองนายมาช่วย ความที่ปรากฎดังนี้ ส่อให้เข้าใจว่า ความคิดของเจ้าเมืองเชียงตุงที่จะต่อสู้กองทัพไทยในครั้งนั้น เห็นจะคิดเอาตัวเมืองเชียงตุงเปนที่มั่น กวาดขนเอาเสบียงอาหารเข้าไว้เสียในเมือง ไม่ให้ตกถึงมือไทย โดยเชื่อว่าภูมิลำเนาเมืองเชียงตุงล้วนแต่เปนภูเขา ทางที่กองทัพไทยต้องเดินไปทั้งไกลแลกันดาร การที่จะลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพเปนการลำบากยิ่งนัก ถ้าเสบียงอาหารไม่ได้ในท้องที่ จะขนส่งไปแต่แดนไทยเห็นจะไม่พอกันกิน คงต้องเลิกทัพกลับมาเพราะอดอยาก เจ้าเชียงตุงคงคิดเห็นดังว่ามานี้ จึงไม่ให้เจ้าเมืองนายส่งกองทัพมาช่วย.

ฝ่ายกองทัพไทยที่ยกขึ้นไป ไม่ต่องรบพุ่งตามหัวเมืองขึ้นของเมืองเชียงตุง ไปถึงไหนก็พบแต่บ้านเปล่าเมืองร้างไปทุกแห่ง จึงยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงได้โดยสดวก แต่เมืองเชียงตุงนั้นตั้งอยู่บนเนินเขายอด ๑ มีทั้งปอมปราการแลสนามเพลาะข้างภายนอก เตรียมรักษาบ้านเมืองไว้มั่นคง กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปถึงก่อน ไปตั้งค่ายรายบนเนินเขาข้างด้านตวันออกเฉียงใต้ ห่างเมืองเชียงตุงประมาณ ๔๐ เส้น เมื่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ตั้งค่าย พวกเมืองเชียงตุงยกออกมาตี ๓ ครั้ง ครั้นตีไม่แตกก็ถอยกลับเข้าเมือง เปนแต่เอาปืนใหญ่ยิงออกมาเนือง ๆ

กองทัพเจ้าพระยายมราชยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงเมื่อวันศุกรเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เดิมตั้งค่ายอยู่ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่มาทางด้านตวันออกเฉียงใต้ ครั้นเห็นพวกเมืองเชียงตุงออกกวนทัพเชียงใหม่นัก แลตำบลที่ตั้งค่ายนั้นก็กันดารน้ำ จึงให้ยกกองทัพขึ้นไปตั้งค่ายทางด้านเหนือ ทางที่เดินต้องเลียบเมืองไป ต้องรบกับพวกเมืองเชียงตุงไปตลอดทาง แล้วพวกเมืองเชียงตุงยกออกมาล้อมกองทัพเมืองนครลำปางกับเมืองลำพูน ซึ่งเปนกองน่าของเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชยกหนุนไปทัน พวกเชียงตุงจึงทิ้งค่ายเก่าข้างด้านเหนือ พากันถอยกลับเข้าเมือง กองทัพไทยก็ตั้งค่ายล้อมเมืองทางด้านเหนืออิก ๑๒ ค่าย ตั้งเปนระยะห่างกัน ๕ เส้นบ้าง ๖ เส้นบ้าง แนวค่ายห่างกำแพงเมืองประมาณ ๓๐ เส้น พวกเมืองเชียงตุงเอาปืนใหญ่ตั้งบนเชิงเทินยิงค่ายไทย ฝ่ายไทยเอาปืนใหญ่ตั้งที่ค่ายยิงเข้าไปในเมืองบ้างมิใคร่จะถึง ด้วยเมืองเชียงตุงตั้งอยู่บนเนินเขาสูงกว่าค่ายไทย ลูกปืนยิงไปจากค่ายไทยไปตกเพียงเชิงกำแพงเมืองบ้าง เพียงถูกใบเสมาบ้าง เจ้าพระยายมราชจึงให้กองทัพยกไปตีค่ายซึ่งตั้งอยู่บนเขาจอมศรีข้างนอกเมือง ครั้นตีได้แล้วให้เอาปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเขาจอมศรี อันเปนที่สูงกว่าเนินเมือง ยิงโต้กับปืนใหญ่ข้างในเมือง แต่นั้นพวกเชียงตุงก็เปนแต่รักษาเมืองมั่นอยู่.

ฝ่ายกองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ซึ่งยกตามกองทัพเจ้าพระยายมราชขึ้นไป ยกไปไม่ช้าเท่าใดความลำบากข้อสำคัญก็ปรากฎแก่พระไทยกรมหลวงวงศาฯ คือที่หนทางล้วนเปนห้วยเขา จะลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพได้โดยยากประการ ๑ แลในเดือน ๕ เวลาที่ยกกองทัพไปนั้น กำลังแล้งจัดจะหาหญ้าฟางเลี้ยงช้างม้าพาหนะมิใคร่ได้ด้วยอย่าง ๑ แต่ยังหวังพระไทยว่าจะตีเมืองเชียงตุงได้ก่อนกองทัพถึงอัตคัด จึงเสด็จขึ้นไปเมืองเชียงตุงตามที่ได้กำหนดไว้ กองทัพหลวงยกไปถึงเมืองชวนเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ยังห่างเมืองเชียงตุงระยะทางเดินครึ่งวัน พวกเมืองเชียงตุงแต่งกองโจรประมาณ ๒๐๐ คน ให้เอาผ้าแดงโพกศีศะเหมือนอย่างเครื่องแต่งตัวของพวกกองทัพเมืองเชียงใหม่ มารายกันซุ่มอยู่ตามทาง พวกกระบวนทัพที่ไปข้างน่าสำคัญว่าเปนชาวเมืองเชียงใหม่ เพราะพวกเชียงตุงก็พูดภาษาไทยเหมือนกับชาวเชียงใหม่จึงมิได้สงไสย ต่างพวกต่างผ่านเลยไป จนช้างพระที่นั่งกรมหลวงวงศา ฯ ทรงไปถึง พวกกองโจรเมืองเชียงตุงก็ออกระดมยิง แต่เดชะบุญกูบช้างบังพระองค์หาถูกปืนไม่ แต่ต้องรอกระบวนทัพอยู่ที่เมืองชวน ให้เที่ยวไล่จับพวกกองโจรเมืองเชียงตุงอยู่วัน ๑ แลในวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำนั้น ได้ยินเสียงปืนที่รบกันณเมืองเชียงตุงลงมาถึงทัพหลวง กรมหลวงวงศา ฯ จึงมีรับสั่งให้พระยานครสวรรค์รีบยกขึ้นไปสืบความ ครั้นเจ้าพระยายมราชบอกข้อราชการมาทูล กรมหลวงวงศาฯ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปยังเมืองเชียงตุงเมื่อวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เมื่อผ่านเมืองได้รบกับพวกเมืองเชียงตุงไปตลอดทาง แล้วพวกเมืองเชียงตุงแต่งกองโจรตีตัดหลังกระบวนทัพ แต่คราวนี้ได้เตรียมการป้องกันไว้ ข้าศึกไม่สามารถจะทำร้ายอย่างใดได้ กองทัพหลวงก็ยกไปได้โดยสดวก ไปตั้งค่ายอยู่ข้างด้านเหนือเมืองอิกค่าย ๑.

กรมหลวงวงศาฯ เสด็จไปถึงเมืองเชียงตุง ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิที่ แลกระบวนทัพอันตั้งต่อสู้กันอยู่ในเวลานั้นเสร็จแล้ว ทรงพระดำริห์เห็นว่า การที่จะตีเอาเมืองเชียงตุงในครั้งนั้น ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้เพราะเหตุหลายประการ คือ.

ประการที่ ๑ กระบวนทัพที่ยกขึ้นไป ถึงจำนวนพลมากก็จริง แต่ที่เปนพลรบนั้นมีน้อยนัก เพราะต้องใช้ในการหาบหามลำเลียงเสบียงแลสิ่งของเสียโดยมาก ทั้งคนที่ไปในกองทัพจะไว้ไจใช้รบพุ่งได้จริงมีแต่ไทยที่เปนชาวเมืองใต้ ส่วนพวกลาวไม่กล้าหาญในการรบพุ่ง เพราะฉนั้นกำลังรี้พลไม่พอที่จะตีเอาเมืองเชียงตุงประการ ๑.

ประการที่ ๒ เมืองเชียงตุงเปนเมืองมีป้อมปราการตั้งอยู่บนเขา ต้องใช้ปืนใหญ่เปนกำลังที่จะตีเอาเมือง ปืนใหญ่ที่มีไปในกองทัพยังน้อยนัก แลขนาดปืนก็เล็กไป ทางปืนที่ข้าศึกรักษาเมืองยิงได้ไกลกว่า ทั้งกระสุนดินดำที่ขนเอาไปก็ไม่พอจะรบพุ่งได้นานวัน เพราะฉนั้นกำลังเครื่องสาตราวุธยังไม่พอที่จะตีเอาเมืองเชียงตุงได้อิกประการ ๑.

ประการที่ ๓ เสบียงอาหารสำหรับผู้คนในกองทัพ ตลอดจนหญ้าฟางที่จะเลี้ยงช้างม้าพาหนะก็อัตคัดประการ ๑.

กรมหลวงวงศา ฯ คงจะได้ทรงปฤกษาหาฤๅกับแม่ทัพนายกองเห็นความขัดข้องดังกล่าวมานี้ พอรุ่งขึ้นวันพุฒ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงมีรับสั่งให้แบ่งคนในกองทัพเมืองเชียงใหม่ ๒๐๐ คน ให้พาคนเจ็บป่วยในกระบวนทัพกลับลงมาเมืองพยากก่อน ต่อมาอิก ๓ วัน กรมหลวงวงศา ฯ ก็มีรับสั่งให้ถอยกองทัพทั้งปวงกลับมาจากเมืองเชียงตุงโดยอันดับกัน การที่รีบถอยทัพกลับนี้คงเปนเพราะเห็นว่าใกล้ระดูฝนอยู่แล้ว ถ้าช้าไปฝนตกน้ำป่ามาท่วมห้วย กองทัพจะกลับได้โดยยาก เมื่อกองทัพยกกลับมาครั้งนั้นหาปรากฎว่าพวกเมืองเชียงตุงออกติดตามทำร้ายได้อย่างไรไม่ กรมหลวงวงศา ฯ เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่เมืองน่าน เจ้าพระยายมราชกลับลงมาพักอยู่ที่เมืองตาก แต่ยังคงรักษาการที่เมืองเชียงรายแลเมืองเชียงแสนไว้เปนที่ตั้งกองทัพต่อมาในระดูฝนปีฉลูนั้น.

  1. ๑. คนเมืองนครสวรรค์เข้าทั้ง ๒ กองทัพ.

  2. ๒. ปืนอย่างนี้เปนปืนเหล็ก คิดสร้างขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีอิกอย่าง ๑ เรียกว่า ปืนรักษาสาสนา คิคแบบสร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน.

  3. ๓. ปืนขนาดกลางมี ๓ อย่าง เรียกว่าปืนหลักอย่าง ๑ ปืนชาดสุตันอย่าง ๑ ปืนหลังม้าอย่าง ๑.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ