สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘

สงครามครั้งนี้เปนศึกใหญ่ยิ่งกว่าทุกคราวในสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานี มูลเหตุที่จะเกิดสงครามครั้งนี้ได้กล่าวมาแต่ก่อนบ้างแล้ว คือว่าเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองไทยกลับเปนอิศระขึ้นนั้น เปนเวลาพม่ากำลังติดทำสงครามอยู่กับจีน ครั้นเสร็จศึกจีนเมื่อปีเถาะ พ.. ๒๓๑๔ พระเจ้ามังระจึงจะดำริห์การจะมาตีเมืองไทยอิก คิดจะให้โปสุพลาเปนแม่ทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ แลจะให้ปะกันหวุ่นเปนแม่ทัพยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทาง ๑ มารุมกันตีกรุงธนบุรีเหมือนเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุทธยา แต่เกิดเหตุขัดขวางเสียทั้ง ๒ ทาง ทางเมืองเชียงใหม่ไทยยกไปตีเมืองเชียงใหม่ได้เสียก่อน ทางเมืองเมาะตมะพอทำทางจะยกทัพ พวกมอญก็เปนขบถขึ้นเปนการวุ่นวายใหญ่โต การที่จะมาตีเมืองไทยจึงเปนอันไม่สำเร็จตามที่พระเจ้ามังระได้ทรงดำริห์ไว้ ครั้นถึงปีมะเมีย พ.. ๒๓๑๔ พระเจ้ามังระเสด็จลงมายกฉัตรยอดพระเกษธาตุที่เมืองร่างกุ้งเมื่อกลางเดือน ๔ ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้ปราบปรามพวกมอญขบถเสร็จแล้ว เปนแต่ยังรอกองทัพพม่าที่เข้ามาตามครัวมอญอยู่ที่เมืองเมาะตมะ จึงไปเฝ้าพระเจ้ามังระที่เมืองร่างกุ้ง พระเจ้ามังระทรงพระดำริห์เห็นว่ามีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตมะแล้ว จึงมีรับสั่งมอบการที่จะตีเมืองไทยให้อะแซหวุ่นกี้คิดอ่านต่อไป.

อะแซหวุ่นกี้นี้ ในพงษาวดารพม่าเรียกเปน ๒ อย่าง ในบางแห่งเรียกตามตำแหน่ง ว่า “อะสีหวุ่นคยี” คำว่า อะสี เปนนามตำแหน่งสำหรับผู้เก็บส่วยในที่ดินซึ่งพระเจ้าอังวะทรงอุทิศพระราชทานแก่ทหาร คำว่าหวุ่น แปลตามศัพท์ว่า ภารธุระ คำว่าคยี แปลว่า ใหญ่ ถ้าแปลความควบกัน หวุ่น คยี ใกล้กับ “มหาอำมาตย์” ในยศของไทย เพราะฉนั้นคำว่า “อะสีหวุ่น คยี” แปลว่ามหาอำมาตย์ผู้เก็บส่วยสำหรับพระราชทานทหาร เราเอานามนี้มาเรียกว่า อะแซหวุ่นกี้ แต่ในพงษาวดารพม่ามักเรียกอิกอย่าง ๑ ตามราชทินนามว่า “หวุ่น คยี มหาสีหะสุระ”.

อะแซหวุ่นกี้คนนี้ ในพงษาวดารพม่าว่าเปนแม่ทัพคนสำคัญของพม่าอยู่ในเวลานั้น ด้วยได้เปนแม่ทัพใหญ่ไปรบมีไชยชนะจีนมาไม่ช้านัก เมื่อพิเคราะห์ดูตามรายการสงครามครั้งอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองไทย ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ก็เห็นจริงว่าอะแซหวุ่นกี้เปนผู้ชำนิชำนาญการศึก แลมีอัธยาไศรยผิดกับแม่ทัพพม่าที่มารบไทยในคราวอื่นๆ โดยมาก ถ้าว่าจะไปในคราวศึกอะแซหวุ่นกี้นี้ ดูเหมือนจะปรากฎความสามารถของแม่ทัพทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ข้างฝ่ายไทยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แลพระเจ้ากรุงธนบุรี ข้างฝ่ายพม่าอะแซหวุ่นกี้ ต่อสู้ไล่เลี่ยกันยิ่งกว่าที่ไทยรบกับพม่ามาในครั้งไหนๆ หมด แลผลที่สุดของการสงครามคราวนี้ก็นับว่าเสมอกันได้ด้วยประการทั้งปวง ดังจะเห็นได้ในเรื่องสงครามต่อไป.

อะแซหวุ่นกี้รับสั่งพระเจ้ามังระกลับมาถึงเมืองเมาะตมะในเดือน ๕ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ พอกองทัพตะแคงมรหน่องหนีไทยกลับไปถึง ชี้แจงการที่กองทัพพม่าเข้ามาเสียที ไทยจับกองทัพงุยอคงหวุ่นได้ แลตีพม่าอิกกองทัพ ๑ แตกยับเยินไปจากเขาชงุ้ม ตะแคงมรหน่องจึงต้องหนีกลับออกไป อะแซหวุ่นกี้พิเคราะห์ดูการเห็นว่าไทยทำศึกเข้มแขงกว่าแต่ก่อน จะให้กองทัพยกมาทางเมืองเชียงใหม่แลทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เข้ามาสมทบกันตีกรุงธนบุรีอย่างครั้งเมื่อตีกรุงศรีอยุทธยา เห็นว่าไทยคงจะชิงตีตัดเสียไม่ให้เข้ามารวมกันได้ การคงจะไม่สำเร็จ อะแซหวุ่นกี้จึงคิดจะตีเมืองไทยตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง คือจะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังไทยเสียชั้นหนี่งก่อน แล้วเอาหัวเมืองเหนือเปนที่มั่นยกทั้งกองทัพบกทัพเรือลงมาตีกรุงธนบุรีทางลำแม่น้ำเจ้าพระยาทางเดียว จึงให้พักบำรุงรี้พลอยู่ที่เมืองเมาะตมะ แล้วมีคำสั่งขึ้นไปยังโปสุพลาโปมะยุง่วนซึ่งถอยหนีไทยไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกกลับลงมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้แต่ในฤดูฝน แล้วให้เตรียมเรือรบเรือลำเลียงแลรวบรวมเสบียงอาหารลงมาส่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ซึ่งจะยกเข้ามาในต้นระดูแล้ง โปสุพลาโปมะยุง่วนจึงรวบรวมกำลังยกเปนกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๑๐ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘.

ฝ่ายข้างกรุงธนบุรี ตั้งแต่มีไชยชนะพม่าที่บางแก้วแล้ว มีเวลาว่างอยู่ ๕ เดือน ถึงเดือน ๑๐ ก็ได้ข่าวว่าโปสุพลาโปมะยุง่วนจะยกกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีตราสั่งพระเจ้าสุรสีห์ให้ยกกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แล้วให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพกรุงธนบุรีหนุนขึ้นไปอิกทัพ ๑ (จำนวนพล ๒ ทัพนี้เท่าใดหาปรากฎไม่) รับสั่งไปว่า ถ้าตีพม่าถอยไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว ให้เลยตามขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสนให้สิ้นที่อาไศรยของพม่าเสียทีเดียว.

ฝ่ายโปสุพลาโปมะยุง่วนยกกองทัพพม่าลงมาถึงเมืองเชียงใหม่ก่อนกองทัพไทย ก็เข้าตั้งค่ายประชิดเตรียมจะตีเมือง แต่ทำนองกำลังที่รวบรวมลงมาได้จะไม่แขงแรงเท่าไรนัก ครั้นได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป โปสุพลาโปมะยุง่วนก็ถอยหนีกลับไปเมืองเชียงแสนหาอยู่รอต่อสู้ไม่ ในพงษาวดารพม่าว่าโปสุพลาเลยยกกลับไปเมืองพม่าทางเมืองนาย หวังจะเข้ามาสมทบกับอะแซหวุ่นกี้ในเมืองไทย แต่ว่ามาหาทันกองทัพอะแซหวุ่นกี้ไม่.

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เตรียมทัพพร้อมแล้ว ถึงเดือน ๑๑ ปีมะแม ก็ให้กะละโบ่กับมังแยยางู ผู้เปนน้องชายคุมกองทัพน่าจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ยกออกจากเมืองเมาะตมะ แล้วอะแซหวุ่นกี้ยกทัพหลวงจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ หนุนมากับตะแคงมรหน่องแลเจ้าเมืองตองอู กองทัพพม่าเดินทางด่านแม่ละเมาเข้ามาเมืองตาก ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการตามหัวเมืองไทยรายทางไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ ต่างก็พาครัวราษฎรอพยพหลบหนี กองทัพพม่าจึงเดินจากเมืองตากมาทางบ้านด่านลานหอย ตรงมาเมืองศุโขไทย ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่ออะแซหวุ่นกี้ยกมาจากเมืองตากนั้น จับได้กรมการเมืองสวรรคโลก ๒ คน ถามว่าพระยาเสือเจ้าเมืองพิศณุโลกอยู่ฤๅไม่ กรมการบอกว่าไม่อยู่ ยกกองทัพขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ยังไม่กลับมา อะแซหวุ่นกี้ว่า เจ้าของเขาไม่อยู่อย่าเพ่อไปเหยียบเมืองพิศณุโลกเลย จึงให้กองทัพน่าลงมาตั้งอยู่ที่บ้านกงธานี ที่ริมน้ำยมใหม่ ทางจะข้ามมาเมืองพิศณุโลก ส่วนอะแซหวุ่นกี้เองตั้งรออยู่ที่เมืองศุโขไทย แต่ความข้อนี้เห็นว่ายังจะมีเหตุอื่นอิก ด้วยเมืองศุโขไทยเปนทำเลนา มีเข้าปลาอาหารบริบูรณ์กว่าเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เข้าใจว่าซึ่งอะแซหวุ่นกี้รออยู่ที่เมืองศุโขไทยนั้น เพื่อประสงค์จะรวบรวมเสบียงอาหารสำหรับกองทัพพม่าด้วยอิกอย่างหนึ่ง.

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ กำลังตระเตรียมจะยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่ละเมา ก็รีบยกกองทัพกลับลงมาทางเมืองสวรรคโลกเมืองพิไชย ครั้นมาถึงเมืองพิศณุโลกเจ้าพระยาทั้ง ๒ จึงปฤกษากันถึงการที่จะต่อสู้ข้าศึก เจ้าพระยาจักรีเห็นว่ากำลังน้อยกว่าพม่ามากนัก ควรจะตั้งอยู่ที่เมืองพิศณุโลกเอาเปนที่มั่นต่อสู้พม่า คอยกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไป ด้วยเมืองพิศณุโลกอยู่ทางลำแม่น้ำแควใหญ่ ใช้เรือขึ้นล่องกับข้างใต้ได้สดวกกว่าเมืองอื่นๆ แต่เจ้าพระยาสุรสีห์อยากจะยกไปตีพม่าก่อน จึงรวบรวมกองทัพหัวเมือง ให้พระยาศุโขไทย พระยาอักขรวงศ์เมืองสวรรคโลก แลพระยาพิไชย เปนกองน่ายกไปรบพม่าที่บ้านกงธานี เจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามไปตั้งอยู่ที่บ้านไกรป่าแฝก พม่ายกมาตีกองทัพพระยาศุโขไทยแตกถอยมา แล้วยกติดตามมาถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ ๆ ตั้งสู้รบอยู่ ๓ วัน เห็นพม่ามากกว่ามากนัก จะโอบล้อมเอากองทัพ ก็ถอยกลับมาเมืองพิศณุโลก.

อะแซหวุ่นกี้จึงแบ่งกองทัพพม่าให้อยู่รักษาเมืองศุโขไทย ๕,๐๐๐ คน แล้วคุมพล ๓๐,๐๐๐ ยกตามมาถึงเมืองพิศณุโลกในเดือนอ้ายข้างขึ้น ให้ตั้งค่ายรายล้อมเมืองทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๒ ก็จัดการป้องกันเมืองเปนสามารถ แลเมืองพิศณุโลกนั้นแนวปราการตั้งทั้ง ๒ ฟาก เอาลำแม่น้ำไว้กลางเมือง จึงให้ทำตะพานเรือกข้ามแม่น้ำ ๒ แห่ง สำหรับส่งกำลังไปมาให้ช่วยเหลือกันได้ทั้ง ๒ ฝ่าย.

ในเวลาเมื่ออะแซหวุ่นกี้ตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกอยู่ก่อนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปถึงนั้น จำนวนพลฝ่ายไทยตั้งรักษาเมืองพิศณุโลกจะมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร แต่เชื่อได้ว่าไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ เปนอย่างมาก ความปรากฎว่าเวลาเมื่อพม่าตั้งค่ายล้อมเมืองนั้น อะแซหวุ่นกี้ยกพลเลียบค่ายไปเที่ยวตรวจไชยภูมิทุก ๆ วัน เจ้าพระยาสุรสีห์คุมพลออกโจมตี สู้พม่าไม่ได้ต้องถอยมา เจ้าพระยาจักรีคุมพลออกรบเอง ตีพม่าต้องถอยหนีเข้าค่ายไปหลายครั้ง อะแซหวุ่นกี้ยกย่องฝีมือเจ้าพระยาจักรี ถึงให้มาบอกว่าจะขอพบปะให้รู้จักกัน ครั้นเวลาวันหนึ่งจึงนัดหยุดรบ อะแซหวุ่นกี้กับเจ้าพระยาจักรีออกไปพบกันที่ในสนามยืนม้าเจรจากัน ความที่เจรจากล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า.

อะแซหวุ่นกี้ให้ล่ามถามเจ้าพระยาจักรีว่าอายุเท่าใด เจ้าพระยาจักรีให้บอกไปว่าอายุได้ ๓๐ เศษ แล้วจึงให้ถามถึงอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง บอกมาว่าอายุได้ ๗๒ ปี อะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปลักษณเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแขง สู้รบเราผู้เปนผู้เฒ่าได้ จงอุส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เปนกระษัตริย์เปนแท้ แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับ ๑ กับสักหลาดพับ ๑ ดินสอแก้ว ๒ ก้อน น้ำมันดิน ๒ หม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี ๆ ก็ให้ของตอบแทนตามสมควร เมื่อก่อนอะแซหวุ่นกี้จะกลับไปค่ายให้ล่ามบอกเจ้าพระยาจักรีว่า จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาเมืองพิศณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ไปภายน่าพม่าจะมาตีเมืองไทยไม่ได้อิกแล้ว แลในวันนั้นหยุดรบกันทั้งวัน ถึงพวกทหารพม่าชวนทหารไทยเข้าไปกินอาหารในค่าย มิได้ทำอันตรายแก่กัน

ฝ่ายกรุงธนบุรีเมื่อได้ข่าวว่าอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ ขณะนั้นเห็นจะมีใบบอกหัวเมืองปักษ์ใต้เข้ามาว่า พม่ายกมาจากเมืองตนาวศรีอิกทาง ๑ ด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้พระไทยจึงดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ ซึ่งเปนกรมขุนอนุรักษ์สงครามคุมออกไปรักษาเมืองเพ็ชรบุรี คอยป้องกันพม่าที่จะยกมาทางด่านสิงขร แต่ทางเมืองกาญจนบุรีแลเมืองราชบุรีที่จะป้องกันพม่าซึ่งจะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จะได้แต่งให้ผู้ใดไปตั้งที่ไหนบ้างฤๅอย่างไรไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ครั้นจัดการป้องกันข้าศึกซึ่งจะยกมาทางทิศใต้ฝ่ายตวันตกแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๑๒,๐๐๐ เศษออกจากพระนครเมื่อณวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะแม ขึ้นไปต่อสู้กองทัพใหญ่ของข้าศึกซึ่งยกเข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ.

  1. ๑. ในพงษาวดารพม่าเรียก พุกามโบ่คน ๑ เยซ้องกยอคน ๑.

  2. ๒. บ้านกงธานีอยู่ตรงที่ตั้งเมืองศุโขไทยใหม่บัดนี้.

  3. ๓. เวลานั้นพระชัณษาได้ ๓๙ ปี

  4. ๔. ความที่ว่าอะแซหวุ่นกี้กล่าวตรงนี้ มีผู้ศึกษาโบราณคดีบางคนเห็นว่าเปนกลอุบายของอะแซหวุ่นกี้ ประสงค์จะให้เกิดระแวงกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ความที่กล่าวนี้จะอย่างไรสงไสยอยู่ ด้วยต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเจ้าพระยาจักรีเปนสมเด็จเจ้าพระยาให้มีราชทินนามว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ดูคล้ายคำของอะแซหวุ่นกี้ ฤๅเมื่อชมนั้นเขาจะใช้คำอย่างไร อันตรงกับคำ “กระษัตริย์ศึก” หมายความเพียงว่าเปนแม่ทัพอันไม่มีตัวสู้ดอกกระมัง ที่ว่านี้ก็เดาเหมือนกัน.

  5. ๕. ที่ว่าไปกินเข้าในค่ายพม่าได้นี้ คือในวันนั้นแม่ทัพทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงหย่าทัพกันวัน ๑ มหาสงครามในยุโรปคราวนี้ เมื่อวันคฤศหมัศ ค.ศ. ๑๙๑๔ ก็หย่าทัพกัน พวกทหารทั้ง ๒ ฝ่ายถึงไปกินอาหารเล่นหัวด้วยกันในสมรภูมิก็มี.

  6. ๖. ชาวเมืองเพ็ชรบุรีเล่ากันว่า เจ้ารามลักษณ์ไปรักษาเมืองเพ็ชรบุรีครั้งนั้นรี้พลน้อยไม่พอจะรักษาเมืองเดิมได้ จึงให้รื้อกำแพงเมืองเดิม ตั้งแนวกำแพงใหม่ตอนมุมเมืองด้านตวันตกเฉียงเหนือ รักษาเพียงส่วนเสี้ยวของเมืองเดิม แนวกำแพงยังปรากฎอยู่.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ