สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕

ตั้งแต่ไทยไปช่วยอังกฤษตีเมืองพม่าเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ที่กล่าวมาแล้ว ต่อมาไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นในระหว่างไทยกับพม่า ๒๕ ปี แต่ทางเมืองพม่าเกิดเหตุการณ์หลายอย่าง จะต้องเล่าเรื่องพงษาวดารพม่าในตอนนี้เสียก่อน แล้วจึงจะกล่าวถึงเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๐ ต่อไป.

จำเดิมแต่พม่าต้องทำหนังสือสัญญายอมแพ้อังกฤษ พระเจ้าอังวะจักกายแมงก็ทรงโทมนัศน้อยพระไทยเปนกำลัง จนเลยเสียพระจริตไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้ นางอรรคมเหษีซองพระเจ้าจักกายแมงกับมังขิมราชอนุชา ซึ่งมียศเปนที่แสรกแมง จึงช่วยกันว่าราชการต่างพระองค์มา โดยหวังว่าอาการของพระเจ้าอังวะจะมีเวลาค่อยคลายขึ้น แต่พระอาการก็หาคลายขึ้นไม่ ครั้นนานวันเข้านางอรรคมเหษีจึงตั้งน้องชายคนหนึ่งชื่อ มังชาคยี เปนที่ปฤกษาช่วยว่าราชการด้วย ก็เกิดเปนอริกับแสรกแมงราชอนุชา แสรกแมงไม่พอพระไทยจึงบอกป่วยไปอยู่ที่เมืองมุดโชโบอันเปนเมืองเดิมของพระเจ้าอลองพญาผู้เปนไปยกา อยู่มาได้ ๖ ปี ทำนองเมื่อความปรากฎชัดว่าพระเจ้าจักกายแมงคงจะไม่กลับคืนดีได้เปนแน่แล้ว นางอรรคมเหษีสงไสยว่าแสรกแมงจะชิงราชสมบัติ จึงปฤกษากับน้องชายคิดจะกำจัดเสีย แต่ความนั้นรู้ไปถึงแสรกแมงก่อน แสรกแมงจึงรวบรวมกำลังเข้ามาตีเมืององวะ ก็ได้เมืองโดยง่าย ให้จับนางอรรคมเหษีกับน้องชายจำไว้ แต่ส่วนพระเจ้าจักกายแมงนั้น แสรกแมงให้ทำนุบำรุงไว้มิได้ทำร้าย แล้วแสรกแมงก็ตั้งตัวเปนรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ส่วนพระเจ้าจักกายแมงนั้นอยู่มาจนปีมเสง พ.ศ. ๒๓๘๘ จึงประชวรสิ้นพระชนม์ พระเจ้าแสรกแมงจะได้ทำพิธีราชาภิเศกเมื่อใดหากล่าวชัดไม่ แต่พม่านับรัชกาลมาแต่ขึ้นครองแผ่นดินเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๘๐.

เมื่อพระเจ้าแสรกแมงขึ้นครองราชสมบัตินั้น พม่ากำลังลำบากอยู่ด้วยเรื่องที่ต้องทำตามข้อสัญญายอมแพ้อังกฤษหลายประการ คือที่ต้องเสียสินไหมให้แก่อังกฤษถึง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปีย์นั้นเปนต้น พระเจ้าอังวะไม่มีเงินในท้องพระคลังพอจะเสีย ก็ต้องให้เที่ยวกะเกณฑ์ขอร้องตามเมืองขึ้น เอาเงินมาผ่อนใช้ให้อังกฤษ ก็เกิดความเดือดร้อนแพร่หลาย ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าพม่าไม่ทำได้ดังสัญญา จึงตั้งเฮนรี เบอร์นี ผู้ที่เคยเปนทูตมาเมืองไทยไปอยู่ประจำในเมืองพม่าตามข้อสัญญา พระเจ้าแสรกแมงถูกเบอร์นีไปเร่งรัดรบกวนเข้าอิกชั้น ๑ มิรู้ที่จะทำประการใดก็ “เอาข้างเข้าถู” ว่าเบอร์นีเปนแต่คนรับใช้ของเจ้าเมืองบังกล่า มิได้มาแต่ราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ จะพูดจาด้วยโดยฐานเปนราชทูตนั้นไม่ได้ ครั้นเบอร์นีอ้างถึงหนังสือสัญญา พระเจ้าแสรกแมงก็ตอบว่าหนังสือสัญญานั้น พระเจ้าแสรกแมงมิได้รู้เห็นด้วย เปนของพระเจ้าจักกายแมงทำต่างหาก เดี๋ยวนี้พระเจ้าจักกายแมงก็เสียพระจริตเสียแล้วจะทำอย่างไรได้ อังกฤษรู้สึกว่าถ้าจะกวดขันให้พม่าทำสัญญาให้ได้ก็จะถึงต้องยกกองทัพมาอิก เห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะได้ในสัญญา คือเมืองขึ้นของพม่าเปนต้น อังกฤษก็ได้ไปหมดแล้ว ยังค้างแต่ส่วนซึ่งเปนพลความ ประโยชน์ไม่คุ้มทุนที่มาทำสงครามอิก อังกฤษจึงให้ทูตกลับไปเสียคราวหนึ่ง แต่ก็ไม่เปนประโยชน์แก่พม่าเท่าใดนัก ด้วยเหล่าเมืองขึ้นของพม่าที่ถูกเกณฑ์เงินปั่นป่วนรวนเรอยู่แล้ว ในไม่ช้าพวกเมืองไทยใหญ่ประเทศราชก็พากันกระด้างกระเดื่อง ที่ตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นต่อพม่าก็มาก ฝ่ายพระเจ้าแสรกแมงนั้น กล่าวกันว่าแต่เดิมก็เปนนักเลงสุราอยู่แล้ว ครั้นมาถูกคับแค้นในเวลาว่าราชการแผ่นดินก็เสวยสุราหนักขึ้น จนเลยเสียพระสติไปอิกองค์ ๑ แต่ไม่ช้าก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๙ เสวยราชยได้เพียง ๙ ปี มังถ่องราชโอรส ซึ่งมียศเปนภุกามแมง คือเปนเจ้าของเมืองภุกามได้รับราชสมบัติเปนรัชกาลที่ ๙ ในราชวงศ์อลองพญาต่อมา.

พระเจ้าภูกามแมงนี้ ในหนังสือเรื่องราชวงศ์อลองพระกล่าวว่าไม่ร้ายกาจเหมือนพระเจ้าแสรกแมง แต่ว่าอ่อนแอ พวกข้าราชการจึงประพฤติ์ได้ตามอำเภอใจ เจ้าเมืองกรมการซึ่งมีน่าที่เก็บเงินส่งเข้าไปเมืองหลวง ตั้งแต่พม่าต้องใช้หนี้อังกฤษ จึงเอาการที่เรียกเร่งเงินหลวงเปนเหตุหาผลประโยชน์ของตนด้วยโดยมาก แลครั้งนั้นมองโอ๊ก ได้เปนเทศาภิบาลหัวเมืองฝ่ายใต้ของพม่าอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง อันเปนเมืองท่าที่เรือกำปั่นของชาวต่างประเทศไปค้าขาย มีนายเรืออังกฤษ ๒ คน ต้องหาว่าทำให้คนในเรือถึงตาย มองโอ๊กจับเอาตัวไปกักขังไว้ ครั้นพิจารณาไม่ได้ความจริงดังข้อหา กลับพาลหาเหตุบังคับปรับไหมลงเอาเงินแก่นายเรืออังกฤษแล้วจึงปล่อยไป นายเรืออังกฤษกลับไปฟ้องต่อรัฐบาลอินเดีย เวลานั้นลอดดัลเฮาสีเปนเจ้าเมืองบังกล่า ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ ให้มาต่อว่ามองโอ๊กจะขอให้ทำขวัญนายเรืออังกฤษ มองโอ๊กไม่ยอม เจ้าเมืองบังกล่าเห็นว่าพูดกับพม่าโดยดีไม่ใคร่จะสำเร็จประโยชน์ จึงให้นายพลเรือจัตวา ชื่อแลมเบิตคุมเรือรบ ๒ ลำมายังเมืองร่างกุ้ง สั่งให้มาว่ากล่าวแก่มองโอ๊กถึงเรื่องที่จับนายเรืออังกฤษ ๒ คนกักขัง และลงเอาเงินโดยหาความผิดมิได้เรื่อง ๑ แลเรื่องที่ทุบตีแล้วจับกลาสีเรืออังกฤษกักขังอิกหลายคนด้วยอิกเรื่อง ๑ ให้เรียกเอาเงินทำขวัญรวม ๑๐,๐๐๐ รูปีย์ ถ้าได้โดยดีก็เปนแล้วกัน ถ้ามองโอ๊กไม่ยอมทำขวัญก็ให้นายพลเรือจัตวาแลมเบิตส่งหนังสือของเจ้าเมืองบังกล่า ซึ่งให้ถือมาด้วยนั้น ไปถวายพระเจ้าภูกามแมงบังอับมองโอ๊กให้ทำขวัญพวกอังกฤษที่ถูกกดขี่ แลขอให้เอามองโอ๊กออกเสียจากตำแหน่งเทศาภิบาลด้วย.

นายพลเรือจัตวาแลมเบีตคุมเรือรบมาถึงเมืองร่างกุ้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน คฤศตศก ๑๘๕๑ ตรงกับราวเดือน ๑๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ (อันเปนปีแรกในรัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร) นายพลเรือจัตวาแลมเบีตมาว่ากล่าวหาตกลงกันได้ไม่ จึงส่งหนังสือเจ้าเมืองบังกล่าขึ้นไปยังเมืองอมระบุระ แลบอกขึ้นไปว่าจะรอฟังตอบอยู่เพียง ๓๕ วัน พระเจ้าภูกามแมงให้มีศุภอักษรตอบลงมาเปนทางไมตรี ว่าจะให้มองหม่อนลงมาเปนเทศาภิบาลแทนมองโอ๊ก แลให้ลงมาเจรจาอับอังกฤษต่อ นายพลเรือจัตวาก็รอฟังอยู่.

มองหม่อนเทศาภิบาลคนใหม่ลงมาถึงเมืองร่างกุ้งเมื่อเดือนยี่ปีกุญ แต่พระเจ้าภูกามแมงให้มองหม่อนเปนแม่ทัพคุมกำลัง ๓๐,๐๐๐ ลงมารักษาเมืองร่างกุ้งด้วย แล้วให้มองนโยคุมกำลัง ๒๐,๐๐๐ ไปรักษาเมืองพสิม อันเปนเมืองท่าอยู่ปากน้ำเอราวดี แลให้มองบวาคุมกำลัง ๓๐,๐๐๐ ไปรักษาเมืองเมาะตมะ อันต่อกับแดนหัวเมืองซึ่งยกให้อังกฤษในคราวนั้นด้วยอิก ๒ แห่ง อังกฤษก็สงไสยว่าพม่าทำกลอุบายจะถ่วงเวลา ประสงค์จะตระเตรียมการต่อสู้ มองหม่อนลงมาถึงเมืองร่างกุ้งไม่ช้า ก็สั่งให้ปิดปากน้ำมิให้เรือกำปั่นเข้าออก นายพลจัตวาแลมเบิตเห็นว่าพม่าจะคิดร้าย จึงให้พวกทหารไปแย่งเอาเรือกำปั่นรบของพม่า ซึ่งมีอยู่ที่เมืองร่างกุ้งมาไว้เสียในมือของอังกฤษ ป้อมพม่าก็ยิงเอาเรือรบอังกฤษ ๆ กับพม่าจึงเกิดยุทธสงครามกันขึ้นเปนครั้งที่ ๒ เมื่อเดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕.

การสงครามครั้งนี้รัฐบาลอินเดียให้นายพล คอดวิน เปนแม่ทัพบก คุมทหารฝรั่ง ๕,๘๐๐ แลให้นายพลจัตวาแลมเบิตคุมกองทัพเรือมีจำนวนพล ๒,๕๐๐ มาตีเมืองพม่า อังกฤษตีเมืองเมาะตมะก่อนแล้วจึงมาตีเมืองร่างกุ้ง แต่คราวนี้พม่าต่อสู้แขงแรงกว่าคราวก่อน เพราะได้มีเวลาตระเตรียมแลรู้ทางที่อังกฤษจะยกกองทัพมาแน่นอนตั้งแต่แรก แต่สู้กำลังสาตราวุธอังกฤษไม่ได้ ก็พ่ายแพ้มาโดยลำดับ อังกฤษตีได้เมืองเมาะตมะแลเมืองร่างกุ้งเมื่อเดือน ๕ ปีชวด ตีได้เมืองพสิมเมื่อเดือน ๖ พออังกฤษตีได้หัวเมืองมอญ พวกมอญก็พากันเปนขบถต่อพม่า มาเข้ากับอังกฤษโดยมาก พาอังกฤษขึ้นไปตีเมืองหงษาวดีเมื่อเดือน ๗ ปีชวด แต่อังกฤษกับพม่ารบพุ่งกันต่อมาอิกช้านานในที่สุดอังกฤษประกาศเอาหัวเมืองของพม่าบรรดาอยู่ทางปากน้ำ ตั้งแต่เมืองหงษาวดีลงมา เปนของอังกฤษเมื่อเดือนยี่ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ แล้วตั้งรักษาหัวเมืองเหล่านั้นไว้ หาตีต่อขึ้นไปจนถึงเมืองอมระบุระอันเปนราชธานีของพม่าไม่.

ฝ่ายข้างพม่าพอหมดกำลังที่จะต่อสู้อังกฤษก็เกิดรบกันขึ้นเอง เหตุด้วยพระเจ้าภูกามแมงสงไสยว่า มินดงแมงน้องยาเธอกับเจ้าน้องของมินดงแมงอิกองค์ ๑ จะชิงราชสมบัติ แต่เจ้า ๒ องค์นั้นหนีไปได้ ไปตั้งซ่องสุมรี้พลที่เมืองมุดโซโบ พระเจ้าภูกามแมงให้กองทัพยกไปปราบปราม ไปแพ้เจ้า ๒ องค์ ๆ ก็เลยตามลงมาตีได้เมืองอมระบุระเมื่อเดือน ๓ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงปลงพระเจ้าภุกามแมงเสียจากราชสมบัติเอาคุมไว้ แล้วเจ้ามินดงแมงก็ขึ้นครองแผ่นดินพม่า ปรากฎพระนามว่าพระเจ้ามินดง แล้วก็เลิกสงครามกับอังกฤษในครั้งนั้น เรื่องพงษาวดารพม่าที่เนื่องด้วยเรื่องไทยตีเมืองเชียงตุงจำต้องกล่าวเพียงเท่านี้.

ทีนี้จะกล่าวถึงมูลเหตุที่ไทยจะไปตีเมืองเชียงตุงต่อไป เมื่อพม่าแพ้สงครามอังกฤษคราวแรกแล้วไม่ช้านัก ในตอนปลายแผ่นดินพระเจ้าแสรกแมงเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ เจ้าหม่อมมหาวังเจ้าเมืองเชียงรุ้งถึงอนิจกรรม เจ้ามหาขนานเปนอาว์เจ้าหม่อมมหาวังขึ้นนั่งเมืองแทน เจ้าศาลวันบุตรเขยของเจ้าหม่อมมหาวังเปนตำแหน่งราชบุตรอยู่แต่ก่อน คบคิดกับหม่อมมหาไชยผู้เปนน้องเขยของเจ้าหม่อมมหาวัง จับเจ้ามหาขนานปู่น้อยซึ่งขึ้นนั่งเมืองฆ่าเสีย แล้วเจ้าศาลวันตั้งตัวขึ้นเปนแสนหวีเจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง ให้น้องชายชื่อออละนาวุดเปนเจ้าอุปราช.

เมืองเชียงรุ้งนั้นเปนเมืองในจำพวกสิบสองปันนา อยู่ข้างเหนือเมืองน่าน พลเมืองเปนไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าลื้อ แลแว่นแคว่นสิบสองปันนานี้ตั้งอยู่ในระหว่างแดนจีนแดนพม่ากับแดนลานนาไทย ผ่ายไหนมีอานุภาพมากเมืองเชียงรุ้งก็ยอมขึ้นอยู่กับฝ่ายนั้น เคยขึ้นอยู่กับพม่าบ้างอยู่กับจีนบ้าง ถ้าเวลาใดแดนสยามแผ่ขึ้นไปถึง เช่นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร แลครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เมืองเชียงรุ้งก็มายอมขึ้นไทยอยู่ตลอดเวลาที่ป้องกันไว้ได้จากจีนแลพม่า เปนมาดังนี้แต่โบราณ.

เมื่อเจ้าศาลวันแย่งเมืองเชียงรุ้งได้ในคราวที่กล่าวมานี้ กรุงเทพฯ ทิ้งเมืองเชียงรุ้งเสียแล้วช้านาน เจ้าศาลวันเห็นว่าพม่ากำลังปลกเปลี้ย จึงไปอ่อนน้อมขอตราตั้งต่อจีน เจ้าเมืองฮุนหนำก็มีตราลงมาตั้งให้เจ้าศาลวันเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง แลให้น้องชายเปนเจ้าอุปราชตามปราถนา ฝ่ายหม่อมหน่อคำบุตรของเจ้ามหาขนานที่ถูกฆ่าเห็นจีนเข้ากับเจ้าศาลวัน จึงหนีมาหาเจ้าเมืองเชียงตุงอันเปนเมืองใหญ่ขึ้นอยู่กับพม่า จะขอเอาพม่าเปนที่พี่ง เจ้าเมืองเชียงตุงก็ส่งหม่อมหน่อคำไปยังเมืองอังวะ ขณะนั้นพม่ากำลังต้องการเงินที่จะใช้สินไหมอังกฤษ หม่อมหน่อคำจึงคิดอ่านเอาเงินไปช่วยราชการให้มีความชอบ แล้วขอให้พม่าตั้งเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้งแทนบิดา เวลานั้นพระเจ้าจักกายแมงเสียพระจริตดังกล่าวมาแล้ว ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพม่าจึงมีท้องตราให้หม่อมหน่อคำถือมาถึงข้าหลวงพม่าที่เมืองหมอกใหม่ ให้เกณฑ์กองทัพพม่าสมทบกับพวกไทยใหญ่แลพวกเขินเมืองเชียงตุง รวมพล ๓,๐๐๐ พาหม่อมหน่อคำมาตั้งเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ฝ่ายเจ้าศาลวันรู้ว่าหม่อมหน่อคำเอาเงินไปบนพม่าขอกองทัพมาได้ก็ตกใจ จึงปฤกษากันในวงศ์ญาติว่าจะทำอย่างไรดี นางปิ่นแก้วมารดาของเจ้าศาลวัน ทำนองจะได้รู้จักคุ้นเคยกับข้าหลวงพม่าที่มากับกองทัพ จึงรับจะช่วยแก้ไข แล้วเขียนหนังสือลับให้คนสนิทถือไปถึงข้าหลวงพม่า กับเงิน ๕๐ ชั่งแลทองคำหนัก ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขอให้ข้าหลวงช่วยให้เจ้าศาลวันได้คงเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้งต่อไป เงินทองที่ส่งไปนั้นขอช่วยราชการ (ให้มากกว่าของหม่อมหน่อคำ) แลบอกให้จักกายหลวงผู้เปนข้าหลวงเข้าใจว่า ถ้าสำเร็จได้ดังปราถนา ตัวเจ้าปิ่นแก้วก็จะยอมเปนภรรยาของจักกายหลวงด้วย ข้าหลวงพม่ามีหนังสือลับตอบมาถึงนางปิ่นแก้วว่า จะช่วยเหลือโดยเปิดเผยนั้นไม่ได้ ด้วยเมื่อพระเจ้าอังวะรับเงินของหม่อมหน่อคำได้สัญญาว่าจะให้ครองเมืองเชียงรุ้ง จะต้องพาหม่อมหน่อคำไปครองเมืองให้ได้ดังสัญญาเสียก่อน เมื่อหม่อมหน่อคำได้ครองเมืองแล้วถึงจะเกิดเหตุการณ์อย่างไรต่อไป จักกายหลวงก็จะไม่ป้องกันหม่อมหน่อคำ เพราะพ้นเขตรสัญญาแล้ว ให้คิดอ่านกันเองเถิด แล้วจักกายหลวงก็ยกกองทัพพาหม่อมหน่อคำไปยังเมืองเชียงรุ้ง ขณะนั้นเจ้าศาลวันก็พาพรรคพวกหลบหนีไปเสีย พอหม่อมหน่อคำขึ้นนั่งเมืองเชียงรุ้งแล้ว จักกายหลวงก็รีบเลิกทัพกลับไป พอล่วงเวลามาอิก ๓ วันเจ้าศาลวันก็คุมกำลังเข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง หม่อมหน่อคำสู้ไม่ได้ก็หนีไปเมืองเชียงตุง ไปร้องทุกข์กล่าวโทษข้าหลวงพม่าว่าแกล้งทิ้งเสีย เจ้าเชียงตุงรับธุระหม่อมหน่อคำบอกเรื่องราวไปยังเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจึงให้เกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกมาใหม่ กองทัพพม่าตีได้เมืองเชียงรุ้ง จับได้อุปราชน้องเจ้าศาลวันส่งไปยังเมืองอังวะ เจ้าศาลวันนั้นหนีไปเมืองจีน แต่หม่อมมหาไชยอาว์เขยของเจ้าศาลวันนั้น อพยพพรรคพวกประมาณหมื่นเศษ หนีลงมาอาไศรยอยู่ที่เมืองหลวงภูคา แดนไทยในเขตรเมืองน่าน หม่อมหน่อคำก็ได้ครองเมืองเชียงรุ้งต่อมา.

อยู่มาหม่อมหน่อคำเกิดวิวาทขึ้นกับมหาไชยงาดำแลนายลิ้นด่างซึ่งเปนพวกเดียวกันมาแต่ก่อน ถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันตายลงไปเอง เจ้าศาลวันซึ่งหนีไปอยู่ในแดนจีนรู้ข่าวก็รีบไปยังเมืองอังวะ ไปคิดกับเจ้าอุปราชน้องชายซึ่งพม่าจับได้ไปแต่ก่อน ร้องขอเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้งอย่างเดิม แลรับจะถวายเงินช่วยราชการเปนเงิน ๙๘,๖๐๐ บาท พระเจ้าภูกามแมงจึงตั้งเจ้าศาลวันกลับมาเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ให้น้องชายกลับมาเปนเจ้าอุปราชอย่างเดิม เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ เจ้าศาลวันกับเจ้าอุปราชไม่มีเงินพอจะให้พม่าตามที่ได้รับสัญญาไว้ จึงคิดอ่านเฉลี่ยเรี่ยรายเรียกเงินจากราษฎรตามมีมากแลน้อย พวกราษฎรพากันรู้สึกเดือดร้อนก็เกิดเปนขบถขึ้น เจ้าศาลวันเห็นเหลือกำลังที่จะปราบปรามจึงรีบไปยังเมืองพม่า หมายจะไปขอผัดผ่อนเงินที่จะต้องเสีย แลจะขอกำลังพม่ามาช่วยปราบปรามพวกขบถ เมื่อเจ้าศาลวันไปทางโน้น ทางนี้พวกขบถกำเริบหนักขึ้น เจ้าอุปราชที่รักษาเมืองเห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน จึงพานางปิ่นแก้วผู้มารดากับน้องหญิงของเจ้าศาลวันอพยพครอบครัวหนีลงมาอาไศรยอยู่ในแดนไทยที่เมืองหลวงพระบาง เจ้านครหลวงพระบางบอกมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้รับเจ้าอุปราชเมืองเชียงรุ้งกับนางปิ่นแก้ว กับทั้งหม่อมมหาไชยที่มาอยู่เมืองหลวงภูคาลงมายังกรุงเทพฯ เจ้าอุปราชแลพวกลื้อทูลเรื่องแถลงเหตุการณทั้งปวงแล้ว ขอพระบารมีเปนที่พึ่งแก่เมืองสิบสองปันนา จะขอเปนข้าขอบขันธเสมาต่อไป.

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองเชียงรุ้งแลแว่นแคว้นสิบสองปันนา ก็เคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาแลกรุงเทพมหานคร ฯ มาแต่ก่อน ครั้งนี้พวกลื้อได้ความเดือดร้อนพากันอพยพมาอาไศรยอยู่ในพระราชอาณาเขตรเปนอันมาก เมื่อพวกลื้อสมัคจะขอขึ้นไทย ถ้าจะไม่รับก็เหมือนกับกลัวพม่า ทรงพระราชดำริห์ว่าที่พม่ามีอำนาจในเมืองเชียงรุ้ง ก็เพราะพม่าได้อาไศรยเมืองเชียงตุงอันอยู่ต่อแดนสิบสองปันนาทางด้านตวันตก เหมือนอย่างเมืองพม่าได้อาไศรยเมืองเชียงใหม่ จึงมีอำนาจต่อไปถึงเมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์แต่ปางก่อน ถ้าพม่าไม่ได้เมืองเชียงตุงเปนที่อาไศรยแล้ว ก็จำต้องปล่อยเมืองเชียงรุ้งแลสิบสองปันนา เหมือนที่ต้องปล่อยเมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์ให้แก่ไทย เพราะไทยได้เมืองเชียงใหม่ไว้ฉนั้น แลในขณะนั้นเมืองเชียงใหม่กับเมืองเชียงตุงมีเหตุวิวาทกันอยู่ เจ้านายเมืองเชียงใหม่ทูลอาสาจะไปตีเมืองเชียงตุงด้วย จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งให้เกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่จำนวนพล ๕,๐๐๐ เมืองนครลำปางจำนวนพล ๑,๐๐๐ เมืองลำพูนจำนวนพล ๕๐๐ รวมจำนวนพลทั้งสิ้น ๖,๕๐๐ จัดเปนกองทัพ ๒ กอง กอง ๑ ให้พระยาอุปราชพิมพิสารเมืองเชียงใหม่เปนแม่ทัพใหญ่ ตัวนายกองคือพระยาเมืองแก้วชื่อสุริยะ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ (ซึ่งต่อมาได้เปนพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์) ๑ นายหนานธรรมปัญโญ บุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่น (ซึ่งต่อมาได้เปนเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่) ๑ นายน้อยดาวเรือง (บุตรเจ้านครลำพูนไชยลังการ์ แลภายหลังได้เปนเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์เจ้านครลำพูน) ๑ ทัพนี้ยกขึ้นไปทางเมืองเชียงราย อิกทัพ ๑ ให้พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่เปนนายทัพ กับนายกองอิก ๗ คน มีนายน้อยมหาพรหมบุตรพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ (ซึ่งต่อมาได้เลื่อนขึ้นเปนพระเจ้ามโหตรประเทศนั้น) เปนตัวสำคัญ ยกไปทางเมืองสาดอิกทาง ๑ ให้พร้อมกันไปตีเมืองเชียงตุงในเดือน ๔ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ด้วยกันทั้ง ๒ ทัพ.

ที่พวกเจ้านายเมืองเชียงใหม่เมืองนครลำปางแลเมืองลำพูน รับอาสาไปตีเมืองเชียงตุงครั้งนี้ คงจะเปนด้วยได้สืบสวนทราบการทางเมืองพม่าว่า พวกหัวเมืองไทยใหญ่กำลังกระด้างกระเดื่องต่อพม่า ๆ จะยกกองทัพมาไม่ช่วยเมืองเชียงตุงไม่ได้ ลำพังเมืองเชียงตุงกำลังน้อยกว่าเมืองเชียงใหม่ จึงกล้ารับอาสาไป การก็เกือบสำเร็จได้ดังคาด แต่หากพวกเจ้านายเมืองเชียงใหม่ที่ยกกองทัพไปไม่ปรองดองกัน กองทัพพระยาราชบุตรกับนายน้อยมหาพรหมยกจู่ขึ้นไปหมายจะตีเมืองเชียงตุงทีเดียว ตีเข้าไปได้จนถึงชานเมือง ฝ่ายกองทัพพระยาอุปราชเดินกระบวนเปนทัพใหญ่ค่อยตีหัวเมืองรายทางเข้าไปโดยลำดับ กองทัพพระยาราชบุตรกับนายน้อยมหาพรหมซึ่งยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงได้ก่อนกำลังก็ไม่พอที่จะเข้าตีเมือง ตั้งรออยู่จนเสบียงอาหารหมดก็ต้องถอย แล้วต้องเลิกกลับมาด้วยกันทั้ง ๒ ทัพ ลงปลายบอกกล่าวโทษกันเข้ามายังกรุงเทพฯ ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ แต่เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรมากเสียแล้ว การเรื่องเมืองเชียงตุงจึงค้างมา จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อณวันพุฒ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนรัชกาลที่ ๔.

ในปีกุญต้นรัชกาลที่ ๔ นั้น ทางเมืองเชียงรุ้งเจ้าศาลวันได้กลับมาครองเมืองตามเดิม ครั้นบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วเจ้าศาลวันจึงแต่งทูตให้เชิญศุภอักษรกับต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการลงมาณกรุงเทพฯ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ความในศุภอักษรขอบพระเดชพระคุณที่ได้ทรงพระกรุณาแก่มารดาแลญาติพี่น้องกับทั้งพวกลื้อทั้งปวงที่ได้มาพึ่งพระโพธิสมภารในเวลาบ้านเมืองเปนจลาจล แลว่าบัดนี้การจลาจลก็สงบแล้ว ขอรับพระราชทานเจ้าอุปราชแลมารดาญาติพี่น้อง กับครอบครัวราษฎรที่เข้ามาอยู่ในแขวงเมืองน่านแลเมืองหลวงพระบางให้กลับไปอยู่บ้านเมืองตามเดิม จะขอพึ่งพระบารมีต่อไป ถึง ๓ ปีจะแต่งต้นไม้ทองเงินแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายครั้ง ๑ ตามประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า เจ้าอุปราชเมืองเชียงรุ้งกับมารดาแลพวกพ้องได้เข้ามารออยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๓ ปีแล้ว ควรจะให้ได้กลับไปบ้านเมืองเสียโดยเร็ว ถึงพวกครอบครัวราษฎรที่อพยพมาก็เหมือนกัน ควรจะให้กลับไปบ้านเมืองตามใจสมัค หาควรจะให้เมืองหลวงพระบางแลเมืองน่านกีดกันหน่วงเหนี่ยวเอาครัวลื้อไว้เปนประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่ จำจะต้องสงเคราะห์ให้ตลอดไปจึงจะสมกับที่เปนประเทศใหญ่เปนที่พึ่งพิงของเมืองน้อย แต่ข้อที่เมืองเชียงรุ้งสามิภักดิ์ยอมเปนเมืองขึ้นนั้น เมืองเชียงรุ้งเคยขึ้นอยู่แก่พม่าแลขึ้นอยู่แก่จีนมาแต่ก่อน จะรับไว้เปนข้าขอบขันธสีมา ถ้าพม่าฤๅจีนยกกองทัพมาเบียดเบียฬเมื่อใด จะแต่งกองทัพไทยไปช่วยป้องกันก็เปนอันยาก ด้วยหนทางไกลแลกันดารยิ่งนัก แต่เจ้าอุปราชแลหม่อมมหาไชยซึ่งมาอยู่ในกรุง ฯ ก็เฝ้าวิงวอนขอให้ช่วยป้องกันเมืองเชียงรุ้ง เพราะฉนั้นควรจะรับเมืองเชียงรุ้งไว้เปนข้าขอบขันธสีมาฤๅไม่ควรรับประการใดให้เสนาบดีประชุมกันปฤกษาหาฤๅดู แล้วกราบบังคมทูลฯ ความเห็นให้ทรงทราบ.

เสนาบดีปฤกษากันแล้วทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายกราบบังคมทูลฯ ว่า ประเพณีเมืองน้อยมาขอพึ่งเมืองใหญ่ อย่างเมืองเชียงรุ้งมาขอพึ่งกรุงเทพมหานครเช่นนี้ควรต้องรับไว้ ถ้าไม่รับกิติศัพท์ทราบไปถึงไหนก็จะเสียพระเกียรติยศในนานาประเทศ แลเรื่องราชการทางเมืองเชียงรุ้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชดำริห์แล้ว ทรงเห็นว่า ที่พม่ามีอำนาจเหนือเมืองเชียงรุ้งมาแต่ก่อนก็เพราะพม่ามีหัวเมืองใหญ่ยึดหน่วงต่อกันออกมาเปนชั้น ๆ คือเมืองหมอกใหม่เมืองนายยึดเมืองเชียงตุง ๆ ยึดเมืองเชียงรุ้งต่อออกมาอิกชั้น ๑ ถ้าไทยตีตัดเมืองเชียงตุงให้ขาดมาจากพม่าเสียได้ พม่าก็จะทำอะไรแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เพราะฉนั้นจึงได้โปรดให้กองทัพเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ครั้งนั้นก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงแล้ว แต่หากแม่ทัพนายกองทำการไม่พร้อมเพรียงกันจึงต้องถอยทัพกลับมา ครั้งนี้เห็นว่าควรจะโปรดให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปกำกับกองทัพเมืองเชียงใหม่ ให้ยกไปตีเมืองเชียงตุงให้พร้อมเพรึยงกันอิกสักครั้ง ๑ เห็นว่าคงจะได้เมืองเชียงตุง ราชการทางเมืองเชียงรุ้งก็คงสำเร็จดังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริห์ไว้ เสนาบดีทำความเห็นกราบบังคมทูล ฯ ดังกล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพ แลโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเปนแม่ทัพใหญ่ ให้เจ้าพระยายมราชนุชเปนทัพน่า ยกไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕.

กระแสพระราชดำริห์แลคำปฤกษาเสนาบดีที่ข้าพเจ้ากล่าวมา ว่าตามเนื้อความที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งไว้ เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์เห็นความขัดข้องของการที่จะเอาเมืองเชียงรุ้งไว้เปนเมืองขึ้นของไทย เพราะเหตุที่อยู่ห่างไกลไปมาถึงกันได้ยากนัก ดูเหมือนพอพระราชหฤไทยแต่เพียงจะแสดงอุปการคุณแก่พวกชาวเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งมีความทุกข์ร้อนถึงต้องทิ้งบ้านเมืองมาพึ่งพระบารมี ให้ประจักษ์แก่ใจว่าได้กลับคืนไปอยู่บ้านเมืองของตนโดยอำนาจพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อพวกเมืองเชียงรุ้งจะยอมเปนข้าขอบขันธสีมาของประเทศใดต่อไปก็แล้วแต่ใจของพวกเมืองเชียงรุ้ง อย่าให้ไทยต้องจำเปนไปป้องกันเมืองเชียงรุ้งในวันน่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่ากระแสพระราชดำริห์เห็นจะเปนดังกล่าวมานี้ ฝ่ายความเห็นของเสนาบดีข้อที่ว่าเมืองน้อยมาขอขึ้น ไม่รับก็จะเสียพระเกียรติยศ ข้อนี้เมื่อพิเคราะห์ดู ก็ดูเหมือนจะแลเห็นว่าเหตุใดจึงกล่าวดังนั้น เพราะการที่จะรับเมืองเชียงรุ้งนั้นได้แสดงโดยเปิดเผยแล้วแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ จนถึงให้กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เพราะตีเมืองเชียงตุงยังไม่ได้ การจึงค้างอยู่จนเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ถ้าจะเลิกความคิดเดิมเสีย เกรงว่าคนทั้งหลายจะลงเนื้อเห็นว่าเพราะเปลี่ยนรัชกาลใหม่ แลรัฐบาลในรัชกาลใหม่อ่อนแอไม่กล้าหาญแขงแรงเหมือนรัชกาลก่อน จึงว่าเกรงจะเสียพระเกียรติยศ ข้อที่เห็นว่าควรจะให้ไปตีเมืองเชียงตุงอิก ข้อนี้พิเคราะห์ดูเห็นว่าความเข้าใจกันในกรุงเทพ ฯ เวลานั้น คงเข้าใจว่าจะตีเมืองเชียงตุงได้ไม่ยากนัก เพราะกองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปโดยลำพังเมื่อปีระกา รี้พลมีไปเพียง ๖,๐๐๐ ก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงในครั้งนั้น แต่หากว่าพวกลาวไปเกี่ยงแย่งกันเสียการจึงไม่สำเร็จ ความคิดที่จะให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปกำกับทัพลาวไปตีเมืองเชียงตุงอิก ชรอยจะมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว แต่ติดทรงพระประชวรจึงระงับมา มิใช่คิดขึ้นใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ความเห็นของเสนาบดีถ้าว่าโดยย่อ ก็คือเห็นว่าในเรื่องเมืองเชียงตุงแลเมืองเชียงรุ้ง ควรจะทำต่อไปตามที่ได้กำหนดไว้เมื่อในรัชกาลที่ ๓ แลมีเหตุเปนข้ออุปการะแก่ความเห็นนั้นอิกอย่างหนึ่ง ด้วยขณะนั้นพม่าเกิดสงครามครั้งที่ ๒ กับอังกฤษ จะมาช่วยรักษาเมืองเชียงตุงไม่ได้ อาศรัยเหตุทั้งปวงนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงทรงพระราชดำริห์ว่า พระองค์พึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใหม่ ท่านเสนาบดีโดยมากได้คุ้นเคยราชการเรื่องนี้มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว จึงได้ทรงอนุมัติตามความเห็นของที่ประชุมเสนาบดี.

  1. ๑. พม่าเรียกว่า สารวดีแมง แปลว่าเปนเจ้าเมืองสารวดี

  2. ๒. ข้าพเจ้าเก็บเนื้อความตอนนี้มาจากหนังสือเรื่องราชวงศ์อลองพระ ของนายเชมส์เครแต่งในภาษาอังกฤษ.

  3. ๓. อักษรอังกฤษเขียน HTAUNG จะอ่านอย่างไรข้าพเจ้าไม่แน่ใจ

  4. ๔. มองโอ๊กเปนชื่อตัว คงมีราชทินนามอย่างอื่น แต่หาทราบไม่

  5. ๕. เรื่องสงครามอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๒ ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องของหนังสือนี้ เพราะฉนั้นจะไม่กล่าวรายการให้พิศดาร.

  6. ๖. ตำแหน่งเมืองแก้วนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงเปนบุรีรัตนะ.

  7. ๗. ภายหลังได้เปนเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ